โดย ธีระพล เต็มอุดม
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๒

ราว 2 ปีที่ผ่านมา เราหลายคนในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาได้ร่วมกันทำงานทบทวนความรู้ที่เกี่ยวข้องกับจิตตปัญญาศึกษา โดยได้รับทุนสนับสนุนโครงการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านไปยังศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยในช่วงเวลาของการริเริ่มนี้เราเชื่อว่าควรมีความรู้เป็นฐานรองรับ ดังที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ท่านให้ความเมตตาแนะไว้ว่า หากจะกระทำการขับเคลื่อนเรื่องใด ควรได้ศึกษาวิจัยเรื่องนั้นให้รู้จบสิ้นดินฟ้ามหาสมุทร เพื่อจะได้ทำงานในส่วนที่เป็นคานงัด ทำน้อยแต่ได้ผลมาก หรือทำในส่วนที่ยังขาดพร่องอยู่

เราใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มและเข้าไปปรึกษาขอรับคำแนะนำจากปราชญ์หลายท่าน โดยเฉพาะอาจารย์อาวุโสในกลุ่มจิตวิวัฒน์ จนกระทั่งเริ่มเห็นแนวทางว่าควรจะทำงานศึกษาทบทวนใน 5 เรื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศจึงจะครอบคลุมภาพรวมและเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาต่อยอดในอนาคต ทั้ง 5 เรื่องนั้นประกอบด้วย 1. ประวัติแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง 2. เครื่องมือและวิธีปฏิบัติในแนวจิตตปัญญาศึกษา 3. วิธีวิทยาการวิจัยสำหรับจิตตปัญญาศึกษา 4. การประเมินสำหรับจิตตปัญญาศึกษา และ 5. แนวทางการประยุกต์ใช้จิตตปัญญาศึกษาในวงการต่างๆ

งานวิจัยเชิงสำรวจครั้งนี้ทำให้เราได้ข้อมูลจำนวนมาก เราพบว่าแม้จิตตปัญญาศึกษามีความเคลื่อนไหวที่เริ่มในต่างประเทศมาไม่นาน ทว่าได้นำแนวคิดที่มีอยู่ร่วมกันในหลายศาสนาและความเชื่อมาใช้ในบริบทสังคมร่วมสมัย วิธีการปฏิบัติก็ยังมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเน้นฐานกาย กิจกรรมเชิงพิธีกรรม การทำงานศิลปะ รวมทั้งใช้สมาธิและการสงบนิ่ง ล้วนแล้วเป็นการปฏิบัติที่จิตตปัญญาศึกษานำมาใช้ ส่วนวิธีวิทยาการวิจัยก็มิได้จำเพาะต้องเป็นแนวทางหนึ่งใด แต่ควรได้บูรณาการผสมผสานให้เห็นความจริงจากหลากมุมมอง เช่นเดียวกับการประเมินที่มีจุดสำคัญคือการรู้เท่าทันและตระหนักในกระบวนทัศน์ของตนเอง ตลอดจนการประยุกต์ใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษาในวงการต่างๆ นั้นจึงมิใช่การปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากันได้กับบริบทเท่านั้น แต่เป็นการประยุกต์ที่มุ่งสู่การเรียนรู้จิตใจและเข้าใจตน

ในระหว่างกระบวนการวิจัยเราพบอุปสรรคและข้อจำกัดไม่น้อยเฉกเช่นเดียวกับการร่วมกันทำงานในหลายๆ อย่าง บางเรื่องเราอาจจะสามารถจัดการได้ด้วยวิธีสั่งการ หรือยึดเอาแผนการดำเนินงานเป็นหลัก ทว่าข้อมูลความรู้มากมายที่เราพบบ่งชัดว่าการพัฒนาจิตวิญญาณและปัญญาทั้งหลายในโลกนี้ล้วนแล้วแต่ผ่านการมีประสบการณ์ตรงของผู้ปฏิบัติ การทำงานวิจัยร่วมกันของเราจึงกลายเป็นพื้นที่เพื่อการฝึกฝนทางจิตตปัญญาของผู้วิจัยทุกคน เรานำเอาแนวคิดความเป็นผู้นำร่วมและความเป็นผู้นำผู้รับใช้ให้มาอยู่ในการทำงานจริง แม้เรื่องดังว่านี้จะไม่ง่ายดายและคงไม่เห็นผลทันทีก็ตาม แต่อย่างน้อยเราต่างได้เรียนรู้อะไรผ่านประสบการณ์ตรงทีเดียว

ช่วงของการสรุปประมวลและสังเคราะห์ความรู้เป็นขณะเวลาที่น่าประทับใจ ทุกคนในคณะทำงานโครงการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประเด็นความรู้จากงานที่ต่างคนได้ทบทวนศึกษามา แต่แรกดูเหมือนว่าจะหาข้อสรุปลงตัวที่ตรงใจให้แก่กันไม่ได้ เมื่อความเครียดครอบงำการทำงานเราจึงได้พลิกเปลี่ยนเข้าหาความผ่อนคลาย บทสนทนาสู่บทสรุปจึงเกิดขึ้นได้ในเนื้อหาเดิมเดียวกัน จากความคิดเล็กๆ หนึ่งก่อเกิด ความคิดใหม่ได้ต่อยอดและประกอบกันเข้าเป็นข้อสรุปในใจที่เราสามารถเห็นร่วมตรงกัน เสนอประมวลความรู้จิตตปัญญาศึกษาให้เป็นโมเดลชื่อว่า “จิตตปัญญาพฤกษา” (Contemplative Education Tree)

องค์ประกอบของโมเดลนี้มีส่วนสำคัญ 8 ประการซึ่งสื่อถึงองคาพยพของต้นไม้ ได้แก่ 1. ราก คือที่มาและพัฒนาการของจิตตปัญญาศึกษานั้นอยู่ฐานแนวคิดเชิงศาสนา เชิงมนุษยนิยมและเชิงบูรณาการองค์รวม 2. ผล คือเป้าหมายการเรียนรู้สู่จิตใหญ่ที่กว้างขวางครอบคลุมและเชื่อมโยงถึงความจริงของสรรพสิ่ง 3. แก่น เป็นกระแสแห่งการพัฒนาสู่จิตใหญ่ ประกอบด้วย การมีสติเปิดรับประสบการณ์ตรงในปัจจุบันขณะอย่างเต็มเปี่ยม การสืบค้นกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะกับตน การน้อมมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจริงจัง ความเบิกบานและผ่อนคลาย และการมีจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง 4. กระพี้ เป็นบริบทของการเรียนรู้ ประกอบด้วย ชุมชมหรือสังฆะสนับสนุน และการกลมกลืนกับวัฒนธรรม 5. เปลือก เป็นเครื่องมือและการปฏิบัติรูปแบบต่างๆ 6. เมล็ด เป็นศักยภาพการเรียนรู้ภายในมนุษย์ 7. ผืนดิน เป็นวงการต่างๆ ที่จะนำจิตตปัญญาศึกษาไปประยุกต์ใช้ และ 8. การปลูกและดูแล เป็นกระบวนการพัฒนาและทบทวนความรู้ ประกอบด้วยวิธีวิทยาการวิจัย และการประเมิน

ผู้ทรงคุณวุฒิและกัลยาณมิตรบางท่านได้เคยทักท้วงว่าโมเดลนี้อาจยังไม่ชัดเจนและเข้าใจได้ยาก ขณะที่เราคณะทำงานน้อมรับความเห็นต่างนั้น แต่เรายืนยันการนำเสนอโมเดลลักษณะนี้เพื่อชี้ว่าการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณดังเช่นจิตตปัญญาศึกษาไม่ได้มีแบบแผนทิศทางคงที่ ตายตัว ไม่ได้เป็นกลไกลดทอนย่อส่วนหรือเชิงเส้น การเปรียบเปรยภาพของการเรียนรู้กับสิ่งมีชีวิตที่ไม่แยกส่วนและสัมพันธ์ประสานกันจึงเป็นการอุปมาที่มีความมุ่งหมาย

อีกทั้งการเลือกใช้โมเดลจิตตปัญญาพฤกษานำเสนอภาพแนวคิดจิตตปัญญาศึกษามิได้ตั้งอยู่บนความต้องการปกป้องผลงานวิชาการ แต่เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากกระบวนการทำงานอย่างเป็นผู้นำร่วมและการทดลองใช้วิธีปฏิบัติตามแนวจิตตปัญญาศึกษาของคณะทำงาน เป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์ตรงและเชื่อมร้อยสัมพันธ์กับใจของเราผู้ศึกษา ดังนี้แล้ว ความเห็นพ้องหรือความเห็นต่างต่อจิตตปัญญาพฤกษาอันสามารถนำไปสู่ความเข้าใจและสนับสนุนการนำจิตตปัญญาศึกษาไปใช้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งสิ้น

เมื่อสิ้นโครงการนี้ เราเริ่มโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยนำจิตตปัญญาพฤกษาเป็นโมเดลต้นแบบนำไปใช้จัดการเรียนการสอนให้นิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดรายทางของชั้นเรียนและผลตอนท้ายของการศึกษาล้วนบ่งชี้ว่าการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณหาใช่การวางแผนการสอนและจัดการเรียนไปตามแผนอย่างเคร่งครัด แต่ควรสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งการจัดกระบวนการและวิธีปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นสุนทรียสนทนา ศิลปะ และการเจริญสติ พร้อมทั้งมีการเรียนรู้อย่างสังฆะกัลยาณมิตรหรือชุมชนการเรียนรู้เป็นกระพี้โอบอุ้ม เมื่อผู้เรียนพร้อมเมื่อนั้นเขาจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตนเองและด้วยตนเอง

สำหรับเราผู้ซึ่งทำงานวิจัยทบทวนความรู้และได้นำไปทดลองปฏิบัติการ เราปรารถนาให้โมเดลจิตตปัญญาพฤกษาเป็นเครื่องเตือนให้ได้ระลึกอยู่เสมอว่า แม้การเรียนรู้ในแนวทางจิตตปัญญาศึกษานั้นจะไม่อาจคาดหวังและกะเกณฑ์ผลลัพธ์อันแม่นยำจากผู้เรียนได้ แต่เราเชื่อมั่นได้อย่างแน่นอนว่าภายใต้การหมั่นสร้างปัจจัยแวดล้อมให้เอื้ออำนวยแล้ว การเติบโตทางจิตวิญญาณในกระบวนการเรียนรู้ย่อมจะเกิดขึ้นและดำเนินไปเฉกเช่นเดียวกับการเติบโตของชีวิตจากเมล็ดน้อยๆ สู่ไม้ใหญ่อันให้ความร่มเย็นแก่ผืนดินและสรรพชีวิตทั้งหลายในที่สุด



โดย สรยุทธ รัตนพจนารถ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๒

“ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะเขียนอะไรที่จะแทนความประทับใจ ความขอบคุณให้แก่อาจารย์ ทึ่งในตัวอาจารย์มาก ไม่รู้จะพูดอย่างไรดี ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณครับที่มอบทางสว่าง ไม่สิ ขอบคุณที่ทำให้ผมเห็นจุดหมาย ก่อนมาที่นี่ ผู้คนมากมายถามผมว่ามาเรียนคณะวิทยาศาสตร์แล้วจะทำอาชีพอะไร ก็ตอบไปก่อนว่าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ในใจน่ะหรอ ไม่เลย ไม่รู้เลยจริงๆ ว่าตนเองต้องการเป็นแบบไหน” (อรรถพล อ.)




“ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา” ผมนึกถึงสำนวนนิยายจีนของโกวเล้ง

ภาคการศึกษานี้ อาจจะเป็นภาคการศึกษาสุดท้ายของผมในการเลกเชอร์ให้กับนักศึกษาปีหนึ่งของมหิดล การสอนบรรยายให้นักศึกษาห้องละสองร้อยกว่าคน หลายคนมองว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ เบื่อกันทั้งคนสอนและคนเรียน ก็น่าเห็นใจอยู่หรอกนะ กับระบบการศึกษาที่ท่องไปเพื่อคะแนน เรียนไปเพื่อสอบ

แต่สำหรับผมแล้ว การไปสอนเลกเชอร์เป็นการเติมเต็มความหมายของชีวิต การได้เปลี่ยนบทบาทจากเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว เคยนั่งหันหน้าหากระดานดำ เรียนบ้าง จดบ้าง คุยบ้าง หลับบ้าง แอบกินขนมบ้าง กลับมายืนหน้าห้องบรรยายห้องเดิม แต่ครั้งนี้หันหน้าไปทางหลังห้อง เหมือนมองย้อนกลับไปจนเห็นตนเองในอดีต มันเปรียบดั่งการจาริกไปสู่ต้นกำเนิดแห่งตัวตนของผมเอง

ไม่มีวันไหนแม้แต่วันเดียวที่ไม่อยากไปสอน ฝนตก แดดออก รถติด ถนนว่าง วันเดินทางไปศาลายาเป็นวันที่ตื่นเต้น อุดมไปด้วยโอกาสและความเป็นไปได้ ไม่มีสองวันไหนที่เหมือนกันเลย

ยิ่งปีสุดท้ายปีนี้ด้วยแล้ว เลกเชอร์แต่ละครั้งยิ่งมีความหมายกับผมอย่างมาก

ผมรู้ว่าจะทำให้ดีที่สุด แต่ไม่เคยรู้เลยว่าผลจะออกมาอย่างไร และการที่ไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรนี่ด้วยกระมังที่ทำให้มันน่าตื่นเต้นเข้าไปใหญ่

คืนก่อนหน้า ผมมักจะนั่งทำ PowerPoint อย่างบรรจง เตรียมเล่าข่าวสดๆ ทันเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกับเนื้อหา เลือกรูป เลือกสไลด์ เลือกคลิปด้วยความพิถีพิถัน จนบางทีสงสัยว่าย้ำคิดย้ำทำเกินไปหรือเปล่า แต่เมื่อคิดว่ากับช่วงเวลาสั้นๆ ๖ สัปดาห์ สัปดาห์ละ ๒ ชั่วโมง แต่ละนาทีนับว่ามีความหมายไม่น้อย

อันที่จริง ๑๒ ชั่วโมง กับเนื้อหา ๑๑ บท ๑๙๘ หน้าแล้ว มันง่ายมากเลย ที่คนสอนอย่างเราๆ จะเดินทางเข้าสู่ร่องของการเรียนรู้ที่เราคุ้นเคยตั้งแต่สมัยเราเป็นนิสิตนักศึกษาเอง เพราะลำพังแค่สรุปเนื้อหาในหนังสือมาสอนก็แทบจะไม่ทันแล้ว “ไม่ใช่แต่ พูดๆ ไปตามหนังสือ พอเสร็จ เด็กก็ไปคายๆๆ ในห้องสอบ ใครจำได้มากได้คะแนนมาก หนูรู้สึกว่ามันไม่ค่อยแฟร์เท่าไหร่” (รหัส 520517X)

หรือว่าเราต้องเชื่อว่านักศึกษาเขาเรียนรู้เองได้ รับผิดชอบตนเองได้ หากว่าเขาต้องการ ถ้าเช่นนั้น ความท้าทายของเราอาจจะไม่ได้อยู่ที่การพยายามอัดหรือยัดเนื้อหาให้ได้มากที่สุด แต่อยู่ที่การทำให้เขาเห็นคุณค่า ความหมาย ความสำคัญ ความน่าทึ่ง ในโอกาสและวิชาที่อยู่เบื้องหน้าเขา

หากเราเชื่อในเจตจำนงอิสระของมนุษย์แต่ละคน และสามารถโยงสิ่งที่เขาเรียนเข้ากับชีวิตของเขาได้ ก็คงไม่ต้องขู่เข็ญใครให้มาเข้าเรียน รวมไปถึงบังคับข่มขู่ด้วยระบบคะแนน

ผมสนุกกับการสร้างความหมายใหม่ให้กับวิชาชีววิทยา วิทยาศาสตร์ การเรียนรู้ และการมีชีวิต ร่วมกันไปกับรุ่นน้องคณะ เชื้อเชิญอารมณ์ ความรู้สึก ความมีชีวิตชีวา ความเป็นมนุษย์กลับเข้ามาสู่การเรียนรู้อีกครั้ง (โดยไม่ได้พูดถึงคำว่า จิตตปัญญาศึกษา, Contemplative Education หรือ Humanized Educare เลย) เชิญชวนให้เขาตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาเรียน วิธีการที่เขาเรียน และเป้าหมายของการเรียนของเขา (สไลด์แรกสุดคือคำถามว่า “จะเรียนไป ... ทำไม?”)

แน่นอน นักศึกษาจะรู้สึกงงๆ ในตอนต้น

“แรกๆ ผมก็โดด คิดว่าไปอ่านเองแล้วจะได้อะไรมากกว่า แต่หลังๆ ก็เริ่มเข้า [เรียน] ทำให้รู้สึกว่าไม่น่าโดดเลย อาจารย์สอนอะไรมากกว่าในหนังสืออีก ทำให้ผมเริ่มรู้สึกว่าการเรียนมหาลัยไม่ใช่เพื่อเป็นที่ 1 คณะ หรือได้คะแนนเกินมีนมาเยอะๆ แต่มันประกอบด้วยการมีศีลธรรม รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักธรรมชาติ รู้จักการเอาใจใส่คนรอบข้าง เกรดก็สำคัญ แต่เกรดไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต มีอะไรให้ชีวิตเราค้นหามากกว่านั้น มันคือความสุขของชีวิต เมื่อเราได้ทำในสิ่งที่ชอบ ไม่ต้องสนใจว่าสาขานี้เป็นสาขาที่ต้องการ มีรายได้ดี ขอบคุณอาจารย์มากๆ ครับที่สอนแนวคิดดีๆ ที่หาไม่ได้จากที่อื่นให้ผมครับ” (จิรพงศ์ บ.)

ทุกครั้ง ก่อนหมดคาบ ๑๐ นาที ผมให้ทุกคนเขียนสะท้อนว่า ๑) สิ่งสำคัญที่สุดที่เขาได้เรียนรู้ หรือสิ่งที่เขารู้สึก “โดน” ที่สุดในวันนั้นคืออะไร และ ๒) เขามีอะไรที่อยากจะถาม/รู้/บอก/แนะนำ แต่ละสัปดาห์ผมจึงมีกระดาษสองร้อยกว่าแผ่นกลับบ้าน ผมอ่านทุกใบด้วยความสนใจใคร่รู้ อยากรู้จักแต่ละคน อยากเข้าใจในที่มาของแต่ละคน ผมคัดไว้จำนวนหนึ่งเพื่อมาอ่านตอนต้นชั่วโมงถัดไป ทั้งข้อคิดเห็น คำบ่น คำแซว คำชม โดยเฉพาะคำถาม ซึ่งผมมักตอบบ้าง ไม่ตอบบ้าง “อย่าฆ่าคำถามดีๆ ของเขา ด้วยคำตอบห่วยๆ ของเรา” ผมเตือนตนเอง

วันนี้วันสุดท้ายแล้ว ผมชวนนักศึกษาทำ Intuitive Writing ให้เขาได้แบ่งปัน “อะไรก็ได้” เพื่อสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจากชั้นเรียนที่ผ่านมา การเขียนนี้ไม่มีผลต่อคะแนน และไม่จำเป็นต้องลงชื่อ

คำแนะนำสั้นๆ ของผม คือ เขียนโดยไม่หยุด ไม่ยกปากกาขึ้น เขียนไปเรื่อยๆ หากนึกไม่ออก ก็เขียน “นึกไม่ออก นึกไม่ออก” สบายๆ ผ่อนคลาย ไปเรื่อยๆ เป็นเวลา ๑๐ นาที

สิบนาทีสั้นๆ ที่ยิ่งใหญ่ และมีความหมายสำหรับผม สัมผัสรับรู้ได้ว่าทำไมมีนักศึกษาหลายคนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่

“At first, I thought that there was nothing interesting in sitting and studying in the room. Though it was freaking hard waking up in the morning, walking to the [Lecture Hall], but I did it with cheering ’cause it was Monday, the day I get to study Biology with you. ... There are lots of things out there waiting to be explored, but I just ... waste my time fooling around on the internet. Your words are like wake up calls to me. ... Thank you for everything. You’re such a heaven-sent. I’m honored.” (ภัทราวรรณ พ.)

“อาจารย์เชื่อไหมว่าเด็กคนหนึ่งที่ไม่เคยคิดชอบชีวะเลย ... คิดว่ามันน่าเบื่อ แต่ตอนนี้กลับอยากเข้าห้องเรียน อยากมานั่งฟัง รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ... ถามว่าอะไรโดนเหรอคะ โดนตรงที่มันเปลี่ยนความคิดของคนได้ เนี่ยหล่ะโดนสุด” (ไม่ลงชื่อ)

“การได้เรียนรู้แนวการเรียนที่มันแตกต่างออกไป มันทำให้เราได้คิดย้อนกลับมามองตัวเองมากขึ้นว่าสิ่งที่เราเรียนเราเรียนไปเพื่ออะไร เพื่อเอาไปทำอะไร แล้วมันมีความสัมพันธ์กับชีวิตรอบตัวของเราอย่างไร ทั้งคน-สัตว์และพืช (สิ่งแวดล้อม) มีความสัมพันธ์กันทั้งนั้น แต่เรากลับมองข้ามสิ่งเหล่านั้นไป ทำให้เราไม่รู้จักพอ” (โฆษิต ฐ.)

“เป็นประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาจากที่อื่นมาทดแทนได้ การเรียนชีววิทยาที่น่าตื่นเต้นในมุมมองของคนที่จะศึกษาวิทยาศาสตร์กายภาพอย่างผมนี้” (พิษณุ บ.)

“แท้จริงแล้วมนุษย์ก็เป็นส่วนเล็กๆ ของธรรมชาติ แม้ว่าจะได้เจออาจารย์เพียงช่วงสั้นๆ แต่หนูก็ดีใจและภูมิใจมากๆ ค่ะ ที่ได้เป็นศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์ หนูจะใช้เวลาอีก 3 ปี+1 เทอมในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้มีคุณค่ามากที่สุดเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในห้องเรียน ก่อนออกไปเผชิญกับโลกภายนอกอย่างเต็มภาคภูมิ หนูสัญญาว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีเหมือนอย่างที่อาจารย์เป็น จะไม่เอาความรู้ที่เรามีไปเอาเปรียบใคร ... ขอบคุณมากๆ ค่ะ สำหรับการเรียนใน 6 ครั้งที่ผ่านมา แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แต่หนูก็ดีใจ และขอบคุณจากใจค่ะ” (520517X)

“ก็ไม่รู้สิ มีอะไรอยากบอกมากกว่านี้ตั้งมากมาย แต่ก็นะ บอกไม่หมดหรอก ขอบคุณล่ะกันครับ ความรู้สึกที่มากที่สุดตอนนี้คงเป็นคำว่า ขอบคุณ” (อรรถพล อ.)




ใช่เลย ความรู้สึกเด่นชัดที่สุดของผมขณะนี้ คือ ขอบคุณ ขอบคุณเหล่านักเดินทางรุ่นเยาว์เหล่านี้ พวกเขาเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้การเดินทางท่องไปในโลกใบกว้าง พร้อมๆ กับเดินทางเข้าไปในใจในกาย ที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบ น่าอัศจรรย์ไม่แพ้กัน ดังเช่นที่ สาทิศ กุมารเคยกล่าวไว้ “มีเธอ จึงมีฉัน”

ชวนให้ผมนึกถึงการเดินทางด้วยเท้าอันยิ่งใหญ่ในโลก โดยเฉพาะการเดินทางของคานธี ไปทำเกลือทะเลที่นำไปสู่การประกาศอิสรภาพของอินเดีย การเดินทางโดยปราศจากเงินแม้เพียงรูปีเดียว ของสาทิศ กุมารจากอินเดียไปยุโรปและอเมริกา เพื่อส่งมอบ “ชาสันติภาพ” แก่ผู้นำประเทศมหาอำนาจทางนิวเคลียร์ รวมถึงการเดินทางของประมวล เพ็งจันทร์ อันเป็นที่มาของหนังสือ “เดินสู่อิสรภาพ”

การเดินทางเล็กๆ ในชั้นเรียน แม้จะไม่โด่งดังและยิ่งใหญ่เท่ากับการเดินทางเหล่านั้น แต่ก็ “จริง” อย่างยิ่งสำหรับบรรดาเหล่านักเดินทางรุ่นใหม่ เป็นดั่งคำเชื้อเชิญให้เปิดใจ เรียนรู้ และออกเดินทางสู่การตื่นรู้ ในวิถีที่ไม่แยกเป้าหมายทางวิชาชีพ (professional quest) ออกจาก เป้าหมายทางจิตวิญญาณ (spiritual quest)

ชั้นเรียนของเราอาจจะจบแล้ว แต่การเดินทางของเราอาจจะเพิ่งเริ่มต้นขึ้นก็ได้

ยินดีต้อนรับสู่การเดินทางบทใหม่ครับ :-)



โดย สุวัฒนา ชุมพลกูลวงศ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๒

“เราจำเป็นต้องเป็นตัวเราตลอดเวลาไหม?”

พี่สาวพยาบาลทหารคนหนึ่งถามขึ้นในวงสุนทรียสนทนา เพราะช่วงที่ผ่านมา เธอกลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง และต้องจัดกระบวนการกลุ่มโดยผลัดกับเพื่อนเป็นผู้นำกลุ่มและดำเนินการประชุมให้สำเร็จลุล่วง แน่นอนว่าทุกอย่างอยู่ในสายตาของผู้ประเมินซึ่งเธอเรียกว่า Commentator ตลอดเวลา

เธอถามคำถามนี้กับตัวเองในค่ำคืนหลังจากตัวเองเป็นผู้นำประชุม และถูก Commentator กระหน่ำความเห็นประหนึ่งหวดไม้ลงมาที่เธอซ้ำแล้วซ้ำเล่า “กะว่าจะเอาให้ลงไปกองตรงนั้นให้ได้เลยกระมัง” เธอกล่าว เพื่อนๆ ถึงกับเข้ามาจับมือ ตบไหล่ และให้กำลังใจเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ ทั้งๆ ที่เธอเพียงแสดงเป็นตัวของเธอเองน่ะหรือ ผู้ประเมินถึงกระหน่ำคำพูดที่ทำร้ายกับเธอเช่นนี้?

ถ้าเช่นนั้นเธอควรจะทำเช่นไรดี?

วันถัดมา เธอจึงแสร้งทำเป็นซึมแต่เช้า ทั้งที่ปรกติเป็นคนที่มีความมั่นใจในตนเองมาก พูดจาฉะฉานและมีแววตาที่มุ่งมั่น และเพื่อให้สมบทบาทนี้ เธอถึงกับกรอกยาแก้ปวดหัวต่อหน้าเพื่อนฝูง ไม่ให้เพื่อนๆ ประหลาดใจว่าเธอแปลกไป เพราะวันนี้เธอจะเป็นคนปวดหัว ซึม เซื่อง และนำประชุมไม่ได้เรื่องไงล่ะ!

ผลที่เกิดขึ้นนับว่าเกินความคาดหมาย เพื่อนๆ และวงประชุมเซื่องซึมไปตามๆ กัน ยังไม่นับ Commentator ผู้เดิมที่ไม่อาจหวดไม้ตะบองที่เตรียมมาได้เลย

นี่อาจเป็นวิธีแก้ปัญหาหรือสถานการณ์ที่เธอต้องเผชิญให้ก้าวผ่านมาได้อย่างดีที่สุดแล้ว แต่กระนั้น ฉันกลับฟันธงไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้อยู่ในใจเงียบๆ

---------------------------------------

ตอนบ่ายหลังจากวงสนทนาจบลง ฉันเดินไปทานข้าวกับพี่สาวอีกสองคน เรายังคงพูดคุยถึงเรื่องราวของแต่ละคนกันต่อ พี่คนหนึ่งพูดในตอนท้ายเป็นเชิงสรุปความคิดเห็นของตนเองเกี่ยวกับการทำงานในบริษัทที่ต้องกระตุ้นและฟูมฟักการเติบโตให้แก่พนักงานในความดูแลว่า “ต้องยอมรับว่าในความเป็นจริง คนที่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และเติบโตด้วยตัวเองเหล่านี้มีเป็นส่วนน้อย เราจึงยังต้องกระตุ้น ชักจูง ให้รางวัลคนส่วนใหญ่ให้กระตือรือร้นขึ้นมา”

ความไม่พอใจระคนกับความรู้สึกไม่เห็นด้วยก็เกิดขึ้นในใจของฉันอีกครั้ง

จากนั้น ภาพสมัยชั้นเรียนวิชา การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวิชา สิ่งแวดล้อมศึกษา : ทฤษฎีและปฏิบัติ ในมหาวิทยาลัยของฉันก็ผุดตามขึ้นมาทันที (คุณพระช่วย! ใจเรามันเร็วจริงๆ)

“เป็นตัวของตัวเอง ตัวเองถูกเสมอ ทุกคนต้องหมุนรอบตัวฉัน” ฉันไม่ได้หมายความเช่นนั้น แต่ภาพตัวฉันและเพื่อนในสองชั้นเรียนนี้ ทำให้ฉันฉุกคิดถึงความเป็นตัวของตัวเอง ในอีกแง่มุมที่เรียกว่า “ศักยภาพดั้งเดิม” หรือ “ศักยภาพเดิมแท้” ที่มนุษย์แต่ละคนมีอยู่แล้ว และมีมาตั้งแต่ถือกำเนิด

หากเปรียบเทียบเพื่อนนักศึกษากว่า 10 ชีวิตช่วงก่อนและหลังจากเรียนทั้งสองวิชามาตลอดเวลา 1 ปี เราพบว่าการเติบโตของ “ตัวตน” แต่ละคนช่างสวยงามเหลือเกิน

“เหมือนแต่ละคนเป็นต้นไม้ ที่วันนี้ออกดอกออกมาอย่างสวยงาม” คือคำพูดเปรียบเปรยสิ่งที่เกิดขึ้นในวันสุดท้ายของการเล่าเรียนในวิชาเหล่านั้น

ด้วยกระบวนการเรียนรู้ของวิชาการจัดการทรัพยากรฯ ที่หนุนเสริมให้แต่ละคนเลือกทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ไม่มีการทำโทษหรือตำหนิอย่างฉับพลันทันที เช่น หากเข้าเรียนไม่ทันเวลา ไม่ส่งงานตามกำหนด หรือไม่ได้ศึกษาเอกสารมาล่วงหน้า อาจารย์ก็เพียงแต่ยิ้ม (จริงๆ!) ไม่ดุด่า แต่ก็ไม่ปล่อยปละละเลย และในวันที่มีกรณีเหล่านี้ พวกเราก็จะได้เรียนรู้และเข้าใจตนเองในสิ่งที่ไม่มีใครเคยสอน จากเรื่องราวเกิดขึ้นในชีวิตจริง

ส่วนวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษาฯ ทุกคนจะต้องเขียนข้อเสนอโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาส่งในวันสุดท้ายของชั้นเรียนคนละชิ้น แต่ระหว่างนั้นฉันกลับได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเองมากมายเหลือเกิน ตั้งแต่การเลือกหัวข้อโครงการ ซึ่งมันอาจใช้เวลาไปมากมายก็จริง แต่กลับเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในความคิดของฉัน พวกเราได้ค่อยๆ สำรวจว่าในโลกใบนี้ อะไรคือสิ่งที่เราสนใจ? อะไรคือสิ่งที่เราให้คุณค่า? เราจะเลือกหัวข้อที่ยากลำบากแต่ท้าทายความสามารถและจริงแท้กับความรู้สึกของตัว หรือจะเลือกหัวข้อพื้นๆ ทำให้เสร็จได้ง่ายๆ เพียงแค่พอแถกับคนอื่นได้ว่าตัวเองก็มีความสนใจนะ เพียงแค่ขั้นตอนนี้ก็อาจเรียกได้ว่าเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองมากกว่าเวลา 3 ปีที่ผ่านมาในมหาวิทยาลัยแล้วด้วยซ้ำ

ระหว่างการพัฒนาโครงการ ฉันเริ่มเห็นความกลัว ขี้กังวลและลังเลขนาดบิ๊กเบิ้มอาศัยอยู่ในใจของตัวเอง แม้จะทำการบ้านค้นคว้าแหล่งข้อมูลมามากมาย ศึกษากรณีที่คล้ายคลึงกับหัวข้อที่ฉันเลือกไว้มาเยอะแยะ แต่ฉันกลับไม่สามารถตัดสินใจทำอะไรได้เลย มีแต่ความลังเลไม่แน่ใจ ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรอื่น นอกเสียจากความกลัวว่าผลลัพธ์จะไม่สำเร็จ (แต่ปากก็แก้ตัวว่า ไม่รู้ขั้นตอนที่ชัดเจน)

ในเวลานั้น เพียงแค่คำพูดสั้นๆ ง่ายๆ ของอาจารย์ที่พูดขึ้นมาหลังจากที่ฉันเล่าให้ทุกคนฟังว่าฉันไปทำความรู้จักโครงการไหนมาและชอบแต่ละโครงการอย่างไร อาจารย์เพียงแต่พูดว่า “สำหรับที่นี่ ผมแนะนำว่าน่าไปดู” เท่านั้นเองฉันก็ใจชื้นขึ้น ความกังวลถูกวางพักเอาไว้ก่อน ฉันรีบขอจดหมายอนุญาต วางแผนการเดินทาง และไปเยี่ยมชมโรงเรียนตัวอย่างด้านจัดการของเสียเหลือศูนย์ภายในไม่กี่สัปดาห์

แน่นอนว่า ฉันเขียนข้อเสนอโครงการสำเร็จลงด้วยดี พร้อมกับความรู้สึกที่ไม่ได้โกหกตัวเองว่าฉันเข้าใจเรื่องที่ฉันสนใจนี้มากขึ้นจริงๆ และสิ่งที่ฉันประทับใจไม่มีวันลืมคือคำพูดว่า “น่าไปดู” ที่ไม่บีบคั้น ไม่ชักจูง เป็นเพียงความเห็นเปิดกว้างจากอาจารย์ ฉันได้ตัดสินใจเลือกเองว่าจะไปหรือไม่ และฉันก็ได้ไป … ด้วยตัวเอง

---------------------------------------

จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ สิ่งที่ฉันอยากบอกก็คือ ครูไม่อาจอยู่กับเราได้ตลอดไป เช่นเดียวกัน พ่อแม่กับลูก เจ้านายกับลูกน้อง หรือระหว่างเพื่อนด้วยกัน การช่วยเหลือด้วยการกระตุ้น หลอกล่อ ชักจูง ในภาวะเริ่มต้นคงจำเป็นต้องกระทำกันบ้าง แต่นั่นไม่ใช่วิธีเดียวและวิธีสุดท้ายแน่นอน ฉันคิดว่าเป้าหมายสูงสุดของการศึกษา คือ การให้คนแต่ละคนสามารถเหนี่ยวนำตนเองให้กระทำสิ่งใด หรือไม่กระทำสิ่งใด ได้ด้วยตนเองต่างหาก เพราะเมื่อนั้นแล้ว ไม่ว่าใครจะล่อหลอกเขาด้วยสิ่งใด ดูน่าเชื่อถือหรือถูกต้องแค่ไหน เขาก็จะเลือก ด้วยความคิดความเชื่อที่ใคร่ครวญแล้วของตนเอง เขาจะเป็นผู้รับผิดชอบชีวิตของเขาเอง และเขาจะกระทำสิ่งต่างๆ อย่างเต็มความสามารถที่ตนมี มิใช่เพียงทำให้ได้เท่าที่ผู้อื่นเรียกร้องเขาให้กระทำ

จึงน่าตั้งคำถามยิ่งนักว่า เพราะสาเหตุใดลูกจ้างในบริษัทชั้นนำที่มีค่าตอบแทนสูงๆ หรือนักเรียนในโรงเรียนที่มีเนื้อหาการสอนเข้มข้น ถึงได้เซื่องซึมและไร้เรี่ยวแรงในการเติบโตและเรียนรู้ได้? ผิดวิสัยสิ่งมีชีวิตยิ่งนัก และบทบาทของพ่อ แม่ เพื่อน พี่ น้อง โค้ช เพื่อช่วยให้คนเราเป็นตัวของตัวเอง สามารถโลดแล่นไปในโลกแห่งการกระทำอย่างมีชีวิตชีวาอีกครั้งได้นั้น จะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร?

อาจารย์เคยกล่าวกับนักศึกษาในชั้นเรียนว่า “อย่าฆ่าคำถามดีๆ ด้วยคำตอบห่วยๆ” เพราะฉะนั้นฉันจะไม่รีบร้อนด่วนสรุป และหยิบยื่นคำตอบให้ในที่นี้ แต่จะขอยกหน้าที่ให้เราต่างไปพินิจใคร่ครวญคำถามเหล่านี้ต่อด้วยตัวเราเอง หากคุณคิดว่าคำถามเหล่านี้ดีพอนะ

ราตรีสวัสดิ์



โดย ภาณุมาศ จีรภัทร์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๒

“โจทย์ยากๆ ในชีวิตตอนนี้น่ะเหรอ ก็เรื่องตรงหน้านี่แหละ ยากที่สุดเลย” ฉันตอบคำถามที่ถูกโยนเข้ามาเป็นประเด็นสนทนาในงานเลี้ยงครบรอบวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งฉันและพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ร่วมกันจัดขึ้นมาเมื่อหลายวันก่อน เป็นเวลาหลายเดือนแล้วที่พวกเราไม่ได้มาเจอและพูดคุยกันพร้อมหน้าพร้อมตาแบบนี้หลังจากชั้นเรียนวันสุดท้ายสิ้นสุดลง วันนี้จึงเป็นเสมือนอีกวันหนึ่งที่พวกเราจะได้มาทบทวนการเดินทางที่ผ่านมาของแต่ละคน (ผู้คนในชั้นเรียนของฉันมักจะเรียกการเรียนรู้ทั้งในและนอกชั้นเรียน ตลอดจนชีวิตของพวกเราว่าเป็นการเดินทาง) ได้บอกเล่าแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ให้แก่คนอื่นๆ เพื่อเรียนรู้ร่วมกันอีกครั้ง

นึกย้อนไปถึงการเดินทางที่ผ่านมาในชีวิต มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ฉันอยากจะได้ทำ อยากจะได้เรียนรู้ แต่เมื่อถึงเวลาให้ต้องลงมือทำ ฉันกลับมักจะลังเล และหลายๆ ครั้งก็ลงเอยด้วยการเลือกที่จะไม่ทำ หรือหากฉันเลือกที่จะทำ มันก็ช่างเป็นสิ่งที่ยากเสียเหลือเกิน ไม่ใช่เพียงเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผู้คนภายนอก แม้แต่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวของฉันเอง กับผู้คนในครอบครัวที่ฉันรัก กับผู้คนต่างๆ ที่ใกล้ชิดและคุ้นเคย กับงานที่ฉันรักและเลือกแล้วที่จะมาทำ หรือแม้แต่กับสิ่งที่ฉันฝันและปรารถนาที่จะทำ จนในหลายครั้งฉันก็รู้สึกถอดใจ ... “เรื่องมันก็ง่ายๆ แค่นี้ ทำไมฉันถึงทำไม่ได้เสียที”

ฉันแอบเซ็งตัวเองเล็กๆ ที่ครั้งนี้ฉันก็ร้องไห้อีกแล้ว แม้ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องปกติสำหรับคนกลุ่มนี้ไปแล้วที่ฉันมักจะร้องไห้ เมื่อบอกเล่าเรื่องราวที่อยู่ภายในใจ ฉันเองก็รู้สึกปลอดภัยและไว้วางใจมากพอที่จะเปิดเผยความคิดความรู้สึกของฉัน นั่นสิ ไม่เห็นว่าจะต้องร้องไห้เลยนี่นา ... และนี่ก็เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ฉันก็ทำไม่ได้อีกเรื่องหนึ่ง

“สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่ายากและกังวลใจ ไม่ใช่เพราะว่าไม่ได้ทำ หรือว่าทำสิ่งนั้นไม่ได้ หากแต่เป็นเพราะความคาดหวังของตัวเอง เพราะรู้สึกว่าอยากจะไปเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ไม่อยากจะเป็นในสิ่งที่เป็นอยู่ เราก็เลยดิ้นรนและรู้สึกอึดอัด ถ้ากังวลใจเพราะว่ายังไม่ได้ทำจริง เราก็คงจะทำสิ่งนั้นไปแล้ว สิ่งที่เป็นจะเรียกว่าไม่มีวินัยก็ว่าได้ หนทางที่เราจะสามารถเป็นคนที่มีวินัยได้นั้น ต้องเกิดจากการทำบ่อยๆ อย่างจดจ่อต่อเนื่อง และทำด้วยความไม่คาดหวัง ทำไปให้ดีที่สุด และก็ควร ‘ทำทิ้ง’ ไม่ทำด้วยความอยาก ถ้าทำเพราะว่าอยากจะเป็นคนที่มีวินัยมันก็จะหนัก มันก็จะยาก แต่ให้ทำเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ” อาจารย์พูดขึ้นหลังจากที่ฉันพูดจบ

“แล้วการทำด้วยเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ กับการทำเพราะว่าความอยากนี่มันมีหนทางแตกต่างกันยังไงนะ” คำถามหนึ่งเกิดขึ้นมาในหัวของฉัน

แม้ว่าฉันจะรู้สึกคลี่คลายมากขึ้นเมื่อได้ยินอาจารย์บอกพวกเราเกี่ยวกับการเดินทางเพื่อแสวงหาคำตอบสำหรับโจทย์ยากๆ ของพวกเราแต่ละคน ก่อนที่งานเลี้ยงในวันนั้นจะจบลง อาจารย์บอกว่า “หนทางในการเดินทางน่ะอาจจะไม่จำเป็นต้องรู้จากการถาม ว่าทางเดินอยู่ตรงไหนเสมอไปหรอกนะ เราสามารถสร้างทางเดินขึ้นมาได้จากการเดินของเราเอง เดินไปเรื่อยๆ เส้นทางมันจะเกิดขึ้นมาเอง”

แต่คำถามที่ว่า “แล้วหนทางในการทำด้วยเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ นี่มันเป็นยังไงกันนะ” ก็ยังคงเกิดขึ้นในใจของฉันอยู่เนืองๆ ตลอดทางที่กลับบ้าน

คืนวันนั้น ฉันกลับมาเขียนบันทึกเหมือนเช่นที่เคยทำ จะต่างออกไปก็ตรงที่ครั้งนี้ฉันนึกครึ้มอกครึ้มใจลองเปิดอ่านบันทึกที่เคยเขียนไว้ตั้งแต่เมื่อต้นปีก่อน จากหน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย ก่อนจะเริ่มต้นเขียนบันทึกสำหรับวันนั้น แล้วฉันก็อดแปลกใจกับตัวเองไม่ได้หลังจากอ่านจบ เพราะความหนักอึ้ง งุนงงสงสัย ความไม่แน่ใจ คำถามต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นมันได้จางหายไป พร้อมๆ กับความรู้สึกอิ่มเอมใจ คำขอบคุณและชื่นชมยินดีที่ฉันมีให้แก่บุคคลคนหนึ่ง คนที่อยู่กับฉันมาตลอดบนเส้นทางที่ผ่านมาของการเดินทางในชีวิตฉัน

บนเส้นทางที่ผ่านมามีผู้คนมากมายที่ฉันได้ร่วมเดินทาง ได้ร่วมเรียนรู้ มีคำขอบคุณ ความชื่นชมและกำลังใจมากมายที่ฉันเคยได้เอื้อนเอ่ยออกไปแก่เขาเหล่านั้น ทั้งที่เป็นความรู้สึกและคำพูด แต่มีน้อยครั้งเหลือเกินที่ฉันจะได้เอ่ยคำขอบคุณแก่บุคคลคนหนึ่งที่ทำให้ฉันได้เรียนรู้ ได้บอกกล่าวความชื่นชม และให้กำลังใจในการเดินทางที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ของเขา ... บุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับฉันยิ่งนัก

“เมื่อกี้นี้ได้ลองเปิดอ่านบันทึกหน้าต่างๆ ที่ผ่านมา จนมาถึงหน้าที่กำลังเขียนอยู่นี้ บอกไม่ถูกเหมือนกัน แต่รู้สึกว่าดีใจมากๆ เลย แม้ว่าอาจจะไม่ได้เป็นการเดินทางที่ดีอะไรมากมาย แต่ก็เป็นการเดินทางที่งดงามมาก รู้สึกดีใจและชื่นชมการเดินทางที่ผ่านมา และก็อยากจะเป็นกำลังใจให้กับการเดินทางข้างหน้าของตัวเองจริงๆ”

หากจะบอกว่านี่เป็นครั้งแรกๆ ที่ฉันได้กล่าวคำขอบคุณและชื่นชมยินดีกับการเดินทางของตัวเองก็คงจะไม่ผิดนัก

ฉันมักจะรู้สึกว่าตัวของฉันนั้นมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ยังขาด ยังพร่อง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำสิ่งต่างๆ เพื่อเติมช่องว่างเหล่านั้นให้เต็มและหวังว่าการเติมเต็มช่องว่างเหล่านั้นจะสามารถทำให้ฉันเป็นคนที่สมบูรณ์ได้ในสักวันหนึ่ง เพื่อว่าฉันจะสามารถเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ได้ สามารถเป็นพี่ที่ดีของน้องๆ ได้ สามารถทำสิ่งต่างๆ เพื่อคนอื่นได้ และสามารถเป็นในสิ่งที่ฉันฝันได้

แต่ทว่า ยิ่งฉันพยายามทำเพื่อเติมช่องว่างเหล่านี้ให้เต็ม การเดินทางก็ดูจะยิ่งยากลำบากขึ้น

ความรู้สึกขอบคุณ ชื่นชม และกำลังใจที่ได้รับมาจากตัวเอง หลังจากได้มาทบทวนการเดินทางที่ผ่านมานั้น ทำให้ฉันรู้สึกว่าช่องว่างที่เคยขาดหายไปนั้นกลับเต็มขึ้นมา การเดินทางที่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ดีอะไรมากมาย และยังมีอะไรอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่จำเป็นจะต้องทำเพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้นนั้น กลายเป็นสิ่งที่สำคัญ มีคุณค่า มีความหมายและงดงาม โดยไม่จำเป็นจะต้องกลับไปปรับเปลี่ยนหรือแก้ไข เช่นเดียวกับการเดินทางที่กำลังเกิดขึ้นนี้ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อเติมช่องว่างเหล่านั้นให้เต็ม หากแต่เกิดขึ้นเพื่อให้ฉันได้ทำในสิ่งที่ควรทำในปัจจุบันให้ดีที่สุด และความเป็นไปได้อื่นๆ ที่ฉันสามารถจะเป็นได้ ก็เป็นสิ่งที่เกิดจะขึ้นเองจากทุกๆ ก้าวที่ฉันเดินทาง

“ฉันเองก็ยังไม่รู้หรอกนะว่าการเดินทางก้าวต่อไปจะเป็นอย่างไร และหนทางของการเดินทางเพื่อตอบโจทย์ยากๆ ของฉันนี้จะเป็นเช่นไร หากแต่คำตอบคงจะอยู่ที่การเดินทางกระมัง และนี่ก็เป็นอีกก้าวหนึ่งของการเดินทาง”

บันทึกในวันนั้นจบลงที่ตรงนี้ หากแต่การเดินทางของฉันก็ยังคงดำเนินต่อไป ในทุกๆ ขณะที่ฉันกำลังก้าวเดิน

Older Posts