โดย มิรา ชัยมหาวงศ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๑
อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู เคยบอกไว้ว่า “คำถามที่เป็นจุดสุดยอดของการนำพาผู้คนให้เรียนรู้มีอยู่สองคำถามคือ ‘เห็นอะไร’ และ ‘เรียนรู้อะไร’ ” สองคำถามนี้จะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่ความเข้าใจถึงแก่นเนื้อความของแต่ละคน โดยเฉพาะหากนั่งล้อมวงพูดคุยกันหลังจากเรียนรู้ในประเด็นหนึ่งๆ ร่วมกัน มุมมองที่แตกต่างจะสะท้อนภาพเครื่องมือทางการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น เพราะในเรื่องราวเดียวกัน เหตุใดบางคนจึง “เห็นในสิ่งที่ผู้อื่นมองไม่เห็น” แต่บางคนก็มองเห็นข้อมูลเหมือนกัน แต่กลับนำข้อมูลนั้นมาใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย
“เห็นอะไร”
“เห็นอะไร” คงหมายถึง การมีสายตาในการมองเห็นรายละเอียดของสิ่งต่างๆ หรือข้อมูล ผู้เขียนนึกถึงคำว่า “Literacy” ซึ่งในที่นี้น่าจะเป็น Information Literacy คือ เราอ่านข้อมูลนั้นออกมากน้อยแค่ไหน เราสามารถเข้าใจและเข้าถึงข้อมูลนั้นได้มากแค่ไหน หากเปรียบเป็นภาษา Literacy อาจหมายถึงการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งแม้ภาษาเป็นเครื่องมือที่จะทำความเข้าใจสัญลักษณ์ แต่หากเราไม่เข้าใจภาษาเพียงพอ ทั้งในแง่ของหลักภาษาและความหมายของคำ ก็อาจตีความผิด เข้าใจความนั้นๆ ผิด หรือมองข้ามข้อมูลสำคัญบางประการไปได้
ในการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) มีการระบุถึงคุณภาพของการฟังไว้ ๓ ระดับ ระดับแรกคือการฟังที่ได้ยินเพียงถ้อยคำ ระดับที่สองคือการฟังให้ได้ยินอารมณ์ ความรู้สึกของผู้พูด และระดับที่สามซึ่งเป็นการฟังที่ลึกที่สุดคือ การฟังให้ได้ยินเจตนาของผู้พูด ในการเรียนรู้ที่คนกับคนเชื่อมต่อกันนั้น สิ่งที่เป็นเครื่องมือ คงไม่จำกัดอยู่เพียงเฉพาะภาษา คนผู้ซึ่งมีชีวิตจิตใจ มีกายภาพที่เป็นรูปธรรมภายนอกของอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นนามธรรมภายในนั้น หากเราจำกัดการสื่อสารไว้เพียงภาษา ก็เป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เข้าต้องการสื่อ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังคำพูด ในการสื่อสารกับ “คน” อาจหมายถึง การมองเห็นที่มากไปกว่าและลึกไปกว่าถ้อยคำ หรืออาจหมายถึงการทะลุข้อจำกัดทางภาษา เพราะภาษาของคน ไม่ได้จำกัดเฉพาะเพียงภาษาพูด หากรวมไปถึงภาษาท่าทาง ภาษาแบบแผนพลังงาน (Energy Connection) ฯลฯ
ผู้เขียนเคยทำงานกับกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ทำให้มีโอกาสได้สังเกตอย่างชัดเจนว่า เด็กที่มีข้อจำกัดทางภาษาพูดหรือภาษาเขียน ไม่ได้หมายความว่า เขาสื่อสารไม่ได้ และไม่ได้หมายความว่าเราจะเข้าใจเด็กๆ กลุ่มนี้ไม่ได้ หากเราต้องพยายามฟังเขาอย่างลึกซึ้ง ฟังไปให้ทะลุกรอบความเคยชินของตัวเราเองที่จำกัดตัวเองไว้เพียงความเข้าใจแค่ชุดภาษา ถ้ามองในมุมกลับ คนที่มีข้อจำกัดด้านการรับรู้ด้านการฟังอาจเป็นตัวเราเองก็เป็นได้
หากเราเดินออกจากข้อจำกัดด้านการรับรู้ การฟัง และ “การมองเห็น” คำถามที่ว่า “เห็นอะไร?” ก็จะยิ่งทรงพลังมากขึ้น
นอกจากการมองเห็นภายนอกแล้ว เรายังจำเป็นต้องมองเห็นภายใน “เราฟัง” “เราเห็น” ด้วยทัศนคติแบบไหน หรือตัวตนแบบใด เพราะบ่อยครั้งคนเรามักมองเห็นด้วยอคติ คือ รัก ชอบ ชัง เฉย ซึ่งบ่อยครั้งที่อคตินี่เองที่มาเป็นข้อจำกัดทางการเรียนรู้ และทำให้ข้อมูลผิดพลาด
ในคำถามแรก “เห็นอะไร” อาจหมายถึงดวงตาที่เปิดออก จิตใจที่เบิกบานและตื่นขึ้นจากความมืดบอดวนเวียนอยู่ในตัวเอง
“เรียนรู้อะไร”
เพียงคำถามแรกก็มีนัยยะเชิงขยายมากมาย แต่ “เรียนรู้อะไร” ก็ยิ่งมีความซับซ้อนไม่แพ้ “เห็นอะไร” และก็อาจทำให้เริ่มหยุดตั้งคำถามต่อไปแล้วว่า ทำไมสองคำถามนี้จึงเป็นคำถามที่เป็นจุดสุดยอดของกระบวนกร
การเรียนรู้อะไร นัยยะแรกคือ การดาวน์โหลด (download) หรือคัดลอกข้อมูลมาบรรจุไว้ในแผ่นดิสก์ หรือในสมองของเรา หรืออาจไม่ได้บรรจุเลยเพราะดาวน์โหลดมาแล้วไม่ได้เปิดอ่าน ข้อมูลที่ได้มาก็แช่อย่างไร้ความหมายอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ นำไปใช้การใช้งานให้เกิดประโยชน์ไม่ได้ แต่อันที่จริงแล้วก็สรุปไม่ได้เหมือนกันว่า การดาวน์โหลดข้อมูลเป็นเรื่องไม่ดี เพราะบางครั้งก็อาจกลายเป็น “ทุนสะสม” ของเราได้อีกเช่นกัน หากเรารู้จักแยกประเภทและจัดเก็บข้อมูลนั้นเตรียมไว้ใช้ยามจำเป็นได้
นัยยะที่สองที่เป็นส่วนสำคัญอีกประการหนึ่งของการเรียนรู้ คือการรับข้อมูลใหม่มาผสมผสานปนเปกันกับความรู้เดิมที่อยู่ในตัวเราเป็นเกลียวพลวัต (Spiral Dynamic) ผู้ซึ่งกำลังเรียนรู้เรื่องใหม่ที่รับมานั้นต้องมีทักษะสำคัญประการหนึ่งคือ “ความกล้า” กล้าที่จะเล่นกับความรู้นำความรู้ที่คนอื่นคิดมาแล้ว ไปคิดต่อ นำมาปรับแก้ไขต่อยอดตามความเข้าใจของเรา โดยก้าวพ้นจากพันธนาการเรื่องความผิดถูก ตัวอย่างบุคคลที่ชัดเจนท่านหนึ่ง คือ อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู ซึ่งมักจะสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาให้รู้จัก ศิลปะของการ “มั่ว” ให้มีความกล้าออกจากความกลัวผิดถูก ซึ่งก็มักจะทำให้ได้เห็นสิ่งใหม่ๆ องค์ความรู้ใหม่ปรากฏขึ้นอยู่เสมอ เป็นวิธีการที่นำความรู้จากศาสตร์สาขาต่างๆ มาคิดเชื่อมโยงต่อกันในหลายระนาบ เหมือนนักเล่นแร่แปรธาตุ หากแต่เป็นธาตุวัตถุทางปัญญา
ความสามารถในการเปลี่ยนผ่านและการสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการเรียนรู้นี้มีลักษณะเป็น “Transcend & Include” หรือ “ก้าวพ้นแต่ปนอยู่” คือ ความรู้เดิมน่าจะเป็นตัวดีดให้เราก้าวพ้นความเคยชิน ความกลัวอันเป็นข้อจำกัด และก้าวเข้าสู่การเรียนรู้ใหม่อย่างมีเรื่องราวที่ผสมปนเปกัน
พอเอาสองคำถามนี้มาเรียงต่อกัน จึงกลายเป็นคำถามที่ทรงพลัง
“เห็นอะไร” จึงต้องเป็นการมองเห็นในเชิงที่ลึกซึ้ง คือทั้งละเอียดและเห็นพ้นไปจากสิ่งที่ตาสังเกตเห็น และที่สำคัญคือ เราสามารถหรือมีความสามารถเพียงพอที่จะแยกแยะความจริงกับอคติที่เกิดขึ้นจากใจตนเองได้หรือไม่
“เรียนรู้อะไร” ก็คือเราเรียนรู้แบบไหน ได้นำความรู้เข้ามาผสมผสานเป็นเนื้อเป็นตัวเราหรือยัง หรือเพียงมีความรู้อยู่แต่ใช้การใช้งานไม่ได้ (To be or to have)
เห็นได้ชัดว่า สองคำถามนี้ เป็นคำถามที่ไม่ได้มุ่งหวังเพียงคำตอบภายนอก แต่เป็นคำถามที่กระตุกให้ผู้ถูกถามย้อนกลับมาถามกระบวนการเรียนรู้ของตนเองภายในอีกด้วย
Labels: มิรา ชัยมหาวงศ์