โดย ปิยพงศ์ ดาวรุ่ง
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๑
“ทำอะไรเร็วๆ หน่อย!! สายแล้ว เดี๋ยวไปทำงานไม่ทันหรอก”
“เฮ้ย เร่งมือหน่อย ยังมีงานต้องทำอีกเยอะนะ”
“นี่เธอ! จะนั่งเหม่อไปถึงไหน งานตรงหน้ายังไม่เสร็จนะยะ” ฯลฯ
ล้วนเป็นประโยคที่ได้ยินบ่อยๆ สังคมเมืองซึ่งเต็มไปด้วยข่าวสารข้อมูล คำว่า “ฉับไว รวดเร็ว” จึงเป็นนิยามของความอยู่รอดในสังคม สังคมที่ต้องแข่งขันและชิงไหวชิงพริบกันตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ได้หล่อหลอมให้ผู้คนต้องทำอะไรๆด้วยความรวดเร็ว และทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน จนกลายเป็นความ”เร่งรีบ” ที่คุ้นชิน สมองถูกใช้ไปในการคิดวิเคราะห์ จนแทบไม่เหลือช่องว่างให้กับการ “รับรู้” อารมณ์ ความรู้สึก มุ่งมั่นกับเป้าหมายที่ตั้งไว้จนใบหน้าที่แสดงออกมากลายเป็นพิมพ์นิยมดุจดั่ง “คนเหล็ก: Terminator” ไร้ซึ่งอารมณ์ จะมีสักช่วงไหมในยี่สิบสี่ชั่วโมงที่เรารับรู้ถึงบรรยากาศรอบข้าง สายลม แสงแดด ยามที่สัมผัสผิวกาย เรารู้สึกอย่างไร เสียงแตรรถ เสียงนกร้อง เรารู้สึกอย่างไร กลิ่นน้ำเน่า กลิ่นดอกไม้ เรารู้สึกอย่างไร ยามได้เห็น หน้าตาอันบูดบึ้ง หรือมีรอยยิ้ม เรารู้สึกอย่างไร เราเคยสังเกตไหม หรือเพียงปล่อยให้มันผ่านไป แม้กระทั่งร่างกายของเราเอง ถ้าไม่ปวดเมื่อย หรือป่วยไข้จนกระทั่งทนไม่ไหว ก็คงไม่ได้รับการดูแล จำเป็นไหมที่ต้องรอให้เกิดความเจ็บป่วย?
วิถีชีวิตของผมก็เคยเป็นอย่างนั้น จึงได้รู้ว่าร่างกาย จิตใจไม่ได้แข็งแกร่งเท่าไหร่หรอกครับ มีช่วงอ่อนแอ เปราะบางบ้าง ยามเจ็บป่วยจึงได้เรียนรู้จริงๆ
“ความเจ็บป่วย” เมื่อได้ยินคำนี้มักจะนึกถึง ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นทางกาย ในที่นี้อยากให้รวมถึง ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นทางใจด้วย เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อความเจ็บป่วยเกิดขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่งของร่างกาย หรือจิตใจ แม้กระทั่งความคิด ย่อมส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน เช่น เมื่อโหมทำงานหนักจนร่างกายรับไม่ไหว ส่งสัญญาณขอหยุดพักจนต้องเข้าโรงพยาบาล ความวิตกกังวลในเรื่องงานที่ยังคั่งค้างก็นำพาความหวาดกลัวเข้ามาเยือนในหัวใจ จิตใจที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้พยายามคิดหาทางให้บรรลุถึงเป้าหมาย แต่แล้วด้วยสภาพร่างกายที่ไม่พร้อมแบกรับความกดดัน ก็ไม่สามารถทำได้อย่างที่คิด ความอึดอัด ความหงุดหงิดเข้ามาเยือน เมื่อทนไม่ไหวก็พาลระเบิดอารมณ์ไปกับคนรอบข้าง ส่งความไม่สบายใจไปให้เขาโดยไม่รู้ตัว มองย้อนกลับไป สัญญาณทางกายที่แสดงออกมาก็เปรียบเหมือนการสื่อสาร เพียงแต่เรารับฟังเสียงของเขาจริงๆ ก็จะเห็นความต้องการของเขาอย่างชัดเจน ความดื้อรั้นโดยไม่ยอมรับฟังรังแต่จะเป็นการทำลายตน คงไม่มีใครอยากทำร้ายบ้านของตนเองหรอกนะครับ ลองนำพาตนเองออกจากกระแสแห่งความคาดหวัง และความเร่งรีบชั่วขณะ โดยการอยู่นิ่งๆสักพัก เราก็จะรับรู้ ความรู้สึกในกาย จิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น ขอให้เพียงแค่ “รับรู้” เท่านั้นเอง
การเปลี่ยนจากสภาวะเร่งรีบ มาสู่สภาวะแห่งการรับรู้สามารถทำได้โดยทำกิจวัตรให้ช้าลง อืม ... ผมเริ่มได้ยินเสียงแย้งในใจขึ้นมาทันทีทันควัน เช่น “จะบ้าหรือเปล่า คนกำลังรีบจะให้ช้าได้ยังไง” “มัวแต่รับรู้ รับรู้ แล้วเมื่อไหร่มันจะเสร็จ” และอื่นๆ อีกมากมาย ขอให้อดทนอ่านต่อไปอีกนิดนะครับ คำว่า “ช้าลง” ไม่ได้หมายถึงต้องทำอะไรช้าตลอดเวลานะครับ เคยได้ยินคำว่า “ช้าเพื่อจะเร็ว” ไหม มีคนเปรียบชีวิตเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ใช้ในการเรียนรู้และทดลองได้ตลอด ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่จะเสนอนี้คือการทดลองก็แล้วกันครับ
ผมอยากให้ลองใช้เวลาประมาณสิบห้านาทีในช่วงเช้าก่อนเริ่มกิจวัตรประจำวันใดๆ โดยการนั่งในท่วงท่าที่ผ่อนคลาย พยายามจัดสถานที่ให้อากาศถ่ายเท ดูแล้วสบายตา หรืออาจเปิดเพลงบรรเลง ช่วยสร้างบรรยากาศที่ให้ความรู้สึกสบายๆ จะมีเครื่องดื่มร้อนๆ ไว้ด้วยก็ยิ่งดีใหญ่ ระหว่างสิบห้านาทีนี้ปล่อยให้ใจเรามารับรู้ สัมผัส และดื่มด่ำกับบรรยากาศรอบข้างที่เราได้ตระเตรียมไว้แล้ว เสียงเพลงเพราะๆ อากาศสดชื่น บรรยากาศที่มองแล้วสบายตา สัมผัสอันอบอุ่นผ่านถ้วยเครื่องดื่ม รสชาติที่แสนรัญจวนใจ วางความคิดเรื่องงานไว้ก่อน ทำเพียงเท่านี้หล่ะครับ เราก็พร้อมที่จะรับมือกับความเร่งรีบที่รออยู่ตรงหน้าแล้ว ถ้าไม่อยากปวดหัวจะต้องจัดอะไรมากมาย ก็ลองนำพาตัวเองไปอยู่ในอ้อมกอดของธรรมชาติดูสิครับ สวนสาธารณะใดก็ได้ แล้วเปิดผัสสะแห่งการรับรู้ทั้ง ๕ เราก็จะได้สัมผัสถึงความ อบอุ่น และผ่อนคลายแล้ว มีคนกล่าวว่า “ธรรมชาติเป็นดั่งผู้เยียวยา” ( Nature is the Healer)
สภาวะแห่งการรับรู้ก็เปรียบเหมือนแบตเตอรี่ใช้ไปย่อมมีวันหมด การชาร์จแบตเตอรี่ก็คือการทำซ้ำๆอย่างสม่ำเสมอ บางคราทำครั้งเดียวในช่วงเช้าไม่พอ ด้วยภาวะงานที่รุมเร้า แบตเตอรี่ที่มีอยู่ถูกใช้หมดไปอย่างน่าใจหาย การชาร์จระหว่างวันก็มีส่วนสำคัญที่จะรักษาสภาวะแห่งการรับรู้ได้ เราไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเหมือนช่วงเช้า เพียงใช้เวลาสั้นๆ ในช่วงเปลี่ยนอิริยาบถ หรือเว้นว่างจากงาน ปล่อยวางความคิดเรื่องงานกลับมารับรู้สัมผัสทั้ง ๕ อีกครั้ง เท่านี้ก็เพียงพอจะรักษาสภาวะการรับรู้ได้ตลอดวันกระมัง ถ้ายังไม่พอ คงต้องชวนคนรอบข้างอีกสักสองสามคนมาทำร่วมกัน มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมมัวแต่ครุ่นคิดอยู่กับงานที่ทำ กัลยาณมิตรคนหนึ่งก็เข้ามาทักว่า “วันนี้คุณหายใจหรือยัง?” เมื่อถูกทักอย่างนี้ก็นิ่งไปชั่วขณะ แล้วก็หัวเราะครู่ใหญ่ ขำให้กับความจมจ่อมของตนเอง ทำงานจนไม่รับรู้ว่าตนกำลังหายใจอยู่ นี่แหละครับ มีเพื่อนก็ต้องช่วยกันอย่างนี้
วิถีชีวิตที่คุ้นเคยมานาน การเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งถ้ามากเกินไปอาจทำไม่ได้นาน ปรับเปลี่ยนทีละเล็กน้อย แล้วทำอยู่เป็นประจำจนคุ้นชินให้เป็นหนึ่งกับวิถีที่เป็นอยู่ การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนจึงก่อเกิด การกลับมารับรู้เป็นพื้นฐานแรกๆ ของชีวิต ที่จะทำให้เราค้นพบศักยภาพอันยิ่งใหญ่ที่แฝงอยู่ในตัวตนของเรา เป็นศักยภาพที่ไร้ขอบเขตและอัศจรรย์ใจยามได้พบ
ขอเชิญชวนพวกเราร่วมเปิดผัสสะแห่งการรับรู้ และเรียนรู้ศักยภาพในตัวตนไปด้วยกัน เดินคนเดียวมันเหงาครับ ร่วมกันเดินก็จะได้แบ่งปันประสบการณ์ที่แต่ละคนเผชิญมา เมื่อเราเตรียมฐานไว้ดีแล้ว คราวหน้าก็จะเริ่มสำรวจดินแดนแห่งศักยภาพอันไร้ขอบเขตของเรากันล่ะ
Labels: ปิยพงศ์ ดาวรุ่ง