โดย มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๒


หลังจากจบการสัมมนาเรื่องการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรของกระทรวงศึกษาธิการที่พัทยา ผู้เขียนถือโอกาส “พักกายพักใจ” ต่อ ไหนๆ ก็มาถึงแหล่งแล้ว ใกล้ทั้งพระอาจารย์ ใกล้ทั้งแหล่งกีฬาทางน้ำที่โปรดปราน ถือเป็นการชาร์จแบตเตอรี่กายใจที่ถูกใช้งานไปในการทำงานที่ผ่านมา

ผู้เขียนตรงไปยังชายหาดประจำที่เล่นวินด์เซิร์ฟทันทีที่เสร็จงาน อันที่จริงก็เล่นไม่ค่อยจะได้เรื่องอะไรหรอกค่ะ เพียงแค่ได้สัมผัสกับธรรมชาติ ท้องทะเล สายลม แสงแดด ผืนทราย แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว เป็นการได้เติมพลังอย่างง่าย การพักผ่อนที่คนนิยมกันทั่วไปช่วยให้เราผ่อนคลายได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อได้สัมผัสกับธรรมชาติ ยิ่งเราเสริมการ “รู้กายรู้ใจ” ควบคู่ไป ยิ่งทำให้เราเติมพลังให้กับจิตวิญญาณได้ด้วย

ยืนตรงบนบอร์ด เลี้ยงตัวให้อยู่กับคลื่น มือทั้งสองจับบูมหรือก้านใบวินด์เซิร์ฟให้พอดี แค่นั้นเรือก็วิ่งฉิวตีลมกระทบคลื่นน้ำทะเลเป็นระลอก กีฬาที่ไม่ซับซ้อนเช่นนี้ ผู้เขียนพอจะใช้เป็น “เครื่องอยู่” สำหรับจิตได้ ความเปลี่ยนแปลงของคลื่น ลม เสียง การกลับลำเรือ ฯลฯ เป็นปัจจัยที่เข้ามาทำให้กายและใจ “จำเป็นต้องพร้อม” และตื่นโดยอัตโนมัติ เผลอใจลอยเกินไปคลื่นมาแล้วร่างกายไม่ขยับปรับตามก็ตกน้ำได้

เล่นฉิวกินลม ชอบใจ ... เพียงรู้

ยืนหลังเกร็งแขนเกร็ง ... เพียงรู้

กายก็คลาย ยืนสมดุลไม่ดีตกน้ำ ตกใจ ... เพียงรู้

การเล่นวินด์เซิร์ฟจึงกลายเป็นการวิปัสสนาภาวนาไปได้เหมือนกัน

อันที่จริงเราสามารถภาวนาได้ในทุกกิจกรรม เพียงแต่บางกิจกรรมง่ายต่อการภาวนา บางกิจกรรมทำได้ยาก เนื่องจากสภาวะไม่เอื้ออำนวย มีปัจจัยกระทบโสตสัมผัสต่างๆ มากไป ดูได้ยาก ครูบาอาจารย์เคยสอนว่าถ้าอยากเดินทางสายปฏิบัติให้ได้ผลจริงควรภาวนาให้ต่อเนื่อง ไม่แบ่งแยกว่าเวลานี้ปฏิบัติ เวลานี้ใช้ชีวิตอย่างเดียว ควรปฏิบัติไปให้ได้ต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน ผู้เขียนเองก็เคยทำแยกส่วนเช่นนั้น ทำงานใช้ชีวิตหมกมุ่นหลายเดือนจึงจะไปปฏิบัติธรรม ๑๐ วัน ออกมาชื่นมื่นสักพักก็กลับไปคล้ายเดิม ตอนนั้นเข้าใจว่าเราอาจจะทำน้อยไป เพิ่มเป็นเข้าวัดปฏิบัติกรรมฐานครั้งละ ๑ เดือนแทน ออกมาไม่ให้ทิ้งช่วงนานไปก็เข้าแบบ ๑๐ วันอีก เข้าออกซ้ำไปมาอย่างนี้หลายเที่ยว ดูเหมือนจะพัฒนาขึ้น คือเก็บอารมณ์ได้เนี้ยบมาก คนรอบข้างไม่เห็นความโกรธ ไม่เห็นอาการลิงโลดของเรา ดูนิ่งน่าศรัทธา แต่ในที่สุดก็ทราบว่าที่แท้เรา “ติดเพ่ง” หรือกดทับอารมณ์ความรู้สึก ... จนชำนาญ นิ่งเกินไปจนไม่เห็นการเคลื่อนไหวของจิตใจซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในวิปัสสนาภาวนา

ทำไมเป็นเช่นนั้น ผู้เขียนเข้าใจว่าช่วงที่เข้าเงียบปฏิบัติหนักแต่ละช่วงนั้น จะเอาจริงเอาจังมาก กายและใจถูกบีบคั้นกดแน่น เพ่งเกินไป มุ่งมั่นเกินไป แทนที่จะปล่อยให้เรียนรู้กายใจอย่างเป็นธรรมชาติ นั่นก็เพราะรู้สึกว่าต้องรีบทำเดี๋ยวกลับไปในชีวิตประจำวันจะไม่ได้ “ทำ” อีกแล้ว

ครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติขั้นสูงทั้งหลายสอนไปในแนวทางเดียวกันคือควรจะภาวนาในชีวิตประจำวันเลย หรือทำทุกวัน ไม่ใช่เข้มมากบางช่วง หลวมไปเลยบางช่วง ผู้เขียนเรียกเล่นๆ ว่า “ภาวนาอินแอคชั่น” (Bhavana in Action) ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็น วิปัสสนาภาวนา หรือรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงจนเข้าใจธรรมชาติไตรลักษณ์ที่แท้ และบางครั้งก็จะเป็นสมถะภาวนา หรือการทำใจให้สงบระงับ

ตื่นนอนก็เริ่มรู้กายรู้ใจ ล้างหน้า แปรงฟัน รับประทานอาหาร ประชุม สอนหนังสือ ฮากับเพื่อน คุยกับที่บ้าน ฯลฯ จนกระทั่งเข้านอน แน่นอนว่าบางกิจกรรมเรารู้กายรู้ใจได้ลำบาก หรือถ้ามัวแต่ไปรู้อาจทำกิจกรรมนั้นได้ยาก เช่น การคิดงาน ผู้เขียนเคยถูกให้แปลภาษาต่างประเทศสด ขณะฟังเพื่อเก็บข้อมูล เกิดไปดูใจตัวเองที่กำลังคิดเนื้อหา “ลืมหมดเลย” ค่ะ จิตของเราทำหน้าที่ทีละหนึ่งอย่าง เมื่อจิตมีสติแท้ขึ้นมา ทันและแรงมากพอ จิตดวงอื่นก็ดับไป เช่น เวลาเราขุ่นเคืองใจแล้วเรามีสติรู้ความเคืองนั้น ความเคืองนั้นก็จะดับไป การคิดก็เช่นกัน ดังนั้นเวลาคิดงานครูบาอาจารย์จึงสอนให้อย่าเพิ่งไปดูใจตอนนั้น ค่อยไปเริ่มดูตอนเกิดกิเลสต่างๆ ดีกว่า เช่น ตอนโกรธขึ้นมา ตอนอยากขึ้นมา หรือดูกายไปเวลาเคลื่อนไหวระหว่างคิดเสร็จแต่ละช่วง

งานหลักของผู้เขียนคือการสอนและการประชุม ขณะยืนพูดหน้าห้อง เราก็ปล่อยให้คิดไปพูดไปไม่ต้องไปดูใจ ช่วงฝึกดูจิตใหม่ๆ เกิดไปดูใจตอนคิดจะพูด ความคิดก็หายไปเสียอย่างนั้นเอง ต้องหันไปถามผู้เข้าสัมมนาว่า “เมื่อกี้อาจารย์พูดถึงไหนนะคะ” ตอนนี้ผู้เขียนจึงเปลี่ยนไปดูกายดูใจหรือวิปัสสนาภาวนาในช่วงที่เดินดูผู้เข้าร่วมสัมมนาทำกลุ่มหรือทำกิจกรรมต่างๆ ในห้องสัมมนาแทน ไม่ดูตอนที่กำลังให้เนื้อหา ถือเป็นการเดินจงกรมไปในห้องสัมมนานั้นเลย

ตอนประชุมก็ทำได้ ปัจจัยกระทบไม่มากด้วย เพราะเรานั่งอยู่กับที่ไม่ได้เคลื่อนไปไหน มีแต่เนื้อหาอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบโสตกระทบจิตใจได้เท่านั้น เราก็เพียงแต่ตั้งรับดูบ้าง คิดบ้าง พักบ้าง “พัก” ในที่นี้คือทำสมถะภาวนาบ้าง เช่น เคาะนิ้วเป็นจังหวะซ้ำๆ เอาลูกประจำข้อมือมาจับเล่นบ้าง ดูกายที่เอื้อมมือไปจับแก้วน้ำ ยกแก้วน้ำ จิบน้ำ กลืนน้ำ ความรู้สึกที่น้ำผ่านลำคอลงไป รู้ท้องพองยุบบ้าง แล้วแต่อะไรชัด บางครั้งก็เป็นสมถะหรือทำให้จิตสงบนิ่ง บางครั้งก็พลิกเป็นวิปัสสนารู้กายรู้ใจ

ถึงแม้เราจะภาวนาในชีวิตประจำวันเรื่อยๆ บางครั้งเราก็แรงตกจากการผ่านสิ่งกระทบมากมาย หรือวิปัสสนาภาวนาจนล้าไม่ได้พัก หรือดูไม่ทันจนกิเลสเติบโตออกฤทธิ์ เวลาอ่อนแรงแบบนี้เราต้องการการ “ชาร์จแบตฯ” หรือเติมพลังจากการภาวนาในรูปแบบบ้าง เช่น การสวดมนต์ เดินจงกรม ซึ่งบางคนทนไม่ได้หรือเบื่อกับกิจกรรมแบบนี้ บางคนบอกว่ารู้นะว่าภาวนาแล้วจะมีความสุขแต่ไม่รู้เป็นอย่างไร ทำอะไรทำนองนี้ไม่ได้ มันร้อน

ผู้เขียนชอบทดลองหากิจกรรมต่างๆ เผื่อจะพอใช้เป็นเครื่องอยู่ได้ เช่น การออกกำลังกาย การเล่นดนตรี ศิลปะ เนื่องจากชีวิตส่วนใหญ่ของผู้เขียนอยู่กับการใช้หัวคิด จึงเสาะหากิจกรรมที่ใช้กายหรือความรู้สึกมากมาทำให้ตัวเองสมดุล โดยเทคนิคที่จะทำให้กิจกรรมธรรมดาเหล่านี้เป็นการภาวนาได้ ตามความเข้าใจของผู้เขียนวันนี้น่าจะอยู่ที่ “การทำซ้ำ” กิจกรรมที่ไม่วุ่นวาย ไม่ซับซ้อน จะได้ไม่ต้องคิดมาก แต่ทำอะไรซ้ำๆ เป็นเครื่องอยู่ของจิตใจ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นมาก็ดูไป เช่น การเดิน การวิ่งจ๊อกกิ้ง การวิ่งบนเครื่องสายพาน การยกน้ำหนัก การว่ายน้ำ รำมวยจีน ศิลปะป้องกันตัวต่างๆ หรือตัวอย่างการเล่นวินด์เซิร์ฟข้างต้น เราก็จะได้ทั้งพลังกายและจิตที่แข็งแรงขึ้น

สำหรับการเล่นดนตรี ผู้เขียนชอบกลองเป็นพิเศษ เนื่องจากไม่มีทำนองสูงต่ำมากมายจนเราหลงเคลิ้มไปกับเสียงเพลงแล้วปรุงต่อเป็นเรื่องเป็นราว การตีกลองมีการ “ทำซ้ำ” ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกลองชุดวงสตริง กลองพื้นบ้านประเทศต่าง หรือเครื่องเคาะ อันที่จริงบางท่านคงเคยเห็นวัดจีนที่มีการเคาะไปสวดไปเป็นจังหวะ คาดว่าใช้ในจุดประสงค์คล้ายกัน

วันก่อนผู้เขียนเล่นกลองแอฟริกัน ใช้ทั้งสองมือตีลงไปบนกลอง มีสามเสียง จังหวะง่ายๆ เราก็พอจะใช้หัวคิดได้ “ตีมือนี้ตรงนี้ก่อนแล้วไปมือนั้นตรงนั้น ...” แต่พอจังหวะซับซ้อนขึ้น “คิดไม่ทัน” หรืออีกนัยหนึ่ง “ตีได้โดยไม่คิด” ถ้าพยายามคิดว่าตีส่วนไหนก่อนมือไหนก่อน จะกลายเป็นตีไม่ได้ แค่ฟังดูหรือซึมซับจังหวะกลองที่เขาตีนำ แล้วตีตามเลย เห็นชัดเลยว่า ร่างกายทำงานได้แม้เราไม่คิด พอผู้เขียนลองคิดดูขณะตีว่ามือไหนก่อนหลังนะ ตีรวนขึ้นมาเชียว

กิจกรรมสำหรับการภาวนาคงสามารถสร้างสรรค์กันเองได้อีกมาก โดยหลักการ “ทำซ้ำ” บนพื้นฐานการไม่ผิดศีลหรือไม่ทำร้ายตนเองและผู้อื่น และในกรอบการเข้าใจหลักการภาวนาแล้ว เราสามารถเลือกที่ถูกจริตกับตัวเรา เสริมความสมดุลหัว-กาย-ใจของเรา ช่วยให้เราเติมพลังและกลับมาเรียนรู้ดูกายดูใจในชีวิตประจำวันได้อีก ขอให้ทุกท่านสนุกกับการภาวนาในหนทางของท่าน ค้นพบอะไรอีเมลมาแลกเปลี่ยนกันนะคะ (michita@yahoo.com)

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home