โดย วิจักขณ์ พานิช
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๐
การนำเสนอหลักการภาคทฤษฎีและภาพผลลัพธ์อันสวยหรู ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของธรรมะ การศึกษา หรือการดำเนินชีวิต ต่างก็มีข้อจำกัดเชิงคุณค่าและความหมายในตัวของมันเอง บ่อยครั้งเมื่อเราเลือกที่จะนำเอาหลักการหรือผลลัพธ์ที่ได้ยิน ได้ฟัง และได้อ่านมาใช้ในชีวิตจริง สิ่งที่มักเกิดขึ้นก็คือ ๑) เรากำลังขืนเกร็งชีวิตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง และ ๒) เรากลายเป็นคนดัดจริตที่กำลังใช้ชีวิตลอกเลียนภาพผลลัพธ์โดยปราศจากการตระหนักรู้ที่แท้จริง
ดังนั้นการที่เราจะนำความรู้ที่ได้ยินได้ฟังมาใช้ในชีวิตประจำวัน จึงหาใช่การนำหลักการ หรือการนำภาพผลลัพธ์มาป้อนยัดใส่สมองให้กันแบบดิบๆ หลักการและภาพผลลัพธ์จำเป็นจะต้องถูกจับโยนลงหม้อ “กระบวนการ” ไปพร้อมๆ กับตัวผู้เรียนและผู้สอน การใช้ชีวิตร่วมเรียนรู้กับผู้อื่น คือ กระบวนการที่จะนำมาซึ่งประสบการณ์ตรง อันจะทำให้หลักการและภาพผลลัพธ์นั้น ย่อยสลาย เปื่อยยุ่ย “เข้าเนื้อ” ซึมซับเข้าไปสู่สัญชาตญาณทุกอณูรูขุมขน จนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการมองโลก การใคร่ครวญด้วยใจ และการใช้ชีวิตในแบบของผู้เรียนเอง
หม้อต้มซุปที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะแต่กระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนเท่านั้น ห้องเรียนเป็นแค่แบบจำลองขนาดย่อมของความโกลาหล ความหลากหลาย และความเดือดของสังคมภายนอกที่วันหนึ่งผู้เรียนจะต้องออกไปสัมผัสจริงด้วยตนเอง นั่นคือเหตุผลสำคัญที่การเรียนรู้แต่จากหลักการ หรือจากผลลัพธ์จะไม่ได้เป็นการฝึกให้ผู้เรียนได้เข้าใจความเป็นจริงของชีวิตอย่างแท้จริง ดังนั้น จิตตปัญญาศึกษาจะต้องไม่เป็นเพียงแค่การศึกษา แต่จะต้องเป็นการจำลองกระบวนการการเรียนรู้ของชีวิตในแง่ของการเผชิญหน้าและศิโรราบกับข้อจำกัดและอุปสรรคภายในยามที่เราต้องเปิดออกไปสร้างความสัมพันธ์กับโลกความเป็นจริงภายนอก
ความเข้าใจในเชิงปฏิบัติแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจยากที่สุด เราไม่สามารถเอาแต่นั่งคิด (ปริยัติ) หรือนอนฝัน (ปฏิเวธ) แล้วใช้เวลาคุยโม้โอ้อวดความรู้ความเข้าใจของเราไปวันๆ เพราะความเข้าใจในเชิงปฏิบัติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการลงมือทำ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เพื่อพิสูจน์ความเข้าใจ และประสบกับผลลัพธ์ในแบบของเราเอง การปฏิบัติจริงจะทำหน้าที่เป็นจุดบรรจบพบกันของการศึกษากับชีวิต เมื่อเราให้คุณค่ากับประสบการณ์ตรง รู้จักใคร่ครวญครุ่นคิดด้วยใจของเราเอง การศึกษาก็จะกลายเป็นเส้นทางการฝึกฝนทางจิตวิญญาณของเราในทุกขณะ เราไม่ได้เติบโตตามอายุ ตามใบปริญญา ตามสถานะ หรือตามค่านิยมทางสังคมอีกต่อไป แต่ชีวิตของเราได้เติบโตและงอกงามตามประสบการณ์ด้านในที่เราได้ใช้หัวใจสัมผัสและใคร่ครวญไปในทุกๆ ย่างก้าว
การกระโดดลงหม้อดูเหมือนจะเป็นวีรกรรมที่น่าทึ่ง แต่เอาเข้าจริงแล้วประสบการณ์ของจิตตปัญญาศึกษาในแง่มุมของการปฏิบัติกลับไม่ได้เป็นสิ่งที่ชวนฝันอย่างที่เราได้ยินตามโฆษณาชวนเชื่อ การผ่านกระบวนการจะแสดงให้เราเห็นถึงข้อจำกัดและแรงต่อต้านภายในในทุกรูปแบบ เราอาจรู้สึกไม่เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นบางอย่าง เพื่อนบางคนฉีกหลักการอันสวยหรูของเราอย่างไม่มีชิ้นดี ผู้สอนเปิดประเด็นที่เรามองข้าม เรารู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับการสนทนาถกเถียงอย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อน
จากที่เคยเป็นคนขรึมๆ เราเริ่มอยากมีส่วนร่วม จากที่เคยพูดไม่หยุดเรารู้สึกอยากใช้เวลาครุ่นคิด เราเริ่มรู้สึกไม่ค่อยปลอดภัยกับพื้นที่ที่เราไม่คุ้นชิน ความคุกรุ่นของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงได้ท้าทายให้ตัวเราที่แท้ออกมาจากที่ซ่อน ทำให้เรารู้สึกทั้งกล้าและกลัวไปพร้อมๆ กัน
ประสบการณ์ตรงของการเรียนรู้แม้จะเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามและความยากลำบาก แต่การได้ลองทำ แม้จะผิดพลาดไปบ้าง ล้มลุกคลุกคลานไปบ้าง ก็ดูจะเป็นหนทางเดียวที่จะนำมาซึ่งความเข้าใจในแบบของเราเอง บนเส้นทางชีวิตที่เราได้เลือกเอง ความเจ็บปวด อารมณ์ที่พลุ่งพล่าน เลือดที่สูบฉีด หลังการกระโดดลงหม้อเรารู้สึกราวกับยืนโอนเอนอยู่ตรงขอบหน้าผาชัน เบื้องหลังเป็นชีวิตที่ซ้ำซาก คับแคบ แห้งแล้ง ไร้ความชุ่มชื้น แต่เบื้องหน้าเป็น “อะไรก็ไม่รู้” ที่เราจะไม่มีทางรู้ได้นอกจากจะ“เอาชีวิตเข้าแลก” นั่นคือสัญญาณเริ่มต้นของการถูกท้าทายของอัตตาตัวตนอย่างถึงที่สุด
อัตตาหาใช่ปีศาจร้าย มันเป็นเพียงชีวิตแคบๆ ที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย เสมือนถูกห่อหุ้มไว้ด้วยกำแพงแห่งปมชีวิตต่างๆ ที่เราไม่กล้าที่จะก้าวข้าม การกระโจนลงหม้อซ้ำแล้วซ้ำอีก นอกจากจะช่วยให้ปมชีวิตเปื่อยสลายคลายตัวลงแล้ว ยังช่วยให้เราได้ตระหนักว่าความสัมพันธ์ระหว่างอัตตากับอนัตตาดูจะไม่ได้เป็นสิ่งตรงกันข้ามหรือแยกขาดออกจากกันอย่างที่เราเคยคิด น่าแปลกที่อัตตา นิสัย หรือพฤติกรรม ทั้งที่ดีและไม่ดี ที่เราชอบและไม่ชอบ กลับทำหน้าที่เป็นฐานรากที่สำคัญที่สุดของกระบวนการเรียนรู้ด้านใน เพราะ “ความเป็นตัวเรา” คือจุดเริ่มต้นที่เราต้องให้ความเคารพ การเอาใจใส่ และการสร้างความสัมพันธ์กับมันอย่างอ่อนโยน เราไม่สามารถจะคาดหวังให้การศึกษามา “เปลี่ยนแปลง” บรรจุภาพลักษณ์หีบห่อให้เรากลายเป็นคนดีขึ้น นิสัยดีขึ้น หรือพฤติกรรมดีขึ้นในพริบตา การเปลี่ยนแปลงตนเองจะต้องเกิดขึ้นด้วยแรงบันดาลใจภายในตัวเรา จากการเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้แห่งชีวิตกับผู้อื่น หม้อต้มซุปจะช่วยย่อยสลาย “สิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัวเรา” แล้วผลักให้เราเข้าไปค้นพบและสร้างความสัมพันธ์กับแง่มุมที่หลากหลายในตัวเองได้มากขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ
การศึกษาบนพื้นฐานของการศิโรราบไม่ใช่การศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างสยบยอมหรืออย่างดัดจริต การศิโรราบ คือการรับฟังเสียงด้านใน ให้ความเคารพและเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองเป็น เราให้ความศรัทธากับทุกประสบการณ์ที่ตัวเองเคยผ่านมา ไม่ว่ามันจะดีจะร้ายแค่ไหนในสายตาผู้อื่น เราศิโรราบและภาคภูมิใจในตัวเองที่อย่างน้อยเราก็สามารถยืนหยัดเรียนรู้ชีวิตมาได้จนถึงวินาทีนี้ เราพร้อมที่จะหลอมรวมเอาทุกอย่างที่มีอยู่ในตัวเรา เอามันออกมาใส่หม้อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นอย่างไม่เขินอาย เราพร้อมที่จะยอมตาย เอาชีวิตเข้าแลกกับทุกประสบการณ์การเรียนรู้ของชีวิต ด้วยความกล้าหาญบนพื้นฐานของการภาวนาหล่อเลี้ยงให้คุณค่าแก่พื้นที่ว่างภายในอันไพศาล รู้จักผ่อนพัก ปล่อยวาง และเปิดรับกับทุกสถานการณ์โดยปราศจากแรงต้าน ยอมให้โลกผ่านเข้ามาสะกิดหัวใจเราได้อย่างไม่ขัดขืน จนปมความยึดมั่นทั้งหลายสามารถคลี่คลายไปในอ้อมแขนแห่งความอ่อนโยนและความรักแห่งจักรวาล ตามท่วงทำนองและครรลองของการดับสลาย ผุดบังเกิดใหม่ พลิ้วไหว และไหลเลื่อน เป็นคุณค่าและความหมายของการดำรงอยู่ที่แท้
Labels: วิจักขณ์ พานิช