โดย สรยุทธ รัตนพจนารถ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๐

-------------------------------------------------------------------------

แปลกจริงที่พักนี้ในหัวผมคิดวนเวียนเรื่องก้อนนุ่มๆ ตรงบั้นท้ายที่หลายคนนั่งทับมันอยู่บ่อยๆ ด้วยว่าช่วงนี้ผมได้เกี่ยวข้อง พบเห็น พูดคุยแลกเปลี่ยน และลองใช้เจ้าก้อนนุ่มๆ นี่อยู่หลายครั้ง

ตัวอย่างเช่น เมื่อคราวที่ผมติดตามอุปัฏฐากพระอาจารย์ท่านไปเยี่ยมชม Shambala Mountain Center ซึ่งเป็นสถานภาวนาของศาสนาพุทธในสายวัชรยาน ที่เมืองโบลเดอร์ สหรัฐอเมริกา ผมเห็นฝรั่งเวลานั่งสมาธิภาวนาเขามักจะนั่งบนเบาะหรือใช้หมอนหนุน แล้วก็มีทั้งคนที่นั่งแบบขัดสมาธิอย่างเราท่านนั่งกันส่วนใหญ่ แต่ใช้หมอนค่อนข้างสูงหนุนไว้ตรงก้น หรือบ้างก็นั่งคุกเข่าคร่อมบนหมอน (ซึ่งสูงมาก) เลยก็มี

พระอาจารย์ท่านมีทีท่าว่าออกจะขำๆ กับการนั่งของฝรั่ง ถึงขนาดรุ่นน้องของผมที่เป็นนักศึกษาชาวไทยที่นั่นเอ่ยถามท่านด้วยความสนใจใคร่รู้ว่า “แล้วคนนั่งภาวนาบนเบาะบรรลุธรรมได้ไหมครับ?”

ท่านตอบว่า "มันเป็นภาคติดสบาย เอาแบบไม่ปวดไม่เมื่อยมากนัก พอให้จิตสงบ เป็นสมาธิ แต่ไม่ใช่ภาคฆ่ากิเลส"

เราพบว่าวัดอื่นๆ ที่ได้ไปแวะเยี่ยมล้วนแล้วแต่มีเจ้าเบาะรองนั่งก้อนกลมๆ บ้าง ก้อนสี่เหลี่ยมบ้างทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นวัดพุทธเถรวาท ทั้งธรรมยุติและมหานิกาย มหายาน หรือวัชรยาน เรียกว่าเป็นของคู่วัดเลยก็ว่าได้
ผมว่าน่าเห็นใจนะครับ เพราะชาวตะวันตกเหล่านี้เกิดและโตในวัฒนธรรมนั่งเก้าอี้ ไม่ค่อยได้นั่งพื้น หลายคนพอนั่งกับพื้นก็จะขัดสมาธิ คือคู้หรือพับขาเข้ามาเฉยๆ ทำทั้งสองข้างยังไม่ได้เลย การมีเบาะรองก็ช่วยทำให้เขานั่งได้ ไม่ทรมานเกินไปนัก แต่ก็คงไม่เฉพาะชาวตะวันตกเท่านั้น เดี๋ยวนี้เด็กตะวันออกและเด็กไทยจำนวนมากก็นั่งพื้นกันไม่ค่อยเป็นเหมือนกัน

ในเมืองไทยของเราช่วงนี้ หลายท่านคงได้ทราบข่าวคราวการเดินทางมาของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เพราะเป็นที่พูดถึงกันไม่น้อย คนที่คุ้นเคยกับกิจกรรมของท่านและหมู่บ้านพลัมก็อาจนึกถึงการเจริญสติด้วยการเดินในสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ การร้องเพลง (“ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ดั่งดอกไม้บาน...”) หรือการนั่งภาวนา ซึ่งพบว่ามักจะมีเบาะอยู่ด้วย เพราะลูกศิษย์ลูกหาของท่านนั้นเป็นชาวตะวันตกจำนวนมาก

เมื่อครั้งผมได้ฟังท่านบรรยายที่ลินคอล์นเซนเตอร์ ที่มหานครนิวยอร์ก ในหอประชุมได้จัดเตรียมเบาะกลมๆ วางเรียงสลอนเหมือนยานอวกาศลำน้อยๆ เต็มไปหมด คาดว่าในงานปาฐกถาธรรมและงานอบรมภาวนาขณะท่านอยู่เมืองไทย ระหว่าง ๑๙-๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐ นี้ เราคงจะพบเห็นเจ้าก้อนๆ นี้ไม่มากก็น้อย
อีกทั้งเมื่อไม่กี่วันมานี้ มีเรื่องที่ทำให้นึกถึงเบาะได้อีก เพราะผมไปเข้าร่วมงานจิตตปัญญาเสวนา ครั้งที่ ๔ ณ วัดญาณเวศกวัน ซึ่งจัดโดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล การเสวนาครั้งนี้มีคุณหมอธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เป็นผู้บรรยาย เรื่อง Spirituality in the Modern World แม้หัวเรื่องจะชื่อว่าจิตวิญญาณแต่คุณหมอกลับพูดเรื่องการพัฒนาหรือฝึกกาย (Body) และจิต (Mind) ในโลกสมัยใหม่เป็นหลัก โดยให้เหตุผลว่าเรื่องจิตวิญญาณ (Spirituality) เป็นการรับรู้และเข้าใจพ้นจากประสาทสัมผัส ทั้งอยู่นอกเหนือในมิติของเวลาและสถานที่ จึงเป็นเรื่องยากที่มนุษย์จะใช้ภาษาพูดสื่อสารทำความเข้าใจกันได้

คุณหมอธีระเกียรติพูดเรื่องการจัดวางตำแหน่งของร่างกายหรือท่าทางในชีวิตประจำวันและสำหรับการภาวนาไม่น้อย บอกว่าคนเราควรจะฝึกยืน เดิน และนั่งให้ตรง ให้น้ำหนักของร่างกายตกลงแนวดิ่งผ่านศูนย์กลางของร่างกายพอดี เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อบางมัดต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา

การจัดวางท่าทางของเราสำคัญอย่างยิ่ง ถึงกับมีผู้บอกว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากได้หญ้าคา ๘ กำที่โสตถิยะพราหมณ์ ถวายให้ระหว่างทาง ไปยังต้นศรีมหาโพธิ์ไม่ไกลจากแม่น้ำเนรัญชรา เอาไว้ปูรองนั่ง

ยามนั่งสมาธิภาวนาอาจลองเอาหมอนเล็กๆ หนุนใต้ก้น เพื่อยกกระดูกก้นกบให้สูงขึ้น เพราะมีผู้ศึกษาวิจัยแล้วว่าท่านั่งที่กระดูกก้นกบอยู่สูงกว่าเข่านั้น จะช่วยให้ร่างกายของเราสามารถตั้งตรงและไม่เกร็งได้ง่ายขึ้น คุณหมอยืนยันว่าความรู้เหล่านี้เป็นสิ่งดีๆ ที่โลกสมัยใหม่มีไว้ให้ เทคนิควิธีการใหม่ๆ ที่ค้นพบได้ช่วยเสริมความรู้ที่มีมาแต่เดิม แม้แต่การนั่งภาวนา

ฟังแล้วทำให้ผมนึกถึงเรื่องเบาะรองนั่งขึ้นมาอีก ผมนึกเปรียบเทียบว่าการปฏิบัติภาวนามันเหมือนกับการออกเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางแห่งหนึ่ง ส่วนรองเท้าแม้จะเป็นอุปกรณ์สำคัญช่วยให้เราเดินได้สะดวกขึ้น แต่หากเรามัวคร่ำเคร่งเลือกว่าจะเป็นรองเท้าแตะเพราะโปร่งสบาย รองเท้าผ้าใบเพราะกระชับแน่น หรือจะเป็นแบบหุ้มข้อเพื่อป้องกันข้อเท้าพลิกก็ตาม การณ์จะกลับกลายเป็นว่าเรามัวแต่เลือก พลอยแต่วุ่นอยู่กับการคิดระดมความเห็น บานปลายไปจนจัดประชุมสัมมนา อบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อวิจัยค้นหารองเท้าที่ดีที่สุดสำหรับการเดินทางไป เช่นนี้แล้วก็คงไม่ได้ออกเดินทางไปถึงไหนสักที มัวแต่เกี่ยงว่าต้องใช้เบาะแบบไหนก็เลยไม่ได้ปฏิบัติอย่างจริงจังเสียที

การปฏิบัติภาวนานั้นต้องมีความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง หากเรามัวกังวลหรือสนใจเลือกเบาะรองนั่งมากไปหรือยึดติดกับการสรรหาเบาะที่ช่วยให้นั่งได้สบายขึ้น ระวังจะเป็นอย่างนักสะสมเครื่องออกกำลังกายชั้นดีราคาแพงแต่กลับไม่ค่อยได้เอาออกไปใช้จริงจัง

สำหรับผมแล้ว การปฏิบัติภาวนานั้นจะใช้เบาะใช้หมอนหรือไม่ใช้ก็ได้ครับ หากว่าเราใช้แล้วรู้สึกดีก็ใช้ไปเถอะ หากใช้แล้วเก้ๆ กังๆ ก็ไม่ต้องใช้ เท่านั้นเอง ถือเสียว่าเป็นสิ่งช่วยเสริมการเดินทางของเราที่จะเลือกเป็นตัวช่วยหรือไม่ก็ได้

แม้ว่าโลกสมัยใหม่จะวุ่นวายสับสน มีเรื่องราวรายรอบตัวที่ดึงดูดความสนใจ และหันเหพาเราออกไปจากการปฏิบัติ แต่ก็ให้เราได้ความรู้ที่ว่ายกก้นขึ้นหน่อยแล้วสามารถ "นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้จำเพาะหน้า" อย่างที่ควรทำได้ง่าย เราจะได้แต้มต่อสักหน่อยในการปฏิบัติ ชดเชยกับการต้องอยู่ในสภาพปัจจุบันก็คงไม่เห็นเป็นไรนัก จริงไหม!



โดย ชลลดา ทองทวี
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๐
---------------------------------------------------------------


ในช่วงสองสามเดือนมานี้ ผู้เขียนได้สร้างนิสัยใหม่ๆ ขึ้น ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ตัวเองได้หลายอย่างพร้อมๆ กัน


ครั้งแรกที่ทดลองทำดู รู้สึกแปลกๆ กับตัวเองอยู่บ้าง กิจกรรมที่ว่านี้ผู้เขียนเรียกว่าการ “เดินพักตระหนักรู้” คงได้แรงบันดาลใจจากกิจกรรมที่ คุณณัฐฬส วังวิญญู แห่งสถาบันขวัญเมือง ใช้ในการอบรม คือการผ่อนพักตระหนักรู้ เป็นการทำ body scan โดยนอนในลักษณะคล้ายกับนอนโยคะ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดทั้งกายและใจก่อนเข้าฝึกอบรม ค่อยๆ ดูกายและใจ และพักผ่อนอย่างตระหนักรู้ คลอไปกับเสียงเพลง หรือการนำเข้าสู่การผ่อนพักนั้น ด้วยถ้อยคำที่เหนี่ยวนำให้ผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ

ครั้งแรกที่ได้ลอง เพราะเป็นวันรถติดในกรุงเทพฯ วันนั้นตั้งใจไปดูละครในงานเทศกาลละครกรุงเทพฯ ที่ถนนพระอาทิตย์ แต่เวลายังเหลืออีกมาก จึงลองเดินจากอนุสาวรีย์ชัยฯ ไปถนนพระอาทิตย์ ในช่วงห้าโมงเย็น กว่าจะถึงที่หมายก็ใช้เวลาไปประมาณชั่วโมงกว่า มีหลายขณะที่รู้สึกว่าร้อนมาก และเหนื่อยมาก แต่เมื่อไปถึงแล้ว ก็รู้สึกดีใจว่าร่างกายของเราพอทำกิจกรรมนี้ได้

จากวันนั้น ถ้าไม่รีบอะไร ก็จะใช้วิธีเดินไปในกรุงเทพฯ เช่นเดินจากโรงพยาบาลวิชัยยุทธ มาอนุสาวรีย์ชัยฯ หรือเดินจาก โรงพยาบาลรามาธิบดีมาสยามสแควร์ ไปๆ มาๆ กลายเป็นเริ่มติดใจการเดินด้วยเท้าไปได้อย่างไรก็ไม่รู้เหมือนกัน

ในการ “เดิน” ทางแบบนี้ เครื่องมืออะไรที่จะใช้ในการดูแลกายและใจได้ ได้ถูกเอาออกมาใช้จนหมดจนสิ้น และทำให้รู้สึกสนุกสนาน

วันนี้ ผู้เขียนเลยติดใจ ลองเดินจากตึกช้างที่แยกรัชโยธิน ไปถึงสถานีรถไปสามเสน และไม่ได้รู้สึกว่าไกลหรือเหนื่อยอะไรเลย ทั้งไม่ได้รู้สึกว่า ภูมิใจหรือท้าทายด้วย เพราะรู้แล้วว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ และเคยได้ทำ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงมีแต่คุณภาพของการเดินที่ดีขึ้น รู้เนื้อรู้ตัวมากขึ้น และการเดินเพื่อที่จะเดินเท่านั้น

เวลาได้เดินแบบนี้ ผู้เขียนคงได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากเรื่องเทวดาท่าจะบ๊องส์ (God Must Be Crazy) ตัวละครเป็นชาวชนเผ่าบุชแมน ซึ่งยังมีวิถีชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่คุ้นเคยกับรถยนต์และเรียกว่า สัตว์ที่มีขาแปลกๆ และมีเสียงดัง เวลาพวกเขาไปไหนจะพึ่งพาขาและเท้าของตัวเองมาก พวกเขาสามารถเดินไปได้เรื่อยๆ เป็นวันๆ โดยไม่ต้องพกน้ำหรืออาหารไปด้วย เพราะธรรมดาของคนเดินด้วยเท้า จะแบกสัมภาระมากย่อมเป็นไปไม่ได้ จึงเป็นการวางใจว่า จะไปหาเอาดาบหน้าได้จริงๆ

อีกส่วนคงได้แรงบันดาลใจจากการเดินของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ นัก “เดิน” ทางที่หลายคนคงมีโอกาสได้รับฟังเรื่องราวของท่านบ้างแล้ว อาจารย์ประมวลตั้งใจมุ่งมั่นจะเดินเท้าจากเชียงใหม่ ไปยังบ้านเดิมที่เกาะสมุย โดยไม่พกพาเงินไปด้วย เป็นการเดินทางที่สำคัญต่อการเดินทางข้างใน มากกว่าการเดินทางข้างนอก และท่านก็ทำได้สำเร็จ ทั้งมีเรื่องราวที่น่าประทับใจจากการเดินทางครั้งนี้มาบอกเล่า เป็นแรงบันดาลใจให้กับการเดินทางในชีวิตของใครต่อหลายคน

สำหรับผู้เขียนแล้ว เป็นการเดินทางในป่าเมือง ทั้งยังมีเงินในกระเป๋า เรียกว่ามีตัวช่วย จึงไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งที่ทำนี้ยากเย็นเกินไป แต่การมีเงินทำให้เกิดคำถามใหม่ๆ เช่น จะใช้เงินเมื่อไรและทำไม เงินกลายเป็นเครื่องมืออีกอย่างที่เราจะเลือกใช้หรือไม่ก็ได้ ไม่ใช่สิ่งที่ขาดไม่ได้เหมือนเวลาที่ไม่ได้ใช้กำลังจากเท้าพาเราเดินทาง มีหลายครั้ง ที่ได้เห็นด้วยว่า การมีเงินในกระเป๋า มัน “หนัก” ที่ใจ ที่ต้องเลือกใช้มันด้วยเหมือนกัน
ผู้เขียนพบว่าการพักผ่อนให้หายเหนื่อยเป็นเรื่องไม่จำเป็น ในการเดินทางระยะสั้นๆ แค่นี้ เพราะว่าการเดินโดยไม่แบกว่าการเดินทางนี้เป็นภาระ จะรู้สึกเหนื่อยน้อยมาก หากเราเลือกที่จะผ่อนลมหายใจให้เหมาะสม และเดินในฝั่งที่แดดไม่ร้อน แม้ว่าจะต้องเดินอ้อมลัดเลาะและช้าลงบ้าง จะทำให้การเดินทางเพลิดเพลินขึ้นและไม่กระหายน้ำ

และการไม่คาดหวังว่าจะไปถึงไหน เพื่ออะไร จะช่วยให้การเดินแต่ละก้าวเบาสบาย จริงๆ แล้วกลับทำให้ไปได้ไกลกว่าเดิม

ยิ่งเดินก็ยิ่งเห็นตัวเองว่าเดินทางอย่างไรในชีวิต เราแบกอะไรที่ไม่จำเป็นไปแค่ไหน เราคาดหวังและเหนื่อยล้าเร็วเพียงใด เราตั้งเป้าหมายที่ทำไม่สำเร็จ เพราะมีระหว่างทาง มีเรื่องราวต่างๆ มาแทรกได้อีกมากมาย ซึ่งเป็นธรรมชาติของชีวิต และระหว่างทาง เราเลือกเผชิญกับสิ่งที่ไม่ถูกอกถูกใจ เช่นสุนัขที่เห่าอยู่ข้างทาง ทางแยกข้ามยาก รวมทั้งคนแปลกหน้าท่าทางไม่น่าไว้วางใจ ด้วยท่าทีอย่างไรกัน ในการเดินพักอย่างตระหนักรู้เช่นนี้ เรามีเวลามากพอ ที่จะสังเกตดูจิตดูใจตัวเอง เพราะนอกจากการก้าวเดินแต่ละก้าวแล้ว เราก็ไม่มีภาระหน้าที่อื่นให้ทำเลย

ชีวิตเต็มไปด้วยโอกาสของการเลือก การเดินเท้าทำให้เราเห็นจังหวะการก้าวเดินของจิตใจและร่างกายของเราชัดยิ่งขึ้น เมื่อมีทางเลือกเข้ามาในทุกขณะของปัจจุบันขณะ เราคิดอะไร เรารู้สึกอะไร และเราเลือกที่จะตัดสินใจทำอะไร

การตัดสินใจก้าวเท้าออกเดินไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเราไม่ต้องรอแท็กซี่คันที่ว่าง หรือสตาร์ทรถ ไม่ต้องมีเงินในกระเป๋า แค่เราก้าวขาของเราออกไปเท่านั้น ขณะที่รถติด เราก็ยังไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องหยุดรอ จริงๆ แล้วเราไม่ต้องหยุดเลยแม้แต่ก้าวหนึ่ง ทั้งยังช่วยประหยัดพลังงาน โดยที่เราไม่ต้องรอให้มีเลนจักรยานเพื่อการเดินทางที่ไร้มลพิษ เพราะพื้นที่ที่จะให้เราเดินยังพอมีอยู่มากพอบนบาทวิถีในเมืองกรุง

การ “เดิน” ทางในชีวิต ถ้าเราเดินแบบเดินพักตระหนักรู้ เราจะได้อะไรมากไปกว่าระยะทางที่เพิ่มขึ้น จริงๆ




โดย มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๐

-------------------------------------------------

ในชีวิตการทำงานของคนทั้งหลายย่อมพบพานทั้งคนชื่นชอบและชิงชังกันเป็นธรรมดา ตอนที่เขาชื่นชอบเรา จิตใจเราก็ฟู ตอนถูกชิงชัง จิตใจเราก็แฟบ เป็นธรรมชาติอย่างนั้น หลักการพื้นฐานที่ช่วยไม่ให้ใจเราเป็นทุกข์นั้นคือ เพียงแต่เราทำใจให้ไม่ฟูไม่แฟบไปตามสิ่งที่มากระทบ แค่นั้นใจเราก็เป็นอิสระจากสิ่งรบกวนใดๆ อยู่ได้อย่างสุขสงบเย็น

ช่างง่ายเหลือเกินเวลาเขียนข้อความแบบนี้ จะทำอย่างไรกันล่ะคะ โดยเฉพาะคนเดินดินอย่างเราๆ ที่ยังไม่ได้บรรลุธรรมสูงส่งอะไร เวลาส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ปฏิบัติ นานๆ ทีจะมีสตินึกทันขึ้นมาได้บ้าง บางทีเผลอโกรธไปแล้วทั้งวัน มานึกออกตอนกลับถึงบ้าน อ้าววันนี้เผลอโกรธเผลอเสียใจไปกับคำตำหนิหรือนี่ บางคนหนักข้อขึ้นไปอีก โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ นอนก็ไม่หลับไปหลายคืน พาลป่วยกายป่วยใจไปกันใหญ่

“ก็เราไม่ใช่พระอิฐพระปูนนี่ แล้วคนนั้นที่ว่าเราก็ขี้อิจฉา ชอบว่าคนนั้นคนนี้ แล้วนี่มาโจมตีเราอย่างหนักเลย ...” อาจจะจริง มีหลายกรณีที่เคยพบคือ คนที่มีผลงานเด่นพิเศษ สวยพิเศษ หรือมีอะไรพิเศษๆ กว่าคนอื่น ก็มักจะมีคนจับตามอง ถ้าเขาทำใจยินดีด้วยได้ (มุทิตาจิต) ก็โชคดีไป แต่ถ้าเขาหมั่นไส้อิจฉาก็จะเริ่มมีผลกระทบต่างๆ นานาแล้ว อิจฉาหนักหน่อยอาจออกอาการตั้งแต่เหน็บแนม กลั่นแกล้ง จนกระทั่งถึงทำร้ายทางกายวาจากันไป หรือบางทีก็ไม่ได้อิจฉาอะไร (มากนัก) แค่ไม่ชอบพฤติกรรมที่คนเด่นพิเศษเหล่านั้นทำ หรือไม่เราก็เผลอไปทำอะไรไม่เหมาะไม่ควรจริงๆ เขาถึงเริ่มตั้งแง่โจมตีเราขนาดนั้น ฯลฯ

“ถ้ากำลังถูกโจมตีอยู่ ทำอย่างไรดี” น่าจะมีวิธีจัดการได้หลากหลายตามแต่บริบทที่แตกต่าง ถ้าสมมติว่าคนถูกโจมตีหรือเราเป็นคนทั่วไปที่อาจไม่ได้ฝึกการปฏิบัติทางใจมามากนัก เราอาจจัดการเป็นหมวดๆ ดังนี้คือ ๑) จัดการใจให้เป็นปกติ ๒) สำรวจดูซิเราพัฒนาอะไรได้อีก ๓) จะทำอย่างไรกับเขาผู้โจมตี ๔) จะทำอย่างไรกับ คนทั่วปฐพีที่รู้เรื่องเรา (คือ...อายเขานะ)

๑) จัดการใจให้เป็นปกติ สภาพจิตใจเราตอนนี้คงไม่เป็นปกติหรือเป็นกลางสบายๆ เป็นแน่แท้ เจอคนโจมตีมาว่า ต่อหน้าลับหลังขนาดนั้น บางคนถึงขนาดส่งจดหมายเวียนกันว่อน เรียกว่าประจานกันไม่ให้ได้ตั้งตัว ไม่รู้เราไปทำอะไรให้โกรธจึงทำได้ขนาดนั้นนะ วิธีจัดการใจมีมากเช่นกัน ถ้าเรายังกังวลร้องไห้เสียใจ หรือตีอกชกตัวอยู่ ขอเสนอให้ไปที่ชอบที่ชอบ คือไปทำอะไรในที่ที่โปรดปราน เช่น ดูคอนเสิร์ท ดูหนัง ฟังเพลง ทำกิจกรรมที่ชอบ นวดสปา หาเพื่อน ฯลฯ ถ้าได้คุยกับใครที่ไว้ใจได้ยิ่งดี เช่น คุยกับเพื่อนสนิท คุยกับพระพุทธรูป (ไม่ไปเล่าต่อดี) เป็นต้น เรียกว่ากลบทุกข์กันไปชั่วขณะก่อน อย่างน้อยก็ลดดีกรีความโกรธกันหน่อย บางคนใช้การออกกำลังกายให้เหนื่อย ช่วยได้มากทั้งลดความเครียดที่สะสม และทำให้นอนหลับได้ดี ดูแลทั้งกายใจ ตลอดจนจัดตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสริมความสุขไม่ก่อทุกข์เพิ่ม

พอหายโมโหไปบ้างแล้ว ดีกรีความขุ่นมัวเบาลงพอจะคิดได้วิเคราะห์ได้ ว่าโกรธเขาแล้วเราจะได้อะไร มีแต่เหนื่อยอยู่คนเดียว ทางนู้นไม่รู้เรื่องด้วยเลย เสียพลังงาน ให้อภัยดีกว่า ช่างเขา เอาบุญ เราจัดการตัวเองก่อน เรียกสติกลับมาอยู่กับความปกติให้บ่อยขึ้น ถ้าเราจะเผลอโกรธอีกหรือเสียใจน้อยใจอีกก็ไม่เป็นไร ก็เรายังไม่บรรลุนี่นะ เป็นธรรมดาเผลอกันได้ เผลอไปก็เริ่มต้นใหม่ วางใจไว้ในเรื่องสบายๆ ใครฝึกปฏิบัติมาบ้างคงง่ายหน่อย ดูจิตกันไป มีอะไรขึ้นมาในใจก็ดูกันไป ต้องขอบคุณเขาด้วยซ้ำที่ให้แบบฝึกหัดอย่างดีกับเรา กิเลสตัวนั้นๆ จะได้โผล่ขึ้นมาให้เราดูเสีย เรียนรู้ไปกับของเล่นใหม่ หรือใครศึกษามาแนวรู้สึกกาย ก็รู้สึกไปเลย กายขยับไปไหนจิตก็ตามไป ใจแวบไปคิดมากก็ดึงกลับมา ให้จิตเราได้พักว่างจากอารมณ์ขุ่นมัวรูปแบบต่างๆ สักช่วงเวลาหนึ่ง ใครชอบเดินจงกรมนั่งสมาธิ ก็ได้ฤกษ์ดีปฏิบัติเสียตอนนี้เลย

ถ้าคนไหนดูจิตตัวเองได้บ่อยได้ไวหน่อย ขณะที่ได้รับทราบข้อมูลการโจมตีแล้วเริ่มรู้สึกโกรธก็ดี ไม่พอใจก็ดี จังหวะนั้น “ดูใจ” เข้าไปเลย ดูอาการค่อยๆ ซ่าขึ้นกลางอก ดูไปเรื่อยๆ จนหายไปเอง มีอะไรขึ้นมาอีก ก็ดูอีก จะได้ไม่ต้องไปดำเนินการแก้ตามขั้นตอนต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว จบเรื่องเสียตั้งแต่ตรงนั้น

๒) สำรวจดูซิเราพัฒนาอะไรได้อีก ข้อนี้สำคัญไม่น้อย หลายครั้งที่เราทำใจกันไปแล้วก็แล้วกันไป ไม่ได้สำรวจพฤติกรรมจริงในตัวเราว่ามีอะไรที่ทำให้เขาไม่ชอบ โยนไปให้แพะหรือคนโจมตีว่าเป็นคนไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ไปเสีย เมื่อสำรวจด้วยใจเป็นกลางหรือหาเพื่อนมาช่วยสะท้อนตัวเราได้ แล้วพบสิ่งที่ควรปรับปรุงหรือยังพัฒนาต่อได้อีก ด่านแรกที่ต้องฝ่าคือการ “ยอมรับ” สิ่งเหล่านั้นว่าเป็นพฤติกรรมของเราด้วยใจจริง แล้วจึงจะมาหาวิธี “ฝึก” ใจกายของเราให้พัฒนาขึ้นได้ตามนั้น

๓) จะทำอย่างไรกับเขาผู้โจมตี แผ่เมตตาซิคะ บางคนบอกว่ายิ่งแผ่เมตตาให้ยิ่งโกรธกว่าเดิม เพราะตอนแผ่ต้องนึกถึงหน้าคนนั้น ถ้าเป็นแบบนั้นเอาไว้ก่อนก็ได้ค่ะ อาจทำแค่หยุดใจให้ทันถ้าจะคิดไม่ดีกับเขาก็พอ พอใจนิ่งเป็นกลางได้พอสมควรแล้ว ค่อยแผ่เมตตาใหม่ หรือแค่นึกเรื่องดีๆ เกี่ยวกับเขา นึกให้เขามีความสุข ขอบคุณที่สร้างแบบฝึกหัดให้เราฝึกใจ ขอบคุณที่ชี้ทางพัฒนาให้เรา บางคนแผ่เมตตาเหมือนกัน แต่นึกว่า ขอให้ได้ดีไปไกลๆ ชั้นหน่อยเถิด...อันนี้ก็คงจะไม่ได้เมตตาจริงละมังคะ ค่อยๆ ทำไปนะคะ บางคนใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะพัฒนาใจตัวเองอยากให้เขามีความสุขจริงๆ การให้อภัยได้เป็นเรื่องงดงามที่ทำยากพอดู ผลที่ได้เบื้องต้นอาจเป็นที่สายตาหรือกริยาของเราเองที่มีต่อเขา ที่ไม่ได้โกรธเคืองค้อนขวับอาฆาตแต่อย่างไร กลับกลายเป็นพฤติกรรมที่เป็นมิตร ไม่ก่อเวรต่อเนื่องเป็นวงจรอุบาทว์

๔) จะทำอย่างไรกับ คนทั่วปฐพีที่รู้เรื่องเรา ช่างเขาเถอะค่ะ ถ้าจำเป็นก็อธิบายให้บ้าง ไม่น่าจะต้องไปพยายามหาทางอธิบายให้มวลชนรู้เรื่องไปหมด แนวว่าแก้ตัวเรียกร้องความเห็นใจ พฤติกรรมนางเอกพระเอกของเราเองที่ไม่ทำร้ายเขาตอบ ก็งดงามพออยู่แล้ว ประกอบกับความพยายามทำพฤติกรรมทั้งกายทั้งวาจาให้ดีอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ นี้เป็นเครื่องมืออธิบายเรื่องราวที่มีประสิทธิภาพ ยิ่งพยายามอธิบายมากแต่พฤติกรรมร้ายของเรายังมีตามที่ผู้โจมตีว่าจริง กลับจะกลายเป็นโทษไปเสียด้วยซ้ำ

ขออำนวยพรให้ทุกท่านที่ถูกโจมตี มีสติสัมปชัญญะ รู้เท่าทันใจตนเอง และได้ “กล้ามใจ” เพิ่มขึ้นจากการออกแรงยกน้ำหนักกับแบบฝึกหัดแสนยากชิ้นนี้ ได้เป็นพลังติดตัวท่านต่อไป โชคดีนะคะ :-)



โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๐

-------------------------------

นานเท่าไรแล้วที่คุณไม่มีโอกาสได้เผชิญหน้ากับตัวตนภายในอย่างสงบตามลำพัง โดยมิได้รู้สึกโดดเดี่ยว เหงา หรือเศร้าใจใดๆ ไม่นานนี้ ฉันได้เข้าร่วมฝึกตนกับผองเพื่อนที่มากันหลากหลายที่ กับชุมชนปกาเกอะญอ แห่งหมู่บ้านสบลานและธรรมชาติที่รายล้อม ในนิเวศน์ภาวนา Eco Quest

ฉันมิอาจทัดทานแข็งขืนที่จะไม่เปราะบาง แล้วหลอมวิญญาณอันแข็งกระด้าง ให้อ่อนยวบลง ราวกับทุกอณูของที่นั่น และทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นความศักดิ์สิทธิ์ พร้อมจะรวบหัวใจของเราไว้ให้น้อมนอบ รับเอาความยิ่งใหญ่ที่รายล้อมตัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณ

ฉันได้เดินทางกลับไปสู่พลังอันยากแก่การบ่งชี้ในโลกของสังคมที่เต็มไปด้วยการชี้วัด การสร้างมาตรฐาน และข้อจำกัดต่อการให้คุณค่า ด้วยทั้งหมดที่ได้รับนั้น มันเปี่ยมคุณค่าในทุกย่างก้าวที่นำพาเราไป ความดีงามที่มิจำต้องฝึกฝน หรือพยายามกระทำเพื่อการยอมรับ กลับเป็นครูผู้ไม่สอนสิ่งใด นอกเหนือจากความเรียบง่ายในวิถีตามที่เป็น

แม่เฒ่าคนหนึ่งบอกแก่หนุ่มสาวชาวเมืองอย่างอ่อนโยน ขณะที่เขากำลังก่นด่าอากาศที่เดี๋ยวร้อนอบอ้าว เดี๋ยวหนาวเข้ากระดูกดำ ว่า “โอ้...ลูกเอ๋ย อย่าบ่นว่าฟ้า อย่าบ่นว่าแผ่นดิน เขาให้เรามากนักแล้วหนา” รอยยิ้มอย่างอารีย์มิได้คลายจางระหว่างเอ่ยคำ ไม่มีเจตจำนงจะติเตียนใดๆ เป็นเพียงการบอกกล่าว แบ่งปัน แก่ผู้ไม่รู้เท่านั้น การดำรงอยู่อย่างเรียบง่ายของผู้คนที่นี่กลายเป็นปราชญ์ที่อาจทำให้เราต้องหยุดทบทวนตนเกือบทุกขณะ เป็นความยิ่งใหญ่ที่ร้อยรัดในตัวคนเล็กๆ เหล่านี้

จนกระทั่งการปลีกวิเวกได้เริ่มขึ้น พรจากบทสวดของผู้เฒ่าผู้แก่ในพิธีกรรมที่ร้องเรียกขวัญให้กับเราทุกคนก่อนที่แต่ละคนจะแยกย้ายไปอยู่ตามลำพัง เพื่อการภาวนา และเรียนรู้ที่จะดำรงอยู่ พร้อมทั้งเผชิญหน้ากับทุกสภาวะที่อาจเกิดกับจิตของแต่ละคนเอง พวกเราดูเหมือนนักรบที่มีจิตวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ ที่พร้อมจะก้าวสู่ประตูที่เชื่อมเราเข้ากับโลกของธรรมชาติ เป็นเวลาสองคืนกับหนึ่งวันที่เราจะคลี่คลายโจทย์ของเราแต่ละคน โดยไม่รับประทานสิ่งใด นอกจากน้ำ และระหว่างนี้ ขวัญของเราจะถูกดูแลอย่างดี ในวงกลมที่เกิดจากก้อนหินที่นำมาเรียงไว้ในพิธีกรรม พวกเขาก็จะสวดภาวนาให้กับการค้นพบของเราทุกคนด้วย

ฉันเปลือยเปล่าตนเองอย่างวางใจทั้งภายในและภายนอก เพื่อจะสามารถเข้าถึงปริศนาอันลี้ลับ เพื่อจะฟังให้ได้มากกว่าที่เคย รู้สึกได้ลึกซึ้งกว่าที่เป็น และเห็นในทั้งหมดของโลกและตัวเรา แล้วฉันก็เดียงสาโดยมิจำต้องเสแสร้งต่อโลก โอบกอดความไม่สมบูรณ์แบบที่ตนมีได้มากขี้น เมื่อพบความเกลียดชัง ก็พอได้รู้ว่าต้องเรียนรู้เพิ่มกับตนเอง รับเข้ามาเป็นแบบทดสอบแก่ชีวิต เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณของตน วันนี้ทำได้ไม่ดีนัก ไม่เป็นไรพรุ่งนี้โจทย์ข้อนี้จะยังรอคอยอย่างอดทน ให้เราค่อยๆ เติมเต็ม ซึ่งไม่เพียงเข้าใจธรรมชาติที่รายล้อมมากขึ้น แต่ลึกซึ้งกับธรรมชาติของตนเองด้วยเช่นกัน

เป็นความอัศจรรย์ที่เราทุกคน หมู่นักเรียนแห่งจิตวิญญาณ ต่างผสานกลมกลืนแนบสนิทกันมากขึ้น ทั้งที่ไม่มีกิจกรรมเสริมสร้างสัมพันธ์ ทุกถ้อยคำของเพื่อนร่วมชะตา กลับสร้างปรารถนาแห่งการรับฟัง เพื่อเรียนร่วมจากประสบการณ์ของกันและกัน และเสียงสะท้อนของมิตรก็ช่วยคลี่คลายปมที่เรามัดไว้ให้ผ่อนปรน แรงบันดาลใจในการเรียนรู้ดูจะถูกจุดให้ลุกกระพือพัดโหม กับภารกิจที่ไร้คำมั่นสัญญา แต่ราวกับรับรู้กันเองว่า เราจะร่วมดูแลโลกกันต่อไป นั่นหมายถึงโลกภายในของเราทุกคนด้วยเช่นกัน

การปลีกวิเวกเป็นเสมือนการเปิดเครื่องรับสัญญาณแห่งจิต ที่สวิตช์ถูกฝุ่นจับหนามาเนิ่นนาน ฉันสัมผัสถึงความละเอียดอ่อนของตนได้ดีระหว่างนั้น แม้สิ่งเล็กๆ ก็ได้รับความใส่ใจ ฉันร้องไห้และกล่าวคำขอโทษอยู่หลายครั้ง เพราะความไวของตน ทำให้ผีเสื้อตัวหนึ่งตาย สำนึกที่จางหายไปถูกเรียกกลับคืนตน เมื่ออยู่ในวิถีธรรมชาติ ความทนงตนในอัตตาที่มี ถูกเคาะให้ป่นย่อย คุณค่าต่อชีวิตนั้นเท่าเทียมกันในขณะนั้น

เมื่อกลับมาบ้าน ฉันมองเครื่องตียุงไฟฟ้าที่บ้าน ที่บางขณะมันทำให้ฉันสนุกกับการไล่ล่าอย่างเศร้าใจ เราปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เข้ามาในวิถีของเราอย่างชาชินได้อย่างไรกันนะ แล้วเรากล้าดีอย่างไรกันในการตัดสินอีกชีวิต


สุนทรียสนทนาที่เรียนรู้มา ถูกใช้อย่างทะลุทะลวงกับธรรมชาติรอบตัวที่นั่น ไม้ใหญ่ปลอบประโลมฉัน ไม้อีกหลายต้นเสนอความคิดเห็น สายน้ำเยียวยารักษา แม้แต่ผืนดินก็ใส่ใจฉันราวกับแขกคนสำคัญ แมลงเล็กๆ ต้อนรับเชื้อเชิญ ผีเสื้อหลากหลายพันธุ์กว่าร้อยตัวมาเยี่ยมเยือน ให้บทเรียน คลี่คลายโจทย์ของชีวิตที่ติดขัด ฉันอาจเหมือนคนบ้าไปแล้วในมุมมองของคนทั่วๆ ไป แต่มันสามัญมากเมื่ออยู่ที่สบลาน ก็บรรพชนของเราในอดีตกาลก็มีวิถีแห่งการสื่อสารอันไร้ขีดจำกัดมิใช่หรือ เราเอาตัวเราไปพึ่งเทคโนโลยีที่สร้างทำขึ้น จนปิดความสามารถในการรับรู้ของเราเสียจนหมดสิ้น

สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่สบลานและการปลีกวิเวกครั้งนี้ ช่วยยืนยันกับภายในของตัวฉันเอง ไม่มีสิ่งบังเอิญใดเลย นอกจากความเหมาะเจาะที่จัดสรรไว้อย่างน่าอัศจรรย์ของธรรมชาติ ฉันรู้สึกถึงความศักดิ์สิทธิ์แห่งการดำรงอยู่ของชีวิต ด้วยวิถีอันศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่าและธรรมชาติที่รายล้อมนั้น

โดย วิจักขณ์ พานิช
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๐

การนำเสนอหลักการภาคทฤษฎีและภาพผลลัพธ์อันสวยหรู ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของธรรมะ การศึกษา หรือการดำเนินชีวิต ต่างก็มีข้อจำกัดเชิงคุณค่าและความหมายในตัวของมันเอง บ่อยครั้งเมื่อเราเลือกที่จะนำเอาหลักการหรือผลลัพธ์ที่ได้ยิน ได้ฟัง และได้อ่านมาใช้ในชีวิตจริง สิ่งที่มักเกิดขึ้นก็คือ ๑) เรากำลังขืนเกร็งชีวิตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง และ ๒) เรากลายเป็นคนดัดจริตที่กำลังใช้ชีวิตลอกเลียนภาพผลลัพธ์โดยปราศจากการตระหนักรู้ที่แท้จริง

ดังนั้นการที่เราจะนำความรู้ที่ได้ยินได้ฟังมาใช้ในชีวิตประจำวัน จึงหาใช่การนำหลักการ หรือการนำภาพผลลัพธ์มาป้อนยัดใส่สมองให้กันแบบดิบๆ หลักการและภาพผลลัพธ์จำเป็นจะต้องถูกจับโยนลงหม้อ “กระบวนการ” ไปพร้อมๆ กับตัวผู้เรียนและผู้สอน การใช้ชีวิตร่วมเรียนรู้กับผู้อื่น คือ กระบวนการที่จะนำมาซึ่งประสบการณ์ตรง อันจะทำให้หลักการและภาพผลลัพธ์นั้น ย่อยสลาย เปื่อยยุ่ย “เข้าเนื้อ” ซึมซับเข้าไปสู่สัญชาตญาณทุกอณูรูขุมขน จนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการมองโลก การใคร่ครวญด้วยใจ และการใช้ชีวิตในแบบของผู้เรียนเอง

หม้อต้มซุปที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะแต่กระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนเท่านั้น ห้องเรียนเป็นแค่แบบจำลองขนาดย่อมของความโกลาหล ความหลากหลาย และความเดือดของสังคมภายนอกที่วันหนึ่งผู้เรียนจะต้องออกไปสัมผัสจริงด้วยตนเอง นั่นคือเหตุผลสำคัญที่การเรียนรู้แต่จากหลักการ หรือจากผลลัพธ์จะไม่ได้เป็นการฝึกให้ผู้เรียนได้เข้าใจความเป็นจริงของชีวิตอย่างแท้จริง ดังนั้น จิตตปัญญาศึกษาจะต้องไม่เป็นเพียงแค่การศึกษา แต่จะต้องเป็นการจำลองกระบวนการการเรียนรู้ของชีวิตในแง่ของการเผชิญหน้าและศิโรราบกับข้อจำกัดและอุปสรรคภายในยามที่เราต้องเปิดออกไปสร้างความสัมพันธ์กับโลกความเป็นจริงภายนอก

ความเข้าใจในเชิงปฏิบัติแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจยากที่สุด เราไม่สามารถเอาแต่นั่งคิด (ปริยัติ) หรือนอนฝัน (ปฏิเวธ) แล้วใช้เวลาคุยโม้โอ้อวดความรู้ความเข้าใจของเราไปวันๆ เพราะความเข้าใจในเชิงปฏิบัติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการลงมือทำ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เพื่อพิสูจน์ความเข้าใจ และประสบกับผลลัพธ์ในแบบของเราเอง การปฏิบัติจริงจะทำหน้าที่เป็นจุดบรรจบพบกันของการศึกษากับชีวิต เมื่อเราให้คุณค่ากับประสบการณ์ตรง รู้จักใคร่ครวญครุ่นคิดด้วยใจของเราเอง การศึกษาก็จะกลายเป็นเส้นทางการฝึกฝนทางจิตวิญญาณของเราในทุกขณะ เราไม่ได้เติบโตตามอายุ ตามใบปริญญา ตามสถานะ หรือตามค่านิยมทางสังคมอีกต่อไป แต่ชีวิตของเราได้เติบโตและงอกงามตามประสบการณ์ด้านในที่เราได้ใช้หัวใจสัมผัสและใคร่ครวญไปในทุกๆ ย่างก้าว

การกระโดดลงหม้อดูเหมือนจะเป็นวีรกรรมที่น่าทึ่ง แต่เอาเข้าจริงแล้วประสบการณ์ของจิตตปัญญาศึกษาในแง่มุมของการปฏิบัติกลับไม่ได้เป็นสิ่งที่ชวนฝันอย่างที่เราได้ยินตามโฆษณาชวนเชื่อ การผ่านกระบวนการจะแสดงให้เราเห็นถึงข้อจำกัดและแรงต่อต้านภายในในทุกรูปแบบ เราอาจรู้สึกไม่เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นบางอย่าง เพื่อนบางคนฉีกหลักการอันสวยหรูของเราอย่างไม่มีชิ้นดี ผู้สอนเปิดประเด็นที่เรามองข้าม เรารู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับการสนทนาถกเถียงอย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อน

จากที่เคยเป็นคนขรึมๆ เราเริ่มอยากมีส่วนร่วม จากที่เคยพูดไม่หยุดเรารู้สึกอยากใช้เวลาครุ่นคิด เราเริ่มรู้สึกไม่ค่อยปลอดภัยกับพื้นที่ที่เราไม่คุ้นชิน ความคุกรุ่นของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงได้ท้าทายให้ตัวเราที่แท้ออกมาจากที่ซ่อน ทำให้เรารู้สึกทั้งกล้าและกลัวไปพร้อมๆ กัน

ประสบการณ์ตรงของการเรียนรู้แม้จะเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามและความยากลำบาก แต่การได้ลองทำ แม้จะผิดพลาดไปบ้าง ล้มลุกคลุกคลานไปบ้าง ก็ดูจะเป็นหนทางเดียวที่จะนำมาซึ่งความเข้าใจในแบบของเราเอง บนเส้นทางชีวิตที่เราได้เลือกเอง ความเจ็บปวด อารมณ์ที่พลุ่งพล่าน เลือดที่สูบฉีด หลังการกระโดดลงหม้อเรารู้สึกราวกับยืนโอนเอนอยู่ตรงขอบหน้าผาชัน เบื้องหลังเป็นชีวิตที่ซ้ำซาก คับแคบ แห้งแล้ง ไร้ความชุ่มชื้น แต่เบื้องหน้าเป็น “อะไรก็ไม่รู้” ที่เราจะไม่มีทางรู้ได้นอกจากจะ“เอาชีวิตเข้าแลก” นั่นคือสัญญาณเริ่มต้นของการถูกท้าทายของอัตตาตัวตนอย่างถึงที่สุด

อัตตาหาใช่ปีศาจร้าย มันเป็นเพียงชีวิตแคบๆ ที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย เสมือนถูกห่อหุ้มไว้ด้วยกำแพงแห่งปมชีวิตต่างๆ ที่เราไม่กล้าที่จะก้าวข้าม การกระโจนลงหม้อซ้ำแล้วซ้ำอีก นอกจากจะช่วยให้ปมชีวิตเปื่อยสลายคลายตัวลงแล้ว ยังช่วยให้เราได้ตระหนักว่าความสัมพันธ์ระหว่างอัตตากับอนัตตาดูจะไม่ได้เป็นสิ่งตรงกันข้ามหรือแยกขาดออกจากกันอย่างที่เราเคยคิด น่าแปลกที่อัตตา นิสัย หรือพฤติกรรม ทั้งที่ดีและไม่ดี ที่เราชอบและไม่ชอบ กลับทำหน้าที่เป็นฐานรากที่สำคัญที่สุดของกระบวนการเรียนรู้ด้านใน เพราะ “ความเป็นตัวเรา” คือจุดเริ่มต้นที่เราต้องให้ความเคารพ การเอาใจใส่ และการสร้างความสัมพันธ์กับมันอย่างอ่อนโยน เราไม่สามารถจะคาดหวังให้การศึกษามา “เปลี่ยนแปลง” บรรจุภาพลักษณ์หีบห่อให้เรากลายเป็นคนดีขึ้น นิสัยดีขึ้น หรือพฤติกรรมดีขึ้นในพริบตา การเปลี่ยนแปลงตนเองจะต้องเกิดขึ้นด้วยแรงบันดาลใจภายในตัวเรา จากการเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้แห่งชีวิตกับผู้อื่น หม้อต้มซุปจะช่วยย่อยสลาย “สิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัวเรา” แล้วผลักให้เราเข้าไปค้นพบและสร้างความสัมพันธ์กับแง่มุมที่หลากหลายในตัวเองได้มากขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ

การศึกษาบนพื้นฐานของการศิโรราบไม่ใช่การศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างสยบยอมหรืออย่างดัดจริต การศิโรราบ คือการรับฟังเสียงด้านใน ให้ความเคารพและเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองเป็น เราให้ความศรัทธากับทุกประสบการณ์ที่ตัวเองเคยผ่านมา ไม่ว่ามันจะดีจะร้ายแค่ไหนในสายตาผู้อื่น เราศิโรราบและภาคภูมิใจในตัวเองที่อย่างน้อยเราก็สามารถยืนหยัดเรียนรู้ชีวิตมาได้จนถึงวินาทีนี้ เราพร้อมที่จะหลอมรวมเอาทุกอย่างที่มีอยู่ในตัวเรา เอามันออกมาใส่หม้อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นอย่างไม่เขินอาย เราพร้อมที่จะยอมตาย เอาชีวิตเข้าแลกกับทุกประสบการณ์การเรียนรู้ของชีวิต ด้วยความกล้าหาญบนพื้นฐานของการภาวนาหล่อเลี้ยงให้คุณค่าแก่พื้นที่ว่างภายในอันไพศาล รู้จักผ่อนพัก ปล่อยวาง และเปิดรับกับทุกสถานการณ์โดยปราศจากแรงต้าน ยอมให้โลกผ่านเข้ามาสะกิดหัวใจเราได้อย่างไม่ขัดขืน จนปมความยึดมั่นทั้งหลายสามารถคลี่คลายไปในอ้อมแขนแห่งความอ่อนโยนและความรักแห่งจักรวาล ตามท่วงทำนองและครรลองของการดับสลาย ผุดบังเกิดใหม่ พลิ้วไหว และไหลเลื่อน เป็นคุณค่าและความหมายของการดำรงอยู่ที่แท้

Newer Posts Older Posts Home