โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๑

ช่วงหลังมานี้ในบ้านเราเมืองเราและในหมู่เพื่อนฝูงมิตรสหาย ผมมักจะได้ยินเรื่องราวของการปะทะกันและแยกขั้วแบ่งฝ่ายระหว่าง “เหตุผล” กับ “อารมณ์” อยู่เสมอ นักการเมืองบางท่านอ้างถึงเรื่องการใช้เหตุผล การยึดมั่นในข้อมูลและข้อเท็จจริง และมักจะโจมตีฝ่ายตรงข้ามที่ “ใช้แต่อารมณ์และความรู้สึก” การใช้อารมณ์จึงดูเหมือนเป็นการถดถอยกลับไปสู่ความไร้อารยะ สมมุติฐานที่ซ่อนเร้นของเขาก็คือการใช้เหตุผลนั้นเป็นวิวัฒนาการขั้นสูงของการเป็นมนุษย์ ผู้ที่ยังติดอยู่กับการใช้อารมณ์จึงเป็นผู้ที่ไม่ควรจะเรียกว่าเป็นผู้ประเสริฐ หรือเป็นอารยชน

ในขณะที่ผู้นิยมเหตุผลดูเหมือนว่าจะเป็นผู้กำชัยในการกำหนดทิศทางของโลกมนุษย์ในปัจจุบัน แต่มนุษย์อีกจำพวกหนึ่งกลับรู้ดีว่า “อารมณ์” ต่างหากที่อยู่เบื้องหลังของการขับเคลื่อนทางสังคม และมีผลต่อการเลือกและการตัดสินใจของบุคคลส่วนใหญ่มากกว่าเหตุผล ผู้ที่เป็น เจ้า (นายเหนือ) อารมณ์ และรู้เส้นสนกลในของการทำงานของอารมณ์จึงสามารถเลือกจะกระทำการบางอย่างที่ผิดจากความคาดหมายของผู้คน ดังเช่นผู้นำประเทศบางคนที่มีพฤติกรรมเอาแน่เอานอนไม่ได้ ชอบระเบิดอารมณ์กับนักข่าว ตอบไม่ตรงคำถามและมักไพล่ไปโจมตีผู้ถามด้วยถ้อยคำผรุสวาท ผู้ที่เผลอไผลไม่ทันเกม ก็จะต้องเสียความรู้สึก เสียอารมณ์เป็นธรรมดา แบบนี้จะเรียกว่าผู้นำของเราขาดจริยธรรมในการใช้อารมณ์หรือไม่?

เป็นที่น่าเสียดายว่าการเรียนรู้เรื่องอารมณ์ความรู้สึกกลับเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจในระดับรองๆไปในระบบการศึกษาของเรา ทั้งๆ ที่ไม่นานมานี้แดเนียล โกลแมนเขียนเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) แล้วได้รับความสนใจไปทั่ว แต่ถึงทุกวันนี้ในบ้านเราก็ยังล้มคว่ำคะมำหงายในการประยุกต์ใช้ให้ได้จริงในแวดวงการศึกษาที่ถูกความคิดแบบกระบวนทัศน์เก่าคลุมครอบอยู่ หากเราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้ามกรอบของสาขาวิชาที่แข็งตึง ความเข้าใจในเรื่องนี้น่าจะได้ขยายขอบเขตออกไปได้อีกมาก ลองจับความเข้าใจในเรื่องสภาวะทางอารมณ์ตามขนบพุทธ ไปปะทะสังสรรค์กับคำอธิบายของฝ่ายจิตวิญญาณแบบกระบวนทัศน์ใหม่ มาผสมผเสกับความเข้าใจในด้านอารมณ์ของศิลปะการละครทั้งของตะวันตกและตะวันออก ในความ ‘มั่วนิ่ม’ อาจจะมีบางอย่างงอกงามขึ้นได้ แทนที่จะมีแต่การแยกกันอยู่ และ “งอกงอม” กันอย่างทุกวันนี้

ว่ากันแบบรวบรัดตัดความที่สุดในทางพุทธศาสนา “ความรู้สึก” กับ “อารมณ์” นั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แม้คนทั่วไปจะ รู้สึก อย่างนั้นก็ตาม เรามักจะใช้คำว่า “ความรู้สึก” กับ “อารมณ์” สลับกันตลอดเวลา บางครั้งวัยรุ่นชอบพูดติดปากว่า “อารมณ์เสีย” (ต้องทำเสียงสูงๆ ต่ำๆ) แต่ที่จริงแล้วเขาอาจจะหมายถึงการเสียความรู้สึกมากกว่า ตามหลัก ปฏิจจสมุปบาท ความรู้สึกนั้นเกิดอย่างอัตโนมัติเป็นความสืบเนื่องของ ผัสสะ ความรู้สึกนี้ภาษาทางพระเรียกว่า “เวทนา” แต่ไม่ใช่เวทนาที่เราเข้าใจกันทั่วๆ ไป ยกตัวอย่างถ้าทานส้มตำแล้วรู้สึกเผ็ดร้อนในปากอันนี้เวทนาก็เกิด แต่อารมณ์นั้นค่อยเกิดตามมา เช่นอยากทานส้มตำปลาร้ามาหลายวันแล้ว เพิ่งมาได้ทานวันนี้ถึงแม้จะเผ็ดจี๊ดจนปากแทบพังแต่ก็มีความสุขเพราะได้ทานของโปรด

ถึงแม้ความรู้สึกกับอารมณ์ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกันอยู่ เพราะสภาวะทางอารมณ์ของคนๆ หนึ่งสามารถจะมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของผู้อื่นได้ ปราชญ์ทางการละครอินเดียรู้เรื่องนี้มานานแล้ว ในตำรานาฏยศาสตร์ได้มีการกล่าวถึงเรื่อง “สภาวะ” หรือ Bhava ซึ่งไปตรงกับความเข้าใจทางพุทธเรื่อง “ภพ” (Becoming) ซึ่งก็หมายถึง “อารมณ์” หรือ Mood นั่นเอง ทางอินเดียบอกว่าหนทางหนึ่งที่จะถ่ายทอดความรู้สึกไปสู่ผู้ชมละครได้นั้น ตัวผู้แสดงต้องสร้างให้เกิด “ภาวะ” นั้นๆ ด้วยการแสดงออกทางสีหน้าท่าทางอย่างชัดเจน เช่น โกรธก็ต้องมีการถลึงตา เลิกคิ้ว หรือเมื่อตกอยู่ในความรักก็สะเทิ้นอายจนต้องวิ่งข้ามภูเขาสิบลูก เป็นต้น ความรู้สึกที่สามารถจะสร้างให้เกิดกับผู้ชมหรือเรียกว่า รสะ นั้นมีอยู่มากมายหลายแบบ ยกตัวอย่างเช่น เราทรรส มีโกรธะเป็นภาวะ และศฤงคารรส หรือรสแห่งความรัก มีรติหรือความยินดีเป็นภาวะ เป็นต้น เมื่อมีรสอยู่หลายแบบแต่ไม่รู้เป็นเพราะเหตุใดรัฐบาลของเราถึงเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างรสอยู่แบบเดียวก็คือรสแห่งความเคืองแค้น และขุ่นข้องหมองใจให้กับประชาชน?

ในมิติจิตวิญญาณกระบวนทัศน์ใหม่ คุรุอย่างเอ็กฮาร์ต โทลลี ให้คำจำกัดความอย่างเข้าใจง่ายๆ ว่า อารมณ์ก็คือ "ปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายมีต่อความคิด" เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าปฏิกิริยาของร่างกายที่เกิดจากสิ่งเร้าภายนอกนั้นเรียกได้ว่าเป็นเพียงความรู้สึกในระดับ “สัญชาตญาณ” เท่านั้น เช่น ถ้าหากเห็นสุนัขเห่าและวิ่งมาหาเรา ร่างกายจะมีการตอบสนองเป็นต้นว่าหัวใจเต้นเร็วขึ้น ขาสั่นจนก้าวไม่ออก ตรงนี้เกิดขึ้นเองโดยไม่ผ่านการคิด แต่อารมณ์นั้นจะเกิดจากความคิดปรุงแต่ง ซึ่งมีความยึดมั่นในตัวตนของเรามาเกี่ยวข้อง เช่น เห็นสุนัขวิ่งเข้ามาจะกัด เกิดความกลัวในเบื้องต้น (Primal Fear) แต่ไม่ปล่อยให้มันปรุงแต่งต่อมาเป็นอารมณ์วิตก หวาดหวั่น ก็สามารถควบคุมสติและสถานการณ์เอาไว้ได้ เรื่องแปลกก็คือแม้แต่เพียงคิดถึงเหตุการณ์อะไรบางอย่างในหัวของเรา อารมณ์ก็สามารถเกิดขึ้นได้ โดยที่เหตุการณ์นั้นไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นจริงเลยด้วยซ้ำ และนี่เป็นสิ่งที่นักแสดงที่มีพื้นฐานมาจากทางตะวันตกรู้จักกันดีว่าเป็นเรื่องของ “Emotional Memory” หรือการสร้างความสมจริงทางอารมณ์ให้เกิดขึ้นผ่านทางจินตนาการ คอนแสตนติน สตานิสสลาฟสกี้ นักการละครชาวรัสเซีย กล่าวว่าทุกๆ คนมีศักยภาพที่สามารถจะทำได้

ทุกๆ คนเป็นเจ้า (ของ) อารมณ์ แต่จะมีสักกี่คนที่เป็น เจ้า (นาย) อารมณ์ คือ รู้ทันการเกิดขึ้นของอารมณ์ เพราะกว่าเราจะรู้ก็มักสายไปเสียแล้ว เพื่อนบางคนมาสารภาพบอกว่าช่วงนี้รู้สึกตัวเองเครียดมาก แต่พอถูกซักถามก็ตอบไม่ได้ว่าเป็นเรื่องอะไร นี่อาจเป็นเพราะเราเห็นไม่ทันในความปุบปับเร่งรีบ มีชีวิตที่แขวนอยู่กับ Deadline อันต่อไปอย่างต่อเนื่อง ชีวิตของคนหลายๆ คนจึงมีแต่อารมณ์ขี้โมโห หงุดหงิด รำคาญเป็นเจ้าเรือน

คนบางคนชอบสุมความรู้สึกให้กับตัวเอง ทุกๆ ครั้งที่รู้สึกว่างลง แทนที่จะรู้สึกดีกลับรู้สึกว่าจะต้องหาอะไรมาทำให้วุ่นๆ เข้าไว้ เพราะอัตตามันไม่ยอม มันไปคิดเอาเองว่าถ้าเราว่างลงตัวเราจะรู้สึกไม่มีคุณค่า และเรามักจะหลงไปคิดว่าเราจะยอมอยู่อย่างมีอารมณ์ลบๆ แบบนี้ยังดีเสียกว่าจะกลายเป็นคนที่หมดความรู้สึก หรืออยู่อย่างหุ่นยนต์ที่ไร้อารมณ์ นี่เป็นความเข้าใจผิด ศาสดาทุกศาสนาไม่เคยสอนให้เราหมดความรู้สึก ความรู้สึกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเราเป็นมนุษย์ มันเกิดขึ้นเองตามความสืบเนื่องของเหตุและปัจจัย

ถ้าเราหมดความรู้สึกเราจะไม่เห็นความงามของดอกไม้ริมทางเดิน ถ้าเราหมดความรู้สึกเราจะไม่อาจรับรู้ความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์และสรรพชีวิต การกลับมาใคร่ครวญในเรื่องอารมณ์ของเราอย่างลึกซึ้งจะทำให้มนุษย์เราก้าวข้ามไปสู่ความตื่นรู้อันพ้นไปจากอหังการของความคิดและเหตุผลได้ใช่หรือไม่?

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home