โดย มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๑

ระหว่างเดินเล่นท่ามกลางอากาศเย็นสบายบนเขาเมืองดารัมศาลา (Dharamsala) ประเทศอินเดีย ที่อยู่ขององค์ดาไลลามะและรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต ผู้เขียนเห็นชื่อร้านขายของที่ระลึกเล็กๆ แห่งหนึ่งว่า “Same Same But Different” สะท้อนสิ่งที่ผู้เขียนกำลังเรียนรู้ในช่วงนี้คือ พุทธศาสนามหายานแนวทิเบต และพุทธศาสนาหีนยาน ดังจะลองแลกเปลี่ยนเท่าที่เข้าใจในขณะนี้

พุทธศาสนาหีนยานที่เป็นสายหลักของบ้านเรานั้น เป้าหมายหลักคือการละความเห็นผิดในอัตตาตัวตน ไม่ว่าจะรู้จักธรรมะกี่หมวดกี่ประเภท ฝึกด้วยวิธีการใดก็ตาม สมถะภาวนา วิปัสสนาภาวนา หรือแนวต่างๆ ที่เกิดขึ้นนับไม่ถ้วน ถ้าผู้ปฏิบัติยังมีความอหังการ์ ยกตนข่มท่าน เห็นตัวเราเองเป็นหลัก เราถูกเสมอ คนอื่นเป็นเพียงอณูธุลีรายล้อมเรา ทำไมคนอื่นทำแบบนั้น ฯลฯ เราก็ยังคงมีอัตตาเหนียวแน่นอยู่นั่นเอง

ถ้าจะสร้างตัวชี้วัด (Indicator) เพื่อดูว่าเราก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมแค่ไหน เราอาจดูได้จากพฤติกรรมของเราทั้งทางกาย วาจา และที่สำคัญคือใจ ว่าแสดงออกถึงอัตตาตัวตนมากน้อยแค่ไหน

สำหรับพุทธศาสนามหายานแนวทิเบตที่ดารัมศาลานี้ เกชิลา (พระอาจารย์ที่ผ่านการฝึกมา) สอนว่าศัตรูหลักของเราทุกคนที่แท้คือ อัตตาตัวตนหรือ Self-grasping ส่วนศัตรูที่ร้ายยิ่งกว่าคือ ความเห็นผิดในอัตตาตัวตนนั้น สิ่งที่เน้นเพิ่มขึ้นมาเพื่อทำให้เป้าหมายหลักบรรลุผลได้ดีขึ้นคือการเน้นการใส่ใจคนอื่นมากขึ้น หรือ Cherishing others ด้วยการฝึกหัดในหลายรูปแบบ เช่น ทองเลน

ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วเป็นเนื้อเดียวกันกับสายหีนยานที่บ้านเราเรียนกันอย่างชัดเจน

ความเหมือนของสองสายชี้ให้เห็นความตรง (Validity) ของศาสนาพุทธ ถึงเป้าหมายที่จะไปถึง แม้จะมี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และบทอธิบายเพิ่มเติมอีกนับไม่ถ้วน ล้วนแล้วแต่ไปเพียงเพื่อจุดประสงค์เดียวเท่านั้น

ความแตกต่างของพุทธศาสนามหายานแนวทิเบตต่อแนวบ้านเราที่พบคือ เน้นการบรรลุไปเพื่อช่วยเหลือคนอื่นต่อ นั่นแปลว่าบรรลุธรรมสูงสุด (Full Enlightenment) ด้วย และกลับมาเกิดใหม่ด้วยความตั้งใจจะช่วยสรรพชีวิตทั้งหลายอีกด้วย ในขณะที่พระอรหันต์ของเราคือผู้ที่หลุดพ้น (Liberation) ไปเลย

การบรรลุธรรมสูงสุดดังกล่าวนี้จะมีเมตตาและปัญญาเต็มบริบูรณ์ดั่งพระพุทธเจ้า

จากการถามเกชิลาว่าการฝึกปฏิบัติสมถะภาวนาและวิปัสสนาภาวนาที่เราฝึกกันเพื่อบรรลุอรหันต์นั้นเป็นคนละสายกับการเป็นพระโพธิสัตว์ หรือผู้ที่ใฝ่การบรรลุธรรมสูงสุดใช่หรือไม่ ท่านตอบว่าไม่ใช่ เดินบนหนทางเดียวกัน พระอรหันต์เองก็สามารถเดินต่อไปในสายพระโพธิสัตว์ได้เช่นเดียวกัน

ท่านเปรียบเทียบเหมือนจะไปต่างประเทศจากดารัมศาลา เราต้องไปที่เมืองเดลลีก่อน แล้วบินต่อไปประเทศอื่น เมืองเดลลีเปรียบเสมือนบรรลุพระอรหันต์ ซึ่งเป็นที่พักให้ใจสบายได้ และสามารถเดินทางต่อไปได้อีก ถึงกระนั้นก็มีบางคนนิยมอีกทางคือบินตรงจากดารัมศาลาไปยังที่หมายเลย คำตอบนี้อยู่บนฐานของความเชื่อโรงเรียนหนึ่ง ในขณะที่อีกโรงเรียนเชื่อว่าการจะเป็นพระอรหันต์นั้นเป็นคนละสายกับการเดินทางแนวพระโพธิสัตว์

เมื่อดูในระเบียบการปฏิบัติของชาวมหายานแล้ว ก็จะพบว่าต้องฝึกวิธีการหลากหลายรวมทั้งสมถะภาวนาและวิปัสสนาภาวนาอย่างที่เราคุ้นเคยกัน วิธีหนึ่งที่หลายท่านอาจรู้จักดีอยู่บ้างคือทองเลน หรือการฝึกให้และรับ (Giving and Taking Practice) เป็นการฝึกหลายขั้นตอน มีเป้าประสงค์หลักเพื่อลดอัตตาตัวตนเพิ่มการใส่ใจผู้อื่นชัดเจน

การให้ หมายถึง ให้สิ่งที่ดี คุณธรรม พลังบวก ฯลฯ แก่สรรพชีวิตทั้งหลาย การรับ หมายถึง การรับความทุกข์โศก สิ่งที่ไม่ดี พลังลบทั้งหลายให้เข้ามา เริ่มด้วยการสร้างภาพ (Visualization) และได้มีการออกไปปฏิบัติจริงในพื้นที่บ้าง

ผู้เขียนถามพระอาจารย์ว่าทองเลนจะไปฝึกอย่างไรกับสถมะภาวนาและวิปัสสนาภาวนา พระอาจารย์บอกว่าให้ไปฝึกเสียก่อน เท่าที่ผู้เขียนได้ลองปฏิบัติดูก็พบว่าการฝึกทองเลนเป็นการสร้างความเมตตากรุณาให้กับผู้ฝึกได้อย่างง่ายดาย สามารถทำให้ใจเราเปิดรับผู้อื่นได้ง่ายขึ้นมาก เมื่อต่อด้วยสมถะภาวนาหรือการฝึกให้ใจนิ่งนั้น ทางมหายานเรียกว่า Single-point mind training ซึ่งแสดงชัดเจนว่าทำให้ใจอยู่ที่เดียว เป็นการเตรียมพร้อมให้ใจมีพลังทำงานต่อในส่วนของวิปัสสนาภาวนา หรือการเรียนรู้วิเคราะห์วิจัยการทำงานของจิตใจเราอย่างละเอียดจนเกิดปัญญา เป็นขั้นตอนที่สอดคล้องและเอื้อต่อกันเป็นลำดับ

ทฤษฎีธรรมะและการปฏิบัตินั้นยังมีอีกนับไม่ถ้วน ล้วนแล้วแต่น่าสนใจน่าเรียนรู้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นอย่างจริงจังกับวิธีการใดๆ ให้ลึกซึ้งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เราเรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้งจริง ก่อนจะต่อยอดไปในแนวทางอื่นๆ ดังที่ครูบาอาจารย์ไม่ว่าสายใดพร่ำสอนมา

แม้ว่าการเดินทางสายนี้ยังอีกยาวไกล อย่างน้อยความเหมือนในความแตกต่างนี้ช่วยให้เราชัดเจนมากขึ้นในเป้าหมายที่กำลังเดินไป



โดย ปิยพงศ์ ดาวรุ่ง
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๑

“ทำอะไรเร็วๆ หน่อย!! สายแล้ว เดี๋ยวไปทำงานไม่ทันหรอก”
“เฮ้ย เร่งมือหน่อย ยังมีงานต้องทำอีกเยอะนะ”
“นี่เธอ! จะนั่งเหม่อไปถึงไหน งานตรงหน้ายังไม่เสร็จนะยะ” ฯลฯ

ล้วนเป็นประโยคที่ได้ยินบ่อยๆ สังคมเมืองซึ่งเต็มไปด้วยข่าวสารข้อมูล คำว่า “ฉับไว รวดเร็ว” จึงเป็นนิยามของความอยู่รอดในสังคม สังคมที่ต้องแข่งขันและชิงไหวชิงพริบกันตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ได้หล่อหลอมให้ผู้คนต้องทำอะไรๆด้วยความรวดเร็ว และทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน จนกลายเป็นความ”เร่งรีบ” ที่คุ้นชิน สมองถูกใช้ไปในการคิดวิเคราะห์ จนแทบไม่เหลือช่องว่างให้กับการ “รับรู้” อารมณ์ ความรู้สึก มุ่งมั่นกับเป้าหมายที่ตั้งไว้จนใบหน้าที่แสดงออกมากลายเป็นพิมพ์นิยมดุจดั่ง “คนเหล็ก: Terminator” ไร้ซึ่งอารมณ์ จะมีสักช่วงไหมในยี่สิบสี่ชั่วโมงที่เรารับรู้ถึงบรรยากาศรอบข้าง สายลม แสงแดด ยามที่สัมผัสผิวกาย เรารู้สึกอย่างไร เสียงแตรรถ เสียงนกร้อง เรารู้สึกอย่างไร กลิ่นน้ำเน่า กลิ่นดอกไม้ เรารู้สึกอย่างไร ยามได้เห็น หน้าตาอันบูดบึ้ง หรือมีรอยยิ้ม เรารู้สึกอย่างไร เราเคยสังเกตไหม หรือเพียงปล่อยให้มันผ่านไป แม้กระทั่งร่างกายของเราเอง ถ้าไม่ปวดเมื่อย หรือป่วยไข้จนกระทั่งทนไม่ไหว ก็คงไม่ได้รับการดูแล จำเป็นไหมที่ต้องรอให้เกิดความเจ็บป่วย?

วิถีชีวิตของผมก็เคยเป็นอย่างนั้น จึงได้รู้ว่าร่างกาย จิตใจไม่ได้แข็งแกร่งเท่าไหร่หรอกครับ มีช่วงอ่อนแอ เปราะบางบ้าง ยามเจ็บป่วยจึงได้เรียนรู้จริงๆ

“ความเจ็บป่วย” เมื่อได้ยินคำนี้มักจะนึกถึง ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นทางกาย ในที่นี้อยากให้รวมถึง ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นทางใจด้วย เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อความเจ็บป่วยเกิดขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่งของร่างกาย หรือจิตใจ แม้กระทั่งความคิด ย่อมส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน เช่น เมื่อโหมทำงานหนักจนร่างกายรับไม่ไหว ส่งสัญญาณขอหยุดพักจนต้องเข้าโรงพยาบาล ความวิตกกังวลในเรื่องงานที่ยังคั่งค้างก็นำพาความหวาดกลัวเข้ามาเยือนในหัวใจ จิตใจที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้พยายามคิดหาทางให้บรรลุถึงเป้าหมาย แต่แล้วด้วยสภาพร่างกายที่ไม่พร้อมแบกรับความกดดัน ก็ไม่สามารถทำได้อย่างที่คิด ความอึดอัด ความหงุดหงิดเข้ามาเยือน เมื่อทนไม่ไหวก็พาลระเบิดอารมณ์ไปกับคนรอบข้าง ส่งความไม่สบายใจไปให้เขาโดยไม่รู้ตัว มองย้อนกลับไป สัญญาณทางกายที่แสดงออกมาก็เปรียบเหมือนการสื่อสาร เพียงแต่เรารับฟังเสียงของเขาจริงๆ ก็จะเห็นความต้องการของเขาอย่างชัดเจน ความดื้อรั้นโดยไม่ยอมรับฟังรังแต่จะเป็นการทำลายตน คงไม่มีใครอยากทำร้ายบ้านของตนเองหรอกนะครับ ลองนำพาตนเองออกจากกระแสแห่งความคาดหวัง และความเร่งรีบชั่วขณะ โดยการอยู่นิ่งๆสักพัก เราก็จะรับรู้ ความรู้สึกในกาย จิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น ขอให้เพียงแค่ “รับรู้” เท่านั้นเอง

การเปลี่ยนจากสภาวะเร่งรีบ มาสู่สภาวะแห่งการรับรู้สามารถทำได้โดยทำกิจวัตรให้ช้าลง อืม ... ผมเริ่มได้ยินเสียงแย้งในใจขึ้นมาทันทีทันควัน เช่น “จะบ้าหรือเปล่า คนกำลังรีบจะให้ช้าได้ยังไง” “มัวแต่รับรู้ รับรู้ แล้วเมื่อไหร่มันจะเสร็จ” และอื่นๆ อีกมากมาย ขอให้อดทนอ่านต่อไปอีกนิดนะครับ คำว่า “ช้าลง” ไม่ได้หมายถึงต้องทำอะไรช้าตลอดเวลานะครับ เคยได้ยินคำว่า “ช้าเพื่อจะเร็ว” ไหม มีคนเปรียบชีวิตเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ใช้ในการเรียนรู้และทดลองได้ตลอด ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่จะเสนอนี้คือการทดลองก็แล้วกันครับ

ผมอยากให้ลองใช้เวลาประมาณสิบห้านาทีในช่วงเช้าก่อนเริ่มกิจวัตรประจำวันใดๆ โดยการนั่งในท่วงท่าที่ผ่อนคลาย พยายามจัดสถานที่ให้อากาศถ่ายเท ดูแล้วสบายตา หรืออาจเปิดเพลงบรรเลง ช่วยสร้างบรรยากาศที่ให้ความรู้สึกสบายๆ จะมีเครื่องดื่มร้อนๆ ไว้ด้วยก็ยิ่งดีใหญ่ ระหว่างสิบห้านาทีนี้ปล่อยให้ใจเรามารับรู้ สัมผัส และดื่มด่ำกับบรรยากาศรอบข้างที่เราได้ตระเตรียมไว้แล้ว เสียงเพลงเพราะๆ อากาศสดชื่น บรรยากาศที่มองแล้วสบายตา สัมผัสอันอบอุ่นผ่านถ้วยเครื่องดื่ม รสชาติที่แสนรัญจวนใจ วางความคิดเรื่องงานไว้ก่อน ทำเพียงเท่านี้หล่ะครับ เราก็พร้อมที่จะรับมือกับความเร่งรีบที่รออยู่ตรงหน้าแล้ว ถ้าไม่อยากปวดหัวจะต้องจัดอะไรมากมาย ก็ลองนำพาตัวเองไปอยู่ในอ้อมกอดของธรรมชาติดูสิครับ สวนสาธารณะใดก็ได้ แล้วเปิดผัสสะแห่งการรับรู้ทั้ง ๕ เราก็จะได้สัมผัสถึงความ อบอุ่น และผ่อนคลายแล้ว มีคนกล่าวว่า “ธรรมชาติเป็นดั่งผู้เยียวยา” ( Nature is the Healer)

สภาวะแห่งการรับรู้ก็เปรียบเหมือนแบตเตอรี่ใช้ไปย่อมมีวันหมด การชาร์จแบตเตอรี่ก็คือการทำซ้ำๆอย่างสม่ำเสมอ บางคราทำครั้งเดียวในช่วงเช้าไม่พอ ด้วยภาวะงานที่รุมเร้า แบตเตอรี่ที่มีอยู่ถูกใช้หมดไปอย่างน่าใจหาย การชาร์จระหว่างวันก็มีส่วนสำคัญที่จะรักษาสภาวะแห่งการรับรู้ได้ เราไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเหมือนช่วงเช้า เพียงใช้เวลาสั้นๆ ในช่วงเปลี่ยนอิริยาบถ หรือเว้นว่างจากงาน ปล่อยวางความคิดเรื่องงานกลับมารับรู้สัมผัสทั้ง ๕ อีกครั้ง เท่านี้ก็เพียงพอจะรักษาสภาวะการรับรู้ได้ตลอดวันกระมัง ถ้ายังไม่พอ คงต้องชวนคนรอบข้างอีกสักสองสามคนมาทำร่วมกัน มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมมัวแต่ครุ่นคิดอยู่กับงานที่ทำ กัลยาณมิตรคนหนึ่งก็เข้ามาทักว่า “วันนี้คุณหายใจหรือยัง?” เมื่อถูกทักอย่างนี้ก็นิ่งไปชั่วขณะ แล้วก็หัวเราะครู่ใหญ่ ขำให้กับความจมจ่อมของตนเอง ทำงานจนไม่รับรู้ว่าตนกำลังหายใจอยู่ นี่แหละครับ มีเพื่อนก็ต้องช่วยกันอย่างนี้

วิถีชีวิตที่คุ้นเคยมานาน การเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งถ้ามากเกินไปอาจทำไม่ได้นาน ปรับเปลี่ยนทีละเล็กน้อย แล้วทำอยู่เป็นประจำจนคุ้นชินให้เป็นหนึ่งกับวิถีที่เป็นอยู่ การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนจึงก่อเกิด การกลับมารับรู้เป็นพื้นฐานแรกๆ ของชีวิต ที่จะทำให้เราค้นพบศักยภาพอันยิ่งใหญ่ที่แฝงอยู่ในตัวตนของเรา เป็นศักยภาพที่ไร้ขอบเขตและอัศจรรย์ใจยามได้พบ

ขอเชิญชวนพวกเราร่วมเปิดผัสสะแห่งการรับรู้ และเรียนรู้ศักยภาพในตัวตนไปด้วยกัน เดินคนเดียวมันเหงาครับ ร่วมกันเดินก็จะได้แบ่งปันประสบการณ์ที่แต่ละคนเผชิญมา เมื่อเราเตรียมฐานไว้ดีแล้ว คราวหน้าก็จะเริ่มสำรวจดินแดนแห่งศักยภาพอันไร้ขอบเขตของเรากันล่ะ



โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๑

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมประชุม Inter-religious Dialogue for Peace ที่ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อเดือนที่ผ่านมา และพบว่ามีความคิดน่าสนใจที่ทำให้หวนนึกถึงสถานการณ์ประเทศไทย ที่ผู้คนมีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน จนถึงขั้นขัดแย้งกัน ก็อยากเสนอแนะให้ “วางใจ” ว่าความคิดเห็นที่ขัดแย้งนั้นเป็นสิ่งที่ย่อมเกิดขึ้นได้ และยอมรับกันได้ มิใช่เรื่องผิดปกติ ตราบเท่าที่ทุกคนยังเป็นมนุษย์ มีบริบท ประสบการณ์ และอัตลักษณ์ที่ต่างกัน ย่อมกระทบกระทั่งและขัดแย้งกันได้ ประเด็นที่สำคัญคือต้องมี “สติ” ที่จะป้องกันมิให้ความขัดแย้งนั้นกลายเป็น “ความรุนแรง” ทั้งทางวาจาและการกระทำ

สิ่งที่ได้พูดถึงกันมากในการประชุมข้างต้นดังกล่าวนั้นก็คือ การถกเถียงว่าควรมองไปข้างหน้า คิดถึงอนาคต ร่วมสร้างอนาคตใหม่ด้วยกัน หรือยังคงมีความสำคัญต้อง “เยียวยา” บาดแผลของความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น จากการที่แต่ละฝ่ายล่วงเกิน พลาดพลั้งทำความเจ็บช้ำน้ำใจ ทำความเสียหายให้อีกฝ่ายอย่างไร เนื้อหาที่ถกกันนั้นอยู่ภายใต้หัวข้อ Healing the Past, Building the Future

มีผู้ให้เหตุผลสนับสนุน ทั้งฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ขุดคุ้ยอดีตให้มองไปข้างหน้าด้วยกัน และฝ่ายที่อยากให้เกิดการ “เยียวยา” บาดแผลที่เกิดขึ้นก่อน การถกเถียงในวง Dialogue เช่นนี้ ไม่มีคำตอบที่ “ผิด” มีแต่ความเห็นที่ “ตรงกันข้าม” หรือ “แตกต่าง” กันเท่านั้น

ในส่วนตัวของผู้เขียนเห็นด้วยกับการให้ความสำคัญต่อการเยียวยาความเจ็บช้ำน้ำใจในอดีตด้วย ถ้าผู้กระทำการล่วงเกินได้แสดงความสำนึกผิด ด้วยการใช้สติวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของตนเองและกลุ่มของตนเองอย่างจริงใจแล้ว หากพบว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งผิดในท่ามกลางสิ่งที่ดีและถูกต้องทั้งหลายที่ได้กระทำลงไป ขอให้ตระหนักรู้และแปลงความสำนึกผิดนั้นเป็น “คำขอโทษ”

การขอโทษมีได้หลายรูปแบบ ทั้งขอโทษด้วยใจ ด้วยการแผ่ความรักความปรารถนาดีไปยังผู้ที่ตนเองล่วงเกิน ขอโทษด้วยวาจา ด้วยการส่งผ่านคำที่จริงและเปี่ยมด้วยความรู้สึกรับผิดชอบต่อการกระทำที่ผ่านมา และขอโทษด้วยการกระทำที่บ่งบอกถึงการสำนึกผิด อยากทดแทนความผิดด้วยการกระทำใหม่ๆ ในปัจจุบันที่ดีกว่าเก่า

การแสดงความขอโทษอย่างจริงใจและซื่อสัตย์ ทางกาย วาจา ใจ นั้น ถึงแม้มิอาจกำจัดความเจ็บปวด ความโกรธแค้นได้ทันทีทันใด แต่สามารถมีผลทางจิตใจในระยะยาวและในอนาคตได้ เพราะเป็นความจริงที่ว่า มิอาจมีสิ่งใดคงอยู่โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ความรู้สึกโกรธและเคียดแค้นอาจถูกแปรเปลี่ยนไปได้ด้วย “บุคคล เวลา และสถานที่” ซึ่งอาจเปลี่ยนบุคคลผู้นั้นเสียได้นั่นเอง

ที่กล่าวนี้ดูเหมือนเป็นภาพเล็กๆ ของคู่ขัดแย้งส่วนบุคคล แต่ถ้าขยายไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระดับชาติ กระบวนการ “คืนดี” ก็คงไม่ต่างจากความขัดแย้งส่วนบุคคลในแง่กระบวนการ ก่อนที่จะให้อภัยกันได้ คู่ขัดแย้งควรสำรวจตัวเองอย่างจริงใจ ถึงจุดบกพร่อง ถ้าสำรวจด้วยตัวเองไม่ได้ ก็ต้องอาศัยคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้หวังดีที่มีความชอบธรรมจากภายนอกกลุ่มของตน จะเห็นได้ว่าความสามารถในการตระหนักรู้ และยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ได้นั้น ต้องอาศัย “การฟังอย่างลึกซึ้ง” ซึ่งเป็นการฟังด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความเมตตา ที่ตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ผู้อาจพลาดพลั้งได้เหมือนๆ กัน ขอให้ได้ฟังเรื่องราวของคู่ขัดแย้งให้ “สุดๆ” ก่อนการตัดสินว่าผิด และปรารถนาความใจกว้างในการคิดในมุมกลับว่า ถ้าตนเองอยู่ในตำแหน่งเช่นนั้น ตนเองจะทำอย่างไร อาจมีการกระทำเช่นเดียวกันก็เป็นได้

ก่อนที่จะเริ่มความสัมพันธ์ใหม่ ให้นึกถึงข้อปฏิบัติของชาวพุทธกลุ่มหมู่บ้านพลัม เรื่อง “การเริ่มต้นใหม่” ที่มีขั้นตอนใช้การฟังอย่างลึกซึ้งเป็นหลักสำคัญอยู่ด้วย กล่าวคือ คู่ขัดแย้งควรได้นึกถึง “ความดี” “อุดมการณ์ที่ดี” “การเสียสละ” ที่จัดว่าเป็นสิ่งดีของฝ่ายตรงกันข้าม แล้วพูดออกมาให้ชัดเจน การใช้สติสามารถมองเห็นสิ่งดีของผู้อื่นได้นั้นเป็นการเสริมสร้างความกล้าหาญในส่วนของผู้พูด และเป็นการหล่อเลี้ยงบำรุงใจของอีกฝ่ายให้มีความมั่นใจในตนเอง ให้รู้สึกดี เพื่อเป็นพื้นฐานให้สามารถแบ่งปันความรู้สึกดี และสิ่งดีๆ แก่ผู้อื่นได้ง่ายขึ้น

เมื่อสภาวะจิตของทั้งสองฝ่าย ได้รับการฉาบทาด้วยความดีผ่านการฟังอย่างลึกซึ้งแล้ว จึงค่อยก้าวย่างไปพูดและฟังถึงข้อบกพร่องข้อขัดเคืองที่อยากสื่อสารบอกกล่าวให้อีกฝ่ายได้รับทราบ แต่มีข้อแม้ว่าก่อนพูดข้อเสียหนึ่งข้อ ขอให้ได้พูดความดีของอีกฝ่ายสองข้อเสียก่อน ขั้นตอนนี้สอดคล้องกับความเป็นมนุษย์ที่มีทั้งดีและชั่ว ถูกและผิด ขอเพียงได้เห็นความดี ความถูก มากกว่าความชั่วและความผิดของอีกฝ่าย อาจเป็นโอกาสอันดีให้เกิดการคืนดี และให้อภัยกันง่ายขึ้น

ต้องไม่ลืมว่าการจะสามารถฟังความขัดข้องใจได้จริง ต้องอาศัยการฟังอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นการฟังจากภายในที่พร้อมที่จะให้อภัยด้วย

นอกจากนั้น เมื่อใจพร้อม ทั้งสองฝ่ายก็จะสามารถ “ปรับความเข้าใจ” บอกความในใจ ว่าแต่ละฝ่ายต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างไร ควรบอกความต้องการอย่างตรงไปตรงมา เป็นการแสดงความจริงใจ โดยไม่อ้อมค้อม นอกจากนั้นจะเกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้นเมื่อแต่ละฝ่ายฟังแบบ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ประกอบเข้าไปด้วย

การบอกความต้องการของแต่ละฝ่ายอย่างจริงใจจะทำให้บุคคลทั้งหลายในชุมชนได้ยิน และถ้าเป็นสิ่งที่ดีต่อส่วนรวม คงไม่มีผู้ใดอยากปฏิเสธไม่ร่วมมือด้วย คนทั้งกลุ่มเมื่อได้ฟังอย่างลึกซึ้งแล้ว ความพร้อมที่จะส่งแรงสนับสนุน ให้ความร่วมมือให้ทั้งสองฝ่ายได้กลับมาคืนดีกันง่ายขึ้น และร่วมมือกันได้มากขึ้น

กระบวนการเริ่มต้นใหม่ของชาวหมู่บ้านพลัมที่อาศัยการฟังอย่างลึกซึ้งเช่นนี้ ถือว่าเป็นกระบวนการเยียวยาที่กลับมาสัมผัสเรื่องราวในอดีตที่เจ็บปวดอย่างมีสติและมีเมตตา เป็นการยอมรับความเป็นมนุษย์ของกันและกันอย่างแท้จริง การกระทำเช่นนี้เป็นการกระทำเหตุปัจจัยในปัจจุบันที่มิได้เพ้อฝัน ที่ได้แต่เรียกร้องให้ “ลืม” “ให้อภัย” “ให้อโหสิกรรมกัน” แต่ปากอย่างเดียว แต่เป็นการทำปัจจุบันด้วย “ใจ” ที่มีสติ เป็นการเผชิญหน้ากับความเป็นจริงอย่างมีเหตุผลโดยผ่านการฟัง

ในที่ประชุมครั้งนั้น หลายๆ ฝ่ายได้ให้เหตุผลสนับสนุนว่า การเยียวยาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นการทำปัจจุบันที่ไม่ละเลยสภาพความเป็นจริง เป็นการให้ลืมอดีตอย่างเป็นไปได้มากที่สุด เป็นกระบวนการทางจิตวิทยาที่สำคัญ ก่อนที่จะเริ่มต้นและสร้างอนาคตใหม่ด้วยกัน

ก่อน “ลืม” เพื่อ “ลา” อดีตอันเจ็บปวด ขอทำปัจจุบันด้วยกระบวนการเยียวยา ด้วยวิธีเช่นหมู่บ้านพลัม โดยผ่านการฟังอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการ Dialogue

พวกเราชาวเสื้อเหลือง เสื้อแดง พลังเงียบ ตำรวจ ทหาร จะไม่ลองคิดและลองปฏิบัติวิธีนี้สักนิดก่อนถึงเวลาที่จะประกาศ “วันอภัยแห่งชาติ” กันบ้างเชียวหรือ



โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๑

...............................................................

หายใจเข้าลึกๆ แลหายใจออกยาวๆ ผ่อนคลาย

วางใจในพื้นที่แห่งนี้ วางใจในตนเองเถิด

ถือโอกาสอันสงบนี้ บอกรักร่างกายของเราเองผ่านลมหายใจ

หายใจเข้าให้ลึก ให้ทุกลมหายใจเข้าของเราไปถึงอวัยวะส่วนต่างๆ

เพื่อทักทาย ขอบคุณ และให้อวัยวะนั้นได้รับรู้ความรักของเราที่มี


หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ อ่อนโยน ละเมียดละไมต่อลมหายใจของเรานี้

เป็นความงดงามที่หล่อเลี้ยง ประคับประคองชีวิตของเรา

การรับและการให้ ดำรงอยู่กับเราตั้งแต่แรกเริ่มของการมีชีวิต ก่อนการบ่มเพาะใดๆ เสียอีก

ในทุกๆ ลมหายใจเข้าของเรา มีลมหายใจของพ่อแม่พี่น้อง

ลมหายใจของสรรพสิ่ง มีลมหายใจของทั้งผู้เป็นที่รักและผู้ที่เราเกลียดชัง

ทุกลมหายใจของเขาเหล่านั้น หล่อเลี้ยงอยู่ในร่างกายของเรานี้

และในทุกๆ ลมหายใจออกของเรา เราก็ได้ส่งมอบสิ่งต่างๆ ที่หล่อเลี้ยงในตัวเรา

แก่เขาเหล่านั้น แก่สรรพสิ่ง...เช่นกัน

ด้วยลมหายใจที่มี ที่เชื่อมโยงตัวเรากับโลกรอบตัวนี้ เรามิอาจเป็นอื่น...นอกจากลมหายใจเดียวกัน


หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ ส่งผ่านความรักและปรารถนาดีแก่กันและกัน

ความโกรธและความเกลียดชังของเรากำลังทำลายความงามของโลก

จงให้พลังในตัวเราแปรเปลี่ยนความโกรธเกลียดในเขาและเรา

ผ่านการดำรงอยู่อย่างสงบด้วยลมหายใจ ให้รักเคลื่อนผ่านหัวใจทุกดวงด้วยรักเถิด

หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ

..................................................

อยู่ๆ ลำนำบทนี้ก็ผุดพรายขึ้นมาในใจอีกครั้ง ถ้อยคำยังแจ่มชัด แม้เวลาจะล่วงเลยมา จำได้ว่าตอนนั้นฉันเป็นกระบวนกรจัดกระบวนการนำพาผู้คนเข้ามาเรียนรู้ด้านในของตนเอง เพื่อพวกเขาจะวิวัฒน์จิตวิญญาณของตน ความสงบและผ่อนคลาย นำพาถ้อยคำเหล่านี้ ไหลลื่นพร่างพรู ตอนนั้นเหมือนฉันไม่ได้พูดเพื่อพวกเขาเท่านั้น แต่ฉันก็ร่วมรับฟังและถูกนำพาไปด้วยเช่นกัน มันประทับอยู่ในใจ ยังเก็บกลับมาใคร่ครวญตนบ่อยครั้ง

เข้าใจด้วยความคิดนี่ช่างแตกต่างจากการเข้าถึงมากมายนัก เพราะ ณ ขณะที่รับเอาสิ่งต่างๆ เข้ามา ความคิดคำนวณ ดึงประสบการณ์ (อันจำกัด) มาตอบรับ ดังนั้น คำว่า “ใช่” ในห้วงขณะหนึ่ง อาจมิใช่ “ใช่” ในทุกๆ ห้วงขณะ

แต่บททดสอบหรือบทเรียนแห่งชีวิตจะเดินหน้าเข้ามาให้เผชิญ ทันทีที่เราคิดจะเลือก ตัดสิน แม้แต่หลงรัก ชื่นชม ศรัทธา กับบางสิ่งบางอย่าง อย่างไม่เห็นความเป็นจริงในตนเอง ที่พูดเช่นนี้เพราะฉันเพิ่งประจักษ์ว่า เราหลอกตัวเองเก่งกว่าหลอกคนอื่นเยอะ และคนอื่นก็หลอกเราไม่เนียนเท่ากับที่เราหลอกตัวเองเลย

เหมือนคนหลงตัว ฉันคิดและเชื่อเอามากๆ ว่า เพราะภายในอันดีงามของฉันนี่เอง และเพราะฉันเป็นผู้เข้าถึงสรรพสิ่ง ฉันถึงพร่างพรูลำนำเช่นนั้นออกมาได้ ยิ่งมีเสียงชื่นชมมากเท่าไร ฉันยิ่งหลงรักถ้อยคำของตนมากขึ้นเป็นเท่าตัว และยิ่งหลงรักถ้อยคำของตนมากเท่าไร ฉันก็ยิ่งเชื่อว่าฉันเป็นเช่นนั้นมากเท่านั้น และยิ่งฉันเชื่อว่าฉันเป็นสิ่งดีงามมากเท่าไร ฉันก็ยิ่งตัดสินโลกรอบตัวมากขึ้น มากขึ้นจนไม่รู้ว่าจริงๆ ฉันคือใคร เพราะภาพสะท้อนอื่นๆ พร่ามัว มีเพียงเสียงของความคิด... “ฉันคือความถูกต้อง ดีงาม”

โชคดีเหลือเกิน เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้น เพื่อนรักที่เป็นทั้งมิตรและครูหันหลังให้อย่างไม่มีเยื่อใย เป็นปฏิกิริยาที่สั่นคลอนอัตตาอย่างดีเยี่ยม ลำนำบทเอกที่เคยประทับใจผุดขึ้นมาย้ำเตือน ทว่า หูฉันดับเสียแล้วกระมังยามนั้น ฉันกลับเริ่มมองลำนำรักบทนี้เป็นดั่งคำประโลมโลกที่มิอาจเป็นจริง ก็เราจะเป็นหนึ่งเดียวกับไอ้คนงี่เง่าที่หันหลังและเมินเฉยต่อความดีงามและถูกต้องได้อย่างไร รักอย่างไม่มีเงื่อนไขนี้ เป็นแต่เพียงความสวยหรู เป็นอุดมคติที่ไกลห่างความเป็นจริง ความเป็นจริงแสดงชัดว่าเราต่างกัน และเราไม่ได้รู้จักหรือเข้าใจกันจริงๆ เลย ระหว่างพร่ำบ่นก่นด่าอย่างชิงชังในใจ ฉันกลับยิ่งรู้สึกว่าส่วนลึกภายในฉันกำลังร้องไห้ วิญญาณของฉันเจ็บปวด และฉันจำต้องน้อมรับอย่างสัตย์ซื่อว่า ฉันเสียใจ ไม่ใช่เพราะฉันกำลังทำร้ายใคร แต่เพราะฉันกำลังทำร้ายตนเอง ในแว้บนั้นเอง ที่รู้สึกถึงความรักต่อตัวเองขึ้นมาจับใจ

ฉันเลือกที่จะเยียวยาตนจากทุกข์ครั้งนี้ ด้วยการลดกำแพงตน เผยทุกข์ที่มีให้เพื่อนคนนั้นฟัง เป็นการบอกกล่าวที่หมดจดที่สุด อ่อนโยนที่สุด และสุภาพที่สุดเท่าที่เคยพูดมา ราวกับลมหายใจเดียวกัน เพื่อนก็บอกกล่าวสะท้อนกลับแก่ฉันอย่างซื่อตรง และนุ่มนวลยิ่ง ไม่มีแม้สักคำเดียวที่กล่าวโทษต่อกัน ไม่มีคำว่าถูก – ผิด มีเพียงการรับรู้และเข้าใจ ณ ตรงนั้น ณ ขณะนั้นเอง ที่เราสัมผัสถึงการหลอมรวม

เราพูดคำ “รัก” กันมาก แต่มันเป็นราวกับม่านควันที่กางกั้นเราด้วยข้อแม้มากมายที่เราต่างยึดติด ยึดถือกัน ดังนั้น ณ ขณะที่เราพูดว่า “เพื่อใคร” ขอให้ดูใจตน เขากับเราเป็นลมหายใจเดียวกันหรือไม่ เราสืบค้น ขุดคุ้ยหาความจริงแท้ในผู้อื่นเสียมากมาย แล้วในหัวใจเราเองเล่า เราอนุญาตให้ความจริงแท้ของเราปรากฏออกมาได้มากน้อยเพียงไร นี่ยังไม่ได้พูดถึงความจริงที่เราไม่เคยรับรู้ว่ามันมีอยู่ในตัวเรานะ เพราะเราต่างสร้างแล้วกลบ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเราเองไม่รู้ว่าอะไรคือความเป็นจริง เราไม่ชอบความเสแสร้ง แต่เราไม่เคยทันสังเกตพฤติกรรมของตนเลย

สิ่งที่เราคิดและปักใจไว้อาจเปลี่ยนแปลงหรือคงอยู่อย่างประจักษ์ชัดมากขึ้น เมื่อความคิดมิได้เป็นแค่ความคิด หรือชุดคิด แต่การมีประสบการณ์ถึงสิ่งนั้นๆ มีค่ายิ่ง จะเป็นไรไปหากคุณจะพบว่าคุณทำพลาดมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน และมันยังไม่มีวี่แววว่าจะหยุดลง โปรดให้ประสบการณ์แต่ละครั้งที่ปรากฏเป็นดั่งหมายเหตุชีวิต ที่เราจะเรียนรู้และข้ามผ่าน...ขอให้รักนำทางไปเถิด

Newer Posts Older Posts Home