โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๒

ปีใหม่ เป็นช่วงเวลาที่เรามักคิดถึงการเริ่มต้นสร้างสรรค์ความดีงามบางอย่างในชีวิต ฉันก็เช่นกัน ปีใหม่นี้ฉันมีเวลาได้ใคร่ครวญตนแทนการสังสรรค์เช่นปีผ่านๆ มา ปีที่แล้วมีเรื่องราวมากมายที่ไหลบ่าเข้ามา หลายเรื่องราวสะกิดเตือนผู้คนถึงความยากที่จะเกิดขึ้นในชีวิต ก่อเกิดแรงบันดาลใจอันลึกซึ้งและยิ่งใหญ่ในความรับรู้ที่มี

“จะนำพาผู้คนสู่วิถีแห่งความสุขและการวิวัฒน์ของจิตวิญญาณให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยช่องทางที่กว้างขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น” ฉันบอกกับตนเอง

งานแรกของปีเริ่มต้นขึ้นด้วยความตื่นเต้น แม้จะทำกระบวนการมามากเท่าไรก็ตาม ฉันกลับรู้สึกว่าแต่ละงานนับแต่นี้ จะพิเศษกว่าที่ทำผ่านมาและมีบางอย่างคอยท่าฉันอยู่ บางอย่างที่เป็นการเติมเต็มแก่จิตวิญญาณฉันเอง มิตรที่ฝึกตนมาด้วยกันยังแซวบ่อยๆ ว่า ... “โดนแน่ เตรียมใจไว้ได้เลย” ... แล้วก็โดนจริงๆ

ประเดิมกับงานแรก เป็นการจัดกระบวนการให้กับครูอาจารย์จากทั่วประเทศเกือบสองร้อยคน งานนี้หินทั้งในมุมของปริมาณผู้เข้าร่วมที่จำนวนมากยากแก่การเข้าถึงถ้วนทั่วแล้ว การทำกระบวนการเรียนรู้ให้คนอาชีพครูนี่ไม่ง่ายเลย คนจัดงานถึงกับออกตัวบอกกล่าวไว้ก่อนงานเริ่มว่า ... “พวกครูอาจเข้าร่วมไม่ครบนะ” เพราะเป็นอย่างนี้ทุกปีที่จัดงาน ฉันรับทราบพร้อมบอกกับตนเองว่า เราจะดูแลคนที่เข้าร่วมให้ดีที่สุด บอกทีมและตนเองให้เตรียมชุดที่เรียบร้อยที่สุด และสุภาพที่สุดสำหรับงานนี้ ฉันอยากให้เราช่วยกันดูแลผู้คน งานนี้ฉันขุดกระโปรงที่ดูมีอายุ สีขรึมออกงานทุกวันเลย แต่แค่เริ่มวันแรก พอพิธีเปิดงานจบลง เราก็เหลือครูอยู่เข้าร่วมประมาณร้อยกว่าคนนิดๆ ส่วนตัวแล้วฉันไม่ได้คิดเรื่องนี้เลยในตอนแรก เพราะพยายามหล่อเลี้ยงตนเองให้เป็นปกติในการดำเนินกิจกรรม

แม้จะสังเกตเห็นอยู่ว่า มีครูแวบหายเป็นช่วงๆ แต่ฉันและทีมงานก็เห็นพ้องกันว่า กิจกรรมได้รับความสนใจดีจากผู้ที่อยู่ร่วม มีครูหลายคนเข้ามาสอบถามเพิ่มเติม วันที่สองเนื้อหาเข้มข้นขึ้น เริ่มมีเรื่องที่ไปสะกิดตัวตนของผู้คน ฉันเริ่มเห็นว่าคล้ายเป็นราวกระแสน้ำใต้ดินที่รอโอกาสปะทุ ฉันจึงเตรียมไว้ว่า คืนนี้จะเปิดพื้นที่สำหรับคำถามเกี่ยวกับกระบวนการต่างๆ ตลอดจนความติดขัดใดๆ ถ้ามี

แต่ก่อนจะถึงช่วงเวลาที่เตรียมไว้ ระเบิดก็แตกก่อนเวลาที่คิด นั่นแปลว่ามันไม่ใช่ระเบิดที่เราเตรียม มีการติดต่อขอใช้เวลาประชุมครูครึ่งชั่วโมงก่อนเริ่มกระบวนการเรียนรู้โดยครูในกลุ่มนั่นเอง ผ่านไปห้าสิบนาที คนจัดงานเริ่มกระสับกระส่ายมาถามฉันว่า จะเอาอย่างไรดีดูท่าจะไม่จบง่ายๆ และดูรุนแรงกันขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

ฉันขอเข้าไปดูก่อนจะตัดสินใจ พอเข้าไป ภาพแรกที่เห็นทำให้ฉันไม่แปลกใจเลยที่การประชุมนี้ไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงง่ายๆ คนบนเวทีก็พูดไปเรื่อย เธอพยายามผลักดันให้มีการเลือกตั้งประธานครูและคณะทำงาน ผ่านการเล่าว่าโปรเจ็คห้าสิบล้านที่ได้เงินมาบอกให้ทำอะไรบ้าง ส่วนคนฟังก็จับกลุ่มหันมาคุยกันเองราวสิบกลุ่ม ทุกกลุ่มเสียงดังแข่งกับไมค์บนเวที มีคนลุกออกเดินผ่านที่ฉันยืนอยู่ ส่ายหัวให้ บ่นปวดหัว บ้างถึงกับเดินมายุฉันให้ยึดเวทีเลย การฟังอย่างลึกซึ้งที่จัดกระบวนการไปแสดงผลชัดแจ้งอย่างน่าใจหาย หลายคนที่ไม่คุ้นหน้าในกระบวนการอบรม ก็มาปรากฏตัวตอนนี้ด้วย แปลกไหมล่ะ ทีมจัดการเข้าไปกระซิบคนบนเวทีขอให้ยุติชั่วคราว คนบนเวทีเลยหันมาถามคนฟังว่า เราจะเลือกกันเลยดีไหม มีคนยกมือขอพูด เขาชี้แจงว่า ในเมื่อยังไม่เข้าใจบทบาทที่มานี่เลยว่าต้องทำอะไร เพราะมีครูใหม่ที่ไม่เคยมาร่วมเยอะ แล้วจะให้เลือกได้อย่างไร มีคนยกมือพูดสนับสนุนคนที่เพิ่งพูดไปอีกสองคนด้วยสำนวนเผ็ดร้อนราวกับอยู่ในสภาก็ไม่ปาน นี่ยังไม่รวมพวกที่ไม่รอไมค์ ที่ตะโกนพูดใส่ ประชดประชันกัน สุดท้ายผู้จัดก็ยึดไมค์ได้สำเร็จ แล้วเชิญให้ฉันดำเนินกระบวนการต่อ

ถึงตอนนี้ฉันขอให้ทุกคนมารวมกัน และเงียบรอเสียงสุดท้ายที่คุยกับคนข้างๆ จะเงียบลง มีหลายคนออกไปโจ้กันต่อนอกห้องประชุม ความเงียบกลับมาปกคลุมห้องอีกครั้ง ฉันแสดงความคิดเห็น ชวนให้สังเกตว่าเมื่อครู่เราพูดคุยกันอย่างไร การสนทนาที่ล้มเหลวเกิดเพราะอะไร จากนั้นก็บอกเล่าว่า ฉันเตรียมอะไรไว้สำหรับคืนนี้ “คำถาม” ที่ไม่เกี่ยวกับการประชุมเมื่อครู่ แต่เป็นเรื่องของกระบวนการ แต่น้ำก็เชี่ยวเกินจะขวางกั้น คำถามที่ฉันรอฟังมีเพียงการแสดงความคิดเห็นต่องาน คำตำหนิ ตัดพ้อ วิจารณ์ คนจัดงาน ตัวฉันและกระบวนการเรียนรู้โดยคนที่คุกรุ่นจากการประชุมเมื่อครู่

ทำไมไม่มีการชี้แจงเรื่องบทบาทหน้าที่ของครูที่มา ไม่ให้รายละเอียดกระบวนการก่อน วิทยากรแต่งตัวไม่ให้เกียรติไม่เรียบร้อย กิจกรรมเหมาะกับคนเข้าวัดไม่เหมาะกับงาน ให้นอนกลางวันเป็นเด็กอนุบาล ฯลฯ ฉันพยายามฟังทั้งหมด อธิบายกลับไปได้บ้าง แต่ประโยคเก่าก็ยังถูกวนพูดซ้ำ มีอีกกลุ่มที่พยายามยกมือพูดด้วยอาการโกรธเคืองคนที่ต่อว่าฉัน ก่อนที่จะเกิดจลาจลไปมากกว่านี้ ฉันจึงกล่าวขอโทษ และขอจบ รวมทั้งขอตัวด้วย มีคนตะโกนขอร้องฉัน พยายามบอกว่าฉันไม่ผิด อย่าไปฟังพวกนั้น ฉันขอบคุณพวกเขา แต่เลือกที่จะออกไปก่อน คืนนั้นมีคนห่วงความรู้สึกฉันมาก หลายคนพยายามเข้ามาดูแล แต่ฉันอยากอยู่คนเดียว

ฉันยอมรับกับตนเองที่หน้ากระจก บอกกับภาพสะท้อนของตัวเองว่า ฉันโกรธ เสียใจ และรู้สึกดีที่มีคนเข้าข้างฉัน คนสองคนนั้นพูดคำว่าเคารพชื่นชมบางเรื่องของฉัน ก่อนการวิจารณ์ที่ดูเป็นถ้อยคำที่รู้สึกถึงการดูแคลน แทนการจมจ่อมกับความเศร้า ฉันถามตัวเองว่า ในเมื่ออะไรเกิดขึ้นแปลว่าดีเสมอ แล้วครั้งนี้ล่ะ อะไรที่ดีสำหรับฉัน ฉันหยิบหินที่ครูของฉันมอบให้แทนพลังแห่งคุรุมากำไว้ เสียงจากห้วงคำนึงสะท้อนขึ้นภายใน “แรงเสียดทานแค่นี้รับไม่ไหว แล้วจะทำการใหญ่ได้อย่างไร” ฉันยิ้มกับตัวเอง น้ำตาร่วง พูดกับตัวเองซ้ำๆ “เข้าใจแล้วค่ะ ขอบคุณมากค่ะ ... เข้าใจแล้ว” ช่วงนั้นเองที่ความสงบประหลาดแล่นผ่านตัว

เช้าวันต่อมา มีเพียงคำว่าพร้อมในหัวใจ คนจัดถามว่าฉันจะทำต่อไหม ฉันตอบรับ และขอให้เขาเปิดการชี้แจงเรื่องบทบาทหน้าที่ของครูกับงานเอกสารที่ครูกังวลก่อน จากนั้นฉันเปิดวงถาม-ตอบอีกครั้ง หลายคำถามโยงสู่ความต่างระหว่างพวกเขากับเด็ก หรือครูด้วยกัน

ฉันบอกพวกเขาว่า “เราไม่อาจสร้างกฎกติกาใดมาควบคุมให้เราเหมือนกัน มันเป็นธรรมชาติของเราเอง หากเราไม่ทำงานกับการเปิดกว้างภายในของเราเอง ที่จะยอมรับกับความต่างที่เกิดขึ้น จะมีใครเชื่อบ้างว่าชุดแต่ละชุดที่ใส่ตลอดงานนี้ ดิฉันได้เตรียมมาอย่างดี ให้ดูเรียบร้อยที่สุด ดูสิแค่คำว่าเรียบร้อยของเราก็ต่างกันแล้ว และไม่ใช่เรื่องถูกผิด เพียงแต่เราจะอนุญาตให้เราอยู่ร่วมกับความแตกต่างได้อย่างไร เรื่องเสื้อผ้านี่ยังเล็กนะคะ ต่างทางความคิดความรู้สึกยิ่งซับซ้อน นี่เรากำลังพูดถึงสังคม การเมือง โลกเลยนะคะ ความขัดแย้งมากมายเพียงเพราะเราต่างกัน”

ฉันยังขอบคุณเรื่องเมื่อคืนที่ช่วยให้ฉันได้ทำงานกับตนเอง ฉันเล่าให้ผู้เข้าร่วมฟังว่าฉันคุยกับตัวเองอย่างไร

ในเวลาสั้นๆ กลับผูกพันคนในทีมงานได้เท่านี้ ปัญหามันดีตรงนี้แหละ มันทำให้เราใกล้กันมากขึ้น ความกลัว ความกังวล ช่วยให้เราได้สัมผัสความเปราะบางในกันและกัน เพราะยิ่งเห็นความเปราะบางของเพื่อนมากเท่าไร ยิ่งพบความแกร่งในเขามากเท่านั้น



โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๒

จิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง เป็นคำที่มีความหมายใกล้เคียงและมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ทำนองเดียวกับคำว่าการศึกษาและการเรียนรู้ก็มีความหมายที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกันจนบางครั้ง บางบริบท คำสองคำนี้ก็ใช้แทนกันได้

บทความนี้เป็นความพยายามที่จะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหมาย (Meaning) ในลักษณะที่ครอบคลุม ทั้งส่วนที่เหมือนและส่วนที่ต่างของทั้งสองคำและคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยพยายามหลีกเลี่ยงการให้คำจำกัดความ (Definition) ที่ “จำกัด” ความหมายที่กว้างขวางและลุ่มลึกของคำ แต่พยายามจะอธิบายความหมายเพื่อให้เกิดความเข้าใจให้รอบด้านกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ยึดติดอยู่กับกรอบความคิดหรือทฤษฎีหนึ่งใดเพียงหนึ่งเดียว

การจำแนกความหมายของคำที่ใกล้เคียงที่ใช้กันอยู่ทั่วๆ ไป ก็เป็นเพียงความพยายามที่จะชี้ให้เห็นจุดเน้นของแนวคิดและแนวปฏิบัติของคำเฉพาะเหล่านั้น ไม่มีเจตนาที่จะบ่งบอกว่าแนวคิดและแนวปฏิบัติใดดีหรือเหนือกว่ากัน เพราะแต่ละแนวคิดและแนวปฏิบัติต่างก็เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน

การศึกษาที่ผ่านมา หากพิจารนาที่จุดเน้นและจุดหมายเป็นตัวตั้ง สามารถแยกออกได้เป็น ๕ ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
๑. การศึกษาที่เน้นการถ่ายทอดความรู้หรือแบบครูป้อนให้ (Spoon Feeding)
๒. การศึกษาที่เน้นการคิดเชิงวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ (Critical Thinking)
๓. การศึกษาที่เน้นประสบการณ์ (Experiential Learning)
๔. การศึกษาที่เน้นการบูรณาการ (Integrative Education) และ
๕. จิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education)

เพื่อให้เห็นความเหมือน ความต่างของการศึกษาทั้ง ๕ แบบ จะขออธิบายแนวคิด และแนวปฏิบัติของการศึกษาทั้ง ๕ แบบโดยสรุปดังต่อไปนี้

๑) การศึกษา/การเรียนรู้แบบครูป้อนให้ จะเน้นการถ่ายทอดความรู้/ทักษะจากครูสู่ลูกศิษย์ เป็นการเรียนรู้จากการท่องจำและการฝึกฝนตามรูปแบบที่ครูสอน ไม่เน้นเรื่องการคิดวิเคราะห์ หรือความคิดสร้างสรรค์ จึงไม่ให้ความสำคัญกับการระดมสมอง อภิปรายหรือโต้แย้งทางความคิดระหว่างครูกับผู้เรียน และระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง

๒) การศึกษาที่เน้นการคิดวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ จะมุ่งเน้นที่การตรวจสอบอย่างระมัดระวังรอบด้านเกี่ยวกับข้อมูล/ข่าวสาร/ความรู้ ข้อตกลงเบื้องต้น (Assumptions) และที่มาของข้อมูล/ข่าวสาร/ความรู้เหล่านั้น มีการพิจารณาและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ข้อสรุปและการนำไปประยุกต์ใช้ ผ่านการอภิปรายโต้แย้งด้วยเหตุผล อ้างอิงข้อมูลและทฤษฎีที่หลากหลาย ในประเด็นที่ศึกษา การคิดเชิงวิเคราะห์มีความสำคัญและจำเป็น ทั้งระหว่างครูกับผู้เรียน และระหว่างผู้เรียนด้วยกันเองเพื่อหาข้อสรุปที่ดีที่สุด การศึกษาแบบนี้ให้ความสำคัญกับการคิดที่เป็นระบบ มีข้อมูล เป็นการคิดแบบเส้นตรง (Linear) เป็นส่วนใหญ่ จึงมีลักษณะที่เป็นกลไก (Mechanistic)

การศึกษาทั้งสองแบบเน้นเรื่องการอ่าน แต่แบบแรกอ่านเพื่อท่องจำ แบบที่สองอ่านเพื่อสำรวจตรวจสอบข้อมูล/ข่าวสารเพื่อการอภิปราย (Discussion) โต้แย้ง (Argument) แลกเปลี่ยน (Sharing) เพื่อเปรียบเทียบ (Comparison) เพื่อขัดแย้ง (Contrast) เพื่อหาข้อสรุป

ทั้งสองแบบเน้นเรื่องการฟัง แต่แบบแรกฟังเพื่อเข้าใจและจำตามที่ครูสอน แบบที่สองฟังเพื่อพิจารณา วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์เพื่อหาข้อสรุปในประเด็นที่ศึกษา แบบแรกไม่ให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ แบบที่สองให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ แต่เป็นแบบแตกขยาย (Divergent Thinking) และเป็นเส้นตรง (Linear)

แบบแรกเน้นความร่วมมือ (Cooperative) ในลักษณะผู้เรียนให้ความร่วมมือกับผู้สอน แบบสองเน้นความร่วมมือแบบให้ความเห็นที่หลากหลาย

๓) การศึกษาที่เน้นประสบการณ์ (Experiential Learning) เป็นการศึกษาที่เน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ผู้สอนเป็นผู้จัดประสบการณ์และทำหน้าที่เป็นผู้เอื้อให้เกิดการเรียนรู้โดยให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ตรงกับสิ่งที่เรียนโดยเชื่อว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียน ประสบการณ์ตรงจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น ทั้งในแง่อารมณ์ ความคิด จิตใจ และความรู้

แบบที่สามต่างจากแบบแรกและแบบที่สอง ที่การให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ตรง การเผชิญกับสถานการณ์จริงหรือสถานการณ์จำลองที่เหมือนจริง จะช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้แบบองค์รวมได้มากกว่า

๔) การศึกษาที่เน้นการบูรณาการ เป็นการศึกษาที่ผสานศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่แยกเป็นศาสตร์เฉพาะหรือรายวิชาเดี่ยวๆ แนวปฏิบัติหนึ่งที่ใช้กันอยู่คือการศึกษาที่เน้นปัญหาเป็นฐาน (Problem Based) คือมีโจทย์ปัญหา โครงการหรือกิจกรรมเป็นตัวตั้ง แล้วนำความรู้และทักษะจากศาสตร์ต่างๆ มาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน

๕) จิตตปัญญาศึกษา เป็นการศึกษาที่เน้นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาความตระหนักรู้และการเรียนรู้มิติ/โลกด้านใน (อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ ทัศนะ/มุมมองต่อชีวิตและโลก) ของตนเอง ให้คุณค่าในเรื่องการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ซึ่งหมายถึงการสังเกตอย่างมีสติต่อการเปลี่ยนแปลงภายในของตนเองที่เกิดขึ้นจากการเผชิญกับผู้อื่นและโลกภายนอก ผ่านกระบวนการ/วิธีการและกิจกรรมที่หลากหลาย (การนิ่งสงบอยู่กับตนเอง/การเจริญสติ ภาวนา self and group reflection, Dialogue, deep listening, journaling, กิจกรรมอาสาสมัคร/บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ศิลปะ ดนตรี...ไปจนถึงพิธีกรรมทางศาสนา) มีเป้าหมายก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Fundamental) อย่างลึกซึ้ง (Profound) ทางความคิดและจิตสำนึกใหม่เกี่ยวกับตนเองและโลก ส่งผลต่อการประพฤติปฏิบัติและการดำเนินชีวิตอย่างมีสติและปัญญา มีความรักความเมตตาต่อตนเองและสรรพสิ่งทั้งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

จิตตปัญญาศึกษาเหมือนกับการศึกษาที่เน้นประสบการณ์ ตรงที่ต่างก็เน้นประสบการณ์ตรง แต่จิตตปัญญาศึกษาเน้นประสบการณ์ตรงภายในเป็นหลัก ให้ความสำคัญกับการตระหนักรู้โลกภายในของตนเองที่สัมพันธ์กับโลกภายนอก

จิตตปัญญาศึกษาเหมือนกับการศึกษาที่เน้นการคิดวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ ตรงที่มีการให้ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ระหว่างกัน เพียงแต่จิตตปัญญาศึกษาเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ภายใน (tacit knowledge) ไม่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ตัดสิน ภายใต้บรรยากาศของการเคารพ ยอมรับระหว่างกันแบบไม่มีเงื่อนไข เป็นบรรยากาศแบบเปิด เอื้อให้ผู้เรียนรู้สึกมั่นคงปลอดภัยที่จะเปิดเผยตนเอง (self disclosure)

จิตตปัญญาศึกษาเป็นทั้งแนวคิดและแนวปฏิบัติ ที่มีจุดมุ่งหมายให้เกิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ภายในตน (Self Transformation) ภายในองค์กร (Organizational Transformation) และการเปลี่ยนแปลงภายในสังคม (Social Transformation) โดยที่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆ แต่ เป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานอย่างลึกซึ้ง

โดยนัยนี้ จิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) เป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติ ส่วนการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) เป็นเป้าหมาย

การพิจารณาว่า Transformative Learning เป็นเป้าหมาย หรือผลที่ต้องการให้เกิดขึ้น มิใช่เป็นการจำกัดความหมายของ Transformative Learning แต่เป็นการเน้นความสัมพันธ์และความสำคัญของทั้งสองคำ เพราะจากการสำรวจวรรณคดีที่เกี่ยวข้อง พบว่าทั้งสองคำมีการอธิบายความหมายทั้งที่เป็นแนวคิด แนวปฏิบัติ และเป้าหมาย โดยเฉพาะที่ประเทศไทย มีการใช้คำว่าจิตตปัญญาศึกษาในระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกโดยเป็นชื่อศูนย์แห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล คือศูนย์จิตตปัญญาศึกษา และต่อมา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาจิตตปัญญาศึกษา คณะครุศาสตร์

ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง และกำลังพัฒนาหลักสูตรระดับดุษฎีบัณฑิตในสาขาวิชาเดียวกัน จึงอาจกล่าวได้ว่า ทั้งสองคำคือ จิตตปัญญาศึกษา และการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง เริ่มใช้อย่างเป็นทางครั้งแรกในระบบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหิดล การให้ความหมายในลักษณะที่กล่าวไว้ในตอนต้นจึงเป็นความพยายามจะสร้างความชัดเจน เพื่อเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนการทำงาน โดยไม่ต้องทิ้งคำหนึ่งคำใดไป เพราะทั้งสองคำต่างก็มีความสำคัญและมีความสัมพันธ์กัน จะได้ไม่ต้องตกอยู่ในสภาพรักพี่เสียดายน้องหรือหนีเสือปะจระเข้

ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้มหาวิทยาลัยมหิดลที่มีความมุ่งมั่นต่อการสร้างนวัตกรรมทางวัฒนธรรมการเรียนรู้ ซึ่งอาจเรียกว่า “วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบมหิดล” (Mahidol Learning Culture) ด้วยการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติทางจิตตปัญญาศึกษาที่มีเป้าหมายให้เกิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงมาพัฒนาและใช้ภายใต้บริบทของมหิดล โดยได้กำหนดให้เรื่อง Transformative Learning เป็นนโยบายหลักประการหนึ่งในวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Objectives) ด้าน Teaching and Learning Excellence ของมหาวิทยาลัย และหากสามารถดำเนินการได้สำเร็จ มหาวิทยาลัยมหิดลจะเป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบแรกของไทย เป็นภูมิปัญญาของแผ่นดิน (Wisdom of the Land) เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งอ้างอิง ด้านจิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศและของโลก



โดย ศุภชัย พงศ์ภคเธียร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๒


ณ โรงเรียนประถมแห่งหนึ่งห่างไกลจากตัวจังหวัดประมาณแปดสิบกิโลเมตร ครูใหญ่กำลังพายเรือสำรวจสภาพโรงเรียนที่ตนเองดูแล พร้อมกับลูกศิษย์ชั้นประถมหกอีกสามคนที่ขอติดตามมาด้วย ขณะนี้โรงเรียนถูกน้ำท่วมจากพายุหลงฤดูเมื่อสามวันก่อน บรรยากาศเศร้าและหดหู่ เพราะไม่รู้ว่าจะเปิดโรงเรียนได้อีกเมื่อไร ภาพที่เห็นอยู่คือโรงเรียนของพวกตน ที่เคยใช้เป็นที่วิ่งเล่น ที่รับประทานอาหาร เคยมีเสียงจ้อกแจ้กของเด็กนักเรียนช่วงพักเที่ยง ขณะนี้ท่วมท้นไปด้วยน้ำรอบอาคารเรียน เห็นแต่เพียงหลังคาและขอบหน้าต่างประตูที่โผล่พ้นน้ำประมาณฝ่ามือหนึ่งเท่านั้น

ขณะที่ครูใหญ่ค่อยๆ พายเรือวนไปรอบอาคารเรียน กฤษณ์ถามครูด้วยความสงสัยใคร่รู้ “ครูครับ ทำไมฝนถึงได้ตกมากอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ตอนนี้ไม่ใช่หน้าฝนซะหน่อย”

แบงค์พูดแทรก “นั่นน่ะซี ยายปุกแถวบ้านเรา แกจมน้ำหายไปยังไม่มีใครเจอเลย”

เก่งถามต่อบ้าง “ครูครับๆ ผมเห็นข่าวในทีวี เขาว่าเกิดภาวะโลกร้อนขึ้นในหลายประเทศ ในอเมริกาเหนือเกิดหิมะตกจนเครื่องบินขึ้นลงไม่ได้ บางเมืองไฟดับหมดไม่มีไฟฟ้าใช้ บางประเทศก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ โคลนถล่ม คนตายมากมาย บางที่ในยุโรปก็เกิดอากาศร้อนมากจนมีคนตายหลายหมื่นคน มีภัยพิบัติเกิดขึ้นหลายที่ในหลายประเทศทั่วโลก แล้วที่ฝนตกน้ำท่วมโรงเรียนของเรานี่มันใช่เป็นเพราะโลกร้อนด้วยหรือเปล่าครับ”

ครูใหญ่ยังคงนิ่งเงียบ พยายามตั้งสติจากความหดหู่กับสภาพที่เผชิญอยู่ โดยไม่รู้ว่าชะตากรรมของเด็ก ชาวบ้านและตนเอง จะเป็นอย่างไรต่อไป “เก่ง ... ภาวะโลกร้อน มันเกิดขึ้นทั่วโลก และบ้านเรา โรงเรียนเราก็อยู่บนโลกนี้เหมือนกัน ไม่มีใครที่เกิดและอาศัยบนโลกนี้จะไม่เกี่ยวข้องหรอก”

เก่งถามต่อ “แล้วโลกร้อนมันเกิดได้อย่างไรละครับครู”

ครูใหญ่พยายามนึกทบทวนหาวิธีที่จะอธิบายให้ลูกศิษย์ตัวน้อยของตนเข้าใจง่ายขึ้น “ลองนึกดูนะ ถ้าสมมติว่าเราอยู่ในบ้านแล้วปิดประตูหน้าต่าง หาอะไรมาอุดตามช่องลมทุกช่องที่มีอยู่ ถ้าช่องไหนใหญ่ก็ใช้ผ้าห่มมาขึงกั้นลมไม่ให้เข้าออกได้ แล้วพวกเราที่อยู่ในบ้านก็เปิดทีวี เปิดพัดลมไฟฟ้า หุงข้าว ต้มน้ำทำกับข้าว บางคนก็สตาร์ทรถมอเตอร์ไซค์ในบ้านด้วย พวกเราคิดว่าคนที่อยู่ในบ้านทั้งหมดจะเป็นอย่างไร”

แบงค์รีบแย่งตอบ ขณะที่ทุกคนก็ตอบไล่เลี่ยกัน “ก็ร้อนตายซีครับครู”

บางคนก็พูดว่า “แต่เราก็มีพัดลมนี่ครับ”

เสียงในหมู่เด็กก็ตอบกันเอง “ใช่ แต่พัดลมก็จะพัดแต่ลมที่เหม็นและร้อนขึ้นเรื่อยๆ น่ะสิ”

เก่งถามครูใหญ่ต่อ “ครูครับ แต่โลกเราใหญ่โตมโหฬาร ใครจะเอาอะไรไปห่อโลกไว้ได้ล่ะครับ”

ครูใหญ่ตอบศิษย์ตัวน้อยว่า “ได้สิ ก็พวกเรา มนุษย์เราที่อาศัยอยู่บนโลกนี้แหละ ช่วยกันห่อโลกที่เป็นบ้านของเราที่ลอยอยู่ในอวกาศ พวกเราช่วยกันเผาน้ำมัน ถ่านหิน หรือทางอ้อมโดยการใช้ไฟฟ้ารูปแบบต่างๆ หรือแม้กระทั่งเราใช้น้ำประปา เสื้อผ้า ของใช้ ปัจจัยสี่ทั้งหลายก็ต้องใช้ไฟฟ้า ใช้พลังงานในรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้ในการผลิต ซึ่งล้วนทำให้โลกของเราร้อนขึ้นทั้งนั้น ผลจากการเผาไหม้ ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ เหมือนอย่างที่ออกมาจากท่อไอเสียรถ และเจ้าก๊าซชนิดนี้นี่แหละที่เป็นเสมือนผ้าห่มที่ห่อหุ้มโลกของเราไว้ หลายร้อยปีที่ผ่านมา มนุษย์เราขุดน้ำมันขึ้นมาใช้เป็นจำนวนมาก ทั้งที่บ้านของเรา รถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ โรงไฟฟ้า โรงงานผลิตสินค้าสิ่งของเครื่องใช้ทั้งหลายที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ทุกชิ้นก็มีน้ำมันเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งนั้น”

แบงค์ทนความสงสัยอยู่นาน ถามแทรก “ครูครับ ถ้าน้ำมัน ไฟฟ้า ของใช้ของกินทุกอย่างที่เราใช้เรากินเป็นต้นเหตุให้เกิดน้ำท่วม เกิดอุบัติภัยทั้งหลายที่ครูบอก พวกเราจะเอาอะไรใช้ เอาอะไรกินละครับครู”

ครูใหญ่อธิบาย “มีของกินของใช้ปัจจัยสี่อีกมากมาย ที่เราไม่ต้องพึ่งน้ำมันหรือไฟฟ้า ตัวอย่างเช่น ข้าวปลา อาหาร สมุนไพร เสื้อผ้า หรือแม้แต่พลังงาน เราก็สามารถใช้พลังงานจากธรรมชาติที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาก็ได้ เช่น ลม น้ำ แสงแดด แรงงานสัตว์ หรือพลังงานที่ผลิตจากพืช เช่นไบโอดีเซล เอทานอล เป็นตัวอย่าง หรือถ้าเราจำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็ใช้อย่างพอเพียง ตามแนวของในหลวง พ่อของเราชาวไทย อย่าใช้อย่างฟุ่มเฟือยไม่รู้คุณค่า”

หลังจากกฤษณ์ฟังครูและเพื่อนพูดคุยจนแทบจะลืมคำถามของตัวเองแล้ว นึกถึงข่าวหนึ่งขึ้นมาได้ “ครูครับ เห็นข่าวเขาว่าภาวะโลกร้อนทำให้เกิดแผ่นดินไหว ในหลายที่บนโลกเราจริงไหมครับครู มันจะเหมือนสึนามิที่เคยเกิดขึ้นที่ภาคใต้เราไหมครับครู ที่มีคนตายเกลื่อนไปหมด เมื่อหลายปีก่อนน่ะครับ”

ครูใหญ่ยังคงมีสีหน้าเคร่งขรึม “ครูก็ว่ามันเกี่ยวนะ เพราะว่าภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกทั้งเหนือ-ใต้ ตลอดจนน้ำแข็งตามยอดเขาหรือพื้นที่หนาวเย็นต่างๆ เคยมีน้ำแข็งปกคลุมตลอดก็ละลาย เช่น กรีนแลนด์ น้ำแข็งที่ละลายพวกนั้นจะไหลมารวมกันที่มหาสมุทร ซึ่งมหาสมุทรที่ใหญ่ที่สุดคือมหาสมุทรแปซิฟิกนั้น กินพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของซีกโลก ทำให้น้ำหนักจำนวนมหาศาลเป็นล้านๆ ตันย้ายมาอยู่ด้านนี้ แล้วเราลองนึกดูซิ ว่าถ้าลูกข่างที่เราเล่นเวลาหมุนนิ่งๆ สมดุลอยู่ แล้วเราเอาดินน้ำมันมาแปะข้างหนึ่ง ลูกข่างย่อมหมุนแบบเดิมไม่ได้แน่นอน โลกเราก็เช่นเดียวกัน มันเคยหมุนนิ่งอยู่ในอวกาศอย่างสมดุล พอมีการย้ายน้ำหนัก (น้ำแข็ง) จากเหนือ-ใต้ และที่อื่นๆ บนแผ่นดินมาอยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของโลก แน่นอนโลกย่อมต้องปรับสมดุลใหม่ และนี่เองที่ทำให้ครูคิดว่าน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวเพิ่มมากขึ้น ภูเขาไฟที่เคยสงบเงียบกลับคุกรุ่นขึ้นมาใหม่”

“แต่ที่น่าเป็นห่วงมากก็คือเหนือขึ้นไปจากหมู่บ้านเราไม่กี่สิบกิโลมีเขื่อนใหญ่เก็บน้ำอยู่หลายพันล้านลูกบาศก์เมตร หากเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่บ้านเรา ครูเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จะขอให้เขาลดการกักเก็บน้ำลง ไม่รู้ว่าจะยอมรับไหม ไม่รู้ว่าเขาจะเห็นแก่ความสะดวกสบายในการใช้ไฟฟ้าหรือจะเห็นแก่ชีวิตของพวกเราที่อาศัยอยู่ใต้เขื่อนมากกว่ากัน ครูได้แต่ภาวนาขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์จงดลบันดาลอย่าให้เกิดแผ่นดินไหวบริเวณนี้เลย หรือไม่ก็ผู้ที่รับผิดชอบคิดถึงชีวิตของพวกเราคนไทยใต้เขื่อนใหญ่ๆ ด้วย หวังว่าเขาจะตระหนักถึงความรับผิดชอบในทุกชีวิตที่อยู่ใต้เขื่อน”

ทุกคนเงียบ ซักพักครูใหญ่ก็พูดต่อ “ครูว่าครูพูดมากไปรึเปล่า ไม่รู้พวกเราจะพอเข้าใจได้ไหม แต่ที่สำคัญ ครูขอให้พวกเราช่วยกันประหยัดพลังงานทุกอย่าง ทั้งน้ำมันและไฟฟ้า ช่วยกันแนะนำทุกคนที่เรารู้จัก ใช้ชีวิตตามแนวของในหลวง ก็จะช่วยกันลดภาวะโลกร้อนได้โดยปริยาย ครูรักพวกเรา อยากให้เราทุกคนอยู่รอดปลอดภัย ทำตัวให้เป็นแบบอย่างของผู้คนรอบข้างนะ”



โดย สรยุทธ รัตนพจนารถ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๒

ข้าวต้มข้าวใหม่ร้อนๆ ควันฉุย น้ำข้าวหนืดๆ หน่อย เหนียวกำลังดี วางคู่กับข้าวง่ายๆ ไข่เจียวไชโป๊ว ผักกาดดอง ขิงดอง หมูหวาน ถึงคุณค่าทางโภชนาการจะไม่สูงนัก แต่ก็คุณค่าทางจิตใจก็สูงยิ่ง ไม่ใช่เพราะเป็นกับข้าวโปรดของคุณแม่เท่านั้น แต่เป็นเพราะความรักความเอาใจใส่ของท่านที่ลุกมาแต่เช้าและจัดแจงปรุงขึ้นด้วย แม้สำรับเรียบง่ายแต่ความประณีตบรรจง แบบไม่มีจริตจะก้านนั้นประจักษ์ชัดเจน กับข้าวมื้อแรกของปีถูกนั่งละเลียดสบายๆ กับสมาชิกในครอบครัว ตามด้วยผลไม้ไทยและเทศ กินแกล้มเสียงหัวเราะคิกคัก

ที่เขาว่าหนังท้องตึงหนังตาหย่อนคงจะจริง อากาศในห้องนอนอุ่นกว่าส่วนอื่นของบ้าน เตียงไม้ยังเย็นยะเยียบตั้งแต่เมื่อคืนที่อบร่ำด้วยลมหนาวจากจีนที่หอบเอาความรื่นเริงจากงานปาร์ตี้มาฝาก

เอนหลังได้สองสามนาที รู้สึกดีว่าได้ให้รางวัลกับตัวเองในวันหยุดนี้แล้ว บอกกับตัวเองว่าไปเดินเล่นดีกว่า ดีกับสุขภาพ จะได้ออกไปดูด้วยว่าข้างนอกเป็นอย่างไรกันบ้างด้วย

ถนนในซอยหน้าบ้านเงียบสงบ นานๆ จะมีแมงกะไซวิ่งช้าๆ ผ่านไปสักคัน สภาพต่างจากเช้าวันพฤหัสธรรมดาอื่นๆ อย่างไม่น่าเชื่อ บรรยากาศเหมือนเด็กๆ ขี้เซา เพิ่งเริ่มตื่น เงียบแต่ไม่เหงา คงเพราะเสียงหัวเราะและเสียงดนตรีที่ดังมาจากปากซอยทั้งสองข้างขับกล่อมทั้งคืน พร้อมกับแสงและเสียงจากพลุเฉลิมฉลองที่จุดกันดังสนั่น

แต่ที่บ้านไม่ได้ออกมาดูกับเขาหรอก เมื่อคืนเราเลือกนั่งสมาธิข้ามปีกัน ก็ไม่ได้มีเหตุผลอะไรมาก รู้สึกว่ามันโดนกับเรามากกว่าอย่างอื่นในปีนี้เท่านั้น ปีแรกๆ ที่นั่งกันก็ขัดเขินกันอยู่บ้างไม่รู้ว่าจะทำอะไรเมื่อไหร่ จะนั่งนานแค่ไหนดี เพราะบางคนนั่งนานขณะที่บางคนนั่งแป๊บเดียว ปีนี้ใครนั่งยาวกว่าก็เข้าไปนั่งในห้องพระก่อน ใครอยากไปนั่งเมื่อไหร่ก็ตามอัธยาศัย เรื่องบอกเวลาขึ้นปีใหม่นั้นไม่ต้องเพราะเขาส่งสัญญาณกันทั่วเมือง ได้ยินต่อเนื่องกันเป็นสิบนาที นึกๆ ดูก็ขำดี ตอนที่อยู่เงียบๆ สักพักก็เสียงพลุดังอยู่เป็นนาน แล้วก็กลับมาเงียบใหม่อีกครั้ง เดี๋ยวเงียบเดี๋ยวดัง คล้ายกันทั้งข้างนอกข้างใน

ผมออกเดินไปเรื่อยๆ ลมเย็นๆ ปะทะร่างกายให้ได้เตือนว่าอย่าลืมชื่นชมกับเหมันตฤดูที่แสนสั้นของเมืองกรุง ฤดูหนาวอีกแล้วสินะ จริงสิ ต้นโมกในบ้านหลายต้นเริ่มผลัดใบ แม้จะออกดอกตลอดปี หน้าหนาวโมกออกดอกไม่มาก จึงดูจะแต่งตัวแข่งกันเป็นพิเศษ รู้สึกขอบใจแสงแดดอุ่นๆ ที่ทำให้ได้ดอกขาวสะอาด ช่อดอกตูมเป็นกระเปาะน้อยๆ ห้อยย้อยน่ารัก ขอบใจสายลมที่ช่วยพาความหอมใสๆ เบาๆ ของดอกบานมาให้ชื่นชมแม้ยืนอยู่ไกลๆ

การได้มีช่วงเวลาอยู่กับตัวเองบ้าง ไปอย่างช้าๆ เรื่อยๆ ไม่เร่งรีบ เปรียบเสมือนคำเชิญชวนให้ได้สะท้อนถึงชีวิตและการเดินทางที่ผ่านมา

ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ดีที่สุดปีหนึ่งของชีวิต ได้มีกลุ่มกัลยาณมิตรที่ช่วยเตือนช่วยแนะนำส่งเสริมกัน ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยที่มีความเชื่อร่วมกันว่า “การวิจัยเป็นดั่งชีวิต” ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน ข้อสรุป และการนำเสนอผลงานในรูปแบบที่ทุกคนในทีมมีความเชื่อมั่นร่วมกันว่า “ใช่” ไม่ต้องยิ่งใหญ่ ไม่ต้องพิเศษเกินปรกติ ง่ายๆ แต่มีความหมาย

การเรียนรู้ร่วมกันกับกลุ่มนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยก็น่าทึ่ง เพราะทุกคนต่างเห็นความสำคัญของสมดุลของการเรียนรู้วิชาชีพควบคู่กับการเรียนรู้ด้านในบนฐานของการมีสติ การรู้ลงไปเฉยๆ “ใจเป็นอย่างไร รู้ไปอย่างนั้น” อย่างที่เรามักเรียกเล่นกันอย่างทีเล่นทีจริง ทุกคนเป็นครูและศิษย์ของกันและกัน ต่างมุ่งมั่นที่จะ “เข้าใจตนเองและโลก ผ่านการน้อมเอาวิชาเข้ามาสู่ใจและชีวิต” การได้มีพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถสุนทรียสนทนาหรือไดอะล็อกได้ทุกเรื่องนั้นเปรียบเสมือนพรอันประเสริฐ (ซึ่งก็คือมงคลชีวิต) อย่างหนึ่ง ต่างใช้กายและใจตนเองเป็นเครื่องมือเรียนรู้ แล้วร่วมแบ่งปันกันอย่างเปิดใจ ผลก็คือการเรียนรู้ที่เราเชื่อว่ามันใช่และมีความหมายสำหรับพวกเรา เพราะความสัมพันธ์ของทุกคนดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับกายและใจของเราเอง ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเราด้วยกัน ระหว่างคนในครอบครัว ระหว่างเรากับโลก และกับความจริงของชีวิต

ระยะหลังผมเดินไปปากซอยช้าลง ไม่ว่าจะเป็นช่วงเช้าหรือช่วงเย็น ส่วนหนึ่งเพราะรู้สึกดีทุกครั้ง เวลาเห็นอะไรใหม่ที่เราไม่เคยเห็น (อ้าว มันมีไอ้นี่อยู่ตรงนี้ด้วยเหรอ) ซึ่งก็มีให้เห็นได้ทุกครั้งไป อีกส่วนก็เพราะยังเจ็บเข่าอยู่นิดหน่อย อันที่จริงแล้วแค่การเดินได้และได้เดินนี่ก็เป็นพรอันประเสริฐไม่น้อย นึกถึงตอนที่ไม่สบายเจ็บขา เดินไม่ได้ ตอนนั้นแค่ขยับไปไหนในห้องแต่ละทีต้องคิดแล้วคิดอีกว่าคุ้มที่จะต้องออกแรง และแลกกับความเจ็บปวดไหม เราเองก็ไม่ค่อยได้ขอบคุณและชื่นชมร่างกายที่ช่วยให้เราเดินเหินไปไหนมาไหนได้สักเท่าไหร่นะ ตั้งใจว่าจะไม่ดูแคลนความเจ็บป่วยแม้เล็กน้อยของคนอื่น

เรื่องความเจ็บป่วยในปีผ่านมาที่น่าจะเป็นไฮไลท์คืออาการแผลร้อนในกว่าสิบแห่งในปากและเป็นอยู่นานเกือบเดือน ช่วงนั้นการกินอาหารแต่ละมื้อแค่คิดก็เหนื่อยและท้อแล้ว ทุกมื้อกินไปน้ำตาคลอไป บางครั้งถึงขนาดคิดว่ายอมอดดีกว่า เริ่มเข้าใจคนที่รับเคมีบำบัดเพื่อรักษามะเร็งแล้ว ว่าทำไมหลายคนจึงบอกว่าไม่เอาแล้ว ขอยอมตายดีกว่า นึกถึงคำพูดพี่ใหญ่ วิศิษฐ์ วังวิญญู ที่ว่าความทุกข์ของเราทำให้เราเข้าใจความทุกข์ของผู้อื่น คนที่เผชิญกับความทุกข์อย่างแสนสาหัสอาจจะเป็นผู้บำเพ็ญตนอยู่บนเส้นทางของพระโพธิสัตว์ก็เป็นได้

หนึ่งในสิ่งที่ประทับใจที่สุดในรอบปีคงต้องมีเรื่องการเห็นตนเองที่หลุดหรือเผลอ บางครั้งก็ทำบางอย่างที่ถ้าคิดโดยใช้เหตุผลก็ไม่ควรทำ แต่ก็ได้ทำลงไปแล้ว ได้เห็นช่วงเวลาที่เราอ่อนแอ ไม่ได้เข้มแข็งอย่างที่เราอยากจะเป็นทั้งในตอนนั้น และในตอนนี้ ที่น่าตื่นเต้นกว่าก็คือเห็นความอยากของเราที่จะไม่อ่อนแอนี่แหละ ตอนนั้นอาจจะไม่ค่อยทัน ก็เลยรู้สึกแย่กับตนเองมาก จัดการอย่างไรก็ไม่ได้ มาตอนนี้เริ่มเห็นบ่อยขึ้น พอปล่อยมันลงไป เราก็รับได้กับตัวเราทั้งด้านที่อ่อนแอและไม่อ่อนแอมากขึ้น รู้สึกสบายดีไม่ต้องไปแบกอีก แถมเข้าอกเข้าใจคนที่บางทีเขาก็หลุดเหมือนกับเรา พอเราเข้าใจ เห็นใจ ยอมรับ และยอมให้อภัยตัวเองได้ ใจก็เลิกคิดที่จะไปโทษใครต่อใครลงไปมาก ชีวิตนี้เบาขึ้นอีกอักโข

เดินไม่นานสักพักก็ถึงปากซอย ผมรู้สึกทันทีว่าวันนี้คลื่นดีเป็นพิเศษ ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส หัวร่อต่อกระซิกกันให้ได้อบอุ่นแม้เพียงแค่มอง หรือจะส่งยิ้มแบบว่าขอมีส่วนร่วมก็ได้ ที่นี่มีร้านค้าแผงลอยขึ้นชื่อจำนวนมาก บรรดาพ่อค้าแม่ค้าเริ่มทยอยมาตั้งแผงเปิดร้าน สาวเจ้าของแผงคนหนึ่งขี่มอเตอร์ไซค์ทักทายมาแต่ไกล “สวัสดีปีใหม่จ้า โชคดีมีชัย ร่ำรวยกันหรือยัง?” เรียกเสียงฮาได้ดี ผมเองเคยอุดหนุนสินค้าดีๆ อร่อยๆ ของเธอและเพื่อนๆ เป็นประจำ นึกขอบคุณที่ช่วยดูแลให้ชุมชนเราอิ่มหนำสำราญ

หนึ่งในภารกิจเช้านี้คือไปซื้อกาแฟเจ้าโปรดให้พี่สาว ผมเดินข้ามถนนไปพร้อมกับขอบคุณความสัมพันธ์ของผมกับพี่สาวและกับทุกคนในบ้านที่ดีขึ้นอย่างยิ่ง ผมสามารถชื่นชมเธออย่างที่เธอเป็นได้มากขึ้น ดีใจที่เข้าใจว่าเรื่องราวที่ฝังหัวมาตั้งแต่เล็กมันเป็นเพียงแค่เรื่องราวการปรุงแต่งของผมเองอย่างไร ดีใจที่เราสนิทกันและเธอไหว้วานให้ผมช่วยทำนู่นทำนี่บ่อยขึ้น ผมขอบคุณชาวไร่ที่ปลูกกาแฟและอ้อย คนในฟาร์มที่เลี้ยงวัว และธรรมชาติที่สรรค์สร้างให้สิ่งเหล่านี้เป็นจริงขึ้นมาได้ และท้ายสุดร้านกาแฟที่เสกส่วนผสมเหล่านี้เป็นกาแฟแก้วโปรดที่เชื่อมสัมพันธ์ผมและพี่สาวเข้าไว้กับโลกใบน้อยและจักรวาลกว้างใหญ่นี้

ขากลับผมแวะซื้อพวงมาลัยสำหรับไหว้พระ และสำหรับพวกเราพี่น้องกราบคุณแม่ คุณอาทั้งสองที่บ้าน นึกชมคนร้อยพวงมาลัยว่าฝีมือคล่องแคล่วเหลือเกิน ดูแทบไม่ทัน ที่สำคัญเธอก็ช่างใจดี ยิ้มแย้มเหมือนแม่ค้าอื่นแถวนี้ ที่ไม่ได้บ่นหรือแสดงสีหน้าเวลาผมใช้เวลาเลือกอยู่นาน

ถึงกลางทางเจอทีมเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตเก้าคนทั้งชายและหญิงกำลังตัดแต่งต้นไม้อย่างขะมักเขม้น ทั้งอโศกอินเดีย ประดู่กิ่งอ่อน และตะเบบูย่า-ชมพูพันธุ์ทิพย์ แหมขยันขันแข็งกันจัง ตั้งแต่ปีใหม่เชียว เห็นหลายคนเหงื่อไหลไคลย้อยเพราะแดดเริ่มออกแล้ว ผมเดินย้อนกลับไปหาซื้อน้ำผลไม้และน้ำอัดลมเย็นเจี๊ยบพอคนละขวดคนละกระป๋อง มอบให้พร้อมคำสวัสดีปีใหม่และคำขอบคุณที่ช่วยให้ถนนหนทางสวยงาม ไฟฟ้าไม่ดับเวลาพายุมา พนักงานสาวคนงามกล่าวขอบคุณและแซวพอให้ได้หัวเราะกัน

เดินผ่านบ้านของรุ่นพี่ที่รักและเคารพนับถือกัน ที่รั้วมีต้นและดอกพวงชมพูระย้าออกมาข้างนอก “เด็ดได้เลยนะ เมื่อไหร่ก็ได้” พี่เขาบอกพร้อมรอยยิ้มเมื่อคราวผมไปเยี่ยมเขาที่กลายเป็นเขยเชียงรายไปแล้ว ผมคุยกับบรรดาช่อดอกพวงชมพูที่ดูสวยทุกช่อ เอ่ยปากชักชวนในใจขอไปปักแจกันสักก้าน เด็ดไปก็ขอบคุณทั้งเจ้าพวงชมพูและเจ้าของไปพร้อมกัน ถึงบ้านก็เอาวิชาจัดดอกไม้แบบอิเคบานะที่ร่ำเรียนมาใช้ ได้แจกันง่ายๆ ที่ส่งรัศมีความสุขไปให้ทั้งห้อง

ตกบ่ายหลังจากไปเยี่ยมคุณอาพร้อมกินอาหารมื้อกลางวันที่จัดเตรียมด้วยความรักความเมตตาเช่นเดียวกับมื้อเช้า ผมก็มานั่งในสวนเขียนบทความ แดดร่มลมตกแล้ว ลมโชยเย็นๆ มีแมลงแปลกๆ ที่ผมไม่เคยเห็นแวะเวียนมาเยี่ยม พร้อมด้วยนกต่างๆ ที่เป็นขาประจำ ทั้งกางเขนบ้าน เขาชวา ปรอด กินปลี รู้สึกว่าช่างเป็นวันปีใหม่ที่งดงาม เรียบง่าย และรุ่มรวยจัง

นึกถึงเอสเอ็มเอสที่ได้รับเมื่อคืนจากกัลยาณมิตรนักเดินทางผู้เป็นครูโยคะอยู่ที่เกาะพงัน เธอส่งมาเป็นภาษาอังกฤษแปลความว่า “ชีวิตนั้นเบาสบาย ... สุขสันต์ปีใหม่ และขอให้ได้ใช้ชีวิตอย่างเบาสบาย” ขอบคุณครับ ขอบคุณ :-)

Newer Posts Older Posts Home