โดย มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๑

ระหว่างเดินเล่นท่ามกลางอากาศเย็นสบายบนเขาเมืองดารัมศาลา (Dharamsala) ประเทศอินเดีย ที่อยู่ขององค์ดาไลลามะและรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต ผู้เขียนเห็นชื่อร้านขายของที่ระลึกเล็กๆ แห่งหนึ่งว่า “Same Same But Different” สะท้อนสิ่งที่ผู้เขียนกำลังเรียนรู้ในช่วงนี้คือ พุทธศาสนามหายานแนวทิเบต และพุทธศาสนาหีนยาน ดังจะลองแลกเปลี่ยนเท่าที่เข้าใจในขณะนี้

พุทธศาสนาหีนยานที่เป็นสายหลักของบ้านเรานั้น เป้าหมายหลักคือการละความเห็นผิดในอัตตาตัวตน ไม่ว่าจะรู้จักธรรมะกี่หมวดกี่ประเภท ฝึกด้วยวิธีการใดก็ตาม สมถะภาวนา วิปัสสนาภาวนา หรือแนวต่างๆ ที่เกิดขึ้นนับไม่ถ้วน ถ้าผู้ปฏิบัติยังมีความอหังการ์ ยกตนข่มท่าน เห็นตัวเราเองเป็นหลัก เราถูกเสมอ คนอื่นเป็นเพียงอณูธุลีรายล้อมเรา ทำไมคนอื่นทำแบบนั้น ฯลฯ เราก็ยังคงมีอัตตาเหนียวแน่นอยู่นั่นเอง

ถ้าจะสร้างตัวชี้วัด (Indicator) เพื่อดูว่าเราก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมแค่ไหน เราอาจดูได้จากพฤติกรรมของเราทั้งทางกาย วาจา และที่สำคัญคือใจ ว่าแสดงออกถึงอัตตาตัวตนมากน้อยแค่ไหน

สำหรับพุทธศาสนามหายานแนวทิเบตที่ดารัมศาลานี้ เกชิลา (พระอาจารย์ที่ผ่านการฝึกมา) สอนว่าศัตรูหลักของเราทุกคนที่แท้คือ อัตตาตัวตนหรือ Self-grasping ส่วนศัตรูที่ร้ายยิ่งกว่าคือ ความเห็นผิดในอัตตาตัวตนนั้น สิ่งที่เน้นเพิ่มขึ้นมาเพื่อทำให้เป้าหมายหลักบรรลุผลได้ดีขึ้นคือการเน้นการใส่ใจคนอื่นมากขึ้น หรือ Cherishing others ด้วยการฝึกหัดในหลายรูปแบบ เช่น ทองเลน

ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วเป็นเนื้อเดียวกันกับสายหีนยานที่บ้านเราเรียนกันอย่างชัดเจน

ความเหมือนของสองสายชี้ให้เห็นความตรง (Validity) ของศาสนาพุทธ ถึงเป้าหมายที่จะไปถึง แม้จะมี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และบทอธิบายเพิ่มเติมอีกนับไม่ถ้วน ล้วนแล้วแต่ไปเพียงเพื่อจุดประสงค์เดียวเท่านั้น

ความแตกต่างของพุทธศาสนามหายานแนวทิเบตต่อแนวบ้านเราที่พบคือ เน้นการบรรลุไปเพื่อช่วยเหลือคนอื่นต่อ นั่นแปลว่าบรรลุธรรมสูงสุด (Full Enlightenment) ด้วย และกลับมาเกิดใหม่ด้วยความตั้งใจจะช่วยสรรพชีวิตทั้งหลายอีกด้วย ในขณะที่พระอรหันต์ของเราคือผู้ที่หลุดพ้น (Liberation) ไปเลย

การบรรลุธรรมสูงสุดดังกล่าวนี้จะมีเมตตาและปัญญาเต็มบริบูรณ์ดั่งพระพุทธเจ้า

จากการถามเกชิลาว่าการฝึกปฏิบัติสมถะภาวนาและวิปัสสนาภาวนาที่เราฝึกกันเพื่อบรรลุอรหันต์นั้นเป็นคนละสายกับการเป็นพระโพธิสัตว์ หรือผู้ที่ใฝ่การบรรลุธรรมสูงสุดใช่หรือไม่ ท่านตอบว่าไม่ใช่ เดินบนหนทางเดียวกัน พระอรหันต์เองก็สามารถเดินต่อไปในสายพระโพธิสัตว์ได้เช่นเดียวกัน

ท่านเปรียบเทียบเหมือนจะไปต่างประเทศจากดารัมศาลา เราต้องไปที่เมืองเดลลีก่อน แล้วบินต่อไปประเทศอื่น เมืองเดลลีเปรียบเสมือนบรรลุพระอรหันต์ ซึ่งเป็นที่พักให้ใจสบายได้ และสามารถเดินทางต่อไปได้อีก ถึงกระนั้นก็มีบางคนนิยมอีกทางคือบินตรงจากดารัมศาลาไปยังที่หมายเลย คำตอบนี้อยู่บนฐานของความเชื่อโรงเรียนหนึ่ง ในขณะที่อีกโรงเรียนเชื่อว่าการจะเป็นพระอรหันต์นั้นเป็นคนละสายกับการเดินทางแนวพระโพธิสัตว์

เมื่อดูในระเบียบการปฏิบัติของชาวมหายานแล้ว ก็จะพบว่าต้องฝึกวิธีการหลากหลายรวมทั้งสมถะภาวนาและวิปัสสนาภาวนาอย่างที่เราคุ้นเคยกัน วิธีหนึ่งที่หลายท่านอาจรู้จักดีอยู่บ้างคือทองเลน หรือการฝึกให้และรับ (Giving and Taking Practice) เป็นการฝึกหลายขั้นตอน มีเป้าประสงค์หลักเพื่อลดอัตตาตัวตนเพิ่มการใส่ใจผู้อื่นชัดเจน

การให้ หมายถึง ให้สิ่งที่ดี คุณธรรม พลังบวก ฯลฯ แก่สรรพชีวิตทั้งหลาย การรับ หมายถึง การรับความทุกข์โศก สิ่งที่ไม่ดี พลังลบทั้งหลายให้เข้ามา เริ่มด้วยการสร้างภาพ (Visualization) และได้มีการออกไปปฏิบัติจริงในพื้นที่บ้าง

ผู้เขียนถามพระอาจารย์ว่าทองเลนจะไปฝึกอย่างไรกับสถมะภาวนาและวิปัสสนาภาวนา พระอาจารย์บอกว่าให้ไปฝึกเสียก่อน เท่าที่ผู้เขียนได้ลองปฏิบัติดูก็พบว่าการฝึกทองเลนเป็นการสร้างความเมตตากรุณาให้กับผู้ฝึกได้อย่างง่ายดาย สามารถทำให้ใจเราเปิดรับผู้อื่นได้ง่ายขึ้นมาก เมื่อต่อด้วยสมถะภาวนาหรือการฝึกให้ใจนิ่งนั้น ทางมหายานเรียกว่า Single-point mind training ซึ่งแสดงชัดเจนว่าทำให้ใจอยู่ที่เดียว เป็นการเตรียมพร้อมให้ใจมีพลังทำงานต่อในส่วนของวิปัสสนาภาวนา หรือการเรียนรู้วิเคราะห์วิจัยการทำงานของจิตใจเราอย่างละเอียดจนเกิดปัญญา เป็นขั้นตอนที่สอดคล้องและเอื้อต่อกันเป็นลำดับ

ทฤษฎีธรรมะและการปฏิบัตินั้นยังมีอีกนับไม่ถ้วน ล้วนแล้วแต่น่าสนใจน่าเรียนรู้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นอย่างจริงจังกับวิธีการใดๆ ให้ลึกซึ้งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เราเรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้งจริง ก่อนจะต่อยอดไปในแนวทางอื่นๆ ดังที่ครูบาอาจารย์ไม่ว่าสายใดพร่ำสอนมา

แม้ว่าการเดินทางสายนี้ยังอีกยาวไกล อย่างน้อยความเหมือนในความแตกต่างนี้ช่วยให้เราชัดเจนมากขึ้นในเป้าหมายที่กำลังเดินไป

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home