โดย ณัฐฬส วังวิญญู
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๑

ในปัจจุบัน ผู้นำองค์กรจำนวนมากต้องการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กร พวกเขาทำงานหนัก ลงทุนทั้งเงินและเวลาในการกระตุ้น รณรงค์ กำหนดนโยบาย สร้างวิสัยทัศน์ วางแผนเชิงยุทธศาสตร์ ฝึกอบรมและจัดสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม เพื่อให้เกิดภาวะผู้นำ ความสมัครสมานสามัคคี การมีส่วนร่วม ปรับปรุงระบบเทคโนโลยีการจัดการความรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ตลอดจนสร้างนวัตกรรมทางการผลิตและการให้บริการ ฯลฯ แต่แล้วมักพบว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นกลับไม่ได้เกิดขึ้นดังที่คาดหวัง จนหลายคนถึงกับคิดไปว่าผู้คนโดยมาก ถ้าไม่ใช่พวกที่ยอมรับแบบจำยอม ก็เป็นพวกที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง จึงจำต้องสร้างระบบควบคุมและโครงสร้างที่รัดกุม ตรวจสอบติดตามผลการทำงานให้แม่นยำและเด็ดขาดขึ้น ซึ่งยิ่งสร้างภาระงานและเพิ่มบรรยากาศของความเครียดความกดดัน อันเป็นผลให้เกิดภาวะการแข่งขัน หวาดระแวง และการเอาตัวรอดของชีวิตภายในองค์กรมากขึ้น

แต่หากเราย้อนกลับมาคิดและตั้งคำถามใหม่อีกครั้งถึงธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ ว่ามนุษย์จะเปลี่ยนแปลงภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง เราจะเห็นว่า นอกจากความกลัวหรือความอยากต่างๆ ที่ “ผลักดัน” พฤติกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความอยากก้าวหน้า อยากสำเร็จ อยากมั่งคั่ง หรือกลัวล้มเหลว อับอาย ไร้คุณค่าความหมายแล้ว ยังมีเรื่องของความรักและความห่วงหาอาทรที่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนในองค์กรหรือสังคมให้เกิดการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ปรารถนา

มาร์กาเร็ต วีตเลย์ กล่าวว่า ธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ คือ ไม่ต้องการให้ใครมาเปลี่ยนตัวเอง แต่จะปรับเปลี่ยนต่อเมื่อมองเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อชีวิตและองค์กร ตลอดจนแม้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว การหล่อเลี้ยงพฤติกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนถาวรก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เพราะระบบสมองของมนุษย์นั้นถูกสร้างมาให้สั่งสมและบันทึกรูปแบบชีวิตเดิมๆ ที่ได้รับการปฏิบัติมาอย่างซ้ำๆ และชำนิชำนาญจนคุ้นชิน จึงจำต้องการอาศัยแรงบันดาลใจและความตั้งใจมั่น รวมทั้งแรงสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานและครอบครัว ในการสร้างวิถีการดำรงอยู่และวัฒนธรรมที่จะช่วยหล่อเลี้ยงการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น

ยิ่งในภาวะเร่งรีบบีบคั้น ภายใต้บรรยากาศของการแข่งขันและเอาตัวรอดในภาวะปกป้องตัวเอง โอกาสที่ผู้คนจะมองเห็นแบบแผนพฤติกรรมเดิมๆ ที่เป็นผลพวงของอดีต และโอกาสในการเปลี่ยนแปลงก็ยิ่งน้อยลงไปทุกที จนดูเหมือนว่าหากไม่เกิดวิกฤตการณ์ที่มีความหมายจริงๆ การมองโลกและพฤติกรรมในแบบเดิมๆ ของผู้คนก็จะยังคงหนักแน่นมั่นใจอยู่อย่างนั้นเอง

การสร้างกระแสการเปลี่ยนแปลงจากจิตสำนึกเก่าไปสู่จิตสำนึกใหม่นั้น จำต้องใส่ใจกับวิธีการรับรู้และเรียนรู้ของมนุษย์ดังที่เป็นมา การเรียนรู้ในระบบโรงเรียนแบบเดิมมักบอกว่าเราควรสนใจเรื่องอะไร ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ศาสนา คุณธรรม จริยธรรม เรียนเป็นวิชาๆ หรือเป็นหัวข้อๆ ไป และมักไม่ตั้งคำถามเพื่อเรียนรู้จากผู้เรียนว่า จริงๆ แล้วเขาสนใจเรื่องอะไร สิ่งที่เป็นศูนย์กลางความสนใจของผู้เรียนคืออะไร เขาเหล่านั้นทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับอะไร

การปรับวัฒนธรรมองค์กร จากองค์กรที่ผู้คนสัมพันธ์กันแบบเครื่องจักรกลไกมาเป็นองค์กรที่มีชีวิต ที่ผู้คนเปิดรับ เรียนรู้ และแบ่งปันซึ่งกันและกัน จะเกิดขึ้นได้อย่างถึงรากก็ต่อเมื่อการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นภายในใจของผู้คน ที่ส่งผลถึงวิถีความสัมพันธ์ทั้งในบ้านและในองค์กร คำที่ว่า “เมื่อใจเปลี่ยน โลกก็เปลี่ยนตาม” ไม่ใช่เป็นเพียงคำกวีหวานหูเท่านั้น แต่เป็นศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงที่หัวใจของมนุษย์สามารถมีส่วนร่วมได้อย่างสร้างสรรค์

โดยวาระที่ผู้คนให้ความสนใจกันมากวาระหนึ่ง จะเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ว่าเรื่องสุขภาพ หรือสัมพันธภาพในบ้าน เป็นต้น ทำให้เกิดโรงเรียนพ่อแม่ จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากเรื่องราวซึ่งดูเหมือนเป็นวาระส่วนตัวได้กลายเป็นวาระร่วมของสาธารณะ เพียงเพราะว่าหัวใจของพ่อแม่อยู่ที่ลูก ความใส่ใจและทรัพยากรจำนวนมากทุ่มเทไปเพื่อการพัฒนาชีวิตลูก ตราบใดที่ลูกคือใจกลางความห่วงใยและผูกพัน โอกาสการเรียนรู้ของสังคมช่องทางหนึ่งจึงอยู่ที่หัวอกหัวใจของพ่อแม่นี่เอง ทำให้สถาบันขวัญเมืองได้ริเริ่มจัดกิจกรรมเหล่านี้ขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยมี อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู และอาจารย์อังคนา มาศรังสรรค์ เป็นแกนหลัก และได้ขยายกิจกรรมดังกล่าวมาในเขตกรุงเทพมหานครและสงขลา โดยได้รับความสนใจจากผู้คนอย่างแพร่หลาย

พ่อแม่หลายคนมาเข้าเรียนในโรงเรียนพ่อแม่พร้อมกับคำถามมากมาย เช่น พ่อแม่จะพูดอย่างไรให้ลูกฟัง หรือฟังอย่างไรให้ลูกพูด ทำอย่างไรให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พ่อแม่จะดูแลความเครียดที่เกิดขึ้นในการเรียน ให้ไม่ทำลายทั้งสุขภาพกายและจิตใจ ความสำเร็จและความสุขในชีวิตของลูกจะเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กันได้อย่างไร เราจะแก้ไขความห่างเหินที่เกิดมากขึ้นในครอบครัวได้อย่างไร วินัยและคุณธรรมสร้างขึ้นมาได้อย่างไร อิสรภาพที่ไม่ใช่การตามใจนั้นเป็นอย่างไร การเลี้ยงลูกอย่างมีสติและอิสระจากความกลัวนั้นทำได้อย่างไร เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นโจทย์ที่สำคัญต่อการเป็นพ่อแม่ และเป็นสิ่งที่โรงเรียนพ่อแม่ช่วยหาคำตอบร่วมกัน

แนวคิดพื้นฐานของโรงเรียนพ่อแม่ คือการเปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้เพื่อให้พ่อแม่ได้มารู้จักตัวเอง และเห็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนเติบโตไปพร้อมๆ กับการเลี้ยงดูลูกของตัวเองให้พัฒนาความเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยศักยภาพไปพร้อมๆ กัน ในบรรยากาศที่เป็นมิตร ผ่อนคลาย และปลอดภัย

โดยมีกิจกรรมที่ช่วยปรับจังหวะชีวิตให้ช้าลง และค้นพบความสงบสุขของการดำรงอยู่ เป็นพื้นที่ว่างที่เหมาะแก่การคิดใคร่ครวญและทบทวนตัวเอง ถึงชีวิตที่ผ่านมา นับตั้งแต่วัยเด็ก มาจนถึงวัยของความเป็นพ่อแม่ เพื่อให้เห็นโลกภายในที่มีระบบคุณค่า กรอบคิด และแนวปฏิบัติที่ยึดมั่นจนคุ้นเคยอย่างเป็นอัตโนมัติ(อัตตา) นอกจากนี้การได้แบ่งปันทุกข์สุขในบรรยากาศของรับฟังกันและกันอย่างลึกซึ้ง จะก่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ ไม่ด่วนสรุปตัดสินหรือการเอาชนะคะคานทางความคิด

แม้ว่าหลายคนจะเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับเทคนิควิธีการเลี้ยงดูลูกมามากมาย แต่วิธีการเหล่านั้นจะไม่ได้ผลนักหากพ่อแม่ยังมองไม่เห็นข้อจำกัดของสิ่งที่ตัวเองเป็น ดังนั้น โจทย์ของโรงเรียนพ่อแม่ที่สำคัญคือ เราคือใคร ตัวตนของเราเป็นอย่างไร เพราะสิ่งที่ลูกจะซึมซับและเรียนรู้จากพ่อแม่อย่างเป็นธรรมชาติ คือความเป็นตัวตนของพ่อแม่นั่นเอง ไม่ได้ขึ้นกับเทคนิควิธีการที่พ่อแม่ใช้ในการสื่อสารกับลูก

พลังแห่งการรับฟังอย่างเปิดใจนี้ ทำให้พ่อแม่ที่มาเข้าร่วมรู้สึกมีเพื่อน บ้างก็รู้สึกว่าได้เยียวยาสภาพจิตใจ และเกิดแรงบันดาลใจในการกลับไปสร้างครอบครัวที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ และการบ่มเพาะชีวิตลูกไปพร้อมกับการพัฒนาชีวิตด้านในของตัวพ่อแม่เอง

เมื่อโลกภายในเปลี่ยน ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับโลก ไม่ว่าที่บ้านหรือที่ทำงานก็เปลี่ยนตามไปด้วย และนี่อาจเป็นโอกาสที่สำคัญในการสร้างสรรค์สังคมหรือองค์กรแห่งการเรียนรู้บนฐานรากของหัวใจที่มีรักและแรงปรารถนาที่จะดำเนินชีวิตไป ไม่เพียงแต่เพื่อการอยู่รอด แต่เพื่อการอยู่ร่วมอย่างสันติ มีคุณค่าและความหมายต่อกันและกัน

1 Comment:

  1. Ats said...

Post a Comment



Newer Post Older Post Home