โดย กฤตยา ศรีสรรพกิจ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๑
คำถามพื้นฐานที่คนมักจะถามกัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยทั่วไป การสัมภาษณ์งาน หรือการสมัครเรียนสถาบันไหนซักแห่ง ก็คือ “คุณมีเป้าหมาย หรือความฝันอะไรในชีวิต?”
เป็นที่ยอมรับกันว่าคนมีฝันน่าชื่นชม คนมีเป้าหมายน่านับถือกว่าคนที่ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยไปวันๆ
เราควรทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง พลังกาย พลังใจเพื่อไปให้ถึงฝัน และสุดท้ายคนที่ยังหาไม่เจอ ก็ต้องพยายามหาให้เจอ
เป้าหมายชีวิตเป็นสมบัติล้ำค่าที่ทุกคนควรมี ยึดถือ พิทักษ์รักษา และอุทิศตนเพื่อพิชิตมันมาให้ได้
เราตั้งคำถามว่าเป้าหมายของชีวิตเราคืออะไร
แล้วเคยมั้ยนะ ที่เราจะตั้งคำถามว่าทำไมต้องถาม?
แล้วถ้าตอบไม่ได้ หรือไปไม่ถึงล่ะ จะทำให้ชีวิตเราหมดค่าไปเลย ... หรือ?
ผู้เขียนโชคดีที่ได้ทำงานกับคนรุ่นใหม่มากหน้าหลายตาที่มีความฝันอยากสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคม พวกเขามีพลังล้นเหลือ กับความทุ่มเทที่ไร้ขีดจำกัดที่จะ “ทำให้ได้” และฝันของพวกเขาก็ไม่ได้เพียงเติมแรงให้กับตัวเขาในการสร้างสิ่งดีๆ ให้สังคม มันยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ มีกำลังใจ และอุ่นใจมากขึ้นว่ายังมีคนที่ฝันอยากทำให้สังคมเราดีขึ้น จะเรียกว่าเป็นคนทำงานขายฝันก็ได้ และก็เป็นอีกคนหนึ่งที่กำลังเดินทางตามความฝันของตัวเองไปด้วย
ในภารกิจพิชิตฝันนี้ ผู้เขียนได้เรียนรู้ว่าเชื้อเพลิงที่ผลักให้เราก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเหลือเชื่อนี้ ในขณะเดียวกันก็สามารถเผาไหม้ตัวเราไปด้วยได้แรงพอๆ กัน เมื่อเราไปยึดว่าฝันนี้คือ “ของเรา” เป็นตัวแทนของ “ตัวเรา” เราก็จะปกป้องมันเต็มที่ ใครจะมากล่าวหาว่ามันไม่ดี หรือไม่มีค่า ก็เท่ากับว่าเราไม่ดี ไม่มีค่า คำวิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้แต่ข้อเสนอแนะด้วยความหวังดี ก็กลายเป็นสิ่งคุกคามที่ทำให้ฝันนั้น และตัวเราด้อยค่าลง ความกลัวทำให้เราไม่กล้าเปิดใจฟัง ไม่ได้ยินและอดเรียนรู้จากเสียงสะท้อนที่มีค่า อีกทั้งเมื่อการเดินทางไม่เป็นไปดังหวังก็รู้สึกเสียใจจนหมดแรง
ผู้เขียนเคยได้รับฟังการปรับทุกข์ของน้องชาย ที่เขาคงเหมือนคนวัยหนุ่มสาวหลายๆ คนซึ่งสับสนว่าชีวิตจะเดินไปทางไหนดี รู้สึกหดหู่แกมไร้ค่าเพราะยังหาเป้าหมายชีวิตไม่เจอ ทั้งที่เพื่อนๆ และใครต่อใครรอบตัวก็มีกันหมดแล้ว ผู้เขียนและรุ่นพี่อีกคนที่เผชิญชีวิตมาอย่างโชกโชน ก็พยายามช่วยเขาตั้งคำถามเพื่อให้ได้ค้นหาว่าจริงๆ แล้วตัวเขาต้องการอะไร อยากจะเป็นอะไร คุยกันอยู่นานแสนนานก็ยังไม่ได้คำตอบ จนลูกสาววัยมัธยมของรุ่นพี่ที่แอบนั่งฟังอยู่เงียบๆ ถามขึ้นมาว่าอย่างซื่อๆ ว่า “ต้องตอบตอนนี้เลยเหรอ? ถ้ารู้แล้วจะอยู่ไปทำไม?”
ตัวผู้เขียนเองก็เคยสับสน วกวน งงงวยกับตัวเองมากมาย ว่าเรากำลังทำอะไร มีเป้าหมายอะไรกันแน่ คิดจนมึนก็คิดไม่ออก และช่วงนั้นก็มืดมนสุดทน จนเมื่อหยุดคิดพาตัวเองออกเดินเล่นกับชีวิตไปเรื่อยๆ จึงเห็นว่าการเดินเรื่อยๆ นี้ก็ทำให้เราค่อยๆ เห็นทางไปได้ ไม่ต้องรู้ทั้งหมดวันนี้ก็ได้ ใช้ชีวิตเหมือนอ่านนิยายเล่มโต ค่อยๆ ละเลียดลิ้มรสไปเรื่อยๆ ถ้ารู้ตอนจบแล้วก็หมดสนุกพอดี
เป้าหมายหรือฝันที่ชัดทำให้เรารู้ว่าจะเดินไปทางไหน แต่ถ้าไม่เท่าทัน การมุ่งมองฟ้าหาเป้าหมายก็ทำให้เราหันหน้าไปมองมุมอื่นน้อยลง ไม่เห็นว่ามีที่ไหนน่าไปอีกบ้าง ละเลยการก้มหน้ามองหนทางที่ก้าวเดินอยู่ อดชื่นชมดอกหญ้า แม่น้ำ พื้นดินระหว่างทาง
การอยู่กับเป้าหมายบางทีก็เป็นกับดักที่เราให้เราอยู่กับสิ่งที่คิดไว้ในอดีต และสิ่งที่เราคาดว่าจะเป็นไปในอนาคต จนลืมลิ้มรสสัมผัสของปัจจุบันขณะอย่างแท้จริง ภาพฝันเป็นแรงบันดาลใจที่มีค่าแต่การยึดติดกับฝันนั้น ก็อาจทำให้เราใช้ชีวิตตามหาประสบการณ์ที่คิดว่าควรจะเป็น มากกว่าการได้ “ประสบ” กับชีวิตแบบที่มันเป็นจริงๆ
น้องชายคนเดียวกันนี้เคยตัดสินใจที่จะไม่เรียนดนตรี ทั้งที่เขาสนใจมันมาก เพราะอยากจะเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง มากกว่าเรียนจากคำบอกเล่าของคนอื่นว่าประสบการณ์ของดนตรีควรจะเป็นยังไง วันนี้เขาเป็นนักร้องที่โดดเด่น และเล่นดนตรีได้ดีกว่าผู้เขียนที่เรียนมาตั้งนาน เพราะเขาได้ประสบมันและเข้าไปรู้จักมันด้วยตัวเอง
แม้กับการเรียนรู้ก็ถูกคาดหวังให้ตั้งเป้าหมายให้ชัดตั้งแต่ต้นว่าจะเรียนอะไร อย่างไร เพื่ออะไร ภาพที่ชัดมากเกินไปนั้นจะมีส่วนในการปิดกั้นการเรียนรู้ที่แท้จริงหรือเปล่า การเฝ้ามองหาบางอย่างมากเกินไป ก็อาจทำให้เรามองข้ามสิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้คาดไว้ก็ได้ การเรียนรู้ที่แท้น่าจะเป็นการผจญภัย ยอมให้ทุกๆ ประสบการณ์เข้ามาหาเราอย่างที่มันเป็น รับรู้มันด้วยใจที่เปิดกว้าง ให้ทุกๆ ความเป็นไปได้เปิดออกให้เราได้สบตา สิ่งที่เราไม่ได้ตั้งเป้าไว้อาจจะเป็นแง่เงามุมมืดของเราที่มองข้ามไปหรือไม่อยากมอง แต่ควรค่าแก่การเรียนรู้ที่สุดก็ได้
ลองวาง “ความรู้แล้ว” ลงบ้าง ปล่อยให้ใจพาชีวิตเดินไปเรื่อยๆ ตามจังหวะของเขา เดินทีละก้าว หายใจทีละครั้ง มองทีละมุม และตั้งคำถามตามที่เข้ามาในใจในแต่ละห้วงคำนึง
คนเรามีศักยภาพในการเรียนรู้อย่างไม่มีขีดจำกัด และเราก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะรู้ว่าสิ่งใดดีที่สุดสำหรับตัวเอง เพียงเราให้โอกาสตัวเอง ในการเฝ้ามองอย่างลึกซึ้ง อย่างกล้าหาญ เปิดกว้าง และไว้วางใจ เราก็จะได้เรียนรู้ชีวิตและค้นพบตัวเองอย่างที่เราเป็นจริงๆ
เมื่อเราไว้วางใจตัวเองและศักยภาพของตัวเองได้ เราก็จะไว้วางใจในคนอื่นได้เช่นกัน
ลองให้โอกาสตัวเองได้หลงทางบ้างนะคะ
Labels: กฤตยา ศรีสรรพกิจ