โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๒

บางทีพ่อแม่มักจะพูดเพลินๆ เผลอๆ เวลาลูกซนว่า “อยู่ไม่เป็นสุขเลยน่ะเรา” พอลูกจะนอนตื่นสายๆ สบายๆ ลูกก็อาจจะได้ยิน “ขี้เซาจังเลยน่ะ แล้วจะสู้เขาได้เหรอ” หรือ “เวลาหมดไปแล้วครึ่งค่อนวัน ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน” เสียงเหล่านี้ที่ลูกได้ยินมาตลอดในวัยเด็ก อาจจะยังคงทรงพลัง ขับดันขับเคลื่อนชีวิตเขาทั้งชีวิตให้เป็นไปตามเสียงของพ่อแม่ในวันนี้

เมื่อกาลเวลาผ่านไป แม้นจิตสำนึกของเราจะลืมเลือนถ้อยคำของพ่อแม่ไปแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราอาจจะทำงานอยู่อย่างสบายๆ ไม่สามารถรีบเร่ง แม้นสถานการณ์จะรัดตัวแค่ไหน หรือกระทั่งเหตุการณ์ในที่ทำงานเรียกร้องให้เราต้องริเริ่มความคิด ซุกซนค้นหาวิธีการใหม่ๆ แต่เราก็ยังทำตัว “อยู่ให้เป็นสุข” ไม่กล้าคิดนอกกรอบ เหมือนที่พ่อแม่เคยกำกับเรา

ในทางตรงกันข้าม เราก็อาจขยันขันแข็งตั้งหน้าตั้งตาทำงานอย่างไม่รู้จักพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อผลงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง เพราะว่ามีเสียงไล่อยู่ข้างหลังเราว่า “จะสู้เขาได้หรือ” ดังกังวานอยู่ในหูเราขับเคลื่อนเรา จนเราไม่รู้จักหยุดหย่อน

เสียงภายในตัวเราก็มักจะไปไม่ค่อยพ้นเสียงจากภายนอกของพ่อแม่ของเราอยู่ร่ำไปนั่นเอง

และด้วยเสียงภายนอกของพ่อแม่เราที่ฝังใจไว้ตั้งแต่ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่ทำให้เราเจ็บใจ เจ็บกายและอับอายให้รู้สึกตกต่ำ หรือเสียงที่ปลาบปลื้มชื่นชม เป็นลมพัดให้เราตัวลอย เสียงเหล่านั้นของผู้เป็นที่รักได้ประทับไว้ในใจ ในจิตไร้สำนึกของเรา และก็ดลบันดาลสร้างความชำนาญให้เรามองเห็นหรือสร้างพันธะกับใครต่อใครที่เราได้พบปะคล้อยตามกับเสียงที่เราเคยได้ยิน หรือจะต่อต้านกับเสียงเหล่านั้นก็ตาม

ต่อมาเมื่อเราเติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับเพื่อน ความสัมพันธ์กับนาย เพื่อนร่วมงาน และแม้นแต่คู่ชีวิต เรายังมองเห็นเขาเหล่านั้นราวกับว่าเขาหรือเธอผู้นั้นเป็นพ่อแม่ของเรา และเรายังเล่นบทหนูน้อยผู้เป็นเหยื่อบ้าง เป็นตัวร้ายบ้าง หรือเป็นตุ๊กตาที่น่ารัก และเชื่อฟังกับใครๆ ตามแบบแผนบทบาทของลูกน้อยที่มีต่อพ่อแม่ตัวโต บทบาทที่เราเคยเล่นจนเชี่ยวชาญตั้งแต่ในอดีตครั้งเยาว์วัย

แม้นเติบโตแล้ว บ่อยครั้งเราก็สวมความรู้สึกที่เป็น เหยื่อ (victim) ผู้ถูกกระทำหรือถูกรังแก หรือสวมความรู้สึกที่ต้องเป็นตัวร้าย (villain) ลุกขึ้นมาทวงถามทวงสิทธิที่เราพึงมีอย่างรุนแรง ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งอย่างรุนแรงหรือซึมลึกอยู่ในจิตใจเรา เมื่อเราสวมบทเหยื่อเรารู้สึกไร้กำลังวังชาที่จะขัดขืนหรือคัดค้านผู้คนที่เรียกร้องเราให้เป็นให้ทำสิ่งใดๆ เพื่อเขา และเมื่อเหยื่อไม่ยอมเป็นเหยื่อต่อไปเราก็ได้แต่สวมบทตัวร้ายที่ลงมือท้าทายทุกอย่างรวมทั้งความปรารถนาดีต่างๆ ของผู้คน เพื่อให้เราได้กลับมาเป็นตัวเราอีกครั้งแล้วครั้งเล่า

ตัวอย่างความรู้สึกสองขั้วเช่นนี้บ่อยครั้งเกิดขึ้นตามท่าทีและประสบการณ์ที่เรามีต่อผู้คน ราวกับว่าเขาเป็นพ่อแม่หรือญาติของเรา เรายังเป็นหนูน้อยผู้เป็นเหยื่อในสายตาของพ่อแม่ผู้ดุดัน และ/หรือ เราเป็นหนูน้อยเด็กดื้อเด็กเกเรผู้ต่อสู้คัดค้านพ่อแม่เผด็จการที่เอาแต่ใจตัวเองในสายตาของเรา

ไม่ว่าอายุตัวเราจะเพิ่มขึ้นมากเท่าใด บ่อยครั้งเรายังสัมพันธ์กับผู้คนเฉกเช่นเขาเป็นพ่อแม่เราในวัยเยาว์โดยที่เราไม่รู้ตัว

ในอีกกรณีหนึ่ง ยามที่เราพ่อแม่พาลูกออกนอกบ้าน ไปตามที่สาธารณะ หรือสังสรรค์กับเพื่อนของเราและแม้นแต่ในครอบครัวของเรา แล้วลูกออกนอกทาง ซน เล่น กล้ากระทำกล้าแสดงตามประสาเด็ก แล้ววูบหนึ่งเรากลัวว่า ใครต่อใครและสายตาของเขาจะตำหนิลูกของเราและตัวเรา บางครั้งเราอาจจะกระตุกลูกของเราไว้ “อย่าซนนักลูก” “อยู่เฉยๆ ได้ไหม” และหากลูกไม่ตอบสนองคำของเรา ในทางตรงกันข้าม กลับเล่นหนักและกล้าซนยิ่งขึ้น ทำให้สายตาใครต่อใครกวนใจเรายิ่งขึ้น เราคงพูดหรือทำอะไรเพื่อหยุดลูก และหากหยุดได้ในทันทีทันใดหรือไม่ก็ตาม ลูกเราหนูน้อยคนนั้นคงเริ่มกังขากับตัวเองแล้วว่า “ฉันพึงซน พึงกล้า เช่นที่ทำลงไปไหม” หรือจะอยู่เฉยๆ นิ่งๆ เป็น คุณหนู ผู้รอรับคำสั่งแสนจะเชื่อฟัง และเป็นเด็ก (ดู) ดีอยู่ในกรอบที่ใครต่อใครรอบตัววางไว้

แม้นคำถามนี้จะไม่ปรากฏในตรรกะของเขาด้วยวัยอันเยาว์ แต่เป็นคำถามที่สะท้อนอยู่ในร่างกายของเขาที่ไม่ปลอดภัยที่จะซนและกล้า และหากเขาพบคำตอบว่า “ไม่...ซนไปเดี๋ยวก็โดน เดี๋ยวพ่อแม่ไม่รัก เดี๋ยวใครใครไม่เล่นด้วย” แล้วละก็ หนูน้อยเริ่มได้ยินเสียงของคุณวิจารณ์เช่นที่ว่าเข้ามาในใจ และหากวันข้างหน้าหนูน้อยต้องอยู่ต่อหน้าผู้คนที่ต้องกล้าแสดงตน หรือซุกซนเพื่อค้นหาประสบการณ์ใหม่ๆ เสียงของคุณวิจารณ์บอกว่า “เดี๋ยวโดน เดี๋ยวโดน” จะถูกโยนเข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่าในใจ เข้ามาโยกคลอนความมั่นใจ ความกล้า ความพร้อมใดๆ ของหนูน้อยผู้นั้น จนกลายเป็นอาการประหม่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้นว่าวันนั้นหนูน้อยจะได้เติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วก็ตาม แต่เสียงทักวิจารณ์ของพ่อแม่ยังติดตามมาดูแลหนูอยู่อย่างแนบเนียนในร่างกายในจิตใจของหนูอยู่ร่ำไป

มิใช่เพียงแต่เสียงของพ่อแม่เท่านั้นที่เคยตัดสินพิพากษาหนู แล้วติดตามอย่างแนบเนียนเข้ามาในร่างกายในใจของหนู แต่รวมทั้งความเงียบของพ่อแม่อีกด้วย ซึ่งเป็นความเงียบที่เปี่ยมพลังของอาการพิพากษาตัดสินหนูเสียแล้ว เพียงแต่ไม่เปล่งวาจาออกไป ความเงียบที่แสดงความไม่พอใจ ตัดขาดเยื่อใยแม้นเพียงในขณะนั้นขณะเดียว หรือจะเป็นความเงียบแต่เพียงเสียง แต่ไม่สามารถเลี่ยงการแสดงออกทางสายตา และท่าทางที่ไม่พอใจ ไม่โอเค ไม่รับรองการกระทำของหนู แม้นจะขาดเสียง แต่ก็ทำให้หนูแทบขาดใจด้วยเจ็บใจ อับอาย และอาการเจ็บนั้นสั่นสะเทือนอยู่ในร่างกาย

ความทรงจำในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำที่เจ็บปวดหรือปลาบปลื้ม ต่างฝังลึกอยู่ในใจของเราทุกคนทุกวัย ความทรงจำเหล่านั้นสะท้อนออกมาในเสียงภายในของเรา ในเสียงของผู้คนรอบตัวเรา ในความขัดแย้งในชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า มิใช่เป็นเพียงชะตากรรมของเรา แต่เป็นเสียงร่ำร้องที่เราจะได้กลับไปเยียวยา บาดแผลจากความทรงจำนั้น ให้เราได้ดูแลตัวเราใจของเราอย่างลึกซึ้งอีกครั้ง เท่าที่ “เสียงภายใน” ของเรายังปรารถนาที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับตัวเรา ครั้งแล้วครั้งเล่า

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home