โดย เจนจิรา โลชา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๒

ช่วงที่ผ่านมา ดิฉันรู้สึกเหงาจับใจ ความเหงาคงค่อยๆ คืบคลานเข้ามาในหัวใจอย่างเชื่องช้ามานานแล้ว กว่าจะรู้สึกตัวอีกที น้ำตาก็ไหลรินออกมาขณะที่นั่งรถตู้กลับบ้าน โลกที่เต็มไปด้วยผู้คน แต่ทำไมเรารู้สึกเหงาเศร้าและเดียวดายเหลือเกิน

มองไปทางใดก็มีผู้คนมากมาย แต่คนเหล่านั้นมีตัวตนก็เหมือนไร้ตัวตน มองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างเรากับคนอื่น ทุกคนต่างเป็นคนแปลกหน้าของกันและกัน ไม่สามารถเข้าถึงกันได้ ไม่มีใครสนใจใคร ทุกคนต่างมุ่งหน้าก้าวไปยังจุดหมายของตนเอง โดยไม่มีใครเหลือบแลผู้อื่นเลย หรือเป็นเพียงเพราะว่ามนุษย์ใช้ความสัมพันธ์ในการเข้าถึงและเกี่ยวโยงกัน ในขณะที่เราอยู่ท่ามกลางหมู่ชน บนถนน ตรงป้ายรถประจำทาง ในรถตู้ หัวใจก็เริ่มว่างหวิวที่รับรู้ได้ว่า ตัวตนของเราได้สูญหายไป เราไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนเหล่านั้นได้ เราจึงรู้สึกเหงาเท่านั้นเอง

ขณะที่ความเหงาส่งกลิ่นตลบอบอวลในหัวใจ เสียงต่างๆ ก็ดังขึ้นในหัว “โทรหาเพื่อนสิ” “ไปดูหนังดีกว่า” “แวะไปทานข้าวที่บ้านพี่สาวท่าจะดี” เสียงเหล่านี้ต่างเชื้อเชิญให้เราออกจากความเหงา โดยการหันไปทำบางสิ่งบางอย่างแทน ล้วนเป็นสิ่งสนุกสนานเพลิดเพลินที่จะทำให้เราหลงลืมความเหงาที่ผ่านเข้ามาอย่างแน่แท้ แต่ก็มีอีกเสียงหนึ่งดังขึ้นภายในใจ “ลองอยู่กับความเหงาเถอะ อย่าได้หลบหลีกมันอีกเลย มันมีอยู่ในตัวเรา” ใจก็เริ่มลังเล สุดท้ายจึงตัดสินใจว่าจะลองจับเข่านั่งพูดคุยกับความเหงาดูสักครั้ง จะได้รู้ว่าความเหงานั้นน่ากลัวอย่างที่คิดไว้หรือเปล่า

ความเหงาที่เกิดขึ้นอาจจะดูคล้ายกับว่า เรากำลังอ่อนแอ หรือเปราะบางภายในใจ แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด เพราะเราก็สามารถเหงาเศร้า อ่อนแอและเปราะบางได้อยู่ตลอดเวลา เพียงแต่เราหลบเลี่ยงที่จะสัมผัส รับรู้ว่ามันมีอยู่เท่านั้นเอง แต่หากว่าเราลองเข้ามาสัมผัสใกล้ชิดกับความเหงา ความเหงานั้นกลับถูกเติมเต็มด้วยความใส่ใจ ไม่ว่างโหวง แต่เต็มอิ่มอยู่ในใจ ความเหงาเศร้าก็จะจางคลายลงด้วยตัวของมันเอง

ก็คงต้องยอมรับตามตรงว่า กลัวความเหงา ความเศร้า ไม่อยากอยู่คนเดียว เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าตัวเองว่าง ก็มักจะหาอะไรบางอย่างทำอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะได้ไม่ต้องพบเจอหรือสัมผัสถึงความรู้สึกเหงา และอยู่อย่างโดดเดี่ยว กิจกรรมต่างๆ ที่สรรหาขึ้นมาทำ ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง จัดเก็บห้อง ไปพบเจอเพื่อนฝูง หรือแม้แต่ท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ สิ่งเหล่านี้มักเป็นตัวที่ช่วยลบเลือนความเหงาในใจให้จางคลายลง แต่ก็คงต้องยอมรับอีกเช่นกันว่า ที่จริงแล้วเราหนีไม่พ้นความเหงาเศร้าและความรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายนี้เลย อาจเป็นเพราะมนุษย์มีเมล็ดพันธุ์แห่งความเหงาเศร้านี้อยู่ในตัวอยู่แล้ว และมันก็พร้อมจะโผล่ปรากฏออกมาทุกเมื่อ เพียงแต่ว่าเมื่อใดที่มันแค่แง้มบานประตู เราก็พร้อมจะปิดประตูลงแรงๆ อย่างรวดเร็ว อีกทั้งล็อกประตูอย่างแน่นหนา แล้ววันหนึ่งเสียงแห่งความเหงาเศร้า ก็จะมาเคาะประตูเรียก เคาะดังขึ้นๆ ถี่ขึ้นๆ คงขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกจะรับฟังเสียงเคาะเรียกนั้นและเปิดประตูต้อนรับมันหรือเปล่าเท่านั้นเอง

หากจะอ้างว่าการดำเนินชีวิตกลางกรุง ทำให้เราเกิดความเหงาโดดเดี่ยวภายในเช่นนี้ ก็ฟังดูคล้ายจะโทษความขุ่นมัวสิ่งที่ไม่ดีไปให้กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองหลวงไปเสียหมด จริงอยู่ที่การเป็นอยู่แบบตัวใครตัวมัน ไม่มีใครใส่ใจใคร การอยู่กับตัวเองมากเกินไปจนกลายเป็นเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง และวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้เรามองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างเรากับผู้อื่นและสรรพสิ่ง แต่นี่อาจเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหงาขึ้นภายในใจของผู้ในกลางเมืองใหญ่เท่านั้น และมีเหตุของความเหงาอีกมากมายที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละคน อกหัก พลัดพรากจากคนที่เรารัก การสูญเสียบางอย่างไป การเปลี่ยนจากสถานที่เดิมไปยังอีกแห่ง หรือสถานการณ์เดิมไปสู่อีกสถานการณ์หนึ่ง การไม่ได้อยู่ในสถานที่หรืออยู่กับคนที่เราคุ้นเคย บรรยากาศ สิ่งรายล้อมล้วนส่งผล กระตุ้นต่อมความเหงา ปลุกเมล็ดพันธุ์แห่งความเศร้าที่มีอยู่ในตัวเราให้ลุกขึ้นมาทำงานอยู่เสมอ

แม้กระทั่งความรู้สึกเหงาเศร้าจากการที่เราต้องการการดูแลเอาใจใส่ การรับฟังจากคนบางคน แต่เราเองก็ไม่กล้าร้องขอการดูแลและการรับฟังนั้น ไม่ว่าจะด้วยการที่เราปิดกั้น ไม่ไว้วางใจ หรือขาดพื้นที่ในการพูดคุย สุดท้ายลึกๆ เราต่างโหยหาความสัมพันธ์ แต่ไม่รู้ว่าจะสร้างหรืออยู่กับความสัมพันธ์นั้นอย่างไร และยิ่งรู้สึกเหงาเพิ่มขึ้นอีกทบทวีเมื่อพบว่าไม่มีใครสนใจรับรู้ว่าเรากำลังเหงาอยู่ อยากให้คนอื่นรับรู้ว่าเรากำลังเหงา แต่เราก็ไม่บอกเล่าถึงความเหงาของเราออกไป เป็นการเรียกร้องที่ไม่เปล่งเสียง โหยหาแต่ก็ไม่เอื้อมมือออกมาไขว่คว้า คาดหวังเพียงใครสักคนจะผ่านเข้ามารับรู้ถึงความเหงาของเราได้เอง สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้ความเหงาที่เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์กลายเป็นความเจ็บปวดของความเหงา

ทุกคนเกิดมาล้วนมีวิถีชีวิตเป็นของตัวเอง มีประสบการณ์อันลึกซึ้งในการดำรงชีวิตของเรา มีความรู้สึก มีทุกข์สุข ความเจ็บปวดต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนอื่นไม่อาจจะมารับรู้ร่วมกับเราได้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ปรารถนาอย่างยิ่งที่จะทำให้คนอื่นได้เข้ามาร่วมรับรู้ถึงประสบการณ์ความรู้สึกภายในใจของเรา ทั้งที่มันเป็นเรื่องที่ยากเหลือเกิน ถึงแม้เราจะบอกเล่าแบ่งปันสิ่งเหล่านั้นออกไปให้คนอื่นได้ร่วมรับรู้ แต่มันเป็นเพียงการบอกให้ผู้อื่นได้รับทราบเท่านั้น หลายๆครั้งที่เราพบเจอกับคนที่มีประสบการณ์ร่วมหรือคล้ายกันกับเรา แล้วเราก็พบว่ามีบางส่วนเท่านั้นที่คล้ายคลึงกับเรา แต่ไม่ใช่ทั้งหมด มันจึงเป็นเรื่องเหงาๆ ที่น่าเศร้าเหลือเกิน ที่เราไม่อาจเรียกร้องใครให้เข้าใจเราได้แม้กระทั่งคนเดียว

ในความโดดเดี่ยว ชีวิตของเราก็ต้องดำเนินอยู่บนเส้นทางที่ต้องเป็นไปของเราแต่ละคน เบื้องหลังชีวิตไร้ซึ่งสิ่งที่เราจะเกาะเกี่ยวหรือพึ่งพิงได้ เราไม่สามารถยึดใครหรือสิ่งใดได้เลยในโลกนี้ แม้แต่พ่อแม่ คนรัก ลูก ถึงจะมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันระหว่างเรากับผู้คนเหล่านี้ แต่ท้ายที่สุดทุกคนต่างต้องมีวิถีที่ดำเนินไปของตัวเอง ทางพุทธศาสนาจึงสอนให้เรายึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง แต่สิ่งเหล่านี้ช่างเป็นนามธรรม ไม่อาจจับต้องและยากที่จะเข้าถึงได้เสียยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เราจึงยิ่งรู้สึกเหงาเศร้าและอ้างว้าง หรือแท้ที่จริง... ความเหงาเศร้านี่ อาจเป็นสิ่งธรรมดาของชีวิต เพียงแต่เราหวาดกลัวที่จะรับรู้ว่า ชีวิตเดียวดายและไร้ที่ยึดเกี่ยวเช่นนี้ก็เป็นไปได้

หากลองปล่อยให้ความเหงาเศร้าได้ออกจากห้องที่เราปิดซุกซ่อนมันไว้บ้าง ให้ชีวิตได้เต้นรำคู่กับความโดดเดี่ยวดายเดียวในบางครา เราอาจพบว่าเมื่อความเหงาได้ผ่านมาในหัวใจ มันไม่ได้เจ็บปวด น่ากลัวแต่อย่างใด มันมาเพียงเพื่อผ่านไป และอาจจะย้อนกลับมาเยือนใหม่ได้เสมอเฉกเช่นทุกความรู้สึก ทุกประสบการณ์ ทุกคนและทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเราก็เป็นได้

แต่นั่นไม่ได้ความหมายว่า เมื่อเกิดความเหงาแล้วเราจะจัดการลบมันไปอย่างง่ายดายด้วยการไปทำอย่างอื่นแทน อย่าให้ความเหงาเป็นเพียงแค่ความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้น หากลองดื่มด่ำรับรู้ถึงรสชาติของความเหงาและเรียนรู้กับวาระแห่งความเศร้าที่เข้ามาและผ่านไปนั้น ปล่อยให้เสียงแห่งความเหงาได้เอื้อนเอ่ยบอกความนัยแห่งชีวิตเมื่อยามชีวิตผ่านในความเหงา ดีใจนะที่ได้พบเจอกัน ... ความเหงา



โดย เพ็ญจุรี วีระธนาบุตร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๒

“รับปริญญาฯ เหรอ ไม่เอาหรอก ไม่เห็นจะอิน แถมร้อนก็ร้อน คนก็เยอะ ขอไม่ไปรับได้ไหม” ความคิดแรกของฉันผุดขึ้นมาทันทีที่รู้ว่าอีกสองเดือนจะต้องเข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร ผิดกับคนรอบข้างต่างพากันตื่นเต้นและเตรียมพร้อมกับช่วงเวลาที่กำลังจะมาถึง ฉันไม่ยอมลงทะเบียนเข้าพิธีฯ และยังบ่นกับคนรอบข้างไปหลายต่อหลายครั้งว่า ไม่อยากไป ไม่อยากไป

จนกระทั่งฉันไปบ่นกับพี่ผู้น่ารักคนหนึ่งซึ่งมาจากเชียงราย แต่สิ่งที่พี่คนนั้นบอกฉันกลับมาคือ “รับเถอะ ถือว่ารับปริญญาเป็นของขวัญให้พ่อกับแม่ไง” เมื่อได้ยินคำพูดนี้ ฉันจึงเปลี่ยนใจและกลับมาลงทะเบียน ช่วงเวลานั้น ฉันพยายามไม่หันไปมองความคิดเดิมที่ยังแทรกเข้ามาบ้างในบางเวลา และพยายามเอาความคิดที่ว่า “แค่สามวันเอง จะทำเพื่อพ่อแม่ไม่ได้เลยหรือไง” เข้ามาแทน

ฉันไปซ้อมรับพระราชทานปริญญาฯ วันแรกด้วยความรู้สึกที่บอกไม่ถูก เหมือนตัวเองกำลังพยายามทำในสิ่งที่ถูกที่ควร แต่เมื่อฉันเข้าไปนั่งในห้องบรรยายที่แสนคุ้นเคยและดูวีดิทัศน์พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของรุ่นพี่ปีก่อนๆ ความรู้สึกที่ไม่คาดฝันก็ค่อยๆ ปรากฏออกมา “ว้าว เท่ห์” วีดิทัศน์ฉายภาพของบัณฑิตใหม่ที่กำลังเดินเรียงแถวออกมาอย่างสง่างาม เปิดคลอกับเสียงเพลงประจำมหาวิทยาลัยที่เราทุกคนรู้จักเป็นอย่างดี

วันที่สองของการซ้อมรับปริญญา วันนั้นเป็นวันที่ฉันได้ลองสวมเสื้อครุยเป็นวันแรก และเพราะเหตุนี้เอง ฉันจึงใส่บางส่วนของเสื้อครุยไม่เป็น จนต้องให้แม่ น้อง และเพื่อนๆ ในภาควิชาช่วยกันยกใหญ่ ฉันรู้สึกขอบคุณทุกๆ คนที่ไม่รำคาญความประมาทของฉัน ช่วงเวลาแรกที่ฉันอยู่ในเสื้อครุยและกำลังเดินไปที่หน้าห้องอรุณอัมรินทร์ซึ่งเป็นห้องที่ทุกคนจะได้รับพระราชทานปริญญาบัตร ฉันรู้สึกได้ถึงความรู้สึกบางอย่างที่ไม่คาดฝันอีกครั้งหนึ่งคือ รู้สึกดูดีและเท่ห์มาก ฉันรู้สึกว่าขณะที่ฉันกำลังเดินผ่านกลุ่มผู้ปกครองและญาติที่มานั่งรอบุตรหลาน ฉันเดินด้วยบุคลิกที่ดีกว่าเวลาเดินทั่วๆ ไป จนถึงตอนเย็น ก็มีน้องและเพื่อนมาร่วมแสดงความยินดีด้วย ฉันรู้สึกได้ถึงความดีใจที่เปล่งประกายในช่วงเวลานั้น วันนั้นฉันยิ้มทั้งวัน และความรู้สึกเหล่านี้ ก็ไม่ต่างไปจากวันที่เข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรวันจริง

ในช่วงเวลาที่ฉันกำลังสนุกสนานกับกลุ่มเพื่อนและอยู่ในบรรยากาศของการแสดงความยินดี ฉันยังคงมีคำถามขึ้นมาในห้วงความคิดความรู้สึก ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้เป็นประโยคคำถามที่ชัดเจน แต่เป็นความรู้สึกแปลกๆ และเหมือนมีอะไรบางอย่างผิดปกติ ตรงที่ฉันรู้สึกว่าความดีใจที่เปล่งประกายยามที่อยู่ในเสื้อครุยนั้น มันช่างรวดเร็วและฉับพลันมากเหลือเกิน เพราะเมื่อฉันกลับมาที่บ้าน และเปลี่ยนจากเสื้อครุยเป็นเสื้ออยู่บ้านที่ฉันใส่ทุกวัน ความรู้สึกของความดูดีและเท่ห์นั้น ได้จางหายไปอย่างรวดเร็ว จนฉันเองยังตกใจ

ความรู้สึกนั้นจึงทำให้ฉันเห็นมิติอีกด้านหนึ่งของเสื้อครุย ว่ามันทำให้ฉันหลงไปได้มากขนาดไหน หลงไปกับคำว่า บัณฑิตใหม่ หลงไปกับความดูดีและเท่ห์ หลงไปกับความรู้สึกภาคภูมิใจยิ่งนักที่สามารถเรียกตัวเองได้ว่าเป็นปัญญาชน ฉันลืมเนื้อลืมตัวไปอยู่กับเสื้อครุยทั้งวัน ฉันคิดว่าการหลงไปกับความรู้สึกยินดีปรีดาเช่นนี้อาจไม่เป็นไรถ้าเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ และจบลงเมื่อถอดเสื้อครุย แต่หากยังหลงต่อไปและยังไม่ยอมถอดเสื้อครุย ก็อาจจะทำให้ยังร้อนและหนักต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัวได้เพราะหลงไปยึดติดกับการเป็นปัญญาชนที่คิดว่าตนเองนั้นมีความรู้และหลักการที่ถูกต้อง ซึ่งความไม่แน่นอนก็อาจจะทำให้ปัญญาชนผู้นั้นกลับมาติดกับดักของตัวเองได้เหมือนกัน

ในระหว่างพิธี ขณะที่ฉันนั่งอยู่ในห้องและกำลังรอคิวก่อนที่จะขึ้นไปรับพระราชทานปริญญาบัตร ฉันมองบัณฑิตเป็นพันๆ คนเดินรับปริญญาบัตรและก้าวลงจากเวที ขณะนั้นก็มีการประกาศชื่อบัณฑิตใหม่และชื่อคณะมากมายหลากหลายคณะ มีทั้งชื่อคณะที่ฉันคุ้นหูและไม่คุ้นหู บัณฑิตแต่ละคนเดินตามจังหวะที่ซักซ้อมไว้อย่างรวดเร็วลงจากเวทีไป คนแล้วคนเล่า ฉันเริ่มสงสัยอีกแล้วว่า คนเหล่านี้จะไปทำอะไรต่อบ้าง จะไปอยู่ส่วนไหนของประเทศไทยบ้าง ดูชื่อสาขาวิชาหรือชื่อคณะที่จบการศึกษา ก็ดูเหมือนว่าน่าจะสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศได้มากมายยิ่งนัก ถ้าคนร้อยๆ พันๆ คนนำความรู้ที่ศึกษามาเป็นปี ไปใช้จัดการหรือทำอะไรสักอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีกลุ่มที่สำเร็จการศึกษาได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง อันดับสองด้วย โอ้โห ประเทศไทยเราจะเป็นอย่างไรบ้าง คงจะเจริญรุ่งเรืองน่าดูเลยทีเดียว

แต่แล้วความสงสัยระลอกที่สองก็ซัดมาอีกครั้ง อ้าว ทุกปีก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้วไม่ใช่หรือ ที่คนเป็นร้อยๆ พันๆ คนจบการศึกษาจากคณะต่างๆ เข้ามาทำงานในประเทศ กระจายเข้าไปอยู่ในส่วนต่างๆ แล้วทำไมหนอ ทั้งๆ ที่สมัยนี้การศึกษาก็เข้าถึงผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทำไมเราถึงยังคงถามหาความสุขในชีวิตหรือแม้กระทั่งถามว่า “ความสุขคืออะไร” แล้วอย่างนี้ คนเราจะเรียนจบไปเพื่ออะไรกันแน่ ... ฉันตกอยู่ในทะเลแห่งคำถามและความคิดอยู่สักพักใหญ่ ก็ตอบตัวเองไปเบื้องต้นก่อนว่า ฉันอาจจะยังไม่มีความรู้รอบตัวมากพอหรือไม่ได้อ่านหนังสือหรืองานวิจัยมากพอว่ามีคนคิดหรือทำอะไรดีๆ เอาไว้มากมายแล้ว เพียงแต่ฉันไม่รู้เท่านั้นเอง

ฉันไม่รู้ว่าความคิดเห็นของฉันจะสร้างความไม่พอใจให้กับคนที่กำลังทำประโยชน์ให้กับสังคมหรือคนที่มองในมุมมองที่ต่างออกไปหรือไม่ ส่วนคำตอบเบื้องต้นที่ฉันตอบตัวเองไปนั้น ฉันก็ไม่รู้ว่า ถ้าเป็นคนอื่นๆ จะตอบอย่างไรบ้าง และอาจจะมีใครหลายๆ คนที่กำลังถามคำถามแบบนี้อยู่เหมือนกัน หรืออาจจะมีใครหลายๆ คนที่เลิกถามคำถามแบบนี้ไปนานแล้ว

มาจนถึงวันนี้ ฉันรู้สึกดีใจที่ได้ตัดสินใจมาเข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งเป็นเหมือนฤดูกาลที่ผ่านเข้ามาทุกปี ที่ทำให้เห็นว่าเพียงแค่เวลาสั้นๆ ไม่กี่วันนี้เอง ก็ทำให้ฉันได้เรียนรู้และประจักษ์ชัดว่าการหลงไปกับความรู้สึกต่างๆ หรือบรรยากาศรอบข้างนั้น มันช่างง่ายดายเพียงใด ได้ตั้งคำถามที่แม้จะไม่ใช่คำถามที่ใหม่นักสำหรับบางคน แต่ก็อาจจะยังคงเป็นหนึ่งในโจทย์สำหรับการเดินทางในชีวิตของบางคนเช่นกัน

ฤดูกาลนี้ นอกจากฉันจะได้ให้ของขวัญกับครอบครัวแล้ว ยังได้รู้จักโลกผ่านมุมมองของคนๆ หนึ่งมากขึ้นด้วย ซึ่งสิ่งต่างๆที่ได้เรียนรู้และรู้จักเหล่านี้เปรียบเสมือนบทเรียนบทส่งท้ายที่น่าสนใจไม่แพ้บทเรียนในหลักสูตรปริญญาตรีที่ฉันจบออกมาเลยทีเดียว



โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๒

ในระยะ ๔-๕ เดือนที่ผ่านมานี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัด “โครงการสานเสวนาเพื่อลดความรุนแรงในสถานพินิจและศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนในจังหวัดภาคใต้ทั้งตอนบนและตอนล่าง” ทุกครั้งที่นำเสนอกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อรับฟังปัญหาของเด็กเหล่านี้ พวกเราต่างแอบอมยิ้มและมีความสุขในความใสของเด็ก ซึ่งหลายครั้ง หลายคนเชื่อว่ามี “พลังดำ” ของความผิดพลาด “พลังลบ” ของการผ่านการกระทำผิด ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กอายุ ๑๔ ปีที่ข่มขืนหลานของตนเอง ไปจนถึงคดีน้ำกระท่อม ซึ่งเป็นคดียอดฮิตของวัยรุ่นในภาคใต้ คดีกัญชา ยาบ้า คดีลักทรัพย์ พยายามฆ่าและฆาตกรรม รวมถึงคดีความมั่นคงที่เด็กถูกใช้เป็นเครื่องมือให้ร่วมก่อความไม่สงบ

ความใสของเด็กเหล่านี้เริ่มตั้งแต่การแบ่งปันเรื่องราวความผิดของตนเองก่อนเข้ามาอยู่ในสถานที่ที่มีไว้ ‘แก้ไข’ นิสัยและความประพฤติ ดังเช่น ศูนย์ฝึกและสถานพินิจเหล่านั้น อาทิ “ผมถูกหมาไล่กัด ต้องวิ่งหนี เมื่อผมกำลังจะถือดอกไม้ไปให้แฟน ทำให้แฟนบอกเลิก” “ผมพาแฟนนั่งรถเครื่องซ้อนท้ายไปเที่ยวด้วยกัน รถเกิดน้ำมันหมด แฟนผมต้องช่วยเข็นรถ ผมหัวเสียแทนที่จะได้ขี่รถพาแฟนเที่ยว” ปัญหาที่เล่ามานี้เป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ สำหรับผู้ใหญ่ แต่เป็นปัญหาใหญ่ของเด็กที่สะท้อนความรู้สึกอยากเป็นที่ยอมรับในสายตาของผู้หญิง อยาก ‘เท่ห์’ ในสายตาของเพื่อนด้วยกัน หากในศูนย์ฝึกและสถานพินิจสามารถใช้ความรู้สึกเหล่านี้มาเป็นประเด็นแนะให้เด็กได้แสดงออกถึงการเป็นชายหนุ่มผู้มัดใจหญิงสาวด้วย ‘ความดี’ หรือ ‘ความสามารถในทางสร้างสรรค์’ แบบอื่นๆ เช่น การเป็นนักกีฬาที่สามารถ การเป็นนักดนตรีที่ดึงดูดใจ เป็นคนประดิษฐ์กรงนกที่สวยงามและสร้างสรรค์ และอื่นๆ เด็กอาจจะเกิดความคิดมัดใจสาวที่ปลอดภัยมากกว่าการแข่งรถ ซึ่งมี ‘สก๊อย’ นั่งซ้อนท้าย เป็นที่น่าหวาดเสียว และอันตรายต่อผู้ร่วมใช้ถนนคนอื่นๆ

นอกจากนั้นยังเกิดความซึ้งใจจาก ‘การฟัง’ เด็กหลายคนร่วมวางแผนในชีวิตจากการตอบคำถามว่าหากเหลือเวลาอีก ๒ วัน เขาคิดจะทำอะไร ๒ อย่างที่สำคัญที่สุดในชีวิต คำตอบที่ได้อาจทำให้พ่อแม่และผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายน้ำตาซึมโดยไม่รู้ตัว เช่น เด็กคนหนึ่งบอกว่า “ผมจะจูบตีนของแม่ผมก่อนตาย” ถามว่าทำไมจึงต้องทำเด็กบอกว่า “เพราะแม่เคยจูบตีนผมมาก่อนเมื่อตอนผมยังเล็กๆ” เด็กหลายคนบอกว่า “อยากขอโทษพ่อแม่ที่ทำให้เสียใจ” ถามว่าจะทำอย่างไร บางคนบอกว่า “ผมจะจับมือแม่และหอมแก้มแม่” บางคนบอกว่า “จะจูบหน้าผาก” เราคิดตามคำตอบเหล่านี้แล้วคงจินตนาการเห็นภาพได้ว่า เด็กเคยได้รับความรักเช่นนี้ การกระทำเช่นนี้มาก่อน แต่แล้วเมื่อโตขึ้น การกระทำเหล่านี้ได้หายไปไหน

เด็กจำนวนมากได้กล่าวถึงสาเหตุที่พวกเขากระทำความผิด เช่น “ทะเลาะกับแม่ พ่อแม่ทะเลาะกัน พ่อไปมีเมียใหม่ ผมเครียดเลยไปหาเพื่อน ผมอยากลอง ผมเกรงใจเพื่อน ผมลองยาเส้น ผมลองกระท่อม เพื่อนพาไปสูบกัญชา ผมติดยา ผมขายยา เมื่อผมเมายาเพื่อนชวนไปถล่มกับคู่อริ เมื่อผมเมาเหล้า ผมลักของ ผมขึ้นบ้าน ผมร่วมปล้น ผมโทรมหญิง ผมร่วมฆ่าคู่อริ” ทั้งหลายเหล่านี้ ประมวลได้ว่าความรักความเข้าใจ ความเอาใจใส่จากครอบครัวได้ขาดหายไป

ยังมีความประทับใจจากเรื่องที่เด็กได้แบ่งปันเมื่อเขาคิดถึงสิ่งที่สำคัญที่จะทำก่อนตาย เด็กบางคนอยากนำผ้าที่แม่ใช้ละหมาดมาห่อศพตนเอง บางคนบอกว่าจะขอนอนหนุนตักแม่จนกระทั่งหมดลมหายใจ อีกคนบอกว่า จะขอเกิดเป็นลูกแม่อีกเมื่อเกิดใหม่ เด็กขี้เล่นคนหนึ่งบอกว่าอยากให้พ่อต่อโลงให้ผมเป็นรูปโดเรมอน มีครั้งหนึ่งที่สถานพินิจจัดงานครอบครัวสัมพันธ์ พร้อมกับกระบวนการสานเสวนาได้ดำเนินไปพร้อมๆ กัน เด็กได้บอกกล่าวสิ่งที่จะทำก่อนตาย จากคำพูดเหล่านี้ของเด็ก เราได้เห็นน้ำตาลูกผู้ชายไหลริน สะอึกสะอื้น เมื่อเด็กได้สำนึกผิด ขอโทษในสิ่งที่ทำกับพ่อแม่ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า แม่ของเด็กเหล่านี้จะปลื้มใจ สะเทือนใจ และสะอึกสะอื้นมากยิ่งกว่าเป็นหลายเท่า

อย่างไรก็ตาม เราได้ยินความคิดของเด็กอย่างน้อยสามคนว่าจะทำสิ่งที่คาดไม่ถึงก่อนตาย นั่นคือมีคนหนึ่งบอกว่า จะไปปล้นธนาคาร เพื่อหา ‘เบี้ย’ เก็บไว้ในครอบครัว อีกคนหนึ่งกล่าวว่าจะปล้นร้านทอง ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกัน คนสุดท้ายบอกว่าจะออกไปฆ่า ‘นาย’ (ตำรวจ) ที่จับเขาเข้ามาอยู่ในนี้

การพูดถึงเรื่องเช่นนี้ได้เปิดจังหวะให้เยาวชนได้ช่วยเหลือกัน

วิธีการที่สร้างความไว้วางใจ และ “ฟัง” เด็กเล่าเรื่องความตั้งใจของตนนี้เป็นโอกาสให้เด็กได้ช่วยกันวิเคราะห์ และผู้ใหญ่ได้โอกาสร่วมแนะนำ ช่วยพิจารณาผลดีผลเสียของการกระทำ ชี้ให้ตระหนักถึงผลร้ายที่จะตามมา ในที่สุดเด็กคนหนึ่งกล่าวว่า “ผมจะไปเดินผัก รับจ้าง (ขนผัก) ในตลาด ได้เบี้ยน้อยแต่ก็จะให้แม่ดีใจแทนที่จะไปปล้นธนาคาร” แต่เราไม่แน่ใจว่าจะสามารถโน้มน้าวความคิดของเด็กคนสุดท้ายที่จะออกไปจัดการกับ ‘นาย’ ได้สำเร็จหรือไม่ เพราะเด็กบอก ‘ตายเป็นตาย’

การสอนในลักษณะนี้จะนำ ‘ปัญหาและชีวิตจริง’ ของเด็กเป็นตัวตั้ง การตั้งหน้าตั้งตาเทศน์สอนจะไม่ได้รับการต้อนรับเลย เพราะเด็กอาจเคยรับฟังการเทศน์เช่นนี้มาจากบ้านแล้วหลายวาระ

เรื่องราวของเด็กเหล่านี้เป็นสิ่งมีค่า และอาจเป็น ‘เรื่องเล่าเร้าพลัง’ ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ให้เด็กคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ประสบชะตากรรมเช่นนี้ได้เรียนรู้ ผู้ใหญ่อาจเข้าใจความคิดของเด็กมากขึ้น เพื่อจะได้ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ และร่วมหาแนวทางป้องกันเหตุและแนวทางแก้ไข

เหนือสิ่งอื่นใด เราค้นพบว่าเด็กเหล่านี้ ‘กระหาย’ ที่พึ่ง และความสงบ การให้นั่งนิ่งๆ อยู่กับตนเอง หรือคล้ายกับการนั่งสมาธิเบื้องต้น โดยการทำใจเป็น “หนึ่งเดียว” กับเสียงระฆัง แม้แต่เยาวชนมุสลิมก็ชอบการนั่ง โดยเปลี่ยนจากการฟังเสียงระฆังแห่งสติ ไปเป็นการระลึกถึงอัลเลาะห์ เด็กหลายคนสะท้อนความพอใจ ความชอบ ใคร่อยากเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนา เช่น เรื่องพระพุทธเจ้า เรื่องทำผิดแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็เหมือนกับอยากรู้วิธีแก้กรรมของตนว่าทำอย่างไรนั่นเอง

เราจึงสรุปได้ว่า หนึ่งในสาเหตุของการกระทำความผิดเหล่านั้นคือ ‘ความไม่รู้’ ‘การไม่มีคนสอน’ ‘การขาดการชี้แนะแนวทาง’ ในการปฏิบัติตน ในการพัฒนาตนเอง

“สีขาวในสีดำ” เหล่านี้ เรียกร้องและท้าทายให้ผู้ใหญ่ได้หันกลับมาพิจารณาดูวิธีการให้การศึกษาอบรม การมีคุณค่าภายในที่จะให้พวกเขาได้ยึดเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ถึงเวลาแล้วมิใช่หรือที่พวกเราจะได้มีส่วนช่วยให้เด็กทั้งหลายเหล่านี้ได้เรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่อาจเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติ และมีความสุขได้ต่อไป



โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๒

ฉันพูดซ้ำๆ กับตัวเอง “ไม่เป็นไร ... ไม่เป็นไรจริงๆ เขาควรจะได้เรียนรู้และเติบโต” มันเป็นเหตุผลที่ดูจะช่วยให้ตัวฉันเองรู้สึกดีขึ้น ว่าฉันไม่ผิดอะไร ฉันเพียงมีเจตนาดีจะช่วยให้คนๆ หนึ่งพัฒนาตน ความเป็นครูของฉันทำให้ฉันยอม แม้จะไม่เป็นที่รัก

เรื่องคือว่า ฉันเพิ่งจะตักเตือนน้องสาวคนหนึ่งถึงการเปิดกว้างในการมองโลกของเขา การไม่ติดยึดกับคำตอบเดิมๆ ของชีวิต การเปิดพื้นที่ความเป็นไปได้อื่นๆ ให้ผุดพรายขึ้น มันไม่ใช่แค่ที่เราเรียนรู้มา แล้วปฏิเสธอะไรที่นอกเหนือจากนั้นไปเสียหมด เพียงเพราะเรามีคำตอบสุดท้ายไว้แล้ว มันทำให้เราไม่สามารถรับรู้สิ่งอื่น คนอื่น จนเรามิอาจได้ยินเสียงที่แท้จริงของเพื่อนที่กำลังสื่อสารกับเรา และเมื่อไม่อาจได้ยินและรับรู้ผู้อื่นได้ดีแล้ว เสียงของเขาซึ่งจะช่วยเป็นเสียงสะท้อนจากตัวเราก็ลดลง ทำให้เรารับรู้ความเป็นจริงของตนน้อยลงไปด้วย

โชคดีที่น้องสาวคนนี้ค่อนข้างเคารพและให้เกียรติฉันมาตลอด เขาเลยออกตัวอย่างสุภาพมาก ว่าเขาขอโทษ แต่เขาโตมาแบบนี้ และเชื่อแต่ที่วิทยาศาสตร์บอกเท่านั้น แล้วเขายังรู้สึกสบาย และมีความสุขดีกับชีวิต

ฉันเลยถามเขากลับไปว่ารู้จักกี่เรื่องที่นักวิทยาศาสตร์บอกล่ะ ชื่นชมวิทยาศาสตร์แต่ตัวเองไม่กล้าแม้แต่จะทดลองอะไรเล็กๆ ในชีวิตเนี่ยนะ แล้วคิดว่านักวิทยาศาสตร์มีคำตอบให้ทุกสิ่งหรือ ทำไมไม่เชื่อตัวเธอเองบ้าง ทำไมไม่อนุญาตให้ตัวเองได้ร่วมพิสูจน์และรับรู้เอง อย่างไม่ยอมลดละ ฉันคงจี้ๆๆๆ จนน้องเขาจำนน

แต่แทนที่จะรู้สึกชนะ หรือลิ้มชิมความสำเร็จ ฉันกลับเดินง่วนในบ้านอย่างฉุนเฉียว ในหัวยังคงคิดวิเคราะห์ถึงน้องคนนั้น และอะไรที่ทำให้เขาเป็นคนแบบนี้ สารพัดจะคิดไปต่างๆ นานา ในหัววนเวียนไปด้วยภาพใบหน้าน้องเขากับถ้อยคำบางคำที่พูดตอบโต้กัน โดยเฉพาะคำว่า “แต่หนูก็มีความสุขดีนะพี่ หนูไม่ทุกข์อะไรนี่” ในใจฉันยิ่งประณามน้องเขาหนักขึ้น ถึงความเห็นแก่ตัว ไม่รับรู้คนอื่นของเขา และเมื่อคำว่า “มีความสุข” วนมาในความคำนึงมากเท่าไร ฉันยิ่งรับรู้ถึงทุกข์ในใจตนมากขึ้น เหมือนทนไม่ได้ที่คนที่มีวิถีและกรอบคิดไร้ค่า และไม่ชาญฉลาดอย่างฉัน จะมีความสุขได้มากกว่าที่ฉันเป็น

คืนนั้นขณะที่พยายามทำตนให้ปกติที่สุด แต่คนในบ้านกลับแสดงออกกับฉันอย่างห่วงใย เหมือนเขารู้ว่ามันไม่ปกติ ฉันนั่งเช็คอีเมลและได้รับเมลจากเพื่อนคนหนึ่งในเครือข่ายของจิตตปัญญาศึกษานี่เอง เขาส่งบทความของเพื่อนอีกคนมาให้อ่าน โอ้ ... สวรรค์ประทานพร สาระส่วนใหญ่เป็นการวิจารณ์ความเชื่อของคนอีกกลุ่มที่ดูงมงายในความคิดเขา เขานำเสนอมุมมองทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างแข็งแกร่ง คมชัด เป็นเหตุเป็นผล แต่ฉันอ่านแล้วรู้สึกร้อนผ่าวทั่วใบหน้า เออแน่ะ โกรธจริงๆ ด้วย อยากจะเขียนวิจารณ์ตอบโต้กลับ แต่ฉันมันแหยเกินไป กลัวเพื่อนเจ้าของเรื่องจะโต้กลับมาจนฉันจนมุม กลัวเพื่อนคนอื่นจะรู้สึกแย่กับฉัน แต่ตอนนี้ฉันรู้สึกแย่กับตัวเองมากกว่า และรับรู้ถึงความทุกข์ที่ทวีคูณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในใจ จนต้องลุกจากโต๊ะ ไปนั่งสวดมนต์ สวดไปน้ำตาก็ไหล ฉันไม่ใช่คนปฏิบัติธรรมเป็นประจำเหมือนเพื่อนคนอื่น การเข้ามาสวดมนต์ครั้งนี้ อาจเพียงหนีออกมาก็เป็นได้ แต่มันก็ช่วยให้เห็นความเป็นจริงเบื้องหน้าชัดเจนขึ้น จากคำถามที่วิ่งวนในหัวว่า ฉันผิดหรือถูกกันแน่ที่คิดและเชื่อแบบนี้ ยิ่งพยายามหาคำตอบนี้ก็ยิ่งทุกข์ แล้วฉันก็รอ รอจนคลื่นในใจของตนสงบลง การใคร่ครวญที่แท้จึงได้ทำงานของมัน

เหมือนโดนตบหน้า สองเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องกันโดยแท้ ความเชื่อ ศรัทธา มันเป็นเหมือนตัวตนภายในที่คนแต่ละคนยึดถือ ยึดเหนี่ยว การน้อมนำให้เกิดการเรียนรู้ที่ต่างไปจากเดิมที่เป็น เหมือนต้องค่อยๆ ประคับประคอง อ่อนโยนกับเขาด้วย เพราะเรากำลังโยกคลอนผู้อื่นอยู่ บางทีที่เรากำลังเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตายนั้น แท้จริงแล้ว อาจเพียงเพราะตัวตนของเราก็กำลังถูกโยกคลอน ไม่มั่นคงเช่นกัน ตามมารยาททางสังคมที่เคยได้เรียนมาถึงบอกว่า เรื่องที่ไม่ควรนำมาเป็นหัวข้อสนทนา คือเรื่องศาสนาและการเมือง เพราะมันมักจะก่อเกิดความขัดแย้งขึ้น ที่ควรชวนกันพูดชวนกันคุยก็น่าจะเป็นเรื่องที่รื่นรมย์ ไม่ก่อหวอด

โดยทั่วไปเราเลยพูดเฉพาะเรื่องที่เราอยากฟัง และฟังเฉพาะเรื่องที่เราอยากพูด เราเลยไม่เคยได้ยินเสียงใครจริงๆ เลย เพราะการเปิดรับมันถูกตั้งค่าไว้ต่ำ

แต่เรื่องนี้น่าพูดถึง และควรพูดถึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราสนใจการพัฒนาตน ฝึกตน ไม่ว่าในศาสนาใด เพียงแต่ว่าทำอย่างไรเรื่องราวความเชื่อและการเมืองจะสามารถนำมาพูดคุยได้ โดยไม่ทำร้ายกัน ไม่ตัดสินกันเร็วไป คำนี้เหมือนง่ายนะ เราพูดกันบ่อย แต่การยอมรับไม่ง่ายเท่าไร ยิ่งถ้าอาวุโสมาก บทบาท ตำแหน่งสูง การยอมรับอาจถูกทุบทิ้งอย่างไม่ใยดี เพราะเขารู้สึกชอบธรรมที่จะตัดสินคนที่เด็กกว่า คนที่อยู่ในปกครองดูแลของตน

ยิ่งเราแสร้งหลบไม่พูดถึง มันยิ่งผุดออกมาในพฤติกรรมและมุมมองในเรื่องอื่นๆ ด้วย เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ความคิด ความเชื่อแต่ละชุด แต่ละมุมมองของเรา มันเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกัน

เวลาเราเถียงกันต่างบอกว่า ไม่มีอะไร แค่อยากอธิบาย แต่มันรุนแรงขึ้น อาจเพราะการถกเถียงของเรานั้นมันไปกระทบชุดความเชื่อที่เรายึดถือ กระทบอัตตาตัวตนของเรามากกว่าการอธิบาย เราจึงพยายามเอาชนะ โดยต้องการเห็นการจำนนยอมรับของอีกฝ่ายโดยไม่รู้ตัว เราย่ำยีเพื่อนและพกพาความชิงชังติดตัวมาด้วย เราไม่ได้ทำให้เขาทุกข์มากไปกว่าที่ทำให้ตัวเองทุกข์เลย พอทุกข์และขาดสติยั้งคิด อาจยิ่งทำให้เพื่อนอีกฝ่ายทุกข์อย่างเราบ้าง แต่ยิ่งทำอย่างนั้นความทุกข์ก็ยิ่งทวีในตัวเราเอง

ตกลงเราเถียงกันทำไม เราอยากให้อีกฝ่ายได้มีโอกาสเรียนรู้และใคร่ครวญตน กับความคิดความเชื่อที่แตกต่างไปของเราไม่ใช่หรือ หรือเราจะถากถางฝั่งฟากของเพื่อนจนไม่เหลือที่ยืนให้เขาได้เลือกจะเป็นตัวเขา อะไรที่ทำให้เราคิดว่าไม้บรรทัดของเราถูกต้องที่สุด น้ำทุกสายก็ประกอบด้วยฝั่งสองฟากที่ดำรงอยู่ร่วมกัน มหาสมุทรสุดท้ายก็ไปจรดอีกฟากอันไกลโพ้น เราคงไม่คิดขนาดไม่ให้เหลืออีกฝั่งของท้องน้ำแห่งมิตรหรอกนะ

นึกถึงโฆษณาชิ้นหนึ่งที่พูดเรื่องภูมิคุ้มกันประเทศ ที่เอาคนไปยืนเป็นรูปรอยของแผนที่ประเทศไทย มีช่วงหนึ่งขณะที่ผู้คนเข้าทำร้ายฟาดฟันกัน เสียงพากย์กล่าวว่า ... เราคงลืมไปแล้วว่า เราเคยรักกัน ... ตอนนั้นเองที่น้ำตาฉันไหล และตัดสินใจไปขอโทษน้องสาวที่ฉันวิพากษ์วิจารณ์เขาวันนั้น ทั้งที่ฉันก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ตกลงใครถูกที่สุด



โดย ธีระพล เต็มอุดม
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๒

“แน่ใจเหรอว่าเราจะพูดกันเรื่อง Leadership ... ในเมื่อ 30 กว่าคนที่นี่ มีคนที่เป็น ผอ. อยู่แค่ 2 คน เท่านั้นนะ” เสียงของผู้เข้าร่วมแทรกขึ้นมาระหว่างที่เราจะเข้าสู่การเรียนรู้เรื่องความเป็นผู้นำในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง Contemplative Leadership หรือ ความเป็นผู้นำแนวจิตตปัญญาศึกษา ของแก้วกัลยาสิกขาลัย สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข

คนนอกวงสนทนานี้อาจมองว่านี่เป็นประโยคขัดจังหวะการเรียน ทำให้ไม่ลื่นไหล ไม่แน่ว่าคงมีคนอึดอัดแทนกระบวนกรผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ว่าเขาจะรับมือกับคำถามท้าทายของผู้เข้าร่วมได้อย่างไร

แต่ตรงกันข้าม หลังจากคำถามนี้เปิดขึ้นมา การเรียนรู้ว่าด้วยความเป็นผู้นำก็เคลื่อนไปอย่างแจ่มชัดและมั่นคง เพราะได้รับความสนใจและความตั้งใจจากสมาชิกทุกคนในวง อีกทั้งยังจุดประกายให้ได้เข้าสู่แก่นสำคัญของเนื้อหาเสียด้วย ทำให้เรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นผู้นำเป็นสิ่งที่จับต้องสัมผัสได้ ไม่เป็นแนวคิดเลื่อนลอย และทุกคนรู้สึกว่าเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับตนเอง

ภายหลังการอบรมนี้ พวกเราทีมกระบวนกรได้สะท้อนการเรียนรู้หลังการทำงานร่วมกัน เราเรียกกิจกรรมนี้ว่า AAR (After Action Review) ประเด็นที่เราประทับใจและแลกเปลี่ยนกันอย่างมากก็คือเรื่องความเป็นผู้นำนี้เอง นั่นเป็นเพราะเราเคยผ่านประสบการณ์ลองผิดลองถูกด้วยกันมาแล้วในทีมเมื่อ 3 ปีก่อนเป็นต้นมา นับแต่เรายังทำงานวิจัยจิตตปัญญาศึกษากัน

ในแรกเริ่มเรามาพบและตกลงว่าจะทำงานวิจัยกัน เพราะต่างคนก็สนใจการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตใจและเรื่องนี้ก็ได้รับความสนใจ และการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ท่านได้ตั้งชื่อการเรียนรู้นี้ว่าจิตตปัญญาศึกษา สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับมัน ณ ขณะนั้นจัดว่ามีน้อยมาก เหตุที่เราต้องทำวิจัยเชิงสำรวจความรู้เพราะเราเชื่อว่าถ้าเราเข้าใจมากขึ้น เราก็จะทำงานและจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นจิตตปัญญาศึกษาโดยแท้ได้ ไม่หลงทางหรือผิดเพี้ยนไป

ทว่าด้วยความที่ยังใหม่กันมากนี่เอง เราเกือบทุกคนก็ลังเล ไม่กล้าออกรับเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบโครงการวิจัย ด้วยว่าเป็นงานรับทุนดำเนินการจาก สสส. และเงินทุนจำนวนมิใช่น้อย ขณะเดียวกันรูปแบบความสัมพันธ์ของเราก็มีความเป็นเพื่อนเป็นพี่น้องมากกว่าจะเป็นคณะทำงานที่มีตัวหัวหน้าผู้นำอย่างชัดเจน

ในช่วงก่อนเริ่มงานวิจัยอย่างเป็นทางการ เราจึงหาแนวคิดวิธีการการทำงานร่วมกันที่ช่วยให้เราได้พัฒนาจิตและพัฒนาตัวเราเอง ที่สำคัญไม่เผลอทำงานตามสายการบังคับบัญชา หรือติดในรูปแบบแนวทางการบริหารจัดการเดิมๆ เราพบว่ามีแนวคิดที่น่าสนใจมากและเรานำมาใช้ทั้ง 2 เรื่อง ซึ่งต่างหนุนเสริมกันและกัน ได้แก่ ความเป็นผู้นำผู้รับใช้ และความเป็นผู้นำร่วม

แนวคิดความเป็นผู้นำผู้รับใช้ (Servant Leadership) นั้น มีผู้ที่เข้าใจคลาดเคลื่อนกันไปพอสมควร อาจด้วยคำว่า “ผู้รับใช้” ถูกตีความว่า ผู้นำต้องสามารถรับใช้ทำงานให้ทุกคนได้ ช่วยทำแทนทุกคนได้ ฟังดูเหมือน ส.ส. ขอรับใช้ประชาชนเลยเชียว แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ เพราะการรับใช้คือการดูแลเพื่อนร่วมงานให้เพื่อนเขาได้เติบโตและพัฒนาตนเองขึ้นมาได้ สนับสนุนให้เขาได้พบศักยภาพและความสามารถที่แท้จริงของตนเองจากประสบการณ์การเรียนรู้และพัฒนาจิตใจ แตกต่างกันอย่างมากกับการช่วยทำงานแทนเขาด้วยทักษะของเราที่ดีกว่า เพราะเขาจะพลาดโอกาสเรียนรู้และเติบโตจากการทำเอง สูญเสียการโค้ชสอนงาน และขาดการเสริมศักยภาพจากเราไป ใน 3 ปีของการทำงานวิจัย ทีมเราเห็นชัดเจนว่าการเป็นผู้นำผู้รับใช้ต้องอาศัยความตั้งใจ ความสนใจ และความทุ่มเทอย่างต่อเนื่องของแต่ละคนเป็นอย่างมากทีเดียว

เรายังใช้อีกแนวคิดที่เสริมกันมากคือเรื่องความเป็นผู้นำร่วม (Collective Leadership) ซึ่งเชื่อว่าพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน เรามีเมล็ดพันธุ์แห่งโพธิเช่นเดียวกัน และการเปลี่ยนแปลงวิวัฒน์จิตหรือชีวิตด้านในก็ไม่เพียงเป็นเส้นทางระดับปัจเจกบุคคล แต่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งแผง เป็นการเรียนรู้ที่ดำเนินไปพร้อมกันทั้งกลุ่มทั้งชุมชน ในกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตใจจะละเลยกัลยาณมิตรหรือขาดเพื่อนผู้สนับสนุนไปไม่ได้เลย ความเป็นผู้นำร่วมจึงเป็นสภาวะผู้นำที่ทุกคนให้ความเป็นผู้นำแก่กลุ่ม ด้วยคุณภาพและคุณลักษณะของเราที่หลากหลายต่างกัน มิใช่ผู้นำร่วมด้วยการรอตัดสินใจพร้อมๆ กัน ทำอะไรเหมือนๆ กัน หรือรอเห็นชอบตรงกัน เราเห็นชัดเจนว่าคุณภาพของการทำงานที่เกิดขึ้นจากการร่วมใจกันแตกต่างชัดเจนจากการแบ่งงานกันทำตามความถนัด เป็นผลร่วมที่มากกว่าผลรวมของจำนวนคน

ตลอดเวลาที่เราทำงานด้วยกันมาในฐานะทีมวิจัยต่อเนื่องมาจนเป็นทีมจัดกระบวนการเรียนรู้ เราพบว่าการนำแนวคิดความเป็นผู้นำผู้รับใช้และความเป็นผู้นำร่วมมาใช้ในการทำงานนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย เรายอมรับได้อย่างเต็มปากว่าทีมไม่สามารถคงสภาวะมีความเป็นผู้นำร่วมอยู่ได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกับเราแต่ละคนไม่อาจรักษาสภาวะความเป็นผู้นำผู้รับใช้ไว้ได้ทุกขณะ ในคราวแรกบางคนอาจจะรู้สึกท้อใจบ้างที่ไม่สามารถทำงานหรือบริหารจัดการด้วยแนวทางวิธีที่เราเชื่อให้ได้ตลอดเวลา แต่เมื่อได้สติรู้สึกตัวขึ้นมาว่าเรากำลังหลุดออกจากการดำเนินไปในแนวทางจิตตปัญญาศึกษา เราพลันได้พบว่าทั้งทีมสามารถฟื้นคืนคุณภาพสู่สภาวะความเป็นผู้นำผู้รับใช้และความเป็นผู้นำร่วมได้ทุกครั้ง

จากประสบการณ์ของทีมเราในการทำงานวิจัยและจัดอบรมจิตตปัญญาศึกษาด้วยวิธีการและแนวทางจิตตปัญญาศึกษา ดังเช่นเรื่องความเป็นผู้นำ ได้ทำให้เราตระหนักชัดว่าจิตตปัญญาศึกษาไม่ใช่ผลลัพธ์สุดท้ายที่จะต้องเดินไปให้ถึง ไม่ได้เป็นสิ่งที่เมื่อทำได้แล้วจะสำเร็จเสร็จ เพราะเมื่อใดที่รู้สึกว่าเรามีความเป็นผู้นำผู้รับใช้ หรือทีมมีความเป็นผู้นำร่วม เราจะพบว่าในอีกชั่วขณะเวลาถัดไปไม่ช้าก็เร็ว เราอาจจะเสียคุณภาพและเสียสภาวะนี้ไปได้ โจทย์จึงไม่ใช่การปฏิบัติให้เกิดความเป็นผู้นำผู้รับใช้แล้วจบ แต่เป็นคุณภาพและสภาวะที่เราต้องร่วมกันหมั่นสร้างให้เกิดขึ้น เพราะมันเกิดขึ้นในแต่ละชั่วขณะ อาจจะต่อเนื่องกันไปได้แต่ไม่สามารถคงอยู่โดยไม่เปลี่ยนแปลง

ความเป็นผู้นำจึงไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่เป็นคุณภาพและสภาวะที่เราพยายามสร้างให้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เสมือนหนึ่งเราอยู่บนหนทางของการปฏิบัติฝึกฝน และมีสติไม่หลุดออกนอกเส้นทาง เป้าหมายนั้นเรามีอยู่ แต่สิ่งสำคัญกว่าคือวิธีและเส้นทางที่เราเดินไป เราจึงได้ใช้ชื่อในการทำงานร่วมกันว่า “กลุ่มจิตตปัญญาวิถี”

ย้อนกลับมายัง workshop ความเป็นผู้นำแนวจิตตปัญญาศึกษา คำถามของอาจารย์พยาบาลผู้อัดอั้นสงสัยได้เผยออกมาว่าเราจะเรียนรู้เรื่องความเป็นผู้นำในกาละและเทศะที่เหมาะสมแล้วหรือ จึงเป็นคำถามที่ป้อนเข้ามาในกระบวนการเรียนรู้อย่างพอเหมาะพอเจาะ สะท้อนความเชื่อของคนส่วนใหญ่ว่า ผู้นำคือผู้บริหาร คือผู้มีอำนาจ คือผู้สั่งการ ดังนั้นเราจึงละเลยการให้ความสำคัญต่อตัวเอง หลงลืมจะมอบอำนาจให้แก่ตัวเอง ไม่เชื่อว่าเราก็มีความเป็นผู้นำที่สามารถรับใช้ดูแลองค์กรของเราด้วยคุณภาพและคุณลักษณะใดๆ ก็ตามที่เรามีได้ ยิ่งไปกว่านั้นเรายังมองข้ามความสามารถและความเป็นไปได้ของกลุ่มที่จะข้ามพ้นอุปสรรคไปด้วยกัน ความเชื่อเดิมๆ นี้ไม่ต่างกับกบเลือกนาย ผู้มอบความหวังและตั้งตารอคนอื่นให้เป็นผู้นำพาหาทางออก

เพราะผู้นำมิใช่เพียงผู้บริหาร และเราทุกคนล้วนมีความเป็นผู้นำในตัว

ความเป็นผู้นำไม่ใช่สถานภาพ ไม่ใช่สิทธิอำนาจ แต่เป็นสภาวะอันเกิดขึ้นจากการหมั่นดำเนินชีวิตอยู่ในสติบนวิถีทางของการพัฒนาขัดเกลาตนเอง และเราทุกคนต่างทำได้ และเราสามารถทำได้ร่วมกัน

Newer Posts Older Posts Home