โดย ชลลดา ทองทวี
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๐
---------------------------------------------------------------
ในช่วงสองสามเดือนมานี้ ผู้เขียนได้สร้างนิสัยใหม่ๆ ขึ้น ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ตัวเองได้หลายอย่างพร้อมๆ กัน
ครั้งแรกที่ทดลองทำดู รู้สึกแปลกๆ กับตัวเองอยู่บ้าง กิจกรรมที่ว่านี้ผู้เขียนเรียกว่าการ “เดินพักตระหนักรู้” คงได้แรงบันดาลใจจากกิจกรรมที่ คุณณัฐฬส วังวิญญู แห่งสถาบันขวัญเมือง ใช้ในการอบรม คือการผ่อนพักตระหนักรู้ เป็นการทำ body scan โดยนอนในลักษณะคล้ายกับนอนโยคะ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดทั้งกายและใจก่อนเข้าฝึกอบรม ค่อยๆ ดูกายและใจ และพักผ่อนอย่างตระหนักรู้ คลอไปกับเสียงเพลง หรือการนำเข้าสู่การผ่อนพักนั้น ด้วยถ้อยคำที่เหนี่ยวนำให้ผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ
ครั้งแรกที่ได้ลอง เพราะเป็นวันรถติดในกรุงเทพฯ วันนั้นตั้งใจไปดูละครในงานเทศกาลละครกรุงเทพฯ ที่ถนนพระอาทิตย์ แต่เวลายังเหลืออีกมาก จึงลองเดินจากอนุสาวรีย์ชัยฯ ไปถนนพระอาทิตย์ ในช่วงห้าโมงเย็น กว่าจะถึงที่หมายก็ใช้เวลาไปประมาณชั่วโมงกว่า มีหลายขณะที่รู้สึกว่าร้อนมาก และเหนื่อยมาก แต่เมื่อไปถึงแล้ว ก็รู้สึกดีใจว่าร่างกายของเราพอทำกิจกรรมนี้ได้
จากวันนั้น ถ้าไม่รีบอะไร ก็จะใช้วิธีเดินไปในกรุงเทพฯ เช่นเดินจากโรงพยาบาลวิชัยยุทธ มาอนุสาวรีย์ชัยฯ หรือเดินจาก โรงพยาบาลรามาธิบดีมาสยามสแควร์ ไปๆ มาๆ กลายเป็นเริ่มติดใจการเดินด้วยเท้าไปได้อย่างไรก็ไม่รู้เหมือนกัน
ในการ “เดิน” ทางแบบนี้ เครื่องมืออะไรที่จะใช้ในการดูแลกายและใจได้ ได้ถูกเอาออกมาใช้จนหมดจนสิ้น และทำให้รู้สึกสนุกสนาน
วันนี้ ผู้เขียนเลยติดใจ ลองเดินจากตึกช้างที่แยกรัชโยธิน ไปถึงสถานีรถไปสามเสน และไม่ได้รู้สึกว่าไกลหรือเหนื่อยอะไรเลย ทั้งไม่ได้รู้สึกว่า ภูมิใจหรือท้าทายด้วย เพราะรู้แล้วว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ และเคยได้ทำ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงมีแต่คุณภาพของการเดินที่ดีขึ้น รู้เนื้อรู้ตัวมากขึ้น และการเดินเพื่อที่จะเดินเท่านั้น
เวลาได้เดินแบบนี้ ผู้เขียนคงได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากเรื่องเทวดาท่าจะบ๊องส์ (God Must Be Crazy) ตัวละครเป็นชาวชนเผ่าบุชแมน ซึ่งยังมีวิถีชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่คุ้นเคยกับรถยนต์และเรียกว่า สัตว์ที่มีขาแปลกๆ และมีเสียงดัง เวลาพวกเขาไปไหนจะพึ่งพาขาและเท้าของตัวเองมาก พวกเขาสามารถเดินไปได้เรื่อยๆ เป็นวันๆ โดยไม่ต้องพกน้ำหรืออาหารไปด้วย เพราะธรรมดาของคนเดินด้วยเท้า จะแบกสัมภาระมากย่อมเป็นไปไม่ได้ จึงเป็นการวางใจว่า จะไปหาเอาดาบหน้าได้จริงๆ
อีกส่วนคงได้แรงบันดาลใจจากการเดินของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ นัก “เดิน” ทางที่หลายคนคงมีโอกาสได้รับฟังเรื่องราวของท่านบ้างแล้ว อาจารย์ประมวลตั้งใจมุ่งมั่นจะเดินเท้าจากเชียงใหม่ ไปยังบ้านเดิมที่เกาะสมุย โดยไม่พกพาเงินไปด้วย เป็นการเดินทางที่สำคัญต่อการเดินทางข้างใน มากกว่าการเดินทางข้างนอก และท่านก็ทำได้สำเร็จ ทั้งมีเรื่องราวที่น่าประทับใจจากการเดินทางครั้งนี้มาบอกเล่า เป็นแรงบันดาลใจให้กับการเดินทางในชีวิตของใครต่อหลายคน
สำหรับผู้เขียนแล้ว เป็นการเดินทางในป่าเมือง ทั้งยังมีเงินในกระเป๋า เรียกว่ามีตัวช่วย จึงไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งที่ทำนี้ยากเย็นเกินไป แต่การมีเงินทำให้เกิดคำถามใหม่ๆ เช่น จะใช้เงินเมื่อไรและทำไม เงินกลายเป็นเครื่องมืออีกอย่างที่เราจะเลือกใช้หรือไม่ก็ได้ ไม่ใช่สิ่งที่ขาดไม่ได้เหมือนเวลาที่ไม่ได้ใช้กำลังจากเท้าพาเราเดินทาง มีหลายครั้ง ที่ได้เห็นด้วยว่า การมีเงินในกระเป๋า มัน “หนัก” ที่ใจ ที่ต้องเลือกใช้มันด้วยเหมือนกัน
ผู้เขียนพบว่าการพักผ่อนให้หายเหนื่อยเป็นเรื่องไม่จำเป็น ในการเดินทางระยะสั้นๆ แค่นี้ เพราะว่าการเดินโดยไม่แบกว่าการเดินทางนี้เป็นภาระ จะรู้สึกเหนื่อยน้อยมาก หากเราเลือกที่จะผ่อนลมหายใจให้เหมาะสม และเดินในฝั่งที่แดดไม่ร้อน แม้ว่าจะต้องเดินอ้อมลัดเลาะและช้าลงบ้าง จะทำให้การเดินทางเพลิดเพลินขึ้นและไม่กระหายน้ำ
ผู้เขียนพบว่าการพักผ่อนให้หายเหนื่อยเป็นเรื่องไม่จำเป็น ในการเดินทางระยะสั้นๆ แค่นี้ เพราะว่าการเดินโดยไม่แบกว่าการเดินทางนี้เป็นภาระ จะรู้สึกเหนื่อยน้อยมาก หากเราเลือกที่จะผ่อนลมหายใจให้เหมาะสม และเดินในฝั่งที่แดดไม่ร้อน แม้ว่าจะต้องเดินอ้อมลัดเลาะและช้าลงบ้าง จะทำให้การเดินทางเพลิดเพลินขึ้นและไม่กระหายน้ำ
และการไม่คาดหวังว่าจะไปถึงไหน เพื่ออะไร จะช่วยให้การเดินแต่ละก้าวเบาสบาย จริงๆ แล้วกลับทำให้ไปได้ไกลกว่าเดิม
ยิ่งเดินก็ยิ่งเห็นตัวเองว่าเดินทางอย่างไรในชีวิต เราแบกอะไรที่ไม่จำเป็นไปแค่ไหน เราคาดหวังและเหนื่อยล้าเร็วเพียงใด เราตั้งเป้าหมายที่ทำไม่สำเร็จ เพราะมีระหว่างทาง มีเรื่องราวต่างๆ มาแทรกได้อีกมากมาย ซึ่งเป็นธรรมชาติของชีวิต และระหว่างทาง เราเลือกเผชิญกับสิ่งที่ไม่ถูกอกถูกใจ เช่นสุนัขที่เห่าอยู่ข้างทาง ทางแยกข้ามยาก รวมทั้งคนแปลกหน้าท่าทางไม่น่าไว้วางใจ ด้วยท่าทีอย่างไรกัน ในการเดินพักอย่างตระหนักรู้เช่นนี้ เรามีเวลามากพอ ที่จะสังเกตดูจิตดูใจตัวเอง เพราะนอกจากการก้าวเดินแต่ละก้าวแล้ว เราก็ไม่มีภาระหน้าที่อื่นให้ทำเลย
ชีวิตเต็มไปด้วยโอกาสของการเลือก การเดินเท้าทำให้เราเห็นจังหวะการก้าวเดินของจิตใจและร่างกายของเราชัดยิ่งขึ้น เมื่อมีทางเลือกเข้ามาในทุกขณะของปัจจุบันขณะ เราคิดอะไร เรารู้สึกอะไร และเราเลือกที่จะตัดสินใจทำอะไร
การตัดสินใจก้าวเท้าออกเดินไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเราไม่ต้องรอแท็กซี่คันที่ว่าง หรือสตาร์ทรถ ไม่ต้องมีเงินในกระเป๋า แค่เราก้าวขาของเราออกไปเท่านั้น ขณะที่รถติด เราก็ยังไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องหยุดรอ จริงๆ แล้วเราไม่ต้องหยุดเลยแม้แต่ก้าวหนึ่ง ทั้งยังช่วยประหยัดพลังงาน โดยที่เราไม่ต้องรอให้มีเลนจักรยานเพื่อการเดินทางที่ไร้มลพิษ เพราะพื้นที่ที่จะให้เราเดินยังพอมีอยู่มากพอบนบาทวิถีในเมืองกรุง
การ “เดิน” ทางในชีวิต ถ้าเราเดินแบบเดินพักตระหนักรู้ เราจะได้อะไรมากไปกว่าระยะทางที่เพิ่มขึ้น จริงๆ
Labels: ชลลดา ทองทวี
0 Comments:
Subscribe to:
Post Comments (Atom)