โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐

เมื่อท่านวิจารณ์เห็นใครผ่านมาในชีวิตเรา แล้วพบว่าเขาไม่ครบครันเท่าที่พี่อุดม (คติ) ของเราต้องการ คนๆ นั้นก็กวนใจเรา

หากเราเห็นใครไม่ขยันขันแข็งเท่าพี่ดันในตัวเรา เราก็รำคาญเขา

หากเราพบปะใครที่ชอบท้าทายกฎเกณฑ์ นักสร้างกฎในใจเราก็จะต่อว่ากล่าวหาว่าเขาเป็นพวกขบถ

หากใครเข้ามาในชีวิตของเรา แต่ไม่รู้จักสัมพันธ์กับผู้คนดังเช่นที่ตัวอ่อนหวานเอาใจของเราเรียกร้อง เราก็จะเห็นคนนั้นเป็นคนแข็งกระด้างเย็นชา และอาจจะยัดข้อหาเห็นแก่ตัวให้เขาคนนั้นในทันที

ในทางกลับกันผู้คนก็จะเห็นพี่ดันของเราเป็นพวกเผด็จการ เอาแต่สั่งงานไม่เอาใจใส่ใจคน หรืออาจจะเห็นพี่อุดม (คติ) ของเราจุกจิกจู้จี้เคร่งครัดและเคร่งเครียดไปเลย หรือเห็นตัวตนช่างเอาใจของเรานั้นช่างอ่อนแอเสียเหลือเกิน


ท่านวิจารณ์ (The Inner Critic) ที่ว่านี้ เป็นหนึ่งในตัวตนด้านในที่สำคัญ ที่ก่อตัวขึ้นมาในใจเราเพื่อคอยกำกับดูแลเตือนเราให้สนใจตัวตนด้านในอื่นๆ เช่น

พี่ดัน (The Pusher) ผู้คอยผลักดันให้เรา “ทำ” อะไรต่อมิอะไรเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย

คุณอุดม (คติ) (The Perfectionist) ผู้เรียกร้องให้เราทำทุกอย่างโดยไม่มีที่ติ

รวมทั้ง น้องเอาใจ (The Pleaser) ผู้คอยชวนให้เราดูแลเอาใจใส่คนอื่นยิ่งกว่าตัวเราเอง

ท่านวิจารณ์ทำงานใกล้ชิดกับ นักสร้างกฎ (The Rule Maker) หรือคุณ ระเบียบ ผู้คอยจัดตั้งระเบียบและข้อเรียกร้องของใครต่อใครที่เราต้องทำตามไว้ในใจเรา เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะรู้สึกกระอักกระอ่วนป่วนใจ เมื่อเราแหกกฎหรือหันหลังให้ระเบียบเหล่านั้นในใจเรา รวมทั้งเพิกเฉยกับเสียงของตัวตนด้านในต่างๆ เราจะเสียความรู้สึกอยู่ลึกๆ

ตัวตนด้านในเหล่านี้ ดร.ฮัล สโตน และ ดร.ซีดรา สโตน ผู้ก่อตั้งวิธีการสนทนาด้านใน (Voice Dialogue Work) ได้ชี้ให้เห็นว่าเป็น ตัวเอก (The Primary Self) ที่ก่อตัวอยู่ในใจเรา เสียงของตัวตนด้านในนี้เป็นเสียงที่คอยช่วยให้เราปรับตัวเข้ากับโลกและผู้แวดล้อมเราที่เราเติบโตมาตลอดชีวิต

แต่เพื่อให้ตัวเอกมีบทบาทมีเสียงในใจเรา เราจำต้องละทิ้งและลดเสียงของตัวตนที่ตรงกันข้ามกับตัวเอกลง รวมทั้งฝังเสียงตัวตนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามฝ่ายค้านที่ว่าลงไปในใจลึกๆ ตัวตนที่ถูกทิ้งไปนั้น มีชื่อว่า The Disowned Self

หากย้อนระลึกถึงวันที่ละทิ้งตัวตนขั้วตรงข้ามกับตัวเอกได้ อาจจะช่วยให้เราเข้าใจความกระอักกระอ่วนใจของเราได้ชัดขึ้น

เด็กชายเล็กๆ คนหนึ่งหาญกล้ายกมือตอบคำถามในห้องเรียน แต่กลับตอบผิด เขาถูกครูและเพื่อนๆ หัวเราะเยาะจนอับอาย ในวันนั้นตัวตนของเด็กชาย “กล้าหาญ” พ่ายแพ้ต่อเสียงด้านในของเด็กชาย “อายไว้ก่อน” ที่เคยส่งเสียงในใจเด็กคนนี้ว่า “อย่าซ่านักเลย”

เมื่อเด็กชาย “กล้าหาญ” ถูกประหารด้วยความอับอายที่ครูและเพื่อนยัดเยียดให้ ตัวตนของเด็กชายคนนี้ในวันนั้นจำต้องบอกลา หรือขับไล่ให้หนู “กล้าหาญ” ออกไป เหมือนผู้บัญชาการหน่วยรบที่กำลังล่าถอยต้องยอมสละทหารมือดีจำนวนหนึ่งคอยตรึงข้าศึกไว้เบื้องหลัง และรู้อยู่แก่ใจว่าทหารเหล่านี้จำต้องสละชีวิตเพื่อรักษาให้ทหารส่วนใหญ่รอด

และนั่นคืออาการที่หนู “กล้าหาญ” หลีกทางให้หนู “อายไว้ก่อน” กลายเป็นเสียงของตัวเอกในใจของเด็กชายคนนี้ ในวันนั้นพี่ดันของเขาดันหนู “กล้าหาญ” ออกมาแนวหน้า ถูกตา “อยู่(เฉย)” เอาชนะประหารด้วยเสียงหัวเราะของครูและเพื่อน จากวันนั้น ตาอยู่ (เฉยไว้ก่อน) ก็กลายเป็นตัวเอกของเด็กน้อยคนนี้ หนูกล้าหาญที่ถูกประหารกลายเป็นตัวตนที่ถูกทิ้งไป

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เราจำต้องลดละเลิกโละทิ้งความรู้สึกนึกคิดของเราบางส่วนไว้ เพื่อให้ชีวิตเราอยู่รอดปลอดภัย และส่วนที่เราละเลิกทิ้งโละไปก็ยังฝังใจอยู่ในใจเรา และรอวันที่จะวกกลับมา “เอาคืน”

เด็กชายคนที่เราเพิ่งกล่าวถึง เขามีชีวิตผ่านมาจนกระทั่งวันหนึ่ง เขาเจอเพื่อนหรือใครสักคนที่ “ซ่าและหาญกล้า” ออกนำอยู่แถวหน้า เด็กชายนี้ที่มีตา “อยู่เฉยๆ (ไว้ก่อน)” เป็นตัวเอกคงหมั่นไส้รำคาญเจ้าคนนั้น หรือไม่ก็สยบยอมยกให้เด็กคนนั้นเป็นวีรบุรุษที่ตัวเองไม่มีวันเทียบเท่า

ปฏิกิริยาที่ว่าทั้งสองขั้วเรียกว่า อาการพิพากษาทั้งทางบวกและทางลบ ทางลบกับเราก็รู้สึกว่าตนเหนือกว่าเขา ทางบวกก็รู้สึกว่าตนด้อยกว่าเขา แต่ทั้งสองทางนั้นยืนยันและเตือนให้ระลึกถึงวันนั้นในห้องเรียนต่อหน้าเพื่อนๆ และครู

หนู “กล้าหาญ” ที่ถูกเนรเทศไป ได้กลับมาเตือนความอับอายเจ็บปวด กลับมาทวงที่ทางคืน เมื่อเราเห็นนาย “กล้าหาญ” ในตัวคนอื่น เราจึงพิพากษาเขา แล้วเขาจึงสามารถกวนใจเราได้ ทำให้เรากระอักกระอ่วนป่วนใจ เพราะเราก็ยังไม่ให้อภัยตัวเองที่ไม่รู้จักที่จะกล้าได้อย่างที่เราเคยกล้ามาแล้วอีกสักที หรือให้อภัยตัวเองที่ทอดทิ้งพันธมิตรคนใกล้ชิดของเราไว้ในสนามรบ

และนี่หรือคือที่มาของคำกล่าวที่ว่า “เราทำกับตัวเองเช่นไร เราก็ได้ทำกับคนอื่นเช่นนั้น”

หากจะพูดให้เฉพาะเจาะจงลงไป “เราพิพากษาต่อว่าใครต่อใครอย่างไร เราก็พิพากษาตัวเราอย่างนั้น” หรือเปล่า?

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home