โดย วิจักขณ์ พานิช เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๔๙
------------------------------------------

(๑)
บ่อยครั้งที่มักจะมีความคาดหวังเกี่ยวกับเรื่องของจิตตปัญญาศึกษา ว่าจะเป็นรูปแบบการศึกษาที่ผลิต “คนดีมีศีลธรรม” ออกมาสู่สังคม ความคาดหวังในลักษณะนี้หาใช่เป็นเรื่องเสียหาย แต่ทั้งนี้ ความคาดหวังใดๆ ที่เรามีต่อกระบวนการศึกษา อาจกลายเป็นอุปสรรคที่ขวางกั้นการเรียนรู้ของทั้งผู้เรียนและผู้คาดหวัง ได้อย่างที่เราคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

ความคาดหวังแม้จะเป็นความคาดหวังในด้านดี ก็ถือเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการเรียนรู้ ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อทวินิยมแห่งกฎเกณฑ์ มาตรฐาน การวัดผลดีชั่วถูกผิด ได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือประสบการณ์ตรงของผู้เรียนเสียแล้ว ผลก็คือ ประสบการณ์จะถูกเจือปนไปด้วยบทสรุปล่วงหน้าเหล่านั้น จนผู้เรียนไม่สามารถเชื่อใจในสิ่งที่ตนเองประสบมาได้อีกต่อไป เมื่อนั้นความกลัวจะแทรกตัวเข้ามาแทนที่ กลายเป็นการเลือกที่จะฟังเสียงภายนอกแทนเสียงแห่งคุณค่าภายใน จากนั้นจึงหันไปยึดมั่นต่อการเรียนรู้ถูกผิด การตัดสินลงโทษ การสร้างความรู้สึกละอายที่ฝังรากลึก จนกลายเป็นตราบาป ผูกมัดเป็นปมด้อยภายในอันไร้ทางแก้
ในช่วงไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมา อิทธิพลของความเชื่อเรื่องบาปติดตัว (Original Sin) ที่ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมตะวันตกนั้น ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมพุทธในบ้านเรามากเหลือเกิน การตัดสินผู้อื่นอย่างเสียๆ หายๆ จากสิ่งละอันพันละน้อยที่เขาได้กระทำในอดีต อย่างที่ไม่รู้จักความหมายของการให้โอกาส หรือให้อภัยด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ดูจะกลายเป็นลักษณะนิสัยที่มีอยู่ในตัวคนไทยอย่างที่ไม่มีใครรู้ตัว ทั้งนี้ยังไม่รวมนิสัยการชอบนินทา ว่าผู้อื่นเสียๆ หายๆ ลับหลัง ฯลฯ แม้แต่การนำความคาดหวังทางศีลธรรมจริยธรรมมาตัดสินคุณค่าผู้อื่น เช่น คนกินเหล้าสูบบุหรี่เป็นคนเลวไม่น่าคบ ท้องก่อนแต่งเป็นพฤติกรรมที่ต้องประจาน เด็กที่ไม่มีสัมมาคารวะ เถียงผู้ใหญ่เป็นเด็กดื้อไม่น่ารัก ฯลฯ คุก เรือนจำ และทัณฑสถาน ก็กลายเป็นสถานที่รวมเหล่าสัตว์เดรัจฉานชั่วช้า คนบ้าวิกลจริตกลายเป็นพวกน่ารังเกียจ หญิงค้าประเวณีเป็นกาลกิณีของสังคม และอีกมากมายที่เรียงรายเต็มหน้าหนังสือพิมพ์

ในทางกลับกัน เรากลับยกย่องเชิดชูนักการเมือง คนร่ำคนรวย ผู้มีอำนาจที่โกงกินบนหลังประชาชน พระสงฆ์องค์เจ้าผู้อาศัยผ้าเหลืองแสวงหาลาภสักการะ ดารา นักร้อง คนเด่นดังที่เอาแต่สร้างภาพมายาของความเป็นคนของประชาชน เปลือกที่สวยงามเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ใครๆ ต่างปรารถนา ขอเพียงตัวสูตัวกูดูใสซื่อมือสะอาด จิตใจด้านในจะชั่วช้าสามานย์ไม่เป็นไรเพราะอย่างน้อยก็ไม่มีใครเห็น

หากการศึกษาไม่สามารถที่จะแทรกผ่านเมฆหมอกแห่งสมมติสัจจะเหล่านั้นไปได้ การเรียนรู้ยังสอนให้คนประดิษฐ์หน้ากากสวยๆ มาสวมใส่ยิ้มให้กัน แต่จิตใจกลับยังคับแคบ แบ่งแยกสูงต่ำดำขาว ดีชั่ว ถูกผิด เป็นนิจศีล การศึกษาที่ว่าก็คงเป็นได้เพียงเครื่องมือผลิตคนกึ่งดิบกึ่งดี ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม พอที่จะเป็นปากเสียงให้สังคมได้ก้าวไปในทิศทางแห่งการเข้าถึงความจริงได้เลย

(๒)
การมาศึกษาต่อต่างประเทศในมหาวิทยาลัยเล็กๆ ที่มีพื้นฐานของการเรียนรู้ด้านใน ทำให้ผู้เขียนได้ตระหนักว่า การเรียนรู้เป็นสิ่งที่สุดแสนจะธรรมดา ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกๆ ที่ ที่ผู้คนมีจิตใจเปิดกว้าง และเคารพศักยภาพของกันและกัน นักเรียนที่นี่ดูจะไม่มีความดัดจริต แต่ละคนดูมีความมั่นใจในทุกประสบการณ์ที่เขาได้ผ่านมาในชีวิต ไม่ว่ามันจะดูดีเลวอย่างไรในสายตาคนอื่น ใครจะสูบบุหรี่ก็สูบ ใครจะกินเหล้าก็กิน ใครจะรักเพศอะไร จะทำงานสูงต่ำเพียงไหน จะเป็นลูกผู้ดีมีจนอย่างไรก็สุดแล้วแต่ เราต่างก็ยังเป็นคนธรรมดาๆ ที่พร้อมจะมาเปิดใจเรียนรู้ร่วมกัน เมื่อเราสามารถยอมรับในความแตกต่าง สามารถหลอมรวมทุกประสบการณ์แห่งชีวิตไม่ว่ามันจะเจ็บปวด หรือรื่นรมย์เพียงไหน เมื่อนั้นเราก็สามารถที่จะเคารพในทุกประสบการณ์แห่งการเรียนรู้ทั้งในตนเองและผู้อื่น ได้อย่างไร้การเปรียบเทียบ

เพื่อนร่วมกระบวนการเรียนรู้บนเส้นทางแห่งการฝึกตนนั้น หาใช่เป็นคนที่ดีเด่ ไม่ใช่คนเท่ คนยิ่งใหญ่ และไม่ใช่นักเรียนดีเด่น เพราะพวกเขาไม่มีภาพลักษณ์ของความสมบูรณ์แบบ พวกเขาจึงไม่ใช่คนอวดดี ที่เอาแต่ยกตนข่มท่าน แต่กลับเป็นคนธรรมดาๆ ที่ให้ความเคารพผู้อื่นอย่างจริงใจในแบบที่เขาสามารถเคารพตัวเขาเองได้เสมอ เพื่อนเหล่านี้คือ เพื่อนแท้ที่คอยแบ่งปันประสบการณ์แห่งการเรียนรู้จากใจ เราเรียนรู้ร่วมกัน ภาวนาร่วมกัน เราคอยประคับประคองกันในยามสับสนพลาดพลั้ง เราให้กำลังใจกันในยามที่เพื่อนเลือกทางที่ต่างกันออกไป ผิดถูกอย่างไรไม่สำคัญเพราะอย่างน้อยเราก็เชื่อว่า ทุกเส้นทางที่แต่ละคนได้เลือก เต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการแห่งความดีงามของการทำประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

เพื่อนฝรั่งเพี้ยนๆ แปลกๆ ของผู้เขียนมีความเชื่อร่วมกันว่า การภาวนาศึกษาคุณค่าด้านใน ไม่สามารถเปลี่ยนเขาไปจากความเป็นตัวของเขาเองได้ เพื่อนเหล่านี้มักจะพูดเสมอว่า “เราไม่ได้ภาวนาเพื่อที่จะเลียนแบบใคร เราไม่ได้ต้องการเป็นคนดี หรือเพื่อให้ดูขลัง (spiritual) เราแค่มาที่นี่เพื่อค้นหาตัวเราเอง” เพื่อนเหล่านี้พอเรียนจบก็ออกไปทำงานแปลกๆ บ้างก็ไปสอนคนในคุก บ้างก็ไปทำงานเพื่อสิทธิผู้หญิงค้าประเวณี บ้างก็ไปเป็นนักเขียน บางคนไปทำธุรกิจส่วนตัว หรือไปเรียนต่อด้านอื่น แต่สิ่งที่ทุกคนยังมีเหมือนกันก็คือ ทุกคนยังให้คุณค่ากับความธรรมดา ของการเป็นคนธรรมดาๆ ไม่เปลี่ยนแปลง

ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่าครูอาจารย์ในแวดวงจิตตปัญญาศึกษาในบ้านเรา จะเป็นผู้ที่มีจิตใจกว้างพอ ที่จะเคารพศักยภาพที่มีอยู่ในตัวผู้เรียนทุกคนอย่างไม่มีอคติ และพร้อมที่จะเป็นเพื่อนแท้แห่งการเรียนรู้ด้วยใจจริง เพราะหากเรามัวแต่ไปตัดสินกันด้วยหน้ากากทางจริยธรรม ความเลิศล้ำทางวิชาการ หรือ ภาพความสูงส่งทางจิตวิญญาณผิวเผิน อย่างที่ไม่สามารถเคารพในความติดดินธรรมดาสามัญ “มือเปื้อนดิน ตีนเปื้อนโคลน” ในความไม่สมบูรณ์แบบที่ง่ายงามของกันและกันได้ ก็คงไม่มีทางที่กระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงภายในจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง เราน่าจะหันมาให้คุณค่าแก่การออกนอกลู่นอกทาง ความบ้า ความเพี้ยน และชื่นชมในศักยภาพที่แปลกและแตกต่างของกันและกันให้มากขึ้น อย่าเอาแต่เพียงทำอะไร “ดีๆ” ตามๆ กัน แล้วด้นถอยหลังกลับไปสู่รูปแบบเดิมๆ ของการเรียนการสอนแบบอำนาจความคาดหวังเบ็ดเสร็จ ใช้กฎเกณฑ์ เครื่องวัดผิดถูก สูงต่ำทางศีลธรรม ยัดเยียดหน้ากากแห่งความสมบูรณ์แบบและพฤติกรรมดิบๆ ดีๆ ให้กันอย่างน่าอเนจอนาถเป็นที่สุด

...เพราะหากเป็นเช่นนั้นจิตตปัญญาศึกษาก็ได้แยกตัวเองออกจากความเป็นจริงที่หลากหลายในปัจเจกบุคคลโดยสมบูรณ์ และเป็นได้แค่เพียง “การศึกษาติดดี” ที่เอาไว้ใช้สำเร็จความใคร่ทางวิชาการของนักปรัชญาการศึกษากลุ่มหนึ่งเพียงเท่านั้น



โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๙
-----------------------------------------

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นครูสอนวิชาสาขามนุษยศาสตร์คนหนึ่งที่อยากให้ทุกคนตระหนักและเข้าใจ คุณค่าของความเป็นมนุษย์ของแต่ละคน โดยมองก้าวข้ามความแตกต่าง ไม่ว่าเขาคนนั้นเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย หรือเป็นเพศทางเลือก ไม่ว่าเขาเป็นคนเชื้อชาติไทย มลายู เขมร ลาว เป็นคนดำ คนขาว หรือเป็นผู้ลี้ภัย ไม่ว่าเขาเป็นลูกหลานผู้มีความสำคัญ มีชื่อเสียงในสังคม หรือเป็นลูกชาวบ้านธรรมดาที่มาจากต่างจังหวัด และที่สำคัญ ไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือแม้แต่จะประกาศตัวว่า “ไม่มีศาสนา” เขาเหล่านั้นก็มี “ความเป็นมนุษย์” ที่รักสุข เกลียดทุกข์ เหมือนๆ กันทุกคน

การสอนให้นักศึกษาที่เป็นวัยรุ่นได้ตระหนักถึง “คุณค่าของความเป็นคน” ของตนเองและผู้อื่น เป็นสิ่งที่ยากและไม่น่าเร้าใจเท่ากับการสอนวิชาต่างๆ ที่สำคัญ ในสาขาวิชาชีพของตน อยากกล่าวให้เห็นตัวอย่างจริง เช่น นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ นักศึกษาวิทยาศาสตร์ โดยทั่วไปก็จะให้ความสำคัญ ตั้งใจทำงาน ในวิชาที่เป็นแกนของสาขาของตน เช่น วิชาฟิสิกส์ เคมี สรีรศาสตร์ เป็นต้น เมื่อนักศึกษาเหล่านี้ ต้องเรียนวิชา เกี่ยวข้องกับมนุษยศาสตร์ จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้สอน ที่จะต้องทำให้ นักศึกษาเหล่านั้นเห็นความสำคัญ
ในข้อเขียนเล็กๆ นี้ อยากแบ่งปันประสบการณ์ที่อาจเป็นประโยชน์ในการสอดแทรกการเรียนรู้คุณค่าของตนเองและผู้อื่น โดยผ่านกิจกรรมที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม มีประสบการณ์ร่วมง่ายๆ ดังต่อไปนี้

โดยทั่วไป นักศึกษาในช่วงปีต้นๆ ของระดับปริญญาตรีที่เพิ่งเปลี่ยนสถานภาพจากนักเรียนมัธยมศึกษา มาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ที่ดูเหมือนจะมีอิสรภาพมากขึ้น กำลังเรียนรู้ และพัฒนารูปแบบในการดำเนินชีวิตของตน บางคนอาจกำลังสับสน บางคนกำลังหาพ่อแบบ แม่แบบ ที่ตนเองอยากเป็นเหมือน ซึ่งอาจเป็นบุคคลในสังคม ในครอบครัว หรือแม้แต่ดาราหญิงชายทั้งหลายที่ตนชื่นชอบ จากการสังเกต นักศึกษาเหล่านี้อยากพัฒนา “ความมั่นใจในตนเอง” การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะมีความมั่นใจในตนเองได้ บุคคลนั้น ควรมีสิ่งที่ดีงาม ที่ตนเองภูมิใจ ยึดเป็นหลัก โดยเมื่อนึกถึงครั้งใด จะช่วยเสริมสร้างพลังใจ ความมั่นใจในคุณค่าของตนเองได้

ครั้งหนึ่งได้แนะนำกิจกรรม การนับเม็ดถั่วเขียว ที่ได้รับการถ่ายทอดและร่วมกิจกรรมการเจริญสติ จากท่านอาจารย์อมรา สาขากร ณ สวนพุทธธรรม จังหวัดอยุธยา ได้นำกิจกรรมนี้มาประยุกต์ใช้ในห้องเรียน กล่าวคือ
แจกถ้วยพลาสติกเล็กๆ สำหรับใส่น้ำจิ้มให้นักศึกษาคนละสองถ้วย ถ้วยหนึ่งใส่เม็ดถั่วเขียวจำนวนหนึ่ง แล้วให้ทุกๆ คน นั่งสงบนิ่ง ใช้เวลา “อยู่กับตนเอง” ให้ย้อนนึกถึง ชีวิต และเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ว่าเหตุการณ์ใดที่ตนเองพอใจ เป็นการทำความดี แล้วอยากให้รางวัลแก่ตนเอง เมื่อคิดอย่าง “มีสติ” และ “ซื่อสัตย์จริงใจ” ต่อเรื่องราวดีๆ ในชีวิตตนเองทีละเรื่อง ทีละเรื่อง ก็ให้หยิบเม็ดถั่วเขียวจากถ้วยหนึ่ง ไปใส่ในถ้วยที่ว่าง ทีละเม็ด ทีละเม็ด ตามเรื่องราวแต่ละเรื่องที่ตนคิดอยากให้รางวัลตนเอง

จากการสังเกต นักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมนี้ ตั้งใจและพยายามใช้สมาธิ เพื่อคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ของตนเองที่เป็นความดี และสามารถให้รางวัลแก่ตนเองได้ ภาพความตั้งใจ และเสียงเม็ดถั่วเขียวกระทบถ้วยพลาสติกทีละเม็ด ทีละเม็ด อย่างช้าๆ และมีสติ เป็นภาพที่อยากจดจำ และให้ได้เรียนรู้ว่า วัยรุ่นไทยก็สามารถตระหนักรู้ และพัฒนาสมาธิได้ไม่ยากนัก เวลาผ่านไปสิบนาที บางคนได้เม็ดถั่วเขียวในอีกถ้วยหนึ่ง มากบ้าง น้อยบ้าง หลังจากนั้นให้ทุกคน “ฟังอย่างตั้งใจ” ในเรื่องราวและเหตุผลของเพื่อนแต่ละคนที่เขาคิดว่าเป็นความดีที่ได้กระทำมา

ความดีที่พวกเขาคิด เป็นความดีที่บริสุทธิ์ เรียบง่าย บางคนบอกว่า วันนี้ได้ช่วยงานที่บ้านก่อนมาเรียน เป็นความดีเรื่องหนึ่งที่เขาอยากใส่เม็ดถั่วเขียว ให้รางวัลตัวเองหนึ่งเม็ด บางคนบอกว่า วันนี้ขึ้นรถเมล์ ได้ลุกให้ผู้หญิงนั่ง บางคนบอกว่า ได้ช่วยคนแก่ เข็นรถเข็นให้พ้นลูกระนาดที่สูงบนถนน บางคนบอกว่า ได้ช่วยอธิบายการบ้านแก่เพื่อน บางคนบอกว่า ให้เพื่อนที่เดือดร้อนยืมเงิน บางคนนึกถึงการบริจาคเลือด บางคนนึกถึงการไปเข้าค่ายร่วมสร้างโรงเรียนให้น้องๆ ในชนบท
ช่วงเวลาที่ต่างคนต่างเล่าถึง “ความดี” แม้เป็นเรื่องเล็กน้อย และต่างคน “ต่างฟัง” และ “พลอยร่วมทำใจยินดี” กับความดีของเพื่อน แม้บางเรื่องจะดูขบขัน เป็นที่เฮฮาของเพื่อนๆ เช่น การลุกให้ผู้หญิงนั่งบนรถเมล์ ก็จะมีเสียงแซวจากเพื่อนว่า “เพราะผู้หญิงสวยกระมัง จึงลุกให้นั่ง” สภาวะจิตใจของทั้งคนเล่าและคนฟัง ล้วนต่างมีความสุข อิ่มเอิบเบิกบาน และยิ่งได้พัฒนาความรู้สึก “มุทิตาจิต” ไปพร้อมๆ กันแล้ว พลังความดี และความสุข ได้แผ่ไปทั่วห้องเรียนนั้น อย่างคาดไม่ถึง
หลังจากนั้น นักศึกษาแต่ละคนจะได้มีโอกาสเล่าความรู้สึก และสิ่งที่ได้รับจากกิจกรรมนี้ ส่วนใหญ่ จะกล่าวในทำนองเดียวกันว่า นึกไม่ถึงว่า “ตนเองจะสามารถทำความดีได้” “ตนเองก็เป็นคนดีได้เหมือนกัน” นอกจากนั้น ยังได้ฟังเรื่องราวความดีที่หลากหลายจากเพื่อนคนอื่น บางคนบอกว่า นึกไม่ถึงว่า เพื่อนคนนั้นจะทำความดีอย่างนี้ได้ เพราะจากภายนอก “เขาได้ตัดสิน” นิสัยเพื่อนคนนั้นไว้ก่อน จากบุคลิกภาพท่าทางการพูดจาแล้ว!

จากกิจกรรมนี้ ได้เสริมว่า ทุกคนสามารถทำความดีได้ด้วยกันทั้งสิ้น มากบ้าง น้อยบ้าง เป็นเรื่องใหญ่บ้าง เป็นเรื่องเล็กบ้าง ขอให้ทุกคนยึดถือ และนึกถึงความดีเหล่านั้น แล้วค่อยๆ พัฒนาเพิ่มพูนความดีเหล่านั้น ทำซ้ำให้เป็นนิสัยเรื่อยๆ และสม่ำเสมอตลอดไป จะเป็นเบื้องต้นของการพัฒนาความมั่นใจในตนเอง เห็นคุณค่าของตนเอง เมื่อมนุษย์สามารถเห็นคุณค่าของตนเอง ก็จะสามารถพัฒนาการตระหนักถึงคุณค่า และความดีของผู้อื่นได้ง่ายขึ้น

การเรียนรู้โดยผ่านประสบการณ์ตรง และการถอดบทเรียนของนักศึกษาเช่นนี้ เป็นขั้นเบื้องต้น ของการสอดแทรก การเรียนรู้ให้ตระหนักถึง “คุณธรรม” “ศีลธรรม” ที่พวกเราอยากให้เยาวชนของเราได้พัฒนามากขึ้น ลองทำดูไม่ยากอย่างที่คิด!



โดย ชลลดา ทองทวี เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๙
-------------------------------------
บางครั้ง เราจะพบว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบและกดดัน ซ้ำร้ายผู้คนรอบข้างยังล้วนแต่ดูเร่งรีบ พยายามรุดไปข้างหน้า เพื่อแสวงหาบางสิ่งบางอย่างอยู่ตลอดเวลา

คำถามที่ผุดขึ้นมาคือ เรากำลังตามหาสิ่งใด? ในวัยเด็กนั้น เรารีบเร่งไปโรงเรียนเพื่อเรียนรู้วิชา และเลื่อนระดับการเรียนรู้ขึ้นไปทีละขั้นๆ ในวัยหนุ่มสาว เราเรียนวิชาที่อยู่ในสายเฉพาะทางมากขึ้น และเมื่อเรียนจบแล้ว เราคาดหวังว่าจะได้ทำงานด้านต่างๆ และได้รับค่าตอบแทนในรูปแบบต่างๆ เพื่อเลี้ยงชีวิต สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราตามหาอยู่จริงหรือ?

ลึกลงไป เราอาจจะกำลังตามหาบางสิ่งบางอย่างที่มากกว่านั้น ไม่ว่าจะความรักความอบอุ่นจากความสัมพันธ์กับครอบครัว ความสัมพันธ์ในความเป็นเพื่อน ความสุขจากการได้ทำงานศิลปะ หรืองานที่เรารัก ความสุขจากความสงบเย็นภายในจิตใจ เป็นสันติสุขหล่อเลี้ยงชีวิตด้านใน

แต่การดำเนินชีวิตอันเร่งร้อนอย่างที่เราทำอยู่ทุกวัน ดูเหมือนจะเดินไปคนละทิศคนละทางกับความสุขภายในที่เราแสวงหาเหล่านั้น การทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพทำให้เราต้องวุ่นกับการงานอันยุ่งเหยิง ทำให้เรามีเวลาพูดคุยและดูแลคนที่เรารักน้อยลง ความบีบรัดและแรงกดดันทางเศรษฐกิจนี้ ทำให้เราไม่มีเวลาหยิบพู่กันขึ้นมาวาดรูปสักรูป หรือเขียนบทกวีสักบทอย่างที่อยากจะทำ บางคนกลับเลือกหนทางสร้างความสุขด้วยการซื้อหาสิ่งของมาครอบครองเป็นเจ้าของ แต่ก็เป็นความสุขเพียงชั่วแล่น และยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้ต้องทำงานเพิ่มขึ้นเพื่อหารายได้ให้มากขึ้นไปอีก ความเครียดจากการงานทั้งหมดนี้ทำให้ความสงบเย็นภายในจิตใจเหือดแห้งไป

ดูเหมือนว่า ความกลัวที่จะสูญเสียความสุขทางกายวัตถุ เช่น การได้รับประทานอาหารที่เอร็ดอร่อย มีบ้าน มีรถขับไปไหนมาไหน ความกลัวที่จะเสียสิ่งเหล่านี้จะดึงเอาเวลาในชีวิตของเราไปเสียจนหมดสิ้น มันเป็นเหมือนเป้าหมายสำเร็จรูป และกลับกลายเป็นสิ่งที่เราเชื่อมั่นว่าจริง โดยไม่อาจตั้งคำถามได้
ผู้เขียนนึกถึงเรื่องของการเดินทางในวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “แฮรี่ พอตเตอร์” นึกถึงการก้าวทะลุผ่านกำแพงอิฐเพื่อไปขึ้นรถไฟ เพื่อมุ่งไปสู่การเรียนรู้ใหม่ของพ่อมดน้อยแฮรี่ ที่ชานชาลาหมายเลข ๙ ๓/๔ ภาพหรือสิ่งที่ตาเราเห็น คือกำแพงแข็งทึบที่ขวางกั้นอยู่เบื้องหน้า มันต้องอาศัยความเชื่อว่ามีอะไรที่ยิ่งใหญ่อีกมิติหนึ่ง นอกเหนือจากกายวัตถุที่เรายึดติดกันว่าเป็นจริง แฮรี่จึงจะก้าวทะลุพ้นกรอบเดิมๆ ที่กักขังชีวิตของเขาอยู่ออกไปได้

ชีวิตของคนเรา ยังมีอะไรที่มีค่ามากมายไปกว่าการพยายามบำรุงบำเรอร่างกายให้สุขสบาย ถ้าหากเรารับประทานอาหารน้อยลง แต่เรามีเวลา และมีความสุขมากขึ้น เราลองเดินเท้าบ้างแทนการขับรถ แต่ก็ทำให้เราทำงานน้อยลงและเจียดรายได้ไปจ่ายค่าน้ำมันน้อยลงด้วย เราก็น่าจะยังไปถึงจุดหมายเหมือนเดิม และยังดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่อาจมีความสุขมากขึ้นด้วย เราอาจจำเป็นต้องก้าวทะลุกรอบของกายวัตถุที่ขวางกั้นอยู่ เพื่อได้พบกับความหมายอื่นๆ ในชีวิตที่กำลังรอเราอยู่
เรื่องของกายวัตถุนั้นเป็นสภาพที่ดำรงอยู่ได้แค่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ เราเองไม่อาจจะยึดติดหรือหน่วงเหนี่ยวมันไว้ได้ ไม่ช้าก็เร็วเราคงต้องเผชิญกับความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นข้าวของในครอบครอง หรือผู้คนอันเป็นที่รัก รวมทั้งร่างกายของตนเองก็ต้องเสื่อมสลายไป

เรากำลังจะเดินชนกำแพงอิฐ ตรงที่ๆ น่าจะเป็นชานชาลาหมายเลข ๙ ๓/๔ เพราะเรากลัวจะบาดเจ็บหัวโนและไปไม่ถึงไหน มีเส้นบางๆ คั่นแบ่งอยู่ระหว่างความจริงทางวัตถุ และความจริงทางจิตใจ ความสุขทางใจที่เรามองไม่เห็นไม่ได้แปลว่ามันไม่มีอยู่ หรือด้อยคุณค่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราคงเคยได้ยินว่าคนร่ำรวยหลายคนกลับไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป เมื่อเขาขาดความสุข ขาดความรักในจิตใจ
เราต้องอาศัยความเชื่อที่ยิ่งใหญ่ ที่จะลองก้าวทะลุกำแพงแข็ง กำแพงที่ตีกรอบ และเป็นข้อจำกัดทางกายออกไปบ้าง และให้เวลากับชีวิตด้านในมากขึ้น

ไม่เช่นนั้น เราก็อาจเป็นแค่อีกคนหนึ่งที่ต้องต่อแถวเบียดเสียด แก่งแย่งกันขึ้นรถไฟที่ชานชาลาหมายเลขที่ ๙ หรือหมายเลขที่ ๑๐ เพียงเพราะว่า เรามองเห็นมันอยู่เบื้องหน้า และปิดอีกดวงตาหนึ่ง ซึ่งเป็นดวงตาด้านใน ดวงตาที่จะนำพาเราไปสู่การเดินทางที่มีความหมาย และเติมเต็มต่อชีวิตได้มากกว่านั้นมากมายนัก



โดย จารุพรรณ กุลดิลก เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๙
----------------------------------------
ผู้เขียนโดยส่วนตัวแล้วเป็นคนเหนื่อยง่าย อาจเป็นเพราะสุขภาพไม่ดี ไม่ค่อยออกกำลังกาย แต่ก็ไม่ค่อยยอมรับว่าเหนื่อย สามารถทำงานหามรุ่งหามค่ำจนโดนหามเข้าโรงพยาบาลก็เคย เมื่อก่อนน้ำหนักน้อยมาก ผอมบางเอวกิ่ว โรคที่เป็นบ่อยคือ ปวดท้องลำไส้อักเสบ อาหารเป็นพิษ เกือบจะเสียชีวิตก็เคย ปวดท้องกระทั่งหมดสติ ฟุบร่วงลงไปกับพื้นถนน กว่าคุณหมอจะวินิจฉัยได้ว่าเป็นปัญหาที่ลำไส้ติดเชื้อ ก็เกือบจะได้บ๋ายบายโลกนี้ไปแล้ว แต่ก่อนเคยคิดว่าเราไม่กลัวตาย พอเอาเข้าจริงๆ ณ วินาทีที่เฉียดตายถึงรู้ตัวว่ากลัวตายมากทีเดียว มีห่วงกังวลอีกมากมาย เมื่อฟื้นขึ้นมาก็พบว่าแค่หมดสติไปชั่วครู่ เห็นใบหน้าบิดาเป็นคนแรก สงสารท่านจับใจ แทนที่เราจะเป็นฝ่ายดูแลท่าน ท่านกลับต้องมาดูแลเรา ตั้งแต่นั้นมา ผู้เขียนเปลี่ยนเป็นคนละคน พูดจาไพเราะขึ้น ไม่เอาแต่ใจตนเอง ดูแลเอาใจใส่คนรอบข้าง และตั้งปณิธานว่าจะทำประโยชน์ให้กับสังคมและคนอื่นที่ด้อยโอกาส ผู้เขียนไม่สนใจเรื่องความงามอีกต่อไป ขอให้ชีวิตรอด รักษาสุขภาพให้ดี จะได้ดูแลคนอื่นๆ บ้าง คิดแค่นี้ก็สุขใจแล้ว แต่ก็ยังไม่ใช่ก้าวย่างแห่งความสุขที่แท้

เนื่องจากการเจ็บป่วยในครั้งนั้นไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากเชื้อโรคอะไร มาถึงโรงพยาบาลช้าเกินไป คุณหมอจึงให้ยาปฏิชีวนะที่ทำลายเชื้อโรคเกือบทุกชนิด รวมทั้งชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายด้วย เรียกว่าลำไส้โดนล้างสะอาดเอี่ยม เชื้อจุลินทรีย์ตายเรียบ ดังนั้นหนทางเดียวจะไม่ให้ป่วยบ่อยคือ ออกกำลังกายและเพิ่มน้ำหนักให้มากขึ้น
หลายปีผ่านไป ผู้เขียนก็กลับมาทำงานหามรุ่งหามค่ำอีก ทั้งงานหลวงงานราษฎร์ ปฏิเสธไม่ได้สักงาน เลยไม่สนใจออกกำลังกาย แต่เนื่องจากร่างกายค่อนข้างสมบูรณ์จึงไม่ค่อยป่วยง่ายๆ เหมือนก่อน พอรู้สึกจะไม่สบาย ก็หาเรื่องรับประทานต้านโรค หาอาหารมาบำรุงสารพัด เพื่อไว้ต่อสู้กับไวรัส สารพัดวายร้าย เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลเฉพาะตน แต่ขัดใจคนอื่น ครั้งหนึ่งคนรอบข้างทนไม่ไหว บอกว่าเธออ้วนเกินไปแล้ว ฉันรับไม่ได้ เมื่อก่อนเธอสวยกว่านี้ ลดน้ำหนักเดี๋ยวนี้ ผู้เขียนก็ได้แต่งุนงงว่าทำไมคนรอบข้างจึงเป็นทุกข์นัก ทั้งๆ ที่เรายังหายใจอยู่นะ แถมทำงานได้เยอะมากด้วย

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้คนรอบข้างไม่เป็นทุกข์ทางสายตามากเกินไป เราจึงเริ่มออกกำลังกายในขณะทำงานไปด้วย บริหารคอ มือ แขน ขา ตามตำราที่มีขายอยู่ทั่วไป ได้ผลระดับหนึ่ง พยายามกระโดดหน้าโต๊ะทำงาน และแข็งใจไม่รับประทานอาหารเย็นอยู่พักใหญ่ จนน้ำหนักลดลงมาระดับหนึ่ง คนก็เริ่มชมว่า เธอกลับมาเหมือนเดิมแล้ว พอจะเป็นที่ถูกใจธารกำนัลสักพักใหญ่ (หมายเหตุ แต่ตัวเองเกือบตาย หน้ามืดเป็นลมอยู่หลายครั้ง) ผู้เขียนก็เริ่มกลับมาเจ้าเนื้อเหมือนเดิม แบบเอาใจเธอแล้ว ก็มาเอาใจฉันบ้าง ร่างกายไม่แข็งแรงจะให้ทำอย่างไร ต้องรักษาชีวิตเพื่อทำงานตรงหน้ากองใหญ่ให้สำเร็จ
ที่เล่ามาทั้งหมด ไม่ได้เล่าเพื่อสร้างแรงจูงใจ ให้ผู้อ่านไปเพิ่มน้ำหนัก เพื่อร่างกายจะได้บึกบึน สามารถโหมงานหนักโดยไม่ต้องออกกำลังกาย เพราะเป็นการใช้ชีวิตที่ผิด เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุจริงๆ และโรคต่างๆ ก็จะตามมาเป็นหางว่าว โดยเฉพาะโรคเครียด โรคหดหู่ซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว

อารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้ สามารถอธิบายได้โดยหลักทางวิทยาศาสตร์ การรับประทานแป้งมาก ก็จะมีน้ำตาลในเลือดมาก เกิดการง่วงเหงาหาวนอน ต้องดื่มกาแฟเพื่อต้านความง่วง บังคับให้สมองทำงาน และในที่สุดสมองก็ล้า เลื่อนลอยซึมเซาโดยไม่ทราบสาเหตุ หากไม่บริโภคแป้ง มักจะเปลี่ยนมาบริโภคโปรตีน ซึ่งก็ย่อยยาก ทรมานร่างกาย เป็นปัญหาต่อลำไส้อักเสบอีก หากรับประทานแต่ผัก ก็จะหมดแรงโดยง่าย อย่างไรก็ตามผู้เขียนก็ไม่ยอมรับความเหนื่อย สะกดจิตให้ทำงานไหว ไม่ขุ่นเคือง ไม่สติหลุดง่ายๆ และไม่ให้รู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้อีกมากมาย เก็บกดไว้ให้ลึกสุดใจ จนสะสมเป็นความเหนื่อยล้าหดหู่โดยไม่ทราบสาเหตุ สุดท้ายชีวิตจิตใจก็สุกๆ ดิบๆ ลุ่มๆ ดอนๆ ก้าวย่างสู่ความตายอย่างประมาท

อันที่จริงชีวิตแบบนี้ เกิดขึ้นทั่วไปหมด โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นกับเราและคนรอบข้างนั้น อาจจะเกิดในรูปแบบแตกต่างกัน แต่เรามักจะแก้ปัญหาไม่ต่างกัน และมักจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ยาที่ขายดีที่สุดในโลกขณะนี้คือ ยาแก้ปวด ยาแก้ภูมิแพ้ และยาแก้โรคกระเพาะอักเสบ ถ้าคนทั้งโลกไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ หากไม่อาศัยยาเหล่านี้ ก็เห็นจำเป็นจะต้องกลับมาทบทวน ว่าการใช้ชีวิตของมนุษย์นั้นถูกต้องแล้วหรือ แล้วเรายังจะใช้ชีวิตในวงจรนี้กันต่อไปอีกหรือ

เมื่อคิดได้เช่นนั้น เคล็ดลับในการเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างมีความสุข ก็คือความไม่ประมาท “หาเวลาว่าง เรียนรู้พัฒนาการอารมณ์ความรู้สึกภายในตนอย่างสม่ำเสมอ เป็นงานที่ชาวโลกต้องร่วมกันรับผิดชอบ” หมายถึง การสำรวจเรียนรู้อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตนบ่อยๆ จะเป็นแนวทางในการค้นหาทางเดินของชีวิตในตำแหน่งอันเหมาะสม กลางๆ อย่างมีความสุข ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เพราะอารมณ์ความรู้สึกด้านลบต่างๆ นั้น เป็นครูสอนให้เราสามารถสืบสาวต้นตอของการดำเนินชีวิตที่ไม่เป็นปกติเล็กๆ น้อยๆ แต่มีผลกระทบรุนแรง ซึ่งเราอาจมองข้ามละเลยไป อย่าลืมว่าสุขภาพของมนุษย์เป็นธรรมชาติ ดังนั้นความจริงจะสะท้อนออกมาให้เห็นต่อหน้าต่อตาเลยทีเดียว สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเฉพาะตน เราสามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง และจะทำให้มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจอย่างแท้จริง และเมื่อคนๆ หนึ่งพบกับความสุขที่แท้ ตาจะเป็นประกาย หน้าตาผ่องใส คนรอบข้างสัมผัสได้ ย่อมเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะบนโลกในยุคควอนตัมฟิสิกส์และทฤษฎีสัมพันธภาพนี้ ชีวิตเชื่อมโยงร้อยเป็นโยงใยที่เรามองไม่เห็น การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นรวดเร็วมาก เกินกว่าที่เราจะสามารถคาดคิดได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์แต่ละคน ที่ควรดูแลตำแหน่งแห่งที่ในการใช้ชีวิตของตน เพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ของคนรอบข้างและสังคม ผู้เขียนมิได้รู้ไปเสียทั้งหมดและมิได้ต้องการสอนสั่งผู้อ่านแต่อย่างใด เพียงแต่ผู้เขียนมีโอกาสได้เรียนรู้แนวทางแห่งความสุขจากท่านผู้รู้ท่านหนึ่ง ซึ่งท่านเป็นคนมีความสุขอย่างยิ่ง คนรอบข้างสัมผัสได้ ผู้เขียนจึงน้อมนำมาปฏิบัติ ผนวกกับความรู้เชิงกระบวนการชีวเคมีที่ศึกษามา ทำให้พอจะเข้าใจสาเหตุปัจจัยต่อความรู้สึกนึกคิดในเชิงชีวภาพได้ เมื่อเห็นแล้ว เกิดความสุขสงบใจอย่างยิ่ง จึงอยากแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่าน

ตัวอย่างความรู้สึกที่เราสามารถเรียนรู้ได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น หากผู้อ่านรู้สึกง่วงบ่อย แสดงว่า อาจจะบังคับสมองมากเกินไป ต้องหาเวลาพักบ้าง การพักเป็นการทำงาน เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อการมีประสาทสัมผัสที่กระจ่างใส เอื้อต่อการเรียนรู้ หยุด เพื่อทำงานใหญ่กว่าเดิมในวันรุ่งขึ้นอย่างร่าเริงแจ่มใส หรือเมื่อร่างกายไม่แข็งแรง ก็จำเป็นต้องพักและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ต้องมีวินัย ที่จะดูแลตนเอง ใครไม่เข้าใจก็ใจเย็นๆ เอื้อเวลา สถานที่ให้เขาเรียนรู้ในโอกาสที่เหมาะสม

หากรู้สึกตัวว่าหงุดหงิดบ่อย อาจจะไม่ได้เกิดโดยนิสัยเสมอไป บางทีอาจเกิดจากสารเคมีที่ไม่สมดุล อาจบริโภคมากเกินไป การเผาผลาญในร่างกายสูงเกินไป แต่ถ้าหากเกิดความขุ่นเคืองเป็นนิจ ขัดใจที่เห็นอะไรต่ออะไรไม่เป็นไปตามความคิด ก็ต้องตามดูความโกรธ ความขุ่นเคือง ว่าไม่เป็นไร ย่อมเกิดขึ้นได้เมื่ออยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย สสารที่แตกต่างอาจจะผสมกลมกลืนกันไม่ดีในตอนแรก แต่ความแตกต่างนี้จะกระตุ้นให้เกิดสิ่งใหม่ๆ มากมายที่เป็นประโยชน์ เช่น กรดและด่างรวมกันเป็นน้ำในที่สุด เราคงต้องกลับมาอยู่กับตัวเอง ความแตกต่างไม่ใช่ความผิดของโลกนี้ ฟังหัวใจตัวเองชัดๆ ฟังเสียงที่ไม่เคยได้ยิน ดูแลหัวใจ เมื่อเห็นใจตนเองชัดเจนแล้ว จะเห็นใจผู้อื่น ว่าที่เห็นแตกต่างกันนั้น อันที่จริงไม่ต่างกันเลย

ต่อไป หากรู้สึกตัวว่า เพลิดเพลินหลงลืม ขี้เกียจงานการเกินไป ก็เพราะ อาจจะเหนื่อยล้าหัวใจ เก็บกดเรื่องบางอย่างไว้ลึกที่สุด เหนื่อยจนไม่อยากทำงานการอีกแล้ว ได้แต่หาเรื่องสนุกสนานบังไว้ให้ลืมโลก หากยังไม่พร้อมที่จะยกสาเหตุของความเหนื่อยใจขึ้นมาตรวจสอบดู ก็ไม่เป็นไร ขอให้รู้สึกตัว แต่เพียงว่า ตัวเองกำลังเพลิดเพลิน ตามดูไป ความรู้สึกนี้จะเกิดขึ้นพร้อมกับความกลัว กลัวในความผิดพลาด ยิ่งตำหนิตัวเองเท่าไร ยิ่งเหนื่อยและยิ่งหาเรื่องเพลิดเพลินต่อไป ถ้าเป็นเช่นนี้ให้มีสติ ให้รู้ว่าเพลิดเพลิน เลื่อนลอย ไม่ต้องตำหนิตัวเอง ให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ ความเหนื่อยเกิดขึ้นได้ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

ถ้ารู้สึกกังวล ฟุ้งซ่าน ก็ให้รู้ว่าเป็นธรรมชาติอีกอันหนึ่ง มนุษย์ทุกคนมีความฟุ้งซ่านเช่นนี้ บางทีทำให้ผู้อื่นรำคาญใจ เมื่อโดนต่อว่า ก็จะยิ่งเก็บกด แล้วก็ยิ่งฟุ้งซ่านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขออย่าตำหนิตนเอง ตามดูไป ความฟุ้งซ่านเกิดจากความไม่มั่นใจเรื่องราวในอดีต ในอนาคต ต้องกลับมาคำนวณใหม่ว่าทำผิดหรือไม่ คนเรามักไม่อยากผิดพลาด เพราะจะทำให้ขายหน้า ก็ขอให้รู้ว่าเป็นการขายหน้าแบบโลกๆ โลกใบนี้เล็กนิดเดียวเท่านั้น เป็นเรื่องสมมติทั้งสิ้น ในความเป็นจริง ความผิดพลาดเป็นครูในทางธรรมและในทางวิทยาศาสตร์ เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แต่ต้องไม่ตำหนิคนอื่นที่ไม่เข้าใจ เพราะเขาก็กำลังพยายามไม่ฟุ้งซ่านเหมือนเรา และไม่มีใครอยากฟังความทุกข์ ก็ต้องเห็นใจซึ่งกันและกัน

ท้ายสุดหากอารมณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยเป็นความลังเล สับสน สงสัย ก็ตามดูไปเรื่อย ๆ ว่าสงสัย หากวันนี้ไม่เชื่อถือ วันหน้าอาจจะเชื่อก็ได้ หมดสงสัยก็ได้ ไม่จีรังยั่งยืนดอกความรู้สึกของคน เป็นธรรมชาติ ควรค่าแก่การติดตามดูอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เห็นว่า จริงๆ แล้ว ธรรมชาติเหล่านี้ คนเรามีเหมือนกันหมด แล้วจะทำให้เราเกิดความสงสารต่อเพื่อนมนุษย์ ที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย ร่วมกันบนโลกนี้ การเรียนรู้ตามสังเกตดูอารมณ์ความรู้สึกอย่างสม่ำเสมอ ว่าเป็นทุกข์ ไม่จีรัง ผ่านมา แล้วก็ผ่านไป เป็น “ก้าวย่างเบื้องแรกแห่งความสุข” อย่างเหลือเชื่อเลยทีเดียว

Newer Posts Older Posts Home