โดย มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๐

-------------------------------------------------

ในชีวิตการทำงานของคนทั้งหลายย่อมพบพานทั้งคนชื่นชอบและชิงชังกันเป็นธรรมดา ตอนที่เขาชื่นชอบเรา จิตใจเราก็ฟู ตอนถูกชิงชัง จิตใจเราก็แฟบ เป็นธรรมชาติอย่างนั้น หลักการพื้นฐานที่ช่วยไม่ให้ใจเราเป็นทุกข์นั้นคือ เพียงแต่เราทำใจให้ไม่ฟูไม่แฟบไปตามสิ่งที่มากระทบ แค่นั้นใจเราก็เป็นอิสระจากสิ่งรบกวนใดๆ อยู่ได้อย่างสุขสงบเย็น

ช่างง่ายเหลือเกินเวลาเขียนข้อความแบบนี้ จะทำอย่างไรกันล่ะคะ โดยเฉพาะคนเดินดินอย่างเราๆ ที่ยังไม่ได้บรรลุธรรมสูงส่งอะไร เวลาส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ปฏิบัติ นานๆ ทีจะมีสตินึกทันขึ้นมาได้บ้าง บางทีเผลอโกรธไปแล้วทั้งวัน มานึกออกตอนกลับถึงบ้าน อ้าววันนี้เผลอโกรธเผลอเสียใจไปกับคำตำหนิหรือนี่ บางคนหนักข้อขึ้นไปอีก โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ นอนก็ไม่หลับไปหลายคืน พาลป่วยกายป่วยใจไปกันใหญ่

“ก็เราไม่ใช่พระอิฐพระปูนนี่ แล้วคนนั้นที่ว่าเราก็ขี้อิจฉา ชอบว่าคนนั้นคนนี้ แล้วนี่มาโจมตีเราอย่างหนักเลย ...” อาจจะจริง มีหลายกรณีที่เคยพบคือ คนที่มีผลงานเด่นพิเศษ สวยพิเศษ หรือมีอะไรพิเศษๆ กว่าคนอื่น ก็มักจะมีคนจับตามอง ถ้าเขาทำใจยินดีด้วยได้ (มุทิตาจิต) ก็โชคดีไป แต่ถ้าเขาหมั่นไส้อิจฉาก็จะเริ่มมีผลกระทบต่างๆ นานาแล้ว อิจฉาหนักหน่อยอาจออกอาการตั้งแต่เหน็บแนม กลั่นแกล้ง จนกระทั่งถึงทำร้ายทางกายวาจากันไป หรือบางทีก็ไม่ได้อิจฉาอะไร (มากนัก) แค่ไม่ชอบพฤติกรรมที่คนเด่นพิเศษเหล่านั้นทำ หรือไม่เราก็เผลอไปทำอะไรไม่เหมาะไม่ควรจริงๆ เขาถึงเริ่มตั้งแง่โจมตีเราขนาดนั้น ฯลฯ

“ถ้ากำลังถูกโจมตีอยู่ ทำอย่างไรดี” น่าจะมีวิธีจัดการได้หลากหลายตามแต่บริบทที่แตกต่าง ถ้าสมมติว่าคนถูกโจมตีหรือเราเป็นคนทั่วไปที่อาจไม่ได้ฝึกการปฏิบัติทางใจมามากนัก เราอาจจัดการเป็นหมวดๆ ดังนี้คือ ๑) จัดการใจให้เป็นปกติ ๒) สำรวจดูซิเราพัฒนาอะไรได้อีก ๓) จะทำอย่างไรกับเขาผู้โจมตี ๔) จะทำอย่างไรกับ คนทั่วปฐพีที่รู้เรื่องเรา (คือ...อายเขานะ)

๑) จัดการใจให้เป็นปกติ สภาพจิตใจเราตอนนี้คงไม่เป็นปกติหรือเป็นกลางสบายๆ เป็นแน่แท้ เจอคนโจมตีมาว่า ต่อหน้าลับหลังขนาดนั้น บางคนถึงขนาดส่งจดหมายเวียนกันว่อน เรียกว่าประจานกันไม่ให้ได้ตั้งตัว ไม่รู้เราไปทำอะไรให้โกรธจึงทำได้ขนาดนั้นนะ วิธีจัดการใจมีมากเช่นกัน ถ้าเรายังกังวลร้องไห้เสียใจ หรือตีอกชกตัวอยู่ ขอเสนอให้ไปที่ชอบที่ชอบ คือไปทำอะไรในที่ที่โปรดปราน เช่น ดูคอนเสิร์ท ดูหนัง ฟังเพลง ทำกิจกรรมที่ชอบ นวดสปา หาเพื่อน ฯลฯ ถ้าได้คุยกับใครที่ไว้ใจได้ยิ่งดี เช่น คุยกับเพื่อนสนิท คุยกับพระพุทธรูป (ไม่ไปเล่าต่อดี) เป็นต้น เรียกว่ากลบทุกข์กันไปชั่วขณะก่อน อย่างน้อยก็ลดดีกรีความโกรธกันหน่อย บางคนใช้การออกกำลังกายให้เหนื่อย ช่วยได้มากทั้งลดความเครียดที่สะสม และทำให้นอนหลับได้ดี ดูแลทั้งกายใจ ตลอดจนจัดตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสริมความสุขไม่ก่อทุกข์เพิ่ม

พอหายโมโหไปบ้างแล้ว ดีกรีความขุ่นมัวเบาลงพอจะคิดได้วิเคราะห์ได้ ว่าโกรธเขาแล้วเราจะได้อะไร มีแต่เหนื่อยอยู่คนเดียว ทางนู้นไม่รู้เรื่องด้วยเลย เสียพลังงาน ให้อภัยดีกว่า ช่างเขา เอาบุญ เราจัดการตัวเองก่อน เรียกสติกลับมาอยู่กับความปกติให้บ่อยขึ้น ถ้าเราจะเผลอโกรธอีกหรือเสียใจน้อยใจอีกก็ไม่เป็นไร ก็เรายังไม่บรรลุนี่นะ เป็นธรรมดาเผลอกันได้ เผลอไปก็เริ่มต้นใหม่ วางใจไว้ในเรื่องสบายๆ ใครฝึกปฏิบัติมาบ้างคงง่ายหน่อย ดูจิตกันไป มีอะไรขึ้นมาในใจก็ดูกันไป ต้องขอบคุณเขาด้วยซ้ำที่ให้แบบฝึกหัดอย่างดีกับเรา กิเลสตัวนั้นๆ จะได้โผล่ขึ้นมาให้เราดูเสีย เรียนรู้ไปกับของเล่นใหม่ หรือใครศึกษามาแนวรู้สึกกาย ก็รู้สึกไปเลย กายขยับไปไหนจิตก็ตามไป ใจแวบไปคิดมากก็ดึงกลับมา ให้จิตเราได้พักว่างจากอารมณ์ขุ่นมัวรูปแบบต่างๆ สักช่วงเวลาหนึ่ง ใครชอบเดินจงกรมนั่งสมาธิ ก็ได้ฤกษ์ดีปฏิบัติเสียตอนนี้เลย

ถ้าคนไหนดูจิตตัวเองได้บ่อยได้ไวหน่อย ขณะที่ได้รับทราบข้อมูลการโจมตีแล้วเริ่มรู้สึกโกรธก็ดี ไม่พอใจก็ดี จังหวะนั้น “ดูใจ” เข้าไปเลย ดูอาการค่อยๆ ซ่าขึ้นกลางอก ดูไปเรื่อยๆ จนหายไปเอง มีอะไรขึ้นมาอีก ก็ดูอีก จะได้ไม่ต้องไปดำเนินการแก้ตามขั้นตอนต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว จบเรื่องเสียตั้งแต่ตรงนั้น

๒) สำรวจดูซิเราพัฒนาอะไรได้อีก ข้อนี้สำคัญไม่น้อย หลายครั้งที่เราทำใจกันไปแล้วก็แล้วกันไป ไม่ได้สำรวจพฤติกรรมจริงในตัวเราว่ามีอะไรที่ทำให้เขาไม่ชอบ โยนไปให้แพะหรือคนโจมตีว่าเป็นคนไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ไปเสีย เมื่อสำรวจด้วยใจเป็นกลางหรือหาเพื่อนมาช่วยสะท้อนตัวเราได้ แล้วพบสิ่งที่ควรปรับปรุงหรือยังพัฒนาต่อได้อีก ด่านแรกที่ต้องฝ่าคือการ “ยอมรับ” สิ่งเหล่านั้นว่าเป็นพฤติกรรมของเราด้วยใจจริง แล้วจึงจะมาหาวิธี “ฝึก” ใจกายของเราให้พัฒนาขึ้นได้ตามนั้น

๓) จะทำอย่างไรกับเขาผู้โจมตี แผ่เมตตาซิคะ บางคนบอกว่ายิ่งแผ่เมตตาให้ยิ่งโกรธกว่าเดิม เพราะตอนแผ่ต้องนึกถึงหน้าคนนั้น ถ้าเป็นแบบนั้นเอาไว้ก่อนก็ได้ค่ะ อาจทำแค่หยุดใจให้ทันถ้าจะคิดไม่ดีกับเขาก็พอ พอใจนิ่งเป็นกลางได้พอสมควรแล้ว ค่อยแผ่เมตตาใหม่ หรือแค่นึกเรื่องดีๆ เกี่ยวกับเขา นึกให้เขามีความสุข ขอบคุณที่สร้างแบบฝึกหัดให้เราฝึกใจ ขอบคุณที่ชี้ทางพัฒนาให้เรา บางคนแผ่เมตตาเหมือนกัน แต่นึกว่า ขอให้ได้ดีไปไกลๆ ชั้นหน่อยเถิด...อันนี้ก็คงจะไม่ได้เมตตาจริงละมังคะ ค่อยๆ ทำไปนะคะ บางคนใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะพัฒนาใจตัวเองอยากให้เขามีความสุขจริงๆ การให้อภัยได้เป็นเรื่องงดงามที่ทำยากพอดู ผลที่ได้เบื้องต้นอาจเป็นที่สายตาหรือกริยาของเราเองที่มีต่อเขา ที่ไม่ได้โกรธเคืองค้อนขวับอาฆาตแต่อย่างไร กลับกลายเป็นพฤติกรรมที่เป็นมิตร ไม่ก่อเวรต่อเนื่องเป็นวงจรอุบาทว์

๔) จะทำอย่างไรกับ คนทั่วปฐพีที่รู้เรื่องเรา ช่างเขาเถอะค่ะ ถ้าจำเป็นก็อธิบายให้บ้าง ไม่น่าจะต้องไปพยายามหาทางอธิบายให้มวลชนรู้เรื่องไปหมด แนวว่าแก้ตัวเรียกร้องความเห็นใจ พฤติกรรมนางเอกพระเอกของเราเองที่ไม่ทำร้ายเขาตอบ ก็งดงามพออยู่แล้ว ประกอบกับความพยายามทำพฤติกรรมทั้งกายทั้งวาจาให้ดีอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ นี้เป็นเครื่องมืออธิบายเรื่องราวที่มีประสิทธิภาพ ยิ่งพยายามอธิบายมากแต่พฤติกรรมร้ายของเรายังมีตามที่ผู้โจมตีว่าจริง กลับจะกลายเป็นโทษไปเสียด้วยซ้ำ

ขออำนวยพรให้ทุกท่านที่ถูกโจมตี มีสติสัมปชัญญะ รู้เท่าทันใจตนเอง และได้ “กล้ามใจ” เพิ่มขึ้นจากการออกแรงยกน้ำหนักกับแบบฝึกหัดแสนยากชิ้นนี้ ได้เป็นพลังติดตัวท่านต่อไป โชคดีนะคะ :-)

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home