โดย สุนทรี กุลนานันท์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๑

ข้าพเจ้าเคยเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมการอบรมของเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา เรื่อง “การเผชิญความตายอย่างสงบ” ในการอบรมครั้งนั้นพวกเราได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตทั้งเรื่องเฉียดตายของตัวเองและความตายคนในครอบครัว ข้าพเจ้าบอกเล่ากับกลุ่มเพื่อนผู้เข้าร่วมว่าตนเองได้ตระหนักถึงเรื่อง “ความตาย” เป็นครั้งแรกเมื่อได้เห็นคุณยายวัยเกือบ ๘๐ ปีต้องเผชิญความตาย

คุณยายของข้าพเจ้าเป็นผู้หญิงที่ไม่เหมือนผู้หญิงทั่วไป ท่านเคยบวชชีและท่านมีชีวิตในสังฆะซึ่งเป็นชุมชนของคนที่สนใจเรื่องจิตวิญญาณมาตั้งแต่อายุได้ ๔๐ กว่าปี แม้จะอายุมากแล้วแต่ท่านยังมีความคิดอ่านที่แลกเปลี่ยนกับข้าพเจ้าได้ในช่วงวัยรุ่น ท่านสามารถไปโน่นมานี่เองอย่างอิสระ จนถึงวัยที่ชรามากจึงได้กลับมาอยู่กับลูกหลาน แต่ดูเหมือนว่าท่านจะมีความสุขน้อยกว่าการใช้ชีวิตร่วมกับกัลยาณมิตรในสังฆะ ท่านจึงดูเหี่ยวเฉาลงและตายจากไปในโรงพยาบาล โดยไม่ได้รับการดูแลทางจิตวิญญาณเพื่อให้เป็นการเผชิญความตายอย่างสงบ

น่าเสียดายที่ตอนนั้นข้าพเจ้ายังเด็กเกินไปและยังไม่เข้าใจคำว่า “การเผชิญความตายอย่างสงบ” นั้นสำคัญอย่างไร แต่ประสบการณ์นี้ก็ได้เป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าเดินทางเข้าสู่โลกทางศาสนา และแสวงหาความเข้าใจในเรื่องนี้ นอกจากเพื่อตัวเองแล้ว ข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะได้มีโอกาสถึงวันที่ได้ดูแลจิตวิญญาณของคุณพ่อและคุณแม่ในวาระของท่าน ... แล้ววันนั้นก็มาถึง

เป็นวันที่คุณแม่ของข้าพเจ้าต้องเข้าผ่าตัด

เหตุการณ์เริ่มต้นมาก่อนหน้าตั้งแต่เมื่อ ๖ เดือนก่อน ขณะที่ครอบครัวของเรากำลังเตรียมตัวจะไปเที่ยวเวียดนามกันในวันรุ่งขึ้น คุณแม่ก็มีอาการปวดศีรษะจนหมดสติไป เราไปถึงโรงพยาบาลเมื่อเวลา ๑๗.๐๐ น. อย่างงวยงง เพราะที่บ้านไม่เคยมีใครป่วยหนักหรือมีโรคประจำตัวร้ายแรง จนล่วงเลยถึง ๑๘.๐๐ น. หมอบอกว่าต้องรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยใน แล้วก็ทำสแกนสมอง ผลคือสมองบวมจนเบียดแกนสมองที่ควบคุมระบบสำคัญของร่างกาย เช่น การหายใจและการเคลื่อนไหว คุณแม่จึงอ่อนแรงและไม่รู้สึกตัวในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ... เราตัดสินใจให้คุณหมอผ่าตัดด่วนในคืนนั้น

คุณแม่เป็นคนทันสมัย รักสวยรักงาม ชอบท่องเที่ยว และเชื่อมั่นในความแข็งแรงของตัวเอง เพราะเข้าฟิตเนสทุกวันแม้จะอายุ ๖๓ ปีแล้ว แต่ในห้องไอซียูคืนนั้น เมื่อพยาบาลโกนผมของท่านออกจนหมดเพื่อเตรียมผ่าตัด มันเป็นการเปลี่ยนแปลงราวกับพลิกฝ่ามือ เราเชื่อมั่นในความชำนาญของคุณหมอว่าจะช่วยชีวิตคุณแม่ได้แน่ แต่ที่คุณหมอเองก็ไม่รับประกันคือ หลังผ่าตัดแล้วท่านจะยังพูดจาหรือเคลื่อนไหวได้เหมือนเดิมหรือไม่ และนั่นคือสิ่งที่ข้าพเจ้าห่วงที่สุด เพราะเกรงว่าคุณแม่จะทำใจรับกับสภาพชีวิตใหม่ไม่ได้

คืนนั้นสิ่งที่ลูกหลานพอจะทำได้ก็เป็นเพียงการมารวมตัวกันหน้าห้อง ICU ครั้นวันรุ่งขึ้นคุณแม่ก็ฟื้นขึ้นมา อาการดีขึ้นเป็นลำดับ ท่านฟื้นตัวเร็วมาก เคลื่อนไหวและพูดจาได้เกือบ ๘๐ % ภายใน ๗ วัน

สิ่งที่เรากลัวที่สุดคือท่านจะรับสภาพไม่ได้ กลับกลายเป็นว่าไม่มีเลย ท่านเปลี่ยนไปเป็นคนละคน จากคนที่โกรธง่ายกลายเป็นคนที่มีอารมณ์ขันเหลือเฟือ ท่านจะแซวหมอและพยาบาลที่ดูแลจนเป็นที่รู้จักรักใคร่ของทั้งห้องไอซียูและหอผู้ป่วยในที่พักฟื้น

ข้าพเจ้าคิดว่าท่านรักษาใจได้ดีมาก โดยที่ตัวข้าพเจ้าเองยังไม่ทันได้ทำอะไรที่ช่วยท่านเลย แต่ท่านบอกว่าข้าพเจ้าได้ทำแล้ว เพราะก่อนหน้าที่ท่านจะป่วย ท่านขอให้ข้าพเจ้าพาไปปฏิบัติธรรมพักค้างที่เสถียรธรรมสถานซึ่งข้าพเจ้าเป็นอาสาสมัครอยู่นั้น เราได้ร่วมเข้าคอร์สที่ชื่อว่า “ศิลปะแห่งการใช้ชีวิตด้วยอานาปานสติภาวนา” สิ่งที่ได้คือเราคุยกันเรื่องใจได้ลึกซึ้งขึ้น เรื่องทุกข์เรื่องอารมณ์เรื่องความตาย มันเหมือน “ทุนชีวิต” ที่ท่านสะสมไว้ ด้วยการเรียนรู้เรื่องชีวิตเรื่องจิตใจทำให้ท่านมี “ดวงตาเห็นธรรม” ด้วยตนเอง คำว่า “ทุกข์มีไว้ให้เห็น ไม่มีไว้ให้เป็น” มันกระจ่างชัดเป็นรูปธรรมขึ้นมาเอง และท่านรู้เรื่อง “ลมหายใจแห่งสติ” จะช่วยกายให้คลายความเจ็บ ช่วยใจให้คลายความกลัวได้อย่างไร

สิ่งที่ข้าพเจ้าได้ลงมือทำจริงๆ แล้วมีเพียง ๓ อย่างคือ

๑) รักษา “ทุนของชีวิตคือจิตที่ไม่ขุ่นมัว” ดูแลใจตัวเองให้มั่นคง เพื่อที่จะได้ดูแลท่านอย่างสมบูรณ์ที่สุด ระวังการกระทำที่จะไปกระทบใจให้ท่านต้องทุกข์เพราะเรา

๒) “รักษาคลื่นแห่งความสงบ” ด้วยการรักษาบรรยากาศในห้องพักฟื้น ทั้งที่บ้านและโรงพยาบาล ให้เกื้อกูลต่อการให้ท่านกลับมาอยู่กับกายและใจของตัวเอง เปิดเทปธรรมแทนการเปิดทีวี แล้วคำสอนของพระอาจารย์ต่างๆ ก็สะกิดใจท่าน ท่านเรียนรู้เองจากจิตใต้สำนึกที่ปรากฏขึ้นว่าท่านใช้ชีวิตที่ผ่านมาอย่างไรและควรจะใช้ชีวิตที่ได้มาใหม่อย่างไร โดยเฉพาะ “การให้อภัยกับคนที่ผูกโกรธอยู่” (ภายหลังจากออกจากโรงพยาบาล ข้าพเจ้าก็พาท่านก็ไปขอขมาบุคคลเหล่านั้น)

๓) “ฟังกันด้วยหัวใจ” ในระหว่างที่ท่านเรียนรู้และระลึกสิ่งใดขึ้นมาได้ ข้าพเจ้าก็เพียงแต่ฟัง ให้ท่านได้เปิดใจเล่าถึงเรื่องราวความรู้สึกต่างๆ และสนับสนุนท่านในสิ่งที่ท่านตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง

พรุ่งนี้คุณแม่ของข้าพเจ้าจะเข้าไปผ่าตัดอีกครั้งเพื่อใส่กะโหลกเทียม ศีรษะที่บุ๋มอยู่ก็จะสวยเหมือนเดิม ท่านจะเดินเหินไปไหนได้โดยไม่วิงเวียนเพราะเนื้อสมองโคลงเคลงไปมา ท่านจะก้มๆ เงยๆ ทำอาหารอร่อยสุดฝีมือ และไปเที่ยวไกลๆ กับลูกหลานได้อีก

ข้าพเจ้ารู้สึกขอบคุณความเจ็บป่วย “เฉียดตาย” ครั้งนี้ของคุณแม่ ที่ทำให้ครอบครัวของเราได้ “เกิดใหม่” เพราะเราได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ ซึ่งคุณแม่ผู้มีปัญญาได้เป็นครูให้เราเห็นอย่างสง่างาม



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๑

ช่วงหลังมานี้ในบ้านเราเมืองเราและในหมู่เพื่อนฝูงมิตรสหาย ผมมักจะได้ยินเรื่องราวของการปะทะกันและแยกขั้วแบ่งฝ่ายระหว่าง “เหตุผล” กับ “อารมณ์” อยู่เสมอ นักการเมืองบางท่านอ้างถึงเรื่องการใช้เหตุผล การยึดมั่นในข้อมูลและข้อเท็จจริง และมักจะโจมตีฝ่ายตรงข้ามที่ “ใช้แต่อารมณ์และความรู้สึก” การใช้อารมณ์จึงดูเหมือนเป็นการถดถอยกลับไปสู่ความไร้อารยะ สมมุติฐานที่ซ่อนเร้นของเขาก็คือการใช้เหตุผลนั้นเป็นวิวัฒนาการขั้นสูงของการเป็นมนุษย์ ผู้ที่ยังติดอยู่กับการใช้อารมณ์จึงเป็นผู้ที่ไม่ควรจะเรียกว่าเป็นผู้ประเสริฐ หรือเป็นอารยชน

ในขณะที่ผู้นิยมเหตุผลดูเหมือนว่าจะเป็นผู้กำชัยในการกำหนดทิศทางของโลกมนุษย์ในปัจจุบัน แต่มนุษย์อีกจำพวกหนึ่งกลับรู้ดีว่า “อารมณ์” ต่างหากที่อยู่เบื้องหลังของการขับเคลื่อนทางสังคม และมีผลต่อการเลือกและการตัดสินใจของบุคคลส่วนใหญ่มากกว่าเหตุผล ผู้ที่เป็น เจ้า (นายเหนือ) อารมณ์ และรู้เส้นสนกลในของการทำงานของอารมณ์จึงสามารถเลือกจะกระทำการบางอย่างที่ผิดจากความคาดหมายของผู้คน ดังเช่นผู้นำประเทศบางคนที่มีพฤติกรรมเอาแน่เอานอนไม่ได้ ชอบระเบิดอารมณ์กับนักข่าว ตอบไม่ตรงคำถามและมักไพล่ไปโจมตีผู้ถามด้วยถ้อยคำผรุสวาท ผู้ที่เผลอไผลไม่ทันเกม ก็จะต้องเสียความรู้สึก เสียอารมณ์เป็นธรรมดา แบบนี้จะเรียกว่าผู้นำของเราขาดจริยธรรมในการใช้อารมณ์หรือไม่?

เป็นที่น่าเสียดายว่าการเรียนรู้เรื่องอารมณ์ความรู้สึกกลับเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจในระดับรองๆไปในระบบการศึกษาของเรา ทั้งๆ ที่ไม่นานมานี้แดเนียล โกลแมนเขียนเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) แล้วได้รับความสนใจไปทั่ว แต่ถึงทุกวันนี้ในบ้านเราก็ยังล้มคว่ำคะมำหงายในการประยุกต์ใช้ให้ได้จริงในแวดวงการศึกษาที่ถูกความคิดแบบกระบวนทัศน์เก่าคลุมครอบอยู่ หากเราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้ามกรอบของสาขาวิชาที่แข็งตึง ความเข้าใจในเรื่องนี้น่าจะได้ขยายขอบเขตออกไปได้อีกมาก ลองจับความเข้าใจในเรื่องสภาวะทางอารมณ์ตามขนบพุทธ ไปปะทะสังสรรค์กับคำอธิบายของฝ่ายจิตวิญญาณแบบกระบวนทัศน์ใหม่ มาผสมผเสกับความเข้าใจในด้านอารมณ์ของศิลปะการละครทั้งของตะวันตกและตะวันออก ในความ ‘มั่วนิ่ม’ อาจจะมีบางอย่างงอกงามขึ้นได้ แทนที่จะมีแต่การแยกกันอยู่ และ “งอกงอม” กันอย่างทุกวันนี้

ว่ากันแบบรวบรัดตัดความที่สุดในทางพุทธศาสนา “ความรู้สึก” กับ “อารมณ์” นั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แม้คนทั่วไปจะ รู้สึก อย่างนั้นก็ตาม เรามักจะใช้คำว่า “ความรู้สึก” กับ “อารมณ์” สลับกันตลอดเวลา บางครั้งวัยรุ่นชอบพูดติดปากว่า “อารมณ์เสีย” (ต้องทำเสียงสูงๆ ต่ำๆ) แต่ที่จริงแล้วเขาอาจจะหมายถึงการเสียความรู้สึกมากกว่า ตามหลัก ปฏิจจสมุปบาท ความรู้สึกนั้นเกิดอย่างอัตโนมัติเป็นความสืบเนื่องของ ผัสสะ ความรู้สึกนี้ภาษาทางพระเรียกว่า “เวทนา” แต่ไม่ใช่เวทนาที่เราเข้าใจกันทั่วๆ ไป ยกตัวอย่างถ้าทานส้มตำแล้วรู้สึกเผ็ดร้อนในปากอันนี้เวทนาก็เกิด แต่อารมณ์นั้นค่อยเกิดตามมา เช่นอยากทานส้มตำปลาร้ามาหลายวันแล้ว เพิ่งมาได้ทานวันนี้ถึงแม้จะเผ็ดจี๊ดจนปากแทบพังแต่ก็มีความสุขเพราะได้ทานของโปรด

ถึงแม้ความรู้สึกกับอารมณ์ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกันอยู่ เพราะสภาวะทางอารมณ์ของคนๆ หนึ่งสามารถจะมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของผู้อื่นได้ ปราชญ์ทางการละครอินเดียรู้เรื่องนี้มานานแล้ว ในตำรานาฏยศาสตร์ได้มีการกล่าวถึงเรื่อง “สภาวะ” หรือ Bhava ซึ่งไปตรงกับความเข้าใจทางพุทธเรื่อง “ภพ” (Becoming) ซึ่งก็หมายถึง “อารมณ์” หรือ Mood นั่นเอง ทางอินเดียบอกว่าหนทางหนึ่งที่จะถ่ายทอดความรู้สึกไปสู่ผู้ชมละครได้นั้น ตัวผู้แสดงต้องสร้างให้เกิด “ภาวะ” นั้นๆ ด้วยการแสดงออกทางสีหน้าท่าทางอย่างชัดเจน เช่น โกรธก็ต้องมีการถลึงตา เลิกคิ้ว หรือเมื่อตกอยู่ในความรักก็สะเทิ้นอายจนต้องวิ่งข้ามภูเขาสิบลูก เป็นต้น ความรู้สึกที่สามารถจะสร้างให้เกิดกับผู้ชมหรือเรียกว่า รสะ นั้นมีอยู่มากมายหลายแบบ ยกตัวอย่างเช่น เราทรรส มีโกรธะเป็นภาวะ และศฤงคารรส หรือรสแห่งความรัก มีรติหรือความยินดีเป็นภาวะ เป็นต้น เมื่อมีรสอยู่หลายแบบแต่ไม่รู้เป็นเพราะเหตุใดรัฐบาลของเราถึงเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างรสอยู่แบบเดียวก็คือรสแห่งความเคืองแค้น และขุ่นข้องหมองใจให้กับประชาชน?

ในมิติจิตวิญญาณกระบวนทัศน์ใหม่ คุรุอย่างเอ็กฮาร์ต โทลลี ให้คำจำกัดความอย่างเข้าใจง่ายๆ ว่า อารมณ์ก็คือ "ปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายมีต่อความคิด" เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าปฏิกิริยาของร่างกายที่เกิดจากสิ่งเร้าภายนอกนั้นเรียกได้ว่าเป็นเพียงความรู้สึกในระดับ “สัญชาตญาณ” เท่านั้น เช่น ถ้าหากเห็นสุนัขเห่าและวิ่งมาหาเรา ร่างกายจะมีการตอบสนองเป็นต้นว่าหัวใจเต้นเร็วขึ้น ขาสั่นจนก้าวไม่ออก ตรงนี้เกิดขึ้นเองโดยไม่ผ่านการคิด แต่อารมณ์นั้นจะเกิดจากความคิดปรุงแต่ง ซึ่งมีความยึดมั่นในตัวตนของเรามาเกี่ยวข้อง เช่น เห็นสุนัขวิ่งเข้ามาจะกัด เกิดความกลัวในเบื้องต้น (Primal Fear) แต่ไม่ปล่อยให้มันปรุงแต่งต่อมาเป็นอารมณ์วิตก หวาดหวั่น ก็สามารถควบคุมสติและสถานการณ์เอาไว้ได้ เรื่องแปลกก็คือแม้แต่เพียงคิดถึงเหตุการณ์อะไรบางอย่างในหัวของเรา อารมณ์ก็สามารถเกิดขึ้นได้ โดยที่เหตุการณ์นั้นไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นจริงเลยด้วยซ้ำ และนี่เป็นสิ่งที่นักแสดงที่มีพื้นฐานมาจากทางตะวันตกรู้จักกันดีว่าเป็นเรื่องของ “Emotional Memory” หรือการสร้างความสมจริงทางอารมณ์ให้เกิดขึ้นผ่านทางจินตนาการ คอนแสตนติน สตานิสสลาฟสกี้ นักการละครชาวรัสเซีย กล่าวว่าทุกๆ คนมีศักยภาพที่สามารถจะทำได้

ทุกๆ คนเป็นเจ้า (ของ) อารมณ์ แต่จะมีสักกี่คนที่เป็น เจ้า (นาย) อารมณ์ คือ รู้ทันการเกิดขึ้นของอารมณ์ เพราะกว่าเราจะรู้ก็มักสายไปเสียแล้ว เพื่อนบางคนมาสารภาพบอกว่าช่วงนี้รู้สึกตัวเองเครียดมาก แต่พอถูกซักถามก็ตอบไม่ได้ว่าเป็นเรื่องอะไร นี่อาจเป็นเพราะเราเห็นไม่ทันในความปุบปับเร่งรีบ มีชีวิตที่แขวนอยู่กับ Deadline อันต่อไปอย่างต่อเนื่อง ชีวิตของคนหลายๆ คนจึงมีแต่อารมณ์ขี้โมโห หงุดหงิด รำคาญเป็นเจ้าเรือน

คนบางคนชอบสุมความรู้สึกให้กับตัวเอง ทุกๆ ครั้งที่รู้สึกว่างลง แทนที่จะรู้สึกดีกลับรู้สึกว่าจะต้องหาอะไรมาทำให้วุ่นๆ เข้าไว้ เพราะอัตตามันไม่ยอม มันไปคิดเอาเองว่าถ้าเราว่างลงตัวเราจะรู้สึกไม่มีคุณค่า และเรามักจะหลงไปคิดว่าเราจะยอมอยู่อย่างมีอารมณ์ลบๆ แบบนี้ยังดีเสียกว่าจะกลายเป็นคนที่หมดความรู้สึก หรืออยู่อย่างหุ่นยนต์ที่ไร้อารมณ์ นี่เป็นความเข้าใจผิด ศาสดาทุกศาสนาไม่เคยสอนให้เราหมดความรู้สึก ความรู้สึกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเราเป็นมนุษย์ มันเกิดขึ้นเองตามความสืบเนื่องของเหตุและปัจจัย

ถ้าเราหมดความรู้สึกเราจะไม่เห็นความงามของดอกไม้ริมทางเดิน ถ้าเราหมดความรู้สึกเราจะไม่อาจรับรู้ความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์และสรรพชีวิต การกลับมาใคร่ครวญในเรื่องอารมณ์ของเราอย่างลึกซึ้งจะทำให้มนุษย์เราก้าวข้ามไปสู่ความตื่นรู้อันพ้นไปจากอหังการของความคิดและเหตุผลได้ใช่หรือไม่?



โดย สาทร สมพงษ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๑

๒-๓ วันที่แล้ว ผมได้เข้าร่วมการประชุมกับเพื่อนครูโรงเรียนเอกชน ๕ แห่งในจังหวัดสงขลา นับได้ว่าเป็นแนวโน้มที่ดีที่โรงเรียนเริ่มหันมาให้ความสนใจกับทุกข์สุขของครู เด็ก และผู้ปกครอง อย่างจริงจังขึ้น โดยร่วมกันทำโครงการสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นภายในชุมชนของโรงเรียน สุขภาวะในที่นี้หมายรวมเอาทุกมิติของชีวิต ตั้งแต่เรื่องของอาหารการกิน วิถีแห่งการคิด การมองปัญหา การดำรงตน การทำงาน จนถึงการสร้างสรรค์ชุมชนร่วมกัน

เพราะนับตั้งแต่พวกเราเริ่มเข้าโรงเรียนกระทั่งถึงวันนี้ บ้านกับโรงเรียนแทบไม่ได้สัมพันธ์อะไรกัน พ่อแม่ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ ถือว่าเมื่อส่งลูกเข้าโรงเรียนแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องจัดการศึกษาให้เด็กไป ส่วนตนก็จะทำหน้าที่หาเงินมาส่งเสียให้ลูกเรียนกระทั่งจบการศึกษา นั่นถือว่าเป็นทัศนคติที่เก่าไปแล้วสำหรับโรงเรียนกลุ่มนี้ การเรียนรู้จะไม่ถูกทำให้เราเห็นเป็นแค่การเรียนหนังสือโดดๆ ที่ตัดขาดออกจากชีวิตจริง แต่เป็นเรื่องที่จะต้องทำร่วมกัน ทั้ง ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง ทุกคนจะต้องเรียนรู้ มิได้เป็นเพียงเรื่องของเด็กอีกต่อไป ทุกคนต่างเปิดใจรับรู้ปัญหาของกันและกัน เลิกโทษกัน ปัญหาของครูก็คือปัญหาของพ่อแม่ ปัญหาของพ่อแม่ก็คือปัญหาของครูเช่นกัน นั่นคือชะตากรรมร่วม หรือสภาวะของจิตร่วมระหว่างครูและพ่อแม่

บางทีเป้าหมายที่เราวางไว้ก็เป็นเสมือนความใฝ่ฝันหรืออุดมคติให้มุ่งจะก้าวไป และเรามักจะทำไปได้ถึงระดับหนึ่ง อาจจะเป็นการเห็นในมิติของความคิด คือคิดได้ พูดได้ แต่ก็ยังเป็นไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้ หรืออีกนัยยะ กิจกรรมต่างๆ ที่เราจัดกันอยู่อาจจะสามารถสร้างจิตสำนึกแก่ผู้เข้าร่วมต่อการร่วมกันแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ในระดับของจิตไร้สำนึกนั้นยังไม่สามารถเข้าไปสัมผัสได้ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนของมนุษย์นั้น จะเป็นการเปลี่ยนจากภายใน และลงลึกไปเข้าไปเคลื่อนขยับในระดับของจิตไร้สำนึก ซึ่งจะเชื่อมโยงเข้าไปสู่สมุหปัญญาที่เป็นปัญญาร่วมของมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์

เวทีประชุมของกลุ่มนี้ก็เป็นรูปธรรมหนึ่งของหลายๆ องค์กรที่มีสภาวะไม่ต่างกัน บรรยากาศของการประชุมโดยทั่วไปจะมีการเคลื่อนตัวของความคิดที่รวดเร็วมาก ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่มักจดจ่ออยู่กับความคิดของตัวเองที่จะนำเสนอ และพร้อมที่จะตอบโต้กับความคิดเห็นที่ขัดแย้ง หรือมีความแตกต่างจากความคิดของตน น้อยครั้งที่เราจะเห็นถึงตัวตนที่วูบไหวไปกับการพยายามพิทักษ์ปกป้องความคิดของตัวเอง

เป้าหมายของการประชุมมักให้ความสำคัญกับการได้มาซึ่งข้อสรุปในรูปของข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆ มากกว่าการได้เห็น การเท่าทันกับตัวตน หรือการเฝ้าดูอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดของเรา การประชุมจึงมีศักยภาพที่เป็นได้แค่เวทีของการแลกกันทางความคิดถ้อยคำ ผู้เข้าร่วมมักจะมุ่งไปที่การพูดเพื่อให้คนอื่นๆ ยอมรับและเห็นด้วยกับความคิดของตน มากกว่าการแสวงหา ค้นพบ หรือได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ขึ้นมาจากวงประชุม

การชะลอให้กระแสความคิดของแต่ละคนช้าลง การพูดให้ช้าลง ไม่แย่งกันพูด กระจายให้ผู้เข้าร่วมได้พูดให้ทั่วถึง มิใช่ผูกขาดการพูดอยู่ไม่กี่คน บางครั้งก็ให้ความเงียบได้เข้ามาทักทายบ้าง ฟังกันให้มากขึ้น ฟังทั้งเสียงจากภายนอก และภายในตัวเอง หากใจเราเงียบพอเราก็อาจจะได้ยินแม้เสียงที่เข้ามากระซิบเพียงเบาๆ

แม้เราจะตระหนักกันว่าเป้าหมายที่สำคัญของการศึกษานั้นคือการพัฒนาความเป็นมนุษย์ แต่ในทางปฏิบัติเรากลับไปเน้นหรือวางน้ำหนักอยู่ที่การพัฒนาตัวความคิดเป็นหลัก เพราะมองว่ามนุษย์นั้นใช้ความคิดเป็นกลไก หรือเครื่องมือที่สำคัญในการเข้าไปแก้ไขคลี่คลายปัญหาต่างๆ ในชีวิต มนุษย์จึงพัฒนาความสามารถในการคิด การคำนวณ การใช้เหตุใช้ผล เพื่อวิเคราะห์โลก สังคม และเรื่องราวต่างๆ ความคิดของคนเราจึงซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน ในภาวะที่คนอยู่กับความคิดตลอดเวลานั้น สมองจะทำงานอยู่ในสภาพที่จำกัดมากๆ โดยเป็นการทำงานร่วมกันของสมองเพียง ๒-๓ ส่วนเท่านั้น คือสมองชั้นต้นจะถูกผลักดันอยู่ด้วยความกลัวอะไรบางอย่างในชีวิต เช่นกลัวว่าชีวิตจะไม่ได้รับผลสำเร็จ ฯ สมองชั้นกลางก็ตกอยู่ในร่องของอารมณ์บางอย่างอยู่บ่อยครั้ง และมักจะเป็นร่องรางเก่าๆ เช่นความวิตกกังวล ความโกรธ ความเกลียดชัง ฯ และในส่วนของสมองชั้นนอกซึ่งเป็นมีวิวัฒนาการสูงสุดนั้น ก็อาจจะติดอยู่กับประสบการณ์ ทฤษฎี ความเชื่อที่เคยมีมาเดิมๆ สมองทั้งสามส่วนเมื่อทำงานไปด้วยกันก็จะนำไปสู่ภาวะที่ถดถอย ชีวิตจะไม่มีการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ นอกจากการเกาะติดอยู่กับความมั่นคง ปลอดภัย และความเคยชินเดิมๆ ที่แทบจะไม่เหลืออะไรให้ท้าทายในชีวิต

ดังนั้นใจที่รกไปด้วยความคิดสารพัน มีพื้นใจอยู่ในความกลัว และอยู่ในร่องของอารมณ์อะไรบางอย่าง จะไม่สามารถเข้าถึงเนื้อตัวของชีวิตที่มีเพียงความเป็นธรรมดาสามัญ หรือความเรียบง่ายตรงไปตรงมา เป็นสารัตถะที่สำคัญได้ ในขณะที่สัจจะความจริงนั้นสามารถมองเห็น และเข้าใจได้จากใจที่ใสซื่อ ผ่อนคลาย รู้จักที่จะรัก ใจที่เปิดกว้าง กล้าเผชิญ มีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามขึ้นมาในสังคม ตลอดจนการมีความคิดที่ยืดหยุ่น มองอะไรอย่างเชื่อมโยง มีจินตนาการ และมีญาณทัศนะในการดำเนินชีวิต ความจริงแล้วใจเช่นนี้ก็คือใจของเด็กๆ เป็นใจที่มีความเยาว์วัยในชีวิตซึ่งมีพื้นที่ว่างในใจเพื่อศักยภาพในการมองเห็นโลกที่สดใหม่อยู่ตลอดเวลานั่นเอง

คุณภาพของใจที่ว่างๆ มีอิสระและว่องไว พร้อมที่จะเรียนรู้เช่นนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร วิถีของการดำเนินชีวิตที่มีความสมดุลของปัญญาทั้งสาม คือทั้งปัญญากาย ปัญญาใจ และปัญญาหัว (สมอง) คือปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้เกิดสภาวะหรือคุณภาพของใจดังกล่าว เราอาจจะยังพบได้ในวิถีของคนรุ่นก่อน หรืออาจจะยังมีอยู่ในบางชุมชน โดยเฉพาะในชุมชนเกษตรที่มีการลงเรี่ยวออกแรงกายในชีวิตประจำวันบ้าง การใช้ชีวิตที่ใกล้ชิดอยู่กับธรรมชาติ มีโอกาสได้ชื่นชมความงาม (จากชีวิต ธรรมชาติ หรืองานศิลปะ) และการได้มีเวลาในการใคร่ครวญปัญหา หรือเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ในวิถีของชีวิตสมัยใหม่ที่มีสัดส่วนของการใช้ความคิดค่อนข้างมากก็ต้องหาทางจัดปรับให้ชีวิตเกิดความสมดุลดังกล่าวให้มากขึ้น

ในแต่ละปีสังคมของเราใช้งบประมาณและทรัพยากรไปมากมายสำหรับการจัดประชุมสัมมนาขณะที่การพบปะหรือการประชุมในแต่ละครั้งกลายเป็นเพียงจารีตที่อาจจะเป็นเพียงเวทีของการพร่ำบ่น การเสริมอัตตาตัวตน คนส่วนใหญ่จึงมักจะเข้าร่วมการประชุมแบบเสียไม่ได้ หรือเหนื่อยหน่ายเต็มที ในทางกลับกันหากเราสามารถทำให้การประชุมในแต่ละครั้งคือการมาพบกันของกัลยาณมิตรหรือสังฆะ นัยยะหรือความหมายย่อมแปรเปลี่ยนไป มันจะมิใช่สนามของการขับเคี่ยว แข่งขัน การอวดภูมิรู้กันอีกต่อไป หากจะเป็นการเดินทาง สู่การเติบโต และงอกงามทางจิตวิญญาณของชีวิตร่วมกันของทุกๆ คน



โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๑

เหลียวมองสภาพการณ์ของบ้านเมืองในปัจจุบัน ประเทศไทยก็อยู่ใต้กฎธรรมชาติของความเปลี่ยนแปลง ความสุข ความทุกข์ ความขัดแย้ง ความไม่แน่นอน ถ้าพิจารณาให้เป็นเรื่องธรรมดาก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ถ้าจะใช้บทเรียนในอดีตมาพิจารณาก็พบว่าหลายๆ ครั้งของความขัดแย้งในสังคมทั้งหลาย ไม่มากก็น้อยเกี่ยวข้องกับสาเหตุของการ “ทนกันไม่เพียงพอ” หรืออาจกล่าวได้ว่า “อดกลั้นต่ออารมณ์ความรู้สึก” และ “ใจกว้าง” กันไม่เพียงพอ ความอดกลั้นหรือทนกันได้หรือไม่นี้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหลายประการของมนุษย์ เช่น การเคารพสิทธิพื้นฐานส่วนบุคคลของกันและกันเพียงพอหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตระหนักรู้ “คุณค่าของความเป็นมนุษย์” ของผู้อื่นผู้อยู่ร่วมกันได้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งการให้ความสำคัญกับความจริงใจที่จะอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นอย่างสงบสุขอย่างจริงจังหรือไม่ เหล่านี้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่จะนำไปสู่การมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างผสมกลมกลืนนั่นเอง

ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของชุมชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีพี่น้องชาวไทยพุทธและมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกัน ศาสนิกชนทั้งสองศาสนาเหล่านี้ ต่างก็มีความเชื่อ ความศรัทธา การปฏิบัติตามศาสนาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีอัตลักษณ์ในการนับถือศาสนาและวัฒนธรรมที่อาจแตกต่างกัน ดังนั้นคุณสมบัติของความใจกว้าง ความอดกลั้น ความทนกันได้และการเรียนรู้ที่จะให้อภัยกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

ในวงสานเสวนาที่จังหวัดยะลาเมื่อไม่นานมานี้ พระรูปหนึ่งซึ่งเข้าร่วมในการเสวนาได้เปิดใจพูดถึงประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งเป็นทั้งการระบายความรู้สึกและคำถามที่ค้างคาใจว่า เหตุใดเด็กๆ ชาวมุสลิมเมื่อเห็นหน้าพระ (ตัวท่าน) เอง เด็กเหล่านั้นจึงต้องยกมือปิดหน้า ท่านได้ถามเด็ก จึงทราบคำตอบว่ามีความเชื่อว่า ตนเป็นมุสลิม “ถ้าเห็นหน้าพระซึ่งเป็นนักบวชในศาสนาอื่นจะเป็นบาป” ความเชื่อนี้ได้ถูกส่งผ่านและพูดกันต่อๆ มาโดยมิได้รับการอธิบายว่าจริงหรือไม่ ถูกต้องสอดคล้องกับคำสอนในศาสนาอิสลามมากน้อยเพียงใด ความเชื่อในลักษณะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นการทนกันไม่ได้ของความแตกต่างของความเชื่อและการปฏิบัติในศาสนาอื่น และการเข้าใจคำสอนของศาสนาอย่างเป็นองค์รวมหรือไม่

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าความทนกันไม่ได้เช่นนี้ได้มีพื้นที่และโอกาสของการสื่อสารและทำความเข้าใจระหว่างกันมากน้อยเพียงใด

เช่นเดียวกัน พี่น้องชาวมุสลิมก็ได้แบ่งปันประสบการณ์ในลักษณะคล้ายคลึงกันถึงการไม่ต้อนรับของพี่น้องไทยพุทธบางคน

การแลกเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกของการทนไม่ได้ของบุคคลผู้มีความเชื่อ ความศรัทธา การปฏิบัติและวัฒนธรรมที่ต่างกันนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่ควรจัดให้มีเป็นประจำและต่อเนื่อง ดังนั้น “การฟัง” จึงเป็นทักษะที่สำคัญอันดับหนึ่ง การจัดการให้เกิด “ชุมชน” ที่มีการฟังเพื่อการแบ่งปันประสบการณ์เป็นความจำเป็นอันดับต่อมา

ชาวบ้านทั้งหลายสามารถจัด “ชุมชนแห่งการฟัง” ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องอาศัยหน่วยราชการ เพียงแต่ชาวบ้านและศาสนิกชนแต่ละคน ควรตระหนักรู้ถึงความสัมพันธ์อันเชื่อมโยงของตนเองและผู้อื่น ตระหนักรู้ “ภาวะผู้นำตามธรรมชาติ” ที่ตนเองมีอยู่ และรวมตัวกันโดยอาจอาศัยการนำ และความคิดริเริ่มและการเชิญชวนของผู้นำทางศาสนา จะได้มีโอกาสเพื่อพบปะพูดคุยกันอย่างจริงจัง และเกิดการฟังประสบการณ์ที่แต่ละฝ่ายได้ประสบมา การฟังเช่นนี้ควรประกอบด้วยจิตที่เมตตาต่อกันและกัน ว่าเราทั้งหลายอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือรู้ไม่ทั้งหมด อาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดกันได้ นอกจากนั้นควรฟังด้วยจิตที่ไม่ใช่ “จิตคิด” ที่จะด่วนและตัดสินไว้ก่อนว่าผิด รวมทั้งจิตที่นึกถึงความเป็นมนุษย์ ผู้รักสุขเกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น เป็นจิตที่พร้อมจะเอาใจเขามาใส่ใจเรา การจัดชุมชนศาสนิกชนที่พบปะและร่วมพูดคุยกันอย่างจริงใจ ไว้วางใจกันเป็นระยะๆ และต่อเนื่องเช่นนี้ จะเป็นโอกาสให้ปัญหาความขัดแย้งอันเกิดจากการทนกันไม่ได้ลดน้อยลง การฟังในชุมชนของศาสนิกชนเช่นนี้จะเป็นวิธีหนึ่งที่เป็นสันติวิธีที่ช่วยลดภาวะ “ความไม่ไว้วางใจกัน” และภาวะของ “การต่างคนต่างอยู่” ให้ลดน้อยลงได้

อาจมีผู้แย้งว่าวัฒนธรรมการฟังอาจเกิดขึ้นจริงได้ยาก เพราะต่างฝ่ายต่างไม่มีเวลา ต่างฝ่ายต่างเร่งรีบทำมาหากิน กิจกรรมหนึ่งก่อนที่จะนำไปสู่การฟังอาจได้แก่ กิจกรรมสานเสวนาที่พิจารณาปัญหาต่างๆ ของชาวบ้านเป็นตัวตั้ง เช่น ปัญหาที่เยาวชนในหมู่บ้านติดยาเสพติดเพิ่มขึ้น ชาวบ้านต่างศาสนาอาจมาพบปะพูดคุยร่วมกัน ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้เพื่อหาทางแก้ ชุมชนพุทธอาจแบ่งปันข้อปฏิบัติที่อาจสืบเนื่องมาจากคำสอนและการปฏิบัติในศาสนาพุทธ พี่น้องมุสลิมอาจจะเสนอทางออกของการแก้ไขจากความรู้คำสอนและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม นั่นคือชุมชนทั้งสองเห็นปัญหาร่วมกัน มีจุดหมายในการแก้ไขปัญหาเช่นเดียวกัน จึงมาพบปะเพื่อมาพูดคุยกันโดยใช้ “การฟังอย่างลึกซึ้ง” เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และแก้ไขปัญหาร่วมกัน วิธีนี้จึงเป็นการสานเสวนาเพื่อชีวิต (Dialogue of Life) ซึ่งเป็นการนำปัญหาที่ทุกคนกำลังเผชิญหน้าอยู่มาสู่วงสานเสวนาและร่วมกัน “ลงมือปฏิบัติ” จากสานเสวนาที่เป็นการพูดและการฟังเฉยๆ ก็สามารถแปรเปลี่ยนให้เป็นการ “กระทำ” ด้วยวิธีนี้ความเข้าใจผิดระหว่างกันจะค่อยๆ ลดน้อยลงไป ความทนกันและกันได้จะเพิ่มขึ้น การมีส่วนร่วมของชาวบ้านจะมีมากขึ้น ความสามัคคีและความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันจะเพิ่มขึ้น ความไม่ไว้วางใจกันก็จะค่อยๆ ลดลง สันติสุขก็จะคืบคลานเข้ามาในไม่ช้า

ขึ้นต้นบทความนี้ด้วยการรำพึงถึงสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ก็อยากฝันต่อไปว่าตัวอย่างของประสบการณ์ของชาวบ้าน ในการพยายามจัดการความขัดแย้งโดยผ่าน “การฟังด้วยใจ” ในชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ร่วมกันจัดขึ้นมาเช่นนี้ อาจเป็นอุทาหรณ์ได้ไม่มากก็น้อยว่า พวกเราในกรุงเทพฯได้ “ฟังกันด้วยใจ” ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ผู้ตกอยู่ใต้กฎธรรมชาติแห่งการเปลี่ยนแปลงกันมากพอแล้วหรือ? พวกเราได้ร่วมปฏิบัติตามหลักนิติธรรมของบ้านเมือง โดยไม่ใช้ความเป็นพวกมากพากันไปจริงจังแล้วหรือ? ถ้ามีเงื่อนไขเหล่านี้ “ความทนกันได้” อาจจะนำไปสู่ปฏิบัติการแบบ “สันติวิธี” โดยไม่ต้องสงสัยเลย

Newer Posts Older Posts Home