โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๐
“ใครสักคนพูดจาฟังดูแล้วไม่ถนอมน้ำใจคนเลย” อาจจะเป็นเพราะตัวเอกของเรายึดถือว่า คนเราต้องพูดจาระมัดระวัง “ใครสักคนดูไม่รับผิดชอบเอาซะเลย” อาจจะด้วยว่า ตัวเอกของเราบอกว่า คนเอาไหนต้องรู้จักเคร่งครัดกับหน้าที่ “ใครสักคนดีแต่สั่งไม่เคยรับฟัง” เป็นไปได้ว่าตัวเอกคอยกำชับเราว่า จะทำอะไรกับใครต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม “ใครสักคนเห็นแก่ตัวสุดๆ” ด้วยเสียงตัวเอกคอยบอกว่าคนเราต้องรู้จักเสียสละเอาใจใครต่อใคร ... ถ้าหากเราจะแขวนลอยห้อยคำถามว่า ใครผิดใครถูกไว้สักชั่วครู่ เราอาจจะได้ยินเสียงเบาๆ อีกเสียงว่า “ไม่ต้องระมัดระวังนักก็ได้” “ไม่ต้องเคร่งครัดเสมอๆ หรอก” “ไม่ต้องคอยใครต่อใครให้เห็นด้วยนัก” และ “ไม่ต้องเสียสละหรือเอาใจใครสักวันได้ไหม” ... เสียงของตัวเอกที่ยกมาคือเสียงของตัวตนด้านในที่ ดร.สโตนเรียกว่า Primary Self ตัวพระเอกหรือนางเอก ที่เราได้แสดงในชีวิตเราแล้วใครต่อใครก็ยอมรับและหรือช่วยเราให้รอดในโลกที่เราเติบโตผ่านมา
ส่วนเสียงเบาๆ ที่เราได้ยินไม่ค่อยชัดนัก มักมาจากตัวตนด้านในที่ถูกละทิ้งไป ที่เรียกว่า Disowned Self ซึ่งมีบุคลิกและพฤติกรรมเป็นขั้วตรงกันข้ามกับตัวเอกของเรา เพราะขณะที่ตัวเอกสามารถทำให้เราอยู่รอดในโลกได้ ตัวตนด้านในที่ตรงกันข้ามกับตัวเอกนั้นทำให้เราไม่ปลอดภัย ไม่เป็นที่ยอมรับ อับอาย และเจ็บปวด
ผู้คนที่กวนใจกวนโมโหเรา รวมทั้งคนที่เรารู้สึกขาดเขาไม่ได้นั้น ต่างก็มีตัวตนที่ถูกทิ้งของเราอยู่ในมือของเขา และอาการรำคาญกวนใจของเรานั้นเป็นกุญแจเปิดให้เราได้เห็นกระจกเงาบานใหญ่ที่ส่องให้เห็นตัวตนที่เราละทิ้งหลงลืม แต่ยังทรงพลังอยู่ในตัวเรา และสำแดงพลังนั้นออกมาในอาการกระอักกระอ่วนป่วนใจทุกข์ร้อนที่เรามีกับผู้คนรอบข้าง
หากเราลองแวะเข้าไปสำรวจดูความสัมพันธ์ระหว่าง ตัวเอกกับตัวที่ถูกทิ้งของเราไปว่าเขาอยู่กันอย่างไร ตัวตนด้านในของเรานั้น “ใคร” คุม “ใคร” ในใจเรา เราอาจจะเห็นพลังที่ซ่อนเร้นและที่มาของอาการรำคาญกวนใจของเราได้
หากเปรียบเทียบว่าบุคลิกทางจิตของเราเป็นละคร เราเป็นนักแสดงที่ต้องเล่นตามบทบาทที่เราได้รับ แต่ตัวเอกของเราบอกบทของเขาให้เราเล่น และหากใครจะบอกบทที่ต่างจากตัวเอกตัวนี้ เจ้าตัวเอกที่ว่าก็ไล่คนบอกบทที่ต่างออกไปนั้นลงจากเวที และคอยกำกับให้เราเล่นเฉพาะบทที่ตัวเอกต้องการ ตัวตนที่ถูกไล่ลงจากเวที ยังวนเวียนอยู่หลังฉากและอยู่ในหมู่คนดูคอยเอาคืน หรือหาทางหวนคืนเวที
ตัวตนด้านในเหล่านี้มิใช่เป็นเพียงอุปมาอุปไมย แต่ดำรงอยู่จริงโดยก่อร่างสร้างตัวเป็นพลังสะสมสะท้อนความรู้สึกนึกคิด อารมณ์รวมทั้งการแสดงออกต่างๆ ในเนื้อในตัวในความทรงจำของเรา และเขามีชีวิตของเขามีความต้องการของเขา มีอาการทุกข์สุขของเขาเป็นตัวตนอยู่ในจิตไร้สำนึกของเราอย่างแนบเนียน จนเรานึกว่าเราเป็นได้เท่าที่เขาเป็น เราต้องการได้ตามที่เขาต้องการ และทุกข์สุขไปได้แค่พอๆ กับเขา แล้วเราปล่อยให้ตัวตนด้านในเข้าควบคุมเราโดยที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัวและรู้ทัน ทั้งที่ตัวเรามีศักยภาพที่จะกำหนดชีวิตเราได้มากกว่าเขายิ่งนัก
เราจะมาพิจารณาตัวตนด้านในที่สำคัญๆ เหล่านี้ นายแพทย์สกล สิงหะ แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ตั้งชื่อตัวตนตัวเอกสำคัญๆ ของดร.สโตน เป็นภาษาไทยที่เข้าใจได้ง่าย ซึ่งขอยกมาเปิดตัวไว้ ณ ที่นี้ได้แก่
ตัวอ่อนหวานเอาใจ (The Pleaser) ตัวตนนี้มีมาตั้งแต่เราเกิด ก่อนที่เราจะรู้ภาษาพูดซะด้วยซ้ำ ตัวช่างเอาใจนี้รู้ดีว่าทำอย่างไร จึงจะทำให้ใครต่อใครยอมรับและพอใจในตัวเรา หากเป็นเด็กก็รู้ว่าจะร้องอย่างไรจึงจะได้นมกินได้เสียงหัวเราะและรอยยิ้มตอบสนอง เมื่อเติบโตขึ้นมาก็รู้ว่า ต้องรู้จักพูดจาพินอบพิเทาอย่างไร ผู้อาวุโสกว่าจะเอ็นดู รวมทั้งต้องเอาใจใครต่อใครอย่างไรให้เขารู้สึกดีดีกับตัวเรา ตัวตนนี้เชื้อเชิญให้เราประนีประนอมกับผู้คนจนบางครั้งเราแทบจะไม่มีที่ยืน
ตัวสร้างกฎ (The Rule Maker) ตัวนี้ ในการปรับตัวเข้ากับโลก ตัวสร้างกฎจะคอยกำชับเราให้ทำตามกฎและคำสั่งที่เราเคยได้รับ ไม่ฉี่รดที่นอน จนไปถึงไม่ซุกซน ไม่ด่าทอต่อว่า ไม่ดื้อ ไม่มาสาย ไม่เหม่อลอย ไม่โง่ และคำสั่งอื่นๆ ที่เราได้รับจากผู้คนผู้หวังดีต่างๆ นานาในชีวิต และตัวสร้างกฎจำได้แม่นยำว่า ผลลัพธ์ของการแหกกฎนั้นเป็นเช่นไร ดังนั้นเสียงใดที่คอยยุให้เราขบถลดบทบาทของกฎเกณฑ์ลง ตัวตนเจ้าของเสียงขบถจะถูกผลักให้ลงจากเวที
พี่ดัน (The Pusher) ชีวิตของเรามิได้คอยตั้งรับปรับตัวเท่านั้น แต่พี่ดันจะผลักดันให้เราทำตามข้อเรียกร้องของใครใคร ให้ทำตามมาตรฐานที่สังคมทั้งในครอบครัว ในโรงเรียนในที่ทำงานกำหนด และดันให้ทำจนกว่าเราจะสำเร็จ ไม่เสร็จไม่เลิก ถึงเลิกทั้งๆ ที่ไม่สำเร็จก็จะกินไม่ได้นอนไม่หลับกระสับกระส่าย
พี่อุดมคติ (The Perfectionist) เมื่อลงมือทำแล้วต้องทำให้สมบูรณ์แบบที่สุดจนหาที่ติไม่ได้ ทำแล้วทำไม่ดี ทำไปทำไม เสียงของพี่อุดม(คติ)จะดังก้องทำนองนี้ พี่อุดมต้องการความสมบูรณ์แบบ น้อยกว่านี้ได้อย่างไร เสียงของใครขวางทางให้ยืดหยุ่นประนีประนอม พี่อุดมคงจะเห็นว่า “ชุ่ย” แล้วไล่ไปอยู่หลังฉากหลังเวทีได้ทันที
ท่านวิจารณ์ (The Inner Critics) เป็นนายใหญ่ของหมู่เหล่าตัวเอกที่กล่าวมาแล้ว ท่านวิจารณ์มีหน้าที่คอยวิจารณ์กำกับและตักเตือนเราทั้งยามตื่นและเข้านอนว่า เราทำพอหรือยัง เราเอาใจใครต่อใครมากพอไหม เราทำได้ดีแค่ไหน เรามุ่งมั่นทำหรือยัง ถ้ายังไม่พอ ทำไมไม่พอ หรือพอแต่ยังไม่ดี หรือดีแต่ยังดีไม่พอ ท่านวิจารณ์ก็จะเตือนเราให้ระวังว่า ใครต่อใครจะตำหนิเราหรือเห็นเราไม่เอาไหน แต่เมื่อเราทำอะไรสำเร็จอย่างสมบูรณ์แม้นจะยากลำบากเพียงใด กลับได้ยินเสียงวิจารณ์พาดผ่านแว่วๆ มาว่า “ไม่ดีอย่างที่คิด” เป็นต้น เสียงของท่านวิจารณ์ประสานกับเสียงของตัวเอกทั้งหลายคือที่มาของอาการ “กวนใจ” ของเราทั้งสิ้น
เมื่อท่านวิจารณ์เห็นใครผ่านมาในชีวิตเราแล้วไม่ครบครันเท่าที่พี่อุดม(คติ)ของเราต้องการ คนๆ นั้นก็กวนใจเรา หากเราเห็นใครไม่ขยันขันแข็งเท่าพี่ดันในตัวเรา เราก็รำคาญเขา หากเราพบปะใครที่ชอบท้าทายกฎเกณฑ์ นักสร้างกฎในใจเราก็จะต่อว่ากล่าวหาเขาเป็นพวกขบถ หากใครเข้ามาในชีวิตของเรา แต่ไม่รู้จักสัมพันธ์กับผู้คน เช่นที่ตัวอ่อนหวานเอาใจเราเรียกร้อง เราก็จะเห็นคนนั้นเป็นคนแข็งกระด้างเย็นชา และอาจจะยัดข้อหาเห็นแก่ตัวให้เขาคนนั้นในทันที
ในทางกลับกันผู้คนอาจจะเห็นพี่ดันของเราเป็นพวกเผด็จการ เอาแต่สั่งงานไม่เอาใจใส่ใจผู้คน หรืออาจจะเห็นพี่อุดม(คติ)ของเราจุกจิกจู้จี้เคร่งครัดและเคร่งเครียดไปเลย และเห็นตัวตนช่างเอาใจของเรานั้นช่างอ่อนแอเสียเหลือเกิน
ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เราปล่อยให้ตัวตนตัวเอกในตัวเรา “คุม” ความสัมพันธ์ของเราโดยพิพากษา “ใครใคร” อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว จนเรารู้สึกว่าเราแวดล้อมด้วยผู้คนที่ไม่พึงปรารถนา และน่าหงุดหงิดกวนใจไปเสียหมด อันที่จริงแล้วหากเราดูแลแยกแยะเสียงของตัวเอกออกจากเสียงของตัวเราแล้ว เราอาจจะพบกระบวนการที่ดูแล อาการกวนใจเหล่านี้ให้ไม่รุนแรงนัก และอาจจะพลิกผันอาการทุกข์โศกที่เรามีกับผู้คนเป็นหนทางเดินด้านในเข้าหาการตื่นรู้ก็ยังเป็นได้
กระบวนการเรียนรู้เสียงของตัวตนด้านใน คือที่มาของ Voice Dialogue Work (VDW) ที่ช่วยให้เราแยกแยะและเก็บเกี่ยวเอาความสามารถทางจิตของเราที่หล่นหายให้กลับมาอยู่ในมือเรา แถมช่วยให้โดนกวนใจน้อยลง ... มั้ง
Labels: สมพล ชัยสิริโรจน์