โดย ชลนภา อนุกูล
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒

ผลจากแบบสอบถามครั้งหนึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้คนโดยมากเชื่อว่านักฟิสิกส์ฉลาดกว่านักวิทยาศาสตร์สาขาอื่น – แต่ความเห็นของคนโดยมากก็ไม่อาจกลายเป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์หรอกนะ

ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่งยืนยันว่าการดื่มไวน์แดงช่วยป้องกันโรคหัวใจ แต่งานวิจัยอื่น-อื่นก็ชี้ให้เห็นว่าการดื่มไวน์แดงเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคอื่น-อื่นได้อีกมหาศาล - การเลือกเชื่อผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพียงบางเรื่องก็ไม่ใช่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เช่นกัน

งานวิจัยเกี่ยวกับการปลูกป่าหลายชิ้นปรากฏผลว่า คุณภาพของดินที่ปลูกป่าเลวลง หากไม่มองว่า ระยะเวลาในการเก็บข้อมูลเป็นเพียงระยะเริ่มต้นของการปลูกป่า ซึ่งต้นไม้จะต้องดึงแร่ธาตุสารอาหารในดินไปใช้ในการเจริญเติบโต ก่อนที่จะเน่าเปื่อยสูญสลายกลายเป็นหน้าดินในเวลาอีกหลายสิบปีถัดมา การปลูกป่าก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นเรื่องไร้ประโยชน์และเป็นโทษต่อพื้นดินไปอย่างง่ายดาย - การพิเคราะห์ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยังต้องตั้งคำถามต่อกระบวนการและปัจจัยในการทดสอบอีกด้วย

ทฤษฎีทางฟิสิกส์มีวิวัฒนาการมาจากนิวตัน ผ่านเข้าสู่ทฤษฎีสัมพันธภาพ และปัจจุบันกำลังอยู่ในยุคควอนตัม - แต่ไม่ได้หมายถึงว่า ควอนตัมนั้นดีที่สุด และเอะอะอะไรก็ควอนตัม-ควอนตัม ถ้าจะให้ดี ต้องตรวจสอบผู้พูดอย่างถี่ถ้วนเหมือนกันว่าสิ่งที่พูดนั้นผู้พูดเข้าใจแค่ไหนและอย่างไร เพราะนักฟิสิกส์เองก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจทฤษฎีทางฟิสิกส์อย่างถ่องแท้ อย่างที่ริชาร์ด ฟายน์แมน นักฟิสิกส์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลปีค.ศ. ๑๙๖๕ ผู้เชื่อมสมานทฤษฎีสัมพันธภาพและควอนตัมเข้าด้วยกัน เคยตั้งข้อสังเกตว่า ในโลกนี้น่าจะมีนักฟิสิกส์สักสิบสองคนที่เข้าใจทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ และไม่มีแม้แต่คนเดียวที่เข้าใจทฤษฎีควอนตัม ซึ่งรวมทั้งตัวเขาเองด้วย

ด้วยความที่ควอนตัมเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก จึงกลายเป็นเรื่องที่ถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา และเลอะเทอะกลายเป็นไสยศาสตร์ได้ง่าย ดังที่มีผู้พยายามขายสินค้าโดยอ้างว่าเป็นไปตามทฤษฎีควอนตัม และพะถ้อยคำควอนตัมลงไปในเหรียญประดับ นาฬิกา เตียง น้ำ เป็นต้น และอ้างสรรพคุณว่ามีฤทธิ์รักษาโรคได้สารพัด - การอ้างจากประสบการณ์ของผู้คนไม่กี่คนนั้นไม่ถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันการพร้อมที่จะเชื่อโดยไม่ตรวจสอบใคร่ครวญก็ไม่ถือว่าเป็นพุทธเช่นเดียวกัน

ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะควอนตัมกลายเป็นหนทางใหม่ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ มีการอ้างถึงนักวิทยาศาสตร์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ประกอบคำโฆษณามากมาย แต่เมื่อตรวจสอบผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์กลับไม่พบเลยแม้แต่ชิ้นเดียว สินค้าที่อ้างควอนตัมนี้ใช้การแถลงสรรพคุณจากผู้คนมากหน้าหลายตา การซื้อขายนี้จึงอันตรายเสียยิ่งกว่าการซื้อขายวัตถุบูชาทั้งหลาย ซึ่งยังเสนอข้อเท็จจริงในแง่ของความเชื่อและศรัทธาแบบตรงไปตรงมา แต่สินค้าควอนตัมตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท็จและความฉ้อฉลล้วน-ล้วน โดยมีลัทธิบริโภคนิยมและวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณเป็นเครื่องหนุนเสริม

บางคนเห็นว่าก็ถ้าจ่ายเงินไม่เท่าไหร่ และหายจากความเจ็บป่วยด้วยอุปาทาน ต่อให้ไม่ใช่คุณวิเศษจากควอนตัมก็ไม่น่าจะเป็นไร - ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เงินไม่เท่าไหร่ นั้นเท่าไหร่แน่? คำว่าไม่เป็นไร ไม่เป็นไรจริงล่ะหรือ?

ทรัพย์ที่จ่ายให้กับของที่ไม่ได้จำเป็นนั้น หากรวมกันมากเข้า อาจจะนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้มาก เป็นต้นว่า ทุนการศึกษาทางด้านจิตตปัญญาให้กับเสมสิกขาลัย สาวิกาสิกขาลัย หรือมหาวิทยาลัย - ทรัพย์นั้นอาจจะถูกมองว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัว แต่การใช้จ่ายออกไปไม่เคยเป็นเรื่องส่วนตัวได้เลย หากมีผลต่อทัศนคติของสังคมว่าให้คุณค่ากับอะไรเป็นสำคัญ ก็ถ้าผู้บริโภคจ่ายเงินให้กับสินค้าประเภทไหน สินค้าประเภทนั้นก็ย่อมถูกผลิตออกมาอีก เนื่องจากถือว่าได้รับการโหวตจากผู้บริโภคโดยปริยาย ไม่น่าแปลกใจที่สินค้าที่อาศัยไสยศาสตร์หรือศรัทธาเป็นเครื่องเชิญชวนจะยังคงขายกันเกร่ออยู่ทั่วไป

หากครูบาอาจารย์หรือองค์กรที่ทำงานเรื่องพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณ เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับสินค้า ไม่ว่าจะเป็นเหรียญประดับควอนตัม อาหารบำรุงสมอง หรือแม้แต่นมผงสำหรับเด็ก จะถือว่าได้ทำหน้าที่ของตนในการทำลายซึ่งมิจฉาทิฏฐิแล้วล่ะหรือ? ต้นทุนที่แท้จริงของการเพิ่มเติมมิจฉาทิฏฐิว่าด้วยบริโภคนิยมและวัตถุนิยมลงไปในสังคมนั้นมีราคาเท่าไหร่กันแน่?

จิตตปัญญาศึกษาหรือการศึกษาด้วยใจอย่างใคร่ครวญนั้นเป็นการศึกษาที่เปิดใจกว้าง สามารถยอมรับวิถีทางที่แตกต่างได้ แต่ไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องประนีประนอมกับสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานอย่างโยนิโสมนสิการหรือการบริโภคที่ขาดสติ - อย่าลืมว่า แม้ศาสนากับวิทยาศาสตร์จะพยายามสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบสุนทรียสนทนามากขึ้นในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การเหมารวมหรือสรุปรวมหมู่ว่าศาสนากับวิทยาศาสตร์นั้นเหมือนกัน และยังยอมรับว่ามีทัศนะที่แตกต่างในหลายเรื่อง

จิตวิวัฒน์และจิตตปัญญาศึกษาแม้จะให้พื้นที่กับองค์ความรู้ที่ยังไม่อาจพิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้นว่า องค์ความรู้จากภูมิปัญญาของชนเผ่า องค์ความรู้เรื่องผลึกน้ำของศาสตราจารย์อิโมโตะ องค์ความรู้เรื่องความฝัน องค์ความรู้เรื่องการตาย ฯลฯ แต่ไม่ได้หมายถึงว่าจะยอมรับองค์ความรู้เหล่านี้ หรือศิโรราบศรัทธาในอาจารย์ที่ปรึกษาฯ โดยปราศจากการตรวจสอบใคร่ครวญ

จิตตปัญญาศึกษามีหน้าที่ตรวจสอบองค์ความรู้ต่าง-ต่างอย่างเข้มข้น เรียนรู้ความเหมือนความต่าง และเข้าใจความเป็นไปอย่างแยบคาย จิตตปัญญาไม่ได้แปลว่าการโอนอ่อนผ่อนตาม เปิดรับทุกเรื่องโดยไม่ตั้งคำถาม หรือเห็นแก่ความสัมพันธ์เสียจนละทิ้งความเป็นกัลยาณมิตรในฐานะผู้ร่วมเดินทางในการแสวงหาสัจจะร่วมกัน

หนทางในการภาวนาหรือเข้าถึงสัจจะนั้นไม่ได้เป็นเรื่องของความสุขสนุกสนานเลยแม้แต่น้อย หนทางนี้มีการเผชิญหน้ากับคุณค่าเดิมในกระแสหลัก หวั่นไหวไปกับความรักความปรารถนาจากผู้คนรอบข้าง สับสนกับทางเลือกนับไม่ถ้วน เจ็บปวดกับการถูกตรวจสอบท้าทายครั้งแล้วครั้งเล่า แต่บนหนทางนี้จะนำพารากแห่งปัญญาและกรุณาให้หยั่งลึกลงไปในหัวใจของเราลึกซึ้งขึ้น-ลึกซึ้งขึ้น



โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๒

ยามเศรษฐกิจตกสะเก็ดเช่นนี้ น่าจะกล่าวขอบคุณ ทุกความเร่งรัด รวมทั้งอาการกดดันจากองค์กรในยามที่การแข่งขันทางธุรกิจกำลังเดือดพล่าน เป็นเวลาที่เราต้องระดมสรรพกำลังโดยเฉพาะกำลังใจของผู้คนให้เดินก้าวหน้าไปด้วยกัน และจับมือกันให้มั่นคง สบสายตาอันเป็นมิตร ยังพูดจาติดตลกได้แม้นหลายเรื่องราวจะคอขาดบาดตายเอาก็ตาม

จะเป็นจะตายเพียงใดหรือ? แท้จริงการทำธุรกิจคือการงานที่มีตัวชี้วัด และเป็นเพียงเกมกีฬา มีได้แต้ม เสียแต้ม ทีมไหนแข็งแรงกว่าก็เก็บแต้ม ทีมไหนอ่อนแอ แพ้เชิงกันทางกลยุทธก็เสียแต้ม ต่างฝ่ายรุกรับขับสู้กันในเกม ต่างต้องฝึกฝนบำรุงกำลังคน กำลังใจให้พร้อมและเข้มแข็ง หากเพียงแต่แข่งกันอย่างตื่นรู้มิใช่หลับใหล ตื่นให้รู้ว่า นี่เป็นเพียงเกม ในเกมกีฬาไม่มีใครเอาเป็นเอาตายกันก็เท่านั้น

สำนวนโบราณที่ว่า “กีฬา กีฬาเป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลส ทำคนให้เป็นคน” ก็ไม่ล้าสมัยเลย ผลของการฝึกตนจะเป็นเช่นไร ขึ้นอยู่กับเราให้ ตัวตนด้านใน ตัวใดของเราเข้าเล่นเกมนี้

เมื่อการงานเป็นเกมกีฬา ตัวตนของ “คุณชนะ” ก็ต้องเข้ามาเป็นกำลังหลัก “คุณดัน” “คุณวินัย” “คุณ (กล) ยุทธ” “คุณประสาน” ก็คงต้องเข้าร่วมทีมกัน เมื่อเล่นกันเป็นทีมก็ต้องมีกติกา “คุณระเบียบ” ต้องดูแล “คุณวินัย” คอยกำกับ

ในยามลงสนามแข่ง “คุณตามใจ ณ อิสรภาพ” แค่คอยเป็นกำลังใจข้างสนามบ้าง เมื่อ “คุณตามใจ” ให้ความเคารพ “คุณระเบียบ” เปิดทางให้ “คุณศิโรราบ” ได้อาสาสละอิสระส่วนตนเพื่อชัยชนะของส่วนรวม

หากคนดูรอบสนามตะโกนถามว่า จะแข่งกันไปหาสวรรค์วิมานอะไรเล่า คำตอบแรกนึกถึงนายห้างเทียม โชควัฒนาเคยบอกไว้ว่า “คู่แข่งไม่ใช่คู่แค้น” แข่งแล้วไม่แค้นนี่ก็ต้องฝึก เหมือนคำโบราณที่ว่าการกีฬาฝึกให้ “รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย” แม้รู้อภัยอย่างเดียวคงไม่ได้พาใครไปสวรรค์ แต่ใครจะตั้งใจไปสวรรค์โดยไม่รู้จักให้อภัยคงไม่ได้กระมัง

และเมื่อเกมจบก็พัก คุณๆ ทั้งหลายที่ได้เอ่ยนามมาในเบื้องต้นก็ไปพักผ่อน คราวนี้ “คุณตามใจ” พา “คุณสบาย” เข้ามาเป็นทิวแถว หมดเวลาแข่งขัน เจ้าเด็กเล็กๆ ที่เมื่อสักครู่วิ่งเล่นหัวกับคุณๆ ทั้งหลายในสนามแข่ง ก็ได้เวลาพักผ่อนซุกซนด้วยกล้ามเนื้อกล้ามใจที่แข็งแรง

แล้วพลิกเหรียญอีกด้านกลับไปดูว่า หากธุรกิจไม่ใช่เกมกีฬา แต่เป็นสงครามซึ่งพื้นที่สมรภูมิเป็นการรบที่ผู้แพ้อาจตายได้ จะเกิดอะไรขึ้น

ธุรกิจที่กลายเป็นสงครามจึงเป็นการสู้รบแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย คู่แข่งฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นศัตรู ทีมของเราต้องรบชิงชัยให้ได้ มิฉะนั้น ไม่เราก็เขาถึงตาย

ในกีฬาแพ้ชนะกันแค่แต้ม แต่สงครามแพ้ชนะชิงบ้านชิงเมือง ชิงอธิปไตยเหนือแผ่นดินนั้นๆ และก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างเสมอๆ เมื่อธุรกิจล้มเหลว อีกนัยหนึ่งคือพ่ายแพ้ เจ้าของกิจการถึงล้มละลาย บริษัทถูกยึด บ้านช่องทรัพย์สิน อาจจะถูกขายทอดตลาด ดีแต่ว่า ไม่โดนยึดลูกยึดเมียเหมือนสงครามในสมัยโบราณ

เมื่อเกมเป็นการรบการสงคราม การจัดสรรพกำลังก็มิใช่ทีมที่มีเพียงหัวหน้าทีมหรือโค้ช แต่องค์กรการรบ ต้องมี “คุณวินัย” เป็นกำลังหลัก มี “คุณบัญชา” เป็นผู้นำ มี “คุณทะแกล้วกล้า” “คุณทะลวงฟัน” อีกทั้ง “คุณยุทธศาสตร์” “คุณยุทธวิธี” “คุณประสิทธิภาพ” “คุณประสาน” “คุณสื่อสาร” และ “คุณพลาธิการ” และอีกสารพัด

แต่การตัดสินใจอยู่ในมือ “คุณบัญชา” ทีมงานเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา “คุณวินัย” ของหน่วยรบกำหนดให้ทุกคนต้องถวายหัวต่อคำสั่ง ศิโรราบและเชื่อฟัง ใครขัดขืนถึง “ตาย” หากใครพลาด หน่วยรบพลาด การรบพ่ายแพ้นั้นหมายถึงความตายของหน่วยงาน ความตายของคุณบัญชา ผู้เป็นแม่ทัพ (แต่ส่วนใหญ่แล้วพลราบคนเล็กคนน้อยนั้นพลีกายไปก่อน มากกว่า แม่ทัพผู้พ่ายแพ้ก็มักจะมีโอกาสสละเรือ หรือเร้นกายจากสนามรบได้อย่างไร้ร่องรอย)

หากคนทำงานธุรกิจอยู่ในอารมณ์ที่กล่าวมาแล้ว ไม่ว่าเขาจะเป็นลูกน้อง หรือลูกพี่ เป็นแม่ทัพ หรือผู้ใต้บังคับบัญชา และพวกเขารู้สึกตัวว่าอยู่ในสนามรบ หรือบริหารบังคับบัญชาอยู่ใน war room ความกดดันย่อมแตกต่างจากข้างสนามกีฬา ความผิดพลาดหรือแม่นยำมีผลต่อการรบ ต่อความเป็นความตายของหน่วยงาน

ในสนามรบไม่มีที่ให้ “เด็กเล็กๆ” วิ่งเล่น มีแต่ “คุณชนะ” หรือ “คุณแพ้” “คุณเข้มแข็ง” หรือ “คุณอ่อนแอ” “คุณจะอยู่รอด” หรือ “คุณจะตาย”

บ่อยครั้งที่การแข่งขันเข้ามาในธุรกิจ หรือในชีวิตของเราโดยเรามิได้เชื้อเชิญ หากตัวตนด้านในของเราไม่มีใครสักคนที่เป็นนักกีฬาหรือแม้แต่นักรบซะเลย เมื่อแขกที่ไม่ได้เชื้อเชิญโคจรเข้ามาในชีวิตเราก็จะรู้สึกอึดอัดเพราะจัดการไม่ได้

แต่แน่ล่ะในทางกลับกัน หากตัวเรามีแต่นักแข่งขัน จะเป็นนักรบหรือนักกีฬาก็ตาม เท่านั้น มี “คุณชนะ” เป็นเจ้าตัวหลักตัวเอก คอยถือธง พาเราเข้าสู่สนามแข่ง หรือสนามรบอยู่เสมอ ๆ ตัวเราก็คงจะเหน็ดเหนื่อยตลอดเวลา เมื่อ “คุณชนะ” เธอมองเห็นใครต่อใครในชีวิตของเราเป็นคู่แข่ง เป็นศัตรูไปหมด

หากเรามีแต่ตัวตนที่แสวงหาความร่วมมือร่วมใจ ประสานสัมพันธ์กับผู้คน แล้วเราตกอยู่ในภาวะการแข่งขัน เราก็จะอึดอัดใจที่ฝ่ายตรงกันข้ามเขาไม่ได้ให้คุณค่ากับความสัมพันธ์นัก นอกจากต้องการผลสัมฤทธิ์ที่เหนือกว่า ในเวลาเช่นนั้นสำหรับเราผู้มี “คุณประสาน เชื่อมสัมพันธ์” เป็นตัวเอก ก็อาจจะต้องเชื้อเชิญ “คุณชนะ” เข้ามาร่วมวงไพบูลย์ อาการอึดอัดอาจจะทุเลา ด้วยว่า บ่อยครั้งความอึดอัดในใจ ในสถานการณ์บางสถานการณ์ในที่ทำงานใดใดก็ตาม เกิดขึ้น เพราะเราขาดศักยภาพบางอย่างที่จำเป็นต่อสถานการณ์นั้น

อันที่จริงจะว่า เราขาดก็ไม่เชิง เราเพียงแค่ลืมเลือนไปว่า เราก็สามารถแข่งขัน เอาชนะผู้คนได้เหมือนกัน หรือเป็นได้ว่า ผลลัพธ์ของการแข่งขัน ครั้งล่าสุดในชีวิตของเรานานมาแล้วก่อนหน้าที่เราจะอึดอัดในครั้งนี้ ยังฝังลึกเป็นแผลคาใจเกินไป จนเราไม่กล้าหันไปมองเห็นผู้ชนะของเรานอนบาดเจ็บอยู่ในการแข่งขันครั้งนั้น และเป็นภาพที่ยากจะลบทิ้ง

ทำนองเดียวกันแต่คนละทาง หากเราเต็มเปี่ยมไปด้วยตัวตนที่แสวงหาชัยชนะ ซึ่งก็สัมพันธ์กับผู้คนได้ดีเท่าที่เขาเหล่านั้นนำชัยมาให้ อยู่มาวันหนึ่งมีใครสักคนหยิบยื่นความสัมพันธ์ที่ไร้เงื่อนไขให้ หรือเรียกร้องจากเราให้เอาหัวใจให้เขาอย่างไร้เงื่อนไข ในวันนั้นซึ่ง “คุณชนะ” นักรบ นักแข่งในใจเราไม่รู้จะจัดการอย่างไร เราก็อึดอัด

ที่เป็นเช่นนั้นด้วยเราลืมเลือนไปแล้วว่า จะสัมพันธ์กับผู้คนโดยไม่มีเป้าหมาย ไม่มีเส้นชัย นั้นเป็นอย่างไร เราอาจจะลืมไปแล้วว่า การดำรงอยู่เพียงเพื่อใครสักคนโดยไม่ต้องหวังผลใดใดเลยนั้นคืออะไร เราอาจจะเบือนหน้าหนีเขาหรือเธอผู้นั้น เพราะเขาสะท้อนภาพอดีตฝังใจที่เราเคยพบเคยได้ยินว่า “ถ้าทำไม่ได้ดี ทำไม่ได้เก่งกว่าชาวบ้านก็ไปเอาปี๊บคลุมหัวซะ ฉันไม่รักหรอก”

เราอาจจะนึกไม่ออกเอาเลยว่า รักโดยไม่หวังผล รักโดยไม่มีเงื่อนไข รักแบบให้เราเป็นใครก็ได้ ไม่ต้องเป็นใครที่แสนดี แสนเก่งนั้นเป็นเช่นไร เราอาจจะคิดไม่ออกเอาเลยว่า จะรักใครหรือเป็นที่รักของใคร โดยเราห่วยๆ ไม่เอาไหน หรือเป็นผู้แพ้ นั่นเป็นไปได้ในโลกใบนี้หรือ



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๒

เมื่อเสาร์อาทิตย์ที่ ๖-๗ มิ.ย.๕๒ ที่ผ่านมา เสมสิกขาลัยที่ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยทางเลือกของบ้านเราได้จัดคอร์สเรียนรู้เรื่อง “ดุลยภาพในสัมพันธภาพ” ขึ้น ผู้เขียนเลยได้กลับไปเยี่ยมสถานที่จัด คือ เรือนร้อยฉนำ (สวนเงินมีมา) อีกครั้ง หลังจากหายหน้าหายตาไปนาน ทุกครั้งที่ไปที่นั่นจะรู้สึกเหมือนได้กลับบ้าน เพราะได้พบปะกับผู้คนคุ้นเคยกัน ที่นั่นเป็นสถานที่สำหรับผู้ประกอบการทางสังคมที่คิดฝันและลงมือสร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย และคนเหล่านี้ล้วนเป็นคนหนุ่มสาวที่กำลังใช้ชีวิตในการให้มากกว่าการกอบโกย เพื่อเติมเต็มความหมายและคุณค่าให้กับโลกใบนี้ได้อย่างน่าทึ่ง อย่างน้อยก็ช่วยให้สังคมยังมีข่ายใยชีวิตที่แบ่งปัน แลกเปลี่ยนและเรียนรู้อย่างนี้

แม้ว่าสถานที่จะอยู่ในตรอกเล็กๆ แถวคลองสาน ซึ่งอาจหายากสักนิดสำหรับผู้ที่ไม่เคยไป แต่หากได้ไปสักครั้งอาจทำให้รู้สึกว่าได้ค้นพบโอเอซิส หรือแอ่งธารแห่งน้ำใจอีกแห่ง มีร้านหนังสือและร้านกาแฟเล็กๆ เปิดทำการแทบทุกวัน ห้องสมุดบนชั้นสองก็มีหนังสือดีๆ ที่คัดสรรมาไว้ให้หยิบยืมอ่าน วันไหนที่มีรายการอบรมหรือเสวนาก็อาจมีหนังทางเลือกมาขายโดยผู้ขายเจ้าประจำของที่นั่น และที่สำคัญการได้พบปะแลกเปลี่ยนกับผู้คนที่ทำงานในโครงการต่างๆ ภายใต้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปช่วยให้สัมผัสได้ถึงความเป็นมิตรและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้ดีงามตามกำลังของตน โดยทั้งหมดนี้ริเริ่มมาได้ด้วยแรงบันดาลใจและวิสัยทัศน์ของ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้ช่วยหล่อเลี้ยงให้ข่ายใยชีวิตนี้ได้ขยายตัวไปพร้อมกับกิจกรรมทางสังคมที่กระตุ้นเตือนและสร้างความเป็นธรรม รวมทั้งปลุกให้เราต่างดำรงชีวิตอย่างมีสติและไม่เบียดเบียนกันและกัน ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องที่จัด

ในชีวิตเราต่างสัมพันธ์กับผู้คนมากมาย ความสัมพันธ์ที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือความสัมพันธ์ที่เราได้มาจากการเกิด นั่นคือกับพ่อแม่พี่น้องของเรา ความสัมพันธ์เหล่านี้สร้างความเป็นตัวเป็นตนให้กับเราตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ เพราะทัศนคติและสุ้มเสียงผู้คนรอบข้างไม่เพียงแต่ส่งผลต่อเด็กตัวเล็กๆ ที่เป็นเราในวันนั้นเท่านั้น แต่ส่งผลต่อสิ่งที่เป็นเราในวันนี้มากกว่าที่คิด เราเลือกที่จะเป็นบางอย่างและไม่เป็นหลายๆ อย่างด้วยเงื่อนไขของสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยและการได้รับความรักหรือการยอมรับจากโลก เช่น เรารู้สึกดีหรือไม่ดีกับตัวเองในเรื่องอะไร เราเชื่อว่าตัวเองเป็นคนอย่างไร

บางคนรู้สึกว่า “ฉันเป็นคนเข้มแข็ง พึ่งตัวเองได้ เด็ดเดี่ยว รับผิดชอบชีวิตตัวเอง แถมยังสามารถเป็นที่พึ่งให้กับคนอื่นได้ด้วย นี่เป็นสิ่งที่ฉันภูมิใจ” หรือบางคนอาจมองตัวเองว่า “ฉันเป็นคนมีเหตุมีผล ควบคุมและจัดการตัวเองได้ทุกครั้งที่เกิดปัญหา ฉันไม่โวยวาย ไม่ทำให้ใครต้องเดือดร้อน ฉันให้เกียรติและเคารพคนอื่นเสมอ” หรือไม่ก็ “ฉันพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อให้ทุกคนรู้สึกพึงพอใจ ฉันไม่ต้องเป็นตัวของตัวเองมากนักหรอก ตราบใดที่ช่วยให้ผู้คนมีความสุขฉันก็พอใจแล้ว” เสียงภายในเหล่านี้ล้วนเป็นความสัมพันธ์ที่เรามีต่อตัวเองและกับผู้คนรอบข้าง เป็นเสียงที่ปลุกกระตุ้นศักยภาพหรือพลังงานในชีวิตพร้อมๆ กับการกดทับศักยภาพบางอย่างที่ขาดหายไปจากการรับรู้ของเรา ที่สำคัญเราตัดสินผู้อื่นไปตามมาตรฐานหรือนิสัยส่วนตัวของเราไม่น้อย แม้จะอ้างอิงแนวคิดหรือหลักการที่ครบถ้วนสมบูรณ์เพียงใดก็ตาม สุขทุกข์ในชีวิตของเราก็แปรสภาพตามมุมมองที่เรามีต่อตัวเองและผู้อื่นนี่แหละ

ผู้ที่เข้ามาร่วมเรียนรู้ในการสร้างสมดุลชีวิตคราวนี้มีประมาณ ๒๐ คน แต่ละคนมาจากหลากหลายหนทางชีวิต ซึ่งช่วยให้การเรียนรู้ของเราเข้มข้น บ้างก็เป็นนักธุรกิจ นักวิชาการ ข้าราชการ หรือนักศึกษา อายุตั้งแต่ ๒๐ ต้นๆ ไปจน ๔๐ ปลายๆ ข้อสังเกตอันหนึ่งคือทุกคนตั้งใจมาเรียนรู้เพื่อเข้าใจตัวเองและคนอื่น ซึ่งต่างจากหลายๆ คอร์สที่ใช้วิธีกะเกณฑ์กันมาเรียน ซึ่งเมื่อไม่ได้ “เลือก” เอง พลังของการเปิดใจและค้นหาตัวตนภายในของติดขัดและแข็งกระด้าง

สิ่งที่เกิดขึ้นคือการได้รับรู้วงจรของการปกป้องตัวเองเมื่อชีวิตเข้าสู่ความหมิ่นเหม่ ไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ ที่ทำให้การปิดกั้น ปกปิดหรือก้าวร้าวเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะสังคมหล่อหลอมให้เราต่างมีหน้ามีตา มีฟอร์มหรือภาพลักษณ์ แม้กับคนใกล้ชิดเรายังรักษาฟอร์มเหล่านี้ไว้อย่างแข็งขันไม่เบื่อหน่าย ฟอร์มเหล่านี้อาจช่วยให้เรารู้สึกปลอดภัย แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความห่างเหินในความสัมพันธ์ไปด้วย กระบวนการของการยึดติดที่เรียกว่าตัวตนนั้นมักเกิดขึ้นอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว หรือเกิดขึ้นได้เนียนมากๆ แม้ว่าจะมีสติกับตัวเองมากเพียงใด สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เรารู้ตัวได้มากขึ้นคือการรับรู้หรือรับฟังจากเสียงรอบข้าง ที่มักคอยบอกหรือสะท้อนให้เราได้มองเห็นตัวเอง เสียงเหล่านี้ช่วยสะท้อนถึงโอกาสที่เราจะยอมรับและปรับเปลี่ยนตัวเองให้เกิดความสมดุลยิ่งขึ้น

ดังเช่น ผู้ชายคนหนึ่งบอกว่า “ผมไม่เคยรู้สึกหรือรับรู้ความรู้สึกของคนที่บ้านเลย ไม่เคยเห็นตัวเองเลยว่าผมเป็นฝ่ายถูกเสมอ ทำดีและหยิบยื่นสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคนที่บ้านแล้ว” เรามักไม่ค่อยได้คิดทบทวนอยู่บ่อยๆ ว่า “สิ่งที่ดีที่สุด” นั้น จริงๆ แล้วดีสำหรับเราหรือเขากันแน่ บางครั้งการที่เราเหนื่อยหน่ายกับชีวิตก็เพราะเรา “ทำดีที่สุด” แล้วผลจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยตามยถากรรมอย่างนั้นหรือ หรือเราอาจต้องกลับมานั่งทบทวนง่ายๆ ดูว่า “ดีที่สุด” นั้นยังไม่ดีเท่ากับการถามว่า “ดีสำหรับใคร” หรือ “ใคร” คือผู้ที่กำลังทำดีที่สุด จากมาตรฐานอะไร หรือแนวคิดของใคร

ความสัมพันธ์ในครอบครัวมักอยู่ในเงื่อนไขเหล่านี้ แต่ละคน “ทำดีที่สุด” ตามมาตรฐานหรือคุณค่าในโลกของตัวเอง และตีความหรือตัดสินการกระทำของคนอื่นในโลกของคนอื่น เราจึงไม่อาจเข้าใจถึงความหมายของการกระทำหรือการพูดจาของเขาเหล่านั้นที่อาจรบกวนใจเราได้ และยิ่งแต่ละคนต่างสาละวนหรือวุ่นวายไปกับโลกของการคิด-พูด-ทำของตัวเอง เราก็ยิ่งมีเวลาน้อยลงที่จะกลับมาทบทวนชีวิต ความตั้งใจของเรา จุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง ชีวิตที่ขาดสมดุลระหว่างการกระทำกับการได้หยุดนิ่งก็อาจยิ่งมองการหยุดนิ่งว่าไร้ความหมายหรือไร้ค่า เพราะไม่ได้สร้างผลลัพธ์อันใด ดังที่วงจรชีวิตแบบนี้กำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายในโลกปัจจุบัน

ในมุมมองของจิตวิทยาแบบ “สัมผัสเสียงภายใน” นี้ มองการเข้าใจตัวเองว่าคือการพัฒนาความสามารถในการรับรู้เสียงภายในตัวเรา ที่แตกต่างหลากหลาย ราวกับระบบนิเวศภายในที่มีชีวิตและส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของเราตลอดเวลา โดยแสดงออกผ่านอาการทางกาย สีหน้าท่าทาง อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยความตื่นรู้และการรับรู้ที่ละเอียดประณีตในการซึมซับสัมผัสถึงชีวิตภายในที่มีความหมายเหล่านี้ ตัวอย่างของแรงหรือเสียงเหล่านี้ เช่น แรงผลักดัน แรงฉุดรั้ง แรงตำหนิติเตียนตนเอง แรงควบคุมสั่งการ กำกับทิศทาง แรงหล่อเลี้ยงสนับสนุน ปลอบประโลม เป็นต้น การได้ยินเสียงเหล่านี้ช่วยให้เรารู้ว่าใครกำลังตัดสิน หรือเกิดความไม่พอใจอยู่ในตัวเรา รับรู้แล้วก็ยอมรับ แล้วจึงเปิดโอกาสหรือเปิดใจให้กับเสียงอื่นๆ ที่ถูกกดข่มไว้ภายในให้ได้แสดงศักยภาพในชีวิตเรา สมดุลจึงจะเกิดขึ้นจากภายใน แล้วดุลยภาพภายนอกก็ค่อยๆ ตามมา ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีความแน่นอนหรือตายตัว ไม่ต่างจากการปั่นจักรยานที่ต้องคอยประคับประคองชีวิตและความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนรอบข้างไปทีละช่วงทีละวัน อย่างไม่มีที่สิ้นสุด



โดย มิรา ชัยมหาวงศ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒


มีเรื่องเล่าที่ผู้เขียนอ่านมาจากหนังสือ True Love ของท่านติช นัท ฮันห์ ท่านเล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศเวียดนามในระหว่างสงคราม ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากต้องไปออกรบ สามีภรรยาคู่หนึ่งเพิ่งแต่งงานกันได้ไม่นาน ทั้งสองจำเป็นต้องพลัดพรากจากกันในขณะที่ฝ่ายหญิงกำลังตั้งท้อง เวลาผ่านไปนานหลายปี ฝ่ายหญิงให้กำเนิดบุตรชาย และอดทนเลี้ยงดูจนเติบโตขึ้นด้วยใจที่เฝ้ารอคอยสามีและหลายครั้งที่เกือบจะสิ้นหวัง

หลายปีผ่านไป วันหนึ่งสามีเดินทางกลับมาที่บ้าน ภรรยาแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง ทั้งสองต่างดีใจอย่างที่สุดที่ได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายสามีเดินทางไปไกล ไม่เคยพบหน้าลูกชายของตนมาก่อน เมื่อได้เห็นหน้าเด็กน้อยยืนจูงมืออยู่ข้างๆ ภรรยาของตนก็ปีติดีใจยิ่งนัก ฝ่ายภรรยาเองก็ดีอกดีใจเป็นอย่างมากที่สามีอันเป็นที่รักกลับมาบ้านอย่างปลอดภัย จึงรีบเข้าเมืองไปหาเครื่องเซ่นไหว้ และซื้อหาอาหารกลับมาเลี้ยงต้อนรับ เมื่อเข้าไปในตลาดก็เล่าให้คนในหมู่บ้านฟังว่า สามีได้เดินทางกลับจากสงครามแล้ว และชาวบ้านต่างร่วมยินดีกับนางเป็นอย่างยิ่ง

ฝ่ายสามีก็เข้าไปพักผ่อนในบ้านกับลูกชาย แต่เนื่องจากลูกชายเกิดมาในระหว่างที่พ่อออกไปทำสงคราม ไม่เคยพบหน้าพ่อแท้ๆ ของตน จึงไม่คุ้นเคย มีท่าทีไม่ไว้วางใจ ผู้เป็นพ่อแสดงตนว่าเป็นพ่อ และพยายามเข้าไปกอดลูกชาย แต่ลูกชายกลับปฏิเสธและตอบว่า “ท่านไม่ใช่พ่อของข้า พ่อของข้ามาหาแม่ของข้าทุกคืนหลังจากแม่สวดมนต์ เขาจะมายามที่แม่ข้าร้องไห้ ฟังแม่ของข้าพูด เมื่อแม่ของข้านั่งเขาก็จะนั่ง เมื่อแม่ของข้านอน เขาก็จะนอน” ผู้เป็นพ่อได้ยินดังนั้นก็โมโห รีบเร่งออกจากบ้าน ภรรยากลับจากไปซื้อของพอดี สามีโกรธและด่าว่าภรรยาถึงเรื่องที่ลูกชายเล่าให้ฟัง ภรรยาที่พยายามเตรียมดูแลปรนนิบัติสามีหลังกลับจากศึกสงคราม เมื่อได้ยินคำด่าทอจากสามีก็เสียอกเสียใจ เป็นอันว่าในวันนั้นแทนที่จะมีงานเลี้ยงฉลอง กลับกลายเป็นมีเรื่องราวทะเลาะกันใหญ่โต จนชาวบ้านได้ยินเข้าก็เอาไปนินทา

ภรรยาไม่ได้แก้ตัวอะไร ในขณะที่สามีเอาแต่เสียอกเสียใจ วันๆ ไม่ทำอะไรเอาแต่ดื่มเหล้า กลายเป็นคนดื่มจัด เมามาย ไม่กลับบ้าน และด้วยความโกรธก็ไม่ได้ซักถามอะไรภรรยา นานวันเข้า ภรรยาอดทนไม่ได้อีกต่อไปคิดว่า หากอยู่เช่นนี้เรื่อยไปก็ไม่มีประโยชน์อันใด เธอจึงกระโดดน้ำตายที่แม่น้ำ ฝ่ายสามีจึงกลับบ้านมาเลี้ยงดูลูก และจัดการงานศพให้ภรรยา คืนหนึ่งขณะที่พ่อลูกกำลังนั่งทานข้าวในท่ามกลางแสงเทียนสลัวอยู่ในบ้าน ปรากฏเป็นเงาของคนอยู่บนกำแพง ลูกชายตะโกนและชี้ไปที่เงานั้นว่า “นั่นไง นั่นไง พ่อของข้า” แท้จริงแล้ว ที่ลูกชายเห็นว่าเป็นพ่อคือเงาของแม่ที่สะท้อนบนกำแพง ด้วยความคิดถึงสามี ภรรยาจะตื่นขึ้นมากลางดึก จุดเทียนเพื่อสวดมนต์อวยพรให้สามีในตอนกลางคืน แต่เพราะความทุกข์ทรมาน ทุกวันหลังสวดมนต์เธอจึงนั่งร้องไห้อยู่หน้าพระ จากนั้นจึงเข้านอน สิ่งที่ลูกชายเห็นและคิดว่าเป็นพ่อ คือเงาที่สะท้อนบนกำแพง เมื่อแม่นั่ง ภาพของเงาจึงเป็นคนนั่ง เมื่อแม่นอน ภาพเงาสะท้อนจึงเป็นคนนอน เมื่อสามีได้ยินเรื่องดังกล่าวจึงเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง

ผู้เขียนได้ใช้เรื่องนี้เป็นคติเตือนตัวเองอยู่เสมอในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น จากในเรื่อง หากสามีได้มีโอกาสซักถามภรรยา หรือภรรยาเก็บความน้อยใจของตนเองไว้แล้วหาโอกาสอธิบายให้สามีฟังถึงเรื่องจริงที่เกิดขึ้น คงไม่เกิดเรื่องราวน่าเศร้าเช่นนี้

บ่อยครั้งที่ “การตีความ” ทั้ง “ของเรา” และ “ของเขา” ก็ทำให้เรื่องเล็กๆ กลายเป็นเรื่องราวใหญ่ๆ ขึ้นมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนใกล้ชิดซึ่งเป็นคนที่เราขาดสติได้บ่อยที่สุด ถ้าใจของเราอยู่ในภาวะซัดส่าย การตีความของเราก็จะยิ่งทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ภาวะอาการเหล่านี้เกิดขึ้นเนื่องมาจากความรักทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความรักแบบสามี ภรรยา พ่อแม่ กับลูก พี่กับน้อง ครูกับศิษย์ เป็นต้น

ท่านติช นัท ฮันห์ ยังให้แนวทางเกี่ยวกับพรหมวิหาร ๔ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความรักที่แท้เอาดังนี้

เมตตา หมายถึง “ความสามารถ” ในการนำพาความสุขมาสู่บุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งจะเป็นความรักแบบไหนก็ได้ และยังหมายรวมถึงความรักของมวลมนุษยชาติอีกด้วย ความเมตตา ในอีกนัยยะหนึ่งก็คือ “ความเข้าใจ” บ่อยครั้งที่เรารักใครสักคน ความรักของเรากลับทำร้ายเขา ความรักของเราทำให้เขากลับรู้สึกอึดอัด ลำบากใจ

ความเข้าใจจะเกิดขึ้นได้ต้องฝึก “การมองอย่างลึกซึ้ง” หรือ Deep Looking คือการมองเข้าไปให้เห็นถึงภายใน ให้เห็นและเข้าใจถึงความทุกข์ของอีกฝ่าย โดยให้ความสำคัญกับ “การอยู่ตรงหน้า” และให้ความสำคัญกับบุคคลที่อยู่ตรงหน้าของเราอย่างแท้จริง

กรุณา หมายถึง ความสามารถในการทำให้บุคคลที่เรารักพ้นทุกข์ โดยการจะช่วยคนที่เรารักให้พ้นทุกข์นั้น เชื่อมโยงกับการฝึกสายตาแห่งการมองอย่างลึกซึ้ง ให้ถึงแก่นถึงหัวใจ ทำความเข้าใจธรรมชาติของความทุกข์ทรมานที่เขากำลังเผชิญอยู่ เพื่อค้นหาวิธีการพาคนที่เรารักก้าวล่วงพ้นจากความทุกข์ การฟังอย่างลึกซึ้ง หรือ Deep Listening คือ การฟังเสียงของความคิดความรู้สึก และให้ลึกไปถึงเจตนาของผู้พูด ซึ่งการฟังอย่างลึกซึ้งนี้เองก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถพาให้คนก้าวล่วงจากทุกข์ได้

การหล่อเลี้ยงดูแลความสุขซึ่งกันและกัน หรือ มุทิตา ก็เป็นเรื่องง่ายๆ ที่สำคัญสำหรับการอยู่ร่วมกัน ในความสัมพันธ์ต่างฝ่ายต่างควรเติมเต็มความชื่นบานซึ่งกันและกัน การมอบความรักที่แท้ให้แก่กันนั้น นอกจากผู้รับมีความสุขแล้ว ผู้ให้ความรักก็ควรจะได้รับความสุขจากการให้ด้วยเช่นกัน

สุดท้ายคือ อุเบกขา ซึ่งในที่นี้หมายถึง อิสรภาพ ความรักที่แท้ย่อมให้อิสรภาพแก่ใจทั้งของผู้ให้และผู้รับ ผู้รับก็ไม่อึดอัดจากความคาดหวัง และผู้ให้ความรักก็เป็นอิสระไม่ยึดถือ เป็นเจ้าเข้าเจ้าของมากเกินไป ในอุเบกขานี้ อีกนัยหนึ่งคือ “พื้นที่” หรือ Space ในความสัมพันธ์ที่สมดุลนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม “พื้นที่” ถือเป็นศิลปะเฉพาะของแต่ละความสัมพันธ์ เป็นความรักที่ดำรงไว้ซึ่งอิสรภาพ รักเขาอย่างที่เขาเป็นเขาได้โดยปราศจากเงื่อนไข หรือมีเงื่อนไขให้น้อยที่สุด

ในทุกความสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนใกล้ตัวนั้น แม้จะมีความรู้หรือจดจำข้อธรรมต่างๆ ได้มากมาย แต่สิ่งที่จำเป็นมากที่สุด คือ “สติ” บ่อยครั้งที่ความหวังดีอันเกิดขึ้นมาจากความรักของเรา ได้สร้างความอึดอัดให้กับผู้คนรอบข้าง และบ่อยครั้งที่เรามักคิดที่จะเปลี่ยนแปลงคนอื่นให้เขาเป็นได้ดังใจ ถ้าเขาเป็นไม่ได้อย่างนั้นเราก็จะฟาดหัวฟาดหาง ด้วยอาการต่างๆ นานา และพาลคิด (เอาเอง) ว่าเขาทำให้เราผิดหวัง

อันที่จริงความรักนั้นเป็นสิ่งสวยงาม หากแต่ความรักที่แท้นั้นต้องประกอบด้วยปัญญาอันเป็นความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ และสติรู้เท่าทันตนเอง สองสิ่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของหนทางสู่ความรักที่แท้

Newer Posts Older Posts Home