โดย กอบแก้ว มโนมัยพิบูลย์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๑
ในรอบปีเก่าที่ผ่านไป นับเป็นปีที่ “จิตตปัญญา” แทรกซึมเข้ามาในชีวิตของผู้เขียนอย่างมาก ไม่ว่าจะในการทำงานประจำ ในการดำเนินชีวิต ในการเรียนรู้กับกลุ่มที่เริ่มงานด้านจิตตปัญญาศึกษาอย่างเอาจริงเอาจัง เป็นความพยายามพึงระลึกถึงการนำมาใช้ หรือไม่ก็ทบทวนประสบการณ์ที่ผ่านไป โดยที่ผลลัพธ์ที่ได้มักจะสะท้อนออกมาในรูปที่เราจะเห็นหรือเข้าใจได้ว่า เรามีความสุขใจหรือมีความทุกข์ใจหรือไม่อย่างไร และทำให้เราพยายามไม่เบียดเบียนตัวเองหรือคนอื่นๆ ที่เราใช้ชีวิตร่วมกันไม่ว่าจะที่บ้าน ที่ทำงาน หรือสถานที่ที่เราไป หรือใครๆ ที่ผ่านมาในชีวิตเรา แต่อะไรคือทุกข์หรือสุขของใครนั้นจะไม่เหมือนกัน
วิธีการง่ายๆ ทางจิตตปัญญาสำหรับผู้เขียน คือ การจัดให้มีเวลาคิดใคร่ครวญในสิ่งที่เรารู้สึก เรานึกคิด เรากระทำลงไปแล้วในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม โดยอยู่กับตัวเอง สำรวจใจและ/หรือสำรวจอารมณ์ของตนเอง ว่ามีสภาพเป็นอย่างไร เวลาในที่นี้อาจจะเป็นเวลาทันทีทันใดภายหลังจากที่เรารู้สึก นึกคิดหรือทำแล้วก็ได้ หรือเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นกรณีที่ความรู้สึก ความนึกคิดหรือการกระทำเดิมๆ กลับมาให้เราคิดถึงอีก เมื่อเราไม่สามารถถอดถอนออกจากใจเราได้ (หรือที่เรียกว่า “คิดไม่ตก”) แล้วเราก็จะได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นจากสิ่งเหล่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม การจัดให้มีเวลาที่เหมาะสมหรือการใช้เทคนิคเพื่อที่เราจะสามารถคิดใคร่ครวญได้อย่างเป็นกลางและเติบโตขึ้นในเชิงบวกนั้น ผู้เขียนยังไม่มีหลักประกันว่าทำได้อย่างเหมาะสมแล้วหรือไม่
การตั้งรับกับมากมายหลายหลากเหตุการณ์ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจากด้านในสู่ ที่จะขอลองแบ่งปันเล่าสู่กันฟังบางเรื่องราว เช่น
ผู้เขียนไม่ค่อยจะรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณใคร หรือต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณใครนัก ตราบจนกระทั่งได้ฟังข่าวเด็กน้อยไม่กี่ขวบที่โดนทีวีตกลงมาทับแล้วเสียชีวิต ทำให้พวกเราทุกคนในบ้านต้องกุลีกุจอเก็บข้าวของ เปลี่ยนตำแหน่งของหนัก หรือจัดเก็บให้รัดกุม เพื่อป้องกันหลานน้อยอายุไม่ถึงขวบที่ชอบคลานไปคลานมา ไม่ให้ชนแล้วข้าวของล้มหล่นลงมาทับ
ผู้เขียนรู้สึกวาบเข้ามาในใจทันทีว่า กว่าหลานเราคนนี้จะโตนั้น มีร่างกาย สมอง หัวใจของหลายคนเฝ้าระแวดระวัง ไม่ให้เขาได้รับอันตรายและสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ หลายต่อหลายคนที่เขาคงลืมไปเมื่อเติบใหญ่ขึ้น หรือไม่ก็คนนั้นจากไปก่อนที่เขาจะจำความได้
ย้อนมาที่ตัวของเราเอง กว่าตัวเราจะเจริญเติบโตมาได้ถึงเพียงนี้ จริงๆ แล้วเราจำไม่ได้ทั้งหมดหรือไม่รู้ว่า เราได้รับการอุปถัมภ์อุ้มชูทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมจากใครต่อใครมาบ้าง หลานทำให้ผู้เขียนคิดได้ว่า การมีเราอยู่ได้ทุกวันนี้ และในอนาคตต่อไปข้างหน้า มีมือที่มองไม่เห็นช่วยเหลือเรา มีการพึ่งพาอาศัยกันอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราปฏิสัมพันธ์ล้วนเป็นธรรมะจัดสรรให้เราประสบและพานพบ เราต้องมีท่าทีที่ระมัดระวัง เพราะมีบุญคุณกับเราไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง และเกิดความรู้สึกขอบคุณต่อทุกสิ่งทุกอย่างนั้น
การจัดระบบใหม่หรือทบทวนความสัมพันธ์ใหม่ในครอบครัว ภายหลังมีความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง ถึงแม้จะยังไม่ถึงขั้นสูญเสีย แต่ทำให้การดำเนินชีวิตปกติของพวกเราไม่เป็นดังเดิม ตัวเองก็ต้องต่อสู้เพื่อให้ก้าวพ้นความทุกข์ใจและรับสภาพความเปลี่ยนแปลงให้ได้ และระหว่างสมาชิกในครอบครัวกันเอง ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน หรือการพร้อมรับต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของสมาชิกในครอบครัวที่ไม่เท่ากัน ก่อให้เกิดความเครียดที่พวกเราในครอบครัวก็รู้สึกกันเองได้ แต่การพูดคุยกัน หันหน้าสู้ปัญหา ทำความเข้าใจกัน ความห่วงใยความรู้สึกซึ่งกันและกัน เห็นใจกัน ให้กำลังใจกันในหมู่พี่ๆน้องๆ ทำให้สามารถคลี่คลายปัญหา เข้มแข็งขึ้นและรู้สึกได้ถึงความอบอุ่นที่เพิ่มขึ้น
ผู้เขียนรู้สึกและสำนึกถึงความเป็นครอบครัวและพลังของครอบครัว ที่เป็นบ่อเกิดของกำลังใจที่เราตระหนักถึงคุณค่าและสัมผัสได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทุกคนมีตัวของตัวเองหรือครอบครัวที่ต้องให้ความเคารพ และครอบครัวเป็นสถาบันสังคมหนึ่งที่จะต้องได้รับการการทะนุถนอมเป็นอย่างดีด้วยสมาชิกในครอบครัวนั้นๆ
ด้วยคำว่า “จิตตปัญญา” อาจเป็นคำที่เริ่มจะได้ยินเรื่อยๆ เหมือนนกแก้ว นกขุนทองเจื้อยแจ้วให้สงสัยกันเอง แม้แต่คนทำงานด้านนี้ว่าคืออะไร แต่สำหรับผู้เขียนแล้วเป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้งมาก และกำหนดให้เรามีท่าทีที่ต้องระมัดระวังต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดจากอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของเรา ถ้าหากมีผลกระทบทางลบเกิดขึ้น ผู้ได้รับคนแรกจะเป็นเราและอีกฝ่ายหนึ่ง รวมถึงครอบครัวของเราและครอบครัวของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย คิดว่าครอบครัวได้รับอานิสงส์เป็นอย่างมากจากการที่ผู้เขียนเข้ามาข้องแวะกับคำๆ นี้
สองตัวอย่างที่เขียนถึงนี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนตัวของเราเองว่า ใครต่อใครคงไม่มีอิทธิพลต่อตัวเราเท่าความรู้สึกนึกคิดของตัวเราเองและครอบครัวของเรา โดยเป็นเหตุ-ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงขึ้น สำหรับสังคมแวดล้อมที่เราเกี่ยวข้องและมีโอกาสปฏิสัมพันธ์ด้วยรวมถึงข้อมูลข่าวสารที่ผ่านเข้ามาให้เรารับรู้นั้นก็มีความสำคัญ แต่น่าจะมีอิทธิพลรองๆ ลงไป
เขียนมาถึงตรงนี้อยากจะบอกว่า สิ่งที่ผู้เขียนเรียนรู้จากตัวเองและครอบครัวในรอบปีที่ผ่านมา เขียนได้ด้วยคำหนึ่งคำ คือ “ความรัก” โดยเฉพาะความรักที่มีต่อตัวเอง ที่เป็นหนี้บุญคุณธรรมชาติและใครต่อใครมากมาย ความรักครอบครัวและความรักที่ได้รับจากสมาชิกในครอบครัว สอนให้ตระหนักถึงคุณค่าและพลังแห่งการมีชีวิตอยู่ร่วมกัน ซึ่งอาจนำไปขยายหรือเชื่อมโยงหรือประยุกต์ใช้กับสังคมสิ่งแวดล้อมต่อไปได้
สิ่งที่เขียนข้างต้นนั้น เกิดขึ้นได้เพราะเรามี “ความรัก” นั่นเอง เราได้เรียนรู้และคิดได้ว่า “รัก” มีความสุขและมีพลังอย่างไร จากการเข้าใจในความรักตัวเองและครอบครัว
Labels: กอบแก้ว มโนมัยพิบูลย์