โดย ธีระพล เต็มอุดม
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๐

หญิงสาวยืนเข้าคิวรอชำระค่าสินค้าที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์ในซุปเปอร์มาร์เก็ตทันสมัยใกล้ๆ ที่ทำงาน หลังจากเธอยื่นบัตรเครดิตและบัตรสมาชิกให้ในเวลาชั่วอึดใจ สิ่งของสารพันก็ถูกพนักงานจัดใส่ลงในถุง พร้อมยื่นใบเสร็จระบุรายการสินค้า จำนวนเงิน และข้อความว่า

“ขอบคุณค่ะ คุณวิลาสินี วันนี้คุณได้ประหยัดจากส่วนลด 12 บาท คะแนนสะสมของคุณคือ 650 คะแนน”

เย็นวันเดียวกันนั้น ชายหนุ่มยังนั่งเอาตัวสบายอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เขากำลังดูเวบไซต์จำหน่ายหนังสือออนไลน์ บนจอภาพมีรายชื่อหนังสือแนะนำแหล่งท่องเที่ยวที่เขาสนใจ พร้อมข้อความต้อนรับว่า

“ยินดีต้อนรับ คุณสุปรีดา เราขอแนะนำแพ็คเกจทัวร์สุดคุ้ม และประกันเบี้ยต่ำสำหรับนักเดินทาง”

เขาและเธอทั้งสองคนกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่พวกเราส่วนใหญ่ในยุคสมัยนี้พบเจอกันจนเป็นปกติและชินชาไปแล้ว ท่ามกลางภาวการณ์แข่งขันนำเสนอสินค้าและบริการอย่างดุเดือดในตลาดเสรี เหล่าธุรกิจใหญ่น้อยนับแต่บรรษัทข้ามชาติจนถึงบริษัทขนาดเล็กในประเทศต่างพากันหาหนทางเข้าถึงลูกค้าและชักจูงใจให้เขามาซื้อสินค้ามาใช้บริการของตนให้จงได้ ดูเหมือนลำพังตัวสินค้าและงบโฆษณาจะไม่มีผลมากพออีกต่อไป

องค์กรน้อยใหญ่หันมาเข้าหาลูกค้าด้วยกลยุทธใหม่ชื่อ CRM ย่อจากชื่อเต็มๆ ว่า Customer Relationship Management ด้วยสมมติฐานว่าหากรู้และเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าแต่ละราย จะทำให้สามารถเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจและเป็นไปตามความต้องการของลูกค้า ณ เวลานั้นได้มากที่สุด ได้ดีที่สุด สิ่งที่ตามมาคือระบบการจัดเก็บข้อมูลการจับจ่ายไว้ประเมินทำนายความชอบและนิสัยการซื้อ เกิดการสำรวจทัศนคติความพึงพอใจต่อสินค้าและบริการ มีการฝึกอบรมให้บุคลากรของตนตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างรวดเร็วทันใจและถูกต้องไม่ผิดพลาด

รับประกันได้เลยว่าพนักงานจะเอ่ยทักทายชื่อลูกค้าได้ถูกต้อง เสนอของที่ลูกค้าชอบ และมีโปรโมชั่นที่โดนใจ ทั้งหมดนี้เพียงแค่มองดูจอคอมพิวเตอร์

แต่สิ่งที่เราพบคือ ใบหน้าที่เรียบเฉยของเขา ข้อมูลส่วนตัวของเราบนจอภาพ รายการสินค้าบริการเกินความต้องการ และทั้งหมดเป็นแค่อีกเรื่องในชีวิตที่ผ่านเลยไป

อะไรที่ออกแบบมาแล้วเป็นอย่างดี มีระบบ เป็นเหตุเป็นผล เหมาะเจาะเหมาะสมกับคนในวัยและระดับการศึกษาของเรา น่าจะทำให้เรารับรู้ ประทับใจ เข้าใจและยอมรับ ไม่ใช่หรือ?


ชายชาวแคนาดาวัย 20 ปีผู้หนึ่งซึ่งไม่นับถือศาสนาใด เชื่อมั่นในการโต้เถียงด้วยหลักการและเหตุผล เขาได้พบสุภาพสตรีวัยกลางคนผู้ยิ้มแย้มและมุ่งมั่นคนหนึ่ง เธอมายืนกดออดประตูหน้าบ้าน บอกว่าเป็นอาสาสมัครมาแนะนำเรื่องจิตวิญญาณให้ เขาแสนจะดีใจเมื่อได้โต้เถียงเอาชนะเธอด้วยหลักการทางศีลธรรม ปรัชญา ศาสนาในเวลาเพียง 15 นาที

แต่เธอกลับไม่ยอมแพ้ บอกว่าการช่วยเหลือคนอื่นยังเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับเธอ ตัวเธอนั้นเคยเจอทุกข์มามากจนได้พบความสงบและมีความสุขมากขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้น เธอยืนยันขอพาผู้มีประสบการณ์มากกว่ามาหาเขา

เขาตอบรับด้วยความยินดีและพบว่าในอีกอาทิตย์ต่อมา เพื่อนบัณฑิตผู้นั้นของเธอที่มีความรู้มากกว่าก็พลาดพลั้งเปิดช่องโหว่ให้เขาตีโต้จนพ่ายแพ้ แม้กระนั้นเธอก็ยังไม่ท้อ ขอพาผู้อาวุโสที่สุดในองค์กรมาพบ

เมื่อถึงวันนัด เป็นวันพายุหิมะพัดแรงจัด เขาพบว่าคนที่เธอพามานั้นช่างเป็นคนลวงโลก มีแต่ตั้งใจจะเรี่ยไรเงินบริจาค ขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้ในเรื่องศีลธรรมและจิตวิญญาณ เขาประณามชายผู้นี้ต่อหน้าเธอว่าเป็นคนลวงโลกและไม่มีความรู้ เขาได้ความสะใจและดีใจในชัยชนะ

แต่เมื่อเธอลากลับ วินาทีนั้นที่เขาได้เห็นใบหน้าที่บ่งบอกความล้มเหลวสิ้นหวัง สายตาวิงวอนและเต็มไปด้วยความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส เขาถามตัวเองว่าได้ทำอะไรตอบแทนความพยายามในการเตรียมตัวหลายอาทิตย์ของเธอเพียงเพื่อจะช่วยไถ่จิตวิญญาณแก่เขา ไม่มีแม้คำขอบคุณและสำนึกในน้ำใจ

หลังจากนี้อีก ๔๐ ปีต่อมา เขาต้องการบอกสุภาพสตรีคนนั้นให้รู้ว่า เธอได้บรรลุภารกิจเปลี่ยนจิตใจเขา โทนี บูซาน ผู้นี้ให้ได้พบว่ามีอะไรที่สำคัญกว่าเหตุผล และหันมาสนใจเรื่องจิตวิญญาณนับแต่นั้นมา


ความพยายามของบริษัทที่ได้รวบรวมข้อมูลและทำความเข้าใจลูกค้าเพื่อเสนอขายสินค้าก็เป็นเช่นเดียวกันกับเรื่องของชายคนนี้ แต่ต่างกันตรงไม่มีสิ่งที่ถ่ายทอดออกจากใจให้เข้าถึงใจ ลูกค้าไม่เคยรู้สึกถึงความสัมพันธ์ ความผูกพันอย่างเพื่อนมนุษย์พึงมีให้กันของคนขาย เห็นก็แต่เพียงระบบที่ละเอียดถูกต้อง จำข้อมูลได้แม่นยำ และก็เท่านั้น รับรู้ เข้าใจ แต่ไม่เข้าถึงใจ เมื่อเข้าไม่ถึงใจก็ไม่ประทับใจ และไม่ยอมรับ

การศึกษาก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนเพื่อประกอบอาชีพหรือเพื่อพัฒนาจิตให้เกิดปัญญา ดังเช่นจิตตปัญญาศึกษาก็ตาม เราอาจจัดคู่มือการเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบ มีอุปกรณ์เครื่องมือเอกสารประกอบการสอนพร้อมสรรพ มีระบบวัดประเมินผลการศึกษาอย่างรอบด้าน ตระเตรียมเค้าโครงเนื้อหาล่วงหน้ามาเป็นอย่างดีไว้ได้

แต่สิ่งเหล่านี้ไม่อาจเป็นหลักประกันได้เลยว่าผู้เรียนจะสามารถรับเอาไปพัฒนาตนเองอย่างสมดุลทั้งกาย ใจ และจิตวิญญาณ หรือใช้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

เพราะความรู้ที่ส่งผ่านไปสู่ผู้เรียนนั้น ไม่ว่าวิชาไหน ว่าด้วยเรื่องราวหัวข้ออะไร หากขาดไร้ความสัมพันธ์อย่างเปิดเผยจริงใจ และเป็นกัลยาณมิตรที่ปรารถนาดีต่อกันเสียแล้ว ความรู้นั้นก็เป็นแค่ข้อมูลไปยังผู้เรียนให้รับรู้ได้ ทำความรู้จักเข้าใจ จำข้อมูลนั้นได้ แต่ไม่ถึงใจ เมื่อเข้าไม่ถึงใจก็ไม่เกิดความประทับใจ และไม่อาจเปลี่ยนแปลงจิตใจของเธอและเขาได้อย่างแน่นอน



โดย ชลลดา ทองทวี
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๐

เมื่อสองเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสลองทำกิจกรรม “สนทนากับเสียงภายใน” (Voice Dialogue) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยคุณฮาล และซิดรา สโตน นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน Voice Dialogue เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เราได้ยินเสียงภายในของตนเองชัดขึ้น เป็นการมองอีกด้านของเหรียญว่า สิ่งเดียวกันที่เรามองเห็นตัวเอง หรือมองเห็นในตัวผู้อื่น หากเรามองอีกด้านอาจจะเห็น กลับตาลปัตรไปได้มากมาย กิจกรรมดังกล่าวนี้ อาจารย์ วิศิษฐ์ วังวิญญู ผู้เป็นกระบวนกร ช่วยนำพาการเดินทางการมองโลกทั้งด้านในและด้านนอก และได้ช่วยให้ผู้เขียนได้มองเห็นตัวเองได้ชัดขึ้น ในเวลาอันสั้น

อาจารย์วิศิษฐ์ ชวนให้เราตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่า สิ่งที่เราไม่ชอบในตัวคนอื่น คืออะไร ข้อหนึ่งที่ผู้เขียนได้ออกมา คือ ไม่ชอบคนฟุ่มเฟือย จากนั้น อาจารย์ชวนให้เรามองตัวเองต่อว่า แล้วในมุมกลับกัน ความเป็นตัวเราเองที่ตรงข้ามกับสิ่งนี้ล่ะ คืออะไร ผู้เขียนได้คำตอบที่ไม่ยากเย็นนักว่า คือการรู้จักประหยัด สมถะในการใช้จ่ายหรือบริโภค

คำถามต่อมาที่อาจารย์ชวนให้มอง คือ แล้วถ้าเราจะมองสิ่งนี้ที่เราไม่ชอบในตัวคนอื่น แต่จากมุมมองของเขา เขาจะเรียกหรืออธิบายสิ่งที่เขาทำว่าอย่างไร ผู้เขียนต้องลองมองสิ่งนั้นในเชิงบวกอย่างสุดขั้วดู ในช่วงนี้กระบวนกรจะให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการถามความเห็นกันได้ เพื่อหาคำที่น่าจะเป็นไปได้ หรือน่าจะเหมาะสมที่สุด ซึ่งเราโดยลำพังอาจจะไม่กล้าคิดไปถึง และผู้เขียนก็พบว่าเขาคงจะมองตัวเขาเองว่า “ชื่นชมชีวิต” เห็นความน่ารื่นรมย์ในสิ่งต่างๆ และต้องการไปสัมผัสสิ่งเหล่านั้นอย่างชื่นชม

จากนั้น อาจารย์ ชวนให้เราเดินทางต่อไปยังอีกด้านของเหรียญที่ค่อนข้างยาก คือ แล้วในสิ่งที่เราชื่นชมเกี่ยวกับตัวเราเอง ถ้าในมุมที่กลับกันคนอื่นเขาจะมองเห็นสิ่งนั้นในแง่ลบว่าอย่างไร กระบวนการในช่วงนี้ เราต้องอาศัยเพื่อนๆ ที่ร่วมทำกระบวนการด้วยกันช่วยเป็นอย่างมาก เพื่อให้ได้คำที่เป็นไปได้ และอาจจะไปไกลเกินกว่าที่เราจะยอมรับเกี่ยวกับตัวเอง ซึ่งผู้เขียนก็ได้พบคำว่า ตระหนี่ถี่เหนียว ออกมาจากคำแนะนำของเพื่อนๆ

อย่างไรก็ตาม คำที่ผู้เขียนสะดุดใจเหลือเกิน กลับเป็นคำที่มองเชิงบวกต่อผู้ที่บริโภคหรือเสพอย่างฟุ่มเฟือย ว่าเป็นการ “ชื่นชมชีวิต” อาจารย์วิศิษฐ์อธิบายว่า สิ่งที่เราเลือกที่จะไม่ทำ และไม่ชอบในตัวคนอื่นด้วย บางทีก็เป็น “ไพ่ที่เราทิ้งไป” เราไม่ยอมถือไว้ในมือด้วยเหตุผลต่างๆ อาจจะด้วยคำสอนทางปรัชญาที่เรายึดถือศรัทธา แต่ในอีกด้านของเหรียญ มันคือสิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตของเรา เป็น “เงา” (Shadow) ที่เราไม่ได้สังเกตเห็น ตระหนักรู้ หรือยอมรับ การทำกิจกรรม Voice Dialogue จึงช่วยเปิดไพ่ใบนี้ออกมา และช่วยให้เราไม่ตัดสินคนอื่นหรือตัวเองอย่างสุดโต่ง เพราะจริงๆ เรื่องเดียวกันมันมองได้หลายด้าน จากคนที่มองอยู่ซึ่งต่างกันหลายคน ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าใครเลือกที่จะทิ้งไพ่ใบไหน หรือถือไพ่ใบไหนไว้เท่านั้นเอง

เช่นเดียวกับการประหยัด สมถะในการบริโภค ซึ่งดูจะเป็นเรื่องที่ดี น่าภาคภูมิใจ ที่เรามีวินัยในตัวเอง สามารถจะกระทำได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง ก็ไม่ได้หมายถึงว่า เราจะต้องไปไกลถึงขั้นละเลยไม่ชื่นชมชีวิตและความสวยงามต่างๆ รอบตัว

ทำอย่างไรเราจึงจะโอบกอดชีวิตได้อย่างรื่นรมย์ โดยยังคงไม่เสพจนฟุ่มเฟือย และไม่ตัดสินการบริโภคหรือการเสพไปเสียหมดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี หากว่ายังอยู่ในขอบเขตของการสัมผัสและชื่นชมแง่งามของชีวิต โดยไม่เบียดเบียนเดือดร้อนต่อตนเอง ผู้อื่น โลก และธรรมชาติ ทั้งนี้ เป็นเพราะการมีความรักความเมตตาให้แก่ตนเองเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่เราจะต้องมี ดังที่ท่านติช นัท ฮันห์ กล่าวไว้ว่า “When you love yourself, you can love others.” เมื่อเรารักตัวเอง เราก็จะสามารถรักคนอื่นได้ด้วย

สิ่งที่น่าหวาดหวั่นเกี่ยวกับการมองเห็นเหรียญเพียงด้านเดียว คือ การตัดสิน ซึ่งมันหมายถึงการตัดอีกด้านที่เป็นไปได้ ของชีวิตให้ขาดหายไปด้วย การใช้ชีวิตเพียงครึ่งเดียว ภายใต้กรอบการมองผ่านแว่นที่จำกัด ทำให้ชีวิตของเราขาดความเป็นธรรมดา ที่เป็นธรรมชาติ และนั่นหมายถึง เราไม่ได้สัมผัสเชื่อมโยงอยู่กับความเป็นจริงของชีวิต ตามที่มันเป็น แต่อยู่กับ “ความคิดเห็น” (opinion) ที่เราพร่ำบอกตัวเอง ว่ามันเป็นจริงอย่างนั้น อย่างนี้ การมองโลกที่บิดเบือน ย่อมจะทำให้ชีวิตของเราบิดเบี้ยวไปด้วย และจิตใจของเรา ก็ไม่มีความสุข เพราะมันบิดเบี้ยวบิดเบือนไปจากสภาวะที่ควรจะเป็น คือ การมองทุกสิ่ง อย่างที่เป็นจริงๆ เผชิญกับชีวิตอย่างตรงไปตรงมา

ที่จริงแล้ว การเดินทางในชีวิตทุกย่างก้าว มีสภาวะที่สดและใหม่ของปัจจุบันขณะอยู่เสมอ หากจะใช้กรอบเดิมๆ กรอบเดียว มากำหนดการก้าวเดินทุกก้าว คงจะเป็นการละเลยการยอมรับความเป็นจริงตามสภาพ

การศิโรราบต่อสภาวะชีวิตอย่างที่เป็น ความพอเหมาะพอดีของแต่ละจังหวะก้าวย่างในชีวิต ขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยของแต่ละขณะนั้น ว่าควรสละละวางการบริโภคแค่ไหน หรือชื่นชมชีวิตมากน้อยเพียงใด และอย่างไร สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่หากเราเปิดใจเฝ้าดู จะสามารถเลือกดำเนินชีวิตได้ไม่ยากว่า แค่ไหน คือสิ่งที่พอดี พอเหมาะสำหรับตน

ความกล้าหาญที่จะเผชิญกับชีวิตอย่างตรงไปตรงมาดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ในสภาวะปรกติ แต่กระบวนการดีๆ เช่น กระบวนการ Voice Dialogue เป็นกระบวนการเชิงจิตตปัญญา (contemplation) ที่ช่วยให้เราได้เรียนรู้ที่จะมองตัวเองและผู้อื่น ด้วยใจ อย่างใคร่ครวญ เป็นกระบวนการที่ช่วยเปิดไพ่ที่ทิ้งไปและคว่ำไว้ ใบนั้นออกมา ช่วยให้เราได้มองเห็นตัวเองและผู้อื่นอย่างเต็มตาและเต็มใจ

การเห็นมากขึ้น ช่วยให้เราเดินทางต่อไปในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น การเปิดตาและเปิดใจ ที่จะมองสิ่งต่างๆ ในมุมใหม่ๆ อีกด้าน แม้จะยากเย็น แต่ท้ายที่สุดแล้ว จะทำให้เรามองเห็นทางที่ผ่านมา ที่กำลังก้าวเดินอยู่ และที่อยู่เบื้องหน้า เห็นก้อนหิน และหลุมร่อง ไม่ล้มไม่พลาดตกร่องเดิมๆ อยู่ซ้ำๆ แต่สามารถปรับก้าวย่าง ให้สมดุล พอเหมาะพอควรแก่เหตุปัจจัย และเดินได้อย่างมีความสุข ด้วยความรื่นรมย์และชื่นชมได้มากยิ่งขึ้นต่อไป



โดย ชลนภา อนุกูล
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๐

ช่วงนี้มองไปรอบตัว เห็นคนรอบข้างกำลังหน้านิ่วคิ้วขมวด บางทีก็ได้ยินเสียงถอนหายใจดังเฮือก เป็นระยะๆ พอไถ่ถามก็ได้ความว่าเป็นเรื่องงานนั่นแหละ แต่ปัญหามักไม่ได้อยู่ที่งาน ปัญหามักจะอยู่ที่คน และคนคนนั้น ที่ทำให้คนหนุ่มสาวหยั่งเราเราท่านท่าน ต้องถอนใจแทนการกริ้วโกรธ ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเจ้านายมากกว่าลูกน้อง

เจ้านายบางคนให้งานลูกน้องไปแล้ว แต่พอถึงเวลาทำก็ไปแย่งงานลูกน้องทำ เพราะไม่ไว้ใจ กลัวไม่ถูกใจ กลัวไม่ได้ผลตามที่ประสงค์

เจ้านายบางคนโปรยคำหวาน ให้เขียนเสนอโครงการเข้าไป เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามหลักที่ว่า เป็นการสนับสนุนคนทำงานดี-ดี ให้ทำงานดี-ดี ออกมา แต่พอถึงเวลาก็ให้ปรับแล้วปรับอีก จนบางครั้งก็เลิกแก้และเลิกความคิดที่จะทำโครงการดี-ดีนั้นไป

เจ้านายบางคนไปเกี้ยเซี้ยกับบริษัทข้างนอก ก็ให้ลูกน้องเขียนสเปคจัดซื้อจัดจ้าง ตามสคริปต์ที่ตัวเองกำหนด

เจ้านายบางคนอาการหนัก พอถึงเวลาตรวจรับงาน ก็ไปทวงผลงานเกินที่ตกลงไว้ อาจจะงานหนักจนอัลไซเมอร์ถามหาบางเวลา ต้องเรียกเอาสัญญามาตรวจดู ทั้งทั้งที่เป็นคนลงนามอนุมัติโครงการกับมือ

เจ้านายบางคนขี้เกียจและขาดมุทิตาจิต หากลูกน้องขยัน โดดเด่นเข้าตากรรมการ พอลับตานายใหญ่นายน้อยก็เรียกลูกน้องมาตักเตือนว่าอย่าทำอะไรในสิ่งที่องค์กร (ที่แปลว่าฉัน) ยังไม่ได้มีมติออกไป

เจ้านายบางคนรู้จักแต่การแสดงความประสงค์ แต่ไม่รู้วิธีทำให้สำเร็จ

ฯลฯ

ปัญหาเรื่องการทำงานกับเจ้านายมากมายมหาศาลเพียงนี้ มีวิชาอะไรในจิตตปัญญาศึกษาจะมาช่วยคลี่คลายได้บ้าง?

คิ้วข้าพเจ้าขมวดอยู่สักห้านาทีได้ ก่อนที่จะโยนทฤษฎีทั้งหลายที่เคยได้เห็นได้ยินมาทิ้งไป

ในภาวะที่น่าอึดอัดคับข้องใจเช่นนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าเสียงหัวเราะ
เมื่อมองดูให้ดี สิ่งที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ก็เป็นเพียงใบหน้าหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า โครงสร้างทางอำนาจ – มรดกตกทอดที่แม้ว่าเราจะไม่ประสงค์แต่วัฒนธรรมก็ยัดเยียดมอบให้เรามาหลายยุคหลายสมัย

อย่าว่าแต่เรื่องเจ้านายกับลูกน้องเลย เรื่องวุ่นๆ ในสังคมไทยก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น วัฒนธรรมการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายตามแบบเสรีนิยมไม่มีวันงอกเงยขึ้นมาได้ในวัฒนธรรมอำนาจแนวดิ่งเช่นนี้ เยาวชนที่มีคุณภาพไม่อาจสร้างขึ้นมาได้ในวัฒนธรรมที่มองว่าเขาหรือเธอเป็นมนุษย์พันธุ์คิดเองไม่เป็น ประชาสังคมไม่อาจเกิดขึ้นได้ในวัฒนธรรมอำนาจแบบรวมศูนย์ไม่ไว้วางใจกระบวนการตรวจสอบทางสังคม

พวกเราแต่ละคนต่างก็มีเมล็ดพันธุ์แห่งโครงสร้างทางอำนาจนี้ไม่มากก็น้อยอยู่ในตัว ไม่ว่าอำนาจนั้นจะอยู่ในรูปของเงิน ปืน หรือตำรา และสะสมจนกลายเป็นจิตร่วมของสังคม

และหากยังคิดอยู่ว่า ปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ในทุกวันนี้ เราสามารถแก้ไขได้หากเรามีอำนาจ – นั่นแหละ บ่วงความคิดเรื่องอำนาจนี้ไม่นำเราไปสู่การแก้ปัญหานี้ได้เลย

ข้าพเจ้าคิดว่า สังคมได้มอบอาวุธอย่างหนึ่งให้กับผู้คนของตนในการรับมือกับโครงสร้างอำนาจ สิ่งนั้นคือ อารมณ์ขัน – อารมณ์ขันซึ่งท้าทายอำนาจด้วยความกล้าหาญนั้นย่อมประกอบด้วยปัญญาอย่างยิ่ง เต็มไปด้วยความกรุณาอย่างยิ่ง

เราพึงมองคนมีอำนาจด้วยความกรุณา มองเห็นอวิชชาที่เป็นเครื่องผลักดันให้เขาหรือเธอแสดงกิเลสพื้นฐาน มองว่าเขาหรือเธอเป็นคนเขลาที่ไม่ทันเห็นตำแหน่งที่มีอยู่ว่าเป็นดังหัวโขนไม่อาจตามติดไปได้ในเวลาตาย และโดยธรรมชาติแล้ว คนหรือองค์กรที่มีอำนาจมักจะไม่เรียนรู้ เพราะไม่ค่อยรับสัญญานจากวงจรป้อนกลับ มีแรงต้านต่อการเปลี่ยนแปลงสูง เพราะการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดความรู้สึกหวั่นไหวไม่ปลอดภัย สิ่งมีชีวิตที่ไม่รู้จักการเรียนรู้ไม่ปรับตัวก็ย่อมสูญพันธุ์ไปตามกฎการคัดเลือกตามธรรมชาติ

อำนาจที่เขาหรือเธอแสดงต่อเราจึงเป็นเพียงอำนาจแอ๊บแบ๊ว อยู่ได้ชั่วครั้งชั่วคราว มาแล้วก็ไป ดำรงอยู่ก็แต่เพียงผลแห่งการแสดงอำนาจนั้น ซึ่งเขาย่อมต้องรับผลกรรมแห่งการกระทำนั้นตามหลักแห่งเหตุปัจจัย ดังที่ชีวประวัติหรือประวัติศาสตร์จะบันทึกหรือไม่บันทึกไว้ในอีกหลายรุ่น

หัวเราะแล้วแก้ปัญหาได้ล่ะหรือ?

การหัวเราะนั้นเรื่องหนึ่ง การแก้ปัญหานั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประเด็นก็คือ การหัวเราะเป็นเรื่องของท่าทีในการเผชิญกับปัญหา และการกระโจนเข้าไปหาวิธีแก้ปัญหานั้นเป็นคนละเรื่องกับการทำความเข้าใจกับปัญหา

ปัญหาบางปัญหาพอพิจารณาดูแล้วดูใหญ่โตเกินกำลังของปัจเจกอย่างเราที่จะแก้ไข

แต่อย่าลืมว่า จิตตปัญญาศึกษาเชื่อในเรื่องของผีเสื้อกระหยับปีก ที่ทำให้เกิดพายุในอีกฟากหนึ่งของโลก จิตตปัญญาศึกษาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงตนเองนั้นเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงโลกอย่างแยกจากกันไม่ออก

แปลว่าอะไร? – แปลว่าอย่าไปคิดเปลี่ยนแปลงเจ้านายแอ๊บแบ๊วเลย เพราะบางครั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่กำลังผุพังมันเปลืองแรง โครงสร้างที่กำลังกัดกร่อนทำลายตัวไม่ช้าไม่นานก็พังทลายเอง สู้เอาเรี่ยวเอาแรงไปบ่มเพาะสิ่งดีงามใหม่ๆ ที่อยู่รอบตัว ให้มันงอกเงยเติบโตทันกับอนาคตที่กำลังจะมาถึงดีกว่า

ที่สำคัญ เราอาจจะต้องคิดใหม่ ว่าการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ไม่อาจใช้เวลาสิบปียี่สิบปี อาจจะต้องคิดต้องทำกันแบบข้ามภพข้ามชาติ – เพียงเท่านี้ ก็เห็นแล้วว่า ดัชนีชี้วัดความสำเร็จทั้งหลายก็เป็นเรื่องแอ๊บแบ๊วทั้งเพ



โดย จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๐

เมื่อผู้เขียนยังเล็ก คุณพ่อคุณแม่ซึ่งเป็นนักดูหนังตัวยง เมื่อมีโอกาสก็มักจะหอบลูกๆ เข้าโรงหนังเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีหนังดีๆ เข้า เรายิ่งไม่ยอมพลาด ผู้เขียนจึงได้เรียนรู้เรื่องราวดีๆ มีมุมมองใหม่ๆ ต่อโลกและชีวิตจากหนังหลายๆ เรื่องที่เคยดูมา มีอยู่เรื่องหนึ่งที่จำได้ไม่รู้ลืมและถ้ามีโอกาสก็อยากหาแผ่นมาดูอีกสักครั้ง หนังเรื่องนั้นมีชื่อว่า The Lost Horizon ที่แปลเป็นไทยว่า “รักสุดขอบฟ้า” ท่านที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกันน่าจะพอจำได้ เป็นเรื่องราวของนักบินที่เครื่องบินตกและหลงเข้าไปในดินแดนที่สวยงามราวกับสวรรค์ชื่อว่า “แชงกรีลา” เป็นดินแดนลี้ลับอยู่ท่ามกลางยอดเขาสูง มีหิมะขาวปกคลุม ผู้คนล้วนจิตใจดี มีความเฉลียวฉลาด ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

ในทิเบตก็มีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับอาณาจักรในฝัน ซึ่งเล่าสืบทอดต่อกันมาว่าเป็นสถานที่แห่งสันติสุขและความรุ่งเรืองซ่อนเร้นอยู่อย่างลี้ลับในแถบเทือกเขาหิมาลัย ดินแดนนี้ปกครองโดยผู้ปกครองผู้ทรงสติปัญญาและการุณย์ อาณาประชาราษฎร์ต่างพากันปฏิบัติสมาธิภาวนา ทุกคนล้วนเป็นอริยบุคคลที่มีจิตใจสูง อาณาจักรนี้ถูกเรียกขานว่า ชัมบาลา นักวิชาการบางคนพยายามหาข้อมูลสนับสนุนให้ชัดว่าดินแดนนี้เคยมีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ของเอเชีย และเป็นแนวคิดที่ตรงกับแชงกรีลาทุกประการ

นอกจากนี้ในศาสนาหลักๆ ของโลกต่างกล่าวถึงดินแดนในฝันที่มีแต่ความสงบสุข มีความอุดมสมบูรณ์ ผู้คนอยู่ร่วมกันด้วยความรักเมตตา ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อย่างเช่นในศาสนาพุทธที่มีคติเรื่องยุคพระศรีอาริย์ว่าเป็นยุคที่โลกไม่มีความทุกข์ ไม่มีการเบียดเบียน มีแต่คนดีและมีแต่ความสะดวกสบาย ในศาสนาฮินดูกล่าวถึงพระนารายณ์อวตารปางที่ 10 เรียก กัลกิอวตาร ซึ่งพรรณนาไว้ว่าเป็นบุรุษขี่ม้าขาว ผู้มาช่วยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปเพื่อความสงบสุข

ในยุคที่บ้านเมืองเกือบจะเรียกได้ว่าเข้าขั้นกลียุคเช่นนี้ ยุคที่แม่ฆ่าลูก ลูกฆ่าพ่อ เหตุการณ์ระส่ำระสายทางการเมืองที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ยังไม่รวมภัยพิบัติต่างๆที่เกิดขึ้นรายวัน คงทำให้ผู้คนเริ่มชินชากับ “ความไม่ปกติ” ต่างๆ ที่ถูกทำให้เห็นจนชินตา จนอาจลืมไปแล้วว่าชีวิตที่เป็นปกติสุขนั้น ควรมีวิถีเช่นไร ไม่ต้องพูดถึงดินแดนในฝันที่มีแต่ความสงบสุข เพียงแค่หาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวันก็ดูจะเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นทุกที

ในระยะหลังนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ในโลก ที่ทวีทั้งความรุนแรงและจำนวนความถี่ที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม แผ่นดินไหว โคลนถล่ม จนผู้คนทั่วโลกต้องออกมารณรงค์เรื่องของภาวะโลกร้อนกันนับตั้งแต่ผู้นำประเทศ ดารานักร้อง ไปจนถึงเด็กๆ ตัวเล็กตัวน้อย รายการโทรทัศน์หลายรายการได้เชิญผู้รู้ระดับประเทศมาพูดคุยกันถึงประเด็นนี้ มีสารคดีหลายเรื่องแสดงให้เห็นถึงภัยที่กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ตัวเราทุกที หลายคนคงเคยได้ยินนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งของไทย ท่านออกมาพูดหลายครั้งว่า หลังปี ค.ศ.2012 โลกเราจะเต็มไปด้วยความสงบสุข นับดูแล้วก็เหลือเวลาอีกเพียง 5 ปีเท่านั้น ถ้าสิ่งที่ท่านกล่าวไว้เป็นจริงเราก็คงมีโอกาสได้เห็นอาณาจักรในฝันอย่างชัมบาลา หรือแชงกรีลา หรือยุคพระศรีอาริย์ที่จะมาถึงเร็วกว่าที่คิด

แต่นักวิทยาศาสตร์ท่านเดียวกันก็ได้บอกไว้ว่า ก่อนจะถึงเวลานั้น โลกเราจะต้องประสบกับมหันตภัยที่จะนำพาความทุกข์อย่างมากมายมาสู่มวลมนุษย์ เมื่อย้อนระลึกถึงตัวอย่างที่เห็นชัดเจนครั้งเหตุการณ์สึนามิ ก็เห็นแล้วว่าความทุกข์ที่ถาโถมเข้ามาในเวลานั้นมันมากมาย และสะเทือนจิตใจเพียงไร แม้ว่าคนที่ไม่ได้ถูกกระทบจากเหตุการณ์โดยตรงต่างก็พากันตกอยู่ในภาวะเศร้าโศกและหดหู่ใจ สิ่งที่เยียวยาจิตใจของทุกคนในเวลานั้นก็เห็นจะมีแต่พลังแห่งรักของผู้คนที่แผ่ขยายออกไปทั่วทั้งโลก การได้สัมผัสถึงความรักความเมตตาของคนที่มีต่อ “ผู้อื่น” ที่มิใช่ลูก เมีย ญาติ หรือเพื่อนที่มีความเกี่ยวพันกันแต่อย่างใด จะมีก็แต่ความเป็นมนุษย์ร่วมโลกเดียวกัน ที่แตกหน่อออกมาจากโลกใบเดียวกัน ความรักครั้งนั้นแสดงให้เห็นถึงความรักที่ไปพ้นจากความเป็น “ตัวตน” อย่างแท้จริงอันเป็นคุณสมบัติของมนุษย์ที่แท้ ดุจดังความหวานที่เป็นคุณสมบัติของน้ำตาล หรือเกลือที่มีคุณสมบัติเป็นความเค็ม และความรักเมตตานี้ถือเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของบัณฑิตจิตตปัญญาศึกษา

โดยทั่วไปการที่คนจะรักผู้อื่นได้นั้น ย่อมต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่มีความเป็นตัวเองร่วมอยู่ เช่นเป็นพวกเรา เป็นญาติเรา หรือเป็นผู้ที่มีประโยชน์ร่วมกัน เป็นความรักตัวที่แบ่งภาคออกไปอยู่ในคนเหล่านั้น ศาสนาต่างๆล้วนสอนให้คนมีความรักต่อกันเป็นพื้นฐาน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า การรักผู้อื่นนั้นเป็นหัวใจของทุกศาสนา ศีลหรือข้อปฏิบัติต่างๆ มีไว้เพื่อให้คนรักผู้อื่นใช่หรือไม่ ถ้าคนรักกันก็คงไม่มีใครทำร้ายฆ่าฟันกัน ขโมยของกัน พูดจาว่าร้ายใส่กัน ลองนึกดูเล่นๆ ว่าถ้าในโลกมีแต่ผู้คนที่มีแต่ความรักเมตตาต่อกัน ไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกันโลก เราจะอยู่ในโลกนี้อย่างสุขกายสบายใจเพียงไร

การรักผู้อื่นเป็นสิ่งที่เราสามารถฝึกปฏิบัติได้ และจะเกิดประโยชน์แก่ตัวเช่นเดียวกับการฝึกปฏิบัติเพื่อยกระดับจิตใจด้วยวิธีการอื่นๆ การที่เราขยายจิตใจของตนเองออกไปจนกว้างขวางจนคนอื่นกลายเป็นเรา ไม่มีความแปลกแยก หมดความเป็นผู้อื่น หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่ารู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียว เมื่อนั้นเราจะรู้สึกถึงความปลอดภัย ความวางใจ สบายใจ และเหนือสิ่งอื่นใด ผลอันเลิศที่จะเกิดขึ้นต่อมาก็คือ ความเห็นแก่ตัวจะลดลงไปตามสัดส่วน ยิ่งความรักคนอื่นแผ่ขยายกว้างขวางออกไปเท่าใด ตัวตนก็จะยิ่งลดน้อยลงเท่านั้น เมื่อตัวตนลดลงความอยากหาสิ่งต่างๆ ใส่ตน อารมณ์ขุ่นข้องด้วยเรื่องไม่พอใจที่คนอื่นทำกับเราก็จะลดลงไป ชีวิตเราก็จะมีความสุขมากขึ้น

ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากได้โลกที่มีแต่ความสงบสุข โลกที่มีแต่ผู้คนที่มีจิตใจดีงาม แต่ต้องแลกกับการสูญเสียที่นำมาซึ่งความทุกข์ทรมานจนอาจเกินขีดจำกัดที่มนุษย์เราจะทนรับไหว หรือพูดให้ชัดก็คือต้องรอให้มีภัยพิบัติที่หนักหนาเท่าสึนามิ หรือมากกว่าจนเกินจินตนาการที่เราจะคาดเดาได้ แล้วหลังจากนั้นมนุษย์เราจึงค่อยหันมารักกัน ช่วยเหลือเอื้ออาทรกัน มิฉะนั้นเราอาจต้องรับบททดสอบจากธรรมชาติ แถมด้วยการถูกซ้ำเติมจากเพื่อนมนุษย์ผู้ที่ฝึกฝนความเห็นแก่ตัวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่กล้าคิดเลยว่าโลกในยามนั้นจะน่าหวาดหวั่นสักเพียงไร

ถ้าเราต้องการให้โลกนี้เป็นโลกพระศรีอาริย์ เป็นอาณาจักรชัมบาลาหรือดินแดนแห่งพันธะสัญญา เราสามารถทำให้เกิดได้ในชั่วพริบตา โดยเริ่มจากตัวเราเอง ลองมาฝึกรักผู้อื่น เริ่มจากคนที่เราไม่เคยนึกรักเขามาก่อนเลย คนที่เดินเข้ามาในเส้นทางชีวิตของเราไม่ว่าเราจะปรารถนาหรือไม่ก็ตาม เมื่อนั้นอาณาจักรแห่งรักก็จะเกิดขึ้นจริงบนพื้นที่ที่ไร้พรมแดน ในใจของเรา

Newer Posts Older Posts Home