โดย มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๑

ระหว่างเดินเล่นท่ามกลางอากาศเย็นสบายบนเขาเมืองดารัมศาลา (Dharamsala) ประเทศอินเดีย ที่อยู่ขององค์ดาไลลามะและรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต ผู้เขียนเห็นชื่อร้านขายของที่ระลึกเล็กๆ แห่งหนึ่งว่า “Same Same But Different” สะท้อนสิ่งที่ผู้เขียนกำลังเรียนรู้ในช่วงนี้คือ พุทธศาสนามหายานแนวทิเบต และพุทธศาสนาหีนยาน ดังจะลองแลกเปลี่ยนเท่าที่เข้าใจในขณะนี้

พุทธศาสนาหีนยานที่เป็นสายหลักของบ้านเรานั้น เป้าหมายหลักคือการละความเห็นผิดในอัตตาตัวตน ไม่ว่าจะรู้จักธรรมะกี่หมวดกี่ประเภท ฝึกด้วยวิธีการใดก็ตาม สมถะภาวนา วิปัสสนาภาวนา หรือแนวต่างๆ ที่เกิดขึ้นนับไม่ถ้วน ถ้าผู้ปฏิบัติยังมีความอหังการ์ ยกตนข่มท่าน เห็นตัวเราเองเป็นหลัก เราถูกเสมอ คนอื่นเป็นเพียงอณูธุลีรายล้อมเรา ทำไมคนอื่นทำแบบนั้น ฯลฯ เราก็ยังคงมีอัตตาเหนียวแน่นอยู่นั่นเอง

ถ้าจะสร้างตัวชี้วัด (Indicator) เพื่อดูว่าเราก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมแค่ไหน เราอาจดูได้จากพฤติกรรมของเราทั้งทางกาย วาจา และที่สำคัญคือใจ ว่าแสดงออกถึงอัตตาตัวตนมากน้อยแค่ไหน

สำหรับพุทธศาสนามหายานแนวทิเบตที่ดารัมศาลานี้ เกชิลา (พระอาจารย์ที่ผ่านการฝึกมา) สอนว่าศัตรูหลักของเราทุกคนที่แท้คือ อัตตาตัวตนหรือ Self-grasping ส่วนศัตรูที่ร้ายยิ่งกว่าคือ ความเห็นผิดในอัตตาตัวตนนั้น สิ่งที่เน้นเพิ่มขึ้นมาเพื่อทำให้เป้าหมายหลักบรรลุผลได้ดีขึ้นคือการเน้นการใส่ใจคนอื่นมากขึ้น หรือ Cherishing others ด้วยการฝึกหัดในหลายรูปแบบ เช่น ทองเลน

ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วเป็นเนื้อเดียวกันกับสายหีนยานที่บ้านเราเรียนกันอย่างชัดเจน

ความเหมือนของสองสายชี้ให้เห็นความตรง (Validity) ของศาสนาพุทธ ถึงเป้าหมายที่จะไปถึง แม้จะมี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และบทอธิบายเพิ่มเติมอีกนับไม่ถ้วน ล้วนแล้วแต่ไปเพียงเพื่อจุดประสงค์เดียวเท่านั้น

ความแตกต่างของพุทธศาสนามหายานแนวทิเบตต่อแนวบ้านเราที่พบคือ เน้นการบรรลุไปเพื่อช่วยเหลือคนอื่นต่อ นั่นแปลว่าบรรลุธรรมสูงสุด (Full Enlightenment) ด้วย และกลับมาเกิดใหม่ด้วยความตั้งใจจะช่วยสรรพชีวิตทั้งหลายอีกด้วย ในขณะที่พระอรหันต์ของเราคือผู้ที่หลุดพ้น (Liberation) ไปเลย

การบรรลุธรรมสูงสุดดังกล่าวนี้จะมีเมตตาและปัญญาเต็มบริบูรณ์ดั่งพระพุทธเจ้า

จากการถามเกชิลาว่าการฝึกปฏิบัติสมถะภาวนาและวิปัสสนาภาวนาที่เราฝึกกันเพื่อบรรลุอรหันต์นั้นเป็นคนละสายกับการเป็นพระโพธิสัตว์ หรือผู้ที่ใฝ่การบรรลุธรรมสูงสุดใช่หรือไม่ ท่านตอบว่าไม่ใช่ เดินบนหนทางเดียวกัน พระอรหันต์เองก็สามารถเดินต่อไปในสายพระโพธิสัตว์ได้เช่นเดียวกัน

ท่านเปรียบเทียบเหมือนจะไปต่างประเทศจากดารัมศาลา เราต้องไปที่เมืองเดลลีก่อน แล้วบินต่อไปประเทศอื่น เมืองเดลลีเปรียบเสมือนบรรลุพระอรหันต์ ซึ่งเป็นที่พักให้ใจสบายได้ และสามารถเดินทางต่อไปได้อีก ถึงกระนั้นก็มีบางคนนิยมอีกทางคือบินตรงจากดารัมศาลาไปยังที่หมายเลย คำตอบนี้อยู่บนฐานของความเชื่อโรงเรียนหนึ่ง ในขณะที่อีกโรงเรียนเชื่อว่าการจะเป็นพระอรหันต์นั้นเป็นคนละสายกับการเดินทางแนวพระโพธิสัตว์

เมื่อดูในระเบียบการปฏิบัติของชาวมหายานแล้ว ก็จะพบว่าต้องฝึกวิธีการหลากหลายรวมทั้งสมถะภาวนาและวิปัสสนาภาวนาอย่างที่เราคุ้นเคยกัน วิธีหนึ่งที่หลายท่านอาจรู้จักดีอยู่บ้างคือทองเลน หรือการฝึกให้และรับ (Giving and Taking Practice) เป็นการฝึกหลายขั้นตอน มีเป้าประสงค์หลักเพื่อลดอัตตาตัวตนเพิ่มการใส่ใจผู้อื่นชัดเจน

การให้ หมายถึง ให้สิ่งที่ดี คุณธรรม พลังบวก ฯลฯ แก่สรรพชีวิตทั้งหลาย การรับ หมายถึง การรับความทุกข์โศก สิ่งที่ไม่ดี พลังลบทั้งหลายให้เข้ามา เริ่มด้วยการสร้างภาพ (Visualization) และได้มีการออกไปปฏิบัติจริงในพื้นที่บ้าง

ผู้เขียนถามพระอาจารย์ว่าทองเลนจะไปฝึกอย่างไรกับสถมะภาวนาและวิปัสสนาภาวนา พระอาจารย์บอกว่าให้ไปฝึกเสียก่อน เท่าที่ผู้เขียนได้ลองปฏิบัติดูก็พบว่าการฝึกทองเลนเป็นการสร้างความเมตตากรุณาให้กับผู้ฝึกได้อย่างง่ายดาย สามารถทำให้ใจเราเปิดรับผู้อื่นได้ง่ายขึ้นมาก เมื่อต่อด้วยสมถะภาวนาหรือการฝึกให้ใจนิ่งนั้น ทางมหายานเรียกว่า Single-point mind training ซึ่งแสดงชัดเจนว่าทำให้ใจอยู่ที่เดียว เป็นการเตรียมพร้อมให้ใจมีพลังทำงานต่อในส่วนของวิปัสสนาภาวนา หรือการเรียนรู้วิเคราะห์วิจัยการทำงานของจิตใจเราอย่างละเอียดจนเกิดปัญญา เป็นขั้นตอนที่สอดคล้องและเอื้อต่อกันเป็นลำดับ

ทฤษฎีธรรมะและการปฏิบัตินั้นยังมีอีกนับไม่ถ้วน ล้วนแล้วแต่น่าสนใจน่าเรียนรู้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นอย่างจริงจังกับวิธีการใดๆ ให้ลึกซึ้งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เราเรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้งจริง ก่อนจะต่อยอดไปในแนวทางอื่นๆ ดังที่ครูบาอาจารย์ไม่ว่าสายใดพร่ำสอนมา

แม้ว่าการเดินทางสายนี้ยังอีกยาวไกล อย่างน้อยความเหมือนในความแตกต่างนี้ช่วยให้เราชัดเจนมากขึ้นในเป้าหมายที่กำลังเดินไป



โดย ปิยพงศ์ ดาวรุ่ง
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๑

“ทำอะไรเร็วๆ หน่อย!! สายแล้ว เดี๋ยวไปทำงานไม่ทันหรอก”
“เฮ้ย เร่งมือหน่อย ยังมีงานต้องทำอีกเยอะนะ”
“นี่เธอ! จะนั่งเหม่อไปถึงไหน งานตรงหน้ายังไม่เสร็จนะยะ” ฯลฯ

ล้วนเป็นประโยคที่ได้ยินบ่อยๆ สังคมเมืองซึ่งเต็มไปด้วยข่าวสารข้อมูล คำว่า “ฉับไว รวดเร็ว” จึงเป็นนิยามของความอยู่รอดในสังคม สังคมที่ต้องแข่งขันและชิงไหวชิงพริบกันตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ได้หล่อหลอมให้ผู้คนต้องทำอะไรๆด้วยความรวดเร็ว และทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน จนกลายเป็นความ”เร่งรีบ” ที่คุ้นชิน สมองถูกใช้ไปในการคิดวิเคราะห์ จนแทบไม่เหลือช่องว่างให้กับการ “รับรู้” อารมณ์ ความรู้สึก มุ่งมั่นกับเป้าหมายที่ตั้งไว้จนใบหน้าที่แสดงออกมากลายเป็นพิมพ์นิยมดุจดั่ง “คนเหล็ก: Terminator” ไร้ซึ่งอารมณ์ จะมีสักช่วงไหมในยี่สิบสี่ชั่วโมงที่เรารับรู้ถึงบรรยากาศรอบข้าง สายลม แสงแดด ยามที่สัมผัสผิวกาย เรารู้สึกอย่างไร เสียงแตรรถ เสียงนกร้อง เรารู้สึกอย่างไร กลิ่นน้ำเน่า กลิ่นดอกไม้ เรารู้สึกอย่างไร ยามได้เห็น หน้าตาอันบูดบึ้ง หรือมีรอยยิ้ม เรารู้สึกอย่างไร เราเคยสังเกตไหม หรือเพียงปล่อยให้มันผ่านไป แม้กระทั่งร่างกายของเราเอง ถ้าไม่ปวดเมื่อย หรือป่วยไข้จนกระทั่งทนไม่ไหว ก็คงไม่ได้รับการดูแล จำเป็นไหมที่ต้องรอให้เกิดความเจ็บป่วย?

วิถีชีวิตของผมก็เคยเป็นอย่างนั้น จึงได้รู้ว่าร่างกาย จิตใจไม่ได้แข็งแกร่งเท่าไหร่หรอกครับ มีช่วงอ่อนแอ เปราะบางบ้าง ยามเจ็บป่วยจึงได้เรียนรู้จริงๆ

“ความเจ็บป่วย” เมื่อได้ยินคำนี้มักจะนึกถึง ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นทางกาย ในที่นี้อยากให้รวมถึง ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นทางใจด้วย เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อความเจ็บป่วยเกิดขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่งของร่างกาย หรือจิตใจ แม้กระทั่งความคิด ย่อมส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน เช่น เมื่อโหมทำงานหนักจนร่างกายรับไม่ไหว ส่งสัญญาณขอหยุดพักจนต้องเข้าโรงพยาบาล ความวิตกกังวลในเรื่องงานที่ยังคั่งค้างก็นำพาความหวาดกลัวเข้ามาเยือนในหัวใจ จิตใจที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้พยายามคิดหาทางให้บรรลุถึงเป้าหมาย แต่แล้วด้วยสภาพร่างกายที่ไม่พร้อมแบกรับความกดดัน ก็ไม่สามารถทำได้อย่างที่คิด ความอึดอัด ความหงุดหงิดเข้ามาเยือน เมื่อทนไม่ไหวก็พาลระเบิดอารมณ์ไปกับคนรอบข้าง ส่งความไม่สบายใจไปให้เขาโดยไม่รู้ตัว มองย้อนกลับไป สัญญาณทางกายที่แสดงออกมาก็เปรียบเหมือนการสื่อสาร เพียงแต่เรารับฟังเสียงของเขาจริงๆ ก็จะเห็นความต้องการของเขาอย่างชัดเจน ความดื้อรั้นโดยไม่ยอมรับฟังรังแต่จะเป็นการทำลายตน คงไม่มีใครอยากทำร้ายบ้านของตนเองหรอกนะครับ ลองนำพาตนเองออกจากกระแสแห่งความคาดหวัง และความเร่งรีบชั่วขณะ โดยการอยู่นิ่งๆสักพัก เราก็จะรับรู้ ความรู้สึกในกาย จิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น ขอให้เพียงแค่ “รับรู้” เท่านั้นเอง

การเปลี่ยนจากสภาวะเร่งรีบ มาสู่สภาวะแห่งการรับรู้สามารถทำได้โดยทำกิจวัตรให้ช้าลง อืม ... ผมเริ่มได้ยินเสียงแย้งในใจขึ้นมาทันทีทันควัน เช่น “จะบ้าหรือเปล่า คนกำลังรีบจะให้ช้าได้ยังไง” “มัวแต่รับรู้ รับรู้ แล้วเมื่อไหร่มันจะเสร็จ” และอื่นๆ อีกมากมาย ขอให้อดทนอ่านต่อไปอีกนิดนะครับ คำว่า “ช้าลง” ไม่ได้หมายถึงต้องทำอะไรช้าตลอดเวลานะครับ เคยได้ยินคำว่า “ช้าเพื่อจะเร็ว” ไหม มีคนเปรียบชีวิตเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ใช้ในการเรียนรู้และทดลองได้ตลอด ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่จะเสนอนี้คือการทดลองก็แล้วกันครับ

ผมอยากให้ลองใช้เวลาประมาณสิบห้านาทีในช่วงเช้าก่อนเริ่มกิจวัตรประจำวันใดๆ โดยการนั่งในท่วงท่าที่ผ่อนคลาย พยายามจัดสถานที่ให้อากาศถ่ายเท ดูแล้วสบายตา หรืออาจเปิดเพลงบรรเลง ช่วยสร้างบรรยากาศที่ให้ความรู้สึกสบายๆ จะมีเครื่องดื่มร้อนๆ ไว้ด้วยก็ยิ่งดีใหญ่ ระหว่างสิบห้านาทีนี้ปล่อยให้ใจเรามารับรู้ สัมผัส และดื่มด่ำกับบรรยากาศรอบข้างที่เราได้ตระเตรียมไว้แล้ว เสียงเพลงเพราะๆ อากาศสดชื่น บรรยากาศที่มองแล้วสบายตา สัมผัสอันอบอุ่นผ่านถ้วยเครื่องดื่ม รสชาติที่แสนรัญจวนใจ วางความคิดเรื่องงานไว้ก่อน ทำเพียงเท่านี้หล่ะครับ เราก็พร้อมที่จะรับมือกับความเร่งรีบที่รออยู่ตรงหน้าแล้ว ถ้าไม่อยากปวดหัวจะต้องจัดอะไรมากมาย ก็ลองนำพาตัวเองไปอยู่ในอ้อมกอดของธรรมชาติดูสิครับ สวนสาธารณะใดก็ได้ แล้วเปิดผัสสะแห่งการรับรู้ทั้ง ๕ เราก็จะได้สัมผัสถึงความ อบอุ่น และผ่อนคลายแล้ว มีคนกล่าวว่า “ธรรมชาติเป็นดั่งผู้เยียวยา” ( Nature is the Healer)

สภาวะแห่งการรับรู้ก็เปรียบเหมือนแบตเตอรี่ใช้ไปย่อมมีวันหมด การชาร์จแบตเตอรี่ก็คือการทำซ้ำๆอย่างสม่ำเสมอ บางคราทำครั้งเดียวในช่วงเช้าไม่พอ ด้วยภาวะงานที่รุมเร้า แบตเตอรี่ที่มีอยู่ถูกใช้หมดไปอย่างน่าใจหาย การชาร์จระหว่างวันก็มีส่วนสำคัญที่จะรักษาสภาวะแห่งการรับรู้ได้ เราไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเหมือนช่วงเช้า เพียงใช้เวลาสั้นๆ ในช่วงเปลี่ยนอิริยาบถ หรือเว้นว่างจากงาน ปล่อยวางความคิดเรื่องงานกลับมารับรู้สัมผัสทั้ง ๕ อีกครั้ง เท่านี้ก็เพียงพอจะรักษาสภาวะการรับรู้ได้ตลอดวันกระมัง ถ้ายังไม่พอ คงต้องชวนคนรอบข้างอีกสักสองสามคนมาทำร่วมกัน มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมมัวแต่ครุ่นคิดอยู่กับงานที่ทำ กัลยาณมิตรคนหนึ่งก็เข้ามาทักว่า “วันนี้คุณหายใจหรือยัง?” เมื่อถูกทักอย่างนี้ก็นิ่งไปชั่วขณะ แล้วก็หัวเราะครู่ใหญ่ ขำให้กับความจมจ่อมของตนเอง ทำงานจนไม่รับรู้ว่าตนกำลังหายใจอยู่ นี่แหละครับ มีเพื่อนก็ต้องช่วยกันอย่างนี้

วิถีชีวิตที่คุ้นเคยมานาน การเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งถ้ามากเกินไปอาจทำไม่ได้นาน ปรับเปลี่ยนทีละเล็กน้อย แล้วทำอยู่เป็นประจำจนคุ้นชินให้เป็นหนึ่งกับวิถีที่เป็นอยู่ การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนจึงก่อเกิด การกลับมารับรู้เป็นพื้นฐานแรกๆ ของชีวิต ที่จะทำให้เราค้นพบศักยภาพอันยิ่งใหญ่ที่แฝงอยู่ในตัวตนของเรา เป็นศักยภาพที่ไร้ขอบเขตและอัศจรรย์ใจยามได้พบ

ขอเชิญชวนพวกเราร่วมเปิดผัสสะแห่งการรับรู้ และเรียนรู้ศักยภาพในตัวตนไปด้วยกัน เดินคนเดียวมันเหงาครับ ร่วมกันเดินก็จะได้แบ่งปันประสบการณ์ที่แต่ละคนเผชิญมา เมื่อเราเตรียมฐานไว้ดีแล้ว คราวหน้าก็จะเริ่มสำรวจดินแดนแห่งศักยภาพอันไร้ขอบเขตของเรากันล่ะ



โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๑

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมประชุม Inter-religious Dialogue for Peace ที่ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อเดือนที่ผ่านมา และพบว่ามีความคิดน่าสนใจที่ทำให้หวนนึกถึงสถานการณ์ประเทศไทย ที่ผู้คนมีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน จนถึงขั้นขัดแย้งกัน ก็อยากเสนอแนะให้ “วางใจ” ว่าความคิดเห็นที่ขัดแย้งนั้นเป็นสิ่งที่ย่อมเกิดขึ้นได้ และยอมรับกันได้ มิใช่เรื่องผิดปกติ ตราบเท่าที่ทุกคนยังเป็นมนุษย์ มีบริบท ประสบการณ์ และอัตลักษณ์ที่ต่างกัน ย่อมกระทบกระทั่งและขัดแย้งกันได้ ประเด็นที่สำคัญคือต้องมี “สติ” ที่จะป้องกันมิให้ความขัดแย้งนั้นกลายเป็น “ความรุนแรง” ทั้งทางวาจาและการกระทำ

สิ่งที่ได้พูดถึงกันมากในการประชุมข้างต้นดังกล่าวนั้นก็คือ การถกเถียงว่าควรมองไปข้างหน้า คิดถึงอนาคต ร่วมสร้างอนาคตใหม่ด้วยกัน หรือยังคงมีความสำคัญต้อง “เยียวยา” บาดแผลของความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น จากการที่แต่ละฝ่ายล่วงเกิน พลาดพลั้งทำความเจ็บช้ำน้ำใจ ทำความเสียหายให้อีกฝ่ายอย่างไร เนื้อหาที่ถกกันนั้นอยู่ภายใต้หัวข้อ Healing the Past, Building the Future

มีผู้ให้เหตุผลสนับสนุน ทั้งฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ขุดคุ้ยอดีตให้มองไปข้างหน้าด้วยกัน และฝ่ายที่อยากให้เกิดการ “เยียวยา” บาดแผลที่เกิดขึ้นก่อน การถกเถียงในวง Dialogue เช่นนี้ ไม่มีคำตอบที่ “ผิด” มีแต่ความเห็นที่ “ตรงกันข้าม” หรือ “แตกต่าง” กันเท่านั้น

ในส่วนตัวของผู้เขียนเห็นด้วยกับการให้ความสำคัญต่อการเยียวยาความเจ็บช้ำน้ำใจในอดีตด้วย ถ้าผู้กระทำการล่วงเกินได้แสดงความสำนึกผิด ด้วยการใช้สติวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของตนเองและกลุ่มของตนเองอย่างจริงใจแล้ว หากพบว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งผิดในท่ามกลางสิ่งที่ดีและถูกต้องทั้งหลายที่ได้กระทำลงไป ขอให้ตระหนักรู้และแปลงความสำนึกผิดนั้นเป็น “คำขอโทษ”

การขอโทษมีได้หลายรูปแบบ ทั้งขอโทษด้วยใจ ด้วยการแผ่ความรักความปรารถนาดีไปยังผู้ที่ตนเองล่วงเกิน ขอโทษด้วยวาจา ด้วยการส่งผ่านคำที่จริงและเปี่ยมด้วยความรู้สึกรับผิดชอบต่อการกระทำที่ผ่านมา และขอโทษด้วยการกระทำที่บ่งบอกถึงการสำนึกผิด อยากทดแทนความผิดด้วยการกระทำใหม่ๆ ในปัจจุบันที่ดีกว่าเก่า

การแสดงความขอโทษอย่างจริงใจและซื่อสัตย์ ทางกาย วาจา ใจ นั้น ถึงแม้มิอาจกำจัดความเจ็บปวด ความโกรธแค้นได้ทันทีทันใด แต่สามารถมีผลทางจิตใจในระยะยาวและในอนาคตได้ เพราะเป็นความจริงที่ว่า มิอาจมีสิ่งใดคงอยู่โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ความรู้สึกโกรธและเคียดแค้นอาจถูกแปรเปลี่ยนไปได้ด้วย “บุคคล เวลา และสถานที่” ซึ่งอาจเปลี่ยนบุคคลผู้นั้นเสียได้นั่นเอง

ที่กล่าวนี้ดูเหมือนเป็นภาพเล็กๆ ของคู่ขัดแย้งส่วนบุคคล แต่ถ้าขยายไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระดับชาติ กระบวนการ “คืนดี” ก็คงไม่ต่างจากความขัดแย้งส่วนบุคคลในแง่กระบวนการ ก่อนที่จะให้อภัยกันได้ คู่ขัดแย้งควรสำรวจตัวเองอย่างจริงใจ ถึงจุดบกพร่อง ถ้าสำรวจด้วยตัวเองไม่ได้ ก็ต้องอาศัยคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้หวังดีที่มีความชอบธรรมจากภายนอกกลุ่มของตน จะเห็นได้ว่าความสามารถในการตระหนักรู้ และยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ได้นั้น ต้องอาศัย “การฟังอย่างลึกซึ้ง” ซึ่งเป็นการฟังด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความเมตตา ที่ตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ผู้อาจพลาดพลั้งได้เหมือนๆ กัน ขอให้ได้ฟังเรื่องราวของคู่ขัดแย้งให้ “สุดๆ” ก่อนการตัดสินว่าผิด และปรารถนาความใจกว้างในการคิดในมุมกลับว่า ถ้าตนเองอยู่ในตำแหน่งเช่นนั้น ตนเองจะทำอย่างไร อาจมีการกระทำเช่นเดียวกันก็เป็นได้

ก่อนที่จะเริ่มความสัมพันธ์ใหม่ ให้นึกถึงข้อปฏิบัติของชาวพุทธกลุ่มหมู่บ้านพลัม เรื่อง “การเริ่มต้นใหม่” ที่มีขั้นตอนใช้การฟังอย่างลึกซึ้งเป็นหลักสำคัญอยู่ด้วย กล่าวคือ คู่ขัดแย้งควรได้นึกถึง “ความดี” “อุดมการณ์ที่ดี” “การเสียสละ” ที่จัดว่าเป็นสิ่งดีของฝ่ายตรงกันข้าม แล้วพูดออกมาให้ชัดเจน การใช้สติสามารถมองเห็นสิ่งดีของผู้อื่นได้นั้นเป็นการเสริมสร้างความกล้าหาญในส่วนของผู้พูด และเป็นการหล่อเลี้ยงบำรุงใจของอีกฝ่ายให้มีความมั่นใจในตนเอง ให้รู้สึกดี เพื่อเป็นพื้นฐานให้สามารถแบ่งปันความรู้สึกดี และสิ่งดีๆ แก่ผู้อื่นได้ง่ายขึ้น

เมื่อสภาวะจิตของทั้งสองฝ่าย ได้รับการฉาบทาด้วยความดีผ่านการฟังอย่างลึกซึ้งแล้ว จึงค่อยก้าวย่างไปพูดและฟังถึงข้อบกพร่องข้อขัดเคืองที่อยากสื่อสารบอกกล่าวให้อีกฝ่ายได้รับทราบ แต่มีข้อแม้ว่าก่อนพูดข้อเสียหนึ่งข้อ ขอให้ได้พูดความดีของอีกฝ่ายสองข้อเสียก่อน ขั้นตอนนี้สอดคล้องกับความเป็นมนุษย์ที่มีทั้งดีและชั่ว ถูกและผิด ขอเพียงได้เห็นความดี ความถูก มากกว่าความชั่วและความผิดของอีกฝ่าย อาจเป็นโอกาสอันดีให้เกิดการคืนดี และให้อภัยกันง่ายขึ้น

ต้องไม่ลืมว่าการจะสามารถฟังความขัดข้องใจได้จริง ต้องอาศัยการฟังอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นการฟังจากภายในที่พร้อมที่จะให้อภัยด้วย

นอกจากนั้น เมื่อใจพร้อม ทั้งสองฝ่ายก็จะสามารถ “ปรับความเข้าใจ” บอกความในใจ ว่าแต่ละฝ่ายต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างไร ควรบอกความต้องการอย่างตรงไปตรงมา เป็นการแสดงความจริงใจ โดยไม่อ้อมค้อม นอกจากนั้นจะเกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้นเมื่อแต่ละฝ่ายฟังแบบ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ประกอบเข้าไปด้วย

การบอกความต้องการของแต่ละฝ่ายอย่างจริงใจจะทำให้บุคคลทั้งหลายในชุมชนได้ยิน และถ้าเป็นสิ่งที่ดีต่อส่วนรวม คงไม่มีผู้ใดอยากปฏิเสธไม่ร่วมมือด้วย คนทั้งกลุ่มเมื่อได้ฟังอย่างลึกซึ้งแล้ว ความพร้อมที่จะส่งแรงสนับสนุน ให้ความร่วมมือให้ทั้งสองฝ่ายได้กลับมาคืนดีกันง่ายขึ้น และร่วมมือกันได้มากขึ้น

กระบวนการเริ่มต้นใหม่ของชาวหมู่บ้านพลัมที่อาศัยการฟังอย่างลึกซึ้งเช่นนี้ ถือว่าเป็นกระบวนการเยียวยาที่กลับมาสัมผัสเรื่องราวในอดีตที่เจ็บปวดอย่างมีสติและมีเมตตา เป็นการยอมรับความเป็นมนุษย์ของกันและกันอย่างแท้จริง การกระทำเช่นนี้เป็นการกระทำเหตุปัจจัยในปัจจุบันที่มิได้เพ้อฝัน ที่ได้แต่เรียกร้องให้ “ลืม” “ให้อภัย” “ให้อโหสิกรรมกัน” แต่ปากอย่างเดียว แต่เป็นการทำปัจจุบันด้วย “ใจ” ที่มีสติ เป็นการเผชิญหน้ากับความเป็นจริงอย่างมีเหตุผลโดยผ่านการฟัง

ในที่ประชุมครั้งนั้น หลายๆ ฝ่ายได้ให้เหตุผลสนับสนุนว่า การเยียวยาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นการทำปัจจุบันที่ไม่ละเลยสภาพความเป็นจริง เป็นการให้ลืมอดีตอย่างเป็นไปได้มากที่สุด เป็นกระบวนการทางจิตวิทยาที่สำคัญ ก่อนที่จะเริ่มต้นและสร้างอนาคตใหม่ด้วยกัน

ก่อน “ลืม” เพื่อ “ลา” อดีตอันเจ็บปวด ขอทำปัจจุบันด้วยกระบวนการเยียวยา ด้วยวิธีเช่นหมู่บ้านพลัม โดยผ่านการฟังอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการ Dialogue

พวกเราชาวเสื้อเหลือง เสื้อแดง พลังเงียบ ตำรวจ ทหาร จะไม่ลองคิดและลองปฏิบัติวิธีนี้สักนิดก่อนถึงเวลาที่จะประกาศ “วันอภัยแห่งชาติ” กันบ้างเชียวหรือ



โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๑

...............................................................

หายใจเข้าลึกๆ แลหายใจออกยาวๆ ผ่อนคลาย

วางใจในพื้นที่แห่งนี้ วางใจในตนเองเถิด

ถือโอกาสอันสงบนี้ บอกรักร่างกายของเราเองผ่านลมหายใจ

หายใจเข้าให้ลึก ให้ทุกลมหายใจเข้าของเราไปถึงอวัยวะส่วนต่างๆ

เพื่อทักทาย ขอบคุณ และให้อวัยวะนั้นได้รับรู้ความรักของเราที่มี


หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ อ่อนโยน ละเมียดละไมต่อลมหายใจของเรานี้

เป็นความงดงามที่หล่อเลี้ยง ประคับประคองชีวิตของเรา

การรับและการให้ ดำรงอยู่กับเราตั้งแต่แรกเริ่มของการมีชีวิต ก่อนการบ่มเพาะใดๆ เสียอีก

ในทุกๆ ลมหายใจเข้าของเรา มีลมหายใจของพ่อแม่พี่น้อง

ลมหายใจของสรรพสิ่ง มีลมหายใจของทั้งผู้เป็นที่รักและผู้ที่เราเกลียดชัง

ทุกลมหายใจของเขาเหล่านั้น หล่อเลี้ยงอยู่ในร่างกายของเรานี้

และในทุกๆ ลมหายใจออกของเรา เราก็ได้ส่งมอบสิ่งต่างๆ ที่หล่อเลี้ยงในตัวเรา

แก่เขาเหล่านั้น แก่สรรพสิ่ง...เช่นกัน

ด้วยลมหายใจที่มี ที่เชื่อมโยงตัวเรากับโลกรอบตัวนี้ เรามิอาจเป็นอื่น...นอกจากลมหายใจเดียวกัน


หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ ส่งผ่านความรักและปรารถนาดีแก่กันและกัน

ความโกรธและความเกลียดชังของเรากำลังทำลายความงามของโลก

จงให้พลังในตัวเราแปรเปลี่ยนความโกรธเกลียดในเขาและเรา

ผ่านการดำรงอยู่อย่างสงบด้วยลมหายใจ ให้รักเคลื่อนผ่านหัวใจทุกดวงด้วยรักเถิด

หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ

..................................................

อยู่ๆ ลำนำบทนี้ก็ผุดพรายขึ้นมาในใจอีกครั้ง ถ้อยคำยังแจ่มชัด แม้เวลาจะล่วงเลยมา จำได้ว่าตอนนั้นฉันเป็นกระบวนกรจัดกระบวนการนำพาผู้คนเข้ามาเรียนรู้ด้านในของตนเอง เพื่อพวกเขาจะวิวัฒน์จิตวิญญาณของตน ความสงบและผ่อนคลาย นำพาถ้อยคำเหล่านี้ ไหลลื่นพร่างพรู ตอนนั้นเหมือนฉันไม่ได้พูดเพื่อพวกเขาเท่านั้น แต่ฉันก็ร่วมรับฟังและถูกนำพาไปด้วยเช่นกัน มันประทับอยู่ในใจ ยังเก็บกลับมาใคร่ครวญตนบ่อยครั้ง

เข้าใจด้วยความคิดนี่ช่างแตกต่างจากการเข้าถึงมากมายนัก เพราะ ณ ขณะที่รับเอาสิ่งต่างๆ เข้ามา ความคิดคำนวณ ดึงประสบการณ์ (อันจำกัด) มาตอบรับ ดังนั้น คำว่า “ใช่” ในห้วงขณะหนึ่ง อาจมิใช่ “ใช่” ในทุกๆ ห้วงขณะ

แต่บททดสอบหรือบทเรียนแห่งชีวิตจะเดินหน้าเข้ามาให้เผชิญ ทันทีที่เราคิดจะเลือก ตัดสิน แม้แต่หลงรัก ชื่นชม ศรัทธา กับบางสิ่งบางอย่าง อย่างไม่เห็นความเป็นจริงในตนเอง ที่พูดเช่นนี้เพราะฉันเพิ่งประจักษ์ว่า เราหลอกตัวเองเก่งกว่าหลอกคนอื่นเยอะ และคนอื่นก็หลอกเราไม่เนียนเท่ากับที่เราหลอกตัวเองเลย

เหมือนคนหลงตัว ฉันคิดและเชื่อเอามากๆ ว่า เพราะภายในอันดีงามของฉันนี่เอง และเพราะฉันเป็นผู้เข้าถึงสรรพสิ่ง ฉันถึงพร่างพรูลำนำเช่นนั้นออกมาได้ ยิ่งมีเสียงชื่นชมมากเท่าไร ฉันยิ่งหลงรักถ้อยคำของตนมากขึ้นเป็นเท่าตัว และยิ่งหลงรักถ้อยคำของตนมากเท่าไร ฉันก็ยิ่งเชื่อว่าฉันเป็นเช่นนั้นมากเท่านั้น และยิ่งฉันเชื่อว่าฉันเป็นสิ่งดีงามมากเท่าไร ฉันก็ยิ่งตัดสินโลกรอบตัวมากขึ้น มากขึ้นจนไม่รู้ว่าจริงๆ ฉันคือใคร เพราะภาพสะท้อนอื่นๆ พร่ามัว มีเพียงเสียงของความคิด... “ฉันคือความถูกต้อง ดีงาม”

โชคดีเหลือเกิน เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้น เพื่อนรักที่เป็นทั้งมิตรและครูหันหลังให้อย่างไม่มีเยื่อใย เป็นปฏิกิริยาที่สั่นคลอนอัตตาอย่างดีเยี่ยม ลำนำบทเอกที่เคยประทับใจผุดขึ้นมาย้ำเตือน ทว่า หูฉันดับเสียแล้วกระมังยามนั้น ฉันกลับเริ่มมองลำนำรักบทนี้เป็นดั่งคำประโลมโลกที่มิอาจเป็นจริง ก็เราจะเป็นหนึ่งเดียวกับไอ้คนงี่เง่าที่หันหลังและเมินเฉยต่อความดีงามและถูกต้องได้อย่างไร รักอย่างไม่มีเงื่อนไขนี้ เป็นแต่เพียงความสวยหรู เป็นอุดมคติที่ไกลห่างความเป็นจริง ความเป็นจริงแสดงชัดว่าเราต่างกัน และเราไม่ได้รู้จักหรือเข้าใจกันจริงๆ เลย ระหว่างพร่ำบ่นก่นด่าอย่างชิงชังในใจ ฉันกลับยิ่งรู้สึกว่าส่วนลึกภายในฉันกำลังร้องไห้ วิญญาณของฉันเจ็บปวด และฉันจำต้องน้อมรับอย่างสัตย์ซื่อว่า ฉันเสียใจ ไม่ใช่เพราะฉันกำลังทำร้ายใคร แต่เพราะฉันกำลังทำร้ายตนเอง ในแว้บนั้นเอง ที่รู้สึกถึงความรักต่อตัวเองขึ้นมาจับใจ

ฉันเลือกที่จะเยียวยาตนจากทุกข์ครั้งนี้ ด้วยการลดกำแพงตน เผยทุกข์ที่มีให้เพื่อนคนนั้นฟัง เป็นการบอกกล่าวที่หมดจดที่สุด อ่อนโยนที่สุด และสุภาพที่สุดเท่าที่เคยพูดมา ราวกับลมหายใจเดียวกัน เพื่อนก็บอกกล่าวสะท้อนกลับแก่ฉันอย่างซื่อตรง และนุ่มนวลยิ่ง ไม่มีแม้สักคำเดียวที่กล่าวโทษต่อกัน ไม่มีคำว่าถูก – ผิด มีเพียงการรับรู้และเข้าใจ ณ ตรงนั้น ณ ขณะนั้นเอง ที่เราสัมผัสถึงการหลอมรวม

เราพูดคำ “รัก” กันมาก แต่มันเป็นราวกับม่านควันที่กางกั้นเราด้วยข้อแม้มากมายที่เราต่างยึดติด ยึดถือกัน ดังนั้น ณ ขณะที่เราพูดว่า “เพื่อใคร” ขอให้ดูใจตน เขากับเราเป็นลมหายใจเดียวกันหรือไม่ เราสืบค้น ขุดคุ้ยหาความจริงแท้ในผู้อื่นเสียมากมาย แล้วในหัวใจเราเองเล่า เราอนุญาตให้ความจริงแท้ของเราปรากฏออกมาได้มากน้อยเพียงไร นี่ยังไม่ได้พูดถึงความจริงที่เราไม่เคยรับรู้ว่ามันมีอยู่ในตัวเรานะ เพราะเราต่างสร้างแล้วกลบ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเราเองไม่รู้ว่าอะไรคือความเป็นจริง เราไม่ชอบความเสแสร้ง แต่เราไม่เคยทันสังเกตพฤติกรรมของตนเลย

สิ่งที่เราคิดและปักใจไว้อาจเปลี่ยนแปลงหรือคงอยู่อย่างประจักษ์ชัดมากขึ้น เมื่อความคิดมิได้เป็นแค่ความคิด หรือชุดคิด แต่การมีประสบการณ์ถึงสิ่งนั้นๆ มีค่ายิ่ง จะเป็นไรไปหากคุณจะพบว่าคุณทำพลาดมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน และมันยังไม่มีวี่แววว่าจะหยุดลง โปรดให้ประสบการณ์แต่ละครั้งที่ปรากฏเป็นดั่งหมายเหตุชีวิต ที่เราจะเรียนรู้และข้ามผ่าน...ขอให้รักนำทางไปเถิด



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๑


วันก่อนเพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าได้ไปเข้ากระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับ “การเตรียมตัวตายอย่างมีสติ” ที่จัดขึ้นโดยเสมสิกขาลัย โดยมี พระไพศาล วิสาโล เป็นพระอาจารย์ ที่นำพาให้เกิดการตระหนักรู้ถึงความเปราะบางของชีวิต และธรรมชาติแห่งการเปลี่ยนแปลงของชีวิตนั้นว่ามีพลังอย่างยิ่ง ในยุคที่วิทยาศาสตร์และวงการแพทย์เริ่มยอมรับวาระแห่งความตายว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมากขึ้น โดยที่ไม่มีใครสามารถหยุดรั้งชีวิตที่จะพลัดร่วงจากไปในวาระที่เหมาะสมได้ การเผชิญหน้ากับความตายอย่างมีสติ กำลังเป็นประเด็นสำคัญต่อการเรียนรู้ของสังคม ในการปรับท่าทีในการดำรงอยู่กับความทุกข์ และส่งเสริมให้เกิดความสง่างาม ความหมายและสันติภาพในการจากไปของผู้คนดูจะเป็นวิถีทางที่เราจะตื่นรู้ได้อีกทางหนึ่งในการยอมรับ “ธรรมชาติของชีวิต”

ถ้าเปรียบการตายคือการผลัดใบ การเกิดก็อาจเปรียบได้ดังการผลิบานของชีวิต ในช่วงที่ผ่านมา ผมเองก็ได้มีประสบการณ์ในกับกระบวนการเกิดของลูกสาวคนแรก ซึ่งตอนแรกผมเองก็ไม่ได้คิดว่า การได้เป็นประจักษ์พยานการเกิดจะสร้างความสั่นสะเทือนให้กับการรับรู้ชีวิตของผมได้มากถึงเพียงนี้ ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าคนอื่นๆ ที่ได้รับรู้ประสบการณ์ของการเกิดจะได้รู้สึกหรือนึกคิดคล้ายกันหรือไม่ เพราะแต่ละคนย่อมมีการตีความประสบการณ์ที่ตนได้รับต่างกันไปเป็นธรรมดา

“ไม่น่าเชื่อ” “อึ้ง” “มันออกมาได้ไงเนี่ย” “...” นี่คือเสียงที่อยู่ในหัว แต่หากถามความรู้สึกตอนที่ลูกสาวคลอดออกมานั้นเต็มไปด้วยสีสันหลากหลายยากที่จะพรรณนาเป็นคำพูดได้ มีทั้งตื้นตัน ประหลาดใจ ดีใจ ปลื้มปีติ แปลกใจ ที่เห็นเขาออกมาจากการเบ่งลมของผู้เป็นแม่ ที่ทุ่มพลังทั้งชีวิตในการให้กำเนิดชีวิตน้อยๆ ตัวแดงๆ ผมดำๆ เพียงแค่เห็นเขาออกมาได้และมาซบที่อกแม่แบบหอบแฮกๆ เหมือนกำลังหาที่ซุกซ่อนในที่ปลอดภัย แม่ก็ปลอบใจให้ลูกน้อยรู้สึกว่า “แม่อยู่ที่นี่นะลูก” ลูกร้องไห้แค่แอะเดียวเท่านั้น แล้วก็สงบซบอกแม่ที่เหงื่อสะพรั่ง แต่ดูมีความสุขเหลือหลาย ลมหายใจยังคงเป็นหนึ่งเดียวกัน หัวใจที่กล้าหาญที่เผชิญวิกฤตการณ์ชีวิตที่เปราะบางและหมิ่นเหม่อย่างร่วมไม้ร่วมมือของทั้งสองชีวิตทำให้ผมอดกลั้นน้ำตาไม่ได้ เลยปล่อยโฮใหญ่ออกมายังกับเด็ก ที่ไม่เคยเห็นอะไรที่มีพลังและความงามที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ ตอนนั้นรู้สึกว่าหัวใจสั่นสะท้านในอาการอึ้ง ต่อมน้ำตาที่แตกออกอาจเป็นวิธีเดียวที่จะใช้ระบายประสบการณ์อันท่วมท้นนี้ออกมาจากหัวอกของพ่อผู้เฝ้ามองที่คอยลุ้นและติดตามอย่างไม่ให้คลาดสายตาแม้เพียงลมหายใจเดียวก็เป็นได้

คุณหมอที่ช่วยทำคลอดคือ นพ.พิษณุ ขันติพงษ์ รพ. เชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย คุณหมอทั้งให้กำลังใจและมีอารมณ์ขันแบบไร้ขีดจำกัด และมักพูดติดตลกว่า “เขาจะมาตามหาความหมายชีวิต” รวมทั้งบรรดาพยาบาลห้องคลอดก็ช่วยเหลือให้กำลังใจ โอบประคองถึงความรู้สึกของผู้หญิงให้คลอดได้อย่างอบอุ่น จนผมรู้สึกว่านางฟ้าเหล่านี้ได้ช่วยเหลือให้ครอบครัวของพวกเราได้ผ่านช่วงเปลี่ยนผ่านชีวิตที่สำคัญยิ่ง หมอก็เหมือนเทวดาที่ให้การดูแลกระบวนการของธรรมชาติและช่วยเหลือด้วยความรู้ทางการแพทย์ตามความเหมาะสมโดยยังคงให้ “ธรรมชาติ”ของแม่และเด็กกระทำภารกิจของชีวิตตัวเองเป็นสำคัญ

ผมถือว่า การเกิดนี้เป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่ยากจะหาได้ และได้ช่วยปรับเปลี่ยนมุมมองที่ผมมีต่อชีวิต ต่อการเกิด ต่อผู้หญิงและความเป็นแม่ไปอย่างมาก เมื่อก่อนมันก็เป็นความเข้าใจเชิงทฤษฎี ซึ่งตอนนี้ผมจะไม่เรียกว่าความเข้าใจอีกต่อไป เรียกได้เพียงว่า ความเข้าหัว ไม่ใช่เข้าใจ เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้ประสบด้วยตัวเอง มันยากยิ่งนักที่จะสัมผัสถึงพลังของชีวิตและการเกิด ถึงแม้ว่าผมจะเคยศึกษาบทบาทของสามีในการให้ความช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้กับภรรยา จะนวดตรงไหน บีบตรงไหน แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็จับผิดจับถูก บางทีนวดก็แรงเกินไป รู้สึกเสื่อมสมรรถภาพทางการนวดไปเลยก็มีเป็นบางขณะ ในตะวันตกหลายประเทศเขากำหนดเป็นเงื่อนไขให้การคลอดนั้นต้องมีสามีผู้ร่วมก่อเหตุไว้อยู่ดูแลกระบวนการคลอดด้วย เรียกว่ารับผิดชอบร่วมกัน สามีบางคนไม่ค่อยได้เห็นเลือด (เหมือนที่ผู้หญิงมีประจำเดือนทั้งหลายได้เห็นเป็นเรื่องปกติ) พอเห็นเลือดและกลิ่นคาวๆ เข้าไปถึงกับหน้ามืด เวียนหัว และหมอพยาบาลต้องหันมาให้การพยาบาลกับผู้ชายก็มี

ผู้ชายส่วนใหญ่อาจมีประสบการณ์ตรงกับการเกิดน้อยมาก จึงไม่มีโอกาสได้เห็นความเจ็บปวดของการเกิด เพราะการเกิดของเราเองก็นานมาแล้ว จำไม่ได้แล้ว ไม่รู้หรอกว่าเจ็บปวดอย่างไร ต้องต่อสู้มากเพียงใด ผมคิดว่าการรับรู้ในเรื่องนี้จะช่วยทำให้จิตใจน้อมลงไม่น้อย เป็นโอกาสการเรียนรู้ที่น่าฉวยไว้ให้ชีวิต เพื่อให้เกิดการมองเห็นตรงๆ และเกิดการประจักษ์แจ้งด้วยตนเองว่านี่แหละชีวิต มันมากเกินกว่าจะคิดเอาเองด้วยคำอธิบายใดๆ การรับรู้ผ่านประสบการณ์ตรงช่วยให้เกิดความรู้ที่ไม่ต้องผ่านการคิดคาดคะเน เป็นทางลัดสู่การยอมรับความยิ่งใหญ่ของชีวิต เพื่อลดความอหังการ์ของเรา และความรู้ทั้งหลายที่เรามีนั้นเสียได้

ผมรู้สึกถึงคุณค่าของเด็กทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ การเกิดของโมโม่ (ลูกสาว) สะท้อนถึงการเกิดของเด็กคนอื่นๆ ที่เกิดมาบนโลกใบนี้ด้วยความยากลำบาก และความเจ็บปวด เรื่องนี้ต้องขอยกนิ้วให้กับบรรดาแม่ๆ ทั้งหลายที่ผ่านวิกฤติเหล่านี้มาได้ อีกทั้งบรรดาผู้หญิงที่เกื้อหนุนกันและกันในช่วงคลอด แม้แต่พยาบาลที่ยังไม่มีลูกของตัวเองก็ดูเหมือนจะสามารถเข้าถึงและเข้าใจความเจ็บปวดของหญิงคลอดลูกได้ดีทีเดียว ผมสัมผัสได้ถึงหัวใจของความเป็นแม่ร่วมกันที่ผู้หญิงเหล่านี้แสดงออกมาในการช่วยเหลือเกื้อกูล อันนี้ถือเป็นเรื่องลี้ลับและน่าทึ่งสำหรับผมทีเดียว ยังคงมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่น่ามหัศจรรย์เกี่ยวกับการเป็นมนุษย์จริงๆ

แม้ผมเองไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นชาวคริสต์ แต่ก็นับถือในพระพร และพลังของดวงจิตอันยิ่งใหญ่ ที่มีคำเรียกว่า พระเจ้า ผมเคยคิดว่าผมจะได้มาเข้าเฝ้าพระเจ้าก็ในห้องคลอด และแล้วก็รู้สึกว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ห้องนี้คือพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ที่มีการเสียเลือดเนื้อ น้ำตา มีการเอาชีวิตเข้าแลก เป็นห้องที่แม่ออกรบเพื่อต่อสู้กับความเจ็บปวดของการเกิด เพื่อให้กำเนิดลูกน้อยของตน ผมขอให้คุณพระช่วยคุ้มครองลูกน้อยและแม่ทุกคนให้แคล้วรอดปลอดภัยจากภยันอันตราย เพื่อค้นพบความเป็นมนุษย์และวิถีทางแห่งความรักด้วยกันทุกคนเทอญ



โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๑


ในสถานการณ์ที่ขัดแย้งอย่างรุนแรงในใจเรา “ศัตรู” ของเราก็สามารถเป็น “ครู” ที่อาจจะปลอมตัวมาช่วยเราให้นึกได้ว่า เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร ถ้าเราไม่ประหารเขาให้ดับสูญไปเสียก่อน

สำหรับคนที่เห็นแก่ตัวมาตลอดชีวิต คิดแต่ประโยชน์ส่วนตน และกระทำการใดๆ ก็ตามเพื่อตัวเองเท่านั้น คนอื่นไม่ต้องพูดถึง เขาผู้เห็นแก่ตัวผู้นี้แทบจะไม่รู้ตัวเลยว่า เขาไม่รู้จักว่าการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดูแลและเมตตากรุณาใครต่อใครนั้นให้ความสุขลึกๆ ในใจต่างกับที่ทำให้แต่ตนเองอย่างไร

ในทางกลับกัน สำหรับคนที่เห็นแก่ผู้อื่น เอื้อเฟื้อผู้คน เห็นใครต่อใครสำคัญกว่าตนเองเสมอนั้น ก็แทบจะไม่รู้จักเลยว่า การยืนยันความต้องการของตัวเองและรู้จักปฏิเสธความต้องการคนอื่นนั้น สามารถทำให้จิตใจปลอดโปร่ง และเบาใจได้อย่างไร

คนเห็นแก่ตัวกับคนเห็นแก่คนอื่น ต่างก็เป็นขั้วที่ตรงกันข้ามดั่งศัตรูก็ว่าได้ และต่างก็เป็นครูผู้สามารถสอนกันและกันก็ได้ เพื่อให้เรารู้จักบทเรียนว่า จะเห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่คนอื่นอย่างครบถ้วนครบครันนั้น ย่อมย้อนมาจรรโลงชีวิตด้วยกันทั้งนั้น ถ้าต่างไม่ปลิดชีวิตของกันและกันไปเสียก่อน

แต่หากเราสามารถเปล่งคำด้วยอารมณ์ใส่ผู้คนที่ต่างขั้วกับเราว่าเขาเป็นศัตรู อีกทั้งสามารถบริภาษเขาว่าเป็น "สัตว์นรก หรืออมนุษย์" และปรารถนาให้เขาเหล่านั้น “ไปตายซะเถิด ไปตายซะก็ดี (จะได้พ้นหูพ้นตา)” เสี้ยววินาทีนั้นบอกถึงเสียงด้านในของตัวเราเองที่คอยพิพากษาผู้คน

หากเราได้พิจารณาคำพิพากษาของเราที่กำลังสาดซัดไปกระทบใครต่อใครแล้ว เราจึงจะสามารถมองเห็นได้ว่า เราพิพากษาฟาดฟันใคร และเขาหรือเธอคนนั้นมีบุคลิกประเภทใด เขาเป็นคนอย่างไร บุคลิกนั้นรวมทั้งพลังของคนประเภทนั้นนั่นแหละที่เรากำลังต้องการเอามาดูแลความเปราะบางของเรา หรืออย่างน้อยมาถ่วงดุลขั้วความเคยชิน ความชำนาญที่เรายึดถือเป็นคุณค่าของเรา และกำลังมีพลังแรงกล้าอย่างมากมายจนอยากให้ใครต่อใครที่อยู่ตรงกันข้ามกับขั้วของเรานั้น “ตาย” ไปซะ

เป็นเรื่องท้าทายยิ่งนัก ที่จะต้องหันกลับมายอมรับว่า คู่กรณีหรือศัตรูของเรานั้น คืออีกด้านหนึ่งของเราที่หายไป หรือเงาของเรานั่นเอง และการยอมรับว่า เขาสามารถที่จะเป็น “ครู” ผู้กำลังแนะนำให้เรารู้ตระหนักว่าเราขาดอะไร เราไม่สามารถกระทำการบางอย่างที่ตรงกันข้ามกับขั้วที่เรายึดติดอยู่ซึ่งเราไม่รู้เลยว่า เราไม่รู้ขั้วตรงกันข้ามนั้นเป็นอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น เป็นไปได้ไหมว่า เราเคยเห็นแก่ตัว อยากทำอะไรตามใจตัวเอง เพื่อผลประโยชน์ของตัวอย่างสุดๆ เราอยากได้ของเล่นเป็นของเราสักชิ้น แต่ในฐานะพี่คนโตเราต้องยกให้น้อง เพราะมิฉะนั้นพ่อแม่ไม่รัก หรือหากเราเป็นลูกคนกลาง เราต้องรับมรดกเสื้อผ้าจากพี่คนโต และเราก็ต้องยอมกล้ำกลืนที่จะเห็นน้องมีข้าวของใหม่ใส่ เพราะเขาใช้เสื้อผ้าไซส์เล็กกว่าเรา และไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราถูกกะเกณฑ์ให้เป็นคนที่ต้อง “เห็นแก่ใครๆ” มากกว่าเห็นแก่ตนเอง

เราจึงเห็นคนที่เห็นแก่คนอื่นเท่านั้นเป็นที่รัก เป็นคนดี เป็นเทพ และเห็นคนเห็นแก่ตนเองเป็นสัตว์ หรือแม้กระทั่ง “สัตว์นรก” เพราะวันที่เราเคยลุกขึ้นมาเรียกร้องว่า เราต้องการเสื้อใหม่ของเรา เราอยากเล่นของเล่นใหม่ของเราโดยไม่ต้องแบ่งกับใคร วันนั้นเกิดเหตุการณ์ต่อว่าด่าทอจากคนที่เรารัก จนวันนั้นกลายเป็น “นรก” จริงๆ บางทีผลของการเลี้ยงดูในวัยเด็กก็ฝังลึกอยู่ในจิตไร้สำนึกของเราได้ถึงขนาดนี้

ท้าทายยิ่งนักที่เราจะรับได้ว่า “ไอ้สัตว์นรก อมนุษย์” เหล่านั้น เป็น อีกด้านหนึ่งของเราที่เรามองไม่เห็น ไม่กล้ามองเห็น ไม่กล้าเผชิญ เลยได้แต่ลุกขึ้นมาด่าเพลินๆ และเราสามารถบอกให้เขาไปตายซะได้นั้น เพราะเสียงอีกด้านหนึ่งของเราก็กำลังบอกเราว่า เราเป็น “เทพสวรรค์ เป็นมนุษย์เหนือกว่ามนุษย์ใดใด”

เป็นไปได้ไหมว่าเราเองก็เคยกระทำหรืออยากทำการเช่นเดียวกันสัตว์นรกและอมนุษย์เหล่านั้น แต่ทำแล้วเป็นผลร้าย เมื่อมาถึงวันที่เราเจอใครที่ทำอะไรคล้ายๆ ที่เราเคยทำ เราจึงเห็นว่าพวกสัตว์นรกเหล่านั้นไม่มีค่าคู่ควรอยู่คู่กับเรา พวกเขาจึงสมควร “ตาย” และหากตัวเราเองไม่สามารถเป็นเทพสวรรค์ได้เท่าที่ใจเรานึก เราก็ควรตายไปซะเหมือนกัน

เมื่อเราสามารถสาปแช่งให้ใครต่อใครให้ตายได้ เมื่อนั้นก็บอกว่า เรากำลังสาปแช่งตัวเราเอง หรืออย่างน้อยบางด้านของตัวเราเองให้ตกตายตามกันไป เพราะเรากำลังยอมรับว่า เราเองก็ขาดความสามารถที่จะมีชีวิตและลมหายใจอยู่ต่อไปเหมือนกัน

แต่หากท่ามกลางความขัดแย้งที่เรามีในใจอย่างรุนแรงกับใครต่อใคร โดยเฉพาะกับคนที่เราอยากให้เขาดับสูญหรือ ปลาสนาการไปต่อหน้าต่อตา เรามองให้เห็นแววตาของเขา หรือสัมผัสพลังในตัวเขา เราอาจจะเห็น “เงา” ของตัวเรา ที่หายไป และเราสามารถบอกกับตัวเราเองว่า บางครั้งในชีวิต กับผู้คนและสถานการณ์บางสถานการณ์ เราจำเป็นต้องเห็นแก่ตัวของเราเองบ้าง ดูแลตัวเราเองบ้าง รู้จักปฏิเสธคนอื่นบ้าง แม้กระทั่งจะงกบ้าง รวมถึงยืนกรานอย่างหนักแน่นว่า “นี่ของฉัน ไม่ใช่ของเธอ”

และหากเราเพียงวางเฉย หรืออาจจะกล้าหาญให้อภัยเขาได้ เราอาจจะเกลียดศัตรูของเราน้อยลง ให้เขาเป็น “ครู” สอนเราให้เราทำในสิ่งที่เราทำไม่ค่อยจะถนัดนัก เราก็อาจจะรับเงาของเรากลับคืน และให้อภัยตัวเราที่แท้จริง และยอมรับว่า เราก็มีอีกด้านหนึ่ง ซึ่งมีความสามารถที่จะเป็น “สัตว์นรก หรืออมนุษย์”เหล่านั้นทัดเทียมกันกับเขาเหล่านั้นผู้ที่ถูกเราพิพากษา



โดย พูลฉวี เรืองวิชาธร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๑

“ครอบครัวเราแม่มีลูกหลายคน ฐานะทางบ้านก็ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก เราเป็นลูกคนเดียวที่ถูกส่งไปอยู่ในความอุปถัมภ์ของผู้มีอุปการะคุณตั้งแต่เด็ก ทำให้เราคิดอยู่ในใจเสมอว่าแม่ไม่รักเราจึงไม่อยากเลี้ยงดูเราเหมือนพี่น้องคนอื่น อยู่มาวันหนึ่งได้กลับมาเยี่ยมบ้านมีโอกาสเลยถามแม่ว่า ‘แม่รักลูกเท่ากันไหม’ แม่ตอบว่า ‘ลูก ดูซินิ้วมือทั้งห้านิ้วเท่ากันไหม…..’ แม่ได้จากเราไปหลายปีแล้ว แต่น้ำตาที่ไหลอยู่ข้างในอก ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เสียใจ โกรธเกลียดว่าแม่ไม่รักเรา มันยังจดจำและฝังอยู่ในใจเรามาตลอดไม่เสื่อมคลายเลย แม้เวลาจะผ่านมา ๕๖ ปีแล้วก็ตาม…..” เสียงที่สั่นเครือกับน้ำตาที่ไหลอาบสองแก้มของเพื่อนผู้ร่วมเรียนรู้ท่านหนึ่งได้บอกเล่าเรื่องราวเปิดเผยความในใจที่เก็บมาไว้นานเกือบทั้งชีวิตให้กลุ่มได้รับฟัง*

ขณะที่รับฟังเพื่อนเล่า ภาพความทรงจำเก่าของผู้เขียนก็ย้อนกลับมาอีกครั้งอย่างชัดเจน วันนั้นเกือบจะเที่ยงคืนแล้ว เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นพร้อมกับสรรพสำเนียงเสียงที่ไม่ค่อยจะพอใจนักของพี่สาว “ไปอยู่ที่ไหนมาติดต่อไม่ได้เลย แม่...เส้นเลือดในสมองแตกอาเฮียกำลังพาไปโรงพยาบาลศิริราชเพื่อผ่าตัดสมองด่วน อาการเป็นตายเท่ากัน....” รู้สึกตกใจจนตัวชา สมองมึนตึ๊บ พอเริ่มคิดแว้บแรก...ทำไมแม่เป็นความดันสูงแล้วไม่บอกใคร ลูกตั้งเก้าคนไม่มีใครรู้เลยหรือไง ทำไมไม่มีใครใส่ใจแม่เลย แล้วเราล่ะมัวทำอะไรอยู่ เราเองก็ไม่ได้ใส่ใจแม่ด้วย เสียใจโกรธโมโหพาลไปหมด โกรธแม่ โกรธพี่ๆ มาลงท้ายที่เสียงก่นด่าโกรธและตัดสินตัวเองว่าเราเป็นลูกที่ไม่ดีไม่ดูแลแม่มัวแต่ไปดูแลใครก็ไม่รู้ เสียงนั้นยังชัดดังก้องในความทรงจำของผู้เขียนถึงแม้เหตุการณ์นั้นจะผ่านมาเกือบ ๔ ปีแล้วก็ตาม

ผู้เขียนเองเป็นอีกคนหนึ่งที่มักจะเก็บและแช่แข็งสิ่งค้างคาใจไว้นาน บางขณะก็มักจะจมจ่อมอยู่กับความรู้สึกผิดทั้งที่อาจทำไปด้วยความผิดพลาดพลั้งเผลอไม่ได้ตั้งใจ หรืออาจตั้งใจแต่ด้วยความไม่เดียงสาหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บางครั้งการกระทำของเราก็ไปทำให้เกิดการบันทึกความไม่ดีในใจของผู้อื่นโดยที่เราก็ไม่ทันได้รู้ตัวหรือไม่ได้ตั้งใจ บางทีเราก็ยังจดจำเรื่องที่ผู้อื่นกระทำให้เราโกรธเกลียดไว้ในใจลึกๆ ถึงแม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม หากเรายังไม่ได้คลี่คลายอย่างแท้จริงเรื่องนั้นก็ยังคงฝังจำอยู่ในใจเราจนบางครั้งเราคิดและบอกกับคนอื่นและตัวเองว่าเราไม่ได้โกรธแล้ว คลี่คลายหรือหายดีแล้ว แต่เมื่อมีบางสิ่งบางอย่างมาสะกิดใจอีกครั้งเราจึงรับรู้ได้ว่าลึกๆ เรื่องค้างคาใจนั้นยังมีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจเราอย่างไม่สร่างซา เหมือนกับแผลเป็นบางแผลที่ดูภายนอกนั้นเหมือนว่าหายสนิทดีแล้วแต่พอถูกสะกิดหรือโดนเข้าทีไรก็ยังรู้สึกเจ็บลึกๆ อยู่ทุกครั้ง

การที่เราเก็บงำความรู้สึกค้างคาต่างๆ ไว้ในใจ หากเป็นเรื่องที่เราทำให้ผู้อื่นทุกข์ ก็อาจจะส่งผลให้เราไม่กล้าแม้กระทั่งจะยอมรับความจริงบางอย่าง ไม่ยอมเปิดโอกาสเพื่อที่จะปรับความเข้าใจกัน บางครั้งทำให้ต้องสร้างภาพบางอย่างทำให้ผู้อื่นเข้าไม่ถึงเรา บางครั้งไม่กล้าแม้กระทั่งที่จะกล่าวคำว่า “ขอโทษนะคะแม่ ขออภัยนะจ๊ะพี่” ไม่กล้าแม้จะกล่าวคำว่า “รักแม่นะ” ไม่กล้าที่จะสัมผัสหรือโอบกอดคนที่เรารัก ที่สำคัญยิ่งก็คือหลายคนยังไม่ทันได้ทำในสิ่งที่กล่าวมาก็มีอันต้องตายจากกันไปก่อนซึ่งนับว่าน่าเสียดายอย่างยิ่ง แต่หากเรื่องค้างคาใจเป็นเรื่องที่ผู้อื่นทำให้เราโกรธเกลียดยังไม่ได้รับการปลดเปลื้อง เช่น เรายังไม่ได้ให้อภัยแก่คนที่เราโกรธเกลียดจริงๆ อย่างน้อยๆ เมื่อใดก็ตามที่เรานึกคิดถึงคนๆ นั้นใจเราก็จะเริ่มเป็นทุกข์ด้วยความโกรธเกลียดที่ฝังอยู่ในใจของเราโดยที่เขาคนนั้นยังไม่ทันได้รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ

ในอดีตอันไกลโพ้นมนุษย์มีสัญชาติญาณการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดต้องระแวดระวังภัยเพื่อการดำรงอยู่ก็เลยต้องจดจำสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิต ซึ่งเป็นสัญชาตญาณที่ต้องเตรียมพร้อมเพื่อหลบหลีกภัยในครั้งต่อๆ ไป นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธรรมชาติของมนุษย์ส่วนใหญ่มักจะจดจำเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นด้านร้ายได้รวดเร็วและฝังในใจได้นานกว่าประสบการณ์ด้านดีๆ เพราะจะทำให้อยู่รอดปลอดภัย แต่หากเราจดจำสิ่งที่เป็นด้านร้ายๆ มากและนานจนเกินไปมักจะทำให้เรามองข้ามกับสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราจดจำฝังใจกับด้านร้ายๆ ได้นานก็เพราะเรายึดมั่นถือมั่นในความคิดความเห็นหรือความเชื่อของเรามากอีกทั้งการคิดปรุงแต่งไปเองจนไม่ยอมที่จะเปิดใจรับฟังเสียงภายในตัวเองและเสียงของผู้อื่นอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้เราไม่ยอมที่จะขออภัยผู้อื่นหรือไม่ยอมให้อภัยคนที่ทำร้ายเราโดยเฉพาะการไม่ยอมให้อภัยในความผิดพลาดพลั้งเผลอของตัวเอง สาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการติดยึดกับเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้นได้นานก็คือความโลภความอยากของเรา เรามักจะคาดหวังกับคนที่อยู่ใกล้ชิดมากเกินไปคิดอยู่เสมอว่าเขาต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามที่เราพึงปรารถนาไม่ควรทำในสิ่งที่เราไม่ชอบไม่พอใจ

เสียงเพื่อนคนเดิมยังคงเล่าเรื่องราวต่อ “.....เมื่อได้นั่งนิ่งใคร่ครวญอย่างมีสติเราได้เผชิญกับปมปัญหาภายในใจที่เราฝังไว้นาน เราเก็บซ่อนไว้อย่างดีที่สุด ในอีกมุมหนึ่งเราก็ได้เห็นสิ่งงดงาม ความรัก ความหวังดี ความยากลำบาก ความทุกข์ทรมานใจที่แม่ได้รับขณะที่มีความจำเป็นบางอย่างจนต้องให้เราไปอยู่กับคนอื่น…..คิดถึงแม่ รักแม่มากๆ…. สิ่งที่ค้างคาในใจได้ปลดเปลื้องหมดสิ้นแล้วขณะนี้…. ขอบคุณเพื่อนๆ ทุกคนที่รับฟังด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง ไม่ด่วนตัดสิน ให้โอกาสได้ระบายความในใจที่เก็บซ่อนไว้มาเกือบตลอดชีวิต”* เสียงนั้นมาพร้อมกับรอยยิ้ม น้ำตายังคงอาบสองแก้มแต่เป็นน้ำตาแห่งการคลายเงื่อนปมความทุกข์ภายในใจ เป็นน้ำตาแห่งความปลื้มปิติของมนุษย์ผู้มีความหวัง ได้รับพลังชีวิตกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

บางทีการประสบกับสิ่งร้ายในชีวิตเปรียบไปก็คล้ายกับเรากำลังเล่นไพ่ บางครั้งเราไม่สามารถเปลี่ยนไพ่ที่เราจั่วมาได้ แต่เราจะเล่นไพ่ในมืออย่างไรให้ดีที่สุดต่างหากกลับเป็นสิ่งสำคัญกว่าการพยายามวิ่งหนีหลีกเลี่ยงเรื่องร้ายๆ ของชีวิตอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่ว่าเรากล้าหาญและใจกว้างพอที่จะเผชิญกับความจริงเหล่านั้นได้มากน้อยเพียงใด ในยามที่เรานิ่งมีสติตื่นรู้พอเราจะเห็นได้ว่ายังมีความงดงามเกิดขึ้นมากมายในอดีตที่เรามักหลงลืมที่จะจดจำหรือเลือกที่จะไม่จดจำความสุขความดีงามต่างๆ เหล่านั้นเพียงเพราะความทุกข์บางอย่างที่เป็นม่านบางๆ มาบดบัง หรืออาจเป็นเพียงเพราะเราคิดว่าเป็นหน้าที่ที่เขาต้องทำให้กับเราในเวลานั้นเราจึงมองไม่เห็นคุณค่าในการกระทำเหล่านั้น แต่หากเรานิ่งพอและมองใหม่ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นเกิดจากความรักความจริงใจความหวังดีเราก็จะเห็นสิ่งต่างๆ อย่างเป็นจริงรอบด้านมากขึ้น และเราก็จะได้รับของขวัญชิ้นใหญ่เป็นความปลื้มปิติ ความสุข พลังชีวิตให้เราก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง

หากเราเริ่มเข้าใจธรรมชาติอีกสิ่งหนึ่งของมนุษย์ก็คือ มนุษย์ทุกคนล้วนรักสุขเกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น และตระหนักอยู่เสมอว่าไม่รู้ว่าเราจะมีชีวิตอยู่ด้วยกันอีกนานแค่ไหน ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้หรือชาติหน้าสิ่งไหนจะมาถึงเราก่อนกัน วันนี้อาจเป็นการพบกันครั้งสุดท้ายก็ได้ เวลาที่ผ่านมานั้นมีค่าน้อยกว่าเวลาที่เราเหลืออยู่ เราแก้ไขสิ่งที่ผ่านมาไม่ได้แต่เราสามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ตามที่เราต้องการ หากเราคิดได้อย่างนี้เราก็จะนุ่มนวลต่อชีวิตและสิ่งรอบกายได้มากขึ้น ทำให้เราระมัดระวังในการทำของเราเพื่อไม่ให้เกิดการบันทึกสิ่งที่ไม่ดีในใจทั้งของเราและผู้อื่นโดยเฉพาะเด็กๆ (เพราะสิ่งไม่ดีในใจเกิดได้ง่ายแต่จะลบออกนั้นยากกว่ามาก) เราจะปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความรักความปรารถนาดีต่อกัน ใส่ใจดูแลถนอมน้ำใจกันมากขึ้นโดยเฉพาะคนใกล้ชิด ชื่นชมในสิ่งดีๆ ที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยสี่ที่มีอย่างไม่ขัดสน สุขภาพร่างกายที่ยังคงแข็งแรง ทรัพย์สมบัติเงินทองที่หามาได้ ครอบครัวที่อบอุ่นมีคนที่เรารักและรักเรา หรือแม้กระทั่งความรู้สึกดีๆ ความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่หาได้ง่ายในชีวิต พิจารณาใคร่ครวญปล่อยวางสิ่งที่เรายึดติดทั้งสิ่งที่เรารักและสิ่งที่เราเกลียดสิ่งใดที่ยังคงค้างคาใจให้เราเร่งขวนขวายกระทำอย่าผัดผ่อนอีกต่อไปเลยเพราะเราอาจจะไม่ได้ทำก็ได้ ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการเริ่มต้นที่จะทำสิ่งดีๆ ให้กับทุกสรรพชีวิตและพร้อมที่จะทำทุกสิ่งในปัจจุบันขณะให้ดีที่สุดด้วยความตั้งใจมีสติและตื่นรู้พอที่จะเดินต่อไปด้วยความกล้าหาญ กล้าเผชิญอย่างมั่นคง


* จากการเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติหัวข้อ”เผชิญความตายอย่างสงบ” เมื่อ ๒๔-๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๑ จัดโดย เครือข่ายพุทธิกาและเสมสิกขาลัย



โดย กิติยา โสภณพนิช
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๑


คุณแม่ลูกอ่อนกลับมาทักทายกันอีกครั้งบนหน้ากระดาษหลังจากหายหน้าหายตากันไปหลายเดือน ตอนนี้เจ้าตัวน้อยของผู้เขียนก็เริ่มคืบคลานเข้าสู่เดือนที่หก กำลังจ้ำม่ำ น่ารักน่าชัง ในขณะที่ตัวผู้เขียนเองก็กำลังปรับตัวเข้าสู่การเป็นแม่ทำงาน (Working Mom) จัดสรรเวลางาน เวลานอน และเวลาพักผ่อนหย่อนใจให้เข้ากับชีวิตใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทุกวันนี้เวลาขับรถไปทำงาน ผู้เขียนจะเปิดซีดีสอนปฏิบัติธรรมอยู่แผ่นหนึ่ง ฟังวนเวียนซ้ำไปซ้ำมา โดยแอบหวังลึกๆ ว่า “ธรรมะ” จะค่อยๆ ซึมผ่านเนื้อหนังมังสาหนาๆ ของเราเข้าไปสู่จิต “ภายใน” วิธีการปฏิบัติธรรมในซีดีที่พระอาจารย์ท่านสอนนั้นแสนจะเรียบง่าย คือ ให้เราตามรู้ใจของเราอย่างที่มันเป็น ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องเพ่ง และที่สำคัญคือ ไม่ต้องคิด แค่เพียง “รู้” ใจมันโกรธก็รู้ ดีใจก็รู้ เครียดก็รู้ ฯลฯ ผู้เขียนก็ปฏิบัติตามไปอย่างงูๆ ปลาๆ นึกได้ก็ทำ แต่ส่วนใหญ่ก็จะลืม โดยเฉพาะเวลาอยู่กับลูก เพราะทั้งกาย ใจ และปัญญาทั้งหมดทั้งมวลที่เรามีนั้น มันจดจ่ออยู่ที่ลูก ลูก และลูกคนเดียว จนไม่เหลือสติหรือพลังใดๆ ที่จะมารับรู้ความเป็นไปข้างในจิตใจของตัวเอง

แต่วันก่อนได้ฟังคำสอนที่น่าสนใจจากซีดีแผ่นเดิม (อาจเคยฟังไปแล้วแต่เพิ่งจะได้ยิน) มีคนถามพระอาจารย์ว่า จิตก็เหมือนเด็กใช่ไหม ท่านตอบว่า ใช่ เวลาเราดูจิตก็เหมือนกับว่าเรากำลังเฝ้าดูเด็กคนหนึ่ง และท่านยังเสริมอีกว่า ให้ดูจนรู้ว่าเด็กคนนั้นไม่ใช่เรา

ฟังแล้วก็ลองคิดตามดู จริงๆ การเลี้ยงเด็กกับการปฏิบัติธรรมอาจมีส่วนคล้ายคลึงกันอยู่ไม่น้อย ในฐานะที่กำลังเป็นแม่ลูกอ่อน ผู้เขียนเลยลองเทียบเคียงเล่นๆ พอให้เห็นถึงความเหมือน (หรือความต่าง) ของสองสิ่งนี้ ไม่ได้อ้างอิงหลักการใดๆ ขออนุญาตคิดเองตามอำเภอใจ อาจไม่ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เผื่อใครที่มีลูกแล้วอาจจะเข้าใจการปฏิบัติธรรมมากขึ้น หรือใครที่เข้าใจเรื่องการปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีลูก อาจจะพอเข้าใจการเลี้ยงลูกขึ้นมาบ้าง

รู้ (ทัน) ในสิ่งที่เขาเป็น ณ ปัจจุบันขณะ แล้วเราจะปฏิบัติกับเขาได้อย่างเหมาะสม

เด็กก็เหมือนจิตตรงที่เขาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อยู่เหนือความควบคุมของเรา แม้เราคิดว่าเราได้จัดสรรสิ่งแวดล้อมที่พร้อมสมบูรณ์ที่สุดแล้วก็ตาม เขาก็ยังสามารถแสดงปฏิกิริยาที่เหนือความคาดหมายของเราออกมาได้เสมอ เด็กอาจไม่ไวเท่าจิต แต่ก็ไวพอที่จะทำให้เราไม่อาจละสายตาจากเขาได้ มีคนเคยบอกผู้เขียนว่า เด็กจะบังคับให้เราต้องอยู่กับปัจจุบันขณะ และมีคำพูดของคนจีนที่พูดทำนองว่า เด็กเปลี่ยนวันละ 18 ครั้ง ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดสำหรับลูก คือ รู้ให้ทันในสิ่งที่เขากำลังเป็นอยู่ ณ ตอนนี้ ผู้เขียนพบว่าเมื่อเรามองเห็นลูกอย่างที่เขาเป็นจริงๆ โดยไม่พยายามถามหาสาเหตุเกินจำเป็น หรือวิเคราะห์ให้มากเรื่อง เราจะสามารถตอบสนองได้ตรงต่อความต้องการของเขาและมีสติในการกระทำมากกว่า

ฝึกและฝืนอย่างมีศิลปะ คือให้ลูกเคยชินกับสิ่งที่ดี (ก่อนที่เขาจะรู้จักสิ่งที่ไม่ดี)

เมื่อธรรมชาติของเด็กเหมือนกับธรรมชาติของจิต คือ ไม่อยู่นิ่ง ไอ้เรื่องจะไปบังคับลูก ฝึกลูกแบบทหารจึงไม่ใช่วิสัย เพราะถ้ายิ่งใช้ไม้แข็งเด็กก็จะยิ่งดื้อด้าน เหมือนจิตเราที่พอไปบังคับมันมากๆ มันก็จะกลายเป็นจิตที่แข็งกระด้าง หนักๆ ทื่อๆ

แต่สิ่งที่เราทำได้คือ สร้างนิสัยที่ดีให้กับเจ้าตัวน้อยตั้งแต่เริ่มต้น ค่อยๆ ทำทีละนิด แต่ทำบ่อยๆ สักวันสิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นนิสัยติดตัวเขาไปจนโต

แต่ต้องสม่ำเสมอในการกระทำ มีความเพียรเป็นกำลังสำคัญ

เด็กชอบอะไรที่ชัดเจน แน่นอน คาดเดาได้ สิ่งแปลกปลอม ความผิดปกติมีแต่จะทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย ในทางกลับกันความสม่ำเสมอจะทำให้เขารู้สึกอุ่นใจ อย่างเช่น ทุกคืน สองแม่ลูกก็จะพากันขึ้นบ้าน อาบน้ำ ใส่ชุดนอน อ่านหนังสือ แล้วก็เข้านอน ทำอย่างนี้ทุกวันๆๆๆ จนกระทั่ง พอเริ่มเปิดหนังสือลูกก็เริ่มขยี้ตาแล้ว การทำซ้ำๆ จึงเป็นอาวุธสำคัญในการฝึกนิสัยที่ดีให้ลูก การตามรู้ตามดูจิตของเราก็ต้องหมั่นทำอยู่ทุกวัน ค่อยๆ สั่งสมพลัง จนแม้จิตขุ่นมัวเพียงเล็กน้อยก็รู้ได้ทันท่วงที แต่อย่าเอาอย่างผู้เขียนที่มักจะปฏิบัติสองวันไม่ปฏิบัติสามวัน ทุกครั้งที่กลับมาตั้งใจปฏิบัติหลังจากว่างเว้นไปนานจะเหมือนต้องมาตั้งต้นใหม่ทุกทีไป

ตั้งใจเลี้ยงมากไม่ได้ ต้องเลี้ยงแบบเล่นๆ (ทิ้งๆ ขว้างๆ บ้างก็ดี)

เคยไหมที่เวลาเราตั้งใจทำอะไรมากๆ อยากจะให้มันสำเร็จ สุดท้ายมันมักจะไม่สำเร็จทุกที เวลาผู้เขียน ตั้งใจ (และร้อนใจ) กล่อมลูก อยากให้เขาหลับเร็วๆ (เราจะได้ไปทำอะไรต่างๆ นานา ที่ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าการเอาใจใส่ดูแลลูก) ลูกจะยิ่งงอแง นอนยาก แต่เมื่อไหร่ที่เราทำเป็นไม่สนใจ ชมนกชมไม้ไปด้วย ร้องเพลงคลอเบาๆ ขยับช้าๆ อย่างมีจังหวะจนคล้ายการเต้นรำ ไม่นานลูกก็เคลิ้มหลับแต่โดยดี

ผู้เขียนเพิ่งมาเห็นว่าความอยากนี่ละตัวร้ายที่ต้องคอยระวังให้ดี โดยเฉพาะความอยากดี อยากปฏิบัติ อยากให้ตัวเองเป็นคนดี อยากให้ลูกเป็นคนดี ไม่ว่าเราจะอยากในสิ่งที่ดีแค่ไหน มันก็คือ “ความอยาก” อยู่ดี มันจะมาบดบังทำให้เราไม่เห็นความจริงที่อยู่ตรงหน้า (ว่าลูกเราเป็นคนอย่างไร หรือว่าใจเรามันเรรวนแปรปรวนแค่ไหน) การเลี้ยงแบบเล่นๆ จึงไม่ใช่การเลี้ยงแบบไม่เอาใจใส่หรือปล่อยไปตามยถากรรม แต่เป็นการเลี้ยงที่ลดปริมาณความอยากของคนเป็นแม่ลงไปไม่มากก็น้อย

สุดท้ายต้องรู้ว่าลูกไม่ใช่เรา เราเปรียบเป็นเพียงบ้านเช่า ที่เขามาอาศัยอยู่ด้วยเพียงชั่วคราว เมื่อหมดวาสนาต่อกัน ไม่เขาหรือเราก็ต้องไป

ท้ายสุดที่ยากยิ่งกว่าสิ่งใด คือ ให้รู้ว่าลูกไม่ได้เป็นของเรา เราให้กำเนิดเขา เลี้ยงดู ประคบประหงบจนเขาเติบใหญ่ แต่ไม่มีเลยสักวันเดียวที่เขาเป็นของเรา (คิดเรื่องนี้ทีไรผู้เขียนต้องมีอาการน้ำตาซึมทุกที) แต่ที่ยากเย็นยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขาคือการรู้ว่าจิตไม่ใช่เรา ซึ่งผู้เขียนก็ยังห่างไกลความจริงข้อนี้อยู่มากโข เอาเป็นว่าเราก้าวเดินอย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละก้าว โดยตระหนักดีถึงจุดหมายปลายทางที่เราจะไปก็แล้วกัน

เมื่อคิด (และเขียน) ถึงตรงนี้ผู้เขียนก็เริ่มเห็นว่า ธรรมะก็บอกอะไรเราเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกอยู่ไม่น้อย หรือหากมองอีกมุมหนึ่ง การเลี้ยงลูกก็สอนธรรมะเราอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน เรื่องไกลตัวจึงกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวได้โดยไม่ยาก หากใครสนใจสามารถเอาข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับลูกตัวเอง หรือแตกหน่อต่อยอดไปสู่ชีวิตการทำงาน การกีฬา ความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง สามีหรือภรรยา ก็ยิ่งดีใหญ่ จะว่าไปแล้ว ก็ดูเข้าที เดี๋ยววันนี้ ผู้เขียนว่าจะลองเอาไปใช้กับคนใกล้ตัวดูบ้าง คงจะไม่เลวเลยทีเดียว



โดย สมสิทธิ์ อัสดรนิธี
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๑

คนเราในยุคสมัยปัจจุบันเติบโตและดำเนินชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยวัตถุและการรับรู้เชิงรูปธรรม จึงไม่น่าแปลกใจนักที่คนส่วนใหญ่มักตัดสินและให้คุณค่าจากวิธีการรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสเท่านั้น โลกทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ที่เน้นเฉพาะสิ่งที่วัดได้ จับต้องได้ ทำนายและคาดหมายผลได้จึงเป็นโลกทัศน์หลักเพียงโลกทัศน์เดียวของผู้คนเกือบทั้งหมด เปิดที่ว่างให้เพียงน้อยนิดสำหรับแนวคิดและมุมมองอื่นๆ ที่พอจะแทรกตัวขึ้นมาได้บ้าง แม้โลกทัศน์วิทยาศาสตร์จะสร้างคุณประโยชน์ให้แก่โลกมาไม่น้อย แต่นั่นยังไม่ใช่ทั้งหมดแห่งศักยภาพของความเป็นมนุษย์ อีกทั้งมันยังเป็นตัวขวางกั้นมิให้เราเข้าถึงความเป็นจริงที่ยิ่งใหญ่อีกมากมาย ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าท้าทายอย่างยิ่งว่าเราจะสามารถพาตัวเองให้ข้ามพ้นไปจากข้อจำกัดของโลกทัศน์เดิมๆ ไปสู่ศักยภาพที่มากขึ้น และอยู่บนฐานแห่งการรับรู้ที่กว้างขึ้น เพื่อความสมบูรณ์กว่าแห่งชีวิตได้หรือไม่

โดยทั่วไป เรามักฝากความหวังเกือบทั้งหมดไว้ที่ก้อนสมอง นั่นก็คือความคิดของเรา ความคิดนั้นโดดเด่นตรงที่เป็นศักยภาพที่สามารถเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าหากันด้วยความเป็นเหตุเป็นผลอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน เราใช้ความคิดในการรับรู้ ตัดสินใจ ให้คุณค่า และทำนายผล ทุกครั้งที่เราเผชิญปัญหาเรามักกลับมาปรึกษาและขอความเห็นจากสมองเสมอ โดยหลงลืมไปว่าเรายังมีเพื่อนอื่นๆ ที่อาจจะให้คำตอบดีๆ ที่คาดไม่ถึงอยู่ก็ได้ สมองนั้นยังดูดีตรงที่มันมักซับซ้อนและไม่ค่อยจะตรงไปตรงมา คนเราตื่นเต้นกับความสามารถแบบนี้ยิ่งนักจนแม้ว่าสมองจะพูดจาวกวนหรือผิดเพี้ยนไปบ้าง เราก็ยังยินดีที่จะให้อภัย มิหนำซ้ำยังคอยยกย่องความสามารถของสมองด้วยการมอบปริญญาบัตรแบบต่างๆ ให้อย่างมากมายเสมอมา น้อยคนนักที่จะตระหนักว่าการพึ่งพาสมองที่ฉลาดล้ำอย่างเดียวอาจเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดนักก็ได้

ทีนี้เราลองหันมามองเพื่อนอื่นๆ ของเราดูบ้าง นอกเหนือไปจากสมองแล้ว ดูเหมือนว่าเรายังมีส่วนอื่นๆ ที่คอยส่งเสียงเรียกร้อง ทักทาย และตักเตือนอยู่เป็นระยะๆ (แต่อาจไม่ดังนักเพราะเราไม่ค่อยตั้งใจฟัง) ที่สำคัญๆ ก็มี กายกับใจของเรา ในที่นี้จะขอกล่าวถึงกายเป็นหลัก กายนั้นเป็นช่องทางหนึ่งแห่งการรับรู้ที่มีความกว้างใหญ่และลุ่มลึกไม่น้อย นอกจากนี้กายยังสามารถแปลผลและส่งสารบางอย่างให้แก่เรา แต่ที่เรามักไม่เข้าใจเพราะหลงลืมไปว่า สารที่กายส่งมาให้เรานั้น มันจริงและตรงไปตรงมาเป็นที่สุด เราอาจคุ้นชินกับการบิดเบือนหรือความซับซ้อนเสียจนลืมไปว่ากายนั้นไม่ใช่สมอง กายไม่ได้คิด ฉะนั้นอะไรที่กายส่งมาจึงจริงแท้ ตรงไปตรงมา และมีความสดใหม่ทันทีทันใด จนบางทีเราถึงกับรับมือกับมันไม่ทัน กายมีความสร้างสรรค์ได้ หากแต่ความสร้างสรรค์ของกายไม่ได้เกิดจากการคิด แต่มันคือการเป็น เป็นความสร้างสรรค์ด้วยเนื้อด้วยตัวของมันเอง กายจะสร้างสรรค์ได้ก็ต่อเมื่อ “กล่อง” ที่ครอบงำเราด้วยความคิดความเชื่อต่างๆ ต้องถูกสั่นหรือฉีกทำลายลงก่อน (หรือสักหน่อยก็ยังดี) นอกจากนี้การเบิกบานอยู่กับปัจจุบันขณะ กับความเป็นตัวของตัวเองที่ไม่ต้องกังวลกับมาตรฐาน การตัดสิน หรือการแข่งขันใดๆ ก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยที่เอื้อให้กายนั้นเปล่งประกายฉายแสงออกมาได้

ศักยภาพของกายมีมากกว่าที่เราคิดไว้นัก บางครั้งแค่ความเชื่อมั่นว่าเราจะทำได้ เท่านี้ก็เพียงพอที่จะสร้างความอัศจรรย์ใจได้ไม่น้อย ขอให้เริ่มลงมือทำมันทันทีโดยไม่ต้องคิดวางแผน (เพราะกายไม่ต้องอาศัยการคิด แต่อาศัยการลงมือทำ) แล้วการกระทำแรกนั้นจะกรุยทางไปสู่แนวทางและคำตอบอื่นๆ ให้ตามมาเอง ตัวอย่างเช่น เวลาที่เราเต้นรำหรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีสุนทรียภาพนั้น ที่ยากที่สุดอาจเป็นการเคลื่อนไหวกายในชั่วขณะแรกๆ ด้วยเราอาจกังวลว่าไม่รู้จะเริ่มด้วยท่าทางอย่างไรก่อน (เพื่อให้ดูดี) แต่ครั้นเมื่อเราเริ่มเคลื่อนกายไปแล้ว การเคลื่อนไหวเหล่านั้นจะช่วยคลี่คลายให้ท่าทางอื่นๆ ตามๆ กันออกมาได้อย่างลื่นไหลและเป็นธรรมชาติ ที่สำคัญเราต้องเปิดโอกาสให้กายของเราได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ ไม่ต้องแคร์กับการถูกมองหรือถูกตัดสิน และปล่อยให้เป็นปัจจุบันอย่างแท้จริง ความอัศจรรย์ของภาษากายจะเริ่มร้อยเรียงและบรรเลงตัวของมันเองออกมาได้อย่างไม่อับจน

กายยังส่งสารอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อชีวิตของเราอีกไม่น้อย ความสบายของเนื้อตัว ตลอดจนความเมื่อยและเจ็บก็เป็นสารที่กายของเราพยายามสื่อบอกให้เราตระหนักรู้ถึงสภาวะที่เป็นอยู่อย่างตรงไปตรงมา กายไม่จำเป็นต้องดัดแปลงสารให้ดูดีหรือดูร้ายกว่าความเป็นจริงด้วยเหตุผลใดๆ สารที่กายสื่อจึงอาจดูดิบหรือไร้การขัดเกลาไปบ้างจนแม้เราเองอาจรับมันไม่ค่อยได้ในสถานการณ์ทั่วไป จนกว่าเมื่อถึงวันที่สมองหรือใจของเราไม่อาจตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของเราได้อีกแล้ว เมื่อนั้นเราจึงจะยอมหันมารับฟังในสิ่งที่กายพูด (ซึ่งหลายครั้งนั่นเป็นช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวด) ไม่น่าแปลกใจเลยที่ภูมิปัญญาแห่งกายถูกละเลยจนกลายเป็นสิ่งไร้ค่า แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีผู้คนในสังคมดั้งเดิมบางสังคมที่ยังคงให้ความสำคัญแก่ภูมิปัญญาส่วนนี้ จนถึงขนาดที่ว่าพวกเขาสามารถใช้กายเป็นฐานแห่งการรับรู้ความเป็นไปของผู้คนหรือเพื่อนฝูงที่อยู่ห่างออกไปหลายกิโลเมตรได้

กายมีมิติให้เราเข้าไปค้นหาและผจญภัยได้ไม่รู้จบ ขอเพียงเรายอมให้กายและใจเป็นผู้นำทาง แล้วเราจะได้รับประสบการณ์ต่างๆ ที่มีคุณค่า อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น กายนั้นคิดเหมือนสมองไม่ได้ แต่หลายครั้งเราก็เคยคาดหวังจะให้กายทำอะไรดีๆ หรู ๆ เหมือนสมอง ซึ่งเป็นความคาดหวังที่ผิดพลาด อย่างไรก็ตาม กายมีภูมิปัญญาของตนเองพอที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้ หากเพียงเราไว้วางใจกายอย่างเต็มที่ ขอเพียงให้เราเปิดโอกาสให้กายได้พูดและแสดงบทบาทของมันออกมาอย่างตรงไปตรงมา ในระยะยาว เราสามารถสร้างเสริมบุคลิกภาพของเราเองด้วยสิ่งที่ได้เรียนรู้เหล่านี้ ใช้ท่าทีทั้งด้านกาย ใจ และความคิดได้อย่างเหมาะสมและสมดุล เพื่อนำไปสู่ความสัมพันธ์ต่างๆ ที่ดีขึ้นได้ และนี่เองคือการเรียนรู้ที่เราได้เปิดพื้นที่ออกไปให้กว้างกว่าพื้นที่ของการคิด กลายเป็นการเรียนรู้ด้วยกายและใจอย่างใคร่ครวญ ลุ่มลึกและรอบด้าน เป็นการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรงที่นำไปสู่การสืบค้นมิติด้านในของตนเอง และเป็นการเรียนรู้อย่างเปิดกว้างและเชื่อมโยงมิติต่างๆ ในความเป็นจริงของธรรมชาติ อันนำไปสู่การเกิดปัญญาแห่งการดำเนินชีวิต ซึ่งก็คือแนวคิดของการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษานั่นเอง

สุดท้าย ขอขอบคุณกายนี้ของเราที่มักให้อะไรดีๆ แก่เราเสมอ ขอบคุณแขนขาและเนื้อตัว ขอบคุณที่พวกเขายังพูดด้วยภาษาที่ไพเราะ ไม่ทำให้เราเจ็บปวด และเป็นภาษาที่ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ขอบคุณที่พวกเขาทำให้เราสามารถมีการเคลื่อนไหวที่งามสง่าและสนุก นี่เป็นความหฤหรรษ์ยิ่งในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ขอบคุณที่พวกเขาพูดจาด้วยภาษาประดุจวงมโหรีที่บรรเลงอย่างมีสุนทรียภาพ ขอขอบคุณที่พวกเขายังเมตตาให้เรายังมีความสุขสบายอยู่ได้



โดย เจนจิรา โลชา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๑


คุณคิดหรือว่าสิ่งที่คุณพูดคือความจริง...

คำพูดที่เอื้อนเอ่ยออกจากปากของเรา มันคือความจริงทั้งหมดในใจของเราหรือเปล่า สิ่งที่เราทำลงไป ใช่สิ่งที่เราอยากจะทำจริงๆ ตามเสียงที่หัวใจตะโกนบอกหรือเปล่า หรือว่ามันเป็นเพียงพื้นผิวที่อยู่บนสุดของความจริงที่อยู่เบื้องลึกในจิตใจเราเท่านั้น เป็นเพียงเปลือกของความจริงเท่านั้น

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนเพิ่งได้ค้นพบว่าตัวเองเป็นจอมโกหก โกหกคนอื่นยังไม่พอ ยังโกหกตัวเองอีกด้วย ตอนที่ได้รับรู้ถึงด้านมืดในจิตใจของตัวเองเช่นนี้ รู้สึกตกใจ หวาดหวั่นใจเป็นที่สุด หัวใจเต้นแรง ตัวชาไปทั้งตัว ความคิดเวียนวนสับสนไปมาว่า ทำไมเราจึงเป็นคนเช่นนี้ เรื่องราวต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นไหลผ่านเข้า ย้อนกลับเป็นฉากๆ แสดงภาพให้ยิ่งตอกย้ำตราตรึงว่า เราเป็นจอมหลอกลวง พูดในสิ่งที่ไม่ใช่ความคิด ความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง ทำในสิ่งเราไม่ได้ต้องการจะทำมันจริงๆ หรือไม่ทำตามความต้องการในหัวใจของตัวเอง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาลวงคนอื่นและตัวเองอยู่เสมอ แล้วเพราะอะไรหรือสิ่งใดกันเล่า ที่ทำให้เราเป็นคนลวงหลอกเช่นนี้ ทั้งที่เราไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นเช่นนี้เลย ไม่ได้อยากที่จะเป็นคนแบบนี้ ไม่ได้ต้องการให้คนอื่นต้องมาเจ็บปวดหรือแบกรับความทุกข์จากคำโกหกของเรา เราแทบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไปกับสิ่งที่เราทำลงไป ไม่เลย ไม่อยากเลย.... เสียงจากมุมที่มืดมิดในหัวใจร้องดังขึ้นมาว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาที่เราคิดว่าตัวเองเป็นคนดี มีน้ำใจ ช่วยเหลือแบ่งปันสุขทุกข์ รับฟัง ใส่ใจผู้อื่น ทำเพื่อผู้อื่น ทั้งหมดนี้เรากำลังโกหกตัวเองและหลอกลวงคนอื่นอยู่หรือเปล่า เพราะว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นอาจจะไม่ใช่ความต้องการแท้จริงที่อยู่เบื้องลึกในใจของเรา

ความลวงที่เราสร้างขึ้นมาหลอกคนอื่น มันตามกลับมาหลอนตัวเราเอง หลอกหลอนจนเราไม่รู้เลยว่า จริงๆ แล้วความจริงคือสิ่งใด เราคิดและรู้สึกอย่างไรกันแน่ อะไรคือสิ่งที่เราปรารถนาจริงๆ กระทั่งแทบไม่รู้เลยว่าจริงๆ แล้วเราเป็นคนเช่นไร นั่นเป็นความเจ็บปวดอย่างที่สุดที่ได้ค้นพบว่าตัวตนของเราบิดเบี้ยวจากภาพที่เราคิดจินตนาการไว้ และตัวเราเองที่เป็นคนทำให้ตัวตนของเราบิดเบี้ยว ทั้งยังทำให้คนอื่นรับรู้ตัวตนของเราแบบผิดๆ อีกด้วย เพียงเพราะเราไม่ซื่อสัตย์กับความรู้สึก ความคิด ความต้องการของตัวเอง

เราลองถอยหลังมาสักหนึ่งก้าว แล้วเฝ้ามองดูความลวงที่เราสร้างขึ้นกันเถอะ

เมื่อเรากำลังลวงหลอกตัวเองและคนอื่น เรามักหาเหตุผลต่างๆ มาอ้างเพื่อให้รู้สึกว่า เป็นความชอบธรรมในการที่เราจะทำเช่นนั้น ทำเพื่อให้งานออกมาสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เพื่อผู้คนจะได้ไม่ต้องขัดแย้ง มีแต่ความรักให้แก่กัน อยากให้มีความสัมพันธ์ที่ดี เพื่อคนนั้น เพื่อสิ่งนี้ ข้ออ้างสารพัดที่เราสร้างขึ้นมา ท้ายที่สุดนั่นก็เป็นเพียงการปิดบัง เก็บงำความต้องการ ความปรารถนาของเราเอาไว้ เพื่อรักษาภาพตัวตนของเรา ตัวตนที่แสนจะอ่อนแอ เปราะบาง ที่ไม่กล้าแม้แต่จะเอ่ยบอกความต้องการ ความปรารถนาที่แท้จริงของเราต่างหาก กลัวที่จะเผชิญกับความเจ็บปวด กับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่ตัวเองคาดหวัง

และเหตุผลที่เรายกมาอ้างนั้นเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของความจริงในใจเราเท่านั้น แต่เรามักจะหยิบมันขึ้นมาพูดราวกับนั้นเป็นเหตุผลหลักสำคัญในการที่เราจะเลือกหรือตัดสินใจทำบางสิ่งบางอย่างลงไป แล้วเราก็เก่งมากในการที่จะทำให้คนอื่นๆ เชื่อว่านั่นคือ เหตุผลที่แท้จริงของเรา จนในที่สุดคนอื่นๆ ก็เชื่อตามที่เราอยากให้เข้าใจ ปฏิบัติกับเราอย่างที่เราอยากให้เป็น แต่จริงๆ แล้วสิ่งนั้นไม่ใช่ความจริงของใจเราเลย เพราะเหตุนี้เองคนอื่นจึงเข้าใจเราคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ปฏิบัติต่อเราอย่างผิดๆ ถูกๆ หรือไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวกับเราอย่างไรดี และเราก็มักจะอึดอัดการสิ่งที่คนอื่นคิดและปฏิบัติต่อเรา ทั้งที่เราเองที่เป็นฝ่ายเริ่มต้นในการที่ทำให้คนอื่นเข้าใจเราอย่างถูกๆ ผิดๆ เอง

บางครั้งเราก็ใช้เหตุผลมาอ้างอิงเยอะแยะไปหมด ซับซ้อนหลายชั้น จนบางครั้งตัวเราก็ยังงงเสียเองว่า จริงๆ แล้วเหตุผลที่แท้จริงคือสิ่งใดกันแน่ ยิ่งเรามีข้ออ้างอื่นมากลบกลื่นความจริงในใจเรามากขึ้น ตัวตนของเราก็ยิ่งห่างไกลจากความเป็นจริงมากขึ้นๆ คนรอบข้างก็เข้าถึงความจริงในตัวเรายากมากขึ้น จนในที่สุดมันได้กลายมาเป็นการหลอกลวงตัวเอง ค้นหาเสียงที่แท้จริงในตัวเองไม่เจอเสียแล้ว เพราะเสียงนั้นมันไม่เคยดังถึงหูผู้ใด ไม่เคยถูกสัมผัส ไม่เคยถูกรับรู้ ไม่เคยมีใครได้ยินเสียงที่แท้ในใจเรา เพราะแม้แต่ตัวเราเองยังมองข้ามเสมอ เราเลือกที่จะไม่ฟัง เลือกที่จะเก็บและปิดบังเสียงในใจเราจนมันเลือนหายไป แล้วเราก็พบว่าเสียงนั้นไม่ได้หายไปไหน เสียงแห่งความจริงในใจเราจะกลับมาหลอกหลอนตัวเราเสมอ ไม่ว่าเราจะเก็บงำมันไว้ดีสักเพียงไหน สุดท้ายเราก็ไม่สามารถที่จะทนการหลอกลวงตัวเองต่อไปได้อีก เพราะเราจะเริ่มรู้สึกว่าการหลอกลวงตัวเองนั้นมันกำลังจะกัดกินตัวตนของเราไปเรื่อยๆ พลังชีวิตของเรากำลังค่อยๆ หมดไป เหนื่อยล้า ไม่มีสนุก ไม่มีความคิดสร้างสรรค์กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ ไม่มีชีวิตชีวาเอาเสียเลย ด้วยว่าเราได้กักขังเสียงภายในและตัวตนที่แท้จริงของเราเอาไว้มานานแสนนาน และภาพลวงที่เราสร้างขึ้นนั้นมันได้บาดรัดหัวใจของเราจนไม่อาจทนความอึดอัดได้อีกต่อไป

การที่เราจะแหวกม่านมายา ภาพลวงตาที่เราสร้างขึ้นมาเองนั้นเป็นเรื่องที่ยากแสนยาก และเราอาจจะรู้สึกเจ็บปวดกับมันมากมาย แต่เมื่อรับรู้ว่าในตัวเรามีมุมของการลวงหลอกตัวเองและผู้อื่นซุกซ่อนอยู่ สิ่งที่เราจะทำได้คือต้องอ่อนโยนกับตัวเองให้มาก ลดการกล่าวโทษหรือตัดสินตัวเองที่เป็นคนอย่างนี้ เพราะการที่เราเลือกใช้วิธีการเช่นนี้ทำให้เราสามารถดำรงตนอยู่ได้ในทุกวันนี้ การที่เราไม่ได้รับฟังหรือทำตามเสียงภายในตัวตนที่แท้จริงของเรานั้น ไม่ใช่สิ่งที่ถูกหรือผิด เพียงแค่เพราะเราหลงลืมที่จะเอาใจใส่ตัวเอง เรามักเลือกที่จะฟังเสียงคนอื่น ความต้องการของคนอื่นมากกว่าตัวเอง เพียงเพราะเรากลัว กลัวที่จะเผชิญกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราพูดความคิด ความรู้สึกที่แท้จริง กลัวว่าจะบางสิ่งที่ไม่เป็นไปอย่างที่ใจคิดวาดหวัง กลัวว่าถ้าพูดสิ่งที่เป็นความปรารถนาในใจของเราออกไปแล้วเราจะกลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัว ไม่น่ารัก ไม่เป็นคนดี เราวาดความกลัวไว้ก่อนเสมอแล้วเอาความกลัวนั้นมาห่อหุ้มตัวตนอันเปราะบางของเราไว้

ความกลัวนั้นเป็นมายาที่เราสร้างเอาไว้เช่นกัน การพูดความจริงและการทำตามสิ่งที่ใจเราปรารถนาไม่ใช่สิ่งน่ากลัวเลย นั่นกลับเป็นสิ่งที่กล้าหาญยิ่งกว่าสิ่งใดที่เราสามารถซื่อสัตย์ต่อตัวเองได้ เมื่อเราซื่อสัตย์กับตัวเองเราจึงจะสามารถซื่อสัตย์ต่อคนอื่นได้ เมื่อเราพูดความจริง คนอื่นก็จะรับรู้เราตามความเป็นจริง จะทำให้เขาเหล่านั้นลดการปรุงแต่งที่มีต่อเรา ปฏิบัติต่อเราอย่างที่ถูกที่ควรมากขึ้น แม้ความจริงที่เราพูดอาจจะทำให้ตัวเองและคนอื่นต้องเจ็บปวดกับความจริงเหล่านั้น แต่นั่นคือสิ่งที่จะช่วยกะเทาะเปลือกตัวตนที่ขลาดกลัวของเราให้มีความกล้าหาญมากยิ่งขึ้น และความมีน้ำใจ การช่วยเหลือแบ่งปัน ร่วมทุกข์สุขกับผู้อื่นของเราก็จะกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากใจจริงที่มันเอ่อล้นไปยังผู้อื่นโดยไม่มีสิ่งใดเคลือบแฝง ที่เราและผู้อื่นก็สามารถรับรู้ได้ถึงความจริงใจนั้น

การลวงหลอกตัวเองสร้างบาดแผลในใจของเรามานาน อย่าให้มันกลายเป็นแผลเรื้อรังคอยกัดกร่อนชีวิตและจิตวิญญาณของเราอีกต่อไปเลย ปลดปล่อยตัวตนของเราออกจากความลวงที่เราสร้างพันธนาการตนเองไว้ เบื้องหลังความลวงคือ ความจริงอันไพศาล ความจริงที่เราไม่อาจตัดสินตัวเองและผู้อื่นได้ นอกจากเปิดใจกว้างให้ความจริงเข้ามาปรากฏในใจเราและเผยความจริงนั้นออกมาด้วยตัวเราเองเท่านั้น คงไม่มีใครที่จะปลดปล่อยตัวเราออกจากความลวงหลอกตัวเองได้นอกจากตัวเราเอง ม่านลวงที่เราสร้างขึ้นมาเอง เราก็ต้องสลายมันด้วยตัวเองเช่นกัน



โดย กรรณจริยา สุขรุ่ง
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๑

เร็ว ๆ นี้ได้มีโอกาสย้อนกลับไปดูภาพยนตร์เรื่อง Amistad ซึ่งกำกับโดย สตีเวน สปีลเบิร์ก เมื่อกว่าหนึ่งทศวรรษที่แล้ว รู้สึกประหลาดใจว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอเมริกาในยุคก่อนสงครามกลางเมืองเมื่อราว พ.ศ. 2382 มีหลายอย่างคล้ายคลึงกับไทยในยุคดิจิตอล 2551 ทีเดียว

Amistad พูดถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จิตวิญญาณของชาติ การเมือง การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และบรรยากาศความขัดแย้งทางความคิดในสังคมระหว่างคนเหนือกับคนใต้ของสหรัฐอเมริกา

ชนวนของเรื่องเริ่มจากเรือเดินสมุทรสัญชาติสเปนชื่อ La Amistad ซึ่งแปลว่า มิตรภาพไร้พรมแดน

ชื่อเรือช่างเย้ยหยันความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเสียเหลือเกิน เนื่องด้วยเรือลำนี้บรรทุกชาวแอฟริกันที่ถูกลักลอบจับมาเพื่อขายต่อนายทาส ระหว่างทางที่รอนแรมในทะเล ชายหลายคนถูกเฆี่ยนตีจนตาย ผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศ และผู้คนกว่า 50 ชีวิตถูกทิ้งถ่วงน้ำเพื่อลดภาระน้ำหนักของเรือและเพื่อคลายภาวะอาหารขาดแคลน

คืนฝนตกวันหนึ่ง หนุ่มผิวหมึกชื่อ ซินเค ใช้นิ้วแคะตะปูจากแผ่นไม้ของเรือออกมาและใช้ตะปูไขทำลายโซ่ตรวนที่ล่ามอิสรภาพเขาไว้ เขาและพวกฆ่าลูกเรือคนขาวเกือบหมดลำ เหลือเพียงผู้ที่สามารถเดินเรือได้ เพื่อให้นำเขากับพวกกลับกาฬทวีป

แต่เรือกลับไปขึ้นฝั่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทุกคนบนเรือถูกจับในข้อหาฆ่าคน และรัฐบาลภายใต้การนำของพระราชินีอิสซาเบลที่ 2 ของสเปนเรียกร้องให้สหรัฐส่งเรือพร้อมสินค้าทั้งหมดกลับสเปน ซึ่งสินค้าที่ว่านี้ก็ คือ มนุษย์ที่ถูกทำให้เป็นทาส

ในช่วงปีพ.ศ. 2382 ทาสเป็นสัญลักษณ์ที่แบ่งความคิดและวิถีชีวิตระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ของอเมริกา

รัฐทางใต้ของอเมริกาเป็นเมืองเกษตรกรรม มีไร่ฝ้ายขนาดใหญ่ซึ่งอ้างความจำเป็นในการใช้แรงงานทาสจำนวนมาก ส่วนรัฐทางเหนือเป็นเมืองอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรเป็นหลัก

ความเป็นความตายของทาส กลายเป็นประเด็นทางการเมือง เรื่องชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงทำให้ต่างฝ่ายพยายามจะเอาชนะกัน ทั้งการเจรจาต่อรองโดยอ้างความชอบธรรมจริยธรรม บ้างอ้างวิถีชีวิตตามครรลองของพื้นถิ่น และบ้างก็อ้างว่าทำเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมือง

นอกจากนั้นยังมีความพยายามจากฝ่ายการเมืองที่จะแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมด้วย โดยการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา ด้วยหวังให้ผู้พิพากษาที่ตนเลือกมานั่งบัลลังก์ตัดสินลงโทษชาวแอฟริกันในข้อหาฆาตกรรม และส่งเรือสินค้าทาสนี้กลับสเปน

แต่ผู้พิพากษาหนุ่มตัดสินความให้จำเลยได้รับอิสรภาพ ส่วนผู้ค้าทาสถูกคุมขังรับโทษ

คำพิพากษานี้ทำให้การเมืองขั้วใต้ไม่พอใจอย่างยิ่ง และอุทธรณ์เรื่องนี้สู่ศาลสูงสุด เป็นเหตุให้ นักการเมือง วุฒิสมาชิก ทั้งฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ ผู้ที่กำลังสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และอดีตประธานาธิบดีเข้ามาเกี่ยวข้อง

หนึ่งในนั้นคือ อดีตประธานาธิบดีคนที่ 6 ของอเมริกา คือ จอห์น ควินซี อดัมส์ (ดำรงตำแหน่งปีพ.ศ. 2368-2372) ท่านเข้ามาช่วยว่าความให้จำเลยทาส คดีนี้กลายเป็นคดีทางการเมืองไปแล้ว

ก่อนจะขึ้นว่าความต่อศาลสูง ท่านประธานาธิบดี อดัมส์ ขอพูดกับ ซินเค ซึ่งบทสนทนาสำคัญตอนนี้มีว่า

“เราจะไม่ได้ขึ้นศาลโดยลำพังหรอก” ซินเคพูด

อดีตประธานาธิบดีอดัมส์ ส่ายหน้าพร้อมกล่าวว่า “ไม่หรอก เรามีสิทธิ และความถูกต้องอยู่ด้วยกับเรา”

“เปล่า ผมไม่ได้หมายความอย่างนั้น” ซินเคตอบ “ในยามวิกฤตคับขัน พวกเราชาวเมนเดจะเรียกหาวิญญาณเหล่าบรรพบุรุษให้มาช่วย ให้นำปัญญาญาณจากอดีตมากอบกู้สถานการณ์ในปัจจุบันอันมืดมน บรรพบุรุษต้องมาตามเสียงเรียกของผม เพราะว่า ในเวลาเช่นนี้ ผมคือเหตุผลทั้งหมดทั้งสิ้น ที่เป็นเครื่องแสดงว่าพวกท่านทั้งหลายเคยดำรงอยู่จริง”

คำพูดง่าย ๆ เช่นนี้ ทำให้อดัมส์เห็นทางที่จะพูดต่อศาล “ถ้าทาสเหล่านี้สมควรตาย เราจะทำอย่างไรกับเอกสารคำประกาศอิสรภาพของอเมริกาที่บรรพชนร่วมกันร่างขึ้น ที่ว่า ‘มนุษย์ทุกคนล้วนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน’ ”

“ข้อเสนอแนะของผม ก็คือ ฉีกมันทิ้งไปเสีย” อดัมส์กล่าว เพราะหากเราทำลายจิตวิญญาณของบรรพชนที่ให้กำเนิดประเทศนี้ นั่นก็เท่ากับว่าพวกท่านไม่เคยดำรงอยู่เลย จิตวิญญาณที่สร้างชาติและความเป็นอเมริกันนั้นได้ถูกทำลายและไม่มีอยู่จริง

จอห์น ควินซี อดัมส์ เป็นลูกชายของประธานาธิบดีคนที่สองของสหรัฐอเมริกา จอห์น อดัมส์ ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในบิดาผู้วางรากฐานจิตวิญญาณของอเมริกันชน และมีส่วนร่วมในการเขียนคำประกาศอิสรภาพของอเมริกา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2319 ร่วมกับ เบนจามิน แฟรงคลิน โรเบิร์ต ลิฟวิงสตัน โทมัส เจฟเฟอสัน และผู้แทนประชาชนอีกกว่า 50 คน ที่ร่วมลงนาม


จิตวิญญาณอเมริกาคือสิทธิ เสรีภาพของทุกคน ซึ่งไม่ว่ากฎหมาย กฎระเบียบ วิถีชีวิต แม้แต่รัฐบาล ก็จะทำลายหรือละเมิดมิได้

แล้วจิตวิญญาณของสยามประเทศ คืออะไร?

เพื่อนในแดนอีสานเล่าความครั้งเธอยังเยาว์ว่า “สมัยก่อนคนรุ่นปู่ย่าตาทวดอยู่ร่วมกันหลากเชื้อชาติ เมื่อมีคนจากต่างถิ่น เช่น ญวน ลาว เขมร มาในพื้นที่ เราก็แบ่งกันอยู่ ถ้อยทีถ้อยอาศัย เป็นเพื่อนกัน”

ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่โอบอ้อมอารีเช่นนี้หรือเปล่าที่เป็นหัวใจของชนแถบนี้ คนสยามค่อนข้างใจกว้าง ยอมรับความแตกต่างได้ พร้อมเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ เล่นแร่แปรธาตุได้เสมอ มีความสามารถอย่างยิ่งในการหลอมรวม ผสมผสาน และประยุกต์ดัดแปลงสิ่งต่างๆ ให้เหมาะสมกับจริต ความคุ้นเคยของตน เห็นได้ชัดจากการดัดแปลงอาหารต่างๆให้มีเอกลักษณ์เป็นแบบฉบับของตน

จิตวิญญาณที่หล่อเลี้ยงคนรุ่นแล้วรุ่นเล่าให้อยู่ได้จนปัจจุบัน ยังมีอยู่หรือไม่?


ในภาพยนตร์ อดีตประธานาธิบดี อดัมส์ ยังกล่าวต่อไปว่า บางทีการที่คนเราไม่หวนระลึกถึงภูมิปัญญาในอดีต ไม่กลับไปสู่รากเหง้าของตนอาจเป็นเพราะความกลัวที่จะเผชิญกับความจริงที่ว่า แท้จริงแล้ว เราไม่ได้เป็นปัจเจกชนอย่างที่เราคิดและหวงแหน เราคือผลสืบเนื่องของอดีต

“สิ่งที่เราเป็นอย่างทุกวันนี้ คือสิ่งที่เราเป็นมาแต่อดีต เราต้องการความเข้มแข็งจากบรรพชน ปัญญาที่จะช่วยเราก้าวข้ามความกลัวและอคติของตัวเอง โปรดให้พลังแก่เราที่จะกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง และถ้าหากสิ่งนั้นหมายถึง สงครามกลางเมืองแล้วละก็ ขอให้มันมา และเมื่อสงครามกลางเมืองมาถึง ก็ขอให้มันเป็นการปฏิรูปครั้งสุดท้ายของอเมริกาเถิด” อดัมส์กล่าว

สงครามกลางเมืองระหว่างเหนือและใต้จบลงเมื่อปีพ.ศ. 2408 ประธานาธิบดีลินคอล์นประกาศอิสรภาพให้กับทาส และ สถาปนาศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในอเมริกา แต่สงครามกลางเมืองนี้ก็ได้คร่าชีวิตทหารอเมริกันไปกว่า 620,000 นาย และ พลเรือนได้รับบาดเจ็บอีกมาก ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การลอบสังหารประธานาธิบดี ลินคอล์น ในปีเดียวกันนั่นเอง

หวังว่าประวัติศาสตร์ของชาติหนึ่ง จะไม่เป็นอนาคตของอีกชาติหนึ่งที่อยู่ไกลกว่าครึ่งโลก แต่กิเลสที่ครองใจคนทุกเผ่าพันธุ์และทุกยุคสมัยอาจทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ซ้ำซากได้ จนกว่ามนุษย์จะเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจเสียใหม่ กงล้อของประวัติศาสตร์จึงสามารถสร้างรอยทางใหม่ ๆ ให้พ้นจากหล่มทางเดิม

บางทีหนึ่งในหนทางที่เราจะเปลี่ยนจิตใจและเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ในอนาคตได้ คือ การกลับไปมองอดีต เรียนรู้จากความผิดพลาด ค้นหารากเหง้าของตน เรียนรู้ที่จะอยู่กับความหลากหลายอย่างที่บรรพบุรุษเราเคยอยู่กันมา



โดย กฤตยา ศรีสรรพกิจ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๑

เมื่อวานผู้เขียนได้ไปร่วมงานเสวนาที่จัดโดยเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในหัวข้อ “ไทย ... ภายหลังเศรษฐกิจบริโภคนิยม (Post Consumerism)” โดย ดร.ไสว บุญมา อดีตเศรษฐกรประจำธนาคารโลก ท่านกล่าวว่าบ่อยครั้งที่คนมักกล่าวโทษแนวคิดทุนนิยม บริโภคนิยม ตลาดเสรีว่าเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญทำให้สังคมเรามีปัญหามากมายในทุกวันนี้ อ.ไสวชวนเดินย้อนกลับไปมองการเติบโตของระบบเศรษฐกิจของโลกเราว่า ตั้งแต่คนเริ่มอยู่กันเป็นชุมชนเมื่อกว่าหมื่นปีมาแล้ว ระบบเศรษฐกิจแรกที่เราใช้กันก็คือระบบตลาดเสรี ซึ่งหมายถึงทรัพย์สินเป็นของบุคคล และบุคคลก็ได้มีการแลกเปลี่ยนกันตามความพอใจ และน่าแปลกใจว่าประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรืองในยุคแรกๆ นั้น ส่วนใหญ่ได้ล่มสลายหรือย้ายไปต่อปลายแถวของการพัฒนาไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรมายา โรมัน อียิปต์ ตะวันออกกลาง แอฟริกา หรือประเทศเพื่อนบ้านเรา กัมพูชา

เพราะอะไรประเทศเหล่านี้ที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อนจึงถดถอยไป อ.ไสวมีคำตอบสามข้อคือ 1) ความเจริญดึงดูดให้ผู้คนย้ายเข้ามาอยู่มากขึ้น ประชากรมากขึ้นตามมาด้วยความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มากขึ้นเพื่อการบริโภค 2) ความเจริญทางศิลปะวิทยาการก็นำมาซึ่งการสร้างสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ ทั้งเป็นการแสดงศักยภาพและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นปิรามิด ปราสาท วัด โบสถ์ หลายที่ยังหลงเหลืออยู่เป็นมรดกโลก สิ่งเหล่านี้ได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงทรัพยากรบุคคลไปอย่างมหาศาล จนถึงขั้นที่ธรรมชาติเสียสมดุล 3) สุดท้ายเมื่อเกิดการแสดงแสนยานุภาพ ก็ตามมาด้วยสงคราม ทั้งเพื่อแย่งชิงทรัพยากรและแย่งชิงความเชื่อ

เราแย่งชิงทรัพยากรจากธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการของเราอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนกระทั่งธรรมชาติให้เราไม่ไหวอีกต่อไป สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตแตกต่างจากเหตุการณ์ในทุกวันนี้หรือไม่? วันนี้หลายคนกล่าวโทษระบบทุนนิยม หรือตลาดเสรี หรือแม้แต่กล่าวโทษ อดัม สมิธ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งตลาดเสรีว่าเป็นตัวการทำร้ายสังคม

ปัญหาอยู่ที่ระบบจริงหรือ? ในอดีตเคยมีคนตั้งคำถามนี้ จนก่อเกิดเป็นระบบคอมมิวนิสต์ที่รัฐเป็นเจ้าของและเป็นผู้ตัดสินใจการใช้ทรัพยากร ซึ่งระบบนั้นก็ได้พิสูจน์ตัวเองไปแล้ว

แท้จริงแล้วระบบตลาดเสรีคือธรรมชาติของมนุษย์ คนเราต้องการเสรีภาพที่จะเป็นเจ้าของทรัพยากร และตัดสินใจได้เองว่าจะทำอะไรกับมัน และเราก็เป็นสิ่งมีชีวิตประเภทเดียวที่รู้จักการแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำมาแต่โบราณกาล อดัม สมิธไม่ได้เป็นผู้ค้นพบตลาดเสรี แต่เป็นคนนำเอาธรรมชาติของคนมาอธิบายและเสนอว่าควรทำอย่างไรให้สังคมอยู่ได้อย่างได้ประโยชน์สูงสุด และจุดสำคัญที่เขาบอกไว้แต่คนรุ่นหลังไม่ค่อยได้พูดถึงก็คือ ตลาดเสรีจะเป็นไปได้ด้วยดีต่อเมื่อคนมีคุณธรรมเป็นพื้นฐาน ทำตามกฎเกณฑ์ และรู้จักพอ

เมื่อโลกพัฒนามากขึ้น ระบบสาธารณสุขดีขึ้น จำนวนประชากรก็มากขึ้น บวกกับความเจริญทางเทคโนโลยี ทำให้เราแต่ละคนมีศักยภาพในการผลิตและบริโภคมากขึ้นด้วย

ปัจจุบันมีคนบนโลก 6.7 พันล้านคน ในขณะที่โลกเรามีศักยภาพที่จะรองรับการดำรงอยู่ของคนด้วยการบริโภคที่พอประมาณเพียง 4 พันล้านคน แล้วอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อพวกเราที่ล้นโลกกันอยู่แล้วให้คุณค่า วางเป้าหมายชีวิตไว้กับการเติบโต ความสำเร็จของบุคคลหมายถึงหน้าที่การงานที่เจริญก้าวหน้า เงินเดือนสูงขึ้น มีบ้าน มีรถที่ใหญ่ขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนรุ่นก่อน ความสำเร็จขององค์กรธุรกิจคือกำไรมากขึ้น ซึ่งมักจะมาจากความสามารถในการกระตุ้นให้คนบริโภคมากขึ้น และบางที่ต้องมากขึ้นในอัตราที่มากขึ้นด้วย แม้แต่ความสำเร็จของประเทศก็ยังวัดกันด้วยการเติบโตของเศรษฐกิจ

ถ้าคนเราจำนวนมากขึ้น แต่ละคนต้องใช้มากขึ้นๆๆๆ การใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่จำกัด จากประสบการณ์ในอดีต สิ่งเดียวที่หยุดเราได้ก็คือเมื่อธรรมชาติทนไม่ไหวและหยุดเราเอง แล้วเรายังจะเดินตามกันไปบนทางสายนี้กันอยู่อีกหรือ?

ในวงพูดคุยมีการแลกเปลี่ยนถึงแนวทางการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบเศรษฐกิจและทัศนคติของคน จะมีวิธีอะไรที่จะทำให้คนบริโภคอย่างพอเพียง ให้คนมีจริยธรรมทำตามกฎเกณฑ์ ผู้คนหันไปถามท่านผู้อาวุโสบนเวทีว่าคำตอบคืออะไร ท่านตอบได้น่าชื่นชมสำหรับผู้เขียน แต่อาจจะน่าผิดหวังสำหรับบางท่าน ซึ่งก็คือ “ผมเดินทางมาเยอะในการค้นหา และผมก็ได้พบคำตอบของผมแล้ว และพวกคุณก็ต้องหาคำตอบให้ตัวเอง”

เรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนกลับมาถามตัวเองว่า แล้วคำตอบของเราล่ะคืออะไร ถ้าเทียบการเดินทางจากอายุซึ่งอาจจะยังไม่มาก แต่ก็เชื่อว่าตัวเองได้ทดลองมาพอควรและค้นพบคำตอบกับตัวเองในวันนี้ สังคมเราสืบสาวหาสาเหตุของปัญหากันมาเยอะ และมาจบอยู่ที่การบริโภคอย่างมากเกินควร แต่เราไม่ค่อยได้สืบไปต่อว่าทำไมเราถึงต้องบริโภคกันมากมายขนาดนั้น?

น่าจะเป็นเพราะเราต้องการอะไรซักอย่างจากนอกตัวเพื่อมาเติมเต็ม มาเทียบวัดคุณค่าของตัวเอง รสนิยมบางทีไปถึงชนชั้นของเราบอกได้จากยี่ห้อเครื่องแต่งกาย ความสำเร็จบอกได้จากเงินเดือน บ้าน รถ ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะเรารู้สึกไม่เต็มด้วยตัวเอง ไม่มีคุณค่า ไม่ประสบความสำเร็จจนกว่าจะมีสิ่งเหล่านั้น มองย้อนกลับไปก็เห็นว่าผู้เขียนเองก็เป็นเช่นนั้น เมื่อต้องไปอยู่ท่ามกลางผู้คนที่ไม่คุ้นเคยก็ยิ่งพยายามแต่งตัวให้ดูดีเพื่อสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง หรือจะอยากทานของหวานหรือซื้อของใหม่ๆ เมื่อรู้สึกเหนื่อยล้า หรือเบื่อหน่าย

คำตอบสำหรับผู้เขียนจึงคือ การรู้จักตัวเอง เข้าถึงคุณค่าและความดีงามพื้นฐานของตัวเอง เมื่อเรามีความมั่นคงภายใน เราจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาของนอกตัวมายืนยัน เมื่อนั้นเราถึงจะรู้จักความพอเพียงได้ การมีมากเกินไปบางครั้งอาจจะเป็นภาระที่ทำให้เกิดความยึดติดมากขึ้นและละวางได้ยากขึ้นด้วยซ้ำ การเดินทางนี้เป็นการเดินทางที่แต่ละคนต้องออกเดินด้วยตัวเอง และจะมีเพียงตัวเราเท่านั้นที่เข้าใจ

การเปลี่ยนแปลงสังคมจะต้องเริ่มจากคนแต่ละคนหาคำตอบให้กับตัวเอง ถึงจะยังทำไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง แล้วจึงไปชักชวนคนอื่นไปด้วยได้ ไม่สามารถเกิดได้ด้วยการวางระบบที่บังคับ ชักชวน หรือแม้แต่การสร้างแรงจูงใจให้คนเปลี่ยนแปลง เพราะโดยธรรมชาติคนเราต้องการเสรีภาพ

การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อคนแต่ละคนเลือกที่จะเรียนรู้ ทำความเข้าใจตัวเอง ด้วยตัวเอง
สิ่งที่เราช่วยได้จึงน่าจะเป็นการทำงานกับตัวเอง บอกเล่าเรื่องราวทั้งตัวเองและเพื่อนร่วมทาง เปิดความเป็นไปได้ให้คนได้เห็น และสร้างกระบวนการที่ช่วยให้คนได้เลือกที่จะทำความเข้าใจและเห็นคุณค่าของตัวเอง

สิ่งนี้อาจจะยากและช้ามาก แต่ก็เป็นแนวทางเดียวที่มั่นคงและยั่งยืน การแก้ปัญหาไม่สามารถใช้แนวคิดเดิมกับที่ทำให้เกิดปัญหานั้นได้

สุดท้าย ในวันเดียวกันผู้เขียนได้ตัดสินใจครั้งใหญ่ ในการเปลี่ยนตัวเองเข้าไปทำงานร่วมกับองค์กรที่ทำงานในแนวคิดนี้ พี่ๆ ในองค์กรก็ได้แสดงความเป็นห่วงถึงค่าตอบแทนที่ไม่ได้มากเท่าที่อื่นๆ หลังจากได้ฟังอาจารย์ไสวยิ่งมั่นใจว่าถ้าจะทำงานตามแนวคิดนี้ก็ต้องใช้ชีวิตแบบนี้

ถ้าเราเลือกการเดินทางเพื่อการละวาง เราจะมีเยอะไปทำไม



โดย ปรีดา เรืองวิชาธร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๑

การเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงได้หลายด้านหลายมิติและเปลี่ยนแปลงอย่างลงลึกนั้น คำตอบไม่ได้อยู่ที่การมีเครื่องไม้เครื่องมืออันวิเศษมหัศจรรย์หรือเทคโนโลยีทางการศึกษาชั้นสูง ไม่ได้อยู่ที่ครูผู้สอนที่รอบรู้ชำนาญแล้วพร่ำสอนในแบบที่หยิบยื่นความรู้ให้ทางเดียว และอาจไม่ได้อยู่ที่การส่งเสริมบังคับให้ผู้เรียนต้องแสวงหาเติมเต็มความรู้ด้วยความรู้สึกขาดพร่องอยู่ตลอดเวลา ทำเหมือนผู้เรียนเป็นถังขนาดมหึมาเพื่อรองรับข้อมูลความรู้อันมากมายมหาศาลในโลกสมัยใหม่นี้ แต่แล้วผู้เรียนก็ไม่สามารถย่อยสังเคราะห์และเชื่อมโยงความรู้เข้าสู่วิถีชีวิตที่เป็นจริง และไม่สามารถประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันในระดับสังคมได้

การเรียนรู้ที่ดีนั้นนอกจากจะทำให้เกิดความรู้ความสามารถหรือทักษะที่ใช้ประกอบกิจการงานแล้ว ควรทำให้ผู้เรียนมีสติปัญญามากพอที่จะสามารถเผชิญหน้ากับทุกสถานการณ์ของชีวิต ทำให้ผู้เรียนมีความเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูง เข้าใจตนเองได้อย่างลึกซึ้ง สามารถดำรงอยู่และทำงานร่วมกับคนอื่นได้ด้วยดีแม้จะมีความแตกต่างขัดแย้งกันก็ตาม ทั้งยังรู้เท่าทันโครงสร้างสังคมและธรรมชาติแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่วิกฤตการณ์หลายด้านในขณะนี้

ดังนั้นหากจะจัดการเรียนรู้ไปสู่ผลดังกล่าวนี้ เราจำต้องสร้างสรรค์วิธีการหรือกระบวนการเรียนรู้ขึ้นมาใหม่ซึ่งมีลักษณะพื้นฐานสำคัญก็คือ การเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการ ทุกคนเรียนรู้จากกันและกันได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียนจากผู้สอนเป็นหลักอย่างเดียว แต่ในขณะเดียวกันผู้สอนเองก็ควรรับฟังและเรียนรู้จากผู้เรียนด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้สอนจึงไม่ได้ทำหน้าที่ป้อนข้อมูลความรู้แต่ถ่ายเดียว แต่ทำหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้อันหลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนผ่านประสบการณ์ตรงและตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ที่เกิดขึ้น หรืออาจจะเสริมเติมความรู้ประสบการณ์ของตนบ้างเพื่อทำให้บทเรียนมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนั้นในที่นี้จึงขอเรียกผู้สอนว่า “กระบวนกร” แทน

การเรียนรู้ที่เอากลุ่มเป็นตัวตั้งนั้น กระบวนกรจำต้องออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเป้าหมายแห่งการเรียนรู้ เนื้อหา และความหลากหลายของผู้เรียน ดังนั้นกระบวนการหนึ่งๆ อาจจะไม่สามารถใช้ได้ดีในทุกบริบท กระบวรกรจึงไม่ควรหยุดนิ่งที่จะแสวงหาและทดลองใช้กระบวนการใหม่ๆ กระบวนการเรียนรู้ที่จะทำให้เรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้งนั้นมักให้ผู้เรียนผ่านประสบการณ์โดยตรง โดยยังไม่เน้นการให้ข้อมูลความรู้ ดังเช่น หากจะเรียนรู้เรื่องธรรมชาติแวดล้อมเพื่อให้เกิดสำนึกอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เราก็จะพาผู้เรียนไปเดินรอนแรมในป่าพร้อมกับพูดคุยกับชาวบ้านชาวเขาที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย หรือหากจะเรียนรู้เรื่องความยากจนในสังคมไทยก็จะจัดให้ผู้เรียนเข้าไปชุบตัวอยู่กับชาวบ้านที่เดือดร้อนพร้อมกับจัดกระบวนการพูดคุยวิเคราะห์ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วเชื่อมโยงไปสู่ภาพรวมโครงสร้างสังคมไทยที่ไม่เป็นธรรม แต่ถ้าจะเรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นกลุ่มก็ให้ผู้เรียนได้ลองทำงานหรือกิจกรรมจำลองร่วมกันแล้วถอดประสบการณ์ที่เกิดขึ้นและเชื่อมโยงเข้าสู่การทำงานในชีวิตจริง เป็นต้น กระบวนการเรียนรู้แบบผ่านประสบการณ์ตรงจะทำให้เกิดประสบการณ์ที่สดใหม่ ทำให้กระแทกความรู้สึกนึกคิดเข้าไปข้างในจิตใจคนได้ง่าย และยังทำให้เกิดปัญญาที่ผุดพรายขณะผ่านประสบการณ์ได้ไม่ยาก

กระบวนการเรียนรู้ที่จะทำให้คนเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งมักมีจุดเด่นตรงที่สามารถทำให้ผู้เรียนกล้าเผชิญหน้ากับตัวเอง ดังนั้นเมื่อผ่านประสบการณ์ตรงแล้วกระบวนกรจึงต้องสังเกตหรือเฝ้ามองอย่างลึกซึ้งถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นบทเรียน โดยเฉพาะเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้เรียนได้ว่าเขากำลังเผชิญกับความสั่นไหวภายใน แล้วอาศัยทักษะการตั้งคำถามอย่างลงลึกและเชื่อมโยงเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนถ่ายทอดประสบการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน พร้อมกับแลกเปลี่ยนแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น จากนั้นจึงใช้ทักษะการรับฟังอย่างลึกซึ้งเพื่อจับประเด็นต่างๆ และเชื่อมโยงประเด็นให้เห็นการโยงใยของสิ่งต่างๆ ตามที่มันเป็น พร้อมกับเชื่อมโยงบทเรียนไปสู่ชีวิตจริงว่าจะนำไปประยุกต์ใช้จริงได้อย่างไรในชีวิตประจำวัน

ตัวอย่างกระบวนการเรียนรู้ที่ดีอีกแบบหนึ่งก็คือ การใช้งานศิลปะเป็นกระบวนการผ่านประสบการณ์ เพราะงานศิลปะทำให้ได้ใช้ทั้งร่างกาย พลังจิตนาการ รวมถึงความรู้สึกที่อยู่ลึกของจิตใจมาผสมผสานจนเราสามารถปลดปล่อยศักยภาพอันเร้นลับภายในออกมาได้อย่างน่าทึ่ง ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีจึงควรเปิดโอกาสให้เราใช้ทวารแห่งการรับรู้หลากหลายทางเอื้ออำนวยให้เราผสมผสานพลังจินตนาการ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ อารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนทักษะทางกายเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนและลงตัว

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้ลึกซึ้งจากกระบวนการผ่านประสบการณ์ตรงนั้น กระบวนกรจำเป็นต้องจัดกระบวนการเรียนรู้หรือกิจกรรมที่ทำให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการรับฟังอย่างลึกซึ้ง รวมถึงจัดปรับบรรยากาศให้เรียนรู้ด้วยความรู้สึกไว้วางใจกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลทางความคิด กำลังใจและทางจิตวิญญาณ แทนการเรียนรู้ภายใต้บรรยากาศการแข่งขันเพื่อหาผู้ชนะที่ยอดเยี่ยมเก่งกาจ การรับฟังซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้งและความรู้สึกไว้วางใจกันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเรียนรู้มีพลัง เพราะมันทำให้เกิดการถ่ายเทไหลเวียนบทเรียนจากแต่ละคนไปสู่กลุ่มทั้งหมดที่เรียนรู้ร่วมกัน กิจกรรมหรือกระบวนการที่ทำให้ทุกคนรับฟังอย่างลึกซึ้งและไว้วางใจกันมักจะเป็นด่านแรกๆ ก่อนพาเข้าสู่เนื้อหาการเรียนหลัก ตัวอย่างกิจกรรมประเภทนี้ได้แก่ การฝึกรับฟังเรื่องเล่าภูมิหลังของชีวิตของกันและกัน (สายธารชีวิต) เป็นต้น

เมื่อทุกคนเกิดความไว้วางใจขึ้นบ้างแล้วและกระบวนกรต้องการให้บทเรียนเป็นไปอย่างลึกซึ้งขึ้นอีก จำเป็นต้องใช้ความสามารถภายในของตนหรือจัดกิจกรรมที่ทำให้ผู้เรียนเกิดความกล้าหาญในการเผชิญกับสถานการณ์ที่เขารู้สึกเสี่ยง โดยเฉพาะการเผชิญกับความจริงภายในบางอย่างที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด เช่น การมองเห็นมุมที่น่าเกลียดของตน เป็นต้น ในแง่นี้กระบวนกรไม่เพียงทำให้ผู้เรียนเกิดความกล้าที่จะเผชิญความจริงเท่านั้น แต่ยังต้องทำให้เขายอมรับและคลี่คลายปมภายในได้ด้วยตัวเขาเองในที่สุด

ที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งก็คือ กระบวนกรต้องตระหนักอยู่เสมอว่าทำอย่างไรในแต่ละขณะของการเรียนรู้จึงจะทำให้ทุกคนเรียนรู้อย่างรู้สึกตัว แต่ละขณะของบทเรียนทุกคนรู้สึกตัวแจ่มชัดถึงรายละเอียดของสิ่งภายนอกที่เข้ามากระทบสัมผัสกับประสาทสัมผัส รู้ชัดว่าคืออะไร เป็นอย่างไร รู้สึกตัวได้ชัดว่า เมื่อกระทบสัมผัสแล้วแต่ละคนรู้สึกนึกคิดภายในอย่างไร รู้สึกตัวชัดว่าสภาพจิตที่กำลังรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งนั้นเป็นอย่างไร ไปจนถึงรู้สึกตัวแจ่มชัดจนสามารถมองเห็นความจริงที่อยู่ลึกๆ ของปรากฏการณ์และสรรพสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น การเรียนรู้อย่างรู้สึกตัวหรืออย่างมีสติถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ทุกชนิดที่จะทำให้เราเข้าถึงบทเรียนได้อย่างตามที่มันเป็น ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงหลักการที่มาจากบททดลองของการแสวงหากระบวนการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงคนอย่างลึกซึ้ง แม้จะไม่ใช่ข้อสรุปที่ตายตัวแต่หลายกลุ่มหลายอาชีพได้ทดลองประยุกต์ใช้ต่างรู้สึกได้ว่า การเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงคนนั้นทำได้จริง



โดย สุนทรี กุลนานันท์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๑

ข้าพเจ้าเคยเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมการอบรมของเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา เรื่อง “การเผชิญความตายอย่างสงบ” ในการอบรมครั้งนั้นพวกเราได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตทั้งเรื่องเฉียดตายของตัวเองและความตายคนในครอบครัว ข้าพเจ้าบอกเล่ากับกลุ่มเพื่อนผู้เข้าร่วมว่าตนเองได้ตระหนักถึงเรื่อง “ความตาย” เป็นครั้งแรกเมื่อได้เห็นคุณยายวัยเกือบ ๘๐ ปีต้องเผชิญความตาย

คุณยายของข้าพเจ้าเป็นผู้หญิงที่ไม่เหมือนผู้หญิงทั่วไป ท่านเคยบวชชีและท่านมีชีวิตในสังฆะซึ่งเป็นชุมชนของคนที่สนใจเรื่องจิตวิญญาณมาตั้งแต่อายุได้ ๔๐ กว่าปี แม้จะอายุมากแล้วแต่ท่านยังมีความคิดอ่านที่แลกเปลี่ยนกับข้าพเจ้าได้ในช่วงวัยรุ่น ท่านสามารถไปโน่นมานี่เองอย่างอิสระ จนถึงวัยที่ชรามากจึงได้กลับมาอยู่กับลูกหลาน แต่ดูเหมือนว่าท่านจะมีความสุขน้อยกว่าการใช้ชีวิตร่วมกับกัลยาณมิตรในสังฆะ ท่านจึงดูเหี่ยวเฉาลงและตายจากไปในโรงพยาบาล โดยไม่ได้รับการดูแลทางจิตวิญญาณเพื่อให้เป็นการเผชิญความตายอย่างสงบ

น่าเสียดายที่ตอนนั้นข้าพเจ้ายังเด็กเกินไปและยังไม่เข้าใจคำว่า “การเผชิญความตายอย่างสงบ” นั้นสำคัญอย่างไร แต่ประสบการณ์นี้ก็ได้เป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าเดินทางเข้าสู่โลกทางศาสนา และแสวงหาความเข้าใจในเรื่องนี้ นอกจากเพื่อตัวเองแล้ว ข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะได้มีโอกาสถึงวันที่ได้ดูแลจิตวิญญาณของคุณพ่อและคุณแม่ในวาระของท่าน ... แล้ววันนั้นก็มาถึง

เป็นวันที่คุณแม่ของข้าพเจ้าต้องเข้าผ่าตัด

เหตุการณ์เริ่มต้นมาก่อนหน้าตั้งแต่เมื่อ ๖ เดือนก่อน ขณะที่ครอบครัวของเรากำลังเตรียมตัวจะไปเที่ยวเวียดนามกันในวันรุ่งขึ้น คุณแม่ก็มีอาการปวดศีรษะจนหมดสติไป เราไปถึงโรงพยาบาลเมื่อเวลา ๑๗.๐๐ น. อย่างงวยงง เพราะที่บ้านไม่เคยมีใครป่วยหนักหรือมีโรคประจำตัวร้ายแรง จนล่วงเลยถึง ๑๘.๐๐ น. หมอบอกว่าต้องรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยใน แล้วก็ทำสแกนสมอง ผลคือสมองบวมจนเบียดแกนสมองที่ควบคุมระบบสำคัญของร่างกาย เช่น การหายใจและการเคลื่อนไหว คุณแม่จึงอ่อนแรงและไม่รู้สึกตัวในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ... เราตัดสินใจให้คุณหมอผ่าตัดด่วนในคืนนั้น

คุณแม่เป็นคนทันสมัย รักสวยรักงาม ชอบท่องเที่ยว และเชื่อมั่นในความแข็งแรงของตัวเอง เพราะเข้าฟิตเนสทุกวันแม้จะอายุ ๖๓ ปีแล้ว แต่ในห้องไอซียูคืนนั้น เมื่อพยาบาลโกนผมของท่านออกจนหมดเพื่อเตรียมผ่าตัด มันเป็นการเปลี่ยนแปลงราวกับพลิกฝ่ามือ เราเชื่อมั่นในความชำนาญของคุณหมอว่าจะช่วยชีวิตคุณแม่ได้แน่ แต่ที่คุณหมอเองก็ไม่รับประกันคือ หลังผ่าตัดแล้วท่านจะยังพูดจาหรือเคลื่อนไหวได้เหมือนเดิมหรือไม่ และนั่นคือสิ่งที่ข้าพเจ้าห่วงที่สุด เพราะเกรงว่าคุณแม่จะทำใจรับกับสภาพชีวิตใหม่ไม่ได้

คืนนั้นสิ่งที่ลูกหลานพอจะทำได้ก็เป็นเพียงการมารวมตัวกันหน้าห้อง ICU ครั้นวันรุ่งขึ้นคุณแม่ก็ฟื้นขึ้นมา อาการดีขึ้นเป็นลำดับ ท่านฟื้นตัวเร็วมาก เคลื่อนไหวและพูดจาได้เกือบ ๘๐ % ภายใน ๗ วัน

สิ่งที่เรากลัวที่สุดคือท่านจะรับสภาพไม่ได้ กลับกลายเป็นว่าไม่มีเลย ท่านเปลี่ยนไปเป็นคนละคน จากคนที่โกรธง่ายกลายเป็นคนที่มีอารมณ์ขันเหลือเฟือ ท่านจะแซวหมอและพยาบาลที่ดูแลจนเป็นที่รู้จักรักใคร่ของทั้งห้องไอซียูและหอผู้ป่วยในที่พักฟื้น

ข้าพเจ้าคิดว่าท่านรักษาใจได้ดีมาก โดยที่ตัวข้าพเจ้าเองยังไม่ทันได้ทำอะไรที่ช่วยท่านเลย แต่ท่านบอกว่าข้าพเจ้าได้ทำแล้ว เพราะก่อนหน้าที่ท่านจะป่วย ท่านขอให้ข้าพเจ้าพาไปปฏิบัติธรรมพักค้างที่เสถียรธรรมสถานซึ่งข้าพเจ้าเป็นอาสาสมัครอยู่นั้น เราได้ร่วมเข้าคอร์สที่ชื่อว่า “ศิลปะแห่งการใช้ชีวิตด้วยอานาปานสติภาวนา” สิ่งที่ได้คือเราคุยกันเรื่องใจได้ลึกซึ้งขึ้น เรื่องทุกข์เรื่องอารมณ์เรื่องความตาย มันเหมือน “ทุนชีวิต” ที่ท่านสะสมไว้ ด้วยการเรียนรู้เรื่องชีวิตเรื่องจิตใจทำให้ท่านมี “ดวงตาเห็นธรรม” ด้วยตนเอง คำว่า “ทุกข์มีไว้ให้เห็น ไม่มีไว้ให้เป็น” มันกระจ่างชัดเป็นรูปธรรมขึ้นมาเอง และท่านรู้เรื่อง “ลมหายใจแห่งสติ” จะช่วยกายให้คลายความเจ็บ ช่วยใจให้คลายความกลัวได้อย่างไร

สิ่งที่ข้าพเจ้าได้ลงมือทำจริงๆ แล้วมีเพียง ๓ อย่างคือ

๑) รักษา “ทุนของชีวิตคือจิตที่ไม่ขุ่นมัว” ดูแลใจตัวเองให้มั่นคง เพื่อที่จะได้ดูแลท่านอย่างสมบูรณ์ที่สุด ระวังการกระทำที่จะไปกระทบใจให้ท่านต้องทุกข์เพราะเรา

๒) “รักษาคลื่นแห่งความสงบ” ด้วยการรักษาบรรยากาศในห้องพักฟื้น ทั้งที่บ้านและโรงพยาบาล ให้เกื้อกูลต่อการให้ท่านกลับมาอยู่กับกายและใจของตัวเอง เปิดเทปธรรมแทนการเปิดทีวี แล้วคำสอนของพระอาจารย์ต่างๆ ก็สะกิดใจท่าน ท่านเรียนรู้เองจากจิตใต้สำนึกที่ปรากฏขึ้นว่าท่านใช้ชีวิตที่ผ่านมาอย่างไรและควรจะใช้ชีวิตที่ได้มาใหม่อย่างไร โดยเฉพาะ “การให้อภัยกับคนที่ผูกโกรธอยู่” (ภายหลังจากออกจากโรงพยาบาล ข้าพเจ้าก็พาท่านก็ไปขอขมาบุคคลเหล่านั้น)

๓) “ฟังกันด้วยหัวใจ” ในระหว่างที่ท่านเรียนรู้และระลึกสิ่งใดขึ้นมาได้ ข้าพเจ้าก็เพียงแต่ฟัง ให้ท่านได้เปิดใจเล่าถึงเรื่องราวความรู้สึกต่างๆ และสนับสนุนท่านในสิ่งที่ท่านตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง

พรุ่งนี้คุณแม่ของข้าพเจ้าจะเข้าไปผ่าตัดอีกครั้งเพื่อใส่กะโหลกเทียม ศีรษะที่บุ๋มอยู่ก็จะสวยเหมือนเดิม ท่านจะเดินเหินไปไหนได้โดยไม่วิงเวียนเพราะเนื้อสมองโคลงเคลงไปมา ท่านจะก้มๆ เงยๆ ทำอาหารอร่อยสุดฝีมือ และไปเที่ยวไกลๆ กับลูกหลานได้อีก

ข้าพเจ้ารู้สึกขอบคุณความเจ็บป่วย “เฉียดตาย” ครั้งนี้ของคุณแม่ ที่ทำให้ครอบครัวของเราได้ “เกิดใหม่” เพราะเราได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ ซึ่งคุณแม่ผู้มีปัญญาได้เป็นครูให้เราเห็นอย่างสง่างาม



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๑

ช่วงหลังมานี้ในบ้านเราเมืองเราและในหมู่เพื่อนฝูงมิตรสหาย ผมมักจะได้ยินเรื่องราวของการปะทะกันและแยกขั้วแบ่งฝ่ายระหว่าง “เหตุผล” กับ “อารมณ์” อยู่เสมอ นักการเมืองบางท่านอ้างถึงเรื่องการใช้เหตุผล การยึดมั่นในข้อมูลและข้อเท็จจริง และมักจะโจมตีฝ่ายตรงข้ามที่ “ใช้แต่อารมณ์และความรู้สึก” การใช้อารมณ์จึงดูเหมือนเป็นการถดถอยกลับไปสู่ความไร้อารยะ สมมุติฐานที่ซ่อนเร้นของเขาก็คือการใช้เหตุผลนั้นเป็นวิวัฒนาการขั้นสูงของการเป็นมนุษย์ ผู้ที่ยังติดอยู่กับการใช้อารมณ์จึงเป็นผู้ที่ไม่ควรจะเรียกว่าเป็นผู้ประเสริฐ หรือเป็นอารยชน

ในขณะที่ผู้นิยมเหตุผลดูเหมือนว่าจะเป็นผู้กำชัยในการกำหนดทิศทางของโลกมนุษย์ในปัจจุบัน แต่มนุษย์อีกจำพวกหนึ่งกลับรู้ดีว่า “อารมณ์” ต่างหากที่อยู่เบื้องหลังของการขับเคลื่อนทางสังคม และมีผลต่อการเลือกและการตัดสินใจของบุคคลส่วนใหญ่มากกว่าเหตุผล ผู้ที่เป็น เจ้า (นายเหนือ) อารมณ์ และรู้เส้นสนกลในของการทำงานของอารมณ์จึงสามารถเลือกจะกระทำการบางอย่างที่ผิดจากความคาดหมายของผู้คน ดังเช่นผู้นำประเทศบางคนที่มีพฤติกรรมเอาแน่เอานอนไม่ได้ ชอบระเบิดอารมณ์กับนักข่าว ตอบไม่ตรงคำถามและมักไพล่ไปโจมตีผู้ถามด้วยถ้อยคำผรุสวาท ผู้ที่เผลอไผลไม่ทันเกม ก็จะต้องเสียความรู้สึก เสียอารมณ์เป็นธรรมดา แบบนี้จะเรียกว่าผู้นำของเราขาดจริยธรรมในการใช้อารมณ์หรือไม่?

เป็นที่น่าเสียดายว่าการเรียนรู้เรื่องอารมณ์ความรู้สึกกลับเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจในระดับรองๆไปในระบบการศึกษาของเรา ทั้งๆ ที่ไม่นานมานี้แดเนียล โกลแมนเขียนเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) แล้วได้รับความสนใจไปทั่ว แต่ถึงทุกวันนี้ในบ้านเราก็ยังล้มคว่ำคะมำหงายในการประยุกต์ใช้ให้ได้จริงในแวดวงการศึกษาที่ถูกความคิดแบบกระบวนทัศน์เก่าคลุมครอบอยู่ หากเราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้ามกรอบของสาขาวิชาที่แข็งตึง ความเข้าใจในเรื่องนี้น่าจะได้ขยายขอบเขตออกไปได้อีกมาก ลองจับความเข้าใจในเรื่องสภาวะทางอารมณ์ตามขนบพุทธ ไปปะทะสังสรรค์กับคำอธิบายของฝ่ายจิตวิญญาณแบบกระบวนทัศน์ใหม่ มาผสมผเสกับความเข้าใจในด้านอารมณ์ของศิลปะการละครทั้งของตะวันตกและตะวันออก ในความ ‘มั่วนิ่ม’ อาจจะมีบางอย่างงอกงามขึ้นได้ แทนที่จะมีแต่การแยกกันอยู่ และ “งอกงอม” กันอย่างทุกวันนี้

ว่ากันแบบรวบรัดตัดความที่สุดในทางพุทธศาสนา “ความรู้สึก” กับ “อารมณ์” นั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แม้คนทั่วไปจะ รู้สึก อย่างนั้นก็ตาม เรามักจะใช้คำว่า “ความรู้สึก” กับ “อารมณ์” สลับกันตลอดเวลา บางครั้งวัยรุ่นชอบพูดติดปากว่า “อารมณ์เสีย” (ต้องทำเสียงสูงๆ ต่ำๆ) แต่ที่จริงแล้วเขาอาจจะหมายถึงการเสียความรู้สึกมากกว่า ตามหลัก ปฏิจจสมุปบาท ความรู้สึกนั้นเกิดอย่างอัตโนมัติเป็นความสืบเนื่องของ ผัสสะ ความรู้สึกนี้ภาษาทางพระเรียกว่า “เวทนา” แต่ไม่ใช่เวทนาที่เราเข้าใจกันทั่วๆ ไป ยกตัวอย่างถ้าทานส้มตำแล้วรู้สึกเผ็ดร้อนในปากอันนี้เวทนาก็เกิด แต่อารมณ์นั้นค่อยเกิดตามมา เช่นอยากทานส้มตำปลาร้ามาหลายวันแล้ว เพิ่งมาได้ทานวันนี้ถึงแม้จะเผ็ดจี๊ดจนปากแทบพังแต่ก็มีความสุขเพราะได้ทานของโปรด

ถึงแม้ความรู้สึกกับอารมณ์ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกันอยู่ เพราะสภาวะทางอารมณ์ของคนๆ หนึ่งสามารถจะมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของผู้อื่นได้ ปราชญ์ทางการละครอินเดียรู้เรื่องนี้มานานแล้ว ในตำรานาฏยศาสตร์ได้มีการกล่าวถึงเรื่อง “สภาวะ” หรือ Bhava ซึ่งไปตรงกับความเข้าใจทางพุทธเรื่อง “ภพ” (Becoming) ซึ่งก็หมายถึง “อารมณ์” หรือ Mood นั่นเอง ทางอินเดียบอกว่าหนทางหนึ่งที่จะถ่ายทอดความรู้สึกไปสู่ผู้ชมละครได้นั้น ตัวผู้แสดงต้องสร้างให้เกิด “ภาวะ” นั้นๆ ด้วยการแสดงออกทางสีหน้าท่าทางอย่างชัดเจน เช่น โกรธก็ต้องมีการถลึงตา เลิกคิ้ว หรือเมื่อตกอยู่ในความรักก็สะเทิ้นอายจนต้องวิ่งข้ามภูเขาสิบลูก เป็นต้น ความรู้สึกที่สามารถจะสร้างให้เกิดกับผู้ชมหรือเรียกว่า รสะ นั้นมีอยู่มากมายหลายแบบ ยกตัวอย่างเช่น เราทรรส มีโกรธะเป็นภาวะ และศฤงคารรส หรือรสแห่งความรัก มีรติหรือความยินดีเป็นภาวะ เป็นต้น เมื่อมีรสอยู่หลายแบบแต่ไม่รู้เป็นเพราะเหตุใดรัฐบาลของเราถึงเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างรสอยู่แบบเดียวก็คือรสแห่งความเคืองแค้น และขุ่นข้องหมองใจให้กับประชาชน?

ในมิติจิตวิญญาณกระบวนทัศน์ใหม่ คุรุอย่างเอ็กฮาร์ต โทลลี ให้คำจำกัดความอย่างเข้าใจง่ายๆ ว่า อารมณ์ก็คือ "ปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายมีต่อความคิด" เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าปฏิกิริยาของร่างกายที่เกิดจากสิ่งเร้าภายนอกนั้นเรียกได้ว่าเป็นเพียงความรู้สึกในระดับ “สัญชาตญาณ” เท่านั้น เช่น ถ้าหากเห็นสุนัขเห่าและวิ่งมาหาเรา ร่างกายจะมีการตอบสนองเป็นต้นว่าหัวใจเต้นเร็วขึ้น ขาสั่นจนก้าวไม่ออก ตรงนี้เกิดขึ้นเองโดยไม่ผ่านการคิด แต่อารมณ์นั้นจะเกิดจากความคิดปรุงแต่ง ซึ่งมีความยึดมั่นในตัวตนของเรามาเกี่ยวข้อง เช่น เห็นสุนัขวิ่งเข้ามาจะกัด เกิดความกลัวในเบื้องต้น (Primal Fear) แต่ไม่ปล่อยให้มันปรุงแต่งต่อมาเป็นอารมณ์วิตก หวาดหวั่น ก็สามารถควบคุมสติและสถานการณ์เอาไว้ได้ เรื่องแปลกก็คือแม้แต่เพียงคิดถึงเหตุการณ์อะไรบางอย่างในหัวของเรา อารมณ์ก็สามารถเกิดขึ้นได้ โดยที่เหตุการณ์นั้นไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นจริงเลยด้วยซ้ำ และนี่เป็นสิ่งที่นักแสดงที่มีพื้นฐานมาจากทางตะวันตกรู้จักกันดีว่าเป็นเรื่องของ “Emotional Memory” หรือการสร้างความสมจริงทางอารมณ์ให้เกิดขึ้นผ่านทางจินตนาการ คอนแสตนติน สตานิสสลาฟสกี้ นักการละครชาวรัสเซีย กล่าวว่าทุกๆ คนมีศักยภาพที่สามารถจะทำได้

ทุกๆ คนเป็นเจ้า (ของ) อารมณ์ แต่จะมีสักกี่คนที่เป็น เจ้า (นาย) อารมณ์ คือ รู้ทันการเกิดขึ้นของอารมณ์ เพราะกว่าเราจะรู้ก็มักสายไปเสียแล้ว เพื่อนบางคนมาสารภาพบอกว่าช่วงนี้รู้สึกตัวเองเครียดมาก แต่พอถูกซักถามก็ตอบไม่ได้ว่าเป็นเรื่องอะไร นี่อาจเป็นเพราะเราเห็นไม่ทันในความปุบปับเร่งรีบ มีชีวิตที่แขวนอยู่กับ Deadline อันต่อไปอย่างต่อเนื่อง ชีวิตของคนหลายๆ คนจึงมีแต่อารมณ์ขี้โมโห หงุดหงิด รำคาญเป็นเจ้าเรือน

คนบางคนชอบสุมความรู้สึกให้กับตัวเอง ทุกๆ ครั้งที่รู้สึกว่างลง แทนที่จะรู้สึกดีกลับรู้สึกว่าจะต้องหาอะไรมาทำให้วุ่นๆ เข้าไว้ เพราะอัตตามันไม่ยอม มันไปคิดเอาเองว่าถ้าเราว่างลงตัวเราจะรู้สึกไม่มีคุณค่า และเรามักจะหลงไปคิดว่าเราจะยอมอยู่อย่างมีอารมณ์ลบๆ แบบนี้ยังดีเสียกว่าจะกลายเป็นคนที่หมดความรู้สึก หรืออยู่อย่างหุ่นยนต์ที่ไร้อารมณ์ นี่เป็นความเข้าใจผิด ศาสดาทุกศาสนาไม่เคยสอนให้เราหมดความรู้สึก ความรู้สึกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเราเป็นมนุษย์ มันเกิดขึ้นเองตามความสืบเนื่องของเหตุและปัจจัย

ถ้าเราหมดความรู้สึกเราจะไม่เห็นความงามของดอกไม้ริมทางเดิน ถ้าเราหมดความรู้สึกเราจะไม่อาจรับรู้ความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์และสรรพชีวิต การกลับมาใคร่ครวญในเรื่องอารมณ์ของเราอย่างลึกซึ้งจะทำให้มนุษย์เราก้าวข้ามไปสู่ความตื่นรู้อันพ้นไปจากอหังการของความคิดและเหตุผลได้ใช่หรือไม่?

Newer Posts Older Posts Home