โดย สุวัฒนา ชุมพลกูลวงศ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๒

“เราจำเป็นต้องเป็นตัวเราตลอดเวลาไหม?”

พี่สาวพยาบาลทหารคนหนึ่งถามขึ้นในวงสุนทรียสนทนา เพราะช่วงที่ผ่านมา เธอกลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง และต้องจัดกระบวนการกลุ่มโดยผลัดกับเพื่อนเป็นผู้นำกลุ่มและดำเนินการประชุมให้สำเร็จลุล่วง แน่นอนว่าทุกอย่างอยู่ในสายตาของผู้ประเมินซึ่งเธอเรียกว่า Commentator ตลอดเวลา

เธอถามคำถามนี้กับตัวเองในค่ำคืนหลังจากตัวเองเป็นผู้นำประชุม และถูก Commentator กระหน่ำความเห็นประหนึ่งหวดไม้ลงมาที่เธอซ้ำแล้วซ้ำเล่า “กะว่าจะเอาให้ลงไปกองตรงนั้นให้ได้เลยกระมัง” เธอกล่าว เพื่อนๆ ถึงกับเข้ามาจับมือ ตบไหล่ และให้กำลังใจเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ ทั้งๆ ที่เธอเพียงแสดงเป็นตัวของเธอเองน่ะหรือ ผู้ประเมินถึงกระหน่ำคำพูดที่ทำร้ายกับเธอเช่นนี้?

ถ้าเช่นนั้นเธอควรจะทำเช่นไรดี?

วันถัดมา เธอจึงแสร้งทำเป็นซึมแต่เช้า ทั้งที่ปรกติเป็นคนที่มีความมั่นใจในตนเองมาก พูดจาฉะฉานและมีแววตาที่มุ่งมั่น และเพื่อให้สมบทบาทนี้ เธอถึงกับกรอกยาแก้ปวดหัวต่อหน้าเพื่อนฝูง ไม่ให้เพื่อนๆ ประหลาดใจว่าเธอแปลกไป เพราะวันนี้เธอจะเป็นคนปวดหัว ซึม เซื่อง และนำประชุมไม่ได้เรื่องไงล่ะ!

ผลที่เกิดขึ้นนับว่าเกินความคาดหมาย เพื่อนๆ และวงประชุมเซื่องซึมไปตามๆ กัน ยังไม่นับ Commentator ผู้เดิมที่ไม่อาจหวดไม้ตะบองที่เตรียมมาได้เลย

นี่อาจเป็นวิธีแก้ปัญหาหรือสถานการณ์ที่เธอต้องเผชิญให้ก้าวผ่านมาได้อย่างดีที่สุดแล้ว แต่กระนั้น ฉันกลับฟันธงไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้อยู่ในใจเงียบๆ

---------------------------------------

ตอนบ่ายหลังจากวงสนทนาจบลง ฉันเดินไปทานข้าวกับพี่สาวอีกสองคน เรายังคงพูดคุยถึงเรื่องราวของแต่ละคนกันต่อ พี่คนหนึ่งพูดในตอนท้ายเป็นเชิงสรุปความคิดเห็นของตนเองเกี่ยวกับการทำงานในบริษัทที่ต้องกระตุ้นและฟูมฟักการเติบโตให้แก่พนักงานในความดูแลว่า “ต้องยอมรับว่าในความเป็นจริง คนที่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และเติบโตด้วยตัวเองเหล่านี้มีเป็นส่วนน้อย เราจึงยังต้องกระตุ้น ชักจูง ให้รางวัลคนส่วนใหญ่ให้กระตือรือร้นขึ้นมา”

ความไม่พอใจระคนกับความรู้สึกไม่เห็นด้วยก็เกิดขึ้นในใจของฉันอีกครั้ง

จากนั้น ภาพสมัยชั้นเรียนวิชา การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวิชา สิ่งแวดล้อมศึกษา : ทฤษฎีและปฏิบัติ ในมหาวิทยาลัยของฉันก็ผุดตามขึ้นมาทันที (คุณพระช่วย! ใจเรามันเร็วจริงๆ)

“เป็นตัวของตัวเอง ตัวเองถูกเสมอ ทุกคนต้องหมุนรอบตัวฉัน” ฉันไม่ได้หมายความเช่นนั้น แต่ภาพตัวฉันและเพื่อนในสองชั้นเรียนนี้ ทำให้ฉันฉุกคิดถึงความเป็นตัวของตัวเอง ในอีกแง่มุมที่เรียกว่า “ศักยภาพดั้งเดิม” หรือ “ศักยภาพเดิมแท้” ที่มนุษย์แต่ละคนมีอยู่แล้ว และมีมาตั้งแต่ถือกำเนิด

หากเปรียบเทียบเพื่อนนักศึกษากว่า 10 ชีวิตช่วงก่อนและหลังจากเรียนทั้งสองวิชามาตลอดเวลา 1 ปี เราพบว่าการเติบโตของ “ตัวตน” แต่ละคนช่างสวยงามเหลือเกิน

“เหมือนแต่ละคนเป็นต้นไม้ ที่วันนี้ออกดอกออกมาอย่างสวยงาม” คือคำพูดเปรียบเปรยสิ่งที่เกิดขึ้นในวันสุดท้ายของการเล่าเรียนในวิชาเหล่านั้น

ด้วยกระบวนการเรียนรู้ของวิชาการจัดการทรัพยากรฯ ที่หนุนเสริมให้แต่ละคนเลือกทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ไม่มีการทำโทษหรือตำหนิอย่างฉับพลันทันที เช่น หากเข้าเรียนไม่ทันเวลา ไม่ส่งงานตามกำหนด หรือไม่ได้ศึกษาเอกสารมาล่วงหน้า อาจารย์ก็เพียงแต่ยิ้ม (จริงๆ!) ไม่ดุด่า แต่ก็ไม่ปล่อยปละละเลย และในวันที่มีกรณีเหล่านี้ พวกเราก็จะได้เรียนรู้และเข้าใจตนเองในสิ่งที่ไม่มีใครเคยสอน จากเรื่องราวเกิดขึ้นในชีวิตจริง

ส่วนวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษาฯ ทุกคนจะต้องเขียนข้อเสนอโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาส่งในวันสุดท้ายของชั้นเรียนคนละชิ้น แต่ระหว่างนั้นฉันกลับได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเองมากมายเหลือเกิน ตั้งแต่การเลือกหัวข้อโครงการ ซึ่งมันอาจใช้เวลาไปมากมายก็จริง แต่กลับเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในความคิดของฉัน พวกเราได้ค่อยๆ สำรวจว่าในโลกใบนี้ อะไรคือสิ่งที่เราสนใจ? อะไรคือสิ่งที่เราให้คุณค่า? เราจะเลือกหัวข้อที่ยากลำบากแต่ท้าทายความสามารถและจริงแท้กับความรู้สึกของตัว หรือจะเลือกหัวข้อพื้นๆ ทำให้เสร็จได้ง่ายๆ เพียงแค่พอแถกับคนอื่นได้ว่าตัวเองก็มีความสนใจนะ เพียงแค่ขั้นตอนนี้ก็อาจเรียกได้ว่าเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองมากกว่าเวลา 3 ปีที่ผ่านมาในมหาวิทยาลัยแล้วด้วยซ้ำ

ระหว่างการพัฒนาโครงการ ฉันเริ่มเห็นความกลัว ขี้กังวลและลังเลขนาดบิ๊กเบิ้มอาศัยอยู่ในใจของตัวเอง แม้จะทำการบ้านค้นคว้าแหล่งข้อมูลมามากมาย ศึกษากรณีที่คล้ายคลึงกับหัวข้อที่ฉันเลือกไว้มาเยอะแยะ แต่ฉันกลับไม่สามารถตัดสินใจทำอะไรได้เลย มีแต่ความลังเลไม่แน่ใจ ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรอื่น นอกเสียจากความกลัวว่าผลลัพธ์จะไม่สำเร็จ (แต่ปากก็แก้ตัวว่า ไม่รู้ขั้นตอนที่ชัดเจน)

ในเวลานั้น เพียงแค่คำพูดสั้นๆ ง่ายๆ ของอาจารย์ที่พูดขึ้นมาหลังจากที่ฉันเล่าให้ทุกคนฟังว่าฉันไปทำความรู้จักโครงการไหนมาและชอบแต่ละโครงการอย่างไร อาจารย์เพียงแต่พูดว่า “สำหรับที่นี่ ผมแนะนำว่าน่าไปดู” เท่านั้นเองฉันก็ใจชื้นขึ้น ความกังวลถูกวางพักเอาไว้ก่อน ฉันรีบขอจดหมายอนุญาต วางแผนการเดินทาง และไปเยี่ยมชมโรงเรียนตัวอย่างด้านจัดการของเสียเหลือศูนย์ภายในไม่กี่สัปดาห์

แน่นอนว่า ฉันเขียนข้อเสนอโครงการสำเร็จลงด้วยดี พร้อมกับความรู้สึกที่ไม่ได้โกหกตัวเองว่าฉันเข้าใจเรื่องที่ฉันสนใจนี้มากขึ้นจริงๆ และสิ่งที่ฉันประทับใจไม่มีวันลืมคือคำพูดว่า “น่าไปดู” ที่ไม่บีบคั้น ไม่ชักจูง เป็นเพียงความเห็นเปิดกว้างจากอาจารย์ ฉันได้ตัดสินใจเลือกเองว่าจะไปหรือไม่ และฉันก็ได้ไป … ด้วยตัวเอง

---------------------------------------

จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ สิ่งที่ฉันอยากบอกก็คือ ครูไม่อาจอยู่กับเราได้ตลอดไป เช่นเดียวกัน พ่อแม่กับลูก เจ้านายกับลูกน้อง หรือระหว่างเพื่อนด้วยกัน การช่วยเหลือด้วยการกระตุ้น หลอกล่อ ชักจูง ในภาวะเริ่มต้นคงจำเป็นต้องกระทำกันบ้าง แต่นั่นไม่ใช่วิธีเดียวและวิธีสุดท้ายแน่นอน ฉันคิดว่าเป้าหมายสูงสุดของการศึกษา คือ การให้คนแต่ละคนสามารถเหนี่ยวนำตนเองให้กระทำสิ่งใด หรือไม่กระทำสิ่งใด ได้ด้วยตนเองต่างหาก เพราะเมื่อนั้นแล้ว ไม่ว่าใครจะล่อหลอกเขาด้วยสิ่งใด ดูน่าเชื่อถือหรือถูกต้องแค่ไหน เขาก็จะเลือก ด้วยความคิดความเชื่อที่ใคร่ครวญแล้วของตนเอง เขาจะเป็นผู้รับผิดชอบชีวิตของเขาเอง และเขาจะกระทำสิ่งต่างๆ อย่างเต็มความสามารถที่ตนมี มิใช่เพียงทำให้ได้เท่าที่ผู้อื่นเรียกร้องเขาให้กระทำ

จึงน่าตั้งคำถามยิ่งนักว่า เพราะสาเหตุใดลูกจ้างในบริษัทชั้นนำที่มีค่าตอบแทนสูงๆ หรือนักเรียนในโรงเรียนที่มีเนื้อหาการสอนเข้มข้น ถึงได้เซื่องซึมและไร้เรี่ยวแรงในการเติบโตและเรียนรู้ได้? ผิดวิสัยสิ่งมีชีวิตยิ่งนัก และบทบาทของพ่อ แม่ เพื่อน พี่ น้อง โค้ช เพื่อช่วยให้คนเราเป็นตัวของตัวเอง สามารถโลดแล่นไปในโลกแห่งการกระทำอย่างมีชีวิตชีวาอีกครั้งได้นั้น จะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร?

อาจารย์เคยกล่าวกับนักศึกษาในชั้นเรียนว่า “อย่าฆ่าคำถามดีๆ ด้วยคำตอบห่วยๆ” เพราะฉะนั้นฉันจะไม่รีบร้อนด่วนสรุป และหยิบยื่นคำตอบให้ในที่นี้ แต่จะขอยกหน้าที่ให้เราต่างไปพินิจใคร่ครวญคำถามเหล่านี้ต่อด้วยตัวเราเอง หากคุณคิดว่าคำถามเหล่านี้ดีพอนะ

ราตรีสวัสดิ์



โดย ภาณุมาศ จีรภัทร์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๒

“โจทย์ยากๆ ในชีวิตตอนนี้น่ะเหรอ ก็เรื่องตรงหน้านี่แหละ ยากที่สุดเลย” ฉันตอบคำถามที่ถูกโยนเข้ามาเป็นประเด็นสนทนาในงานเลี้ยงครบรอบวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งฉันและพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ร่วมกันจัดขึ้นมาเมื่อหลายวันก่อน เป็นเวลาหลายเดือนแล้วที่พวกเราไม่ได้มาเจอและพูดคุยกันพร้อมหน้าพร้อมตาแบบนี้หลังจากชั้นเรียนวันสุดท้ายสิ้นสุดลง วันนี้จึงเป็นเสมือนอีกวันหนึ่งที่พวกเราจะได้มาทบทวนการเดินทางที่ผ่านมาของแต่ละคน (ผู้คนในชั้นเรียนของฉันมักจะเรียกการเรียนรู้ทั้งในและนอกชั้นเรียน ตลอดจนชีวิตของพวกเราว่าเป็นการเดินทาง) ได้บอกเล่าแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ให้แก่คนอื่นๆ เพื่อเรียนรู้ร่วมกันอีกครั้ง

นึกย้อนไปถึงการเดินทางที่ผ่านมาในชีวิต มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ฉันอยากจะได้ทำ อยากจะได้เรียนรู้ แต่เมื่อถึงเวลาให้ต้องลงมือทำ ฉันกลับมักจะลังเล และหลายๆ ครั้งก็ลงเอยด้วยการเลือกที่จะไม่ทำ หรือหากฉันเลือกที่จะทำ มันก็ช่างเป็นสิ่งที่ยากเสียเหลือเกิน ไม่ใช่เพียงเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผู้คนภายนอก แม้แต่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวของฉันเอง กับผู้คนในครอบครัวที่ฉันรัก กับผู้คนต่างๆ ที่ใกล้ชิดและคุ้นเคย กับงานที่ฉันรักและเลือกแล้วที่จะมาทำ หรือแม้แต่กับสิ่งที่ฉันฝันและปรารถนาที่จะทำ จนในหลายครั้งฉันก็รู้สึกถอดใจ ... “เรื่องมันก็ง่ายๆ แค่นี้ ทำไมฉันถึงทำไม่ได้เสียที”

ฉันแอบเซ็งตัวเองเล็กๆ ที่ครั้งนี้ฉันก็ร้องไห้อีกแล้ว แม้ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องปกติสำหรับคนกลุ่มนี้ไปแล้วที่ฉันมักจะร้องไห้ เมื่อบอกเล่าเรื่องราวที่อยู่ภายในใจ ฉันเองก็รู้สึกปลอดภัยและไว้วางใจมากพอที่จะเปิดเผยความคิดความรู้สึกของฉัน นั่นสิ ไม่เห็นว่าจะต้องร้องไห้เลยนี่นา ... และนี่ก็เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ฉันก็ทำไม่ได้อีกเรื่องหนึ่ง

“สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่ายากและกังวลใจ ไม่ใช่เพราะว่าไม่ได้ทำ หรือว่าทำสิ่งนั้นไม่ได้ หากแต่เป็นเพราะความคาดหวังของตัวเอง เพราะรู้สึกว่าอยากจะไปเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ไม่อยากจะเป็นในสิ่งที่เป็นอยู่ เราก็เลยดิ้นรนและรู้สึกอึดอัด ถ้ากังวลใจเพราะว่ายังไม่ได้ทำจริง เราก็คงจะทำสิ่งนั้นไปแล้ว สิ่งที่เป็นจะเรียกว่าไม่มีวินัยก็ว่าได้ หนทางที่เราจะสามารถเป็นคนที่มีวินัยได้นั้น ต้องเกิดจากการทำบ่อยๆ อย่างจดจ่อต่อเนื่อง และทำด้วยความไม่คาดหวัง ทำไปให้ดีที่สุด และก็ควร ‘ทำทิ้ง’ ไม่ทำด้วยความอยาก ถ้าทำเพราะว่าอยากจะเป็นคนที่มีวินัยมันก็จะหนัก มันก็จะยาก แต่ให้ทำเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ” อาจารย์พูดขึ้นหลังจากที่ฉันพูดจบ

“แล้วการทำด้วยเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ กับการทำเพราะว่าความอยากนี่มันมีหนทางแตกต่างกันยังไงนะ” คำถามหนึ่งเกิดขึ้นมาในหัวของฉัน

แม้ว่าฉันจะรู้สึกคลี่คลายมากขึ้นเมื่อได้ยินอาจารย์บอกพวกเราเกี่ยวกับการเดินทางเพื่อแสวงหาคำตอบสำหรับโจทย์ยากๆ ของพวกเราแต่ละคน ก่อนที่งานเลี้ยงในวันนั้นจะจบลง อาจารย์บอกว่า “หนทางในการเดินทางน่ะอาจจะไม่จำเป็นต้องรู้จากการถาม ว่าทางเดินอยู่ตรงไหนเสมอไปหรอกนะ เราสามารถสร้างทางเดินขึ้นมาได้จากการเดินของเราเอง เดินไปเรื่อยๆ เส้นทางมันจะเกิดขึ้นมาเอง”

แต่คำถามที่ว่า “แล้วหนทางในการทำด้วยเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ นี่มันเป็นยังไงกันนะ” ก็ยังคงเกิดขึ้นในใจของฉันอยู่เนืองๆ ตลอดทางที่กลับบ้าน

คืนวันนั้น ฉันกลับมาเขียนบันทึกเหมือนเช่นที่เคยทำ จะต่างออกไปก็ตรงที่ครั้งนี้ฉันนึกครึ้มอกครึ้มใจลองเปิดอ่านบันทึกที่เคยเขียนไว้ตั้งแต่เมื่อต้นปีก่อน จากหน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย ก่อนจะเริ่มต้นเขียนบันทึกสำหรับวันนั้น แล้วฉันก็อดแปลกใจกับตัวเองไม่ได้หลังจากอ่านจบ เพราะความหนักอึ้ง งุนงงสงสัย ความไม่แน่ใจ คำถามต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นมันได้จางหายไป พร้อมๆ กับความรู้สึกอิ่มเอมใจ คำขอบคุณและชื่นชมยินดีที่ฉันมีให้แก่บุคคลคนหนึ่ง คนที่อยู่กับฉันมาตลอดบนเส้นทางที่ผ่านมาของการเดินทางในชีวิตฉัน

บนเส้นทางที่ผ่านมามีผู้คนมากมายที่ฉันได้ร่วมเดินทาง ได้ร่วมเรียนรู้ มีคำขอบคุณ ความชื่นชมและกำลังใจมากมายที่ฉันเคยได้เอื้อนเอ่ยออกไปแก่เขาเหล่านั้น ทั้งที่เป็นความรู้สึกและคำพูด แต่มีน้อยครั้งเหลือเกินที่ฉันจะได้เอ่ยคำขอบคุณแก่บุคคลคนหนึ่งที่ทำให้ฉันได้เรียนรู้ ได้บอกกล่าวความชื่นชม และให้กำลังใจในการเดินทางที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ของเขา ... บุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับฉันยิ่งนัก

“เมื่อกี้นี้ได้ลองเปิดอ่านบันทึกหน้าต่างๆ ที่ผ่านมา จนมาถึงหน้าที่กำลังเขียนอยู่นี้ บอกไม่ถูกเหมือนกัน แต่รู้สึกว่าดีใจมากๆ เลย แม้ว่าอาจจะไม่ได้เป็นการเดินทางที่ดีอะไรมากมาย แต่ก็เป็นการเดินทางที่งดงามมาก รู้สึกดีใจและชื่นชมการเดินทางที่ผ่านมา และก็อยากจะเป็นกำลังใจให้กับการเดินทางข้างหน้าของตัวเองจริงๆ”

หากจะบอกว่านี่เป็นครั้งแรกๆ ที่ฉันได้กล่าวคำขอบคุณและชื่นชมยินดีกับการเดินทางของตัวเองก็คงจะไม่ผิดนัก

ฉันมักจะรู้สึกว่าตัวของฉันนั้นมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ยังขาด ยังพร่อง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำสิ่งต่างๆ เพื่อเติมช่องว่างเหล่านั้นให้เต็มและหวังว่าการเติมเต็มช่องว่างเหล่านั้นจะสามารถทำให้ฉันเป็นคนที่สมบูรณ์ได้ในสักวันหนึ่ง เพื่อว่าฉันจะสามารถเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ได้ สามารถเป็นพี่ที่ดีของน้องๆ ได้ สามารถทำสิ่งต่างๆ เพื่อคนอื่นได้ และสามารถเป็นในสิ่งที่ฉันฝันได้

แต่ทว่า ยิ่งฉันพยายามทำเพื่อเติมช่องว่างเหล่านี้ให้เต็ม การเดินทางก็ดูจะยิ่งยากลำบากขึ้น

ความรู้สึกขอบคุณ ชื่นชม และกำลังใจที่ได้รับมาจากตัวเอง หลังจากได้มาทบทวนการเดินทางที่ผ่านมานั้น ทำให้ฉันรู้สึกว่าช่องว่างที่เคยขาดหายไปนั้นกลับเต็มขึ้นมา การเดินทางที่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ดีอะไรมากมาย และยังมีอะไรอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่จำเป็นจะต้องทำเพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้นนั้น กลายเป็นสิ่งที่สำคัญ มีคุณค่า มีความหมายและงดงาม โดยไม่จำเป็นจะต้องกลับไปปรับเปลี่ยนหรือแก้ไข เช่นเดียวกับการเดินทางที่กำลังเกิดขึ้นนี้ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อเติมช่องว่างเหล่านั้นให้เต็ม หากแต่เกิดขึ้นเพื่อให้ฉันได้ทำในสิ่งที่ควรทำในปัจจุบันให้ดีที่สุด และความเป็นไปได้อื่นๆ ที่ฉันสามารถจะเป็นได้ ก็เป็นสิ่งที่เกิดจะขึ้นเองจากทุกๆ ก้าวที่ฉันเดินทาง

“ฉันเองก็ยังไม่รู้หรอกนะว่าการเดินทางก้าวต่อไปจะเป็นอย่างไร และหนทางของการเดินทางเพื่อตอบโจทย์ยากๆ ของฉันนี้จะเป็นเช่นไร หากแต่คำตอบคงจะอยู่ที่การเดินทางกระมัง และนี่ก็เป็นอีกก้าวหนึ่งของการเดินทาง”

บันทึกในวันนั้นจบลงที่ตรงนี้ หากแต่การเดินทางของฉันก็ยังคงดำเนินต่อไป ในทุกๆ ขณะที่ฉันกำลังก้าวเดิน



โดย มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๒

ขับรถกลับจากการพบปะกลุ่มคนทำงานเรื่องจิตตปัญญา ตั้งใจจะฟังซีดีธรรมะที่เปิดคลอไปในรถ แต่จิตใจกลับวิ่งออกนอก คิดถึงประเด็นที่พวกเราค้นพบกันระหว่างวงคุยแลกเปลี่ยน

งานจิตตปัญญาได้รับการตอบสนองและแพร่ขยายไปในหลายวงการทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในวงการศึกษา อาจด้วยความมีประสิทธิภาพของทีมงานและผู้ที่สนับสนุนเกี่ยวข้อง ประกอบกับความต้องการ “น้ำทิพย์ชโลมใจ” ของสังคมที่นับวันจะวุ่นวายมากขึ้น เกิดมีกลุ่มคนอีกจำนวนมากที่ศึกษาเรื่องจิตใจหรือจิตตปัญญากันอย่างจริงจัง ผลักดันให้นำไปใช้ในองค์กร ใช้ในชั้นเรียน หรือใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นกระแสการร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีอีกรูปแบบที่กำลังเกิดขึ้น

กระบวนกรจิตตปัญญา (Facilitator in Contemplative Education) และ/หรือผู้ที่ผลักดันเรื่องนี้ “ทำได้อย่างที่ชักชวนผู้อื่น” หรือ Practice what you preach ได้แค่ไหน เป็นคำถามที่เราตรวจสอบถามตัวเองกันมาเป็นระยะๆ

จากการสอนบริหารคนบริหารองค์กร ผู้เขียนรู้สึกว่าไม่ง่ายที่เราจะปรับพฤติกรรมการบริหารคนของเราเองให้ได้ดีในแนวทางที่เราบอกเล่า แม้ยิ่งทำได้ยิ่งเห็นประสิทธิภาพทั้งกับส่วนรวมและตนเอง ยิ่งเชื่อมั่นในสิ่งที่ชักชวนผู้คน แต่ก็ยอมรับว่าต้องตั้งใจพัฒนาตัวเองอย่างจริงจังทีเดียว ถึงวันนี้ก็ยังเห็นหนทางที่จะสามารถพัฒนาเพิ่มต่อเหลืออีกมาก

การมี “สติ” ทันกับแต่ละขณะของตนเอง ทันต่อพฤติกรรมของตนเอง เข้าใจสถานการณ์จริงของตนเอง เป็นส่วนช่วยอย่างมากให้เราสามารถใช้ “พฤติกรรมอันควร” ต่างๆ ที่ทั้งเรียนทั้งสอนนี้ได้เป็นธรรมชาติ และแน่นอน “หลุด” ก็ยังมีอยู่ให้เห็นเป็นธรรมชาติอยู่ด้วยเช่นกัน

น่าเห็นใจเหล่าผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนกร ผู้ทำงานเบื้องหลัง เบื้องหน้า ช่วยกันผลักดัน สร้างกระบวนการเรื่องดีนี้ให้เกิดขึ้น ท่ามกลางสภาวการณ์ที่ร้อนแรงของสิ่งแวดล้อมสังคม และข้อจำกัดมากมาย ในขณะเดียวกันก็ถูกผู้คนรอบข้าง “คาดหวัง” ว่า “ต้องเป็นคนดี เป็นตัวอย่างที่ดี แบบจิตตปัญญา” อีกด้วย ดูเหมือนเป็นนางแบบเชิญชวนให้ใส่ชุดผ้าไหม ที่กำลังเย็บเสื้อไปแต่งหน้าไป ในขณะที่เดินไปบนแคทวอล์ค และมีผู้ชมยืนดูวิจารณ์อยู่รอบข้าง… น่าเห็นใจ

ถึงกระนั้นการสำรวจตัวพวกเราเองตามจริงก็น่าจะช่วยให้ไม่หลงทางไปไกล ช่วยให้เราเรียนรู้พัฒนาตนเองและเทคนิควิธีต่างๆ ไปในขณะที่ชักชวนผู้คนรอบข้าง ได้ยินเรื่องราวของบางกลุ่มบางคนที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้แนวจิตตปัญญาว่า บางคนชอบอยู่กับความคิดของตนเอง บางคนเชื่อมั่นมากกับความเชื่อบางชุด เครื่องมือบางตัว หรือพยายามชักชวนให้คนทำตาม “แนวทาง” ที่ตนรู้สึกว่าใช่ โดยอาจลืมไปว่าเราแต่ละคนต่างมีความชอบมีจริตทิศทางที่อาจแตกต่างกัน แม้ว่าเราอาจจะมีจุดร่วมหรือแกนหลักบางประการร่วมกันอยู่บ้าง หากใช่ว่าวิธีการอื่น แนวความคิดอื่นจะใช้ไม่ได้ ไม่ดี คนที่ทำแบบอื่นแตกต่างจากที่ “ฉันคิดว่าใช่” นั้นไม่เหมาะสม “ต้องแบบนี้ซิ ... ถึงจะเรียกว่าจิตตปัญญา” ... เป็นจริงอย่างนั้นหรือ

จริงเสมอหรือที่ต้องนั่งล้อมวงคุยกัน

จริงเสมอหรือที่ต้องทำอะไรช้าๆ

จริงเสมอหรือที่ต้องไม่มีใครชี้นำความคิด

จริงเสมอหรือที่ต้องไม่มีเนื้อหาให้มากมาย ใช้กระบวนการให้เรียนรู้

จริงเสมอหรือที่ ...

ผู้เขียนมิได้หมายความว่าสิ่งที่เอ่ยมาไม่ควรทำ และแน่นอนว่าใช้ได้ผลกับคนหลายกลุ่ม หากแต่อาจมีวิธีอื่นอีกมากมายแม้แต่วิธีที่ตรงกันข้ามที่ช่วยให้ผู้คนเรียนรู้ด้านในของตัวเราได้ ... หรือไม่ ลองนึกถึงประวัติศาสตร์หลายพันปีที่คนพัฒนากันมาดู เขามีวิธีอะไรกันบ้าง การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญมิใช่เพิ่งเกิด ... หรือไม่

เป็นต้นว่าการเทศนาของพระพุทธเจ้าในหลายๆ ครั้ง ภาพสะท้อนจากคัมภีร์คือภาพของครูที่นั่งพูดให้กับผู้เรียนเป็นร้อยเป็นพันคน แทบจะเป็นการสื่อสารทางเดียวหากไม่มีการปุจฉา ผู้เรียนนั่งฟังด้วยใจอยู่กับที่ ไม่มีการขยับเขยื้อนย้ายร่างกายหรือไปนั่งล้อมวงใดๆ จนกว่าจะจบการเทศนา

หรือการเรียนรู้แบบอาจารย์เซ็น ที่ให้ศิษย์เดินตามครูไปไหนต่อไหน พอประสบกับเหตุการณ์สด จึงปล่อยคำถามหรือประโยคสั้นๆ ที่แทงตรงประเด็นเพียงประโยคเดียว ช่วยพลิกให้คนเปลี่ยนแปลงชีวิตอย่างถาวร

หรือวิถีปฏิบัติของหลายนิกาย ที่ผู้ฝึกต้อง “เข้าเงียบ” อยู่คนเดียว ตัดการปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกเป็นเวลานาน พร้อมกับฝึกปฏิบัติตามวิถีของตนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในแต่ละขั้นตอน

หรือการพัฒนาจิตใจด้วยการช่วยเหลือผู้อื่นแบบฉือจี้ ที่อาสาสมัครผู้มีจิตอาสาร่วมแรงร่วมใจกันไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ ทำความสะอาดผู้ป่วย เก็บแยกขยะ ให้บริการผู้คนในโรงพยาบาล ...

ฯลฯ ... หลากหลายวิธีและวิถีแห่งการฝึกตนสู่ผลทางจิตวิญญาณ

อย่างที่ชาวจิตตปัญญาทราบกันดีอยู่แล้วว่ามุมมองต่อโลก (worldview) หรือกรอบความคิด (paradigm) มีผลต่อความคิดความเชื่อของเราแต่ละคน จนอาจทำให้เราเผลอไปตัดสินว่าผู้อื่นที่มิได้อยู่ในกรอบเดียวกับเราว่า “ไม่ใช่” ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นจริงกับแม้แต่ในเรื่อง “จิตตปัญญา” เอง ทันทีที่เรารู้ทันและสำรวจมุมมองต่อโลกของเราชัดเจน การใช้กรอบความคิดเหล่านั้นน่าจะเป็นไปอย่าง “เท่าทัน” มิได้ใช้ไปอย่างหลงลืมหรือเผลอตัว

จากเรื่องมุมมองสู่พฤติกรรมของเราแต่ละคน การฝึกปรือตนไปพร้อมกับการเดินทางชักชวนจัดกระบวนการให้ผู้คนเป็นเรื่องท้าทาย ... พวกเราทำอย่างที่ชักชวนคนอื่นกันได้ ... หรือไม่ แค่ไหน อย่างไร

เราชวนให้ผู้คนรักและเมตตาต่อกัน ... เรารักและเมตตากันเองหรือไม่

เราชวนให้ผู้คนอภัยต่อกัน ... เราให้อภัยกันเองแค่ไหน

เราชวนให้ผู้คนใช้ชีวิตสมดุล หัว-กาย-ใจ ... เราสมดุลตัวเองได้เพียงใด

เราชวนให้ผู้คนย้อนดูตัวเอง เข้าใจตระหนักรู้ตัวเอง ... เราดูหรือไม่ บ่อยแค่ไหน

เราชวนให้ผู้คนคุยกันด้วยความสุนทรียะ ฟังกันมากขึ้น ... เราทำระหว่างกันด้วยหรือไม่

เราชวนให้ผู้คนฟังคนโดยไม่ตัดสิน ... เราตัดสินคนเร็วไปบ้างหรือไม่

เราชวนให้ผู้คนเข้าใจเบื้องหลังกรอบความคิดหรือมุมมองต่อโลกที่บิดเบือนข้อเท็จจริงที่ได้รับ ... เรารู้ทันหรือไม่

เราชวนให้ผู้คนลดอัตตาตัวตน ... เรายังมีอยู่เพียงใด

เราชวนให้ผู้คน ...

...

ยังมีคำถามอีกมากมายรอชาวจิตตปัญญาค้นหา ...

วิถีแห่งจิตตปัญญานี้คงมีทั้งความงดงามและขวากหนาม หากแต่การเรียนรู้และพัฒนาตนไปพร้อมกับการส่งผ่านชักชวนเพื่อนร่วมทาง เป็นเป้าหมายอยู่ในกระบวนการ หาใช่เป็นเพียงหนทางไปสู่เป้าหมายใดเท่านั้น ... หรือไม่

ระหว่างการเดินทางของพวกเราผู้สนใจเรื่องภายใน หาใช่ว่าผู้อื่นที่มิได้เรียกตนว่าจิตตปัญญา มิได้เดินอยู่ในหนทางเดียวกับเรา ... ใช่หรือไม่ หาใช่ว่าผู้อื่นที่มิได้เรียกตนว่าจิตตปัญญา มิได้มีความรู้เรื่องการพัฒนาจิตใจ ... ใช่หรือไม่ ใครต่อใครก็เป็นครูแก่เราได้ ... ใช่หรือไม่

ความคิดสร้างสรรค์ของชาวจิตตปัญญา ที่ทำให้เรื่องพัฒนาจิตใจจิตวิญญาณเป็นขนมหวานสำหรับคนทั่วไปเป็นเรื่องน่าชื่นชม หากเส้นเขตแดนของความแหวกแนวยังมีอยู่ที่ศีลหรือการประพฤติที่ไม่ผิดปกติสุข คือไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน...ใช่หรือไม่

เรื่องราว คำถามมากมาย ซึ่งรอการค้นหา ค้นพบ ด้วยตัวเราเอง เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของทุกคน

เราทำได้อย่างที่ชักชวนเพียงใด ... จิตตปัญญา



โดย กิติยา โสภณพนิช
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๒

ในรอบปีสองปีที่ผ่านมา คุณเคยได้ปลูกต้นไม้ (เพื่อลดโลกร้อน) ไปบ้างหรือยัง

ถ้าเคย คุณจำได้หรือไม่ว่า ปลูกต้นอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ตอนนี้ต้นไม้เหล่านั้นยังมีชีวิตรอดปลอดภัยดีอยู่หรือไม่ และมันกำลังช่วยลดโลกร้อนอยู่จริงหรือ

ผู้เขียนเป็นคนตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่จับพลัดจับผลูมาทำงานในองค์กรที่ทำหน้าที่อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้โดยตรง หน้าที่ของผู้เขียนคือ หาวิธีการสร้างสรรค์ที่จะพา “คน” กับ “เงิน” มาเจอกันเพื่อให้เกิดพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นในประเทศไทย

ผู้เขียนเข้ามาทำงานกับองค์กรนี้ได้ประมาณสองปี ซึ่งถือเป็นช่วงเดียวกันกับที่กระแสโลกร้อนถูกโหมกระหน่ำไปทั่วทุกมุมเมือง มีผู้คนจำนวนไม่น้อยติดต่อเข้ามาขอร่วมกิจกรรมปลูกป่ากับเรา ใครต่อใคร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ทหาร ตำรวจ แพทย์ พยาบาล หรือ นักเรียน ต่างพากันมาช่วยลดโลกร้อนด้วยการปลูกต้นไม้ การปลูกต้นไม้กลายเป็นประสบการณ์เพื่อสังคมยอดฮิต ติดอันดับท็อปเท็น แต่เชื่อหรือไม่ว่า โดยส่วนตัวแล้วเท่าที่จำได้ ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนปลูกต้นไม้ด้วยมือของตัวเองจริงๆ ไปเพียงประมาณ 2 ต้น ซึ่งผู้เขียนก็จำไม่ได้แล้วว่าเป็นต้นอะไร อยู่ที่ไหน และยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

เวลาเราเล่าให้ใครต่อใครฟังถึงงานที่ทำ เราจะบอกเสมอว่า เราปลูกป่าอยู่ที่นู่น ... ต่างจังหวัดไกลๆ ที่ไหนสักแห่ง เราทำให้ชาวบ้านเจ้าของพื้นที่หวนกลับมารักและดูแลบ้านเกิดของเขาได้ ทำให้เขามีกินมีใช้จากการปลูกป่า และที่สำคัญที่สุด เราทำให้เขาเห็นถึงคุณค่าของป่าไม้ เราได้ปลูกต้นไม้ลงบนผืนดินไปพร้อมๆ กับการปลูกต้นไม้ลงในใจของชาวบ้านเหล่านั้น

แต่ผู้เขียนเองไม่อาจพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า ได้ปลูกต้นไม้ลงในใจของตัวเองสำเร็จแล้ว

เพราะดูจากการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเอง ทั้งในเวลางานและนอกเวลางาน ผู้เขียนใช้กระดาษไม่ต่ำกว่า 5 รีมต่อเดือน เสียบปลั๊กคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้ตลอดคืน ยังขับรถไปทำงาน ใช้น้ำมันเบนซิน 95 นอนเปิดแอร์ทั้งคืน เดินซื้อของตามห้างสรรพสินค้า ใช้ถุงพลาสติก กินข้าวจากกล่องโฟมบ้างเป็นบางครั้ง บริโภคไฟฟ้า น้ำ และทรัพยากรต่างๆ นานา อย่างไม่ค่อยต้องคิดหน้าคิดหลัง และส่วนใหญ่ก็ยังคงนำขยะ ทั้งที่ย่อยสลายได้และย่อยสลายไม่ได้อีกเป็นจำนวนหลายตันต่อเดือน ยัดใส่ลงถุงดำรวมกันแล้วนำส่ง กทม.

แม้เรารู้ว่ากระดาษมาจากต้นไม้ ครูเคยสอนว่าป่าไม้ทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล กทม. บอกให้เราแยกขยะเปียก ขยะแห้ง และขยะอันตรายก่อนเอามาวางไว้หน้าบ้าน แต่เราไม่เข้า-ใจ เข้าไม่ถึง เราจึงยังคงใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างไม่รู้คุณค่า เหมือนที่เด็กยุคใหม่เข้าใจว่า น้ำมาจากก๊อก เงาะมาจากตู้เย็น ชีวิตคนในปัจจุบันดำเนินไปอย่างแยกส่วน ทำให้เรามองไม่เห็นโยงใยความเชื่อมโยงของชีวิตแต่ละชีวิต กิจกรรมการปลูกต้นไม้จึงกลายเป็นกิจกรรมตัดตอนที่เหลือแต่การปลูก ไอ้ที่มาก่อนหรือหลังการปลูกไม่อยู่ในขอบข่ายที่เราจำเป็นต้องรับรู้ หรือสนใจ จึงไม่น่าแปลกใจที่แม้เราจะรณรงค์เรื่องการปลูกต้นไม้ลดโลกร้อนมากแค่ไหน แม้จะมีคนเมืองเดินทางไปปลูกป่ามากแค่ไหน จำนวนต้นไม้มันก็ยังไม่เพิ่มขึ้นให้เราชื่นใจสักที ไม่ต้องพูดถึงจิตสำนึกที่เราหวังว่าคนเหล่านี้จะได้ติดตัวกลับไปที่บ้านด้วย

หรือเราต้องกลับไปใช้ชีวิตอย่างในอดีตรุ่นคุณตาคุณยายยังเด็ก ถึงจะรู้ซึ้งถึงคุณค่าของสรรพสิ่งรอบตัว

หรือเราต้องรอให้มีอีกสัก 10 สึนามิ เราถึงจะรู้ซึ้งถึงคำว่าอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

จะเปลี่ยนมุมมอง ฝืนความเคยชินเดิมๆ และฝึกพฤติกรรมใหม่ๆ ให้กับตัวเองได้อย่างไร กลายเป็นคำถามใหญ่ โดยเฉพาะสำหรับคนในยุคนี้อย่างผู้เขียน ที่ยังคงติดหนึบอยู่กับความสะดวกสบายอย่างไม่รู้ตัว และโดนกระตุ้นเร้าจากสื่อต่างๆ ที่ล้วนแต่โหมบอกให้เราบริโภคมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ท่าน ว. วชิรเมธีได้พูดไว้ชัดเจนในหนังโฆษณาทางโทรทัศน์ชุดหนึ่งว่า หากเราต้องการจะเปลี่ยนแปลงประเทศ เราต้องกลับมาถามตัวเองว่าแล้วเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเราได้บ้าง

ผู้เขียนขอถามต่อว่า แล้วอะไรจะเป็นแรงผลักดันให้เราอยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง

ถามคนเป็นแม่อาจตอบว่าลูก ถามนักธุรกิจอาจตอบว่าผลกำไร ถามคนเป็นมะเร็งอาจตอบว่าความตาย ถามคนที่ปฏิบัติภาวนาอาจตอบว่าศรัทธา

ศรัทธาในพุทธศาสนาหมายถึง ความเชื่อที่อยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล เป็นความเชื่อที่มาจากการวิเคราะห์ด้วยปัญญา

โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่า ศรัทธาที่ถือเป็นรากฐานสำคัญของการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง (ในทางที่ดี) ก็คือ ศรัทธาในความดีงามของมนุษย์ คือ ความเชื่อที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ มนุษย์สามารถฝึกและฝืนใจตนเองได้ เมื่อมีศรัทธาตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นแล้ว นั่นหมายถึงว่า เราย่อมศรัทธาในตนเองว่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ (เพราะเราเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง) ศรัทธาในเพื่อนมนุษย์ว่าเขาก็สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ และมีความเชื่อมั่นว่าการกระทำทุกอย่างของเรา ไม่ว่ามันจะเล็กน้อยแค่ไหนย่อมมีผลอันยิ่งใหญ่เสมอ

ล่าสุดผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นครั้งแรกในชีวิต บางท่านที่เคยไปห้วยขาแข้งมาแล้วอาจจะเห็นด้วยกับผู้เขียนว่า ห้วยขาแข้งมีพลังดีๆ ซ่อนอยู่ ส่วนหนึ่งคงเป็นความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่โอบล้อมเรา ห้วยขาแข้งถือได้ว่าเป็นผืนป่าที่สมบูรณ์ที่สุดผืนหนึ่งในโลก และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลกในปีพุทธศักราช 2534 วันนั้นผู้เขียนได้มีโอกาสเดินอยู่ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ได้พักสายตาไปกับสายน้ำที่ค่อยๆ ไหลรินไปตามลำห้วย ได้เห็นลูกสุนัขจิ้งจอกเหลียวหลังแลมองกลุ่มคนแปลกหน้าอย่างเราก่อนจะวิ่งตามแม่มันไป ได้ฟังเสียงชะนีร้องตอนเที่ยง ได้ชมโฉมนกหัวขวานเขียวตะโพกแดง

ได้หยุดตั้งคำถามและอยู่นิ่งๆ กับความงามของธรรมชาติ

แต่อีกส่วนหนึ่งผู้เขียนก็ขอสรุปเอาเองว่ามันน่าจะเป็นพลังจากแรงศรัทธาในความดีงามที่คุณสืบ นาคะเสถียรได้จุดประกายเอาไว้ และถูกสานต่อเรื่อยมาโดยคนรุ่นหลังที่ก้าวเดินตามแนวทางของคุณสืบ

วันนั้นผู้เขียนค้นพบความจริงว่า ธรรมชาติไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล แต่อยู่ใกล้เสียจนบางครั้งเรามองไม่เห็น

วันนี้ผู้เขียนนั่งอยู่ในวงประชุมสรุปกิจกรรมค่ายเยาวชนที่จะจัดขึ้นช่วงสิ้นเดือน เสียงก่อสร้างคอนโดขนาดใหญ่ดังอยู่ด้านหลัง ห้วยขาแข้งกลายเป็นสถานที่ห่างไกลจนเหมือนไม่มีอยู่ มีคนตั้งคำถามขึ้นมาว่า เราจะทำอย่างไรให้เยาวชนรู้สึกผูกพันกับต้นไม้ที่พวกเขาจะได้ปลูก รู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของมัน และรู้สึกอยากที่จะกลับไปดูแลเยี่ยมเยียนมัน ผู้เขียนแอบคิดกลับไปถึงห้วยขาแข้ง และพลังดีๆ ที่ธรรมชาติได้ส่งให้เรา คำถามมันน่าจะอยู่ที่ว่า แล้วเราจะทำอย่างไรให้เยาวชนเหล่านี้เกิดศรัทธาในตัวเองว่าเขาสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือเราอาจจะถามลึกไปอีกว่า แล้วเราเองได้ปลูกต้นศรัทธาให้หยั่งรากลึกลงในใจของเราหรือยัง

ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะตอบคำถามนี้อย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือ ไปจัดค่ายคราวนี้จะไม่พลาดกิจกรรมปลูกต้นไม้ คราวนี้จะไม่สักแต่ว่าปลูกให้เสร็จ แต่จะปล่อยให้มือได้สัมผัสดินชื้นๆ ให้ใจได้ปล่อยวางจากคำถามมากมาย ... สักครั้ง

มาปลูกต้นไม้กันไหมคะ

Newer Posts Older Posts Home