โดย ณัฐฬส วังวิญญู
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

ภาวะอารมณ์ของผู้นำส่งผลต่ออารมณ์ขององค์กร หรือบรรยากาศการทำงาน หรือสนามพลังทางสังคม (social field) ที่มีผลต่อความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของผู้คนมากกว่าที่คิดกัน มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ได้รับอิทธิพลของอารมณ์มากกว่าความคิดถึง ๒๔ ต่อ ๑ ส่วนเลยทีเดียว แม้ว่าเราจะพยายามอ้างอิงหลักการเหตุผลหรือหลักคิดมากเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงอิทธิพลที่อารมณ์มีต่อเราได้ ดังนั้น เราอาจถือได้ว่า อารมณ์ขององค์กรมีผลต่อระดับจิตใต้สำนึกของผู้คนไม่น้อยทีเดียว ก็เมื่อมนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักรที่จะแสดงผลหรือเปิดปิดตามใจชอบของเจ้านาย แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการสภาพบรรยากาศที่เหมาะสมในการทำงานอย่างสร้างสรรค์ ไม่หวาดระแวงหรือวิตกกังวล องค์กรที่เห็นเช่นนี้ย่อมพยายามส่งเสริมพลัง หรืออารมณ์เชิงบวกในการริเริ่มและแสดงออกถึงศักยภาพภายใน

องค์กรที่มีชีวิตจะดำเนินไปในภาวะอารมณ์ ๒ ภาวะ คือ ปกติ หรือ ปกป้อง การเยียวยาองค์กรคือการช่วยเหลือให้องค์กรนั้นกลับมารู้เนื้อรู้ตัว และรู้จักตัวเอง ว่าอยู่ในสภาวะไหน แบบแผนพฤติกรรมอันเกิดขึ้นและดำเนินมาจากอดีตสู่ปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นแบบไหน เป็นสิ่งที่จำยอมหรือเป็นทางเลือกที่องค์กรได้เลือกแล้ว ประสบการณ์การทำงานกับโครงการพัฒนาองค์กรในรูปแบบหรือภายใต้ชื่อต่างๆ ทำให้เราเห็นว่าเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงองค์กรจากกระบวนทัศน์เก่าไปสู่ใหม่ จากวัฒนธรรมและทัศนคติพื้นฐานเดิมไปสู่วัฒนธรรมหรือวิถีปฏิบัติใหม่นั้นมีหลากหลาย แล้วแต่เงื่อนไขดั้งเดิมขององค์กร การสร้างพลังอันเกิดจากจิตร่วมนั้นอาศัยเวลา การลงแรงลงใจทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวผู้นำเองที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรอาจจะต้องกลับมาทบทวนกับตัวเองเช่นกันว่าสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงในตัวเองนั้นคืออะไร เหมือนกับที่มีเพื่อนคนหนึ่งได้กล่าวว่า “องค์กรเป็นได้เท่ากับที่ผู้นำเป็น ไม่ใช่แค่ที่พูด”

ไม่ว่าองค์กรจะป่าวประกาศว่าต้องการสร้างตัวเองให้เป็น “องค์กรแห่งความสุข” หรือ “องค์กรแห่งการเรียนรู้” หรือจะให้เก๋หน่อยก็ใช้ภาษาอังกฤษด้วย คือ “Living and working happily” รวมทั้งคำขวัญชวนฝันอันงดงามวิจิตรพิสดารและรณรงค์ให้ “รักกัน” “สมัครสมานปรองดอง” ติดป้ายไว้มากกว่าป้ายจราจรเสียอีก บางที่ก็พูดในการประชุมแทบทุกครั้ง เพื่อให้คน “ไม่ลืม” ว่าเรามีเป้าหมายอย่างไรในการทำงาน

แม้กระนั้น ตราบใดที่ถ้อยคำวาจายังไม่แปลงมาเป็นวิถีปฏิบัติอย่างแท้จริง คำสวยงามเหล่านี้ก็จะค่อยๆ กลายเป็นเพียงดอกไม้พลาสติกไร้ชีวิตที่ถูกเมินและระอาไป ไม่ว่าเราจะเดินทางผ่านการสัมมนาหรือการฝึกอบรมบ่มเพาะจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติธรรมหรือปฏิบัติทำในรูปแบบใดๆ ที่เปรียบได้เพียงการเข้าค่ายฝึกซ้อมนักรบ หากในสมรภูมิการทำงานและการใช้ชีวิตจริง นักรบยังรีรอหรือปล่อยปละละเลยไม่นำพาสิ่งที่เรียนรู้มาปฏิบัติใช้จริง อาวุธยุทโธปกรณ์อันใดที่ได้มาก็ไร้แสนยานุภาพไปโดยปริยาย ดังที่นิยายกำลังภายในมักกล่าวว่า “กระบี่อยู่ที่ใจ” นั่นเอง เพราะตัวกระบี่เองจะเป็นอาวุธคู่กายที่มีพลังอำนาจได้ต้องอาศัยใจที่ทรงพลังกำกับใช้งานด้วย

ใจคืออาวุธ ใจที่เหมาะสมจะใช้กระบี่ก็คือ ใจที่รู้จักกระบี่ เป็นใจที่รู้กาย หรือรู้ตัว นั่นคือมีสตินั่นเอง เพราะไม่ว่าเราจะอยู่ในภาวะปกติหรือปกป้อง อารมณ์ลบหรือบวกนั้น มันสำคัญที่ว่าเรารู้ตัวหรือไม่ ไม่เช่นนั้น เราจะไปสร้างจารีตหรือกรอบตัดสินขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง เหมือนการถือเสียงข้างเดียว คือพรรคอารมณ์ดีมีสุข สงบสมหวัง เพราะโดยธรรมชาติเราก็มีแนวโน้มจะชอบ “ความปกติ” มากกว่า “การปกป้อง” ชอบ “อารมณ์ดี” มากกว่า “อารมณ์เสีย” แน่นอน พอๆ กับที่เรา “ชอบ” และ “ไม่ชอบ” อีกหลายๆ อย่าง ทั้งที่เป็นสิ่งของหรือนิสัยผู้คน

ปัญหาของการจัดการอารมณ์นั้นเกี่ยวข้องกับทัศนคติที่เรามีต่ออารมณ์เหล่านี้ เพราะหากเราไปสร้างอุดมคติไว้ให้เลอเลิศ เราก็จะไม่มีวันทำได้ เพราะมันทำไม่ได้ แต่ถ้าเราตั้งเป้าหมายหรืออุดมคติเสียใหม่ แทนที่จะเป็นความสงบเย็น ไม่มีทุกข์เลย ก็เอาแค่ว่าสามารถรู้เท่าทันและทำร้ายตัวเองและคนอื่นให้น้อยที่สุดและน้อยลงไปเรื่อยๆ

แต่ดูเหมือนว่าประเด็นหลักหรือแนวทางออกไม่ใช่การห้ามหรือกดข่มอารมณ์เหล่านี้ไว้ แต่ทำอย่างไรที่เราจะมีสติรับรู้เท่าทันอารมณ์ลบทั้งหลายที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็รับรู้ถึงโอกาสในการเปลี่ยนพลังหรืออารมณ์ตรงหน้าได้อย่างกรุณา เรามีทางเลือกเสมอ ทางเลือกที่จะแปรรูปพลังแห่งอารมณ์เหล่านี้ จากพลังทำลายล้างมาเป็นพลังสร้างสรรค์ หรือกลับกันไปกลับกันมาได้ เพราะการส่งเสริมหรือหล่อเลี้ยงอารมณ์ลบเหล่านี้เป็นการสร้างวงจรสมองหรือร่องอารมณ์ให้แน่นหนาและลึกลงไปเรื่อยๆ จนเรากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการตกร่องอารมณ์ได้อย่างรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นโทสานุมัติที่เราตั้งโปรแกรมไว้ให้กับบุคคล หรือสถานที่ หรือเรื่องราวบางเรื่องราวเป็นการจำเพาะเจาะจงลงไป

ดังนั้น ในฐานะของผู้นำองค์กร การนำพาให้องค์กรมีบรรยากาศการทำงานที่ดี มีอารมณ์บวกมากกว่าอารมณ์ลบนั้น มักต้องเริ่มจากการดูแลพลังชีวิตและอารมณ์ของตัวเอง เพราะทั้งสองเกี่ยวพันกันอย่างแทบจะแยกกันไม่ออก การที่พลังชีวิตดีไม่ได้หมายความว่าไร้โรคภัยไข้เจ็บ หลายคนดูแลตัวเองให้เผชิญหน้ากับความเจ็บป่วยอย่างเป็นปกติได้อย่างน่าทึ่งมากๆ และเมื่อต้องเผชิญกับช่วงเวลาสติแตก คือยอมให้ตัวเองบันดาลโทสะ หรือแสดงอารมณ์ลบๆ ออกมา ก็ขอให้ถือว่าเป็นโอกาสแห่งการพัฒนาความรู้ตัว ผมไม่เชื่อว่าเราจะไม่รู้ตัว แต่เราเลือกที่จะไม่ใส่ใจในทางเลือกอื่นที่เรามี นอกจากทางเลือกที่เราคุ้นเคย และมักมีข้ออ้างภายหลังว่า “ไม่มีทางเลือก”

ผมคิดว่าเราอาจต้องหันกลับมาเฝ้าดูอารมณ์ลบๆ เหล่านี้ให้มากขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรกระตุ้นหรือสร้างให้อารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้น เพียงแต่เฝ้ามองมันอย่างกรุณาไม่ผลักไสหรือใฝ่หา โดยถือว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ความโกรธเป็นโอกาสที่เราจะค้นพบความกลัวและการให้อภัย เมื่อเราอยากหรือโลภ โอกาสแห่งการให้ก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ความวุ่นวายมาพร้อมกับโอกาสแห่งความสงบเสมอ อารมณ์ลบๆ ทั้งหลายมาพร้อมกับศักยภาพของอารมณ์บวกที่พร้อมจะถือกำเนิด ณ วินาทีที่เราเลือก

เมื่อผู้นำสามารถยอมรับความเป็นมนุษย์ของตัวเองทั้งสองด้านได้ ความขัดแย้งภายใจตัวเองก็จะน้อยลง และพร้อมจะเข้าใจเพื่อนมนุษย์ร่วมทีมงานเดียวกันได้อย่างเท่าเทียม เมื่อนั้นเกราะกำบังภาพลักษณ์ทั้งหลายที่ต้องแบกหามกันไว้ป้องกันตนก็อาจไม่ต้องเป็นภาระให้หอบหิ้วกันหนักอึ้งอีกต่อไป การทำงานเป็นทีมของเหล่าสามัญชนก็อาจช่วยให้ค้นพบสุขในการร่วมทุกข์ พบความกล้าในความกลัว ความหวังในความสิ้นหวังได้



โดย วรรณา จารุสมบูรณ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

มีฉากหนึ่งในภาพยนตร์ไทยเรื่อง “เดอะเลตเตอร์ จดหมายรัก” ซึ่งผู้เขียนประทับใจมากเป็นพิเศษ เป็นฉากที่นางเอก “ดิว” แสดงโดยคุณแอน ทองประสม เดินทางมาหาพระเอก “ต้น” (รับบทโดยคุณอรรถพร ธีมากร) เพื่อเยียวยาจิตใจหลังจากเธอได้สูญเสียเพื่อนรักจากเหตุฆาตกรรมโดยชายแปลกหน้าที่คบหาทางอินเตอร์เน็ต ดิวบอกกับต้นด้วยน้ำเสียงทุกข์ระทมว่าเป็นความผิดของเธอเองที่ไม่ยอมออกไปกับเพื่อนในคืนนั้น ความเห็นแก่ตัวของเธอทำให้เพื่อนต้องตาย

“ต้น” สัมผัสที่ต้นแขนของดิวเบาๆ ไม่มีคำพูดปลอบโยน มีแต่ดวงตาและหัวใจที่เปิดออกรับรู้ความรู้สึกของคนที่อยู่ตรงหน้าโดยไม่ตัดสิน เป็นชั่วขณะซึ่งผู้เขียนรู้สึกตื้นตันใจมาก ไม่กี่วินาทีหลังจากนั้นดิวโผเข้ากอดต้นและปล่อยโฮอย่างเต็มที่ ความทุกข์ของเธอได้รับการปลดปล่อยและเป็นอิสระ เพียงเพราะมีคนๆ หนึ่งเข้ามารับรู้ความรู้สึกของเธอ มิตรภาพงอกงามขึ้นในใจของทั้งคู่และเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวอันงดงามที่มนุษย์สามารถหยิบยื่นให้แก่กัน

การรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นโดยไม่ตัดสินเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยาที่ช่วยให้คนที่กำลังมีความทุกข์รู้สึกว่าตนเองได้รับการโอบอุ้มดูแล ขณะเดียวกันก็ช่วยขัดเกลาให้เราอ่อนโยนและเป็นมิตรกับผู้คนมากขึ้น เคยสังเกตหรือไม่ว่า เวลามีเรื่องไม่สบายใจ จะมีบางคนเท่านั้นที่เราอยากเล่าให้ฟัง ซึ่งคนเหล่านี้มักมีท่าทีบางอย่างที่ทำให้รู้สึกได้ว่าเขาเข้าใจและยอมรับบางอย่างในตัวเรา

ท่าทีอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ ความนิ่งและความจริงใจของผู้ฟัง ที่ทำให้ผู้เล่ากล้าเปิดเผยเรื่องราวบางอย่างในใจอย่างตรงไปตรงมา ทำให้เกิดพื้นที่ของความเชื่อใจ ไว้วางใจ และพร้อมที่จะแบ่งปันสุขทุกข์ร่วมกัน

ผู้เขียนได้เรียนรู้เรื่องนี้จากการทดลองเป็นอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ช่วงแรกรู้สึกขัดเขินมากเวลาที่คนไข้และญาติส่งสายตาเป็นมิตรและขอบคุณมายังเรา หรือกล่าวยกย่องสรรเสริญเสียจนเราไม่กล้ารับ ที่อึดอัดใจมากก็คือ เวลาคนไข้ร้องไห้ต่อหน้าเรา สะอึกสะอื้นทั้งคนไข้และญาติ ในใจรู้สึกว้าวุ่นมาก ทำอะไรไม่ถูก หันซ้ายหันขวาอำพรางว่าตัวเองเข้มแข็ง ทั้งๆ ที่น้ำตาจวนจะหยด พยายามจะขวนขวายหยิบทิชชูให้เขาซับน้ำตา กล่าวคำพูดมากมายเพื่อปลอบโยนให้เขามีความหวัง ซึ่งผู้เขียนมาค้นพบภายหลังว่าที่ทำไปทั้งหมดนั้นเพียงเพราะไม่อยากเผชิญกับความเศร้า ไม่อยากเห็นภาพความทุกข์ระทมที่อยู่ตรงหน้า และหลายครั้งสิ่งที่ผู้เขียนแสดงออกด้วยเจตนาดีกลับทำให้คนไข้กลืนคำพูดและสิ่งที่เขาอยากระบายลงไป พร้อมกับมีม่านบางเบาขวางกั้นระหว่างเราเอาไว้อีกครั้ง

ผู้เขียนเพิ่งมาตระหนักเมื่อไม่นานมานี้เองว่า การรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นอย่างจริงใจและอยู่กับเขาตรงนั้นจริงๆ สำคัญกว่าคำพูดมากมาย เรามักเลือกแสดงปฏิกิริยาตอบสนองตามความคุ้นชินจนปิดกั้นโอกาสในการฟังและรับรู้เรื่องราวลึกๆ ที่อยู่ภายใน

นักศึกษาแพทย์ ปี 2 คนหนึ่งเล่าว่า เจอคนไข้ผู้หญิงวัยกลางคนรายหนึ่ง คุณหมอเพิ่งแจ้งข่าวว่าเธอเป็นโรคมะเร็ง หลังจากนั้นเธอก็ไม่ยอมพูดจากับใคร นักศึกษาแพทย์เดินเข้าไปใกล้ๆ พยายามส่งยิ้มและทักทาย แต่คนไข้หันหลังไม่ยอมพูดด้วย

“ตอนนั้นทำอะไรไม่ถูก ก็เลยนั่งลงข้างเตียงจนกระทั่งได้เวลาต้องไปเรียนจึงลากลับ”

วันที่ 2 และวันที่ 3 คนไข้ก็ยังไม่ยอมพูดด้วย แต่นักศึกษารายนี้ไม่คิดมาก ยังคงไปเยี่ยมคนไข้อย่างสม่ำเสมอ

ย่างเข้าวันที่ 4 ปรากฏว่าคราวนี้คนไข้ยอมหันมาคุยด้วย ประโยคแรกที่คนไข้พูดก็คือ “หนูนี่ดีนะ ไม่ถือสาคนแก่” หลังจากนั้นคนไข้ก็ระบายความทุกข์ใจจากการรับรู้ว่าตนเองเป็นมะเร็งให้นักศึกษาแพทย์ฟัง

“ผมไม่รู้จะพูดปลอบโยนป้าแกยังไง ก็เลยนั่งฟังเฉยๆ”

ผ่านไปกว่าครึ่งชั่วโมง จนได้เวลาต้องกลับไปเรียนหนังสือ นักศึกษาแพทย์จึงขอลากลับ คนไข้กล่าวขอบคุณนักศึกษาแพทย์มากมาย

“ป้าขอบคุณผมทำไม ผมยังไม่ได้ทำอะไรให้คุณป้าเลย” นักศึกษาแพทย์บอก

“ขอบคุณที่หนูสนใจป้าไง ตอนนี้ป้าสบายใจแล้ว” คนไข้ยกมือให้ศีลให้พรยกใหญ่ก่อนที่นักศึกษาแพทย์จะเดินจากไปอย่างงงๆ

“มาถึงวันนี้ผมเพิ่งเข้าใจว่า บางทีคนไข้ก็ไม่ได้ต้องการอะไรจากเราเลย นอกจากรับฟังเขาอย่างใส่ใจ รับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นและอยู่กับเขาตรงนั้น” เป็นคำกล่าวของนักศึกษาแพทย์

การรับฟังอย่างใส่ใจช่วยให้เรารับรู้ความรู้สึกของคนที่อยู่ตรงหน้าได้ง่ายๆ โดยไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ ตีความ หรือมุ่งค้นหาคำตอบ เพียงแค่ฟังเฉยๆ พยาบาลหลายคนบอกว่า “การฟังเฉยๆ เนี่ยแหละยากที่สุด” เพราะเรามักมีคำตอบให้กับสิ่งที่เราได้ยินเสมอ และบ่อยครั้งที่เรามักจะยัดเยียดคำตอบของตัวเราให้กับคนไข้เพราะคิดว่าดีที่สุด แต่ลืมไปว่า “ดีที่สุดสำหรับเรา อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขา”

การฝึกรับรู้ความรู้สึกจึงต้องเริ่มต้นจากการฟังให้เป็นหรือฟังอย่างใส่ใจ ให้สิ่งที่ได้ยินค่อยๆ ซึมซาบเข้ามาอยู่ในตัวเราในหัวใจของเราโดยไม่เร่งร้อน ไม่บีบคั้น ไม่ต้องคิดและคาดหวังว่าจะต้องตอบสนองอย่างไร ปล่อยให้สมองของเราเป็นพื้นที่ว่างเปล่าชั่วครู่ ให้ความเป็นธรรมชาติในตัวเราและจิตวิญญาณที่ซุกซ่อนอยู่ภายในได้ทำงานอย่างเงียบๆ และนี่เองคือโอสถวิเศษที่เยียวยาทั้งเราและเขา ... หาใช่คำพูดไม่



โดย กฤตยา ศรีสรรพกิจ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

วันนี้เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต เป็นครั้งแรกที่เป็นการตัดสินใจด้วยตัวเอง โดยปราศจากการขอคำปรึกษา หรือการแสวงหาแรงบันดาลใจจากผู้อื่น เป็นครั้งแรกที่รับฟัง และศิโรราบต่อเสียงเรียกร้องภายในของตัวเองอย่างแท้จริง

วันนี้เป็นวันที่ได้เดินออกมาจากองค์กรที่สร้างขึ้นมากับมือ

เป็นองค์กรเล็กที่เราช่วยกันก่อร่างสร้างตัวมากับเพื่อนๆ ที่รวมความฝัน มิตรภาพ บ้านที่อบอุ่น และปลอดภัย ภารกิจอันยิ่งใหญ่และมีคุณค่ายังรออยู่ข้างหน้า ไม่ใช่เพราะมีปัญหา หรือเหนื่อยล้าจนไปต่อไม่ไหว แต่ ณ วันนี้ได้ยินเสียงใจตัวเองอย่างชัดเจนแล้วว่า “หมดวาระของเธอแล้ว”

คนแต่ละคนจะมีแรงผลักดันพื้นฐานในการดำเนินชีวิตแตกต่างกันไป สำหรับเราแล้วแรงผลักนี้มาจากการทำเพื่อคนอื่น โดยเฉพาะคนที่เรารัก “ชีวิตที่ทำเพื่อผู้อื่น จึงจะเป็นชีวิตที่มีค่า” การเดินทางที่ผ่านมาอบอุ่นและเต็มไปด้วยความหมาย ได้แรงบันดาลใจล้นเหลือในการทำงานเพื่อรับใช้สังคม ได้ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ และอิ่มเอมกับผลตอบแทนที่ได้ คือ การมีคุณค่าพอที่จะได้รับความรัก

แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเผลอไป มันก็เป็นการผูกติดคุณค่าของตัวเราไว้กับความพอใจของคนอื่น หลงลืมไปว่าตัวเราก็มีคุณค่าได้ด้วยตัวเองเหมือนกัน รับรู้และตอบสนองความต้องการของผู้อื่น จนละเลยที่จะฟังเสียงของตัวเอง

การจะเป็นผู้ให้ หรือผู้รับใช้ที่ดี ผู้ให้จึงน่าจะรู้จักตัวเองอย่างลึกซึ้งก่อน เพื่อที่จะสามารถดึงศักยภาพที่สูงสุดของตัวเองออกมาเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นอย่างแท้จริงได้ การให้อย่างหลงลืมตัว จะไม่เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ให้และผู้รับ

วันนี้จึงตัดสินใจที่จะออกเดินทางเพื่อจะเข้าไปรู้จักตัวเองมากขึ้น การเดินออกมา ไม่ได้เป็นการละทิ้งตัวตนที่เราเป็นอยู่ ตัวตน ความคิด ความสามารถต่างๆ ที่มีอยู่ไม่ได้สูญหายไปไหน แต่การเดินทางเป็นการเปิดพื้นที่แห่งความเป็นไปได้ ให้เราได้ทดลองเรียนรู้ศักยภาพในด้านอื่นๆ ของตัวเอง ที่เราไม่เคยได้รู้ว่ามีอยู่ เพราะแท้ที่จริงแล้ว ตัวเราเป็นไปได้ทุกอย่าง แต่ความคุ้นชิน และประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญที่เรามีอยู่เดิม เมื่อยึดติดมากเกินไป ก็กลายเป็นสิ่งปิดกั้นให้เราเชื่อไปว่าเราไม่สามารถทำสิ่งอื่นๆ ได้

การฟังเสียงตัวเอง ต้องใช้ความสงบนิ่ง ตัดสินใจเดินไปตามทางนั้น ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมาก เพราะจะไม่มีใครรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจนั้นได้ นอกจากตัวเราเอง

ความกลัวมากมายกำลังโถมเข้ามาสู่ตัวเรา กลัวการตัดสินจากคนรอบข้าง กลัวคุณค่าในตัวเราที่คนอื่นเคยเห็นจะเปลี่ยนแปลง กลัวความรักที่ได้จะหายไป

ทั้งตัวเราและคนอื่นๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ตัวเรา ณ ชั่วขณะนี้มีอยู่เพียงตอนนี้ ตัวเราในอีกช่วงขณะหนึ่งก็คืออีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นทั้งคนเดิมและคนใหม่ สิ่งเดียวที่แน่นอน ก็คือความไม่แน่นอน การยึดติดต่อสิ่งที่เราเคยมี เคยเป็น และอยากให้คงอยู่ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้เป็นทุกข์ และความทุกข์นั้นก็เป็นตัวเรา เมื่อเรารับรู้การมีอยู่ของเขา โอบอุ้มเขา เขาก็จะไม่ทำร้ายเราได้

.......

น่าตื่นเต้นที่เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะออกเดินทางค้นหาตัวตนอื่นๆ ของตัวเอง หนทางมากมายตามที่ใจร้องขอ ก็เปิดออกอย่างน่าอัศจรรย์

เคยคิดว่าเป็นคนที่ไม่มีทักษะด้านศิลปะ จึงอยากค้นหาตัวตนนี้ ก็มีเพื่อนมาชวนทำงานเกี่ยวกับการใช้กระบวนการศิลปะกับจิตตปัญญา

เมื่อปีที่แล้วได้ไปร่วมกระบวนการ eco-quest หรือนิเวศน์ภาวนา ครั้งนั้นได้ตั้งคำถามไปว่า “ชีวิตเราเกิดมาเพื่ออะไร” คำตอบที่ได้ในตอนนั้น คือ “การเรียนรู้เรื่องราวจากชีวิตของผู้คนแล้วนำมาบอกเล่า” เชื่อ แต่ไม่ได้เดินตาม ไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่เพราะความไม่เคย วันนี้จึงอยากลองทำงานเขียน โอกาสมากมายก็มาถึงในทันที ตั้งแต่การเขียนบทความนี้ งานถอดบทเรียนที่ต้องการคนทำ พี่สาวนักเขียนที่อยากขอติดตามไปก็โทรมาพูดคุยทั้งที่ไม่ได้เจอกันมาเกือบปี

อีกเรื่องที่ใจร้องขอ คือการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง ถ้าเป็นผู้ชายคงได้ออกบวช แต่เมื่อเป็นผู้หญิงคงต้องหาวิธีอื่น ก็มีคุณอาที่นับถือและไม่ได้ติดต่อกันมานานส่งหนังสือมาให้ ชื่อ “วารสารธรรมมาตา” โดยธรรมาศรมธรรมมาตา สถานปฏิบัติธรรมสำหรับผู้หญิง

อยากได้ใคร่ครวญถึงการเดินทางที่ผ่านมาและกำลังจะเดินต่อไป ก็มีการอบรม Life & Spiritual Dialogue ที่ได้รับเชิญไปเข้าร่วมที่เชียงราย เริ่มต้นพรุ่งนี้ เป็นช่วงเวลาที่ลงตัวที่สุดพอดี

และสุดท้าย สถานที่ๆ อยากไปมานานคือ อินเดีย ที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณ ความทุกข์ และนวัตกรรมมากมายในการหาทางพ้นทุกข์ น้องชายที่เรียนอยู่ที่นั่นก็ชวนให้ทั้งครอบครัวเราไปเที่ยว ในช่วงเวลานี้ พอดีที่สุดอีกเช่นกัน

ความบังเอิญนี้น่าประหลาด เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกที่ มันคือมนต์วิเศษที่เกิดจากพลังของเสียงจากใจเราเอง



โดย มิรา ชัยมหาวงศ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

... ฝีเท้าของผู้เขียนย่ำเข้าสู่ความสงัดของป่าต้นน้ำ ที่หมู่บ้านหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย พร้อมกับคณะนักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรการศึกษาองค์รวม (Holistic Education) รุ่นที่ ๑ ของสถาบันอาศรมศิลป์ โดยมีอาจารย์ณัฐฬส วังวิญญู เป็นผู้นำให้เราปลดวางสัมภาระ ปลีกตัวออกห่างจากความจำเจในหน้าที่การงานและความคิดเชิงตรรกะทางสังคม เข้าสู่การเรียนรู้ที่นัยทางหนึ่งนั้นเป็นการแสวงหาปรีชาญาณจากธรรมชาติ (Nature Acquisition) เชื้อเชิญแต่ละคนก้าวสู่พรมแดนที่ท้าทายตัวตนที่เปราะบางให้ทำหน้าที่สะท้อนภาพพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ ด้วยการอดอาหารเป็นเวลา ๑ วัน และแยกย้ายออกไปเดียวดายกลางป่าเป็นเวลา ๑ คืน การเดินทางครั้งนั้นเป็นการเดินเข้าป่าในเชิงกายภาพ แต่อันที่จริง แต่ละคนกำลังเดินกลับสู่บ้านหลังใหญ่ มาตุภูมิแห่งขุนเขาที่นำพาเราหยั่งถึงธรรมชาติที่แท้ภายในตน

คำถามหนึ่งที่ผู้เขียนถามตัวเองคือ ที่หมายของความรู้ที่เพิ่มขึ้นจากประสบการณ์และการแสวงหาทางจิตวิญญาณ จะนำพาให้ผู้เขียนก้าวไปสู่ปัญญาที่สร้างให้เกิดความเข้าใจต่อความเป็นไปของสรรพสิ่งด้วยใจที่เคารพ หรือนำไปสู่การสะสมองค์ความรู้ในเชิงปริมาณที่ก่อร่างสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ พิพากษาตัดสินผู้อื่น? ดูเหมือนกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้เขียนในระยะนี้ และจากการเฝ้าสังเกตการเรียนรู้ที่มีจุดเริ่มต้นจากแวดวงการศึกษา ก็ยิ่งเห็นว่าคนเราเรียนรู้มากขึ้น แต่กลับเป็นไปเพื่อบ่มเพาะจุดยืนทางความคิดอันเป็นที่มาของการเจริญอัตตาตัวตนที่แข็งกร้าว หลงผิดคิดว่าความรู้จะทำให้มนุษย์พึ่งพาตนเองอย่างโดดเดี่ยวได้ในโลกนี้

รหัสนัยที่ธรรมชาติชี้ให้ผู้เขียนย้อนกลับไปมองเห็นตัวตนที่ชัดเจน คือ การทึกทักเอาเองว่าสามารถพึ่งพาตนเองได้ แต่ธรรมชาติก็มอบความจริงผ่านภาพสะท้อนให้ผู้เขียนย้อนมองตัวเอง คือ ช่วงก่อนที่จะเดินทาง ผู้เขียนตั้งใจเอาไว้ว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนน้อยที่สุด รบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด บริโภคอาหารและทรัพยากรให้น้อยที่สุด พึ่งพาให้น้อยที่สุด ซึ่งในทางหนึ่งก็เป็นไปเพื่อการฝึกละวางความต้องการ แต่ในฟากของความสุดโต่งที่ขาดสติ สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำกล่าวว่า “ฉันจะพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด” นั้นก็คือ “ฉันแน่ ฉันเก่ง ฉันดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งใคร ดังนั้น ไม่มีใครหรืออะไรที่จำเป็นสำหรับฉัน ฉันดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง” เป็นเป้าหมายที่คับแคบเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการบ่มเพาะอัตตาตัวตนให้แข็งแกร่งขึ้น

ในช่วงการทำงานในชีวิตประจำวันกับผู้คนที่คุ้นเคย เราอาจมองเห็นภาพตัวเองไม่ชัด แม้จะมีพฤติกรรมทางใจเป็นสัญญาณบางอย่าง เช่น ความหงุดหงิดรำคาญ ความไม่พอใจ ที่เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ แต่การอยู่ในโลกที่มนุษย์สมมติสร้างขึ้นด้วยคำอธิบายและนิยามความคิดแต่เพียงมนุษย์นั้น ไม่ทำให้ตาของเราเปิดมองเห็นความจริงได้ แต่เมื่อเราต้องอยู่ในสภาพที่เปราะบาง การเดินทางไกล การอดอาหาร และการอยู่กับความกลัวเพียงลำพัง ทำให้เราเห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า มนุษย์ก็ยังพึ่งพาอยู่นั่นเอง

ผู้เขียนพยายามเดินหาสถานที่กางเต็นท์ที่พักระหว่างการอดอาหารวันที่สอง ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายกำลังเข้าสู่จุดที่อ่อนแอที่สุดเนื่องจากกำลังปรับสภาพ ผู้เขียนเดินห่างจากจุดนัดพบออกไปไกล ยิ่งเดิน ยิ่งเหนื่อย หายใจเริ่มติดขัด ร่างกายอ่อนแรง ต้องหยุดพักเป็นช่วงๆ แต่ใจที่แข็งกร้าวอยากเอาชนะไม่ยอมน้อมขอความช่วยเหลือใดๆ หรือลดทอนเป้าหมายของตัวเองลง ระหว่างที่แรงเฮือกสุดท้ายกำลังจะหมด ยังไม่วายมองหาจุดที่พักที่ไม่เบียดเบียนชีวิตเล็กๆ ของต้นไม้เล็กใหญ่หรือต้นหญ้า ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีพื้นที่เช่นนั้นในป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ แต่ความหลงยึดอยู่กับความคิดที่ต้องทำทุกสิ่งให้ดีที่สุดโดยไม่คำนึงถึงบริบทความจริง ปล่อยให้ทิฐิมานะคาดคั้นลากสังขารตนเองให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางความคิดให้ได้ ในที่สุดเมื่อกายอ่อนล้าและหมดแรงไปต่อ ผู้เขียนจำนนใจอ้อนวอนจากธรรมชาติ จำนนต่อฐานะผู้พึ่งพิงของตนเองต่อต้นไม้ใบหญ้าน้อยใหญ่ที่ขึ้นอยู่ริมทาง และมดแมลงตัวน้อยที่เราไม่เคยมองเห็นค่าของเขาเมื่อตัวเราเป็นใหญ่ที่บ้านในเมืองหลวง แต่ ณ ที่แห่งนี้ ผืนป่ามอบความจริงอย่างที่สุดให้กับมนุษย์

หลังจากนั่งพักจิบน้ำ กางเต็นท์ที่พักเสร็จ ผู้เขียนนิ่งเงียบอยู่กับตนเอง อยู่กับความเป็นจริงที่ธรรมชาติมอบให้ การเงียบเสียงจากภายนอก ทำให้ได้ยินเสียงภายในของเราชัดเจนขึ้น เมื่อความคิด หรืออารมณ์ใดๆ ผุดบังเกิด เราจะได้ยินเสียงของมันเหมือนดังออกมาข้างนอก ผู้เขียนย้อนกลับไปใคร่ครวญถึงเสียงของตนเองในระหว่างเดินหาที่พัก และมองเห็นธรรมชาติของความอยากเอาชนะที่เกิดขึ้น แม้จะตกอยู่ในสภาพที่ไม่น่าจะพึ่งพาตนเองได้ แต่ก็ยังขัดขืนดื้อดึงไม่ยอมให้ตัวเองอยู่ในฐานะผู้ร้องขอการพึ่งพิงจากธรรมชาติ มายาคติที่สร้างขึ้นว่ามนุษย์เป็นผู้สร้าง เป็นนายเหนือธรรมชาติ ทำให้ผู้เขียนมองไม่เห็นความจริงว่า สรรพสิ่งที่ดำเนินไปนั้น สัตว์ก็ยังต้องพึ่งพาผืนป่า ป่าก็พึ่งพาไอแดด และปรายฝน คนก็ต้องพึ่งพาธรรมชาติ และแม้แต่วินาทีแรกที่ลมหายใจของเราปรากฏเป็นชีวิตบนโลก เราก็อยู่ในฐานะผู้พึ่งพาธรรมชาติแล้ว หากแต่ใจของเราไม่ยอมศิโรราบ ตาของเราจึงมองไม่เห็นโยงใยที่ซ่อนเร้นอันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ความรู้และปัญญาที่เกิดโดยคำนึงถึงความจริงข้อนี้ จึงเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นพร้อมกับอัตตาตัวตนที่ใหญ่ขึ้น เสียงวิพากษ์วิจารณ์ การตัดสินถูกผิดโดยมีตัวเราเป็นฐานจึงทำหน้าที่แทนปัญญาที่จะเข้าใจความเป็นไปของทุกสิ่งอย่าง

มนุษย์ผู้กล้าจะอยู่เพียงลำพังได้จริงหรือ? การทำงานที่ประสบกับความสำเร็จไม่ต้องพึ่งพาคนเล็กคนน้อยเช่นนั้นหรือ? เราไม่ต้องการความสัมพันธ์ฉันมิตรเพื่อปลอบประโลมหัวใจเหนื่อยล้าของเราจริงหรือ? การดำรงอยู่ของเราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสิ่งใดนอกเหนือจากตัวเองจริงหรือ?

ในคืนแรกๆ ผู้เขียนพักอยู่ในหมู่บ้านของ “ผู้ดูแลป่า” พลังของคนเล็กๆในสังคมอย่างชาวปกาเกอะญอ ที่ทำหน้าที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเองนักในการปกปักษ์รักษาป่าต้นน้ำพื้นที่กว่า ๑๕,๐๐๐ ไร่ ด้วยจำนวนสมาชิกเพียง ๒๐ หลังคาเรือน “อ้ายชัยประเสริฐ” ชาวปกาเกอะญอวัย ๔๐ ปี บอกว่า “ภารกิจของคนต้นน้ำคือการรักษาน้ำให้กับคนปลายน้ำ ชาวปกาเกอะญอรักษาป่าเพราะป่าเป็นแหล่งกำเนิดน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตอีกหลายชีวิต”

พวกเราชาวเมืองทุกคนก็เป็นหนึ่งในผู้พึ่งพาภารกิจการปกปักษ์รักษาของเขา ทุกหยดน้ำที่เราดื่มกินในแต่ละวัน เกิดจากจิตใจดีงามที่ทำหน้าที่โอบอุ้มดูแลสรรพชีวิต เรามิอาจตัดสายใยแห่งการพึ่งพานี้ได้ มนุษย์มิได้ดำรงอยู่เป็นปัจเจกที่โดดเดี่ยว ในทางกลับกัน มนุษย์เป็นชีวิตเล็กๆ ชีวิตหนึ่งในสายสัมพันธ์ที่ยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ

เมื่อผู้เขียนประจักษ์ถึงความจริงที่เรามิได้ยิ่งใหญ่มาจากไหน ในทางกลับกันก็เป็นเพียงผู้พึ่งพาสิ่งต่างๆ อยู่นั่นเอง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของตนก็ลดลง ธรรมชาติได้สอนความจริงว่าเราเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของความหลากหลายของสรรพชีวิตที่เลื่อนไหลดำรงอยู่บนโลก และเป็นโลกใบเดียวกันนี้เอง

Newer Posts Older Posts Home