โดย ธีระพล เต็มอุดม เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๙
-----------------------

หลังจากตัดสินใจชั่วครู่ เขาก็หยิบสมุดวาดเขียนเล่มโต รวบพู่กันและกล่องสีน้ำใส่ลงถุงผ้า แล้วเดินทางออกจากมหานครในยามฟ้าสาง เขาขับรถราวกับไร้จุดหมายที่แน่ชัด เพียงปล่อยให้ร่างกายบังคับพาหนะวิ่งไปตามทาง รักษาระดับความเร็ว ตามติดยวดยานนานาชนิดที่อยู่เบื้องหน้า ให้ทางและหลบหลีกรถที่วิ่งด้วยความเร็วสูงกว่า ประสาทสัมผัสในกายถูกนำมาใช้เพียงส่วนน้อยเพื่อการนี้

สิ่งที่อยู่ในห้วงความคิดของเขาตอนนี้ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง ไม่ใช่การเฝ้าระวังสังเกตป้ายบอกทางดังเช่นเพื่อนร่วมทางคันอื่น เขากลับนึกถึงงานจำนวนมากในตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา บางงานก่อปัญหาจุกจิกไม่รู้จบ ลูกค้าบางคนร้องเรียนถึงปัญหาที่ไม่คาดคิด ผิวจราจรที่ยังว่าง ทัศนวิสัยบนท้องถนนที่ค่อนข้างโล่ง ถูกถมลงด้วยตัวเลข วิธีการจัดการปัญหาและการกระจายมอบหมายงาน พื้นที่ว่างเหล่านั้นถูกใส่งานไปจนเต็ม

ตลอดสองชั่วโมงเศษของการขับรถมายังบ้านพักตากอากาศ เขาใช้เวลาเกือบทั้งหมดในการทำงานนอกสถานที่ แค่เปลี่ยนจากการคิดที่โต๊ะทำงานมาเป็นการคิดในยานพาหนะเท่านั้น บางช่วงเขานึกเสียดายที่ไม่ได้คว้าเครื่องคิดเลขมาวางไว้ใกล้ตัว ตอนตัวเลขโผล่แวบขึ้นมาในหัวเลยไม่ทันบันทึก หรือเอาไปคิดต่อได้

การขับรถกลายเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ขวางไม่ให้ทำงานได้สำเร็จ

ที่สุดกว่าจะยอมรับได้ว่าไม่สามารถใช้ความคิดหาข้อสรุปให้แก่งาน ต่อเมื่อเขาเดินทางมาถึงที่หมายริมชายทะเลแล้ว ระหว่างหอบหิ้วสัมภาระลงจากรถ เขาก็หักใจไม่คิด แต่อดหงุดหงิดรำคาญไม่ได้

เขาเลือกการเดินทางครั้งนี้ เพื่อใช้งานอดิเรกเป็นเครื่องมือผ่อนคลายความเครียดจากงาน ประมาณว่าย้ายสถานที่หาอะไรอย่างอื่นทำน่าจะดีกว่าทนทำงานบนโต๊ะต่อไปที่รังแต่จะสร้างความกดดันและบีบคั้นมากขึ้น

ทันทีที่วางกระเป๋า สองมือก็คว้าสมุดและอุปกรณ์ สองเท้าย่างไปบนทราย สองตามองหาร่มไม้ทำเลเหมาะ หวังว่างานอดิเรกที่เรื้อร้างมานานจะช่วยขับไล่บรรยากาศเครียดเขม็งในใจ จะช่วยเปิดไปสู่ความผ่อนคลาย ให้สมกับภาพฟ้าสีคราม และผืนแผ่นน้ำสะท้อนล้อกันและกันไปจนสุดสายตา

พลันที่กางสมุดออก กระดาษปอนด์สีขาวทั้งด้านซ้ายและขวาปรากฏขึ้นตรงหน้า เขาก็มองเห็นภาพภูมิทัศน์นี้ถูกย่นย่อลงบนกระดาษ เขามีความรู้ว่าควรจะใช้สีน้ำเงินอ่อนเข้มมากน้อยอย่างไรเพื่อให้ใกล้เคียงกับฟ้าครามของน้ำทะเลลึก หรือฟ้าอมเขียวของผิวทะเลใกล้ฝั่ง มือของเขาก็เคยแต่งแต้มแผ่นกระดาษให้เต็มไปด้วยสีสันมาแล้วหลายครั้ง สิ่งที่ต้องทำต่อไปมีเพียงเฝ้ามอง จับสังเกต ถ่ายทอดระบายลงสมุดภาพ

ทว่าคลื่นที่ทยอยซัดสู่ฝั่งยังไม่ช่วยปลดปล่อยเขาออกจากงานประจำได้ เขามองน้ำทะเลพยายามจับลักษณะเด่นเพื่อวาดภาพให้ออกมาสวย ใช้ก้านพู่กันกะระยะให้ดี เริ่มขมวดคิ้วเมื่อผลงานไม่เป็นดังใจหวัง และแล้วเขากลับเห็นปัญหาจุกจิกในงานม้วนพันมากับยอดคลื่นตรงหน้า เห็นข้อร้องเรียนของลูกค้าอยู่ในเกลียวคลื่นแล้วกระจายออกเป็นฟองรำคาญนับร้อย พริบตานั้นเหมือนโลกตรงหน้าไม่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าอยู่ ณ พิกัดไหนเขายังคงเห็นแต่ปัญหาเดิมและรับรู้ว่ามีงานอันน่าหนักใจตามไปไม่รู้จบ งานอดิเรกเกือบจะกลายเป็นอีกหนึ่งภาระกดทับ

เขาถอนใจ วางความรู้เรื่ององค์ประกอบศิลป์และหลักการใช้สีลง เลิกพยายามวาดภาพให้สมจริงหรือสวยงาม ปล่อยให้มือและหัวใจละเลงสีตามแต่จะเป็นไป สายตาเขาจับจ้องไปตามคลื่นแต่ละระลอก คลื่นใหญ่น้อยค่อยนำเขาสู่ฝั่ง พากระทบทรายชายหาดครั้งแล้วครั้งเล่า เมื่อเขาเริ่มรับรู้ถึงน้ำทะเลที่แตกกระจาย ซึมลงผิวทรายไหลผ่านระหว่างอณูทรายแต่ละเม็ด ใจเขาก็ค่อยออกห่างจากความคิดในงานทั้งหมด และรู้สึกถึงความสงบที่เริ่มเกิดขึ้นในใจ

ความจดจ่อในใจยามนี้มีแต่ทราย น้ำและฟ้าตรงหน้า เขาสะท้อนมันออกมาเป็นเส้นสีพลิ้วไหวทั่วแผ่นกระดาษ เมื่อสภาพความสงบแผ่ขยายพื้นที่ในใจ ในหัวกลับไม่มีความคิดหลายเรื่องแกว่งกระทบกันไปมาเหมือนช่วงเช้า ในสภาพนี้ เขารู้สึกโปร่งโล่งเบาสบาย ไม่เพียงแต่ผ่อนคลายจากความเครียดความกดดัน หากเขาลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าต้นเหตุความเครียดเหล่านั้นมีความสำคัญต่อเขาเพียงนั้นได้อย่างไร

หลายเรื่องที่วนเวียนอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เช้าดูจะเบาบางลง ปัญหาที่เคยซับซ้อนจนไม่รู้ว่าจะเริ่มแก้จากจุดไหนก่อน ก็ดูมีความเป็นไปได้มากขึ้น ข้อร้องเรียนของลูกค้าที่ดูร้ายแรงสาหัสก็พอจะเห็นว่ายังมีหนทางเจรจากันได้

มองย้อนกลับไปตั้งแต่รุ่งเช้า เขาได้บทเรียนว่าการหลบออกมาทำงานอดิเรกไม่ช่วยแก้เครียด เพราะเขาเกือบทำให้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของความเครียดไป สภาพนั้นเกิดขึ้นเมื่อเขาพยายามกะเกณฑ์และจับทุกอย่างใส่ตามที่อยากเห็นอยากให้เป็น ครั้นพอใจสงบลง เริ่มว่างออกจากการคิดจัดการ เมื่อใจวางทุกอย่างลงได้ ทุกเรื่องก็ดูเป็นของง่ายขึ้น ความใสกระจ่างของใจช่วยให้คำตอบต่อทุกคำถาม

แน่นอนว่างานยุ่งเหยิงยังรอเขาสะสาง แต่จะไม่ยุ่งไปกว่าเดิมและจะไม่มีแรงกดหนักระดับเดิมอีก การที่เขาอยู่กลางวงล้อมของปัญหา ทุกเรื่องใหญ่น้อยเป็นคลื่นโถมเข้าใส่ไม่หยุด ตลอดหลายชั่วโมงนั้น หัวใจและความคิดของเขาไม่นิ่ง แต่แกว่งไปตามแรงปะทะของงาน ความรู้เป็นเพียงเครื่องมือเดียวที่เขาใช้รับมือกับคลื่นปัญหาที่ดาหน้ามาไม่หยุด กระทั่งวิธีหันหลังให้ก็ไม่ได้ดีขึ้น เพราะใจยังรับเอาความแรงของคลื่นนั้นไว้

ต่อเมื่อระลอกคลื่นของทะเลพาให้ใจสงบลง กระจ่างใจพอได้มองเรื่องเดิม มองห่างออกจากวงล้อมของปัญหาเดิม จึงได้พบว่าธรรมชาติและงานวาดไม่เพียงคลายเครียด แต่เป็นอีกความรู้หนึ่งซึ่งช่วยให้เขาเข้าถึง เข้าใจและรับมือกับปัญหาได้เช่นกัน



โดย ถั่วอบมะลิหอม เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๙
-------------------------

เพื่อนหลายคนทุกข์ใจ แต่กลับบอกว่า “ฉันโอเคนะ” แล้วความทุกข์ที่ซ่อนไว้ข้างในก็จางหายไป เมื่อได้ออกไปดื่มสุรา เที่ยวบาร์ ร้องเพลงคาราโอเกะ ตีกอล์ฟ ไปชอปปิ้ง ซื้อเสื้อผ้า วุ่นอยู่กับงานบ้าน การเลี้ยงลูก สามี ละครทีวี แมกกาซีน อุปกรณ์ไฮเทค รถยนต์ หรือนำพาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางเพื่อนหญิง เพื่อนชาย หรือคนแปลกหน้าเพื่อให้คลายเหงาไปวันๆ หากแต่รู้สึกเดียวดายในฝูงชน สิ่งต่างๆ หรือผู้คนเหล่านี้นะหรือที่ทำให้ความทุกข์จางหายไป จริงหรือที่บอกว่า “ฉันโอเค” หรือ “ฉันแฮปปี้” จริงๆ แล้วมันเป็นอย่างไรกันแน่นะ

หรือว่ามันเป็น สัญญาณจากฟากฟ้าที่มาเป็นลางบอกเหตุบางเรื่อง บอกว่าชีวิตคุณมีความหมายนะลองเปิดประตูออกไปหาผู้คนที่คุณรัก รักคุณและรอคอยคุณอยู่ เมื่อมีคำถามเกิดขึ้นในชีวิต คุณลองตอบคำถาม หรือตอบอย่างเกเร อย่างตามหัวใจของคุณเอง ฟังเสียงและเชื่อในเสียงหัวใจที่คุณได้ยิน ลองทำตามใจคุณเอง มันง่ายๆ ตรงไปตรงมา คุณลองทำดูนะ แล้วบางทีคุณจะพบคำตอบมากมายให้กับคำถามในชีวิต ที่ถาโถม ที่วุ่นวายรบกวนหัวใจ คำถามที่ทำให้กินได้แต่นอนไม่หลับ คุณลองเผชิญหน้าคำถามเหล่านั้น ด้วยคำตอบจากหัวใจของคุณนะ แล้วคุณจะอบอุ่นหัวใจ ไม่โดดเดี่ยวเดียวดาย แล้วค่อยบอกตัวเองอย่างยอมรับว่า ฉันโอเค ฉันแฮปปี้ จริงๆ นะ

คนเรามักมีกรอบความคิดตัดสินตัวเอง เมื่อไรก็ตามที่เรารับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง เราก็จะพยายามหาคำอธิบาย หาคำตอบให้ตัวเองอย่างรวดเร็ว แต่เราเคยคิดที่จะเข้าข้างตัวเองบ้างไหมนะ เข้าไปฟังเสียงของหัวใจข้างในตัวเราจริงๆ ที่ต้องการบอกเราบางอย่าง ซึ่งอาจไม่ใช่ออกมาในทางคำพูดหรือความคิด แต่เป็นความรู้สึก อาจเรียกได้ว่าเป็นหทัยปัญญา
สังคมมักสอนให้เราคาดหวังกับตัวเองว่าต้องเป็นคนดี ต้องยอมเสียสละ ต้องไม่เหน็ดเหนื่อย หรือถ้าเหน็ดเหนื่อยก็จงเก็บมันไว้ในใจ ไม่จำเป็นต้องไปบอกกล่าวอะไรกับใคร ต้องอดทนกับความเหนื่อยยากของชีวิตแต่ละวัน หากเราเอ่ยอะไรออกไป เราก็แสดงออกความเป็นคนไม่สู้ชีวิต ทั้งๆ ที่ในทำนองกลับกัน การบอกกล่าวสื่อสารให้คนใกล้ชิดหรือเพื่อนร่วมงานได้รับรู้ถึงความเป็นไปในชีวิตเรานั้นอาจเป็นของขวัญล้ำค่าก็ได้ เช่น เวลาเรามีอารมณ์เหงา เศร้า หรือเหว่ว้า ก็ให้รับรู้ความรู้สึกตรงๆ ตามนั้น ไม่ต้องไปพยายามด่วนวิเคราะห์ หรือไปด่วนตัดสิน ไปต่อว่าตัวเอง เพราะเป็นการยอมรับเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงของชีวิตอย่างตรงไปตรงมา เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้คนได้เข้ามาดูแลเรา เห็นความทุกข์ใจหรือร่วมรับรู้ทุกข์ไปกับเรา เป็นการเปิดโอกาสให้กับมิตรภาพที่จริงแท้งอกงาม

ลึกๆ แล้วคนเรากลัวว่าตัวเองจะกลายเป็น “คนมีปัญหา” มากกว่า “คนมีปัญญา” เราพยายามหลีกเลี่ยงอาการของ “คนมีปัญหา” ด้วยการหลบหลีกที่จะยอมรับความรู้สึกด้านลบ เพราะเกรงจะถูกประณามว่าเป็น “ปัญหา” เช่น ความรู้สึกไม่พอใจ เสียใจ โกรธ เหนื่อย ท้อ เบื่อหน่าย หงุดหงิด น้อยใจ และอีกหมื่นพันความรู้สึก บางคนบอกว่าวัฒนธรรมไทยไม่ชอบสื่อสารอารมณ์เหล่านี้ออกมาอย่างเปิดเผย มักจะใช้วิธีหาทางออกแบบอื่นที่ปลอดภัยมากกว่าการเผชิญหน้าและสื่อสารตรง เช่น การบอกเล่าให้คนอื่นที่ไม่ใช่คู่กรณีได้รับรู้ พออารมณ์ดีขึ้นก็กลับไปร่วมงานกับคู่กรณีต่อ โดยทำเป็นว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นระหว่างเรากับคู่กรณีของเรา โดยเราลืมนึกไปว่า หากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้รับการแก้ไข หรือว่าเพื่อนร่วมงานเราไม่ได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ เราก็มักพบเจอเหตุการณ์เดิมๆ เหมือนขับรถวนกลับมาที่เดิมอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

สังเกตว่า “คนมีปัญญา” ยิ่งเรียนสูง รู้มาก ก็ยิ่งใช้ความคิดได้อย่างรวดเร็ว มีเหตุมีผล มีหลักการ มีทักษะ มีปัญญาเป็นอาวุธ ที่ช่วยทำให้สามารถวิเคราะห์เหตุผลต่างๆ ได้ แต่แล้วอาวุธเหล่านี้กลับกลายเป็นอุปสรรคขวางกั้นการเข้าถึง “เหตุและผลเชิงประสบการณ์” ที่ไม่ใช่ “เหตุผล” ที่เป็นเพียงความคิด

ผู้เขียนคิดว่าเวลาเราพูดถึงพฤติกรรมแห่งการบริโภคในระดับต่างๆ รวมทั้งระดับของการเสพติดต่างๆ ในสังคมบริโภคนั้นมีเหตุมาจากความไม่สามารถรับรู้และยอมรับภาวะอารมณ์ทุกข์ในตัวเอง ที่อยู่ในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างตรงไปตรงมา และอย่างอ่อนโยน ทำให้ต้องค้นหาทางออกหรือทางหนีออกจากอารมณ์เหล่านี้ตามสติปัญญาหรือกำลังที่มี โดยอาศัยเครื่องมือเปลี่ยนอารมณ์ที่มีมากมาย หลายอย่าง หลายสถานที่ เช่น โรงภาพยนตร์ ดีวีดี ทีวี คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านเหล้าบาร์ คาราโอเกะ แมกกาซีน หนังสือ และอื่นๆ ในความเห็นของฉัน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีความเป็นลบในตัวเอง แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้อย่างไร ที่จะทำให้เรายังรู้สึกถึงคุณค่าแห่งการมีชีวิตอยู่ รู้สึกได้ถึงพลังของชีวิตที่จะไม่ถูกบั่นทอนไปง่ายๆ จากกิจกรรมชีวิตในสังคม

นักนิเวศแนวลึกชาวพุทธคนหนึ่ง คือโจแอนนา เมซี่ บอกว่าความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อเราไม่สามารถยอมรับภาวะสิ้นหวัง ความแตกสลายและความเป็นอนิจจังแห่งการดำรงอยู่ได้ เวลาเราหนีหรือเบือนหน้าหนี ก็ไม่ได้หมายความว่าภาวะเหล่านี้จะหายไป แต่อาจกลับทำให้เรากลายเป็นคนที่เฉยชา จนอาจถึงขั้นเย็นชากับความรู้สึกของตัวเอง และคนรอบข้าง และมักมีคำพูดบอกตัวเองและคนรอบข้างว่า “ช่างมันเถอะ” หรือ “ชีวิตมันก็เป็นอย่างนี้แหล่ะ ยอมรับมันเถอะ” เรียกว่ากลบอารมณ์ด้วยการคิดแบบยอมรับสภาพ ยอมๆ มัน “คิดมากไปก็เท่านั้น” การกลบเกลื่อนร่องรอยของอารมณ์ลบ ภาวะไร้พลัง เบื่อหน่าย ท้อแท้นั้นอาจรู้สึกอยู่ได้สักชั่วเวลาหนึ่ง แล้วความรู้สึกเหล่านี้ก็หาหนทางของมันเองที่จะวนกลับเข้ามาอีก จนความเบื่อหน่ายเติบโตเป็นความ “โคตรเบื่อ” คือความเบื่อทั้งตระกูลรวมใจ พากันมาทักทายเรา

แต่ในทางตรงกันข้าม หากเราสามารถน้อมรับภาวะอารมณ์เหล่านี้ได้ พลังลบๆ ก็จะกลายร่างเปลี่ยนสภาพเป็นพลังที่ค่อยๆ อ่อนโยนลง เป็นพลังที่ไม่ระรานตัวเองหรือคนรอบข้าง แล้วเราก็ค่อยๆ นำพาตัวเองเดินเข้าสู่พื้นที่แห่งความผ่อนคลาย วางใจและตื่นรู้ เป็นหทัยปัญญาแห่งการยอมรับทุกข์ ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่การยอมแพ้ หรือศิโรราบให้กับความสิ้นหวัง หากเป็นการรับรู้ถึงพลังชีวิตและศักยภาพอันยิ่งใหญ่ใน ในอันที่จะ “เลือก” ทางเดินชีวิตและสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ดังใจประสงค์ได้ เป็นการเอื้อให้พลังชีวิตด้านบวกผลักดันนำพาเราให้ก้าวเดินต่อไป โดยที่ทุกๆ จุดที่คุณยืนอยู่คือโอกาสแห่งการเริ่มต้นใหม่

ขอให้คุณเดินทางโดยสวัสดิภาพ และขอให้โชคดี!



โดย พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๙
-------------------------
ผู้รู้ท่านหนึ่งกล่าวว่า “ความคิดคือ ความฝันเมื่อยามตื่น ความฝันคือ ความคิดเมื่อยามหลับ”

เพียงแค่ลืมตาตื่นขึ้นมา ในหัวของเราก็เริ่มแล่นไปสู่การวางแผนในอนาคต เอ...วันนี้เราจะต้องทำอะไรบ้างนะ หรือทบทวนเรื่องราวในอดีต เฮ้อ...เมื่อวานเขาไม่น่าทำอย่างนั้นกับเราเลย เราเริ่มวิ่งเข้าหาข่าวสารข้อมูลด้วยความคุ้นชิน หยิบหนังสือพิมพ์อ่านข่าวล่าสุด เปิดคอมพิวเตอร์เช็คอีเมล เปิดทีวีดูรายการข่าวและบันเทิง ออกจากบ้านก็พบเจอป้ายโฆษณาที่กำลังบอกข้อมูลสินค้าชั้นดี พอเริ่มต้นทำงานหรือเรียน ก็ต้องคิดแก้ปัญหาและเรียนรู้ ตกเย็นเหนื่อยเหลือเกิน ดูหนังดูละครดีๆ สักเรื่องเติมเต็มความหมายหรือความสุขที่หายไป คุยหรือสังสรรค์กับเพื่อนดับความเหงาในใจ จนกระทั่งเข้านอนหลับตาลงเพื่อพบว่า ภาพและเรื่องราวต่างๆ ยังคงโลดแล่นในหัวจนผล็อยหลับ พลันวาบฝันก็เริ่มปรากฏ บางครั้งฝันนั้นน่ากลัว บางครั้งฝันนั้นน่าหัว บางครั้งฝันนั้นเติมเต็ม บางครั้งฝันนั้นรื้อฟื้น เรื่องแล้วเรื่องเล่า จนตื่นขึ้นมาเพื่อพบกับวันใหม่ในโลกเดิม

ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ชีวิตของเราหลงอยู่ในวังวนของความคิดและความฝันที่ไม่มีวันจบสิ้น คำกล่าวของผู้รู้ท่านนั้นช่างน่าสนใจ ราวกับว่าท่านรู้จักกับบางสิ่งที่อยู่นอกเหนือความคุ้นชินของเราในยุคข่าวสารข้อมูล

ผู้รู้ท่านนั้นอธิบายต่อไปว่า “เรามักรู้เรื่องที่คิด แต่ไม่รู้ว่ากำลังหลงคิด”

คำถามคือ ขณะนี้เรากำลังหลงคิดอยู่หรือเปล่า

บางคนอาจตอบว่า เปล่านี่ เราก็รู้อยู่นี่ว่าเราคิดอะไร ไม่ได้หลงไปสักหน่อย แต่หากพิจารณาดูให้ดีจะพบว่า การรู้ว่าเราคิดอะไร คือสิ่งที่ท่านบอกว่า “เรามักรู้เรื่องที่คิด” นั่นอาจหมายความว่า เรากำลังหลงคิดอยู่โดยไม่รู้ตัว

ในเมื่อ “รู้เรื่องที่คิด” ไม่ใช่คำตอบ บางคนอาจคิดต่อไปว่าถ้าอย่างนั้นก็ตัดปัญหาเสียตั้งแต่ต้น คือ เลิกคิดไปเสีย จะได้ไม่ต้องวนเวียนอยู่ในโลกของความคิดความฝัน อืม...ก็อาจจะใช่นะ แต่ เอ...ถ้าเลิกคิดแล้ว เราจะใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร คนที่คิดไม่ทันกลับตกเป็นผู้ถูกเอาเปรียบจากคนที่ชอบคิดใหม่ทำใหม่ แล้วโลกที่มันวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่เป็นเพราะคนเราทำอะไรไม่รู้จักคิด ทำตามอารมณ์อยากได้ไม่อยากได้ ชอบไม่ชอบหรอกหรือ

ถ้าคำตอบไม่ได้อยู่ที่ “รู้เรื่องที่คิด” หรือ “เลิกคิด” แล้วคำตอบอยู่ที่ไหน

เมื่อพินิจพิจารณาอย่างลึกซึ้งต่อปรากฏการณ์ “รู้เรื่องที่คิด” เราจะพบว่า “เรื่อง” เป็นสิ่งที่ถูกรู้ โดยมี “ความคิด” เป็นผู้ไปรู้เข้า “ความคิด” ในฐานะผู้รู้ จึงไม่สามารถกลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ได้ด้วยตัวมันเอง เปรียบเสมือนปลาในน้ำที่รู้ว่ามีอะไรอยู่บ้างในน้ำ แต่ไม่รู้การมีอยู่ของน้ำ ฉันใดก็ฉันนั้น เราอยู่ในความคิด แต่เราไม่รู้การมีอยู่ของความคิด หรือ “ไม่รู้ว่ากำลังหลงคิด” นั่นเอง

ในปรากฏการณ์ “รู้เรื่องที่คิด” มี “เรื่อง” เป็นสิ่งที่ถูกรู้ และ “ความคิด” เป็นผู้รู้ กุญแจสำคัญอยู่ที่การแปรเปลี่ยนให้ “ความคิด” กลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้อีกชั้นหนึ่ง เปรียบเสมือนปลาที่กระโดดเหนือพ้นน้ำ แม้เพียงชั่วขณะ แต่ก็ทำให้รู้จักการมีอยู่ของน้ำ ฉันใดก็ฉันนั้น หากเรากระโดดเหนือพ้นคิด แม้เพียงเสี้ยววินาที แต่ก็ทำให้รู้จักการมีอยู่ของความคิด และเปิดพื้นที่ความเป็นไปได้ต่อการรู้ว่า “กำลังหลงคิด”
จากการพินิจพิจารณาอย่างลึกซึ้งข้างต้น เราพบว่า คำตอบไม่ใช่ทั้ง “รู้เรื่องที่คิด” หรือ “เลิกคิด” แต่อยู่ที่ “พ้นคิด”

ย่อให้สั้นลงก็คือ ไม่ใช่ทั้ง “รู้เรื่อง” หรือ “ไม่รู้เรื่อง” แต่อยู่ที่แยก “รู้” ออกจาก “เรื่อง”

หากแยก “รู้” ออกจาก “เรื่อง” ได้ เราจะได้ความสามารถพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีกประการคือ ความสามารถในการเลือก “เรื่อง” ที่จำเป็นต้องคิด และ “เรื่อง” ที่ไม่จำเป็นต้องคิด ช่วยให้การคิดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ความสามารถในการกรองเอาความคิดที่ไม่จำเป็นออกไป ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างมีความสุขมากขึ้นด้วย เพราะไม่ตกอยู่ในวังวนแห่งความคิดและความฝัน

แล้วเราจะแยก “รู้” ออกจาก “เรื่อง” ได้อย่างไร เราจะ “กระโดด” เหนือพ้นคิดได้อย่างไร เป็นคำถามที่บทความชิ้นนี้ขอทิ้งท้ายไว้ และหวังเพียงว่าท่านจะรับคำถามนี้เข้าไปในหัวใจ



โดย ชลลดา ทองทวี เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๔๙
---------------------------------

หากเรามองไปรอบๆ ตัวอย่างใคร่ครวญพินิจ เราจะเห็นความเชี่อมโยงของแต่ละสิ่งอัน ร้อยเรียงกันไปไม่รู้จบสิ้น ดังที่ ท่านติช นัท ฮันห์ เรียกว่า “Interbeing” ซึ่งมีผู้แปลเป็นไทยไว้ว่า “การเป็นดั่งกันและกัน” เสมือนผ้าทอผืนใหญ่ ที่แต่ละใยเหนี่ยวร้อยยึดให้อีกใยหนึ่งนั้นยังดำรงอยู่ มีแสงแดดที่อบอุ่นอยู่ในเมล็ดข้าวที่เรารับประทาน ถักทอกับสายใยของสายน้ำที่หล่อเลี้ยงต้นข้าวนั้น

ในวิถีชีวิตในเมืองในปัจจุบัน ที่ดูเหมือนว่าเงินจะซื้อหาได้ทุกสิ่งที่จำเป็นของชีวิต เราอาจเห็นว่า ตนเองสามารถอยู่ลำพังโดยอิสระได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น สิ่งใดที่ต้องการ เราก็ใช้เงินไปซื้อหามาได้ สิ่งที่จำเป็นสำหรับเรา จึงอาจจะมีแต่งานของเรา และเงินของเราเท่านั้น บ่อยครั้ง ในวิถีชีวิตประจำวัน เราจึงเห็นแต่ผู้คนที่เร่งรีบ มีธุระมากมาย ตารางนัดหมายเต็มทุกชั่วโมง มีประชุมทั้งวัน ปิดโทรศัพท์มือถือเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปิดโอกาสสำหรับการคุยส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องงาน เราไม่มีเวลารับฟังปัญหาของเพื่อนสนิทและครอบครัว เพราะเวลาของเราหมดไปกับงานในทุกขณะวินาที

หลายคนอาจจะแย้งได้ว่า ไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน แต่ทำด้วยเหตุผลอื่นๆ เช่น เพื่อช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้น ด้วยปัญหาสังคมที่มีมากหลาย ผู้ที่อุทิศตนเพื่อทำงานสังคม ยิ่งมีเวลาน้อยลงไปสำหรับความสัมพันธ์ส่วนตัว สังคมกำลังต้องการผู้ที่เสียสละตนยิ่งเช่นนั้น

สิ่งที่เราละเลยไปในการมุ่งมั่นทำงานของเรา อาจจะเป็นความจริงพื้นฐานที่ว่า เรานั้นแท้ที่จริงแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด ในเกลียวของความสัมพันธ์ที่ไม่รู้จบสิ้นของจักรวาล ดังที่ เดวิด โบห์ม ว่าไว้ หากเราหยิกเล็บ ก็จะต้องเจ็บเนื้อ การที่เราไม่มีเวลาให้กับผู้คน เพราะเวลาของเรา หมดไปกับงานเสียหมดแล้ว

ท้ายที่สุด สิ่งหนึ่งที่เราจะได้รับอย่างแน่นอน คือ สังคมที่ไม่มีใครมีเวลาให้แก่กันและกัน ในสังคมเช่นนี้ เราจึงได้เห็นสุนัขจรจัดอยู่ข้างทาง และคนจรจัดผอมโซ ภาพเช่นนี้ไม่มีให้เห็นในสังคมชนบทหลายแห่งซึ่งทุรกันดารและห่างไกล เพราะที่นั่นผู้คนยังมีเวลาที่จะมองเห็นกันและกัน และเยียวยาดูแลทุกบาดแผลที่เกิดขึ้นให้แก่กัน

การที่เราไม่ได้เปิดพื้นที่ให้แก่การดำรงอยู่รอดของผู้อื่นด้วย โดยเริ่มต้นที่คนใกล้ตัว ท้ายที่สุด เราอาจปิดโอกาสการดำรงอยู่รอดของเราเองไปพร้อมๆ กัน เพราะโลกของเรา โดยธรรมชาติพื้นฐาน เป็นโลกของความสัมพันธ์ เป็นโยงใยที่ไม่สามารถจะตัดขาดออกจากกันได้

เราอาจจะเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ ลองมีเวลาให้กับความสัมพันธ์ก่อนเรื่องของงาน ให้ความสัมพันธ์ที่มีดุลยภาพของเรากับสรรพสิ่ง เป็นเป้าหมายในตัวของมันเอง ละเอียดอ่อนกับคำขอโทษและการขอบคุณมากยิ่งขึ้น รวมทั้งคำถามว่า “สบายดีหรือเปล่า” ที่ออกมาจากหัวใจ โทรศัพท์หรืออีเมลหาผู้คนในเรื่องส่วนตัว แบ่งปันความสุขทุกข์

เติมวัตถุประสงค์ของการทำงานเข้าไปอีกข้อหนึ่งเสมอว่า เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องในงานนี้ ในฐานะเพื่อนมนุษย์ อย่าลืมใช้กระดาษให้ครบทั้ง ๒ หน้า เพื่อขอบคุณต้นไม้

ใช้เวลานั่งมองดูวิถีชีวิตของผู้คน รวมทั้งนกตัวเล็กๆ ให้นานกว่าเดิมโดยไม่รู้สึกผิด การใช้เวลาวันๆ หมดไปเช่นนี้ เราอาจจะพบว่า ท้ายที่สุด เราไม่ได้เป็นคนที่ประสบความสำเร็จสร้างผลงานที่สูงส่งแม้แต่สักชิ้นหนึ่ง แต่ว่า ในทุกขณะของชีวิต เราไม่ได้ละเลยสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่วันหนึ่งจะย้อนกลับมาหาเราเสมอ นั่นคือ ความสัมพันธ์และการให้คุณค่าความหมายของเราต่อสิ่งต่างๆ

เป็นที่น่ายินดีว่า ในสังคมเมืองในปัจจุบัน ในช่วงหลังๆ มานี้ มีการตั้งกลุ่ม หรือ “สังฆะ” ต่างๆ เกิดขึ้นหลายกลุ่ม ทั้งที่เป็นชุมชนเสมือนจริง เป็นชุมชนออนไลน์ ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และที่เป็นชุมชนจริงๆ ซึ่งอาจไม่ได้หมายความว่า มีบ้านเรือนอยู่ติดกันเหมือนในอดีต แต่หมายถึงว่า เป็นกลุ่มของคนที่มีเยื่อใยความสัมพันธ์กัน และนัดพบเจอกันเป็นระยะๆ เพื่อดูแลซึ่งกันและกัน แม้ว่า บ้านและที่ทำงานจะอยู่คนละมุมเมือง บางสังฆะก็เป็นสังฆะภาวนาร่วมกัน เช่น สังฆะแห่งสติ (http://sanghaofmindfulness.blogspot.com/) บางกลุ่ม ก็เป็นสังฆะที่ไปร่วมกันทำงานอาสาสมัครช่วยเหลือผู้อื่น เช่น กลุ่มอาสาสมัครของ Budpage (http://www.budpage.com/) และบางกลุ่มก็เป็นกลุ่มสนทนา (Dialogue) ซึ่งจะเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกันในสังคมมากยิ่งขึ้น

มีผู้กล่าวว่า คนที่ร่ำรวยที่สุด คือคนที่มีเวลามากที่สุด

และหากเราได้รับพรประการหนึ่งเท่าๆ กัน คือเวลาอันล้ำค่าอันนั้น.. การจะเหลือมันไว้บ้าง เพื่อใช้ในความสัมพันธ์เล็กๆ น้อยๆ ที่สำคัญ จะยิ่งเติมเต็มให้วันเวลาที่เหลืออยู่ในชีวิตของเราเปี่ยมคุณค่ายิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

เพราะความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรากับสรรพสิ่ง จะผดุงโอบอุ้มให้การดำรงอยู่ของเราในโลกและจักรวาลนี้มั่นคงมากยิ่งขึ้น ขณะที่การมุ่งหวังที่ผลของงาน หากแลกมาด้วยการทำลายความสัมพันธ์มากหลาย ท้ายที่สุด อาจทำให้เราต้องแบกมันไว้อย่างเดียวดายและหนักอึ้งในวันเวลาที่เหลืออยู่ของชีวิต ก็เป็นได้



โดย กิติยา โสภณพนิช เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙
--------------------------------
เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสหนีไอแดดของเมืองกรุงไปพึ่งไอฝนกับชาวปกาเกอะญอ ที่หมู่บ้านสบลาน อ.แม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เขียนใช้เวลา ๕ วัน ๕ คืน กินนอนและใช้ชีวิตอยู่กับป่าร่วมกับชาวปกาเกอะญอ ไฮไลต์ของการไปในครั้งนั้นคือการได้มีโอกาสไป "ปลีกวิเวก" คือการที่แต่ละคนจะเข้าไปปักเต็นท์อยู่ในป่าเพียงลำพัง งดการพูดจา และอดอาหาร เป็นเวลา ๑ วัน ๑ คืน เพื่อที่จะเปิดใจเรียนรู้จากธรรมชาติภายนอก และเปิดประตูจิตวิญญาณภายในตนเอง

หลังจากการปลีกวิเวกในครั้งนั้น พวกเราได้มีการตั้งวงสนทนาเพื่อถอดประสบการณ์ของแต่ละคน และเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน ผู้เขียนจึงอยากจะขอถือโอกาสใช้บทความนี้เป็นพื้นที่เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เขียนและผู้อ่าน ซึ่งอาจจะไม่นำเราไปสู่คำตอบสุดท้ายเกี่ยวกับการเรียนรู้ตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษา แต่อาจจะพาเราไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น

ในการปลีกวิเวกคราวนั้นพวกเราปักเต็นท์เรียงรายกันอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำ-แม่ลานเงิน เต็นท์แต่ละหลังตั้งอยู่ใกล้กันพอให้อุ่นใจ แต่ก็ไกลกันพอที่จะไม่รบกวนกัน ผู้เขียนเองเลือกปักเต็นท์อยู่บริเวณที่มีต้นไม้ปกคลุมร่มรื่น หน้าเต็นท์หันไปหาแม่ลานเงิน น้ำสีดินแดงขุ่นๆ จากฝนที่ตกลงมาเมื่อคืนไหลเอื่อยๆ บรรยากาศเงียบสงบ ผู้เขียนแอบภูมิใจกับสถานที่ตั้งเต็นท์นี้อยู่ไม่น้อย และอาจจะภูมิใจเสียจนลืมสังเกตเห็นมดตัวดำๆ ที่เริ่มทยอยกันมาสำรวจเต็นท์สีเหลืองสะท้อนแสงไป

การปลีกวิเวกจึงเริ่มต้นด้วยการไล่ ตบ ตี ปัด เป่า เขี่ย และ(คง)ฆ่า มดดำที่มารบกวนเต็นท์ของผู้เขียน แป้งที่โรยไว้รอบๆ เต็นท์จนเกือบหมดกระป๋องไร้ความหมายไปทันทีเมื่อมดเริ่มไต่เดินมาตามสมอบก และเชือกที่ขึงไว้กับต้นไม้ ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ดูจะไม่สามารถหยุดยั้งเจ้ามดพวกนี้ได้ ผู้เขียนต่อสู้กับมดได้อยู่พักหนึ่งก็เริ่มถอดใจ และเดินไปหาที่สงบๆ นั่งพักชมสายน้ำไหลให้ใจเย็นลง แต่ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ดูจะมีเจ้ามดไปจับจองไว้แล้วทั้งสิ้น ในใจตอนนั้นคิดเพียงอย่างเดียวว่าทำไมมดพวกนี้จึงต้องมาระรานเราถึงขนาดนี้

ช่วงที่เราไปปลีกวิเวกนั้นเป็นช่วงต้นฤดูฝน ทางคณะผู้จัดจึงได้ตกลงให้อยู่ปลีกวิเวกถึงเพียง ๕ โมงเย็นของวันนั้น เนื่องจากเกรงว่าถ้าฝนตกลงมาอีกน้ำอาจเอ่อล้นอย่างรวดเร็วจนพวกเราที่ไม่ชำนาญป่าอาจหนีไม่ทัน ดังนั้นพอคล้อยบ่ายผู้เขียนจึงเริ่มเก็บข้าวของด้วยความลิงโลด ในใจคิดแต่เพียงว่าอย่างน้อยก็จะได้ไปพ้นๆ จากมดพวกนี้เสียที เมื่อผู้เขียนจับเต็นท์ยัดใส่ถุงเสร็จก็เห็นหญิงสูงอายุร่างเล็กชาวปกาเกอะญอเดินดุ่มๆ มาทางผู้เขียน ในใจตอนนั้นคิดว่าเขาคงจะมาเร่งให้เรารีบไป แต่ที่ไหนได้ กลับมาบอกเพียงสั้นๆ ว่า จะอยู่ต่อก็ได้นะเพราะฝนคงไม่ตกแล้ว ในหัวตอนนั้นวิ่งวุ่นไปด้วยคำถามและปัญหา แต่ใจก็รู้ดีว่าหญิงสูงอายุตรงหน้าไม่ใช่คนที่จะมาตอบคำถามหรือแก้ปัญหาเหล่านี้

ผู้เขียนค่อยๆ ดึงเต็นท์ออกมากางอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ตอนนั้นรู้สึกท้อแท้ และอยากร้องไห้เต็มทน แต่ก็ข่มใจสู้ ค่อยๆ ปักสมอบกทีละอันจนครบ พอเต็นท์ตั้งขึ้นเป็นรูปร่าง ใจก็ชื้น ความคิดที่ว่าทำไม่ได้ก็หมดไป ผู้เขียนเดินกลับไปเติมน้ำดื่มที่ศูนย์ ขากลับรู้สึกถึงใจที่เต้นแรง และเป็นครั้งแรกของวันนั้นที่ได้ยินเสียงหัวใจของตนเอง ตอนเย็นพอได้เอาตัวลงไปแช่ในแม่น้ำ ความรู้สึกกลัว และไม่ไว้ใจในน้ำสีดินแดงขุ่นๆ ก็ค่อยๆ หายไปพร้อมกับสายน้ำที่ไหลผ่านตัวเรา ก่อนอาทิตย์จะลับขอบฟ้า ผู้เขียนนั่งมองพระจันทร์ครึ่งดวงที่ค่อยๆ ลอยขึ้นมาแทนที่ ความงามเหล่านี้ผู้เขียนไม่ได้เห็นและไม่ได้มีแม้แต่ช่องว่างทางสายตาที่จะเหลียวมองดูแม้แต่น้อยขณะที่ทะเลาะต่อสู้อยู่กับมด ความว้าวุ่นใจและความรำคาญใจในตอนนั้นกลับทำให้เรามองข้ามความงามอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่ห้อมล้อมเราอยู่

ค่ำนั้นผู้เขียนเตรียมใจไว้พร้อมกับการที่จะต้องนอนกับมด แต่เมื่อเดินกลับมาที่เต็นท์กลับพบว่าไม่มีมดเหลืออยู่เลยแม้แต่ตัวเดียว คืนนั้นผู้เขียนนอนดูหิ่งห้อยอย่างสบายใจ และเริ่มที่จะเห็นความจริงหลายๆ อย่างได้ชัดขึ้น ตลอดเวลาที่มดมาไต่ตอมอยู่บนเต็นท์นั้น มันแทบจะไม่ได้เข้าไปด้านในของเต็นท์เลย และยิ่งไปกว่านั้น มันแทบจะไม่ได้ทำร้ายเราเลย มีเพียงผู้เขียนคนเดียวที่ตีโพยตีพายอาละวาดทำร้ายมดทั้งฝูง มดมันไม่ได้มาทะเลาะกับผู้เขียน ในความเป็นจริงแล้วมีเพียงผู้เขียนคนเดียวที่ทะเลาะกับตัวเอง

ผู้เขียนเคยคิดมาเสมอว่าตัวเองไม่ได้รังเกียจสัตว์ร่วมโลกตัวเล็กๆ อย่างมด หรือแมลงต่างๆ และเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นพวก ยุงไม่ตบ มดไม่เหยียบเสียด้วยซ้ำ เป็นถึงขั้นที่ว่าแม้แต่สุนัขที่บ้าน ผู้เขียนก็ยังอุตส่าห์ไปสอนมันไม่ให้แกล้งคางคกที่อาศัยอยู่ในสวนหลังบ้าน ทั้งยังมีมุมมองที่ว่าธรรมชาติกับผู้เขียนนั้นไม่เคยอยู่ไกลกัน ที่บ้านมีสวน มีต้นไม้ ตั้งแต่เล็กจนโตมาก็เดินทางออกต่างจังหวัด นอนกลางดินกินกลางทรายมาตลอด จนอดที่จะคิดเข้าข้างตัวเองไม่ได้ว่าชีวิตเราอยู่ใกล้ธรรมชาติแค่คืบ

แต่เมื่อมองให้ละเอียดแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างคนเมืองอย่างผู้เขียนกับธรรมชาติมักจะมีเส้นบางๆ วางกั้นไว้อยู่เสมอ เราแบ่งเมืองออกจากป่าอย่างสิ้นเชิง และวางสองสิ่งนี้ไว้บนขั้วตรงข้าม สวนหรือพันธุ์พืชในเมืองที่เราเรียกว่าธรรมชาติก็มักจะถูกจัดวางไว้อย่างสวยงาม เรียบร้อย เป็นระเบียบ ธรรมชาติที่เรารู้จักคือธรรมชาติ "เชื่องๆ" ที่เราสามารถจัดการ ปรับเปลี่ยนให้มันเป็นไปตามความต้องการของเราได้ ตอนที่ผู้เขียนไล่มดออกจากเต็นท์นั้น ในหัวคิดอยู่เพียงอย่างเดียวว่า ทำไมมดจะต้องมายุ่งกับเรา ทำไมมันจะต้องเข้ามาก้าวก่ายในสถานที่ที่เราจับจอง แต่ไม่เคยที่จะมองแม้แต่น้อยว่า เราต่างหากที่เป็นผู้บุกรุกเข้าไปในสถานที่ของเขา แถมยังเป็นผู้บุกรุกที่ไม่อ่อนน้อมถ่อมตน และมุ่งหวังเพียงแค่จะเอาชนะธรรมชาติ

ถึงแม้การทะเลาะกับมด (ที่จริงๆ แล้วเป็นการทะเลาะกับตัวเอง) จะห่างไกลจากภาพการปลีกวิเวกอันเงียบสงบที่ผู้เขียนหรือใครหลายๆ คนอาจจะเคยวาดไว้ แต่หากหัวใจของการปลีกวิเวกคือการเรียนรู้ภายในตนเองแล้วละก็ ผู้เขียนก็ต้องบอกว่าโชคดีที่คราวนี้ได้มดเป็นครู
ที่ได้พาผู้เขียนน้อมใจเข้าไปสัมผัสความจริงทั้งที่อยู่ตรงหน้า และเข้าไปยอมรับความจริงในใจของตัวเอง สำหรับผู้เขียนแล้ว การเปิดใจยอมรับธรรมชาติอย่างที่มันเป็นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเรียนรู้ภายใน เป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องอาศัยความกล้าหาญ และต้องอาศัยครูที่จะคอยชี้นำทาง และในหลายๆ ครั้งธรรมชาติก็ยังคงเป็นครูที่ดีที่สุดสำหรับเรา

Newer Posts Older Posts Home