โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๑

กระแสความขัดแย้งและความรุนแรงในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ประท้วงรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ของชาวธิเบต เหตุการณ์ความรุนแรงในอิรัก ในอิสราเอล หรือแม้กระทั่งความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะข่าวการวางระเบิดรถยนต์ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี ทำให้เกิดคำถามในใจว่า มีพื้นที่ปลอดภัยที่จะได้ทำงานเพื่อสันติภาพของคนกลุ่มต่างๆ ให้แก่พี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่อีกบ้างหรือไม่ สันติภาพเกิดขึ้นได้จริงหรือ

ประกอบกับได้มีโอกาสไปจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “สตรีและสันติภาพ” ให้กับกลุ่มผู้หญิงในประเทศเพื่อนบ้านประเทศหนึ่ง ได้ฟังเรื่องเล่าที่ผ่านประสบการณ์ของผู้หญิงเหล่านั้น ที่ได้พบเห็นและประสบกับความรุนแรง ความอยุติธรรมที่มนุษย์ทำกับมนุษย์ที่เป็นเพื่อนร่วมชาติด้วยกันเอง มีหลายคำถามที่สะเทือนใจ สะเทือนความรู้สึกของผู้ฟัง เช่น พวกเรานักสันติวิธีเรียกร้องให้ทุกคนปฏิบัติให้เกิดสันติภาพทั้งในใจของเราเอง (inner peace) อันเป็นสิ่งสำคัญเฉกเช่นสันติภาพภายนอกที่เป็นรูปธรรม เช่น การหยุดยิง การหยุดเข่นฆ่าทรมาน คำถามที่ตามมาคือ จะทำให้ใจสงบ เกิดสันติภาพภายในใจได้อย่างไร ถ้าความอยุติธรรม การเอาเปรียบ การทรมาน รวมทั้งการข่มเหงทั้งทางร่างกายและจิตใจยังคงเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ การเรียกร้องแต่ปากให้สร้างและรักษาสันติภาพ ให้ยึดมั่นในหลักสันติวิธี รวมถึงการเรียกร้องให้ให้อภัยแก่ผู้ทำร้ายเรา จะทำได้อย่างไร คำถามในทำนองเดียวกันนี้ เกิดขึ้นกับสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence) เช่นกัน หลายคนได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ผู้หญิงจำนวนมากได้รับและต้องอดทนกับความทุกข์ที่เกิดจากการกระทำของสามี ไม่ว่าในเรื่อง “คำพูด” “คำด่า” ที่ล้วนแต่ลบหลู่เสียดแทงความรู้สึกและขาดความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของคนๆ หนึ่ง ตลอดจนถึงขั้นร้ายแรงทำร้ายร่างกายให้เจ็บปวด อับอาย และอาจถึงอันตรายต่อชีวิตและจิตใจ

กรณีต่างๆ เหล่านี้ กลุ่มผู้หญิงหลายๆ ศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ มุสลิม และฮินดู ได้แบ่งปันประสบการณ์ตามบริบทที่ตนเองประสบมา รุนแรงมากบ้าง น้อยบ้าง ตามสถานการณ์และประสบการณ์ของแต่ละคน

ในฐานะที่พวกเรายึดมั่นว่ามนุษย์สามารถพัฒนาได้ มนุษย์มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างตามเจตนาได้ กับทั้งคำสอนที่ว่า มนุษย์เป็น “นายของตนเอง” “เราเป็นโลก” (We are the world) มนุษย์เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของตนเองด้วยการกระทำ จึงนำไปสู่ความเชื่อที่ว่า สันติภาพต้องเกิดขึ้นได้ ถ้าพวกเราพร้อมใจกันสร้าง “เงื่อนไข” สันติภาพและลดทอน “ปัจจัย” ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่จะแปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรง เช่นความอยุติธรรม การเล่นพวก การคอรัปชั่น การกดขี่ข่มเหง และดูถูกกันและกัน ด้วยปัญหาอัตลักษณ์ต่างๆ เช่น ข้าราชการสำคัญกว่าชาวบ้าน ศาสนาพุทธเท่านั้นคือสัญลักษณ์ของความเป็นคนไทย เป็นต้น

สันติภาพทั้งภายในและภายนอก จะเกิดขึ้นได้จากเงื่อนไขประการหนึ่งคือ “ทัศนคติ” ที่เชื่อมั่นในวัฒนธรรมที่ว่า “มนุษย์สามารถพัฒนาได้ มนุษย์เปลี่ยนแปลงได้”

คำกล่าวเช่นนี้คงไม่เกินความจริง ถ้าทุกคนเชื่อมั่นใน “ปัจจุบันขณะ” และการสร้าง “กรรมใหม่” คือการกระทำในปัจจุบันที่เป็นการลดเงื่อนไขของความรุนแรง และเสริมสร้างปัจจัยของวัฒนธรรมสันติภาพ เช่น การมองเพื่อนมนุษย์เป็นมนุษย์ แม้ศัตรูของเราก็เป็นผู้ร่วมชะตากรรม เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน หรือ ทุกคนก็รักสุข เกลียดทุกข์เหมือนกัน เราเพียงไม่พอใจและรับไม่ได้กับการกระทำความรุนแรง ความโหดร้าย แต่ผู้ก่อการก็ยังควรได้รับความเมตตา ในฐานะที่เขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ถ้าทุกฝ่ายตระหนักถึงแนวคิดและทัศนคติของวัฒนธรรมสันติภาพข้อนี้ การซ้อมผู้ต้องสงสัย การเค้นทรมานในการสอบปากคำผู้ต้องสงสัยหรือผู้ก่อการคงจะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดน้อยลง สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างกรรมปัจจุบัน ที่เริ่มจากทัศนคติและวิธีคิดที่เหมาะสมต่อศัตรูของเรา ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการลดความเกลียดชัง การแก้แค้นลงได้

กรณีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลจีนและผู้ลี้ภัยชาวธิเบตก็เช่นกัน ถ้าทุกคนได้ตระหนักถึงวัฒนธรรมสันติภาพอีกข้อหนึ่งว่า เราจะไม่เหมารวมว่าทุกคนที่เป็นคนจีนเป็นคนโหดร้าย หรือทุกคนที่เป็นชาวธิเบตเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลจีน การทำร้ายผู้บริสุทธิ์ทั้งชาวจีนและชาวธิเบตก็ไม่เกิดขึ้น

เงื่อนไขเหล่านี้ เราในฐานะมนุษย์สามารถจัดสรรให้เกิดขึ้นเป็นกรรมปัจจุบันที่มีพลัง เพื่อป้องกันความขัดแย้งไม่ให้แปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรงได้

ในกรณีที่มนุษย์ประสบกับการกดขี่ข่มเหงและการเอาเปรียบซึ่งๆ หน้า และขณะนั้นเราไม่สามารถช่วยเหลือเหยื่อได้อย่างที่ต้องการ การตระหนักถึงจุดยืนที่ว่าสันติภาพต้องเกิดขึ้นได้ อย่างน้อยสันติภาพภายในของเรา กล่าวคือ ถ้าได้พยายามทุกวิถีทางที่จะบรรเทาและลดความทุกข์ของผู้นั้นแล้ว แต่เหลือความสามารถของเราในขณะนั้น (ข้อจำกัดเรื่องอำนาจ อุปกรณ์ สถานที่หรืออื่นๆ) ที่จะช่วยเหลือได้ เราก็จำเป็นจะต้องสร้างสันติภาพในใจของเรา คือ ทำใจให้เป็นอุเบกขาให้ได้ เพื่อจะไม่ต้องเกิดทุกข์ เพื่อเหลือปัญญาให้คิดอ่าน มีสติที่จะแก้ไขสถานการณ์นั้นด้วยวิธีการอื่นต่อไป คำอธิบายเช่นนี้อาจจะผ่อนคลายความกังวลของผู้หญิงในการอบรมที่ไม่มั่นใจต่อการสร้างสันติสุขภายในใจ ทั้งๆ ที่พบเห็นความอยุติธรรมและความรุนแรงลงได้บ้าง

นอกจากทัศนคติและท่าทีที่เชื่อว่ามนุษย์สามารถพัฒนาได้ มนุษย์สามารถสรรค์สร้างสันติภาพพร้อมกันได้ รวมทั้งความเชื่อมั่นในวัฒนธรรมสันติภาพจะเกิดขึ้นได้แล้ว การยึดมั่นในการปฏิบัติในการ “ฟังอย่างลึกซื้ง” ในกระบวนการ Dialogue ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งซึ่งจะนำสันติภาพมาสู่ตนเอง องค์กร ชุมชน และสังคมส่วนรวมได้ สอดคล้องกับสถานการณ์จริงที่ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ถ้าอีกฝ่ายตอบโต้ด้วยความรุนแรง ก็จะมีความรุนแรงขยายตัวไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้ายึดมั่นว่าความรุนแรงจะถูกทำให้จำกัดพื้นที่ลง เมื่อทั้งสองฝ่ายปฏิบัติต่อกันด้วยความเป็นมนุษย์ เคารพคุณค่าของความเป็นมนุษย์ โดยผ่านกระบวนการ Dialogue ที่เปิดพื้นที่ให้คู่กรณีได้มีโอกาสฟังกันอย่างลึกซึ้ง ด้วยความเมตตา ด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ร่วมฟังความทุกข์ยาก ความจำเป็นและเหตุผลของแต่ละฝ่าย และลบล้างการตัดสินไว้ก่อนว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิด ให้พยายามลืมอดีตว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้กระทำการก้าวล่วงอีกฝ่ายหนึ่ง ณ ช่วงเวลานี้ เหมือนจะเรียกร้องให้อภัยกัน ซึ่งในสภาพความเป็นจริงมิได้ทำได้ง่ายนัก แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายใช้การไตร่ตรอง ละเลยการตัดสินความผิดของแต่ละฝ่ายไว้ก่อน โอกาสแห่งการถอยคนละก้าว เพื่อที่จะหาทางออกของปัญหาร่วมกัน อาจเป็นไปได้มากขึ้น ขอเพียงให้ทั้งสองฝ่ายนำ “ความเป็นมนุษย์” ผู้รักสุข เกลียดทุกข์มาฟังและพิจารณากันอย่างจริงใจในวง Dialogue เท่านั้น แนวทางสันติภาพที่ใครๆ ไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นได้อาจอยู่ไม่ไกลเลย

ในสภาวการณ์ปัจจุบัน หลายฝ่ายเรียกร้องให้คู่กรณี เช่น รัฐบาลจีนและผู้ประท้วงชาวธิเบตได้ทำ Dialogue ระหว่างกัน พวกเราได้แต่ภาวนาว่าให้ทัศนคติเช่นนี้ได้ถูกทำให้เป็นการปฏิบัติ ได้นำสันติภาพกลับคืนมาโดยเร็ว โดยผ่านความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ในการพัฒนาสู่การเปลี่ยนแปลง และด้วยวัฒนธรรมของการฟังด้วยใจที่เมตตา เพื่อให้เกิดปัญญาและสันติในที่สุดนั่นเอง

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home