โดย อดิศร จันทรสุข
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๐

ช่วงนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง และเป็นช่วงที่ผมรู้สึกสับสนมากที่สุดกับการเมืองไทยก็ว่าได้ เพราะไหนจะมีทั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ ชื่อแปลก ยาว จำยาก ทั้งป้ายหาเสียงที่ขุดกลยุทธพิสดารออกมาใช้กัน มิหนำซ้ำยังมีนักการเมืองบางคนชอบสร้างกระแสด้วยการเล่นปาหี่ต่อหน้าชุมชน บางคนยิ่งแล้วใหญ่ เพราะย้ายพรรคไปมาราวกับเล่นเก้าอี้ดนตรี จากคนที่เคยด่ากันถึงโคตรเหง้าบรรพบุรุษ ก็หันมาจับมือจูบปากกันราวกับไม่เคยมีเหตุบาดหมางใจมาก่อน (สะท้อนตัวอย่างการเป็นเมืองพุทธได้อย่างน่าอัศจรรย์ ในเรื่องความอนิจจัง และการให้อภัย!) ประชาชนตาฝ้าฟางอย่างผมก็เลยสับสน และพาลจะหมดหวังกับประชาธิปไตยในบ้านเราเอาง่ายๆ

เมื่อครุ่นคิดพินิจนึกได้สักระยะ ก็พอจะสรุปได้อย่างหนึ่งว่า สภาพการณ์ที่เป็นอยู่นี้ดูคล้ายกับจะเป็นผลพวงของไวรัสตัวร้ายซึ่งกระจายอยู่ในสภาพบรรยากาศที่เงินตราและอำนาจกลายเป็นสิ่งปรารถนาสูงสุดของมนุษย์ในเวลานี้ ไวรัสตัวที่ว่าดูเหมือนจะมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของจิตสำนึกที่ดูแลการรับรู้ผิดชอบชั่วดีให้สูญเสียไปชั่วคราว บางรายที่อาการหนักก็ถึงกับสูญสิ้นจิตสำนึกไปอย่างถาวร เป็นที่น่าอนาถใจแก่ผู้พบเห็นยิ่งนัก

จะว่าไปแล้ว เราอาจต้องย้อนกลับไปตั้งคำถามเพื่อวิพากษ์แหล่งบ่มเพาะมนุษย์ ตั้งแต่ครอบครัว ไปจนถึงสถาบันการศึกษาว่าทำอย่างไรจึงประสบกับความล้มเหลวซ้ำซ้อนในการผลิตสมาชิก (บัณฑิต) แต่ละรุ่นออกมาโดยปราศจากภูมิคุ้มกันทางจิตสำนึก อันถือได้ว่าเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลของประเทศที่มีมูลค่ามหาศาลเกินคณานับ

จิตสำนึกที่ว่านี้ ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของคุณภาพภายในที่มนุษย์สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ ร่วมกับองค์ประกอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความหมายอย่างลึกซึ้งต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิต การตระหนักและเคารพต่อความรู้สึกนึกคิดของตนเองและผู้อื่น รวมไปถึงการให้คุณค่าและศรัทธาต่อการดำรงอยู่ของชีวิต ซึ่งทั้งหมดนี้ สามารถพัฒนาผ่านกระบวนการอันหลากหลาย การสร้างคุณภาพภายในทั้งหมดนี้เรียกรวมๆ กันว่าเป็น “การพัฒนาทางจิตวิญญาณ” อันเป็นส่วนสำคัญของปรัชญาการศึกษาที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ

น่าเสียดายที่องค์ประกอบดังกล่าวถูกตัดขาดแยกส่วนออกจากระบบการศึกษาในบ้านเรา รวมทั้งในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก นับตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านของสังคมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ที่มาพร้อมกับการให้ความสำคัญต่อการแสวงหาความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมารองรับการเติบโตของสังคมวัตถุ และกลายไปเป็นเครื่องมือหรือกลไกส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจ ที่แผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วทุกหัวระแหง ไม่พ้นแม้แต่วงการการศึกษา

ดังนั้น ทุกวันนี้ เราจึงมีระบบการศึกษาที่ตั้งอยู่บนรากฐานของคุณภาพที่พิสูจน์ตรวจสอบได้ สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาต้องผันตัวเองมาเป็นสถาบันเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ โดยมีนโยบายที่ให้ความสำคัญต่อสัมฤทธิผล ความคุ้มทุน และความต้องการของตลาดแรงงานเป็นสำคัญ ดังเช่นที่ คริสติน่า เมอร์ฟี่ คณบดีวิทยาลัยศิลปศาสตร์ และศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยมาร์แชล มลรัฐเวสต์ เวอร์จิเนีย ได้กล่าวไว้ในบทความ The Academy, Spirituality, and the Search for Truth จากวารสาร New Directions for Teaching and Learning ฉบับที่ 104 ปี 2005 ว่า

“... สถาบันอุดมศึกษาได้เปลี่ยนจุดเน้นจากการสร้างชุมชนอุดมคติที่สมาชิกยึดถือคุณค่าบางอย่างร่วมกัน อันเป็นต้นทางนำไปสู่การพัฒนาปัญญา คุณธรรม และจิตวิญญาณ ให้กลายไปเป็นสถาบันธุรกิจที่ดำเนินการบนฐานของการค้ำจุนทุนนิยมและการป้อนคนสู่ตลาดแรงงานแทน”

ผลที่เกิดจากระบบธุรกิจดังกล่าว คือบัณฑิตฉบับกระป๋อง ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากโรงงานการศึกษาว่าสามารถปฏิบัติงานได้อย่างแม่นยำ และรอบรู้ในเรื่องที่จำเป็นต่อหน้าที่การงาน เมื่อใดที่ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตทางจริยธรรม พวกเขาเหล่านั้นก็จะปล่อยให้กระแสเงินตราและอำนาจเข้าครอบงำการตัดสินใจ ไร้ซึ่งความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ไม่สามารถแยกแยะระหว่างความดีและความชั่วได้ ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ พวกเขาบางคนได้กลายมาเป็นนักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดวิถีชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ?!?

ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ได้เคยปาฐกถาไว้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2540 เกี่ยวกับแนวคิดความเป็นบัณฑิตหรือมนุษย์ที่สมบูรณ์ว่า บุคคลผู้นั้นควรจะต้องมีคุณสมบัติในการเข้าถึงความจริงของสิ่งต่างๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติต่อชีวิตและสังคมได้อย่างถูกต้อง จนค้นพบหนทางพ้นทุกข์ ประสบความสุข และบรรลุอิสรภาพได้ในที่สุด อาจนับได้ว่าสอดคล้องกับแนวคิด liberal arts หรือศิลปศาสตร์ในสมัยโบราณทั้งในประเทศตะวันตกและตะวันออก ที่มุ่งเน้นการศึกษาเพื่อยกระดับจิตใจของผู้เรียนให้หลุดพ้นหรือเป็นอิสระจากอวิชชา ผ่านกระบวนการพัฒนาและขัดเกลาทางจิตวิญญาณในรูปแบบต่างๆ นั่นเอง

บางทีในช่วงเวลาที่การเมืองกำลังร้อนระอุอยู่เช่นนี้ อาจเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้หันกลับมาตั้งหลักทบทวนกันอย่างจริงจังเสียทีว่า ถ้าเราต้องการสร้างสังคมที่มนุษย์มีความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณ และมีจิตสำนึกที่มั่นคงพอต่อการประคับประคองประเทศชาติให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤติ ทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว และที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมาอีกหลายระลอก การต้องเลือกระหว่างการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ (รวมทั้งทักษะ) ท่วมหัว แต่เอาตัวไม่รอด กับบัณฑิตที่ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ บัณฑิตแบบไหนที่เป็นจะกลายเป็นขุมพลังของประเทศชาติอย่างแท้จริง?

การมองย้อนทบทวนรากเหง้าและภูมิปัญญาในยุคโบราณ คงไม่ได้เป็นไปเพื่อการเรียกร้องวันเวลาเก่าๆ ให้คืนย้อนมา แต่น่าจะเป็นการแสวงหาคุณค่าแท้อันเป็นสมบัติร่วมของมนุษยชาติที่จะพาให้พวกเราก้าวข้ามไปสู่อนาคตได้

เผื่อว่าบางที เราอาจจะมีนักการเมืองดีๆ ที่เป็นความหวังของสังคมในรุ่นต่อไปได้เสียที

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home