โดย มิรา ชัยมหาวงศ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๑

อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู เคยบอกไว้ว่า “คำถามที่เป็นจุดสุดยอดของการนำพาผู้คนให้เรียนรู้มีอยู่สองคำถามคือ ‘เห็นอะไร’ และ ‘เรียนรู้อะไร’ ” สองคำถามนี้จะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่ความเข้าใจถึงแก่นเนื้อความของแต่ละคน โดยเฉพาะหากนั่งล้อมวงพูดคุยกันหลังจากเรียนรู้ในประเด็นหนึ่งๆ ร่วมกัน มุมมองที่แตกต่างจะสะท้อนภาพเครื่องมือทางการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น เพราะในเรื่องราวเดียวกัน เหตุใดบางคนจึง “เห็นในสิ่งที่ผู้อื่นมองไม่เห็น” แต่บางคนก็มองเห็นข้อมูลเหมือนกัน แต่กลับนำข้อมูลนั้นมาใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย

“เห็นอะไร”

“เห็นอะไร” คงหมายถึง การมีสายตาในการมองเห็นรายละเอียดของสิ่งต่างๆ หรือข้อมูล ผู้เขียนนึกถึงคำว่า “Literacy” ซึ่งในที่นี้น่าจะเป็น Information Literacy คือ เราอ่านข้อมูลนั้นออกมากน้อยแค่ไหน เราสามารถเข้าใจและเข้าถึงข้อมูลนั้นได้มากแค่ไหน หากเปรียบเป็นภาษา Literacy อาจหมายถึงการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งแม้ภาษาเป็นเครื่องมือที่จะทำความเข้าใจสัญลักษณ์ แต่หากเราไม่เข้าใจภาษาเพียงพอ ทั้งในแง่ของหลักภาษาและความหมายของคำ ก็อาจตีความผิด เข้าใจความนั้นๆ ผิด หรือมองข้ามข้อมูลสำคัญบางประการไปได้

ในการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) มีการระบุถึงคุณภาพของการฟังไว้ ๓ ระดับ ระดับแรกคือการฟังที่ได้ยินเพียงถ้อยคำ ระดับที่สองคือการฟังให้ได้ยินอารมณ์ ความรู้สึกของผู้พูด และระดับที่สามซึ่งเป็นการฟังที่ลึกที่สุดคือ การฟังให้ได้ยินเจตนาของผู้พูด ในการเรียนรู้ที่คนกับคนเชื่อมต่อกันนั้น สิ่งที่เป็นเครื่องมือ คงไม่จำกัดอยู่เพียงเฉพาะภาษา คนผู้ซึ่งมีชีวิตจิตใจ มีกายภาพที่เป็นรูปธรรมภายนอกของอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นนามธรรมภายในนั้น หากเราจำกัดการสื่อสารไว้เพียงภาษา ก็เป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เข้าต้องการสื่อ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังคำพูด ในการสื่อสารกับ “คน” อาจหมายถึง การมองเห็นที่มากไปกว่าและลึกไปกว่าถ้อยคำ หรืออาจหมายถึงการทะลุข้อจำกัดทางภาษา เพราะภาษาของคน ไม่ได้จำกัดเฉพาะเพียงภาษาพูด หากรวมไปถึงภาษาท่าทาง ภาษาแบบแผนพลังงาน (Energy Connection) ฯลฯ

ผู้เขียนเคยทำงานกับกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ทำให้มีโอกาสได้สังเกตอย่างชัดเจนว่า เด็กที่มีข้อจำกัดทางภาษาพูดหรือภาษาเขียน ไม่ได้หมายความว่า เขาสื่อสารไม่ได้ และไม่ได้หมายความว่าเราจะเข้าใจเด็กๆ กลุ่มนี้ไม่ได้ หากเราต้องพยายามฟังเขาอย่างลึกซึ้ง ฟังไปให้ทะลุกรอบความเคยชินของตัวเราเองที่จำกัดตัวเองไว้เพียงความเข้าใจแค่ชุดภาษา ถ้ามองในมุมกลับ คนที่มีข้อจำกัดด้านการรับรู้ด้านการฟังอาจเป็นตัวเราเองก็เป็นได้

หากเราเดินออกจากข้อจำกัดด้านการรับรู้ การฟัง และ “การมองเห็น” คำถามที่ว่า “เห็นอะไร?” ก็จะยิ่งทรงพลังมากขึ้น

นอกจากการมองเห็นภายนอกแล้ว เรายังจำเป็นต้องมองเห็นภายใน “เราฟัง” “เราเห็น” ด้วยทัศนคติแบบไหน หรือตัวตนแบบใด เพราะบ่อยครั้งคนเรามักมองเห็นด้วยอคติ คือ รัก ชอบ ชัง เฉย ซึ่งบ่อยครั้งที่อคตินี่เองที่มาเป็นข้อจำกัดทางการเรียนรู้ และทำให้ข้อมูลผิดพลาด

ในคำถามแรก “เห็นอะไร” อาจหมายถึงดวงตาที่เปิดออก จิตใจที่เบิกบานและตื่นขึ้นจากความมืดบอดวนเวียนอยู่ในตัวเอง

“เรียนรู้อะไร”

เพียงคำถามแรกก็มีนัยยะเชิงขยายมากมาย แต่ “เรียนรู้อะไร” ก็ยิ่งมีความซับซ้อนไม่แพ้ “เห็นอะไร” และก็อาจทำให้เริ่มหยุดตั้งคำถามต่อไปแล้วว่า ทำไมสองคำถามนี้จึงเป็นคำถามที่เป็นจุดสุดยอดของกระบวนกร

การเรียนรู้อะไร นัยยะแรกคือ การดาวน์โหลด (download) หรือคัดลอกข้อมูลมาบรรจุไว้ในแผ่นดิสก์ หรือในสมองของเรา หรืออาจไม่ได้บรรจุเลยเพราะดาวน์โหลดมาแล้วไม่ได้เปิดอ่าน ข้อมูลที่ได้มาก็แช่อย่างไร้ความหมายอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ นำไปใช้การใช้งานให้เกิดประโยชน์ไม่ได้ แต่อันที่จริงแล้วก็สรุปไม่ได้เหมือนกันว่า การดาวน์โหลดข้อมูลเป็นเรื่องไม่ดี เพราะบางครั้งก็อาจกลายเป็น “ทุนสะสม” ของเราได้อีกเช่นกัน หากเรารู้จักแยกประเภทและจัดเก็บข้อมูลนั้นเตรียมไว้ใช้ยามจำเป็นได้

นัยยะที่สองที่เป็นส่วนสำคัญอีกประการหนึ่งของการเรียนรู้ คือการรับข้อมูลใหม่มาผสมผสานปนเปกันกับความรู้เดิมที่อยู่ในตัวเราเป็นเกลียวพลวัต (Spiral Dynamic) ผู้ซึ่งกำลังเรียนรู้เรื่องใหม่ที่รับมานั้นต้องมีทักษะสำคัญประการหนึ่งคือ “ความกล้า” กล้าที่จะเล่นกับความรู้นำความรู้ที่คนอื่นคิดมาแล้ว ไปคิดต่อ นำมาปรับแก้ไขต่อยอดตามความเข้าใจของเรา โดยก้าวพ้นจากพันธนาการเรื่องความผิดถูก ตัวอย่างบุคคลที่ชัดเจนท่านหนึ่ง คือ อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู ซึ่งมักจะสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาให้รู้จัก ศิลปะของการ “มั่ว” ให้มีความกล้าออกจากความกลัวผิดถูก ซึ่งก็มักจะทำให้ได้เห็นสิ่งใหม่ๆ องค์ความรู้ใหม่ปรากฏขึ้นอยู่เสมอ เป็นวิธีการที่นำความรู้จากศาสตร์สาขาต่างๆ มาคิดเชื่อมโยงต่อกันในหลายระนาบ เหมือนนักเล่นแร่แปรธาตุ หากแต่เป็นธาตุวัตถุทางปัญญา

ความสามารถในการเปลี่ยนผ่านและการสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการเรียนรู้นี้มีลักษณะเป็น “Transcend & Include” หรือ “ก้าวพ้นแต่ปนอยู่” คือ ความรู้เดิมน่าจะเป็นตัวดีดให้เราก้าวพ้นความเคยชิน ความกลัวอันเป็นข้อจำกัด และก้าวเข้าสู่การเรียนรู้ใหม่อย่างมีเรื่องราวที่ผสมปนเปกัน

พอเอาสองคำถามนี้มาเรียงต่อกัน จึงกลายเป็นคำถามที่ทรงพลัง

“เห็นอะไร” จึงต้องเป็นการมองเห็นในเชิงที่ลึกซึ้ง คือทั้งละเอียดและเห็นพ้นไปจากสิ่งที่ตาสังเกตเห็น และที่สำคัญคือ เราสามารถหรือมีความสามารถเพียงพอที่จะแยกแยะความจริงกับอคติที่เกิดขึ้นจากใจตนเองได้หรือไม่

“เรียนรู้อะไร” ก็คือเราเรียนรู้แบบไหน ได้นำความรู้เข้ามาผสมผสานเป็นเนื้อเป็นตัวเราหรือยัง หรือเพียงมีความรู้อยู่แต่ใช้การใช้งานไม่ได้ (To be or to have)

เห็นได้ชัดว่า สองคำถามนี้ เป็นคำถามที่ไม่ได้มุ่งหวังเพียงคำตอบภายนอก แต่เป็นคำถามที่กระตุกให้ผู้ถูกถามย้อนกลับมาถามกระบวนการเรียนรู้ของตนเองภายในอีกด้วย



โดย สุนทรี กุลนานันท์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๑

เมื่อคืนฉันมีปากเสียงกับคนข้างกาย ด้วยเรื่องความคิดเห็นที่แตกต่าง หลับไปอย่างโกรธๆ แล้วคิดว่า “คอยดูนะ ฉันจะ ...” เช้าวันนี้ตื่นขึ้นมา หันไปเห็นคนข้างกายยังนอนสบาย นึกหมั่นไส้แต่ต้องไปทำงาน ก็เลยไม่มีเวลาตอแยด้วย อารมณ์ยังขุ่นมัวอยู่เลย นั่งแท็กซี่ไปก็คิดว่า “กลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะก่อนเถอะ” เตรียมความพร้อมของใจก่อนไปทำงานอาสาสมัครในโครงการ “จิตประภัสสรตั้งแต่นอนอยู่ในครรภ์” ที่เสถียรธรรมสถาน ทุกวันอาทิตย์ต้นเดือน ทุนของชีวิตคือจิตที่ไม่ขุ่นมัว ... คือคาถาก่อนทำงานวันนี้

พอไปถึงก็ทำนี่นั่นโน่น เลยลืมเรื่องที่คาใจไปโดยอัตโนมัติ เสียงเทศน์จากซีดีหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุลอยมา “ทำงานให้เป็นการปฏิบัติธรรม ทำแล้วให้จิตเจริญขึ้น ไม่ใช่จมอยู่กับความเบื่อ เซ็ง โกรธที่ทำดีแล้วไม่ได้ดี ทำแล้วไม่ได้งานดีดั่งใจ” เออ! จริงเนอะ พอทำงานแล้วมันก็ดึงเรากลับมาอยู่กับการทำหน้าที่ในปัจจุบันจนลืมปรุงแต่งความโกรธ ถ้าวันนี้ไม่มาทำงานคงมีระเบิดลงอีกหลายลูก อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่โตกับการเอาถูกเอาผิดในเรื่องนิดเดียว การมาทำงานวันนี้ได้ทำให้พ่อแม่ที่กำลังตั้งครรภ์กว่า ๔๐ คู่มีความสุขกลับไป และความประทับใจที่ได้รับกลับอยู่ที่การได้ร่วมทุกข์กับใครอีกหลายคน

ในหลายคนนั้น มีคนหนึ่งคืออาสาสมัครสาวน้อย สวยเพรียวตาคมผมยาว ใครเห็นก็ชื่นชมว่า “โถยังวัยรุ่นอยู่เลย รู้จักเข้าหาธรรมะ และยังมีใจอาสามาช่วยทำงานบุญอีก” แต่หารู้ไม่ว่า เธอมาเพื่อใช้งานบุญเยียวยาความทุกข์ใจจากการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวในวัยเพียง ๒๐ ปี และเยียวยาความทุกข์กายจากโรคที่กำลังรอฟังผล

สองคนต่อมาเป็นแม่ท้องสองที่ต่างก็กำลังมีลูกวัยซน คนหนึ่งทำงานนอกบ้าน เครียดแสนเครียดจากการไม่มีเวลาให้ลูก ส่วนอีกคนเลี้ยงลูกอยู่กับบ้านตามลำพัง เครียดแสนเครียดเพราะไม่มีเวลาให้ตัวเอง เธอทั้งสองเป็นเพื่อนกันจากการเข้าร่วมโครงการจิตประภัสสรฯ ตอนท้องแรกเมื่อ ๓ ปีก่อน แม้เครียดและเหนื่อย แต่วันนี้พวกเธอเลือกที่จะไม่เลี้ยงลูกอยู่เฉพาะในโลกของตัวเอง เธอบอกว่า “เพียงได้รับฟังทุกข์สุขของคนอื่นบ้าง ก็กลับไปอย่างมีพลัง เพราะทุกข์น้อยลงทุกครั้ง”

ยังมีแม่อีกคนเลิกรากับสามี แต่กลับพบว่าได้ลูกในท้องติดมาเป็นสมบัติที่ไม่มีใครขอแบ่ง ด้เห็นเธอยิ้มทั้งน้ำตาตอนที่คุณแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต หรือ คุณยายจ๋า บอกว่า “แม่คือผู้เปิดประตูจิตวิญญาณของลูก นอกจากจะทำให้ลูกเกิดทางกายแล้ว ความมั่นคงในใจของแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง จะทำให้ลูกได้เห็นตัวอย่างความกล้าหาญ เป็นการทำให้ลูกเกิดอีกครั้งทางจิตวิญญาณ”

ส่วนแม่อีกคนพาลูกมารับขวัญเมื่อเดือนก่อน หลังจากวันนั้น เธอประสบอุบัติเหตุทางรถจนต้องเข้าผ่าตัด แต่เธอก็รอดมาได้ ตลอดการรักษาตัวในโรงพยาบาลเธอได้เพื่อนที่มาร่วมในโครงการจิตประภัสสรฯ ซึ่งทำงานที่โรงพยาบาลนั้นคอยดูแล เพื่อนคนนี้ได้มีโอกาสเรียนรู้จากเธอในวันที่เธออาสามาถ่ายทอดเรื่องราวการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมทั้งบ้านและพ่อของลูก แต่เธอมีใจที่พร้อมและมั่นคงว่า ... เธอจะไม่เป็นผู้ฆ่าอีกชีวิตหนึ่งซึ่งกำลังพึ่งพาลมหายใจของเธอ

และอีกเสียงสะอื้นมาทางโทรศัพท์เมื่อ ๓ วันก่อน “หนูอยู่หน้าห้องตรวจครรภ์ อยากขอคำปรึกษา”

เธอตั้งครรภ์เดือนที่ ๘ และไปตรวจครรภ์เพื่อเตรียมคลอดตามปกติ แต่กลับพบว่า “หัวใจลูกมีโพรงขนาดใหญ่ และอาจไม่มีกระเพาะอาหาร” พ่อแม่คู่นี้กำลังไปตายเอาดาบหน้าเพื่อหาโรงพยาบาลที่พร้อมทั้งการคลอดและการผ่าตัดให้ลูกหลังคลอด ขณะที่เหมือนหนทางตัน ฉันต่อสายให้เธอคุยกับพยาบาลอาสาสมัครที่ปวารณาตัวเป็นคุณป้าของเด็กๆ ในโครงการจิตประภัสสรฯ แม้สุดท้ายคุณหมอเจ้าของไข้จะบอกให้เธอทำใจเพราะอย่างไรคงช่วยเด็กไว้ไม่ได้ แต่วันนี้เธอบอกว่า “กลับมาอยู่กับปัจจุบันแล้ว ใช้เวลาที่ลูกยังอยู่ในท้องพาเขาทำกุศลทุกวันเหมือนที่คุณยายจ๋าสอน” ... ทำหน้าที่แม่ผู้เปิดประตูจิตวิญญาณให้ลูกจนวาระสุดท้าย วันนี้เรื่องของเธอทำให้ประจักษ์ว่า การมีชุมชนที่เกื้อกูลกันเป็นวงศาคณาญาตินั้น ทำให้พ่อแม่คนหนึ่งที่กำลังจะสูญเสียลูกไม่ต้องจมทุกข์อยู่ลำพัง

กิจกรรมช่วงสุดท้ายของวันนี้ คือการอธิษฐานจิตที่ห้องพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งคุณยายจ๋าสอนว่า “ชีวิตนั้นเราได้การเกิดมาพร้อมกับความตาย ไม่มีใครเกิดโดยไม่ตาย และความทุกข์ ๓ อย่างที่พ่อแม่ลูกทำแทนกันไม่ได้ คือ แก่ เจ็บ ตาย ... พ่อแม่ที่มีลูกในครรภ์กำลังดีใจที่ลูกจะเกิด แต่อย่าประมาทกับความตาย ไม่ว่าของเราหรือของใคร ใช้ชีวิตอย่างสงบเย็นและเป็นประโยชน์ทุกขณะจิต ให้การเกิดของลูกเป็นการเกิดเพื่อให้ครอบครัวได้เรียนรู้การพ้นทุกข์ร่วมกัน ไม่ใช่มาสร้างเวรกันต่อไป และที่สำคัญ อย่าใช้ชีวิตที่มีอย่างคนที่ตายทั้งเป็น คร่าชีวิตตัวเองไปวันๆ ด้วยการเป็นเหยื่อของอารมณ์”

เมื่อฟังเรื่องความตาย จึงทำให้นึกถึงเมื่อครึ่งเดือนก่อน คุณแม่ผู้แข็งแรงของฉันก็เกือบเอาชีวิตไม่รอดจากโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ต้องผ่าตัดสมองด่วนหลังจากถึงโรงพยาบาลด้วยอาการปวดศีรษะ เพราะเพียง ๒ ชั่วโมงท่านก็เริ่มไม่รู้สึกตัวและผลสแกนสมองบอกว่า สมองบวมมาจนเบียดแกนสมองที่ควบคุมการหายใจและการเคลื่อนไหว หากไม่ผ่าตัดทันที คุณแม่ที่เตรียมตัวจะไปเที่ยวเวียดนามกับเราทั้งครอบครัวในวันรุ่งขึ้นก็อาจกลายเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้

สามวันผ่านไปในห้องไอซียู คุณแม่ฟื้นขึ้นมาพูดจากันได้ ท่านบอกว่า “พระให้แม่มาเกิดใหม่เพื่อทำความดี แม่ไม่กล้าโกรธเกลียดใครอีกแล้ว แม่จะไปขอขมาทุกคน แม้แต่คนที่แม่ตั้งใจว่าจะไม่ไปเผาผี เพราะแม่รู้แล้วว่า จิตแรกที่ฟื้นขึ้นมานั้นมันผูกพันอยู่กับคนที่เราเกลียดที่สุด อยากจะไปคืนดีกับเขา ไม่อยากตายไปอย่างจองเวรกันต่อไป” บางทีอาจไม่ใช่คนที่รักที่สุดนะที่นึกถึงเมื่อจะตาย

ประสบการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นนี้เป็นการเรียนรู้ “เคล็ดลับคลายทุกข์” ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงของการทำงานอาสาสมัคร “เพียงเดินออกจากโลกอันคับแคบของเรา แล้วร่วมทุกข์กับเพื่อนมนุษย์ ความทุกข์ที่เรารู้สึกว่าใหญ่ก็เล็กลง” ... แต่เราก็มักจะลืมเคล็ดลับนี้

หนทางหนึ่งของโอกาสในเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงภายในที่เรียกว่า “จิตตปัญญาศึกษา” คือ การทำงานอาสาสมัคร ซึ่งอาจเป็นเพียงแค่การนั่งลงและรับฟังทุกข์สุขของใครสักคนอย่างเปิดใจกว้างและวางอคติ เพราะการรับฟังอย่างเพื่อนร่วมทุกข์นี่แหละ คือการเยียวยาความทุกข์ได้ชะงัดนัก และตัวเราจะเกิดปัญญาที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองจากการ “เป็นทุกข์” สู่ความสิ้นทุกข์เพราะ “เห็นทุกข์” เป็นธรรมดาของชีวิตที่มีเพื่อเรียนรู้เท่านั้นเอง



โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๑

กระแสความขัดแย้งและความรุนแรงในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ประท้วงรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ของชาวธิเบต เหตุการณ์ความรุนแรงในอิรัก ในอิสราเอล หรือแม้กระทั่งความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะข่าวการวางระเบิดรถยนต์ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี ทำให้เกิดคำถามในใจว่า มีพื้นที่ปลอดภัยที่จะได้ทำงานเพื่อสันติภาพของคนกลุ่มต่างๆ ให้แก่พี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่อีกบ้างหรือไม่ สันติภาพเกิดขึ้นได้จริงหรือ

ประกอบกับได้มีโอกาสไปจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “สตรีและสันติภาพ” ให้กับกลุ่มผู้หญิงในประเทศเพื่อนบ้านประเทศหนึ่ง ได้ฟังเรื่องเล่าที่ผ่านประสบการณ์ของผู้หญิงเหล่านั้น ที่ได้พบเห็นและประสบกับความรุนแรง ความอยุติธรรมที่มนุษย์ทำกับมนุษย์ที่เป็นเพื่อนร่วมชาติด้วยกันเอง มีหลายคำถามที่สะเทือนใจ สะเทือนความรู้สึกของผู้ฟัง เช่น พวกเรานักสันติวิธีเรียกร้องให้ทุกคนปฏิบัติให้เกิดสันติภาพทั้งในใจของเราเอง (inner peace) อันเป็นสิ่งสำคัญเฉกเช่นสันติภาพภายนอกที่เป็นรูปธรรม เช่น การหยุดยิง การหยุดเข่นฆ่าทรมาน คำถามที่ตามมาคือ จะทำให้ใจสงบ เกิดสันติภาพภายในใจได้อย่างไร ถ้าความอยุติธรรม การเอาเปรียบ การทรมาน รวมทั้งการข่มเหงทั้งทางร่างกายและจิตใจยังคงเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ การเรียกร้องแต่ปากให้สร้างและรักษาสันติภาพ ให้ยึดมั่นในหลักสันติวิธี รวมถึงการเรียกร้องให้ให้อภัยแก่ผู้ทำร้ายเรา จะทำได้อย่างไร คำถามในทำนองเดียวกันนี้ เกิดขึ้นกับสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence) เช่นกัน หลายคนได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ผู้หญิงจำนวนมากได้รับและต้องอดทนกับความทุกข์ที่เกิดจากการกระทำของสามี ไม่ว่าในเรื่อง “คำพูด” “คำด่า” ที่ล้วนแต่ลบหลู่เสียดแทงความรู้สึกและขาดความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของคนๆ หนึ่ง ตลอดจนถึงขั้นร้ายแรงทำร้ายร่างกายให้เจ็บปวด อับอาย และอาจถึงอันตรายต่อชีวิตและจิตใจ

กรณีต่างๆ เหล่านี้ กลุ่มผู้หญิงหลายๆ ศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ มุสลิม และฮินดู ได้แบ่งปันประสบการณ์ตามบริบทที่ตนเองประสบมา รุนแรงมากบ้าง น้อยบ้าง ตามสถานการณ์และประสบการณ์ของแต่ละคน

ในฐานะที่พวกเรายึดมั่นว่ามนุษย์สามารถพัฒนาได้ มนุษย์มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างตามเจตนาได้ กับทั้งคำสอนที่ว่า มนุษย์เป็น “นายของตนเอง” “เราเป็นโลก” (We are the world) มนุษย์เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของตนเองด้วยการกระทำ จึงนำไปสู่ความเชื่อที่ว่า สันติภาพต้องเกิดขึ้นได้ ถ้าพวกเราพร้อมใจกันสร้าง “เงื่อนไข” สันติภาพและลดทอน “ปัจจัย” ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่จะแปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรง เช่นความอยุติธรรม การเล่นพวก การคอรัปชั่น การกดขี่ข่มเหง และดูถูกกันและกัน ด้วยปัญหาอัตลักษณ์ต่างๆ เช่น ข้าราชการสำคัญกว่าชาวบ้าน ศาสนาพุทธเท่านั้นคือสัญลักษณ์ของความเป็นคนไทย เป็นต้น

สันติภาพทั้งภายในและภายนอก จะเกิดขึ้นได้จากเงื่อนไขประการหนึ่งคือ “ทัศนคติ” ที่เชื่อมั่นในวัฒนธรรมที่ว่า “มนุษย์สามารถพัฒนาได้ มนุษย์เปลี่ยนแปลงได้”

คำกล่าวเช่นนี้คงไม่เกินความจริง ถ้าทุกคนเชื่อมั่นใน “ปัจจุบันขณะ” และการสร้าง “กรรมใหม่” คือการกระทำในปัจจุบันที่เป็นการลดเงื่อนไขของความรุนแรง และเสริมสร้างปัจจัยของวัฒนธรรมสันติภาพ เช่น การมองเพื่อนมนุษย์เป็นมนุษย์ แม้ศัตรูของเราก็เป็นผู้ร่วมชะตากรรม เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน หรือ ทุกคนก็รักสุข เกลียดทุกข์เหมือนกัน เราเพียงไม่พอใจและรับไม่ได้กับการกระทำความรุนแรง ความโหดร้าย แต่ผู้ก่อการก็ยังควรได้รับความเมตตา ในฐานะที่เขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ถ้าทุกฝ่ายตระหนักถึงแนวคิดและทัศนคติของวัฒนธรรมสันติภาพข้อนี้ การซ้อมผู้ต้องสงสัย การเค้นทรมานในการสอบปากคำผู้ต้องสงสัยหรือผู้ก่อการคงจะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดน้อยลง สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างกรรมปัจจุบัน ที่เริ่มจากทัศนคติและวิธีคิดที่เหมาะสมต่อศัตรูของเรา ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการลดความเกลียดชัง การแก้แค้นลงได้

กรณีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลจีนและผู้ลี้ภัยชาวธิเบตก็เช่นกัน ถ้าทุกคนได้ตระหนักถึงวัฒนธรรมสันติภาพอีกข้อหนึ่งว่า เราจะไม่เหมารวมว่าทุกคนที่เป็นคนจีนเป็นคนโหดร้าย หรือทุกคนที่เป็นชาวธิเบตเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลจีน การทำร้ายผู้บริสุทธิ์ทั้งชาวจีนและชาวธิเบตก็ไม่เกิดขึ้น

เงื่อนไขเหล่านี้ เราในฐานะมนุษย์สามารถจัดสรรให้เกิดขึ้นเป็นกรรมปัจจุบันที่มีพลัง เพื่อป้องกันความขัดแย้งไม่ให้แปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรงได้

ในกรณีที่มนุษย์ประสบกับการกดขี่ข่มเหงและการเอาเปรียบซึ่งๆ หน้า และขณะนั้นเราไม่สามารถช่วยเหลือเหยื่อได้อย่างที่ต้องการ การตระหนักถึงจุดยืนที่ว่าสันติภาพต้องเกิดขึ้นได้ อย่างน้อยสันติภาพภายในของเรา กล่าวคือ ถ้าได้พยายามทุกวิถีทางที่จะบรรเทาและลดความทุกข์ของผู้นั้นแล้ว แต่เหลือความสามารถของเราในขณะนั้น (ข้อจำกัดเรื่องอำนาจ อุปกรณ์ สถานที่หรืออื่นๆ) ที่จะช่วยเหลือได้ เราก็จำเป็นจะต้องสร้างสันติภาพในใจของเรา คือ ทำใจให้เป็นอุเบกขาให้ได้ เพื่อจะไม่ต้องเกิดทุกข์ เพื่อเหลือปัญญาให้คิดอ่าน มีสติที่จะแก้ไขสถานการณ์นั้นด้วยวิธีการอื่นต่อไป คำอธิบายเช่นนี้อาจจะผ่อนคลายความกังวลของผู้หญิงในการอบรมที่ไม่มั่นใจต่อการสร้างสันติสุขภายในใจ ทั้งๆ ที่พบเห็นความอยุติธรรมและความรุนแรงลงได้บ้าง

นอกจากทัศนคติและท่าทีที่เชื่อว่ามนุษย์สามารถพัฒนาได้ มนุษย์สามารถสรรค์สร้างสันติภาพพร้อมกันได้ รวมทั้งความเชื่อมั่นในวัฒนธรรมสันติภาพจะเกิดขึ้นได้แล้ว การยึดมั่นในการปฏิบัติในการ “ฟังอย่างลึกซื้ง” ในกระบวนการ Dialogue ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งซึ่งจะนำสันติภาพมาสู่ตนเอง องค์กร ชุมชน และสังคมส่วนรวมได้ สอดคล้องกับสถานการณ์จริงที่ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ถ้าอีกฝ่ายตอบโต้ด้วยความรุนแรง ก็จะมีความรุนแรงขยายตัวไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้ายึดมั่นว่าความรุนแรงจะถูกทำให้จำกัดพื้นที่ลง เมื่อทั้งสองฝ่ายปฏิบัติต่อกันด้วยความเป็นมนุษย์ เคารพคุณค่าของความเป็นมนุษย์ โดยผ่านกระบวนการ Dialogue ที่เปิดพื้นที่ให้คู่กรณีได้มีโอกาสฟังกันอย่างลึกซึ้ง ด้วยความเมตตา ด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ร่วมฟังความทุกข์ยาก ความจำเป็นและเหตุผลของแต่ละฝ่าย และลบล้างการตัดสินไว้ก่อนว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิด ให้พยายามลืมอดีตว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้กระทำการก้าวล่วงอีกฝ่ายหนึ่ง ณ ช่วงเวลานี้ เหมือนจะเรียกร้องให้อภัยกัน ซึ่งในสภาพความเป็นจริงมิได้ทำได้ง่ายนัก แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายใช้การไตร่ตรอง ละเลยการตัดสินความผิดของแต่ละฝ่ายไว้ก่อน โอกาสแห่งการถอยคนละก้าว เพื่อที่จะหาทางออกของปัญหาร่วมกัน อาจเป็นไปได้มากขึ้น ขอเพียงให้ทั้งสองฝ่ายนำ “ความเป็นมนุษย์” ผู้รักสุข เกลียดทุกข์มาฟังและพิจารณากันอย่างจริงใจในวง Dialogue เท่านั้น แนวทางสันติภาพที่ใครๆ ไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นได้อาจอยู่ไม่ไกลเลย

ในสภาวการณ์ปัจจุบัน หลายฝ่ายเรียกร้องให้คู่กรณี เช่น รัฐบาลจีนและผู้ประท้วงชาวธิเบตได้ทำ Dialogue ระหว่างกัน พวกเราได้แต่ภาวนาว่าให้ทัศนคติเช่นนี้ได้ถูกทำให้เป็นการปฏิบัติ ได้นำสันติภาพกลับคืนมาโดยเร็ว โดยผ่านความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ในการพัฒนาสู่การเปลี่ยนแปลง และด้วยวัฒนธรรมของการฟังด้วยใจที่เมตตา เพื่อให้เกิดปัญญาและสันติในที่สุดนั่นเอง



โดย กอบแก้ว มโนมัยพิบูลย์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๑

ในรอบปีเก่าที่ผ่านไป นับเป็นปีที่ “จิตตปัญญา” แทรกซึมเข้ามาในชีวิตของผู้เขียนอย่างมาก ไม่ว่าจะในการทำงานประจำ ในการดำเนินชีวิต ในการเรียนรู้กับกลุ่มที่เริ่มงานด้านจิตตปัญญาศึกษาอย่างเอาจริงเอาจัง เป็นความพยายามพึงระลึกถึงการนำมาใช้ หรือไม่ก็ทบทวนประสบการณ์ที่ผ่านไป โดยที่ผลลัพธ์ที่ได้มักจะสะท้อนออกมาในรูปที่เราจะเห็นหรือเข้าใจได้ว่า เรามีความสุขใจหรือมีความทุกข์ใจหรือไม่อย่างไร และทำให้เราพยายามไม่เบียดเบียนตัวเองหรือคนอื่นๆ ที่เราใช้ชีวิตร่วมกันไม่ว่าจะที่บ้าน ที่ทำงาน หรือสถานที่ที่เราไป หรือใครๆ ที่ผ่านมาในชีวิตเรา แต่อะไรคือทุกข์หรือสุขของใครนั้นจะไม่เหมือนกัน

วิธีการง่ายๆ ทางจิตตปัญญาสำหรับผู้เขียน คือ การจัดให้มีเวลาคิดใคร่ครวญในสิ่งที่เรารู้สึก เรานึกคิด เรากระทำลงไปแล้วในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม โดยอยู่กับตัวเอง สำรวจใจและ/หรือสำรวจอารมณ์ของตนเอง ว่ามีสภาพเป็นอย่างไร เวลาในที่นี้อาจจะเป็นเวลาทันทีทันใดภายหลังจากที่เรารู้สึก นึกคิดหรือทำแล้วก็ได้ หรือเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นกรณีที่ความรู้สึก ความนึกคิดหรือการกระทำเดิมๆ กลับมาให้เราคิดถึงอีก เมื่อเราไม่สามารถถอดถอนออกจากใจเราได้ (หรือที่เรียกว่า “คิดไม่ตก”) แล้วเราก็จะได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นจากสิ่งเหล่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม การจัดให้มีเวลาที่เหมาะสมหรือการใช้เทคนิคเพื่อที่เราจะสามารถคิดใคร่ครวญได้อย่างเป็นกลางและเติบโตขึ้นในเชิงบวกนั้น ผู้เขียนยังไม่มีหลักประกันว่าทำได้อย่างเหมาะสมแล้วหรือไม่

การตั้งรับกับมากมายหลายหลากเหตุการณ์ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจากด้านในสู่ ที่จะขอลองแบ่งปันเล่าสู่กันฟังบางเรื่องราว เช่น

ผู้เขียนไม่ค่อยจะรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณใคร หรือต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณใครนัก ตราบจนกระทั่งได้ฟังข่าวเด็กน้อยไม่กี่ขวบที่โดนทีวีตกลงมาทับแล้วเสียชีวิต ทำให้พวกเราทุกคนในบ้านต้องกุลีกุจอเก็บข้าวของ เปลี่ยนตำแหน่งของหนัก หรือจัดเก็บให้รัดกุม เพื่อป้องกันหลานน้อยอายุไม่ถึงขวบที่ชอบคลานไปคลานมา ไม่ให้ชนแล้วข้าวของล้มหล่นลงมาทับ

ผู้เขียนรู้สึกวาบเข้ามาในใจทันทีว่า กว่าหลานเราคนนี้จะโตนั้น มีร่างกาย สมอง หัวใจของหลายคนเฝ้าระแวดระวัง ไม่ให้เขาได้รับอันตรายและสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ หลายต่อหลายคนที่เขาคงลืมไปเมื่อเติบใหญ่ขึ้น หรือไม่ก็คนนั้นจากไปก่อนที่เขาจะจำความได้

ย้อนมาที่ตัวของเราเอง กว่าตัวเราจะเจริญเติบโตมาได้ถึงเพียงนี้ จริงๆ แล้วเราจำไม่ได้ทั้งหมดหรือไม่รู้ว่า เราได้รับการอุปถัมภ์อุ้มชูทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมจากใครต่อใครมาบ้าง หลานทำให้ผู้เขียนคิดได้ว่า การมีเราอยู่ได้ทุกวันนี้ และในอนาคตต่อไปข้างหน้า มีมือที่มองไม่เห็นช่วยเหลือเรา มีการพึ่งพาอาศัยกันอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราปฏิสัมพันธ์ล้วนเป็นธรรมะจัดสรรให้เราประสบและพานพบ เราต้องมีท่าทีที่ระมัดระวัง เพราะมีบุญคุณกับเราไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง และเกิดความรู้สึกขอบคุณต่อทุกสิ่งทุกอย่างนั้น

การจัดระบบใหม่หรือทบทวนความสัมพันธ์ใหม่ในครอบครัว ภายหลังมีความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง ถึงแม้จะยังไม่ถึงขั้นสูญเสีย แต่ทำให้การดำเนินชีวิตปกติของพวกเราไม่เป็นดังเดิม ตัวเองก็ต้องต่อสู้เพื่อให้ก้าวพ้นความทุกข์ใจและรับสภาพความเปลี่ยนแปลงให้ได้ และระหว่างสมาชิกในครอบครัวกันเอง ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน หรือการพร้อมรับต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของสมาชิกในครอบครัวที่ไม่เท่ากัน ก่อให้เกิดความเครียดที่พวกเราในครอบครัวก็รู้สึกกันเองได้ แต่การพูดคุยกัน หันหน้าสู้ปัญหา ทำความเข้าใจกัน ความห่วงใยความรู้สึกซึ่งกันและกัน เห็นใจกัน ให้กำลังใจกันในหมู่พี่ๆน้องๆ ทำให้สามารถคลี่คลายปัญหา เข้มแข็งขึ้นและรู้สึกได้ถึงความอบอุ่นที่เพิ่มขึ้น

ผู้เขียนรู้สึกและสำนึกถึงความเป็นครอบครัวและพลังของครอบครัว ที่เป็นบ่อเกิดของกำลังใจที่เราตระหนักถึงคุณค่าและสัมผัสได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทุกคนมีตัวของตัวเองหรือครอบครัวที่ต้องให้ความเคารพ และครอบครัวเป็นสถาบันสังคมหนึ่งที่จะต้องได้รับการการทะนุถนอมเป็นอย่างดีด้วยสมาชิกในครอบครัวนั้นๆ

ด้วยคำว่า “จิตตปัญญา” อาจเป็นคำที่เริ่มจะได้ยินเรื่อยๆ เหมือนนกแก้ว นกขุนทองเจื้อยแจ้วให้สงสัยกันเอง แม้แต่คนทำงานด้านนี้ว่าคืออะไร แต่สำหรับผู้เขียนแล้วเป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้งมาก และกำหนดให้เรามีท่าทีที่ต้องระมัดระวังต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดจากอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของเรา ถ้าหากมีผลกระทบทางลบเกิดขึ้น ผู้ได้รับคนแรกจะเป็นเราและอีกฝ่ายหนึ่ง รวมถึงครอบครัวของเราและครอบครัวของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย คิดว่าครอบครัวได้รับอานิสงส์เป็นอย่างมากจากการที่ผู้เขียนเข้ามาข้องแวะกับคำๆ นี้

สองตัวอย่างที่เขียนถึงนี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนตัวของเราเองว่า ใครต่อใครคงไม่มีอิทธิพลต่อตัวเราเท่าความรู้สึกนึกคิดของตัวเราเองและครอบครัวของเรา โดยเป็นเหตุ-ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงขึ้น สำหรับสังคมแวดล้อมที่เราเกี่ยวข้องและมีโอกาสปฏิสัมพันธ์ด้วยรวมถึงข้อมูลข่าวสารที่ผ่านเข้ามาให้เรารับรู้นั้นก็มีความสำคัญ แต่น่าจะมีอิทธิพลรองๆ ลงไป

เขียนมาถึงตรงนี้อยากจะบอกว่า สิ่งที่ผู้เขียนเรียนรู้จากตัวเองและครอบครัวในรอบปีที่ผ่านมา เขียนได้ด้วยคำหนึ่งคำ คือ “ความรัก” โดยเฉพาะความรักที่มีต่อตัวเอง ที่เป็นหนี้บุญคุณธรรมชาติและใครต่อใครมากมาย ความรักครอบครัวและความรักที่ได้รับจากสมาชิกในครอบครัว สอนให้ตระหนักถึงคุณค่าและพลังแห่งการมีชีวิตอยู่ร่วมกัน ซึ่งอาจนำไปขยายหรือเชื่อมโยงหรือประยุกต์ใช้กับสังคมสิ่งแวดล้อมต่อไปได้

สิ่งที่เขียนข้างต้นนั้น เกิดขึ้นได้เพราะเรามี “ความรัก” นั่นเอง เราได้เรียนรู้และคิดได้ว่า “รัก” มีความสุขและมีพลังอย่างไร จากการเข้าใจในความรักตัวเองและครอบครัว

Newer Posts Older Posts Home