โดย กิติยา โสภณพนิช
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๒

จริงๆ ก็ตั้งคำถามกับตัวเองมาซักพักว่าทำไมช่วงหลังๆ จึงมีอารมณ์แปรปรวนและควบคุมได้ยากนัก เรื่องแปรปรวนอาจจะปกติเป็นส่วนหนึ่งของนิสัย แต่เดี๋ยวนี้หงุดหงิดที มีหมาวิ่งออกไปเป็นฝูง ทั้งออกจากปากและสีหน้า อะไรก็ไม่ดี อะไรก็ไม่พอใจ และต้องให้คนๆ นั้น เขารับรู้โดยไม่อ้อมค้อมว่าเราไม่พอใจนะ เหมือนกลับไปเป็นเด็กวัยรุ่นที่ยังไม่พัฒนาเรื่องของเหตุและผล และที่สำคัญเรื่องมารยาทในการเข้าสังคม

นึกย้อนไปตอนทำงานที่อาศรมศิลป์ก็มีหงุดหงิดฟาดหัวฟาดหางบ้าง แต่มักไม่ถึงขั้นชั่วร้ายขนาดจงใจประทุษร้ายคนอื่นให้เจ็บช้ำน้ำใจอย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ทำไมตอนนั้นควบคุมอารมณ์ได้ และทำไมตอนนี้ไม่ได้

นอนคิดอยู่เมื่อคืนหลังผ่านอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่น่าละอายไปเมื่อช่วงเย็น ก็ถึงบางอ้อ

ขอเล่าที่มาที่ไปของตัวเองสักเล็กน้อย

เป็นลูกสาวคนเล็กของครอบครัว ตามสไตล์ก็คือถูกเลี้ยงดูอย่างดี ตามใจเล็กน้อยถึงมากที่สุด มีคนให้กำลังใจมากมาย โตมาก็ไปเรียนเมืองนอก ซึมซับเอาวัฒนธรรมตะวันตกที่สนับสนุนให้เป็นตัวของตัวเอง พึ่งพาตนเองได้ และด้วยปัจจัยอื่นอีกมากมาย รวมทั้งนิสัยส่วนตัว (temperament) ทำให้ตัวเองเติบโตมาด้วยความมั่นใจว่า “กูแน่กว่าใคร” ซึ่งก็เป็นเรื่องดี แต่ ... มันมีผลพลอยได้ที่ตามมาด้วยอย่างไม่รู้ตัว

เพิ่งมาสังเกตตอนเริ่มทำงานว่า การจะก้มหัวให้ใครกลายเป็นเรื่องยาก การน้อมใจไปรับฟังแง่คิด มุมมองของคนหลายๆ คนกลายเป็นเรื่องที่ต้องฝึกและฝืนอย่างมาก จนแม่ยังแซวว่า แม่ไม่กล้าจะแนะนำอะไรเราแล้ว เพราะแนะนำไปเราก็ไม่รับฟัง แต่อยู่ในสังคมไทยไปสักพัก เราก็เริ่มโอนอ่อนผ่อนตาม ค่อยๆ ปรับตัวไปกับวิถีไทยๆ โดนคนรอบข้างสั่งสอนบ้าง และเมื่อรู้จุดอ่อนของตัวเองก็พยายามที่จะเรียนรู้ตัวเอง เป็นสติเตือนใจกันไป

แต่มาพักหลัง เจ้าวายร้ายตัวเดิมก็เริ่มเผยโฉมให้เห็นบ่อยขึ้น เราห่างเหินจากการดูจิตของเรามากไปหรือเปล่า เราเครียดกับการทำงานมากไปหรือเปล่า มามองดีๆ ก็เริ่มเห็นสาเหตุ เราก้มหัวให้เฉพาะบางคนที่เราเลือกแล้ว คือ คนที่เราเคารพนับถือ คนที่เรามองว่าเป็นครูบาอาจารย์ คนที่มีคุณค่าที่เราชมชอบ มีความคิดเห็นที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของเรา และเราไม่ก้มหัวให้กับใครอีกหลายๆ คน คือ คนที่เราตัดสินไปแล้วว่าขาดคุณสมบัติที่น่าเคารพ คนที่เราไม่ชอบขี้หน้า คนที่เราไม่เห็นด้วยกับการใช้ชีวิต มุมมองต่อโลก ฯลฯ เราถือเอาความคิดความรู้สึกตัวเองเป็นใหญ่ ใหญ่จนมันมาบดบังความจริงที่ว่า ทุกคนก็เป็นคนเหมือนเรา

คิดแล้วก็อดนึกถึงคำพูดของ ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก ไม่ได้ ท่านเคยสอนไว้ว่า “คนเห็นคนเป็นคน นั่นแหละคน” ฟังดูเหมือนปรัชญาลึกล้ำที่ต้องการคำอธิบายอีก 3 หน้ากระดาษ แต่เมื่อได้มาเจอกับตัวเอง มีประสบการณ์ตรงแล้ว คำอธิบายใดๆ ก็หมดความจำเป็นไป (นั่นไงเห็นไหม เวลาอ้างอิงก็ต้องอ้างอิงครูบาอาจารย์ระดับสูง)

เมื่อรู้ความจริงข้อนี้แล้วอย่างไงต่อ?

ตอนนี้ก็คือ ปรับตัวอีกครั้ง หลายครั้งรู้สึกงี่เง่ามากๆ ที่เหมือนกับต้องมาเริ่มต้นฝึกสติใหม่ มาพัฒนาความไวของสติให้รู้เท่าทันอารมณ์ (ไวกว่าหมาอารมณ์ร้อนที่พร้อมจะวิ่งกระโจนทันทีเมื่อประตูกรงเปิดออก) มาเริ่มเรียนรู้และยอมรับจิตใจตัวเอง แต่บอกตัวเองว่า การเริ่มต้นใหม่คือเคล็ดลับของนักปฏิบัติที่ดี จริงๆ ทุกวัน ทุกนาที ทุกวินาที เราก็เริ่มต้นใหม่อยู่เสมอ

หลายครั้งเราล้มเลิกความตั้งใจที่จะเริ่มต้นใหม่ด้วยเหตุผล (ที่ไร้เหตุผล) เพียงแค่ว่า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งที่เราทำ เราเคยพูดจาร้ายๆ กับคนอื่น ส่งหน้าบึ้งหน้าบูดให้เขาดูอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แล้ววันดีคืนดีจะมาส่งยิ้มให้เขาวันละสามเวลา พูดจาด้วยภาษาดอกไม้ได้อย่างไร เขาคงไม่เชื่อเราหรอก

แต่ความเป็นจริงที่หลายๆ คนอาจเคยเจอมาแล้วคือ คนอื่นเขาไม่ได้รู้สึกอย่างที่เราคิด (ไปเองคนเดียว) เมื่อมีคนทำดีกับเรา เราก็มักจะดีตอบโดยธรรมชาติ ใครๆ ก็อยากเห็นรอยยิ้มมากกว่าหน้าบูดๆ อยากได้ยินคำชื่นชมและคำแนะนำ มากกว่าคำต่อว่าก่นด่า ตำหนิติเตียน (ที่ไร้เหตุผล)

หากจะลองมองให้กว้างขึ้นสู่ระดับสังคม และลึกลงไปถึงระดับจิตสำนึก สิ่งที่ผู้เขียนพยายามทำอยู่นั้น คือ การรู้จักเคารพเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มีขันติต่อความแตกต่างที่ไม่ถูกใจเรา (ภาษาอังกฤษมักนิยมใช้คำว่า “tolerate” แต่โดยส่วนตัว รู้สึกว่าใกล้เคียงกับคำว่า “ทน” มากกว่า คำว่า “ขันติ” ซึ่งหมายถึง การยอมรับและอยู่ร่วมด้วยอย่างเป็นสุข) ซึ่งก็คือพื้นฐานของการที่เราจะสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลายอย่างสันติ-สุข สุขทั้งกายและใจ

สังคมไทยเคยเป็นสังคมที่เปี่ยมด้วยขันติธรรม (ตอนนี้เริ่มไม่แน่ใจว่ายังเป็นเช่นนั้นอยู่หรือไม่) ที่พูดอย่างนี้ได้เต็มปากเต็มคำเพราะผู้เขียนเคยเป็นคนที่ไร้ขันติอย่างมาก แต่เมื่อต้องกลับมาอยู่เมืองไทยก็พบว่าการมีขันติเป็นเสมือนกาวสังคมที่หล่อเลี้ยงให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข (จนฝรั่งต้องอิจฉา) เป็นสิ่งหนึ่งที่คนในสังคมได้สั่งสม เรียนรู้กันมา เป็นวัฒนธรรมไทยๆ ที่ต่างชาติไม่เคยเข้าใจ เราอยู่ได้กับทุกคน เรายอมรับทุกคน แม้บางคนเราจะไม่ชอบขี้หน้า แต่เราก็บอกว่า “ไม่เป็นไร” (“พอทนได้ ลืมเสียเถิด” ดังคำสอนของท่านชยสาโรภิกขุ)

สำหรับผู้เขียนแล้ว ขันติธรรม หรือ การที่เราจะสามารถน้อมใจยอมรับสิ่งที่ขัดกับตัวตนของเราได้นี้ เป็นเครื่องมือชั้นเลิศในการลับเหลี่ยมคนจำพวก “แพ้ไม่เป็น ผิดไม่ได้” อย่างผู้เขียน

เดี๋ยวนี้เวลาผู้เขียนไปไหนก็ระมัดระวังใจของตัวเองมากขึ้น พยายามมองจากมุมที่แตกต่างของคนอื่น และในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมว่าเขาก็มีความคิดความรู้สึก มีสุข มีทุกข์ ไม่ต่างจากเรา จากที่เคยเถียงอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อให้คนอื่นคิดอย่างเรา ก็เปลี่ยนมานิ่งเฉยบ้าง ยิ้มบ้าง จากที่เคยไม่พอใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องเจอเวลาอยู่กับคนหมู่มาก ก็ปรับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า มันซีเรียสขนาดนั้นเชียวหรือ เวลาเจอพฤติกรรมของลูกน้องที่ไม่ถูกใจก็จะถามตัวเองก่อนว่า เราเองก็เคยทำอย่างนั้นไม่ใช่หรือ

ในบางครั้งที่ห้ามไม่ทัน คุมไม่อยู่ ระเบิดอารมณ์ออกไปอย่างไม่ละอายแก่ใจ ก็จะสูดหายใจเข้าช้าๆ ผ่อนหายใจออกยาวๆ บอกกับตัวเองว่า “ไม่เป็นไร พอทนได้ ลืมเสียเถิด” แล้วค่อยเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง



โดย สุนทรี กุลนานันท์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๒

ข้าพเจ้าเพิ่งปิดคอร์สการเรียนรู้ใน “วิชาพ่อแม่กับการดูแลวิถีพุทธเพื่อจิตประภัสสร” ในการเรียนรู้ระดับปริญญาโทของสาวิกาสิกขาลัย ที่เสถียรธรรมสถานจัดขึ้น สาระหลักของคอร์สนี้คือ เราทุกคนไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือไม่ ล้วนได้รับเกียรติสำคัญในการเป็นสิ่งแวดล้อมที่สร้างเด็กให้แก่โลกไปแล้ว ในฐานะลุง ป้า น้า อา หรืออาจเป็นญาติผู้ใหญ่ขนาดปู่ ย่า ตา ยาย และสิ่งที่พึงเรียนรู้คือ เราในวันนี้ยังมีจิตใต้สำนึกที่ฝังมาตั้งแต่วัยเด็ก เป็นทัศนคติต่อชีวิตและความเคยชินที่จะตีความสิ่งต่างๆ อย่างมีอคติว่า “ถ้าเป็นฉัน ฉันจะ ...” เหมือนเชื้อไวรัสที่อยู่ในตัวเรา ซึ่งพร้อมถ่ายทอดให้เด็กคนใดก็ตามที่เข้าใกล้เราอย่างไม่รู้ตัว

ในช่วงเวลาเดียวกัน ลูกสาวอายุ 6 ขวบครึ่งของข้าพเจ้าก็ต้องอำลาวันเวลาในวัยอนุบาล เธอได้สมุดเล่มใหญ่ที่คุณครูรวบรวมภาพวาดเมื่ออยู่ชั้นอนุบาล 3 ซึ่งหนาราว 100 หน้าพร้อมลงวันที่ทุกภาพมาด้วย เธอเสนอว่า “หนูจะเล่าให้คุณแม่ฟังว่าหนูวาดรูปอะไรบ้าง”

“คุณแม่ดูหมดแล้วจ้ะ” ข้าพเจ้าตอบ เพราะได้ดูเสร็จก่อนนั้นและคิดว่า สีสันช่างมีความสุข เส้นสายมั่นใจสุดๆ แต่เวลา 1 ปีนี่ไม่มีอะไรใหม่ วาดซ้ำแต่บ้าน ภูเขา ต้นไม้ ดอกไม้ ม้า นก ผีเสื้อ ผู้หญิง ผู้ชาย หรือไม่ค่อยตั้งใจวาดนะ (เพราะเชื่อว่าจินตนาการน่ะ เธอมีท่วมท้น)

“คุณแม่ไม่รู้หรอกว่าหนูวาดรูปอะไร” ว่าแล้วเธอก็นำเสนอด้วยความภาคภูมิใจ นานเป็นชั่วโมงกว่าจะจบ

ข้าพเจ้าเพิ่งตาสว่าง สิ่งที่เหมือนกันในสายตาของข้าพเจ้านั้นแตกต่างกันทุกสิ่งในสายตาเธอ โดยเฉพาะม้าที่มีเกือบทุกภาพ ... บางวันม้ากำลังก้มไปดมดอกไม้ บางวันม้ากำลังคุยกัน บางวันม้ากำลังเล็มหญ้า และบางวันม้าลากรถพาเธอไปในป่า ... โถ! ข้าพเจ้าเกือบพลาดอะไรไปนี่ถ้าไม่ได้เปิดใจรับฟัง เพราะสิ่งที่ตาเห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริง ก็ตาของผู้ใหญ่อย่างเราช่างตีความอย่างรวดเร็วตามความเคยชิน “100 หน้าไม่มีอะไรใหม่” มันสะท้อนนิสัยของข้าพเจ้าที่เบื่อง่ายและชอบความแปลกใหม่อยู่เสมอ

สมุดภาพเล่มใหญ่นี้ คือสมุดบันทึกประจำวันของวัยอนุบาลที่รวบรวมเรื่องราวทุกวันที่กลั่นออกมาจากโลกในจินตนาการของเธอ น่าเสียดายที่มันจะเหือดหายไปเมื่อเธอเริ่มมองโลกแบบผู้ใหญ่ เห็นอะไรเป็นสมมติบัญญัติไปหมด ... บ้าน คน ต้นไม้ สัตว์ สิ่งของ ล้วนมีคำจำกัดความที่คับแคบ ต่างจากวันวัยที่ผ่านมาซึ่งเธอเป็นมนุษย์ที่เรียนรู้โลกตามที่โลกเป็น ด้วยทุกสัมผัสที่เธอมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย และโดยเฉพาะใจ เธอรับรู้อย่างตรงไปตรงมาถึงความสุขที่รายรอบอย่างง่ายๆ และนั่นคือสิ่งที่ผู้ใหญ่อย่างเราสูญเสียไป จนวันหนึ่งจึงรู้สึกว่าชีวิตช่างแห้งแล้งเสียจริง และใช้ชีวิตอยู่กับการเอาถูกเอาผิดกับสิ่งที่เป็นสมมติบัญญัติทั้งสิ้น

เมื่อตอนตั้งครรภ์ ข้าพเจ้าก็มีสมุดบันทึกเล่มหนึ่งไว้คุยกับลูกเมื่อเกิดเรื่องราวที่เป็นบทเรียนประจำวันในช่วง 9 เดือนที่ “เราใช้ลมหายใจเดียวกัน” หน้าหนึ่งในนั้นเล่าถึงคำอธิษฐาน 3 ข้อว่า “ขอให้ลูกเป็นเด็กที่ช่วยเหลือตนเองได้ ช่วยเหลือผู้อื่นได้ และเป็นที่รักของทุกๆ คน” เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่า 3 สิ่งนี้จะทำให้ลูกรอดได้ทั้งกายและใจไม่ว่าจะมีแม่หรือไม่

ข้าพเจ้าลงทุนต่างๆ นานาสร้างเหตุปัจจัยที่คาดว่าจะทำให้เกิดผลนั้น ลองผิดลองถูก และเป็นนักเรียนใหม่อีกครั้งในวิชาชีวิตที่ไม่ได้มีตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลกเช่นที่ผ่านมา ซึ่งสารภาพอีกครั้งว่าสอบตกบ่อยๆ แต่ก็ต้องสอบซ่อมเพราะเป็นวิชาที่ลาออกไม่ได้

“บ้านเรียนแห่งรักและศานติ” เป็นสถานที่ที่ข้าพเจ้าวางใจให้ลูกได้ใช้ชีวิต 4 ปี ด้วยเหตุผลเดียวคือหากลูกต้องห่างจากบ้านและกอดของแม่ ขอให้ลูกไปอยู่ในที่ที่มีความปลอดภัยเหมือนบ้านและมีครูที่ดูแลลูกด้วยความเมตตาเหมือนแม่ ผ่านไป 4 ปี ลูกไม่มีผลงานเป็นสมุดการบ้านที่บ่งบอกว่าจะไปสอบแข่งขันกับใครเขาได้ แต่ลูกสอบผ่านวิชาชีวิตแล้ว 2 ข้อคือ ลูกเป็นเด็กที่ช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นได้ เพราะลูกได้พื้นฐานนิสัยและทัศนคติในการมองโลกว่า หากต้องการสิ่งใดต้องลงมือทำโดยไม่เรียกร้องให้ใครบริการ แต่หากลูกทำสิ่งใดให้ใครได้ นั่นเป็นความสุขและความภูมิใจ

แต่ข้อ 3 นี่สิที่ข้าพเจ้าหนักใจ เพราะลูกไม่ใช่เด็กน่ารัก หากเอามาตรฐานของผู้ใหญ่ไทยทั่วๆ ไปเป็นตัวตั้ง เด็กน่ารักตามมาตรฐานสังคมไทยเป็นอย่างไร ก. ว่านอนสอนง่าย ข. สุภาพอ่อนโยน ค. ยิ้มแย้มแจ่มใส ง. ถูกทุกข้อ ... ไม่ใช่ ลูกจะไม่เป็นอย่างนั้นเลย แต่ลูกจะเป็นในเวลาที่ลูกมีความสุขที่จะเป็น และจะไม่เป็นในเวลาที่ลูกใส่ใจกับสิ่งอื่นมากกว่า เช่น ลูกจะไม่ว่านอนสอนง่ายหากกำลังสงสัยว่า “ทำไม” ไม่สุภาพอ่อนโยนหากกำลัง “คึก หิว ง่วง เหนื่อย” ไม่ยิ้มแย้มแจ่มใสหากกำลัง “มุ่งมั่นทำอะไร” แล้วอะไรล่ะจะทำให้ลูกเป็นที่รักของทุกๆ คนได้

แล้วข้าพเจ้าก็ได้รับคำตอบเมื่อวันที่ลูกครบ 6 ขวบ ลูกเริ่มทำอะไรหลายอย่างที่ก้าวข้ามความเคยชินเดิมๆ ลูกอดทนมากขึ้น เสียสละมากขึ้น ทำสิ่งที่ท้าทายมากขึ้น ... เริ่มจากการขอมาสวดมนต์ count down ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กับแม่ท่ามกลางผู้ใหญ่หลายร้อยคน พอเช้าแรกของปี 2552 ลูกก็ไปออกแรงนวดดินสร้างบ้านกับผู้ใหญ่ และเป็นคนถือสายยางคอยล้างมือล้างเท้าให้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ลูกรักสวยรักงามเป็นที่สุด ไม่ชอบการเหน็ดเหนื่อยและเลอะเทอะ ต่อมาลูกก็ชวนว่าเรามาทำขนมไปขายหาเงินทำบุญกัน และเมื่อลูกได้รางวัลเป็น “ดาวเด็กดี” ลูกใช้ดาวดวงแรกนำไปแลกซื้อข้าวซื้อน้ำให้พ่อแม่ ลูกติดใจคุณลุงใจดีที่ร้านขนมแถวบ้าน ถึงกับไปอาสาเสิร์ฟอาหารและเก็บโต๊ะให้

“เมล็ดพันธุ์จิตอาสา” ได้งอกงามขึ้นแล้ว และใช้เวลาถึง 6 ปีที่ลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่บ่มเพาะให้ลูกเห็นตัวอย่างการใช้ชีวิตที่เกื้อกูล และไม่อยู่ในสมมติบัญญัติที่คับแคบว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” และผลก็คือ ทุกคนชื่นชมลูก และชมว่าลูก “น่ารัก”

ข้าพเจ้าจึงเรียนรู้ว่า การเป็นที่รักของทุกๆ คนมีหลายเส้นทาง อาจไม่ได้มาด้วยการทำตัวให้น่ารักตามที่ใครคาดหวัง แต่ในทุกสิ่งที่ลูกทำอย่างมีความสุขและทำให้คนรอบข้างมีความสุขนั้นทำให้ลูกเป็นที่รักและนี่เป็นเคล็ดลับในชีวิตที่ลูกได้เรียนรู้แล้วเมื่ออายุ 6 ขวบ เป็นบทเรียนที่ข้าพเจ้าต้องบันทึกไว้เมื่อ “เราใช้ลมหายใจใกล้กัน”

เมื่อเราเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญหรือที่เรียกว่ากระบวนการของจิตตปัญญาศึกษานั้น ห้องเรียนอยู่ทุกที่ในโลก บทเรียนอยู่ทุกวันในชีวิต และครูอาจเป็นเด็กตัวเล็กๆ ที่เปิดหัวใจของเราให้ “กลับมามีความสุขอย่างง่ายๆ และเห็นโลกอย่างที่โลกเป็น”



โดย มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๒


หลังจากจบการสัมมนาเรื่องการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรของกระทรวงศึกษาธิการที่พัทยา ผู้เขียนถือโอกาส “พักกายพักใจ” ต่อ ไหนๆ ก็มาถึงแหล่งแล้ว ใกล้ทั้งพระอาจารย์ ใกล้ทั้งแหล่งกีฬาทางน้ำที่โปรดปราน ถือเป็นการชาร์จแบตเตอรี่กายใจที่ถูกใช้งานไปในการทำงานที่ผ่านมา

ผู้เขียนตรงไปยังชายหาดประจำที่เล่นวินด์เซิร์ฟทันทีที่เสร็จงาน อันที่จริงก็เล่นไม่ค่อยจะได้เรื่องอะไรหรอกค่ะ เพียงแค่ได้สัมผัสกับธรรมชาติ ท้องทะเล สายลม แสงแดด ผืนทราย แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว เป็นการได้เติมพลังอย่างง่าย การพักผ่อนที่คนนิยมกันทั่วไปช่วยให้เราผ่อนคลายได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อได้สัมผัสกับธรรมชาติ ยิ่งเราเสริมการ “รู้กายรู้ใจ” ควบคู่ไป ยิ่งทำให้เราเติมพลังให้กับจิตวิญญาณได้ด้วย

ยืนตรงบนบอร์ด เลี้ยงตัวให้อยู่กับคลื่น มือทั้งสองจับบูมหรือก้านใบวินด์เซิร์ฟให้พอดี แค่นั้นเรือก็วิ่งฉิวตีลมกระทบคลื่นน้ำทะเลเป็นระลอก กีฬาที่ไม่ซับซ้อนเช่นนี้ ผู้เขียนพอจะใช้เป็น “เครื่องอยู่” สำหรับจิตได้ ความเปลี่ยนแปลงของคลื่น ลม เสียง การกลับลำเรือ ฯลฯ เป็นปัจจัยที่เข้ามาทำให้กายและใจ “จำเป็นต้องพร้อม” และตื่นโดยอัตโนมัติ เผลอใจลอยเกินไปคลื่นมาแล้วร่างกายไม่ขยับปรับตามก็ตกน้ำได้

เล่นฉิวกินลม ชอบใจ ... เพียงรู้

ยืนหลังเกร็งแขนเกร็ง ... เพียงรู้

กายก็คลาย ยืนสมดุลไม่ดีตกน้ำ ตกใจ ... เพียงรู้

การเล่นวินด์เซิร์ฟจึงกลายเป็นการวิปัสสนาภาวนาไปได้เหมือนกัน

อันที่จริงเราสามารถภาวนาได้ในทุกกิจกรรม เพียงแต่บางกิจกรรมง่ายต่อการภาวนา บางกิจกรรมทำได้ยาก เนื่องจากสภาวะไม่เอื้ออำนวย มีปัจจัยกระทบโสตสัมผัสต่างๆ มากไป ดูได้ยาก ครูบาอาจารย์เคยสอนว่าถ้าอยากเดินทางสายปฏิบัติให้ได้ผลจริงควรภาวนาให้ต่อเนื่อง ไม่แบ่งแยกว่าเวลานี้ปฏิบัติ เวลานี้ใช้ชีวิตอย่างเดียว ควรปฏิบัติไปให้ได้ต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน ผู้เขียนเองก็เคยทำแยกส่วนเช่นนั้น ทำงานใช้ชีวิตหมกมุ่นหลายเดือนจึงจะไปปฏิบัติธรรม ๑๐ วัน ออกมาชื่นมื่นสักพักก็กลับไปคล้ายเดิม ตอนนั้นเข้าใจว่าเราอาจจะทำน้อยไป เพิ่มเป็นเข้าวัดปฏิบัติกรรมฐานครั้งละ ๑ เดือนแทน ออกมาไม่ให้ทิ้งช่วงนานไปก็เข้าแบบ ๑๐ วันอีก เข้าออกซ้ำไปมาอย่างนี้หลายเที่ยว ดูเหมือนจะพัฒนาขึ้น คือเก็บอารมณ์ได้เนี้ยบมาก คนรอบข้างไม่เห็นความโกรธ ไม่เห็นอาการลิงโลดของเรา ดูนิ่งน่าศรัทธา แต่ในที่สุดก็ทราบว่าที่แท้เรา “ติดเพ่ง” หรือกดทับอารมณ์ความรู้สึก ... จนชำนาญ นิ่งเกินไปจนไม่เห็นการเคลื่อนไหวของจิตใจซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในวิปัสสนาภาวนา

ทำไมเป็นเช่นนั้น ผู้เขียนเข้าใจว่าช่วงที่เข้าเงียบปฏิบัติหนักแต่ละช่วงนั้น จะเอาจริงเอาจังมาก กายและใจถูกบีบคั้นกดแน่น เพ่งเกินไป มุ่งมั่นเกินไป แทนที่จะปล่อยให้เรียนรู้กายใจอย่างเป็นธรรมชาติ นั่นก็เพราะรู้สึกว่าต้องรีบทำเดี๋ยวกลับไปในชีวิตประจำวันจะไม่ได้ “ทำ” อีกแล้ว

ครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติขั้นสูงทั้งหลายสอนไปในแนวทางเดียวกันคือควรจะภาวนาในชีวิตประจำวันเลย หรือทำทุกวัน ไม่ใช่เข้มมากบางช่วง หลวมไปเลยบางช่วง ผู้เขียนเรียกเล่นๆ ว่า “ภาวนาอินแอคชั่น” (Bhavana in Action) ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็น วิปัสสนาภาวนา หรือรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงจนเข้าใจธรรมชาติไตรลักษณ์ที่แท้ และบางครั้งก็จะเป็นสมถะภาวนา หรือการทำใจให้สงบระงับ

ตื่นนอนก็เริ่มรู้กายรู้ใจ ล้างหน้า แปรงฟัน รับประทานอาหาร ประชุม สอนหนังสือ ฮากับเพื่อน คุยกับที่บ้าน ฯลฯ จนกระทั่งเข้านอน แน่นอนว่าบางกิจกรรมเรารู้กายรู้ใจได้ลำบาก หรือถ้ามัวแต่ไปรู้อาจทำกิจกรรมนั้นได้ยาก เช่น การคิดงาน ผู้เขียนเคยถูกให้แปลภาษาต่างประเทศสด ขณะฟังเพื่อเก็บข้อมูล เกิดไปดูใจตัวเองที่กำลังคิดเนื้อหา “ลืมหมดเลย” ค่ะ จิตของเราทำหน้าที่ทีละหนึ่งอย่าง เมื่อจิตมีสติแท้ขึ้นมา ทันและแรงมากพอ จิตดวงอื่นก็ดับไป เช่น เวลาเราขุ่นเคืองใจแล้วเรามีสติรู้ความเคืองนั้น ความเคืองนั้นก็จะดับไป การคิดก็เช่นกัน ดังนั้นเวลาคิดงานครูบาอาจารย์จึงสอนให้อย่าเพิ่งไปดูใจตอนนั้น ค่อยไปเริ่มดูตอนเกิดกิเลสต่างๆ ดีกว่า เช่น ตอนโกรธขึ้นมา ตอนอยากขึ้นมา หรือดูกายไปเวลาเคลื่อนไหวระหว่างคิดเสร็จแต่ละช่วง

งานหลักของผู้เขียนคือการสอนและการประชุม ขณะยืนพูดหน้าห้อง เราก็ปล่อยให้คิดไปพูดไปไม่ต้องไปดูใจ ช่วงฝึกดูจิตใหม่ๆ เกิดไปดูใจตอนคิดจะพูด ความคิดก็หายไปเสียอย่างนั้นเอง ต้องหันไปถามผู้เข้าสัมมนาว่า “เมื่อกี้อาจารย์พูดถึงไหนนะคะ” ตอนนี้ผู้เขียนจึงเปลี่ยนไปดูกายดูใจหรือวิปัสสนาภาวนาในช่วงที่เดินดูผู้เข้าร่วมสัมมนาทำกลุ่มหรือทำกิจกรรมต่างๆ ในห้องสัมมนาแทน ไม่ดูตอนที่กำลังให้เนื้อหา ถือเป็นการเดินจงกรมไปในห้องสัมมนานั้นเลย

ตอนประชุมก็ทำได้ ปัจจัยกระทบไม่มากด้วย เพราะเรานั่งอยู่กับที่ไม่ได้เคลื่อนไปไหน มีแต่เนื้อหาอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบโสตกระทบจิตใจได้เท่านั้น เราก็เพียงแต่ตั้งรับดูบ้าง คิดบ้าง พักบ้าง “พัก” ในที่นี้คือทำสมถะภาวนาบ้าง เช่น เคาะนิ้วเป็นจังหวะซ้ำๆ เอาลูกประจำข้อมือมาจับเล่นบ้าง ดูกายที่เอื้อมมือไปจับแก้วน้ำ ยกแก้วน้ำ จิบน้ำ กลืนน้ำ ความรู้สึกที่น้ำผ่านลำคอลงไป รู้ท้องพองยุบบ้าง แล้วแต่อะไรชัด บางครั้งก็เป็นสมถะหรือทำให้จิตสงบนิ่ง บางครั้งก็พลิกเป็นวิปัสสนารู้กายรู้ใจ

ถึงแม้เราจะภาวนาในชีวิตประจำวันเรื่อยๆ บางครั้งเราก็แรงตกจากการผ่านสิ่งกระทบมากมาย หรือวิปัสสนาภาวนาจนล้าไม่ได้พัก หรือดูไม่ทันจนกิเลสเติบโตออกฤทธิ์ เวลาอ่อนแรงแบบนี้เราต้องการการ “ชาร์จแบตฯ” หรือเติมพลังจากการภาวนาในรูปแบบบ้าง เช่น การสวดมนต์ เดินจงกรม ซึ่งบางคนทนไม่ได้หรือเบื่อกับกิจกรรมแบบนี้ บางคนบอกว่ารู้นะว่าภาวนาแล้วจะมีความสุขแต่ไม่รู้เป็นอย่างไร ทำอะไรทำนองนี้ไม่ได้ มันร้อน

ผู้เขียนชอบทดลองหากิจกรรมต่างๆ เผื่อจะพอใช้เป็นเครื่องอยู่ได้ เช่น การออกกำลังกาย การเล่นดนตรี ศิลปะ เนื่องจากชีวิตส่วนใหญ่ของผู้เขียนอยู่กับการใช้หัวคิด จึงเสาะหากิจกรรมที่ใช้กายหรือความรู้สึกมากมาทำให้ตัวเองสมดุล โดยเทคนิคที่จะทำให้กิจกรรมธรรมดาเหล่านี้เป็นการภาวนาได้ ตามความเข้าใจของผู้เขียนวันนี้น่าจะอยู่ที่ “การทำซ้ำ” กิจกรรมที่ไม่วุ่นวาย ไม่ซับซ้อน จะได้ไม่ต้องคิดมาก แต่ทำอะไรซ้ำๆ เป็นเครื่องอยู่ของจิตใจ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นมาก็ดูไป เช่น การเดิน การวิ่งจ๊อกกิ้ง การวิ่งบนเครื่องสายพาน การยกน้ำหนัก การว่ายน้ำ รำมวยจีน ศิลปะป้องกันตัวต่างๆ หรือตัวอย่างการเล่นวินด์เซิร์ฟข้างต้น เราก็จะได้ทั้งพลังกายและจิตที่แข็งแรงขึ้น

สำหรับการเล่นดนตรี ผู้เขียนชอบกลองเป็นพิเศษ เนื่องจากไม่มีทำนองสูงต่ำมากมายจนเราหลงเคลิ้มไปกับเสียงเพลงแล้วปรุงต่อเป็นเรื่องเป็นราว การตีกลองมีการ “ทำซ้ำ” ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกลองชุดวงสตริง กลองพื้นบ้านประเทศต่าง หรือเครื่องเคาะ อันที่จริงบางท่านคงเคยเห็นวัดจีนที่มีการเคาะไปสวดไปเป็นจังหวะ คาดว่าใช้ในจุดประสงค์คล้ายกัน

วันก่อนผู้เขียนเล่นกลองแอฟริกัน ใช้ทั้งสองมือตีลงไปบนกลอง มีสามเสียง จังหวะง่ายๆ เราก็พอจะใช้หัวคิดได้ “ตีมือนี้ตรงนี้ก่อนแล้วไปมือนั้นตรงนั้น ...” แต่พอจังหวะซับซ้อนขึ้น “คิดไม่ทัน” หรืออีกนัยหนึ่ง “ตีได้โดยไม่คิด” ถ้าพยายามคิดว่าตีส่วนไหนก่อนมือไหนก่อน จะกลายเป็นตีไม่ได้ แค่ฟังดูหรือซึมซับจังหวะกลองที่เขาตีนำ แล้วตีตามเลย เห็นชัดเลยว่า ร่างกายทำงานได้แม้เราไม่คิด พอผู้เขียนลองคิดดูขณะตีว่ามือไหนก่อนหลังนะ ตีรวนขึ้นมาเชียว

กิจกรรมสำหรับการภาวนาคงสามารถสร้างสรรค์กันเองได้อีกมาก โดยหลักการ “ทำซ้ำ” บนพื้นฐานการไม่ผิดศีลหรือไม่ทำร้ายตนเองและผู้อื่น และในกรอบการเข้าใจหลักการภาวนาแล้ว เราสามารถเลือกที่ถูกจริตกับตัวเรา เสริมความสมดุลหัว-กาย-ใจของเรา ช่วยให้เราเติมพลังและกลับมาเรียนรู้ดูกายดูใจในชีวิตประจำวันได้อีก ขอให้ทุกท่านสนุกกับการภาวนาในหนทางของท่าน ค้นพบอะไรอีเมลมาแลกเปลี่ยนกันนะคะ (michita@yahoo.com)



โดย อดิศร จันทรสุข
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๒

ผมมีเรื่องจะสารภาพ...

ช่วงระยะที่ผ่านมา ผมมักใช้เวลาขลุกอยู่กับการศึกษาค้นคว้าทฤษฎีและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) มากเป็นพิเศษ นอกจากเพราะเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ต้องทำแล้ว ผมยังพบว่าตัวเองรู้สึก “ถูกตา-ต้องใจ” กับแนวคิดนี้มาก โดยเฉพาะในแง่มุมของการเปิดพื้นที่ให้เราได้สำรวจใคร่ครวญกรอบการมองโลกที่ชี้นำการดำเนินชีวิตของเราทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ตั้งแต่เรื่องการตัดสินใจในหน้าที่การงาน ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การซื้อแปรงสีฟัน หรือการเลือกใส่เสื้อผ้ามาทำงาน

บ่อยครั้งที่เราพบว่า ปัญหาตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงปัจเจกบุคคลนั้นมีที่มาจากคนแต่ละคนต่างก็ยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อของตนเอง จนลืมไปว่าคนอื่นๆ ย่อมมีวิถีการมองโลกและชีวิตที่แตกต่างกันออกไปตามประสบการณ์ชีวิตและรากฐานทางสังคมวัฒนธรรมซึ่งไม่เหมือนกัน การประเมินตัดสินว่าใครถูกหรือผิดจึงเป็นสิ่งที่พึงระวัง เพราะนั่นเท่ากับเรากำลังใช้กรอบการมองโลกของเราเป็นบรรทัดฐานประเมินวัดกรอบการมองโลกของผู้อื่นอยู่

หลายครั้งที่ผมมีโอกาสได้นำเสนอแนวคิดนี้กับที่ประชุมทางวิชาการ โดยเฉพาะกับอาจารย์ผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัย หลายคนส่งสัญญาณแสดงความเข้าใจและตอบรับกับการนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ในชั้นเรียนของตนเอง ในขณะที่บางคนยังไม่แน่ใจว่าตนเองเข้าใจแนวคิดนี้ดีพอ โดยเฉพาะในแง่ที่ว่า จะสอนนิสิตนักศึกษาอย่างไรโดยไม่ประเมินตัดสิน และอีกไม่น้อยที่ปฏิเสธแนวคิดนี้ด้วยเหตุผลสั้นๆ ง่ายๆ ว่า มันเป็นไปไม่ได้!

ผมมักจะให้กำลังใจอาจารย์ที่สนใจในแนวคิดนี้ให้ทดลองออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียนบนฐานของการเปิดกว้าง ยืดหยุ่น และการยอมรับความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียน ถึงแม้ในช่วงแรกผู้สอนอาจจะต้องเผชิญความยากลำบาก เนื่องจากไม่มีสูตรสำเร็จในการสอนหรือการประเมินผลให้ยึดถือเป็นแบบอย่าง รวมทั้งยังถูกเรียกร้องและท้าทายให้ต้องเปิดใจในกระบวนการเรียนรู้ ด้วยการร่วมสำรวจความคิดความรู้สึกของตนไปพร้อมๆ กับผู้เรียนในประเด็นต่างๆ (ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชา) โดยเฉพาะในแง่ความเหมือนและความต่างในทางความคิด ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นถึงกรอบการมองโลกและชีวิตของแต่ละปัจเจกบุคคล การเรียนการสอนตามแนวคิดนี้ไม่ได้หมายความว่า ผู้สอนจะต้อง “ยอมรับ” ในทุกความคิดของผู้เรียนโดยปราศจากเงื่อนไข แต่ “การรับฟัง” ต่างหากที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกไว้วางใจที่จะสำรวจโลกทัศน์ มุมมอง ความเชื่อของตนเอง จนอาจจะนำไปสู่การเปิดกว้างยอมรับในความคิดเห็นของผู้อื่น เพื่อนำไปสู่การดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

น่าดีใจที่ในปัจจุบัน สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งเริ่มพยายามจะนำแนวคิดและการปฏิบัติในกระบวนทัศน์แบบองค์รวม ไม่ว่าจะเป็น จิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) หรือการศึกษาที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ (Humanized Educare) เข้ามาประยุกต์ใช้กับการจัดการเรียนการสอนในสถาบันของตนเอง สถาบันหลายแห่งมุ่งหวังจะพัฒนานิสิตนักศึกษาของตนให้กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต และใส่ใจต่อความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง รวมทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัว คณาจารย์และผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาหลายคนคาดหวังว่า นี่คงจะเป็นคำตอบหรือทางออกของวิกฤตในสังคมไทยซึ่งยังคงจมวนอยู่กับการคาดเดาอนาคตที่พร่ามัวและเลือนราง

อย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อมั่นอยู่ว่า แนวคิดและการปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษาไม่ควรจะถูกมองในลักษณะแยกส่วนกับชีวิตของผู้สอนและผู้เรียน ขอสารภาพว่าผมรู้สึกเป็นห่วงเมื่อเห็นการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของโครงการต่างๆ เป็นจำนวนมากในรั้วสถาบันเพื่อพยายามผลักดันให้แนวคิดดีๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นเป็นจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม ฟังดูเผินๆ นับเป็นเรื่องที่น่าพึงพอใจ แต่คำถามที่ผมมักจะได้ยินจากคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกับคนนอกวงวิชาการก็คือ “เราจะเปลี่ยนนิสิตนักศึกษาได้อย่างไร ถ้าตัวอาจารย์และผู้บริหารสถาบันยังไม่ยอมเปลี่ยน?”

เราอาจจะบอกคนอื่นได้ว่าเราเป็นคนอย่างไร เชื่อหรือคิดอะไร แต่สิ่งที่เราปฏิบัติกับคนรอบตัวเราต่างหากที่พูดดังกว่า อาจารย์และผู้บริหารสถาบันก็เช่นกัน เราสามารถสอนนิสิตนักศึกษาหรือบอกกล่าวกับเพื่อนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาของเราด้วยชุดความรู้หรือหลักศีลธรรมต่างๆ มากมาย แต่สิ่งที่จะพิสูจน์ให้พวกเขาเหล่านั้นได้ประจักษ์ชัดอย่างแท้จริงก็คือ ความสอดคล้องระหว่างสิ่งที่เราพูดหรือสอน กับสิ่งที่เรากระทำหรือปฏิบัติในชีวิตประจำวันต่างหาก

แนวคิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เป็นเพียงแค่ปรัชญาความเชื่อที่มีไว้สำหรับถกเถียง หรือท่องจำ แต่หมายถึงการปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน ในทุกช่วงขณะของการดำรงชีวิต

ล่าสุดนี้ ผมได้สนทนาพูดคุยกับอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง ซึ่งพยายามจะโต้แย้งว่า แนวคิดนี้นอกจากจะทำให้เส้นแบ่งความหมายของ “ความดี” และ “ความชั่ว” เลือนรางแล้ว ยังอาจทำให้สังคมเต็มไปด้วยการโต้เถียงไม่รู้จบ เพราะทุกคนต่างก็อ้างว่ากรอบการมองโลกของตนมีคุณค่าและควรได้รับการยอมรับเช่นคนอื่นๆ

ผมพบว่าตนเองใช้ความพยายามอย่างสูงในการอธิบายให้อาจารย์ผู้นั้นฟังว่า แนวคิดนี้ไม่ได้ให้คุณค่าความชั่วเท่ากับความดี และไม่ได้สนับสนุนการโต้เถียงบนฐานการยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อของตน ตรงกันข้าม แนวคิดนี้ พยายามบอกให้เรา “รับฟัง” กันและกันให้มากยิ่งขึ้น ฟังอย่างลึกซึ้งทั้งเสียงภายในตัวเองและเสียงของผู้อื่น เพราะการรับฟังอย่างแท้จริงนี้เองที่จะนำไปสู่ความเข้าใจและการให้เกียรติระหว่างกันและกัน ผมพยายามอธิบายเรื่องดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เขาก็ดูไม่มีทีท่าจะเข้าใจ หรือรับฟังแต่ประการใด ในที่สุด ผมก็หมดความอดทนและยอมแพ้ถอยทัพกลับออกมา

เมื่อมองกลับไปอีกครั้ง ผมก็รู้สึกละอายใจตัวเองยิ่งนัก ผมไม่ได้ละอายที่ไม่สามารถทำให้เขาเข้าใจได้ว่า แนวคิดดังกล่าวมีข้อดีหรือคุณประโยชน์อย่างไร แต่ผมกลับรู้สึกละอายที่ตัวเองลืมที่จะ “รับฟัง” เขาอย่างแท้จริง ผมยังคงยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อของตนเอง และพยายามทำให้เขาเชื่ออย่างที่ผมเชื่อ ถ้าหากผมรับฟังให้มากกว่านั้น บางทีผมอาจจะได้ยินอะไรๆ ที่อยู่ภายในใจของเขามากกว่าเสียงของตนเองก็เป็นได้ นี่คือตัวอย่างอันดีของความล้มเหลวในการนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติจริง

ผมยอมรับกับตัวเองโดยดุษณีว่า สอบตกจากการปิดใจ หลงเชื่อว่าความคิดของตัวเองนั้นดีที่สุด

ใช่แล้ว ... ผมยังอยู่ห่างจากการใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองพูด ผมยังไม่สามารถทำให้เรื่องที่เรียนรู้ภายใน สะท้อนเป็นตัวตนของผมที่ปรากฏอยู่ภายนอกได้อย่างสมบูรณ์

นี่เองที่น่าจะเป็นแบบประเมินสำหรับการเรียนรู้ที่คู่ขนานกับการดำรงชีวิตอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องรอคอยให้ใครอื่นมาตัดสินตัวเรา




โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๒

บางทีพ่อแม่มักจะพูดเพลินๆ เผลอๆ เวลาลูกซนว่า “อยู่ไม่เป็นสุขเลยน่ะเรา” พอลูกจะนอนตื่นสายๆ สบายๆ ลูกก็อาจจะได้ยิน “ขี้เซาจังเลยน่ะ แล้วจะสู้เขาได้เหรอ” หรือ “เวลาหมดไปแล้วครึ่งค่อนวัน ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน” เสียงเหล่านี้ที่ลูกได้ยินมาตลอดในวัยเด็ก อาจจะยังคงทรงพลัง ขับดันขับเคลื่อนชีวิตเขาทั้งชีวิตให้เป็นไปตามเสียงของพ่อแม่ในวันนี้

เมื่อกาลเวลาผ่านไป แม้นจิตสำนึกของเราจะลืมเลือนถ้อยคำของพ่อแม่ไปแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราอาจจะทำงานอยู่อย่างสบายๆ ไม่สามารถรีบเร่ง แม้นสถานการณ์จะรัดตัวแค่ไหน หรือกระทั่งเหตุการณ์ในที่ทำงานเรียกร้องให้เราต้องริเริ่มความคิด ซุกซนค้นหาวิธีการใหม่ๆ แต่เราก็ยังทำตัว “อยู่ให้เป็นสุข” ไม่กล้าคิดนอกกรอบ เหมือนที่พ่อแม่เคยกำกับเรา

ในทางตรงกันข้าม เราก็อาจขยันขันแข็งตั้งหน้าตั้งตาทำงานอย่างไม่รู้จักพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อผลงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง เพราะว่ามีเสียงไล่อยู่ข้างหลังเราว่า “จะสู้เขาได้หรือ” ดังกังวานอยู่ในหูเราขับเคลื่อนเรา จนเราไม่รู้จักหยุดหย่อน

เสียงภายในตัวเราก็มักจะไปไม่ค่อยพ้นเสียงจากภายนอกของพ่อแม่ของเราอยู่ร่ำไปนั่นเอง

และด้วยเสียงภายนอกของพ่อแม่เราที่ฝังใจไว้ตั้งแต่ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่ทำให้เราเจ็บใจ เจ็บกายและอับอายให้รู้สึกตกต่ำ หรือเสียงที่ปลาบปลื้มชื่นชม เป็นลมพัดให้เราตัวลอย เสียงเหล่านั้นของผู้เป็นที่รักได้ประทับไว้ในใจ ในจิตไร้สำนึกของเรา และก็ดลบันดาลสร้างความชำนาญให้เรามองเห็นหรือสร้างพันธะกับใครต่อใครที่เราได้พบปะคล้อยตามกับเสียงที่เราเคยได้ยิน หรือจะต่อต้านกับเสียงเหล่านั้นก็ตาม

ต่อมาเมื่อเราเติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับเพื่อน ความสัมพันธ์กับนาย เพื่อนร่วมงาน และแม้นแต่คู่ชีวิต เรายังมองเห็นเขาเหล่านั้นราวกับว่าเขาหรือเธอผู้นั้นเป็นพ่อแม่ของเรา และเรายังเล่นบทหนูน้อยผู้เป็นเหยื่อบ้าง เป็นตัวร้ายบ้าง หรือเป็นตุ๊กตาที่น่ารัก และเชื่อฟังกับใครๆ ตามแบบแผนบทบาทของลูกน้อยที่มีต่อพ่อแม่ตัวโต บทบาทที่เราเคยเล่นจนเชี่ยวชาญตั้งแต่ในอดีตครั้งเยาว์วัย

แม้นเติบโตแล้ว บ่อยครั้งเราก็สวมความรู้สึกที่เป็น เหยื่อ (victim) ผู้ถูกกระทำหรือถูกรังแก หรือสวมความรู้สึกที่ต้องเป็นตัวร้าย (villain) ลุกขึ้นมาทวงถามทวงสิทธิที่เราพึงมีอย่างรุนแรง ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งอย่างรุนแรงหรือซึมลึกอยู่ในจิตใจเรา เมื่อเราสวมบทเหยื่อเรารู้สึกไร้กำลังวังชาที่จะขัดขืนหรือคัดค้านผู้คนที่เรียกร้องเราให้เป็นให้ทำสิ่งใดๆ เพื่อเขา และเมื่อเหยื่อไม่ยอมเป็นเหยื่อต่อไปเราก็ได้แต่สวมบทตัวร้ายที่ลงมือท้าทายทุกอย่างรวมทั้งความปรารถนาดีต่างๆ ของผู้คน เพื่อให้เราได้กลับมาเป็นตัวเราอีกครั้งแล้วครั้งเล่า

ตัวอย่างความรู้สึกสองขั้วเช่นนี้บ่อยครั้งเกิดขึ้นตามท่าทีและประสบการณ์ที่เรามีต่อผู้คน ราวกับว่าเขาเป็นพ่อแม่หรือญาติของเรา เรายังเป็นหนูน้อยผู้เป็นเหยื่อในสายตาของพ่อแม่ผู้ดุดัน และ/หรือ เราเป็นหนูน้อยเด็กดื้อเด็กเกเรผู้ต่อสู้คัดค้านพ่อแม่เผด็จการที่เอาแต่ใจตัวเองในสายตาของเรา

ไม่ว่าอายุตัวเราจะเพิ่มขึ้นมากเท่าใด บ่อยครั้งเรายังสัมพันธ์กับผู้คนเฉกเช่นเขาเป็นพ่อแม่เราในวัยเยาว์โดยที่เราไม่รู้ตัว

ในอีกกรณีหนึ่ง ยามที่เราพ่อแม่พาลูกออกนอกบ้าน ไปตามที่สาธารณะ หรือสังสรรค์กับเพื่อนของเราและแม้นแต่ในครอบครัวของเรา แล้วลูกออกนอกทาง ซน เล่น กล้ากระทำกล้าแสดงตามประสาเด็ก แล้ววูบหนึ่งเรากลัวว่า ใครต่อใครและสายตาของเขาจะตำหนิลูกของเราและตัวเรา บางครั้งเราอาจจะกระตุกลูกของเราไว้ “อย่าซนนักลูก” “อยู่เฉยๆ ได้ไหม” และหากลูกไม่ตอบสนองคำของเรา ในทางตรงกันข้าม กลับเล่นหนักและกล้าซนยิ่งขึ้น ทำให้สายตาใครต่อใครกวนใจเรายิ่งขึ้น เราคงพูดหรือทำอะไรเพื่อหยุดลูก และหากหยุดได้ในทันทีทันใดหรือไม่ก็ตาม ลูกเราหนูน้อยคนนั้นคงเริ่มกังขากับตัวเองแล้วว่า “ฉันพึงซน พึงกล้า เช่นที่ทำลงไปไหม” หรือจะอยู่เฉยๆ นิ่งๆ เป็น คุณหนู ผู้รอรับคำสั่งแสนจะเชื่อฟัง และเป็นเด็ก (ดู) ดีอยู่ในกรอบที่ใครต่อใครรอบตัววางไว้

แม้นคำถามนี้จะไม่ปรากฏในตรรกะของเขาด้วยวัยอันเยาว์ แต่เป็นคำถามที่สะท้อนอยู่ในร่างกายของเขาที่ไม่ปลอดภัยที่จะซนและกล้า และหากเขาพบคำตอบว่า “ไม่...ซนไปเดี๋ยวก็โดน เดี๋ยวพ่อแม่ไม่รัก เดี๋ยวใครใครไม่เล่นด้วย” แล้วละก็ หนูน้อยเริ่มได้ยินเสียงของคุณวิจารณ์เช่นที่ว่าเข้ามาในใจ และหากวันข้างหน้าหนูน้อยต้องอยู่ต่อหน้าผู้คนที่ต้องกล้าแสดงตน หรือซุกซนเพื่อค้นหาประสบการณ์ใหม่ๆ เสียงของคุณวิจารณ์บอกว่า “เดี๋ยวโดน เดี๋ยวโดน” จะถูกโยนเข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่าในใจ เข้ามาโยกคลอนความมั่นใจ ความกล้า ความพร้อมใดๆ ของหนูน้อยผู้นั้น จนกลายเป็นอาการประหม่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้นว่าวันนั้นหนูน้อยจะได้เติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วก็ตาม แต่เสียงทักวิจารณ์ของพ่อแม่ยังติดตามมาดูแลหนูอยู่อย่างแนบเนียนในร่างกายในจิตใจของหนูอยู่ร่ำไป

มิใช่เพียงแต่เสียงของพ่อแม่เท่านั้นที่เคยตัดสินพิพากษาหนู แล้วติดตามอย่างแนบเนียนเข้ามาในร่างกายในใจของหนู แต่รวมทั้งความเงียบของพ่อแม่อีกด้วย ซึ่งเป็นความเงียบที่เปี่ยมพลังของอาการพิพากษาตัดสินหนูเสียแล้ว เพียงแต่ไม่เปล่งวาจาออกไป ความเงียบที่แสดงความไม่พอใจ ตัดขาดเยื่อใยแม้นเพียงในขณะนั้นขณะเดียว หรือจะเป็นความเงียบแต่เพียงเสียง แต่ไม่สามารถเลี่ยงการแสดงออกทางสายตา และท่าทางที่ไม่พอใจ ไม่โอเค ไม่รับรองการกระทำของหนู แม้นจะขาดเสียง แต่ก็ทำให้หนูแทบขาดใจด้วยเจ็บใจ อับอาย และอาการเจ็บนั้นสั่นสะเทือนอยู่ในร่างกาย

ความทรงจำในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำที่เจ็บปวดหรือปลาบปลื้ม ต่างฝังลึกอยู่ในใจของเราทุกคนทุกวัย ความทรงจำเหล่านั้นสะท้อนออกมาในเสียงภายในของเรา ในเสียงของผู้คนรอบตัวเรา ในความขัดแย้งในชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า มิใช่เป็นเพียงชะตากรรมของเรา แต่เป็นเสียงร่ำร้องที่เราจะได้กลับไปเยียวยา บาดแผลจากความทรงจำนั้น ให้เราได้ดูแลตัวเราใจของเราอย่างลึกซึ้งอีกครั้ง เท่าที่ “เสียงภายใน” ของเรายังปรารถนาที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับตัวเรา ครั้งแล้วครั้งเล่า

Newer Posts Older Posts Home