โดย กอบแก้ว มโนมัยพิบูลย์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๐

การทำงานเฉพาะหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยความเชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียว การมุ่งผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่จำนวนชิ้นงาน หรือการดำเนินชีวิตทั่วๆ ไปที่ขาดความสมดุลทางกายและใจ คงจะตกกระแสสำหรับยุคปัจจุบันที่มาแรงในมิติด้านชีวิตจิตใจ หรือคุณภาพด้านใน ดังที่เราเห็นหรือได้ยินผ่านชุดคำต่างๆ เช่น การอยู่เย็นเป็นสุข สังคมสุขภาวะ ความรู้คู่คุณธรรม การพัฒนาจิตใจ คุณภาพชีวิต ความเอื้ออาทรไม่ทอดทิ้งกัน ชีวิตที่พอเพียง การพัฒนาอย่างยั่งยืน การยกระดับจิตใจ วิถีพุทธ อิสรภาพทางใจ ความสุขมวลรวมประชาชาติ ดัชนีความสุข วิถีแห่งสุขภาพ Healthy การรวมพลังทำความดีเรื่องต่างๆ องค์กรแห่งความสุข เป็นต้น

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอย่างหนึ่งให้เราได้เห็นได้ยินอยู่เนืองๆ และมีพื้นที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามสื่อต่างๆ คือ กิจกรรมการอบรมที่มุ่งเน้นทักษะการเรียนรู้ตนเอง การเข้าใจผู้อื่น การปรับสมดุลกายใจ หรือการสนับสนุนและส่งเสริมการปฏิบัติธรรม การเจริญสติภาวนาในการศึกษาทุกระดับตั้งแต่อนุบาล ในสถานที่ทำงาน สิ่งเหล่านี้กำลังเข้าสู่ความเป็นเรื่องปกติ (อาจเกิดปรากฏการณ์ใครไม่เคยปฏิบัติธรรม จะเชยมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็ได้) หรือการแทรกซึมของชุดคำต่างๆ ที่มีความหมายลึกซึ้ง เป็นนามธรรมเข้าขั้นอุดมคติ ในยุทธศาสตร์ พันธกิจ เป้าหมายของหน่วยงาน ระเบียบวาระแห่งองค์กรเริ่มมีปรากฏให้เห็น เสมือนเป็นยุคแห่งการแสวงหา พยายามหาคำตอบให้กับชีวิตและมุ่งสู่อุดมคติของสังคมที่สุขแท้และดีงาม และเพื่อให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตที่เขาว่ากันในปัจจุบันได้ โดยที่มีภาพคู่ขนานเป็นเหตุการณ์ความรุนแรง อาชญากรรม

ผลการสำรวจในแง่ไม่พึงประสงค์ของผู้คนในเรื่องต่างๆ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่ไร้พรมแดน ช่วยชี้ชวนให้เราเห็นความสำคัญของเรื่องข้างต้น ซึ่งจะเป็นทิศทาง เป็นธงนำ เป็นหลักไมล์ เป็นเป้าหมาย เป็นสิ่งสะกิดใจให้เราต้องค้นหาว่าควรจะประพฤติปฏิบัติ ควรจะทำแผน หรือวัดผลประเมินค่าอย่างไรถึงจะใช่ หรือสะท้อนคุณค่าความหมายนั้นได้ อีกทั้งแนวปฏิบัติ ต้นแบบ ตัวอย่างนำร่อง ต่างได้รับความสนใจ มีการศึกษา สำรวจ เผยแพร่ ร่วมชื่นชมเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมอย่างกว้างขวาง

แต่สำหรับใครบางคนสิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นข้อมูลข่าวสารอีกแบบที่ไหลบ่าท่วมท้น น่าสับสน ทำให้ลังเลสงสัยกับการทำงานหรือวิถีชีวิตประจำวันว่ามีความสุขแท้จริงหรือเปล่า มิติด้านในขาดแหว่งไปหรือไม่ ต้องตั้งคำถามที่ไม่เคยคิดจะตั้งมาก่อน

แล้วเราควรทำอย่างไร หรือคิดแบบใด พูดทำนองไหน จึงจะได้เข้าสู่วิถีทางนั้น รู้สึกว่าใช่ ไม่หลอกลวง ของจริงแท้ที่เรายอมรับได้อย่างสนิทใจ ไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ ไม่ใช่ทำนองว่าพูดหรือเขียนอย่างหนึ่ง แต่รู้สึกหรือทำอีกอย่างหนึ่ง สมมุติว่าหากถูกตั้งคำถามในการทำงานเพื่อสอบทานคุณภาพชีวิตด้านใน เช่น ทั้งตัวเราและผู้ร่วมงานสุขใจ เป็นปลื้มกับผลงานและความสำเร็จนั้นขนาดไหน รู้สึกร่วมกันอย่างไรต่อชิ้นงาน ต่อความสำเร็จนั้น บางคนอาจจะเกิดอาการอึ้ง งงงวย ขวยเขิน คิดไม่ตกว่าจะตอบอย่างไร และหากได้คำตอบ บางทีคำตอบนั้นอาจจะทำให้เสียกำลังใจ และฉุดรั้งความพยายามครั้งใหม่ที่ร่วมด้วยช่วยกันอยู่ หากไม่ยอมรับว่าเรารวมตัวกันทำงานด้วยความเชื่อพื้นฐาน ทัศนคติหรือประสบการณ์ของแต่ละคนที่ต่างกันตั้งแต่ต้น แต่ละคนอาจจะใช้ความรู้สึก ค่านิยมหรือหลักยึดของตนไปตีความพฤติกรรมคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วเป็นไปไม่ได้ว่าจะได้ตามความคาดหวังของทุกคนทั้งหมด ความไม่พึงพอใจของเราต่อเขา หรือของเขาต่อเราจะพรั่งพรูออกมา และเสี่ยงต่อความเจ็บปวดและเสียใจ หากไม่สามารถเปิดใจรับและจิตใจไม่มั่นคงพอ ในที่สุดความขัดแย้งใหม่อาจจะเกิดขึ้น

แต่ว่าหากจะบอกว่าตั้งคำถามเช่นนั้นได้อย่างไร? เพราะถ้าเชื่อว่าสรรพสิ่งนั้นดำเนินและลุล่วงไปตามธรรมชาติด้วยเหตุ-ปัจจัยที่ซับซ้อน ละเอียดอ่อน ยากจะหยั่งรู้ หรือควบคุมได้ จะสุขหรือทุกข์ ชื่นชมหรือไม่ จะคิดว่าเป็นความสำเร็จของคุณ ของฉันหรือของเรา มันจะแปลกตรงไหน เรามาเรียนรู้และยอมรับความต่างดีกว่า พวกเราแต่ละคนมีบทบาทหน้าที่และยังอยู่ร่วมกัน ทำงานด้วยกัน มาเสริมสร้างกำลังใจกันตลอดเส้นทางเดินไม่ดีกว่าหรือ ถึงแม้จะไม่มีโอกาสคิดดังๆ เราทุกคนมีศักยภาพและสามารถจะตระหนักรู้ถึงความถูกต้อง ความผิดพลาด ความเหมาะสม ความสมบูรณ์ และสามารถรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของเราจริงๆ และเราทุกคนพร้อมอยู่แล้วที่จะทำทุกอย่างให้ดีกว่าเดิม แต่เราต้องไม่ละเลยที่จะใส่ใจ ให้เวลากับตัวเองและผู้อื่นในการซึมซับสิ่งที่กลั่นกรองออกมาจากประสบการณ์ของแต่ละคน และพร้อมจะนำไปสู่การแปลงที่ดีกว่าในทางปฏิบัติ

หากใจเรียกร้องบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เหมือนเดิมเพื่อความสุขที่แท้และยั่งยืนตามที่ว่ากันอยู่นั้น และไม่รู้จะเริ่มดำเนินการจริงจังหรือตั้งหลักอย่างไรเพื่อไม่ตกกระแสยุคปฏิรูปสุขภาพใจ ผู้เขียนคิดถึงตัวช่วยหนึ่งเพื่อการประคองใจเรา ไม่ให้หลงไปในความคิดไม่ดีที่มีต่อตนเอง บุคคลใกล้ชิด เพื่อนร่วมงานและเพื่อนร่วมทางชีวิต จะได้ทำให้เราสามารถปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ได้อย่างปกติเรียบร้อย นั่นคือการฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดความชำนิชํานาญ ในการคิดเรื่องชื่นใจหรืออบอุ่นใจในอดีตของบุคคลเหล่านั้นหรือระหว่างเรา เพื่อใจที่สุขสงบ เบิกบาน ไม่ขุ่นมัว และอาจจะทำให้เราพร้อมที่จะขอโทษหรือให้อภัยกับเหตุแห่งความไม่พอใจทั้งหลาย

ตัวอย่างเล็กๆ ตัวอย่างหนึ่งที่จะลองหยิบยกขึ้นมา คือ เรื่องของหลานตัวน้อยในวัยเด็ก ที่เห็นตุ๊กแกเกาะอยู่บนฝาบ้าน แล้วพูดขึ้นว่า “จิ้งจกบ้านเราตัวใหญ่จัง” ... ก็เพียงพอแล้ว สำหรับการกระตุ้นเราให้แอบยิ้มกับหลาน จิตใจอ่อนโยน เกิดความรู้สึกเอ็นดูหลานเรา และจะดำรงอยู่ได้หากหวนคิดถึงทุกครั้ง ถึงแม้หลานน้อยจะเติบโตและเปลี่ยนไป โดยที่เราเองรู้สึกอยู่ว่าที่น่าชังนั้นมากกว่าน่ารักนิดหน่อยเสียแล้ว

สักวันหนึ่ง “จิตตปัญญาศึกษา” อาจจะเป็นตัวช่วยหนึ่งที่เพิ่มขึ้นในกระบวนการและปฏิบัติการที่เสริมสร้างทักษะการเรียนรู้และน้อมนำสิ่งที่เกิดจากการกระทำหรือการได้พบเห็นมาพินิจพิจารณา โดยจะเป็นวิธีการหรือกระบวนการเรียนรู้ที่ดีและเหมาะสม ทำให้เกิดความจัดเจนจากประสบการณ์เพื่อรังสรรค์สิ่งที่ดีกว่า



โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๐

ช่วงสองสัปดาห์มานี้ มีคนติดต่อให้ไปทำงานพัฒนาเยาวชน เหตุเพราะฟังบอกเล่าต่อๆ กันมาแล้วเกิดสนใจขึ้นมา เขาอยากให้ฉันช่วยเขียนรายละเอียดกิจกรรมและหลักสูตรการอบรมให้ พร้อมทั้งชื่อของหลักสูตร จากนั้นก็บอกกล่าวถึงความปรารถนาของเขาและองค์กรที่มีต่อการจัดอบรมครั้งนี้ คือ ให้เยาวชนรู้จักคิด ค้นพบศักยภาพและเส้นทางที่ตนเลือกและปรารถนาในอนาคต รับผิดชอบตนเอง มีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ มีสมาธิ ใคร่ครวญตน และมีสำนึกร่วมต่อสังคม อ้อ! อยากให้กล้าแสดงออก และกล้าสื่อสารกับผู้ใหญ่ด้วยนะ

ฉันบอกกับเขาว่า แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กจะได้รับทั้งหมดตามที่เขาต้องการในช่วงระยะเวลา 3 – 4 วันนั้น ฟังจากน้ำเสียงดูเขาก็เข้าใจได้อยู่ แต่ดูจะรับไม่ค่อยได้ เมื่อฉันอธิบายว่า ฉันไม่มีหลักสูตรตายตัว ทุกครั้งที่นำพากิจกรรมการเรียนรู้ เราก็จะรอพบกับผู้เข้าร่วมก่อน แล้วกิจกรรมนั้นจึงเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อผู้เรียนโดยแท้ มิใช่เพื่อพวกเรา ซึ่งเป็นผู้เฝ้ามองและจัดการ การทำงานของเราจึงมิใช่ความซ้ำซากที่ทำซ้ำๆ อย่างขาดวิญญาณ และปราศจากการรับรู้ร่วมจากทั้งหมดของสภาวะ

ส่วนเรื่องชื่อการอบรม หรือหลักสูตรนั้น ฉันบอกไปว่า ให้ขึ้นอยู่กับความสะดวกและเหมาะสมของทางผู้จัดเองเลย ดูจะยิ่งทำให้เขางงมากขึ้น และเห็นชัดถึงความไม่เชื่อมั่นในกระบวนกรและกระบวนการอย่างที่ได้ยินมาเสียแล้ว ซึ่งฉันก็ยินดีน้อมรับกับความไม่พอใจนั้น

ประมาณสองวันหลังจากการพูดคุยกันครั้งนั้น เขาก็ติดต่อกลับมาใหม่ เพื่ออธิบายระบบการทำงานของหน่วยงานที่เขาสังกัดอยู่ให้ฉันฟัง สุดท้ายและด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนมาก เขาขอให้ฉันเขียนตารางกิจกรรม และหลักสูตรการอบรมให้เขา เราหัวเราะออกมากันทั้งคู่ เขาบอกว่า หากไม่ใช่เพราะว่าเพื่อนที่แนะนำฉันให้เขารู้จักได้ยืนกรานจนเขาพอมั่นใจได้ เขาคงไม่ติดต่อกลับมาอีกแน่ ฉันบอกเขาว่า ฉันเข้าใจความรู้สึกของเขา และจะพยายามเขียนให้แบบคร่าวๆ น้ำเสียงเขามีความสุขมาก แถมยังให้คำแนะนำว่า “อาจารย์เขียนมั่วๆ อะไรมาก็ได้ค่ะ เอาแบบให้ผู้ใหญ่อนุมัติไปก่อน” ฉันชื่นชมในความพยายามของเธอผู้นี้ รวมทั้งความปรารถนาดีอันจริงแท้ที่เธอมีต่อเยาวชนที่เธอทำงานร่วม ผ่านการสนทนากัน เธอแสดงออกอย่างจริงใจและเปิดเผยมาก ว่าเธอกำลัง ... ตัน แต่สิ่งที่เธอพูดในท้ายสุดนี้ มันกระตุ้นให้เก็บมาคิดทบทวนในนัยยะของมัน

เราเลือกที่จะเชื่อในถ้อยคำโกหก อวดโอ้ มากกว่าความจริงที่มิอาจชี้ชัดอย่างนั้นหรือ เราอยากได้ยินคำอธิบายดีๆ แผนจัดการอันรัดกุม แล้วเพิกเฉยต่อความงามของการผุดบังเกิดอันสดใหม่และเข้าถึงได้ได้อย่างไรกัน กรอบที่เรากำหนดขึ้นบ่อยครั้งมันก็กลายเป็นบล็อกครอบตัวเรานี้เอง อะไรหนอที่ทำให้เราไม่สามารถวางใจปล่อยตัวให้ดำรงอยู่กับความไม่รู้บ้าง ทั้งที่บ่อยครั้งยามเราบอกว่ารู้ เอาเข้าจริงๆ เรากลับแทบไม่รู้อะไรเลย

อย่างทันท่วงทีที่คำตอบเดินทางเข้ามาหาเรา เป็นความอัศจรรย์ที่เชื่อมโยงสิ่งต่างๆ รอบตัวเราไว้อย่างแยกกันไม่ออก พ่อทางจิตวิญญาณของฉันมักจะพูดเสมอว่า ทุกสิ่งเชื่อมโยงถึงกันและถึงตัวเราเสมอ เพียงเฝ้าดูการผุดปรากฏของมัน ด้วยดวงตาที่ตื่นรู้ เราก็จะมองทะลุกำแพงหลายสิบชั้นนั้นได้ ซึ่งเป็นคำอุปมาที่ไม่ไกลเกินความเป็นจริงเลย

เด็กที่ติดตามมาเพื่อขอเรียนการเป็นกระบวนกรกับเรา เดินหน้าบอกบุญไม่รับผ่านมาพอดี ถามไถ่ดู เธอก็เล่าออกมาด้วยความขุ่นเคืองว่า “กระบวนกรไม่เห็นทำกิจกรรมเหมือนกับที่คุยกันไว้วันก่อนเลย แล้วหนูจะเตรียมตัวถูกได้อย่างไร หนูแค่ไม่ชอบเวลาที่ต้องทำตามอะไรที่หนูไม่รู้น่ะค่ะ” เด็กสาวผ่อนคลายขึ้นหลังจากได้ระบายอารมณ์ จะว่าไปเธอออกจะเริ่มรู้สึกตัวมากขึ้นด้วย กับการหงุดหงิดของตนเองเมื่อครู่ ฉันถามกลับไปว่า เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการเตรียมตัวของเราคือสิ่งที่ดีที่สุด เธอบอกว่า มันอาจไม่ดีที่สุดแต่มันปลอดภัยกว่า ฉันทำท่าเลิกคิ้วสงสัย และเหมือนเธอจะรู้ทันกระบวนกรแล้วด้วย โดยไม่ต้องซักต่อ เธอตอบว่า “ปลอดภัยจากความผิดพลาด ความล้มเหลว และการถูกด่า ถูกตำหนิ” เธอก้มหน้าเหมือนจะร้องไห้ ถูมือไปมา “ถึงที่นี่ไม่มีคนคอยด่าว่า และชอบบอกว่าผิดพลาดกันได้ แต่หนูก็กลัวอยู่ดี หนูกลัวของหนูเอง หนูไม่ดีเลยใช่ไหมคะ ชอบคิดเอาเองอยู่เรื่อย” แล้วเธอก็เริ่มร้องไห้ ฉันบอกเธอว่าฉันไม่มีเจตนากล่าวโทษเธอเลย และไม่เห็นด้วยที่เธอจะโทษตัวเองเรื่องนี้ เพราะทั้งหมดที่เธอเป็นนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่เธอบ่มเพาะมันมาเนิ่นนาน สิ่งที่เธอต้องเรียนรู้สำหรับการเติบโตเป็นกระบวนกรก็คือ การเปลี่ยนแปลงที่นำพาตนออกจากข้อจำกัดที่มี

ฉันรู้มาว่าช่วงนี้เธอพยายามอ่านเยอะมาก เพื่อตามให้ทันเพื่อนที่มาเรียนเป็นกระบวนกรด้วยกัน ฉันบอกกับเธอว่า การอ่านก็เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่มันยังไม่ใช่ทั้งหมดของการเติบโตของโลกภายในของเธอ เธอจะเติบโตและเปลี่ยนแปลงได้ดี เมื่อเธอนำสิ่งที่เธอเรียนรู้รับรู้มานั้น ฝึกปฏิบัติกับตนเอง

เรื่องสองเรื่องนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไรนะ โดยมิมีเจตนากล่าวโทษใคร แต่คงปฏิเสธยากเหลือเกินว่า ระบบโรงเรียนนั้นมีผลต่อชีวิตเราไม่น้อย และยังคงมีผลกระทบอยู่ แม้นว่าเราจะเดินออกจากรั้วโรงเรียนมานานมากแล้วก็ตาม ตลอดจนสังคมของเราก็เอาคำว่ามาตรฐานไปแขวนห้อยไว้กับเครื่องชี้วัดที่แข็งตัว ไม่ยืดหยุ่นต่อความเป็นปัจเจกที่แตกต่างของคนเรา คนจำนวนมากมายจึงพยายามเป็นผู้รู้ ทั้งที่ความไม่รู้จะเชื้อเชิญเราให้กระโดดเข้าไปซึมซับความรู้นั้นอย่างลึกซึ้งมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับขณะที่เราคิดว่าเรารู้แล้ว และนี่เป็นเรื่องท้าทายมานานแล้วในการที่เราจะชักชวนคุณครูทั่วไปออกมาจากกรอบความเป็นผู้รู้ของตน

เด็กสาวถามฉันว่า เราจะทนอยู่กับความไม่รู้ของเราได้อย่างไรกัน และกระบวนกรนำพาผู้คนอย่างไร ในขณะที่เขาไม่รู้ว่าเขาจะทำอะไร ฉันบอกเธอว่า เธอน่าจะได้เรียนรู้เรื่องประสิทธิภาพ 5 อันดับ ของ ดรายฟัสและดรายฟัส (Dreyfus and Dreyfus) ฉันเล่าให้เธอฟังคร่าวๆ ว่า อันดับแรก เขาเรียกมันว่า ช่วงเด็กฝึกงาน (Novice) คือไม่รู้อะไรเลย รอทำตามคำสั่ง และต้องคอยให้รายละเอียด คอยบอกสอน ขั้นต่อมาก็คือ เด็กฝึกงานที่พัฒนาแล้ว (Advanced Beginner) เขาจะรู้และทำในงานที่ได้รับมอบหมายได้ดี ไม่ต้องคอยบอกสอนหรือลงรายละเอียดมาก ขั้นที่สาม เรียกว่า คนทำงานเป็น (Competent) เราจะเริ่มสบายใจได้ เพราะเขาสามารถทำงานพื้นฐานทั้งหมดได้อย่างดี แก้ไขได้ จัดการวางแผนการทำงานของตนได้ และลำดับขั้นต่อจากนี้ ใช้การทำงานในวิธีที่แตกต่างออกไปจากสามขั้นแรก เพราะในขั้นที่สี่ ที่เราเรียกว่า คนทำงานเก่ง (Proficient) เขาจะเริ่มฟังเสียงของญาณทัศนะของตนบ้าง สร้างสรรค์งานได้ และมองงานทะลุจากขีดข้อจำกัด ส่วนขั้นสุดท้าย เรียกว่า เซียน (Expert) เขาจะรับฟังญาณทัศนะของตนตลอดเวลา สิ่งต่างๆ ดูง่ายดาย และทรงพลังในมือของเขา

ฉันถามเธอว่า เธอคิดว่าตนอยู่ลำดับไหน เธอได้แต่ยิ้มเขินอาย ฉันเลยแซวว่า อย่าละอายที่จะซื่อสัตย์ต่อตนเอง เราต่างเป็นเด็กฝึกงานในบางเรื่องและเราต่างก็เป็นเซียนในบางเรื่องด้วยเช่นกัน แต่ทำอย่างไรเราจะเปิดพื้นที่ความเป็นเซียนในตัวเรามากขึ้นนี่สิน่าคิด




โดย ปรีดา เรืองวิชาธร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๐

ในกระบวนการเรียนรู้ชนิดที่สามารถเปลี่ยนแปลงคนได้อย่างลึกซึ้งนั้น ความกล้าหาญถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ลุ่มลึก เพราะเท่าที่สังเกตและรับฟังเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของการเติบโตภายในที่สำคัญๆ ของหลายคน ล้วนมีกลิ่นอายของความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญผสมอยู่ในการเรียนรู้ขณะนั้นๆ ที่กล่าวมานี้ก็มิได้หมายความว่า จะต้องพยายามสลัดทิ้งความกลัวภายในให้หมดก่อนทุกครั้งที่จะเรียนรู้สิ่งใด

สำหรับเราในฐานะผู้เรียน จะมีบางขณะที่กระบวนการเรียนรู้ดำเนินมาถึงบทเรียนสำคัญคือ ภาวะต้องเผชิญหน้ากับตัวตนภายใน เช่น กรณีที่กระบวนกรบางท่านสามารถนำพวกเราเรียนรู้ไปสู่โลกภายใน ทำให้เราเห็นกิเลสวาสนาที่เราติดยึด เห็นการทำงานอย่างสลับซับซ้อนและรวดเร็วของจิตซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนเป็นร่องลึกของอารมณ์ แต่เราก็แทบไม่รู้สึกตัวและแสดงออกมาเป็นบุคลิกด้านร้ายประจำตัว หลายคนขณะที่บทเรียนเกี่ยวกับตัวตนภายในกำลังดำเนินมาอยู่ตรงหน้านี้จะรู้สึกไม่คุ้นเคยที่ได้เห็นมัน บางคนไม่อยากเชื่อ ไม่อยากเห็นว่าตัวตนภายในที่เป็นจริงของเราเป็นเช่นนี้ (ทั้งๆ ที่เราก็มีเมล็ดพันธุ์ด้านดีอยู่ไม่น้อย) เพราะการรับรู้ตัวตนภายในอย่างซื่อตรงนี้มักทำให้เราเจ็บปวด ไปจนถึงกลัวและเกลียดตัวเองได้ง่ายๆ โดยเฉพาะคนที่ติดดีหรือมีภาพลักษณ์ภายนอกดูดี

ดังนั้นหากเราจะเรียนรู้บทเรียนราคาแพงนี้เพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิตจึงจำเป็นต้องกล้าหาญ กล้าที่จะเสี่ยงต่อความเจ็บปวดอันเนื่องจากตัวตนที่เรายึดมั่นมานานแสนนานกำลังสลายพังทลายลง กล้าที่จะเผชิญความจริงหลากหลายด้านที่มีในตัว เพราะในชีวิตประจำวันเรามักจะเลือกมองและเลือกรับรู้บางด้านที่เราอยากเห็นอยากให้เป็น บางด้านที่ไม่อยากรับรู้ทั้งที่มันมีอยู่เราก็มักกลบเกลื่อนหรือฝังกลบมันลงไปในห้องมืดของจิตใจ นอกจากนี้เราอาจต้องกล้าที่จะยอมลดการปกป้องตัวตนด้วยกลวิธีสารพัดที่เราเคยใช้ ถ้าหากเพื่อนหรือคนคุ้นเคยรอบข้างเริ่มล่วงรู้และเริ่มเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดและท่าทีเป็นความสัมพันธ์ที่แย่ลง แม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะมองเราอย่างตัดสินตายตัวก็ตาม

ความกล้าหาญที่พร้อมจะเผชิญหน้ากับตัวตนภายในมักจะเป็นต้นธารของการมองเห็นและยอมรับตัวเองตามที่เราเป็น ความปลื้มปิติสุขอันเนื่องจากการเริ่มเห็นและยอมรับจะค่อยๆ เยียวยาความเจ็บปวดจากสภาวะตัวตนเก่าของเราถูกฉีกขาดลง และความสุขน้อยๆ ที่กำลังก่อตัวนี้มักจะทำให้เกิดประกายแห่งความสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างเรากับคนอื่น สายสัมพันธ์ใหม่น่าจะมีความแน่นเหนียวมากกว่าที่จะเปราะบางเพราะเป็นการคบคุ้นกันด้วยจิตใจที่มีการปรุงแต่งบิดเบือนน้อยลงไปทุกที ความสัมพันธ์ใหม่จึงมีความตรงไปตรงมา แต่แฝงไว้ด้วยความอ่อนโยนและพร้อมที่จะเข้าใจ

ในอีกแง่หนึ่งบางครั้งบางคราวผู้เรียนจำต้องกล้าหาญที่จะยอมละทิ้งหรือวางความคิดความเชื่อบางอย่างที่เรายึดถือศรัทธามานาน กล้าหาญที่จะไม่พยายามปกป้องความเชื่อหรือทิฐิที่เรารักและแหนหวง ถ้าหากกระบวนการเรียนรู้นั้นมาถึงการปะทะสังสรรค์ทางความเชื่อความคิดจนเกิดมุมมองใหม่ที่น่าสนใจหรืออธิบายความจริงได้มากกว่า พูดอย่างรวบรัดก็คือ กล้าที่จะปล่อยวางความติดยึดในความคิดความเชื่อ ไม่ว่าความคิดความเชื่อนั้นจะมาจากครูบาอาจารย์ที่เราเคารพศรัทธามาก จะมาจากกระแสของกลุ่ม ชุมชนหรือสังคมที่เราสังกัดอยู่ หรือแม้แต่จะเป็นความคิดความเชื่อที่เคยถูกพิสูจน์ว่าเป็นจริงจากบริบทของอดีตแล้วก็ตาม ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องกล้าหรือพร้อมที่จะเป็นแกะดำของกลุ่มกระแสความเชื่อเดิม หรือเป็นคนชายขอบของกลุ่มหรือสังคมที่เราอยู่ ซึ่งอาจจะทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวบ้างในบางช่วงของชีวิต ความกล้าหาญในแง่นี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสลายอัตตาที่เรียกว่า ทิฏฐุปาทาน หรือความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นนั่นเอง

ความกล้าหาญในแง่สุดท้ายที่จะกล่าวถึงนี้ก็คือ กล้าที่จะเผชิญหน้ากับผู้ที่คิดหรือเชื่อต่างไปจากเรา กล้าที่จะเรียนรู้ร่วมกับคนที่มีวิธีการเรียนรู้ต่างจากเรารวมถึงคนที่ไม่ได้อยู่กลุ่มกระแสเดียวกับเรา เพราะคนเหล่านี้ล้วนทำให้เราต้องกลับมาใคร่ครวญภายใน ทำให้เราต้องถูกทดสอบหรือพิสูจน์ทั้งความเห็น ความใจกว้างและการติดยึดตัวตนภายในของเรา เพราะคนที่มีบางอย่างต่างไปจากเรามักจะตั้งคำถามท้าทายหรือถึงกับโจมตีความเห็นความเชื่อ ไปจนถึงโจมตีตัวตนของเรา จะทั้งหวังดีหรือหวังร้ายก็ตาม ซึ่งด้านหนึ่งทำให้เราไม่หลงใหลติดยึดความเห็นความเชื่อไปได้โดยง่าย แต่กลับจะเพิ่มสำนึกในการทบทวนค้นคว้าเพื่อตรวจสอบชุดความเชื่อความเห็นของเราอยู่เสมอ แต่หากเราเรียนรู้เฉพาะกับคนที่คิดคล้ายๆ กับเราอยู่เสมอๆ หรือพอใจเลือกเรียนรู้กับกลุ่มคนที่เป็นพวกเดียวกับเรา ก็มักจะทำให้เราหลงติดยึดความเห็นความเชื่อจนขาดการใคร่ครวญได้ง่าย ความกล้าหาญในแง่นี้จึงมาในรูปของการเชื้อเชิญ เปิดพื้นที่ มองคนที่ต่างจากเราเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์ทางสติปัญญา เพื่อพร้อมที่จะเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายได้

ความกล้าหาญในกระบวนการเรียนรู้ยังมีอีกหลายแง่มุมที่ไม่ได้กล่าวในที่นี้ อย่างไรก็ตามความกล้าก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้โดยง่าย ดังนั้นมันจึงควรเป็นบทฝึกประจำตัวของผู้ใฝ่เรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงภายในอย่างลึกซึ้ง ที่จะหมั่นมองเข้าไปข้างในจนสัมผัสรับรู้สภาวะของจิตที่กำลังเกิดขึ้นแต่ละขณะ มองเห็นการปรุงแต่งของจิตซึ่งเปลี่ยนรูปแปลงร่างไปแต่ละขณะว่าเป็นอย่างไร การสัมผัสรับรู้ถึงความกล้าและความกลัวภายในบ่อยๆ ก็จะทำให้เราคุ้นเคยกับธรรมชาติของมัน ในด้านหนึ่งหากเราหมั่นสัมผัสรับรู้ถึงเมล็ดพันธุ์แห่งความขลาดกลัว ก็จะเริ่มรู้ว่าอะไรที่เป็นเหตุแห่งความขลาดกลัว เราจะค่อยๆ รู้ชัดเจนว่าเหตุปัจจัยนั้นจะสลายและอ่อนกำลังลงได้อย่างไร ในทางตรงข้ามหากเราหมั่นสัมผัสรับรู้ถึงเมล็ดพันธุ์แห่งความกล้าหาญก็จะเริ่มรู้ว่าอะไรที่เป็นเหตุปัจจัยแห่งความกล้าและจะบ่มเพาะให้เกิดความเติบโตงอกงามได้อย่างไร

การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่คอยเกื้อกูลให้กำลังใจซึ่งกันละกันหรือรับฟังกันอย่างลึกซึ้งก็เป็นปัจจัยหนุนเสริมความกล้าหาญของเหล่าผู้เรียนได้ดีอีกทางหนึ่ง รวมถึงจัดกระบวนการที่เปิดพื้นที่ด้วยความใจกว้าง เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่แม้จะเสี่ยงแต่ก็ไม่อันตรายจนเกินไปย่อมช่วยให้ผู้เรียนเกิดความกล้าหาญได้ทีละเล็กทีละน้อย สองสามปัจจัยที่กล่าวมานี้คงพอจะทำให้รู้สึกมีความหวังในการบ่มเพาะความกล้าหาญได้ไม่มากก็น้อย โอกาสต่อไปจะได้กล่าวถึงความกล้าหาญของตัวกระบวนกรเอง



โดย พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๐

เนื่องจากโลกนี้มีอย่างน้อยสามทัศน์หรือสามมุมมอง อันได้แก่ ทัศน์ของฉัน ทัศน์ของคนอื่น และทัศน์ของกระบวนการ หรือมุมมองบุคคลที่หนึ่ง มุมมองบุคคลที่สอง และมุมมองบุคคลที่สาม ตามลำดับ จิตใจของเราก็มีพื้นที่ให้โลดแล่นไปได้อย่างน้อยในสามมุมมองนี้ แต่ถึงคราวร้าย จิตใจของเรากลับเจ้าเล่ห์แสนกลใช้พื้นที่เหล่านี้อย่างไม่เข้าใจ

ด้วยการปฏิเสธบางส่วนของตัวเอง ตัวตนเริ่มเกิดรอยแยกเป็นสอง และตัวตนที่ถูกแยกและปฏิเสธออกไป ก็เริ่มถูกผลักออกจากพื้นที่ของมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ไปสู่พื้นที่มุมมองบุคคลที่สอง อันเป็นพื้นที่แห่งการต่อรองระหว่างตัวตนฉันและตัวตนที่ไม่ใช่ฉัน คล้ายกับว่ามีสองคนในร่างเดียว ที่ต่างคนต่างถกเถียงกันไปมา และต่อรองว่าใครถูกใครผิด แต่กระนั้นการต่อรองในพื้นที่มุมมองบุคคลที่สองยังคงใกล้เกินไป และมีโอกาสสร้างความเจ็บปวดได้ง่าย ทำให้กระบวนการปฏิเสธตัวตนรุนแรงออกไปจนกลายเป็นการผลักออกไปสู่พื้นที่บุคคลที่สาม อันเป็นพื้นที่ที่เจ็บปวดน้อยกว่า ตัวตนที่ถูกปฏิเสธไม่ใช่ทั้งฉัน ไม่ใช่ทั้งคนอื่น แต่เป็น “มัน” ที่ฉันไม่รู้จัก และไม่อยากจะรับรู้ว่ามี “มัน” อยู่ พร้อมกันนั้นก็สร้างกำแพงขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งเพื่อปกป้องตัวตนที่เจ็บปวดอยู่ภายใน ปิดประตู และใส่กลอนไว้อย่างหนาแน่นจนยากที่จะเข้าไปได้

กระบวนการข้างต้นนี้เรียกว่า กระบวนการปฏิเสธตัวตน 1-2-3 หรือกระบวนการแยกตัวตนออกจากพื้นที่มุมมองบุคคลที่หนึ่ง ไปสู่พื้นที่มุมมองบุคคลที่สอง และไปสู่พื้นที่มุมมองบุคคลที่สาม การปฏิเสธก่อให้เกิดการสูญเสียพลังทางจิตใจอย่างมาก เนื่องจากต้องคอยปกป้องและปกปิดการรับรู้การมีอยู่ของตัวตนที่รู้สึกว่าน่ารังเกียจ การปกป้องตัวเองในทางจิตวิเคราะห์เรียกว่า “กลไกการป้องกันตนเอง” (defense mechanism) และการปกปิดการรับรู้ว่ามี “มัน” อยู่ อาศัยการเอาตัวตนที่ถูกปฏิเสธไปเก็บไว้ในจิตไร้สำนึก

แท้จริงแล้ว ตัวตนที่ถูกปฏิเสธไม่ได้หายไป แต่หลบซ่อนอยู่ในจิตไร้สำนึก บางครั้งเหมือนจะเห็น แต่ก็ไม่เห็น ด้วยจิตสำนึก มีแต่เงาที่คอยตามหลอกหลอนเราอยู่ร่ำไป คาร์ล ยุงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “เงา” (shadow) ซึ่งคอยติดตามเราไปทุกหนทุกแห่ง ตัวตนที่ไม่ใช่ฉันกลายเป็นเงาคอยทำงานซ่อนตัวอยู่ข้างหลังเรา คอยทำหน้าที่บงการ และนำพาชีวิตของเราไปตามอำนาจที่ซุกซ่อนและปกปิดอยู่ในจิตไร้สำนึก จนกระทั่งดูเหมือนว่าเราเป็นผู้เลือกได้เอง แต่ตรงกันข้าม เราต่างหากที่ถูกเลือก อันเป็นผลกรรมมาจากการแยกตัวตนออกเป็นสองตั้งแต่ต้น เงาแสดงตัวออกมาทั้งในด้านลบและบวก ในด้านลบ เงาอาจแสดงตัวโดยการโยนความผิดไปที่คนอื่น เช่น “ฉันไม่ได้โกธร เธอนั่นแหละโกรธ” แต่แท้จริงแล้วฉันกำลังปฏิเสธว่าฉันเองนั่นแหละที่เป็นคนโกรธ หรือในด้านบวก เงาอาจแสดงตัวโดยการชื่นชมคนอื่นในรูปแบบของศรัทธาหรือหลงใหลอย่างหน้ามืดตามัว ซึ่งแท้จริงแล้วฉันกำลังสร้าง “ฉันในอุดมคติ” ที่อยากจะเป็น แล้วปฏิเสธการชื่นชมและศรัทธาตัวเอง ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นไม่ได้โกรธ หรือไม่น่าชื่นชม แต่เป็นสองส่วนที่จำเป็นต้องแยกออกจากกัน กล่าวคือส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนของคนอื่น เป็นสิ่งที่เราสามารถรับทราบข้อมูลความเป็นไปของเขา แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนที่เราอาจตอบสนองมากเกินกว่าปกติ ซึ่งการตอบสนองเกินปกติในส่วนที่สองนี้เอง คือการแสดงตัวของเงา

กระบวนการผสานรอยแยกระหว่างตัวตน คือกระบวนการนำพาตัวตนที่ถูกปฏิเสธจากพื้นที่มุมมองที่ห่างไกล กลับมาสู่บ้านที่แท้ในพื้นที่มุมมองบุคคลที่หนึ่ง กระบวนการนี้คือ กระบวนการยอมรับตัวตน 3-2-1

กระบวนการในขั้น 3 คือ การหาเงาให้เจอเพื่อหันกลับมาเผชิญกับ “มัน” หรือตัวตนที่ไม่ใช่ฉัน การหาเงาให้เจอเป็นเรื่องไม่ง่าย เนื่องจากมันได้ถูกกักเก็บเอาไว้แล้วในจิตไร้สำนึก สิ่งที่เราอาจพอสังเกตได้คือ กลไกการป้องกันตนเอง อนึ่งกลไกป้องกันตนเองเป็นธรรมชาติของจิตที่จำเป็นจะต้องมีเพื่อใช้คัดกรองสิ่งที่ควรรับและควรปฏิเสธ เพื่อให้มนุษย์สามารถดำเนินชีวิตไปได้อย่างราบรื่น แต่การใช้กลไกป้องกันตนเองมากเกินกว่าการคัดกรอง เช่น การโยนความผิดไปทำร้ายคนอื่น การเก็บกดเข้ามาทำร้ายตัวเอง หรือการใช้เหตุผลเพื่อหนีเอาตัวรอด ต่างมีรากมาจากเงาทั้งสิ้น การสังเกตกลไกการป้องกันตนเอง เป็นหนทางหนึ่งในอีกหลากหลายหนทางที่จะนำไปสู่การหาเงาให้เจอ และสามารถเผชิญหน้ากับตัวตนที่ไม่ใช่ฉันได้ในที่สุด

กระบวนการในขั้น 2 คือ การพูดคุยระหว่างตัวตนฉันกับ “มัน” โดยอาจเริ่มต้นใช้คำถามว่า “เธอคือใคร” “เธอต้องการอะไรจากฉัน” “เธอเอาอะไรมาให้ฉัน” เป็นต้น กระบวนการพูดคุยอาจเกิดขึ้นภายในตัวเราเอง หรืออาจเกิดขึ้นระหว่างการรับคำปรึกษากับผู้ให้คำปรึกษาก็เป็นได้

กระบวนการในขั้น 1 คือ การกลับไปเป็น “มัน” คือการเข้าไปสู่โลกของตัวตนที่ไม่ใช่ฉัน โลกที่เจ็บปวด โลกที่ตัวฉันช่างอ่อนแอ ช่างน่ารังเกียจ การยอมรับความอ่อนแอและความน่ารังเกียจเท่านั้นที่ช่วยให้ “ฉัน” เป็นหนึ่งเดียวกับ “มัน” เช่น “ฉันเองที่เป็นคนโกรธ” “ฉันเองที่รู้สึกว่าไม่ดีพอ” เป็นต้น

เมื่อ “ฉัน” หรือตัวตนฉัน เป็นหนึ่งเดียวกับ “มัน” หรือตัวตนที่ไม่ใช่ฉัน การผสานรอยแยกระหว่างตัวตนก็เกิดขึ้น เป็นการบำบัดรักษาจิตใจ และสิ้นสุดกระบวนการยอมรับตัวตน 3-2-1 ในที่สุด และการยอมรับตัวตนถึงที่สุดนี้เท่านั้น ที่จะเป็นฐานให้แก่กระบวนการข้ามพ้นความทุกข์ในระดับปัญญาต่อไป

หมายเหตุ: บทความนี้ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเคน วิลเบอร์ ในหนังสือชื่อ Integral Spirituality บทที่ 6 ว่าด้วยเรื่อง “เงาและตัวตนที่ถูกปฏิเสธ” (The Shadow and the Disowned Self)



โดย วิธาน ฐานะวุฑฒ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๐

คำถามยอดฮิตที่พวกเรามักจะถูกถามเสมอในการทำเวิร์คช็อพกับหน่วยงานต่างๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็คือคำถามประมาณนี้ครับ
“คนตัวเล็กๆ อย่างพวกเราจะเปลี่ยนแปลงองค์กรได้อย่างไร?” หรือ “คนเพียงไม่กี่คนจะไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรได้อย่างไร?”

นอกจากนั้นก็จะมีสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอๆ ตามมา นั่นคือหลายๆ คนก็มักจะบอกว่า อยากให้หัวหน้าหน่วยงานมาทำกิจกรรมแบบนี้ ได้มาเรียนรู้แบบนี้ หรือบางท่านก็บอกว่าอยากจะให้เพื่อนๆ คนอื่นๆ ได้มีโอกาสมาร่วมกิจกรรมแบบนี้

สำหรับคนที่อยากจะให้ “หัวหน้า” มาเปลี่ยนแปลงถ้ามองในแง่ดีว่าไม่ได้คิดไม่ได้มอง “หัวหน้าเป็นตัวปัญหา” ก็น่าจะหมายถึงว่า “หัวหน้าเป็นผู้มีอำนาจ” บางทีผมก็อยากจะถามว่า “แล้วหัวหน้าคุณเค้าไม่มีหัวหน้าอีกต่อหนึ่งเหรอ เขาใหญ่จริงเหรอที่จะทำอะไรก็ได้ตามแบบที่คุณคิด” หรือ “บางทีหัวหน้าคุณเขาก็อาจจะคิดว่าตัวเขาเป็นเพียงคนตัวเล็กๆ แบบคุณด้วยเช่นกันได้มั๊ย?”

คำถามนี้ถ้าจะให้ผมตอบแบบวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ ผมก็อยากจะตอบว่า ผมเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่คนไม่กี่คนจะสามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรได้

แต่มีข้อแม้นะครับว่า “คนตัวเล็กๆ” เหล่านั้นจะต้องมี “การเปลี่ยนแปลง” อย่างจริงๆ จังๆ เสียก่อนนะถึงจะสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรได้

เหตุผลประการแรก คือ ณ วินาทีที่คุณ “เปลี่ยนแปลงตัวตน” ของคุณได้ เมื่อคุณกลายเป็นคนๆ ใหม่ที่มองเห็นความสำคัญของความเป็นมนุษย์ของผู้คนในองค์กร มองเห็นความสำคัญของมิตรไมตรีของคนในองค์กร มองเห็นความสำคัญของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันมากกว่าที่จะมุ่งมองเฉพาะผลกำไรหรือผลสำเร็จขององค์กรแต่เพียงอย่างเดียว ณ วินาทีนั้นองค์กรทั้งองค์กรของคุณก็เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน เพราะคุณและองค์กรต่างก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงอยู่ “ซ้อนทับกัน” แบบกล่องซ้อนกล่องซ้อนกล่องเหมือนกับการที่เซลล์ดำรงอยู่ในเนื้อเยื่อ เนื้อเยื่อดำรงอยู่ในอวัยวะ และอวัยวะดำรงอยู่ในร่างกายของมนุษย์

เหตุผลประการที่สอง คือในวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่นั้น เราไม่ได้เชื่อเรื่องของ “แรง” แต่เพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าในเชิงกายภาพ “แรงมาก” ก็ย่อม “เกิดผลมาก” เช่นการผลักวัตถุชิ้นใหญ่ก็ต้องออกแรงมากกว่าการผลักวัตถุชิ้นที่เล็กกว่า แต่ในเชิงพลังงานหรือมิติที่ซ่อนเร้นอยู่ในโลกกายภาพเหล่านั้น การเปลี่ยนแปลงบางอย่างไม่ต้องอาศัยแรงแต่เพียงอย่างเดียว

ทฤษฎีไร้ระเบียบก็บอกเรื่องราวแบบนี้ประมาณว่าการเปลี่ยนแปลงของระบบเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงที่จุดเล็กๆ ตรงชายขอบแล้วเกิดวงจรขยายลุกลามไปให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบเป็น “Butterfly Effect”

ทุกวันนี้ การที่คนผิวดำในสหรัฐอเมริกาได้สิทธิตามกฎหมายที่เท่าเทียมกับคนผิวขาวนั้น “จุดเริ่มต้น” เป็นเพราะผลงานของผู้หญิงผิวดำแก่ๆ คนหนึ่ง เธอปฏิเสธที่จะไม่สละที่นั่งบนรถเมล์ให้กับคนผิวขาวคนหนึ่งตามกฎหมายขณะนั้นปี 1955 “จุดเริ่มต้น” ไม่ได้เกิดจากฮีโร่ คนตัวใหญ่ๆ หรือคนมีอำนาจคนไหนเลย

ปฏิกิริยาทางนิวเคลียร์ก็เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่เกิดจากการแตกตัวของจุดเล็กๆ ในระบบในทำนองเดียวกัน

ด้วย “มุมมองที่ไม่ถูกต้อง” ในกรณีแบบนี้จะทำให้ “เกิดความเข้าใจผิด” ที่นำไปสู่ “ความท้อแท้” “ความไม่เข้าใจ” ว่า “ตัวเล็กๆ อย่างฉัน ทำอะไรไม่ได้หรอก” หรือ “คนไม่กี่คนจะไปเปลี่ยนแปลงองค์กรได้อย่างไรกัน” อย่างไรก็ตามผมเขียนบทความชิ้นนี้เพียงเพื่ออยากจะให้เข้าใจร่วมกันว่า “เป็นไปได้” นะครับ ไม่ได้เขียนเพื่อมาปลอบอกปลอบใจอะไรกันให้เกิดความมุมานะ แต่เขียนเพราะ “มันเป็นแบบนั้นจริงๆ” ไม่ได้มาปลอบมาโยน มาให้กำลังใจอะไรกันทั้งนั้นทั้งสิ้น

มาร์กาเร็ต เจ. วีตเลย์ ผู้เขียนหนังสือดังๆ หลายเล่ม เช่น “ผู้นำกับวิทยาศาสตร์ใหม่” “หันหน้าเข้าหากัน” และอื่นๆ เธอมีประสบการณ์ในการทำงานเพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีประสิทธิภาพตามแนววิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ เธอบอกไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงในองค์กรจะเกิดขึ้นเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนนั้น นอกจากจะต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนของ “ใครก็ได้” ในองค์กรแล้ว ยังมักจะต้องอาศัยเวลาอีกอย่างน้อย ๓-๕ ปี

ประการแรกต้องเข้าใจว่า ทุกคนในองค์กรมีความหมายมีความสำคัญจริงๆ ต่อองค์กร การบริหารงานในวิทยาศาสตร์ใหม่นั้น ในเบื้องต้นเราไม่ได้สนใจว่า จำนวนผู้คนจะมากน้อยแค่ไหน แต่เราจะสนใจใน “คุณภาพของการเปลี่ยนแปลง” ของผู้คนในองค์กรว่ามีการเรียนรู้อย่างไร มีความเข้าใจความสำคัญของการเชื่อมโยงอย่างไร ใช้อำนาจอย่างไร

ประการที่สองคือ วัฒนธรรมขององค์กรนั้น “สื่อสารกันอย่างไร” และการสื่อสารภายในองค์กร หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องหันกลับมาสู่ “การฝึกฝนทักษะการฟัง” ที่จะสามารถ “ร้อยเรียง” และ “เชื่อมโยง” ผู้คนต่างๆ ในองค์กรให้เข้ามาพูดคุยกัน เรียนรู้ร่วมกัน แก้ไขปัญหาร่วมกันและสร้างนวัตกรรมและความรู้ใหม่ๆ ร่วมกัน

ต่อเมื่อสองเรื่องหลักนี้ “ก่อเกิด” ขึ้นมาอย่างแท้จริงแล้ว “ณ เมื่อเวลานั้น” โครงสร้างในองค์กรแบบเก่า โครงสร้างอำนาจแบบเก่าที่เป็นแนวดิ่ง ก็จะค่อยๆ สั่นคลอนพังทลายและล้มครืนลงมาให้เห็นต่อหน้าต่อตาของเรา

Newer Posts Older Posts Home