โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๑
ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมประชุม Inter-religious Dialogue for Peace ที่ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อเดือนที่ผ่านมา และพบว่ามีความคิดน่าสนใจที่ทำให้หวนนึกถึงสถานการณ์ประเทศไทย ที่ผู้คนมีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน จนถึงขั้นขัดแย้งกัน ก็อยากเสนอแนะให้ “วางใจ” ว่าความคิดเห็นที่ขัดแย้งนั้นเป็นสิ่งที่ย่อมเกิดขึ้นได้ และยอมรับกันได้ มิใช่เรื่องผิดปกติ ตราบเท่าที่ทุกคนยังเป็นมนุษย์ มีบริบท ประสบการณ์ และอัตลักษณ์ที่ต่างกัน ย่อมกระทบกระทั่งและขัดแย้งกันได้ ประเด็นที่สำคัญคือต้องมี “สติ” ที่จะป้องกันมิให้ความขัดแย้งนั้นกลายเป็น “ความรุนแรง” ทั้งทางวาจาและการกระทำ
สิ่งที่ได้พูดถึงกันมากในการประชุมข้างต้นดังกล่าวนั้นก็คือ การถกเถียงว่าควรมองไปข้างหน้า คิดถึงอนาคต ร่วมสร้างอนาคตใหม่ด้วยกัน หรือยังคงมีความสำคัญต้อง “เยียวยา” บาดแผลของความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น จากการที่แต่ละฝ่ายล่วงเกิน พลาดพลั้งทำความเจ็บช้ำน้ำใจ ทำความเสียหายให้อีกฝ่ายอย่างไร เนื้อหาที่ถกกันนั้นอยู่ภายใต้หัวข้อ Healing the Past, Building the Future
มีผู้ให้เหตุผลสนับสนุน ทั้งฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ขุดคุ้ยอดีตให้มองไปข้างหน้าด้วยกัน และฝ่ายที่อยากให้เกิดการ “เยียวยา” บาดแผลที่เกิดขึ้นก่อน การถกเถียงในวง Dialogue เช่นนี้ ไม่มีคำตอบที่ “ผิด” มีแต่ความเห็นที่ “ตรงกันข้าม” หรือ “แตกต่าง” กันเท่านั้น
ในส่วนตัวของผู้เขียนเห็นด้วยกับการให้ความสำคัญต่อการเยียวยาความเจ็บช้ำน้ำใจในอดีตด้วย ถ้าผู้กระทำการล่วงเกินได้แสดงความสำนึกผิด ด้วยการใช้สติวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของตนเองและกลุ่มของตนเองอย่างจริงใจแล้ว หากพบว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งผิดในท่ามกลางสิ่งที่ดีและถูกต้องทั้งหลายที่ได้กระทำลงไป ขอให้ตระหนักรู้และแปลงความสำนึกผิดนั้นเป็น “คำขอโทษ”
การขอโทษมีได้หลายรูปแบบ ทั้งขอโทษด้วยใจ ด้วยการแผ่ความรักความปรารถนาดีไปยังผู้ที่ตนเองล่วงเกิน ขอโทษด้วยวาจา ด้วยการส่งผ่านคำที่จริงและเปี่ยมด้วยความรู้สึกรับผิดชอบต่อการกระทำที่ผ่านมา และขอโทษด้วยการกระทำที่บ่งบอกถึงการสำนึกผิด อยากทดแทนความผิดด้วยการกระทำใหม่ๆ ในปัจจุบันที่ดีกว่าเก่า
การแสดงความขอโทษอย่างจริงใจและซื่อสัตย์ ทางกาย วาจา ใจ นั้น ถึงแม้มิอาจกำจัดความเจ็บปวด ความโกรธแค้นได้ทันทีทันใด แต่สามารถมีผลทางจิตใจในระยะยาวและในอนาคตได้ เพราะเป็นความจริงที่ว่า มิอาจมีสิ่งใดคงอยู่โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ความรู้สึกโกรธและเคียดแค้นอาจถูกแปรเปลี่ยนไปได้ด้วย “บุคคล เวลา และสถานที่” ซึ่งอาจเปลี่ยนบุคคลผู้นั้นเสียได้นั่นเอง
ที่กล่าวนี้ดูเหมือนเป็นภาพเล็กๆ ของคู่ขัดแย้งส่วนบุคคล แต่ถ้าขยายไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระดับชาติ กระบวนการ “คืนดี” ก็คงไม่ต่างจากความขัดแย้งส่วนบุคคลในแง่กระบวนการ ก่อนที่จะให้อภัยกันได้ คู่ขัดแย้งควรสำรวจตัวเองอย่างจริงใจ ถึงจุดบกพร่อง ถ้าสำรวจด้วยตัวเองไม่ได้ ก็ต้องอาศัยคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้หวังดีที่มีความชอบธรรมจากภายนอกกลุ่มของตน จะเห็นได้ว่าความสามารถในการตระหนักรู้ และยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ได้นั้น ต้องอาศัย “การฟังอย่างลึกซึ้ง” ซึ่งเป็นการฟังด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความเมตตา ที่ตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ผู้อาจพลาดพลั้งได้เหมือนๆ กัน ขอให้ได้ฟังเรื่องราวของคู่ขัดแย้งให้ “สุดๆ” ก่อนการตัดสินว่าผิด และปรารถนาความใจกว้างในการคิดในมุมกลับว่า ถ้าตนเองอยู่ในตำแหน่งเช่นนั้น ตนเองจะทำอย่างไร อาจมีการกระทำเช่นเดียวกันก็เป็นได้
ก่อนที่จะเริ่มความสัมพันธ์ใหม่ ให้นึกถึงข้อปฏิบัติของชาวพุทธกลุ่มหมู่บ้านพลัม เรื่อง “การเริ่มต้นใหม่” ที่มีขั้นตอนใช้การฟังอย่างลึกซึ้งเป็นหลักสำคัญอยู่ด้วย กล่าวคือ คู่ขัดแย้งควรได้นึกถึง “ความดี” “อุดมการณ์ที่ดี” “การเสียสละ” ที่จัดว่าเป็นสิ่งดีของฝ่ายตรงกันข้าม แล้วพูดออกมาให้ชัดเจน การใช้สติสามารถมองเห็นสิ่งดีของผู้อื่นได้นั้นเป็นการเสริมสร้างความกล้าหาญในส่วนของผู้พูด และเป็นการหล่อเลี้ยงบำรุงใจของอีกฝ่ายให้มีความมั่นใจในตนเอง ให้รู้สึกดี เพื่อเป็นพื้นฐานให้สามารถแบ่งปันความรู้สึกดี และสิ่งดีๆ แก่ผู้อื่นได้ง่ายขึ้น
เมื่อสภาวะจิตของทั้งสองฝ่าย ได้รับการฉาบทาด้วยความดีผ่านการฟังอย่างลึกซึ้งแล้ว จึงค่อยก้าวย่างไปพูดและฟังถึงข้อบกพร่องข้อขัดเคืองที่อยากสื่อสารบอกกล่าวให้อีกฝ่ายได้รับทราบ แต่มีข้อแม้ว่าก่อนพูดข้อเสียหนึ่งข้อ ขอให้ได้พูดความดีของอีกฝ่ายสองข้อเสียก่อน ขั้นตอนนี้สอดคล้องกับความเป็นมนุษย์ที่มีทั้งดีและชั่ว ถูกและผิด ขอเพียงได้เห็นความดี ความถูก มากกว่าความชั่วและความผิดของอีกฝ่าย อาจเป็นโอกาสอันดีให้เกิดการคืนดี และให้อภัยกันง่ายขึ้น
ต้องไม่ลืมว่าการจะสามารถฟังความขัดข้องใจได้จริง ต้องอาศัยการฟังอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นการฟังจากภายในที่พร้อมที่จะให้อภัยด้วย
นอกจากนั้น เมื่อใจพร้อม ทั้งสองฝ่ายก็จะสามารถ “ปรับความเข้าใจ” บอกความในใจ ว่าแต่ละฝ่ายต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างไร ควรบอกความต้องการอย่างตรงไปตรงมา เป็นการแสดงความจริงใจ โดยไม่อ้อมค้อม นอกจากนั้นจะเกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้นเมื่อแต่ละฝ่ายฟังแบบ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ประกอบเข้าไปด้วย
การบอกความต้องการของแต่ละฝ่ายอย่างจริงใจจะทำให้บุคคลทั้งหลายในชุมชนได้ยิน และถ้าเป็นสิ่งที่ดีต่อส่วนรวม คงไม่มีผู้ใดอยากปฏิเสธไม่ร่วมมือด้วย คนทั้งกลุ่มเมื่อได้ฟังอย่างลึกซึ้งแล้ว ความพร้อมที่จะส่งแรงสนับสนุน ให้ความร่วมมือให้ทั้งสองฝ่ายได้กลับมาคืนดีกันง่ายขึ้น และร่วมมือกันได้มากขึ้น
กระบวนการเริ่มต้นใหม่ของชาวหมู่บ้านพลัมที่อาศัยการฟังอย่างลึกซึ้งเช่นนี้ ถือว่าเป็นกระบวนการเยียวยาที่กลับมาสัมผัสเรื่องราวในอดีตที่เจ็บปวดอย่างมีสติและมีเมตตา เป็นการยอมรับความเป็นมนุษย์ของกันและกันอย่างแท้จริง การกระทำเช่นนี้เป็นการกระทำเหตุปัจจัยในปัจจุบันที่มิได้เพ้อฝัน ที่ได้แต่เรียกร้องให้ “ลืม” “ให้อภัย” “ให้อโหสิกรรมกัน” แต่ปากอย่างเดียว แต่เป็นการทำปัจจุบันด้วย “ใจ” ที่มีสติ เป็นการเผชิญหน้ากับความเป็นจริงอย่างมีเหตุผลโดยผ่านการฟัง
ในที่ประชุมครั้งนั้น หลายๆ ฝ่ายได้ให้เหตุผลสนับสนุนว่า การเยียวยาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นการทำปัจจุบันที่ไม่ละเลยสภาพความเป็นจริง เป็นการให้ลืมอดีตอย่างเป็นไปได้มากที่สุด เป็นกระบวนการทางจิตวิทยาที่สำคัญ ก่อนที่จะเริ่มต้นและสร้างอนาคตใหม่ด้วยกัน
ก่อน “ลืม” เพื่อ “ลา” อดีตอันเจ็บปวด ขอทำปัจจุบันด้วยกระบวนการเยียวยา ด้วยวิธีเช่นหมู่บ้านพลัม โดยผ่านการฟังอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการ Dialogue
พวกเราชาวเสื้อเหลือง เสื้อแดง พลังเงียบ ตำรวจ ทหาร จะไม่ลองคิดและลองปฏิบัติวิธีนี้สักนิดก่อนถึงเวลาที่จะประกาศ “วันอภัยแห่งชาติ” กันบ้างเชียวหรือ
Labels: ปาริชาด สุวรรณบุบผา