โดย สรยุทธ รัตนพจนารถ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๐

แดดสีโอโรส (สีส้มอมแดง หรือ orange + rose) ยามอาทิตย์ใกล้จะอัสดงส่องลอดที่กั้นจากไซต์งานก่อสร้างข้างบ้านเข้ามาในห้องทำงาน ปริมาณแสงในห้องที่เปลี่ยนไปเหมือนเพื่อนเข้ามาทักทาย ให้ได้รู้สึกตัวขึ้นมาว่าอยู่ในการทำงานด้วยความคิดเสียนาน แสงจับกับผ้าม่านสีครีมดูนุ่มเย็นตา พอหันไปมองก็ได้พักสายตาจากเครื่องคอมพิวเตอร์ตรงหน้า รู้สึกว่าเพื่อนสีสวยที่อยู่ไกลออกไปหนึ่งร้อยสี่สิบเก้าล้านกิโลเมตรยังทำตัวกลมโตน่ารักเหมือนอยากชวนให้ออกไปเดินเล่น ผมขยับตัวดูรู้สึกถึงความตึงในร่างกายจากการนั่งอยู่กับที่หลายชั่วโมง ให้เหตุผลกับตัวเองว่าน่าจะไปเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง นี่ก็วันหยุดสุดสัปดาห์นะ อากาศข้างนอกก็ดี ดูไม่ร้อน ไม่ชื้น แม้อาทิตย์ยังอยู่สูงใช้ได้

อันที่จริงผมมีเหตุผลให้กับการออกไปชื่นชมธรรมชาติเป็นพิเศษอีกข้อ ด้วยว่าวันที่เขียนต้นฉบับนี้เป็นวันพิเศษในรอบปี หลายคนโดยเฉพาะคนเมืองรุ่นใหม่คงไม่ค่อยคุ้นเคยกับวันนี้ อาจเพราะใช้นาฬิกาและปฏิทินบอกเวลากันจนเคย วันนี้เป็นวันที่จุดที่แสงอาทิตย์ตกกระทบทำมุมตั้งฉากกับโลกนั้นอยู่ไปทางซีกโลกใต้และอยู่ไกลจากเมืองไทยที่สุด อยู่เหนือเส้นทรอปิกออฟแคปริคอร์น (เส้นรุ้งที่ยี่สิบสามเศษหนึ่งส่วนสององศาใต้) พอดิบพอดี
ฝรั่งเรียก winter solstice (ตามรากศัพท์คือวันที่พระอาทิตย์หยุดเคลื่อน ซึ่งในฤดูหนาวหมายถึงการหยุดเคลื่อนจุดทำมุมตั้งฉากลงไปทางใต้) ส่วนคนไทยเรียกว่า “เหมายัน” (อ่านว่า เห-มา-ยัน จากรากศัพท์คือการมาถึงของหิมะหรือฤดูหนาว)

ใครที่สังเกตบ้างคงจะเห็นว่าพระอาทิตย์นั้นไม่ได้ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดีเป๊ะทุกวัน ในหน้าร้อนก็จะขึ้นและตกค่อนไปทางเหนือ ส่วนหน้าหนาวอย่างในตอนนี้ ก็จะค่อนไปทางใต้ ดังที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” ข้าวที่กำลังออกรวงโน้มตัวลงต่ำ เหมือนกับจะสอนอะไรบางอย่างให้กับคนที่ปลูกและคนที่กิน

สำหรับคนหลายล้านคนหรืออาจจะถึงพันล้านคน วันนี้ในรอบปีเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนผ่าน วันที่กลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวนานที่สุด

วันและช่วงนี้มีการเฉลิมฉลองกันทั่วโลก เช่น บรรดาคนจีนไม่ว่าในจีนแผ่นดินใหญ่หรือในไทยวันนี้ต้องฉลองเทศกาลไป่อี๊ ทำขนมบัวลอยหรืออี๊ ที่มีรากแปลว่า การกลับมาเจอกัน การรวมกันใหม่จนครบสมบูรณ์

รวมถึงเทศกาลคริสต์มาส แม้ว่าเป็นวันแห่งการระลึกถึงการมาประสูติของพระเยซู แต่ไม่ได้หมายถึงวันจริงๆในปฏิทิน อาศัยการกำหนดเอา คืนที่รัตติกาลอันเหน็บหนาวและยาวนานเหลือเกินเริ่มหดสั้นเข้า ความอบอุ่นและความสว่างได้ยาตรากลับเข้ามาในวันและคืนหนึ่งๆ มากขึ้น


แต่เอาละ ... ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ผมพาตนเองออกมาเดินเฉลิมฉลองวันนี้แล้วล่ะ ตั้งใจเดินไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้มีจุดหมายอะไร เดินไปยังที่สาธารณะใกล้ๆ บ้าน

วันหยุด ผู้คนดูแจ่มใสกว่าวันทำงาน ออกมาเล่นกีฬากันเยอะ ฟุตบอล บาสเกตบอล เทนนิส เด็กหนุ่มคนหนึ่งซ้อมเทควันโดด้วย

มีคนพาสุนัขมาเดิน มีทั้งพันธุ์โปรดของผม แจ็ครัสเซล เทอร์เรีย จอมซน และเจ้าชิสุ จอมเห่าเก่ง

เดินวนรอบสนามสองรอบ และสระน้ำใกล้เคียงกันอีกสองรอบ หยุดดูเต่าตัวน้อยที่ว่ายน้ำบ้างสลับกับหยุดดูผมบ้างอย่างไม่เร่งร้อนเป็นระยะๆ ผมเดินไปเรื่อยๆ มีลมหายใจเป็นเพื่อนสนิท ไม่ต้องเอื้อนเอ่ยก็บอกเล่าได้ ไม่ต้องตั้งใจฟังก็ได้ยิน

จู่ๆ ก็รู้สึกเหมือนคิดได้ เข้าใจ คลี่คลายกับความยุ่งเป็นลิงแก้แหของการเมือง ไม่ว่าผลเลือกตั้งวันรุ่งขึ้นจะออกมาตรงกับใจตนเองหรือไม่

รอจนพระอาทิตย์สีแดงเหมือนไข่เค็มไชยาเริ่มลับเหลี่ยมอาคารจึงค่อยเดินกลับบ้านอีกทางหนึ่ง ได้ยินเสียงหัวใจกระซิบบอกให้ไปตามทางที่ยังไม่เคยไปบ้าง

ขากลับเห็นเด็กสาวตัวนิดเดียวขี่จักรยานให้คุณพ่อร่างแข็งแรงแบบนักกีฬานั่งซ้อน คงพากันไปออกกำลังกาย ดูน่ารักน่าเอ็นดูจัง

ผ่านช่อดอกไม้หน้าตาคล้ายดอกเล็บมือนางสีแดงสด บนก้านดอกสีเขียวอ่อน แต่อยู่บนต้นที่เหี่ยวแห้งกรอบที่ดูราวกับไม่มีชีวิตแล้ว นัยว่าจะบ่งบอกความจริงอะไรบางอย่าง

เดินมาอีกนิดถึงซอยอารีย์สัมพันธ์ ตรงข้ามกรมประชาสัมพันธ์ เห็นป้ายโปสเตอร์ติดประกาศไกลๆ อยู่อีกฟากของถนน หน้าร้านอาหารปลาดิบ ดูเหมือนงานแสดงศิลปะ อะไรเกี่ยวกับความรักสักอย่างเพราะเห็นคำว่า The ... Side of Love ผมข้ามไปดู

อ้อ The Other Side of Love

ที่แท้เป็นงานชิ้นแรกของชุมชนไซเบอร์ ชื่อ Sawasdee Multiply Community (http://smcharity.multiply.com) พวกเขาลุกขึ้นมาทำสิ่งบางอย่างที่พอทำให้คนอื่นได้ เป็นงานแสดงศิลปะเล็กๆ สะท้อนจิตใจอันยิ่งใหญ่ของคนทำ จัดแสดง (และขาย) ภาพถ่ายเพื่อนำรายได้ไปช่วยผู้ติดเชื้อเอดส์ที่วัดพระบาทน้ำพุ อืมม์ ใครว่าการใช้เวลาว่างต้องเสียเงิน นี่ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งเพื่อน ได้ทั้งบุญ ดีจังที่แถวบ้านเดี๋ยวนี้มีงานแสดงศิลปะ ดูเป็นชุมชนและมีสุนทรีย์ขึ้นอีกโข

กลับ “ถึงบ้าน” แม้มีงานที่ทำยังไม่เสร็จ แต่ก็พอใจ วางใจ และภูมิใจกับที่ได้พยายามทำมาทั้งวัน

นึกย้อนไปวันหนึ่งวันนี้ เป็นวันที่เต็มอิ่ม ได้ตื่นแต่เช้าสวดมนต์ภาวนานิดหน่อย ใช้เวลาช้าๆ สบายๆ อยู่กับที่บ้านกับคุณแม่ พี่สาว น้องชาย มีอาหารง่ายๆ แต่สะอาด รสอร่อยจากฝีมือคุณแม่ที่พัฒนามาตลอดเกินกึ่งศตวรรษ บรรจงใส่ใจทุกขั้นตอน ตบท้ายด้วยขนมบัวลอยตามเทศกาล พร้อมเสียงหัวเราะเอิ๊กอ๊ากกัน

ได้เจียดเวลาให้กับงานที่มีความหมายต่อเรา ต่อสังคม และต่อโลกบ้าง

ได้อ่านต้นฉบับบทความจิตวิวัฒน์ฉบับ สคส. ปีใหม่ ๒๕๕๑ ของ อ.ประเวศ พูดถึงความสุขง่ายๆ แต่มีความหมายมากสี่ประการคือ ๑. นิพพานอยู่แค่ปลายจมูกตามสูตรอาจารย์พุทธทาส ๒. การเข้าถึงความจริงสูงสุด ๓. ความสุขจากงานทุกชนิดด้วยปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ และ ๔. ความสุขตามสูตร “ระพี - เสน่ห์ - ประเวศ”

ได้อ่านงานเขียน “ของดีที่ควรหวัง” ของหลวงพี่ไพศาล วิสาโล ที่ว่า “ถ้าเราหวัง ก็ควรหวังให้มีความเปลี่ยนแปลงที่ดีๆ ในจิตใจของเรา มีความต่างกันมากระหว่างการมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในชีวิต กับการมีความเปลี่ยนแปลงที่ดีๆ เกิดขึ้นในจิตใจ อย่างหลังนี้อาจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับชีวิตของเราก็ได้” มิน่าเล่าเราถึงรู้สึกวางจิตวางใจกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายขึ้น

แถมยังได้รับฟอร์เวิร์ดอีเมลจากเพื่อนกลุ่มสื่อสร้างสรรค์ Happy Media ที่เป็นเรื่องชายหนุ่มหญิงสาวคู่หนึ่ง ไปเจอยักษ์จินนี่ในกระป๋องเบียร์ที่มอบพรสามประการ โดยชายหนุ่มขอ “ให้เราพอใจกับสิ่งที่เรามีและมีความสุขกับมัน” แววตาของตัวละครยังอยู่ในใจอยู่เลย

ได้ออกไปเดินเล่นเพื่อเฉลิมฉลองไม่ใช่แต่วันนี้ วันเหมายัน แต่ยังมีวันเทศกาลขนมบัวลอย เทศกาลคริสต์มาส และเทศกาลอื่นๆ อีกนับสิบ

ตอนค่ำได้รับข้อความ SMS จากน้องว่า วันนี้รู้สึกดีที่มีสติได้เลือกใช้เวลาที่มีคุณภาพกับครอบครัว ไม่พยายามทำงานไปใช้เวลากับที่บ้านไป ซึ่งก็ไม่เคยเวิร์กสักที


ย้อนไปในหนึ่งขวบปีก็มีช่วงที่เรามีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง ทันตัวเองบ้าง ไม่ทันตัวเองบ้าง พยายามน้อยไปบ้าง พยายามมากเกินไปบ้าง แต่ก็ในเวลาสบายๆ ของวันธรรมดาปรกติๆ เช่นนี้แหละที่ได้รู้ว่าเราเองก็เรียนจากตนเองก็ได้

นึกขอบคุณคนหลายๆ กลุ่มที่ยังคงพยายามทำในส่วนที่ทำได้โดยไม่หมดหวัง ขอบคุณขา เท้า ร่างกายและใจที่พาตัวเรามาพบกับสิ่งดีๆ ขอบคุณตนเองที่เลือกเดินเส้นทางใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคยบ้าง ให้โอกาสมองโลกใบเก่าด้วยสายตาคู่ใหม่ จนกระทั่งได้มาพบสมบัติอยู่ใกล้ๆ ข้างหน้านี้เองเรื่อยมา ขอบคุณโลกใบน้อยในจักรวาลที่ยิ่งใหญ่ที่ให้โอกาสทุกคนได้เติบโตบนเส้นทางเรียนรู้

นึกถึงเนื้อเพลงจากหนัง รักแห่งสยาม “ดั่งในใจความบอกในกวี ว่าตราบใดที่มีรักย่อมมีหวัง”

ขอบคุณจริงๆ :-)



โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐

เมื่อท่านวิจารณ์เห็นใครผ่านมาในชีวิตเรา แล้วพบว่าเขาไม่ครบครันเท่าที่พี่อุดม (คติ) ของเราต้องการ คนๆ นั้นก็กวนใจเรา

หากเราเห็นใครไม่ขยันขันแข็งเท่าพี่ดันในตัวเรา เราก็รำคาญเขา

หากเราพบปะใครที่ชอบท้าทายกฎเกณฑ์ นักสร้างกฎในใจเราก็จะต่อว่ากล่าวหาว่าเขาเป็นพวกขบถ

หากใครเข้ามาในชีวิตของเรา แต่ไม่รู้จักสัมพันธ์กับผู้คนดังเช่นที่ตัวอ่อนหวานเอาใจของเราเรียกร้อง เราก็จะเห็นคนนั้นเป็นคนแข็งกระด้างเย็นชา และอาจจะยัดข้อหาเห็นแก่ตัวให้เขาคนนั้นในทันที

ในทางกลับกันผู้คนก็จะเห็นพี่ดันของเราเป็นพวกเผด็จการ เอาแต่สั่งงานไม่เอาใจใส่ใจคน หรืออาจจะเห็นพี่อุดม (คติ) ของเราจุกจิกจู้จี้เคร่งครัดและเคร่งเครียดไปเลย หรือเห็นตัวตนช่างเอาใจของเรานั้นช่างอ่อนแอเสียเหลือเกิน


ท่านวิจารณ์ (The Inner Critic) ที่ว่านี้ เป็นหนึ่งในตัวตนด้านในที่สำคัญ ที่ก่อตัวขึ้นมาในใจเราเพื่อคอยกำกับดูแลเตือนเราให้สนใจตัวตนด้านในอื่นๆ เช่น

พี่ดัน (The Pusher) ผู้คอยผลักดันให้เรา “ทำ” อะไรต่อมิอะไรเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย

คุณอุดม (คติ) (The Perfectionist) ผู้เรียกร้องให้เราทำทุกอย่างโดยไม่มีที่ติ

รวมทั้ง น้องเอาใจ (The Pleaser) ผู้คอยชวนให้เราดูแลเอาใจใส่คนอื่นยิ่งกว่าตัวเราเอง

ท่านวิจารณ์ทำงานใกล้ชิดกับ นักสร้างกฎ (The Rule Maker) หรือคุณ ระเบียบ ผู้คอยจัดตั้งระเบียบและข้อเรียกร้องของใครต่อใครที่เราต้องทำตามไว้ในใจเรา เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะรู้สึกกระอักกระอ่วนป่วนใจ เมื่อเราแหกกฎหรือหันหลังให้ระเบียบเหล่านั้นในใจเรา รวมทั้งเพิกเฉยกับเสียงของตัวตนด้านในต่างๆ เราจะเสียความรู้สึกอยู่ลึกๆ

ตัวตนด้านในเหล่านี้ ดร.ฮัล สโตน และ ดร.ซีดรา สโตน ผู้ก่อตั้งวิธีการสนทนาด้านใน (Voice Dialogue Work) ได้ชี้ให้เห็นว่าเป็น ตัวเอก (The Primary Self) ที่ก่อตัวอยู่ในใจเรา เสียงของตัวตนด้านในนี้เป็นเสียงที่คอยช่วยให้เราปรับตัวเข้ากับโลกและผู้แวดล้อมเราที่เราเติบโตมาตลอดชีวิต

แต่เพื่อให้ตัวเอกมีบทบาทมีเสียงในใจเรา เราจำต้องละทิ้งและลดเสียงของตัวตนที่ตรงกันข้ามกับตัวเอกลง รวมทั้งฝังเสียงตัวตนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามฝ่ายค้านที่ว่าลงไปในใจลึกๆ ตัวตนที่ถูกทิ้งไปนั้น มีชื่อว่า The Disowned Self

หากย้อนระลึกถึงวันที่ละทิ้งตัวตนขั้วตรงข้ามกับตัวเอกได้ อาจจะช่วยให้เราเข้าใจความกระอักกระอ่วนใจของเราได้ชัดขึ้น

เด็กชายเล็กๆ คนหนึ่งหาญกล้ายกมือตอบคำถามในห้องเรียน แต่กลับตอบผิด เขาถูกครูและเพื่อนๆ หัวเราะเยาะจนอับอาย ในวันนั้นตัวตนของเด็กชาย “กล้าหาญ” พ่ายแพ้ต่อเสียงด้านในของเด็กชาย “อายไว้ก่อน” ที่เคยส่งเสียงในใจเด็กคนนี้ว่า “อย่าซ่านักเลย”

เมื่อเด็กชาย “กล้าหาญ” ถูกประหารด้วยความอับอายที่ครูและเพื่อนยัดเยียดให้ ตัวตนของเด็กชายคนนี้ในวันนั้นจำต้องบอกลา หรือขับไล่ให้หนู “กล้าหาญ” ออกไป เหมือนผู้บัญชาการหน่วยรบที่กำลังล่าถอยต้องยอมสละทหารมือดีจำนวนหนึ่งคอยตรึงข้าศึกไว้เบื้องหลัง และรู้อยู่แก่ใจว่าทหารเหล่านี้จำต้องสละชีวิตเพื่อรักษาให้ทหารส่วนใหญ่รอด

และนั่นคืออาการที่หนู “กล้าหาญ” หลีกทางให้หนู “อายไว้ก่อน” กลายเป็นเสียงของตัวเอกในใจของเด็กชายคนนี้ ในวันนั้นพี่ดันของเขาดันหนู “กล้าหาญ” ออกมาแนวหน้า ถูกตา “อยู่(เฉย)” เอาชนะประหารด้วยเสียงหัวเราะของครูและเพื่อน จากวันนั้น ตาอยู่ (เฉยไว้ก่อน) ก็กลายเป็นตัวเอกของเด็กน้อยคนนี้ หนูกล้าหาญที่ถูกประหารกลายเป็นตัวตนที่ถูกทิ้งไป

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เราจำต้องลดละเลิกโละทิ้งความรู้สึกนึกคิดของเราบางส่วนไว้ เพื่อให้ชีวิตเราอยู่รอดปลอดภัย และส่วนที่เราละเลิกทิ้งโละไปก็ยังฝังใจอยู่ในใจเรา และรอวันที่จะวกกลับมา “เอาคืน”

เด็กชายคนที่เราเพิ่งกล่าวถึง เขามีชีวิตผ่านมาจนกระทั่งวันหนึ่ง เขาเจอเพื่อนหรือใครสักคนที่ “ซ่าและหาญกล้า” ออกนำอยู่แถวหน้า เด็กชายนี้ที่มีตา “อยู่เฉยๆ (ไว้ก่อน)” เป็นตัวเอกคงหมั่นไส้รำคาญเจ้าคนนั้น หรือไม่ก็สยบยอมยกให้เด็กคนนั้นเป็นวีรบุรุษที่ตัวเองไม่มีวันเทียบเท่า

ปฏิกิริยาที่ว่าทั้งสองขั้วเรียกว่า อาการพิพากษาทั้งทางบวกและทางลบ ทางลบกับเราก็รู้สึกว่าตนเหนือกว่าเขา ทางบวกก็รู้สึกว่าตนด้อยกว่าเขา แต่ทั้งสองทางนั้นยืนยันและเตือนให้ระลึกถึงวันนั้นในห้องเรียนต่อหน้าเพื่อนๆ และครู

หนู “กล้าหาญ” ที่ถูกเนรเทศไป ได้กลับมาเตือนความอับอายเจ็บปวด กลับมาทวงที่ทางคืน เมื่อเราเห็นนาย “กล้าหาญ” ในตัวคนอื่น เราจึงพิพากษาเขา แล้วเขาจึงสามารถกวนใจเราได้ ทำให้เรากระอักกระอ่วนป่วนใจ เพราะเราก็ยังไม่ให้อภัยตัวเองที่ไม่รู้จักที่จะกล้าได้อย่างที่เราเคยกล้ามาแล้วอีกสักที หรือให้อภัยตัวเองที่ทอดทิ้งพันธมิตรคนใกล้ชิดของเราไว้ในสนามรบ

และนี่หรือคือที่มาของคำกล่าวที่ว่า “เราทำกับตัวเองเช่นไร เราก็ได้ทำกับคนอื่นเช่นนั้น”

หากจะพูดให้เฉพาะเจาะจงลงไป “เราพิพากษาต่อว่าใครต่อใครอย่างไร เราก็พิพากษาตัวเราอย่างนั้น” หรือเปล่า?



โดย อดิศร จันทรสุข
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๐

ช่วงนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง และเป็นช่วงที่ผมรู้สึกสับสนมากที่สุดกับการเมืองไทยก็ว่าได้ เพราะไหนจะมีทั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ ชื่อแปลก ยาว จำยาก ทั้งป้ายหาเสียงที่ขุดกลยุทธพิสดารออกมาใช้กัน มิหนำซ้ำยังมีนักการเมืองบางคนชอบสร้างกระแสด้วยการเล่นปาหี่ต่อหน้าชุมชน บางคนยิ่งแล้วใหญ่ เพราะย้ายพรรคไปมาราวกับเล่นเก้าอี้ดนตรี จากคนที่เคยด่ากันถึงโคตรเหง้าบรรพบุรุษ ก็หันมาจับมือจูบปากกันราวกับไม่เคยมีเหตุบาดหมางใจมาก่อน (สะท้อนตัวอย่างการเป็นเมืองพุทธได้อย่างน่าอัศจรรย์ ในเรื่องความอนิจจัง และการให้อภัย!) ประชาชนตาฝ้าฟางอย่างผมก็เลยสับสน และพาลจะหมดหวังกับประชาธิปไตยในบ้านเราเอาง่ายๆ

เมื่อครุ่นคิดพินิจนึกได้สักระยะ ก็พอจะสรุปได้อย่างหนึ่งว่า สภาพการณ์ที่เป็นอยู่นี้ดูคล้ายกับจะเป็นผลพวงของไวรัสตัวร้ายซึ่งกระจายอยู่ในสภาพบรรยากาศที่เงินตราและอำนาจกลายเป็นสิ่งปรารถนาสูงสุดของมนุษย์ในเวลานี้ ไวรัสตัวที่ว่าดูเหมือนจะมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของจิตสำนึกที่ดูแลการรับรู้ผิดชอบชั่วดีให้สูญเสียไปชั่วคราว บางรายที่อาการหนักก็ถึงกับสูญสิ้นจิตสำนึกไปอย่างถาวร เป็นที่น่าอนาถใจแก่ผู้พบเห็นยิ่งนัก

จะว่าไปแล้ว เราอาจต้องย้อนกลับไปตั้งคำถามเพื่อวิพากษ์แหล่งบ่มเพาะมนุษย์ ตั้งแต่ครอบครัว ไปจนถึงสถาบันการศึกษาว่าทำอย่างไรจึงประสบกับความล้มเหลวซ้ำซ้อนในการผลิตสมาชิก (บัณฑิต) แต่ละรุ่นออกมาโดยปราศจากภูมิคุ้มกันทางจิตสำนึก อันถือได้ว่าเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลของประเทศที่มีมูลค่ามหาศาลเกินคณานับ

จิตสำนึกที่ว่านี้ ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของคุณภาพภายในที่มนุษย์สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ ร่วมกับองค์ประกอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความหมายอย่างลึกซึ้งต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิต การตระหนักและเคารพต่อความรู้สึกนึกคิดของตนเองและผู้อื่น รวมไปถึงการให้คุณค่าและศรัทธาต่อการดำรงอยู่ของชีวิต ซึ่งทั้งหมดนี้ สามารถพัฒนาผ่านกระบวนการอันหลากหลาย การสร้างคุณภาพภายในทั้งหมดนี้เรียกรวมๆ กันว่าเป็น “การพัฒนาทางจิตวิญญาณ” อันเป็นส่วนสำคัญของปรัชญาการศึกษาที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ

น่าเสียดายที่องค์ประกอบดังกล่าวถูกตัดขาดแยกส่วนออกจากระบบการศึกษาในบ้านเรา รวมทั้งในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก นับตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านของสังคมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ที่มาพร้อมกับการให้ความสำคัญต่อการแสวงหาความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมารองรับการเติบโตของสังคมวัตถุ และกลายไปเป็นเครื่องมือหรือกลไกส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจ ที่แผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วทุกหัวระแหง ไม่พ้นแม้แต่วงการการศึกษา

ดังนั้น ทุกวันนี้ เราจึงมีระบบการศึกษาที่ตั้งอยู่บนรากฐานของคุณภาพที่พิสูจน์ตรวจสอบได้ สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาต้องผันตัวเองมาเป็นสถาบันเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ โดยมีนโยบายที่ให้ความสำคัญต่อสัมฤทธิผล ความคุ้มทุน และความต้องการของตลาดแรงงานเป็นสำคัญ ดังเช่นที่ คริสติน่า เมอร์ฟี่ คณบดีวิทยาลัยศิลปศาสตร์ และศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยมาร์แชล มลรัฐเวสต์ เวอร์จิเนีย ได้กล่าวไว้ในบทความ The Academy, Spirituality, and the Search for Truth จากวารสาร New Directions for Teaching and Learning ฉบับที่ 104 ปี 2005 ว่า

“... สถาบันอุดมศึกษาได้เปลี่ยนจุดเน้นจากการสร้างชุมชนอุดมคติที่สมาชิกยึดถือคุณค่าบางอย่างร่วมกัน อันเป็นต้นทางนำไปสู่การพัฒนาปัญญา คุณธรรม และจิตวิญญาณ ให้กลายไปเป็นสถาบันธุรกิจที่ดำเนินการบนฐานของการค้ำจุนทุนนิยมและการป้อนคนสู่ตลาดแรงงานแทน”

ผลที่เกิดจากระบบธุรกิจดังกล่าว คือบัณฑิตฉบับกระป๋อง ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากโรงงานการศึกษาว่าสามารถปฏิบัติงานได้อย่างแม่นยำ และรอบรู้ในเรื่องที่จำเป็นต่อหน้าที่การงาน เมื่อใดที่ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตทางจริยธรรม พวกเขาเหล่านั้นก็จะปล่อยให้กระแสเงินตราและอำนาจเข้าครอบงำการตัดสินใจ ไร้ซึ่งความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ไม่สามารถแยกแยะระหว่างความดีและความชั่วได้ ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ พวกเขาบางคนได้กลายมาเป็นนักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดวิถีชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ?!?

ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ได้เคยปาฐกถาไว้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2540 เกี่ยวกับแนวคิดความเป็นบัณฑิตหรือมนุษย์ที่สมบูรณ์ว่า บุคคลผู้นั้นควรจะต้องมีคุณสมบัติในการเข้าถึงความจริงของสิ่งต่างๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติต่อชีวิตและสังคมได้อย่างถูกต้อง จนค้นพบหนทางพ้นทุกข์ ประสบความสุข และบรรลุอิสรภาพได้ในที่สุด อาจนับได้ว่าสอดคล้องกับแนวคิด liberal arts หรือศิลปศาสตร์ในสมัยโบราณทั้งในประเทศตะวันตกและตะวันออก ที่มุ่งเน้นการศึกษาเพื่อยกระดับจิตใจของผู้เรียนให้หลุดพ้นหรือเป็นอิสระจากอวิชชา ผ่านกระบวนการพัฒนาและขัดเกลาทางจิตวิญญาณในรูปแบบต่างๆ นั่นเอง

บางทีในช่วงเวลาที่การเมืองกำลังร้อนระอุอยู่เช่นนี้ อาจเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้หันกลับมาตั้งหลักทบทวนกันอย่างจริงจังเสียทีว่า ถ้าเราต้องการสร้างสังคมที่มนุษย์มีความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณ และมีจิตสำนึกที่มั่นคงพอต่อการประคับประคองประเทศชาติให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤติ ทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว และที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมาอีกหลายระลอก การต้องเลือกระหว่างการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ (รวมทั้งทักษะ) ท่วมหัว แต่เอาตัวไม่รอด กับบัณฑิตที่ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ บัณฑิตแบบไหนที่เป็นจะกลายเป็นขุมพลังของประเทศชาติอย่างแท้จริง?

การมองย้อนทบทวนรากเหง้าและภูมิปัญญาในยุคโบราณ คงไม่ได้เป็นไปเพื่อการเรียกร้องวันเวลาเก่าๆ ให้คืนย้อนมา แต่น่าจะเป็นการแสวงหาคุณค่าแท้อันเป็นสมบัติร่วมของมนุษยชาติที่จะพาให้พวกเราก้าวข้ามไปสู่อนาคตได้

เผื่อว่าบางที เราอาจจะมีนักการเมืองดีๆ ที่เป็นความหวังของสังคมในรุ่นต่อไปได้เสียที



โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๐

จินตนาการอันฝันเฟื่องของเรานี้ กำลังถูกระบายไปหลายหลากสี ตามแต่สิ่งที่เราต่างบ่มเพาะและซึมซับ ทั้งโดยรู้ตัวและที่ไม่ทันตั้งตัว ละครที่เราเฝ้าติดตามชม จบไปแล้วหลายเรื่องหลายตอน แต่ใยตัวเรายังคงเล่นบทเก่าเดิมๆ อยู่ทุกวี่วัน บอกตนเองซ้ำๆ ว่าเราเป็นได้แค่นี้ ทำได้เท่านี้ จนกลายเป็นบทสรุปบทบาทชีวิตที่เราหลงเข้าใจไปแล้วว่ามันคือทั้งชีวิตของเรา หรืออีกนัยหนึ่งนั้น เรากลายเป็นผู้ประพันธ์บทที่ขลาดกลัวเกินไปที่จะรังสรรค์บทใหม่ๆ ให้กับตนเอง

ปิดโทรทัศน์ซะ หากมันกำลังทำให้คุณสูญเสียเวลาอันมีค่าในการได้ใคร่ครวญตน หากมันกำลังทำให้คุณเพียงฝันเฟื่องและหลงใหลไปกับบทตอนเหล่านั้น แม้แต่นักแสดงที่คุณคลั่งไคล้ ก็อาจมีชีวิตด้านในที่ไม่แตกต่างจากคุณนัก คือ เล่นไปตามบทที่มี เป็นชีวิตที่ยังคงจมอยู่กับบทเก่าๆ อันซ้ำซาก จนมันกลายเป็นอัตโนมัติของความคุ้นชิน สิ่งต่างๆ ถูกจำกัดไว้ในแบบเดิม กลายเป็นกรอบ เป็นกำแพงของข้อจำกัดมากมายที่เราไม่กล้าก้าวออกไป

จริงอยู่ว่า มันอาจจะง่ายกว่าที่จะเลือกเล่นไปตามบทเดิมๆ ที่บอกป้อนกับตนเองตลอดชีวิตที่ผ่านมา เดินไปตามบทสรุปที่ทั้งเราและสังคมร่วมกันวางข้อกำหนด ลองใคร่ครวญดูหน่อยเป็นไรว่า หากเรายังติดยึดกับกรอบและบทบาทที่เป็นอยู่นี้ร่ำไป ชีวิตเราก็เหมือนติดกับ ขยับเขยื้อนเลื่อนไหลไม่ได้ มีเพียงวิธีคิดชุดเดิม มุมมองต่อโลกรอบตัวในแบบเดิมๆ ให้กับชีวิต หูของเราก็รับรู้เพียงเสียงของสังคมที่กดทับเสียงตัวตนภายในของเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งที่ปัญหาที่ดาหน้าเข้ามาให้เผชิญนั้นก็แตกต่างกันไป ในขณะที่เครื่องมือที่เรามีก็เป็นกรอบคิดเก่าที่จำกัดตัวเองไว้อย่างคับแคบ เสียงตัวตนภายในของเรานี้นับวันก็ยิ่งเบาบางลง เพราะหวาดหวั่นต่อความถูก-ผิด ที่มิได้เกิดจากสำนึกภายในอย่างแท้จริง นี่ยังไม่นับรวมพฤติกรรมอันบิดเบือนที่เรามีต่อโลกรอบตัว ในการสร้างภาพลักษณ์ให้เห็นว่า เราคือความถูกต้องดีงาม จนปิดการรับรู้ความจริงแท้ของตนเองจากโลก

ความถูก-ผิด ที่เราผูกยึดโยงตนกับกรอบคิดอันจำกัดที่มีนี้ ไม่เพียงสะท้อนภาพลักษณ์ที่บิดเบือนแก่ตัวเราเอง แต่ยังนำพาเราให้แลเห็นผู้อื่นเพียงภาพลักษณ์ภายนอก ซึ่งมิอาจบ่งชี้ความจริงแท้ของตัวตนอื่น เราจึงพบแต่ความคับข้องใจ ความไม่สมบูรณ์ในภาพลักษณ์ของผู้อื่นที่แตกต่างไปจากภาพลักษณ์ที่เป็นบทสรุปของชีวิตเรา เราวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิติเตียนผู้อื่น ราวกับภาพลักษณ์ที่เรามีนี้เป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้อง ดีงาม ทั้งที่แท้จริงแล้วเขาอาจแค่ยืนอยู่เหนือขีดจำกัดที่ตัวเรานี้ มิอาจเป็นได้ตามที่ควรจะเป็น เรามักอ้างถึงตัวตน และความเป็นธรรมชาติของตัวเรา แล้วเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า ตัวตนจริงๆ หรือธรรมชาติที่แท้จริงของตัวเรานี้เป็นอย่างไร? เพราะหากเรารู้จักตัวตนที่จริงแท้ของตนเองแล้ว เราก็น่าจะรับรู้ได้ว่า ... เราเกิดมาทำไม? การเกิดมาของเรานี้มีภารกิจใดต่อโลกบ้าง? อย่างน้อยก็คงไม่ใช่เพื่อมาติดอยู่กับข้อจำกัดมากมาย เวียนว่ายอยู่ในความสุขจอมปลอมที่เราเข้าไปนัวเนียจนตัวเราทุกข์อยู่ทุกวันนี้ ก็ช่างเวทนาเหลือเกิน ที่เราทำงานอย่างหนัก บ้างก็ทำอย่างบ้าคลั่ง เพียงเพื่อจะมีความสุขกับเครื่องอำนวยความสะดวกทั้งหลาย และการบันเทิงเริงใจในคืนวันศุกร์และเสาร์ แล้วก็พาตนมาคร่ำเคร่งอีกในสัปดาห์ต่อมา

ทุกวันนี้เราต่างได้รู้จักกระบวนการผลิตละครที่เราดูมากขึ้น เราชื่นชมผู้สร้างสรรค์เหล่านั้นราวกับพวกเขาเป็นบุคคลพิเศษ ที่เกิดมาเพื่อสิ่งเหล่านี้ โดยหลงลืมไปว่า ตัวเรานี้เองก็สามารถปั้นแต่งบทบาทใหม่ให้เกิดขึ้นในชีวิต

หากเราเอาเวลาที่เรามีอยู่น้อยนิดนี้มาใคร่ครวญตน เราอาจจะได้ยินเสียงอันแท้จริงของตัวเรา เสียงของความปรารถนาที่จะมีชีวิตที่สุขสงบโดยมิจำต้องเป็นนักบวชแต่อย่างใด เราอาจได้ยินเสียงความปรารถนาของลูก เสียงของความรักจากผู้เป็นที่รัก (แม้เขาเองก็ยังอยู่ในวังวนแห่งทุกข์) เราน่าจะพบว่าการมีชีวิตที่ดีงามนั้นเรียบง่ายกว่าที่เราพยายามอยู่นี้เหลือคณา

เมื่อดวงตาของเราเปิดกว้างพอ เราจะแลเห็นบทใหม่ ที่จะนำพาตัวเราสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้ และขอให้มอบบทบาทใหม่นั้นแก่ตน ผ่านการใคร่ครวญซ้ำๆ จนมันประทับอยู่ในหัวใจดวงน้อยของเรานี้ จนเราค่อยๆ เปลี่ยน แต่การเปลี่ยนแปลงของเรานี้ภายใต้ร่องชีวิตเดิมๆ ที่เราคุ้นชิน และเล่นกับมันจนเป็นอัตโนมัติ นอกจากเราจะต้องช้าลงแล้ว เราจำต้องสร้างผู้กำกับบทบาทใหม่ให้เกิดขึ้นที่ภายในจิตของเรา ให้ผู้กำกับช่วยดูแลวินัยในการปรับเปลี่ยนตนของเรานี้ ในขณะที่เราเองก็น้อมตนเพื่อจะโลดเต้นไปในบทตอนใหม่ของชีวิต ที่เราเป็นผู้ลิขิตบทบาทนี้แก่ตัวเราเอง เป็นความดีงามที่เราเลือกสรรแก่ตนเอง

ความอัศจรรย์ของชีวิต คือการที่เราได้เป็น ได้ฝัน ได้ลงไม้ลงมือกระทำด้วยตัวเราเอง ได้ร่วมภาคภูมิใจกับชีวิตของตนเอง การเฉลิมฉลองแห่งชีวิตเป็นสิ่งที่พึงกระทำยิ่ง และสามารถทำได้บ่อยครั้ง แม้แต่ยามที่เราอยู่เพียงลำพัง ทั้งนี้การเฉลิมฉลองอาจไม่ได้หมายรวมการเสพอันขาดสติใคร่ครวญ เราอาจจะหลุดจากบทที่เพียรกำกับทันทีทันใดที่เราหลุดจากจิตที่หล่อเลี้ยงสติแห่งการใคร่ครวญ

ครูละครท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า นักละครที่ดีต้องเป็นดั่งดินเหนียวที่พร้อมจะถูกสร้างสรรค์ปั้นแต่งได้ไปตามบท ความยืดหยุ่นของดินเหนียวที่ครูกล่าวถึงนี้ คงมิใช่เพียงกายเท่านั้น แต่อาจหมายรวมถึงจิตใจของเราด้วย ณ ขณะที่ฉันกำกับ ฉันก็พบว่าฉันเองต้องเรียนรู้ร่วมไปกับเด็กๆ ของฉัน เด็กน้อยทั้งหลายที่ดำรงอยู่ภายในของเรานี้

หยุดตัดบทชีวิตของตน ด้วยคำง่ายๆ ที่เราเคยยึดโยงไว้อย่างขาดการตื่นรู้นั่นเสีย และการเปลี่ยนแปลงชีวิตก็ยืนอยู่เหนือข้อจำกัดของวัยและเวลา ยิ่งเราแข็งขืนชีวิตกลับยิ่งยาก ก็ในเมื่อเราเดินตามบทเก่าๆ มาทั้งชีวิต แต่ไม่อาจข้ามผ่านโจทย์ที่มีเข้ามาอย่างหลากหลายในแต่ละวันได้ ทำไมจะไม่ลองสร้างบทใหม่ให้กับชีวิตของตนเองเล่า แล้วเราจะได้เฉลิมฉลองให้กับชีวิตของเราในทุกขณะที่เราดำเนินไป ตลอดจนความหมายใหม่ที่เรามีต่อโลกใบนี้ ที่เราเป็นผู้ค้นพบมันด้วยตัวของเราเอง ... ขอพลังและศรัทธานี้ดำรงอยู่กับหัวใจของเราทุกดวง



โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๐

“ใครสักคนพูดจาฟังดูแล้วไม่ถนอมน้ำใจคนเลย” อาจจะเป็นเพราะตัวเอกของเรายึดถือว่า คนเราต้องพูดจาระมัดระวัง “ใครสักคนดูไม่รับผิดชอบเอาซะเลย” อาจจะด้วยว่า ตัวเอกของเราบอกว่า คนเอาไหนต้องรู้จักเคร่งครัดกับหน้าที่ “ใครสักคนดีแต่สั่งไม่เคยรับฟัง” เป็นไปได้ว่าตัวเอกคอยกำชับเราว่า จะทำอะไรกับใครต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม “ใครสักคนเห็นแก่ตัวสุดๆ” ด้วยเสียงตัวเอกคอยบอกว่าคนเราต้องรู้จักเสียสละเอาใจใครต่อใคร ... ถ้าหากเราจะแขวนลอยห้อยคำถามว่า ใครผิดใครถูกไว้สักชั่วครู่ เราอาจจะได้ยินเสียงเบาๆ อีกเสียงว่า “ไม่ต้องระมัดระวังนักก็ได้” “ไม่ต้องเคร่งครัดเสมอๆ หรอก” “ไม่ต้องคอยใครต่อใครให้เห็นด้วยนัก” และ “ไม่ต้องเสียสละหรือเอาใจใครสักวันได้ไหม” ... เสียงของตัวเอกที่ยกมาคือเสียงของตัวตนด้านในที่ ดร.สโตนเรียกว่า Primary Self ตัวพระเอกหรือนางเอก ที่เราได้แสดงในชีวิตเราแล้วใครต่อใครก็ยอมรับและหรือช่วยเราให้รอดในโลกที่เราเติบโตผ่านมา

ส่วนเสียงเบาๆ ที่เราได้ยินไม่ค่อยชัดนัก มักมาจากตัวตนด้านในที่ถูกละทิ้งไป ที่เรียกว่า Disowned Self ซึ่งมีบุคลิกและพฤติกรรมเป็นขั้วตรงกันข้ามกับตัวเอกของเรา เพราะขณะที่ตัวเอกสามารถทำให้เราอยู่รอดในโลกได้ ตัวตนด้านในที่ตรงกันข้ามกับตัวเอกนั้นทำให้เราไม่ปลอดภัย ไม่เป็นที่ยอมรับ อับอาย และเจ็บปวด

ผู้คนที่กวนใจกวนโมโหเรา รวมทั้งคนที่เรารู้สึกขาดเขาไม่ได้นั้น ต่างก็มีตัวตนที่ถูกทิ้งของเราอยู่ในมือของเขา และอาการรำคาญกวนใจของเรานั้นเป็นกุญแจเปิดให้เราได้เห็นกระจกเงาบานใหญ่ที่ส่องให้เห็นตัวตนที่เราละทิ้งหลงลืม แต่ยังทรงพลังอยู่ในตัวเรา และสำแดงพลังนั้นออกมาในอาการกระอักกระอ่วนป่วนใจทุกข์ร้อนที่เรามีกับผู้คนรอบข้าง

หากเราลองแวะเข้าไปสำรวจดูความสัมพันธ์ระหว่าง ตัวเอกกับตัวที่ถูกทิ้งของเราไปว่าเขาอยู่กันอย่างไร ตัวตนด้านในของเรานั้น “ใคร” คุม “ใคร” ในใจเรา เราอาจจะเห็นพลังที่ซ่อนเร้นและที่มาของอาการรำคาญกวนใจของเราได้

หากเปรียบเทียบว่าบุคลิกทางจิตของเราเป็นละคร เราเป็นนักแสดงที่ต้องเล่นตามบทบาทที่เราได้รับ แต่ตัวเอกของเราบอกบทของเขาให้เราเล่น และหากใครจะบอกบทที่ต่างจากตัวเอกตัวนี้ เจ้าตัวเอกที่ว่าก็ไล่คนบอกบทที่ต่างออกไปนั้นลงจากเวที และคอยกำกับให้เราเล่นเฉพาะบทที่ตัวเอกต้องการ ตัวตนที่ถูกไล่ลงจากเวที ยังวนเวียนอยู่หลังฉากและอยู่ในหมู่คนดูคอยเอาคืน หรือหาทางหวนคืนเวที

ตัวตนด้านในเหล่านี้มิใช่เป็นเพียงอุปมาอุปไมย แต่ดำรงอยู่จริงโดยก่อร่างสร้างตัวเป็นพลังสะสมสะท้อนความรู้สึกนึกคิด อารมณ์รวมทั้งการแสดงออกต่างๆ ในเนื้อในตัวในความทรงจำของเรา และเขามีชีวิตของเขามีความต้องการของเขา มีอาการทุกข์สุขของเขาเป็นตัวตนอยู่ในจิตไร้สำนึกของเราอย่างแนบเนียน จนเรานึกว่าเราเป็นได้เท่าที่เขาเป็น เราต้องการได้ตามที่เขาต้องการ และทุกข์สุขไปได้แค่พอๆ กับเขา แล้วเราปล่อยให้ตัวตนด้านในเข้าควบคุมเราโดยที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัวและรู้ทัน ทั้งที่ตัวเรามีศักยภาพที่จะกำหนดชีวิตเราได้มากกว่าเขายิ่งนัก

เราจะมาพิจารณาตัวตนด้านในที่สำคัญๆ เหล่านี้ นายแพทย์สกล สิงหะ แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ตั้งชื่อตัวตนตัวเอกสำคัญๆ ของดร.สโตน เป็นภาษาไทยที่เข้าใจได้ง่าย ซึ่งขอยกมาเปิดตัวไว้ ณ ที่นี้ได้แก่

ตัวอ่อนหวานเอาใจ (The Pleaser) ตัวตนนี้มีมาตั้งแต่เราเกิด ก่อนที่เราจะรู้ภาษาพูดซะด้วยซ้ำ ตัวช่างเอาใจนี้รู้ดีว่าทำอย่างไร จึงจะทำให้ใครต่อใครยอมรับและพอใจในตัวเรา หากเป็นเด็กก็รู้ว่าจะร้องอย่างไรจึงจะได้นมกินได้เสียงหัวเราะและรอยยิ้มตอบสนอง เมื่อเติบโตขึ้นมาก็รู้ว่า ต้องรู้จักพูดจาพินอบพิเทาอย่างไร ผู้อาวุโสกว่าจะเอ็นดู รวมทั้งต้องเอาใจใครต่อใครอย่างไรให้เขารู้สึกดีดีกับตัวเรา ตัวตนนี้เชื้อเชิญให้เราประนีประนอมกับผู้คนจนบางครั้งเราแทบจะไม่มีที่ยืน

ตัวสร้างกฎ (The Rule Maker) ตัวนี้ ในการปรับตัวเข้ากับโลก ตัวสร้างกฎจะคอยกำชับเราให้ทำตามกฎและคำสั่งที่เราเคยได้รับ ไม่ฉี่รดที่นอน จนไปถึงไม่ซุกซน ไม่ด่าทอต่อว่า ไม่ดื้อ ไม่มาสาย ไม่เหม่อลอย ไม่โง่ และคำสั่งอื่นๆ ที่เราได้รับจากผู้คนผู้หวังดีต่างๆ นานาในชีวิต และตัวสร้างกฎจำได้แม่นยำว่า ผลลัพธ์ของการแหกกฎนั้นเป็นเช่นไร ดังนั้นเสียงใดที่คอยยุให้เราขบถลดบทบาทของกฎเกณฑ์ลง ตัวตนเจ้าของเสียงขบถจะถูกผลักให้ลงจากเวที

พี่ดัน (The Pusher) ชีวิตของเรามิได้คอยตั้งรับปรับตัวเท่านั้น แต่พี่ดันจะผลักดันให้เราทำตามข้อเรียกร้องของใครใคร ให้ทำตามมาตรฐานที่สังคมทั้งในครอบครัว ในโรงเรียนในที่ทำงานกำหนด และดันให้ทำจนกว่าเราจะสำเร็จ ไม่เสร็จไม่เลิก ถึงเลิกทั้งๆ ที่ไม่สำเร็จก็จะกินไม่ได้นอนไม่หลับกระสับกระส่าย

พี่อุดมคติ (The Perfectionist) เมื่อลงมือทำแล้วต้องทำให้สมบูรณ์แบบที่สุดจนหาที่ติไม่ได้ ทำแล้วทำไม่ดี ทำไปทำไม เสียงของพี่อุดม(คติ)จะดังก้องทำนองนี้ พี่อุดมต้องการความสมบูรณ์แบบ น้อยกว่านี้ได้อย่างไร เสียงของใครขวางทางให้ยืดหยุ่นประนีประนอม พี่อุดมคงจะเห็นว่า “ชุ่ย” แล้วไล่ไปอยู่หลังฉากหลังเวทีได้ทันที

ท่านวิจารณ์ (The Inner Critics) เป็นนายใหญ่ของหมู่เหล่าตัวเอกที่กล่าวมาแล้ว ท่านวิจารณ์มีหน้าที่คอยวิจารณ์กำกับและตักเตือนเราทั้งยามตื่นและเข้านอนว่า เราทำพอหรือยัง เราเอาใจใครต่อใครมากพอไหม เราทำได้ดีแค่ไหน เรามุ่งมั่นทำหรือยัง ถ้ายังไม่พอ ทำไมไม่พอ หรือพอแต่ยังไม่ดี หรือดีแต่ยังดีไม่พอ ท่านวิจารณ์ก็จะเตือนเราให้ระวังว่า ใครต่อใครจะตำหนิเราหรือเห็นเราไม่เอาไหน แต่เมื่อเราทำอะไรสำเร็จอย่างสมบูรณ์แม้นจะยากลำบากเพียงใด กลับได้ยินเสียงวิจารณ์พาดผ่านแว่วๆ มาว่า “ไม่ดีอย่างที่คิด” เป็นต้น เสียงของท่านวิจารณ์ประสานกับเสียงของตัวเอกทั้งหลายคือที่มาของอาการ “กวนใจ” ของเราทั้งสิ้น

เมื่อท่านวิจารณ์เห็นใครผ่านมาในชีวิตเราแล้วไม่ครบครันเท่าที่พี่อุดม(คติ)ของเราต้องการ คนๆ นั้นก็กวนใจเรา หากเราเห็นใครไม่ขยันขันแข็งเท่าพี่ดันในตัวเรา เราก็รำคาญเขา หากเราพบปะใครที่ชอบท้าทายกฎเกณฑ์ นักสร้างกฎในใจเราก็จะต่อว่ากล่าวหาเขาเป็นพวกขบถ หากใครเข้ามาในชีวิตของเรา แต่ไม่รู้จักสัมพันธ์กับผู้คน เช่นที่ตัวอ่อนหวานเอาใจเราเรียกร้อง เราก็จะเห็นคนนั้นเป็นคนแข็งกระด้างเย็นชา และอาจจะยัดข้อหาเห็นแก่ตัวให้เขาคนนั้นในทันที

ในทางกลับกันผู้คนอาจจะเห็นพี่ดันของเราเป็นพวกเผด็จการ เอาแต่สั่งงานไม่เอาใจใส่ใจผู้คน หรืออาจจะเห็นพี่อุดม(คติ)ของเราจุกจิกจู้จี้เคร่งครัดและเคร่งเครียดไปเลย และเห็นตัวตนช่างเอาใจของเรานั้นช่างอ่อนแอเสียเหลือเกิน

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เราปล่อยให้ตัวตนตัวเอกในตัวเรา “คุม” ความสัมพันธ์ของเราโดยพิพากษา “ใครใคร” อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว จนเรารู้สึกว่าเราแวดล้อมด้วยผู้คนที่ไม่พึงปรารถนา และน่าหงุดหงิดกวนใจไปเสียหมด อันที่จริงแล้วหากเราดูแลแยกแยะเสียงของตัวเอกออกจากเสียงของตัวเราแล้ว เราอาจจะพบกระบวนการที่ดูแล อาการกวนใจเหล่านี้ให้ไม่รุนแรงนัก และอาจจะพลิกผันอาการทุกข์โศกที่เรามีกับผู้คนเป็นหนทางเดินด้านในเข้าหาการตื่นรู้ก็ยังเป็นได้

กระบวนการเรียนรู้เสียงของตัวตนด้านใน คือที่มาของ Voice Dialogue Work (VDW) ที่ช่วยให้เราแยกแยะและเก็บเกี่ยวเอาความสามารถทางจิตของเราที่หล่นหายให้กลับมาอยู่ในมือเรา แถมช่วยให้โดนกวนใจน้อยลง ... มั้ง



โดย ธีระพล เต็มอุดม
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

เมื่อราว ๓ ปีก่อน สมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้มี “จิตวิวัฒน์ศึกษา” ขึ้นในการศึกษาระบบอุดมศึกษา ด้วยว่าการศึกษาในปัจจุบันนั้นมุ่งเน้นการสอนเนื้อหาวิชาให้แก่ผู้เรียนเป็นหลัก แต่ไม่ได้เป็นเงื่อนไขปัจจัยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกและยกระดับจิตใจ บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกไปสู่สังคมการทำงานจึงมีแต่ความรู้ทางเทคนิคในศาสตร์ต่างๆ ทว่าไม่อาจรู้จักและเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง รวมทั้งไม่เห็นความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวของตนกับสรรพสิ่ง

ต่อมาแนวคิดนี้จึงได้ก่อเป็นรูปธรรม โดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษาถูกริเริ่มจัดตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อไม่นานมานี้ และคำว่า “จิตตปัญญาศึกษา” เองก็เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น เพราะไม่เพียงแต่เป็นที่สนใจในประเทศเท่านั้น หากยังเป็นกระแสความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของวงการศึกษาทั่วโลก ในชื่อต่างๆ อาทิ Contemplative Education หรือ Holistic Education

กระนั้นก็ตาม ผู้ทำงานผลักดันขับเคลื่อนเรื่องนี้ยังคงได้รับคำถามอยู่เนืองๆ เป็นต้นว่า จิตตปัญญาศึกษาคืออะไร บ้างก็เข้าใจไปว่าเป็นการศึกษาว่าด้วยการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้แก่ผู้เรียน โดยมีรูปแบบกระบวนการเป็นการประยุกต์ปฏิบัติตามแนวพระพุทธศาสนา เช่น จัดให้นักศึกษาได้นั่งสมาธิ หรือส่งไปปฏิบัติธรรมยังวัดและสถานฝึกอบรมต่างๆ

ทว่า มีคำถามหนึ่งซึ่งผู้เขียนพบว่ายังติดค้างอยู่ในใจ และตระหนักเห็นว่ามีประเด็นสำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือคำถามว่า จิตตปัญญาศึกษานั้น “เรียนอะไร?” และต้องศึกษา “วิชาอะไร” บ้าง?

เพราะฉับพลันทันทีที่ได้ยินคำถามนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปฏิกิริยาในทันใดมักกลายเป็นเรื่องที่บอกเล่าออกมาผ่าน ความทรงจำ ของผู้เขียน ไม่ว่าจะคำตอบจะบอกว่า เป็นการเรียนที่ไม่ได้มุ่งวิชาอย่างดิ่งเดี่ยว แต่น้อมนำเอาวิชาเข้ามาสู่ใจ หรือจะให้คำตอบว่า เป็นการเรียนเพื่อให้เข้าใจตนเองด้วยการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลังจากได้เรียนรู้มากยิ่งขึ้น กลับพบว่าคำตอบทั้งหมดนี้แม้จะมีส่วนถูกต้อง แต่ไม่ถึงขั้นออกมาจากใจและกลั่นออกมาจากประสบการณ์ตรงของตนเองเลย คำถามจึงยังติดค้างไม่คลี่คลายแม้จะได้ให้คำตอบไปแล้ว

มองย้อนกลับไปในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาเองก็มีการจัดฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ มากมาย หรือว่าเป็นหลักสูตรเหล่านี้เองที่อาจเป็นคำตอบตรงใจ และให้คำอธิบายแก่ผู้ถามได้ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนพลักษณ์ (Enneagram) กับการเข้าใจตนเอง เรื่องสุนทรียสนทนา (Dialogue) หรือแม้แต่เรื่องการเจริญสติวิปัสสนา

ครั้นทบทวนถึงการอบรมเรื่องนพลักษณ์ทั้งสองครั้งที่ผ่านมา เราผู้ร่วมอบรมล้วนได้รับความรู้มากมายและความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับความคิด การมองโลกและพฤติกรรมที่แตกต่างกันของบุคคลทั้ง ๙ แบบ ผู้เข้าอบรมในครั้งแรกต่างได้ค้นพบรู้จักตัวเองมากขึ้นว่าเป็นคนลักษณ์ไหน มีสิ่งใดเป็นแรงขับดันภายใน และเราจะสามารถปรับปรุงพัฒนาศักยภาพไปให้พ้นข้อจำกัดตามลักษณ์ของตนเองได้อย่างไร

แต่ในระหว่างการอบรมครั้งที่สอง อาจเพราะด้วยความคุ้นเคยสนิทสนมกันทำให้บางคนที่ยังลังเลว่าตนเป็นคนลักษณ์อะไรตกเป็นฝ่ายถูกเพื่อนกระเซ้าเย้าแหย่ว่าน่าจะเป็นลักษณ์นั้นลักษณ์นี้ บ้างก็ปรารถนาดีเข้าไปช่วยคิดช่วยวิเคราะห์ความเป็นลักษณ์ของเพื่อน กระทั่งคุณ Joan Ryan และนพ.ธนา นิลชัยโกวิทย์ ผู้เป็นกระบวนกรต้องกล่าวย้ำว่า กระบวนการสำคัญในการเรียนรู้นพลักษณ์คือ การได้กลับมาอยู่กับตัวเอง กระบวนการนั่งทำสมาธิก่อนเริ่มกิจกรรมแต่ละช่วงจึงไม่ได้เป็นเพียงการทำให้สงบและผ่อนคลาย แต่ให้ผู้เรียนมีความนิ่งจนสังเกตเห็นความรู้สึก ความคิด คำพูดและการกระทำของตนเองได้ เมื่อสังเกตได้แล้วจึงจะรู้ และนำไปสู่ความเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริง

น่าประหลาดใจว่าสิ่งที่กระบวนกรนพลักษณ์ย้ำนี้กลับมีสาระสำคัญอย่างเดียวกันกับการฝึกอบรมเรื่องอื่นๆ หากเพียงใช้ชื่อเรียกชุดคำต่างออกไป ดังเช่นในการอบรมเรื่องวิธีคิดคิดกระบวนระบบ (Systems Thinking) โดย อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ นั้น แม้จะมีเนื้อหาทฤษฎีที่ต้องเรียนรู้มากมายให้เข้าใจถึงลักษณะของความเป็นระบบ ความแตกต่างของการมองเห็นปรากฏการณ์ ผ่านลงไปถึงแบบแผน และภาพจำลองความคิด แต่กิจกรรมสำคัญที่ขาดเสียมิได้คือ การสะท้อน (Reflection) การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในตนเอง

เฉกเช่นเดียวกับการดำเนินวงพูดคุยแบบสุนทรียสนทนา (Dialogue) อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู เคยแนะนำและให้คำอธิบายแก่ผู้เข้าร่วมหน้าใหม่ในเรื่องการรับฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) และมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพราะคุณภาพของการสนทนาไม่อาจจะก้าวข้ามสู่ระดับของการหลอมรวมและเพิ่มพูนความคิดใหม่ใดได้เลย หากผู้ร่วมสนทนามีความคาดหวัง หรือกำลังคาดเดาสิ่งที่ตนกำลังฟังอยู่ เสียงที่ได้ยินจะเป็นเพียงคำบรรยาย พร่ำบ่นซ้ำๆ ของคนอื่น ทั้งจะไม่ได้ยินเสียงของตัวเอง และสิ่งที่พูดก็ไม่ได้ออกมาจากความรู้สึกข้างในจริงๆ

เมื่อไม่กี่วันมานี้ Dr. Jennifer Garvey Berger เพิ่งได้บรรยายเรื่อง Towards a New Consciousness: Using Developmental Theory to Observe and Map Our Transformations ในวงจิตวิวัฒน์ เธอกล่าวว่าการเปลี่ยนจิตสำนึกไปสู่ระดับจิตที่สูงขึ้นจะเกิดได้ต่อเมื่อเราในฐานะผู้รู้ (Subject) รับรู้ถึงการมีอยู่ของสิ่งหนึ่ง (Object) ผู้เขียนรู้สึกละม้ายคล้ายกันเหลือเกินกับสิ่งที่คุณแม่อมรา สาขากร และ อ.สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา ได้แนะนำสั่งสอนให้หมั่นสังเกตดูตามดูจิตของเราเอง เพราะเมื่อเกิดรู้สึกไม่พอใจ เรามักรู้ว่าเราไม่พอใจด้วยสาเหตุใด อะไรทำให้เกิดความรู้สึกนี้ แต่ในเวลาเดียวกัน ตัวของเราเองนั้นกลายเป็นหนึ่งเดียวกับความไม่พอใจไปแล้ว เราไม่ได้รู้เนื้อรู้ตัวหรือรู้เท่าทันจิตของเราเลย

สิ่งที่คลี่คลายออกจากคำถามที่ติดค้างในใจว่าเราเรียนอะไร? จึงไม่ใช่คำตอบว่าได้เรียนศาสตร์เรื่องอะไรและมีความรู้ความเข้าใจเรื่องนั้นแค่ไหน แต่การเรียนแบบจิตตปัญญาของเราเป็นการเรียนที่ต้องเกิดขึ้นในตัวของเราเอง นำเอาความคิดความรู้สึกให้กลับมาอยู่กับตัวเอง หมั่นรับฟังและสะท้อนเสียงจากภายในนั้นออกมา

คำตอบต่อจิตตปัญญาศึกษาสำหรับผู้เขียนคงไม่ใช่แค่เรียนอะไร แต่เราเรียนให้เรารู้ตัวเราเอง



โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

ครั้งหนึ่งในชั้นเรียนของนิสิตปริญญาเอก ในสถานศึกษาแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่เนื้อหา เราได้เท้าความกันถึง ความเข้าใจคุณค่าของความเป็นมนุษย์อันเป็นแก่นของเนื้อหาวิชาในหมวดมนุษยศาสตร์ พวกเราได้แสดงความคิดเห็นกันว่า ศิลปะ เป็นหนึ่งในวิชาที่ช่วยเสริมสร้างและเปลี่ยนแปลง “จิตเล็ก” ให้เป็น “จิตใหญ่” ศิลปะมีพลัง มีคุณูปการ ที่ทำให้จิตที่ขุ่นมัว มีฝุ่นธุลี ได้เบาจางไป นับเป็นการเปลี่ยนแปลงคุณค่าภายใน ได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน มีผู้พูดถึงศิลปะบางชิ้นที่คนรู้สึกว่าไม่สร้างสรรค์ บางชิ้นคนมองว่าเป็นอนาจาร บางชิ้นถูกมองว่าเป็นศิลปะที่ลบหลู่ศาสนา สถานการณ์เช่นนี้จะยังสามารถพูดได้ว่า ศิลปะช่วยผดุงคุณค่าภายในอีกหรือไม่ จุดหมายของเรามิได้ต้องการจะตัดสินว่าคำตอบสุดท้ายคืออะไร หรือฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิด แต่เป็นโอกาสที่เหมาะสมให้ชั้นเรียนได้เห็นประเด็น “ความแตกต่างหลากหลาย” ของความคิดที่เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาที่เกิดขึ้นและพบเห็นอยู่เสมอ

งานศิลปะชิ้นเดียวกัน แต่ละคนอาจให้คุณค่าต่างกัน ตามแต่จุดยืนและมุมมองที่แตกต่างกัน เช่น จากมุมมองของศิลปินผู้นำเสนอภาพศิลปะนั้น ก็มีวัตถุประสงค์ในการสื่อสารเนื้อความใดเนื้อความหนึ่ง ผ่านงานศิลปะ ศิลปินผู้นั้นมีเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องการส่ง “message” อะไร ไปถึงใคร เช่นนี้เป็นต้น แรงบันดาลใจในการรังสรรค์สร้างภาพ หรืองานศิลปะนั้น ก็ขึ้นอยู่กับบริบท สถานการณ์ เหตุการณ์แวดล้อม อารมณ์ความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาที่ศิลปินนั้น ผลิตงานศิลปะชิ้นนั้นๆ ออกมา

ถ้าเราเข้าใจได้เช่นนี้ เราจะเห็นได้ว่า งานศิลปะนั้นเกิดขึ้นมาโดยมีศิลปินผู้ผลิตเป็นศูนย์กลาง ศิลปินเปรียบเสมือนผู้แต่งบทประพันธ์ เมื่อเราจะเข้าใจงานศิลปะของศิลปินนั้น เราจะต้องคำนึงถึงการตีความภาพศิลปะในทำนอง Author-centered interpretation

ขณะเดียวกัน ด้านผู้ชมงานศิลปะ ต่างฝ่ายต่างก็มีจุดยืน เหตุผล ความรู้ความเข้าใจ และบริบทที่ต่างๆ กันไปอีกด้วย เช่น ผู้ชมงานศิลปะที่มีความรู้ทางศิลปะก็จะเข้าใจและชื่นชมงานนั้นสอดคล้องกับจุดยืนของตน ผู้มีความรู้ทางศาสนาก็อาจมองงานชิ้นเดียวกัน “แตกต่าง” ไปจากผู้ไม่ผ่านการเรียนรู้ทางศาสนา ผู้สนใจทางการเมือง หรือ ผู้เป็นนักวิทยาศาสตร์ก็จะมองภาพศิลปะนั้น อยู่บนพื้นฐานของ “บริบท” ที่หล่อหลอมความเป็นบุคคลนั้น แม้กระทั่งความเป็น “เพศหญิง” “เพศชาย” ก็อาจทำให้มองงานนั้นแตกต่างออกไปได้เช่นกัน การมองงานศิลปะโดยมีตัวผู้ชมเป็นศูนย์กลาง (Reader-centered interpretation) ศิลปะภาพเดียวกันจึงได้รับการตีความต่างๆ กัน เป็นดีเป็นชั่ว เป็นสวย เป็นไม่สวย เป็นลบหลู่ เป็นศิลปะล้วนๆ ที่ไม่ลบหลู่ผู้ใดได้ตลอดเวลา

แล้วตัวงานศิลปะเองเล่า สามารถบอกกล่าวอะไรด้วยตัวของตัวเองได้หรือไม่ แต่เนื่องจากในชั้นเรียนนี้ ไม่ใช่ชั้นเรียนศิลปะนิพนธ์วิจารณ์ จึงไม่สามารถบอกกล่าวได้อย่างละเอียด เท่ากับผู้มีความรู้โดยตรง สิ่งที่พวกเราสามารถแสดงความคิดเห็นกันได้ก็คือ ในงานศิลปะ เส้น สี แสง ลวดลาย รูปทรง และรูปร่างต่างๆ ประดามี ล้วน “สื่อ” ความหมายในตัวเองทั้งสิ้น ให้อารมณ์ความรู้สึก จินตนาการไปต่างๆ กัน ถ้าเราตัดตัวผู้สร้างสรรค์ศิลปะ และตัวเราเองที่เป็นผู้มองภาพศิลปะ เราอาจได้รับ “ความหมาย” ที่ตัวงานศิลปะล้วนๆ ต้องการเล่าบอกให้ผู้ชมได้ทราบเป็นแน่ ถ้าเปรียบเทียบกับงานเขียน การตีความงานเขียน โดยให้งานเขียนที่ประกอบด้วยภาษา ไวยากรณ์ การใช้คำ การเรียงคำ เป็นตัวตั้ง เราก็จะสามารถเข้าใจ “เนื้อความ” จากข้อเขียนได้รูปแบบหนึ่ง (Text-centered interpretation) เช่นกัน

ในชั้นเรียนวันนั้น เราได้ข้อคิดเห็นตรงกันว่า ถ้าเรามองเหตุการณ์ใดๆ ด้วยใจเมตตา ไม่รีบตัดสินว่า ใครถูก ใครผิด แล้วลองเปลี่ยนมุมมอง ไปยืนอยู่ในตำแหน่งของทั้งผู้ผลิตผลงานศิลปะ ผู้ชมผลงาน และตัวงานศิลปะเองแล้ว เราอาจได้เห็นภาพรวมทั้งหมด ที่มีเนื้อหาละเอียดชัดเจน เราจะเข้าใจ “ทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างที่เป็น” มากขึ้น เราอาจไม่ต้องโต้เถียง แบ่งฝ่ายแพ้ชนะ ประท้วง เสียความรู้สึก หรือกลายเป็นคนละพวกกันไป “ความต่าง” ของจุดยืนเหล่านี้ อาจเป็นโอกาสให้เราได้เรียนรู้ เปิดโอกาส ให้เราได้ “สืบค้น” เรื่องราวได้มากขึ้น ขอเพียงมีใจเมตตา ให้โอกาสแต่ละฝ่าย ได้เล่าแจ้งแถลงเหตุผล และจุดยืนของตน โดยไม่ใช้อารมณ์ และตัดสินไว้ล่วงหน้า เราทั้งหลายจะได้ “ปัญญา” ใหม่ ได้ความสงบสุข “สันติภาพ” ของพวกเรา ก็จะปรากฏให้เห็น โดยไม่ต้องออกไปเรียกร้อง “สันติภาพ” จากภายนอกเลย

สำหรับชั้นเรียนในวันนั้น ดูเหมือนว่า เราได้ก้าวเข้าไปใช้หลักการของไดอะล็อก (Dialogue) ในการพูดถึงงานศิลปะ เพื่ออธิบายการพัฒนาคุณค่าด้านในโดยไม่รู้ตัว

ประเด็นความคิดเห็นที่ “ต่าง” หรือ “ตรงกันข้าม” กันนี้ เป็นสิ่งที่ต้องเน้นย้ำ และกล่าวซ้ำ เพื่อการนำไปใช้ในชีวิต และการทำงาน เพื่อเป็นข้อตระหนักเบื้องต้น ในการป้องกันความขัดแย้ง ดังเช่น กรณีการมองภาพศิลปะดังกล่าวข้างต้นที่มีวิธีเข้าใจได้ต่างๆ กัน เมื่อทุกฝ่ายยอมรับความต่าง ว่าเป็นเรื่องธรรมดา ย่อมใช้ความต่างเป็นช่องทางให้ได้ “ฟังกันอย่างลึกซึ้ง” ด้วยเมตตา เพื่อปัญญาและสันติ

อย่างไรก็ดี มีประเด็นสืบเนื่องว่า เมื่อมีความเห็นต่าง ต้องใช้การฟังอย่างลึกซึ้ง บุคคลที่ไม่สามารถฟังได้ ก็ไม่สามารถทำไดอะล็อกได้ ประเด็นนี้ก็เป็นเหตุการณ์จริงในชั้นเรียนอีกครั้งหนึ่ง ที่ผู้เรียนเป็นผู้พิการทางการได้ยิน การกล่าวถึงการฟังด้วยเมตตา จึงได้รับการอธิบายให้ครอบคลุม “ผู้นำไปใช้” คือ นักศึกษาผู้ไม่สามารถได้ยินด้วย กล่าวคือ การสื่อสารอาจมีหลายวิธี สิ่งสำคัญอยู่ที่ “ใจ” ที่มีความเมตตา ไม่รวมตัดสินผิดถูกเสียก่อน เป็นประเด็นสำคัญ ดังนั้น ผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน จึงสามารถสื่อสารจุดยืนของตนที่ต่างได้ด้วย ภาษามือที่มีใจ ประกอบด้วยความรักผู้อื่น ประเด็นความต่าง จะไม่มีผลที่จะพัฒนากลายเป็นความขัดแย้ง เห็น “ต่าง” ก็ได้ จึงไม่เป็นไร ด้วยประการฉะนี้



โดย พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

ลมหายใจที่ผ่านเข้าออกปลายจมูก ช่างเป็นความมหัศจรรย์แห่งการดำรงอยู่ของชีวิต

ท่านทราบหรือไม่ว่า การหายใจเป็นการทำงานของร่างกายเพียงแบบเดียว ที่สามารถสลับสับเปลี่ยนไปมา ระหว่างการควบคุมสั่งการอัตโนมัติของระบบประสาทส่วนกลาง กับการควบคุมสั่งการอย่างเต็มที่โดยจิตสำนึกของเรา

ในเวลานอนหลับไม่รู้สึกตัว ลมหายใจของเราก็ยังคงทำงานตามการสั่งการของระบบประสาทส่วนกลาง หรือในเวลาที่เราวุ่นวายอยู่กับการทำงานโดยไม่ได้ใส่ใจกับลมหายใจ มันก็ยังคงทำงานต่อไป แต่เมื่อใดก็ตามที่เราหันกลับมาควบคุมลมหายใจ ลมหายใจก็จะแปรเปลี่ยนไปตามที่ใจเราสั่งการในทันที หรือแม้ว่าในบางครั้งที่จิตใจของเราเกิดความกลัว ลมหายใจที่ควรจะยาวตามปกติ ก็จะถูกตัดทอนให้เหลือสั้นลง การแทรกแซงและควบคุมโดยจิตสำนึกของเรานี่เองคือต้นเหตุแห่งความมหัศจรรย์ที่ผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้

ภูมิปัญญาโบราณค้นพบความมหัศจรรย์ของลมหายใจมาแสนนาน และได้พัฒนาการฝึกฝนเกี่ยวกับลมหายใจต่างๆ เช่น อาณาปานสติ ปราณยามะ ทองเล็น โยคะ ไทเก๊ก ชี่กง เป็นต้น วันนี้ผมจะเชิญชวนท่านมาร่วมกันดูแลลมหายใจโดยใช้จิตสำนึกของเราในอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า "การหายใจด้วยรัก" (Heart Breath) ซึ่งเป็นการนำเอาภูมิปัญญาโบราณมาผนวกเข้ากับวิทยาการสมัยใหม่ในเรื่อง Biofeedback หรือการตรวจวัดการตอบสนองต่างๆ ของร่างกาย

ผมมีโอกาสรู้จักกับ "การหายใจด้วยรัก" ในโปรแกรมการฝึกฝนที่เรียกว่า Healing Rhythms (โปรดดูรายละเอียดที่ http://www.wilddivine.com) โปรแกรมดังกล่าวเป็นเครื่องมือฝึกสมาธิโดยใช้เทคโนโลยี Biofeedback ที่น่าสนใจมากที่สุดเครื่องหนึ่งในเวลานี้ ข้อค้นพบจากวิทยาการด้าน Biofeedback สามารถตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ และคำนวณอัตราการแปรผันของการเต้นของหัวใจ (Heart rate variability) และคำนวณค่าความสอดคล้องกันของหัวใจ (Heart coherence) แสดงให้เห็นว่า คนที่หายใจเข้าออกเร็วและไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ มักจะมีการเต้นหัวใจไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ เช่นกัน ในขณะที่เมื่อเขาได้ดูแลลมหายใจเข้าออกช้า เงียบ และนุ่มนวล ในจังหวะที่สม่ำเสมอ เครื่องจะตรวจพบว่า หัวใจเต้นเป็นระเบียบ และสอดคล้องกันเป็นจังหวะมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

โปรแกรมดังกล่าวจะแสดงภาพบนหน้าจอเป็นรูปปีกผีเสื้อที่กระพืออย่างช้าๆ เป็นจังหวะสม่ำเสมอกัน สลับกันทุกๆ ๕ วินาที เพื่อให้เรากำหนดลมหายใจเข้าและออกตามปีกผีเสื้อ การทำเช่นนี้จะช่วยให้หัวใจของเราปรับเข้าสู่สภาวะผ่อนคลาย และมีจังหวะการเต้นเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น ผมเข้าใจว่า นี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาเรียกชื่อการหายใจตามปีกผีเสื้อนี้ว่า Heart Breath
หลังจากที่ผมและภรรยาร่วมกันทดลองศึกษาเครื่องมือนี้ เราได้พากันสืบค้นไปกับเครื่อง Biofeedback เพิ่มเติมมากไปกว่าการหายใจช้า เงียบ และสม่ำเสมอ นั่นคือ การหายใจด้วยความรักความทะนุถนอม

เราพบว่า การเต้นของหัวใจปรับเข้าสู่ความสอดคล้องกันอย่างรวดเร็วและเป็นธรรมชาติ สิ่งนี้ทำให้ผมนึกขึ้นได้ถึงการปฏิบัติที่ผมเคยเรียนรู้มาจากหลวงปู่พุทธะอิสระเรื่อง "สมาธิพระโพธิสัตว์" หรือการฝึกเจริญสติกับลมหายใจตามแนวทางของท่านติช นัท ฮันห์ หรือการฝึกทองเล็นของทิเบตว่าด้วยการให้ความสุขและรับความทุกข์ผ่านลมหายใจ ในขณะที่ภรรยาผมฝึกมาในด้านการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา เธอใช้ท่าทีภายในของสภาวะการรับฟังและพูดคุยกับผู้รับบริการในการเดินลมหายใจ เราต่างก็พบเช่นเดียวกันว่า สามารถปรับการเต้นของหัวใจให้เข้าสู่ความสอดคล้องอย่างรวดเร็วได้

การร่วมกันสืบค้นเล็กๆ นี้ทำให้ผมประหลาดใจ พร้อมๆ กับแน่ใจว่า หนทางของการปฏิบัติไม่ได้ดำรงอยู่เพียงสายเดียวอย่างแน่นอน แต่ทั้งหมดต่างมีแก่นบางอย่างร่วมกัน และหนึ่งในแก่นที่ผมพบในครั้งนี้คือ “การหายใจด้วยรัก” เพียงแค่เราใส่ใจดูแลลมหายใจของเราด้วยความรัก ลมหายใจนั้นก็จะเข้าไปช่วยดูแลหัวใจของเราอีกทีหนึ่ง จากความรัก ... สู่ลมหายใจ จากลมหายใจ ... สู่หัวใจ ช่างเป็นความงามของการดูแลตามลำดับขั้นธรรมชาติ จากลำดับขั้นชั้นจิต สู่ลำดับขั้นชั้นปราณ และสู่ลำดับขั้นชั้นกาย

ผมขอฝากแบบฝึกหัดว่าด้วย "การหายใจด้วยรัก" ไว้สักเล็กน้อย แบบฝึกหัดนี้เป็นการน้อมนำเอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย มาเป็นกุศโลบายช่วยดูแลลมหายใจ เพื่อให้เราเดินลมหายใจตามอย่างเชื่องช้าและเป็นจังหวะสม่ำเสมอ

เริ่มต้นจาก นั่งหรือยืนตามแต่ถนัด ตั้งลำตัวให้ตรงโดยไม่ต้องออกแรงเกร็งหลัง ผ่อนคลายร่างกาย ยกมือทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะสูงพอประมาณ หันฝ่ามือออก หายใจออกพร้อมวาดแขนลงมาด้านข้างลำตัว แล้วโอบฝ่ามือเข้าสู่กลางหัวใจ จากนั้นจึงหายใจเข้าพร้อมวาดมือย้อนกลับไปจนถึงเหนือศีรษะ ดุจดั่งผีเสื้อที่กำลังกระพือปีกบินอย่างเชื่องช้า ให้ทุกๆ วินาทีของการเคลื่อนไหวมือและลมหายใจเต็มไปด้วยความรักความใส่ใจ หายใจออกจากใจกลางหน้าอก อันเป็นฐานที่ตั้งแห่งความรัก นำเอาความรักมอบให้แด่ตัวเราเอง คนอื่น และโลก หายใจเข้าน้อมเอาความรักของสรรพสัตว์ไหลเข้ามาสัมผัสถึงฐานใจ

การปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยให้ท่านเข้าเป็นไปหนึ่งเดียวกับความมหัศจรรย์ของลมหายใจ ความมหัศจรรย์ของความรัก และความมหัศจรรย์ของการดำรงอยู่ ณ ปัจจุบันขณะ

ผมขอเชิญชวนให้ท่านดูแลลมหายใจด้วยความรักที่มีอยู่แล้วภายในตัวท่าน หาเวลาในแต่ละวัน จะเป็นตอนไหนก็ได้ ดูแลลมหายใจเข้าออกอย่างใส่ใจ ด้วยความรัก และเนิ่นช้าสม่ำเสมอ อย่างน้อยหกถึงสิบนาที จำไว้นะครับว่า เมื่อท่านเริ่มต้นดูแลลมหายใจ ลมหายใจก็จะช่วยดูแลหัวใจให้กับท่าน

เมื่อถึงจุดหนึ่ง ท่านจะพบว่า ลมหายใจของเราก็สามารถเป็นกระจกสะท้อนจิตใจของเรา ให้เกิดปัญญาได้เข้ามาดูแลจิตใจต่อไปอีกเช่นกัน



โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

เราเคยได้ยินเสียงเหล่านี้ในใจเราไหม “คนอะไร พูดจาไม่ถนอมน้ำใจใครเลย” “คิดได้ไง (ว่ะ) ทำงานไม่รับผิดชอบซะเลย คนพรรค์นี้” “เนี่ยเหรอ จะให้สร้างสรรค์ เอาแต่สั่งๆ แล้วใครจะคิดอะไรได้” “ทำไมคน (เด็ก หรือผู้ใหญ่ก็ตาม) สมัยนี้ เห็น
แก่ตัวจริงๆ” และเสียงอื่นๆ ที่บ่นต่อว่า อาจจะก่นด่าผู้คนที่เราต้องพบปะเจอะเจอ

ในชีวิตประจำวันไม่ว่าเราจะเป็นใคร เป็นนักศึกษา คนทำงานอยู่บ้านหรือที่ทำงาน หรือแม้พักผ่อนหย่อนใจอยู่ในบ้าน เรามักพบประสบกับผู้คนที่จุดชนวนให้อารมณ์ของเราปะทุ นับแต่หงุดหงิดเล็กน้อย จนโมโหโกรธา หรือน้อยอกน้อยใจ จนเศร้าสร้อยซึมเซา ขัดอกขัดใจบ้าง จนถึงขั้นเกลียดชังไม่เผาผี

ครั้งแล้วครั้งเล่า ที่เราได้เจอพวกเขาผู้กวนใจเหล่านั้น เสียงอีกเสียงหนึ่งก็จะค่อยดังขึ้นในใจเรา “ทำมาย ทำไม คนดีดีอย่างเราถึงต้องเจอกับคน .....ๆ อย่างนั้น”

บ่อยครั้งที่เราได้ยินเสียงตอบว่า “คนเราก็มีทั้งดีและไม่ดีก็เป็นอย่างนี้แหละ”

“คนเราก็แตกต่าง ก็เท่านั้นเอง” “นึกว่าซวยไปแล้วกัน” “อยู่กันไม่ได้ก็แยกกันอยู่” “คนเรามันก็นิสัยและสัน……เป็นอย่างนี้ทำใจซะ ไปเปลี่ยนมันไม่ได้หรอก” แล้วเราก็พบว่าเสียงอธิบายต่างๆ ที่ฟังเผินๆ ดูสมเหตุสมผลน่าจะน้อมนำมาทำมาปฏิบัติ เผื่ออาการกระอักกระอ่วนป่วนใจจากอารมณ์ที่กำลังปะทุของเราจะทุเลาลงบ้าง ในบางครั้งฟังเสียงดังกล่าวแล้วทำตาม อารมณ์เราก็เพลาลง แต่บ่อยครั้งก็ยังพลุ่งพล่านเกินกว่าจะอยู่ได้เป็นปกติสุข และแม้นจะเบาลงก็ชั่วครู่ชั่วคราว เมื่อได้เจอหน้าคู่กรณีเดิมอาการเดิมก็กำเริบ เจอใหม่อีกคนแต่ทำอะไรคล้ายๆ กับคนเดิม อารมณ์ก็ปะทุจนเกือบปะทะ

“ทำใจซะ ไปเปลี่ยนเขาหรือเธอไม่ได้หรอก”

เสียงนี้เป็นเสียงแนะนำ หรือเสียงซ้ำเติมหนอ จะเปลี่ยนให้คู่กรณีเลิกกวนใจเลิกจุดชนวนในตัวเราก็เปลี่ยนไม่ได้ ครั้นจะ “ทำใจ” ก็ยังทำไม่ได้ แล้วถ้าจะทำใจต้องทำอย่างไร ก็คงต้องเป็นเราที่ทำใจเรา แล้วจะทำได้อย่างไร ในเมื่อใจเราก็รุ่มร้อน ขัดเคือง ปะทุราวกับภูเขาไฟอยู่เช่นนั้น

เมื่อคนเราเดินหน้าทำใจไม่ได้ จะเปลี่ยนแปลงกลับใจใครๆ ที่ปะทุใจเราก็ไม่ได้ อาการกระอักกระอ่วนป่วนใจ ขัดข้องหมองใจ เบื่อๆ เซ็งๆ ก็คลุกเคล้าอยู่ในตัวในเราเสมอๆ รู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้างก็ตาม

อาจารย์อมรา ตัณฑ์สมบุญเคยกล่าวไว้ทำนองว่า “คนที่เดินเข้ามาในชีวิตเราเปรียบเสมือนกระจกเงา ที่เขาส่องให้เห็นใจของเรา” แต่ส่วนใหญ่ไม่ทันที่จะส่องให้เห็นอะไร เราก็อาจกระโดดถีบหรือทุบกระจกแตกไปเสียก่อน และบ่อยครั้งกระจกเงาบานนั้นก็แตกยับเยินเกินซ่อมแซม และบานใหม่ก็เริ่มร้าวราน อาการปะทุนี้จะเป็นบทเรียนอะไรให้เรากับเราได้บ้าง เราสามารถหยิบฉวยเอาความสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นเครื่องนำทางให้เราได้เรียนรู้ที่จะ “ทำใจ”ได้อย่างไร

Drs. Hal และ Sidra Stone ได้ริเริ่มและก่อตั้งกระบวนการเรียนรู้ที่เรียกว่า Voice Dialogue Work (VDW) หรือการสนทนากับเสียงด้านใน หรือเรียกให้สั้นลงไปอีกว่า สนทนาด้านใน โดย J’aime ona Pangaia (เจมี่) ศิษย์คนสำคัญของทั้งสองได้เปรียบคนเราเอาไว้ว่า แต่ละคนเกิดมาพร้อมกับศักยภาพความสามารถทางจิตเหมือนไพ่ครบสำรับทั้งห้าสิบสองใบ

ในวัยเด็ก เราเรียนรู้ที่จะให้คนรอบข้างยอมรับและยกย่อง เพื่อจะเป็นเด็กดีน่ารักของพ่อแม่ เป็นเด็กเอาไหนของครูบาอาจารย์ เป็นเด็กเชื่อฟังของพระสงฆ์องค์เจ้า เป็นพลเมืองดีของชาติ และเป็นคนที่รู้จักเอาใจเพื่อน และเพื่อจะอยู่รอดปลอดภัยร่วมกับใครต่อใคร เราต้องทิ้งไพ่บางใบ ทิ้งศักยภาพบางอย่างของเราเพื่อให้อยู่และเข้ากับเขาเหล่านั้นให้ได้ แล้วตัวเราเองก็เติบโตด้วยศักยภาพด้วยไพ่บางใบเท่านั้นที่เหลืออยู่ในมือเรา และไพ่เหล่านั้นก็เป็นตัวตนกำเนิดเสียงด้านในของเรา คอยบอกเราว่า “เราต้องพูดจาดีดีกับใครต่อใคร” “เราต้องรู้จักรับผิดชอบ” “เราต้องเป็นตัวของเราเอง” “เราต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่”และต้องอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเสียงเหล่านี้เป็นเสียงที่มีประโยชน์ ทำให้เราประสบความสำเร็จไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งในชีวิต เป็นเสียงของพระเอกนางเอกในชีวิตเราที่ส่งเสริมให้เรามีวันนี้ที่ดี ดร. สโตนเรียกตัวเอกนี้ว่า Primary Self

แต่ในขณะที่เรายึดถือเสียงของตัวเอกเป็นเครื่องนำทาง เราก็ปฏิเสธโละทิ้งหรือหันหลังให้กับตัวตนหรือเสียงที่ตรงกันข้ามกับเสียงตัวเอกเหล่านี้ เมื่อเราเก็บไพ่อะไรก็ตามไว้ในมือ เราจะทิ้งไพ่ที่แตกต่างตรงกันข้ามไปเสมอๆ ไม่มีข้อยกเว้น ไพ่ที่ทิ้งไป ตัวตนที่เราปฏิเสธและเนรเทศไปจากชีวิตเราทั้งถาวรและชั่วคราว ดร. สโตนเรียกว่า Disowned Self และเหตุที่เราทิ้งเสียงของตัวตนเหล่านี้ไป เพราะเมื่อเราทำตามเสียงเหล่านี้แล้ว หรือมีประสบการณ์กับเสียงเหล่านี้แล้ว ทำให้เราอับอาย ไม่ปลอดภัย เจ็บใจรวมทั้งเจ็บตัว

ยิ่งไปกว่านั้น ปรากฏว่าเราไม่สามารถทิ้งตัวตนของเราไปได้โดยสิ้นเชิง เราอาจจะตัดแขนตัดขาแล้วงอกขึ้นใหม่ไม่ได้ แต่ตัวตนหรือไพ่ที่เราทิ้งไปนั้น ยังฝังอยู่ ยังทรงอิทธิพลอยู่ในตัวเรา เป็นพลังที่ถูกเก็บกัก กั้นไว้ เรารู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง โดยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว

และหากมาวันหนึ่ง เราจำต้องพบปะผู้คนที่เขาถือไพ่ใบที่เราทิ้งไป มีตัวตนของเขาที่ตรงกันข้ามกับตัวเอกเรา วันนั้นพลังที่ถูกเก็บกักกลับปะทุ ความทรงจำเดิมๆ ที่เคยประสบที่ทำให้เราเจ็บใจเจ็บตัวอับอายกลับฉายขึ้นมาในใจ ในจิตที่ไร้สำนึกอีกครั้ง ความขุ่นข้องหมองใจและอารมณ์ต่างๆ ที่เคยฝังไว้กลับมาเยือน ให้เราสะท้านสะเทือนใจ

เราฟังดูใครสักคนพูดจาไม่ถนอมน้ำใจคนเลย อาจจะเป็นเพราะตัวเอกของเรายึดถือว่า คนเราต้องพูดจาระมัดระวัง ใครสักคนดูไม่รับผิดชอบเอาซะเลย อาจจะด้วยว่า ตัวเอกของเราบอกว่า คนเอาไหนต้องรู้จักเคร่งครัดกับหน้าที่ “ใครสักคนดีแต่สั่งไม่เคยรับฟัง” เป็นไปได้ว่าตัวเอกคอยกำชับเราว่า จะทำอะไรกับใครต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม “ใครสักคนเห็นแก่ตัวสุดๆ” ด้วยเสียงตัวเอกคอยบอกว่า “คนเราต้องรู้จักเสียสละเอาใจใครต่อใคร”

และถ้าหากเราจะแขวนลอยห้อยคำถามว่า ใครผิดใครถูกไว้สักชั่วครู่ เราอาจจะได้ยินเสียงเบาๆ อีกเสียงว่า “ไม่ต้องระมัดระวังนักก็ได้ ... ไม่ต้องเคร่งครัดเสมอๆ หรอก” “ไม่ต้องคอยใครต่อใครให้เห็นด้วยนัก” และ “ไม่ต้องเสียสละหรือเอาใจใครสักวันได้ไหม”

เมื่อนั้นพื้นที่ใหม่ๆ ในความสัมพันธ์ โอกาสใหม่ๆ ในการเรียนรู้รวมทั้งศักยภาพที่เคยสูญหายไปของเรา อาจจะเริ่มปรากฏให้เราได้เห็น ได้สัมผัส และที่สำคัญได้ยินได้รับฟังจริงๆอีกครั้ง

และเป็นไปได้ไหมว่า เราอาจจะพอ “ทำใจ” ให้รอยยิ้มที่หายไปกับอารมณ์ที่ปะทุได้คืนกลับมา



โดย มิรา ชัยมหาวงศ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๐

ช่วงชีวิตประมาณ ๓-๔ เดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้ทำหน้าที่ ซึ่งในชีวิตไม่เคยคิดฝันว่าจะทำ คือการเป็น “ครู” ของเด็กวัยหัวเลี้ยวหัวต่อกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ที่ดูเหมือนจะจัดการได้ยากทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เพราะเขามีช่องทางการรับรู้และเรียนรู้ที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ ความแตกต่างนี้บางคนก็ระบุคำเรียกให้เขาว่าเป็น “เด็กพิเศษ”

เมื่อผู้เขียนแนะนำตัวเองว่าเป็นครูครั้งใด มักมีคนถามตามมาทันทีว่า “สอนอะไร” “สอนคนค่ะ” เป็นประโยคที่ผู้เขียนตอบไปโดยไม่มีเจตนาที่จะยียวนใดใด หากถ้าย้อนนึกไปถึงการสอนวิชา ภาพนั้นจะไม่ชัดเท่ากับกระบวนการปลดล็อค ๒ ประการ ประการแรกคือ ปลดล็อคเด็ก ด้วยกระบวนการต่างๆ ทั้งการจัดความสัมพันธ์แบบใหม่ การจัดกิจกรรมแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อปลุกกระตุ้นเตือนให้เด็กกลุ่มนี้ “รู้สึกตัว” ในข้อที่เขาอาจลืมไปนานแล้วว่า เขาเองก็มีศักดิ์ศรีเทียบเทียมมนุษย์คนหนึ่ง มีศักยภาพ มีแง่งามที่สามารถฝึกฝนและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

ประการที่สองคือ ปลดล็อคตัวเอง โดยย้อนกลับมาตั้งต้นที่ “การยอมรับและเชื่อมั่นด้วยหัวใจ” ว่าเด็กก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา ตัวเราจึงต้องหัดที่จะรับฟังและเรียนรู้จากเด็กแต่ละคน เพราะการเรียนรู้จะเกิดได้นั้นก็ต่อเมื่อ บุคคลนำเอาความคิด ความสามารถที่แท้ในตนเองออกมา การศึกษาจึงควรทำหน้าที่ เปิดเผยศักยภาพเด็ก แล้วนำทางให้เขารู้จักดึงศักยภาพของตนเองขึ้นมาใช้ ไม่ใช่ป้อนเอาความรู้ใส่ปากเขาแล้วคาดหวังว่าความรู้นั้นอาจจะทำให้เขาพึ่งพิงตนเองได้

สองเหตุผลข้างต้นจึงประกอบกันเป็นความเชื่อ เป็นทัศนคติเบื้องต้น ที่ตัวครูต้องย้อนกลับมาตั้งหลักที่ใจ ก่อนที่จะเริ่มลงไปปรับที่แผนและกระบวนการสอน การสร้างพื้นที่ความไว้วางใจระหว่างครูและศิษย์ การลดช่องว่างและปลดระวางเงื่อนไขที่สังคมสร้างขึ้นเป็นพันธนาการทางความคิดยึดติดว่า “เด็กเป็นผู้ไม่รู้ และครูเป็นผู้รู้มากกว่า” วิธีการในช่วงเริ่มต้นนี้ คือครูต้องใช้สติคอยกำกับ หมั่นตรวจสอบตัวเองว่า เรา “ยอมรับ” “วางใจ” “เปิดโอกาส” “เปิดพื้นที่” “รอคอย” “มองให้เห็น และฟังให้ได้ยิน” แง่งามในตัวลูกศิษย์ที่มีความแตกต่างกันไปตามธรรมชาติของแต่ละคนแล้วหรือยัง

โดยเฉพาะกับเด็กกลุ่มที่ถูกสังคมให้คำจำกัดความไว้ดังข้างต้น เด็กกลุ่มนี้ถูกระบุปัญหาและ “ถูกแก้ไข” ด้วยวิธีการมากมายจนแทบหมดสิ้นความไว้วางใจในความเป็นมนุษย์ของตัวเอง กล่าวโทษตัวเองว่าเป็น “ตัวปัญหา” “เป็นภาระ” ของครู ของพ่อแม่ “เป็นตัวป่วน” ของเพื่อนๆ พฤติกรรมของเขาจึงขึ้นอยู่กับอาการและท่าทีจากคนรอบข้างซึ่งเป็นเหมือนคำสั่งที่คอยตัดสินและชี้ระบุความเป็นตัวเขาเอาไว้เสร็จสรรพ ก็ไม่น่าแปลกใจที่เขาจะขีดกรอบจำกัดความสามารถของตน ปลีกตัวเองออกจากคนอื่นตามวิธีการของเขาบางคนก็เพียงนอนรอคนอื่นมาช่วยแก้ปัญหา ด้วยเหตุเพราะเขาถูกกดทับด้วย “ความทุกข์” อันเกิดจากการถูกสังคมตัดสินตีตราประทับเขาเอาไว้ ดังนั้นหน้าที่สำคัญที่เพิ่มเติมขึ้นมาของครูสำหรับเด็กกลุ่มนี้ อาจไม่ใช่แค่การปรับวิธีการสอนเนื้อหา แต่สิ่งที่ต้องทำเป็นเรื่องหลักคือการช่วยให้เขาระบายและปลดทุกข์ที่กดทับเขาไว้ออกจากใจเสียก่อน จากนั้นกระบวนการเรียนรู้และการแสวงหาความรู้ซึ่งเป็นกระบวนการตามธรรมชาติของมนุษย์ก็จะดำเนินไปได้เอง

เด็กเป็นกระจกสะท้อนผู้ใหญ่ ตัวเราเองไม่ได้ต่างจากเขาเท่าใดนัก ทุกวันนี้เราพยายามระบุว่า เราคือใคร มีลักษณะนิสัยอย่างไร ทำอาชีพอะไร เป็นพวกไหน กลุ่มไหน สมาคมไหน และมักจะล้อมกรอบตัวเองด้วยคำจำกัดความว่าเป็น “ตัวฉัน” ดังนั้น ตัวฉันจึงพอใจที่จะรับรู้และเรียนรู้ในบางเรื่อง และตัวฉันก็จะปฏิเสธในการทำความเข้าใจ และพยายามทำบางเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในข่ายที่ใกล้เคียงความเป็นตัวฉัน ดูแล้วตัวฉันจึงไม่น่าจะทำได้ เพราะเหตุนี้เอง ทุกวันนี้จึงไม่ค่อยเห็นผู้พิพากษาที่เผยรอยยิ้มในศาลและแม้กระทั่งนอกศาล ไม่ค่อยเห็นหมอลุกขึ้นมาวาดสีน้ำหรือปั้นดินทำงานศิลปะ ไม่ค่อยเห็นศิลปินเข้ามาแตะต้องงานด้านวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญที่สุด เราไม่ค่อยเห็นใครคนใด บทบาทหน้าที่ อาชีพใดในสังคมที่จะ “มองให้เห็น ฟังให้ได้ยิน” แง่มุมที่ดีของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่มักไปเพ่งข้อผิดพลาด และใช้ความพยายามมากเหลือเกินในการถกเถียงกันเพื่อหาทางแก้ปัญหานั้น เช่นเดียวกับ การศึกษา ที่พยายามแก้ปัญหาเรื่องคน ด้วยการแก้ที่การสอนและการให้เด็กฝึกฝนทักษะ แต่ไม่ค่อยมีวิธีไหนบอกให้ครูทำหน้าที่สังเกตอย่างละเอียด เงี่ยหูฟัง ความดี ความสามารถที่มีอยู่ในตัวเด็กแต่ละคน เพื่อให้เขานำจุดนั้นออกมาเป็นที่พึ่งของตนเองได้

หลายครั้ง ผู้เขียนมองลึกเข้าไปในดวงตาของเด็กนักเรียน บางทีในเวลาที่เขาเผลอไผล ไม่ตั้งท่า เขาจะหลุดออกจากกรอบคำบอกกล่าวของสังคมที่ชี้ระบุเขาอย่างไม่ตั้งใจ แล้วมักจะแอบเผยอะไรบางอย่างออกมาให้เห็น หลายครั้งหากเราได้จังหวะบอกกล่าวข้อดีที่สังเกตเห็น แม้เขาอาจทำท่าเหมือนปฏิเสธ แต่ความรู้สึกภาคภูมิใจต่อตนเองจะเปล่งประกายสดใสในแววอย่างตาเห็นได้ชัด ครูคนใดได้สัมผัสกับห้วงเวลาสั้นๆ ที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะรู้สึกเหมือนมีปฏิกิริยาเคมีบางอย่างที่เข้ามาเชื่อมหัวใจครูกับลูกศิษย์เอาไว้ด้วยกัน ครูเองก็พลอยหัวใจพองโตแทบทุกครั้งเมื่อสังเกตเห็นการเติบโตของศิษย์แม้เพียงเล็กน้อย และพลอยอดอมยิ้มไม่ได้เมื่อย้อนนึกถึงช่วงเวลาแรกผลิของเด็กแต่ละคน

ผู้เขียนจำคำพูดหนึ่งประทับอยู่ในใจอย่างแม่นยำ ของเด็กคนหนึ่งที่ใครๆ ก็ส่ายหน้าหนีเพราะว่าเขาเป็นเด็กเกเรและก้าวร้าวที่สุดในโรงเรียน เขาถามผู้เขียนว่า “ครูรำคาญผมไหม?” ผู้เขียนตอบไปอย่างไม่ได้คิดว่าไม่รู้สึกรำคาญอะไร เขาเดินเข้ามานั่งใกล้ๆ เอามือเกาะแขน ท่าทางเขาตอนนั้น จากใครที่ว่าเป็นลูกเสือก็ดูเหมือนลูกแมว แววตาของเขาอ่อนโยน มองตาครูแล้วบอกว่า “ผมดีใจที่ครูคุยกับผมรู้เรื่อง ไม่หาว่าผมบ้า พูดจาไร้สาระ ขอบคุณที่ครูไม่ทิ้งผม ยังเห็นว่าผมเป็นคนอยู่ ผมกลัวมาก กลัวว่าครูจะทิ้งผม ไม่เอาผมแล้ว ผมไม่ได้อยากเป็นภาระใคร ผมรู้สึกไม่ดีที่ต้องให้ใครมาทำอะไรเพื่อผม แต่จริงๆ แล้ว การที่ได้รู้ว่าครูทำงานหนักเพื่อพวกผม ผมดีใจมาก”

อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู เคยเล่าถึงการทดลองหนึ่งของฟรานซิสโก เวเรลา นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก ที่ได้ทดลองผูกหลังแมวแรกเกิดสองตัวไว้ด้วยกันเพียงสามวัน จะมีแมวตัวหนึ่งแบกอีกตัวหนึ่งไว้บนหลัง เมื่อแมวเริ่มลืมตา ตัวที่อยู่กับผืนดินก็จะพาแมวตัวบนหลังไปทำกิจกรรมตามปกติ แมวตัวที่อยู่บนหลังก็ได้รับการดูแลเรื่องอาหารเหมือนตัวอื่นๆ แต่เมื่อสามวันให้หลัง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ แมวตัวที่อยู่ข้างบนตาบอดตาใส หรือพิการทางสายตาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งก็เป็นวิธีการตามธรรมชาติที่หากอวัยวะใดไม่ถูกใช้งาน อวัยวะนั้นก็จะถูกลดบทบาทลง จนในที่สุดก็ใช้การไม่ได้

การที่เราจะฝึกฝนตนเองหรือจะสอนลูกศิษย์ให้งอกงามและเติบโตขึ้น อาจเริ่มจากการเปลี่ยนมุมมอง ออกจากความเคยชินกับการเพ่งเล็งข้อบกพร่อง แล้วพยายามหาทางแก้ ซึ่งบ่อยครั้งวิธีการแก้นั้นก็ย้อนกลับกลายมาสร้างปัญหาเพิ่มอีกไม่รู้จบ เราอาจเลือกอีกทางหนึ่งซึ่งก็แค่เพียง เปิดตา เปิดใจ รับรู้และหมั่นดึงเอาธรรมชาติด้านดีออกมาใช้ให้เป็น แล้วด้านดีนั้นจะค่อยๆ มาแทนข้อเสียไปเอง ดีกว่าปล่อยทิ้งความดีที่นอนรออยู่ในตัวให้บอดใบ้ไปตามวิธีการแห่งธรรมชาติ เหมือนกับตาของลูกแมวที่ถูกผูกติดอยู่บนหลังตัวนั้น



โดย ปรีดา เรืองวิชาธร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๐

ผมได้มีโอกาสดูหนังญี่ปุ่นเรื่อง Fireflies: River of Light เป็นหนังทำออกมาสื่อง่ายๆ ถึงกระบวนการเรียนรู้ที่เปลี่ยนสำนึกภายในของเด็กนักเรียน จะว่าเป็น Dead Poets Society ฉบับญี่ปุ่นก็ว่าได้ เพียงแต่รายละเอียดของเนื้อเรื่องและวิธีการนำเสนอต่างกัน มีอยู่ตอนหนึ่งที่เด็กนักเรียนถามครูของพวกเขาเกี่ยวกับวงจรชีวิตของหิ่งห้อย ครูอ้ำอึ้งสักครู่แล้วก็ตอบว่า ครูไม่รู้เหมือนกันแต่สัญญาว่าจะค้นคำตอบมาคุยให้ฟัง เด็กคนหนึ่งสวนขึ้นมาทันทีว่า เรื่องนี้ครูไม่รู้ได้ไง ครูเจออย่างนี้ก็ชักจะมีอารมณ์ เด็กคนนั้นจึงพูดดักคอต่ออีกว่า ครูโกรธเหรอ ถึงตอนนี้ครูเลยนิ่งแบบอึ้งๆ ไป ภายหลังจากนี้เรื่องระหว่างครูกับเด็กก็คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ครูเองก็ยอมรับได้อย่างจริงใจว่า ตนเองได้เรียนรู้จากเด็กนักเรียนมากมาย ขณะเดียวกันเด็กๆ ก็กลับรักนับถือครูคนนี้ด้วยใจจริง

ผมดูถึงตอนนี้ของเรื่องก็รู้สึกสะกิดใจมาก เพราะเดิมผมก็คาดหวังสูงมากกับครูหรือกระบวนกรว่าจะต้องรู้จริงรู้ลึกในสิ่งที่เขาสอน และเมื่อถามหรือแลกเปลี่ยนกันเขาต้องให้คำตอบที่แจ่มแจ้งเพียงพอที่จะทำให้ผู้เรียนเชื่อมั่นได้ แต่ตอนนี้ผมชักจะไม่มองอย่างนั้น และมีข้อสังเกตชวนให้ใคร่ครวญร่วมกันก็คือ อันแรก ผมยังคงเห็นว่า ครูหรือกระบวนกรที่จัดการเรียนรู้เรื่องใดควรรู้เรื่องนั้นดีพอ เพื่อจะทำให้การเรียนรู้เกิดบทเรียนที่ลึกซึ้งถึงแก่นของเนื้อหาได้ แต่หากไปไม่ถึงแก่นของเรื่องหรือบทเรียนไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง เขาเองก็ควรยอมรับได้ และช่วยทำให้กลุ่มเกิดบรรยากาศอยากตั้งประเด็นหรือคำถามเพื่อร่วมแสวงหาความรู้ความจริงที่กว้างและลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ที่สำคัญก็คือขณะที่อยู่ในกระบวนการเรียนรู้ หากครูหรือกระบวนกรรู้สึกว่า สิ่งใดที่ตัวเองไม่รู้หรือไม่แน่ใจ ก็ต้องกล้าที่จะบอกว่าไม่รู้ และกล้าขอบคุณผู้เรียนที่ทำให้รู้ตัวว่ามีบางเรื่อง (และคงอีกหลายเรื่อง) ที่สอนแต่ยังไม่รู้ แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางแรงกดดันจากความคาดหวังของผู้เรียนว่าจะต้องรู้ดีรู้จริงในเรื่องที่สอนก็ตาม ในแง่นี้จะดีกว่าไหมหากผู้เรียนเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า ครูหรือกระบวนกรถึงจะเก่งจะศึกษามามากเพียงใดก็ย่อมมีอีกหลายแง่มุมที่เขาเองก็ยังไม่รู้ และกำลังอยู่ในเส้นทางของการเสาะแสวงหาความรู้ความจริงอย่างไม่รู้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ก็เพราะโลกของการแสวงหาความรู้ความจริงแทบทุกศาสตร์ทุกแขนงยังไม่มีบทสรุปที่เด็ดขาดตายตัวเลย แต่กลับเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อใช้อธิบายความจริงของชีวิตและโครงสร้างสังคมรวมถึงสรรพสิ่งต่างๆ ที่เคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนอย่างไม่หยุดนิ่งเช่นกัน

ดังนั้นผู้เรียนก็ควรมองครูหรือกระบวนกรอย่างไม่กดดันคาดหวังจนเกินจริงเกินงามไป และจะดียิ่งขึ้นหากทั้งสองฝ่ายต่างมองและปฏิบัติต่อกันว่า เราเป็นกลุ่มเพื่อนที่เสมอบ่าเสมอไหล่ในการร่วมแสวงหาความรู้ความจริงไปด้วยกัน คอยสนับสนุนหรือเรียนรู้จากกันและกันเป็นหลัก แทนที่จะเรียนรู้ด้วยการถ่ายทอดจากฝ่ายหนึ่งไปสู่ฝ่ายหนึ่งอย่างผูกขาด

กลับมาที่ครูหรือกระบวนกรเอง หากผู้เรียนทำให้เรารู้สึกว่าเรายังไม่รู้อะไรอีกมากในเรื่องที่เดิมคิดว่า เรารู้และชำนาญแล้ว ก็ควรกล้ายอมรับเพราะว่าเขาได้ชี้ขุมทรัพย์อันสุดยอดให้เราได้ฝึกฝนลดละตัวกูของกูลง โดยเฉพาะความรู้สึกว่าตัวเองแน่ เพราะผู้ที่ได้รับความยอมรับนับถือหรือประสบความสำเร็จในความเป็นเลิศทางวิชาการ ก็มักจะรู้สึกได้ง่ายว่าตัวเองแน่ วิเศษกว่าคนอื่น พอคนอื่นเห็นต่างหรือแย้งขึ้นมา หรือถูกตั้งคำถามกับสิ่งที่สอนเข้าก็ออกอาการง่าย ปกป้องความคิดความเชื่อตัวเองด้วยวิธีการสารพัด

นอกจากนี้ ความรู้สึกว่าตนเองยังไม่รู้อะไรอีกมากย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราไม่ประมาทไม่ชะล่าใจต่อความรู้ความจริง เพราะหากรู้สึกว่าเรารู้จริงรู้ลึกแล้วก็มักจะหยุดการทบทวนใคร่ครวญ หยุดเรียนรู้รวมถึงหยุดการทดลองปฏิบัติเพื่อตรวจสอบความรู้ความจริงที่เราเชื่อมั่น พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ ความรู้สึกว่ามีเรื่องที่เรายังไม่รู้อีกมากมายมันทำให้กระบวนการเรียนรู้ของเราเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่งตายตัว หรือกล่าวอย่างถึงที่สุดก็คือ ขณะที่เราเป็นครูหรือกระบวนกรแต่ในอีกด้านหนึ่งเราต้องพร้อมเสมอที่จะเป็นนักเรียนได้ทุกขณะ โดยเฉพาะสามารถเรียนรู้จากผู้เรียนหรือลูกศิษย์ตัวเองได้ด้วย

ความพร้อมจะเรียนรู้จากผู้เรียนหรือลูกศิษย์นั้น ไม่ควรเป็นเพียงคำพูดสวยหรูหรือได้แต่คิดเท่านั้น แต่จะทำได้จริงก็ต่อเมื่อเราเชื่อมั่นไว้วางใจว่าผู้เรียนต่างมีความสามารถภายในที่จะเรียนรู้และเข้าถึงความลึกซึ้งของเรื่องที่เรียน เพียงแต่แตกต่างกันในวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละคน หรือเร็วช้าต่างกันเท่านั้น ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ผมจึงยอมรับนับถือครูหรือกระบวนกรคนที่ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าตนเองไม่รู้ ได้มากกว่าคนที่ตอบคำถามหรืออธิบายอะไรๆ ได้หมดอย่างขาดความรับผิดชอบ ขาดความซื่อตรงต่อความรู้ความจริงและต่อผู้เรียน

การเรียนรู้ที่จะไปได้กว้างไกลและลึกซึ้งนั้น ครูหรือกระบวนกรจำเป็นต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นความเชื่อเดิม กล้าที่จะฉีกวิธีคิดหรือทฤษฎีเดิมบางแง่มุมหรือทั้งหมด หากพิสูจน์ตรวจสอบชัดเจนแล้วว่า มันไม่ใช่หรือมีจุดอ่อน ความกล้าหาญในแง่นี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเปิดใจกว้างเชื้อเชิญหรือเปิดโอกาสให้คนที่เห็นต่างรวมถึงคนที่ท้าทายความเชื่อเราได้แสดงจุดยืนหรือความเชื่อของเขาอย่างเต็มที่ พร้อมกับรับฟังใคร่ครวญอย่างลงลึกได้ หากขณะที่รับฟังความเห็นต่างหรือถูกท้าทายความเชื่อจากผู้อื่นกำลังทำให้เราหวั่นไหวภายในก็สามารถรู้ทันปฏิกิริยาภายในก่อนจะด่วนปิดกั้นหรือโต้ตอบออกไปอย่างฉับพลันทันที

ความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย หรือแม้แต่การตั้งคำถามท้าทายต่อความคิดเห็นความเชื่อ มักจะทำให้เราต้องตรวจสอบใคร่ครวญถึงสิ่งที่เราเชื่ออยู่เสมอ ทำให้เราไม่ติดกรอบอย่างยึดมั่นถือมั่น แต่กลับจะช่วยทำให้เราปรับตัวยืดหยุ่นได้สูง และฝึกให้เราใจกว้างต่อความเห็นที่แตกต่างออกไป ใจกว้างกับคนที่เชื่อหรือมีวิถีทางของการเรียนรู้บางอย่างที่ต่างไปจากเรา ที่สำคัญมันอาจทำให้เราเรียนรู้อะไรได้ใหม่และลึกซึ้งจากสิ่งที่แตกต่าง และบางคราวก็อาจเรียนรู้ได้มากกว่าการเรียนรู้ร่วมกับคนที่คิดเห็นหรือเชื่อคล้ายๆ กับเราเสียด้วยซ้ำ เพราะหากเราข้องแวะเฉพาะอยู่ในแวดวงของผู้ที่เชื่อหรือคิดเห็นคล้ายๆ กันตลอดเวลา มักจะทำให้ประมาทชะล่าใจต่อความรู้ความจริงที่เราเชื่อ ซึ่งมักจะทำให้ยึดมั่นถือมั่นได้ง่าย ดังนั้น การมีพื้นที่มากเพียงพอที่จะปะทะสังสรรค์ร่วมกับคนที่เห็นแตกต่างด้วยท่าทีที่มุ่งเรียนรู้จากกันและกัน ย่อมทำให้การเรียนรู้ของเราเจริญงอกงามมากขึ้นเรื่อยๆ



โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๐

ระยะหลังมานี้ ฉันได้ร่วมทำงานกับพ่อใหญ่อยู่บ่อยครั้ง พ่อใหญ่ (อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู) เป็นพ่อทางจิตวิญญาณของฉัน การน้อมตนเป็นลูก เป็นศิษย์นั้น ช่วยเคาะเจ้าอัตตาตัวตนให้ฉันได้มากโขทีเดียว เพราะมันเป็นการช่วยให้ตระหนักกับตนเองว่า เรายังมีครูผู้กำกับดูแล การทำงานร่วมกับครูยังช่วยเปิดมุมมองของฉันให้ลึกซึ้งขึ้นด้วย ผ่านแว่นตาของครูที่มองออกไปเบื้องหน้า นี่ไม่นับประสบการณ์ตรงที่ไหลหลั่งมาจนเรียนไม่หวาดไหวนะ ครูเองก็สอนแบบวิถีโบราณ คือไม่ใช่แค่มาขอเรียน เมื่อจะเรียนก็ต้องยอมตัวด้วย

แต่มันไม่ง่ายเลย เพราะแค่ยอมตนนี่ก็แสนยากแล้ว โดยมากเรามักพูดว่า “ยอม” แต่ความจริงแท้ภายในของเรากลับไม่เคยยอมลงเลย เรายังกลัวว่าเราจะโง่ หรือด้อยกว่าเขา จนทำให้ฉันเกิดคำถามกับตนเองอยู่บ่อยครั้ง ว่าอะไรนะทำให้คนที่ดื้อรั้น อัตตาแรงอย่างฉัน เกิดสภาวะเชื่องลงได้ขนาดนี้

ทั้งที่ตอนเริ่มเดิมทีนั้น ฉันนี่แหละตัวป่วนของแท้ อยากเรียนก็อยากอยู่ แต่จะให้ก้มหัวให้น่ะไม่มีทาง ยังเชื่อเหลือคณาว่าตน “เจ๋ง” จนกระทั่งฉันค้นพบบางอย่างในตนเอง ผ่านการสอนแบบเรียนผ่านการปฏิบัติ เรียนไปพร้อมกับงานและที่สำคัญครูเองก็เรียนรู้ ฝึกตนและเปลี่ยนแปลงให้เห็นด้วยเช่นกัน และเมื่อเราค้นพบความยิ่งใหญ่ในความธรรมดาสามัญของครู จิตของเราก็น้อมได้ โดยมิจำต้องพยายาม

การน้อมตนและขอเป็นบุตรทางจิตวิญญาณนั้น มีความหมายต่อชีวิตฉันมาก ไม่ใช่ว่าพ่อฉันไม่ดี ไม่น่าเคารพนะ คนเรามักแยกไม่ออกเรื่องความสัมพันธ์ ประการสำคัญคือ ฉันแลเห็นถึงการเกิดใหม่อีกครั้งที่ภายในตนเอง จริงๆ แล้วหากเราไม่ติดยึดกับสภาวะการเกิดเพียงการถือกำเนิดเป็นทารก โดยเฉพาะในวิถีการพัฒนาด้านใน การเกิดใหม่ในแบบที่ดวงตาเปิดรับการเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพอีกครั้งนั้น เราอาจพบการเกิด-ดับของตนมากกว่าครั้งหนึ่งที่ชีวิตพึงมี

นับวัน จากที่เคยตามเรียน แบบห่างๆ ฉันก็เริ่มสนิทสนม และหลอมจิตกับพ่อใหญ่ พ่อครูของฉันได้มากขึ้น เมื่อหลอมรวมแล้ว ความเป็นหนึ่งแบบไม่แยกส่วนก็ผุดบังเกิด ทำให้เราแลเห็นความเป็นอื่นต่อกันน้อยลงไปด้วย ก็ความขัดแย้งทั้งหลาย ทั้งที่เกิดจากภายนอกและภายในตัวตนของเรานี้ ต่างล้วนเกิดจากภายในของเราเองที่แลเห็นเขาเป็นอื่นจากตัวเรา แม้บางทีที่เราบอกว่ารักกัน แต่เราก็ยังมีความเป็นอื่นแก่เขา เราจึงไม่อาจเห็นในมิติของเขา ที่อาจเหมือนหรือต่างไปจากที่เรามอง เพราะเมื่อโลกภายในของเราเป็นเช่นไร ภาพที่สะท้อนต่อเราจากโลกภายนอกก็จะเป็นเช่นนั้น เช่น โลกภายในของเรากำลังกลัวและหวาดระแวง เราก็อาจแลเห็นแต่ความไม่น่าวางใจ แลเห็นแต่คนที่กำลังเอารัดเอาเปรียบเรา แม้คนนั้นเขาจะไม่ได้คิดอะไรกับเราเลยก็ตามที แล้วเราก็เริ่มหวาดกลัว หวาดระแวงต่อโลก เราเริ่มไม่วางใจกันและกัน เราเริ่มมีแต่คนที่เรารู้จักแต่ไม่สนิทสนม เรากลายเป็นมนุษย์ที่กลัวการสนิทสนม เพราะเราหลงคิดไปว่า เขาจะมาเอาเปรียบเรา ซึ่งก็ไม่แปลกนัก ที่ทุกวันนี้เราจะไม่รู้จักคนข้างบ้าน มีญาติที่ไม่สนิทนัก มีเพื่อนแต่ก็แค่เรียนมาด้วยกัน อะไรทำนองนั้น

ครั้งหนึ่งในการทำงานร่วมกับพ่อใหญ่ งานโรงเรียนพ่อแม่ ที่ จ.นครสวรรค์ เราพูดคุยเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ การทำชุมชนปฏิบัติการขึ้น เพื่อเอื้อให้เกิดการเรียนรู้และหล่อเลี้ยงร่วมกัน การฝึกตนของแต่ละคนก็อาจเป็นจริงได้มากขึ้น มีผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งถามไถ่กับพ่อใหญ่ว่า จะทำอย่างไรจึงจะเกิดกลุ่มอย่างที่พ่อใหญ่ทำได้ เพราะเขายังมองไม่เห็นช่องทางที่จะเป็นไปได้ในชีวิตเขาเลย เพราะเพื่อนที่เขามีก็คงไม่สนใจเหมือนกับเขา แล้วจะหาใครมาร่วมได้

ฉันประทับใจคำตอบของพ่อมาก แทนที่จะตอบตรงๆ ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ถามได้คำตอบเลย แต่พ่อใหญ่กลับเล่าเรื่องการเดินทางของชีวิตแกเอง เรื่องราวที่แต่ละคนมาร่วมกันเป็นชุมชนของเราในวันนี้แม้แต่ตัวฉันเอง แล้วพ่อใหญ่ก็ยิ้มแก่ผู้ถามท่านนั้น และกล่าวว่า “ผมไม่เคยกลัวการสนิทสนม ผมพร้อมจะดูแลคนทุกคนที่เข้ามาในชีวิตอย่างสนิทชิดเชื้อ ผมมันพวกใจกล้าบ้าบิ่น กล้าที่จะบอกรักก่อน โดยไม่กลัวการปฏิเสธ” แล้วแกก็หัวเราะ

สิ่งหนึ่งที่มักพบเจอบ่อยครั้งทั้งกับตนเองและคนรอบข้างคือ เรามองเห็นข้อจำกัดของผู้อื่นง่ายกว่าข้อจำกัดที่เรามี เราแลเห็นแต่อุปสรรคและภาระที่จะเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ เราจึงพยายามจัดวางความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องในชีวิต โดยให้ตัวตนของเรานี้ปลอดภัยที่สุดจากความสัมพันธ์นั้นๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ยังคงมีความเป็นอื่นอยู่ในความสัมพันธ์ของเราเสมอ แม้แต่คนในครอบครัวเดียวกัน และเมื่อเป็นอื่นจากกัน เราและเขาก็มิอาจหลอมรวมกันได้ การร่วมกันของผู้คนส่วนมากจึงเป็นดั่งภาระ เป็นงานที่ต้องจัดการดูแล ไม่ช้าเราก็เหนื่อย หรือมีอาการอยากหนีห่างในบางครั้ง แล้วเราก็มักพบแต่ความผิดหวังในความสัมพันธ์ระหว่างกัน

ในความสัมพันธ์มันคงต่างไปจากการจัดหมวดหมู่ของสิ่งของในบ้าน หรือโต๊ะทำงานของเรา ให้เข้าที่เข้าทาง เป็นระบบ เพราะเราต่างเติบโตและเปลี่ยนแปลงกันตลอดเวลา เรียนรู้ และเจ็บปวดเป็นด้วยกันทั้งนั้น จะว่าไปเจ้าความเจ็บปวดนี่ก็ไม่ได้เลวร้ายเสียทีเดียว เพราะเท่ากับเรามีพื้นที่การเรียนรู้เพิ่ม ถ้าเราคาดหวังน้อยลง กลัวความเจ็บปวดน้อยกว่านี้ เราอาจค้นพบความอัศจรรย์ในมิตรภาพระหว่างกัน และมันคงง่ายมากขึ้นที่เราจะเชื้อเชิญผู้คนเข้ามาร่วมกับเรา กล้าบอกคำรัก คำแห่งมิตรไมตรีจากตัวเราออกไปก่อน โดยไม่ต้องกังวลต่อผลการตอบรับ เพื่อสร้างพื้นที่อันปลอดภัยและน่าวางใจให้เกิดขึ้นระหว่างความสัมพันธ์

ฉันตระหนักเสมอว่า ฉันมีญาติ มีพี่และน้อง มีกัลยาณมิตรที่หล่อเลี้ยงดูแลชีวิตฉัน มากขึ้นทุกขณะ พ่อใหญ่จะบอกอยู่บ่อยครั้งว่า เมื่อเราดูแลเขา พวกเขาก็จะดูแลเรา ลูกหลานเราก็มีพื้นที่ที่ปลอดภัยมากขึ้น เพราะเราก็ไม่ดูดายลูกหลานของพวกเขา การไม่ทิ้งใครคนหนึ่งให้โดดเดี่ยวกับทุกข์ของเขา ก็เท่ากับเราได้ร่วมดูแลโลกทั้งใบแล้ว ชีวิตหนึ่งยังมีอะไรวิเศษมากไปกว่านี้อีก หากเพียงเรามีความสัมพันธ์อันงดงามอยู่รอบตัว



โดย วิจักขณ์ พานิช
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๐

ผมกลับเมืองไทยมาได้หนึ่งเดือนแล้วครับ หนนี้ถือเป็นการกลับอย่างถาวร คือ ตั้งใจจะกลับมาทำประโยชน์ที่เมืองไทย หยั่งรากและเติบโตบนผืนดินผืนนี้จริงๆ ตั้งแต่กลับมาวันแรกจนถึงวันนี้ ก็ได้ผ่านอุปสรรคทั้งภายนอกและภายในไปนับไม่ถ้วน เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เปราะบางและหมิ่นเหม่ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตเลยก็ว่าได้

ในช่วงเวลาที่การเดินทางด้านในโอนเอนแทบจะเอาตัวไม่รอดในหลายต่อหลายครั้ง การเดินทางด้านนอกก็ยังคงดำเนินกันต่อไปตามครรลอง ผมได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยพบปะกับผู้คนในแวดวงการศึกษามากมาย ทั้งกับคนที่เคยได้อ่านงานเขียนของผม หรือกับกัลยาณมิตรที่รู้จักมักจี่กันเป็นการส่วนตัว ผมก็ยังเป็นผม เป็นคนธรรมดาๆ ที่มีช่วงขึ้นลงของชีวิต มีเลือดมีเนื้อ หยิกก็เจ็บ เหน็บก็เคือง เป็นสิ่งที่ผมไม่เห็นว่าจะเป็นเรื่องแปลกตรงไหน แต่มีเสียงหนึ่งที่ผมชักจะได้ยินบ่อยเกินเหตุจนอดไม่ได้ที่จะต้องเอามาบ่นดังๆ ในบทความชิ้นนี้ ก็คือ “ภาวนามาตั้งเยอะ แล้วทำไมยังทุกข์”

สำหรับผู้อ่านที่สนใจเรื่องการภาวนาเพื่ออยากจะมีชีวิตอย่างก้อนหินนิ่งๆ แข็งๆ ไม่ขยับเขยื้อนหรือรู้ร้อนรู้หนาวกับชีวิตและสิ่งรอบตัว ผมก็ขอเชื้อเชิญให้เมินเฉยกับมารศาสนาอย่างผมไปเสีย เพราะไม่รู้จะเสียเวลาอ่านงานบ่นชิ้นนี้ไปทำไมให้จบ เพราะทิฐิที่อาจจะดูเป็นมัจฉา เอ๊ย มิจฉา ของผมในเรื่องนี้ก็คือ ผมฝึกฝนตัวเองมาก็เพื่อที่จะใช้ชีวิตอย่างตื่นรู้ ไม่ใช่ภาวนาเพื่อให้ครึ่งหลับครึ่งตื่น หรือ ภาวนาเป็นยาชา ...

คนสมัยนี้หนีมาเข้าวัด หันหน้าเข้าหาศาสนา หลงใหลการภาวนา เพราะความกลัวทุกข์ หรือ ความกลัวเจ็บ กันมากเกินไปหรือเปล่า ... ก่อนที่จะวิ่งวุ่นหาทางหลุด ทางพ้น เราได้อยู่กับความทุกข์ มองทุกข์ สัมผัสทุกข์ จนรู้จักมันกันดีพอแล้วหรือยัง ... เราได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจชีวิตของเรามากพอแล้วล่ะหรือ

ในมุมมองแบบโลกๆ ของผม ชีวิตมันไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าขยะแขยงอะไรขนาดนั้น ไหนๆ ก็เกิดมาแล้ว เราก็น่าจะลองดูกันสักตั้ง จะเอาแต่แหยๆ กัน ชาตินี้ก็คงไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันกันพอดี แต่ก็นั่นล่ะครับ ที่ผมพูดก็ไม่ได้หมายความว่า การดำเนินชีวิตเป็นเรื่องง่าย ยิ่งเราเลือกที่จะฝึกใจให้เปล่าเปลือยด้วยแล้ว ชีวิตที่ไม่ง่ายก็ยิ่งกลายเป็นสิ่งที่เปราะบางมากขึ้นไปอีก แต่ผมว่าก็เพราะไอ้ความเปราะบางนี่แหละ ชีวิตถึงจะเป็นชีวิต ในความเปราะบางเราจะสัมผัสได้ถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่เพื่อตนเองและผู้อื่น แบบจั๊กจี้หัวใจ ยอมให้ความทุกข์เข้ามาสะกิดได้อย่างไม่มีอะไรขวางกั้น

ฟังดูดีนะครับ แต่มีสิ่งหนึ่งที่คงต้องบอกให้ทราบกันล่วงหน้า นั่นก็คือ หากเราเลือกที่จะฝึกฝนอยู่กับชีวิตที่เปราะบาง และหัวใจที่เปล่าเปลือยนั้น เราจะต้อง “กล้าที่จะเจ็บ” ให้ได้เสียก่อน นอกจากจะไม่กลัวเจ็บแล้ว เรากลับอยากสัมผัสว่าความเจ็บที่แท้มันเป็นเช่นไร ... การภาวนาจึงไม่ได้ทำหน้าที่เป็นยาระงับปวด แต่เป็นหนทางการฝึกฝนเพื่อที่เราจะสามารถตื่นอยู่กับความเจ็บ มองและเรียนรู้กับมันได้อย่างไม่กลัวเจ็บ

ลองดูใหม่นะครับ ... เราลองมาสร้างความสัมพันธ์ เรียนรู้กับความทุกข์ แบบไม่กลัวเจ็บกัน

ข้อแรก ความทุกข์ จะถูกสัมผัสได้ก็ด้วยการดำเนินชีวิตอย่างเปล่าเปลือย ด้วยหัวใจที่เปราะบาง เปิดรับให้โลกเข้ามาสะกิดใจเราอย่างไม่เขินอาย

ข้อสอง ต้นตอแห่งทุกข์ ขมวดเป็นปม เกิดขึ้นมาจากการสร้างเกราะคุ้มกันทางความคิด และเกิดจากแรงต้านต่อความขยาดกลัวในการไม่กล้าเข้าไปเผชิญความเจ็บนั้นอย่างตรงไปตรงมา

ข้อสาม ความดับทุกข์ เข้าถึงได้ด้วยการดำเนินชีวิตตามอย่างนักรบผู้กล้า ผู้ที่เชื่อในความเป็นจริงแห่งจักรวาล ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้คนอย่างหาญกล้า เป็นชีวิตธรรมดาๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดแห่งชีวิต ตรงไปตรงมาอย่างไม่ตัดสิน

ข้อสี่ หนทางแห่งการดับทุกข์ ก็คือ กล้าที่จะเจ็บ ก้าวเดินบนเส้นทางแห่งการสร้างความสัมพันธ์และทำความเข้าใจความทุกข์ในทุกแง่มุม เรียนรู้ที่จะสัมผัสโลกที่กว้างใหญ่จากหัวใจที่แตกสลาย ร่วมกับผู้คนรอบข้าง

...

การภาวนาบนพื้นฐานแห่งความจริงสี่ประการข้างต้นนี้เป็นสิ่งที่มีพลังมากครับ ดูเหมือนการนั่งนิ่งๆไม่ทำอะไร จะไม่ได้มีเป้าหมายของการเป็นก้อนหินไม่รู้สึกรู้สากับสิ่งรอบตัวอีกต่อไป หัวใจที่บอบบางของเราดูจะเต้นเป็นจังหวะ เลือดสูบฉีดหล่อเลี้ยงพลังแห่งการตื่นรู้ในกาย ลมหายใจเข้าออกซึมซับเข้าไปปลุกสัญชาตญาณทุกอณูรูขุมขน พื้นที่ว่างภายในขยายกว้าง คลี่คลายปมกรรมภายใน สู่ศักยภาพและความมั่นใจที่เต็มเปี่ยมแห่งการรู้จักตนเอง

บ่นมาได้ที่ ท้ายที่สุดนี้ผมก็ต้องขอบคุณเพื่อนๆ พี่ๆ และป้าๆ หลายๆ ท่าน กับความปรารถนาดีที่มีต่อผม อยากให้ผมคลายจากความเจ็บปวดรวดร้าว ใจหายอักเสบ ก้าวข้ามอุปสรรคนานาประการ สู่ชีวิตนิพพานอันสงบ เยือกเย็น ไร้คลื่นลม ... แต่เอวังด้วยประการฉะนี้ ที่อาจเป็นเพราะด้วยความอหังการ ความดื้อด้าน อวิชชา หรือมิจฉาทิฐิที่แน่นหนาในตัวผม ที่ยังไงเสียก็จะขอยืนหยัดอยู่บนเส้นทางแห่งการฝึกตน บนความเชื่อมั่นในหัวใจที่เปลือยเปล่า ที่จะค่อยๆ เลื่อน เคลื่อนไหลไปบนคมมีด สัมผัสความเจ็บปวดแห่งชีวิตร่วมกับเพื่อนมนุษย์ไปเรื่อยๆ อย่างไม่ตัดสิน

...

อย่าเพิ่งปล่อยวางเร็วนัก ขอเจ็บอีกสักพักละกันนะครับ ..



โดย วรรณา จารุสมบูรณ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๐

ความไม่ชอบ ความรู้สึกไม่พอใจ และความโกรธ มักเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะในบรรยากาศที่ต่างฝ่ายต่างกำลังเคร่งเครียดอยู่กับงานที่ตนเองได้รับมอบหมาย บางคนเลือกแสดงออกด้วยความก้าวร้าวรุนแรง พูดโดยไม่คิด บางคนเลือกเก็บกดความรู้สึกเหล่านั้นไว้ ในขณะที่บางคนแอบไปนั่งร้องไห้เพื่อระบายความอึดอัดใจ หากเราปล่อยให้บรรยากาศเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ซ้ำๆ ในที่ทำงาน ในไม่ช้าความเบื่อหน่าย ความขุ่นมัว ความเกลียดชังก็จะหยั่งรากลึกในใจของเรา จนมองไม่เห็นว่าเราต่างกำลังทำร้ายจิตใจซึ่งกันและกันอยู่ และคนที่ถูกทำร้ายมากที่สุดก็คือตัวเราเอง

การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานจึงเป็นเรื่องที่คนในองค์กรควรใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่งานจะออกมาดีในขณะที่คนทำงานไม่มีความสุข มีแบบฝึกหัดหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากและประยุกต์มาจากสิ่งที่ได้เรียนรู้จาก Judy McAllister เมื่อครั้งเข้าอบรม Transformation Game เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คุณ Judy ได้ให้บทเรียนที่สำคัญกับผู้เขียน 3 เรื่องใหญ่ๆ ก็คือ หนึ่ง การรับรู้คุณค่าแห่งตนด้วยการชื่นชมผู้อื่นและชื่นชมตนเองเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคน สอง การสร้างสันติในใจด้วยการให้อภัยกับสิ่งที่ไม่ดีหรือความน่าเกลียดในตัวเรา ช่วยให้เรากล้าเผชิญกับสิ่งเหล่านั้นอย่างคนที่ตื่นรู้ ไม่หลีกหนี และสาม อย่าละเลยที่จะกล่าวแสดงความรู้สึกอย่างจริงใจกับคนที่เรารักหรือใกล้ชิด เพราะเป็นโอกาสในการปลดปล่อยตนเองและผู้อื่นจากกรงขังแห่งอัตตาตัวตน ไม่ว่าจะเป็นความในใจ การกล่าวคำขอโทษ หรือการกล่าวคำขอบคุณ

น่าแปลกใจที่เรามักจะกระทำสิ่งเหล่านี้กับผู้ที่เป็นอาคันตุกะได้อย่างง่ายดาย แต่มักเขินอายยามต้องแสดงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงกับกับคนที่เรารัก คนที่สัมพันธ์ใกล้ชิด หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงานที่เคยมีเรื่องขุ่นเคืองใจ

ผู้เขียนประดิษฐ์ไพ่ปริศนาขึ้นมา 4 ใบ โดยให้แต่ละคนเลือกไพ่เพียง 1 ใบ และกระทำตามคำขอในไพ่ที่เลือกได้ทีละคน ใบที่ 1 Appreciation = การชื่นชม (ให้เลือกชื่นชมคนใดคนหนึ่งในกลุ่มหรือทั้งหมด หลังจากนั้นให้ชื่นชมตัวเอง ) ใบที่ 2 Forgiveness = การให้อภัย (ให้เลือกคนใกล้ชิดที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 1 คน เพื่อกล่าวคำขอโทษหรือขอให้เขาให้อภัย และอีก 1 คน ในกลุ่มหรือทั้งหมด) ใบที่ 3 Thank You = การขอบคุณ ( ให้เลือกคนใกล้ชิดที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 1 คน เพื่อกล่าวแสดงความขอบคุณ และอีก 1 คนในกลุ่มหรือทั้งหมด) และใบที่ 4 Angel = นางฟ้า ( สามารถเลือกที่จะกระทำด้วยตนเองหรือขอให้ผู้อื่นกระทำในสิ่งที่ตนปรารถนาได้ 1 อย่าง โดยจะมีผลต่อเนื่องไป 3 เดือน )

ก่อนที่แต่ละคนจะเลือกและกระทำตามที่ไพ่บอก ผู้เขียนได้ขอให้ทุกคนเคารพและร่วมเป็นสักขีพยานในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ขอให้เราให้โอกาสผู้อื่นในการทำแบบฝึกหัดนี้ด้วยการรับฟังอย่างมีใส่ใจ ไม่ตัดสิน และให้โอกาสตัวเราเองโดยเชื่อมั่นว่าเราไม่ได้เป็นเพียงผู้เลือกเท่านั้น ไพ่เหล่านี้ก็เลือกเราด้วยเหมือนกัน จึงขอให้เราอธิษฐานจิตให้ไพ่ที่จำเป็นสำหรับเราเดินทางมาถึงเราในช่วงที่เหมาะสม ช่วยให้เราได้เติบโตและมีเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง

ผู้เขียนเคยลองนำกิจกรรมนี้ไปใช้ในช่วงสุดท้ายของการสัมมนาบุคลากร และพบว่าเมื่อไพ่ใบแรกถูกเปิดขึ้นและเดินทางจนถึงใบสุดท้าย ผู้เขียนรู้สึกได้ว่าทุกคนต่างต้องการไพ่ทั้ง 4 ใบนี้ อยู่ที่ว่าจะเริ่มจากไพ่ใบไหนเท่านั้น

“ต้น” เปิดได้ไพ่ที่ให้กล่าวคำขอโทษหรือขอให้คนใดคนหนึ่งให้อภัย เขากลับเริ่มต้นจากคำกล่าวขอบคุณก่อนเพราะเพิ่งตระหนักว่าเขาได้รับสิ่งดีๆ จากเพื่อนร่วมงานคนนี้มากมาย แต่เขากลับไม่ค่อยใส่ใจ จนบางครั้งก็อาจพูดจาออกไปไม่คิด เขาขอโทษและหวังว่าเพื่อนจะให้อภัยและตักเตือนเขาด้วยเวลาที่เขาทำอะไรไม่ดีโดยไม่รู้ตัว ส่วนคนใกล้ชิดเขาเลือกขอโทษคุณแม่ที่เขามักจะใช้อารมณ์และวาจาไม่น่ารักกับท่านเสมอๆ จนกลายเป็นอัตโนมัติ ทั้งๆ ที่ในใจรักคุณแม่มาก ผู้เขียนถามว่า หากคุณแม่อยู่ตรงหน้าเขาในขณะนี้เขาอยากพูดอะไร เขานิ่งเงียบอยู่กับตนเองชั่วขณะ ก่อนที่จะพูดประโยคสั้นๆ แต่กินใจว่า “ผมรักแม่”

“เก๋” เปิดได้ไพ่ “ขอบคุณ” เธอเลือกกล่าวขอบคุณพี่คนหนึ่งที่อาวุโสกว่าเธอมาก เธออยากขอบคุณที่พี่คนนี้ให้เกียรติเธอ ด้วยการขอโทษเธอในที่ประชุมเมื่อรับรู้ว่าได้มอบหมายงานบางอย่างที่ทำให้เธอต้องเป็นทุกข์ ซึ่งทำให้เธอรู้สึกดีมาก รู้สึกว่าตนเองมีค่าขึ้นมา ส่วนคนใกล้ชิดเธอเลือกขอบคุณเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่ไม่ถือสาเธอ ไม่โต้ตอบเวลาที่เธออารมณ์ไม่ดี ขุ่นมัว และชอบโวยวายใส่

“อ้อม” เปิดได้ไพ่ “การชื่นชม” เธอใช้เวลาไม่นานเมื่อเริ่มกล่าวชื่นชมเพื่อนร่วมงานทุกคนที่มีน้ำใจและช่วยเหลือเธออย่างจริงใจ แต่เธอใช้เวลาครู่ใหญ่ก่อนจะบอกว่าเธอนึกไม่ออกว่าจะชื่นชมอะไรในตัวเอง ผู้เขียนและทุกคนให้เวลาเธอได้ขบคิดใคร่ครวญอย่างเงียบๆ ในที่สุดเธอก็พบว่า เธออยากชื่นชมตัวเองที่เธอสามารถก้าวข้ามความรู้สึกว่าแม่ไม่รักได้ เธอเล่าว่าความรู้สึกนี้มันเกาะกุมจิตใจเธอมานานตั้งแต่เล็กๆ และเธอเพิ่งเข้าใจว่าคนเป็นแม่มีวิธีแสดงความรักไม่เหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า แม่ไม่รักเธอ ซึ่งมันทำให้เธอได้ใช้เวลาอยู่กับแม่อย่างมีความสุขขึ้น

“ปาน” เปิดได้ไพ่ “นางฟ้า” เธอขอให้น้องคนหนึ่งในทีมเข้าร่วมกิจกรรมในช่วงที่มีงานฝึกอบรมแทนการขลุกอยู่กับงานเอกสารและนั่งสังเกตการณ์อยู่หลังห้อง เพราะอยากให้น้องได้ให้โอกาสตัวเองในการเรียนรู้และค้นพบศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน ซึ่งคำขอของเธอก็ได้รับการตอบรับ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเกือบ 2 ชั่วโมงที่เราทำกิจกรรมนี้ร่วมกัน เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าเหลือเกินในความรู้สึกของผู้เขียน เพราะทุกคนได้ถ่ายทอดความรู้สึกอย่างจริงใจ ได้เห็นประกายตาที่อ่อนโยน ชื่นชม ยอมรับ และกล้าเผชิญกับบางเรื่องราวที่อยู่ในใจ ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในความดีงามของกันและกัน ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ในความสัมพันธ์ ที่ไม่มีเจ้านายและลูกน้อง ไม่มีผู้ผิดและผู้ถูก มีแต่เพื่อนที่ยอมรับ เข้าใจ และพร้อมจะก้าวเดินไปด้วยกัน



โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com

คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๐

วันที่ ๒๔ กันยายน ของทุกปี เป็นวันมหิดล เป็นวันที่นักศึกษามหิดลช่วยกันจำหน่ายธง หารายได้สมทบทุนกิจการเพื่อคนไข้ผู้ด้อยโอกาสของโรงพยาบาลศิริราช ความคิดและการกระทำช่วยเหลือคนไข้ผู้ยากไร้เช่นนี้ เป็นความคิดที่ควรค่าแก่การสรรเสริญเหนือสิ่งอื่นใด กิจกรรมนี้เป็นการแปลงคำขวัญของมหิดล “อตฺตานํ อุปมํ กเร” อันมีความหมายโดยรวมว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” มาทำให้เป็นรูปธรรมโดยการปฏิบัติที่แสดงความเมตตากรุณาที่จะรักและช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากให้ได้พ้นความทุกข์ ให้มีโอกาสหายโรคและสุขสบายได้มากขึ้นวิธีหนึ่ง

การเข้าใจผู้อื่นแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นการตระหนักถึงความคิด ความรู้สึก จิตใจและสถานการณ์ของผู้อื่น อาจทำได้หลายวิธี เช่น ใช้การฟังแบบลึกซึ้ง ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ผู้พูดและผู้ฟังวางใจซึ่งกันและกัน มีเมตตาจิต และปรารถนาดีต่อกัน ที่จะฟังเพื่อเรียนรู้ เป็นวิธีการเข้าใจความคิดและความรู้สึกของผู้อื่นมากขึ้น ถ้ายังไม่มีโอกาสพูดและฟังอย่างลึกซึ้ง ก็อาจใช้วิธี จินตนาการอย่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา (sympathetic imagination) เป็นการคิดนึกเอาว่า ถ้าเราเป็นเขา ได้รับการกระทำหรือคำพูดเช่นนี้ เราจะรู้สึกอย่างไร จินตนาการเป็นการสร้างสรรค์เริ่มคิดถึงความรู้สึกของผู้อื่น นอกเหนือจากการคิดที่มีตนเองเป็นศูนย์กลาง เป็นการลดละ ลืมความสำคัญของตน เพื่อเห็นคุณค่าและความรู้สึกของผู้อื่นได้มากขึ้น

นอกจากนั้น ยังมีอีกวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น ได้แก่ “passing over” คือการหยุดหรือวางความเชื่อ และเหตุผลของตนไว้ชั่วเวลาหนึ่ง เป็นการละวางตัวตนซึ่งมีแนวโน้มจะเข้าข้างตนเองว่าถูกที่สุด เหมาะสมที่สุด แล้ว “ก้าวข้าม” ไปทดลองปฏิบัติตามความเชื่อ เหตุผลหรือวิธีการของผู้อื่น เพื่อจะได้เข้าใจเงื่อนไข ปัจจัยที่ทำให้เขาคิดและเชื่อต่างจากตน เมื่อก้าวข้ามไปมีประสบการณ์นั้น จนเข้าใจ “แรงจูงใจ” และ “เงื่อนไขปัจจัย” ของผู้อื่นแล้ว จึง “ก้าวกลับ” (passing back) มายังจุดยืนเดิม และความเชื่อเดิมของตน วิธีนี้เป็นข้อเสนอของ John Dunne นักการศาสนาชาวอังกฤษ ที่แนะนำให้ศาสนิกชนต่างศาสนาได้ทดลอง “วาง” ความเชื่อ และการปฏิบัติของตนไว้ชั่วคราว แล้วลองเชื่อ ปฏิบัติ และทำทุกอย่างที่กำหนดไว้ในความเชื่อทางศาสนาของผู้อื่น ให้มีประสบการณ์ตรงเพื่อเข้าใจแรงจูงใจ อารมณ์ ความรู้สึกหรือเงื่อนไขของผู้อื่นที่เชื่อต่างจากตน การเรียนรู้ด้วยวิธีก้าวข้าม และก้าวกลับมาเช่นนี้ อาจทำให้ศาสนิกชนที่เชื่อต่างกันได้เข้าใจจุดยืนที่ต่างกัน และพัฒนา “ความเข้าอกเข้าใจ” และ “วางใจ” ต่อท่าทีและการปฏิบัติของผู้อื่นมากขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง วิธีการดังกล่าวนี้เป็นการเรียนรู้โดยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยมิเพียงแค่จินตนาการ แต่ได้ทดลองปฏิบัติเพื่อให้เกิดประสบการณ์ตรงนั่นเอง

เมื่อครั้งสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมัน ผู้เขียนได้เข้าร่วมงานอาสาสมัครกับเพื่อนชาวคริสต์ กลุ่ม Diakonie ทำโครงการ “รถเที่ยงคืน” (midnight bus) เพื่อรวบรวมอาหารและเครื่องดื่มร้อนๆ ไปแจกจ่ายกับบุคคลผู้ไม่มีที่อยู่อาศัย (homeless) อาสาสมัครจะลงชื่อทำงานวันละ ๓ คน อุปกรณ์การทำงานประกอบไปด้วยรถตู้ ๑ คัน ด้านหลังรถจัดเป็นที่วางหม้อต้มน้ำร้อนสำหรับชงน้ำชา กาแฟ และซุปละลายทันทีพร้อมถ้วยกระดาษ เรานัดพบกันประมาณ ๑ ทุ่ม หน้าร้านขายขนมปังและเค้ก เพื่อรับบริจาคขนมที่ร้านต้องการทิ้ง เพราะเหลือจากการขาย แต่ว่ายังสดและปลอดภัยเพียงพอที่จะรับประทานได้ เนื่องจากร้านต้องการรักษาคุณภาพ จึงผลิตขายวันต่อวัน เมื่อได้ขนมแล้วก็จะขับรถตระเวนไปรอบใจกลางเมือง บริเวณที่มีผู้เที่ยวกลางคืนออกมาหาความสำราญ ผู้ไร้บ้านเหล่านี้จะมายืนรอเพื่อขอเศษเงินจากนักเที่ยวกลางคืนทั้งหลาย จึงเป็นโอกาสให้ได้แจกชา กาแฟ และซุปร้อนๆ เพื่อบรรเทาความหนาวเหน็บยามค่ำคืน

ในคริสต์ศาสนามีความรักแบบ agape ที่เป็นความรักแบบไม่มีเงื่อนไข สำหรับชาวพุทธอาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก เพราะพุทธศาสนาก็มีคำสอนเรื่องความรักความเมตตาที่ไม่มีขอบเขตและประมาณต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายเช่นกัน และผู้เขียนได้เพิ่มพูนการเรียนรู้อย่างยิ่งจากกิจกรรมนี้ เพื่อนชาวคริสต์บอกว่าโครงการรถเที่ยงคืนเป็นเหมือนการแบกกางเขน (carry the cross) เพื่อตัดตัวตน อดทนต่อความลำบาก ความเหนื่อยยากของตนเอง เพื่อบริการและช่วยเหลือผู้อื่น ดังที่พระเยซูเจ้าศาสดาในศาสนาคริสต์ได้ปฏิบัติแล้ว งานอาสาสมัครครั้งนี้ของผู้เขียนจึงเสมือนเป็นการ passing over ได้เรียนรู้การเสียสละ แรงจูงใจ และวิธีปฏิบัติเพื่อแสดงความศรัทธาต่อคำสอนทางศาสนาของอาสาสมัครชาวคริสต์ เพราะงานนี้ อาสาสมัครจะทำทุกวันถึงเที่ยงคืน ขับรถตู้ตระเวนหาผู้ไร้ที่อยู่ ซึ่งเป็นคนยากจน คนจรจัด บางคนก็ติดเหล้าและป่วย บ้างก็นอนหลบลมหนาวซุกตัวอยู่ใต้สะพานหรือมุมตึก อาสาสมัครต้องเดินจากรถลงไปปลุกและยื่นน้ำชาและซุปร้อนๆ ให้มีกำลังและความอบอุ่นเพิ่มขึ้น เป็นงานจิตอาสาเพื่อการพัฒนาจิตวิญญาณตามแนวคริสต์ศาสนา

ข้อสังเกตที่ได้เมื่อผู้เขียน passing back กลับมาอยู่ในเงื่อนไขของตนเอง ได้พบว่าการร่วมกิจกรรมนี้ ทำให้เข้าใจความหมายของคำว่า แบกกางเขน ของเพื่อนชาวคริสต์ได้ชัดเจนและลึกซึ้งมากขึ้นกว่าการอ่านจากหนังสือและการเรียนในชั้นเรียน เพราะเป็นการเรียนรู้ที่มีส่วนร่วมและได้สัมผัสกับ “ความสุขภายใน” ที่ได้ช่วยบรรเทาความทุกข์ของผู้อื่นแม้เพียงเล็กน้อย กับทั้งการเป็นอาสาสมัครนี้ไม่มีค่าตอบแทน ต้องทำงานท่ามกลางอากาศหนาว และบางครั้งก็เสี่ยงภัยอันตราย เพราะผู้ไร้ที่อยู่อาศัยเหล่านี้ใช้เศษเงินที่ขอได้ไปซื้อเหล้า เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย คนที่ติดเหล้าเหล่านี้อาจทำอันตรายโดยเฉพาะผู้หญิงอาสาสมัครที่เดินในที่เปลี่ยว

การเรียนรู้ประสบการณ์ของเพื่อนต่างศาสนาด้วยการมีส่วนร่วมให้ได้ประสบการณ์ตรงโดยการ passing over เพื่อเข้าใจแรงจูงใจ ความเสียสละและความจงรักภักดี ความเชื่อและศรัทธาของเขา ด้วยวิธีนี้ เป็นตัวอย่างที่อยากเรียกว่า การเรียนรู้แบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา ผ่านการทดลองกระทำ อาจนับเป็นการทำสานเสวนาระหว่างศาสนาประเภทหนึ่ง เป็น dialogue of experience ที่ผ่านประสบการณ์ตรง เป็นกิจกรรมที่มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาที่ต่างกัน แต่ก็สามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้

หากบุคคลในสังคมได้ผ่านประสบการณ์ “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา” รูปแบบต่างๆ ดังกล่าวนี้ คงเป็นที่หวังได้ว่า ความเข้าใจและความสงบสุขจะเกิดอยู่ไม่ไกลจากดวงจิตของเรา และสันติสุขที่พวกเราเรียกร้องจะมาสู่สังคมไทยได้ในที่สุด



โดย จารุพรรณ กุลดิลก
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๐

เหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่สั่นสะเทือนวงการวิทยาศาสตร์ได้อย่างมากครั้งหนึ่งก็คือ เมื่อทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ ไม่สามารถอธิบายปรากฎการณ์ของการทดลองชื่อ อีพีอาร์ พาราดอกส์ (EPR Paradox) ที่ตัวเขาเองและทีมงานของเขาได้จำลองขึ้นเพื่อค้านทฤษฎีโครงสร้างอะตอมของนีลส์ บอห์ร แต่ผลที่ได้รับกลับเป็นการสนับสนุนทฤษฎีโครงสร้างอะตอมมากขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น เขาพบว่า อนุภาคอิเล็คตรอน 2 ตัว ที่อยู่ตรงข้ามกัน และไม่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์ใด ๆ ต่อกันในเชิงพลังงาน แต่เมื่อมีแรงมากระทบอนุภาคหนึ่ง อีกอนุภาคหนึ่งก็จะมีผลกระทบเท่าๆ กันด้วย ซึ่งทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ และทุกวันนี้ก็ยังไม่มีทฤษฎีวิทยาศาสตร์ใด ๆ สามารถอธิบายได้อย่างสมบูรณ์ จนมีคนขนานนามปรากฎการณ์นี้ว่า ผีในอะตอม (The Ghost in the Atom)

จากปรากฎการณ์นี้ สามารถสรุปได้ว่า แม้อนุภาคทั้งสองจะอยู่คนละที่ หรือ คนละฟากฝั่งของจักรวาล หากตัวใดตัวหนึ่งเปลี่ยนแปลงในเชิงพลังงาน ลักษณะการเคลื่อนไหวหรือวิถีเส้นทาง อีกอนุภาคหนึ่งก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเดียวกันด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีความสงสัยว่า แล้วอนุภาค 2 ตัวนี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร นักวิทยาศาสตร์จึงตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า อาจจะมีการส่งข้อมูลบางอย่างระหว่างอนุภาคทั้งสองนี้ที่รวดเร็วกว่าความเร็วของแสง ที่ 186,000 ไมล์ต่อวินาที ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ และยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน

จากการทดลองข้างต้น ก็เกิดคำพูดหยอกล้อกันระหว่างไอน์ไสต์กับนีลส์ บอห์ร เนื่องจากไอน์สไตน์ยังเชื่อว่าฟิสิกส์น่าจะสามารถอธิบายปรากฎการณ์ทุกอย่างที่เกิดจากสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นได้ โดยกล่าวว่า “God does not play dice.” (พระเจ้าไม่ได้ทอยลูกเต๋า) “God is subtle but not malicious.” (พระเจ้าฉลาดเจ้าเล่ห์แสนกลแต่ไม่มีเจตนาร้าย) แล้วนีลส์ บอห์รก็โต้ตอบกลับไปว่า “Einstein, stop telling God what to do! ” (ไอน์สไตน์หยุดบอกพระเจ้าว่าต้องทำอะไรเสียที) และนั่นย่อมหมายถึง ยังมีความรู้อีกมากมายที่มนุษย์ยังไม่รู้ และสุดท้ายก็ไม่ต้องไปอธิบายเสียทั้งหมดก็ได้
อย่างไรก็ตาม ข้อดีของปรากฏการณ์อีพีอาร์ พาราดอกส์ ของไอน์สไตน์ก็คือ การบอกให้เรารู้ว่า สิ่งสองสิ่ง แม้ไปคนละทิศทางกันโดยสิ้นเชิง แต่หากสิ่งหนึ่งเปลี่ยน อีกสิ่งก็จะเปลี่ยนด้วย ถึงแม้จะยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่ก็สามารถบอกได้ว่า หากจะเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ตรงข้ามก็ต้องเริ่มจากเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ตรงนี้เสียก่อน ในทางวิทยาศาสตร์จะเรียกคู่ตรงข้ามนี้ว่า local (สมุฏฐาน) กับ non-local (นอกสมุฏฐาน)

ปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์นี้ ตรงกับ แนวความคิดของจิตตปัญญาศึกษา คือ การเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ เริ่มจากภายในตนเอง จากบทความ ณ พรมแดนแห่งความรู้ เรื่อง “ชื่นชมชีวิต” ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ของดร. ชลลดา ทองทวี ในเรื่อง เงา (Shadow) สอดคล้องกับปรากฎการณ์พาราดอกส์ (Paradox) ที่ประจักษ์ชัดต่อสายตาชาวโลกแล้ว กระแสความคิดในสมองมนุษย์ ก็เกิดจากการไหลของอิเล็คตรอน ฉันใด ก็ ฉันนั้น ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดความคิดใดๆ ขึ้นในสมอง ย่อมจะมีความคิดในทางตรงข้ามเกิดขึ้นเสมอ หากเราเรียนรู้ที่จะเห็นความคิดตรงข้ามในตัวเอง ก็จะพบความจริง ของความเป็นเช่นนั้นเอง และสามารถวางใจเป็นกลาง แต่หากเราเห็นความคิดในตัวเราด้านเดียว ความคิดตรงข้ามย่อมไปเกิดที่อื่น หรือในคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเห็นของสิ่งหนึ่ง เกิดความรู้สึก ชอบใจ ของสิ่งนั้นอย่างมาก และไม่เห็นความ ไม่ชอบใจ ตรงไหนเลย สักวันหนึ่งเราอาจจะพบคนที่ ไม่ชอบใจ ของสิ่งนั้นมากพอๆ กับเรา และเขาผู้นั้นก็ไม่สามารถเห็นความ ชอบใจ สิ่งของดังกล่าวได้เลยเช่นกัน สิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นเช่นนั้นเอง เรียกว่า พาราดอกส์ (Paradox) หรือ ที่อาจารย์ชลลดาเขียนถึงเรื่อง เงา (Shadow) นั่นเอง

ส่วนกระบวนการที่นอกเหนือจากการพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ย่อมมีวิธีที่ทำให้คนเราประจักษ์ชัดถึงความเชื่อมโยงของสิ่งที่แตกต่างสองสิ่งอย่างเป็นธรรมดา ธรรมชาติ อาจารย์ชลลดาเขียนถึงวอยส์ ไดอะล็อค (Voice Dialogue) ที่เป็นการฟังตนเองอย่างลึกซึ้ง เป็นการเปิดโอกาสให้ค้นพบศักยภาพบางอย่างที่ตนอาจละเลยไป ไม่ใส่ใจมาก่อน กลับได้ตระหนักรู้และเกิดความเข้าใจ ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และสมดุลด้วยตนเอง ส่วนผศ. ดร. ปาริชาด สุวรรณบุบผา ก็ใช้วิธีไดอะล็อค ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นประเด็น “แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก” โดยเรียนรู้ผ่านการไดอะล็อคกับผู้อื่น และใช้การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ซึ่งหมายรวมถึงการฟังตัวเอง การฟังผู้อื่น และการฟังความเงียบ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพด้านใน สามารถยอมรับสิ่งที่แตกต่างหลากหลายได้ หลังจากที่ไม่เคยยอมรับมาก่อน แต่เมื่อเข้าใจแล้ว ก็จะมีความเห็นว่า ความแตกต่างหลากหลายเป็นธรรมชาติ และเกิดความสุขในการเห็นความเป็นธรรมชาติ ธรรมดา คนเราสามารถแตกต่างได้ แต่ไม่ต้องแตกแยก โดยอาจารย์ปาริชาดท่านใช้ประเด็นนี้ในการเผยแพร่เรื่อง สันติวิธี ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจอย่างยิ่งในปัจจุบัน

นอกจากนี้ สิ่งที่ควรเน้นย้ำก็คือ การเปลี่ยนแปลงใดๆ ย่อมเริ่มจากตัวเอง เช่น หากเราเปลี่ยน โลกทั้งใบก็จะเปลี่ยน คราใดที่เราเห็นว่าสังคมมีปัญหา โลกมีปัญหา หรือคนรอบข้างมีปัญหา สิ่งที่เราควรจะทำก่อนที่จะลุกไปเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ ก็คือ อยู่กับตัวเอง ฟังตัวเอง การฟังเช่นนี้ต้องใช้สติสัมปชัญญะ เห็นความรู้สึก ความคิดที่เกิดขึ้น และเมื่อสามารถเท่าทันความคิดของตนได้ ย่อมจะเห็นความเป็นธรรมดาของปริมาณความคิดที่มากมาย ไม่ต้องไปคาดโทษความคิดใดๆ ที่เกิดขึ้น เพราะเราห้ามหรือสั่งให้เกิดไม่ได้ และย่อมจะเห็นว่า ไม่ว่าความคิดที่เราชอบหรือไม่ชอบเกิดขึ้นมานั้น ก็ย่อมจะไม่เป็นปัญหา เมื่อเรียนรู้ฝึกฝนไปบ่อยๆ อะไรต่ออะไรก็ง่ายขึ้น ฟังคนอื่นก็เข้าใจง่ายขึ้น เห็นสังคมก็เข้าใจง่ายขึ้น เป็นลำดับๆ ไป จนในที่สุดโลกทั้งใบอาจเปลี่ยนแปลงไปหมดเลยก็เป็นไปได้

Newer Posts Older Posts Home