โดย ณัฐฬส วังวิญญู
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๐
------------------------------------------------------------



เวลายายของผมกลับไปทำบุญและเยี่ยมเยียนหมู่บ้านทุกวันพระ บางครั้งจะมีคนในหมู่บ้านถามว่า ผมทำงานอะไร ยายมักตอบไปว่า “ก็ไม่รู้เหมือนกัน เห็นเดินทางไปๆ มาๆ” และยายก็มักจะหัวเราะตามเสมอเวลาที่ตัวเองไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าอาชีพของหลานตัวเองนั้นคืออะไร แม้ว่าจะล่วงเลยมาหลายปีแล้วนับตั้งแต่วันที่ผมตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านในเมืองเล็กๆ อย่างเชียงราย ยายเองดูจะมีความสุขและภูมิใจที่เห็นผมมีเวลาอยู่กับบ้าน ได้กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตา อย่างน้อยก็มื้อเย็น หรือไม่ก็มื้อกลางวันด้วย และผมมักมีเวลาพูดคุยกับยายเสมอ บางครั้งเราเพียงแต่มองหน้าสบตากัน รับรู้กันและกันว่ายังดำรงอยู่ด้วยดี ก็มีค่าเพียงพอแล้ว ยายคงคิดว่าอาชีพการงานที่ไม่เป็นหลักแหล่ง หรือการไม่มีงานประจำของผม เป็นเรื่องไม่น่าเป็นห่วงสักเท่าไร


ในประเทศออสเตรเลียปรากฏการณ์ที่น่าสนใจหนึ่งคือ คนต้องการมีเวลาให้กับ “การมีชีวิต” มากขึ้นแล้วลดเวลาของการทำงานลงเหลือเพียง ๑ ใน ๓ ของงานเต็มเวลา เช่น เดือนหนึ่งก็อาจทำงานเพียง ๑๐ วัน หรือทำงานสัปดาห์ละ ๓ วันให้เพียงพอแก่การหล่อเลี้ยงชีพ ส่วนเวลาที่เหลือก็ทำงานเพื่อวาระแห่งชีวิต เรียนรู้ ดูแล สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ


ผมรู้สึกว่าคำถามว่า “คุณทำงานอะไร” เป็นคำถามทั่วไปที่เป็นที่นิยมไม่น้อย พอๆ กับคำถามว่า “เป็นคนที่ไหน” หรือ “เรียนจบที่ไหน” หรือ “เรียนจบอะไร” หรือ “แล้วจะทำอะไรต่อ” ราวกับว่าสถาบันเหล่านั้น หรืออาชีพนั้นสำคัญต่อการดำรงอยู่และการเลี้ยงชีพมาก โดยเฉพาะในแง่การเติมเต็มความจำเป็น และความต้องการทางวัตถุ การได้เงินเดือนเท่าไร หรือได้รับการเพิ่มขั้น ขึ้นเงินเดือนหรือเพิ่มโบนัส กลายเป็นสิ่งที่ตั้งตารอคอย


ชีวิตของคนทำงานหาเช้ากินค่ำ มีงานประจำ มีเงินเดือนสำหรับการจับจ่ายใช้สอย เป็นชีวิตที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขหรือวาระขององค์กร ของสถาบัน หรือของบริษัทนั้นๆ จนบางทีก็ไม่แน่ใจนักว่าพลังชีวิตของเราถูกใช้ไปเพื่อรับใช้วาระขององค์กรหรือวาระของตัวเองอย่างสมดุลหรือเปล่า อีกทั้งชวนให้ตั้งคำถามว่า วิถีที่เป็นอยู่นี้สามารถรับประกันว่า สุดสายปลายทางของชีวิตที่กำลังวิ่งบนสายพานแห่งการทำงานอย่างไม่หยุดยั้งนี้เราจะพบเจอกับชีวิตที่งดงาม มั่งคั่งด้วยความสุขและความพึงพอใจได้มากน้อยเพียงใด


หากเรามองอย่างเอาชีวิตเป็นตัวตั้งดูบ้าง เราอาจค้นพบว่า ชีวิตก็มีความเป็น “องค์กร” มีความเป็น “สถาบัน” ที่มีเป้าหมายแห่งการดำรงอยู่เช่นกัน มีวาระแห่งชีวิตที่พึงได้รับการหล่อเลี้ยงเติมเต็ม
การสละเรื่องส่วนตัว เวลาส่วนตัว เวลาครอบครัว พลังชีวิตเพื่ออุทิศให้กับการบรรลุเป้าหมายหรือวาระขององค์กรนั้นดูเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมสรรเสริญ แล้ว “วาระของชีวิต” ของเราเองล่ะครับ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกายใจของตัวเองและคนที่เรารัก หรือคนใกล้ชิดที่สุดที่บางครั้งเราคิดไปเองว่าเป็น “ของตาย” ล่ะ เราได้ดูแลอย่างที่เราอยากดูแลหรือเปล่า ทั้งๆ ที่บางทีเราบอกตัวเองว่าที่ทำไปก็เพื่อครอบครัว เพื่อลูก หรือเพื่อคนใกล้ชิด แต่เราได้สละตัวเองเพื่อตัวเองบ้างไหม


เพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไป เราอาจต้องเดินทางมากมาย เราทำงานหามรุ่งหามค่ำ แต่เมื่อเราได้มีโอกาสได้หยุดใคร่ครวญบ้าง เราก็อาจพบว่าการเดินทางที่เรายังไม่ค่อยได้ไปนัก คือการเดินทางด้านใน เพื่อเข้าไปสืบค้นและทำความเข้าใจกับตัวเองอย่างแท้จริงว่า ความปรารถนาที่อยู่ลึกที่สุดในหัวใจของเราคืออะไร ภารกิจอันแท้จริงของความเป็นมนุษย์ นอกไปจากภารกิจที่พึงปฏิบัติในฐานะสมาชิกของสังคม องค์กร หรือครอบครัว คืออะไร ภารกิจที่เราจะต้องกระทำให้กับชีวิตเราเองคืออะไร


เราได้ค้นพบหรือไม่ว่าลึกที่สุดในชีวิตเราคืออิสรภาพและความรัก ที่จะ “เลือก” ใช้ชีวิตของเราตามครรลองของหัวใจและด้วยความไว้วางใจอย่างไม่มีเงื่อนไข แม้นั่นอาจหมายถึงการดำเนินชีวิตที่แตกต่างออกไปจากวิถีทั่วไป ที่ผมไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นวิถีของความเป็นปกติ เพราะผมไม่คิดว่าการทำงานหนักวันละ ๘ ชั่วโมง ๕ วันต่อสัปดาห์ อย่างไม่มีเวลาได้ “ว่าง” เพื่อการใคร่ครวญ เป็นเรื่อง “ปกติ” เพียงแต่ได้รับการปฏิบัติต่อๆ กันมาในสังคมโลกตั้งแต่ยุตปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา จนเรียกว่า “ปกติ” ผมกลับคิดว่าเป็นเรื่อง “ผิดปกติ” เสียมากกว่า ทั้งนี้ จำนวนชั่วโมงทำงานต่อวันหรือต่อสัปดาห์นั้นคงไม่ใช่ตัวชี้วัดถึงความปกติหรือไม่ปกติ และคำว่า “ความว่าง” ของผมก็ไม่ได้หมายความว่า “การไม่ทำอะไร” แต่หมายถึง สภาวะการดำรงอยู่ภายในของเรามากกว่าว่าสอดคล้องกับสิ่งที่เราทำอยู่ และสอดรับกับเป้าหมายหรือภารกิจอันแท้จริงของชีวิตเราหรือไม่


ช่วงนี้ เพื่อนผมบางคนที่พ่อหรือแม่เริ่มชราภาพและเจ็บป่วยตามกาลเวลานั้นได้เลือกที่จะละจากการทำงานประจำมาเพื่อดูแลผู้อันเป็นที่รัก หลายคนบ่นให้ฟังว่า ไม่ง่ายเลยที่จะต้องอยู่บ้าน (แทนการไปทำงาน) การต้องเผชิญกับอารมณ์ลบ ความหงุดหงิด คับข้องหมองใจ ของทั้งตัวเองและผู้ที่เขาให้การดูแลอยู่ จนถือได้ว่าเป็นภารกิจที่หนักหนาสาหัสเอาการได้เหมือนกัน


ผมรู้สึกชื่นชมสิ่งที่เพื่อนๆ ได้เลือกกลับมาดูแลหล่อเลี้ยงพ่อแม่ของตัวเอง แม้นว่าโดยทั่วไป สังคมอาจไม่ถือว่านี่เป็นอาชีพอย่างหนึ่ง เพราะมันไม่ได้สร้างรายได้อะไร ไม่ได้ไปเพิ่ม “ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ” หรือ GNP ไม่ได้มีความหมายต่อ “การเติบโตทางเศรษฐกิจ” แต่ผมถือว่าเป็น “อาชีพแห่งความเป็นมนุษย์” ที่คอยดูแล “วาระแห่งชีวิต” ที่เป็นปัจจุบันและมีความสำคัญต่อการสืบทอดมรดกแห่งความเป็นมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่ซื้อหาไม่ได้ แต่สร้างเองได้ และมีค่าแก่การเติบใหญ่ทางจิตวิญญาณของเราเอง ซึ่งจะส่งผลให้ความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH) เพิ่มขึ้น ดังที่ประเทศภูฏานได้สร้างพื้นฐานตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ไว้
วาระแห่งชีวิตเหล่านี้น่าจะได้รับการยกระดับให้เป็นวาระแห่ง “ชาติ” ที่อาจหมายถึง วาระที่มีมาพร้อมกับการเกิดเป็นมนุษย์ และคงเป็นสิ่งที่น่ายินดีไม่น้อยหากผู้คนในสังคมสมัยใหม่จะ “เลือก” ใส่ใจคนรอบข้างอย่างอ่อนโยนยิ่งขึ้น ดูแลผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งทางเลือดเนื้อกายาและจิตใจของเขาอย่างเคารพ


เป็นที่น่าภูมิใจว่า จิตสำนึกและการปฏิบัตินี้ยังมีอยู่ในวัฒนธรรมพื้นบ้านของทุกหมู่เหล่า คือวัฒนธรรมแห่งการดูแล พ่อแม่เมื่อแก่เฒ่าก็มีลูกเต้ามาดูแล แต่การรุกเร้าของวัฒนธรรมอุตสาหกรรมสายพานชีวิตนั้นทำให้หลายคนอาจรู้สึกว่า การต้อง“หยุด” มาดูแลวาระชีวิตของตนเป็นสิ่งที่ฝืนกับข้อเรียกร้องของ “งาน” และเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ทั้งๆ ที่ลึกๆ แล้วเราต่างยอมรับว่าเป็นเรื่องสำคัญและมีค่ายิ่ง ผมเชื่อว่า อารยธรรมและอิสรภาพของมนุษย์นั้นจะได้รับโอกาสในการพัฒนาเมื่อเรา “หยุด” เป็น “ช้าลง” เป็น “เฝ้ามองสิ่งต่างๆ อย่างเนิ่นนาน” เป็น เห็นมรดกชีวิตอันล้ำค่าที่ดำรงอยู่รอบๆ ตัวเราและในตัวเรา


ร้อยปีมานี้ เรามุ่งเน้นแต่การ “พัฒนาไปข้างหน้า” ที่เป็นการทำให้เกิดสิ่งต่างๆ มากขึ้น สะสมมากขึ้น กอบโกยและเป็นเจ้าของมากขึ้น โดยไม่ค่อยใส่ใจหรือชื่นชมต่อสิ่งที่มีอยู่แล้ว ที่อยู่กับเราในปัจจุบัน เราอาจยังขาด “การพัฒนาไปข้างๆ หรือไปรอบๆ” คือการดูแลผู้คนที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือคนในชุมชน หรือ “พัฒนาไปข้างหลัง” คือการดูแลผู้ที่มีส่วนหล่อเลี้ยงผลักดันให้ชีวิตเราได้เติบใหญ่ เช่นครอบครัว พ่อแม่ ตายาย เป็นต้น หรือ “พัฒนาไปข้างบน” คือการเสริมเติมมิติแห่งความศักดิ์สิทธิ์และจิตวิญญาณให้กับชีวิตตัวเอง อาจเรียกได้ว่าเป็น “การพัฒนาไปข้างใน” ส่วนการ “พัฒนาลงด้านล่าง” คือการดูแลธรรมชาติ แผ่นดินและชีวิตน้อยใหญ่ที่มีส่วนทำให้เราดำรงอยู่รอดมาได้และเป็นหัวใจแห่งการดำรงอยู่รอดของอนาคตของมนุษยชาติ ทั้งหมดก็น่าจะเป็นการพัฒนาที่รอบด้านและสมดุล


บางทีการพูดถึง “เศรษฐกิจพอเพียง” นั้นจะเพิ่มมิติของการทำอะไรอย่างไม่ได้ผลตอบแทนทางวัตถุได้หรือไม่ เพราะคำว่า “พอเพียง” ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่หัวใจเท่านั้นที่จะรับรู้และทำได้ เพราะในเนื้อในตัวของวัตถุสิ่งของหรือเงินตราเองไม่สามารถทำให้พอเพียงได้ หากเศรษฐกิจพอเพียงอาจรวมถึง เศรษฐกิจที่สามารถเสริมสร้างความตื่นรู้ในปัจจุบันขณะ เพื่อมองเห็นความรุ่มรวยของการเดินทางเข้าสู่ภายในอย่างมองเห็นความเชื่อมโยงของชีวิต เป็นระบบเศรษฐกิจที่ไม่เพียงเน้นการเติบโตด้านนอก แต่เป็นการเติบโตแห่งจิตวิญญาณด้านใน และเกื้อกูลให้อาชีพของความเป็นมนุษย์นั้นได้รับการชื่นชมสรรเสริญ เพราะไม่ว่าเราจะมีอาชีพอะไรก็ตาม เราก็คงไม่อาจปฏิเสธ “วาระแห่งชีวิต” ที่ดำรงอยู่ในเนื้อในตัวของเราเองได้ หากเพียงได้หยุดพักอย่างผ่อนคลาย และไตร่ตรองด้วยหัวใจ เราก็จะอาจพบเสียงเรียกร้องที่เป็นธรรมภายใน ที่เชื้อเชิญให้เราประกอบอาชีพแห่งความมนุษย์อย่างสมภาคภูมิ





โดย พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๐
-------------------------



ชีวิตที่สมบูรณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับเราทุกคน หากเราเลือกใช้ชีวิตอย่างสอดคล้องและกลมกลืนกับกระบวนการภายในตัวของมนุษย์ การใช้ชีวิตเช่นนี้ได้ จำเป็นต้องเริ่มต้นโดยมองตัวเราเองใหม่ในฐานะเป็นหน่วยองค์รวม อันประกอบขึ้นจากหลายส่วน ในที่นี้อาศัยการจำแนกจัดกลุ่มส่วนต่างๆ ซึ่งประกอบกันเป็นองค์รวมชีวิต ออกเป็น “สามฐาน สามทัศน์”


สามฐานคืออะไร? สามฐานคือ ฐานกาย ฐานใจ และฐานปัญญา สามทัศน์คืออะไร? สามทัศน์หรือสามมุมมองคือ ทัศน์หรือมุมมองของฉัน ทัศน์หรือมุมมองของคนอื่น และทัศน์หรือมุมมองของกระบวนการ
การแยกแยะส่วนต่างๆ ในองค์รวมชีวิตออกเป็นสามฐาน สามทัศน์ เป็นการแยกแยะอย่างง่ายที่ช่วยให้เราเข้าใจว่ามนุษย์ไม่ได้มีตัวตนที่สามารถควบคุมได้ แต่มนุษย์จำเป็นต้องอ่อนน้อมอย่างเข้าใจต่อความหลากหลายอันประกอบขึ้นมาเป็น “ตัวฉัน” โดยแต่ละส่วนต่างมีกระบวนการที่มี “ชีวิต” ของมันเอง และความเป็นทั้งหมดที่ประกอบขึ้นมาเป็น “ตัวฉัน” คือ “สหชีวิต” ที่แต่ละส่วนต่างอิงอาศัยซึ่งกันและกัน


ฐานกาย เป็นฐานแห่งพลังความมุ่งมั่นและการลงมือกระทำ มีกระบวนการอันเป็นธรรมชาติ เช่น ระบบการเยียวยาตัวเอง ระบบการรักษาสมดุลอุณหภูมิ และระบบการแลกเปลี่ยนอาหารกับธรรมชาติ เป็นต้น ฐานใจ เป็นฐานแห่งความรัก ความใส่ใจ และการเชื่อมโยงสัมพันธ์ มีกระบวนการอันเป็นธรรมชาติ เช่น กลไกการป้องกันตนเอง (Defense mechanism) การตั้งมั่นจดจ่อเป็นสมาธิ และการแลกเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกกับเพื่อนมนุษย์ เป็นต้น ฐานปัญญา เป็นฐานแห่งการตื่นรู้ ก้าวข้าม และปล่อยวาง มีกระบวนการอันเป็นธรรมชาติ เช่น การใคร่ครวญพินิจพิจารณา ความรู้สึกตัว (awareness)


ทัศน์ของฉัน มีกระบวนการเข้าถึงด้วยการรู้สึกจากภายในจิตใจของเราเอง โดยมีตัวเราเองเป็นตัวตั้งของความใส่ใจ ทัศน์ของคนอื่น มีกระบวนการเข้าถึงด้วยการพูดคุยสนทนากับบุคคลอื่น เพื่อร่วมรู้สึกและเข้าใจมุมมองของเขา โดยเอาบุคคลอื่นเป็นตัวตั้งของความใส่ใจ ทัศน์ของกระบวนการ มีกระบวนการเข้าถึงด้วยการสังเกต ศึกษา และวิเคราะห์วิจัย โดยเอาระบบหรือกระบวนการเป็นตัวตั้งของความใส่ใจ เช่น การวางแผนระบบการทำงาน การเฝ้าสังเกตพฤติกรรม การวางระบบการประเมินผล เป็นต้น


เราทุกคนในฐานะมนุษย์ต่างมีกระบวนการเหล่านี้ดำรงอยู่แล้ว แต่ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่เรากลับไม่เคยนึกถึงและใส่ใจถามตัวเองว่า กิจกรรมที่เราทำ กำลังขัดแย้งกับกระบวนการอันเป็นธรรมชาติอยู่บ้างหรือไม่ เรากำลังทำให้กระบวนการต่างๆ เกิดความป่วยไข้หรือเสียหายชำรุด หรือเรากำลังทำให้เกิดภาวะติดขัดในกระบวนการใดอยู่บ้าง จนทำให้กระบวนการเหล่านี้ทำงานอย่างผิดปกติ ไม่ไหลลื่น


ทั้งนี้เนื่องด้วยองค์รวมชีวิตคือการพึ่งพิงอิงอาศัยซึ่งกันและกันของสหชีวิตในสามฐาน สามทัศน์ การฝึกฝนปฏิบัติอย่างเหมาะสมและบูรณาการจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในเบื้องต้นเราอาจพิจารณาการปฏิบัติเหล่านี้ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำเนินชีวิต


การฝึกปฏิบัติในฐานกาย ได้แก่ การออกกำลังกาย เช่น ชี่กง โยคะ ยกน้ำหนัก แอโรบิค วิ่งจ๊อกกิ่ง ว่ายน้ำ การเลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ สะอาด และปลอดภัย การผ่อนคลายร่างกาย เช่น การผ่อนคลายกล้ามเนื้อทั่วทั้งร่าง การผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ (total relaxation) เป็นต้น การฝึกปฏิบัติในฐานใจ เช่น การทบทวนความรู้สึกของตนเอง การฝึกสมาธิจดจ่อกับสิ่งหนึ่งให้ต่อเนื่องไม่ขาดสาย (อย่างผ่อนคลาย) การเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น เป็นต้น การฝึกปฏิบัติในฐานปัญญา เช่น การใคร่ครวญอย่างรอบคอบแยบคาย การเจริญสติ ฝึกความรู้สึกตัว เป็นต้น


จะเห็นได้ว่าการฝึกปฏิบัติข้างต้นส่วนใหญ่เป็นการฝึกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับตัวเองเป็นหลัก ซึ่งเหล่านี้เป็นการปฏิบัติเพื่อการเข้าถึงมุมมองของฉันเป็นส่วนใหญ่ แต่การปฏิบัติเช่นนี้อาจทำให้เกิดภาวะติดขัดอยู่ภายในมุมมองเดียว หากขาดการเปิดมุมมองของคนอื่น และมุมมองของกระบวนการด้วย


ดังนั้น การเข้าถึงมุมมองของคนอื่นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขยายโลกทัศน์ให้กว้างออกไปพ้นจากตัวเอง ไปสู่คนในครอบครัว ไปสู่เพื่อนร่วมงาน ไปสู่เพื่อนมนุษย์ และสรรพสัตว์ การฝึกปฏิบัติอย่างง่ายๆ คือ การฟังอย่างใส่ใจ ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพื่อนบ่นถึงความทุกข์ที่เขากำลังประสบ โดยไม่รีบตัดสินและแทรกด้วยความเห็นของเรา หลักการคือการเอาคนอื่นเป็นที่ตั้งหรือศูนย์กลาง


แต่กระนั้นการฝึกอยู่กับมุมมองคนอื่นแต่เพียงอย่างเดียว อาจทำให้เราไม่สามารถเข้าใจได้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เลยหลงไปกับความสัมพันธ์จนอาจทำให้ตัวเราประสบแต่ความทุกข์และท้อแท้ได้ เพราะเรื่องราวของคนอื่นมีมากมายไม่มีที่สิ้นสุด การใช้มุมมองของกระบวนการจะช่วยให้เราเข้าใจได้ว่า ขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเพื่อนอยู่ในกระบวนการใด ตัวอย่างเช่น เรากำลังให้คำปรึกษาแก่เพื่อน และเราโศกเศร้าไปกับเขาเสียจนไม่สามารถหลุดออกจากมันได้ เราอาจจำเป็นต้องใช้การใคร่ครวญพินิจพิจารณา หรือความรู้สึกตัว ต่อตัวเรา และตัวเขา ด้วยว่า ณ ขณะนี้ กระบวนการภายในของเรากำลังติดอยู่กับฐานใจ โดยไม่สามารถหลุดออกไปได้ ทำให้ฐานกายและฐานปัญญาขาดพร่อง เพียงแค่เราสังเกตได้เท่าทันว่าเรากำลังติดอยู่กับกระบวนการอะไร นั่นก็คือการเริ่มมีมุมมองของกระบวนการแล้ว หลังจากนั้นหากเราชำนาญเพียงพอ ก็อาจจะปฏิบัติเพื่อทำให้พลังที่ติดอยู่กับฐานใจไหลเคลื่อนไปสู่ฐานกายหรือฐานปัญญา ทั้งในตัวเราและตัวเพื่อนได้เช่นกัน


ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของการเริ่มทำความรู้จักกับส่วนต่างๆที่ประกอบกันขึ้นเป็นองค์รวมชีวิต ไม่มีส่วนใดเลยที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ตัวฉัน” เป็นเพียงการอิงอาศัยซึ่งกันและกันของกระบวนการที่มีชีวิตของมันเองในส่วนต่างๆ กรอบสามฐาน สามทัศน์ ทำหน้าที่ในขั้นต้นเป็นเครื่องเตือนให้เราไม่หลงลืมต่อแง่มุมที่สำคัญๆ ของมนุษย์ เมื่อเริ่มเปิดทัศนะแบบองค์รวมเช่นนี้ แล้วแยกแยะส่วนต่างๆ เพื่อร่วมปฏิบัติอย่างบูรณาการ ก็จะสามารถนำไปสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ได้ในแต่ละวัน แต่ละช่วงชีวิต และตลอดไป



โดย ธนา นิลชัยโกวิทย์ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๐
-------------------

เมื่อไม่นานนี้ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดการอบรมหลักสูตร Authentic Leadership (การพัฒนาสู่ความเป็นผู้นำและมนุษย์ที่แท้) ให้แก่ผู้บริหารจากคณะและหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ประมาณ 40 คน โดยมี อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ เป็นกระบวนกร เนื้อหาหลักๆ ของการเรียนรู้ในครั้งนี้เป็นเรื่องสุนทรียสนทนา หรือ Dialogue และการคิดเชิงระบบ มีการฝึกการพูดและฟังอย่างมีสติ ด้วยความใคร่ครวญ และเปิดใจรับฟังกันอย่างลึกซึ้ง บรรยากาศการเรียนรู้เป็นไปอย่างสบายๆ ไม่เร่งรีบ ไม่ได้มีเนื้อหาอะไรมาก ตัวกระบวนกรไม่ได้บรรยายอะไรมากนัก เพียงแต่จัดกระบวนการ และเปิดพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มผู้เข้าร่วมการอบรม แต่ปรากฏว่าเสียงสะท้อนจากผู้เข้ารับการอบรมเกือบทั้งหมดบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้เรียนรู้มาก เวลา 4 วัน ของการอบรมผ่านไปอย่างรวดเร็ว ไม่น่าเบื่อ หลายคนบอกว่าเป็นครั้งแรกในช่วงเวลาเนิ่นนานที่ได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง คิด และทบทวนสิ่งต่างๆอย่างจริงจัง ผู้บริหารคนหนึ่งบอกว่ารู้สึกว่าตนได้อะไรจากการอบรม 4 วันนี้มากกว่าหลักสูตรมินิ เอ็มบีเอ (Mini MBA) 4 เดือนที่เคยไปเรียนมาเสียอีก เพราะในเวลา 4 เดือนนั้น มีแต่เนื้อหาวิชาที่อัดแน่นด้วยการบรรยายจาก “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ในด้านต่างๆ แต่ขาดความต่อเนื่องเชื่อมโยง และไม่ได้มีเวลาอยู่กับตนเอง ที่จะได้ใคร่ครวญ และเรียนรู้อย่างลึกซึ้งจริงๆ เลย

การแลกเปลี่ยนกับผู้บริหารท่านนี้ทำให้ได้คิดทบทวนถึงกระบวนการอบรมแนวจิตตปัญญาที่เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษามาจัดกระบวนการและเรียนรู้ร่วมกันเพื่อพัฒนาตัวกระบวนกรที่เข้าร่วมโครงการ และเพื่อถอดบทเรียนว่ากระบวนการอบรมหรือการเรียนรู้เชิงจิตตปัญญามีหัวใจสำคัญอะไรบ้าง ประเด็นหนึ่งที่เห็นตั้งแต่เริ่มต้นและมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของการเรียนรู้สู่ภายในคือการให้เวลาและพื้นที่ในการใคร่ครวญ เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้เปิดใจเรียนรู้สิ่งต่างๆและตนเองด้วยใจที่สงบ เปิดกว้างอย่างแท้จริง

เริ่มตั้งแต่กระบวนการทำความเข้าใจกับโครงการอบรมกระบวนกรแนวจิตตปัญญา เราถกกันว่าจะมีวิธีนำเสนอ เป้าหมาย วัตถุประสงค์ และแนวทางการดำเนินงานของโครงการฝึกอบรมซึ่งมีลักษณะเป็นโครงการวิจัยด้วย ให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับรู้และวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างไร เราตัดการนำเสนอด้วยสไลด์ PowerPoint ออกไปเพราะมองเห็นว่าเป็นการนำเสนอที่ถูกกำหนดโดยผู้เสนอเป็นหลัก ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมและเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมได้ยาก วิธีที่เราตัดสินใจเลือกเป็นวิธีง่ายๆ คือการทำโปสเตอร์สรุปเนื้อหาที่ต้องการเสนอ วางกับพื้น กระจายไปทั่วห้อง ให้ผู้เข้าร่วมเดินดู และใช้เวลาพิจารณาเงียบๆ โดยไม่ต้องพูดคุยกัน แล้วลองทบทวนว่า ตนมีคำถามหรือประเด็นขัดแย้งอย่างไร มีข้อเสนอแนะอะไรเพิ่มเติม โดยให้เขียนลงในสมุดของตนเอง ตอนท้ายจึงให้นำมาแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มย่อย ซึ่งมีคณะทำงานของโครงการเข้าร่วมอยู่ด้วยทุกกลุ่มเพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นหรือคำถาม โดยไม่ต้องบีบบังคับให้กลุ่มสรุปความคิดเห็นมา “นำเสนอ” ด้วยความเร่งรีบอย่างที่มักทำกัน ปรากฏว่ากิจกรรมง่ายๆ นี้ได้ผลเกินคาด ผู้เข้าร่วมหลายคนสะท้อนว่าเป็นการเปิดพื้นที่ให้ได้ใคร่ครวญจริงๆ และข้อคิดเห็นที่คณะทำงานได้รับจากกลุ่มย่อยก็มีประโยชน์ต่อการปรับรูปโครงการและการทำความเข้าใจกับผู้เข้าร่วมต่อมาได้มาก

ลักษณะคล้ายกันนี้ได้เกิดขึ้นอีกในกระบวนการอื่นๆ เช่นในการเรียนรู้เรื่องจิตตศิลป์ โดยสถาบันอาศรมศิลป์ กิจกรรมสองสามกิจกรรมที่คนชอบมากที่สุด กลับเป็นกิจกรรมที่ไม่มีโครงสร้างซับซ้อนแต่เปิดพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้และใคร่ครวญด้วยตนเอง เช่น การทำตุงร่วมกันเป็นหมู่คณะที่สะท้อนให้เห็นวิธีคิดวิธีการทำงานของกลุ่มในการสร้างสรรค์ศิลปะสาธารณะร่วมกัน หรือการให้เวลาสั้นๆ เพียง 20 วินาทีในการวาดภาพแสดงอารมณ์ต่างๆ ผลัดเปลี่ยนเวียนกันไปอย่างฉับพลัน แล้วแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันภายหลังในกลุ่มย่อย

ในการอบรมอีกครั้งหนึ่งกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมหลายคนสะท้อนว่าทำให้ได้ประโยชน์และเกิดการเรียนรู้กับตนเองมากคือ การที่กระบวนกรตั้งคำถามว่าจากกิจกรรมที่จบลงไป มีผลกระทบต่อตนเองอย่างไรบ้าง และแต่ละคนได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตนเองบ้าง โดยให้ใช้เวลานั่งอยู่กับตนเองเงียบๆ และบันทึกลงในสมุดส่วนตัวของตัวเอง

นอกจากนี้ ในกิจกรรมที่จัดโดยสถาบันขวัญเมือง จังหวัดเชียงราย กระบวนกรให้ผู้เข้าร่วมใช้เวลาหามุมสงบส่วนตัวของตนเองในธรรมชาติ โดยมีคำชี้แนะเพียงว่าให้เปิดสัมผัสเปิดใจรับอย่างเต็มที่กับทุกสิ่งที่เข้ามา หากอยากบันทึกการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นก็ให้บันทึก หรือหากต้องการเพียงเก็บรับประสบการณ์การเรียนรู้นั้นไว้ในใจโดยไม่ต้องบันทึกก็ได้ ผลจากประสบการณ์ที่เรียบง่ายแต่งดงามครั้งนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมหลายคนสามารถสัมผัสได้ถึงความงาม และแง่มุมทางปัญญา ทั้งในสรรพสิ่ง และในใจของตนเองได้อย่างละเอียดอ่อนลึกซึ้ง บางคนบรรยายว่าเห็นความงามของต้นหญ้าต้นเล็กๆ ที่พยายามเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เมื่อเทียบกับความคิดปกติที่มองต้นหญ้านั้นเป็นวัชพืชที่รกรุงรังควรถอนทำลาย

การให้เวลา และการเปิดพื้นที่ว่างให้มีการคิดใคร่ครวญจึงเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ที่จะทำให้เกิดปัญญาอย่างแท้จริง แต่ผู้สอนหรือผู้จัดกระบวนการต้องมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งถึงแก่นแท้ของหลักการนี้ ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดปรากฏการณ์อย่างที่เคยเห็นมาแล้วในหลักสูตรการศึกษาบางหลักสูตรในมหาวิทยาลัย ที่พยายามตัดจำนวนหน่วยกิตให้น้อยลง ตัดชั่วโมงสอนให้น้อยลง เพื่อนักศึกษาจะได้มีเวลา “ว่าง” มากขึ้น แล้วกลับไปเร่งสอนหรืออัดเนื้อหาที่คิดว่า “จำเป็น” เข้าไปในเวลาที่เหลืออยู่น้อยลง จนทำให้เกิดการเรียนรู้น้อยลงไปอีก แทนที่จะใคร่ครวญว่าอะไรที่เป็นหัวใจของการเรียนรู้จริงๆ และสอนให้น้อย แต่ให้เกิดการเรียนรู้ให้มาก และช่วงเวลาว่างก็ต้องเป็นเวลาว่างที่มีการจัดการเพื่อเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ ไม่ใช่เป็นเวลาที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยชอบเรียกชั่วโมงการเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่เรียกกันว่า SDL (Self Directed Learning) แทนว่า “Sleep Directed Learning” คือ ชั่วโมงพักผ่อนนอน (ไม่) เรียนรู้

โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๐

ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต ๙ จังหวัดสงขลา เป็นสถานที่หนึ่งที่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ได้ให้ความสำคัญในการดูแล บำบัด แก้ไข จิตใจเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง โดยผ่านกระบวนการสานเสวนา (Dialogue) เพื่อสื่อสาร ฟังกันและกันด้วยเมตตาระหว่างเจ้าหน้าที่และเยาวชน และระหว่างเยาวชนกับเยาวชน เพื่อป้องกันและลดความเข้าใจผิด มิให้พัฒนาเป็นความรุนแรง ทำร้ายร่างกายกันระหว่างเด็กที่มาจากจังหวัดต่างกัน และระหว่างเยาวชนไทยพุทธและมุสลิมในที่สุด

ต้องไม่ลืมว่า เยาวชนที่กระทำผิดเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีประสบการณ์ใช้ความรุนแรงทั้งในระดับครอบครัว กลุ่มเพื่อน และในชุมชนมาแล้วทั้งสิ้น คดีที่กระทำผิดมีตั้งแต่การลักขโมย การเกี่ยวข้องเป็นผู้เสพและซื้อขายยาเสพติด ปล้น ข่มขืน และฆ่า การกระทำความผิดของเยาวชนเหล่านี้มีทั้งโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเจตนาและเคยชินในการทำความผิด แต่เมื่อเขาเหล่านี้ได้รับโทษและเข้ามาอยู่ในสถานพินิจ เจ้าหน้าที่และตัวเยาวชนเองควรเชื่อมั่นว่าเขาจะสำนึกผิด และตั้งใจจะก้าวพ้นความผิดที่ผ่านมา ต้องเชื่อมั่นว่า “เขาเหล่านี้จะสามารถกลับตัวและเปลี่ยนแปลงเป็นคนดีได้” หน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องคือ ทำอย่างไรจะพัฒนาทัศนคติและพฤติกรรมของเยาวชนดังกล่าวให้ตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของตน อันสามารถจะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ถ้าตนเองต้องการจะเปลี่ยน

กระบวนการสานเสวนาที่จัดโดยศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเครื่องมือหนึ่งในการจัดพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่และเยาวชนผู้กระทำผิดมีโอกาสมาใกล้ชิดกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน พูดคุยกันอย่างวางใจ และสื่อสารปัญหาข้อขัดข้องซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยของผู้อื่นแต่เป็นสิ่งยิ่งใหญ่และเป็นกำลังใจของเยาวชนผู้กระทำผิดเหล่านี้ เช่น กรณีการค้นหอนอนของเจ้าหน้าที่เพื่อหายาเสพติด หลายคนต้องสูญเสียสมุดบันทึก จดหมาย และรูปของผู้ใกล้ชิด สิ่งของที่เป็นกำลังใจเหล่านี้ถูกโยนทิ้งไป หรือแม้แต่การที่บางคนตัดพ้อเจ้าหน้าที่ว่า เมื่อการตรวจค้นได้สิ้นสุดลง และไม่ปรากฏสิ่งต้องห้ามและผิดกฎใดๆ ข้าวของที่ถูกรื้อค้นกระจุยกระจายก็ถูกปล่อยทิ้งให้เขาต้องจัดกลับเข้าสู่สภาพเดิม หากไม่มีการสานเสวนาเพื่อฟังกันอย่างวางใจ เปิดอกฟังอย่างเอาใจเขาน้อมเข้ามาสู่ความคิดคำนึงของเจ้าหน้าที่แล้ว ความเข้าใจผิดระหว่างกันจะพัฒนาเป็น “ปมการต่อต้าน” สะสมขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

ในกรณีความขัดแย้งระหว่างเยาวชนในสถานพินิจเด็กฯ เยาวชนที่ซึมซับภาพของความรุนแรงในครอบครัว ในสังคม มีแนวโน้มจะก่อความรุนแรงเช่นนั้นได้อีก เมื่อต้องมาอยู่รวมกัน ความเครียด ความคับแค้นใจ และความพยายามที่จะสร้างภาพ “ความสำคัญ” ของตนเองกลับคืนมา ทำให้หลายคนทำตัวเป็น “ขาโจ๋” ผู้มีอำนาจมี “ลูกเด็ก” เป็นลูกน้องคอยบังคับให้ทำตามคำสั่งตามที่ตนต้องการ ถ้าใครขัดขืนจะถูกทำร้ายร่างกาย ข่มขืนจิตใจ และเป็นเหตุให้ “ผู้ถูกกระทำ” ต้องเป็นคู่กรณีในการกระทำความรุนแรง ทั้งเพื่อป้องกันตนเอง และเพื่อป้องกันกลุ่มเด็กจากจังหวัดของตน เขาเหล่านี้ต้องการการเยียวยาบาดแผลในอดีตด้วยความเข้าใจ ดังนั้นกระบวนการสานเสวนา จึงเริ่มต้นจากการเตรียมความพร้อมให้เขาได้มี “สติ” โดยการสงบนิ่งอยู่กับตนเอง เขาจะสนใจ “ระฆังแบบทิเบต” ที่ทำให้เกิดเสียงด้วยการใช้ไม้สัมผัสขอบนอกของระฆังอย่างสมดุล บนมือที่ถือระฆังไม่กำไม่แบเกินไป การฝึกให้เยาวชนที่มีสมาธิค่อนข้างสั้นเหล่านี้ได้ “เชิญระฆัง” ให้มีเสียง เป็นอุบายอย่างหนึ่งในการเรียกสมาธิและสติให้กลับมาสู่ตนในปัจจุบันขณะ ประกอบกับเสียงระฆังที่กังวานไพเราะ อาจสื่อถึงความพิเศษ ความศักดิ์สิทธิ์ และความสงบที่ชีวิตของเขาเหล่านี้เรียกร้องอยู่ภายในจิตใจลึกๆ ในสถานที่ห่างไกลจากญาติพี่น้อง และพ่อแม่ผู้เป็นที่รัก

กระบวนการสานเสวนายังทำให้เยาวชนตระหนักถึง “คุณค่า” และมั่นใจว่าตนก็สามารถทำความดีได้ ผ่านกิจกรรมให้รางวัลการทำดีของตน ด้วยการใส่เม็ดถั่วเขียวในถ้วย ทีละเม็ด เมื่อระลึกได้ถึงความดีที่ได้กระทำทั้งต่อตนเองและผู้อื่นในแต่ละครั้ง เป็นการฝึกสติให้อยู่กับตน ฝึกความซื่อสัตย์ที่จะตัดสินให้คุณค่าตน กล้าและมั่นใจเล่าให้เพื่อนคนอื่นรับรู้ ผ่านการฟังอย่างลึกซึ้งของกระบวนการสานเสวนา แม้เป็นสิ่งเล็กน้อย เช่น การชักนำเพื่อนไปทำละหมาด ช่วยครูยกของ เป็นต้น เมื่อเขามั่นใจว่าการทำความดีมีคุณค่า และตนก็ทำได้ การจะชักจูงให้เขา “เต็มใจและอาสา” ทำความดีในแบบอื่นๆ ก็เป็นสิ่งไม่ยากเลย เราพบว่าเยาวชนเต็มใจลงชื่อเป็นอาสาสมัครช่วยทำความสะอาดโต๊ะอาหาร ช่วยกิจกรรมของเจ้าหน้าที่มากขึ้น หลังการฝึกสานเสวนา การบอกเล่าถึงความดีระหว่างกันในวงสานเสวนา เป็นกิจกรรมที่สามารถฟื้นฟู เรียกคืนความรู้สึกให้ตระหนักถึง “คุณค่า” ของความเป็นมนุษย์ที่เขาเหล่านี้ รู้สึกว่าสูญเสียไปนับตั้งแต่พวกเขากระทำผิดและรับโทษอยู่ในสถานพินิจฯ

การฟังอย่างลึกซึ้ง โดยไม่ขัดจังหวะ โดยไม่ตัดสินไว้ล่วงหน้าเป็นการใช้ “สติ” ฟังด้วย

การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก่อให้เกิดความเข้าใจความเห็นอกเห็นใจ เกิดเป็นพลังที่ฉายให้เห็นแสงของความเป็นมนุษย์ของตนเองและผู้อื่น เจ้าหน้าที่ผู้ฟังความทุกข์ ความขัดข้องใจของเยาวชนด้วยเมตตาจิต จะสามารถเห็นความทุกข์และความเป็นมนุษย์ของเขาในตนเองและในงานหน้าที่ของตนได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน เมื่อเด็กได้ฟังเหตุผล คำอธิบายของเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องปกครองเยาวชนจำนวนมาก จำเป็นต้องวางกติกาที่เข้มงวด ก็ได้เข้าใจว่ากติกาเหล่านี้เป็นผลสืบเนื่องจากการกระทำของเยาวชนบางกลุ่มบางคนนั้นเอง ทำให้ต้องมีกฎต่างๆ เพิ่มขึ้นมากมาย เช่น การไม่อนุญาตให้นำสมุดบันทึกขึ้นหอนอน เพราะมีเยาวชนบางคนใช้กระดาษของสมุดบันทึกไปมวนยาที่ลักลอบนำเข้ามาเช่นนี้ เป็นต้น

การที่เจ้าหน้าที่และเยาวชนใช้กระบวนการสานเสวนาอันเป็นการฟังอย่างลึกซึ้งด้วยจิตที่เมตตาต่อกัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้มีสติ วางใจและเข้าใจกันมากขึ้น เมื่อทั้งสองฝ่ายได้สื่อสารอย่างสันติเช่นนี้ ถือว่าต่างทำหน้าที่ “ภายนอก” ของตนในฐานะเจ้าหน้าที่และในฐานะเยาวชนผู้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ทั้งยังฝึกความอดทนความใจกว้าง การเชื่อใจ ให้เกียรติในความเป็นมนุษย์ผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตายของกันและกันอย่างยิ่ง สานเสวนาจึงมีส่วนร่วมในการลดความขัดแย้งระหว่างกัน ทำให้การทำหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายอยู่บนพื้นฐานของการฝึกคุณธรรม ก่อให้เกิด “งานภายนอก” (การสร้างความเข้าใจ ลดความขัดแย้ง) และการฝึกการสร้าง “งานภายใน” (คุณธรรมข้างต้น) อันเป็นลักษณะหนึ่งในการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาที่จะโยงการเรียนรู้จากภายใน ควบคู่กับการปฏิบัติงานภายนอกด้วยนั่นเอง

Newer Posts Older Posts Home