โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๑

วันเด็กที่เพิ่งผ่านพ้นมาเมื่อไม่กี่อาทิตย์ ทำให้นึกถึงการเรียนรู้ของเด็กๆ และนึกถึงสิทธิประเภทหนึ่งของเด็กไทย ได้แก่ สิทธิในการมีส่วนร่วม (Participation Right) ในด้านต่างๆ ตั้งแต่ในครอบครัว ในโรงเรียนและในสังคม การสนับสนุนและเปิดโอกาสให้เด็กๆ มีพื้นที่ปลอดภัย กล้าที่จะแสดงออก ตั้งคำถาม และร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมตัดสินใจ เป็นสิ่งที่ต้องสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติจริงตั้งแต่ในครอบครัว

เมื่อพิจารณาลักษณะครอบครัวไทยและสังคมไทย แน่นอนเรามิเคยปฏิเสธความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย แต่การมองอีกด้านทำให้ได้ย้อนกลับมาตั้งคำถามว่าเราได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเด็กมากมายเพียงใด จริงอยู่หลายครั้งเราได้พยายามปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้ให้ทั้งเด็กและครูได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน เป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงของผู้เรียน ได้แบ่งปันความรู้สึก และร่วมเล่าหรือเขียนถึงสิ่งที่ได้ยินให้นำมาเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตของตน แต่จะเป็นไปได้ขนาดไหนที่เด็กสามารถโต้แย้งถึงสิ่งที่ตนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยได้อย่างปลอดภัย หรือแม้กระทั่งสามารถบอกได้ว่า “หนูไม่เข้าใจ” “หนูขอให้อธิบายเพิ่ม” หรือ “เนื้อหาที่เรียนมากเกินไป หนูรับไม่ไหวแล้ว”

การเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วม เป็นการ “ปลดปล่อยความทุกข์” ในการเรียนรู้ของเด็ก และฝึกฝนความเป็นประชาธิปไตยในชีวิตจริงของเด็ก โดยไม่ต้องรอให้อายุครบเกณฑ์เลือกตั้ง หรือไปเข้าร่วมชมรมประชาธิปไตยใดๆ ในโรงเรียน เพราะ “ประชาธิปไตย” ที่สามารถเริ่มต้นได้ในครอบครัว หรือในชั้นเรียน จะเป็น “ประชาธิปไตยเชิงลึก” (Deep Democracy) ที่ผู้น้อยซึ่งอ่อนด้อยกว่าทั้งอายุ ความรู้และอำนาจ สามารถมีส่วนร่วมส่งเสียงแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างอิสระและปลอดภัย แนวคิดนี้ได้เทียบเคียงมาจากแนวคิดของ อานี มินเดล (Arny Mindell) เขากล่าวถึง ความเป็นประชาธิปไตยเชิงลึก ว่าเป็นทัศนคติที่ให้ความสำคัญต่อการตระหนักรู้ของเสียงและความคิดเห็นของทั้งคนที่สำคัญและไม่สำคัญ เสียงของคนที่ดูเหมือนจะด้อยกว่า (ทั้งอายุ ความรู้ และอำนาจ) นั้นมีความหมาย มีคุณค่า มีปัญญาแฝงอยู่ และปัญญานี้มีผลต่อกลุ่มคนส่วนรวมเช่นกัน แนวคิดนี้เขยิบระดับขึ้นจากประชาธิปไตยทั่วไปในประเด็นว่า เสียงส่วนน้อย คนกลุ่มน้อยก็สำคัญ มิใช่แต่เสียงส่วนใหญ่เท่านั้น เสียงที่มีน้ำหนักมากกว่าบางครั้งก็อาจละเลยไม่ได้พิจารณาเสียงและเหตุผลของส่วนน้อย

เปรียบเทียบกับกรณีของเด็กในครอบครัว ในห้องเรียน เสียงของเด็กมักสำคัญน้อยกว่า เด็กไทยจำนวนมากเป็นโรคเหงา โรคไม่กล้า และโรคขาดความมั่นใจในตนเอง เพราะไม่สามารถมี “พื้นที่ปลอดภัย” ในการแสดงความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมตั้งแต่อยู่ในครอบครัว ระหว่างพ่อแม่พี่น้องและ ในห้องเรียน ระหว่างครูกับศิษย์ เมื่อประชาธิปไตยเบื้องต้นยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในบ้าน ในโรงเรียน การมุ่งเรียกร้องถึงความสำคัญและคุณค่าของความเป็นประชาธิปไตยที่ผ่านการเลือกตั้ง และระบบตัวแทนก็ไกลจากความเป็นจริง

ประชาธิปไตยเชิงลึกจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้ใหญ่ ผู้มีความสำคัญได้มี “สติ” และ “ตระหนักรู้” เต็มใจให้เด็กได้มีส่วนร่วมบอกความรู้สึกและร่วมเรียนรู้ สติและความตระหนักรู้นี้จะเกิดขึ้นเสมอๆ เมื่อผู้ใหญ่ได้มีโอกาส “ใคร่ครวญ” ถึงสิ่งที่ตนคิด พูดและแสดงออก การตระหนักรู้ ยังเปิดโอกาสให้เห็นทัศนคติของตนที่ยอมรับ “ความแตกต่างหลากหลาย” และ “รวมผู้อื่น” เช่น เด็ก หรือ ผู้ด้อยโอกาสกว่าเข้าไว้ในชีวิตการทำงานและการอยู่ร่วมกันด้วย

ประชาธิปไตยเชิงลึกจึงเป็นการฝึกฝนจิตใจจาก “ด้านใน” ยอมรับและเต็มใจฝึกฝนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการแปลกแยก (ระหว่างเด็ก-ผู้ใหญ่ ระหว่างศิษย์-ครู) สู่การเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ประชาธิปไตยเชิงลึกจึงเสนอแนะก้าวที่เลยพ้นความสำคัญของ “เสียงส่วนใหญ่” ตลอดจน “คนที่ใหญ่กว่า” (ทั้งอายุ ความรู้ อำนาจและสถานภาพต่างๆ) การที่บุคคลจะฝึกการเห็นความสำคัญของคนที่ด้อยกว่า เสียงของคนตัวเล็กกว่า ต้องอาศัย “การฝึกฝนด้านใน” เป็นประสบการณ์ด้านในของการตระหนักรู้ถึงความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของทุกสิ่งนั่นเอง

เครื่องมือในการฝึกประชาธิปไตยเชิงลึกซึ่งง่ายที่สุดคือ “การฟัง” ที่ไม่ใช่แต่เพียง “ได้ยิน” เสียงของเด็กเท่านั้น แต่เป็นการฟังด้วยหัวใจที่เมตตาต่อเด็ก ฟังโดยไม่คิดตัดสินตามประสบการณ์ที่ผู้ใหญ่เคยประสบมาก่อน แต่ให้โอกาสเด็กได้พูดความรู้สึก ได้เล่าเหตุผล ได้แบ่งปันสิ่งที่ตนคิด โดยไม่ตัดบทว่า “ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน!” และฟังโดยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ลองนึกถึงเมื่อครั้งตนเองเป็นเด็ก นึกถึงสภาวะที่ตนอ่อนด้อยกว่า หัวใจแบบเด็กๆ ของตนนั้นเรียกร้องอะไร

การฟังอย่างลึกซึ้งเช่นว่านี้เกิดขึ้นในกระบวนการสานเสวนา (Dialogue) นั่นเอง ดังนั้น ประชาธิปไตยเชิงลึกจึงสามารถสอดแทรกในการเรียนรู้ของทุกวิชา ไม่จำกัดว่าต้องเรียนวิชาหน้าที่พลเมืองวิชารัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์เท่านั้น ในครอบครัว ในห้องเรียน ในการทำงาน ก็สามารถเริ่มต้น “การฟังด้วยหัวใจ” เพื่อเชื้อเชิญให้ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มน้อยขนาดไหน เสียงและความรู้สึกของทุกคนมีค่า ถึงแม้จะแตกต่างแต่ก็สามารถแบ่งปัน อธิบาย ชี้แจง เหตุผล และจุดยืนของความแตกต่างนั้นได้

ประชาธิปไตยเชิงลึกโดยผ่านวัฒนธรรมแห่งการฟังเช่นนี้ จะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประชาธิปไตยที่พวกเราโดยเฉพาะในสภาวการณ์ปัจจุบันเรียกร้องหาเป็นอย่างยิ่ง

ความเหงาของผู้คนทั้งหลายจะได้รับการบรรเทาให้ลดน้อยลง เพราะการฟังอย่างลึกซึ้งจะทำให้เด็กและผู้คนทั้งหลายได้สื่อสารกันอย่างเมตตา เชื่อมโยงความรู้สึกของผู้หนึ่งไปสู่อีกผู้หนึ่ง ถมช่องว่างของความแปลกแยกไปสู่โยงใยเอื้อเฟื้อต่อกัน ดังในพระพุทธศาสนาว่าด้วยปรโตโฆสะ อันเป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง การมีกัลยาณมิตรที่ดี และมีโยนิโสมนสิการ คือการคิดอย่างแยบคาย

แน่นอนว่าเสียงของเด็กที่คิดเห็นแตกต่างอาจไม่สบอารมณ์ผู้ใหญ่ หรือนำไปสู่ความขัดแย้ง แต่ก็ทำให้ผู้ใหญ่ ครู อาจารย์ ได้มีโอกาสฝึกจิต ฝึกเมตตา ฝึกความอดทนมากขึ้นและเพียรพยายาม “พัฒนา” ตนเอง และความรู้สึกไม่สบอารมณ์จะคลายลงเมื่อมีความต่อเนื่องของการฟังที่เมตตาและกติกาหลายๆ อย่างของสานเสวนา เช่น ความใจกว้าง การยอมรับและพร้อมจะวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง เป็นต้น เพียงเท่านี้เด็กก็จะวางใจและเริ่มกล้าพอที่จะแสดงความคิดเห็น ร่วมเรียนรู้ สิทธิการมีส่วนร่วมของเด็กก็จะได้รับการปฏิบัติจริง ประชาธิปไตยที่พึงประสงค์ในบ้านเมืองของเราอาจใกล้ความเป็นจริงขึ้นบ้างก็เป็นได้



โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๑

เมื่อเราประกาศจุดยืน และยืนยันว่าเราเป็นใครสักคน เช่น เราเป็นคนเก่ง เป็นคนกล้าแสดงออก เป็นคนมีความรับผิดชอบ เป็นคนชอบช่วยเหลือผู้คน เป็นคนช่างเอาใจ เหล่านี้เป็นต้น เราก็กำลังบอกใครต่อใคร รวมทั้งตัวเราเองว่าเราเป็นใคร เรามีเครื่องมืออะไรบ้างในกล่องเครื่องมือประจำตัวของเราที่ใช้ปรับตัวเข้ากับโลก เราใช้เครื่องมืออะไรบ้างจัดการดูแลปัญหาและความท้าทายต่างๆ ในชีวิตจนเกิดผลดีกับตัวเราเอง ตัวตนที่เราประกาศว่าเราเป็นใครต่อใคร คือตัวเอก (primary self) เปรียบได้กับตัวละครที่เราใช้สวมบทบาทเป็นพระเอกหรือนางเอกผู้นำพาและช่วยชีวิตเราให้อยู่รอดมาถึงทุกวันนี้

และในแต่ละตัวเอกของเรา ในแต่ละจุดยืนของเรา เราก็ยังมีตัวตนที่ถูกทิ้ง (disowned self) หรือเงาของเรา ดำรงอยู่เกาะเกี่ยวกับตัวเราไปพร้อมๆ กันเสมอ หากตัวเอกคือตัวละครที่เราแสดงอยู่บนเวทีพร้อมที่จะรับเสียงปรบมือจากผู้ชม ตัวตนที่ถูกทิ้งซึ่งจุดยืนตรงกันข้ามกับตัวเอกของเราก็ซ่อนเร้น ถูกละทิ้งและหลงลืมอยู่เบื้องหลังฉาก เปรียบเสมือนเงาของนักแสดงที่ทอดไปบนม่านบนฉากหลัง

บ่อยครั้งที่เรานำพาตัวเอกของเรามาแสดงมาหยิบยื่นให้ใครต่อใครเห็น ให้เขาเหล่านั้นยอมรับ จะเป็นคนเก่งกล้า รับผิดชอบ มุ่งมั่น เสียสละ หรืออะไรก็ตามที่เราเคยแสดงได้ดี คนดูชอบ แต่สายตาของผู้คนกลับยังสามารถมองเห็นเงาของตัวเราที่ทอดไปเบื้องหลัง เงาที่ตัวเราเอง ตัวเอกของเราที่กำลังแสดงอยู่ไม่ได้มีโอกาสเห็นเลย

เงาเหล่านั้นอาจจะเป็นตัวตนที่ไม่เอาไหน ไร้สาระ ปล่อยตัวตามใจตามสบาย ตัวตนที่ขบถกับกฎเกณฑ์ หรือตัวตนที่รู้จักทักท้วงทวงสิทธิของตัวเอง ตัวตนเหล่านี้ไม่ค่อยมีโอกาสโผล่หน้าออกมาเยี่ยมเยียนเรานัก เราไม่ค่อยจะได้ยินเสียงของพวกเขาเหล่านี้ หรือไม่ชอบที่จะได้ยินนัก และที่สำคัญเป็นเสียงที่เราอาจจะโกรธขึ้งไม่พึงประสงค์ไม่สบอารมณ์เอาเสียเลย เพราะลึกๆ เรากลัว กลัวว่าผู้คนคนดูทั้งหลายจะไม่ชอบ จะโห่ฮาปาข้าวของใส่เราผู้อยู่บนเวที

แต่ไม่ว่าเราชอบหรือไม่ก็ตาม เราจะซุกซ่อนเก็บงำตัวตนที่ถูกทิ้งหรือสลัดเงาที่ว่าของเราอย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ดำรงอยู่ในตัวเรา และอยู่คู่กับตัวเอก ตัวโปรดของเราที่เราใช้แสดงเพื่อให้ผู้ชมชื่นชม แต่ทั้งเงาทั้งตัวเอกของเรานั้นแตกต่างกันเหมือนคนละขั้ว

เมื่อตัวเอกของเราชื่อ คุณ “กล้า” นามสกุล “หาญเผชิญ” เงาของเราอาจจะชื่อ น้อง “หวาด” นามสกุล “ตื่นระแวง” หากตัวเอกของเราคือ คุณ “เก่ง” คุณ “สมบูรณ์ (แบบ)” เงาของเราอาจจะชื่อ อะไรก็ได้ แต่ แซ่ “ห่วย” หากตัวเอกของเราคือ คุณ “เอื้อ” นามสกุล “อาทรเป็นอาจิณ” ตัวตนด้านในที่เราอยากลืมให้สนิทคือ คุณ “ตัวกู” นามสกุล “ของของกู”

เมื่อเราลืมเงาของเรา ลืมตัวตนที่ถูกทิ้งของเราไปเสียสนิท คิดว่าเรามีชีวิตอยู่ด้านเดียว ฉันต้อง “เก่ง” ต้อง “สมบูรณ์แบบ” แล้วเมื่อวันที่เราล้มเหลว แม้นในเรื่องเล็กน้อย เมื่อเราต้องพลาดไป ไม่สมบูรณ์แบบเท่าที่เราปักใจว่าเราต้องเป็นเช่นนั้น วันนั้นเราเป็นทุกข์ กระอักกระอ่วนป่วนใจ ไม่เป็นสุข เราจะได้ยินเสียงด้านในของคุณ “วิจารณ์” ที่คอยย้ำคอยบอกเราว่า “เห็นไหม ทำอะไรไม่เอาไหนอีกแล้ว” แม้นงานที่เราทำสำหรับใครต่อใครจะเห็นว่าเยี่ยมยอด แต่คุณ “เก่ง” ก็โดน “วิจารณ์” ซะย่ำแย่อยู่ดี ทำให้คุณเก่งแม้นเก่งแค่ไหน ก็ยังรู้สึกตัวเองอยู่ในพวกแซ่ “ห่วย” และเมื่อเราเห็นใครที่เขาไม่เก่งเท่าไหร่ ไม่รู้ดีอย่างสมบูรณ์เท่าไหร่ เราก็สาดซัดคำ “วิจารณ์” ที่เราได้ยินในใจเราออกไปที่เขาเหล่านั้น โดยรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้างก็ตาม ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นเขาก็เป็น “คนละคู่เดียวกัน” กับเรานั้นเอง

คุณ “เก่ง” ยิ่งมีนามสกุล “สมบูรณ์ (แบบ)” มากเท่าไหร่ เข้มข้นเท่าไหร่ ยิ่งจำต้องทำงาน มีชีวิตโลดแล่น ไม่ใช่เพื่อผลงาน หรือเพื่อความเพลิดเพลินในการทำงาน แต่เพื่อพิสูจน์ตัวเอง กับใครต่อใครว่า “ฉันเก่ง ฉันแน่ ฉันเยี่ยม ฉันครบเครื่อง” ไม่ว่าเขาจะเก่งเรื่องพื้นๆ ที่ใครต่อใครเขาทำกันในกระบวนทัศนคติแบบเก่าๆ หรือจะเก่งเรื่องก้าวหน้าทางจิตวิญญาณในกระบวนทัศน์ใหม่ๆ ก็ตาม คุณ “เก่ง” ยิ่งมีนามสกุลยาวขึ้นเป็น “สมบูรณ์ (แบบ) นิรันดร์” ซึ่งนั่นหมายความว่า คุณ “เก่ง” ไม่มีวันยอมอ่อนข้อ ให้กับข้อด้อย หรือจะห้อยแขวนอาการของคน แซ่ “ห่วย” ได้เลย

แต่ “ห่วย” กับ “เก่ง” เป็นคนละด้านของเหรียญเดียวกัน เป็นคนละคู่เดียวกัน มาด้วยกัน เกิดขึ้นพร้อมกันราวฝาแฝด หากคุณ “เก่ง” รับอาการห่วยไม่ได้เลย คุณ “เก่ง” ก็ต้องใช้พลังของตนปิดกั้นเงาหรือตัวตน “ห่วย” ของตนไว้ และอาจจะไม่มีวันเข้าใจ หรือพูดจากับคนที่เขาคิดว่า “ห่วย” ได้เลย เขาจะออกอาการรำคาญ หงุดหงิด แม้นจะเก็บอาการอย่างมิดชิดไว้ภายใต้ใบหน้าท่าทางที่สงบและเยือกเย็นก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น ถึงแม้เขาจะพยายามรายล้อมตัวเขาด้วยคนที่ “เก่ง” เสมอเขา เขาก็ยังจับผิดความห่วยของใครต่อใครได้ เหมือนที่ตัวตนด้านในชื่อคุณ “วิจารณ์” คอยจับผิดเขา และในภาวะเช่นนี้ คุณ “เก่ง” อาจจะต้องเปลี่ยนนามสกุลเป็น “เคร่งเครียดเฉียดตาย” เลยทีเดียว

หากเพียงแต่คุณ “เก่ง” ยอมรับว่าคนเราพลาดได้ ห่วยได้ ไม่ต้องเก่งไปทุกเรื่อง ทุกสถานการณ์ ไม่ใช่ยอมรับเพียงในระดับของตรรกะ เหตุและผล หรือคิดนึกเอาเอง แต่ยอมรับในระดับพลังงานในตัว ยอมรับที่จะรู้สึกลึกๆ ในอารมณ์ การยอมรับนี้เป็นเพียงแค่ชิมอาการห่วย ไม่ต้องกลับใจกลายเป็นคนห่วยทั้งเนื้อทั้งตัวหรอก หากจะเปรียบเป็นของเหลวก็แค่ “หยด” เล็กๆ ก็พอกระตุ้นให้รู้จักว่าอาการพลาดให้ห่วยได้นั้นเป็นอย่างไร แล้วเราอาจพบว่าอาการคาดหวังกดดันรวมทั้งความดันโลหิตในเส้นเลือดเราลดลง จังหวะเต้นของหัวใจ สงบลง และอาการเคร่งเครียดในใจลึกๆ ก็อาจจะทุเลาลง

เมื่อเราพอจะอ่อนโยนให้กับอาการห่วยๆ ของเราได้ ให้อภัยตัวเองที่จะผิดพลาดได้ ไม่ต้องวางมาดเป็นผู้วิเศษผู้เก่งกาจอย่างไม่มีใครอาจเทียบทัน เมื่อนั้นอาการพิพากษา คอยจับผิด คอยติว่าคนอื่นที่ “เก่ง” สู้ไม่ได้ ก็จะเบาบางลง ชีวิตคุณ “เก่ง” คงรื่นรมย์ขึ้นบ้าง เมื่อเราได้รู้จักตัวตนที่ทิ้งไปและหรือเงาของตัวเองที่ทอดตัวอยู่เบื้องหลัง รอเวลาที่ให้เขามาเอากู้คืนกลับไป เพราะเบื้องหลังอาการห่วยนั้นก็คือ ศักยภาพที่จะรู้จักพลาดจากความคาดหวังของตัวเอง พาตัวเองออกไปจากความเคยชินเดิมๆ เป็นศักยภาพที่จะเรียนรู้ใหม่ ที่จะรู้จักเริ่มต้นใหม่อีกครั้งแล้วครั้งเล่า

โปรดคลิกที่ภาพด้านล่างนี้เพื่อดูรายละเอียดกำหนดการ



โดย เจนจิรา โลชา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๑

ความรู้สึกมากมายที่เกิดขึ้นภายในร่างกายและจิตใจของเรา เราเคยรับรู้ความรู้สึกเหล่านั้นบ้างหรือเปล่า? ทั้งอารมณ์ความรู้สึกด้านดีและด้านร้ายๆ ที่แสนจะน่าชังในตัวเอง โกรธ เกลียด รัก อบอุ่น เศร้า เหงา ดีใจ สุข ทุกข์ เสียใจ และความรู้สึกอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่อาจบรรยายได้ด้วยคำพูด

บ่อยครั้งที่เราไม่รับรู้ความรู้สึกและอารมณ์เหล่านั้น นั้นอาจไม่ใช่เพราะเราด้านตาย เป็นคนไม่มีอารมณ์ความรู้สึก แต่อาจเป็นเพราะเราไม่เคยหันกลับมาอยู่กับตัวเองและสำรวจว่า ตอนนี้เรามีความรู้สึกอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นภายในร่างกายและจิตใจของเราบ้าง เราไม่เคยเชื่อในสิ่งที่ร่างกายและจิตใจของเราบอก เรามักเชื่อในความคิดของเรามากกว่า ความคิดที่มีความสลับซับซ้อน เต็มไปด้วยการปรุงแต่ง แต่ร่างกายของเราที่ประสบกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยตรง เราไม่เคยเชื่อถือมันเลย ไม่เคยแม้แต่จะเงี่ยหูฟังในสิ่งที่ร่างกายบอกแก่เรา ไม่เคยรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกายและจิตใจของเรา แม้มันจะตะโกนบอกเราดังแค่ไหน เราก็มักจะปฏิเสธมันออกไปได้ง่ายว่าเราไม่มีมัน ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อมันเป็นอารมณ์ความรู้สึกด้านที่ไม่น่ารักเอาเสียเลย

และอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเรานั้นก็มักสะสมอยู่ในเนื้อในตัวของเรา ยิ่งเราเกิดอารมณ์นั้นบ่อยๆ ก็ยิ่งสะสมมากขึ้น และเมื่อเราไม่เคยเข้าไปสำรวจ รับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นเลย มันก็ยิ่งฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของเรา และเชื่อหรือไม่ว่าเราจะจดจำและฝังเก็บอารมณ์ด้านร้ายได้ดีกว่าด้านดีๆ ที่สำคัญความรู้สึกเหล่านั้นอาจจะโผล่มาอีกครั้งในรูปของความเจ็บปวดทางกาย การเจ็บป่วยทางจิต ความหวั่นไหวทางอารมณ์ จิตใจที่ไม่มั่นคง และนั่นก็เป็นที่มาของความทุกข์

แล้วเราจะสัมผัสรับรู้อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้อย่างไร และเราจะปลดปล่อยตัวเองจากอารมณ์เหล่านั้นที่มันเกิดขึ้นกับเราได้อย่างไรกัน อาจมีทางเลือก มีคำตอบที่มากมายหลายหลาก แต่เมื่อไม่นานมานี้ ดิฉันได้ค้นพบความรู้สึกบางอย่างที่เกิดขึ้นกับร่างกายและอยู่ในจิตใจ โดยผ่านดนตรี คลื่นเสียงและความเงียบ และไม่อยากจะเชื่อว่าเสียงดนตรีจะปลุกความรู้สึกที่ฝังลึกอยู่ในร่ายกายให้ตื่นออกมาได้

จากการอบรม “ดนตรี: คลื่นแห่งความสุข” ในครั้งนั้นวิทยากร คือ คุณเมธี จันทรา และ คุณสุพัฒน์ ฟูสิน ได้เชื้อเชิญให้เราได้ทบทวนถึงเหตุการณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะที่เราโกรธใครสักคนหรือสิ่งใดสักอย่าง และวิทยากรก็ได้เล่นดนตรีที่ช่วยทำให้เราสัมผัสรับรู้ถึงอารมณ์โกรธพร้อมกันด้วย ฉันเพิ่งรู้ตัวว่าในร่างกายของฉันได้สะสมความโกรธไว้เป็นอย่างมาก โกรธที่ไม่เคยรู้เลยว่าโกรธ ฉันคิดภาพถึงเหตุการณ์ที่เคยโกรธ หรือเกลียดใครไม่ออกเลยสักภาพ แต่ด้วยร่างกายสัมผัสถึงพลังแห่งดนตรี ฉันก็ค้นพบว่าท้องเกิดอาการปั่นป่วน หัวใจเต้นดังตึกๆๆๆ รู้สึกอึดอัดใจเป็นอย่างมาก แล้วจู่ๆ น้ำตาก็พลันไหลออกมา ฉันรับรู้ถึงความโกรธที่มีอยู่ในตัวฉัน ฉันไม่รู้ว่าโกรธใครหรือสิ่งใด แต่มันมีอยู่ในตัวฉัน ในตัวฉันที่ไม่เคยคิดว่าจะโกรธหรือเกลียดใครได้ ฉันค่อยๆ คลี่ก้อนอารมณ์โกรธนั้นออกมาดู สัมผัสมันอย่างตรงไปตรงมา แล้วมันค่อยๆ เผยออกมาให้ฉันได้รับรู้ว่า ที่ผ่านมาฉันเต็มไปด้วยความโกรธที่ไม่อาจแสดงความโกรธนั้นออกมาได้ แทนที่จะแสดงอาการเกรียวกราด ด่า ต่อว่าหรือตะโกนให้ใครต่อใครรับรู้ว่าฉันโมโห ฉันมักจะแปรมันเป็นน้ำตา ร้องไห้เสียใจ อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่า ฉันไม่สามารถแสดงท่าทีตอบโต้คนที่ฉันโกรธอย่างนั้นได้ หรือฉันไม่กล้าแสดงท่าทีแบบนั้นเพราะมันจะทำให้ฉันดูเป็นคนไม่น่ารัก เป็นคนที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ หรือจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

ตอนนี้ฉันพบว่าในตัวฉันมีความโกรธ แต่นั้นมันไม่ได้ทำให้ฉันเป็นคนไม่น่ารัก ฉันกลับรู้สึกว่าฉันเป็นคนธรรมดาๆ นี่เอง คนที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก และฉันรู้สึกว่าฉันสัมผัสมันได้ มันเป็นความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในตัวฉัน แค่เรารับรู้ถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าอารมณ์นั้นจะร้ายหรือดี เมื่อรับรู้มันก็จะคลี่คลายตัวเอง เราแค่สัมผัสมันเพียงเบาๆ ลูบไล้บางๆ ราวกับว่าเป็นของมีค่าที่เราได้ค้นพบว่ามันมีในตัวเรา เราไม่อาจจะบอกปัดหรือปฏิเสธอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ เมื่อมันเกิดขึ้นเราก็เพียงรับรู้ ที่สำคัญเรามักไม่เคยรู้ว่าเรามี หรือบางครั้งเรารู้ว่ามีแต่เราก็ไม่เคยใส่ใจมันเลย

ต้องขอบคุณดนตรี คลื่นเสียงและความเงียบที่มาช่วยปลุกความรู้สึกที่ตกตะกอนอยู่ที่ก้นบึ้งในหัวใจ ให้บางสิ่งที่คั่งค้างนอนนิ่งอยู่ในจิตวิญญาณได้ลุกขึ้นมาปรากฏตัวให้เราได้เห็น ได้สัมผัสและคลี่คลายมัน ทำให้เรากล้าที่จะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจของเราได้ง่ายขึ้น ยอมรับอย่างที่มันเป็นว่ามันเกิดขึ้นในตัวเรา เหมือนเสียงทุกเสียง คลื่นทุกคลื่นทั้งที่เราสัมผัสได้และสัมผัสไม่ได้ เมื่อมันเกิดขึ้นเราต้องยอมรับมัน เราไม่มีทางที่จะทำให้เสียงขลุ่ยดังหนักแน่นดั่งเสียงกลองได้ เมื่อมันมีเราก็ยอมรับว่ามี ทุกอารมณ์ความรู้สึกเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นกับเรา เหมือนเช่นเสียงทุกเสียง คลื่นทุกคลื่นเป็นสภาวะของมันอย่างนั้นเอง

ดนตรีสามารถเป็นตัวเชื่อมประสานความรู้สึก อารมณ์กับร่างกายได้เป็นอย่างดี ร่างกายของเราสามารถรับคลื่นทุกคลื่นที่มากระทบเราได้ และคลื่นสามารถกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก เพราะร่างกายเราก็เป็นคลื่นหนึ่งเช่นเดียวกับเสียงดนตรี

ดนตรีบอกให้เราเชื่อมั่นในร่างกาย เชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกาย รับฟังเสียงร่างกายที่บอก เมื่อเราเชื่อในร่างกาย เราก็จะรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรู้ถึงสภาวะที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ไม่ว่าสภาวะนั้นจะดีหรือร้าย นั่นก็เป็นสภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้น เมื่อเรารับรู้จะทำให้เรากล้าที่จะเผชิญกับทุกสภาวะที่ผ่านเข้ามาพบเจอเรา ไม่หลีกหนี เก็บซ่อนให้มันจมฝังอยู่ในจิตใจ จนเราเผลอนึกว่าไม่มีมัน

ดนตรีเป็นดั่งประตู เป็นเหมือนช่องทางที่จะช่วยทำให้เรากลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวของเราเอง เป็นกุญแจที่จะทำให้เราสัมผัสและเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น หากร่ายกายและจิตใจได้เปิดรับเสียงดนตรี ก็คล้ายกับว่าเรากำลังต้อนรับเชื้อเชิญทุกความรู้สึกให้ปรากฏต่อเรา ให้ดนตรีและความรู้สึกเป็นคลื่นที่จะทำให้เราตื่นรู้อยู่กับร่างกายและจิตใจของเรา ลองเผชิญกับทุกความรู้สึกและอารมณ์ที่เกิดขึ้น มันอาจกลายเป็นความมหัศจรรย์ที่มีอยู่ในคนธรรมดาอย่างเรานี่เอง



โดย ปรีดา เรืองวิชาธร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๑

ในหนังเชิงสารคดีเรื่อง “From Mao to Mozart: Isaac Stern in China” นักไวโอลิน Isaac Stern ได้เดินทางเข้าไปสอนดนตรีคลาสสิกให้เหล่านักเรียนจีนเพื่อให้พวกเขาสามารถเล่นดนตรีได้อย่างเข้าถึงแก่นแท้และแง่งามของดนตรี ซึ่งไม่ใช่ฝึกฝนให้เกิดเพียงทักษะการเล่นเท่านั้น แต่สามารถเล่นออกมาจากแรงขับของอารมณ์ความรู้สึกภายใน สามารถอ่านและเล่นตามตัวโน้ตได้อย่างเข้าถึงจิตวิญญาณของผู้ประพันธ์ เทคนิคในการโค้ชของ Stern น่าสนใจหลายอย่าง ที่สำคัญอันหนึ่งก็คือ เขาจะคอยให้กำลังใจนักเรียนได้ลองเล่นออกมาให้เห็นเพื่อที่เขาจะได้ช่วยชี้จุดบกพร่องและปรับแก้ให้ หลายครั้งนักเรียนจะทั้งกลัว เกร็ง และเขินอายที่จะเล่นออกมาต่อหน้าครูซึ่งเป็นนักไวโอลินระดับพระกาฬ แต่เขาจะใช้อารมณ์ขันและความตั้งใจจริงกระตุ้นให้นักเรียนของเขาปลดปล่อยความสามารถที่แท้จริงออกมา ช่วงไหนเล่นได้ดีก็ชม ช่วงที่ควรปรับก็บอกตามตรง แรกๆ ก็ฝืดอยู่บ้างแต่ภายหลังที่เหล่านักเรียนเริ่มข้ามพ้นพรมแดนแห่งความกลัวภายในบางอย่าง ศักยภาพที่แท้จริงก็ปรากฏออกมาอย่างน่าทึ่ง

จากหนังเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงประสบการณ์การเรียนในระบบการศึกษาไทยตั้งแต่ประถมจนถึงอุดมศึกษา เพื่อนๆ กับผมเรียนหนังสือภายใต้เงาของความกลัวภายในบางอย่าง ไล่เรียงตั้งแต่เวลาครูถามในห้องก็กลัวจะตอบคำถามได้ไม่ถูกต้องหรือดูไม่ฉลาด ซึ่งจะเป็นการแสดงความโง่ออกมาให้เห็น กลัวเลยไปถึงว่าคำตอบหรือการแสดงความรู้ความสามารถออกมาจะถูกตีตราว่าตัวเรามีราคาค่างวดทางความรู้ความสามารถต่ำ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดังรอบข้างจากครูกับเพื่อนบางคนมักทำให้ผมกับเพื่อนหลายคนไม่อยากตอบคำถาม ไม่อยากแสดงออกใดๆ ไม่อยากคิดสร้างสรรค์ออกมาดังๆ ให้ตัวเองและคนอื่นได้ประจักษ์รับรู้ เพราะอายที่จะต้องแสดงความหน้าโง่ออกมา

ผลของการเรียนรู้ภายใต้ความกลัวแบบนี้มักจะทำให้ศักยภาพที่แท้จริงถูกกักขังให้กระจุกตัวอยู่ภายใน ปลดปล่อยออกมาให้เห็นได้ยาก ขณะเดียวกันหากบางครั้งบางคราวมีโอกาสได้เรียนรู้ร่วมกับครูอาจารย์ที่ต้องการช่วยเหลือสนับสนุนอย่างแท้จริง เราก็จะพลาดโอกาสอันสำคัญนั้นไป เพราะไม่กล้าที่จะแสดงออกมาให้ครูอาจารย์ได้รู้ได้เห็นเพื่อที่ท่านจะได้ช่วยชี้ช่องทางพัฒนาการเรียนรู้ได้เหมาะสมสอดคล้องกับเรา เพื่อนรอบข้างที่ต้องการให้กำลังใจและช่วยเหลือก็พลอยเข้ามาได้ไม่ถนัดตามที่ควรจะเป็น หรือแม้ตัวเราเองก็ไม่รู้จะปลดปล่อยศักยภาพที่แท้จริงออกมาได้อย่างไร ไม่รู้ว่าจะเยียวยาความรู้สึกด้อยให้คลี่คลายบรรเทาได้อย่างไร

ปัจจัยที่ทำให้เราสร้างกรงขังอิสรภาพแห่งความรู้ความสามารถมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ปัจจัยภายในของบุคคลได้แก่ การไม่เปิดโอกาสรวมถึงไม่ขวนขวายผลักดันให้ตัวเองได้คิดได้ทำได้แสดงออกมาอย่างเต็มที่ ไม่อยากเรียนรู้ชนิดที่ท้าทายความสามารถและตรงกับใจรัก หรือเรียนแบบไม่ใฝ่สัมฤทธิ์จึงชอบเรียนแบบเซื่องๆ ไปตามกระแสกล่าวคือ เอาแค่พอสอบผ่านหรือแค่จบมีดีกรีสูงๆ เป็นใบผ่านทางเพื่อประกอบอาชีพพอที่จะเรียกค่าตัวได้สูง ปัจจัยภายในอีกเรื่องที่สำคัญก็คือ การติดเปรียบเทียบแข่งขัน ชอบเปรียบเขาเปรียบเราว่าใครจะเก่งหรือเหนือกว่ากัน ดังเช่นหากเรียนรู้แล้วถูกเปรียบเทียบตัดสินว่าเราไม่เก่งไม่ฉลาดก็มักจะผูกเป็นปมด้อยในใจ หรือเคยเรียนเป็นที่หนึ่งมาหลายครั้งแต่หากพลาดพลั้งไม่เหมือนเดิมก็มักสูญเสียความมั่นใจไปเลย เป็นต้น ดังนั้นการเรียนรู้ด้วยบรรยากาศเปรียบเทียบแข่งขันว่า เรากับเพื่อนร่วมห้องใครจะเหนือกว่ากันจึงมีโทษมากกว่าคุณ แทนที่จะมุ่งเรียนรู้เพื่อร่วมกันเข้าถึงแก่นของเรื่องที่เราเรียน เรียนเพื่อที่จะรู้และพัฒนาความสามารถรวมถึงด้านในของชีวิตให้งอกงาม สามารถประยุกต์มาใช้แก้ปัญหาในระดับต่างๆ ของชีวิตและสังคมรวมถึงสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยดีในสังคมที่เต็มไปด้วยความสับสนยุ่งเหยิง

ส่วนปัจจัยภายนอกที่ส่งเสริมให้เรากักขังอิสรภาพแห่งการเรียนรู้ก็คือระบบและบรรยากาศการเรียนรู้ที่ลดทอนความสามารถของมนุษย์ซึ่งมีหลายตัวอย่างดังเช่น การเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนคิดเป็นทางเดียว มีคำตอบเดียวที่ตายตัวซึ่งต้องตอบให้เหมือนกับคำตอบเดียวในใจของครู รวมถึงการค้นคว้าเรียนรู้ที่เร่งรีบเกินไปจนไม่มีเวลามากพอที่จะใคร่ครวญหรือคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ออกมา เวลาที่จำกัดเร่งรีบเกินไปจึงมักทำให้ความคิดสร้างสรรค์ถูกปิดกั้นจนลดน้อยถอยลงไปอย่างน่าเสียดาย

อีกประการหนึ่งที่พบเสมอก็คือ บรรยากาศที่ด่วนสรุปตัดสินเร็วเกินไปต่อชุดความรู้ความเชื่อที่ผิดแผกแตกต่างไปจากบทเรียนที่อยู่ในคู่มือการสอนของครู ทั้งยังรวมถึงการแสดงความดูถูกดูแคลนคำตอบกับการแสดงความคิดเห็น โดยปราศจากความรักความเมตตาที่จะช่วยเหลือสนับสนุนกัน การดูถูกดูแคลนมักจะนำไปสู่การแบ่งแยกเปรียบเทียบให้เกิดชนชั้นแห่งความสามารถ ซึ่งมักจะทำให้บางคนมีทิฏฐิมานะเข้มข้นขึ้นขณะที่อีกฝ่ายก็รู้สึกต่ำต้อยด้อยค่าลง ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายในแง่นี้ก็คือ เวลาที่อยู่ร่วมกับคนบางกลุ่มที่เรารู้สึกว่าเขาเหนือกว่า เราจะรู้สึกด้อยขึ้นมาทันที รัศมีของเราถูกบดบังครอบงำจนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นใดๆ ออกมา ในขณะเดียวกันคนที่รู้สึกว่าตัวเองมีอะไรเหนือกว่าคนอื่นก็มักจะพูดหรือแสดงอะไรออกมาข่มให้คนอื่นรู้สึกเกรงกลัวหรือด้อยโดยแสดงออกอย่างไม่รู้สึกตัว เป็นต้น

ประเด็นสุดท้ายในที่นี้ก็คือ ระบบการยกย่องเชิดชูบางศาสตร์บางคณะให้รู้สึกเหนือกว่าศาสตร์หรือคณะอื่น ยกย่องเชิดชูสถาบันตัวเองให้เด่นเหนือกว่าสถาบันอื่น รวมถึงยกย่องเชิดชูคนจบดีกรีสูงให้รู้สึกเหนือกว่าคนจบดีกรีต่ำ การเน้นยกย่องเชิดชูไปที่เปลือกกระพี้ของสิ่งเหล่านี้ด้วยการสร้างคุณค่าความหมาย(วาทกรรม)ให้คนในสังคมติดยึดเปลือกนอกอันผิวเผินมากกว่าแก่นแท้ของการเรียนรู้ มักจะทำให้เราหลงละเมอไปกับคุณค่าของเปลือกนอกซึ่งเป็นของเทียมจนทำให้เราหยุดการเรียนรู้ที่แท้จริง และไม่สามารถร่วมมือช่วยเหลือกันและกันทางสติปัญญาได้ตามที่ควรจะเป็น

ด้วยเหตุนี้จะดีกว่าไหมหากเราช่วยกันปรับเปลี่ยนระบบและบรรยากาศการเรียนจากภายใต้เงาของความขลาดกลัวมาอยู่ในมือของความรักแทน ด้วยการสร้างสรรค์ระบบและบรรยากาศการเรียนที่ดึงเอาเมล็ดพันธุ์ด้านดีของมนุษย์มาเป็นแรงจูงใจ ให้ทุกคนใฝ่เรียนรู้และมีสำนึกของการแสวงหาความเป็นเลิศ ดังเช่น ใช้ความรัก ให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจกัน เปิดพื้นที่ให้โอกาสตลอดจนให้กำลังใจและสนับสนุนช่วยเหลือกัน แทนที่จะใช้ปัจจัยด้านลบต่างๆ ที่กล่าวมา การส่งเสริมปัจจัยทางบวกเหล่านี้จะเป็นแรงจูงใจให้เราข้ามพ้นพรมแดนเส้นแบ่งที่แบ่งแยกพวกเราออกเป็นฝักเป็นฝ่ายที่มีความเหลื่อมล้ำแปลกแยกต่อกัน

Newer Posts Older Posts Home