โดย ธีระพล เต็มอุดม
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๙
----------------

เด็กชายตัวน้อยเฝ้าคอยวันคริสต์มาสที่ใกล้เข้ามาด้วยใจจดจ่อ เมื่อวันนั้นจะมาถึง ทุกสิ่งทุกอย่างงดงามดังหวัง เสียงเพลงเสียงระฆังดังกังวาน ทุกหนแห่งประดับประดาด้วยดวงไฟและริบบิ้นแดงเขียว หิมะโปรยละอองขาวบางปกคลุมไปทั่ว เหลือเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เจ้าหนูรอคอย คุณลุงใจดีในชุดสีแดงผู้มีชื่อว่าซานตาคลอส

ในระหว่างขับรถจักรยานเที่ยวเล่นไปตามถนนในหมู่บ้านกับพี่สาว เจ้าหนูบอกเล่าถึงการมาเยือนของลุงซานต้าให้เธอฟังอย่างตื่นเต้น ทว่าเธอพลันหัวเราะเยาะตอบน้องชายวัยเก้าขวบว่า
“มีซานตาคลอสซะที่ไหน แค่นิทานหลอกเด็กเท่านั้นแหละ ใครๆ ก็รู้”

ราวกับถูกปลุกตื่นจากฝันหวาน เจ้าหนูรู้สึกว่าตัวเองช่างโง่เขลา ต้นคริสต์มาสประดับดาวและตุ๊กตาดูเหงาหงอย ความร่าเริงสดใสในท่วงทำนองเพลงหายไป

เจ้าหนูทนเก็บความอึดอัดสงสัยว่าซานตาคลอสนั้นมีจริงหรือไม่เอาไว้จนเกือบค่ำ ขณะกำลังทานขนมอบเชยรสหอมหวานฝีมือคุณยาย จึงได้เอ่ยปากถามยาย ผู้ที่จะบอกเขาแต่ความจริงเสมอ ยายขมวดคิ้วก่อนตอบว่า
“ข่าวลือนี่มีมานานหลายปีแล้วนะ เอาล่ะ งั้นเราออกไปข้างนอกกัน”
“ไปไหนครับคุณยาย?”

คุณยายขับรถพาหลานตัวน้อยไปยังห้างสรรพสินค้า มอบเงินให้สิบเหรียญและปล่อยเขาอยู่ตามลำพัง บอกเพียงว่า
“หลานเอาเงินนี้ไปซื้อของขวัญนะ อะไรก็ได้ไปมอบให้คนที่หลานคิดว่าเขาควรจะได้รับ”

เจ้าหนูลังเลนิ่งคิดอยู่สักครู่ใหญ่ ด้วยไม่คุ้นเคยกับการซื้อของโดยลำพัง เขานึกถึงเพื่อนไปทีละคน แล้วก็นึกถึงบ๊อบบี้ เพื่อนผู้ไม่เคยลงไปเล่นหิมะกับเพื่อนๆ ที่สนามในช่วงพักกลางวัน บ๊อบบี้บอกครูว่าเขายังไอและไม่หายจากหวัด แต่ทุกคนต่างรู้ว่าสาเหตุจริงๆ คือครอบครัวของบ๊อบบี้ยากจน ไม่มีรายได้มากพอซื้อเสื้อโค้ทกันหนาวให้ใส่

คิดได้ดังนั้นแล้ว เจ้าหนูจึงตัดสินใจซื้อเสื้อโค้ทกันหนาวตัวหนึ่งให้เป็นของขวัญแก่เพื่อนคนนี้ ระหว่างช่วยกันห่อของขวัญ คุณยายยังแนะนำให้เขาเขียนการ์ดแนบไว้ ข้อความว่า “สำหรับบ๊อบบี้ จาก ซานต้า”
คุณยายยังบอกด้วยว่า “เอาล่ะ ตอนนี้หลานได้เป็นทีมซานตาคลอสแล้วนะ และจะเป็นตลอดไป”

ท่ามกลางอากาศหนาวและหิมะในคืนก่อนวันคริสต์มาส สองยายหลานขับรถไปยังบ้านของบ๊อบบี้ เจ้าหนูวางของขวัญไว้หน้าประตูบ้าน เคาะประตูเรียก แล้ววิ่งผลุบเข้าไปหลบในพุ่มไม้ทันก่อนที่บ๊อบบี้จะเปิดประตูออกมา เมื่อเขาหยิบกล่องของขวัญขึ้นและจ้องดูการ์ด เจ้าหนูก็ได้เห็นสีหน้าและแววตาของเพื่อน เห็นความสุข ความฝันและความหวังบนใบหน้าและดวงตาคู่นั้น

จนบัดนี้ผ่านมาแล้วถึง ๔๐ ปีเขาก็ยังไม่เคยลืม
. . . . . . . . . . .

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องเล่าในวัยเด็กของชายผู้หนึ่ง เรื่องของเขาอยู่ในอีเมลที่ส่งต่อๆ กันมา เรื่องเล่าธรรมดาสามัญแต่มีเนื้อหาที่จับใจนี้ ไม่เพียงทำให้เรารู้สึกซาบซึ้งและประทับใจไปกับเหตุการณ์จนอดใจไม่ได้ ต้องส่งต่อไปให้คนอื่น หากเรื่องราวนี้ยังถ่ายทอดบอกเล่ากระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาอย่างเรียบง่ายอีกด้วย

กระบวนการเรียนรู้ที่ว่านั้นเป็นอย่างไร? กล่าวคือ เมื่อคุณยายพบกับคำถามว่าซานตาคลอสมีจริงหรือ ท่านไม่ได้พยายามอธิบายให้เชื่อ หรือยกเอาเหตุผลใดมากล่าวอ้าง ไม่แม้แต่บอกปัดการตอบคำถามหลานตัวน้อย คุณยายเลือกใช้วิธีสร้างโอกาสให้หลานมีประสบการณ์โดยตรงกับเรื่องซานตาคลอส

การได้เผชิญกับเรื่องราวด้วยตัวเอง ได้มีประสบการณ์ตรงนี้เอง ทำให้หลานเกิดความเข้าใจด้วยใจ ไม่ใช่เข้าใจเพราะต้องเชื่อคล้อยตามผู้ใหญ่ หรือเชื่อเพราะเกรงกลัวไม่กล้าขัดแย้ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เต็มไปด้วยคุณค่าและความหมายต่อชีวิตตนเองและผู้อื่นเช่นนี้ แม้คุณยายจะสามารถอธิบายแจกแจงเหตุผลให้เชื่อได้ แต่ก็ไม่อาจสร้างความลึกซึ้งลงในใจของหลาน

การมีประสบการณ์ตรงด้วยตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งของการเรียนรู้ในแบบจิตตปัญญาศึกษา เพราะความเข้าใจในหลายเรื่องไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการฟัง แต่ต้องได้ปฏิบัติทดลองทำเอง จึงจะเป็นความเข้าใจที่ไม่ได้ท่องจำ เป็นความเข้าใจที่มาจากการเกิดปัญญา

ผู้สอนไม่ได้ทำหน้าที่จดจำความรู้มาถ่ายทอดตามตัวอักษร และผู้เรียนไม่ได้มีหน้าที่จดจำรายละเอียดให้ได้ครบถ้วนมากที่สุด คุณยายไม่ได้บอกให้หลานเชื่อเรื่องซานตาคลอส และหลานก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อตามไปทุกอย่าง ฉันใดก็ฉันนั้น

สิ่งสำคัญอีกประการของการเรียนรู้จึงได้แก่ การได้คิดอย่างใคร่ครวญลึกซึ้ง ดังเช่นคุณยายปล่อยให้เจ้าหนูได้คิดและตัดสินใจว่าควรจะให้ของขวัญอะไรแก่ใคร สร้างโอกาสให้เขาได้ตรึกตรองด้วยตนเอง ได้เห็นประโยชน์ของเงินที่จะสร้างความสุขให้แก่ผู้อื่น เจ้าหนูผู้เรียนมิได้ตัดสินใจด้วยหลักเหตุผลเท่านั้น หากยังมีทั้งความเมตตาเห็นอกเห็นใจในความทุกข์ยากของเพื่อน

และเมื่อเพื่อนได้รับของขวัญนั้น ความรู้สึกตื้นตันเปี่ยมสุขก็กลับคืนสู่ผู้ให้ ความประทับใจและความเข้าใจในคุณค่าของการให้จึงจับใจมาตลอด ๔๐ ปีไม่จางหายไปไหน
. . . . . . . . . . .

เรื่องราวในอีเมลส่งต่อกันนี้ เราเองอาจจะไม่ได้รู้แน่ชัดหรือได้คำตอบว่าซานตาคลอสมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ เพราะคำถามนั้นหาใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป สิ่งที่ค้นพบเมื่อได้เรียนรู้เข้าไปในใจของเรานั่นคือความรักต่อผู้อื่นต่างหากที่เป็นคุณค่าและความหมายที่แท้ของซานตาคลอส

ตัวเราเองเล่า จะเลือกทำความเข้าใจและตัดสินเรื่องราวต่างๆ ในโลกจากเรื่องเล่าของผู้อื่น เหมือนดังพี่สาวบอกเจ้าหนูว่าซานตาคลอสไม่มีอยู่จริง หรือจะลองเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เห็นโลกในอีกมุมมองจากการสัมผัสด้วยใจ ดังที่คุณยายให้หลานชายได้ค้นหาจนพบกับซานตาคลอสที่อยู่ในใจของเขาเอง





โดย ชลลดา ทองทวี เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๙
--------------

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปปลีกวิเวกตามลำพังที่เกาะแห่งหนึ่งทางใต้ เป็นการเดินทางที่ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะไปที่แห่งไหน ทำใจให้สบายๆ แล้วแต่ว่าการเดินทางจะพาเราไปที่ไหน
ที่เกาะแห่งนั้น ผู้เขียนได้สัมผัสน้ำทะเลใสๆ และทรายนุ่มขาว ดูพระอาทิตย์ตกดิน และเห็นว่ามีสีรุ้งบนผิวน้ำตรงขอบฟ้าทุกวัน

ในคืนหนึ่งที่ผู้เขียนลงไปนอนลอยตัวอยู่บนผิวน้ำ ดูดาวและพระจันทร์ พลันรู้สึกได้ถึงสัมผัสจากธรรมชาติ ที่หลอมรวมเราเป็นหนึ่งเดียวกันแบบไม่มีเงื่อนไข สัมผัสอันนั้น มันเปิดให้ตัวเองได้เปิดเปลือยความรู้สึกที่แท้จริงของตนเองอย่างจริงจัง.. สิ่งที่อาจจะไม่ได้ทำมากนักเวลาต้องอยู่ในเมืองใหญ่กับคนหมู่มาก เข้าประชุมแบบต่อเนื่องทั้งวัน.. ยิ้ม.. ทักทาย.. และรักษามรรยาทตามกฎกติกาของสังคม

กลับมาจากการเดินทางครั้งนั้น ผู้เขียนยังรู้สึกอาลัยอาวรณ์ธรรมชาติ เลยขับรถไปเที่ยวสวนต่างๆ และแม่น้ำลำคลองแถวศาลายา และนครชัยศรี ความที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารในช่วงนั้นทำให้รู้สึกแปลกใจเพราะเห็นน้ำท่วมไปเสียทุกหนทุกแห่ง เมื่อผู้เขียนได้เข้าไปพูดคุยกับชาวสวนที่เคยไปเยี่ยมเยือนรู้จักกัน จึงได้รู้ว่า เป็นน้ำท่วมที่ผิดปรกติธรรมดา ไม่เคยมีมาในรอบ ๑๐ ปี

มีคนเล่าว่า น้ำมากมายเหล่านี้เป็นน้ำที่ระบายออกมา เพื่อไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ สักพัก การเดินทางเพื่อหาความสงบเย็นจากธรรมชาติแถวนี้ก็จบลง เพราะว่าได้เห็นความทุกข์ยากของผู้คน ชาวสวนที่เป็นห่วงว่าสวนผลไม้กำลังจะตาย ชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมตัวบ้านและร้านค้าน่าอึดอัดใจ

สัปดาห์ถัดมา ผู้เขียนได้เดินทางกลับบ้านไร่ที่ภูเรือ จ.เลย เป็นการเดินทางที่ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะเป็นสถานที่คุ้นเคย คือบ้านของตัวเอง

แต่ความเงียบของที่นั่น เสียงนก พลังของต้นไม้ใหญ่น้อยในไร่ ค่อยๆ ดึงเรากลับไปสู่ความผ่อนคลายเดียวกันกับที่ได้สัมผัสที่เกาะนั้นอีกครั้ง มีดอกบัวตองกำลังบาน ทั้งสวย และยังมีกลิ่นหอมด้วย เป็นสถานที่ที่เหมือนที่เกาะนั้น คือรู้สึกว่าแม้แต่หมาก็ยังยิ้ม

ลองขับรถออกไปในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคยนัก ได้เห็นทะเลภูเขาในมุมมองใหม่ๆ มันเวิ้งว้างท้าทายจินตนาการ ที่หุบเขาข้างล่าง มีทุ่งนาที่มีรวงข้าวสีทองเต็มไปหมด ชาวนาเริ่มเกี่ยวข้าวแล้ว มีควายตัวอ้วนๆ เดินเล่นอยู่ เหมือนภาพในฝัน

สิ่งที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นสำหรับผู้เขียน คือ หลังจากอยู่กับธรรมชาติที่ผ่อนคลายเช่นนี้ได้ไม่กี่วัน ผู้เขียนเริ่มได้ยินเสียงต่างๆ มากขึ้น เป็นเพราะเราวางใจที่จะเปิดใจรับสัมผัสกับสรรพสิ่งอย่างที่เป็น ได้ยินเสียงนก เสียงจิ้งหรีด เสียงสายลม และในตอนตื่นนอนตอนเช้าวันหนึ่ง ผู้เขียนก็ เริ่มได้ยินเสียงลมหายใจของตัวเอง รู้สึกถึงความเหนื่อยอ่อน..คาดหวัง.. ความไม่ผ่อนคลาย เริ่มได้ยินเสียงความคิดของตัวเอง.. ที่ “คิด” อยู่ตลอดเวลา บางที เราคิด มากกว่าที่เราดำรงอยู่เสียอีก คิดไปก่อน คิดตามหลัง คิดว่าเรามีชีวิตอยู่แบบนั้นแบบนี้ หรือแม้แต่ คิดว่า เรามีความสุข สิ่งที่เราไม่ได้ยินเลยคือ เสียงของชีวิตของตัวเองจริงๆ อย่างที่มันเป็น

..ได้นอนเกลือกกับเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้น.. เสียงท้องร้อง.. ความพยายามที่จะควบคุมของความคิดอีกเช่นเคย
บางครั้ง นานๆ ครั้ง จะมีคนมาพูดด้วยบ้าง ทำให้เห็นตัวเองพยายามจะยิ้ม พูดอะไรบางอย่างเพื่อเป็นบทสนทนา ทั้งที่ ไม่ได้รู้สึกอะไรกับเรื่องนั้นอย่างนั้น เห็นตัวเองพยายามตัดสินคู่สนทนา เวลาฟังเขา
ที่สะดุดใจคือ รู้สึกว่า ไม่เคยได้ยินเสียงเหล่านี้มาก่อนในสภาวะปรกติ ยกเว้น เวลานั่งสมาธิ หรือ ฝึกเจริญสติ ทั้งที่ใช้ชีวิตมาตั้งครึ่งค่อนชีวิต มันคงเป็นเพราะ ไม่เคยได้สัมผัสธรรมชาติที่เป็นธรรมชาติอย่างเต็มที่มากพอ ในสภาวะเช่นนี้ มันเป็นการเจริญสติแบบไม่ได้ตั้งใจจะฝึก ผ่อนคลายกว่ากันมากนัก เพราะว่า เราแค่เปิดเปลือยตัวเองออกตามธรรมชาติ ไม่ได้คิดว่าจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติภาวนาอะไร แค่อยู่อย่างเป็นธรรมชาติ เหมือนที่ธรรมชาติเป็น

รู้สึกได้ถึงความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ เมื่อคนเราต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในธรรมชาติที่หม่นเศร้า สกปรก ซึ่งเป็นผลจากการกระทำของเราเอง ที่ไปจัดวางธรรมชาติเสียใหม่จนผิดรูปผิดร่าง ในธรรมชาติที่ไม่เป็นธรรมชาติเช่นนั้น ใจของเราเอง ที่จะโอบกอดสัมผัสสรรพสิ่งอย่างเต็มที่ ก็กลับปิดกั้น ใจของเราเอง ที่จะสัมผัสได้ยินเสียงใจของตัวเอง ก็บิดเบือนมืดบอดไป

จำเป็นเหลือเกิน ที่มนุษย์จะต้องฟื้นธรรมชาติขึ้นมา ธรรมชาติที่อยู่ภายนอก ที่สัมผัสและสัมพันธ์กับธรรมชาติในหัวใจของเราอย่างใกล้ชิด เราจำเป็นต้องกลับไปหาธรรมชาติให้มากขึ้น เพื่อปลุกให้เสียงในใจที่แท้จริงของเรา ได้ตื่นขึ้น

เราจะมีความสุขที่แท้จริงในชีวิตได้อย่างไร ถ้าเรายังไม่ได้ยินเสียงของหัวใจของตัวเอง เราจะสื่อสารความสุขนั้นต่อไปได้อย่างไร ถ้าเรายังไม่สามารถแม้แต่จะสื่อสารกับตัวเองได้อย่างแท้จริง การสื่อสารและรับฟังที่ผิดพลาด ย่อมทำให้การตั้งโจทย์ของชีวิตผิดพลาด และทำให้การกระทำที่จะตอบโจทย์นั้นๆ ผิดพลาดไปหมดตามไปด้วย

ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนยังได้มีโอกาสอันดี ที่ได้พานักศึกษากลุ่มหนึ่งไปฝึกปฏิบัติเจริญสติและวิปัสสนา กับคุณแม่ อมรา สาขากร ที่สวนพุทธธรรม จ.พระนครศรีอยุธยา จึงได้คำอธิบายให้เข้าใจว่า การเจริญสติ หมายถึง “การเผชิญหน้ากับความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา” มีนักศึกษาบางคน ที่สามารถปฏิบัติได้ดีกว่าผู้ใหญ่ ที่ฝึกปฏิบัติมาหลายปีเสียอีก ทั้งที่มาลองฝึกเป็นครั้งแรก ความใสซื่อเปิดตรงไปตรงมาต่อความรู้สึกของตัวเองของเด็กๆ เป็นพื้นฐานที่ดีในการเริ่มฝึก เพราะเด็กๆ ยังรักษาความเป็นธรรมดา ตามธรรมชาติของตัวเองไว้ได้มาก เพียงแต่มีครูผู้ชี้นำที่เหมาะสม ให้ตามดูความรู้สึกเหล่านั้น เด็กๆ ก็จะสามารถได้ยินเสียงใจได้อย่างชัดเจน และจึงมีสติรู้ตัว ที่ก่อให้เกิดปัญญาตามมาได้

ดังที่การปฏิบัติของพุทธแบบซกเช็นของทิเบตกล่าวไว้ว่า จิตเดิมแท้ของมนุษย์นั้นบริสุทธิ์ เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อให้ก้าวสูงขึ้นไปสู่ความซับซ้อนอันใด แต่เพื่อเปิดต่อการตระหนักรู้ถึงความบริสุทธิ์อันเป็นธรรมชาติพื้นฐานนั้น การคืนกลับสู่การตื่นรู้ในธรรมชาติ จะนำเราสู่การได้ยินเสียงใจที่ชัดเจน และมีความสุข จากปัญญาที่เกิดขึ้นเพราะการได้เห็นความจริงนั้น



โดย พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๙
-------------

จากบทความ “แยก ‘รู้’ ออกจาก ‘เรื่อง’” ตอนแรกที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๙ บทความนั้นได้ชี้ให้เห็นถึงสภาพการดำรงชีวิตอยู่ในโลกยุคข่าวสารข้อมูล ที่ทำให้เราตกอยู่ในวังวนแห่งความคิดทั้งวันทั้งคืน ไม่เคยรู้ว่ามีโลกที่ยังคงดำรงอยู่นอกเหนือโลกแห่งความคิด หากเปรียบกับหนังเรื่องเดอะเมทริกซ์ (The Matrix) ผู้คนที่ตกอยู่ในโลกแห่งความคิดก็เปรียบได้กับผู้คนที่อยู่ในโลกเมทริกซ์ และผู้ที่ข้ามพ้นความคิดก็คงเปรียบเสมือนนีโอ เราอาจใช้ชีวิตอยู่ในโลกความคิด/เมทริกซ์ได้อย่างมีความสุข แต่ไม่เคยรู้เลยว่า ความสุขนั้นถูกกำหนดมาให้แล้วโดยเราไม่สามารถเป็นผู้เลือก เราถูกขังอยู่ในคุกแห่งความคิด ถูกผูกมัดอยู่ในพันธนาการแห่งเรื่องราวและสังสารวัฏอันไม่จบไม่สิ้น ไม่อาจปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระได้เลย

การออกจากโลกความคิด คล้ายกับเรื่องราวในหนังเดอะเมทริกซ์ กล่าวคือ ถึงแม้ว่าเราจะถูกกำหนดให้เลือก เราก็ยังพอมี “ทางเลือก” หลงเหลืออีกเล็กน้อย คือเลือกว่าเราจะเดินอยู่ในโลกแห่งความคิด หรือเดินข้ามพ้นโลกความคิด ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกกิน “ยาเม็ดสีแดง” หรือ “ยาเม็ดสีน้ำเงิน”

หาก “ทางเลือก” ของคุณคือ “ยาเม็ดสีแดง” หรือหนทางสู่การข้ามพ้นความคิด ผมจะเริ่มแนะนำให้คุณรู้จักกับการแยก “รู้” ออกจาก “เรื่อง” หาก “ทางเลือก” ของคุณคือ “ยาเม็ดสีน้ำเงิน” หรือการอยู่กับโลกความคิดความฝันตามความคุ้นชิน คุณอาจไม่จำเป็นต้องอ่านบทความนี้ต่อไป

“ทางเลือก” นี้เป็นของคุณ
...

โลกความคิดเป็นโลกของการ “รู้เรื่อง” กล่าวคือ รู้ว่าเราจะกินอะไรเช้านี้ รู้ว่างานที่กำลังทำอยู่จะแก้ปัญหาอย่างไร หรือรู้ว่าเรากำลังไม่รู้ว่าเพื่อนคนนี้กำลังคิดกับเราอย่างไร เป็นต้น หากเราพินิจพิจารณาปรากฏการณ์ “รู้เรื่อง” อย่างแยบคาย เราจะพบว่า “ความคิด” เป็นจิตผู้รู้ ที่ไปรู้ “เรื่อง” ในฐานะที่เป็นสิ่งที่ถูกรู้ กระบวนการเบื้องหลังของโลกความคิดคือ ความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ที่ประกอบสร้างเรื่องราวขึ้นมาผูกมัดและพันธนาการเราไว้

เคล็ดลับของการไปพ้นจากโลกความคิด คือ การเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้
ณ จุดสมดุลหนึ่งแห่งความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ เราจะมีปรากฏการณ์สองอย่างคือ ความรู้ว่ารู้อะไร และความรู้ว่าไม่รู้อะไร สรุปลงได้เป็น “รู้เรื่อง” แต่ในปราฏการณ์นั้น จิตผู้รู้จะมีคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งที่เรามักไม่คุ้นเคยหรือรู้จักกันคือ ความไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร

การเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ มีขั้นตอนเริ่มต้นที่ การเปิดพื้นที่ให้กับความไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร

ภาษาเซนอาจเรียกขั้นตอนนี้ว่า “การเทน้ำออกจากถ้วย” “จิตของผู้ฝึกใหม่” (Beginner’s mind) หรือ “การทำความสะอาดลิ้นชักให้ว่าง” เป็นต้น

เรียกง่ายๆ ก็คือ เผื่อใจไว้ก่อนว่าเราอาจยังไม่รู้อะไรอีกมาก เป็นการอ่อนน้อมโดยไม่เอาตัวตนของ “ความรู้” เป็นตัวตั้ง ไม่ว่าจะเป็นความรู้ว่ารู้อะไร และความรู้ว่าไม่รู้อะไร โปรดสังเกตว่า “ความรู้ว่าไม่รู้อะไร” มีความคล้ายคลึงอย่างมากกับการเผื่อใจไว้ว่าเราอาจยังไม่รู้อะไร

แต่ที่สุดของความไม่รู้คือ “ความไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร” กล่าวคือ ให้เผื่อใจไว้สุดๆ ว่าเรายังไม่รู้อะไร

การแยก “รู้” ออกจาก “เรื่อง” จะเป็นไปไม่ได้เลยหากพื้นที่ของความไม่รู้ว่าไม่รู้อะไรยังไม่ได้รับการเปิดขึ้น จะเป็นไปไม่ได้เลยหากพื้นที่ในใจของเรายังเต็มไปด้วย “ความรู้” เหตุเพราะความรู้นั้นคือ อัตตาใหญ่ที่ครอบคลุมไปทั่ว

พื้นที่ของความไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร อนุญาตให้จิตผู้รู้เคลื่อนไปสู่ความสัมพันธ์ใหม่ การเริ่มต้นปฏิบัติจิตเพื่อไปสู่การข้ามพ้นความคิด จึงอาศัยเพียงแค่เราเริ่มเผื่อใจอย่างสุดๆ ต่อความไม่รู้

ไม่ใช่แค่ ความรู้ว่าไม่รู้อะไร แต่เป็น ความไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร!

การเปิดพื้นที่อย่างไม่มีที่สิ้นสุดต่อความไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร เป็นคุณสมบัติสำคัญของการเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ ประดุจดั่งการเคลื่อนย้ายวัตถุจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง หากวัตถุนั้นถูกวางติดอยู่กับผนังกำแพง การเคลื่อนย้ายก็เป็นไปไม่ได้ แม้จะออกแรงดันสักเท่าไร ดังนั้นความสำคัญจึงอยู่ที่การทลายกำแพงเพื่อเปิดพื้นที่ว่าง ให้กับการเคลื่อนย้ายวัตถุ

การเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน เมื่อจิตเคลื่อนไปก็จะชนกับกำแพง หรือเปลือกที่ห่อหุ้มจิตเราไว้ เมื่อทลายกำแพงหรือกะเทาะเปลือกที่ห่อหุ้มจิตออกมา ก็จะพบกับพื้นที่กว้างใหญ่ขึ้น วิสัยทัศน์ที่กว้างไกลมากขึ้น

เมื่อนั้น...จิตผู้รู้ขยายใหญ่ขึ้น ครอบคลุมสิ่งที่ถูกรู้มากขึ้น

จากกำแพงหนึ่งสู่กำแพงหนึ่ง จากเปลือกชั้นหนึ่งสู่เปลือกอีกชั้นหนึ่ง ชั้นแล้วชั้นเล่า...

เมื่อนั้น...จิตใหญ่ครอบคลุมไปทั่วทั้งโลกธาตุและจักรวาฬ ไม่มีการไปไม่มีการมา ฉับพลันนั้นสรรพสิ่งรวมลงในรสเดียวกัน เป็นรสอันเอก ความรู้/อัตตาใหญ่ทั้งปวงกลายเป็นจิตเล็ก ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป จากขณะหนึ่งสู่อีกขณะหนึ่ง หาตัวตนอันใดที่จะยึดถือได้ไม่

สรรพสิ่งเป็นสักแต่ว่าธาตุตามธรรมชาติ ความสละคืนไม่เอาอะไรไว้อีกอุบัติขึ้น ไม่มีแม้สิ่งใดที่จะบังคับควบคุมไว้ได้ ไม่จำเป็นต้องพยายามทำงานอะไรอีกต่อไป ข้ามพ้นความคิดนึกปรุงแต่งอย่างสิ้นเชิง
ฉับพลันนั้นรอยยิ้มน้อยๆ กับความสุขอันปราณีตผุดบังเกิด ใจใหญ่โอบอุ้มสรรพสิ่งด้วยมหากรุณาผุดบังเกิด เพื่อร่วมไหลลื่นไปกับธาตุทั้งปวงอย่างเป็นปกติ
...

ผมไม่รู้หรอกว่าจิตใหญ่/ใจใหญ่คืออะไร

เพราะผมไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร...

โดย วิจักขณ์ พานิช
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

พิธีกรรมทางศาสนาที่เราทำๆ กันจนกลายเป็นแบบแผนตายตัว มักจะถูกมองเป็นเรื่องน่าเบื่อ ทั้งขั้นตอนที่เยิ่นเย้อ พิธีรีตองที่สับสน บวกกับบทสวดบาลีที่ไม่มีใครเข้าใจ (แม้แต่ตัวผู้สวดเอง) วันก่อนผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมพิธีรับไตรสรณคมน์ ของเพื่อนๆ ชาวอเมริกัน จึงอยากจะถ่ายทอดข้อคิดที่ได้จากงานนี้ออกมาเป็นบทความให้ได้อ่านกัน

ทุกคนคงทราบกันดีว่า การรับไตรสรณคมน์ คือ การรับเอาพระรัตนตรัย อันประกอบด้วยพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง หรือหากจะเข้าใจไปในแง่ของการศาสนา พิธีกรรมนี้ก็คือการประกาศตนเป็นชาวพุทธนั่นเอง พิธีกรรมก็มีอย่างง่ายๆ คือ เรากล่าวปฏิญาณตนสามรอบต่อหน้าครูบาอาจารย์ “พุทธัง สรณัง คัทฉามิ ธัมมัง สรณัง คัทฉามิ สังฆัง สรณัง คัทฉามิ” สามจบ
รับไตรสรณะในภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า “take refuge” หมายถึง การรับเอาเป็นที่พึ่ง ส่วนผู้ที่รับไตรสรณะนั้น เขาเรียกว่า “refugee” ซึ่งมีนัยที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว

ก็น่าแปลกไหมล่ะครับ การรับเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง กลับไปจบลงตรงที่สถานะของ refugee หรือคนลี้ภัยหมดที่พึ่งไปเสียได้ แทนที่การรับไตรสรณคมณ์จะทำให้เราได้ที่พึ่งมายึดเกาะเป็นเสาหลักให้กับชีวิต ตรงกันข้ามการรับเอาพระรัตนตรัยมาเป็นที่พึ่ง กลับบ่งบอกถึง สถานการณ์มืดแปดด้าน ไร้ทางออก หมดทางเลือก เมื่อเราได้ตระหนักถึงสภาวะความไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่ง ความทุกข์ของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และเหตุปัจจัยรายรอบที่แปรเปลี่ยนไปไม่คงที่ หันไปทางไหนก็ดูจะไม่มีใครหนีความจริงแห่งชีวิตที่ว่านี้ไปได้ ทุกคนเหมือนต่างกำลังจมน้ำ ต่างคนต่างหาที่ยึดเหนี่ยว อย่างที่ไม่มีใครคิดที่จะเรียนรู้วิธีว่ายน้ำออกไปจากทะเลแห่งความทุกข์นี้เลยสักคน เมื่อพึ่งใครไม่ได้ เพราะทุกคนต่างก็อยู่ในวังวนเดียวกัน เราจึงตัดสินใจที่จะพึ่งตัวเอง โดยการรับเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแรงบันดาลใจในการฝึกฝนตนเองให้สามารถเผชิญหน้ากับสภาวะความทุกข์รอบด้านให้ได้ ด้วยใจที่ไม่เป็นทุกข์

เรารับ “พุทธะ” ในฐานะแบบอย่างของการอุทิศตน เรียนรู้ฝึกฝนจนค้นพบศักยภาพของจิตที่เปิดกว้างภายใน เรารับ “ธรรมะ” ในฐานะสัจธรรมในทุกสภาวะจิต ทุกอารมณ์ ทุกผู้คน ทุกเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ให้เราเรียนรู้ที่จะสัมผัสทุกแง่มุมตามที่เป็นจริง และ “สังฆะ” ในฐานะเพื่อนร่วมเดินทางฝึกฝน ผู้จะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่กันบนเส้นทางที่โดดเดี่ยวสายนี้ อาจจะเรียกได้ว่า การรับไตรสรณคมณ์ ก็คือ พิธีแห่งการให้คำปฏิญาณตนที่จะยืนบนลำแข้งตัวเอง สู่การฝึกฝนเตรียมพร้อมที่รับมือกับความไม่แน่นอนของชีวิตให้ได้ในทุกรูปแบบ

คนส่วนมากใช้เวลาทั้งชีวิต เพื่อที่จะพิสูจน์ความมีอยู่ของตัวตนที่ไม่มีอยู่จริง เราพยายามหยิบจับเอาสิ่งภายนอกมาเป็นคำตอบของคำถามที่อยู่ลึกๆ ในใจ...ฉันคือใคร? ฉันเกิดมาทำไม? ตายแล้วฉันจะไปไหน? เงิน งาน บ้าน รถ ปริญญา ชื่อเสียง เกียรติยศ ความสำเร็จ ความรัก คนรัก เราพยายามจะหยิบคว้าหาอะไรมาเติมเต็ม เติมเต็มอะไร...ไม่มีใครรู้ แต่เราก็ยังเลือกที่ทำตามๆ กัน ขณะที่กำลังหยิบโน่นฉวยนี่ เกาะเกี่ยวหาที่พึ่งจากภายนอก ลึกๆ เราต่างรู้สึกอ่อนแอ ไม่สามารถยืนหยัดอยู่บนทะเลชีวิตที่เต็มไปด้วยความผันผวนไม่แน่นอน เมื่อคนเราไม่มีความเข้าใจธรรมชาติของชีวิตและสรรพสิ่งดีพอ ความกลัวจึงทำให้เราต่างต้องการที่พึ่งภายนอก ที่สามารถให้ความรู้สึกปลอดภัย พอจะเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจได้แม้เพียงชั่วเวลาหนึ่ง

เมื่อรับเอาไตรรัตนะมาอยู่ในใจแล้ว เราก็กลายเป็น “ผู้ลี้ภัย” หรือ “refugee” อันแสดงถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักเดินทางบนเส้นทางการฝึกฝนตนเอง ก้าวเดินสู่เส้นทางของชีวิตที่จะค่อยๆ คลี่บานในทุกขณะ เราตัดสินใจเลิกที่จะมองหาคำตอบจากภายนอก เลิกหวังลมๆ แล้งๆ ที่จะใช้ชีวิตตามกระแสสังคม ด้วยความตระหนักว่าไม่มีใครที่จะสามารถหยิบยื่นคำตอบใดๆ ให้แก่ชีวิตของเราได้ นอกเสียจากเราจะค้นหาคำตอบนั้นให้กับชีวิตของเราเอง พุทธะ ธรรมะ และสังฆะ แสดงถึงคุณค่าแห่งการตื่นรู้ที่ทุกคนต่างมีอยู่ภายใน โดยที่หากเราใช้เวลาฝึกฝนบ่มเพาะให้พลังทางปัญญานั้นได้งอกงามขึ้น เราก็จะพบกับความดี ความงาม และความจริงแห่งการมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายในทุกลมหายใจเข้าออก

พอกล่าวรับไตรสรณคมณ์เรียบร้อย ผู้ไร้ที่พึ่งทั้งหลายก็เดินไปให้อาจารย์ท่านขลิบปลายผม เป็นสัญลักษณ์ของการ “บวช” หรือการสละละวาง “สิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัวเรา” เพื่อที่จะเดินตามเสียงภายใน แสวงหา “ศักยภาพภายในตัวเราที่แท้”

จากนั้นผู้รับไตรสรณคมณ์ก็จะเดินไปรับชื่อทางธรรมที่ธรรมาจารย์จะเป็นผู้ตั้งให้ จากสิ่งที่เขามองเห็นภายในจิตใจของคนผู้นั้น ตัวอย่างเช่น ขุนเขาแห่งปัญญา โยคีผู้กล้า หรือ มหาสมุทรแห่งความรัก เป็นต้น ชื่อทางธรรมบ้างก็บ่งบอกถึงศักยภาพ บ้างก็บอกถึงแรงบันดาลใจ บ้างก็บอกถึงคุณค่าอีกด้านที่บุคคลผู้นั้นมองข้ามไป บ้างก็เพื่อเตือนใจในเรื่องการปฏิบัติภาวนา โดยความหมายที่มีอยู่ในชื่อที่แต่ละคนได้รับ จะเป็นสิ่งที่ช่วยเตือนสติ เป็นเหมือนเข็มทิศให้เราได้กลับมาเห็นคุณค่าและเป้าหมายของการดำเนินชีวิตในยามที่เราต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ หรือในยามที่เราอาจจะสับสนไปกับเสียงภายนอกจนทำให้เราหลงลืมเสียงด้านในไป

เมื่อทุกคนได้รับชื่อทางธรรม ออกบวชเรียบร้อย พวกเขาก็เหมือนได้ชีวิตที่สดใหม่ พร้อมที่จะออกเดินทางสู่เส้นทางการเรียนรู้แห่งชีวิต ธรรมจารย์ที่เป็นเสมือนอุปัชฌาจารย์ (preceptor) ก็จะให้โอวาทในเรื่องของการฝึกฝนตนเอง ที่จะต้องประกอบด้วยศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นพื้นฐานของการศึกษาด้านในในทุกปัจจุบันขณะ

จบพิธีกรรมด้วยการโปรยข้าวสารไปรอบๆ ห้องปฏิบัติ พร้อมกับการให้พร ให้ทุกคนมีความตั้งใจในการฝึกฝน มีความอดทนต่อการฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิต และไม่หวั่นไหวไปกับเสียงแห่งโลกธรรมภายนอก จากนั้นเพื่อนๆ พ่อแม่ และแขกผู้มีเกียรติ ก็ยืนปรบมือแสดงความยินดีกับ new refugee ทั้งหลาย อีกนัยหนึ่งก็ถือเป็นการต้อนรับเขาสู่ครอบครัวแห่งพุทธะ อันเป็นสังฆะของนักเดินทางบนเส้นทางแห่งการตื่นรู้ร่วมกัน

การไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่ทำขึ้นอย่างง่ายๆ ในครั้งนี้ ได้ให้แรงบันดาลใจแก่ผู้เขียนเป็นอย่างมาก ความสดใหม่ของพุทธศาสนาในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นสีสันของการเดินทางทางจิตวิญญาณที่ผู้เขียนไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ตลอดการเข้าร่วมพิธีกรรมผู้เขียนไม่รู้สึกเบื่อ หรือง่วงเลยแม้แต่วินาทีเดียว ตรงกันข้ามกลับรู้สึกตื่น และตั้งใจที่จะเรียนรู้ไปกับทุกขั้นตอนอย่างใจจดจ่อ บางชั่วขณะยังเกิดความรู้สึกตื้นตัน ขนลุก น้ำตาคลอ ไปกับเพื่อนๆ ด้วย ทุกรายละเอียดของพิธีกรรมแฝงไว้ด้วยหลักธรรมที่ลึกซึ้ง เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ร่วมพิธีนำสิ่งที่ได้เรียนรู้สู่การปฏิบัติจริงในชีวิต

เพียงแค่เรากล้าที่จะลอกเปลือกของความเป็นศาสนา และแบบแผนความเชื่อที่รับกันมาอย่างงมงายออกเสีย จนเหลือเพียงพิธีกรรมที่จัดขึ้นบนความธรรมดาและเรียบง่าย มุ่งเน้นไปที่ความเข้าใจและสายสัมพันธ์ของผู้มีส่วนร่วมเช่นนี้ พิธีกรรมก็จะทำหน้าที่เป็นประตูสู่โลกอันศักดิ์สิทธิ์ ที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมพิธีได้สัมผัสถึงความหมายของการใช้ชีวิตในแง่ของการเป็นผู้ฝึกฝนปฏิบัติตนบนเส้นทางการแสวงหาคุณค่า ดำเนินชีวิตด้วยศรัทธาแห่งพระรัตนตรัย บ่มเพาะพลังแห่งการตื่นรู้ภายใน เพื่อการเผชิญหน้ากับทุกขสัจจ์อย่างรู้เท่าทันในทุกขณะของชีวิต



โดย ณัฐฬส วังวิญญู เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
----------------------------------
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

เมื่อเจมส์ เลิฟลอคมองโลกว่าเป็นกายาหรือระบบที่มีชีวิต เขาเขียนหนังสือชื่อ Planetary Medicine หรือ ภูมิแพทยศาสตร์ (เวชศาสตร์ธรณี) ซึ่งอธิบายกระบวนการมีชีวิตและระบบจัดการตัวเองของโลก (self-organizing system) แม้แร่ธาตุ ก้อนหิน ซากชีวิตต่างๆ ที่อาจดูเหมือนไร้ชีวิต ก็เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของโลกใบนี้ทั้งสิ้น ส่วนที่เขาใช้คำว่าการแพทย์นั้น ผมเข้าใจว่าเขาต้องการสื่อสภาวะแห่งความเจ็บป่วยของโลก หรือ โลกโรคา (ผมอ่านสนุกว่า โล-กะ-โร-คา) อันมีพฤติกรรมของสังคมมนุษย์เป็นปัจจัยหลักที่มีส่วนทำให้โลกป่วย แม้โลกนั้นมีระบบเยียวยาตัวเองก็จริง แต่ไม่อาจเยียวยาให้ทันอัตราเร่งแห่งการเผาผลาญทำลายล้างของสังคมอุตสาหกรรมได้ จนในที่สุดมนุษย์เองก็จะอยู่ได้ยากขึ้น จนถึงอยู่ไม่ได้ จะล้มตายกันมากมาย ดังที่หลายคนคาดการณ์ นอกจากสิ่งต่างๆ จะได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับวิถีโลกหรือธรรมชาติอย่างทันท่วงที

ทีนี้ พอหันมามอง "องค์กร" ในฐานะระบบที่มีชีวิตดูบ้าง คือมององค์กรว่าเปรียบดังคนๆ หนึ่งที่มีสุขภาวะและปัจจัยต่างๆ ที่จะทำให้องค์กรใดๆ มีสุขภาวะที่ดี จากประสบการณ์การทำงานของผมเองในช่วงระยะเวลา ๓ ปีที่ผ่านมา เวลาผมให้บริการด้านกระบวนการเรียนรู้ให้กับองค์กรต่างๆ ตามแนวคิดของการจัดการความรู้ (Knowledge Management) เพื่อให้องค์กรวิวัฒนาไปเป็นองค์กรแห่งเรียนรู้ (Learning Organization) ดังที่แพร่หลายในแวดวงวิชาการด้านการบริหารและการจัดการองค์กรในปัจจุบัน บ่อยครั้งที่ผมรู้สึกว่าสิ่งที่สำคัญประการแรกคือการรักษาหรือเยียวยาโรคภัยที่เกิดขึ้นในองค์กร ให้เกิดการรักษาและฟื้นฟูไปในตัวเอง ทั้งในระดับปัจเจกและระดับองค์กร หรือสถาบัน ราวกับว่าต้องทำหน้าที่เป็นหมอช่วยเหลือให้เกิดการเยียวยาในองค์กรที่ส่วนใหญ่เกิดจากการออกแบบโครงสร้างองค์กรให้มีการแยกเป็นส่วนย่อยๆ การมุ่งเป้าหมายไปที่ผลิตผลหรือผลงานในทุกส่วนย่อยขององค์กร จนเกิดบรรยากาศแห่งการแข่งขันและหวาดระแวง องค์กรมีภาวะอารมณ์ตีบตันไม่เลื่อนไหล หรือองค์กรตกร่องอารมณ์ เป็นโรคพร่องแรงบันดาลใจ การสื่อสารตีบตันคล้ายๆ กับคอเลสเทอรอลอุดตันในเส้นเลือด เพราะการสื่อสารระหว่างส่วนย่อยต่างๆ เกิดการติดขัด เป็นต้น

มีผู้นำหลายท่านที่อยู่ในแวดวงธุรกิจได้ตั้งข้อสังเกตว่า โรคภัยร้ายแรงที่สุดที่องค์กรแทบทุกแห่งต้องประสบทุกวันนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่องค์กรต้องเร่งสร้างผลงานให้ได้ตามเป้าหมายภายในเวลาจำกัดนั้น คือ โรคเครียด ความวิตกกังวล และความกลัว ก่อให้เกิดบรรยากาศการทำงานที่เป็นทุกข์ เกิดการแข่งขัน และความรุนแรงเชิงความคิด อารมณ์และพฤติกรรมในทุกระดับ อันส่งผลต่อการเกิดโรคทางกาย แผนกจัดการทรัพยากรมนุษย์ทำงานหนักขึ้นในการที่จะรักษาบุคลากรไว้ไม่ให้ลาออกหรือด่วนหนีหาย จึงเป็นภาพของทุกขภาวะของสังคมที่เด่นชัดและพึงได้รับการดูแลอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ การส่งเสริมการพัฒนามิติแห่งความเป็นมนุษย์ให้กับการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรต่างๆ กำลังเป็นสิ่งที่น่าจับตา (Humanization of Human Resource: HHR) ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบกลุ่ม โดยอาศัยสุนทรียสนทนา และมีเป้าหมายคือการส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะทางกาย อารมณ์ สังคมและจิตวิญญาณ โดยเสนอให้เกิดการดูแลองค์กรใน ๓ เรื่องหลักๆ ได้แก่ ๑) การจัดการความเครียด (Relaxation and stress management) เพื่อให้ชีวิตอยู่ในภาวะปกติที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ ๒) ความเข้าใจตัวเอง ความภาคภูมิใจและความมั่นใจในตัวเอง (Self-understanding and esteem) และ ๓) การเชื่อมสัมพันธ์ถึงกันและกันอย่างเกื้อกูล ร่วมไม้ร่วมมืออย่างเป็นกัลยาณมิตร (Bonding and collective learning)

ทั้งนี้ การจัดการความรู้นั้นคงไม่ได้หมายถึงเพียงความรู้ที่เป็นข้อมูล ความคิด คำพูด ทักษะหรือความรู้ที่เกิดจากการฝึกฝนปฏิบัติอย่างเดียว แต่หมายถึงอารมณ์ ความรู้สึก และแรงบันดาลใจของผู้คนด้วย (Organizational emotion) เพราะเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เลื่อนไหล ภายใต้วัฒนธรรมองค์กร โดยที่ไม่มีใครสามารถควบคุมสภาวะนี้ได้ด้วยการกดสวิตช์หรือออกนโยบายให้เกิดพฤติกรรมพึงประสงค์ เช่น การทุ่มเทให้กับการเรียนรู้และเติบโตตลอดเวลา แม้การสร้างกลไกเพื่อปันผลตอบแทนทางวัตถุเพื่อดึงดูดให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริงนั้นก็ยากนัก

ขวัญขององค์กรมีภาวะเป็นสมุหภาพ ไร้ผู้ควบคุมหรือผู้นำเดี่ยว เป็นอนัตตา เปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวตลอดเวลา ไร้ผู้อำนวยการหรือCEO เพราะขึ้นอยู่กับขวัญของสมาชิกองค์กรทุกคน ขวัญองค์กรจะเป็นอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับว่าขวัญของชีวิตแต่ละชีวิตในองค์กรเป็นอย่างไร หากขวัญทั้งหลายได้รับการหล่อเลี้ยงให้มีพลัง อารมณ์ดี มีความสุขแล้ว ผู้คนย่อมเกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นปกติ และนำไปสู่ภาวะสร้างสรรค์ ก่อเกิดนวัตกรรม และภาวะผู้นำในทุกหน่วยย่อยอย่างไร้ขีดจำกัด ปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องและสอดรับกับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาได้อย่างทันท่วงทีมีประสิทธิภาพ

หลายครั้งที่มีการผ่าตัดองค์กร ราวกับว่าเป็นเครื่องจักร เพื่อปรับแก้ (Modify หรือ re-engineer) ผลที่เกิดขึ้นคือ ผู้คนที่ถูกโยกย้ายตำแหน่งรู้สึกว่าถูกกระทำ และไม่ได้รับการดูแลอย่างกรุณา ผู้บริหารหลายคนก็อาจพยายามบอกตัวเองว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การผ่าตัดต้องทนเจ็บบ้าง แม้ว่าในหลายกรณี ผ่าตัดหรือปรับแก้ ไปแล้วปัญหาก็ยังโผล่มาแบบเดิมๆ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องคนทำงาน แล้วก็ต้องหาทางปรับแก้อีก เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ท่ามกลางความอ่อนล้า สิ้นหวัง ภาวะการปกป้องตนเองสูงและแพร่หลาย การสื่อสารลับหลังอย่างเป็นวงจรอุบาทว์หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า นินทา รวมถึงความหวาดระแวง แบ่งพรรคแบ่งพวก กลายเป็นพฤติกรรมแพร่หลายที่นับวันก็กลายเป็นมลพิษต่อชีวิตองค์กร จนผู้คนล้มหายลาออกอย่างไม่รู้สาเหตุ หรือไม่ก็อยู่ไปวันๆ เอาตัวรอดอย่างคงสภาพเท่านั้นเอง
อาการของโรคเช่นนี้น่าจะมีผลมาจากการมององค์กรว่าเป็นเพียงเครื่องจักร (Machine organization) ที่ขับเคลื่อนให้เกิดผลิตผลออกมาตามเป้าหมายที่องค์กรนั้นๆ ตั้งไว้ ไม่ต่างจากโรงงานที่เน้นการผลิตที่ทันท่วงที ตามเวลาและเงื่อนไขที่มี ภายใต้โครงสร้างการบริหารองค์กรแบบบนลงล่าง (Top-down management) แบ่งการทำงานออกเป็นส่วนหรือหน่วยย่อยๆต่าง (departmentalization to fragmentation) จนกลายเป็นแบ่งแยกไปเลยอย่างไม่ค่อยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือเชื่อมสัมพันธ์กันอย่างเพียงพอ

แม้หลายองค์กรหรือชุมชนที่มีเป้าหมายไปทางสาธารณประโยชน์หรือสาธารณกุศล และตั้งใจเอื้อเฟื้อต่อการพัฒนาคุณค่าและศักยภาพมนุษย์ ก็ค้นพบทางตันของการบริหารจัดการแบบเดิม และมีอาการของโรคไม่ต่างกับองค์กรธุรกิจเท่าไรนัก อย่างนี้จะเรียกได้ว่าเป็นโรคระบาดองค์กร ที่มีรากมาจากโลกทัศน์และแนวปฏิบัติที่ขัดกับวิถีแห่งธรรมชาติอันมีชีวิตเป็นแก่นสารกระมัง ตราบใดที่วิธีการหรือการจัดองค์กรยังไม่เหมาะสม แม้เจตนาหรือพันธกิจขององค์จะดีเลิศประเสริฐศรีเพียงใดก็ตาม ผลที่ตามมาก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ดี ซึ่งเห็นได้ชัดจากองค์กรรัฐทั้งหลาย เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และอื่นๆ อีกมากมาย
ทั้งๆ ที่จริงแล้ว หากมองในทางกลับกัน องค์กรคือสิ่งมีชีวิต (Living organism) และมีฐานะเป็นศูนย์รวมแห่งความพยายามของมนุษย์ที่มารวมกันเพื่อกระทำการบางอย่างเพื่อนำไปสู่ผลที่ตนเองต้องการ ตามวิสัยทัศน์ชีวิต(Personal vision) ของแต่ละคนที่ส่งเสริมการบรรลุถึงวิสัยทัศน์องค์กร (Organizational vision) ไปด้วย หากเปรียบองค์กรเป็นร่างกายของเรา สมาชิกองค์กรก็เปรียบเสมือนอวัยวะต่างๆ ในร่างกายที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างไม่สามารถแบ่งแยกได้ โดยสุขภาวะรวมของร่างกายก็ขึ้นอยู่กับสุขภาวะของส่วนย่อยต่างๆ ด้วย

ดังนั้นผู้นำองค์กรเองจึงมีบทบาทสำคัญในการดูแลรับใช้กระบวนการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างหน่วยย่อยเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและสร้างสรรค์ และส่งเสริมสมาชิกองค์กรให้ค้นพบศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ที่มีจิตอันวิวัฒน์ได้ โดยเป็นได้มากไปกว่าความเป็นเพียงคนทำงาน เพราะชีวิตนั้นมีศักยภาพหรือพลังที่ไร้ขีดจำกัด ผู้นำองค์กรจึงอยู่ในฐานะผู้หล่อเลี้ยงดูแล เหมือนคนสวนดูแลสวนให้เติบใหญ่ งอกงาม โดยดูแลเหตุปัจจัยที่เกื้อกูลการเจริญเติบโต เช่น แรงบันดาลใจ บรรยากาศการทำงานที่ดี ความกล้าเผชิญอย่างสร้างสรรค์ ความเชื่อมโยงถึงกันและกันในทุกฝ่ายทุกหน่วย เป็นต้น

อีกร้อยปีข้างหน้าองค์กรของมนุษย์จะมีสุขได้หรือไม่ ฝากผู้นำผู้บริหาร ทุกๆ คนคิดด้วยนะครับ


โดย กอบแก้ว มโนมัยพิบูลย์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
--------------------------

การอบรมของเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา เรื่อง “งาน พลังกลุ่ม และความสุข” จัดโดยเสมสิกขาลัยดำเนินไปอย่างเรียบง่ายและเสร็จสิ้นลงด้วยดี ผู้เข้ารับการอบรมรู้สึกสนิทสนมกันมากขึ้น ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันผ่านเกมและกิจกรรมต่างๆ บางกิจกรรมต้องร่วมมือร่วมใจกันวางแผนเพื่อฝ่าฟันอุปสรรค ในที่นี้หมายถึงโจทย์ที่มีเงื่อนไขอันสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน และมากมายด้วยข้อจำกัดในการทำงานให้สำเร็จ ซึ่งแม้แต่ตัวผู้จัดกระบวนการเรียนรู้นี้เอง ยังต้องใช้เวลาอธิบายนานพอสมควรกว่าจะเสร็จ

บางกิจกรรมสามารถกดดันผู้เข้ารับการอบรมที่ยังไม่เคยร่วมกิจกรรมนั้นมาก่อน ทำให้คิดว่าจะทำได้จริงหรือ? จะเป็นไปได้หรือถ้าไม่ย่อหย่อนกฎเกณฑ์หรือกติกาที่ตั้งไว้ บางกิจกรรมไม่มีเงื่อนไขเวลา แต่ถ้าทำไม่สำเร็จอาจทำให้ไม่ได้รับประทานอาหารเอาง่ายๆ ขอยกตัวอย่างกิจกรรมที่ได้ทำกันและให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานในชีวิตจริง เช่น
เกมตัวต่อมหาสนุก เพื่อเรียนรู้ความสำคัญของการสื่อสารที่ดีและเพียงพอ เพราะประจักษ์ชัดถึงความผิดพลาดอย่างเป็นรูปธรรม จากการสื่อสารที่ไม่ดีและไม่เพียงพอระหว่างการทำงานร่วมกันของผู้มีหน้าที่ต่างๆ

การแสดงละคร เพื่อเรียนรู้ความไม่ไว้วางใจกัน ผ่านการจำลองสถานการณ์หรือเหตุการณ์จริง และจินตนาการถึงบทบาทของตัวละครที่ควรจะเป็นหากอยู่ในสถานการณ์หรือเหตุการณ์นั้น รวมถึงผลกระทบจากความไม่ไว้วางใจและการร่วมกันหาทางออก

กิจกรรมสายธารชีวิต เพื่อเรียนรู้การรับฟังอย่างลึกซึ้ง โดยฝึกฟังชีวิตและประสบการณ์ของพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ที่ผ่านมาจากอดีตถึงปัจจุบัน เหตุการณ์สุขหรือทุกข์ เปิดโอกาสให้รู้จักกันมากขึ้น กล่อมเกลาอารมณ์ความรู้สึกให้อ่อนโยนต่อชีวิตเราและเขา

กิจกรรมแม่น้ำพิษ เพื่อเรียนรู้การแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ผ่านการทดลองปฏิบัติจริง ทุกคนจะได้เรียนรู้การวางแผน การทำงานด้วยความรู้สึกที่เท่าเทียมหรือไม่เท่าเทียม แบบอย่างการทำงานที่เราชอบและไม่ชอบ ล้วนสามารถนำไปเป็นตัวอย่างในการทำงานจริงได้

งานเลี้ยงสังสรรค์เล็กๆ ที่ตั้งชื่อว่า “กิจกรรมเฉลิมฉลองชีวิต” เพื่อความสนุกสนานและผ่อนคลาย

ทุกอย่างที่เรารู้สึกนึกคิด อารมณ์ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทั้งชอบและไม่ชอบ สบายหรือลำบาก ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าในการทำงานจริงกับคนอื่น มันก็เกิดขึ้นและผ่านไปอยู่เสมอ ทำให้ตระหนักว่าการทำงานที่ต้องอาศัยทุกคนในต่างหน้าที่และบทบาทนั้น ควรทำความเข้าใจว่า ความสำเร็จ ความพลาดพลั้ง ความราบรื่น ความขลุกขลักที่เกิดขึ้น เป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่ง ตัวอย่างเช่น กลุ่มที่ต่อรูปสัตว์ประหลาดผิดไปจากแบบในเกมตัวต่อมหาสนุก แท้ที่จริงแล้วเราจะพบข้อที่ควรปรับปรุงได้จากทุกคนในกลุ่มที่เล่นกันคนละบทบาทตลอดกระบวนการทำกิจกรรมนั้น หรือกล่าวได้ว่าทุกคนมีส่วนร่วมต่อความผิดพลาดนั้น

พลังและความสุขแห่งการเรียนรู้ร่วมกันเป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่ทีมผู้จัดการอบรมประสงค์จะให้พวกเราเรียนรู้ การได้มา “สัมผัส” ถึงพลังกลุ่มและค้นหาคำตอบว่า ที่มาของพลังนั้นคืออะไรด้วยตัวเองจากประสบการณ์การร่วมกิจกรรม ขบคิดในช่วงสรุปบทเรียน แล้วพรั่งพรูออกมามากมายและหลากหลาย เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับพวกเราที่จะนำไปสู่วิถีการปฏิบัติจริง แต่ต้องใจเย็นสักหน่อยว่า คิดได้แล้ว แต่จะทำได้หรือไม่นั้น ต้องมีวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมด้วย สำหรับผู้เขียนนั้นคิดว่า ต้องอาศัยเหตุและปัจจัยสนับสนุนพอสมควร จึงจะทำให้การทำงานกลุ่มจริงๆนั้นมีพลังช่วยเหนี่ยวนำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดแรงบันดาลใจเพื่อร่วมฝ่าฟันอุปสรรค หรือแก้ปัญหาที่ยากเกินกว่าลำพังเพียงคนเดียวจะทำได้ และสามารถมีความสุขไปพร้อมกันด้วย

เมื่อการอบรมผ่านไปจนถึงกิจกรรมสุดท้าย ผู้เขียนมีความคิดแว้บขึ้นมาว่า “สงสัยว่าจริงๆแล้วตัวเราเองทำงานกลุ่มไม่เป็นนะ!!!” เพราะเมื่อทบทวนลักษณะการทำงานของตัวเองไปด้วยภายหลังการทำกิจกรรมสายธารชีวิต พบว่ามักเป็นงานที่ทำเพียงลำพัง นอกจากนี้ ในการทำงานแบบรวมกลุ่มที่ผ่านมานั้น ไม่แน่ใจว่าตัวเรารู้สึกถึงความสัมพันธ์ที่ดีในทีมงานหรือไม่? รู้สึกอยากเกื้อกูล เห็นใจกันและกันขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่? มีความสุขจริงหรือไม่? ได้สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ขึ้นหรือไม่? แล้วได้เคยลองเผชิญกับปัญหาที่ยากจริงๆ แล้วหรือไม่? และหากเจอจริงคิดว่าจะทำได้หรือไม่? ตัวเราอาจคุ้นชินกับการใช้วิธีการเดิมๆ แก้ไขโจทย์ลักษณะเดิมๆอยู่ก็ได้

ดูเหมือนว่าเรายังหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปใกล้โจทย์สำคัญที่รออยู่ เพราะกลัวความยากลำบาก ยากแก่การควบคุม หรือยากต่อการดำเนินการด้วยเราเพียงลำพัง หรือตัวเราอาจจะกำลังทำงานแก้ไขโจทย์สำคัญ ด้วยวิธีการที่ยังไม่เอื้อต่อการสร้างพลังกลุ่ม และท้ายสุดจะส่งผลให้ผู้ร่วมงานขาดความพึงพอใจในผลงานที่ทำขึ้น เกิดความทุกข์ใจ หมดไฟ ขาดพลังใจในการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนรู้สึกโชคดีว่าจับหลักการบางอย่างได้ เข้าใจมากขึ้นจากเกมและกิจกรรม คิดว่าเดี๋ยวจะลองเอาไปปรับใช้ในชีวิตการทำงานจริง ที่ระยะหลังมักหลีกเลี่ยงการทำงานร่วมกับคนอื่นได้ยาก เริ่มจากงานที่ไม่สลับซับซ้อน พยายามสร้างเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดพลังในการทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขควบคู่กันไปด้วย อาจจะเป็นการลองผิดลองถูกบ้าง โดยเริ่มจากการทบทวนความสัมพันธ์กับทุกคนรอบข้าง พยายามเสริมสร้างบรรยากาศแห่งกัลยาณมิตรที่มีการรับฟังและยอมรับกัน ด้วยรูปแบบของการทำงานด้วยตัว หัวใจและมันสมอง ... คิดเพียงเท่านี้

ผู้เขียนขอสารภาพว่า การทำงานเป็นกลุ่มจริงๆ นั้นยาก การแปลงความคิดไปสู่การปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาศัยทักษะนอกเหนือไปจากการพัฒนาความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน กล่าวคือเป็นทักษะการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และการเปลี่ยนแปลงด้านในของตนเอง แต่ยังอดฝันหวานไปไกลไม่ได้ ... เผลอไผลนึกคิดคาดหวังไปว่า วิธีการทำงานร่วมกันกับทีมและเพื่อนกลุ่มต่างๆ ต่อจากนี้กับโจทย์ที่ท้าทายกว่าเดิม จะมีความหมายอย่างยิ่งต่อตนเองและทุกคนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงจะลองพิจารณาปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง



โดย สรยุทธ รัตนพจนารถ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
-----------------------------
ครูบาอาจารย์ของผู้เขียนได้ขอให้ผู้เขียนช่วยตอบจดหมายจากมหาวิทยาลัยมีชื่อแห่งหนึ่ง เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยมีความประสงค์จะนิมนต์ท่านไปสอนการภาวนาแก่นักศึกษา อาจารย์และเจ้าหน้าที่ มหาวิทยาลัยคงเห็นว่าท่านเป็นพระป่า ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติงาม และเคร่งครัดในวัตรต่างๆ อย่างยิ่ง น่าจะเกิดประโยชน์แก่ผู้ฟังที่ได้เรียนจากผู้รู้

แต่ท่านให้ผมช่วยแจ้งปฏิเสธไป ด้วยเห็นว่ามหาวิทยาลัยนั้นไม่ใช่ที่ของพระ อีกทั้งเรื่องจิตตภาวนานั้นไม่ใช่วิชาที่จะไปบรรยายให้ฟังชั่วประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็จบ หาใช่เรื่องที่ฟังแล้วทำได้ทำเป็นเลย แต่ต้องผ่านการฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง ต้องอาศัยความตั้งใจ ความพยายามอย่างต่อเนื่อง

ผมถามท่านไปว่า ถ้าเช่นนั้นหากทางมหาวิทยาลัยอยากจะส่งเสริมเรื่องนี้ควรทำอย่างไร ควรจัดอบรมนอกสถานที่ หรือให้นักศึกษารวมกลุ่มมาปฏิบัติที่วัดหรืออย่างไร ท่านว่าไม่เห็นด้วยกับการจัดโครงการไปฝึกอบรมที่วัดคราวละหลายๆ คน เพราะจะกลายเป็นว่าเอาแต่เล่นกัน ควรส่งคนที่สนใจจริงจังมาฝึกเข้มที่วัดดีกว่า ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับท่านเป็นอย่างยิ่ง

ผมติดต่อกลับไปยังอาจารย์ผู้ประสานงานของมหาวิทยาลัย อาจารย์ท่านนั้นก็พยายามชี้แจงให้ผมเห็นความสำคัญของการที่พระกัมมัฏฐานที่ฝึกมานาน มาสอนให้กับผู้ที่อาจไม่ได้มีโอกาสไปวัดบ่อยๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน มีการตีความเรื่องการภาวนาไปต่างๆ นานามากมาย พาให้ชวนสับสน ซึ่งผมเองก็เห็นใจท่านอย่างยิ่ง ได้แต่รับปากว่าจะนำเรียนพระอาจารย์ผมอีกครั้ง

เมื่อผมนึกเทียบเคียงเหตุการณ์นี้กับสถานการณ์ที่เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษากำลังประสบอยู่ ด้วยว่าเครือข่ายกำลังได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีองค์กรต่างๆ ทั้งทางด้านการศึกษา สาธารณสุข หรือแม้แต่องค์กรในภาคธุรกิจ ติดต่อเชิญสมาชิกในเครือข่ายให้ไปบรรยายให้ความรู้ หรือเล่าสู่กันฟังถึงแนวคิดและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษา
ทำให้ผมเริ่มตั้งคำถามต่อท่าทีของเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาที่ควรมีต่อคำเชิญให้ไปบรรยาย

ยิ่งในปัจจุบัน กระแสสังคมเริ่มเปลี่ยนมาให้ความสนใจเรื่องจริยธรรมและความดี กระแสเรียกร้องต้องการให้เครือข่ายจิตตปัญญาไปบรรยายบอกเล่าแนวคิดยิ่งเพิ่มขึ้น

เดิมเราเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจกระแสหลักตามแนวทุนนิยม-วัตถุนิยม-บริโภคนิยม เน้นการทำกำไรและสร้างความมั่งมี ขณะนี้สังคมเปลี่ยนมาสู่การพัฒนาตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ความยั่งยืน และการอยู่ร่วมกันอย่างอยู่เย็นเป็นสุข โจทย์ใหญ่ไม่ใช่ “ทำอย่างไรถึงจะรวย” อีกต่อไป แต่เป็น “ความดีคืออะไร” ทำให้คนไทยที่เคยหลงใหลได้ปลื้มกับความสะดวกสบายทางวัตถุ แต่บีบคั้นทางจิตใจ ต้องเริ่มตั้งคำถามกับตนเองอยู่ไม่น้อย

ในช่วงห้าหกปีที่ผมสอนนักศึกษาปริญญาตรีทำให้ได้รู้จักคุ้นเคยกับเขาเหล่านั้นอยู่บ้าง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านักศึกษาส่วนใหญ่แสวงหาอะไรที่ “เรียนง่ายๆ จบไวๆ มีงานสบายๆ ได้เงินเยอะๆ” จริงๆ

ปรากฏการณ์ที่ผู้เรียนมุ่งหาทางลัดสั้นและได้เงินมากๆ นี้ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าอาจถึงเวลาที่ระบบการศึกษาแบบเดิมต้องหยุดและตั้งคำถามกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นอยู่และตรวจสอบตนเองเหมือนกัน

แม้จะมีความพยายามของกลุ่มคนในแวดวงการศึกษาที่ประสบความสำเร็จเล็กๆ อยู่บ้าง ในการเปลี่ยนโจทย์ชีวิตของนักเรียนนักศึกษา เปลี่ยนจากการทำกำไรหรือประโยชน์สูงสุดให้ตนเอง มาเป็นโจทย์เรื่อง “ความดีและการอยู่ร่วมกัน”
แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มคนเหล่านี้ควรระวังการตกเป็นเหยื่อของระบบ “รับประทานด่วน” อยู่ไม่น้อย

เพราะเมื่อสังคมเปลี่ยนทิศทาง หันมาให้ความสนใจกับการศึกษาเพื่อพัฒนาจิตใจ เริ่มเห็นความสำคัญการเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้คนต่างมองหาคำตอบหรือหนทางเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายนั้น ทว่าผู้คนเองก็ยังมีความคุ้นเคยเดิมๆ อันเป็นผลจากระบบบริโภคนิยม นั่นคือ ชอบหนทางที่ง่าย ใช้เวลาน้อย และคาดหวังอยากเห็นผลเร็ว กลุ่มคนในวงการศึกษาดังกล่าวจึงถูกเชิญไปบรรยาย ภายใต้ความหวังของผู้ฟัง หวังว่าเขาจะได้รับความรู้ความเข้าใจแบบปรุงสำเร็จจากผู้บรรยาย สามารถนำไปใช้ได้เลยทันที

ผู้ที่ทำงานด้านจิตตปัญญาศึกษาหรือการศึกษาที่ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงจึงต้องตั้งคำถามถึงคุณประโยชน์ของการไปบรรยายตามที่ต่างๆ อย่างจริงจัง ด้วยเหตุผลอย่างน้อยสองประการ ดังนี้

(๑) ต้องตั้งคำถามถึงประสบการณ์และความรู้ที่เรามีว่าเพียงพอแล้วหรือที่จะไปบอกเล่าให้คนอื่นฟัง ทั้งที่เรายังแค่เดินเตาะแตะกัน อาศัยว่าทำไปเรียนรู้ไปอยู่เท่านั้น
และ (๒) จะเกิดประโยชน์อันใดในการไปบรรยาย หากกระบวนการที่จำเป็นต้องเกิดนั้น เป็นเรื่องการเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนตน และค้นพบความรู้นั้นด้วยตัวผู้เรียนเอง

จิตตปัญญาก็เป็นดังเช่นจิตตภาวนา คือเป็นเรื่องที่ไม่ใช่จะสำเร็จด้วยการบรรยายให้ฟัง เพราะว่าโดยลำพังการบรรยายนั้น ผู้ฟังไม่สามารถฟังแล้วเข้าใจ รู้เรื่อง และทำเป็น

ผู้เขียนเชิญชวนว่าบุคคลหรือองค์กรใดที่สนใจเรื่องกระบวนการเรียนรู้ที่สนับสนุนระบบเศรษฐกิจพอเพียงและจิตตปัญญาศึกษา น่าจะมาร่วมเรียนรู้ด้วยกัน อาจในลักษณะของการสัมมนา การพบปะเสวนากันเป็นประจำสม่ำเสมอ ตั้งวงชวนกันอ่านหนังสือหรือบทความวิชาการ (Journal Club) หรือเวทีชุมชนแนวปฏิบัติ (Community of Practice) ที่สมาชิกในแต่ละเครือข่ายได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปฏิบัติในรูปแบบที่หลากหลาย สิ่งสำคัญคือ ควรมีกิจกรรมที่ได้ลงมือปฏิบัติจริงร่วมกัน เป็นการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมประเมิน ร่วมรับผล เรียนรู้จากเรื่องจริง สถานการณ์จริงไปด้วยกัน เรียกว่าเป็น interactive learning through action อย่างแท้จริง

เราต้องไม่คาดหวังว่าการบรรยายคือคำตอบทั้งหมด

เพราะไม่เช่นนั้น เราจะได้ไปแต่รูปแบบ ไม่เข้าใจถึงจิตวิญญาณของการเรียนรู้แบบนี้ได้เลย



โดย ธีระพล เต็มอุดม เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๙
-----------------------

หลังจากตัดสินใจชั่วครู่ เขาก็หยิบสมุดวาดเขียนเล่มโต รวบพู่กันและกล่องสีน้ำใส่ลงถุงผ้า แล้วเดินทางออกจากมหานครในยามฟ้าสาง เขาขับรถราวกับไร้จุดหมายที่แน่ชัด เพียงปล่อยให้ร่างกายบังคับพาหนะวิ่งไปตามทาง รักษาระดับความเร็ว ตามติดยวดยานนานาชนิดที่อยู่เบื้องหน้า ให้ทางและหลบหลีกรถที่วิ่งด้วยความเร็วสูงกว่า ประสาทสัมผัสในกายถูกนำมาใช้เพียงส่วนน้อยเพื่อการนี้

สิ่งที่อยู่ในห้วงความคิดของเขาตอนนี้ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง ไม่ใช่การเฝ้าระวังสังเกตป้ายบอกทางดังเช่นเพื่อนร่วมทางคันอื่น เขากลับนึกถึงงานจำนวนมากในตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา บางงานก่อปัญหาจุกจิกไม่รู้จบ ลูกค้าบางคนร้องเรียนถึงปัญหาที่ไม่คาดคิด ผิวจราจรที่ยังว่าง ทัศนวิสัยบนท้องถนนที่ค่อนข้างโล่ง ถูกถมลงด้วยตัวเลข วิธีการจัดการปัญหาและการกระจายมอบหมายงาน พื้นที่ว่างเหล่านั้นถูกใส่งานไปจนเต็ม

ตลอดสองชั่วโมงเศษของการขับรถมายังบ้านพักตากอากาศ เขาใช้เวลาเกือบทั้งหมดในการทำงานนอกสถานที่ แค่เปลี่ยนจากการคิดที่โต๊ะทำงานมาเป็นการคิดในยานพาหนะเท่านั้น บางช่วงเขานึกเสียดายที่ไม่ได้คว้าเครื่องคิดเลขมาวางไว้ใกล้ตัว ตอนตัวเลขโผล่แวบขึ้นมาในหัวเลยไม่ทันบันทึก หรือเอาไปคิดต่อได้

การขับรถกลายเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ขวางไม่ให้ทำงานได้สำเร็จ

ที่สุดกว่าจะยอมรับได้ว่าไม่สามารถใช้ความคิดหาข้อสรุปให้แก่งาน ต่อเมื่อเขาเดินทางมาถึงที่หมายริมชายทะเลแล้ว ระหว่างหอบหิ้วสัมภาระลงจากรถ เขาก็หักใจไม่คิด แต่อดหงุดหงิดรำคาญไม่ได้

เขาเลือกการเดินทางครั้งนี้ เพื่อใช้งานอดิเรกเป็นเครื่องมือผ่อนคลายความเครียดจากงาน ประมาณว่าย้ายสถานที่หาอะไรอย่างอื่นทำน่าจะดีกว่าทนทำงานบนโต๊ะต่อไปที่รังแต่จะสร้างความกดดันและบีบคั้นมากขึ้น

ทันทีที่วางกระเป๋า สองมือก็คว้าสมุดและอุปกรณ์ สองเท้าย่างไปบนทราย สองตามองหาร่มไม้ทำเลเหมาะ หวังว่างานอดิเรกที่เรื้อร้างมานานจะช่วยขับไล่บรรยากาศเครียดเขม็งในใจ จะช่วยเปิดไปสู่ความผ่อนคลาย ให้สมกับภาพฟ้าสีคราม และผืนแผ่นน้ำสะท้อนล้อกันและกันไปจนสุดสายตา

พลันที่กางสมุดออก กระดาษปอนด์สีขาวทั้งด้านซ้ายและขวาปรากฏขึ้นตรงหน้า เขาก็มองเห็นภาพภูมิทัศน์นี้ถูกย่นย่อลงบนกระดาษ เขามีความรู้ว่าควรจะใช้สีน้ำเงินอ่อนเข้มมากน้อยอย่างไรเพื่อให้ใกล้เคียงกับฟ้าครามของน้ำทะเลลึก หรือฟ้าอมเขียวของผิวทะเลใกล้ฝั่ง มือของเขาก็เคยแต่งแต้มแผ่นกระดาษให้เต็มไปด้วยสีสันมาแล้วหลายครั้ง สิ่งที่ต้องทำต่อไปมีเพียงเฝ้ามอง จับสังเกต ถ่ายทอดระบายลงสมุดภาพ

ทว่าคลื่นที่ทยอยซัดสู่ฝั่งยังไม่ช่วยปลดปล่อยเขาออกจากงานประจำได้ เขามองน้ำทะเลพยายามจับลักษณะเด่นเพื่อวาดภาพให้ออกมาสวย ใช้ก้านพู่กันกะระยะให้ดี เริ่มขมวดคิ้วเมื่อผลงานไม่เป็นดังใจหวัง และแล้วเขากลับเห็นปัญหาจุกจิกในงานม้วนพันมากับยอดคลื่นตรงหน้า เห็นข้อร้องเรียนของลูกค้าอยู่ในเกลียวคลื่นแล้วกระจายออกเป็นฟองรำคาญนับร้อย พริบตานั้นเหมือนโลกตรงหน้าไม่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าอยู่ ณ พิกัดไหนเขายังคงเห็นแต่ปัญหาเดิมและรับรู้ว่ามีงานอันน่าหนักใจตามไปไม่รู้จบ งานอดิเรกเกือบจะกลายเป็นอีกหนึ่งภาระกดทับ

เขาถอนใจ วางความรู้เรื่ององค์ประกอบศิลป์และหลักการใช้สีลง เลิกพยายามวาดภาพให้สมจริงหรือสวยงาม ปล่อยให้มือและหัวใจละเลงสีตามแต่จะเป็นไป สายตาเขาจับจ้องไปตามคลื่นแต่ละระลอก คลื่นใหญ่น้อยค่อยนำเขาสู่ฝั่ง พากระทบทรายชายหาดครั้งแล้วครั้งเล่า เมื่อเขาเริ่มรับรู้ถึงน้ำทะเลที่แตกกระจาย ซึมลงผิวทรายไหลผ่านระหว่างอณูทรายแต่ละเม็ด ใจเขาก็ค่อยออกห่างจากความคิดในงานทั้งหมด และรู้สึกถึงความสงบที่เริ่มเกิดขึ้นในใจ

ความจดจ่อในใจยามนี้มีแต่ทราย น้ำและฟ้าตรงหน้า เขาสะท้อนมันออกมาเป็นเส้นสีพลิ้วไหวทั่วแผ่นกระดาษ เมื่อสภาพความสงบแผ่ขยายพื้นที่ในใจ ในหัวกลับไม่มีความคิดหลายเรื่องแกว่งกระทบกันไปมาเหมือนช่วงเช้า ในสภาพนี้ เขารู้สึกโปร่งโล่งเบาสบาย ไม่เพียงแต่ผ่อนคลายจากความเครียดความกดดัน หากเขาลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าต้นเหตุความเครียดเหล่านั้นมีความสำคัญต่อเขาเพียงนั้นได้อย่างไร

หลายเรื่องที่วนเวียนอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เช้าดูจะเบาบางลง ปัญหาที่เคยซับซ้อนจนไม่รู้ว่าจะเริ่มแก้จากจุดไหนก่อน ก็ดูมีความเป็นไปได้มากขึ้น ข้อร้องเรียนของลูกค้าที่ดูร้ายแรงสาหัสก็พอจะเห็นว่ายังมีหนทางเจรจากันได้

มองย้อนกลับไปตั้งแต่รุ่งเช้า เขาได้บทเรียนว่าการหลบออกมาทำงานอดิเรกไม่ช่วยแก้เครียด เพราะเขาเกือบทำให้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของความเครียดไป สภาพนั้นเกิดขึ้นเมื่อเขาพยายามกะเกณฑ์และจับทุกอย่างใส่ตามที่อยากเห็นอยากให้เป็น ครั้นพอใจสงบลง เริ่มว่างออกจากการคิดจัดการ เมื่อใจวางทุกอย่างลงได้ ทุกเรื่องก็ดูเป็นของง่ายขึ้น ความใสกระจ่างของใจช่วยให้คำตอบต่อทุกคำถาม

แน่นอนว่างานยุ่งเหยิงยังรอเขาสะสาง แต่จะไม่ยุ่งไปกว่าเดิมและจะไม่มีแรงกดหนักระดับเดิมอีก การที่เขาอยู่กลางวงล้อมของปัญหา ทุกเรื่องใหญ่น้อยเป็นคลื่นโถมเข้าใส่ไม่หยุด ตลอดหลายชั่วโมงนั้น หัวใจและความคิดของเขาไม่นิ่ง แต่แกว่งไปตามแรงปะทะของงาน ความรู้เป็นเพียงเครื่องมือเดียวที่เขาใช้รับมือกับคลื่นปัญหาที่ดาหน้ามาไม่หยุด กระทั่งวิธีหันหลังให้ก็ไม่ได้ดีขึ้น เพราะใจยังรับเอาความแรงของคลื่นนั้นไว้

ต่อเมื่อระลอกคลื่นของทะเลพาให้ใจสงบลง กระจ่างใจพอได้มองเรื่องเดิม มองห่างออกจากวงล้อมของปัญหาเดิม จึงได้พบว่าธรรมชาติและงานวาดไม่เพียงคลายเครียด แต่เป็นอีกความรู้หนึ่งซึ่งช่วยให้เขาเข้าถึง เข้าใจและรับมือกับปัญหาได้เช่นกัน



โดย ถั่วอบมะลิหอม เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๙
-------------------------

เพื่อนหลายคนทุกข์ใจ แต่กลับบอกว่า “ฉันโอเคนะ” แล้วความทุกข์ที่ซ่อนไว้ข้างในก็จางหายไป เมื่อได้ออกไปดื่มสุรา เที่ยวบาร์ ร้องเพลงคาราโอเกะ ตีกอล์ฟ ไปชอปปิ้ง ซื้อเสื้อผ้า วุ่นอยู่กับงานบ้าน การเลี้ยงลูก สามี ละครทีวี แมกกาซีน อุปกรณ์ไฮเทค รถยนต์ หรือนำพาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางเพื่อนหญิง เพื่อนชาย หรือคนแปลกหน้าเพื่อให้คลายเหงาไปวันๆ หากแต่รู้สึกเดียวดายในฝูงชน สิ่งต่างๆ หรือผู้คนเหล่านี้นะหรือที่ทำให้ความทุกข์จางหายไป จริงหรือที่บอกว่า “ฉันโอเค” หรือ “ฉันแฮปปี้” จริงๆ แล้วมันเป็นอย่างไรกันแน่นะ

หรือว่ามันเป็น สัญญาณจากฟากฟ้าที่มาเป็นลางบอกเหตุบางเรื่อง บอกว่าชีวิตคุณมีความหมายนะลองเปิดประตูออกไปหาผู้คนที่คุณรัก รักคุณและรอคอยคุณอยู่ เมื่อมีคำถามเกิดขึ้นในชีวิต คุณลองตอบคำถาม หรือตอบอย่างเกเร อย่างตามหัวใจของคุณเอง ฟังเสียงและเชื่อในเสียงหัวใจที่คุณได้ยิน ลองทำตามใจคุณเอง มันง่ายๆ ตรงไปตรงมา คุณลองทำดูนะ แล้วบางทีคุณจะพบคำตอบมากมายให้กับคำถามในชีวิต ที่ถาโถม ที่วุ่นวายรบกวนหัวใจ คำถามที่ทำให้กินได้แต่นอนไม่หลับ คุณลองเผชิญหน้าคำถามเหล่านั้น ด้วยคำตอบจากหัวใจของคุณนะ แล้วคุณจะอบอุ่นหัวใจ ไม่โดดเดี่ยวเดียวดาย แล้วค่อยบอกตัวเองอย่างยอมรับว่า ฉันโอเค ฉันแฮปปี้ จริงๆ นะ

คนเรามักมีกรอบความคิดตัดสินตัวเอง เมื่อไรก็ตามที่เรารับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง เราก็จะพยายามหาคำอธิบาย หาคำตอบให้ตัวเองอย่างรวดเร็ว แต่เราเคยคิดที่จะเข้าข้างตัวเองบ้างไหมนะ เข้าไปฟังเสียงของหัวใจข้างในตัวเราจริงๆ ที่ต้องการบอกเราบางอย่าง ซึ่งอาจไม่ใช่ออกมาในทางคำพูดหรือความคิด แต่เป็นความรู้สึก อาจเรียกได้ว่าเป็นหทัยปัญญา
สังคมมักสอนให้เราคาดหวังกับตัวเองว่าต้องเป็นคนดี ต้องยอมเสียสละ ต้องไม่เหน็ดเหนื่อย หรือถ้าเหน็ดเหนื่อยก็จงเก็บมันไว้ในใจ ไม่จำเป็นต้องไปบอกกล่าวอะไรกับใคร ต้องอดทนกับความเหนื่อยยากของชีวิตแต่ละวัน หากเราเอ่ยอะไรออกไป เราก็แสดงออกความเป็นคนไม่สู้ชีวิต ทั้งๆ ที่ในทำนองกลับกัน การบอกกล่าวสื่อสารให้คนใกล้ชิดหรือเพื่อนร่วมงานได้รับรู้ถึงความเป็นไปในชีวิตเรานั้นอาจเป็นของขวัญล้ำค่าก็ได้ เช่น เวลาเรามีอารมณ์เหงา เศร้า หรือเหว่ว้า ก็ให้รับรู้ความรู้สึกตรงๆ ตามนั้น ไม่ต้องไปพยายามด่วนวิเคราะห์ หรือไปด่วนตัดสิน ไปต่อว่าตัวเอง เพราะเป็นการยอมรับเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงของชีวิตอย่างตรงไปตรงมา เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้คนได้เข้ามาดูแลเรา เห็นความทุกข์ใจหรือร่วมรับรู้ทุกข์ไปกับเรา เป็นการเปิดโอกาสให้กับมิตรภาพที่จริงแท้งอกงาม

ลึกๆ แล้วคนเรากลัวว่าตัวเองจะกลายเป็น “คนมีปัญหา” มากกว่า “คนมีปัญญา” เราพยายามหลีกเลี่ยงอาการของ “คนมีปัญหา” ด้วยการหลบหลีกที่จะยอมรับความรู้สึกด้านลบ เพราะเกรงจะถูกประณามว่าเป็น “ปัญหา” เช่น ความรู้สึกไม่พอใจ เสียใจ โกรธ เหนื่อย ท้อ เบื่อหน่าย หงุดหงิด น้อยใจ และอีกหมื่นพันความรู้สึก บางคนบอกว่าวัฒนธรรมไทยไม่ชอบสื่อสารอารมณ์เหล่านี้ออกมาอย่างเปิดเผย มักจะใช้วิธีหาทางออกแบบอื่นที่ปลอดภัยมากกว่าการเผชิญหน้าและสื่อสารตรง เช่น การบอกเล่าให้คนอื่นที่ไม่ใช่คู่กรณีได้รับรู้ พออารมณ์ดีขึ้นก็กลับไปร่วมงานกับคู่กรณีต่อ โดยทำเป็นว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นระหว่างเรากับคู่กรณีของเรา โดยเราลืมนึกไปว่า หากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้รับการแก้ไข หรือว่าเพื่อนร่วมงานเราไม่ได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ เราก็มักพบเจอเหตุการณ์เดิมๆ เหมือนขับรถวนกลับมาที่เดิมอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

สังเกตว่า “คนมีปัญญา” ยิ่งเรียนสูง รู้มาก ก็ยิ่งใช้ความคิดได้อย่างรวดเร็ว มีเหตุมีผล มีหลักการ มีทักษะ มีปัญญาเป็นอาวุธ ที่ช่วยทำให้สามารถวิเคราะห์เหตุผลต่างๆ ได้ แต่แล้วอาวุธเหล่านี้กลับกลายเป็นอุปสรรคขวางกั้นการเข้าถึง “เหตุและผลเชิงประสบการณ์” ที่ไม่ใช่ “เหตุผล” ที่เป็นเพียงความคิด

ผู้เขียนคิดว่าเวลาเราพูดถึงพฤติกรรมแห่งการบริโภคในระดับต่างๆ รวมทั้งระดับของการเสพติดต่างๆ ในสังคมบริโภคนั้นมีเหตุมาจากความไม่สามารถรับรู้และยอมรับภาวะอารมณ์ทุกข์ในตัวเอง ที่อยู่ในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างตรงไปตรงมา และอย่างอ่อนโยน ทำให้ต้องค้นหาทางออกหรือทางหนีออกจากอารมณ์เหล่านี้ตามสติปัญญาหรือกำลังที่มี โดยอาศัยเครื่องมือเปลี่ยนอารมณ์ที่มีมากมาย หลายอย่าง หลายสถานที่ เช่น โรงภาพยนตร์ ดีวีดี ทีวี คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านเหล้าบาร์ คาราโอเกะ แมกกาซีน หนังสือ และอื่นๆ ในความเห็นของฉัน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีความเป็นลบในตัวเอง แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้อย่างไร ที่จะทำให้เรายังรู้สึกถึงคุณค่าแห่งการมีชีวิตอยู่ รู้สึกได้ถึงพลังของชีวิตที่จะไม่ถูกบั่นทอนไปง่ายๆ จากกิจกรรมชีวิตในสังคม

นักนิเวศแนวลึกชาวพุทธคนหนึ่ง คือโจแอนนา เมซี่ บอกว่าความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อเราไม่สามารถยอมรับภาวะสิ้นหวัง ความแตกสลายและความเป็นอนิจจังแห่งการดำรงอยู่ได้ เวลาเราหนีหรือเบือนหน้าหนี ก็ไม่ได้หมายความว่าภาวะเหล่านี้จะหายไป แต่อาจกลับทำให้เรากลายเป็นคนที่เฉยชา จนอาจถึงขั้นเย็นชากับความรู้สึกของตัวเอง และคนรอบข้าง และมักมีคำพูดบอกตัวเองและคนรอบข้างว่า “ช่างมันเถอะ” หรือ “ชีวิตมันก็เป็นอย่างนี้แหล่ะ ยอมรับมันเถอะ” เรียกว่ากลบอารมณ์ด้วยการคิดแบบยอมรับสภาพ ยอมๆ มัน “คิดมากไปก็เท่านั้น” การกลบเกลื่อนร่องรอยของอารมณ์ลบ ภาวะไร้พลัง เบื่อหน่าย ท้อแท้นั้นอาจรู้สึกอยู่ได้สักชั่วเวลาหนึ่ง แล้วความรู้สึกเหล่านี้ก็หาหนทางของมันเองที่จะวนกลับเข้ามาอีก จนความเบื่อหน่ายเติบโตเป็นความ “โคตรเบื่อ” คือความเบื่อทั้งตระกูลรวมใจ พากันมาทักทายเรา

แต่ในทางตรงกันข้าม หากเราสามารถน้อมรับภาวะอารมณ์เหล่านี้ได้ พลังลบๆ ก็จะกลายร่างเปลี่ยนสภาพเป็นพลังที่ค่อยๆ อ่อนโยนลง เป็นพลังที่ไม่ระรานตัวเองหรือคนรอบข้าง แล้วเราก็ค่อยๆ นำพาตัวเองเดินเข้าสู่พื้นที่แห่งความผ่อนคลาย วางใจและตื่นรู้ เป็นหทัยปัญญาแห่งการยอมรับทุกข์ ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่การยอมแพ้ หรือศิโรราบให้กับความสิ้นหวัง หากเป็นการรับรู้ถึงพลังชีวิตและศักยภาพอันยิ่งใหญ่ใน ในอันที่จะ “เลือก” ทางเดินชีวิตและสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ดังใจประสงค์ได้ เป็นการเอื้อให้พลังชีวิตด้านบวกผลักดันนำพาเราให้ก้าวเดินต่อไป โดยที่ทุกๆ จุดที่คุณยืนอยู่คือโอกาสแห่งการเริ่มต้นใหม่

ขอให้คุณเดินทางโดยสวัสดิภาพ และขอให้โชคดี!



โดย พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๙
-------------------------
ผู้รู้ท่านหนึ่งกล่าวว่า “ความคิดคือ ความฝันเมื่อยามตื่น ความฝันคือ ความคิดเมื่อยามหลับ”

เพียงแค่ลืมตาตื่นขึ้นมา ในหัวของเราก็เริ่มแล่นไปสู่การวางแผนในอนาคต เอ...วันนี้เราจะต้องทำอะไรบ้างนะ หรือทบทวนเรื่องราวในอดีต เฮ้อ...เมื่อวานเขาไม่น่าทำอย่างนั้นกับเราเลย เราเริ่มวิ่งเข้าหาข่าวสารข้อมูลด้วยความคุ้นชิน หยิบหนังสือพิมพ์อ่านข่าวล่าสุด เปิดคอมพิวเตอร์เช็คอีเมล เปิดทีวีดูรายการข่าวและบันเทิง ออกจากบ้านก็พบเจอป้ายโฆษณาที่กำลังบอกข้อมูลสินค้าชั้นดี พอเริ่มต้นทำงานหรือเรียน ก็ต้องคิดแก้ปัญหาและเรียนรู้ ตกเย็นเหนื่อยเหลือเกิน ดูหนังดูละครดีๆ สักเรื่องเติมเต็มความหมายหรือความสุขที่หายไป คุยหรือสังสรรค์กับเพื่อนดับความเหงาในใจ จนกระทั่งเข้านอนหลับตาลงเพื่อพบว่า ภาพและเรื่องราวต่างๆ ยังคงโลดแล่นในหัวจนผล็อยหลับ พลันวาบฝันก็เริ่มปรากฏ บางครั้งฝันนั้นน่ากลัว บางครั้งฝันนั้นน่าหัว บางครั้งฝันนั้นเติมเต็ม บางครั้งฝันนั้นรื้อฟื้น เรื่องแล้วเรื่องเล่า จนตื่นขึ้นมาเพื่อพบกับวันใหม่ในโลกเดิม

ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ชีวิตของเราหลงอยู่ในวังวนของความคิดและความฝันที่ไม่มีวันจบสิ้น คำกล่าวของผู้รู้ท่านนั้นช่างน่าสนใจ ราวกับว่าท่านรู้จักกับบางสิ่งที่อยู่นอกเหนือความคุ้นชินของเราในยุคข่าวสารข้อมูล

ผู้รู้ท่านนั้นอธิบายต่อไปว่า “เรามักรู้เรื่องที่คิด แต่ไม่รู้ว่ากำลังหลงคิด”

คำถามคือ ขณะนี้เรากำลังหลงคิดอยู่หรือเปล่า

บางคนอาจตอบว่า เปล่านี่ เราก็รู้อยู่นี่ว่าเราคิดอะไร ไม่ได้หลงไปสักหน่อย แต่หากพิจารณาดูให้ดีจะพบว่า การรู้ว่าเราคิดอะไร คือสิ่งที่ท่านบอกว่า “เรามักรู้เรื่องที่คิด” นั่นอาจหมายความว่า เรากำลังหลงคิดอยู่โดยไม่รู้ตัว

ในเมื่อ “รู้เรื่องที่คิด” ไม่ใช่คำตอบ บางคนอาจคิดต่อไปว่าถ้าอย่างนั้นก็ตัดปัญหาเสียตั้งแต่ต้น คือ เลิกคิดไปเสีย จะได้ไม่ต้องวนเวียนอยู่ในโลกของความคิดความฝัน อืม...ก็อาจจะใช่นะ แต่ เอ...ถ้าเลิกคิดแล้ว เราจะใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร คนที่คิดไม่ทันกลับตกเป็นผู้ถูกเอาเปรียบจากคนที่ชอบคิดใหม่ทำใหม่ แล้วโลกที่มันวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่เป็นเพราะคนเราทำอะไรไม่รู้จักคิด ทำตามอารมณ์อยากได้ไม่อยากได้ ชอบไม่ชอบหรอกหรือ

ถ้าคำตอบไม่ได้อยู่ที่ “รู้เรื่องที่คิด” หรือ “เลิกคิด” แล้วคำตอบอยู่ที่ไหน

เมื่อพินิจพิจารณาอย่างลึกซึ้งต่อปรากฏการณ์ “รู้เรื่องที่คิด” เราจะพบว่า “เรื่อง” เป็นสิ่งที่ถูกรู้ โดยมี “ความคิด” เป็นผู้ไปรู้เข้า “ความคิด” ในฐานะผู้รู้ จึงไม่สามารถกลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ได้ด้วยตัวมันเอง เปรียบเสมือนปลาในน้ำที่รู้ว่ามีอะไรอยู่บ้างในน้ำ แต่ไม่รู้การมีอยู่ของน้ำ ฉันใดก็ฉันนั้น เราอยู่ในความคิด แต่เราไม่รู้การมีอยู่ของความคิด หรือ “ไม่รู้ว่ากำลังหลงคิด” นั่นเอง

ในปรากฏการณ์ “รู้เรื่องที่คิด” มี “เรื่อง” เป็นสิ่งที่ถูกรู้ และ “ความคิด” เป็นผู้รู้ กุญแจสำคัญอยู่ที่การแปรเปลี่ยนให้ “ความคิด” กลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้อีกชั้นหนึ่ง เปรียบเสมือนปลาที่กระโดดเหนือพ้นน้ำ แม้เพียงชั่วขณะ แต่ก็ทำให้รู้จักการมีอยู่ของน้ำ ฉันใดก็ฉันนั้น หากเรากระโดดเหนือพ้นคิด แม้เพียงเสี้ยววินาที แต่ก็ทำให้รู้จักการมีอยู่ของความคิด และเปิดพื้นที่ความเป็นไปได้ต่อการรู้ว่า “กำลังหลงคิด”
จากการพินิจพิจารณาอย่างลึกซึ้งข้างต้น เราพบว่า คำตอบไม่ใช่ทั้ง “รู้เรื่องที่คิด” หรือ “เลิกคิด” แต่อยู่ที่ “พ้นคิด”

ย่อให้สั้นลงก็คือ ไม่ใช่ทั้ง “รู้เรื่อง” หรือ “ไม่รู้เรื่อง” แต่อยู่ที่แยก “รู้” ออกจาก “เรื่อง”

หากแยก “รู้” ออกจาก “เรื่อง” ได้ เราจะได้ความสามารถพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีกประการคือ ความสามารถในการเลือก “เรื่อง” ที่จำเป็นต้องคิด และ “เรื่อง” ที่ไม่จำเป็นต้องคิด ช่วยให้การคิดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ความสามารถในการกรองเอาความคิดที่ไม่จำเป็นออกไป ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างมีความสุขมากขึ้นด้วย เพราะไม่ตกอยู่ในวังวนแห่งความคิดและความฝัน

แล้วเราจะแยก “รู้” ออกจาก “เรื่อง” ได้อย่างไร เราจะ “กระโดด” เหนือพ้นคิดได้อย่างไร เป็นคำถามที่บทความชิ้นนี้ขอทิ้งท้ายไว้ และหวังเพียงว่าท่านจะรับคำถามนี้เข้าไปในหัวใจ



โดย ชลลดา ทองทวี เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๔๙
---------------------------------

หากเรามองไปรอบๆ ตัวอย่างใคร่ครวญพินิจ เราจะเห็นความเชี่อมโยงของแต่ละสิ่งอัน ร้อยเรียงกันไปไม่รู้จบสิ้น ดังที่ ท่านติช นัท ฮันห์ เรียกว่า “Interbeing” ซึ่งมีผู้แปลเป็นไทยไว้ว่า “การเป็นดั่งกันและกัน” เสมือนผ้าทอผืนใหญ่ ที่แต่ละใยเหนี่ยวร้อยยึดให้อีกใยหนึ่งนั้นยังดำรงอยู่ มีแสงแดดที่อบอุ่นอยู่ในเมล็ดข้าวที่เรารับประทาน ถักทอกับสายใยของสายน้ำที่หล่อเลี้ยงต้นข้าวนั้น

ในวิถีชีวิตในเมืองในปัจจุบัน ที่ดูเหมือนว่าเงินจะซื้อหาได้ทุกสิ่งที่จำเป็นของชีวิต เราอาจเห็นว่า ตนเองสามารถอยู่ลำพังโดยอิสระได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น สิ่งใดที่ต้องการ เราก็ใช้เงินไปซื้อหามาได้ สิ่งที่จำเป็นสำหรับเรา จึงอาจจะมีแต่งานของเรา และเงินของเราเท่านั้น บ่อยครั้ง ในวิถีชีวิตประจำวัน เราจึงเห็นแต่ผู้คนที่เร่งรีบ มีธุระมากมาย ตารางนัดหมายเต็มทุกชั่วโมง มีประชุมทั้งวัน ปิดโทรศัพท์มือถือเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปิดโอกาสสำหรับการคุยส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องงาน เราไม่มีเวลารับฟังปัญหาของเพื่อนสนิทและครอบครัว เพราะเวลาของเราหมดไปกับงานในทุกขณะวินาที

หลายคนอาจจะแย้งได้ว่า ไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน แต่ทำด้วยเหตุผลอื่นๆ เช่น เพื่อช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้น ด้วยปัญหาสังคมที่มีมากหลาย ผู้ที่อุทิศตนเพื่อทำงานสังคม ยิ่งมีเวลาน้อยลงไปสำหรับความสัมพันธ์ส่วนตัว สังคมกำลังต้องการผู้ที่เสียสละตนยิ่งเช่นนั้น

สิ่งที่เราละเลยไปในการมุ่งมั่นทำงานของเรา อาจจะเป็นความจริงพื้นฐานที่ว่า เรานั้นแท้ที่จริงแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด ในเกลียวของความสัมพันธ์ที่ไม่รู้จบสิ้นของจักรวาล ดังที่ เดวิด โบห์ม ว่าไว้ หากเราหยิกเล็บ ก็จะต้องเจ็บเนื้อ การที่เราไม่มีเวลาให้กับผู้คน เพราะเวลาของเรา หมดไปกับงานเสียหมดแล้ว

ท้ายที่สุด สิ่งหนึ่งที่เราจะได้รับอย่างแน่นอน คือ สังคมที่ไม่มีใครมีเวลาให้แก่กันและกัน ในสังคมเช่นนี้ เราจึงได้เห็นสุนัขจรจัดอยู่ข้างทาง และคนจรจัดผอมโซ ภาพเช่นนี้ไม่มีให้เห็นในสังคมชนบทหลายแห่งซึ่งทุรกันดารและห่างไกล เพราะที่นั่นผู้คนยังมีเวลาที่จะมองเห็นกันและกัน และเยียวยาดูแลทุกบาดแผลที่เกิดขึ้นให้แก่กัน

การที่เราไม่ได้เปิดพื้นที่ให้แก่การดำรงอยู่รอดของผู้อื่นด้วย โดยเริ่มต้นที่คนใกล้ตัว ท้ายที่สุด เราอาจปิดโอกาสการดำรงอยู่รอดของเราเองไปพร้อมๆ กัน เพราะโลกของเรา โดยธรรมชาติพื้นฐาน เป็นโลกของความสัมพันธ์ เป็นโยงใยที่ไม่สามารถจะตัดขาดออกจากกันได้

เราอาจจะเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ ลองมีเวลาให้กับความสัมพันธ์ก่อนเรื่องของงาน ให้ความสัมพันธ์ที่มีดุลยภาพของเรากับสรรพสิ่ง เป็นเป้าหมายในตัวของมันเอง ละเอียดอ่อนกับคำขอโทษและการขอบคุณมากยิ่งขึ้น รวมทั้งคำถามว่า “สบายดีหรือเปล่า” ที่ออกมาจากหัวใจ โทรศัพท์หรืออีเมลหาผู้คนในเรื่องส่วนตัว แบ่งปันความสุขทุกข์

เติมวัตถุประสงค์ของการทำงานเข้าไปอีกข้อหนึ่งเสมอว่า เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องในงานนี้ ในฐานะเพื่อนมนุษย์ อย่าลืมใช้กระดาษให้ครบทั้ง ๒ หน้า เพื่อขอบคุณต้นไม้

ใช้เวลานั่งมองดูวิถีชีวิตของผู้คน รวมทั้งนกตัวเล็กๆ ให้นานกว่าเดิมโดยไม่รู้สึกผิด การใช้เวลาวันๆ หมดไปเช่นนี้ เราอาจจะพบว่า ท้ายที่สุด เราไม่ได้เป็นคนที่ประสบความสำเร็จสร้างผลงานที่สูงส่งแม้แต่สักชิ้นหนึ่ง แต่ว่า ในทุกขณะของชีวิต เราไม่ได้ละเลยสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่วันหนึ่งจะย้อนกลับมาหาเราเสมอ นั่นคือ ความสัมพันธ์และการให้คุณค่าความหมายของเราต่อสิ่งต่างๆ

เป็นที่น่ายินดีว่า ในสังคมเมืองในปัจจุบัน ในช่วงหลังๆ มานี้ มีการตั้งกลุ่ม หรือ “สังฆะ” ต่างๆ เกิดขึ้นหลายกลุ่ม ทั้งที่เป็นชุมชนเสมือนจริง เป็นชุมชนออนไลน์ ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และที่เป็นชุมชนจริงๆ ซึ่งอาจไม่ได้หมายความว่า มีบ้านเรือนอยู่ติดกันเหมือนในอดีต แต่หมายถึงว่า เป็นกลุ่มของคนที่มีเยื่อใยความสัมพันธ์กัน และนัดพบเจอกันเป็นระยะๆ เพื่อดูแลซึ่งกันและกัน แม้ว่า บ้านและที่ทำงานจะอยู่คนละมุมเมือง บางสังฆะก็เป็นสังฆะภาวนาร่วมกัน เช่น สังฆะแห่งสติ (http://sanghaofmindfulness.blogspot.com/) บางกลุ่ม ก็เป็นสังฆะที่ไปร่วมกันทำงานอาสาสมัครช่วยเหลือผู้อื่น เช่น กลุ่มอาสาสมัครของ Budpage (http://www.budpage.com/) และบางกลุ่มก็เป็นกลุ่มสนทนา (Dialogue) ซึ่งจะเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกันในสังคมมากยิ่งขึ้น

มีผู้กล่าวว่า คนที่ร่ำรวยที่สุด คือคนที่มีเวลามากที่สุด

และหากเราได้รับพรประการหนึ่งเท่าๆ กัน คือเวลาอันล้ำค่าอันนั้น.. การจะเหลือมันไว้บ้าง เพื่อใช้ในความสัมพันธ์เล็กๆ น้อยๆ ที่สำคัญ จะยิ่งเติมเต็มให้วันเวลาที่เหลืออยู่ในชีวิตของเราเปี่ยมคุณค่ายิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

เพราะความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรากับสรรพสิ่ง จะผดุงโอบอุ้มให้การดำรงอยู่ของเราในโลกและจักรวาลนี้มั่นคงมากยิ่งขึ้น ขณะที่การมุ่งหวังที่ผลของงาน หากแลกมาด้วยการทำลายความสัมพันธ์มากหลาย ท้ายที่สุด อาจทำให้เราต้องแบกมันไว้อย่างเดียวดายและหนักอึ้งในวันเวลาที่เหลืออยู่ของชีวิต ก็เป็นได้



โดย กิติยา โสภณพนิช เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙
--------------------------------
เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสหนีไอแดดของเมืองกรุงไปพึ่งไอฝนกับชาวปกาเกอะญอ ที่หมู่บ้านสบลาน อ.แม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เขียนใช้เวลา ๕ วัน ๕ คืน กินนอนและใช้ชีวิตอยู่กับป่าร่วมกับชาวปกาเกอะญอ ไฮไลต์ของการไปในครั้งนั้นคือการได้มีโอกาสไป "ปลีกวิเวก" คือการที่แต่ละคนจะเข้าไปปักเต็นท์อยู่ในป่าเพียงลำพัง งดการพูดจา และอดอาหาร เป็นเวลา ๑ วัน ๑ คืน เพื่อที่จะเปิดใจเรียนรู้จากธรรมชาติภายนอก และเปิดประตูจิตวิญญาณภายในตนเอง

หลังจากการปลีกวิเวกในครั้งนั้น พวกเราได้มีการตั้งวงสนทนาเพื่อถอดประสบการณ์ของแต่ละคน และเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน ผู้เขียนจึงอยากจะขอถือโอกาสใช้บทความนี้เป็นพื้นที่เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เขียนและผู้อ่าน ซึ่งอาจจะไม่นำเราไปสู่คำตอบสุดท้ายเกี่ยวกับการเรียนรู้ตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษา แต่อาจจะพาเราไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น

ในการปลีกวิเวกคราวนั้นพวกเราปักเต็นท์เรียงรายกันอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำ-แม่ลานเงิน เต็นท์แต่ละหลังตั้งอยู่ใกล้กันพอให้อุ่นใจ แต่ก็ไกลกันพอที่จะไม่รบกวนกัน ผู้เขียนเองเลือกปักเต็นท์อยู่บริเวณที่มีต้นไม้ปกคลุมร่มรื่น หน้าเต็นท์หันไปหาแม่ลานเงิน น้ำสีดินแดงขุ่นๆ จากฝนที่ตกลงมาเมื่อคืนไหลเอื่อยๆ บรรยากาศเงียบสงบ ผู้เขียนแอบภูมิใจกับสถานที่ตั้งเต็นท์นี้อยู่ไม่น้อย และอาจจะภูมิใจเสียจนลืมสังเกตเห็นมดตัวดำๆ ที่เริ่มทยอยกันมาสำรวจเต็นท์สีเหลืองสะท้อนแสงไป

การปลีกวิเวกจึงเริ่มต้นด้วยการไล่ ตบ ตี ปัด เป่า เขี่ย และ(คง)ฆ่า มดดำที่มารบกวนเต็นท์ของผู้เขียน แป้งที่โรยไว้รอบๆ เต็นท์จนเกือบหมดกระป๋องไร้ความหมายไปทันทีเมื่อมดเริ่มไต่เดินมาตามสมอบก และเชือกที่ขึงไว้กับต้นไม้ ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ดูจะไม่สามารถหยุดยั้งเจ้ามดพวกนี้ได้ ผู้เขียนต่อสู้กับมดได้อยู่พักหนึ่งก็เริ่มถอดใจ และเดินไปหาที่สงบๆ นั่งพักชมสายน้ำไหลให้ใจเย็นลง แต่ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ดูจะมีเจ้ามดไปจับจองไว้แล้วทั้งสิ้น ในใจตอนนั้นคิดเพียงอย่างเดียวว่าทำไมมดพวกนี้จึงต้องมาระรานเราถึงขนาดนี้

ช่วงที่เราไปปลีกวิเวกนั้นเป็นช่วงต้นฤดูฝน ทางคณะผู้จัดจึงได้ตกลงให้อยู่ปลีกวิเวกถึงเพียง ๕ โมงเย็นของวันนั้น เนื่องจากเกรงว่าถ้าฝนตกลงมาอีกน้ำอาจเอ่อล้นอย่างรวดเร็วจนพวกเราที่ไม่ชำนาญป่าอาจหนีไม่ทัน ดังนั้นพอคล้อยบ่ายผู้เขียนจึงเริ่มเก็บข้าวของด้วยความลิงโลด ในใจคิดแต่เพียงว่าอย่างน้อยก็จะได้ไปพ้นๆ จากมดพวกนี้เสียที เมื่อผู้เขียนจับเต็นท์ยัดใส่ถุงเสร็จก็เห็นหญิงสูงอายุร่างเล็กชาวปกาเกอะญอเดินดุ่มๆ มาทางผู้เขียน ในใจตอนนั้นคิดว่าเขาคงจะมาเร่งให้เรารีบไป แต่ที่ไหนได้ กลับมาบอกเพียงสั้นๆ ว่า จะอยู่ต่อก็ได้นะเพราะฝนคงไม่ตกแล้ว ในหัวตอนนั้นวิ่งวุ่นไปด้วยคำถามและปัญหา แต่ใจก็รู้ดีว่าหญิงสูงอายุตรงหน้าไม่ใช่คนที่จะมาตอบคำถามหรือแก้ปัญหาเหล่านี้

ผู้เขียนค่อยๆ ดึงเต็นท์ออกมากางอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ตอนนั้นรู้สึกท้อแท้ และอยากร้องไห้เต็มทน แต่ก็ข่มใจสู้ ค่อยๆ ปักสมอบกทีละอันจนครบ พอเต็นท์ตั้งขึ้นเป็นรูปร่าง ใจก็ชื้น ความคิดที่ว่าทำไม่ได้ก็หมดไป ผู้เขียนเดินกลับไปเติมน้ำดื่มที่ศูนย์ ขากลับรู้สึกถึงใจที่เต้นแรง และเป็นครั้งแรกของวันนั้นที่ได้ยินเสียงหัวใจของตนเอง ตอนเย็นพอได้เอาตัวลงไปแช่ในแม่น้ำ ความรู้สึกกลัว และไม่ไว้ใจในน้ำสีดินแดงขุ่นๆ ก็ค่อยๆ หายไปพร้อมกับสายน้ำที่ไหลผ่านตัวเรา ก่อนอาทิตย์จะลับขอบฟ้า ผู้เขียนนั่งมองพระจันทร์ครึ่งดวงที่ค่อยๆ ลอยขึ้นมาแทนที่ ความงามเหล่านี้ผู้เขียนไม่ได้เห็นและไม่ได้มีแม้แต่ช่องว่างทางสายตาที่จะเหลียวมองดูแม้แต่น้อยขณะที่ทะเลาะต่อสู้อยู่กับมด ความว้าวุ่นใจและความรำคาญใจในตอนนั้นกลับทำให้เรามองข้ามความงามอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่ห้อมล้อมเราอยู่

ค่ำนั้นผู้เขียนเตรียมใจไว้พร้อมกับการที่จะต้องนอนกับมด แต่เมื่อเดินกลับมาที่เต็นท์กลับพบว่าไม่มีมดเหลืออยู่เลยแม้แต่ตัวเดียว คืนนั้นผู้เขียนนอนดูหิ่งห้อยอย่างสบายใจ และเริ่มที่จะเห็นความจริงหลายๆ อย่างได้ชัดขึ้น ตลอดเวลาที่มดมาไต่ตอมอยู่บนเต็นท์นั้น มันแทบจะไม่ได้เข้าไปด้านในของเต็นท์เลย และยิ่งไปกว่านั้น มันแทบจะไม่ได้ทำร้ายเราเลย มีเพียงผู้เขียนคนเดียวที่ตีโพยตีพายอาละวาดทำร้ายมดทั้งฝูง มดมันไม่ได้มาทะเลาะกับผู้เขียน ในความเป็นจริงแล้วมีเพียงผู้เขียนคนเดียวที่ทะเลาะกับตัวเอง

ผู้เขียนเคยคิดมาเสมอว่าตัวเองไม่ได้รังเกียจสัตว์ร่วมโลกตัวเล็กๆ อย่างมด หรือแมลงต่างๆ และเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นพวก ยุงไม่ตบ มดไม่เหยียบเสียด้วยซ้ำ เป็นถึงขั้นที่ว่าแม้แต่สุนัขที่บ้าน ผู้เขียนก็ยังอุตส่าห์ไปสอนมันไม่ให้แกล้งคางคกที่อาศัยอยู่ในสวนหลังบ้าน ทั้งยังมีมุมมองที่ว่าธรรมชาติกับผู้เขียนนั้นไม่เคยอยู่ไกลกัน ที่บ้านมีสวน มีต้นไม้ ตั้งแต่เล็กจนโตมาก็เดินทางออกต่างจังหวัด นอนกลางดินกินกลางทรายมาตลอด จนอดที่จะคิดเข้าข้างตัวเองไม่ได้ว่าชีวิตเราอยู่ใกล้ธรรมชาติแค่คืบ

แต่เมื่อมองให้ละเอียดแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างคนเมืองอย่างผู้เขียนกับธรรมชาติมักจะมีเส้นบางๆ วางกั้นไว้อยู่เสมอ เราแบ่งเมืองออกจากป่าอย่างสิ้นเชิง และวางสองสิ่งนี้ไว้บนขั้วตรงข้าม สวนหรือพันธุ์พืชในเมืองที่เราเรียกว่าธรรมชาติก็มักจะถูกจัดวางไว้อย่างสวยงาม เรียบร้อย เป็นระเบียบ ธรรมชาติที่เรารู้จักคือธรรมชาติ "เชื่องๆ" ที่เราสามารถจัดการ ปรับเปลี่ยนให้มันเป็นไปตามความต้องการของเราได้ ตอนที่ผู้เขียนไล่มดออกจากเต็นท์นั้น ในหัวคิดอยู่เพียงอย่างเดียวว่า ทำไมมดจะต้องมายุ่งกับเรา ทำไมมันจะต้องเข้ามาก้าวก่ายในสถานที่ที่เราจับจอง แต่ไม่เคยที่จะมองแม้แต่น้อยว่า เราต่างหากที่เป็นผู้บุกรุกเข้าไปในสถานที่ของเขา แถมยังเป็นผู้บุกรุกที่ไม่อ่อนน้อมถ่อมตน และมุ่งหวังเพียงแค่จะเอาชนะธรรมชาติ

ถึงแม้การทะเลาะกับมด (ที่จริงๆ แล้วเป็นการทะเลาะกับตัวเอง) จะห่างไกลจากภาพการปลีกวิเวกอันเงียบสงบที่ผู้เขียนหรือใครหลายๆ คนอาจจะเคยวาดไว้ แต่หากหัวใจของการปลีกวิเวกคือการเรียนรู้ภายในตนเองแล้วละก็ ผู้เขียนก็ต้องบอกว่าโชคดีที่คราวนี้ได้มดเป็นครู
ที่ได้พาผู้เขียนน้อมใจเข้าไปสัมผัสความจริงทั้งที่อยู่ตรงหน้า และเข้าไปยอมรับความจริงในใจของตัวเอง สำหรับผู้เขียนแล้ว การเปิดใจยอมรับธรรมชาติอย่างที่มันเป็นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเรียนรู้ภายใน เป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องอาศัยความกล้าหาญ และต้องอาศัยครูที่จะคอยชี้นำทาง และในหลายๆ ครั้งธรรมชาติก็ยังคงเป็นครูที่ดีที่สุดสำหรับเรา



โดย มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๙
-------------------------
ฉบับที่แล้วที่เราคุยกันถึงหลุมพรางคนดีที่เกิดขึ้นเมื่อสังคมคาดหวังจากคนดีหรือตั้งใจทำดี ฉบับนี้เรามาดูหลุมพรางคนดีภายในตัวของคนดีเอง ความคาดหวังของสังคมและตัวเองที่จะต้องเป็นคนดี ทำดี ทำเพื่อสังคม เป็นผลให้คนดีเหล่านี้อาจเข้าใจคล้อยตามความคาดหวังด้วยเช่นกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์หรือพฤติกรรมอะไรขึ้นกับตนในทางที่ไม่ดี ก็ไม่คิดว่าเป็นของตน หรือเป็นสิ่งที่ตนควรจัดการหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป

หลุมพรางนี้ขอเรียกเล่นๆ ว่า “หลุมดักความเจริญ” กล่าวคือ เมื่อเราเป็นคนที่เขาเรียกว่าดี เป็นแบบอย่างให้คนอื่นๆทั้งทางตรงและทางอ้อม บางคนก็เป็นครูผู้สอนการปฏิบัติดีพูดดีทำดี สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้คือ ไม่สามารถยอมรับกับความผิดพลาดหรือพฤติกรรมที่ไม่ค่อยดีไม่ค่อยงามของตน หรือแม้แต่ความคิดที่ผุดขึ้นมาในทางที่ไม่ดีของตน

เหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นกับคนดีทั้งหลายโดยไม่รู้ตัว เราอาจเพียงรู้สึกว่า “ไม่มีอะไรนี่ ก็เพราะเหตุการณ์เป็นอย่างนั้น คนนั้นเป็นอย่างนี้ เราก็เลยทำอย่างนี้ ธรรมดา” บางคนไม่รู้แม้แต่ว่ามีอะไรไม่ดีเกิดขึ้นในตัว ทำไปตามธรรมชาติเดิมที่คุ้นชิน ไม่รู้สึกว่าผิด บางคนแวบแรกรู้สึกว่าผิดปกติไม่ถูกไม่ควร แต่แวบถัดไปจิตหรือใจเราก็กลบเกลื่อนบิดเบือนเรื่องราวไปในทางที่ทำให้ตนเองสบายใจ และยังภูมิใจอยู่ได้ว่าเป็น “คนดี” ไม่มีอะไรบกพร่องเลย เพื่อให้เห็นภาพชัดขอยกตัวอย่าง เช่น
คนดีคนหนึ่งเห็นเพื่อนร่วมงานดูประหนึ่งว่าจะเด่นกว่าตนเองในช่วงนี้ ทั้งที่ตนเด่นมาโดยตลอด พฤติกรรมแสดงออกมาอาจเป็นการประท้วงต่อคนนั้นโดยไม่รู้ตัว อาจยังพูดจาดีต่อกัน แต่พอถึงเวลาทำงานร่วมกัน มักมีเหตุทำให้ไม่ได้ตามเป้าที่ควรเป็น โดยคนดีนั้นเองก็นึกว่าเพราะตนมีงานอื่นยุ่งเลยทำงานให้เพื่อนได้ไม่เต็มที่ บางคนมีผลถึงร่างกาย เช่น ปวดหัวตัวร้อนท้องเสีย ทำงานให้เพื่อนไม่ได้ บางกรณีก็เป็นวิธีการทางสังคม เช่น ทำให้อีกคนที่ตนสนับสนุนเด่นกว่าเพื่อนคนนั้น เพื่อลดความเด่นของเขา

ตรงนี้ถ้าเรามาวิเคราะห์จะพบว่าคนดีนี้มีความอิจฉาเกิดขึ้นลึกๆ ในใจ แต่อาจไม่ทันต่อความอิจฉานั้น ไม่อยากยอมรับว่าในโลกนี้จะมีใครดีกว่าได้ (แม้ว่าข้อเท็จจริงอาจจะดีกว่าแค่เรื่องเดียว) ใจบางส่วนที่ไวกว่าใจที่รู้ทันความอิจฉาก็สร้างสถานการณ์ต่างๆ ขึ้นมาโดยรู้ไม่ทัน และมีแนวโน้มว่าไม่อยากจะรู้ทันด้วย เพราะไม่เชื่อว่าตนมีความอิจฉาอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ เป็นไปไม่ได้ ฉันเป็นคนดีออกจะตาย ฉันเมตตาผู้คน รักผู้คน ใครทำดีฉันก็มีมุทิตาจิต ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี ...แต่นั่นเป็นเพียง “ความคิด” ไม่ใช่ความจริงของจิตเขาในแต่ละขณะ ความคิดนั้นจึง “เคลือบ” จิตแท้ๆ ที่กำลังส่งผลต่างๆ นานา จนไม่สามารถรู้ทันจิตแท้ได้ เหมือนน้ำตาลหลากสีที่เคลือบเม็ดช็อคโกแลตเอ็มแอนด์เอ็ม คนดีจึงเห็นแต่สีสันสวยงามของตน ไม่ใช่สีน้ำตาลของช็อคโกแลตข้างใน

อีกกรณีหนึ่งที่พบได้อยู่เรื่อยๆ คือเมื่อคนดีพบข้อจำกัดในตัวตน แต่ “ไม่ยอมรับ” กลับทำพฤติกรรมอื่นโดยไม่ทันต่อจิตหรือใจที่เปลี่ยนประเด็น เช่น รีบหาข้อแก้ตัวว่าฉันไม่ได้ผิดนะ ที่ทำนี่มีเหตุผล ๑ ๒ ๓ (มะนาวหวาน) หรือรีบหาข้อโต้แย้งว่าเหตุการณ์หรือผู้ชี้ประเด็นเหล่านั้นต่างหากที่ไม่ถูก ฉันน่ะถูก ฉันดีอยู่แล้ว คนนั้นต่างหากไม่ดี (องุ่นเปรี้ยว) ซึ่งไม่ว่าแบบไหน คนดีนั้นก็ไม่ได้เรียนรู้เพิ่มอยู่ดี ตกอยู่ในวังวนความดีของตน ที่ไม่ได้เพิ่มขยายพื้นที่อีก

การพัฒนาตัวเราในแต่ละมุมแต่ละด้าน “การยอมรับ” ด้วยความเข้าใจหรือความรู้สึกแท้จริงตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้น เป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญในแต่ละคน มนุษย์โดยทั่วไปเชื่อมั่นว่าเราดีเราถูกอยู่แล้ว ยิ่งถ้ามีความมั่นใจสูง หรือสะสมความมั่นใจในความดีของตัวเองสูง ไม่ว่าจากการประสบความสำเร็จหรือการเรียนรู้ในอดีต หรือจากการยอมรับจากสังคมรอบข้าง จนคนดีนั้นอาจรู้สึกเหมือนเป็นเจ้าลัทธิกลายๆ ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่กลับกลายเป็นแรงบั่นทอนการพัฒนาต่อไปของคนดีนั้น ทำให้เขา “ติดหลุมพรางความดี” ที่ตนขุดไว้เอง

เทคนิคการตรวจสอบอาการ “ตกหลุมพรางความดี” ง่ายๆ คือสำรวจว่าเราเคยพยายามหาเหตุผลไปคัดง้างความคิดหรือเนื้อหาที่รับรู้จากใครบ้างหรือไม่ พอค้านแล้วรู้สึกสบายใจขึ้น รู้สึกว่า “เฮ้อ นี่แหละ อย่างที่ฉันเป็นอยู่อย่างนี้ดีแล้ว ถูกแล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร” ถ้ามีอาการนี้ก็น่าจะเริ่มสังเกตตัวเราให้มากขึ้นว่าตัวตนของเราใหญ่ขึ้นหรือไม่หลังจากทำอย่างนั้น ถ้าใหญ่ขึ้นก็น่าจะผิดทางแล้ว กลายเป็นการพอกพูนอัตตา บางครั้งเกิดจากการต้องการเอาชนะผู้ให้ข้อมูลที่ขัดกับความเชื่อเดิมของเรานั้น

อาการแบบนี้บางทีก็เกิดมากกับเจ้าสำนักต่างๆ ที่เริ่มมีทฤษฎีส่วนตัวมากขึ้น เป็นผู้สอนคนมากมาย จนกลายเป็นว่าตัวเจ้าสำนักต้องถูกเสมอ....ซึ่งจริงหรือถ้าเรายังไม่ได้บรรลุขั้นสุดท้าย และนี่ก็เป็นอาการเดียวกับที่ผู้เขียนพบในเจ้าสำนักทางธุรกิจหลายองค์กรหลายบริษัท ที่ต้องปิดตัวหรือทุรนทุราย เพราะพยายามใช้ทฤษฎีเดิมๆ ที่ตนเชื่อมั่น เพราะเคยใช้ได้ผลมาแล้วในอดีต เรื่องใหม่ๆ (กว่าที่เรียนรู้มาแล้ว...แต่อาจจะไม่ได้ใหม่จริงๆ) จะไปดีกว่าที่ฉันเคยทำสำเร็จมาได้อย่างไร แล้วเมื่อเกิดวิกฤตองค์กรเหล่านั้นบริษัทเหล่านั้นก็ได้พิสูจน์ทฤษฏีของตนแล้วว่าไปไม่รอด ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่เรารู้และมีอยู่แล้วเป็นสิ่งผิดไม่น่าดำเนินต่อไปเสียทั้งหมด เพียงแต่เล่าจากเหตุการณ์ที่เคยประสบเคยเห็นว่า ผู้ที่นึกว่าเรารู้แล้ว เก่งแล้ว ดีแล้ว ทั้งหลายนี้มีอาการที่ตามมาได้นั่นคือการตกหลุมพรางของตัวเอง เกิดอาการ “ต่อมเรียนรู้ฝ่อ” เป็นผลให้การพัฒนาของคนเหล่านั้นอยู่กับที่ ที่เคยดีก็ดีอยู่เท่านั้น ไม่ได้พัฒนาไปกว่าเดิม

ผู้เขียนใคร่ครวญอยู่พักหนึ่งก่อนตัดสินใจเขียนบทความนี้ เพราะบางท่านอาจคิดว่าผู้เขียนกำลังว่าตน แต่คิดดูแล้วว่าถ้าเราตั้งใจดีกับผู้อ่านจริง และนี่เป็นเรื่องที่พบซ้ำแล้วซ้ำอีก ถ้าผู้เขียนเห็นแก่ตัวเองกลัวผู้อ่านไม่ชอบใจ อาการนี้ก็อาจเกิดขึ้นให้เห็นอยู่ทั่วไป ตัวผู้เขียนเองก็เคยตกหลุมพรางความดี และไม่มั่นใจว่าจะไม่ตกอีก ได้แต่คอยเตือนตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะการพัฒนาในแต่ละมิติของเราจะหยุดลงทันที ถ้าไม่ยอมรับข้อจำกัดของตัวเราหรือส่วนที่เราสามารถปรับปรุงตัวได้



โดย มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๙
-------------------------------------

คนดีหรือคนที่ตั้งใจคิดดีพูดดีทำดีอยู่เป็นนิจ หมายรวมถึงนักพัฒนาสังคม ครู อาจารย์ นักบวช ฯลฯ เป็นผู้ตั้งใจดีและเป็นตัวอย่างให้กับผู้คนอีกมากมาย โอกาสที่จะถูกมองว่าเป็นคนดีจึงสูงขึ้นๆ คู่ขนานกับความคาดหวังว่าไม่ควรมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น(เลย)กับผู้คนเหล่านี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์หรือพฤติกรรมอะไรขึ้นในทางที่ไม่ดีสักครั้ง แล้วสังคมไม่พยายามเข้าใจเขา เขาจึงอาจหันหลังจากการเป็นคนดี กลายเป็นคนเสื่อมศรัทธาในการทำดี

กว่าคนแต่ละคนจะเป็น “คนดี” หรือผู้ซึ่งมุ่งมั่นทำดี แนะนำชักชวนสิ่งดีดีแก่คนรอบข้างหรือผู้อื่นมาทำดีด้วยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พอเรามีคนดีเกิดขึ้นแล้ว ความคาดหวังของสังคมต่อคนดีเหล่านั้นกลับกลายเป็นแรงกดดันโดยไม่ตั้งใจ เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจสำหรับคนดีเหล่านั้น ยกตัวอย่างที่เราคุ้นเคยกันมากตามข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น พระรูปนั้นทำเรื่องไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าเรามองจากอีกมุมเราอาจจะเห็นใจได้ว่า ท่านเหล่านั้นก็เป็นเพียง “คนต้องการทำดี” ที่กำลังมุ่งไปสู่สิ่งดีดี แต่มิได้เป็นผู้ถึงสิ่งดีที่สุดที่คาดหวังไว้ แค่เป็น “ผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างทางไปสู่สิ่งดี” โดยมีสังคมรอบข้างตลอดจนสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุนานานับประการ การพลาดพลั้งไปย่อมมีอยู่ได้เป็นธรรมดา

ในบางครั้งนอกจากผู้คนจะไม่สนใจไปเข้าใจเขาเหล่านั้นแล้ว ยังประณามเขาอย่างหนักบ้าง ประณามถึงสถาบันที่เกี่ยวข้องบ้าง เช่น วิจารณ์วงการศาสนาบ้าง (ในกรณีที่คนดีนั้นคือพระ นักบวช) หรือวงการการศึกษาบ้าง (ในกรณีที่คนดีนั้นเป็นครู อาจารย์) ฯลฯ ยิ่งทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อสถาบันที่ทำเรื่องดีดีมากขึ้นไปอีก คนที่เป็นคนดีก็เริ่มขยาดมากขึ้น ไม่กล้าอยู่ในสถานะที่ดูเป็น “คนดี” เพราะเดี๋ยวจะถูกเพ่งเล็ง สู้เป็นคนธรรมดาที่บังเอิญทำเรื่องดีดีบ้างท่าทางจะปลอดภัยกว่า หรือร้ายกว่านั้นอาจเลิกศรัทธาในการทำดีไปเลย อย่างที่บางคนพูดว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน” แล้วยกตัวอย่างคนดีที่ถูกสังคมจัดการแบบนั้นมาคุยกัน

ทั้งนี้ก็มิได้กำลังบอกว่าเราควรจะเฉยเมยหรือส่งเสริมคนดีที่ทำผิดแต่ประการใด แต่กำลังบอกว่ากลไกบางอย่างในสังคมเราอาจเป็นตัวทำลายแทนที่จะส่งเสริมเรื่องดีดีให้เกิดขึ้นในสังคม ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็น “คนดี” คนนั้นที่บังเอิญชีวิตเคยผิดพลาดอะไรขึ้นมาสักอย่าง แล้วถูกผู้คนกระหน่ำซ้ำเติมมากมาย แทนที่จะพยายามเข้าใจในเหตุปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ หรือเข้าใจความด้อยปัญญาของคนดีที่ยังไม่ได้บรรลุขั้นสุดท้าย คนที่ดีเหล่านี้อาจแปรสภาพเป็น “คนเคยดี” ไปเลยก็ได้ ไม่เอาแล้วการเป็นคนดีนี่เหนื่อยเหลือเกิน ความคาดหวังมากเหลือเกิน เลิกเป็นดีกว่า ทำชั่วง่ายกว่า ถ้าเป็นอย่างนี้กันมากๆ สังคมของเราคงวุ่นวายมากขึ้นๆ

“การให้อภัย” และ “การเข้าใจถึงสภาวะความเป็นจริง” ของสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละเหตุการณ์จึงเป็นเครื่องมือช่วยให้คนแต่ละคนสามารถเริ่มต้นความดีกันใหม่ได้ หลายศาสนามีพิธีการเพื่อช่วยให้คนยอมรับความผิดพลาดของเขาเพื่อการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เป็นคนดียิ่งขึ้น ในกระบวนการนี้ความเข้าใจและการให้อภัยจากผู้อื่นเป็นส่วนประกอบสำคัญแก่คนเหล่านั้น “คนที่เคยพลาดไปในชีวิต” แน่นอนเราคงจะไม่ได้ให้อภัยคนที่ทำผิดแล้วผิดอีก จนคนๆ นั้นมิได้ตระหนักรู้ถึงความผิดพลาดของตน แต่การที่ไม่ฟังกันไม่พยายามเข้าใจกันไม่ให้อภัยกันเลยคงจะไม่ใช่ทางออกที่งดงามเป็นแน่

ในทางกลับกัน ถ้าเราเข้าใจว่าเรื่องดีดีนั้นมีหลายมุมหลายมิติ หรือถ้าเทียบกับภาพกราฟคือมีหลายแกน มากกว่าแค่แกน x กับแกน y แต่อาจมีเป็นร้อยเป็นพันแกน เหมือนเม่น คนแต่ละคนอาจจะทำคะแนนได้ดีในบางมุมแต่คะแนนไม่ดีในบางมุม เป็นผลที่ทำให้เราเห็นภาพคนดีมีตำหนิอยู่เรื่อยๆ นั่นก็เป็นเรื่องธรรมดา กว่าคนหนึ่งคนจะสามารถจัดการกับสิ่งไม่ดีในตัวได้ครบทุกด้านทุกมุมนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย เราจึงอาจเห็นเหตุการณ์ที่คนที่เรียกว่าดีมีข้อผิดพลาดอย่างนั้นอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ เมื่อเราเข้าใจความเป็นจริงหรือธรรมชาตินี้แล้ว เราก็จะให้อภัยเขาเหล่านั้นได้ไม่ยาก ถ้ายังทำใจไม่ได้อยู่ ลองนึกว่าถ้าเราเป็นเขา เราโดนอย่างนั้นบ้างเราจะรู้สึกอย่างไร

เมื่อเราให้อภัยคนดีที่พลาดได้แล้ว ความสามารถในการให้อภัยอาจเพิ่มพูนไปสู่คนที่ในชีวิตไม่ค่อยได้ทำดีเท่าไหร่ได้มากขึ้น เราคงเคยพบวัยรุ่นบางคนที่งานประจำคือการตีรันฟันแทงกับคู่ซ้อมต่างสถาบัน หรือวัยรุ่นที่เคยกระทำผิดถูกกักกัน เยาวชนเหล่านี้เป็นคนร้ายร้อยเปอร์เซ็นต์หรือ หรือเขาเพียง “พลาดไป” เพราะเหตุปัจจัยบางอย่าง เพราะความหลงผิดบางอย่าง เพราะความไม่รู้ ถ้ามีคนเข้าใจและให้อภัยเขา เปิดพื้นที่ให้เขาทำเรื่องดีดีเพิ่มขึ้น เมล็ดพันธุ์แห่งความดีในตัวเขาจะมีโอกาสได้งอกเงยขึ้นหรือไม่ จะพลิกจากพื้นที่สีดำเป็นสีขาวหรือไม่ เป็นคำถามที่ชวนให้พวกเราลองทำและพิสูจน์ด้วยตัวเองดู

ผู้เขียนได้พบวัยรุ่นหน้าโหดพร้อมลายสักเต็มตัวในพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยมูลนิธิกระจกเงา เครือข่ายจิตอาสา น้องๆ เหล่านี้ไปช่วยขุดดินที่ถล่มทับบ้านใน อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ช่วงแรกน้องๆ รู้สึกเขินๆ ที่ลงไปช่วยชาวบ้าน ดูเหมือนไม่คุ้นชินกับการช่วยเหลือผู้อื่น ประกอบกับสายตาคนรอบข้างที่มองอย่างไม่ค่อยไว้ใจ แต่เมื่อเขาได้เริ่มทำงาน เริ่มสัมผัสกับการทำดีเพื่อผู้อื่น เห็นความชื่นบานของชาวบ้านที่เขาไปช่วยเหลือ เห็นความตั้งใจทำงานของผู้อื่นที่ช่วยขุดดินเหมือนกัน แม้จะแตกต่างกันจากภายนอก บ้างก็แรงน้อยกว่ามาก แต่ก็พยายามช่วยเหลือชาวบ้านเต็มที่เท่าที่มีแรง เห็นทีมงานอาสาสมัครระยะยาวที่เสียสละเวลาส่วนตัวของตนไปช่วยคนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ความงดงามของเรื่องดีดีใกล้ตัวน้องๆ ประกอบกับเรื่องดีดีในตัวของเขาเองค่อยๆ ผลิบานขึ้น ทำให้น้องๆ หน้าโหดหลั่งน้ำตาออกมาขณะพูดกับเพื่อนอาสาที่ร่วมกันขุดดินมาทั้งวัน “ขอบคุณนะครับที่ให้เปิดโอกาสพวกผมมาทำเรื่องดีดี อย่าตัดสินพวกผมแต่จากภายนอก แม้เราจะเคยทำเรื่องไม่ดีมาก่อน แต่ไม่ได้แปลว่าเราไม่อยากทำดีนะ...” พูดไปน้ำตาร่วงไป หน้าตาที่ดูเหี้ยมเกรียมเมื่อเช้ากลายเป็นเพียงเด็กใจดีคนหนึ่งในตอนค่ำ เรียกน้ำตาผู้ฟังรอบวง

เราไม่รู้ว่าน้องๆ เหล่านั้นจะเปลี่ยนแปลงไปได้ถาวรแค่ไหน เมื่อเขากลับสังคมเดิมของเขา คนจะเข้าใจเขาเหมือนที่พวกเราเห็นน้องๆ กลุ่มนี้ทำดีหรือไม่ เป็นคำถามคล้ายกับเหตุการณ์เมื่อคนดีทำผิดพลาดเช่นเดียวกัน



โดย อดิศร จันทรสุข เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๙
-------------------------------------

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมรู้สึกว่าตนเองโชคดีที่มีโอกาสได้อ่านบทความของคุณวิจักขณ์ พานิช เรื่อง “จิตตปัญญาศึกษา หรือการศึกษาติดดี?” ซึ่งมีหลายประเด็นที่ “สะกิด” ให้ต้องหันกลับมาทบทวนความคิดและจุดยืนของตนเองทั้งในเรื่องส่วนตัวและอาชีพการงานอีกครั้ง ความ “แรง” ของบทความนั้น สำหรับผมถือว่าเป็นแรงในด้านบวก เพราะทำให้ตนเองเกิด “แรง” บันดาลใจที่อยากจะเขียนเรื่องราวบางอย่าง ซึ่งได้ไปประสบมากับตนเองเพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อ่านท่านอื่น อันที่จริง อาจจะเรียกบทความนี้ว่าเป็นเพียงความคิดเห็นในห้วงคำนึง หรือบทสนทนาในจินตนาการระหว่างผมกับตัวหนังสือก็เป็นได้ครับ

ผมอยากจะแบ่งปันเรื่องราวเล็กๆ ที่เกิดขึ้นกับผมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งผมมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจสำหรับตัวผมเองเป็นอย่างมาก คือผมได้ไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ขึ้นบ้านใหม่ของเพื่อนฝรั่งคนหนึ่ง โดยเชิญมิตรสหายทั้งชาวต่างประเทศ ที่อยู่ในเมืองไทยและเพื่อนคนไทยอีกสองสามคนมาร่วมงานด้วย หลังจากวงอาหารเสร็จสิ้นลง วงสนทนาก็เริ่มต้นขึ้นและออกรสชาติ ด้วยการที่เพื่อนฝรั่ง เริ่มอภิปรายในประเด็นทางสังคมบางประเด็นกันอย่างเต็มที่ บทสนทนาจากตรงนี้ไปค่อยๆ ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีคนไทยนั่งมองตาแป๋ว พยักหน้าหงึกหงักตามระเบียบ ตัวผมเองตลอดเวลาที่ฟังก็รู้สึกมีความเห็นบางอย่างที่อยากจะร่วมแสดง แต่เมื่อวงสนทนาไม่เปิดช่องว่างให้เราได้แสดงความคิด หรืออาจจะเป็นเพราะตัวเราเองก็ติด “เกรงใจ” ผมจึงเปลี่ยนไปมีบทสนทนากับพวกเค้าในใจแทน จนกระทั่งช่วงหนึ่ง รู้สึกว่าตนเองกำลังอึดอัดจนถึงที่สุด เมื่อเพื่อนฝรั่งคนหนึ่ง ได้วิจารณ์คนไทยแบบเหมารวมว่า เค้าทนคนไทยที่ไม่กล้าคิดไม่กล้าแสดงออกในวงสนทนาไม่ได้เอาเสียเลย ทำไมพวกคนไทยถึงเป็นพวกที่เอาแต่เก็บงำความรู้สึกของตนเองไว้กันจัง มาถึงตรงนี้ ผมจึงให้โอกาสตนเองได้พูดบ้าง และสะท้อนเขาไปว่า จริงๆ แล้วคนไทย (หรือแม้กระทั่งชาติเอเชีย) ไม่ใช่ไม่กล้าคิดไม่กล้าแสดงออกเสมอไป แต่เป็นเพราะพวกเรานั้นอยู่กับความเชื่อขั้นพื้นฐานเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน ดังนั้น อะไรก็ตามที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง เราจึงไม่ทำ เห็นได้ชัดๆ ว่าเรามักจะเรียกสรรพนามนำหน้าชื่อด้วยความสัมพันธ์ในเชิงญาติพี่น้องทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น พี่ ป้า น้า อา น้อง ฯลฯ ทั้งกับคนใกล้ตัวหรือแม้กระทั่งคนแปลกหน้าก็ตาม ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ แทบจะไม่เกิดขึ้นเลยในสังคมตะวันตกซึ่งเน้นความเป็นปัจเจกค่อนข้างสูง นอกจากนั้น เรื่องที่เค้าถกเถียงกัน จริงๆ แล้วมันก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถหาข้อยุติทางความคิดได้ เพราะในท้ายที่สุดมันก็เป็นเพียงแค่ “ความคิด” ไม่ใช่ “ความจริง” คนไทยสมัยก่อนอาจจะเห็นธรรมชาติตรงนี้ และมองว่าการสนทนาแบบค้นหาความจริง (ซึ่งจริงๆ แล้วก็อาจจะเป็นเพียงแค่หลุมพรางทางความคิด) จึงเป็นเรื่องที่ไร้สาระและเสียเวลาไปเปล่าๆ โดยไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันสักเท่าใด

บทสนทนาดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และมาจบลงตรงที่เราพอจะเห็นพ้องกันในที่สุดว่า วัฒนธรรมจากสังคมตะวันตก (ซึ่งจะว่าไปแล้ว ความเป็นตะวันตกและตะวันออกก็เป็นเรื่องสมมติอีกเช่นกัน) มักจะเริ่มต้นจากความเชื่อว่า มีบางสิ่งบางอย่างที่ถูกต้อง และมีบางสิ่งบางอย่างที่ผิดพลาด ดังนั้น การสนทนากันของคนในสังคมจึงมุ่งเน้นที่การวิวาทะ แสวงหาความจริงอันสูงสุด (ซึ่งจะมีจริงหรือไม่ ก็ไม่มีใครสามารถรู้ได้อีกนั่นแหละ) แล้วคนเอเชียอย่างพวกเราก็รับเอาวิถีนั้นไปอย่างชื่นชม เพราะเราเชื่อว่านั้นคือวิถีแห่งปราชญ์ หรือวิถีแห่งผู้รู้ (ทั้งที่จะว่าไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปราชญ์หรือผู้รู้ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้น ทุกท่านส่วนใหญ่มักจะเกิดปัญญาญาณ หรือการ “ปิ๊งแว้บ” ในช่วงเวลาที่ได้ใคร่ครวญสิ่งต่างๆ อยู่ในธรรมชาติแทบทั้งสิ้น) วันนั้น เราจบบทสนทนาลงด้วยการที่ผมเองย้ำกับเค้าว่า สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดนั้น จริงๆ แล้วเป็นแค่ชุดความคิดและชุดความจริงในโลกประสบการณ์อันแสนจะคับแคบของผม (ก็โลกนี้เกิดขึ้นมาตั้งไม่รู้กี่ล้านปีแล้ว แต่เราเองมีประสบการณ์ชีวิตแค่ไม่ถึงเศษเสี้ยวอันเล็กน้อยแทบไม่มีค่าอะไรในจักรวาลนี้เลย ไฉนเราจึงจะกล่าวอ้าง ว่าสิ่งใดคือความจริงของชีวิตกันได้) ซึ่งแม้แต่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็ทรงเลือกที่จะไม่เอ่ยถึงความจริงบางเรื่องเพราะไม่สำคัญต่อการนำพามนุษย์ไปสู่การหลุดพ้น

ผมพบว่า การไม่ระบุว่าสิ่งใดถูกหรือผิด คือการเปิดโอกาสให้สิ่งต่างๆ ได้แสดงตัวของมันเองให้ปรากฏชัดขึ้นในห้วงคำนึงของเรา แต่ยังไงก็ตาม มนุษย์ก็คงตกหลุมพรางอันลึกล้ำของจิตอยู่วันยังค่ำ ธรรมชาติของมนุษย์ผูกติดอยู่กับการประเมินเสมอๆ แม้เราจะพร่ำบอกตนเองและผู้อื่นว่าเราไม่ควรประเมินอะไรอย่างฉาบฉวย ไม่ควรแบ่งแยกขาว-ดำ เพราะโลกไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป แต่ในขณะที่เรากำลังบอกเช่นนั้น เราเองก็กำลังประเมินคุณค่าของ “การไม่ประเมิน” ว่าเป็นสิ่งที่ “สูงกว่า” การประเมินใช่หรือไม่?

ผมคิดว่าอย่างไรทางสายกลางก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการดำเนินชีวิต อะไรที่เรารู้ว่าทำแล้วดีกับตัวเราเอง ก็จงทำเถิด และอะไรที่เรารู้ว่าถ้าทำแล้วไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีกับตัวเราเอง แต่ถ้าเรายังอยากจะทำ ก็คงไม่มีใครว่าอะไร แต่อย่างน้อย เราควรจะมีสติ (ในทางโลก) รับรู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้น มันส่งผลเสียต่อใครบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะที่พื้นฐานที่สุดคือร่างกาย และจิตใจของเราเอง ซึ่งจะว่าไปแล้วทั้งในทางตรงและทางอ้อม ต่างก็มีส่วนส่งผลกระทบต่อสรรพสิ่งรอบตัว ตั้งแต่เม็ดทรายไปจนถึงระดับจักรวาลเสมอ

ในเรื่องการติดดี ดังบทความของคุณวิจักขณ์ ก็เช่นกัน.. ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า บางครั้งเราก็ให้คุณค่าของการทำความดีกันอย่างสุดโต่ง และตัดสินความดีความชั่ว แบบขาว-ดำ แต่ผมอยากจะเพิ่มเติมด้วยเช่นกันว่า ในอีกมุมหนึ่ง “การติดดี” ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรนัก อย่างน้อยก็เป็นไปในทางเร้ากุศลให้กับตัวเอง และคนรอบตัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการทำด้วยความบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริง ไม่ใช่เสแสร้งปั้นแต่งให้คนรอบข้างชื่นชม การไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ทำตัวดีๆ ในสังคม ก็น่าจะเป็นสิ่งที่เราสามารถชื่นชมได้เช่นกันมิใช่หรือ? เพราะอย่างน้อย ถ้าคนทำรู้ว่าการที่เค้าไม่ทำร้ายตนเองและสังคมจะนำสิ่งที่ดีกลับมาสู่ชีวิตของตนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ก็น่าจะเป็นสิ่งที่พอยอมรับได้บ้าง จริงๆ แล้วสังคมของเรานอกจากจะเต็มไปด้วยคนติดดีแล้ว ผมว่าเรายังขาดคนที่สามารถชื่นชมกับคนทำความดี (แม้กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ) ได้อย่างแท้จริงเช่นกัน

เขียนมาถึงตรงนี้ คงต้องยกความดีให้กับท่านอาจารย์ระพี สาคริก ที่มักจะพร่ำบอกกับพวกเราเสมอว่า ความถูกหรือความผิด ความดีหรือความไม่ดีนั้นจริงๆ แล้วมันไม่มีหรอก มันมีแต่ความจริงที่อยู่ในใจของเราต่างหาก ที่เราต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับ และเลิกโกหกตัวเราเองเสียที เมื่อนั้น เราถึงจะหลุดพ้นจาก “การติด” ในทุกเรื่องๆ ได้



โดย กอบแก้ว มโนมัยพิบูลย์ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๙
--------------------------------------------

พวกเราในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาหลายคนต่างมีงานประจำเป็นหลักของตัวเองอยู่แล้ว แต่เรามีภารกิจหลักอย่างหนึ่งร่วมกัน คือการเข้าร่วมในโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรการอบรมและกระบวนกรด้านจิตตปัญญาศึกษา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม โครงการจัดฝึกอบรมขึ้นตลอดปีนี้จนถึงต้นปีหน้า สำหรับกลุ่มคณะทำงานของเครือข่าย โดยมีการบ้านให้ทำด้วยตัวเองตลอดระยะเวลาดังกล่าว ไม่รวมนัดประชุมที่เกี่ยวข้องเรื่อยๆ การฝึกอบรมมีอยู่ประมาณ ๙-๑๐ ครั้ง ตัวอย่างเช่น การเจริญสติภาวนา การทำงานเชิงอาสาสมัคร นพลักษณ์ สุนทรียสนทนา การเผชิญความตายอย่างสงบ เป็นต้น

โดยเราคาดหวังว่าความรู้ที่ได้จากการถอดบทเรียนและประสบการณ์จากผู้เข้าร่วมฝึกอบรม จะเป็นพื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรและงานส่งเสริมจิตตปัญญาศึกษาในสังคมไทย การฝึกอบรมรูปแบบต่างๆ ที่ว่านี้ กล่าวได้ว่าเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง การเรียนรู้ที่อาศัยจินตนาการ การเรียนรู้เชิงแนวคิด การเรียนรู้จากการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
เกือบทุกครั้งตั้งแต่การประชุมหรือการฝึกอบรม ไม่ว่าจะใช้เวลาไม่นาน หรือเป็นวัน หรือข้ามวัน หรือหลายๆวัน มักมีการบอกกล่าวให้ได้ยินในทำนองว่า “ทำใจให้สบาย” “ให้ตัดกังวลเรื่องอื่น” “มาแค่ตัวกับหัวใจก็พอ” ซึ่งคงเป็นความพยายามของผู้จัดให้ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมได้เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมมากที่สุด สำหรับผู้เขียนตอนนี้ สิ่งที่ทำได้ดีที่สุด คือการสะสางงานให้แล้วเสร็จก่อนไปเข้าร่วมฝึกอบรม ซึ่งก็ทำให้ผู้เขียนเหนื่อยมากกว่าปกติบ้าง หรือต้องมอบหมายให้ช่วยปฏิบัติงานแทนหรือช่วยคิดต่อหากเป็นงานที่เข้ามาอย่างเร่งด่วนโดยไม่อยู่ในแผนของเรา โดยไม่คาดคิดมาก่อน หากเป็นงานที่พอจะเลื่อนเวลาออกไปได้ ก็จะเลื่อนออกไป เรียกว่ายังสามารถจัดการเวลาได้ โดยที่งานการประจำยังไม่เสียหายหรือไปเบียดเบียนเพื่อนร่วมงานเข้า

ลองถามใจตัวเองว่า...ที่ผ่านมาการเข้าร่วมแต่ละครั้งนั้น ตัวเองมีการเตรียมตัวเตรียมใจเป็นอย่างไร? คิดแบบเข้าข้างตัวเองว่า เตรียมตัวเต็มร้อยเสมอ รู้สึกสนุกเสียด้วยซ้ำ บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมทั้งผู้คนและสถานที่ก็เป็นใจให้เราเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ (อันเป็นความหมายหนึ่งของจิตตปัญญาศึกษาที่มีผู้กล่าวไว้) ในการฝึกอบรมที่ผ่านมาไม่กี่ครั้งนี้ แม้จะมีรูปแบบแตกต่างกัน แต่ล้วนมีกิจกรรมที่เตือนให้พยายามเฝ้ามองอารมณ์ รับรู้ความรู้สึก ตามให้ทันความนึกคิดที่เลยเถิดไปถึงไหนต่อไหน (ประโยคเหล่านี้มักจะปรากฏให้เห็นเสมอในหนังสือหรือการฝึกอบรมที่เกี่ยวกับการฝึกสมาธิ การเจริญสติวิปัสสนา) นอกจากนี้ กระบวนการในการฝึกอบรมยังมีกิจกรรมที่ให้มีการถ่ายทอดออกมาให้รับรู้กันดังๆ ด้วย

แปลกแต่จริง... เมื่อกลับมาในชีวิตปกติประจำวัน กิจกรรมย้ำเตือนดังกล่าวยังติดตามตัวมาด้วย ให้เราได้สัมผัสใจตัวเองอย่างชัดเจนขึ้น ใจที่มีอารมณ์ มีความรู้สึก มีความนึกคิด เอาแค่ความนึกคิดไปเรื่อยๆ หากหยุดยั้งไว้ได้ทัน กลับช่วยเพิ่มเวลาในการทำงานทำการอย่างมากมายโดยไม่ได้คาดหมาย

แล้วอย่างอื่นๆ อีกเล่า เรื่องที่เขาว่ากันว่า “เปิดใจ” คงเป็นอย่างนี้เอง คือ ผู้เขียนสามารถพูดได้ตรงความรู้สึกตัวเองมากขึ้น ยอมเปิดเผยความรู้สึกเบื้องหลังคำพูด คือรู้ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไรจริงๆ เช่น ขอโทษนะที่พูดอย่างนั้นเพราะหงุดหงิด เรารู้สึกน้อยใจจังที่...ทำอย่างนี้ เสียใจนะที่ทำอย่างนั้นไป เครียดเพราะทำไม่เป็นช่วยสอนหน่อย ฯลฯ ไม่มีลีลาและชั้นเชิงเท่าไร ไม่ต้องอาย เราไม่ได้ทำอะไรเสียหาย เป็นตัวของตัวเองที่จริงใจต่อความรู้สึกตัวเองมากขึ้น สบายๆ นะในแต่ละวันที่ผ่านๆ ไป

นอกจากนี้ กิจกรรมต่างๆ ที่สอดแทรกมา เราเองต้องพยายามตั้งใจฟังคนอื่นด้วย คำพูดที่ออกมาจากอารมณ์ ความรู้สึก จากใจของผู้เข้าร่วมฝึกอบรมก็สอนเราให้รู้จักเขามากขึ้น ซึ่งบางครั้งก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่าเราไม่รู้จักเขามาก่อนเลยจริงๆ เรามองเขาในแง่มุมอื่นมาก่อน กระบวนการนี้เปลี่ยน “ความคิด” เราได้เลย ผลพวงตามมาทำให้ตัวเราต้องระวังใจตัวเอง ระวังความคิดของเราที่มีต่อผู้คนโดยรอบ ต้องคิดดีไว้ก่อนเลย อย่าคิด! อย่าคิด! อย่าเพิ่งมีปฏิกิริยาทางลบออกไปต่อทุกสิ่งที่เขาแสดงออกมา ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือการกระทำ ทำได้เพียงแค่นี้ ดูเหมือนว่าตัวเราจะมีเกราะคุ้มกันภัยทางใจอย่างดีทีเดียว ไม่ต้องเครียดหรืออารมณ์กวัดแกว่งเพราะคนอื่น

ครั้งนี้ผู้เขียนได้มาเล่าประสบการณ์ตรง หรืออาจจะเป็นประสบการณ์ร่วมกับหลายๆคน เป็นส่วนหนึ่งของการผ่านบททดสอบเล็กๆ แต่มาเรื่อยๆ เพราะแท้จริงแล้วบททดสอบในชีวิตประจำวันที่จะทำให้ใจเราไม่ปกติมีอยู่ตลอดเวลา แต่การที่พวกเรามีโอกาสเข้าร่วมการฝึกอบรมในรูปแบบต่างๆ ที่มีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาจิตหรือพัฒนาด้านในตนเอง ถือว่าเป็นแบบฝึกหัดหลากหลาย จะทำให้เราได้เรียนรู้และมีทักษะ เพื่อเผชิญหน้ากับบททดสอบเดิมๆเหล่านั้นใหม่อย่างตั้งใจ รวมถึงเตรียมความพร้อมในการเผชิญหน้ากับบททดสอบใหม่ๆ ที่จะหนีไม่พ้นการระวังรักษาจิตใจเราให้ปกติ

การฝึกอบรมนอกเหนือจากการฝึกอบรมในโครงการนี้ ยังมีอยู่อีกมากมายและหลากหลาย ในอนาคตเมื่อได้มีการรวบรวมและเผยแพร่ความรู้เหล่านี้เพิ่มมากขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อทุกๆคนในสังคมไทย






โดย วิจักขณ์ พานิช เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๔๙
------------------------------------------

(๑)
บ่อยครั้งที่มักจะมีความคาดหวังเกี่ยวกับเรื่องของจิตตปัญญาศึกษา ว่าจะเป็นรูปแบบการศึกษาที่ผลิต “คนดีมีศีลธรรม” ออกมาสู่สังคม ความคาดหวังในลักษณะนี้หาใช่เป็นเรื่องเสียหาย แต่ทั้งนี้ ความคาดหวังใดๆ ที่เรามีต่อกระบวนการศึกษา อาจกลายเป็นอุปสรรคที่ขวางกั้นการเรียนรู้ของทั้งผู้เรียนและผู้คาดหวัง ได้อย่างที่เราคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

ความคาดหวังแม้จะเป็นความคาดหวังในด้านดี ก็ถือเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการเรียนรู้ ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อทวินิยมแห่งกฎเกณฑ์ มาตรฐาน การวัดผลดีชั่วถูกผิด ได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือประสบการณ์ตรงของผู้เรียนเสียแล้ว ผลก็คือ ประสบการณ์จะถูกเจือปนไปด้วยบทสรุปล่วงหน้าเหล่านั้น จนผู้เรียนไม่สามารถเชื่อใจในสิ่งที่ตนเองประสบมาได้อีกต่อไป เมื่อนั้นความกลัวจะแทรกตัวเข้ามาแทนที่ กลายเป็นการเลือกที่จะฟังเสียงภายนอกแทนเสียงแห่งคุณค่าภายใน จากนั้นจึงหันไปยึดมั่นต่อการเรียนรู้ถูกผิด การตัดสินลงโทษ การสร้างความรู้สึกละอายที่ฝังรากลึก จนกลายเป็นตราบาป ผูกมัดเป็นปมด้อยภายในอันไร้ทางแก้
ในช่วงไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมา อิทธิพลของความเชื่อเรื่องบาปติดตัว (Original Sin) ที่ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมตะวันตกนั้น ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมพุทธในบ้านเรามากเหลือเกิน การตัดสินผู้อื่นอย่างเสียๆ หายๆ จากสิ่งละอันพันละน้อยที่เขาได้กระทำในอดีต อย่างที่ไม่รู้จักความหมายของการให้โอกาส หรือให้อภัยด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ดูจะกลายเป็นลักษณะนิสัยที่มีอยู่ในตัวคนไทยอย่างที่ไม่มีใครรู้ตัว ทั้งนี้ยังไม่รวมนิสัยการชอบนินทา ว่าผู้อื่นเสียๆ หายๆ ลับหลัง ฯลฯ แม้แต่การนำความคาดหวังทางศีลธรรมจริยธรรมมาตัดสินคุณค่าผู้อื่น เช่น คนกินเหล้าสูบบุหรี่เป็นคนเลวไม่น่าคบ ท้องก่อนแต่งเป็นพฤติกรรมที่ต้องประจาน เด็กที่ไม่มีสัมมาคารวะ เถียงผู้ใหญ่เป็นเด็กดื้อไม่น่ารัก ฯลฯ คุก เรือนจำ และทัณฑสถาน ก็กลายเป็นสถานที่รวมเหล่าสัตว์เดรัจฉานชั่วช้า คนบ้าวิกลจริตกลายเป็นพวกน่ารังเกียจ หญิงค้าประเวณีเป็นกาลกิณีของสังคม และอีกมากมายที่เรียงรายเต็มหน้าหนังสือพิมพ์

ในทางกลับกัน เรากลับยกย่องเชิดชูนักการเมือง คนร่ำคนรวย ผู้มีอำนาจที่โกงกินบนหลังประชาชน พระสงฆ์องค์เจ้าผู้อาศัยผ้าเหลืองแสวงหาลาภสักการะ ดารา นักร้อง คนเด่นดังที่เอาแต่สร้างภาพมายาของความเป็นคนของประชาชน เปลือกที่สวยงามเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ใครๆ ต่างปรารถนา ขอเพียงตัวสูตัวกูดูใสซื่อมือสะอาด จิตใจด้านในจะชั่วช้าสามานย์ไม่เป็นไรเพราะอย่างน้อยก็ไม่มีใครเห็น

หากการศึกษาไม่สามารถที่จะแทรกผ่านเมฆหมอกแห่งสมมติสัจจะเหล่านั้นไปได้ การเรียนรู้ยังสอนให้คนประดิษฐ์หน้ากากสวยๆ มาสวมใส่ยิ้มให้กัน แต่จิตใจกลับยังคับแคบ แบ่งแยกสูงต่ำดำขาว ดีชั่ว ถูกผิด เป็นนิจศีล การศึกษาที่ว่าก็คงเป็นได้เพียงเครื่องมือผลิตคนกึ่งดิบกึ่งดี ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม พอที่จะเป็นปากเสียงให้สังคมได้ก้าวไปในทิศทางแห่งการเข้าถึงความจริงได้เลย

(๒)
การมาศึกษาต่อต่างประเทศในมหาวิทยาลัยเล็กๆ ที่มีพื้นฐานของการเรียนรู้ด้านใน ทำให้ผู้เขียนได้ตระหนักว่า การเรียนรู้เป็นสิ่งที่สุดแสนจะธรรมดา ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกๆ ที่ ที่ผู้คนมีจิตใจเปิดกว้าง และเคารพศักยภาพของกันและกัน นักเรียนที่นี่ดูจะไม่มีความดัดจริต แต่ละคนดูมีความมั่นใจในทุกประสบการณ์ที่เขาได้ผ่านมาในชีวิต ไม่ว่ามันจะดูดีเลวอย่างไรในสายตาคนอื่น ใครจะสูบบุหรี่ก็สูบ ใครจะกินเหล้าก็กิน ใครจะรักเพศอะไร จะทำงานสูงต่ำเพียงไหน จะเป็นลูกผู้ดีมีจนอย่างไรก็สุดแล้วแต่ เราต่างก็ยังเป็นคนธรรมดาๆ ที่พร้อมจะมาเปิดใจเรียนรู้ร่วมกัน เมื่อเราสามารถยอมรับในความแตกต่าง สามารถหลอมรวมทุกประสบการณ์แห่งชีวิตไม่ว่ามันจะเจ็บปวด หรือรื่นรมย์เพียงไหน เมื่อนั้นเราก็สามารถที่จะเคารพในทุกประสบการณ์แห่งการเรียนรู้ทั้งในตนเองและผู้อื่น ได้อย่างไร้การเปรียบเทียบ

เพื่อนร่วมกระบวนการเรียนรู้บนเส้นทางแห่งการฝึกตนนั้น หาใช่เป็นคนที่ดีเด่ ไม่ใช่คนเท่ คนยิ่งใหญ่ และไม่ใช่นักเรียนดีเด่น เพราะพวกเขาไม่มีภาพลักษณ์ของความสมบูรณ์แบบ พวกเขาจึงไม่ใช่คนอวดดี ที่เอาแต่ยกตนข่มท่าน แต่กลับเป็นคนธรรมดาๆ ที่ให้ความเคารพผู้อื่นอย่างจริงใจในแบบที่เขาสามารถเคารพตัวเขาเองได้เสมอ เพื่อนเหล่านี้คือ เพื่อนแท้ที่คอยแบ่งปันประสบการณ์แห่งการเรียนรู้จากใจ เราเรียนรู้ร่วมกัน ภาวนาร่วมกัน เราคอยประคับประคองกันในยามสับสนพลาดพลั้ง เราให้กำลังใจกันในยามที่เพื่อนเลือกทางที่ต่างกันออกไป ผิดถูกอย่างไรไม่สำคัญเพราะอย่างน้อยเราก็เชื่อว่า ทุกเส้นทางที่แต่ละคนได้เลือก เต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการแห่งความดีงามของการทำประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

เพื่อนฝรั่งเพี้ยนๆ แปลกๆ ของผู้เขียนมีความเชื่อร่วมกันว่า การภาวนาศึกษาคุณค่าด้านใน ไม่สามารถเปลี่ยนเขาไปจากความเป็นตัวของเขาเองได้ เพื่อนเหล่านี้มักจะพูดเสมอว่า “เราไม่ได้ภาวนาเพื่อที่จะเลียนแบบใคร เราไม่ได้ต้องการเป็นคนดี หรือเพื่อให้ดูขลัง (spiritual) เราแค่มาที่นี่เพื่อค้นหาตัวเราเอง” เพื่อนเหล่านี้พอเรียนจบก็ออกไปทำงานแปลกๆ บ้างก็ไปสอนคนในคุก บ้างก็ไปทำงานเพื่อสิทธิผู้หญิงค้าประเวณี บ้างก็ไปเป็นนักเขียน บางคนไปทำธุรกิจส่วนตัว หรือไปเรียนต่อด้านอื่น แต่สิ่งที่ทุกคนยังมีเหมือนกันก็คือ ทุกคนยังให้คุณค่ากับความธรรมดา ของการเป็นคนธรรมดาๆ ไม่เปลี่ยนแปลง

ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่าครูอาจารย์ในแวดวงจิตตปัญญาศึกษาในบ้านเรา จะเป็นผู้ที่มีจิตใจกว้างพอ ที่จะเคารพศักยภาพที่มีอยู่ในตัวผู้เรียนทุกคนอย่างไม่มีอคติ และพร้อมที่จะเป็นเพื่อนแท้แห่งการเรียนรู้ด้วยใจจริง เพราะหากเรามัวแต่ไปตัดสินกันด้วยหน้ากากทางจริยธรรม ความเลิศล้ำทางวิชาการ หรือ ภาพความสูงส่งทางจิตวิญญาณผิวเผิน อย่างที่ไม่สามารถเคารพในความติดดินธรรมดาสามัญ “มือเปื้อนดิน ตีนเปื้อนโคลน” ในความไม่สมบูรณ์แบบที่ง่ายงามของกันและกันได้ ก็คงไม่มีทางที่กระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงภายในจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง เราน่าจะหันมาให้คุณค่าแก่การออกนอกลู่นอกทาง ความบ้า ความเพี้ยน และชื่นชมในศักยภาพที่แปลกและแตกต่างของกันและกันให้มากขึ้น อย่าเอาแต่เพียงทำอะไร “ดีๆ” ตามๆ กัน แล้วด้นถอยหลังกลับไปสู่รูปแบบเดิมๆ ของการเรียนการสอนแบบอำนาจความคาดหวังเบ็ดเสร็จ ใช้กฎเกณฑ์ เครื่องวัดผิดถูก สูงต่ำทางศีลธรรม ยัดเยียดหน้ากากแห่งความสมบูรณ์แบบและพฤติกรรมดิบๆ ดีๆ ให้กันอย่างน่าอเนจอนาถเป็นที่สุด

...เพราะหากเป็นเช่นนั้นจิตตปัญญาศึกษาก็ได้แยกตัวเองออกจากความเป็นจริงที่หลากหลายในปัจเจกบุคคลโดยสมบูรณ์ และเป็นได้แค่เพียง “การศึกษาติดดี” ที่เอาไว้ใช้สำเร็จความใคร่ทางวิชาการของนักปรัชญาการศึกษากลุ่มหนึ่งเพียงเท่านั้น



โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๙
-----------------------------------------

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นครูสอนวิชาสาขามนุษยศาสตร์คนหนึ่งที่อยากให้ทุกคนตระหนักและเข้าใจ คุณค่าของความเป็นมนุษย์ของแต่ละคน โดยมองก้าวข้ามความแตกต่าง ไม่ว่าเขาคนนั้นเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย หรือเป็นเพศทางเลือก ไม่ว่าเขาเป็นคนเชื้อชาติไทย มลายู เขมร ลาว เป็นคนดำ คนขาว หรือเป็นผู้ลี้ภัย ไม่ว่าเขาเป็นลูกหลานผู้มีความสำคัญ มีชื่อเสียงในสังคม หรือเป็นลูกชาวบ้านธรรมดาที่มาจากต่างจังหวัด และที่สำคัญ ไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือแม้แต่จะประกาศตัวว่า “ไม่มีศาสนา” เขาเหล่านั้นก็มี “ความเป็นมนุษย์” ที่รักสุข เกลียดทุกข์ เหมือนๆ กันทุกคน

การสอนให้นักศึกษาที่เป็นวัยรุ่นได้ตระหนักถึง “คุณค่าของความเป็นคน” ของตนเองและผู้อื่น เป็นสิ่งที่ยากและไม่น่าเร้าใจเท่ากับการสอนวิชาต่างๆ ที่สำคัญ ในสาขาวิชาชีพของตน อยากกล่าวให้เห็นตัวอย่างจริง เช่น นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ นักศึกษาวิทยาศาสตร์ โดยทั่วไปก็จะให้ความสำคัญ ตั้งใจทำงาน ในวิชาที่เป็นแกนของสาขาของตน เช่น วิชาฟิสิกส์ เคมี สรีรศาสตร์ เป็นต้น เมื่อนักศึกษาเหล่านี้ ต้องเรียนวิชา เกี่ยวข้องกับมนุษยศาสตร์ จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้สอน ที่จะต้องทำให้ นักศึกษาเหล่านั้นเห็นความสำคัญ
ในข้อเขียนเล็กๆ นี้ อยากแบ่งปันประสบการณ์ที่อาจเป็นประโยชน์ในการสอดแทรกการเรียนรู้คุณค่าของตนเองและผู้อื่น โดยผ่านกิจกรรมที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม มีประสบการณ์ร่วมง่ายๆ ดังต่อไปนี้

โดยทั่วไป นักศึกษาในช่วงปีต้นๆ ของระดับปริญญาตรีที่เพิ่งเปลี่ยนสถานภาพจากนักเรียนมัธยมศึกษา มาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ที่ดูเหมือนจะมีอิสรภาพมากขึ้น กำลังเรียนรู้ และพัฒนารูปแบบในการดำเนินชีวิตของตน บางคนอาจกำลังสับสน บางคนกำลังหาพ่อแบบ แม่แบบ ที่ตนเองอยากเป็นเหมือน ซึ่งอาจเป็นบุคคลในสังคม ในครอบครัว หรือแม้แต่ดาราหญิงชายทั้งหลายที่ตนชื่นชอบ จากการสังเกต นักศึกษาเหล่านี้อยากพัฒนา “ความมั่นใจในตนเอง” การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะมีความมั่นใจในตนเองได้ บุคคลนั้น ควรมีสิ่งที่ดีงาม ที่ตนเองภูมิใจ ยึดเป็นหลัก โดยเมื่อนึกถึงครั้งใด จะช่วยเสริมสร้างพลังใจ ความมั่นใจในคุณค่าของตนเองได้

ครั้งหนึ่งได้แนะนำกิจกรรม การนับเม็ดถั่วเขียว ที่ได้รับการถ่ายทอดและร่วมกิจกรรมการเจริญสติ จากท่านอาจารย์อมรา สาขากร ณ สวนพุทธธรรม จังหวัดอยุธยา ได้นำกิจกรรมนี้มาประยุกต์ใช้ในห้องเรียน กล่าวคือ
แจกถ้วยพลาสติกเล็กๆ สำหรับใส่น้ำจิ้มให้นักศึกษาคนละสองถ้วย ถ้วยหนึ่งใส่เม็ดถั่วเขียวจำนวนหนึ่ง แล้วให้ทุกๆ คน นั่งสงบนิ่ง ใช้เวลา “อยู่กับตนเอง” ให้ย้อนนึกถึง ชีวิต และเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ว่าเหตุการณ์ใดที่ตนเองพอใจ เป็นการทำความดี แล้วอยากให้รางวัลแก่ตนเอง เมื่อคิดอย่าง “มีสติ” และ “ซื่อสัตย์จริงใจ” ต่อเรื่องราวดีๆ ในชีวิตตนเองทีละเรื่อง ทีละเรื่อง ก็ให้หยิบเม็ดถั่วเขียวจากถ้วยหนึ่ง ไปใส่ในถ้วยที่ว่าง ทีละเม็ด ทีละเม็ด ตามเรื่องราวแต่ละเรื่องที่ตนคิดอยากให้รางวัลตนเอง

จากการสังเกต นักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมนี้ ตั้งใจและพยายามใช้สมาธิ เพื่อคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ของตนเองที่เป็นความดี และสามารถให้รางวัลแก่ตนเองได้ ภาพความตั้งใจ และเสียงเม็ดถั่วเขียวกระทบถ้วยพลาสติกทีละเม็ด ทีละเม็ด อย่างช้าๆ และมีสติ เป็นภาพที่อยากจดจำ และให้ได้เรียนรู้ว่า วัยรุ่นไทยก็สามารถตระหนักรู้ และพัฒนาสมาธิได้ไม่ยากนัก เวลาผ่านไปสิบนาที บางคนได้เม็ดถั่วเขียวในอีกถ้วยหนึ่ง มากบ้าง น้อยบ้าง หลังจากนั้นให้ทุกคน “ฟังอย่างตั้งใจ” ในเรื่องราวและเหตุผลของเพื่อนแต่ละคนที่เขาคิดว่าเป็นความดีที่ได้กระทำมา

ความดีที่พวกเขาคิด เป็นความดีที่บริสุทธิ์ เรียบง่าย บางคนบอกว่า วันนี้ได้ช่วยงานที่บ้านก่อนมาเรียน เป็นความดีเรื่องหนึ่งที่เขาอยากใส่เม็ดถั่วเขียว ให้รางวัลตัวเองหนึ่งเม็ด บางคนบอกว่า วันนี้ขึ้นรถเมล์ ได้ลุกให้ผู้หญิงนั่ง บางคนบอกว่า ได้ช่วยคนแก่ เข็นรถเข็นให้พ้นลูกระนาดที่สูงบนถนน บางคนบอกว่า ได้ช่วยอธิบายการบ้านแก่เพื่อน บางคนบอกว่า ให้เพื่อนที่เดือดร้อนยืมเงิน บางคนนึกถึงการบริจาคเลือด บางคนนึกถึงการไปเข้าค่ายร่วมสร้างโรงเรียนให้น้องๆ ในชนบท
ช่วงเวลาที่ต่างคนต่างเล่าถึง “ความดี” แม้เป็นเรื่องเล็กน้อย และต่างคน “ต่างฟัง” และ “พลอยร่วมทำใจยินดี” กับความดีของเพื่อน แม้บางเรื่องจะดูขบขัน เป็นที่เฮฮาของเพื่อนๆ เช่น การลุกให้ผู้หญิงนั่งบนรถเมล์ ก็จะมีเสียงแซวจากเพื่อนว่า “เพราะผู้หญิงสวยกระมัง จึงลุกให้นั่ง” สภาวะจิตใจของทั้งคนเล่าและคนฟัง ล้วนต่างมีความสุข อิ่มเอิบเบิกบาน และยิ่งได้พัฒนาความรู้สึก “มุทิตาจิต” ไปพร้อมๆ กันแล้ว พลังความดี และความสุข ได้แผ่ไปทั่วห้องเรียนนั้น อย่างคาดไม่ถึง
หลังจากนั้น นักศึกษาแต่ละคนจะได้มีโอกาสเล่าความรู้สึก และสิ่งที่ได้รับจากกิจกรรมนี้ ส่วนใหญ่ จะกล่าวในทำนองเดียวกันว่า นึกไม่ถึงว่า “ตนเองจะสามารถทำความดีได้” “ตนเองก็เป็นคนดีได้เหมือนกัน” นอกจากนั้น ยังได้ฟังเรื่องราวความดีที่หลากหลายจากเพื่อนคนอื่น บางคนบอกว่า นึกไม่ถึงว่า เพื่อนคนนั้นจะทำความดีอย่างนี้ได้ เพราะจากภายนอก “เขาได้ตัดสิน” นิสัยเพื่อนคนนั้นไว้ก่อน จากบุคลิกภาพท่าทางการพูดจาแล้ว!

จากกิจกรรมนี้ ได้เสริมว่า ทุกคนสามารถทำความดีได้ด้วยกันทั้งสิ้น มากบ้าง น้อยบ้าง เป็นเรื่องใหญ่บ้าง เป็นเรื่องเล็กบ้าง ขอให้ทุกคนยึดถือ และนึกถึงความดีเหล่านั้น แล้วค่อยๆ พัฒนาเพิ่มพูนความดีเหล่านั้น ทำซ้ำให้เป็นนิสัยเรื่อยๆ และสม่ำเสมอตลอดไป จะเป็นเบื้องต้นของการพัฒนาความมั่นใจในตนเอง เห็นคุณค่าของตนเอง เมื่อมนุษย์สามารถเห็นคุณค่าของตนเอง ก็จะสามารถพัฒนาการตระหนักถึงคุณค่า และความดีของผู้อื่นได้ง่ายขึ้น

การเรียนรู้โดยผ่านประสบการณ์ตรง และการถอดบทเรียนของนักศึกษาเช่นนี้ เป็นขั้นเบื้องต้น ของการสอดแทรก การเรียนรู้ให้ตระหนักถึง “คุณธรรม” “ศีลธรรม” ที่พวกเราอยากให้เยาวชนของเราได้พัฒนามากขึ้น ลองทำดูไม่ยากอย่างที่คิด!

Newer Posts Older Posts Home