โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๑
ระหว่างที่ฉันกำลังคิดว่าจะเขียนอะไรดีที่มันจะมีค่ามีความหมายต่อผู้คน ชีวิตช่วงที่ผ่านมาช่างมีเรื่องราวน่าสนใจน่าเรียนรู้หลายเรื่องราวเหลือเกิน คิดๆ แล้วก็คิด เรื่องราวมากมายวิ่งเข้ามาราวกับมันกำลังช่วงชิงการยอมรับจากฉัน และโดยไม่ทันรู้ตัวฉันก็กำลังทำตัวเป็นผู้ทรงภูมิ คัดเลือกและตัดสินแต่ละเนื้อหานั้น เหมือนกับมีเวทีการประกวดความนิยมในหัวฉันเอง สุดท้ายฉันนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์จากเช้าสู่ค่ำ โดยที่ยังไม่ได้เริ่มสักประโยคเดียว แล้วฉันก็นั่งภาวนาในใจ “บอกลูกสิ ... ว่าเรื่องราวใดกันที่ลูกควรจะเขียนถึง”
แล้วเรื่องราวก็เดินเข้ามาหาถึงที่
น้องสาวคนหนึ่งเข้ามาหาที่บ้าน ทักทายอย่างเป็นกันเองกับคนในบ้านฉัน พูดแซวกันสนุกสนาน ฉันจึงถามไถ่ถึงงานค่ายเยาวชนที่เธอเพิ่งจะไปทำมา เธอตอบ “ทำอย่างที่พี่บอกนั่นแหละ เด็กก็ร้องไห้นะ แต่มันยังไม่สะใจ” ฉันเลยถามกลับไปว่า “เธอคิดว่าเขาต้องร้องไห้หรือ กิจกรรมนั้นมันคงไม่ได้คาดหวังว่าต้องร้องไห้ก็ได้นี่” เหมือนคำพูดฉันไปตัดสินการทำงานของเธอเข้า “ไม่นะพี่ คือ บางคนก็ไม่ได้ร้องไห้หรอก หนูแค่รู้สึกไม่สะใจตัวเอง มันน่าจะถึงกว่านี้” ฉันเริ่มงง และคิดเอาว่าคงเป็นปัญหาเรื่องชุดภาษากระมัง “เธอได้ยินที่ตัวเองพูดไหม” แล้วพูดทวนประโยคแรกให้เธอฟัง แต่คราวนี้มันยิ่งไปกันใหญ่ เธอเริ่มน้ำตาคลอ และเริ่มไม่มองหน้าฉันเวลาพูด มันแสดงให้เห็นว่าเรื่องราวไม่ได้อยู่ที่เรื่องกิจกรรมที่เรากำลังคุยกันอยู่แล้ว แต่มันเอาเรื่องราวเก่าๆ เข้ามาแทรกซ้อนด้วย และคำพูดต่อมาของเธอก็ช่วยยืนยัน “หนูเปลี่ยนแล้ว หนูพัฒนาตัวเองแล้ว” ฉันมองดูน้ำตาของหญิงสาวด้วยความรู้สึกเหนื่อยอ่อน เสียงที่เข้ามาในหัวตอนนั้นคือ อีกแล้ว!!
ฉันเปลี่ยนหันมาพูดกับคนทุกคนที่นั่งอยู่ตรงนั้น แทนที่จะตอบโต้กับเธออีก เพราะมันจะยิ่งทำให้เกิดรอยร้าวในความสัมพันธ์ “บางทีเราต่างก็เร็วกันมาก เร็วจนไม่ได้ยินเสียงของตัวเอง และที่ซับซ้อนกว่านั้นนะ มันเป็นความคิดเบื้องหลังความคิดของเรา ความรู้สึกลึกๆ เบื้องหลังความรู้สึกที่เราแสดงออกมา เรากลบมัน และบิดเบือนมันอยู่เสมอ จนแทบไม่เห็นหรือไม่ทันจะรับรู้ความจริงของเราเบื้องหลังการแสดงออกมา การเติบโตและการพัฒนาก็เช่นเดียวกัน หากเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มาจากภายในของเรา เราจะไม่ต้องพยายามเป็นการเปลี่ยนแปลง พยายามเป็นผู้พัฒนาแล้วในการแสดงออกมาของเรา”
น้องอีกคนแสดงความคิดเห็นว่า ดีจังที่ได้นั่งอยู่ในสถานการณ์ด้วย เพราะเหมือนตัวเธอได้เรียนไปด้วย และเห็นตัวเองในเรื่องราวที่คุยกันนี้ด้วย ฉันหันกลับไปบอกกับน้องคนเดิมว่า ฉันพยายามอธิบายให้ละเอียดเพราะเธอมักตัดพ้อความใส่ใจของฉันที่มีต่อเธอเสมอ ความห่างเหิน รู้สึกไม่เป็นที่รัก ถูกตำหนิ ด้วยน้องสาวคนนี้เคยเป็นคนใกล้ชิด เป็นเหมือนน้องสาวแท้ ๆ เป็นเลขา เป็นคนดูแลฉันมานาน พอแยกออกไป การกลับมาใหม่ก็คาดหวังต่อความสนิทสนมเช่นเดิม นี่เป็นเรื่องที่ฉันเองต้องเรียนรู้เช่นกัน เพราะในฐานะครูที่ต้องบอกกล่าว กับคนสนิทนี่ยากเหลือเกิน แล้วก็นิ่งเฉยตลอดไม่ได้ด้วย หากคนคนนั้นเป็นคนที่ไม่มีคนกล้าบอกกล่าวนัก
หญิงสาวตอบรับทันที เธอว่าเธอรู้สึกน้อยใจทุกครั้งที่มีการตำหนิ รู้สึกว่าเธอไม่สำคัญ ไม่มีค่าสำหรับฉัน ฉันจึงขอโทษเธออย่างจริงจัง อธิบายว่าฉันไม่ได้หมายความเช่นนั้น แล้วชื่นชมเธอให้คนอื่นฟัง ซึ่งฉันเองทำอยู่เสมอ แต่มักไม่ค่อยได้พูดต่อหน้าเธอเท่านั้น
วงสนทนาแยกย้ายกันไป เหลืออยู่ไม่กี่คน น้องคนหนึ่งถามว่าเมื่อครู่ฉันโกรธไหม เป็นคำถามที่ดีเหลือเกิน เพราะโดยทั่วๆ ไป ฉันคงตอบเร็วๆ เหมือนกันว่า ไม่โกรธ แต่การถามแบบใส่ใจของเขา ทำให้ฉันได้มองเข้ามาในตนเอง แม้จะตอบเช่นที่คิดเร็วๆ ว่าไม่โกรธ ก็เพราะมันไม่โกรธจริงๆ แต่ฉันบอกเขาว่าฉันเสียใจมากกว่า
เรื่องราวที่เกิดขึ้นสะท้อนความเป็นพี่ เป็นเจ้านายที่ไม่ค่อยน่ารักเท่าไร บ่นและตำหนิอยู่ตลอดเวลา แถมคิดว่าตัวเองกำลังสอน นี่เลยเป็นโจทย์ให้ฉันจนวันนี้ไง เพราะตอนนี้ที่ฉันพร้อมที่จะสอนและดูแล เขาถึงรู้สึกว่ากำลังโดนตำหนิอยู่เช่นเดิม ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ฉันต้องเรียนรู้ ว่าจะสอนอย่างไรที่เขาจะรู้สึกอยากเรียน เพราะในกรณีนี้ ฉันจะใช้วิธีเดิมๆ อย่างที่ฉันสอนหรือจัดกระบวนการเรียนรู้กับคนอื่นๆ คงไม่เหมาะนัก
จะว่าไปแล้ว มันไม่ใช่ที่น้องสาวคนนั้นเท่านั้น แม้แต่ตัวฉันเองก็ยังต้องฝึกฟังเสียงภายใน และซื่อสัตย์กับมันมากขึ้น เราต่างก็ซับซ้อนกันไปคนละแบบ ตามแต่การเพาะบ่มที่ผ่านมาในชีวิตของเราแต่ละคน แม้ทุกวันนี้ฉันเรียนรู้ที่จะเป็นตัวตนที่แท้มากเท่าไร มันก็ทำให้ฉันเห็นว่าบ่อยครั้งเหลือเกินที่ฉันเองพยายามกลบเกลื่อน แชเชือนเฉไฉ ความคิด ความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง
มันเป็นตลกร้ายทีเดียว ที่เราเคยหลงคิดและเชื่อว่าเราหลอกคนอื่นได้แต่เราหลอกตัวเองไม่ได้ ระยะหลังๆ มานี้ ฉันกลับพบว่า เราหลอกคนอื่นไม่ได้จริงๆ อย่างที่เราคิดหรอก เขาแค่ไม่ได้บอกเราออกมา เพราะเขาแคร์เรา เพราะเขากลัวเราโกรธ กลัวเราไม่รัก และหลายคนก็เชื่อว่ามันเป็นมารยาท ที่จะไม่ไปแตะตัวตนของคนอื่นเข้า นี่ยังไม่รวมอันตรายที่เราอาจสวนกลับไปด้วยความโกรธอีกนะ แต่ที่เราหลอกได้อยู่ตลอดมา คือ ตัวเราเอง
แม้จะยอมรับ บอกกล่าว เชื่อตามคำสอน บทสรุปแห่งชีวิต “เราต่างไม่สมบูรณ์” แต่ความเป็นจริงในชีวิตที่ผ่านๆ มา เรากลับแสดงต่อโลกรอบตัวว่าเราถูก เราใช่ เราสมบูรณ์แล้ว เราชอบตัดสินสิ่งต่างๆ แต่กลับไม่ยอมให้ใครมาตัดสินตัวเรา เพราะมันเจ็บปวดเกินไปที่จะต้องยอมจำนนต่อความคิดที่ว่า เราคือความไม่สมบูรณ์นั่น จะดีกว่าไหมหากลดการตัดสินที่เรามี นับวันฉันยิ่งพบว่า ยิ่งตัดสินมากเท่าไร ถูก-ผิด ดี-เลว ใช่-ไม่ใช่ พัฒนา-ไม่พัฒนา ตัวฉันเองนี่แหละยิ่งหวาดระแวงต่อโลกรอบตัวมากเท่านั้น เราจะเชื่อว่าเราพูดด้วยเสียงของความถูกต้องได้อย่างไร หากเราเต็มไปด้วยความโกรธเกลียดที่อยู่ภายใน คำบอกกล่าว คำชี้แนะคงน่าฟัง น่าโอบรับมากกว่าหากถ้อยคำเหล่านั้นมาจากความรัก เมตตาของผู้พูด
ตอนนี้ฉันรู้สึกเหมือนน้องคนที่แสดงความรู้สึกร่วมต่อการเรียนรู้ของวงสนทนา รู้สึกว่าเรื่องราววันนี้มีค่ามีความหมายจัง และเสียงในหัวมันก็บอกว่า เมื่อมันมีคุณค่าต่อตัวเธอ มันก็มีความหมายต่อผู้อื่นด้วยเช่นกัน
Labels: ธนัญธร เปรมใจชื่น