โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๑

เหลียวมองสภาพการณ์ของบ้านเมืองในปัจจุบัน ประเทศไทยก็อยู่ใต้กฎธรรมชาติของความเปลี่ยนแปลง ความสุข ความทุกข์ ความขัดแย้ง ความไม่แน่นอน ถ้าพิจารณาให้เป็นเรื่องธรรมดาก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ถ้าจะใช้บทเรียนในอดีตมาพิจารณาก็พบว่าหลายๆ ครั้งของความขัดแย้งในสังคมทั้งหลาย ไม่มากก็น้อยเกี่ยวข้องกับสาเหตุของการ “ทนกันไม่เพียงพอ” หรืออาจกล่าวได้ว่า “อดกลั้นต่ออารมณ์ความรู้สึก” และ “ใจกว้าง” กันไม่เพียงพอ ความอดกลั้นหรือทนกันได้หรือไม่นี้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหลายประการของมนุษย์ เช่น การเคารพสิทธิพื้นฐานส่วนบุคคลของกันและกันเพียงพอหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตระหนักรู้ “คุณค่าของความเป็นมนุษย์” ของผู้อื่นผู้อยู่ร่วมกันได้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งการให้ความสำคัญกับความจริงใจที่จะอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นอย่างสงบสุขอย่างจริงจังหรือไม่ เหล่านี้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่จะนำไปสู่การมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างผสมกลมกลืนนั่นเอง

ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของชุมชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีพี่น้องชาวไทยพุทธและมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกัน ศาสนิกชนทั้งสองศาสนาเหล่านี้ ต่างก็มีความเชื่อ ความศรัทธา การปฏิบัติตามศาสนาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีอัตลักษณ์ในการนับถือศาสนาและวัฒนธรรมที่อาจแตกต่างกัน ดังนั้นคุณสมบัติของความใจกว้าง ความอดกลั้น ความทนกันได้และการเรียนรู้ที่จะให้อภัยกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

ในวงสานเสวนาที่จังหวัดยะลาเมื่อไม่นานมานี้ พระรูปหนึ่งซึ่งเข้าร่วมในการเสวนาได้เปิดใจพูดถึงประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งเป็นทั้งการระบายความรู้สึกและคำถามที่ค้างคาใจว่า เหตุใดเด็กๆ ชาวมุสลิมเมื่อเห็นหน้าพระ (ตัวท่าน) เอง เด็กเหล่านั้นจึงต้องยกมือปิดหน้า ท่านได้ถามเด็ก จึงทราบคำตอบว่ามีความเชื่อว่า ตนเป็นมุสลิม “ถ้าเห็นหน้าพระซึ่งเป็นนักบวชในศาสนาอื่นจะเป็นบาป” ความเชื่อนี้ได้ถูกส่งผ่านและพูดกันต่อๆ มาโดยมิได้รับการอธิบายว่าจริงหรือไม่ ถูกต้องสอดคล้องกับคำสอนในศาสนาอิสลามมากน้อยเพียงใด ความเชื่อในลักษณะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นการทนกันไม่ได้ของความแตกต่างของความเชื่อและการปฏิบัติในศาสนาอื่น และการเข้าใจคำสอนของศาสนาอย่างเป็นองค์รวมหรือไม่

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าความทนกันไม่ได้เช่นนี้ได้มีพื้นที่และโอกาสของการสื่อสารและทำความเข้าใจระหว่างกันมากน้อยเพียงใด

เช่นเดียวกัน พี่น้องชาวมุสลิมก็ได้แบ่งปันประสบการณ์ในลักษณะคล้ายคลึงกันถึงการไม่ต้อนรับของพี่น้องไทยพุทธบางคน

การแลกเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกของการทนไม่ได้ของบุคคลผู้มีความเชื่อ ความศรัทธา การปฏิบัติและวัฒนธรรมที่ต่างกันนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่ควรจัดให้มีเป็นประจำและต่อเนื่อง ดังนั้น “การฟัง” จึงเป็นทักษะที่สำคัญอันดับหนึ่ง การจัดการให้เกิด “ชุมชน” ที่มีการฟังเพื่อการแบ่งปันประสบการณ์เป็นความจำเป็นอันดับต่อมา

ชาวบ้านทั้งหลายสามารถจัด “ชุมชนแห่งการฟัง” ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องอาศัยหน่วยราชการ เพียงแต่ชาวบ้านและศาสนิกชนแต่ละคน ควรตระหนักรู้ถึงความสัมพันธ์อันเชื่อมโยงของตนเองและผู้อื่น ตระหนักรู้ “ภาวะผู้นำตามธรรมชาติ” ที่ตนเองมีอยู่ และรวมตัวกันโดยอาจอาศัยการนำ และความคิดริเริ่มและการเชิญชวนของผู้นำทางศาสนา จะได้มีโอกาสเพื่อพบปะพูดคุยกันอย่างจริงจัง และเกิดการฟังประสบการณ์ที่แต่ละฝ่ายได้ประสบมา การฟังเช่นนี้ควรประกอบด้วยจิตที่เมตตาต่อกันและกัน ว่าเราทั้งหลายอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือรู้ไม่ทั้งหมด อาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดกันได้ นอกจากนั้นควรฟังด้วยจิตที่ไม่ใช่ “จิตคิด” ที่จะด่วนและตัดสินไว้ก่อนว่าผิด รวมทั้งจิตที่นึกถึงความเป็นมนุษย์ ผู้รักสุขเกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น เป็นจิตที่พร้อมจะเอาใจเขามาใส่ใจเรา การจัดชุมชนศาสนิกชนที่พบปะและร่วมพูดคุยกันอย่างจริงใจ ไว้วางใจกันเป็นระยะๆ และต่อเนื่องเช่นนี้ จะเป็นโอกาสให้ปัญหาความขัดแย้งอันเกิดจากการทนกันไม่ได้ลดน้อยลง การฟังในชุมชนของศาสนิกชนเช่นนี้จะเป็นวิธีหนึ่งที่เป็นสันติวิธีที่ช่วยลดภาวะ “ความไม่ไว้วางใจกัน” และภาวะของ “การต่างคนต่างอยู่” ให้ลดน้อยลงได้

อาจมีผู้แย้งว่าวัฒนธรรมการฟังอาจเกิดขึ้นจริงได้ยาก เพราะต่างฝ่ายต่างไม่มีเวลา ต่างฝ่ายต่างเร่งรีบทำมาหากิน กิจกรรมหนึ่งก่อนที่จะนำไปสู่การฟังอาจได้แก่ กิจกรรมสานเสวนาที่พิจารณาปัญหาต่างๆ ของชาวบ้านเป็นตัวตั้ง เช่น ปัญหาที่เยาวชนในหมู่บ้านติดยาเสพติดเพิ่มขึ้น ชาวบ้านต่างศาสนาอาจมาพบปะพูดคุยร่วมกัน ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้เพื่อหาทางแก้ ชุมชนพุทธอาจแบ่งปันข้อปฏิบัติที่อาจสืบเนื่องมาจากคำสอนและการปฏิบัติในศาสนาพุทธ พี่น้องมุสลิมอาจจะเสนอทางออกของการแก้ไขจากความรู้คำสอนและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม นั่นคือชุมชนทั้งสองเห็นปัญหาร่วมกัน มีจุดหมายในการแก้ไขปัญหาเช่นเดียวกัน จึงมาพบปะเพื่อมาพูดคุยกันโดยใช้ “การฟังอย่างลึกซึ้ง” เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และแก้ไขปัญหาร่วมกัน วิธีนี้จึงเป็นการสานเสวนาเพื่อชีวิต (Dialogue of Life) ซึ่งเป็นการนำปัญหาที่ทุกคนกำลังเผชิญหน้าอยู่มาสู่วงสานเสวนาและร่วมกัน “ลงมือปฏิบัติ” จากสานเสวนาที่เป็นการพูดและการฟังเฉยๆ ก็สามารถแปรเปลี่ยนให้เป็นการ “กระทำ” ด้วยวิธีนี้ความเข้าใจผิดระหว่างกันจะค่อยๆ ลดน้อยลงไป ความทนกันและกันได้จะเพิ่มขึ้น การมีส่วนร่วมของชาวบ้านจะมีมากขึ้น ความสามัคคีและความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันจะเพิ่มขึ้น ความไม่ไว้วางใจกันก็จะค่อยๆ ลดลง สันติสุขก็จะคืบคลานเข้ามาในไม่ช้า

ขึ้นต้นบทความนี้ด้วยการรำพึงถึงสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ก็อยากฝันต่อไปว่าตัวอย่างของประสบการณ์ของชาวบ้าน ในการพยายามจัดการความขัดแย้งโดยผ่าน “การฟังด้วยใจ” ในชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ร่วมกันจัดขึ้นมาเช่นนี้ อาจเป็นอุทาหรณ์ได้ไม่มากก็น้อยว่า พวกเราในกรุงเทพฯได้ “ฟังกันด้วยใจ” ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ผู้ตกอยู่ใต้กฎธรรมชาติแห่งการเปลี่ยนแปลงกันมากพอแล้วหรือ? พวกเราได้ร่วมปฏิบัติตามหลักนิติธรรมของบ้านเมือง โดยไม่ใช้ความเป็นพวกมากพากันไปจริงจังแล้วหรือ? ถ้ามีเงื่อนไขเหล่านี้ “ความทนกันได้” อาจจะนำไปสู่ปฏิบัติการแบบ “สันติวิธี” โดยไม่ต้องสงสัยเลย

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home