โดย ธีระพล เต็มอุดม
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๑

สองสัปดาห์ก่อน นักศึกษาในชั้นเรียนวิชาสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ มหิดล ล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากภาพและข้อมูลเกี่ยวกับบ้านขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ ที่ได้ผ่านตา เห็นสภาพของโบสถ์ที่ถูกคลื่นทะเลซัด ได้รู้ว่าชาวบ้านที่นั่นต้องย้ายบ้านมากกว่า ๔-๕ ครั้งในชั่วเวลาไม่กี่ปีเพราะพื้นที่ชายฝั่งหดหายไปอย่างรวดเร็ว สัปดาห์ต่อมา นักศึกษาทุกคนต่างช่วยกันติดต่อประสานและลงขันสมทบทุนกันให้ได้ไปเยือนยังชุมชนนั้น ส่วนหนึ่งเขาก็อยากจะเรียนรู้จากของจริงนอกห้องเรียน ส่วนบางคนก็มุ่งมั่นต้องการไปช่วยเหลือปลูกป่าชายเลนด้วยรู้สึกว่าชาวบ้านช่างเจอทุกข์หนักเหลือเกิน

เช้าวันนั้นป้าสมรผู้ใหญ่บ้านได้บรรยายบอกเล่าความเป็นมาของหมู่บ้านและสถานการณ์สิ่งแวดล้อมอย่างเรียบง่าย พร้อมชี้ชวนให้เราดูภาพถ่ายและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เราทุกคนรับรู้ได้ถึงพลังของความมุ่งมั่นตั้งใจจากหญิงแกร่งคนนี้ที่ไม่ได้ทำเพื่อให้อยู่รอดเฉพาะหน้า แต่เพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าคืออดีตแห่งความภาคภูมิของบรรพบุรุษ อนาคตความมั่นคงของลูกหลาน และภารกิจสำคัญของการพิทักษ์ผืนแผ่นดิน

ต่อเมื่อเช้าของการรับฟังและท่องชมสถานที่ต่างๆ ในหมู่บ้านผ่านไป หลังจากผู้มาเยือนได้เห็นความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชน ได้ยินคำบอกเล่าชีวิตจริงของการต่อสู้ และได้สัมผัสบรรยากาศจริงของโรงเรียนและวัดขุนสมุทรจีนซึ่งคงอยู่คู่กับชุมชนได้ด้วยพลังแห่งศรัทธาและความมุ่งมั่นแล้ว เมื่อย่างเข้ายามบ่ายได้เวลาที่พวกเราผู้มาเยือนเป็นฝ่ายมอบแรงกายช่วยปลูกป่าชายเลนบ้าง ต่างคนต่างตื่นเต้นและดิ่งเดินตรงไปบนสะพานคอนกรีตกว้างแค่พอสวนกันได้ เบื้องล่างลงไปร่วมสามเมตรนั้นเป็นผืนน้ำและโคลนเลน แหล่งเลี้ยงเพาะกุ้ง หอย ปลา ที่ทำกินของชาวบ้าน

ผู้เขียนในฐานะผู้ช่วยสอนซึ่งเดินรั้งท้าย ระหว่างที่ก้าวขึ้นไปบนสะพานยังได้ยินเสียงคุณป้าคุณลุงร้องบอกให้คณะถ่ายทำรายการโทรทัศน์ที่บังเอิญมาในวันเดียวกันรีบตามไปเก็บภาพการปลูกป่า ครั้นหันความสนใจกลับมาที่สะพานคอนกรีตตรงหน้า และก้าวเดินไปพักเดียวก็ต้องใจหาย เมื่อเห็นว่าทางคอนกรีตเบื้องหน้าหาได้เชื่อมต่อกันตลอด ช่องขาดหลายช่วงนั้นมีกระดานไม้วางเป็นสะพานพาดเชื่อมอยู่เป็นระยะ

แม้สะพานแรกๆ จะเป็นกระดานสี่แผ่นก็ตาม ยามที่เดินไปแล้วไม้ยวบยุบตัวตามน้ำหนัก ผู้เขียนก็เกิดกังวลวิตกต่างๆ นานา ห่วงสิ่งของสัมภาระในเป้สะพายหากเผลอพลัดหล่นไป แม้จะข้ามมาแล้ว ๔ สะพานก็ยังรู้ได้ว่าใจไม่ปกติ จังหวะที่ได้เดินบนสะพานคอนกรีตก็เหลียวไปสังเกตคณะถ่ายทำรายการซึ่งอยู่แต่ไกล หันหน้าชะเง้อไปดูนักศึกษาที่เดินไปแล้วก่อนหน้า พร้อมกลับมาปลุกปลอบใจตัวเองว่าอีกไม่นานหรอกคงจะถึงที่หมายแล้ว แต่สะพานกระดานไม้ก็ยังมีอยู่ต่อไป สะพานแล้วสะพานเล่า พร้อมกับขนาดที่เล็กลง จากสี่แผ่น เหลือสอง บ้างเหลือแค่หนึ่ง ซ้ำร้ายบางแห่งไม่มีราวไม้ไผ่ให้จับด้วย ถึงกระนั้นทุกคนก็ผ่านพ้นไปได้ ทั้งขาไปและขากลับ

เราจากลาผู้ใหญ่บ้านและชาวชุมชนมาเมื่อยามเย็น และใช้โอกาสระหว่างเวลาเดินทางบนรถบัสมาสะท้อนบทเรียนจากบ้านขุนสมุทรจีนในยามค่ำ ประเด็นแลกเปลี่ยนดำเนินไปอย่างออกรส ครอบคลุมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม โลกทัศน์และความเชื่อ ผู้เขียนตั้งประเด็นถามขึ้นว่าใครรู้สึกกลัวบ้างเมื่อต้องข้ามสะพานนั้น พร้อมเผยตรงไปตรงมาว่าสำหรับตนเองแล้วนั่นเป็นสถานการณ์น่าหวาดหวั่นอย่างยิ่ง แม้จะไม่แสดงออกให้คนอื่นเห็นก็ตาม ปรากฏว่าเพื่อนร่วมทางเกือบทั้งหมดยกมือยอมรับว่ารู้สึกกลัว

ความกลัวเป็นสิ่งที่เรามีร่วมกันต่อสะพานกระดานไม้นั้น หลายเสียงสะท้อนบอกตรงกันว่าชั่วขณะก่อนที่จะก้าวลงบนกระดานไม้ ความกลัวช่างมีอำนาจมากมายนัก มันทำให้เราจินตนาการล่วงหน้าว่าเราอาจได้รับบาดเจ็บ ต้องเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ไปจนถึงละอายขายขี้หน้าคนอื่น มายาภาพเหล่านี้แม้ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่ทำให้เราชะงักและลังเลขึ้นทุกครั้งได้

สำหรับผู้เขียนยิ่งประหลาดใจเมื่อย้อนมองกลับไปเห็นตัวเองว่า ยามที่กำลังลังเลว่าจะข้ามกระดานต่อไป ในใจก็เกิดเหตุผลขึ้นมาอ้างสารพัดว่าเพราะอะไรจึงควรจะไม่ไปต่อ ยิ่งได้เห็นคณะถ่ายทำรายการโทรทัศน์ล้มเลิกความตั้งใจและเดินกลับกลางคัน อาจเพราะต้องแบกกล้องตัวใหญ่หรืออะไรก็ตาม ยิ่งคิดเข้าข้างตัวเองมากขึ้น ทั้งที่จริงแล้วมีความกลัวเท่านั้นที่เป็นตัวผลักดันไม่ให้ทำในสิ่งที่ได้ตั้งใจไว้ และยับยั้งไม่ให้เดินไปถึงจุดหมาย

พวกเราพบว่าสิ่งที่ควรกระทำในเวลานั้นไม่ใช่การระงับความกลัว แต่แค่ตระหนักและรู้ว่าเกิดความกลัว ไม่จมจ่อมอยู่กับมันจนหวั่นหวาดไปกับมายาภาพ หรือยกอ้างเหตุผลนานา เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ความกลัวหายไป มันเกิดเพราะเหตุต้องเดินบนทางที่ไม่คุ้นเคย เมื่อเราเดินข้ามกระดานไม้แต่ละช่วงมาได้เราก็พบว่าความกลัวมันหายไป แม้มันจะกลับมาใหม่เมื่อต้องข้ามอีก แต่เราก็ไม่ถูกมันควบคุมบงการโดยไม่รู้ตัวอีก

เช่นเดียวกันกับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต ดังเช่นการพูดในที่สาธารณะ ถ้าถูกความกลัวครอบงำจนขาดสติระลึกรู้เสียแล้ว เราก็จะขาดโอกาสได้ลองเป็นคนใหม่ เป็นคนซึ่งสามารถพูดในที่สาธารณะได้ แม้จะไม่ใช่นักพูดที่ดีเลิศ แต่สิ่งนี้จะไม่เป็นอุปสรรคในชีวิตที่เป็นดินแดนต้องห้ามของเราอีก เมื่อข้ามผ่านความกลัวไป ย่อมได้เปิดโอกาสไว้ที่ปลายทางนั้น

อาจารย์ประจำวิชาเล่าให้นักศึกษาและสมาชิกบนรถบัสฟังว่า “คนกล้าหาญไม่ใช่ว่าเขาไม่กลัว ทุกคนต่างก็มีความกลัวไม่มากก็น้อย การที่เราทำในสิ่งที่เรารู้สึกเฉยๆ การลงมือทำในสิ่งที่เราเองก็รู้สึกเกรงกลัวต่างหากที่เป็นความกล้าหาญ”

ผู้เขียนนึกถึงคำถามของตนที่ตั้งไว้ก่อนไปเยือนบ้านขุนสมุทรจีนว่า ทำไมพวกเขาถึงไม่ย้าย ซ้ำยังยืนหยัดต่อสู้ธรรมชาติแม้จะดูไม่มีความหวังนัก แล้วก็ได้คำตอบหนึ่งให้แก่ตัวเองว่า ชาวชุมชนก็คงหวาดกลัวต่อความเปลี่ยนแปลงที่พลิกวิถีชีวิตของตนเช่นกันกับเราที่หวาดหวั่นการเดินข้ามสะพานกระดานไม้ แต่แทนที่เขาจะย้ายถิ่นฐานเลี่ยงไปประกอบอาชีพอื่น เขากลับปลุกความกล้าหาญขึ้นพร้อมเผชิญภัยเบื้องหน้า และก้าวต่อไปเขียนประวัติศาสตร์ให้ตนเอง

จากเดิมชั้นเรียนวิชาสิ่งแวดล้อมฯ ของเราตั้งใจจะไปเรียน ไปช่วย และให้กำลังใจชาวบ้าน แต่กลับพบว่าเราเป็นฝ่ายได้รับแรงบันดาลใจอย่างมาก เราได้เดินทางไปรับรู้และเข้าใจเขาอย่างที่เขาเป็น เราได้เข้าใจตนเองจากการเดินทางเข้าสู่ชีวิตด้านใน และเราได้ข้ามสะพานกระดานที่สอนว่า เรานั่นเองคือผู้เลือกข้ามความสะพรึงกลัวที่ตัวเราเองสร้างขึ้นเพื่อไปเปิดโอกาสใหม่ให้ชีวิตของเราได้

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home