โดย สุนทรี กุลนานันท์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๒
ข้าพเจ้าเพิ่งปิดคอร์สการเรียนรู้ใน “วิชาพ่อแม่กับการดูแลวิถีพุทธเพื่อจิตประภัสสร” ในการเรียนรู้ระดับปริญญาโทของสาวิกาสิกขาลัย ที่เสถียรธรรมสถานจัดขึ้น สาระหลักของคอร์สนี้คือ เราทุกคนไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือไม่ ล้วนได้รับเกียรติสำคัญในการเป็นสิ่งแวดล้อมที่สร้างเด็กให้แก่โลกไปแล้ว ในฐานะลุง ป้า น้า อา หรืออาจเป็นญาติผู้ใหญ่ขนาดปู่ ย่า ตา ยาย และสิ่งที่พึงเรียนรู้คือ เราในวันนี้ยังมีจิตใต้สำนึกที่ฝังมาตั้งแต่วัยเด็ก เป็นทัศนคติต่อชีวิตและความเคยชินที่จะตีความสิ่งต่างๆ อย่างมีอคติว่า “ถ้าเป็นฉัน ฉันจะ ...” เหมือนเชื้อไวรัสที่อยู่ในตัวเรา ซึ่งพร้อมถ่ายทอดให้เด็กคนใดก็ตามที่เข้าใกล้เราอย่างไม่รู้ตัว
ในช่วงเวลาเดียวกัน ลูกสาวอายุ 6 ขวบครึ่งของข้าพเจ้าก็ต้องอำลาวันเวลาในวัยอนุบาล เธอได้สมุดเล่มใหญ่ที่คุณครูรวบรวมภาพวาดเมื่ออยู่ชั้นอนุบาล 3 ซึ่งหนาราว 100 หน้าพร้อมลงวันที่ทุกภาพมาด้วย เธอเสนอว่า “หนูจะเล่าให้คุณแม่ฟังว่าหนูวาดรูปอะไรบ้าง”
“คุณแม่ดูหมดแล้วจ้ะ” ข้าพเจ้าตอบ เพราะได้ดูเสร็จก่อนนั้นและคิดว่า สีสันช่างมีความสุข เส้นสายมั่นใจสุดๆ แต่เวลา 1 ปีนี่ไม่มีอะไรใหม่ วาดซ้ำแต่บ้าน ภูเขา ต้นไม้ ดอกไม้ ม้า นก ผีเสื้อ ผู้หญิง ผู้ชาย หรือไม่ค่อยตั้งใจวาดนะ (เพราะเชื่อว่าจินตนาการน่ะ เธอมีท่วมท้น)
“คุณแม่ไม่รู้หรอกว่าหนูวาดรูปอะไร” ว่าแล้วเธอก็นำเสนอด้วยความภาคภูมิใจ นานเป็นชั่วโมงกว่าจะจบ
ข้าพเจ้าเพิ่งตาสว่าง สิ่งที่เหมือนกันในสายตาของข้าพเจ้านั้นแตกต่างกันทุกสิ่งในสายตาเธอ โดยเฉพาะม้าที่มีเกือบทุกภาพ ... บางวันม้ากำลังก้มไปดมดอกไม้ บางวันม้ากำลังคุยกัน บางวันม้ากำลังเล็มหญ้า และบางวันม้าลากรถพาเธอไปในป่า ... โถ! ข้าพเจ้าเกือบพลาดอะไรไปนี่ถ้าไม่ได้เปิดใจรับฟัง เพราะสิ่งที่ตาเห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริง ก็ตาของผู้ใหญ่อย่างเราช่างตีความอย่างรวดเร็วตามความเคยชิน “100 หน้าไม่มีอะไรใหม่” มันสะท้อนนิสัยของข้าพเจ้าที่เบื่อง่ายและชอบความแปลกใหม่อยู่เสมอ
สมุดภาพเล่มใหญ่นี้ คือสมุดบันทึกประจำวันของวัยอนุบาลที่รวบรวมเรื่องราวทุกวันที่กลั่นออกมาจากโลกในจินตนาการของเธอ น่าเสียดายที่มันจะเหือดหายไปเมื่อเธอเริ่มมองโลกแบบผู้ใหญ่ เห็นอะไรเป็นสมมติบัญญัติไปหมด ... บ้าน คน ต้นไม้ สัตว์ สิ่งของ ล้วนมีคำจำกัดความที่คับแคบ ต่างจากวันวัยที่ผ่านมาซึ่งเธอเป็นมนุษย์ที่เรียนรู้โลกตามที่โลกเป็น ด้วยทุกสัมผัสที่เธอมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย และโดยเฉพาะใจ เธอรับรู้อย่างตรงไปตรงมาถึงความสุขที่รายรอบอย่างง่ายๆ และนั่นคือสิ่งที่ผู้ใหญ่อย่างเราสูญเสียไป จนวันหนึ่งจึงรู้สึกว่าชีวิตช่างแห้งแล้งเสียจริง และใช้ชีวิตอยู่กับการเอาถูกเอาผิดกับสิ่งที่เป็นสมมติบัญญัติทั้งสิ้น
เมื่อตอนตั้งครรภ์ ข้าพเจ้าก็มีสมุดบันทึกเล่มหนึ่งไว้คุยกับลูกเมื่อเกิดเรื่องราวที่เป็นบทเรียนประจำวันในช่วง 9 เดือนที่ “เราใช้ลมหายใจเดียวกัน” หน้าหนึ่งในนั้นเล่าถึงคำอธิษฐาน 3 ข้อว่า “ขอให้ลูกเป็นเด็กที่ช่วยเหลือตนเองได้ ช่วยเหลือผู้อื่นได้ และเป็นที่รักของทุกๆ คน” เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่า 3 สิ่งนี้จะทำให้ลูกรอดได้ทั้งกายและใจไม่ว่าจะมีแม่หรือไม่
ข้าพเจ้าลงทุนต่างๆ นานาสร้างเหตุปัจจัยที่คาดว่าจะทำให้เกิดผลนั้น ลองผิดลองถูก และเป็นนักเรียนใหม่อีกครั้งในวิชาชีวิตที่ไม่ได้มีตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลกเช่นที่ผ่านมา ซึ่งสารภาพอีกครั้งว่าสอบตกบ่อยๆ แต่ก็ต้องสอบซ่อมเพราะเป็นวิชาที่ลาออกไม่ได้
“บ้านเรียนแห่งรักและศานติ” เป็นสถานที่ที่ข้าพเจ้าวางใจให้ลูกได้ใช้ชีวิต 4 ปี ด้วยเหตุผลเดียวคือหากลูกต้องห่างจากบ้านและกอดของแม่ ขอให้ลูกไปอยู่ในที่ที่มีความปลอดภัยเหมือนบ้านและมีครูที่ดูแลลูกด้วยความเมตตาเหมือนแม่ ผ่านไป 4 ปี ลูกไม่มีผลงานเป็นสมุดการบ้านที่บ่งบอกว่าจะไปสอบแข่งขันกับใครเขาได้ แต่ลูกสอบผ่านวิชาชีวิตแล้ว 2 ข้อคือ ลูกเป็นเด็กที่ช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นได้ เพราะลูกได้พื้นฐานนิสัยและทัศนคติในการมองโลกว่า หากต้องการสิ่งใดต้องลงมือทำโดยไม่เรียกร้องให้ใครบริการ แต่หากลูกทำสิ่งใดให้ใครได้ นั่นเป็นความสุขและความภูมิใจ
แต่ข้อ 3 นี่สิที่ข้าพเจ้าหนักใจ เพราะลูกไม่ใช่เด็กน่ารัก หากเอามาตรฐานของผู้ใหญ่ไทยทั่วๆ ไปเป็นตัวตั้ง เด็กน่ารักตามมาตรฐานสังคมไทยเป็นอย่างไร ก. ว่านอนสอนง่าย ข. สุภาพอ่อนโยน ค. ยิ้มแย้มแจ่มใส ง. ถูกทุกข้อ ... ไม่ใช่ ลูกจะไม่เป็นอย่างนั้นเลย แต่ลูกจะเป็นในเวลาที่ลูกมีความสุขที่จะเป็น และจะไม่เป็นในเวลาที่ลูกใส่ใจกับสิ่งอื่นมากกว่า เช่น ลูกจะไม่ว่านอนสอนง่ายหากกำลังสงสัยว่า “ทำไม” ไม่สุภาพอ่อนโยนหากกำลัง “คึก หิว ง่วง เหนื่อย” ไม่ยิ้มแย้มแจ่มใสหากกำลัง “มุ่งมั่นทำอะไร” แล้วอะไรล่ะจะทำให้ลูกเป็นที่รักของทุกๆ คนได้
แล้วข้าพเจ้าก็ได้รับคำตอบเมื่อวันที่ลูกครบ 6 ขวบ ลูกเริ่มทำอะไรหลายอย่างที่ก้าวข้ามความเคยชินเดิมๆ ลูกอดทนมากขึ้น เสียสละมากขึ้น ทำสิ่งที่ท้าทายมากขึ้น ... เริ่มจากการขอมาสวดมนต์ count down ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กับแม่ท่ามกลางผู้ใหญ่หลายร้อยคน พอเช้าแรกของปี 2552 ลูกก็ไปออกแรงนวดดินสร้างบ้านกับผู้ใหญ่ และเป็นคนถือสายยางคอยล้างมือล้างเท้าให้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ลูกรักสวยรักงามเป็นที่สุด ไม่ชอบการเหน็ดเหนื่อยและเลอะเทอะ ต่อมาลูกก็ชวนว่าเรามาทำขนมไปขายหาเงินทำบุญกัน และเมื่อลูกได้รางวัลเป็น “ดาวเด็กดี” ลูกใช้ดาวดวงแรกนำไปแลกซื้อข้าวซื้อน้ำให้พ่อแม่ ลูกติดใจคุณลุงใจดีที่ร้านขนมแถวบ้าน ถึงกับไปอาสาเสิร์ฟอาหารและเก็บโต๊ะให้
“เมล็ดพันธุ์จิตอาสา” ได้งอกงามขึ้นแล้ว และใช้เวลาถึง 6 ปีที่ลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่บ่มเพาะให้ลูกเห็นตัวอย่างการใช้ชีวิตที่เกื้อกูล และไม่อยู่ในสมมติบัญญัติที่คับแคบว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” และผลก็คือ ทุกคนชื่นชมลูก และชมว่าลูก “น่ารัก”
ข้าพเจ้าจึงเรียนรู้ว่า การเป็นที่รักของทุกๆ คนมีหลายเส้นทาง อาจไม่ได้มาด้วยการทำตัวให้น่ารักตามที่ใครคาดหวัง แต่ในทุกสิ่งที่ลูกทำอย่างมีความสุขและทำให้คนรอบข้างมีความสุขนั้นทำให้ลูกเป็นที่รักและนี่เป็นเคล็ดลับในชีวิตที่ลูกได้เรียนรู้แล้วเมื่ออายุ 6 ขวบ เป็นบทเรียนที่ข้าพเจ้าต้องบันทึกไว้เมื่อ “เราใช้ลมหายใจใกล้กัน”
เมื่อเราเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญหรือที่เรียกว่ากระบวนการของจิตตปัญญาศึกษานั้น ห้องเรียนอยู่ทุกที่ในโลก บทเรียนอยู่ทุกวันในชีวิต และครูอาจเป็นเด็กตัวเล็กๆ ที่เปิดหัวใจของเราให้ “กลับมามีความสุขอย่างง่ายๆ และเห็นโลกอย่างที่โลกเป็น”
Labels: สุนทรี กุลนานันท์
อ่านแล้วนึกถึงเพลง "เด็กดั่งดวงดาว" ของพี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยงขึ้นมาทันทีเลย :)