โดย ชลลดา ทองทวี เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๙
----------------------------------------
งานอาสาสมัคร เป็นงานของ “การให้” แต่ในการให้นั้น “ผู้ให้” ได้กลายเป็น “ผู้รับ” ที่ได้เรียนรู้มากมายไปด้วย

ในสภาวการณ์ที่ต้องการการเสียสละแรงกายแรงใจของอาสาสมัคร สิ่งแรกที่อาสาสมัครได้รับจากการไปช่วยเหลือผู้อื่น คือ ได้เห็นประโยชน์ของศักยภาพที่ตนเองมี

ชายหนุ่มคนหนึ่งเป็นคนพูดจาเสียงดัง เอะอะโวยวาย ดูจะเป็นคนมีบุคลิกภาพไม่เรียบร้อยในสายตาของคนส่วนใหญ่ แต่ในสภาวะวิกฤตช่วงสึนามิ ซึ่งมีการขนข้าวของไปบริจาคช่วยเหลือผู้คน มีรถเข้าออกจำนวนมาก บุคลิกภาพของเขากลายเป็นคุณลักษณะที่เป็นประโยชน์ และเป็นที่ต้องการ เขาได้ทำงานอาสาสมัครโบกรถ ช่วยจัดการการจราจรให้เป็นไปอย่างราบรื่นอยู่หลายสัปดาห์ และได้ภูมิใจในศักยภาพของตนเองในข้อนี้เป็นอย่างยิ่ง

อาสาสมัครคนอื่นๆ ที่ได้ทำงานร่วมกับเขา ได้เรียนรู้ที่จะยอมรับและเคารพความแตกต่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทุกคนดูแลเอาใจใส่เขา และไม่ขึ้งโกรธที่เขาพูดเสียงเหมือนตะโกนหรือตะคอกอยู่ตลอดเวลา วิกฤตปัญหาที่รุนแรงทำให้ทุกคนทะนุถนอม ตระหนักเห็นคุณค่าของกันและกัน เพราะรู้ดีว่า คนๆ เดียวไม่สามารถจะแก้ไขวิกฤตปัญหาที่เป็นวงกว้างและซับซ้อนได้ หากขาดใครคนใดคนหนึ่งไป งานของคนที่เหลือ ก็จะหนักขึ้น ยิ่งมีคนมากเท่าไร หลากหลายเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น ความรู้สึกยึดถือตัวตน อยากจะทำงานคนเดียว หรือความเป็นปัจเจกชนดูจะหายไปในสภาวการณ์เช่นนี้
อาสาสมัคร ยังได้เรียนรู้ที่จะมีความสุขจากการ “ให้” เป็นความสุขที่ผู้ให้ต้องขอบคุณผู้รับ ที่เปิดโอกาสให้เขาได้ช่วยเหลือ และได้สัมผัสกับการได้รักผู้อื่นโดยไม่มีเงื่อนไข เป็นความสุขจากการที่ได้ขยายจิตเล็กของปัจเจกบุคคล ไปสู่จิตใหญ่ของการเชื่อมโยงเป็นองค์รวมของสรรพชีวิต

นักศึกษาด้านวิศวกรรมสองคนโบกรถไปยังพื้นที่ห่างไกลในภาคใต้ที่ประสบภัยสึนามิ เพราะคาดเดาว่าจะเป็นพื้นที่ที่มีคนไปช่วยเหลือน้อย พวกเขาได้มีโอกาสทำงานอาสาสมัครช่วยเหลือในการชันสูตรพลิกศพอยู่เป็นสัปดาห์ ต้องตื่นแต่เช้าและนอนดึกถึงตีหนึ่งตีสอง โดยไม่มีนักข่าวหรือผู้คนให้ความสนใจ การให้อย่างอ่อนน้อมถ่อมตนของพวกเขาเป็นพรอันประเสริฐแก่เขาเองอยู่แล้วในตัว.. เด็กหนุ่มทั้งสองคนเล่าอยู่เสมอว่า รู้สึกขอบคุณเหตุการณ์ที่แม้จะยากลำบากและเศร้าสลด แต่เพราะเป็นโอกาสให้เขาได้ไปทำงานอาสาสมัครตรงนั้นและได้รับประสบการณ์หล่อเลี้ยงและเติมเต็มให้พลังแก่ชีวิต ดูเหมือนว่า “ผู้ให้” จะเป็นหนี้บุญคุณของสถานการณ์ และของผู้รับ ด้วยเช่นกัน

งานอาสาสมัคร ยังเป็นงานที่สัมผัสกับความทุกข์ยากของโลกและสังคมโดยตรง การได้สัมผัสกับความทุกข์อย่างลึกซึ้งเช่นนี้ ช่วยขยายมุมมองของอาสาสมัครให้เข้าใจความจริงของชีวิตได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ปัญหามากหลายที่ตนเองแบกอยู่ ก็ดูจะเล็กลงไปถนัดตา และบางครั้ง ถึงขั้นที่หายไปราวกับไม่เคยมีอยู่ น้องนักศึกษาหลายคนที่เคยเป็นเด็กเรียนและมุ่งหวังเกียรตินิยม ยอมขาดเรียนไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในช่วงสึนามิ โดยให้เหตุผลว่า ถึงจะขาดเรียนไปทำให้ได้เกรด F ในวิชานั้น แต่ภาคการศึกษาหน้าก็ยังลงเรียนซ่อมเสริมได้อีก แต่ความทุกข์ยากของผู้ประสบภัยที่เห็นอยู่เบื้องหน้า เป็นเรื่องเร่งด่วนจำเป็นที่ผัดผ่อนรอช้าไม่ได้ อาสาสมัครหลายคนได้เรียนรู้ที่จะเติบโตขึ้นภายใน เข้าใจความหมายของชีวิตในมุมมองที่กว้างขวางขึ้น โดยหลอมรวมเอาคนอื่นเข้าไว้ในเส้นทางการเดินทางของชีวิตตนมากยิ่งขึ้น จากการได้เป็นผู้ให้

งานอาสาสมัคร จึงเป็นงานที่มีลักษณะเฉพาะตัวประการหนึ่ง คือ เป็นผู้ให้ ในขณะเดียวกันก็ได้เป็นผู้รับ และได้เรียนรู้ พัฒนาขัดเกลาภายในเป็นอย่างยิ่ง เป็นงานการให้ที่ไม่มีใครเสีย มีแต่ผู้ที่ได้รับทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ให้และผู้รับ แบบ win-win

ทั้งนี้ เพราะในจิตใหญ่ที่ขยายออกของผู้ให้ ได้โอบอุ้มความรักที่แผ่ขยายอยู่ในนั้น เหมือนกิจกรรมอาสาสมัครกิจกรรมหนึ่ง ในช่วงครบรอบ ๑ ปีรำลึกสึนามิ ที่ชื่อว่าโครงการ “อาสามากอด” มูลนิธิกระจกเงาผู้จัดกิจกรรมได้อธิบายความหมายของงานอาสาสมัครนี้ไว้อย่างน่าประทับใจว่า ไม่เพียงผู้ถูกกอด แต่ในการกอด ผู้กอดก็ได้รับความอบอุ่นกลับมา จากการให้ความอบอุ่นนั้น

สิ่งที่ได้รับกลับมาจากการให้ในงานอาสาสมัครเป็นพลังทวีคูณ (Synergy) เพราะรวมเอาพลังของความรักความอบอุ่นที่ดีงามของผู้ให้ซึ่งส่งออกไป เข้ากับความสุขที่ทวีขึ้นของผู้รับ เพราะผู้ให้มาช่วยแบ่งเบาบรรเทาความทุกข์ยากแก่เขา เมื่อสะท้อนกลับมาสู่ผู้ให้อีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นความงดงามที่มากกว่าเดิมหลายเท่า
ในช่วงที่โลกเต็มไปด้วยวิกฤตปัญหานี้ มีโอกาสของการได้เป็นผู้ให้ ด้วยการทำงานอาสาสมัครเช่นนี้อยู่มากหลาย ในอีกแง่มุมหนึ่ง หลายคนอาจจะรู้สึกขอบคุณวิกฤตปัญหา ที่ให้โอกาสในการขัดเกลาพัฒนาจิตใจตนเอง เป็นโอกาสที่อุดมที่จะได้ขยายจิตเล็กสู่จิตใหญ่ที่เติบโตและเติมเต็มยิ่งขึ้น ผ่านงานอาสาสมัครดีๆ เหล่านี้

ตัวอย่างเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลของโอกาสในการให้ที่ดี เช่น http://www.volunteerspirit.org/ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของเครือข่ายจิตอาสา ประกอบด้วยองค์กรอาสาสมัครหลายองค์กรร่วมแรงร่วมใจกัน ประสานงานให้อาสาสมัครได้ไปทำงานช่วยเหลือผู้ประสบกับความทุกข์ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปเลือกงานอาสาสมัครได้มากมายหลายประเภทในหลายพื้นที่

อย่างไรก็ตาม เราควรจะมองไปรอบๆ ตัว ในบ้าน ในชุมชน และที่ทำงานที่เราอยู่ด้วยเช่นกัน บางทีโอกาสของงานอาสาสมัครที่ดีอาจจะอยู่ใกล้ๆ ตัวอย่างที่ไม่ได้คาดคิด เช่น ดูแลรับฟังคนในครอบครัวมากขึ้น หรือปิดไฟที่ไม่ได้ใช้สักดวง แค่เพียงยื่นมือออกไปอีกนิดเดียว เราอาจจะเปลี่ยนแปลงทั้งโลกและตัวเราเองได้มากมายในเวลาเดียวกัน



โดย ธนา นิลชัยโกวิทย
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๙


-------------------------------------------------


ครั้งหนึ่งเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาได้ประชุมกันที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ช่วงบ่าย อาจารย์ ประภาภัทร นิยม หรือพี่อ๋อย ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณได้ชวนให้พวกเราลองไปปั้นถ้วยดินกันดู บอกว่าเราจะได้เรียนรู้อะไรจากการปั้นดินนี้มากอย่างนึกไม่ถึงทีเดียว เมื่อลงไปถึงโรงปั้น ครูที่สอนปั้นก็เริ่มอธิบายถึงการเตรียมดิน วิธีถีบแป้นหมุน การนวดดิน ปั้นก้อนดินวางลงบนแป้น แล้วค่อยๆ ขึ้นรูป แต่ละขั้นตอนมีรายละเอียดที่ต้องเข้าใจ เช่น การเตรียมดินไม่ให้แห้งหรือเปียกเกินไป การเหวี่ยงดินลงบนศูนย์ด้วยน้ำหนักที่แรงพอให้ดินติดบนแป้น ซึ่งต้องให้อยู่ตรงกลางแป้นพอดี ไม่อย่างนั้นจะเกิดอาการ “เสียศูนย์” คือถ้วยหรือชามที่ปั้นจะเบี้ยว เพราะได้รับแรงเหวี่ยงจากแป้นหมุนไม่สมดุล แต่ที่สำคัญที่สุดคือการขึ้นรูป ซึ่งพี่อ๋อยย้ำว่าเราต้องเข้าใจธรรมชาติของดิน และรับรู้ธรรมชาตินั้นผ่านมือทั้งสองข้างจากการสัมผัสอย่างอ่อนโยนด้วยใจสงบ ขณะที่ค่อยๆ ประคองให้ดินก้อนนั้นถูกขึ้นรูปมาตามที่เราตั้งใจ จะเป็นถ้วย ชาม แจกัน หรืออะไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องตระหนักก็คือเราไม่สามารถจะบังคับก้อนดินให้เป็นตามใจเรา และจะใจร้อนไม่ได้ เพราะถ้าทำอย่างนั้นดินจะเสียรูป ยิ่งพยายามเร่ง พยายามบังคับก็จะยิ่งเละ ไม่เป็นรูป ไม่เป็นทรง และผลงานที่ออกมาก็จะฟ้องตัวมันเองว่าใจของเราขณะปั้นเป็นอย่างไร
ผมเริ่มลงมือปั้นด้วยความรู้สึกเขินๆ เกร็งๆ กลัวจะทำไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนค่อนข้างเก้กัง ไม่ค่อยถนัดการทำอะไรที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวร่างกาย แม้แต่ขับรถมานาน ก็ยังถือว่าเป็นคนขับรถไม่เก่ง เวลาต้องทำกิจกรรมเข้าจังหวะก็เงอะๆ งะๆ ทำไม่ค่อยถูก ผลงานที่ออกมาก็อย่างที่เห็นแหละครับ ถ้วยดินที่ปั้นด้วยความเกร็งบวกความใจร้อนพยายามจะบังคับดินให้ได้อย่างใจในบางช่วงตอน ทำให้ได้ถ้วยดินที่ปากบาน ขอบไม่เสมอกัน และก้นบางเกินไปจนทะลุ จนต้องตัดสินใจบีบให้เป็นรูปโค้งเว้าเพื่อให้พอจะดูสวยขึ้นบ้าง

ประสบการณ์ครั้งนี้เป็นการเรียนรู้ที่ดีมากๆ ครั้งหนึ่งในชีวิต ข้อแรก ดีเพราะเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ทำให้เกิดความ “เข้าใจ” ที่ลึกซึ้งและประทับใจ ได้ทั้งแง่คิดและได้มองเห็นตัวเองมากเกินกว่าที่จะรับรู้ได้ผ่านการสอนด้วยการบอกกล่าวให้ฟัง ข้อต่อมา ดีเพราะแง่คิดที่ได้เกี่ยวข้องกับงานที่ตัวเองทำ ทั้งในฐานะหมอที่ต้องดูแลช่วยแก้ไขปัญหาด้านจิตใจให้คนอื่น และในฐานะครูที่ต้องสอนทั้งนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านที่กำลังฝึกหัดเพื่อเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ประสบการณ์ครั้งนี้ช่วยให้ผมเข้าใจหลักการเรื่องการถือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หรือ “child centered” ซึ่งเคยเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก ในช่วงที่กระแสความสนใจต่อการปฏิรูปการศึกษา ผมเข้าใจชัดเจนขึ้นมากว่า การถือผู้เรียนเป็นศูนย์กลางคือการต้องเข้าใจธรรมชาติของผู้เรียนและเริ่มต้นจากจุดนั้น โดยจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้อง ไม่ใช่การตามใจเด็ก อย่างที่เคยมีบางคนกลัวกัน เพราะการถือผู้เรียนเป็นศูนย์กลางไม่ใช่การให้อิสระกับผู้เรียนอย่างไม่มีขอบเขต และไม่ใช่การปล่อยให้ผู้เรียนเรียนเอาเองตามใจชอบ ตามยถากรรม หรือมองว่าการเรียนรู้ต้องเป็นการแลกเปลี่ยนอย่างเสมอภาคกันตลอดเวลา

ที่เป็นเช่นนั้นไม่ได้ เพราะโดยธรรมชาติ ผู้จัดการเรียนรู้จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในเรื่องที่ตนจะจัดให้มีการเรียนรู้เกิดขึ้นมากกว่าผู้เรียน อย่างน้อยก็ในแง่ใดแง่หนึ่ง คือ มีความรู้หรือทักษะในเรื่องนั้นๆ สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม และสื่อสารกับผู้เรียนได้ดี รวมทั้งเข้าใจว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเรียนรู้ และสิ่งใดสอดคล้องกับพื้นฐานของผู้เรียน ถ้าผู้จัดการเรียนรู้อ่อนด้อยกว่าผู้เรียนในทุกๆ ด้านก็คงไม่สามารถนำพาให้เกิดการเรียนรู้ที่ยกระดับขึ้นได้ ถ้ามองจากแง่นี้จะเห็นได้ว่าผู้จัดการเรียนรู้หรือครูมีอำนาจบางอย่างเหนือกว่าผู้เรียน คืออำนาจของความรู้

ปัญหาที่สำคัญของระบบการศึกษาแบบเก่าคือความสับสนระหว่างอำนาจความรู้ กับอำนาจทางการเมืองหรืออำนาจเชิงระบบ การมีอำนาจในตนที่เกิดจากความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์ที่ลุ่มลึก ซึ่งส่งผลให้ครูสามารถส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นได้อย่างเหมาะสมนั้น มิได้หมายความว่าครูควรจะใช้อำนาจเชิงระบบในการเป็นผู้ชี้นำและตัดสินใจแทนผู้เรียนทั้งหมดว่าควรเรียนรู้อะไร อย่างไร คอยควบคุมและตัดสินผู้เรียนว่าทำได้ดีแล้วหรือยัง ในเมื่อแม้แต่ช่างปั้นก็ยังต้องเข้าใจธรรมชาติของดิน ต้องค่อยๆ ประคองให้ดินรีดตัวขึ้นช้าๆ ขณะขึ้นรูป จนเป็นรูปเป็นร่าง ครูจึงต้องเข้าใจธรรมชาติในตัวเด็กหรือผู้เรียนแต่ละคนซึ่งย่อมซับซ้อนกว่าดินแต่ละก้อนมากนัก

ธรรมชาติในตัวผู้เรียนแต่ละคนถูกกำหนดมาตั้งแต่ระดับพัฒนาการของสมองและร่างกาย ประสบการณ์การเรียนรู้ สภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม และลักษณะนิสัยของแต่ละคน ผู้เรียนจึงมิใช่กระดาษเปล่าที่จะเขียนและบันทึกอะไรลงไปก็ปรากฏตามนั้น แต่ผู้เรียนจะมีการตีความจากฐานความรู้เดิม และสามารถเกิดการเรียนรู้ที่ยกระดับขึ้นสูงกว่าความรู้เดิมได้
ตัวอย่างที่สามารถนำไปใช้ในระบบการศึกษาหรือในโรงเรียนได้ก็คือ สภาพของเด็กในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะสังคมเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป เด็กทุกวันนี้เติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากอดีตโดยสิ้นเชิง คือเติบโตขึ้นมาในสังคมบริโภคที่เต็มไปด้วยสิ่งเร้า ข่าวสาร ข้อมูล เทคโนโลยีต่างๆ เช่น วิดีโอเกมส์ โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และสื่อต่างๆ ที่หลากหลาย สภาพแวดล้อมเหล่านี้ทำให้เด็กมีแนวโน้มจะมีสมาธิสั้นขึ้น และเบื่อง่ายขึ้น มีการสำรวจเด็กในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เกรด 3 ถึงเกรด 12 ในช่วงกลางทศวรรษที่ผ่านมา พบว่าเด็กให้ความสนใจกับการเรียนรู้ทางสายตา (Visual) และการสัมผัสกับการเคลื่อนไหว (Kinesthetic-Tactile) มากกว่าการเรียนรู้ด้วยการฟัง (Auditory) ถ้าเราเข้าใจสภาพความเป็นจริงนี้เราควรจะทำอย่างไร?

ด้านหนึ่งครูและสถานศึกษาจะต้องจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับลักษณะของเด็กมากขึ้น แทนที่จะเน้นการเรียนรู้จากการฟังบรรยายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็อาจจะจัดการเรียนรู้โดยการใช้ภาพและสื่อต่างๆตลอดจนกิจกรรมที่ให้เด็กมีส่วนร่วม เช่นการทดลองปฏิบัติ การทัศนศึกษานอกสถานที่ให้มากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจจะต้องเสริมทักษะการฟัง การอ่าน และการคิดใคร่ครวญให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุลในการเรียนรู้ และส่งเสริมจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และความคิดเชิงวิเคราะห์ซึ่งจะเกิดได้ดีกว่าจากการอ่านหรือการฟังเมื่อเทียบกับการดู เพราะมีพื้นที่ว่างให้จินตนาการเอง และใช้เวลาในการคิดใคร่ครวญได้มากกว่า แต่ถ้าครูไม่ได้สนใจความเป็นจริงนี้ ก็จะทำการสอนไปตามความเคยชินเดิมๆ ของตน และเกิดอาการหงุดหงิดว่า “เด็กสมัยนี้มันช่างไม่ได้เรื่องเอาเสียเลย”

ถ้าเทียบกับช่างปั้น ครูที่ดีจะต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของดินเป็นอย่างไร ควรจะใส่น้ำมากน้อยแค่ไหน ถ้าใส่น้อยไปดินก็จะแข็งจนปั้นไม่ได้ ใส่น้ำมากไปดินก็จะเหลวจนไม่อยู่ตัว จึงต้องใส่น้ำให้พอเหมาะให้ดินมีความเหนียวแต่นุ่มและยืดหยุ่น แล้วจึงค่อยๆ ใช้มือประคองขึ้นรูปดินนั้นไปตามทิศทางที่ต้อง




โดย มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๙
------------------------------------------
คำถามที่ผู้เขียนพบได้บ่อยครั้งจากการบรรยายหรือทำกระบวนการเรื่องการบริหารคนและองค์กรให้กับเหล่าผู้บริหาร คือการจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกที่ไม่ค่อยสบายของตัวผู้บริหารเอง เพราะเมื่อบริหารอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ก็พลอยทำให้บริหารลูกน้องหรือผู้ร่วมงานไม่ได้ แม้แต่องค์กรที่ดูแลอยู่ก็บริหารไม่ได้ จึงไม่เป็นที่สงสัยกันแล้วว่าทำไมปัจจุบันผู้บริหารมากมายจึงสนใจไปฝึกสมาธิ ฝึกวิปัสสนา หรือหาวิธีการบริหารจิตใจของเขากันมากขึ้น

“อาจารย์ ผมรู้นะว่าโกรธแล้วผมก็จะเผลอพูดอะไรไม่ดีออกไป แล้วก็ต้องมาตามแก้กับผลที่เกิดจากการพูดที่ไม่สมควรของผม แต่...มันยากนะอาจารย์ กว่าจะรู้ตัวก็หลุดออกไปซะแล้ว” เป็นประโยคที่ผู้เขียนได้ยินเป็นประจำ

ผู้เขียนจึงมักยกตัวอย่างกระบวนการทั่วไปให้ฟัง “พอเราขับรถไปบนถนน มีคนขับรถปาดหน้า เราทำอย่างไรกันคะ” บางคนตอบว่า “ปาดหน้ารถกลับไปเลย ถือดีอย่างไรมาปาดหน้ารถเรา ไม่รู้จักเราซะแล้ว” บางคนก็ตอบว่า “ก็ด่าออกไปเลย แล้วแต่จะนึกสรรหาคำมาได้ (แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าเขาไม่ได้ยินหรอก)” บางคนก็ว่า “โกรธซิแต่ไม่ได้ทำอะไรหรอกนะ” ฯลฯ ก็เป็นดีกรีการเกิดปฏิกิริยาที่แตกต่างกันหลังถูกกระทบจากภาพการถูกปาดหน้ารถ

ถ้าเราลองมานึกกระบวนการกันดีๆ ตั้งแต่ถูกปาดหน้ารถ อันดับแรกคือ “เราเห็นรถมาปาดหน้ารถเรา” แล้วก็ตามด้วย “แบบนี้เรียกว่าปาดหน้ารถนิ” “เรารู้สึกไม่พอใจแล้วนะที่มาปาดหน้ารถของเรา” “เรามีอารมณ์โกรธแล้วนะ ถือดีอย่างไรมาทำอย่างนี้กับเรา” “อย่างนี้ต้องทำอะไรตอบโต้หน่อยแล้ว” “หนอยชะ... (ว่าออกมาเลยคำไม่น่าฟังต่างๆ)” “เจ้า...นี่ต้องโดนสั่งสอนซะหน่อย ขับไปปาดหน้ารถคืนดีกว่า” ....ถ้าหนักมากๆ อาจถึงขั้นลงไปชกต่อยทำร้ายร่างกายกันด้วยวิธีต่างๆ ดูรวมๆ แล้ว...กระบวนการนี้มีหลายขั้นตอน เพียงแต่พอเกิดขึ้นจริงใช้เวลาแป๊ปเดียวเท่านั้นเอง

ทีนี้คำถามก็มาตกอยู่ที่ว่า แล้วเราจะบริหารความไม่สบายกายไม่สบายใจตรงนี้ได้อย่างไร บางทีก็เกิดในที่ทำงานของเราเอง เช่น คนหนึ่งในที่ทำงานพูดอะไรออกมา เราได้ยินเข้าหู แล้วก็เริ่มรู้สึกไม่พอใจ มากๆ เข้าก็โกรธบ้างแค้นบ้าง อาจตอบโต้ออกไปบ้าง หรือเก็บแค้นอยู่ต่อไป รอการจัดการที่หนักหน่วงขึ้น หนักเข้าถ้าทางนั้นตอบโต้ไปมาอีก ทีนี้ก็มีสงครามกันไปเรื่อยๆ ในองค์กร ร้อนระอุกันไปทั่ว ฯลฯ ล้วนแต่เป็นกระบวนการของความไม่สบายหนักอึ้งทั้งสิ้น คำตอบต่อคำถามนี้ง่ายนิดเดียว คือ “ทันเร็วก็เบาเร็ว” หรือการมีสติทันกับแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหมือนเรากำลังเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ... “เกมสติ”

ลองนึกภาพเหมือนเราเล่มเกมคอมพิวเตอร์จำพวกมีอุกกาบาตลอยเข้ามา ถ้ากระทบโดนเราก็เสียแต้ม ถ้าเรายิงโดนอุกกาบาตเราก็ได้คะแนน ยิ่งยิงเร็วคะแนนยิ่งมาก ยิ่งเข้ามาใกล้เราเท่าไหร่ก็ยิ่งอันตรายและมีโอกาสโดนทำเราให้เสียแต้มไป วิธีเล่นเกมสตินี้ก็ง่ายๆ คือเพียงแต่เราดักอุกกาบาตให้ทัน ทันเร็วเท่าไหร่ก็ปลอดภัย หรือได้คะแนนมากขึ้นเท่านั้น เช่น พอรถเห็นรถปาดหน้าปั๊ป “เห็นรถปาดหน้า” รู้สึกถึงการเห็นนั้นทัน ...คะแนนสูงสุด ไม่มีผลข้างเคียงอื่นให้เราร้อนใจเหนื่อยใจจากการเห็นนั้นเลย หรือถ้าไม่ทัน ตอนที่เริ่มรู้สึกไม่พอใจกับการถูกปาดหน้า “รู้สึกไม่พอใจ” ทันขึ้นมาก็จะแค่รู้สึกขุ่นๆ รู้ทันก็หายไปเอง ไม่ต้องไปไล่ตีให้ความรู้สึกไม่พอใจหายไป “แค่ทัน” เท่านั้นก็พอ เพราะโชคดีที่จิตเราทำงานได้ทีละอย่าง พอจิตบอกว่า “ฮั่นแน่ เรากำลังไม่พอใจ” จิตที่กำลังไม่พอใจตอนนั้นก็ไม่ได้ทำงานแล้ว เพราะจิตที่กำลังรู้ทัน ทำงานแทนไปแล้ว ...แต่อาจแค่แป๊ปเดียวนะ ถ้าเผลออาจกลับมาอีก นั่นแปลว่าเราควรรู้ทันอยู่เป็นระยะๆ จนกว่าเหตุของเรื่องจะหายไปทำให้ความรู้สึกไม่พอใจนั้นไม่เกิดอีก

เช่นเดียวกัน ถ้าไม่ทันความรู้สึกไม่พอใจนี่ล่ะ ปล่อยจนก่อร่างสร้างอาณาจักรกลายเป็นอารมณ์โกรธ ...ถึงโกรธมาก ก็กลับมาดูอีก “อ๊ะๆ เราทันนะ เรากำลังโกรธนี่” พอทักทันและหนักแน่นพอ จิตใหม่ที่ทันก็มาแทนที่จิตที่โกรธ ถ้าไม่ทัน เอาล่ะ คำพูดก็ตาม มือไม้ก็ตาม หรืออาการต่างๆ จากความโกรธอาจพุ่งออกมาในท่าทางที่ไม่น่าดูไม่น่าฟังได้ ถึงตอนนั้น ก็คงได้แต่รับผลไปจากการกระทำที่เกิดขึ้น เรียกว่าตามแก้กันไป ไม่ทันแล้วนี่ เป็นเกมคอมพิวเตอร์ก็คือเกมโอเวอร์ หรือโดนเข้าแล้ว เสียแต้ม
ดังนั้น การเล่มเกมสตินี้ หลักการง่ายๆ เพียงทักให้ทันกับแว๊บต่างๆ ที่ผุดขึ้นหรือเข้ามาในใจเรา ประตูเข้าของการผุดต่างๆ นี้ ได้แก่ ตา (การมองเห็นภาพต่างๆ) หู (ได้ยินเสียงหรือคำพูดต่างๆ) จมูก (ได้กลิ่น) ลิ้น (รสต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา) กายสัมผัส (ความรู้สึกทางกาย นุ่ม แข็ง ลื่น เหนียว) และใจ (คิดนั่นคิดนี่ แว๊บต่างๆ ในใจ) รวมทั้งสิ้น ๖ ประตู มาทางไหนก็ดักหรือทักทางนั้น ดักได้เร็วก็ได้คะแนนมากหน่อย เพราะผลกระทบทางลบที่ตามมาจะน้อยตาม ถ้าดักช้าหน่อยก็ดีกว่าดักไม่ได้ ดักไม่ทันก็โดนผลกระทบเข้าไปเต็มๆ

เกมนี้ถ้าเล่นเป็นจะเริ่มรู้สึกสนุก ยิ่งชำนาญมากขึ้นกล่องใจของเราที่มี ๖ ประตูนี้ก็จะว่างมากขึ้น โล่งขึ้น เหมือนระบบประมวลผลของคอมพิวเตอร์ที่เปิดโปรแกรมเฉพาะที่จำเป็น เครื่องก็วิ่งเร็วหน่อย คล่องกว่า ไม่มีไวรัสรบกวน ถ้าเราเผลอ ประมาทให้ไวรัส อุกกาบาต หรือให้สิ่งที่มากระทบประตูทั้ง ๖ เราเข้ามาสร้างความวุ่นวายในใจได้มากเท่าไหร่ เครื่องประมวลผลก็อาจจะวุ่นวาย ตีรวน หรือไม่ก็หนืดๆ ซึมๆ เดินช้า หรือแฮงก์ไปเลยก็ได้ บางกรณีพอตัวเองเครื่องรวน ยังส่งไวรัสกระจายให้คนอื่นได้รับอีกต่างหาก ยิ่งก่อเหตุร้ายขึ้นไปอีก

เทคนิคการเล่นให้สนุกนั้น เพียงแต่สร้างความพอดีให้เหมาะเจาะ หรือที่คุ้นๆ กับคำว่า “ทางสายกลาง” คือ ไม่หย่อนหรือประมาทเกินไปจนไวรัสอุกกาบาตเข้ามาเต็มกล่อง หรือไม่ตึงเครียดเกินไปว่าฉันจะต้องดักเจ้าอุกกาบาตพวกนี้ไม่ให้เข้ามาเลย หรือเข้ามาก็จะตีให้ตาย นี่ก็หนักไป นอกจากเล่นไปเครียดไปไม่สนุกแล้ว อาจจะทำให้เกิดผลเหมือนลูกโยโย่ซะด้วยซ้ำ คือยิ่งเคร่งเกินไปเลยสวิงแกว่งไปอีกข้างมากขึ้นซะอีก ดังนั้นเทคนิคจึงอยู่ที่ความพอประมาณ พอดีๆ กลางๆ สบายๆ เล่นเกมไปด้วยความสนุกและสบาย ได้แต้มมั่งไม่ได้มั่งช่างมัน เล่นไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็จะชำนาญขึ้นได้เอง จะทำไม่ได้บ้างก็เป็นเรื่องธรรมดามากๆ ความไม่แน่นอนเป็นธรรมชาติของทุกสิ่งอยู่แล้ว เล่นไปได้บ้างไม่ได้บ้างยังดีกว่าโกรธเกร็งหยุดเล่นไปเลย ทีนี้พาลยุ่งเหยิงกันไปใหญ่ ปล่อยให้ไวรัสกระจายไปทั่ว

ท่านผู้อ่านลองเล่ม “เกมสติ” ดูซิคะ ใช้ร่ากายและจิตใจของท่านเป็นอุปกรณ์การเล่น ได้ผลอย่างไร หรือพบอุปสรรคอะไร คุยกันได้ค่ะ :-)




โดย ชลลดา ทองทวี เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๙
---------------------------------------

มีบ่อยครั้งที่เราต้องตกอยู่ในช่วงสภาวะความเศร้าจากการสูญเสียคนที่รัก หรือสภาพจิตในช่วงนี้อาจถูกกดดันจากข่าวภัยธรรมชาติที่ก่อให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน เกิดวิกฤติเป็นวงกว้าง แม้ว่าจะเกิดขึ้นกับผู้คนที่เราไม่รู้จัก แต่ว่าก็กระทบใจเราอย่างรุนแรงได้

เรามีทางออกหลายทางสำหรับความเศร้าและความกดดันแบบนั้น อาจจะเริ่มต้นด้วยการร้องไห้.. เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องน่าเสียใจ เราอาจจะดึงตัวเองขึ้นด้วยการไปปฏิบัติธรรม หรือว่าหากิจกรรมที่จะทำให้จิตใจเบิกบานขึ้นบ้าง เช่น พูดคุยปรับทุกข์กับเพื่อน ดูหนัง ฟังเพลง เพื่อให้บรรเทาความเศร้านั้น หรือลืมๆ มันไป

ผู้เขียนได้เรียนถามผู้ใหญ่ที่เคารพท่านหนึ่งว่า ท่านกังวลใจกับสภาวะวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่ทวีขึ้นในช่วงนี้หรือไม่ ท่านชวนให้คิดถึงทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) ว่ามันเป็นวัฏฏะของวิวัฒนาการของธรรมชาติ มีสภาวะที่เสถียร แล้วก็มีสภาวะที่จะต้องเป็นกลียุคอยู่บ้าง เพื่อล้างเปลี่ยนระบบให้มันวิวัฒน์ขึ้นไปอีก

วิกฤติใดๆ ที่เกิดขึ้น บอกให้รู้ในตัวว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง และโดยธรรมชาติของโลกแล้ว มันจะเปลี่ยนแปลงไปเพื่อปรับตัวเองให้อยู่ในสมดุลมากขึ้น เป็นการสร้างสรรค์ ไม่ใช่ทำลาย

ฟังท่านแล้วก็ย้อนมามองทบทวนปัญหาของตัวเอง มันยากมากที่จะทำใจให้คิดว่า การเสียชีวิตของญาติผู้ใหญ่ที่เรารักใคร่ผูกพัน การจากไปของเพื่อนสนิท สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสร้างสรรค์ ในวันแรก เราคงไม่แคล้วเริ่มด้วยการร้องไห้ อาลัยต่อมิตรภาพความสัมพันธ์ที่ไม่ได้พบเจอกันอีกต่อไป ในวันต่อมา เราอาจจะพยายามดึงตัวเองขึ้นมาอย่างยากเย็นด้วยวิธีการต่างๆ
แต่จริงๆ แล้ว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นไปตามกาลเวลา และเหตุปัจจัยหลายอย่าง ถ้าเวลาผ่านไปสักพัก เมื่อเราได้ทบทวนมันอย่างจริงจัง ก็จะเห็นว่าแต่ละเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ไม่เกิดไม่ได้ มันต้องเป็นไปอย่างนั้น.. เพราะว่าถึงเวลาของมัน และมันดีที่สุดสำหรับทุกๆ คน

เรื่องนี้คือการมองเรื่องเดิมในมุมใหม่ มุมแรกมีเราเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ทำไมคุณพ่อต้องจากเราไป ทำไมเรื่องนี้ถึงเกิดขึ้นกับเรา ถ้าเราสังเกตให้ดี จะมี “เรา” เป็นกรรมของประโยคทั้งนั้น เป็นการมองในฐานะผู้ถูกกระทำในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และขณะนั้นดูเหมือนว่าโลกจะหมุนรอบตัวเรา และในความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับเรา โลกก็ดูจะหยุดหมุนด้วย
แต่เมื่อมองมุมใหม่ เอาธรรมชาติและจักรวาลเป็นที่ตั้ง คุณพ่อก็อายุมากแล้ว สุขภาพท่านก็ไม่ดี การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การสูญสลายของร่างกายของท่าน คงมีเหตุผลที่ดี อย่างน้อยก็อาจจะสำหรับตัวท่านเอง แต่การเดินทางของท่านยังคงมีอยู่ต่อไป และเป็นการเดินทางที่ดีกว่าเดิม เพียงแต่เรามองไม่เห็นเท่านั้น

หรือการจากไปของเพื่อนสนิท เป็นเพราะโลกมันยังหมุนอยู่ และไม่ได้หมุนรอบตัวเราอย่างที่เราคิด แต่หมุนรอบตัวเขาด้วย คงมีเหตุปัจจัยที่ดีมากมายทีเดียว ที่ทำให้เขาไม่สามารถจะอยู่ที่เดิมและเป็นเพื่อนของเราต่อไปได้ แต่ต้องเดินทางเพื่อชีวิตที่เปลี่ยนไปบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางที่ดีขึ้นสำหรับเขา

ตัวอย่างอีกเหตุการณ์หนึ่ง คือ ฉากกั้นห้องซึ่งตั้งอยู่ข้างโทรทัศน์ล้มลงไปโดนโทรทัศน์แล้วโทรทัศน์ก็ตกหล่นลงบนพื้น แถมซ้ำวันเดียวกันนั้นท่อน้ำในห้องน้ำก็รั่ว และรถก็เสีย

ถ้าคิดในกรอบเดิมๆ เราอาจจะคิดว่า แย่จัง ช่างเป็นวันที่เลวร้าย หรืออย่างดีก็อาจคิดชุดคำพูดต่างๆ มาช่วยให้รู้สึกดีขึ้น เช่น “มันต้องทำใจ” หรือว่า “เสียก็ซ่อมสิ”

วิธีคิดเหล่านี้ยังเป็นการเอาตัวเราเองเป็นศูนย์กลางเป็นกรรมของปัญหาอยู่ดี.. แต่ถ้าเราลองให้โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์เหมือนเดิมดูบ้าง ก็อาจจะพบว่าจริงๆ แล้ว เราวางฉากกั้นห้องไว้ใกล้โทรทัศน์เกินไปมานานแล้ว เพียงเพราะว่ามันตั้งอยู่ตรงนั้นแล้วสวยดี แต่ฉากที่วางอยู่บนพื้นโดยไม่มีอะไรค้ำยัน ก็มีสิทธิที่จะล้มไปทางไหนก็ได้ ตามกฎของแรงโน้มถ่วงของธรรมชาติ และบังเอิญวันนั้นมันล้มไปในทางทิศนั้น บังเอิญมีวัตถุที่เป็นโทรทัศน์ตั้งอยู่ ถ้ามันเป็นก้อนหินก็คงจะไม่ต่างอะไรกัน ดังนั้น โทรทัศน์ก็จะต้องหล่นลงไปบนพื้น ตามแรงโน้มถ่วงต่อไปด้วย เป็นเรื่องของแรงและการตกกระทบ ที่ส่งผลต่อๆ กันไป เป็นสิ่งธรรมดาของจักรวาลมากๆ

ไม่ได้เกิดขึ้นกับเราคนเดียว และไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอย่างที่เราคิด..

ทฤษฎีไร้ระเบียบบอกว่า จักรวาลมีความไร้ระเบียบ (chaos) เป็นฐาน แปลความหมายได้ว่า โดยแท้จริงแล้วการพยายามจัดให้ทุกสิ่ง อยู่ในระบบระเบียบตลอดเวลาออกจะเป็นการฝืนความธรรมดาของธรรมชาติ จริงๆ วันนั้น ที่โทรทัศน์หล่นลงไปและท่อน้ำในห้องน้ำรั่ว พร้อมกับที่รถเสีย แผ่นดินอาจจะไหวขึ้นมาด้วย และมีอะไรที่วุ่นวายกว่านั้นเกิดขึ้นได้อีกมาก เป็นเรื่องปกติ ที่ควรจะคาดคิดเอาไว้ได้

และไม่ใช่เรื่องย่ำแย่เสียหายอะไร ถ้ามองในมุมมองของโลกที่อาจจะขยับตัวบ้าง เคลื่อนไหวบ้าง

นั่งทบทวนดูแล้ว การมองโลกโดยเห็นการเปลี่ยนแปลงอนิจจังเป็นฐาน เป็นปกติธรรมดา และเห็นความสงบนิ่งเป็นระบบระเบียบ เป็นเรื่องชั่วคราวและไม่ปกติธรรมดา มันทำให้มองโลกได้เปลี่ยนไปมากมายจริงๆ เราจะเปิดรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่เป็นพลวัตได้อย่างเข้าใจและยินดีมากขึ้น พยายามเหนี่ยวรั้งให้ทุกสิ่งเสถียรอยู่ตามที่ใจเราปรารถนาน้อยลง และเป็นทุกข์น้อยลงด้วยเหตุนั้น เพราะการพยายามฝืนธรรมชาติ ธรรมดา จะเหนื่อยมากกว่ามาก เหมือนพายเรือขวางกระแสน้ำที่ไหล

เราปล่อยเรือชีวิตของเราให้สนุกไปกับการไหลเลื่อนเคลื่อนที่ของกระแสธรรมชาติ น้อมใจให้สิ่งต่างๆ ได้สร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย แม้ว่าในมุมมองที่เรายืนอยู่จะมีแต่การสูญเสีย ในอีกมุมหนึ่งของจักรวาล น่าจะมีแต่การเติมเต็มขึ้น เป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญ

วันที่เคยเป็นวันแห่งความโศกเศร้า ไว้อาลัย.. อาจจะเปลี่ยนเป็นวันแห่งความสุขในความสมดุลที่ไม่รู้จบของจักรวาล ได้บ้างกระมัง




โดย ธนา นิลชัยโกวิทย์ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ที่พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๙
------------------------------------------

เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้มีโอกาสไปฟังท่านอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชโช เทศน์ ตอนหนึ่งท่านกล่าวว่า ท่านก็เทศน์เรื่องเดียวกันทุกครั้งนั่นแหละ คือเรื่องการฝึกสติ เทศน์กี่ครั้งๆ ก็เหมือนกัน ไม่ต้องมาฟังบ่อยๆ หรอก สมัยท่านเองเรียนรู้จากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เช่นหลวงปู่ดูลย์ นานๆ ท่านจึงจะไปกราบอาจารย์สักที ได้ข้อคิดแนวทางปฏิบัติแล้วก็กลับมาทำ มาเรียนรู้ด้วยการฝึกปฏิบัติด้วยตนเองอย่างจริงจังเป็นปีๆ จึงกลับไปกราบเรียนปรึกษาขอข้อแนะนำอีก ไม่ใช่เป็นลูกศิษย์ติดอาจารย์ คอยติดตามไปเฝ้าอยู่เรื่อยๆ

คำสอนของท่านทำให้ได้คิดว่า ปัจจุบันแม้แต่ผู้สนใจจะพัฒนาตนเองหรือผู้ใฝ่ธรรมก็ยังมีลักษณะติดอาจารย์ คอยเฝ้าแสวงหาว่ามีอาจารย์ดีที่ไหน จะได้ไปเฝ้าไปกราบบ่อยๆ คอยไปฟังเทศน์ฟังธรรม เพื่อให้ ตนเองมีธรรมะ หากจนแล้วจนรอด สำหรับหลายๆ คนธรรมะก็ไม่ค่อยก้าวหน้า ได้แต่ฟัง ได้แต่รู้ แต่ไม่มีธรรมะเกิดขึ้นในตนเองจริงๆ มากนัก

ภาพนี้สะท้อนลักษณะของ การเรียนรู้ของผู้คนในสังคมปัจจุบันที่เน้นความรู้นอกตัว คิดว่าความรู้คือข้อมูลหรือวิชาการที่สามารถแสวงหาได้หรือขอได้จากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้เกิดลักษณะพึ่งพิง คิดว่าความรู้เป็นของผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ไม่คิดแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง การรับเอาความรู้จึงเป็นไปอย่างฉาบฉวย ไม่ผ่านการใคร่ครวญ และไม่ประสานกับการฝึกฝนหรือการเรียนรู้จากการปฏิบัติในชีวิตจริง เข้าใจว่าการเรียนรู้เป็นเพียงการ “ได้รับรู้” และจดจำได้

การเรียนการสอนทั้งในสถาบันการศึกษา และในภาคส่วนอื่นๆ เช่น การอบรมในองค์กรต่างๆ ส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่สะท้อนการเรียนรู้แบบนี้จึงเน้นการ “บอกให้รู้” โดยการบรรยายให้ฟัง ให้ข้อมูลเนื้อหาวิชาการ หรือวิเคราะห์ให้ฟัง โดยไม่ได้เน้นให้เกิดการเรียนรู้ภายในตัวผู้คน ผู้เรียนมีหน้าที่รับ ผู้สอนมีหน้าที่ถ่ายทอด ผู้เรียนไม่มีการสร้างความรู้ใหม่ขึ้นในตน มีแต่คอยรับเอา ตัวผู้สอนนั้น สอนๆ ไปก็ไม่เกิดความรู้ใหม่เหมือนกัน ต้องคอยวิ่งไปหาความรู้จากตำราบ้าง จากเมืองนอกเมืองนาบ้าง ไปรับการถ่ายทอดจากเขามาอีกทีหนึ่ง เพื่อมาบอกเล่าต่อ

สภาพของการศึกษาแบบนี้ทำให้เกิดการเสาะแสวงหาแนวทางการเรียนรู้ที่จะพัฒนาจิตและปัญญาของมนุษย์อย่างรอบด้าน เพื่อสร้างให้เป็นคนที่สมบูรณ์และสมดุล สามารถใช้ความรู้ในตนมาสร้างสรรค์สังคมที่สันติสุขและเสมอภาคได้ คือ แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) ดังที่อาจารย์ ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ กล่าวถึงไปบ้างแล้วในตอนแรกของคอลัมน์นี้

กลุ่มนักวิชาการที่สนใจเรื่องนี้ได้รวมตัวกันในชื่อ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ซึ่งเริ่มเคลื่อนงานผลักดันให้กระแสการเรียนรู้แนวนี้เกิดขึ้นใหม่ในสังคมไทย ที่ใช้คำว่า “เกิดขึ้นใหม่” เพราะเดิมทีสังคมไทยก็มีการเรียนรู้ทำนองนี้อยู่แล้ว หากเป็นการเรียนหรือฝึกการปฏิบัติในวัดหรือในแง่มุมทางศาสนา มีครูบาอาจารย์ผู้เป็นที่เคารพนับถือ และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติหลายท่าน เช่น หลวงปู่มั่น พระอาจารย์ชา และท่านพุทธทาส แต่การเรียนทางโลกที่อยู่นอกวัดในระบบการศึกษากลับยังไม่ค่อยมีการบูรณาการการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาศึกษาเข้าไปมากนัก

เราได้เริ่มต้นกันด้วยการตั้งคำถามว่าการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ก้าวพ้นตนเอง (Transformative Learning) นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ผ่านการเล่าเรื่องราวชีวิตของแต่ละคนว่าอะไรทำให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน คำตอบที่ได้มีหลายหลากมากมาย บางคนเติบโตผ่านกระบวนการของการทำกิจกรรมทางสังคม บางคนเติบโตจากการปฏิบัติธรรม บางคนเติบโตจากปัญหาที่ต้องเผชิญและได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจตนเองและผู้อื่นอย่างแท้จริง บางคนเรียนรู้ผ่านการคิดใคร่ครวญ บางคนเรียนรู้ผ่านการต้องเผชิญกับอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างของตนเช่นความกลัว บางคนก็ต้องเรียนรู้จากการลงมือทำ รวมความแล้วก็คือ ประตูที่เปิดให้แต่ละคนก้าวเข้าสู่โลกแห่งการเรียนรู้ภายในที่ลึกซึ้งนั้นมีได้หลายหนทาง แต่มีประเด็นร่วมที่เป็นหัวใจในหลายๆ ประสบการณ์นั้นอยู่สองสามประการ

ข้อแรกคือการมีประสบการณ์ที่ “กระทบใจ” หรือประสบการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ สำหรับบางคนก็เป็นเรื่องใหญ่ เช่น ประสบการณ์เฉียดตาย แต่บางคนอาจเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ เช่น นั่งมองดอกหญ้าดอกหนึ่ง เกิดความรู้สึกที่มากระทบใจว่ามันช่างงดงามนัก แล้วเกิดจุดประกายคำถามขึ้นในใจกับชีวิตที่รีบเร่ง เอาแต่ทำงานทำเงิน จนไม่มีเวลาชื่นชมกับชีวิต

ประสบการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีสภาวะของใจที่สงบนิ่งและเปิดรับพร้อมที่จะเรียนรู้ ทำให้เกิดการคิดใคร่ครวญ และเปิดใจให้ถูกกระทบและสัมผัสถึงความดี ความงามและความจริงในธรรมชาติได้ หรือยอมรับความจริงบางอย่างที่เคยปิดหูปิดตากับมันมาก่อน เช่น การยอมรับความน่าเกลียดของตัวเราได้อย่างตรงไปตรงมา

ข้อต่อมาคือไม่ว่าใครจะเริ่มต้นที่จุดไหน ก็จะต้องมีทั้งสามองค์ประกอบในการเรียนรู้คือ การคิดใคร่ครวญ การรับรู้ที่ใจ และการลงมือปฏิบัติ ประสานสอดคล้องกันไปเป็นวงจรที่ต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการเปิดใจรับฟัง มอง หรืออ่านอย่างลึกซึ้ง ด้วยหัวใจ ด้วยความตั้งใจ ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ให้ซึมซับได้ถึงรายละเอียดของสิ่งที่กำลังเรียนรู้ แล้วน้อมนำมาคิดใคร่ครวญดูโดยแยบคาย จากนั้นก็นำไปทดลองทำ ลองปฏิบัติให้เกิดประสบการณ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการเฝ้าสังเกตกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งภายนอกและภายในตนอย่างต่อเนื่องด้วยสติที่รู้ตัวตามความเป็นจริง รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น และธรรมชาติของจิตใจได้ตามที่เป็นจริง

ทั้งหมดนี้ตรงกับที่วิจักขณ์ พานิช ได้ให้ความหมายของ Contemplative Education ว่าเป็นการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ และตรงกับคำไทยที่พูดถึงการเรียนรู้ว่าจะต้องเรียนรู้ให้ “เข้าใจ” ที่ปัจจุบันเราใช้กันอยู่เสมอ โดยอาจจะไม่ได้ฉุกคิดถึงความลึกซึ้งของคำๆ นี้มากนัก ทั้งที่จริงแล้วคำว่า “เข้าใจ” นี้เป็นคำไทยที่งดงามและสื่อความได้ลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะการเรียนรู้ที่แท้จริงจะต้องเข้าให้ถึงใจ คือเกิดความ “เข้าใจ” อย่างลึกซึ้งจนเกิดปัญญา เกิดเป็นความรู้ที่อยู่ในใจ และเชื่อมโยงกับการปฏิบัติในชีวิตจริง เป็นความรู้ที่พัฒนาต่อเนื่องอยู่ในตัวของผู้เรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด ดังที่ท่านพุทธทาสเคยอธิบายไว้ในเรื่องไตรสิกขาว่า “ปัญญา ต้องเป็นการรู้แจ้งเห็นจริง ด้วยใจจริง ๆ ด้วยการผ่านสิ่งนั้น ๆ ไปแล้ว โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ที่เรียกว่าผ่านสิ่งนั้นไปแล้ว หมายถึง อาการที่เราชอบใช้เรียกด้วยคำต่างประเทศคำหนึ่งคือคำว่าExperience”

Newer Posts Older Posts Home