โดย ชลลดา ทองทวี
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๐

เรามักจะผัดผ่อนเวลาที่จะมีความสุขอยู่เสมอ “เอาไว้งานนี้เสร็จพรุ่งนี้ แล้วจะไปนอนพักผ่อน ฟังเพลงให้สบายใจเลย” หรือเพียงเรื่องง่ายๆ ระหว่างย่างเท้าก้าวเดินจากตึกหนึ่งไปยังอีกตึกหนึ่ง เราอาจจะบอกปลอบใจตัวเองว่า “ร้อนจัง แต่ทนๆ เอาหน่อย เดี๋ยวก็ถึงแล้ว ไปถึงที่นั่น มีแอร์เย็นๆ ได้ดื่มน้ำสักแก้ว ก็คงจะค่อยยังชั่ว”

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปปฏิบัติภาวนากับท่านติช นัท ฮันห์ ที่เชียงใหม่ เมื่อครั้งที่ท่านมาเมืองไทยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ท่านได้แนะนำให้ผู้ที่เข้าปฏิบัติภาวนาครั้งนั้นลองทำหลายกิจกรรม เช่น

ท่านบอกว่าให้ลองเดิน โดยทุกๆ ก้าวที่ส้นเท้าจรดพื้น ให้เราบอกตัวเองว่า “ฉันมาถึงแล้ว” การถึงที่หมายทุกย่างก้าวช่วยตัดความกังวลใจเรื่องที่หมายที่เราจะมุ่งไป ซึ่งเรามักจะมีอยู่ในใจและหมกมุ่นอยู่กับมันเสมอ เป็นการเอาจิตใจไปไว้กับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

ในเวลาที่นั่งลง ท่านบอกให้เรานั่งลง ณ ที่นั้นอย่างเต็มเปี่ยม เหมือนนั่งอยู่ในดอกบัวที่งดงาม อ่อนนุ่ม และหอมเย็น ทุกครั้งที่เราได้ยินเสียงระฆัง หรือเสียงโทรศัพท์มือถือ หรือเสียงอะไรที่ดังสะดุดใจเรา และเราอาจจะชอบหรือไม่ชอบใจก็ตาม ให้เราถือโอกาสนั้นในการเจริญสติ กลับมาอยู่กับลมหายใจเข้า-ออกของตนเองสักสองสามครั้ง ตามดูลมหายใจนั้น โดยไม่ไปควบคุมบังคับอะไร และอยู่กับปัจจุบันขณะอย่างที่เป็น

ตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่นและหลังจากนั้น ผู้เขียนได้ลองทำตามที่ท่านนัท ฮันห์ แนะนำอยู่บ่อยๆ และรู้สึกแปลกใจที่ได้เห็นว่า ชีวิตเรานี้เต็มไปด้วยความเร่งรีบที่จะรุดไปยังที่ใดที่หนึ่งอยู่ตลอดเวลา เรามีแผนการต่างๆ อยู่ในหัว และการก้าวเดินของเรา เป็นการก้าวไปสู่อะไรบางอย่างข้างหน้า ไม่มีแม้สักก้าวหนึ่งที่จะเป็นการก้าวย่างเพื่อตัวมันเอง ที่สมบูรณ์และเป็นคำตอบในตัวเอง

เมื่อลองก้าวเดินดูแบบที่ท่านแนะนำ ผู้เขียนได้เห็นโลกในมุมมองที่เปลี่ยนไป “ทันที” ได้เห็นดอกไม้ทุกดอกที่อยู่ตรงนั้น เห็นแสงและเงาบนเม็ดกรวดเล็กๆ บนถนน สัมผัสความอุ่นของแสงแดดบนผิวกาย เห็นลมหายใจของตนเองในขณะนั้น และได้สัมผัสกับความสุขเรียบๆ ง่ายๆ ที่ยิ่งใหญ่ในเวลานั้นทันที

ประสบการณ์ที่ได้รู้สึกสัมผัส ทำให้ได้เห็นว่า เราทิ้งเวลาดีๆ ในชีวิตไปมากมายและบ่อยครั้ง ทั้งที่มันมีอยู่ให้เราตลอดเวลาด้วยเช่นกัน ในปัจจุบันขณะ ที่นี่ เดี๋ยวนี้เอง นี่เอง

ผู้เขียนลองนั่งลงแบบที่ท่านนัท ฮันห์ แนะนำ นั่งลงอย่างเต็มเปี่ยม ณ ที่ตรงนั้น เหมือนนั่งอยู่ในดอกบัว เมื่อนั่งเช่นนั้น ผู้เขียนรู้สึกว่า มันเป็นคำตอบในตัวมันเอง ไม่ได้นั่งเพื่อที่จะรออะไรสักอย่าง ไม่ได้นั่ง ก่อนที่จะรีบลุกไปทำอะไรบางอย่าง แต่นั่งลงสัมผัสกับทุกสัมผัสรอบตัวอย่างดื่มด่ำในทุกขณะ ผ่อนคลาย และรื่นรมย์ เหมือนนั่งอยู่ในดอกบัวที่อ่อนนุ่มสวยงามที่โอบอุ้มเราไว้

คิดถึงคำพูดของตัวการ์ตูนเณรน้อยอิ๊กคิวซัง ที่มักบอกว่า “จะรีบไปไหน จะรีบไปไหน พักเดี๋ยวหนึ่งก่อนนะครับ”

ท่านนัท ฮันห์ อธิบายว่า เราอยู่ในยุคสมัยที่ทุกคนวิ่งไปข้างหน้าตลอดเวลา การที่เราเอาความสุขไว้ภายนอกและวิ่งแข่งกันแสวงหามัน ทำให้เราเหนื่อยและเครียด แต่จริงๆ แล้ว ความสุขที่เราตามหานั้น เราหามันพบได้ในตัวของเราเอง เพียงแค่เราเปลี่ยนมาก้าวเดิน และถึงจุดหมายในทุกก้าว และหยุดพัก นั่งลงอย่างเต็มเปี่ยม โดยไม่รอคอยผัดผ่อนความสุขที่เราอาจจะมีได้ในปัจจุบันขณะออกไป

ท่านกล่าวว่า เรามีนัดหมายที่สำคัญที่สุด คือ การนัดหมายกับชีวิต ซึ่งจะต้องทำในปัจจุบันขณะ ที่นี่ และเดี๋ยวนี้เท่านั้น เพราะพรุ่งนี้ก็ยังมาไม่ถึง และเมื่อวานก็ผ่านไปแล้ว

แต่ในความเป็นจริงของชีวิต เรามักจะให้ความสำคัญต่อการนัดหมายอื่นๆ ตลอดเวลา ในสมุดตารางนัดหมายที่แน่นเอี้ยดของเรา ไม่มีสักวินาทีหนึ่ง ที่เราจะเขียนไว้ว่า “มีนัดกับชีวิต” :-)

เมื่อเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น เรามาลองตามดูลมหายใจ กลับมาอยู่กับปัจจุบันอย่างที่เป็น เรามาลองก้าวเดินไปพร้อมกับชีวิต ไม่วิ่งนำหน้า หรือละล้าละลังตามหลังอยู่ตลอดเวลา เรามาลองพักผ่อนในปัจจุบันขณะ ในทุกๆ ที่ ที่เรานั่งลง และไม่ต้องรอคอยวันหยุดในตารางนัดคราวหน้า เพื่อจะได้มีความสุขและพักผ่อนเสียที ทันทีที่เราหยุดผัดผ่อนความสุขในชีวิต ความสุขที่เรารอคอยจึงจะมาถึงเราได้ ณ ที่นี่..และเดี๋ยวนี้..

ลองทำการงานเพียงเพื่อจะทำมัน ให้ชีวิตมาถึงเราต่อหน้า และเผชิญหน้ากับปัจจุบันขณะอย่างเต็มตา สิ่งที่เราเผชิญไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก น่าหวาดหวั่น หรือคุกคามเพียงใด หากเราเดินไปกับชีวิตทุกก้าว ในปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้น ล้วนแต่มีพลังของความสดและของการมีชีวิต เราเต็มไปด้วยการตื่นรู้ และเราไม่ได้ใช้ชีวิต แบบแค่คิดเอาว่า เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ฝากความสุขไว้กับอนาคตหรืออดีต แต่เราอยู่กับชีวิตอย่างผู้มีชีวิตที่แท้จริง

บทเรียนจากการปฏิบัติภาวนาครั้งนี้ได้บอกกับผู้เขียนว่า เราจะมีความสุขได้ในชีวิตก็ต่อเมื่อเรานัดพบกับชีวิตในปัจจุบัน และจัดลำดับให้ชีวิต มาอันดับแรกในตารางนัดหมาย เพราะในความเป็นจริง เรามีชีวิตอยู่ ก็แต่ในปัจจุบันขณะเท่านั้น

ขณะที่เราใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันขณะได้อย่างเต็มเปี่ยม และตื่นรู้สัมผัสกับสภาวะของชีวิตอย่างที่เป็นเต็มที่ เราจะไม่พลาดนัดหมายสำคัญ คือ โอกาสเดียวที่เราจะเปลี่ยนแปลงหรือสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ในชีวิตได้ เพราะว่า อดีตคือสิ่งที่ผ่านไปแล้ว และอนาคตคือสิ่งที่อาจจะไม่มีวันมาถึง ปัจจุบันขณะจึงมีความหมายที่เป็นปาฏิหาริย์ในตัว ภาระงานที่หนักหนายากเย็นอื่นใดที่ครอบครองตารางนัดหมายของเราอยู่ เป้าหมายอื่นใดที่เราทุ่มเทแรงกายและแรงใจที่จะไปให้ถึง ไม่มีอยู่จริง หากปราศจากการนัดหมายลำดับแรก คือการนัดหมายกับชีวิตในปัจจุบันขณะ ดังที่ท่านติช นัท ฮันห์ ได้บอกไว้



โดย ศุภชัย พงศ์ภคเธียร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๐

---------------------

ในช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษาใหม่นี้ บรรยากาศการรับน้องในมหาวิทยาลัย เสียงกลอง เสียงนักศึกษาใหม่ร้องเพลงเชียร์ เสียงบูมคณะ บูมมหาวิทยาลัย ล้วนแต่ทำให้หวนนึกถึงสมัยเป็นนักศึกษา หลายคนต่างก็เคยเป็นนักเรียน เป็นนักศึกษา ที่ได้รับการหล่อหลอมมาจากมหาวิทยาลัย จากโรงเรียน จากครอบครัว จากสังคมแวดล้อมที่เราเติบโตมาทั้งนั้น

ผมเป็นวิศวกรคนหนึ่ง ที่ภาคภูมิใจในความเป็นวิศวกรซึ่งจบจากสถาบันอันมีชื่อของประเทศ ที่เด็กนักเรียนมัธยมจำนวนไม่น้อยใฝ่ฝันอยากจะเข้ามาศึกษา พอนึกถึงสมัยเป็นเด็กมัธยม ช่วงนั้นเราต้องเรียน ต้องติววิชาต่างๆ ที่จะใช้เอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยอย่างหนัก ในตอนกลางวันต้องเรียนที่โรงเรียนตามหลักสูตร พอเลิกเรียนก็ต้องรีบไปติววิชาภาษาอังกฤษในสถาบันมีชื่อย่านวังบูรพา จำได้ว่าในห้องเรียนนั่งอัดกันอย่างกับปลากระป๋อง แทบจะไม่มีทางเดิน ซ้ำยังต่อทีวีวงจรปิดไปเรียนชั้นอื่นอีกด้วย และยังบันทึกเทปไว้ สำหรับคนที่ไม่สามารถมาเรียนสดกับตัวอาจารย์ได้ ค่าใช้จ่ายก็สูงเกือบเท่าเรียนสดกับอาจารย์

กว่าจะได้กลับถึงบ้าน ก็ 4-5 ทุ่ม หรือกว่านั้น พอถึงบ้านก็รีบกินข้าว อาบน้ำ แล้วก็ต้องรีบทำการบ้าน แบบฝึกหัดของครูที่โรงเรียนสั่งไว้ ซึ่งก็มีมาก ขณะเดียวกันก็ต้องฝึกทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยในวิชาต่างๆ อาจารย์ที่โรงเรียนกวดวิชาจะใช้ข้อสอบคัดเลือกเข้ามหา’ลัยในปีการศึกษาต่างๆ แล้วยังใช้ข้อสอบระดับสูงกว่าขึ้นไปอีก เช่น ข้อสอบระดับปริญญาโท-เอกมาทดสอบกันด้วย เสาร์-อาทิตย์ก็ต้องไปติววิชาอื่นๆ ตามโรงเรียนกวดวิชา เป็นอย่างนี้ทุกวันในช่วงเรียนมัธยมปลาย แทบไม่มีวันหยุด

จนกระทั่งช่วงใกล้สอบเอนทรานซ์พวกเราจะเก็บตัวติวเข้ม บ้างเก็บตัวเป็นกลุ่ม บางกลุ่มก็ 4-5 คน บางคนก็ซุ่มดูหนังสือคนเดียว พวกเราเอาจริงเอาจังมาก ราวกับนักกีฬาทีมชาติเก็บตัวก่อนแข่งขัน บางคนเครียดจนต้องอาศัยยาคลายเครียด บางคนผู้ปกครองต้องพาไปพบแพทย์ บ้างก็หายาบำรุงอาหารเสริมมาช่วย น่าสงสารพวกเรานะที่ต้องแข่งขัน เอาจริงเอาจังกันจนแทบจะไม่ห่วงชีวิต ไม่ห่วงสุขภาพกันเลย

พอมาปัจจุบัน กว่า 30 ปีผ่านไป ลูกสาวผมเองก็กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายเหมือนกัน เมื่อคืนก่อนเธอโทรมาบอกว่าให้ช่วยไปรับเธอหน่อย เพราะ เธอนั่งรถเมล์หลับด้วยความอ่อนเพลีย จนเลยป้ายที่จะต้องลงไปไกล ตอนนี้ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหน ทำให้ผมรู้สึกสะท้อนใจ ที่พวกเราเติบโตมาในสังคม ในระบบการศึกษา ที่เตรียมพวกเราเพื่อป้อนให้กับความต้องการของภาคธุรกิจ ซึ่งพวกเราก็ตั้งใจทุ่มเทเวลา ชีวิตของพวกเราให้กับการศึกษา เพื่อความเป็นเลิศตามค่านิยมแบบนี้

ในช่วงที่เรียนอยู่ในคณะวิศวะ พวกเราก็เรียน เล่น และทำกิจกรรมต่างๆ ตามค่านิยมของนักศึกษาสมัยนั้น ขณะเดียวกัน ก็ยังต้องเรียนหนักเรื่องการคำนวณ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสาขาต่างๆ แต่ที่น่าแปลก คือไม่มีการเรียนรู้ศาสตร์เกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับตัวเอง หรือเรียนรู้ว่าทำอย่างไรเราจึงจะมีชีวิตที่มีคุณภาพ มีความสุข

สิ่งที่ทำให้ผมตั้งใจที่จะต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองขนานใหญ่ เกิดขึ้นในช่วงเรียนจบแล้วประมาณ 4 ปี ช่วงนั้นผมก็ใช้ชีวิตกลางวันทำงาน กลางคืนเที่ยวเตร่ กินเหล้าเมายาตามประสาวิศวกรหนุ่มโสดทั่วไป ทำให้เห็นคนชอบเที่ยว ชอบเมาแทบทุกคืน ดีกว่าสมัยเป็นนักศึกษาหน่อย ตรงที่ตอนโตแล้วไม่ถึงขนาดสร้างวีรกรรมไว้ต่างๆ นานา จนต้องออกตามหา อย่างบางคนก็ไปนอนตามแผงผักที่ตลาด บางคนไปเจอที่ป้ายรถเมล์ บางคนก็ไปเจอที่ม้านั่งในโรงอาหาร ที่หอพักบ้าง

พอคิดถึงเรื่องราวเหล่านี้แล้ว ทำให้ผมก็อดคิดไปไม่ได้ว่า ปกติพวกเราก็เมาชีวิตอยู่แล้ว ทำไมเรายังจะกินเหล้ากันให้เมาเข้าไปอีก ยิ่งทำให้เมาในเมา ยิ่งทำให้ “หลงชีวิต” เข้าไปกันใหญ่ เลยเป็นที่มา ทำให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวเองขึ้นมาว่า “ชีวิตคนเรา มีอะไรเป็นเป้าหมายกันแน่?” แล้วเราจะพัฒนาตนเองอย่างไร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของชีวิต เราเรียนอะไรมาตั้งมากมาย มนุษย์เราสามารถหาความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ในโลกได้มหาศาล แต่เรากลับไม่ได้เรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับตัวเอง โดยเฉพาะความรู้เรื่องเกี่ยวกับจิตใจ

เพื่อนหลายคนยิ่งทำงานยิ่งเครียด ยิ่งรวยยิ่งเครียด เรามักได้ยินคนพูดกันว่า “สุข-ทุกข์อยู่ที่ใจ” แต่เราก็พบว่าแม้แต่คนพูดก็ยังถูกความทุกข์เล่นงานเอา ทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่า เราจะต้องศึกษาหาความรู้เรื่องชีวิตของคนเราให้ได้ด้วย และถ้าไม่ถูกความทุกข์เล่นงานเหมือนอย่างคนทั่วไปก็จะดี

ในยุคนี้ยังดีที่เรามีการศึกษาค้นคว้าศาสตร์ในเรื่องของจิตใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น และแสวงหาความรู้ได้ง่ายขึ้น หลากหลายกว้างขวางขึ้น แต่ความรู้ที่เกิดจากการศึกษาตำรา หรือฟังจากครูบาอาจารย์ เป็นเพียงความรู้ที่เราเข้าใจ จำได้ คิดได้ แต่ก็ยังอยู่ในระดับจินตนาการเอา ยังไม่ใช่ความรู้ หรือปัญญา ที่เกิดจากประสบการณ์ เกิดจากการตระหนักรู้ ได้จากการปฏิบัติด้วยตัวเอง

จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเราได้เรียนรู้ ได้พัฒนาศักยภาพภายในตนเอง ให้เรารู้เท่าทันความคิด รู้จักอารมณ์ รู้จักธรรมชาติของเราเองดีขึ้น รู้ว่าอะไรคือคุณค่าของการเกิดมาเป็นมนุษย์ที่จะมีจะเป็นได้ ควบคู่ไปกับศาสตร์ที่เราต้องเรียน เพื่อใช้ประกอบอาชีพ เพื่อช่วยเหลือสังคม และหล่อเลี้ยงชีวิตตนเองไปด้วยกัน พวกเราคงจะมีความสุขในชีวิตมากขึ้น ไม่ถูกความเครียด ความทุกข์เล่นงาน
จะดีกว่าไหม ถ้ารู้จักชีวิตดีขึ้น สามารถออกแบบ สามารถสร้างชีวิตที่เราปรารถนาได้มากขึ้น ทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้น เป็นประโยชน์ต่อตนเองและคนรอบข้าง

พอชีวิตระยะหลัง ผมหันมาสนใจงานการศึกษา งานพัฒนาเยาวชนมากขึ้น จนอาจารย์ที่นับถือกัน ล้อเลียนว่า ตอนนี้ผมไม่ใช่วิศวกรแล้ว ทีแรกก็แปลกใจ และสงสัยเล็กน้อย แต่พออาจารย์อธิบายว่า ก็เปลี่ยนจากวิศวกรสร้างเครื่องจักรเครื่องยนต์ มาเป็นวิศวกรสร้างมนุษย์แทน ก็รู้สึกแปลกดีเหมือนกัน ถ้าจะมีวิศวกรสาขาใหม่เป็น “วิศวกรมนุษย์” ผมเชื่อว่าเราสามารถเป็น “วิศวกรมนุษย์” กันได้ทุกคน ถ้าเราสามารถสร้าง “ความเป็นมนุษย์” ให้กับตัวเราเองได้ และถ้าเราสามารถพัฒนาตัวเราได้ เราก็จะรู้วิธีการพัฒนาความเป็นมนุษย์ให้กับบุตรหลาน และเยาวชนของเราได้

ถึงแม้เราจะตั้งใจหรือไม่ ตัวเราเองก็เป็นผู้สร้างชีวิตของเรา เพราะมนุษย์เรา คิดอย่างไร ทำอย่างไร เชื่ออย่างไร เราก็เป็นอย่างนั้น จึงเท่ากับว่า เราก็เป็น“วิศวกรมนุษย์” ผู้สร้างชีวิตของตัวเอง ขณะเดียวกัน ชีวิตของเราก็จะกลายเป็นแบบอย่าง เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนรอบข้างและคนรุ่นต่อๆไปในสังคม ไม่ว่าเราจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม



โดย จารุพรรณ กุลดิลก
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๐

-----------------

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้การเจริญสติวิปัสสนา ร่วมกับผู้ป่วยใน “โครงการรักษาใจยามเจ็บป่วย” ของโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นโครงการที่แพทย์และพยาบาลร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเยียวยาผู้ป่วยโรคมะเร็งและอื่นๆ เพื่อให้พ้นทุกข์ทางใจ แม้ร่างกายกำลังเจ็บป่วย โดยตอนต้นของกิจกรรมนั้น เป็นการพูดคุยระหว่างอาจารย์หมอ ศาสตราจารย์ พญ. สุมาลี นิมมานนิตย์ และผู้ป่วย โดยต่างเล่าถึงอาการทางกายและใจในระยะเวลาที่ผ่านมา รวมถึงการนำเอาการฝึกสติไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งในบางกรณี การฝึกสตินั้น สามารถช่วยรักษาโรคให้หายหรือทุเลาลงได้ แต่บางกรณี แม้ยังไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้ แต่จิตใจกลับไม่ทุกข์ตามโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อผู้เขียนได้ไปนั่งเรียนรู้ท่ามกลางผู้ป่วยเหล่านั้น รู้สึกว่าท่านทั้งหลายมีความสุข อาจจะมากกว่าคนที่ไม่เจ็บป่วยหลายคนด้วยซ้ำ

หลังจากที่คุณหมอและผู้เข้าร่วมได้สนทนากันสักพัก ก็เปลี่ยนเป็นการฝึกสติตามอิริยาบถการก้าวย่าง ฝึกการรับรู้ความรู้สึกทางร่างกาย การเท่าทันความคิดและอารมณ์ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการก้าวย่างนั้น รวมถึงการฝึกนั่งสมาธิ การเฝ้าดูการหายใจและปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกายอย่างเป็นปัจจุบัน ซึ่งทั้งอาจารย์หมอและคุณพยาบาลจะเน้นเรื่อง “การรับรู้ตามความเป็นจริง” เช่น เมื่อคิด รู้ว่าคิด ได้ยิน รู้ว่าได้ยิน ได้กลิ่น รู้ว่าได้กลิ่น ไม่ว่าจะเป็นความคิดที่ผ่านเข้ามา เสียง สัมผัสต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะมีลักษณะเหมือนกันคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป “เป็นจริง” ตามที่ปรากฏ ณ ขณะนั้น

โดยปกติความคิดของคนแต่ละคนจะแว้บไปคิดเรื่องนู้นเรื่องนี้เร็วมาก อารมณ์ความรู้สึกก็เร็วไม่แพ้กัน สติจะระลึกรู้ตามไป บางครั้งเมื่อสติตามรู้ว่าแว้บไปแล้ว เครียดไปแล้ว มักจะเปลี่ยนเป็นไม่อยากเครียด โกรธ อยากหาย อารมณ์ ความรู้สึกจะเปลี่ยนไปเร็ว การฝึกสติ ก็จะตามรู้ตามเข้าใจไปเช่นนั้น ในที่สุดจะเข้าใจ “ความจริง” ของการเปลี่ยนแปลง

การฝึกการเดินจงกรม หรือการเดินก้าวย่างอย่างมีสติ รวมทั้งการนั่งสมาธิ โดยเน้นการจัดวางร่างกายให้ลงนั่งอย่างเชื่องช้านั้น เป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่ง การชะลออิริยาบถทางร่างกายให้ช้าลง จะทำให้เห็นอิริยาบถทางใจได้ชัด ว่าจิตใจไม่ได้ช้าตามเลย บังคับก็ไม่ได้ และเมื่อใจเผลอไปคิดแว้บหนึ่ง ก็จะลืมอิริยาบถที่กำลังปฏิบัติไปแว้บหนึ่งเช่นกัน ก็รู้ว่าลืม ตั้งต้นใหม่ ให้อภัยตนเอง ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ทั้งยังเป็นเรื่องของปัญญา ที่จะเท่าทันกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น วางจิต วางใจ ได้อย่างเป็นกลาง ท่ามกลางความเป็นปัจจุบัน ความจำได้หมายรู้จะบอกทางต่อ ว่านับจังหวะไปถึงไหนแล้ว ความจำได้หมายรู้ในทางบังคับจะบอกหนทางหนึ่ง ความจำได้ในทางเผลอก็บอกอีกทางหนึ่ง เหล่านี้เกิดขึ้นเร็วมาก ตามดูตามรู้แทบไม่ทัน และใจก็หลอกตัวเองว่าไม่หลง ไม่เผลอสักหน่อย นับได้จนครบ แต่แท้ที่จริงหลงกับเผลอไปไม่รู้เท่าไหร่แล้ว ผู้เขียนรับรองว่าการฝึกเช่นนี้จะทำให้มีโอกาสให้อภัยตนเองนับครั้งไม่ถ้วน เป็นเมตตาภาวนาได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้เกิดความรักตนเองและผู้อื่น เข้าใจว่าคนเรามีสิทธิ์เดินผิดพลาดได้ เมื่อผิดได้ก็แก้ไขได้ สติเกิดขึ้น กลับมาสู่ปัจจุบัน แล้วสติก็หายไปบ้าง แล้วก็กลับมาใหม่ ความเผลอก็หายไปต่อหน้าต่อตาได้เช่นกัน แล้วก็เดินหน้าต่อไปได้

ผู้เขียนรู้สึกว่าการฝึกวิปัสสนาร่วมกับแพทย์ พยาบาลและผู้ป่วยที่โรงพยาบาลศิริราชนี้ ทำให้ผู้เขียนสามารถเข้าใจความเป็นจริงประการหนึ่ง ว่าสิ่งทั้งหลายบนโลกไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เพราะไม่ว่าวิทยาศาสตร์จะก้าวหน้าไปมากมายเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถเหนี่ยวรั้งชีวิต ร่างกาย และจิตใจให้เที่ยงได้ วิทยาศาสตร์เป็นเพียงความจริงบนพื้นฐานของการสมมติ (สมมติสัจจะ; Relative Truth) เท่าที่จะประดิษฐ์ถ้อยคำหรือสัญลักษณ์เพื่อสื่อสารระหว่างกัน รวมทั้งเพื่อการถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์ของความคิด จินตนาการบนโลกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

แต่กระบวนการสร้างปัญญาสำหรับบุคคลๆ หนึ่งให้เข้าถึงความจริงที่แท้ ในระดับที่สูงขึ้น น่าจะตั้งอยู่บนการเรียนรู้ความเป็นจริงของกายและใจของตัวมนุษย์เอง ซึ่งมนุษย์แต่ละคนมีความเป็นปกติ ธรรมดาธรรมชาติที่ไม่ต่างกัน น่าจะเรียนรู้ร่วมกันได้ และในที่สุด สามารถนำความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ไปช่วยเพื่อนมนุษย์ให้พ้นจากกองทุกข์ได้จริงๆ สมควรเป็นวิชาที่มนุษย์ทุกคนน่าจะได้ฝึกฝนเรียนรู้ และถ่ายทอดออกเป็นภาษาที่แต่ละคนแต่ละกลุ่มสามารถเข้าใจได้ ตามบริบท ตามจริตและวิถีชีวิต แม้นชุดภาษานั้น จะเป็นเพียงสมมติสัจจะก็ตาม แต่ท้ายที่สุดก็ย่อมต้องการการสื่อสาร เพื่อเป็นแนวทางในการเชื่อมโยงความรู้ภายในของแต่ละคน ให้ปรากฏออกมา ง่ายต่อการเข้าใจร่วมกัน และเมื่อนั้น มนุษย์แต่ละคนก็จะสามารถน้อมนำความรู้ของกันและกันไปเรียนรู้และปฏิบัติได้ด้วยตนเองต่อไป ดังที่อาจารย์หมอได้เพียรพยายามพูดคุยซักถามแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับทุกคน ก่อนและหลังการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ผู้เขียนเห็นว่าผู้ป่วยที่มาฝึกปฏิบัตินั้น เข้าใจหลักการได้ไม่ยาก และท่านเหล่านั้นก็ยิ้มแย้มแจ่มใสอย่างยิ่ง หลังจากการฝึกเดินและนั่งอย่างมีสติร่วมกัน ผู้เขียนยังเชื่ออีกว่า พลังกลุ่ม พลังความเป็นเพื่อนเป็นกัลยาณมิตรนั้น ส่งผลต่อความก้าวหน้าในการฝึกไม่มากก็น้อย นึกถึงผู้ป่วยท่านอื่นๆ ที่น่าจะมีโอกาสได้รักษาใจยามเจ็บป่วย หรือคนที่ยังไม่ป่วยกายแต่ป่วยใจก็มีมากมาย หวังว่าท่านเหล่านั้นจะยังไม่ท้อแท้ ผู้เขียนเชื่อว่าทุกชีวิตมีคุณค่า ไม่ว่าท่านกำลังประสบพบเจอเหตุการณ์ใดที่ทำให้ทุกข์แสนสาหัส ขอมอบเรื่องราวข้างต้นไว้เป็นกำลังใจ อย่าเพิ่งท้อแท้ วันหนึ่งประสบการณ์ของท่านอาจสามารถช่วยผู้อื่นที่กำลังตกทุกข์ได้ยากได้อย่างดีเยี่ยม ดังเช่น แพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยในโรงพยาบาลศิริราชได้ร่วมกันเยียวยาหัวใจของกันและกัน อันเป็นสิ่งประเสริฐสุดเท่าที่มนุษย์จะพึงกระทำได้ ตราบเท่าที่ยังมีชีวิตและลมหายใจอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้...



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๐

-----------------------

เมื่อวานผมได้มีโอกาสพาครอบครัวไปกินข้าวเย็นกัน แม่ได้ให้แง่คิดในการใช้ชีวิตที่ดีมากๆ ที่ผมอาจละเลยมาเสมอ หรือไม่ทันได้คิดคือแนวทางของการอยู่ร่วมกัน แม่บอกว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราจะประสบกับสิ่งที่ตัวเองพอใจและไม่พอใจ ซึ่งบางทีเป็นเพียงประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาเพียงชั่วขณะ ส่วนมากอารมณ์ที่พอใจก็จะผ่านไป ส่วนที่ไม่พอใจนั้นมักไม่ยอมให้ผ่าน และพยายาม “คิด” เพื่อทำความเข้าใจกับมัน เช่นว่า

“เอ..เขาทำอย่างนี้เป็นเพราะเขาไม่ชอบใจอะไรในตัวฉันหรือเปล่า” หรือ “ฉันไปทำอะไรให้เขาไม่พอใจหรือเปล่า” หรือ “ช่วงนี้ชีวิตเขาคงประสบกับข้อจำกัดในตัวเองบางอย่างมั้ง เขาเลยมีพฤติกรรมเช่นนี้” หรือ “เขาต้องมีปัญหาอะไรสักอย่างแน่ที่ทำให้เป็นเช่นนี้” หรือ “เอ...หรือฉันเองนั่นแหละที่เป็นปัญหา”

ไม่ว่าจะคิดไปในทางที่ “เขาคงมีปัญหาในตัวเอง” หรือ “ฉันคงมีปัญหาที่ฉันไม่รู้” ก็เป็นการสร้างเรื่องราวขึ้นมาจากสิ่งที่แม่เรียกว่า “น้ำผึ้งหยดเดียว”

แต่โดยส่วนใหญ่คนเรามักจะคิดถึงคนที่ทำให้เรารู้สึกไม่พอใจ และพยายามคิดว่าเขามีปัญหาอะไร และหลายๆ ครั้งก็ไม่ได้คิดถึงเขาเพื่อจะประทุษร้าย หรือ คิดลบ แต่ด้วยความรักและห่วงใยดีๆ นี่เองที่ทำให้เราพยายามคิดแล้วคิดอีก เราอาจเรียกว่า เป็นการวิเคราะห์อย่างกรุณาหรือด้วยความหวังดีก็ได้

ไม่เท่านั้นเรายังพยายามช่วยกันคิดอีก เพราะคิดคนเดียวอาจไม่รอบด้านพอ เราเลยชักชวนผู้คนผู้คนให้มาช่วยกันคิด ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความเข้าที่ละเอียดลึกซึ้งลงไปว่า เขาคนนั้น “มีปัญหา” อะไร และอะไรทำให้เขาต้องเป็นเช่นนั้น

ยิ่งคิดและคุยกันไป “เขา” ผู้นี้ก็เริ่มปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ มีรายละเอียดมากขึ้น และเราอาจเชื่อว่าเป็นบทวิเคราะห์ที่รอบด้าน แม่นยำและใกล้เคียงความเป็นจริงเข้าไปทุกที เราอาจคิดว่าการคิดร่วมกันถือเป็นปัญญาร่วมอย่างหนึ่งที่สังคมกำลังขาดแคลนเป็นอย่างยิ่ง การที่ได้มาร่วมกันและช่วยกันสืบค้นให้ลงลึกถึงทุกแง่ทุกมุมของความเป็นเขานั้น อาจทำให้เราค้นพบ “คำตอบ” หรือ “ทางออก” ให้เขาได้ แต่ยิ่งช่วยคิด ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ความคิดกลายเป็นความจริง ที่เรามักปักใจเชื่อว่าเป็นอย่างนั้นอย่างไม่ตั้งใจ หรืออาจเรียกว่าตั้งใจคิดแต่ไม่ตั้งใจทำให้มันเป็นมายาภาพแห่งความจริง แล้วความจริงตามมุมมองของเราก็เริ่มแปรรูปเป็นความจริงทั้งหมด สมบูรณ์เข้มแข็งขึ้น ยิ่งได้รับการถ่ายทอดบอกต่อกันต่อไปเรื่อยๆ ภาพแห่งความจริงนี้ก็แพร่กระจายหรือแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ปักใจทุกดวงให้ยอมรับไปตามๆ กันว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีอะไรเสียหายที่จะคิด แต่ก็ไม่มีอะไรเสียหายที่จะไม่คิดเช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าเรารู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองได้มากน้อยเพียงใด เพราะบางทีอารมณ์ลบที่เกิดขึ้นนั้นมันอาจไม่ได้มีที่มาจากเจตนาร้าย หรือเจตนาที่เป็นลบใดๆ เลย เป็นเพียงน้ำผึ้งหนึ่งหยด ที่หยาดลงมากลางใจเราเพียงชั่ววูบเดียว เมื่อไม่เช็ดให้สะอาด ปล่อยทิ้งไว้ และด้วยความอนุมัติของเรา เหล่าแมลงวันแมลงหวี่ก็เข้ามาตอมน้ำผึ้งเพียงหยดเดียวในใจเราจนโกลาหลวุ่นวายไปหมด ความรู้สึกไม่ปลอดภัยก็อาจลุกลามเข้าไปใหญ่จนต้องหาพรรคหาพวกมาสนับสนุนความถูกต้องของเราเอง

บางทีการที่เราจะเข้าใจน้ำผึ้งหยดเดียวได้ก็ด้วยการไม่คิด ไม่ต้องวิเคราะห์ ไม่ต้องช่วยกันคิดหรือช่วยกันสื่อสารบทวิเคราะห์ที่มักมีความเชิงลบ ที่โดยทั่วไปอาจไม่มีคำเรียก เพราะคำว่านินทาอาจแรงไปนิด คือการสื่อสารแบบให้ร้าย แต่คิดว่าการนินทาแบบอ่อนๆ ก็มี คือการพยายามวิเคราะห์ข้อจำกัดของคนอื่นนั่นเอง

หากเราได้เฝ้ามองภาชนะที่รองรับความคิดหรืออารมณ์ความรู้สึกอีกทีว่าเมื่อถูกกระทบนั้นสิ่งแรกที่เข้ามาให้สมองคืออะไร เช่น “นายคนนี้ไม่ชอบฉันหรืองัยนะ” นี่แหละน้ำผึ้งหยดแรก หยดมาแล้ว ถ้าอยากหาคำตอบ ก็อาจต้องสื่อสารอย่างกรุณาและถามไถ่อย่างซื่อตรง แทนที่จะมานั่งวิเคราะห์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว หรือไม่ก็นิ่งไว้ก่อนแล้วเฝ้ามองดูปฏิกิริยาของตัวเองไปสักพัก ถ้าไม่สลักสำคัญอะไรความรู้สึกแย่ๆนี้ก็อาจหายไปเอง

บางทีการดูแลสัมพันธภาพนั้นอาศัยการลงไม้ลงมือทางกายมากกว่าการใช้เวลาในการคิด เช่นการกินข้าวด้วยกัน หรือออกไปจ่ายตลาดด้วยกันบ้าง หรือเดินเล่นร่วมกันและถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันไป หรือบางครั้งไม่ต้องอาศัยการสนทนาอย่างเป็นจริงเป็นจัง แต่ทำงานกับสมองส่วนกลาง หรือสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ทำหน้าที่ในการสัมผัสสัมพันธ์กับชีวิตอื่นๆ เป็นการสัมผัสตรงและให้กระบวนการของจิตไร้สำนึกทำหน้าที่ค้นหาการเชื่อมโยงถึงกันและกันอย่างไม่ต้องใส่บทคิดหรือพรรณนาใดๆ ให้กับตัวเองก็เป็นได้

ไมตรีจิตที่เรามีต่อผู้คนหรือคนที่เรารู้สึกไม่พอใจ และช่วยรับประกัน “ความอยู่รอด” หรือความรู้สึก “ปลอดภัย” และปกติให้เขาเหล่านั้น อาจทำให้ความกลัวหรือความไม่ไว้วางใจอันเกิดจากการคิดค่อยๆ จางคลายหายไปในตัวเราและคนอื่นด้วย

เมื่อเราใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น เราก็อาจค่อยๆ เห็นโลกใบใหม่ปรากฏขึ้นในโลกใบเดิม ความรู้ในสิ่งต่างๆ หรือผู้คนต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการสัมผัสเชื่อมโยงตรงอย่างปราศจากเงาแห่งความคิดหรือความกลัว เพราะเรามักรับรู้ไปตามสิ่งที่เราเป็นและตามความสัมพันธ์ที่เรามีกับสิ่งนั้น หากเป็นความสัมพันธ์ที่แบ่งแยกเราออกจากสิ่งใด เราย่อมไม่มีทางเข้าถึงหรือเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามจริงได้ ผมเชื่อว่าความรู้ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากความรัก เพราะความรักทำให้เราเปิดใจรับรู้สิ่งต่างๆอย่างตรงไปตรงมา แต่ความกลัวทำให้หัวใจเราปิด ดังนั้นถ้ายังรู้สึกไม่รักหรือกลัวอยู่ก็อย่าแอบอ้างว่าเข้าใจเลย

แม้กระนั้นความรักหรือความเปิดรับอย่างเดียวก็อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เราเข้าใจสิ่งทั้งหลายได้อย่างที่เป็น แต่อาศัยการเฝ้ามองและใคร่ครวญอย่างเนิ่นนาน โดยเฉพาะการเฝ้ามองดูตัวเราเองในฐานะที่เป็นประธานแห่งการรับรู้และตีความ หากเราเข้าใจอดีตของเรา ที่มักแสดงตัวผ่านอารมณ์และความรู้สึกทางกายในแต่ละปัจจุบันขณะ ก็อาจช่วยเพิ่มโอกาสแห่งการเรียนรู้ได้จักโลกภายในของเราเองได้มากขึ้น

อย่างน้อยการยอมรับว่า “เราไม่ชอบสิ่งที่เธอทำ” (แทนที่จะเป็นไม่ชอบเธอ) หรือ “สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ฉันไม่พอใจ และรบกวนจิตใจฉัน จนทำให้หัวใจฉันปิดลง” ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ซื่อตรงที่สุดในการเผชิญหน้ากับสิ่งที่เข้ามากระทบในชีวิต เป็นการจัดการน้ำผึ้งหยดแรกก่อนด้วยการยอมรับ ก่อนที่แมลงวันจะมาตอม แมลงวันคือความคิดหลังจากเกิดอารมณ์กระทบ แล้วการสืบค้นกับตัวเองและคนที่เกี่ยวข้องอย่างตรงไปตรงมาก็อาจช่วยให้น้ำผึ้งนั้นแปรเปลี่ยนเป็นการค้นพบกันและกัน หล่อเลี้ยงมิตรภาพให้แน่นแฟ้นที่จะ “อยู่ร่วม” กันได้ด้วยการยอมรับความแตกต่าง รักกันได้แม้ปราศจากความเข้าใจในเรื่องราวทั้งหมด รู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน บริสุทธิ์ผุดผ่อง ปราศจากความกลัวใดๆ และนี่เป็นสิ่งที่ผม “คิดไม่ถึง” และเป็นปัญญาปฏิบัติที่น้อมรับมาจากแม่ผู้ที่ไม่เคยเรียกตัวเองว่าเป็น “นักคิด”

Newer Posts Older Posts Home