โดย วรรณา จารุสมบูรณ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๐

ความไม่ชอบ ความรู้สึกไม่พอใจ และความโกรธ มักเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะในบรรยากาศที่ต่างฝ่ายต่างกำลังเคร่งเครียดอยู่กับงานที่ตนเองได้รับมอบหมาย บางคนเลือกแสดงออกด้วยความก้าวร้าวรุนแรง พูดโดยไม่คิด บางคนเลือกเก็บกดความรู้สึกเหล่านั้นไว้ ในขณะที่บางคนแอบไปนั่งร้องไห้เพื่อระบายความอึดอัดใจ หากเราปล่อยให้บรรยากาศเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ซ้ำๆ ในที่ทำงาน ในไม่ช้าความเบื่อหน่าย ความขุ่นมัว ความเกลียดชังก็จะหยั่งรากลึกในใจของเรา จนมองไม่เห็นว่าเราต่างกำลังทำร้ายจิตใจซึ่งกันและกันอยู่ และคนที่ถูกทำร้ายมากที่สุดก็คือตัวเราเอง

การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานจึงเป็นเรื่องที่คนในองค์กรควรใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่งานจะออกมาดีในขณะที่คนทำงานไม่มีความสุข มีแบบฝึกหัดหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากและประยุกต์มาจากสิ่งที่ได้เรียนรู้จาก Judy McAllister เมื่อครั้งเข้าอบรม Transformation Game เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คุณ Judy ได้ให้บทเรียนที่สำคัญกับผู้เขียน 3 เรื่องใหญ่ๆ ก็คือ หนึ่ง การรับรู้คุณค่าแห่งตนด้วยการชื่นชมผู้อื่นและชื่นชมตนเองเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคน สอง การสร้างสันติในใจด้วยการให้อภัยกับสิ่งที่ไม่ดีหรือความน่าเกลียดในตัวเรา ช่วยให้เรากล้าเผชิญกับสิ่งเหล่านั้นอย่างคนที่ตื่นรู้ ไม่หลีกหนี และสาม อย่าละเลยที่จะกล่าวแสดงความรู้สึกอย่างจริงใจกับคนที่เรารักหรือใกล้ชิด เพราะเป็นโอกาสในการปลดปล่อยตนเองและผู้อื่นจากกรงขังแห่งอัตตาตัวตน ไม่ว่าจะเป็นความในใจ การกล่าวคำขอโทษ หรือการกล่าวคำขอบคุณ

น่าแปลกใจที่เรามักจะกระทำสิ่งเหล่านี้กับผู้ที่เป็นอาคันตุกะได้อย่างง่ายดาย แต่มักเขินอายยามต้องแสดงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงกับกับคนที่เรารัก คนที่สัมพันธ์ใกล้ชิด หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงานที่เคยมีเรื่องขุ่นเคืองใจ

ผู้เขียนประดิษฐ์ไพ่ปริศนาขึ้นมา 4 ใบ โดยให้แต่ละคนเลือกไพ่เพียง 1 ใบ และกระทำตามคำขอในไพ่ที่เลือกได้ทีละคน ใบที่ 1 Appreciation = การชื่นชม (ให้เลือกชื่นชมคนใดคนหนึ่งในกลุ่มหรือทั้งหมด หลังจากนั้นให้ชื่นชมตัวเอง ) ใบที่ 2 Forgiveness = การให้อภัย (ให้เลือกคนใกล้ชิดที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 1 คน เพื่อกล่าวคำขอโทษหรือขอให้เขาให้อภัย และอีก 1 คน ในกลุ่มหรือทั้งหมด) ใบที่ 3 Thank You = การขอบคุณ ( ให้เลือกคนใกล้ชิดที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 1 คน เพื่อกล่าวแสดงความขอบคุณ และอีก 1 คนในกลุ่มหรือทั้งหมด) และใบที่ 4 Angel = นางฟ้า ( สามารถเลือกที่จะกระทำด้วยตนเองหรือขอให้ผู้อื่นกระทำในสิ่งที่ตนปรารถนาได้ 1 อย่าง โดยจะมีผลต่อเนื่องไป 3 เดือน )

ก่อนที่แต่ละคนจะเลือกและกระทำตามที่ไพ่บอก ผู้เขียนได้ขอให้ทุกคนเคารพและร่วมเป็นสักขีพยานในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ขอให้เราให้โอกาสผู้อื่นในการทำแบบฝึกหัดนี้ด้วยการรับฟังอย่างมีใส่ใจ ไม่ตัดสิน และให้โอกาสตัวเราเองโดยเชื่อมั่นว่าเราไม่ได้เป็นเพียงผู้เลือกเท่านั้น ไพ่เหล่านี้ก็เลือกเราด้วยเหมือนกัน จึงขอให้เราอธิษฐานจิตให้ไพ่ที่จำเป็นสำหรับเราเดินทางมาถึงเราในช่วงที่เหมาะสม ช่วยให้เราได้เติบโตและมีเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง

ผู้เขียนเคยลองนำกิจกรรมนี้ไปใช้ในช่วงสุดท้ายของการสัมมนาบุคลากร และพบว่าเมื่อไพ่ใบแรกถูกเปิดขึ้นและเดินทางจนถึงใบสุดท้าย ผู้เขียนรู้สึกได้ว่าทุกคนต่างต้องการไพ่ทั้ง 4 ใบนี้ อยู่ที่ว่าจะเริ่มจากไพ่ใบไหนเท่านั้น

“ต้น” เปิดได้ไพ่ที่ให้กล่าวคำขอโทษหรือขอให้คนใดคนหนึ่งให้อภัย เขากลับเริ่มต้นจากคำกล่าวขอบคุณก่อนเพราะเพิ่งตระหนักว่าเขาได้รับสิ่งดีๆ จากเพื่อนร่วมงานคนนี้มากมาย แต่เขากลับไม่ค่อยใส่ใจ จนบางครั้งก็อาจพูดจาออกไปไม่คิด เขาขอโทษและหวังว่าเพื่อนจะให้อภัยและตักเตือนเขาด้วยเวลาที่เขาทำอะไรไม่ดีโดยไม่รู้ตัว ส่วนคนใกล้ชิดเขาเลือกขอโทษคุณแม่ที่เขามักจะใช้อารมณ์และวาจาไม่น่ารักกับท่านเสมอๆ จนกลายเป็นอัตโนมัติ ทั้งๆ ที่ในใจรักคุณแม่มาก ผู้เขียนถามว่า หากคุณแม่อยู่ตรงหน้าเขาในขณะนี้เขาอยากพูดอะไร เขานิ่งเงียบอยู่กับตนเองชั่วขณะ ก่อนที่จะพูดประโยคสั้นๆ แต่กินใจว่า “ผมรักแม่”

“เก๋” เปิดได้ไพ่ “ขอบคุณ” เธอเลือกกล่าวขอบคุณพี่คนหนึ่งที่อาวุโสกว่าเธอมาก เธออยากขอบคุณที่พี่คนนี้ให้เกียรติเธอ ด้วยการขอโทษเธอในที่ประชุมเมื่อรับรู้ว่าได้มอบหมายงานบางอย่างที่ทำให้เธอต้องเป็นทุกข์ ซึ่งทำให้เธอรู้สึกดีมาก รู้สึกว่าตนเองมีค่าขึ้นมา ส่วนคนใกล้ชิดเธอเลือกขอบคุณเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่ไม่ถือสาเธอ ไม่โต้ตอบเวลาที่เธออารมณ์ไม่ดี ขุ่นมัว และชอบโวยวายใส่

“อ้อม” เปิดได้ไพ่ “การชื่นชม” เธอใช้เวลาไม่นานเมื่อเริ่มกล่าวชื่นชมเพื่อนร่วมงานทุกคนที่มีน้ำใจและช่วยเหลือเธออย่างจริงใจ แต่เธอใช้เวลาครู่ใหญ่ก่อนจะบอกว่าเธอนึกไม่ออกว่าจะชื่นชมอะไรในตัวเอง ผู้เขียนและทุกคนให้เวลาเธอได้ขบคิดใคร่ครวญอย่างเงียบๆ ในที่สุดเธอก็พบว่า เธออยากชื่นชมตัวเองที่เธอสามารถก้าวข้ามความรู้สึกว่าแม่ไม่รักได้ เธอเล่าว่าความรู้สึกนี้มันเกาะกุมจิตใจเธอมานานตั้งแต่เล็กๆ และเธอเพิ่งเข้าใจว่าคนเป็นแม่มีวิธีแสดงความรักไม่เหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า แม่ไม่รักเธอ ซึ่งมันทำให้เธอได้ใช้เวลาอยู่กับแม่อย่างมีความสุขขึ้น

“ปาน” เปิดได้ไพ่ “นางฟ้า” เธอขอให้น้องคนหนึ่งในทีมเข้าร่วมกิจกรรมในช่วงที่มีงานฝึกอบรมแทนการขลุกอยู่กับงานเอกสารและนั่งสังเกตการณ์อยู่หลังห้อง เพราะอยากให้น้องได้ให้โอกาสตัวเองในการเรียนรู้และค้นพบศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน ซึ่งคำขอของเธอก็ได้รับการตอบรับ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเกือบ 2 ชั่วโมงที่เราทำกิจกรรมนี้ร่วมกัน เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าเหลือเกินในความรู้สึกของผู้เขียน เพราะทุกคนได้ถ่ายทอดความรู้สึกอย่างจริงใจ ได้เห็นประกายตาที่อ่อนโยน ชื่นชม ยอมรับ และกล้าเผชิญกับบางเรื่องราวที่อยู่ในใจ ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในความดีงามของกันและกัน ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ในความสัมพันธ์ ที่ไม่มีเจ้านายและลูกน้อง ไม่มีผู้ผิดและผู้ถูก มีแต่เพื่อนที่ยอมรับ เข้าใจ และพร้อมจะก้าวเดินไปด้วยกัน



โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com

คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๐

วันที่ ๒๔ กันยายน ของทุกปี เป็นวันมหิดล เป็นวันที่นักศึกษามหิดลช่วยกันจำหน่ายธง หารายได้สมทบทุนกิจการเพื่อคนไข้ผู้ด้อยโอกาสของโรงพยาบาลศิริราช ความคิดและการกระทำช่วยเหลือคนไข้ผู้ยากไร้เช่นนี้ เป็นความคิดที่ควรค่าแก่การสรรเสริญเหนือสิ่งอื่นใด กิจกรรมนี้เป็นการแปลงคำขวัญของมหิดล “อตฺตานํ อุปมํ กเร” อันมีความหมายโดยรวมว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” มาทำให้เป็นรูปธรรมโดยการปฏิบัติที่แสดงความเมตตากรุณาที่จะรักและช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากให้ได้พ้นความทุกข์ ให้มีโอกาสหายโรคและสุขสบายได้มากขึ้นวิธีหนึ่ง

การเข้าใจผู้อื่นแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นการตระหนักถึงความคิด ความรู้สึก จิตใจและสถานการณ์ของผู้อื่น อาจทำได้หลายวิธี เช่น ใช้การฟังแบบลึกซึ้ง ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ผู้พูดและผู้ฟังวางใจซึ่งกันและกัน มีเมตตาจิต และปรารถนาดีต่อกัน ที่จะฟังเพื่อเรียนรู้ เป็นวิธีการเข้าใจความคิดและความรู้สึกของผู้อื่นมากขึ้น ถ้ายังไม่มีโอกาสพูดและฟังอย่างลึกซึ้ง ก็อาจใช้วิธี จินตนาการอย่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา (sympathetic imagination) เป็นการคิดนึกเอาว่า ถ้าเราเป็นเขา ได้รับการกระทำหรือคำพูดเช่นนี้ เราจะรู้สึกอย่างไร จินตนาการเป็นการสร้างสรรค์เริ่มคิดถึงความรู้สึกของผู้อื่น นอกเหนือจากการคิดที่มีตนเองเป็นศูนย์กลาง เป็นการลดละ ลืมความสำคัญของตน เพื่อเห็นคุณค่าและความรู้สึกของผู้อื่นได้มากขึ้น

นอกจากนั้น ยังมีอีกวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น ได้แก่ “passing over” คือการหยุดหรือวางความเชื่อ และเหตุผลของตนไว้ชั่วเวลาหนึ่ง เป็นการละวางตัวตนซึ่งมีแนวโน้มจะเข้าข้างตนเองว่าถูกที่สุด เหมาะสมที่สุด แล้ว “ก้าวข้าม” ไปทดลองปฏิบัติตามความเชื่อ เหตุผลหรือวิธีการของผู้อื่น เพื่อจะได้เข้าใจเงื่อนไข ปัจจัยที่ทำให้เขาคิดและเชื่อต่างจากตน เมื่อก้าวข้ามไปมีประสบการณ์นั้น จนเข้าใจ “แรงจูงใจ” และ “เงื่อนไขปัจจัย” ของผู้อื่นแล้ว จึง “ก้าวกลับ” (passing back) มายังจุดยืนเดิม และความเชื่อเดิมของตน วิธีนี้เป็นข้อเสนอของ John Dunne นักการศาสนาชาวอังกฤษ ที่แนะนำให้ศาสนิกชนต่างศาสนาได้ทดลอง “วาง” ความเชื่อ และการปฏิบัติของตนไว้ชั่วคราว แล้วลองเชื่อ ปฏิบัติ และทำทุกอย่างที่กำหนดไว้ในความเชื่อทางศาสนาของผู้อื่น ให้มีประสบการณ์ตรงเพื่อเข้าใจแรงจูงใจ อารมณ์ ความรู้สึกหรือเงื่อนไขของผู้อื่นที่เชื่อต่างจากตน การเรียนรู้ด้วยวิธีก้าวข้าม และก้าวกลับมาเช่นนี้ อาจทำให้ศาสนิกชนที่เชื่อต่างกันได้เข้าใจจุดยืนที่ต่างกัน และพัฒนา “ความเข้าอกเข้าใจ” และ “วางใจ” ต่อท่าทีและการปฏิบัติของผู้อื่นมากขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง วิธีการดังกล่าวนี้เป็นการเรียนรู้โดยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยมิเพียงแค่จินตนาการ แต่ได้ทดลองปฏิบัติเพื่อให้เกิดประสบการณ์ตรงนั่นเอง

เมื่อครั้งสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมัน ผู้เขียนได้เข้าร่วมงานอาสาสมัครกับเพื่อนชาวคริสต์ กลุ่ม Diakonie ทำโครงการ “รถเที่ยงคืน” (midnight bus) เพื่อรวบรวมอาหารและเครื่องดื่มร้อนๆ ไปแจกจ่ายกับบุคคลผู้ไม่มีที่อยู่อาศัย (homeless) อาสาสมัครจะลงชื่อทำงานวันละ ๓ คน อุปกรณ์การทำงานประกอบไปด้วยรถตู้ ๑ คัน ด้านหลังรถจัดเป็นที่วางหม้อต้มน้ำร้อนสำหรับชงน้ำชา กาแฟ และซุปละลายทันทีพร้อมถ้วยกระดาษ เรานัดพบกันประมาณ ๑ ทุ่ม หน้าร้านขายขนมปังและเค้ก เพื่อรับบริจาคขนมที่ร้านต้องการทิ้ง เพราะเหลือจากการขาย แต่ว่ายังสดและปลอดภัยเพียงพอที่จะรับประทานได้ เนื่องจากร้านต้องการรักษาคุณภาพ จึงผลิตขายวันต่อวัน เมื่อได้ขนมแล้วก็จะขับรถตระเวนไปรอบใจกลางเมือง บริเวณที่มีผู้เที่ยวกลางคืนออกมาหาความสำราญ ผู้ไร้บ้านเหล่านี้จะมายืนรอเพื่อขอเศษเงินจากนักเที่ยวกลางคืนทั้งหลาย จึงเป็นโอกาสให้ได้แจกชา กาแฟ และซุปร้อนๆ เพื่อบรรเทาความหนาวเหน็บยามค่ำคืน

ในคริสต์ศาสนามีความรักแบบ agape ที่เป็นความรักแบบไม่มีเงื่อนไข สำหรับชาวพุทธอาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก เพราะพุทธศาสนาก็มีคำสอนเรื่องความรักความเมตตาที่ไม่มีขอบเขตและประมาณต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายเช่นกัน และผู้เขียนได้เพิ่มพูนการเรียนรู้อย่างยิ่งจากกิจกรรมนี้ เพื่อนชาวคริสต์บอกว่าโครงการรถเที่ยงคืนเป็นเหมือนการแบกกางเขน (carry the cross) เพื่อตัดตัวตน อดทนต่อความลำบาก ความเหนื่อยยากของตนเอง เพื่อบริการและช่วยเหลือผู้อื่น ดังที่พระเยซูเจ้าศาสดาในศาสนาคริสต์ได้ปฏิบัติแล้ว งานอาสาสมัครครั้งนี้ของผู้เขียนจึงเสมือนเป็นการ passing over ได้เรียนรู้การเสียสละ แรงจูงใจ และวิธีปฏิบัติเพื่อแสดงความศรัทธาต่อคำสอนทางศาสนาของอาสาสมัครชาวคริสต์ เพราะงานนี้ อาสาสมัครจะทำทุกวันถึงเที่ยงคืน ขับรถตู้ตระเวนหาผู้ไร้ที่อยู่ ซึ่งเป็นคนยากจน คนจรจัด บางคนก็ติดเหล้าและป่วย บ้างก็นอนหลบลมหนาวซุกตัวอยู่ใต้สะพานหรือมุมตึก อาสาสมัครต้องเดินจากรถลงไปปลุกและยื่นน้ำชาและซุปร้อนๆ ให้มีกำลังและความอบอุ่นเพิ่มขึ้น เป็นงานจิตอาสาเพื่อการพัฒนาจิตวิญญาณตามแนวคริสต์ศาสนา

ข้อสังเกตที่ได้เมื่อผู้เขียน passing back กลับมาอยู่ในเงื่อนไขของตนเอง ได้พบว่าการร่วมกิจกรรมนี้ ทำให้เข้าใจความหมายของคำว่า แบกกางเขน ของเพื่อนชาวคริสต์ได้ชัดเจนและลึกซึ้งมากขึ้นกว่าการอ่านจากหนังสือและการเรียนในชั้นเรียน เพราะเป็นการเรียนรู้ที่มีส่วนร่วมและได้สัมผัสกับ “ความสุขภายใน” ที่ได้ช่วยบรรเทาความทุกข์ของผู้อื่นแม้เพียงเล็กน้อย กับทั้งการเป็นอาสาสมัครนี้ไม่มีค่าตอบแทน ต้องทำงานท่ามกลางอากาศหนาว และบางครั้งก็เสี่ยงภัยอันตราย เพราะผู้ไร้ที่อยู่อาศัยเหล่านี้ใช้เศษเงินที่ขอได้ไปซื้อเหล้า เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย คนที่ติดเหล้าเหล่านี้อาจทำอันตรายโดยเฉพาะผู้หญิงอาสาสมัครที่เดินในที่เปลี่ยว

การเรียนรู้ประสบการณ์ของเพื่อนต่างศาสนาด้วยการมีส่วนร่วมให้ได้ประสบการณ์ตรงโดยการ passing over เพื่อเข้าใจแรงจูงใจ ความเสียสละและความจงรักภักดี ความเชื่อและศรัทธาของเขา ด้วยวิธีนี้ เป็นตัวอย่างที่อยากเรียกว่า การเรียนรู้แบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา ผ่านการทดลองกระทำ อาจนับเป็นการทำสานเสวนาระหว่างศาสนาประเภทหนึ่ง เป็น dialogue of experience ที่ผ่านประสบการณ์ตรง เป็นกิจกรรมที่มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาที่ต่างกัน แต่ก็สามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้

หากบุคคลในสังคมได้ผ่านประสบการณ์ “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา” รูปแบบต่างๆ ดังกล่าวนี้ คงเป็นที่หวังได้ว่า ความเข้าใจและความสงบสุขจะเกิดอยู่ไม่ไกลจากดวงจิตของเรา และสันติสุขที่พวกเราเรียกร้องจะมาสู่สังคมไทยได้ในที่สุด



โดย จารุพรรณ กุลดิลก
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๐

เหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่สั่นสะเทือนวงการวิทยาศาสตร์ได้อย่างมากครั้งหนึ่งก็คือ เมื่อทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ ไม่สามารถอธิบายปรากฎการณ์ของการทดลองชื่อ อีพีอาร์ พาราดอกส์ (EPR Paradox) ที่ตัวเขาเองและทีมงานของเขาได้จำลองขึ้นเพื่อค้านทฤษฎีโครงสร้างอะตอมของนีลส์ บอห์ร แต่ผลที่ได้รับกลับเป็นการสนับสนุนทฤษฎีโครงสร้างอะตอมมากขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น เขาพบว่า อนุภาคอิเล็คตรอน 2 ตัว ที่อยู่ตรงข้ามกัน และไม่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์ใด ๆ ต่อกันในเชิงพลังงาน แต่เมื่อมีแรงมากระทบอนุภาคหนึ่ง อีกอนุภาคหนึ่งก็จะมีผลกระทบเท่าๆ กันด้วย ซึ่งทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ และทุกวันนี้ก็ยังไม่มีทฤษฎีวิทยาศาสตร์ใด ๆ สามารถอธิบายได้อย่างสมบูรณ์ จนมีคนขนานนามปรากฎการณ์นี้ว่า ผีในอะตอม (The Ghost in the Atom)

จากปรากฎการณ์นี้ สามารถสรุปได้ว่า แม้อนุภาคทั้งสองจะอยู่คนละที่ หรือ คนละฟากฝั่งของจักรวาล หากตัวใดตัวหนึ่งเปลี่ยนแปลงในเชิงพลังงาน ลักษณะการเคลื่อนไหวหรือวิถีเส้นทาง อีกอนุภาคหนึ่งก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเดียวกันด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีความสงสัยว่า แล้วอนุภาค 2 ตัวนี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร นักวิทยาศาสตร์จึงตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า อาจจะมีการส่งข้อมูลบางอย่างระหว่างอนุภาคทั้งสองนี้ที่รวดเร็วกว่าความเร็วของแสง ที่ 186,000 ไมล์ต่อวินาที ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ และยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน

จากการทดลองข้างต้น ก็เกิดคำพูดหยอกล้อกันระหว่างไอน์ไสต์กับนีลส์ บอห์ร เนื่องจากไอน์สไตน์ยังเชื่อว่าฟิสิกส์น่าจะสามารถอธิบายปรากฎการณ์ทุกอย่างที่เกิดจากสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นได้ โดยกล่าวว่า “God does not play dice.” (พระเจ้าไม่ได้ทอยลูกเต๋า) “God is subtle but not malicious.” (พระเจ้าฉลาดเจ้าเล่ห์แสนกลแต่ไม่มีเจตนาร้าย) แล้วนีลส์ บอห์รก็โต้ตอบกลับไปว่า “Einstein, stop telling God what to do! ” (ไอน์สไตน์หยุดบอกพระเจ้าว่าต้องทำอะไรเสียที) และนั่นย่อมหมายถึง ยังมีความรู้อีกมากมายที่มนุษย์ยังไม่รู้ และสุดท้ายก็ไม่ต้องไปอธิบายเสียทั้งหมดก็ได้
อย่างไรก็ตาม ข้อดีของปรากฏการณ์อีพีอาร์ พาราดอกส์ ของไอน์สไตน์ก็คือ การบอกให้เรารู้ว่า สิ่งสองสิ่ง แม้ไปคนละทิศทางกันโดยสิ้นเชิง แต่หากสิ่งหนึ่งเปลี่ยน อีกสิ่งก็จะเปลี่ยนด้วย ถึงแม้จะยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่ก็สามารถบอกได้ว่า หากจะเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ตรงข้ามก็ต้องเริ่มจากเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ตรงนี้เสียก่อน ในทางวิทยาศาสตร์จะเรียกคู่ตรงข้ามนี้ว่า local (สมุฏฐาน) กับ non-local (นอกสมุฏฐาน)

ปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์นี้ ตรงกับ แนวความคิดของจิตตปัญญาศึกษา คือ การเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ เริ่มจากภายในตนเอง จากบทความ ณ พรมแดนแห่งความรู้ เรื่อง “ชื่นชมชีวิต” ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ของดร. ชลลดา ทองทวี ในเรื่อง เงา (Shadow) สอดคล้องกับปรากฎการณ์พาราดอกส์ (Paradox) ที่ประจักษ์ชัดต่อสายตาชาวโลกแล้ว กระแสความคิดในสมองมนุษย์ ก็เกิดจากการไหลของอิเล็คตรอน ฉันใด ก็ ฉันนั้น ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดความคิดใดๆ ขึ้นในสมอง ย่อมจะมีความคิดในทางตรงข้ามเกิดขึ้นเสมอ หากเราเรียนรู้ที่จะเห็นความคิดตรงข้ามในตัวเอง ก็จะพบความจริง ของความเป็นเช่นนั้นเอง และสามารถวางใจเป็นกลาง แต่หากเราเห็นความคิดในตัวเราด้านเดียว ความคิดตรงข้ามย่อมไปเกิดที่อื่น หรือในคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเห็นของสิ่งหนึ่ง เกิดความรู้สึก ชอบใจ ของสิ่งนั้นอย่างมาก และไม่เห็นความ ไม่ชอบใจ ตรงไหนเลย สักวันหนึ่งเราอาจจะพบคนที่ ไม่ชอบใจ ของสิ่งนั้นมากพอๆ กับเรา และเขาผู้นั้นก็ไม่สามารถเห็นความ ชอบใจ สิ่งของดังกล่าวได้เลยเช่นกัน สิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นเช่นนั้นเอง เรียกว่า พาราดอกส์ (Paradox) หรือ ที่อาจารย์ชลลดาเขียนถึงเรื่อง เงา (Shadow) นั่นเอง

ส่วนกระบวนการที่นอกเหนือจากการพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ย่อมมีวิธีที่ทำให้คนเราประจักษ์ชัดถึงความเชื่อมโยงของสิ่งที่แตกต่างสองสิ่งอย่างเป็นธรรมดา ธรรมชาติ อาจารย์ชลลดาเขียนถึงวอยส์ ไดอะล็อค (Voice Dialogue) ที่เป็นการฟังตนเองอย่างลึกซึ้ง เป็นการเปิดโอกาสให้ค้นพบศักยภาพบางอย่างที่ตนอาจละเลยไป ไม่ใส่ใจมาก่อน กลับได้ตระหนักรู้และเกิดความเข้าใจ ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และสมดุลด้วยตนเอง ส่วนผศ. ดร. ปาริชาด สุวรรณบุบผา ก็ใช้วิธีไดอะล็อค ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นประเด็น “แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก” โดยเรียนรู้ผ่านการไดอะล็อคกับผู้อื่น และใช้การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ซึ่งหมายรวมถึงการฟังตัวเอง การฟังผู้อื่น และการฟังความเงียบ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพด้านใน สามารถยอมรับสิ่งที่แตกต่างหลากหลายได้ หลังจากที่ไม่เคยยอมรับมาก่อน แต่เมื่อเข้าใจแล้ว ก็จะมีความเห็นว่า ความแตกต่างหลากหลายเป็นธรรมชาติ และเกิดความสุขในการเห็นความเป็นธรรมชาติ ธรรมดา คนเราสามารถแตกต่างได้ แต่ไม่ต้องแตกแยก โดยอาจารย์ปาริชาดท่านใช้ประเด็นนี้ในการเผยแพร่เรื่อง สันติวิธี ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจอย่างยิ่งในปัจจุบัน

นอกจากนี้ สิ่งที่ควรเน้นย้ำก็คือ การเปลี่ยนแปลงใดๆ ย่อมเริ่มจากตัวเอง เช่น หากเราเปลี่ยน โลกทั้งใบก็จะเปลี่ยน คราใดที่เราเห็นว่าสังคมมีปัญหา โลกมีปัญหา หรือคนรอบข้างมีปัญหา สิ่งที่เราควรจะทำก่อนที่จะลุกไปเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ ก็คือ อยู่กับตัวเอง ฟังตัวเอง การฟังเช่นนี้ต้องใช้สติสัมปชัญญะ เห็นความรู้สึก ความคิดที่เกิดขึ้น และเมื่อสามารถเท่าทันความคิดของตนได้ ย่อมจะเห็นความเป็นธรรมดาของปริมาณความคิดที่มากมาย ไม่ต้องไปคาดโทษความคิดใดๆ ที่เกิดขึ้น เพราะเราห้ามหรือสั่งให้เกิดไม่ได้ และย่อมจะเห็นว่า ไม่ว่าความคิดที่เราชอบหรือไม่ชอบเกิดขึ้นมานั้น ก็ย่อมจะไม่เป็นปัญหา เมื่อเรียนรู้ฝึกฝนไปบ่อยๆ อะไรต่ออะไรก็ง่ายขึ้น ฟังคนอื่นก็เข้าใจง่ายขึ้น เห็นสังคมก็เข้าใจง่ายขึ้น เป็นลำดับๆ ไป จนในที่สุดโลกทั้งใบอาจเปลี่ยนแปลงไปหมดเลยก็เป็นไปได้



โดย พูลฉวี เรืองวิชาธร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๐

บรรยากาศช่วงวันสุดท้ายของการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาวิทยากรกระบวนการทางจิตวิญญาณขั้นต้น สำหรับ ๒๘ ชีวิตซึ่งเป็นบุคลากรทางด้านสาธารณสุขเครือข่ายโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนั้นอบอวลไปด้วยน้ำตาแห่งความปิติสุข ความเมตตา การให้อภัย ความคิดถึงและความอาลัยที่ต้องล่ำลาหลังจากผ่านการร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยกัน ระยะเวลาเพียงแค่ ๕ ครั้งๆ ละ ๔ วัน (ช่วงระหว่างพฤษภาคม ถึงสิงหาคม ๒๕๕๐) ทำไมหนอเราจึงผูกพันกันได้อย่างลึกซึ้งเพียงนี้? เป็นเสียงของผู้เข้าร่วมอบรมบอกเล่ากับเพื่อนๆ ที่เข้าอบรมด้วยกันระหว่างการกอดกันด้วยสัมผัสแห่งรักก่อนลาจาก

ผู้เขียนเป็นหนึ่งในทีมงานที่จัดกระบวนการและร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับกลุ่มทั้ง ๕ ครั้ง สังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวเองและกลุ่มได้อย่างชัดเจนในด้านทักษะพื้นฐานของการเป็นวิทยากรกระบวนการทางจิตวิญญาณ(จะขอเรียกสั้นๆ ว่ากระบวนกร) คือ การรับฟังอย่างลึกซึ้ง การเปิดใจกว้างไม่ด่วนตัดสินถูกผิด การจับประเด็นทั้งเนื้อหาสาระและอารมณ์ความรู้สึก การตั้งคำถามลงลึกต่อเนื่องเชื่อมโยงอย่างมีพลังเพื่อกระตุ้นให้ผู้ตอบได้หันกลับมาคิดใคร่ครวญภายในอย่างลึกซึ้ง การใช้กระบวนวิธีคิดที่เป็นระบบสอดคล้องกับเป้าหมายการเรียนรู้ เนื้อหา และกิจกรรมผ่านประสบการณ์ตรง ในด้านพฤติกรรมการแสดงออกของแต่ละท่านและความสัมพันธ์ระหว่างกันที่เห็นเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน คือ ความเชื่อมั่นว่าตนทำได้ อีกทั้งความไว้วางใจระหว่างกันในกลุ่ม การเกิดขึ้นของจิตสาธารณะหรือจิตใหญ่ของแต่ละคน การแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นใครมาจากไหน การสะท้อนสิ่งที่เพื่อนควรปรับปรุงด้วยภาษาแห่งความกรุณา การให้อภัยเวลาผิดพลาดพลั้งเผลอ ในด้านอารมณ์ความรู้สึกนั้นสังเกตได้ว่าแต่ละท่านมีความสงบนิ่ง มีสติเท่าทันกับสิ่งที่ตัวเองกระทำได้เร็วขึ้นถึงแม้บางครั้งจะผิดพลาดบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์

นอกจากนี้ตัวผู้เขียนเองสัมผัสได้ถึงความสุข ความอิ่มเอิบใจ ความมั่นใจในตัวเอง และความไว้วางใจที่เพิ่มมากขึ้นในทีมงานว่าเราทำได้ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาทั้งหมดก็ยังเป็นเพียงหน่ออ่อนที่ต้องได้รับการใส่ใจดูแล ได้รับการรดน้ำพรวนดินอยู่เสมอ การเปลี่ยนแปลงระดับนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ต้องรอการตอกย้ำด้วยการเอาไปใช้หรือพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในชีวิตประจำวัน นี้แลการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งและยั่งยืนจึงจะเริ่มเป็นจริง

ในสังคมปัจจุบันนั้นต้องการความรวดเร็วสำเร็จรูปและง่ายไปเสียทุกอย่าง แม้กระทั่งการเรียนรู้หลายคนในสังคมก็คิดว่าการเรียนรู้จากการอบรมครั้งหรือสองครั้งก็น่าจะทำให้คนหรือองค์กรเปลี่ยนแปลงในทางที่ต้องการ เช่น คนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมความคุ้นชินที่ไม่น่ารักให้น่ารักขึ้น คนในองค์กรต้องมีความรับผิดชอบต่อองค์กร หรือต้องการให้คนในองค์กรมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รักกัน สามัคคีกันฯลฯ เมื่อหลังจากเสร็จสิ้นการอบรม สำหรับผู้เขียนเองเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา แม้แต่การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายยังต้องใช้เวลา เช่น ถ้าคุณกำลังเคลื่อนย้ายจากสภาพอากาศแบบหนึ่งไปอยู่ในสภาพอากาศอีกแบบ ร่างกายยังต้องใช้เวลาในการปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ในทำนองเดียวกันการปรับจิตใจต้องใช้เวลา เพราะจิตมีความซับซ้อนมากซึ่งคุณต้องยอมรับและเผชิญกับการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปรภายในอย่างรู้เท่าทัน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ดังนั้นเราอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการอันหลากหลายและทดลองทำซ้ำอย่างต่อเนื่องจนจิตใจเกิดความคุ้นเคยใหม่ซึ่งจะค่อยๆ แปรเปลี่ยนทีละเล็กทีละน้อย นอกจากความมุ่งมั่นตั้งใจของคนคนหนึ่งที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้วนั้นยังต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกันทั้งปัจจัยในระหว่างกระบวนการเรียนรู้ และหลังจากออกไปดำเนินชีวิตประจำวัน สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้เขียนในการเปลี่ยนแปลงตนเองระหว่างการเรียนรู้ คือ ความไว้วางใจ ทั้งในตัวเราเองว่าเราทำได้ การได้รับความไว้วางใจและกำลังใจจากคนรอบข้าง มีหลายครั้งที่เราคิดว่าทำไม่ได้แต่พอได้รับกำลังใจและความไว้วางใจเราก็จะพยายามทำและเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการ

ในระหว่างกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเองนั้น ความไว้วางใจเป็นปัจจัยสำคัญมากที่ทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมกล้าที่จะเปิดใจยอมรับจุดเปราะบางของตัวเอง กล้าที่จะเผชิญกับเรื่องราวบางสิ่งบางอย่างที่ค้างคาใจ ถูกเก็บงำมาตลอดชีวิตและยังไม่ได้คลี่คลาย กล้าแม้กระทั่งปล่อยให้น้ำตาไหลรินอาบแก้มในที่สาธารณะต่อหน้าผู้เข้าร่วมอบรมด้วยกันซึ่งโดยปรกติหากเราไม่ได้ไว้วางใจกันมากพอเราคงไม่กล้าที่จะเปิดเผยหรือแสดงตัวตนที่แท้จริงของเราออกมาให้คนอื่นเห็น สำหรับผู้เขียนการกล้าที่จะเผชิญกับตัวตนที่แท้จริงของเรานั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างสำคัญยิ่ง

ความไว้วางใจระหว่างผู้เรียนรู้ด้วยกันหรือกับกระบวนกรนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาเองลอยๆ แต่ทุกคนในกระบวนการเรียนรู้ต้องร่วมกันสร้าง โดยเริ่มจากกระบวนกรเองต้องจัดกระบวนการที่หลากหลายง่ายต่อการเรียนรู้ปฏิบัติได้ไม่ซับซ้อน หากคล้ายคลึงกับสถานการณ์ในชีวิตจริงก็จะทำให้เห็นแง่คิดและมุมมองได้ง่าย ได้สัมผัสถึงอารมณ์ความรู้สึก เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน มีการรับฟังซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้งไม่ด่วนตัดสินและการมีส่วนร่วมของทุกคนบนบรรยากาศเป็นกันเองเอื้ออาทรระหว่างกัน ส่วนตัวผู้ร่วมเรียนรู้เองก็ต้องเปิดใจพร้อมที่จะเรียนรู้และรับฟังผู้อื่นอย่างแท้จริงด้วย

ปัจจัยในการเปลี่ยนแปลงตนเองที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ เมื่อจบการอบรมและออกไปดำเนินชีวิตประจำวันแล้วทำอย่างไรเราจะสร้างโอกาสให้กับตัวเองในการทดลองใช้สิ่งต่างๆ ที่ได้เรียนรู้มาในระหว่างการอบรม เพราะหากเราไม่มีโอกาสได้ทดลองใช้จริงอย่างสม่ำเสมอความคุ้นชินเดิมๆ ก็จะกลับเข้ามาหาเราอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการมีกลุ่มมีเพื่อนคอยช่วยเหลือให้กำลังใจคอยตักเตือนกันก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วและยั่งยืนมากขึ้น

จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับบุคคลที่แตกต่างหลากหลาย ต่างองค์กร ต่างอาชีพ และจากประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงตัวเองนั้น ผู้เขียนได้ตระหนักว่าการที่คนคนหนึ่งเรียนรู้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของมนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ และผลที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงก็คุ้มค่ากับต้นทุนที่ต้องเสียไป จึงขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่กำลังสร้างโอกาสในการเปลี่ยนแปลงตนเองอยู่ขณะนี้ แล้วเราจะได้พบกับพื้นที่แห่งความสุขที่กว้างใหญ่ไพศาล



โดย วรรณา จารุสมบูรณ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๐

เชื่อหรือไม่ว่ารูปแบบการสัมมนาบุคลากรในหลายๆ องค์กรเดี๋ยวนี้ ได้กลายเป็น “ยาขม” ของคนทำงานจำนวนมาก เพราะถูกทำให้เป็นเวทีแก้ตัวของผู้บริหารที่เรียกร้องให้ลูกน้องทำสิ่งต่างๆ มากมายจนเกินพอดี บ้างเป็นเวทีตะล่อมกล่อมเกลาให้บุคลากรอยู่ในร่องในรอยที่ควรจะเป็น บ้างก็กลายเป็นเวทีให้เกิดการประจบสอพลอจนออกนอกหน้า ซึ่งหลายองค์กรก็มักทำตามๆ กันมา จนเป็นวัฒนธรรมขององค์กรไปเสียแล้ว ครั้นจะทำอะไรที่แหวกแนวออกไปก็กลัวว่าเจ้านายจะไม่ปลื้ม บางคนเกรงว่าหากเสนอไปแล้วตัวเองจะต้องมาแบกรับ ก็เลยทนๆ กันไป การสัมมนาบุคลากรทุกวันนี้ ถ้าไม่เล่นเกมบ้าบอคอแตก ก็นั่งอุดอู้อยู่แต่ในห้องประชุมทั้งวัน จนไม่รู้ว่าจะไปสัมมนาที่ต่างจังหวัดให้เมื่อยทำไม

ผู้เขียนเพิ่งกลับมาจากการสัมมนาบุคลากรของโครงการฯ ที่ จ.สมุทรสงคราม เป็นการสัมมนารูปแบบใหม่ที่อาจจะต่างไปจากขนบเดิมๆ ที่หลายคนคุ้นเคย แต่ก็ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้และรู้จักกันและกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่างน้อยก็เป็นช่วงเวลาดีๆ ที่เราได้แบ่งปันทุกข์สุขร่วมกัน

แม้บางคนอาจจะรู้สึกแปลกๆ ทว่าการได้ทดลองทำสิ่งใหม่ก็ช่วยให้เขาเห็นแง่มุมที่ต่างออกไป

ก่อนไปมีน้องๆ แอบบ่นว่าไม่อยากไปเลย เพราะไม่อยากเครียด ไม่อยากนั่งอุดอู้ในห้องประชุม แอบหลับก็ไม่ได้ กินข้าวก็ไม่อร่อยเพราะมีผู้ใหญ่ไปด้วย ผู้เขียนเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะหย่อนแนวคิดและวิธีการใหม่ๆ ให้คนในองค์กรได้ทดลองชิม ไม่มีอะไรต้องกังวล เพราะถึงไม่เวิร์กก็ยังได้เรียนรู้อยู่ดี

ผู้เขียนเริ่มร่างกำหนดการคร่าวๆ เพื่อเชิญชวนให้น้องๆ อยากไป โดยใส่กิจกรรมหลักๆ ไว้ แล้วให้ทุกคนได้มีโอกาสเพิ่มเติมสิ่งที่ตนเองอยากทำลงไปด้วย จนดูเหมือนโปรแกรมพักผ่อนสุดสัปดาห์เข้าไปทุกที น้องบางคนแอบกระซิบถามว่า “พี่จะทำตามนั้นจริงๆ หรือเปล่า” ผู้เขียนก็ตอบว่า “ทำไมจะไม่ได้ล่ะ” น้องคนเดิมยังขมวดคิ้วไม่แน่ใจ “แล้วเค้า (แหล่งทุน) จะยอมให้เราทำแบบนี้เหรอ” ผู้เขียนหัวเราะพลางตอบไปว่า “ก็ถ้าโปรแกรมใหม่ที่ว่าสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการสัมมนาอย่างที่เราต้องการ มันจะมีปัญหาตรงไหน”

หลังจากที่ส่งเมล์เชิญชวนคณะทำงานและกรรมการทุกท่านไปสัมมนาด้วย กรรมการบางท่านบอกว่า “กิจกรรมน่าสนุกจัง โดยเฉพาะหนังสือทำมือเนี่ย พี่ไม่เคยทำเลย อยากทำบ้างจัง”

“ใครออกแบบกิจกรรมอะ น่าสนุกเนอะ แล้วพวกเราทำกันเองเหรอ” สารพัดคำถามและข้อสงสัย ซึ่งเป็นสัญญาณบวกว่า การได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ช่วยสร้างความกระตือรือร้นให้เกิดขึ้นได้แบบง่ายๆ

ผู้เขียนแอบยิ้มในใจ “ได้การล่ะ” ถือว่าสิ่งที่ตั้งใจบรรลุไปกว่าครึ่งแล้ว เพราะกิจกรรมจะวิเศษเลอเลิศขนาดไหน แต่ถ้าคนเข้าร่วมไม่อยากไปล่ะก็เป็นอัน “จบกัน” มาสัมมนาเที่ยวนี้ผู้เขียนตั้งวัตถุประสงค์ไว้เพียง 2 ข้อ ข้อแรก “มาจูนเครื่องให้ตรงกัน” หรือใกล้เคียงกันให้มากที่สุด เพราะบางคนรับผิดชอบเฉพาะส่วนอาจมองไม่เห็นภาพรวม บางคนเห็นภาพรวมแต่ไม่รู้รายละเอียด ก็เลยไม่รู้จะช่วยกันอย่างไร เพราะฉะนั้นการรับรู้เป้าหมาย ทิศทางและแนวทางในการทำงานร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากสำหรับการสร้างทีมงานและการบรรลุเป้าหมายของโครงการ วัตถุประสงค์ข้อสอง “มารู้จักกันมากขึ้น” โดยสร้างสัมพันธภาพในแนวราบ เพราะบ่อยครั้งเวลามุ่งผลสำเร็จของงานเราอาจเผลอใช้อำนาจหรือความสัมพันธ์ที่เป็นทางการในการกำกับดูแลจนละเลยความรู้สึกหรือมิติด้านจิตใจและจิตวิญญาณของคนทำงานโดยไม่รู้ตัว การสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการจะช่วยลดช่องว่างเหล่านี้ได้ ทำให้ “รู้เขา รู้เรา” มากขึ้น เป็นการเสริมศักยภาพในการทำงานและเพิ่มพลังบวกให้กับคนในองค์กร

จากวัตถุประสงค์ทั้ง 2 ข้อ ผู้เขียนเอามาออกแบบกิจกรรมสัมมนา 2 วัน แบบชิลชิล คือ กำหนดช่วงเวลาพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับโครงการด้วยคำถามง่ายๆ เพียง 1 ใน 3 ของเวลาทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นกิจกรรมผ่อนคลาย ได้ชื่นชมธรรมชาติ รับประทานอาหารร่วมกัน ได้ใคร่ครวญเกี่ยวกับตัวเอง และทำอะไรบางอย่างร่วมกัน เช่น ทำหนังสือทำมือ วาดรูป ระบายสีน้ำบนปกหนังสือด้วยตนเอง ฯลฯ

ผู้เขียนชอบกิจกรรมทำหนังสือทำมือแบบเย็บกี่ ซึ่งทำให้เรารู้จักเพื่อนร่วมงานของเรามากขึ้นแบบไม่รู้ตัวหรือโดยไม่ต้องตั้งใจ กิจกรรมนี้แบ่งให้พวกเราทำกันเป็นกลุ่มๆ ละ 2-3 คน แต่อยู่ในบริเวณเดียวกัน ทำกันไป แซวกันไป สลับกับเสียงหัวเราะเป็นช่วงๆ

ระหว่างทำบางคนก็นั่งคุยกระหนุงกระหนิง บ้างก็แหย่เพื่อนตลอดเวลา เห็นถึงความละเอียดลออของเพื่อนคนหนึ่งที่ใช้ไม้บรรทัดวัดระยะให้เท่ากัน ในขณะที่เรากะๆ เอา เห็นอีกคนที่ดูตั้งใจมากจะวาดรูประบายสีบนปกก็ต้องทดลองวาดในเศษกระดาษก่อนวาดจริง บางคนบ่นแล้วบ่นอีกว่าวาดไม่สวย เห็นแต่ข้อติอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่เพื่อนบอกว่าสวยแล้ว บางคนตวัดพู่กันเพียงไม่กี่ทีดูเรียบง่ายแต่ซ่อนความเท่ห์ไม่เหมือนใคร บางคนละเลงไปดูอารมณ์ตัวเองไปเรื่อยๆ บางคนไม่คิดมากตวัดซ้ายทีขวาทีไปแบบไร้จุดหมายดูไม่ออกว่าเป็นรูปอะไร แต่สีสันกลับสะดุดตาชวนมอง บางคนสเก็ตซ์ภาพได้สวยทั้งที่ไม่เคยเรียนศิลปะ ทุกคนล้วนแต่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ผลิตหนังสือทำมือเล่มเดียวในโลกขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ได้เห็นบุคลิกท่าทางและอุปนิสัยในการทำงานของแต่ละคน รวมทั้งได้เห็นน้ำใจและความเอื้อเฟื้อของเพื่อนร่วมงานด้วย

ตอนแรกผู้เขียนคิดในใจว่า พอทำเสร็จแล้วทุกคนก็คงเลิกสนใจ ที่ไหนได้ ปรากฏว่าแต่ละคนกลับเจียดเวลามาตกแต่งผลงานของตนเองให้ดูสวย คนที่ทำเสร็จแล้วก็เอามาแสดงให้เพื่อนดู ชื่นชมกันไปมา จนคนที่ไม่คิดว่าจะทำก็ยังอยากมีเป็นของตัวเองบ้าง

ส่วนกิจกรรมสุนทรียสนทนาในช่วงกลางคืนก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบ เรานั่งคุยกันในศาลาริมน้ำท่ามกลางแสงดาวและแสงเดือน แต่ละคนบอกเล่าถึงแรงบันดาลใจในชีวิต ความสุขและความทุกข์ในปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาดีๆ ที่ได้รู้จักที่มาที่ไปของกัน เห็นถึงสิ่งที่เป็นอุดมคติในชีวิต สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ได้รับรู้ถึงสัมพันธภาพในครอบครัวของบางคนที่ไม่ได้หวานชื่นตลอดเวลา ได้รับรู้ถึงจิตวิญญาณกล้าหาญและพลังใจที่เข้มแข็งยามเมื่อเผชิญความเจ็บป่วย ได้ชื่นชมความดีงามท่ามกลางกองทุกข์ของชีวิต ได้สัมผัสความรู้สึกที่แบกรับแต่ไม่ท้อถอยของคนตัวเล็กๆ ที่มักถูกมองข้าม ได้เห็นถึงความถ่อมตนและศิโรราบให้กับความไม่รู้ ที่สำคัญทำให้เราค้นพบว่า ทุกคนล้วนแต่น่าชื่นชมและเคารพได้ทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่คนเดียว อดคิดไม่ได้ว่าบ่อยครั้งที่เราก็สนใจงานมากกว่าคน คาดหวังให้เขาทำงานให้ดีที่สุดเพื่ออุดมคติที่เราสร้างขึ้น แต่เรากลับทำร้ายจิตใจเขาเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้คือเพื่อนร่วมทุกข์ คือมิตรร่วมทางที่เราควรใส่ใจและดูแล

Newer Posts Older Posts Home