โดย วิจักขณ์ พานิช
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

พิธีกรรมทางศาสนาที่เราทำๆ กันจนกลายเป็นแบบแผนตายตัว มักจะถูกมองเป็นเรื่องน่าเบื่อ ทั้งขั้นตอนที่เยิ่นเย้อ พิธีรีตองที่สับสน บวกกับบทสวดบาลีที่ไม่มีใครเข้าใจ (แม้แต่ตัวผู้สวดเอง) วันก่อนผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมพิธีรับไตรสรณคมน์ ของเพื่อนๆ ชาวอเมริกัน จึงอยากจะถ่ายทอดข้อคิดที่ได้จากงานนี้ออกมาเป็นบทความให้ได้อ่านกัน

ทุกคนคงทราบกันดีว่า การรับไตรสรณคมน์ คือ การรับเอาพระรัตนตรัย อันประกอบด้วยพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง หรือหากจะเข้าใจไปในแง่ของการศาสนา พิธีกรรมนี้ก็คือการประกาศตนเป็นชาวพุทธนั่นเอง พิธีกรรมก็มีอย่างง่ายๆ คือ เรากล่าวปฏิญาณตนสามรอบต่อหน้าครูบาอาจารย์ “พุทธัง สรณัง คัทฉามิ ธัมมัง สรณัง คัทฉามิ สังฆัง สรณัง คัทฉามิ” สามจบ
รับไตรสรณะในภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า “take refuge” หมายถึง การรับเอาเป็นที่พึ่ง ส่วนผู้ที่รับไตรสรณะนั้น เขาเรียกว่า “refugee” ซึ่งมีนัยที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว

ก็น่าแปลกไหมล่ะครับ การรับเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง กลับไปจบลงตรงที่สถานะของ refugee หรือคนลี้ภัยหมดที่พึ่งไปเสียได้ แทนที่การรับไตรสรณคมณ์จะทำให้เราได้ที่พึ่งมายึดเกาะเป็นเสาหลักให้กับชีวิต ตรงกันข้ามการรับเอาพระรัตนตรัยมาเป็นที่พึ่ง กลับบ่งบอกถึง สถานการณ์มืดแปดด้าน ไร้ทางออก หมดทางเลือก เมื่อเราได้ตระหนักถึงสภาวะความไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่ง ความทุกข์ของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และเหตุปัจจัยรายรอบที่แปรเปลี่ยนไปไม่คงที่ หันไปทางไหนก็ดูจะไม่มีใครหนีความจริงแห่งชีวิตที่ว่านี้ไปได้ ทุกคนเหมือนต่างกำลังจมน้ำ ต่างคนต่างหาที่ยึดเหนี่ยว อย่างที่ไม่มีใครคิดที่จะเรียนรู้วิธีว่ายน้ำออกไปจากทะเลแห่งความทุกข์นี้เลยสักคน เมื่อพึ่งใครไม่ได้ เพราะทุกคนต่างก็อยู่ในวังวนเดียวกัน เราจึงตัดสินใจที่จะพึ่งตัวเอง โดยการรับเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแรงบันดาลใจในการฝึกฝนตนเองให้สามารถเผชิญหน้ากับสภาวะความทุกข์รอบด้านให้ได้ ด้วยใจที่ไม่เป็นทุกข์

เรารับ “พุทธะ” ในฐานะแบบอย่างของการอุทิศตน เรียนรู้ฝึกฝนจนค้นพบศักยภาพของจิตที่เปิดกว้างภายใน เรารับ “ธรรมะ” ในฐานะสัจธรรมในทุกสภาวะจิต ทุกอารมณ์ ทุกผู้คน ทุกเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ให้เราเรียนรู้ที่จะสัมผัสทุกแง่มุมตามที่เป็นจริง และ “สังฆะ” ในฐานะเพื่อนร่วมเดินทางฝึกฝน ผู้จะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่กันบนเส้นทางที่โดดเดี่ยวสายนี้ อาจจะเรียกได้ว่า การรับไตรสรณคมณ์ ก็คือ พิธีแห่งการให้คำปฏิญาณตนที่จะยืนบนลำแข้งตัวเอง สู่การฝึกฝนเตรียมพร้อมที่รับมือกับความไม่แน่นอนของชีวิตให้ได้ในทุกรูปแบบ

คนส่วนมากใช้เวลาทั้งชีวิต เพื่อที่จะพิสูจน์ความมีอยู่ของตัวตนที่ไม่มีอยู่จริง เราพยายามหยิบจับเอาสิ่งภายนอกมาเป็นคำตอบของคำถามที่อยู่ลึกๆ ในใจ...ฉันคือใคร? ฉันเกิดมาทำไม? ตายแล้วฉันจะไปไหน? เงิน งาน บ้าน รถ ปริญญา ชื่อเสียง เกียรติยศ ความสำเร็จ ความรัก คนรัก เราพยายามจะหยิบคว้าหาอะไรมาเติมเต็ม เติมเต็มอะไร...ไม่มีใครรู้ แต่เราก็ยังเลือกที่ทำตามๆ กัน ขณะที่กำลังหยิบโน่นฉวยนี่ เกาะเกี่ยวหาที่พึ่งจากภายนอก ลึกๆ เราต่างรู้สึกอ่อนแอ ไม่สามารถยืนหยัดอยู่บนทะเลชีวิตที่เต็มไปด้วยความผันผวนไม่แน่นอน เมื่อคนเราไม่มีความเข้าใจธรรมชาติของชีวิตและสรรพสิ่งดีพอ ความกลัวจึงทำให้เราต่างต้องการที่พึ่งภายนอก ที่สามารถให้ความรู้สึกปลอดภัย พอจะเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจได้แม้เพียงชั่วเวลาหนึ่ง

เมื่อรับเอาไตรรัตนะมาอยู่ในใจแล้ว เราก็กลายเป็น “ผู้ลี้ภัย” หรือ “refugee” อันแสดงถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักเดินทางบนเส้นทางการฝึกฝนตนเอง ก้าวเดินสู่เส้นทางของชีวิตที่จะค่อยๆ คลี่บานในทุกขณะ เราตัดสินใจเลิกที่จะมองหาคำตอบจากภายนอก เลิกหวังลมๆ แล้งๆ ที่จะใช้ชีวิตตามกระแสสังคม ด้วยความตระหนักว่าไม่มีใครที่จะสามารถหยิบยื่นคำตอบใดๆ ให้แก่ชีวิตของเราได้ นอกเสียจากเราจะค้นหาคำตอบนั้นให้กับชีวิตของเราเอง พุทธะ ธรรมะ และสังฆะ แสดงถึงคุณค่าแห่งการตื่นรู้ที่ทุกคนต่างมีอยู่ภายใน โดยที่หากเราใช้เวลาฝึกฝนบ่มเพาะให้พลังทางปัญญานั้นได้งอกงามขึ้น เราก็จะพบกับความดี ความงาม และความจริงแห่งการมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายในทุกลมหายใจเข้าออก

พอกล่าวรับไตรสรณคมณ์เรียบร้อย ผู้ไร้ที่พึ่งทั้งหลายก็เดินไปให้อาจารย์ท่านขลิบปลายผม เป็นสัญลักษณ์ของการ “บวช” หรือการสละละวาง “สิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัวเรา” เพื่อที่จะเดินตามเสียงภายใน แสวงหา “ศักยภาพภายในตัวเราที่แท้”

จากนั้นผู้รับไตรสรณคมณ์ก็จะเดินไปรับชื่อทางธรรมที่ธรรมาจารย์จะเป็นผู้ตั้งให้ จากสิ่งที่เขามองเห็นภายในจิตใจของคนผู้นั้น ตัวอย่างเช่น ขุนเขาแห่งปัญญา โยคีผู้กล้า หรือ มหาสมุทรแห่งความรัก เป็นต้น ชื่อทางธรรมบ้างก็บ่งบอกถึงศักยภาพ บ้างก็บอกถึงแรงบันดาลใจ บ้างก็บอกถึงคุณค่าอีกด้านที่บุคคลผู้นั้นมองข้ามไป บ้างก็เพื่อเตือนใจในเรื่องการปฏิบัติภาวนา โดยความหมายที่มีอยู่ในชื่อที่แต่ละคนได้รับ จะเป็นสิ่งที่ช่วยเตือนสติ เป็นเหมือนเข็มทิศให้เราได้กลับมาเห็นคุณค่าและเป้าหมายของการดำเนินชีวิตในยามที่เราต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ หรือในยามที่เราอาจจะสับสนไปกับเสียงภายนอกจนทำให้เราหลงลืมเสียงด้านในไป

เมื่อทุกคนได้รับชื่อทางธรรม ออกบวชเรียบร้อย พวกเขาก็เหมือนได้ชีวิตที่สดใหม่ พร้อมที่จะออกเดินทางสู่เส้นทางการเรียนรู้แห่งชีวิต ธรรมจารย์ที่เป็นเสมือนอุปัชฌาจารย์ (preceptor) ก็จะให้โอวาทในเรื่องของการฝึกฝนตนเอง ที่จะต้องประกอบด้วยศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นพื้นฐานของการศึกษาด้านในในทุกปัจจุบันขณะ

จบพิธีกรรมด้วยการโปรยข้าวสารไปรอบๆ ห้องปฏิบัติ พร้อมกับการให้พร ให้ทุกคนมีความตั้งใจในการฝึกฝน มีความอดทนต่อการฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิต และไม่หวั่นไหวไปกับเสียงแห่งโลกธรรมภายนอก จากนั้นเพื่อนๆ พ่อแม่ และแขกผู้มีเกียรติ ก็ยืนปรบมือแสดงความยินดีกับ new refugee ทั้งหลาย อีกนัยหนึ่งก็ถือเป็นการต้อนรับเขาสู่ครอบครัวแห่งพุทธะ อันเป็นสังฆะของนักเดินทางบนเส้นทางแห่งการตื่นรู้ร่วมกัน

การไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่ทำขึ้นอย่างง่ายๆ ในครั้งนี้ ได้ให้แรงบันดาลใจแก่ผู้เขียนเป็นอย่างมาก ความสดใหม่ของพุทธศาสนาในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นสีสันของการเดินทางทางจิตวิญญาณที่ผู้เขียนไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ตลอดการเข้าร่วมพิธีกรรมผู้เขียนไม่รู้สึกเบื่อ หรือง่วงเลยแม้แต่วินาทีเดียว ตรงกันข้ามกลับรู้สึกตื่น และตั้งใจที่จะเรียนรู้ไปกับทุกขั้นตอนอย่างใจจดจ่อ บางชั่วขณะยังเกิดความรู้สึกตื้นตัน ขนลุก น้ำตาคลอ ไปกับเพื่อนๆ ด้วย ทุกรายละเอียดของพิธีกรรมแฝงไว้ด้วยหลักธรรมที่ลึกซึ้ง เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ร่วมพิธีนำสิ่งที่ได้เรียนรู้สู่การปฏิบัติจริงในชีวิต

เพียงแค่เรากล้าที่จะลอกเปลือกของความเป็นศาสนา และแบบแผนความเชื่อที่รับกันมาอย่างงมงายออกเสีย จนเหลือเพียงพิธีกรรมที่จัดขึ้นบนความธรรมดาและเรียบง่าย มุ่งเน้นไปที่ความเข้าใจและสายสัมพันธ์ของผู้มีส่วนร่วมเช่นนี้ พิธีกรรมก็จะทำหน้าที่เป็นประตูสู่โลกอันศักดิ์สิทธิ์ ที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมพิธีได้สัมผัสถึงความหมายของการใช้ชีวิตในแง่ของการเป็นผู้ฝึกฝนปฏิบัติตนบนเส้นทางการแสวงหาคุณค่า ดำเนินชีวิตด้วยศรัทธาแห่งพระรัตนตรัย บ่มเพาะพลังแห่งการตื่นรู้ภายใน เพื่อการเผชิญหน้ากับทุกขสัจจ์อย่างรู้เท่าทันในทุกขณะของชีวิต



โดย ณัฐฬส วังวิญญู เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
----------------------------------
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

เมื่อเจมส์ เลิฟลอคมองโลกว่าเป็นกายาหรือระบบที่มีชีวิต เขาเขียนหนังสือชื่อ Planetary Medicine หรือ ภูมิแพทยศาสตร์ (เวชศาสตร์ธรณี) ซึ่งอธิบายกระบวนการมีชีวิตและระบบจัดการตัวเองของโลก (self-organizing system) แม้แร่ธาตุ ก้อนหิน ซากชีวิตต่างๆ ที่อาจดูเหมือนไร้ชีวิต ก็เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของโลกใบนี้ทั้งสิ้น ส่วนที่เขาใช้คำว่าการแพทย์นั้น ผมเข้าใจว่าเขาต้องการสื่อสภาวะแห่งความเจ็บป่วยของโลก หรือ โลกโรคา (ผมอ่านสนุกว่า โล-กะ-โร-คา) อันมีพฤติกรรมของสังคมมนุษย์เป็นปัจจัยหลักที่มีส่วนทำให้โลกป่วย แม้โลกนั้นมีระบบเยียวยาตัวเองก็จริง แต่ไม่อาจเยียวยาให้ทันอัตราเร่งแห่งการเผาผลาญทำลายล้างของสังคมอุตสาหกรรมได้ จนในที่สุดมนุษย์เองก็จะอยู่ได้ยากขึ้น จนถึงอยู่ไม่ได้ จะล้มตายกันมากมาย ดังที่หลายคนคาดการณ์ นอกจากสิ่งต่างๆ จะได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับวิถีโลกหรือธรรมชาติอย่างทันท่วงที

ทีนี้ พอหันมามอง "องค์กร" ในฐานะระบบที่มีชีวิตดูบ้าง คือมององค์กรว่าเปรียบดังคนๆ หนึ่งที่มีสุขภาวะและปัจจัยต่างๆ ที่จะทำให้องค์กรใดๆ มีสุขภาวะที่ดี จากประสบการณ์การทำงานของผมเองในช่วงระยะเวลา ๓ ปีที่ผ่านมา เวลาผมให้บริการด้านกระบวนการเรียนรู้ให้กับองค์กรต่างๆ ตามแนวคิดของการจัดการความรู้ (Knowledge Management) เพื่อให้องค์กรวิวัฒนาไปเป็นองค์กรแห่งเรียนรู้ (Learning Organization) ดังที่แพร่หลายในแวดวงวิชาการด้านการบริหารและการจัดการองค์กรในปัจจุบัน บ่อยครั้งที่ผมรู้สึกว่าสิ่งที่สำคัญประการแรกคือการรักษาหรือเยียวยาโรคภัยที่เกิดขึ้นในองค์กร ให้เกิดการรักษาและฟื้นฟูไปในตัวเอง ทั้งในระดับปัจเจกและระดับองค์กร หรือสถาบัน ราวกับว่าต้องทำหน้าที่เป็นหมอช่วยเหลือให้เกิดการเยียวยาในองค์กรที่ส่วนใหญ่เกิดจากการออกแบบโครงสร้างองค์กรให้มีการแยกเป็นส่วนย่อยๆ การมุ่งเป้าหมายไปที่ผลิตผลหรือผลงานในทุกส่วนย่อยขององค์กร จนเกิดบรรยากาศแห่งการแข่งขันและหวาดระแวง องค์กรมีภาวะอารมณ์ตีบตันไม่เลื่อนไหล หรือองค์กรตกร่องอารมณ์ เป็นโรคพร่องแรงบันดาลใจ การสื่อสารตีบตันคล้ายๆ กับคอเลสเทอรอลอุดตันในเส้นเลือด เพราะการสื่อสารระหว่างส่วนย่อยต่างๆ เกิดการติดขัด เป็นต้น

มีผู้นำหลายท่านที่อยู่ในแวดวงธุรกิจได้ตั้งข้อสังเกตว่า โรคภัยร้ายแรงที่สุดที่องค์กรแทบทุกแห่งต้องประสบทุกวันนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่องค์กรต้องเร่งสร้างผลงานให้ได้ตามเป้าหมายภายในเวลาจำกัดนั้น คือ โรคเครียด ความวิตกกังวล และความกลัว ก่อให้เกิดบรรยากาศการทำงานที่เป็นทุกข์ เกิดการแข่งขัน และความรุนแรงเชิงความคิด อารมณ์และพฤติกรรมในทุกระดับ อันส่งผลต่อการเกิดโรคทางกาย แผนกจัดการทรัพยากรมนุษย์ทำงานหนักขึ้นในการที่จะรักษาบุคลากรไว้ไม่ให้ลาออกหรือด่วนหนีหาย จึงเป็นภาพของทุกขภาวะของสังคมที่เด่นชัดและพึงได้รับการดูแลอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ การส่งเสริมการพัฒนามิติแห่งความเป็นมนุษย์ให้กับการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรต่างๆ กำลังเป็นสิ่งที่น่าจับตา (Humanization of Human Resource: HHR) ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบกลุ่ม โดยอาศัยสุนทรียสนทนา และมีเป้าหมายคือการส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะทางกาย อารมณ์ สังคมและจิตวิญญาณ โดยเสนอให้เกิดการดูแลองค์กรใน ๓ เรื่องหลักๆ ได้แก่ ๑) การจัดการความเครียด (Relaxation and stress management) เพื่อให้ชีวิตอยู่ในภาวะปกติที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ ๒) ความเข้าใจตัวเอง ความภาคภูมิใจและความมั่นใจในตัวเอง (Self-understanding and esteem) และ ๓) การเชื่อมสัมพันธ์ถึงกันและกันอย่างเกื้อกูล ร่วมไม้ร่วมมืออย่างเป็นกัลยาณมิตร (Bonding and collective learning)

ทั้งนี้ การจัดการความรู้นั้นคงไม่ได้หมายถึงเพียงความรู้ที่เป็นข้อมูล ความคิด คำพูด ทักษะหรือความรู้ที่เกิดจากการฝึกฝนปฏิบัติอย่างเดียว แต่หมายถึงอารมณ์ ความรู้สึก และแรงบันดาลใจของผู้คนด้วย (Organizational emotion) เพราะเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เลื่อนไหล ภายใต้วัฒนธรรมองค์กร โดยที่ไม่มีใครสามารถควบคุมสภาวะนี้ได้ด้วยการกดสวิตช์หรือออกนโยบายให้เกิดพฤติกรรมพึงประสงค์ เช่น การทุ่มเทให้กับการเรียนรู้และเติบโตตลอดเวลา แม้การสร้างกลไกเพื่อปันผลตอบแทนทางวัตถุเพื่อดึงดูดให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริงนั้นก็ยากนัก

ขวัญขององค์กรมีภาวะเป็นสมุหภาพ ไร้ผู้ควบคุมหรือผู้นำเดี่ยว เป็นอนัตตา เปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวตลอดเวลา ไร้ผู้อำนวยการหรือCEO เพราะขึ้นอยู่กับขวัญของสมาชิกองค์กรทุกคน ขวัญองค์กรจะเป็นอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับว่าขวัญของชีวิตแต่ละชีวิตในองค์กรเป็นอย่างไร หากขวัญทั้งหลายได้รับการหล่อเลี้ยงให้มีพลัง อารมณ์ดี มีความสุขแล้ว ผู้คนย่อมเกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นปกติ และนำไปสู่ภาวะสร้างสรรค์ ก่อเกิดนวัตกรรม และภาวะผู้นำในทุกหน่วยย่อยอย่างไร้ขีดจำกัด ปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องและสอดรับกับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาได้อย่างทันท่วงทีมีประสิทธิภาพ

หลายครั้งที่มีการผ่าตัดองค์กร ราวกับว่าเป็นเครื่องจักร เพื่อปรับแก้ (Modify หรือ re-engineer) ผลที่เกิดขึ้นคือ ผู้คนที่ถูกโยกย้ายตำแหน่งรู้สึกว่าถูกกระทำ และไม่ได้รับการดูแลอย่างกรุณา ผู้บริหารหลายคนก็อาจพยายามบอกตัวเองว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การผ่าตัดต้องทนเจ็บบ้าง แม้ว่าในหลายกรณี ผ่าตัดหรือปรับแก้ ไปแล้วปัญหาก็ยังโผล่มาแบบเดิมๆ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องคนทำงาน แล้วก็ต้องหาทางปรับแก้อีก เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ท่ามกลางความอ่อนล้า สิ้นหวัง ภาวะการปกป้องตนเองสูงและแพร่หลาย การสื่อสารลับหลังอย่างเป็นวงจรอุบาทว์หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า นินทา รวมถึงความหวาดระแวง แบ่งพรรคแบ่งพวก กลายเป็นพฤติกรรมแพร่หลายที่นับวันก็กลายเป็นมลพิษต่อชีวิตองค์กร จนผู้คนล้มหายลาออกอย่างไม่รู้สาเหตุ หรือไม่ก็อยู่ไปวันๆ เอาตัวรอดอย่างคงสภาพเท่านั้นเอง
อาการของโรคเช่นนี้น่าจะมีผลมาจากการมององค์กรว่าเป็นเพียงเครื่องจักร (Machine organization) ที่ขับเคลื่อนให้เกิดผลิตผลออกมาตามเป้าหมายที่องค์กรนั้นๆ ตั้งไว้ ไม่ต่างจากโรงงานที่เน้นการผลิตที่ทันท่วงที ตามเวลาและเงื่อนไขที่มี ภายใต้โครงสร้างการบริหารองค์กรแบบบนลงล่าง (Top-down management) แบ่งการทำงานออกเป็นส่วนหรือหน่วยย่อยๆต่าง (departmentalization to fragmentation) จนกลายเป็นแบ่งแยกไปเลยอย่างไม่ค่อยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือเชื่อมสัมพันธ์กันอย่างเพียงพอ

แม้หลายองค์กรหรือชุมชนที่มีเป้าหมายไปทางสาธารณประโยชน์หรือสาธารณกุศล และตั้งใจเอื้อเฟื้อต่อการพัฒนาคุณค่าและศักยภาพมนุษย์ ก็ค้นพบทางตันของการบริหารจัดการแบบเดิม และมีอาการของโรคไม่ต่างกับองค์กรธุรกิจเท่าไรนัก อย่างนี้จะเรียกได้ว่าเป็นโรคระบาดองค์กร ที่มีรากมาจากโลกทัศน์และแนวปฏิบัติที่ขัดกับวิถีแห่งธรรมชาติอันมีชีวิตเป็นแก่นสารกระมัง ตราบใดที่วิธีการหรือการจัดองค์กรยังไม่เหมาะสม แม้เจตนาหรือพันธกิจขององค์จะดีเลิศประเสริฐศรีเพียงใดก็ตาม ผลที่ตามมาก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ดี ซึ่งเห็นได้ชัดจากองค์กรรัฐทั้งหลาย เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และอื่นๆ อีกมากมาย
ทั้งๆ ที่จริงแล้ว หากมองในทางกลับกัน องค์กรคือสิ่งมีชีวิต (Living organism) และมีฐานะเป็นศูนย์รวมแห่งความพยายามของมนุษย์ที่มารวมกันเพื่อกระทำการบางอย่างเพื่อนำไปสู่ผลที่ตนเองต้องการ ตามวิสัยทัศน์ชีวิต(Personal vision) ของแต่ละคนที่ส่งเสริมการบรรลุถึงวิสัยทัศน์องค์กร (Organizational vision) ไปด้วย หากเปรียบองค์กรเป็นร่างกายของเรา สมาชิกองค์กรก็เปรียบเสมือนอวัยวะต่างๆ ในร่างกายที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างไม่สามารถแบ่งแยกได้ โดยสุขภาวะรวมของร่างกายก็ขึ้นอยู่กับสุขภาวะของส่วนย่อยต่างๆ ด้วย

ดังนั้นผู้นำองค์กรเองจึงมีบทบาทสำคัญในการดูแลรับใช้กระบวนการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างหน่วยย่อยเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและสร้างสรรค์ และส่งเสริมสมาชิกองค์กรให้ค้นพบศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ที่มีจิตอันวิวัฒน์ได้ โดยเป็นได้มากไปกว่าความเป็นเพียงคนทำงาน เพราะชีวิตนั้นมีศักยภาพหรือพลังที่ไร้ขีดจำกัด ผู้นำองค์กรจึงอยู่ในฐานะผู้หล่อเลี้ยงดูแล เหมือนคนสวนดูแลสวนให้เติบใหญ่ งอกงาม โดยดูแลเหตุปัจจัยที่เกื้อกูลการเจริญเติบโต เช่น แรงบันดาลใจ บรรยากาศการทำงานที่ดี ความกล้าเผชิญอย่างสร้างสรรค์ ความเชื่อมโยงถึงกันและกันในทุกฝ่ายทุกหน่วย เป็นต้น

อีกร้อยปีข้างหน้าองค์กรของมนุษย์จะมีสุขได้หรือไม่ ฝากผู้นำผู้บริหาร ทุกๆ คนคิดด้วยนะครับ


โดย กอบแก้ว มโนมัยพิบูลย์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
--------------------------

การอบรมของเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา เรื่อง “งาน พลังกลุ่ม และความสุข” จัดโดยเสมสิกขาลัยดำเนินไปอย่างเรียบง่ายและเสร็จสิ้นลงด้วยดี ผู้เข้ารับการอบรมรู้สึกสนิทสนมกันมากขึ้น ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันผ่านเกมและกิจกรรมต่างๆ บางกิจกรรมต้องร่วมมือร่วมใจกันวางแผนเพื่อฝ่าฟันอุปสรรค ในที่นี้หมายถึงโจทย์ที่มีเงื่อนไขอันสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน และมากมายด้วยข้อจำกัดในการทำงานให้สำเร็จ ซึ่งแม้แต่ตัวผู้จัดกระบวนการเรียนรู้นี้เอง ยังต้องใช้เวลาอธิบายนานพอสมควรกว่าจะเสร็จ

บางกิจกรรมสามารถกดดันผู้เข้ารับการอบรมที่ยังไม่เคยร่วมกิจกรรมนั้นมาก่อน ทำให้คิดว่าจะทำได้จริงหรือ? จะเป็นไปได้หรือถ้าไม่ย่อหย่อนกฎเกณฑ์หรือกติกาที่ตั้งไว้ บางกิจกรรมไม่มีเงื่อนไขเวลา แต่ถ้าทำไม่สำเร็จอาจทำให้ไม่ได้รับประทานอาหารเอาง่ายๆ ขอยกตัวอย่างกิจกรรมที่ได้ทำกันและให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานในชีวิตจริง เช่น
เกมตัวต่อมหาสนุก เพื่อเรียนรู้ความสำคัญของการสื่อสารที่ดีและเพียงพอ เพราะประจักษ์ชัดถึงความผิดพลาดอย่างเป็นรูปธรรม จากการสื่อสารที่ไม่ดีและไม่เพียงพอระหว่างการทำงานร่วมกันของผู้มีหน้าที่ต่างๆ

การแสดงละคร เพื่อเรียนรู้ความไม่ไว้วางใจกัน ผ่านการจำลองสถานการณ์หรือเหตุการณ์จริง และจินตนาการถึงบทบาทของตัวละครที่ควรจะเป็นหากอยู่ในสถานการณ์หรือเหตุการณ์นั้น รวมถึงผลกระทบจากความไม่ไว้วางใจและการร่วมกันหาทางออก

กิจกรรมสายธารชีวิต เพื่อเรียนรู้การรับฟังอย่างลึกซึ้ง โดยฝึกฟังชีวิตและประสบการณ์ของพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ที่ผ่านมาจากอดีตถึงปัจจุบัน เหตุการณ์สุขหรือทุกข์ เปิดโอกาสให้รู้จักกันมากขึ้น กล่อมเกลาอารมณ์ความรู้สึกให้อ่อนโยนต่อชีวิตเราและเขา

กิจกรรมแม่น้ำพิษ เพื่อเรียนรู้การแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ผ่านการทดลองปฏิบัติจริง ทุกคนจะได้เรียนรู้การวางแผน การทำงานด้วยความรู้สึกที่เท่าเทียมหรือไม่เท่าเทียม แบบอย่างการทำงานที่เราชอบและไม่ชอบ ล้วนสามารถนำไปเป็นตัวอย่างในการทำงานจริงได้

งานเลี้ยงสังสรรค์เล็กๆ ที่ตั้งชื่อว่า “กิจกรรมเฉลิมฉลองชีวิต” เพื่อความสนุกสนานและผ่อนคลาย

ทุกอย่างที่เรารู้สึกนึกคิด อารมณ์ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทั้งชอบและไม่ชอบ สบายหรือลำบาก ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าในการทำงานจริงกับคนอื่น มันก็เกิดขึ้นและผ่านไปอยู่เสมอ ทำให้ตระหนักว่าการทำงานที่ต้องอาศัยทุกคนในต่างหน้าที่และบทบาทนั้น ควรทำความเข้าใจว่า ความสำเร็จ ความพลาดพลั้ง ความราบรื่น ความขลุกขลักที่เกิดขึ้น เป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่ง ตัวอย่างเช่น กลุ่มที่ต่อรูปสัตว์ประหลาดผิดไปจากแบบในเกมตัวต่อมหาสนุก แท้ที่จริงแล้วเราจะพบข้อที่ควรปรับปรุงได้จากทุกคนในกลุ่มที่เล่นกันคนละบทบาทตลอดกระบวนการทำกิจกรรมนั้น หรือกล่าวได้ว่าทุกคนมีส่วนร่วมต่อความผิดพลาดนั้น

พลังและความสุขแห่งการเรียนรู้ร่วมกันเป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่ทีมผู้จัดการอบรมประสงค์จะให้พวกเราเรียนรู้ การได้มา “สัมผัส” ถึงพลังกลุ่มและค้นหาคำตอบว่า ที่มาของพลังนั้นคืออะไรด้วยตัวเองจากประสบการณ์การร่วมกิจกรรม ขบคิดในช่วงสรุปบทเรียน แล้วพรั่งพรูออกมามากมายและหลากหลาย เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับพวกเราที่จะนำไปสู่วิถีการปฏิบัติจริง แต่ต้องใจเย็นสักหน่อยว่า คิดได้แล้ว แต่จะทำได้หรือไม่นั้น ต้องมีวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมด้วย สำหรับผู้เขียนนั้นคิดว่า ต้องอาศัยเหตุและปัจจัยสนับสนุนพอสมควร จึงจะทำให้การทำงานกลุ่มจริงๆนั้นมีพลังช่วยเหนี่ยวนำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดแรงบันดาลใจเพื่อร่วมฝ่าฟันอุปสรรค หรือแก้ปัญหาที่ยากเกินกว่าลำพังเพียงคนเดียวจะทำได้ และสามารถมีความสุขไปพร้อมกันด้วย

เมื่อการอบรมผ่านไปจนถึงกิจกรรมสุดท้าย ผู้เขียนมีความคิดแว้บขึ้นมาว่า “สงสัยว่าจริงๆแล้วตัวเราเองทำงานกลุ่มไม่เป็นนะ!!!” เพราะเมื่อทบทวนลักษณะการทำงานของตัวเองไปด้วยภายหลังการทำกิจกรรมสายธารชีวิต พบว่ามักเป็นงานที่ทำเพียงลำพัง นอกจากนี้ ในการทำงานแบบรวมกลุ่มที่ผ่านมานั้น ไม่แน่ใจว่าตัวเรารู้สึกถึงความสัมพันธ์ที่ดีในทีมงานหรือไม่? รู้สึกอยากเกื้อกูล เห็นใจกันและกันขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่? มีความสุขจริงหรือไม่? ได้สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ขึ้นหรือไม่? แล้วได้เคยลองเผชิญกับปัญหาที่ยากจริงๆ แล้วหรือไม่? และหากเจอจริงคิดว่าจะทำได้หรือไม่? ตัวเราอาจคุ้นชินกับการใช้วิธีการเดิมๆ แก้ไขโจทย์ลักษณะเดิมๆอยู่ก็ได้

ดูเหมือนว่าเรายังหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปใกล้โจทย์สำคัญที่รออยู่ เพราะกลัวความยากลำบาก ยากแก่การควบคุม หรือยากต่อการดำเนินการด้วยเราเพียงลำพัง หรือตัวเราอาจจะกำลังทำงานแก้ไขโจทย์สำคัญ ด้วยวิธีการที่ยังไม่เอื้อต่อการสร้างพลังกลุ่ม และท้ายสุดจะส่งผลให้ผู้ร่วมงานขาดความพึงพอใจในผลงานที่ทำขึ้น เกิดความทุกข์ใจ หมดไฟ ขาดพลังใจในการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนรู้สึกโชคดีว่าจับหลักการบางอย่างได้ เข้าใจมากขึ้นจากเกมและกิจกรรม คิดว่าเดี๋ยวจะลองเอาไปปรับใช้ในชีวิตการทำงานจริง ที่ระยะหลังมักหลีกเลี่ยงการทำงานร่วมกับคนอื่นได้ยาก เริ่มจากงานที่ไม่สลับซับซ้อน พยายามสร้างเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดพลังในการทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขควบคู่กันไปด้วย อาจจะเป็นการลองผิดลองถูกบ้าง โดยเริ่มจากการทบทวนความสัมพันธ์กับทุกคนรอบข้าง พยายามเสริมสร้างบรรยากาศแห่งกัลยาณมิตรที่มีการรับฟังและยอมรับกัน ด้วยรูปแบบของการทำงานด้วยตัว หัวใจและมันสมอง ... คิดเพียงเท่านี้

ผู้เขียนขอสารภาพว่า การทำงานเป็นกลุ่มจริงๆ นั้นยาก การแปลงความคิดไปสู่การปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาศัยทักษะนอกเหนือไปจากการพัฒนาความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน กล่าวคือเป็นทักษะการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และการเปลี่ยนแปลงด้านในของตนเอง แต่ยังอดฝันหวานไปไกลไม่ได้ ... เผลอไผลนึกคิดคาดหวังไปว่า วิธีการทำงานร่วมกันกับทีมและเพื่อนกลุ่มต่างๆ ต่อจากนี้กับโจทย์ที่ท้าทายกว่าเดิม จะมีความหมายอย่างยิ่งต่อตนเองและทุกคนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงจะลองพิจารณาปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง



โดย สรยุทธ รัตนพจนารถ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
-----------------------------
ครูบาอาจารย์ของผู้เขียนได้ขอให้ผู้เขียนช่วยตอบจดหมายจากมหาวิทยาลัยมีชื่อแห่งหนึ่ง เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยมีความประสงค์จะนิมนต์ท่านไปสอนการภาวนาแก่นักศึกษา อาจารย์และเจ้าหน้าที่ มหาวิทยาลัยคงเห็นว่าท่านเป็นพระป่า ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติงาม และเคร่งครัดในวัตรต่างๆ อย่างยิ่ง น่าจะเกิดประโยชน์แก่ผู้ฟังที่ได้เรียนจากผู้รู้

แต่ท่านให้ผมช่วยแจ้งปฏิเสธไป ด้วยเห็นว่ามหาวิทยาลัยนั้นไม่ใช่ที่ของพระ อีกทั้งเรื่องจิตตภาวนานั้นไม่ใช่วิชาที่จะไปบรรยายให้ฟังชั่วประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็จบ หาใช่เรื่องที่ฟังแล้วทำได้ทำเป็นเลย แต่ต้องผ่านการฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง ต้องอาศัยความตั้งใจ ความพยายามอย่างต่อเนื่อง

ผมถามท่านไปว่า ถ้าเช่นนั้นหากทางมหาวิทยาลัยอยากจะส่งเสริมเรื่องนี้ควรทำอย่างไร ควรจัดอบรมนอกสถานที่ หรือให้นักศึกษารวมกลุ่มมาปฏิบัติที่วัดหรืออย่างไร ท่านว่าไม่เห็นด้วยกับการจัดโครงการไปฝึกอบรมที่วัดคราวละหลายๆ คน เพราะจะกลายเป็นว่าเอาแต่เล่นกัน ควรส่งคนที่สนใจจริงจังมาฝึกเข้มที่วัดดีกว่า ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับท่านเป็นอย่างยิ่ง

ผมติดต่อกลับไปยังอาจารย์ผู้ประสานงานของมหาวิทยาลัย อาจารย์ท่านนั้นก็พยายามชี้แจงให้ผมเห็นความสำคัญของการที่พระกัมมัฏฐานที่ฝึกมานาน มาสอนให้กับผู้ที่อาจไม่ได้มีโอกาสไปวัดบ่อยๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน มีการตีความเรื่องการภาวนาไปต่างๆ นานามากมาย พาให้ชวนสับสน ซึ่งผมเองก็เห็นใจท่านอย่างยิ่ง ได้แต่รับปากว่าจะนำเรียนพระอาจารย์ผมอีกครั้ง

เมื่อผมนึกเทียบเคียงเหตุการณ์นี้กับสถานการณ์ที่เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษากำลังประสบอยู่ ด้วยว่าเครือข่ายกำลังได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีองค์กรต่างๆ ทั้งทางด้านการศึกษา สาธารณสุข หรือแม้แต่องค์กรในภาคธุรกิจ ติดต่อเชิญสมาชิกในเครือข่ายให้ไปบรรยายให้ความรู้ หรือเล่าสู่กันฟังถึงแนวคิดและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษา
ทำให้ผมเริ่มตั้งคำถามต่อท่าทีของเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาที่ควรมีต่อคำเชิญให้ไปบรรยาย

ยิ่งในปัจจุบัน กระแสสังคมเริ่มเปลี่ยนมาให้ความสนใจเรื่องจริยธรรมและความดี กระแสเรียกร้องต้องการให้เครือข่ายจิตตปัญญาไปบรรยายบอกเล่าแนวคิดยิ่งเพิ่มขึ้น

เดิมเราเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจกระแสหลักตามแนวทุนนิยม-วัตถุนิยม-บริโภคนิยม เน้นการทำกำไรและสร้างความมั่งมี ขณะนี้สังคมเปลี่ยนมาสู่การพัฒนาตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ความยั่งยืน และการอยู่ร่วมกันอย่างอยู่เย็นเป็นสุข โจทย์ใหญ่ไม่ใช่ “ทำอย่างไรถึงจะรวย” อีกต่อไป แต่เป็น “ความดีคืออะไร” ทำให้คนไทยที่เคยหลงใหลได้ปลื้มกับความสะดวกสบายทางวัตถุ แต่บีบคั้นทางจิตใจ ต้องเริ่มตั้งคำถามกับตนเองอยู่ไม่น้อย

ในช่วงห้าหกปีที่ผมสอนนักศึกษาปริญญาตรีทำให้ได้รู้จักคุ้นเคยกับเขาเหล่านั้นอยู่บ้าง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านักศึกษาส่วนใหญ่แสวงหาอะไรที่ “เรียนง่ายๆ จบไวๆ มีงานสบายๆ ได้เงินเยอะๆ” จริงๆ

ปรากฏการณ์ที่ผู้เรียนมุ่งหาทางลัดสั้นและได้เงินมากๆ นี้ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าอาจถึงเวลาที่ระบบการศึกษาแบบเดิมต้องหยุดและตั้งคำถามกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นอยู่และตรวจสอบตนเองเหมือนกัน

แม้จะมีความพยายามของกลุ่มคนในแวดวงการศึกษาที่ประสบความสำเร็จเล็กๆ อยู่บ้าง ในการเปลี่ยนโจทย์ชีวิตของนักเรียนนักศึกษา เปลี่ยนจากการทำกำไรหรือประโยชน์สูงสุดให้ตนเอง มาเป็นโจทย์เรื่อง “ความดีและการอยู่ร่วมกัน”
แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มคนเหล่านี้ควรระวังการตกเป็นเหยื่อของระบบ “รับประทานด่วน” อยู่ไม่น้อย

เพราะเมื่อสังคมเปลี่ยนทิศทาง หันมาให้ความสนใจกับการศึกษาเพื่อพัฒนาจิตใจ เริ่มเห็นความสำคัญการเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้คนต่างมองหาคำตอบหรือหนทางเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายนั้น ทว่าผู้คนเองก็ยังมีความคุ้นเคยเดิมๆ อันเป็นผลจากระบบบริโภคนิยม นั่นคือ ชอบหนทางที่ง่าย ใช้เวลาน้อย และคาดหวังอยากเห็นผลเร็ว กลุ่มคนในวงการศึกษาดังกล่าวจึงถูกเชิญไปบรรยาย ภายใต้ความหวังของผู้ฟัง หวังว่าเขาจะได้รับความรู้ความเข้าใจแบบปรุงสำเร็จจากผู้บรรยาย สามารถนำไปใช้ได้เลยทันที

ผู้ที่ทำงานด้านจิตตปัญญาศึกษาหรือการศึกษาที่ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงจึงต้องตั้งคำถามถึงคุณประโยชน์ของการไปบรรยายตามที่ต่างๆ อย่างจริงจัง ด้วยเหตุผลอย่างน้อยสองประการ ดังนี้

(๑) ต้องตั้งคำถามถึงประสบการณ์และความรู้ที่เรามีว่าเพียงพอแล้วหรือที่จะไปบอกเล่าให้คนอื่นฟัง ทั้งที่เรายังแค่เดินเตาะแตะกัน อาศัยว่าทำไปเรียนรู้ไปอยู่เท่านั้น
และ (๒) จะเกิดประโยชน์อันใดในการไปบรรยาย หากกระบวนการที่จำเป็นต้องเกิดนั้น เป็นเรื่องการเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนตน และค้นพบความรู้นั้นด้วยตัวผู้เรียนเอง

จิตตปัญญาก็เป็นดังเช่นจิตตภาวนา คือเป็นเรื่องที่ไม่ใช่จะสำเร็จด้วยการบรรยายให้ฟัง เพราะว่าโดยลำพังการบรรยายนั้น ผู้ฟังไม่สามารถฟังแล้วเข้าใจ รู้เรื่อง และทำเป็น

ผู้เขียนเชิญชวนว่าบุคคลหรือองค์กรใดที่สนใจเรื่องกระบวนการเรียนรู้ที่สนับสนุนระบบเศรษฐกิจพอเพียงและจิตตปัญญาศึกษา น่าจะมาร่วมเรียนรู้ด้วยกัน อาจในลักษณะของการสัมมนา การพบปะเสวนากันเป็นประจำสม่ำเสมอ ตั้งวงชวนกันอ่านหนังสือหรือบทความวิชาการ (Journal Club) หรือเวทีชุมชนแนวปฏิบัติ (Community of Practice) ที่สมาชิกในแต่ละเครือข่ายได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปฏิบัติในรูปแบบที่หลากหลาย สิ่งสำคัญคือ ควรมีกิจกรรมที่ได้ลงมือปฏิบัติจริงร่วมกัน เป็นการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมประเมิน ร่วมรับผล เรียนรู้จากเรื่องจริง สถานการณ์จริงไปด้วยกัน เรียกว่าเป็น interactive learning through action อย่างแท้จริง

เราต้องไม่คาดหวังว่าการบรรยายคือคำตอบทั้งหมด

เพราะไม่เช่นนั้น เราจะได้ไปแต่รูปแบบ ไม่เข้าใจถึงจิตวิญญาณของการเรียนรู้แบบนี้ได้เลย

Newer Posts Older Posts Home