โดย อดิศร จันทรสุข
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๑

ผมมองดูเข็มนาฬิกาที่ค่อยๆ เคลื่อนที่ไปอย่างช้าๆ เป็นจังหวะที่สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง มันแลดูไม่รีบร้อน ไม่วิตกกังวล ซึ่งตรงกันข้ามกับความรู้สึกของผมในขณะนี้

ใช่แล้ว ผมพบว่า ตัวเองกำลังวิตกกังวลจนอาจถึงขั้นหวาดผวา

อาการที่ว่าเกิดขึ้นจากการที่ผมต้องเขียนบทความลงในคอลัมน์ฉบับที่ท่านผู้อ่านกำลังอ่านอยู่นี้

อันที่จริง ผมเขียนบทความเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้ แต่เมื่อได้อ่านทวนสิ่งที่ตัวเองเขียนอีกรอบหนึ่ง ผมก็พบว่าตัวเอง “อาย” เกินกว่าที่จะปล่อยให้บทความดังกล่าวปรากฏสู่สายตาผู้อ่านได้

เปล่าหรอกครับ เนื้อหาของบทความไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าอายแต่อย่างใด

แต่สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกอายก็คือ “น้ำเสียง” ของตัวเองที่พยายามจะอรรถาธิบายมุมมองความคิดให้ผู้อ่านเข้าใจและคล้อยตามตั้งแต่ย่อหน้าแรกจนถึงบรรทัดสุดท้าย มันเป็นน้ำเสียงที่แฝงความเชื่อมั่นและภาคภูมิใจกับความคิดที่มีเหตุผลของตัวเองเสียจนน่าหมั่นไส้!

หลายคนเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้อาจจะเริ่มสงสัยว่าแล้วมันเสียหายตรงไหนที่เราจะมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเขียน ก็ในเมื่อนี่มันคือหน้าที่ประการแรกของการเขียนบทความให้ผู้อ่านรู้สึกคล้อยตามในสิ่งที่เราต้องการนำเสนอ ใครที่ไหนจะอยากอ่านงานเขียนที่ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้สึกว่าผู้เขียนไม่ได้มั่นใจในความคิดของตัวเองเอาเสียเลย

นั่นน่ะสิครับ ผมเองก็ยังไม่เข้าใจความคิดของตัวเองเท่าใดนัก รู้แต่ว่า ช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ตัวเองตกอยู่ในอาการเหมือนคนเพิ่งฟื้นจากไข้ โลกรอบๆ ตัวดูผิดแปลก แตกแยกจากความคุ้นชินเดิม ในทางภาษาวิชาการ อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “โรคภูมิแพ้แนวคิดหลังสมัยใหม่” (Postmodernity Allergy) อาการที่ว่ามักจะเกิดขึ้นเวลาได้อ่านบทความและงานเขียนต่างๆ ที่ผู้เขียนแสดงความมั่นอกมั่นใจในความคิดของตัวเองออกมา จนไม่เหลือที่ว่างทางความคิดให้ผู้อ่านสามารถโต้แย้ง หรือใคร่ครวญก่อนที่จะปักใจเชื่อ หรือที่เรียกแบบภาษาชาวบ้านว่า “จงใจยัดเยียดความคิด” นั่นเอง

อาการเช่นนี้มักจะเกิดขึ้นบ่อยๆ โดยเฉพาะกับคนเรียนสูง (ไม่ได้หมายความว่าเรียนบนตึกสูงนะครับ!) นั่นอาจเป็นเพราะว่า เราถูกสังคมและสถาบันการศึกษาหล่อหลอมให้เชื่อว่า การนำเสนอความคิดในที่สาธารณะ จำเป็นจะต้องใช้หลักเหตุผลที่สอดคล้องต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ผู้อ่าน (หรือผู้ฟัง) สามารถเข้าใจสาระที่เราต้องการนำเสนออย่างคล้อยตามได้โดยปราศจากข้อกังขา เราพยายามทุกวิถีทางที่จะอุดช่องว่างหรือรอยรั่วในการนำเสนอความคิดของเรา ถึงขนาดมีสาขาวิชาที่เปิดสอนเกี่ยวกับศาสตร์ในด้านนี้โดยเฉพาะจนถึงระดับปริญญาเอกเลยด้วยซ้ำ

ในขณะที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ ผมก็พบว่าตัวเองพยายามทำให้ “ความไร้สาระ” ของตัวเองดูเป็นเรื่องที่มีเหตุผลขึ้นมา จากตรรกะที่พยายามนำเสนอตั้งแต่บรรทัดแรกจนถึงบรรทัดนี้ นั่นหมายความว่า ถึงผมจะพยายามปฏิเสธความสมเหตุสมผลในทางความคิดของตัวเอง แต่สุดท้ายผมก็ตกอยู่ในร่องทางความคิดในเชิงตรรกะของตนเองเข้าจนได้ คล้ายๆ กับนายพรานที่ตกลงไปในกับดักที่ตัวเองขุดไว้เองกับมือ

ผมพบว่าเป็นเรื่องยากเหลือเกินสำหรับตัวเองที่จะพยายามวิ่งหนีออกจากรากความคิดความเชื่อที่ถูกปลูกฝังเอาไว้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะในช่วงของการเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เพราะคะแนนจากการเขียนรายงานและการสอบล้วนขึ้นอยู่กับความสอดคล้องของหลักการและเหตุผลโดยไม่เคยมีใครตั้งข้อสงสัยเป็นอย่างอื่น ผมเองก็สร้างข้อแม้ให้ตัวเองเชื่อว่า ความคิดต้องคู่กับเหตุผลเสมอ มีหลายครั้งที่ผมมีโอกาสอ่านงานเขียนที่ต้องการนำเสนอความคิดในลักษณะขั้วตรงข้ามกับเหตุผล ผมพบว่าสุดท้ายไม่ว่าผู้เขียนจะพยายามมากเท่าใดก็ตามในการชี้ให้ผู้อ่านเห็นว่าโลกของเหตุผลนั้นมันช่างไร้เหตุผลเสียเหลือเกิน แต่สุดท้ายความพยายามของผู้เขียนก็ต้องยอมแพ้ต่อความดื้อรั้นของผู้อ่านที่ยังใช้หลักเหตุผลมาเป็นเครื่องมือในการตีความงานเขียนนั้นอยู่ดี

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะมีผู้อ่านหลายคนเริ่มตั้งคำถามกับความวกวนในความคิดของผมแล้วว่า ตกลงผมมีเหตุผลอะไรในการนำเสนอความไม่มีเหตุผลของบทความที่ตัวเองกำลังเขียนอยู่นี้หรือเปล่า?

ลึกๆ แล้วผมแอบคาดหวังให้ตัวเองไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลในการตอบคำถามนี้ เพราะถ้าผมมีเหตุผล นั่นก็หมายความว่า ผมกำลังลบล้างสิ่งที่ตัวเองนำเสนอมาตั้งแต่ต้นว่า เหตุผลเป็นเรื่องไร้สาระในการนำเสนอความคิดเห็นในที่สาธารณะ แต่โชคร้ายที่ผมบังเอิญนึกขึ้นมาได้ ความไม่มีเหตุผลนั้นย่อมมีเหตุผลในตัวของมันเอง ดังนั้น เมื่อผมยอมแพ้กับความพยายามในการไม่มีเหตุผลของตัวเอง ผมก็พบว่า เหตุผลในการเขียนบทความนี้ก็เพื่อที่จะบอกกับผู้อ่านว่า ความไม่มีเหตุผลนั้น บางทีอาจจะทำให้เราได้มองความมีเหตุผลในอีกแง่มุมหนึ่งได้

ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เหตุผลกลายเป็นเครื่องมือที่ผู้มีอำนาจ (และ/หรือ ไม่มีอำนาจ) นำมาใช้ในการสร้างความสมเหตุสมผลต่อการกระทำของตัวเอง และเพราะเราเรียกมันว่า ความมีเหตุผล นั่นเอง ที่ทำให้เราละเลยที่จะใคร่ครวญตรวจสอบถึงต้นสายของเหตุผลนั้น ว่าบางครั้งมันเป็นเพียงแค่ความมีเหตุผลของคนกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งอาจเป็นกลุ่มที่ใหญ่มากพอในการระบุความชอบธรรม) แต่ไม่ได้หมายความว่า มันจะเป็นที่ยอมรับของคนอีกกลุ่มหนึ่งหรืออีกหลายกลุ่มเสมอไป สงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือแม้กระทั่งการวิวาทในครอบครัว ก็ล้วนเกิดขึ้นจากการคิดว่าตัวเองมีเหตุผลมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ

ผมไม่ได้กำลังจะแนะนำว่า เราไม่ควรจะใช้เหตุผลในการดำเนินชีวิตประจำวันหรือการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในทุกระดับ แต่บางครั้งเราอาจจะต้องยอมให้ความไม่มีเหตุผล (ในความคิดของเรา) ได้ส่งเสียงออกมาจากซอกหลืบต่างๆ บ้าง เราอาจจะต้องไม่ลืมว่า ความไร้เหตุผลนั่นเองที่ทำให้มนุษย์สามารถประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และความไร้เหตุผลอีกเช่นกันที่ทำให้มนุษย์มีความรักให้แก่กันและกันโดยปราศจากข้อแม้ได้

และแล้วในที่สุด ความพยายามของตัวผมเองในการนำเสนอความไม่มีเหตุผล ก็ไม่สามารถจะบรรลุเป้าหมายดังที่ตั้งใจไว้ ผมตกเป็นทาสของความมีเหตุผลอย่างดิ้นไม่หลุด ผมคงจะต้องก้มหน้าก้มตารับชะตากรรมของความมีเหตุผลของตัวเองต่อไป และเมื่อจำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น ผมจึงเลือกหักหลังตัวเองด้วยการจบบทความลงเพียงแค่นี้ ซึ่งเป็นการจบอย่างไม่มีเหตุผลที่สุด!

2 Comments:

  1. Anonymous said...
    เราเรียกสิ่งนั้นว่า 'จินตนาการ' หรือเปล่าคะ

    ชอบบทความนี้แบบไม่มีเหตุผล อิอิ

    ^^
    Au said...
    โอ้

    โดนอย่างที่สุดเลยพี่อั๋น

Post a Comment



Newer Post Older Post Home