โดย ณัฐฬส วังวิญญู
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๑


วันก่อนเพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าได้ไปเข้ากระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับ “การเตรียมตัวตายอย่างมีสติ” ที่จัดขึ้นโดยเสมสิกขาลัย โดยมี พระไพศาล วิสาโล เป็นพระอาจารย์ ที่นำพาให้เกิดการตระหนักรู้ถึงความเปราะบางของชีวิต และธรรมชาติแห่งการเปลี่ยนแปลงของชีวิตนั้นว่ามีพลังอย่างยิ่ง ในยุคที่วิทยาศาสตร์และวงการแพทย์เริ่มยอมรับวาระแห่งความตายว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมากขึ้น โดยที่ไม่มีใครสามารถหยุดรั้งชีวิตที่จะพลัดร่วงจากไปในวาระที่เหมาะสมได้ การเผชิญหน้ากับความตายอย่างมีสติ กำลังเป็นประเด็นสำคัญต่อการเรียนรู้ของสังคม ในการปรับท่าทีในการดำรงอยู่กับความทุกข์ และส่งเสริมให้เกิดความสง่างาม ความหมายและสันติภาพในการจากไปของผู้คนดูจะเป็นวิถีทางที่เราจะตื่นรู้ได้อีกทางหนึ่งในการยอมรับ “ธรรมชาติของชีวิต”

ถ้าเปรียบการตายคือการผลัดใบ การเกิดก็อาจเปรียบได้ดังการผลิบานของชีวิต ในช่วงที่ผ่านมา ผมเองก็ได้มีประสบการณ์ในกับกระบวนการเกิดของลูกสาวคนแรก ซึ่งตอนแรกผมเองก็ไม่ได้คิดว่า การได้เป็นประจักษ์พยานการเกิดจะสร้างความสั่นสะเทือนให้กับการรับรู้ชีวิตของผมได้มากถึงเพียงนี้ ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าคนอื่นๆ ที่ได้รับรู้ประสบการณ์ของการเกิดจะได้รู้สึกหรือนึกคิดคล้ายกันหรือไม่ เพราะแต่ละคนย่อมมีการตีความประสบการณ์ที่ตนได้รับต่างกันไปเป็นธรรมดา

“ไม่น่าเชื่อ” “อึ้ง” “มันออกมาได้ไงเนี่ย” “...” นี่คือเสียงที่อยู่ในหัว แต่หากถามความรู้สึกตอนที่ลูกสาวคลอดออกมานั้นเต็มไปด้วยสีสันหลากหลายยากที่จะพรรณนาเป็นคำพูดได้ มีทั้งตื้นตัน ประหลาดใจ ดีใจ ปลื้มปีติ แปลกใจ ที่เห็นเขาออกมาจากการเบ่งลมของผู้เป็นแม่ ที่ทุ่มพลังทั้งชีวิตในการให้กำเนิดชีวิตน้อยๆ ตัวแดงๆ ผมดำๆ เพียงแค่เห็นเขาออกมาได้และมาซบที่อกแม่แบบหอบแฮกๆ เหมือนกำลังหาที่ซุกซ่อนในที่ปลอดภัย แม่ก็ปลอบใจให้ลูกน้อยรู้สึกว่า “แม่อยู่ที่นี่นะลูก” ลูกร้องไห้แค่แอะเดียวเท่านั้น แล้วก็สงบซบอกแม่ที่เหงื่อสะพรั่ง แต่ดูมีความสุขเหลือหลาย ลมหายใจยังคงเป็นหนึ่งเดียวกัน หัวใจที่กล้าหาญที่เผชิญวิกฤตการณ์ชีวิตที่เปราะบางและหมิ่นเหม่อย่างร่วมไม้ร่วมมือของทั้งสองชีวิตทำให้ผมอดกลั้นน้ำตาไม่ได้ เลยปล่อยโฮใหญ่ออกมายังกับเด็ก ที่ไม่เคยเห็นอะไรที่มีพลังและความงามที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ ตอนนั้นรู้สึกว่าหัวใจสั่นสะท้านในอาการอึ้ง ต่อมน้ำตาที่แตกออกอาจเป็นวิธีเดียวที่จะใช้ระบายประสบการณ์อันท่วมท้นนี้ออกมาจากหัวอกของพ่อผู้เฝ้ามองที่คอยลุ้นและติดตามอย่างไม่ให้คลาดสายตาแม้เพียงลมหายใจเดียวก็เป็นได้

คุณหมอที่ช่วยทำคลอดคือ นพ.พิษณุ ขันติพงษ์ รพ. เชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย คุณหมอทั้งให้กำลังใจและมีอารมณ์ขันแบบไร้ขีดจำกัด และมักพูดติดตลกว่า “เขาจะมาตามหาความหมายชีวิต” รวมทั้งบรรดาพยาบาลห้องคลอดก็ช่วยเหลือให้กำลังใจ โอบประคองถึงความรู้สึกของผู้หญิงให้คลอดได้อย่างอบอุ่น จนผมรู้สึกว่านางฟ้าเหล่านี้ได้ช่วยเหลือให้ครอบครัวของพวกเราได้ผ่านช่วงเปลี่ยนผ่านชีวิตที่สำคัญยิ่ง หมอก็เหมือนเทวดาที่ให้การดูแลกระบวนการของธรรมชาติและช่วยเหลือด้วยความรู้ทางการแพทย์ตามความเหมาะสมโดยยังคงให้ “ธรรมชาติ”ของแม่และเด็กกระทำภารกิจของชีวิตตัวเองเป็นสำคัญ

ผมถือว่า การเกิดนี้เป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่ยากจะหาได้ และได้ช่วยปรับเปลี่ยนมุมมองที่ผมมีต่อชีวิต ต่อการเกิด ต่อผู้หญิงและความเป็นแม่ไปอย่างมาก เมื่อก่อนมันก็เป็นความเข้าใจเชิงทฤษฎี ซึ่งตอนนี้ผมจะไม่เรียกว่าความเข้าใจอีกต่อไป เรียกได้เพียงว่า ความเข้าหัว ไม่ใช่เข้าใจ เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้ประสบด้วยตัวเอง มันยากยิ่งนักที่จะสัมผัสถึงพลังของชีวิตและการเกิด ถึงแม้ว่าผมจะเคยศึกษาบทบาทของสามีในการให้ความช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้กับภรรยา จะนวดตรงไหน บีบตรงไหน แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็จับผิดจับถูก บางทีนวดก็แรงเกินไป รู้สึกเสื่อมสมรรถภาพทางการนวดไปเลยก็มีเป็นบางขณะ ในตะวันตกหลายประเทศเขากำหนดเป็นเงื่อนไขให้การคลอดนั้นต้องมีสามีผู้ร่วมก่อเหตุไว้อยู่ดูแลกระบวนการคลอดด้วย เรียกว่ารับผิดชอบร่วมกัน สามีบางคนไม่ค่อยได้เห็นเลือด (เหมือนที่ผู้หญิงมีประจำเดือนทั้งหลายได้เห็นเป็นเรื่องปกติ) พอเห็นเลือดและกลิ่นคาวๆ เข้าไปถึงกับหน้ามืด เวียนหัว และหมอพยาบาลต้องหันมาให้การพยาบาลกับผู้ชายก็มี

ผู้ชายส่วนใหญ่อาจมีประสบการณ์ตรงกับการเกิดน้อยมาก จึงไม่มีโอกาสได้เห็นความเจ็บปวดของการเกิด เพราะการเกิดของเราเองก็นานมาแล้ว จำไม่ได้แล้ว ไม่รู้หรอกว่าเจ็บปวดอย่างไร ต้องต่อสู้มากเพียงใด ผมคิดว่าการรับรู้ในเรื่องนี้จะช่วยทำให้จิตใจน้อมลงไม่น้อย เป็นโอกาสการเรียนรู้ที่น่าฉวยไว้ให้ชีวิต เพื่อให้เกิดการมองเห็นตรงๆ และเกิดการประจักษ์แจ้งด้วยตนเองว่านี่แหละชีวิต มันมากเกินกว่าจะคิดเอาเองด้วยคำอธิบายใดๆ การรับรู้ผ่านประสบการณ์ตรงช่วยให้เกิดความรู้ที่ไม่ต้องผ่านการคิดคาดคะเน เป็นทางลัดสู่การยอมรับความยิ่งใหญ่ของชีวิต เพื่อลดความอหังการ์ของเรา และความรู้ทั้งหลายที่เรามีนั้นเสียได้

ผมรู้สึกถึงคุณค่าของเด็กทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ การเกิดของโมโม่ (ลูกสาว) สะท้อนถึงการเกิดของเด็กคนอื่นๆ ที่เกิดมาบนโลกใบนี้ด้วยความยากลำบาก และความเจ็บปวด เรื่องนี้ต้องขอยกนิ้วให้กับบรรดาแม่ๆ ทั้งหลายที่ผ่านวิกฤติเหล่านี้มาได้ อีกทั้งบรรดาผู้หญิงที่เกื้อหนุนกันและกันในช่วงคลอด แม้แต่พยาบาลที่ยังไม่มีลูกของตัวเองก็ดูเหมือนจะสามารถเข้าถึงและเข้าใจความเจ็บปวดของหญิงคลอดลูกได้ดีทีเดียว ผมสัมผัสได้ถึงหัวใจของความเป็นแม่ร่วมกันที่ผู้หญิงเหล่านี้แสดงออกมาในการช่วยเหลือเกื้อกูล อันนี้ถือเป็นเรื่องลี้ลับและน่าทึ่งสำหรับผมทีเดียว ยังคงมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่น่ามหัศจรรย์เกี่ยวกับการเป็นมนุษย์จริงๆ

แม้ผมเองไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นชาวคริสต์ แต่ก็นับถือในพระพร และพลังของดวงจิตอันยิ่งใหญ่ ที่มีคำเรียกว่า พระเจ้า ผมเคยคิดว่าผมจะได้มาเข้าเฝ้าพระเจ้าก็ในห้องคลอด และแล้วก็รู้สึกว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ห้องนี้คือพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ที่มีการเสียเลือดเนื้อ น้ำตา มีการเอาชีวิตเข้าแลก เป็นห้องที่แม่ออกรบเพื่อต่อสู้กับความเจ็บปวดของการเกิด เพื่อให้กำเนิดลูกน้อยของตน ผมขอให้คุณพระช่วยคุ้มครองลูกน้อยและแม่ทุกคนให้แคล้วรอดปลอดภัยจากภยันอันตราย เพื่อค้นพบความเป็นมนุษย์และวิถีทางแห่งความรักด้วยกันทุกคนเทอญ



โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๑


ในสถานการณ์ที่ขัดแย้งอย่างรุนแรงในใจเรา “ศัตรู” ของเราก็สามารถเป็น “ครู” ที่อาจจะปลอมตัวมาช่วยเราให้นึกได้ว่า เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร ถ้าเราไม่ประหารเขาให้ดับสูญไปเสียก่อน

สำหรับคนที่เห็นแก่ตัวมาตลอดชีวิต คิดแต่ประโยชน์ส่วนตน และกระทำการใดๆ ก็ตามเพื่อตัวเองเท่านั้น คนอื่นไม่ต้องพูดถึง เขาผู้เห็นแก่ตัวผู้นี้แทบจะไม่รู้ตัวเลยว่า เขาไม่รู้จักว่าการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดูแลและเมตตากรุณาใครต่อใครนั้นให้ความสุขลึกๆ ในใจต่างกับที่ทำให้แต่ตนเองอย่างไร

ในทางกลับกัน สำหรับคนที่เห็นแก่ผู้อื่น เอื้อเฟื้อผู้คน เห็นใครต่อใครสำคัญกว่าตนเองเสมอนั้น ก็แทบจะไม่รู้จักเลยว่า การยืนยันความต้องการของตัวเองและรู้จักปฏิเสธความต้องการคนอื่นนั้น สามารถทำให้จิตใจปลอดโปร่ง และเบาใจได้อย่างไร

คนเห็นแก่ตัวกับคนเห็นแก่คนอื่น ต่างก็เป็นขั้วที่ตรงกันข้ามดั่งศัตรูก็ว่าได้ และต่างก็เป็นครูผู้สามารถสอนกันและกันก็ได้ เพื่อให้เรารู้จักบทเรียนว่า จะเห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่คนอื่นอย่างครบถ้วนครบครันนั้น ย่อมย้อนมาจรรโลงชีวิตด้วยกันทั้งนั้น ถ้าต่างไม่ปลิดชีวิตของกันและกันไปเสียก่อน

แต่หากเราสามารถเปล่งคำด้วยอารมณ์ใส่ผู้คนที่ต่างขั้วกับเราว่าเขาเป็นศัตรู อีกทั้งสามารถบริภาษเขาว่าเป็น "สัตว์นรก หรืออมนุษย์" และปรารถนาให้เขาเหล่านั้น “ไปตายซะเถิด ไปตายซะก็ดี (จะได้พ้นหูพ้นตา)” เสี้ยววินาทีนั้นบอกถึงเสียงด้านในของตัวเราเองที่คอยพิพากษาผู้คน

หากเราได้พิจารณาคำพิพากษาของเราที่กำลังสาดซัดไปกระทบใครต่อใครแล้ว เราจึงจะสามารถมองเห็นได้ว่า เราพิพากษาฟาดฟันใคร และเขาหรือเธอคนนั้นมีบุคลิกประเภทใด เขาเป็นคนอย่างไร บุคลิกนั้นรวมทั้งพลังของคนประเภทนั้นนั่นแหละที่เรากำลังต้องการเอามาดูแลความเปราะบางของเรา หรืออย่างน้อยมาถ่วงดุลขั้วความเคยชิน ความชำนาญที่เรายึดถือเป็นคุณค่าของเรา และกำลังมีพลังแรงกล้าอย่างมากมายจนอยากให้ใครต่อใครที่อยู่ตรงกันข้ามกับขั้วของเรานั้น “ตาย” ไปซะ

เป็นเรื่องท้าทายยิ่งนัก ที่จะต้องหันกลับมายอมรับว่า คู่กรณีหรือศัตรูของเรานั้น คืออีกด้านหนึ่งของเราที่หายไป หรือเงาของเรานั่นเอง และการยอมรับว่า เขาสามารถที่จะเป็น “ครู” ผู้กำลังแนะนำให้เรารู้ตระหนักว่าเราขาดอะไร เราไม่สามารถกระทำการบางอย่างที่ตรงกันข้ามกับขั้วที่เรายึดติดอยู่ซึ่งเราไม่รู้เลยว่า เราไม่รู้ขั้วตรงกันข้ามนั้นเป็นอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น เป็นไปได้ไหมว่า เราเคยเห็นแก่ตัว อยากทำอะไรตามใจตัวเอง เพื่อผลประโยชน์ของตัวอย่างสุดๆ เราอยากได้ของเล่นเป็นของเราสักชิ้น แต่ในฐานะพี่คนโตเราต้องยกให้น้อง เพราะมิฉะนั้นพ่อแม่ไม่รัก หรือหากเราเป็นลูกคนกลาง เราต้องรับมรดกเสื้อผ้าจากพี่คนโต และเราก็ต้องยอมกล้ำกลืนที่จะเห็นน้องมีข้าวของใหม่ใส่ เพราะเขาใช้เสื้อผ้าไซส์เล็กกว่าเรา และไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราถูกกะเกณฑ์ให้เป็นคนที่ต้อง “เห็นแก่ใครๆ” มากกว่าเห็นแก่ตนเอง

เราจึงเห็นคนที่เห็นแก่คนอื่นเท่านั้นเป็นที่รัก เป็นคนดี เป็นเทพ และเห็นคนเห็นแก่ตนเองเป็นสัตว์ หรือแม้กระทั่ง “สัตว์นรก” เพราะวันที่เราเคยลุกขึ้นมาเรียกร้องว่า เราต้องการเสื้อใหม่ของเรา เราอยากเล่นของเล่นใหม่ของเราโดยไม่ต้องแบ่งกับใคร วันนั้นเกิดเหตุการณ์ต่อว่าด่าทอจากคนที่เรารัก จนวันนั้นกลายเป็น “นรก” จริงๆ บางทีผลของการเลี้ยงดูในวัยเด็กก็ฝังลึกอยู่ในจิตไร้สำนึกของเราได้ถึงขนาดนี้

ท้าทายยิ่งนักที่เราจะรับได้ว่า “ไอ้สัตว์นรก อมนุษย์” เหล่านั้น เป็น อีกด้านหนึ่งของเราที่เรามองไม่เห็น ไม่กล้ามองเห็น ไม่กล้าเผชิญ เลยได้แต่ลุกขึ้นมาด่าเพลินๆ และเราสามารถบอกให้เขาไปตายซะได้นั้น เพราะเสียงอีกด้านหนึ่งของเราก็กำลังบอกเราว่า เราเป็น “เทพสวรรค์ เป็นมนุษย์เหนือกว่ามนุษย์ใดใด”

เป็นไปได้ไหมว่าเราเองก็เคยกระทำหรืออยากทำการเช่นเดียวกันสัตว์นรกและอมนุษย์เหล่านั้น แต่ทำแล้วเป็นผลร้าย เมื่อมาถึงวันที่เราเจอใครที่ทำอะไรคล้ายๆ ที่เราเคยทำ เราจึงเห็นว่าพวกสัตว์นรกเหล่านั้นไม่มีค่าคู่ควรอยู่คู่กับเรา พวกเขาจึงสมควร “ตาย” และหากตัวเราเองไม่สามารถเป็นเทพสวรรค์ได้เท่าที่ใจเรานึก เราก็ควรตายไปซะเหมือนกัน

เมื่อเราสามารถสาปแช่งให้ใครต่อใครให้ตายได้ เมื่อนั้นก็บอกว่า เรากำลังสาปแช่งตัวเราเอง หรืออย่างน้อยบางด้านของตัวเราเองให้ตกตายตามกันไป เพราะเรากำลังยอมรับว่า เราเองก็ขาดความสามารถที่จะมีชีวิตและลมหายใจอยู่ต่อไปเหมือนกัน

แต่หากท่ามกลางความขัดแย้งที่เรามีในใจอย่างรุนแรงกับใครต่อใคร โดยเฉพาะกับคนที่เราอยากให้เขาดับสูญหรือ ปลาสนาการไปต่อหน้าต่อตา เรามองให้เห็นแววตาของเขา หรือสัมผัสพลังในตัวเขา เราอาจจะเห็น “เงา” ของตัวเรา ที่หายไป และเราสามารถบอกกับตัวเราเองว่า บางครั้งในชีวิต กับผู้คนและสถานการณ์บางสถานการณ์ เราจำเป็นต้องเห็นแก่ตัวของเราเองบ้าง ดูแลตัวเราเองบ้าง รู้จักปฏิเสธคนอื่นบ้าง แม้กระทั่งจะงกบ้าง รวมถึงยืนกรานอย่างหนักแน่นว่า “นี่ของฉัน ไม่ใช่ของเธอ”

และหากเราเพียงวางเฉย หรืออาจจะกล้าหาญให้อภัยเขาได้ เราอาจจะเกลียดศัตรูของเราน้อยลง ให้เขาเป็น “ครู” สอนเราให้เราทำในสิ่งที่เราทำไม่ค่อยจะถนัดนัก เราก็อาจจะรับเงาของเรากลับคืน และให้อภัยตัวเราที่แท้จริง และยอมรับว่า เราก็มีอีกด้านหนึ่ง ซึ่งมีความสามารถที่จะเป็น “สัตว์นรก หรืออมนุษย์”เหล่านั้นทัดเทียมกันกับเขาเหล่านั้นผู้ที่ถูกเราพิพากษา



โดย พูลฉวี เรืองวิชาธร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๑

“ครอบครัวเราแม่มีลูกหลายคน ฐานะทางบ้านก็ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก เราเป็นลูกคนเดียวที่ถูกส่งไปอยู่ในความอุปถัมภ์ของผู้มีอุปการะคุณตั้งแต่เด็ก ทำให้เราคิดอยู่ในใจเสมอว่าแม่ไม่รักเราจึงไม่อยากเลี้ยงดูเราเหมือนพี่น้องคนอื่น อยู่มาวันหนึ่งได้กลับมาเยี่ยมบ้านมีโอกาสเลยถามแม่ว่า ‘แม่รักลูกเท่ากันไหม’ แม่ตอบว่า ‘ลูก ดูซินิ้วมือทั้งห้านิ้วเท่ากันไหม…..’ แม่ได้จากเราไปหลายปีแล้ว แต่น้ำตาที่ไหลอยู่ข้างในอก ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เสียใจ โกรธเกลียดว่าแม่ไม่รักเรา มันยังจดจำและฝังอยู่ในใจเรามาตลอดไม่เสื่อมคลายเลย แม้เวลาจะผ่านมา ๕๖ ปีแล้วก็ตาม…..” เสียงที่สั่นเครือกับน้ำตาที่ไหลอาบสองแก้มของเพื่อนผู้ร่วมเรียนรู้ท่านหนึ่งได้บอกเล่าเรื่องราวเปิดเผยความในใจที่เก็บมาไว้นานเกือบทั้งชีวิตให้กลุ่มได้รับฟัง*

ขณะที่รับฟังเพื่อนเล่า ภาพความทรงจำเก่าของผู้เขียนก็ย้อนกลับมาอีกครั้งอย่างชัดเจน วันนั้นเกือบจะเที่ยงคืนแล้ว เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นพร้อมกับสรรพสำเนียงเสียงที่ไม่ค่อยจะพอใจนักของพี่สาว “ไปอยู่ที่ไหนมาติดต่อไม่ได้เลย แม่...เส้นเลือดในสมองแตกอาเฮียกำลังพาไปโรงพยาบาลศิริราชเพื่อผ่าตัดสมองด่วน อาการเป็นตายเท่ากัน....” รู้สึกตกใจจนตัวชา สมองมึนตึ๊บ พอเริ่มคิดแว้บแรก...ทำไมแม่เป็นความดันสูงแล้วไม่บอกใคร ลูกตั้งเก้าคนไม่มีใครรู้เลยหรือไง ทำไมไม่มีใครใส่ใจแม่เลย แล้วเราล่ะมัวทำอะไรอยู่ เราเองก็ไม่ได้ใส่ใจแม่ด้วย เสียใจโกรธโมโหพาลไปหมด โกรธแม่ โกรธพี่ๆ มาลงท้ายที่เสียงก่นด่าโกรธและตัดสินตัวเองว่าเราเป็นลูกที่ไม่ดีไม่ดูแลแม่มัวแต่ไปดูแลใครก็ไม่รู้ เสียงนั้นยังชัดดังก้องในความทรงจำของผู้เขียนถึงแม้เหตุการณ์นั้นจะผ่านมาเกือบ ๔ ปีแล้วก็ตาม

ผู้เขียนเองเป็นอีกคนหนึ่งที่มักจะเก็บและแช่แข็งสิ่งค้างคาใจไว้นาน บางขณะก็มักจะจมจ่อมอยู่กับความรู้สึกผิดทั้งที่อาจทำไปด้วยความผิดพลาดพลั้งเผลอไม่ได้ตั้งใจ หรืออาจตั้งใจแต่ด้วยความไม่เดียงสาหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บางครั้งการกระทำของเราก็ไปทำให้เกิดการบันทึกความไม่ดีในใจของผู้อื่นโดยที่เราก็ไม่ทันได้รู้ตัวหรือไม่ได้ตั้งใจ บางทีเราก็ยังจดจำเรื่องที่ผู้อื่นกระทำให้เราโกรธเกลียดไว้ในใจลึกๆ ถึงแม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม หากเรายังไม่ได้คลี่คลายอย่างแท้จริงเรื่องนั้นก็ยังคงฝังจำอยู่ในใจเราจนบางครั้งเราคิดและบอกกับคนอื่นและตัวเองว่าเราไม่ได้โกรธแล้ว คลี่คลายหรือหายดีแล้ว แต่เมื่อมีบางสิ่งบางอย่างมาสะกิดใจอีกครั้งเราจึงรับรู้ได้ว่าลึกๆ เรื่องค้างคาใจนั้นยังมีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจเราอย่างไม่สร่างซา เหมือนกับแผลเป็นบางแผลที่ดูภายนอกนั้นเหมือนว่าหายสนิทดีแล้วแต่พอถูกสะกิดหรือโดนเข้าทีไรก็ยังรู้สึกเจ็บลึกๆ อยู่ทุกครั้ง

การที่เราเก็บงำความรู้สึกค้างคาต่างๆ ไว้ในใจ หากเป็นเรื่องที่เราทำให้ผู้อื่นทุกข์ ก็อาจจะส่งผลให้เราไม่กล้าแม้กระทั่งจะยอมรับความจริงบางอย่าง ไม่ยอมเปิดโอกาสเพื่อที่จะปรับความเข้าใจกัน บางครั้งทำให้ต้องสร้างภาพบางอย่างทำให้ผู้อื่นเข้าไม่ถึงเรา บางครั้งไม่กล้าแม้กระทั่งที่จะกล่าวคำว่า “ขอโทษนะคะแม่ ขออภัยนะจ๊ะพี่” ไม่กล้าแม้จะกล่าวคำว่า “รักแม่นะ” ไม่กล้าที่จะสัมผัสหรือโอบกอดคนที่เรารัก ที่สำคัญยิ่งก็คือหลายคนยังไม่ทันได้ทำในสิ่งที่กล่าวมาก็มีอันต้องตายจากกันไปก่อนซึ่งนับว่าน่าเสียดายอย่างยิ่ง แต่หากเรื่องค้างคาใจเป็นเรื่องที่ผู้อื่นทำให้เราโกรธเกลียดยังไม่ได้รับการปลดเปลื้อง เช่น เรายังไม่ได้ให้อภัยแก่คนที่เราโกรธเกลียดจริงๆ อย่างน้อยๆ เมื่อใดก็ตามที่เรานึกคิดถึงคนๆ นั้นใจเราก็จะเริ่มเป็นทุกข์ด้วยความโกรธเกลียดที่ฝังอยู่ในใจของเราโดยที่เขาคนนั้นยังไม่ทันได้รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ

ในอดีตอันไกลโพ้นมนุษย์มีสัญชาติญาณการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดต้องระแวดระวังภัยเพื่อการดำรงอยู่ก็เลยต้องจดจำสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิต ซึ่งเป็นสัญชาตญาณที่ต้องเตรียมพร้อมเพื่อหลบหลีกภัยในครั้งต่อๆ ไป นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธรรมชาติของมนุษย์ส่วนใหญ่มักจะจดจำเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นด้านร้ายได้รวดเร็วและฝังในใจได้นานกว่าประสบการณ์ด้านดีๆ เพราะจะทำให้อยู่รอดปลอดภัย แต่หากเราจดจำสิ่งที่เป็นด้านร้ายๆ มากและนานจนเกินไปมักจะทำให้เรามองข้ามกับสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราจดจำฝังใจกับด้านร้ายๆ ได้นานก็เพราะเรายึดมั่นถือมั่นในความคิดความเห็นหรือความเชื่อของเรามากอีกทั้งการคิดปรุงแต่งไปเองจนไม่ยอมที่จะเปิดใจรับฟังเสียงภายในตัวเองและเสียงของผู้อื่นอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้เราไม่ยอมที่จะขออภัยผู้อื่นหรือไม่ยอมให้อภัยคนที่ทำร้ายเราโดยเฉพาะการไม่ยอมให้อภัยในความผิดพลาดพลั้งเผลอของตัวเอง สาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการติดยึดกับเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้นได้นานก็คือความโลภความอยากของเรา เรามักจะคาดหวังกับคนที่อยู่ใกล้ชิดมากเกินไปคิดอยู่เสมอว่าเขาต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามที่เราพึงปรารถนาไม่ควรทำในสิ่งที่เราไม่ชอบไม่พอใจ

เสียงเพื่อนคนเดิมยังคงเล่าเรื่องราวต่อ “.....เมื่อได้นั่งนิ่งใคร่ครวญอย่างมีสติเราได้เผชิญกับปมปัญหาภายในใจที่เราฝังไว้นาน เราเก็บซ่อนไว้อย่างดีที่สุด ในอีกมุมหนึ่งเราก็ได้เห็นสิ่งงดงาม ความรัก ความหวังดี ความยากลำบาก ความทุกข์ทรมานใจที่แม่ได้รับขณะที่มีความจำเป็นบางอย่างจนต้องให้เราไปอยู่กับคนอื่น…..คิดถึงแม่ รักแม่มากๆ…. สิ่งที่ค้างคาในใจได้ปลดเปลื้องหมดสิ้นแล้วขณะนี้…. ขอบคุณเพื่อนๆ ทุกคนที่รับฟังด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง ไม่ด่วนตัดสิน ให้โอกาสได้ระบายความในใจที่เก็บซ่อนไว้มาเกือบตลอดชีวิต”* เสียงนั้นมาพร้อมกับรอยยิ้ม น้ำตายังคงอาบสองแก้มแต่เป็นน้ำตาแห่งการคลายเงื่อนปมความทุกข์ภายในใจ เป็นน้ำตาแห่งความปลื้มปิติของมนุษย์ผู้มีความหวัง ได้รับพลังชีวิตกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

บางทีการประสบกับสิ่งร้ายในชีวิตเปรียบไปก็คล้ายกับเรากำลังเล่นไพ่ บางครั้งเราไม่สามารถเปลี่ยนไพ่ที่เราจั่วมาได้ แต่เราจะเล่นไพ่ในมืออย่างไรให้ดีที่สุดต่างหากกลับเป็นสิ่งสำคัญกว่าการพยายามวิ่งหนีหลีกเลี่ยงเรื่องร้ายๆ ของชีวิตอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่ว่าเรากล้าหาญและใจกว้างพอที่จะเผชิญกับความจริงเหล่านั้นได้มากน้อยเพียงใด ในยามที่เรานิ่งมีสติตื่นรู้พอเราจะเห็นได้ว่ายังมีความงดงามเกิดขึ้นมากมายในอดีตที่เรามักหลงลืมที่จะจดจำหรือเลือกที่จะไม่จดจำความสุขความดีงามต่างๆ เหล่านั้นเพียงเพราะความทุกข์บางอย่างที่เป็นม่านบางๆ มาบดบัง หรืออาจเป็นเพียงเพราะเราคิดว่าเป็นหน้าที่ที่เขาต้องทำให้กับเราในเวลานั้นเราจึงมองไม่เห็นคุณค่าในการกระทำเหล่านั้น แต่หากเรานิ่งพอและมองใหม่ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นเกิดจากความรักความจริงใจความหวังดีเราก็จะเห็นสิ่งต่างๆ อย่างเป็นจริงรอบด้านมากขึ้น และเราก็จะได้รับของขวัญชิ้นใหญ่เป็นความปลื้มปิติ ความสุข พลังชีวิตให้เราก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง

หากเราเริ่มเข้าใจธรรมชาติอีกสิ่งหนึ่งของมนุษย์ก็คือ มนุษย์ทุกคนล้วนรักสุขเกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น และตระหนักอยู่เสมอว่าไม่รู้ว่าเราจะมีชีวิตอยู่ด้วยกันอีกนานแค่ไหน ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้หรือชาติหน้าสิ่งไหนจะมาถึงเราก่อนกัน วันนี้อาจเป็นการพบกันครั้งสุดท้ายก็ได้ เวลาที่ผ่านมานั้นมีค่าน้อยกว่าเวลาที่เราเหลืออยู่ เราแก้ไขสิ่งที่ผ่านมาไม่ได้แต่เราสามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ตามที่เราต้องการ หากเราคิดได้อย่างนี้เราก็จะนุ่มนวลต่อชีวิตและสิ่งรอบกายได้มากขึ้น ทำให้เราระมัดระวังในการทำของเราเพื่อไม่ให้เกิดการบันทึกสิ่งที่ไม่ดีในใจทั้งของเราและผู้อื่นโดยเฉพาะเด็กๆ (เพราะสิ่งไม่ดีในใจเกิดได้ง่ายแต่จะลบออกนั้นยากกว่ามาก) เราจะปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความรักความปรารถนาดีต่อกัน ใส่ใจดูแลถนอมน้ำใจกันมากขึ้นโดยเฉพาะคนใกล้ชิด ชื่นชมในสิ่งดีๆ ที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยสี่ที่มีอย่างไม่ขัดสน สุขภาพร่างกายที่ยังคงแข็งแรง ทรัพย์สมบัติเงินทองที่หามาได้ ครอบครัวที่อบอุ่นมีคนที่เรารักและรักเรา หรือแม้กระทั่งความรู้สึกดีๆ ความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่หาได้ง่ายในชีวิต พิจารณาใคร่ครวญปล่อยวางสิ่งที่เรายึดติดทั้งสิ่งที่เรารักและสิ่งที่เราเกลียดสิ่งใดที่ยังคงค้างคาใจให้เราเร่งขวนขวายกระทำอย่าผัดผ่อนอีกต่อไปเลยเพราะเราอาจจะไม่ได้ทำก็ได้ ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการเริ่มต้นที่จะทำสิ่งดีๆ ให้กับทุกสรรพชีวิตและพร้อมที่จะทำทุกสิ่งในปัจจุบันขณะให้ดีที่สุดด้วยความตั้งใจมีสติและตื่นรู้พอที่จะเดินต่อไปด้วยความกล้าหาญ กล้าเผชิญอย่างมั่นคง


* จากการเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติหัวข้อ”เผชิญความตายอย่างสงบ” เมื่อ ๒๔-๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๑ จัดโดย เครือข่ายพุทธิกาและเสมสิกขาลัย



โดย กิติยา โสภณพนิช
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๑


คุณแม่ลูกอ่อนกลับมาทักทายกันอีกครั้งบนหน้ากระดาษหลังจากหายหน้าหายตากันไปหลายเดือน ตอนนี้เจ้าตัวน้อยของผู้เขียนก็เริ่มคืบคลานเข้าสู่เดือนที่หก กำลังจ้ำม่ำ น่ารักน่าชัง ในขณะที่ตัวผู้เขียนเองก็กำลังปรับตัวเข้าสู่การเป็นแม่ทำงาน (Working Mom) จัดสรรเวลางาน เวลานอน และเวลาพักผ่อนหย่อนใจให้เข้ากับชีวิตใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทุกวันนี้เวลาขับรถไปทำงาน ผู้เขียนจะเปิดซีดีสอนปฏิบัติธรรมอยู่แผ่นหนึ่ง ฟังวนเวียนซ้ำไปซ้ำมา โดยแอบหวังลึกๆ ว่า “ธรรมะ” จะค่อยๆ ซึมผ่านเนื้อหนังมังสาหนาๆ ของเราเข้าไปสู่จิต “ภายใน” วิธีการปฏิบัติธรรมในซีดีที่พระอาจารย์ท่านสอนนั้นแสนจะเรียบง่าย คือ ให้เราตามรู้ใจของเราอย่างที่มันเป็น ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องเพ่ง และที่สำคัญคือ ไม่ต้องคิด แค่เพียง “รู้” ใจมันโกรธก็รู้ ดีใจก็รู้ เครียดก็รู้ ฯลฯ ผู้เขียนก็ปฏิบัติตามไปอย่างงูๆ ปลาๆ นึกได้ก็ทำ แต่ส่วนใหญ่ก็จะลืม โดยเฉพาะเวลาอยู่กับลูก เพราะทั้งกาย ใจ และปัญญาทั้งหมดทั้งมวลที่เรามีนั้น มันจดจ่ออยู่ที่ลูก ลูก และลูกคนเดียว จนไม่เหลือสติหรือพลังใดๆ ที่จะมารับรู้ความเป็นไปข้างในจิตใจของตัวเอง

แต่วันก่อนได้ฟังคำสอนที่น่าสนใจจากซีดีแผ่นเดิม (อาจเคยฟังไปแล้วแต่เพิ่งจะได้ยิน) มีคนถามพระอาจารย์ว่า จิตก็เหมือนเด็กใช่ไหม ท่านตอบว่า ใช่ เวลาเราดูจิตก็เหมือนกับว่าเรากำลังเฝ้าดูเด็กคนหนึ่ง และท่านยังเสริมอีกว่า ให้ดูจนรู้ว่าเด็กคนนั้นไม่ใช่เรา

ฟังแล้วก็ลองคิดตามดู จริงๆ การเลี้ยงเด็กกับการปฏิบัติธรรมอาจมีส่วนคล้ายคลึงกันอยู่ไม่น้อย ในฐานะที่กำลังเป็นแม่ลูกอ่อน ผู้เขียนเลยลองเทียบเคียงเล่นๆ พอให้เห็นถึงความเหมือน (หรือความต่าง) ของสองสิ่งนี้ ไม่ได้อ้างอิงหลักการใดๆ ขออนุญาตคิดเองตามอำเภอใจ อาจไม่ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เผื่อใครที่มีลูกแล้วอาจจะเข้าใจการปฏิบัติธรรมมากขึ้น หรือใครที่เข้าใจเรื่องการปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีลูก อาจจะพอเข้าใจการเลี้ยงลูกขึ้นมาบ้าง

รู้ (ทัน) ในสิ่งที่เขาเป็น ณ ปัจจุบันขณะ แล้วเราจะปฏิบัติกับเขาได้อย่างเหมาะสม

เด็กก็เหมือนจิตตรงที่เขาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อยู่เหนือความควบคุมของเรา แม้เราคิดว่าเราได้จัดสรรสิ่งแวดล้อมที่พร้อมสมบูรณ์ที่สุดแล้วก็ตาม เขาก็ยังสามารถแสดงปฏิกิริยาที่เหนือความคาดหมายของเราออกมาได้เสมอ เด็กอาจไม่ไวเท่าจิต แต่ก็ไวพอที่จะทำให้เราไม่อาจละสายตาจากเขาได้ มีคนเคยบอกผู้เขียนว่า เด็กจะบังคับให้เราต้องอยู่กับปัจจุบันขณะ และมีคำพูดของคนจีนที่พูดทำนองว่า เด็กเปลี่ยนวันละ 18 ครั้ง ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดสำหรับลูก คือ รู้ให้ทันในสิ่งที่เขากำลังเป็นอยู่ ณ ตอนนี้ ผู้เขียนพบว่าเมื่อเรามองเห็นลูกอย่างที่เขาเป็นจริงๆ โดยไม่พยายามถามหาสาเหตุเกินจำเป็น หรือวิเคราะห์ให้มากเรื่อง เราจะสามารถตอบสนองได้ตรงต่อความต้องการของเขาและมีสติในการกระทำมากกว่า

ฝึกและฝืนอย่างมีศิลปะ คือให้ลูกเคยชินกับสิ่งที่ดี (ก่อนที่เขาจะรู้จักสิ่งที่ไม่ดี)

เมื่อธรรมชาติของเด็กเหมือนกับธรรมชาติของจิต คือ ไม่อยู่นิ่ง ไอ้เรื่องจะไปบังคับลูก ฝึกลูกแบบทหารจึงไม่ใช่วิสัย เพราะถ้ายิ่งใช้ไม้แข็งเด็กก็จะยิ่งดื้อด้าน เหมือนจิตเราที่พอไปบังคับมันมากๆ มันก็จะกลายเป็นจิตที่แข็งกระด้าง หนักๆ ทื่อๆ

แต่สิ่งที่เราทำได้คือ สร้างนิสัยที่ดีให้กับเจ้าตัวน้อยตั้งแต่เริ่มต้น ค่อยๆ ทำทีละนิด แต่ทำบ่อยๆ สักวันสิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นนิสัยติดตัวเขาไปจนโต

แต่ต้องสม่ำเสมอในการกระทำ มีความเพียรเป็นกำลังสำคัญ

เด็กชอบอะไรที่ชัดเจน แน่นอน คาดเดาได้ สิ่งแปลกปลอม ความผิดปกติมีแต่จะทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย ในทางกลับกันความสม่ำเสมอจะทำให้เขารู้สึกอุ่นใจ อย่างเช่น ทุกคืน สองแม่ลูกก็จะพากันขึ้นบ้าน อาบน้ำ ใส่ชุดนอน อ่านหนังสือ แล้วก็เข้านอน ทำอย่างนี้ทุกวันๆๆๆ จนกระทั่ง พอเริ่มเปิดหนังสือลูกก็เริ่มขยี้ตาแล้ว การทำซ้ำๆ จึงเป็นอาวุธสำคัญในการฝึกนิสัยที่ดีให้ลูก การตามรู้ตามดูจิตของเราก็ต้องหมั่นทำอยู่ทุกวัน ค่อยๆ สั่งสมพลัง จนแม้จิตขุ่นมัวเพียงเล็กน้อยก็รู้ได้ทันท่วงที แต่อย่าเอาอย่างผู้เขียนที่มักจะปฏิบัติสองวันไม่ปฏิบัติสามวัน ทุกครั้งที่กลับมาตั้งใจปฏิบัติหลังจากว่างเว้นไปนานจะเหมือนต้องมาตั้งต้นใหม่ทุกทีไป

ตั้งใจเลี้ยงมากไม่ได้ ต้องเลี้ยงแบบเล่นๆ (ทิ้งๆ ขว้างๆ บ้างก็ดี)

เคยไหมที่เวลาเราตั้งใจทำอะไรมากๆ อยากจะให้มันสำเร็จ สุดท้ายมันมักจะไม่สำเร็จทุกที เวลาผู้เขียน ตั้งใจ (และร้อนใจ) กล่อมลูก อยากให้เขาหลับเร็วๆ (เราจะได้ไปทำอะไรต่างๆ นานา ที่ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าการเอาใจใส่ดูแลลูก) ลูกจะยิ่งงอแง นอนยาก แต่เมื่อไหร่ที่เราทำเป็นไม่สนใจ ชมนกชมไม้ไปด้วย ร้องเพลงคลอเบาๆ ขยับช้าๆ อย่างมีจังหวะจนคล้ายการเต้นรำ ไม่นานลูกก็เคลิ้มหลับแต่โดยดี

ผู้เขียนเพิ่งมาเห็นว่าความอยากนี่ละตัวร้ายที่ต้องคอยระวังให้ดี โดยเฉพาะความอยากดี อยากปฏิบัติ อยากให้ตัวเองเป็นคนดี อยากให้ลูกเป็นคนดี ไม่ว่าเราจะอยากในสิ่งที่ดีแค่ไหน มันก็คือ “ความอยาก” อยู่ดี มันจะมาบดบังทำให้เราไม่เห็นความจริงที่อยู่ตรงหน้า (ว่าลูกเราเป็นคนอย่างไร หรือว่าใจเรามันเรรวนแปรปรวนแค่ไหน) การเลี้ยงแบบเล่นๆ จึงไม่ใช่การเลี้ยงแบบไม่เอาใจใส่หรือปล่อยไปตามยถากรรม แต่เป็นการเลี้ยงที่ลดปริมาณความอยากของคนเป็นแม่ลงไปไม่มากก็น้อย

สุดท้ายต้องรู้ว่าลูกไม่ใช่เรา เราเปรียบเป็นเพียงบ้านเช่า ที่เขามาอาศัยอยู่ด้วยเพียงชั่วคราว เมื่อหมดวาสนาต่อกัน ไม่เขาหรือเราก็ต้องไป

ท้ายสุดที่ยากยิ่งกว่าสิ่งใด คือ ให้รู้ว่าลูกไม่ได้เป็นของเรา เราให้กำเนิดเขา เลี้ยงดู ประคบประหงบจนเขาเติบใหญ่ แต่ไม่มีเลยสักวันเดียวที่เขาเป็นของเรา (คิดเรื่องนี้ทีไรผู้เขียนต้องมีอาการน้ำตาซึมทุกที) แต่ที่ยากเย็นยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขาคือการรู้ว่าจิตไม่ใช่เรา ซึ่งผู้เขียนก็ยังห่างไกลความจริงข้อนี้อยู่มากโข เอาเป็นว่าเราก้าวเดินอย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละก้าว โดยตระหนักดีถึงจุดหมายปลายทางที่เราจะไปก็แล้วกัน

เมื่อคิด (และเขียน) ถึงตรงนี้ผู้เขียนก็เริ่มเห็นว่า ธรรมะก็บอกอะไรเราเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกอยู่ไม่น้อย หรือหากมองอีกมุมหนึ่ง การเลี้ยงลูกก็สอนธรรมะเราอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน เรื่องไกลตัวจึงกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวได้โดยไม่ยาก หากใครสนใจสามารถเอาข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับลูกตัวเอง หรือแตกหน่อต่อยอดไปสู่ชีวิตการทำงาน การกีฬา ความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง สามีหรือภรรยา ก็ยิ่งดีใหญ่ จะว่าไปแล้ว ก็ดูเข้าที เดี๋ยววันนี้ ผู้เขียนว่าจะลองเอาไปใช้กับคนใกล้ตัวดูบ้าง คงจะไม่เลวเลยทีเดียว



โดย สมสิทธิ์ อัสดรนิธี
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๑

คนเราในยุคสมัยปัจจุบันเติบโตและดำเนินชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยวัตถุและการรับรู้เชิงรูปธรรม จึงไม่น่าแปลกใจนักที่คนส่วนใหญ่มักตัดสินและให้คุณค่าจากวิธีการรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสเท่านั้น โลกทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ที่เน้นเฉพาะสิ่งที่วัดได้ จับต้องได้ ทำนายและคาดหมายผลได้จึงเป็นโลกทัศน์หลักเพียงโลกทัศน์เดียวของผู้คนเกือบทั้งหมด เปิดที่ว่างให้เพียงน้อยนิดสำหรับแนวคิดและมุมมองอื่นๆ ที่พอจะแทรกตัวขึ้นมาได้บ้าง แม้โลกทัศน์วิทยาศาสตร์จะสร้างคุณประโยชน์ให้แก่โลกมาไม่น้อย แต่นั่นยังไม่ใช่ทั้งหมดแห่งศักยภาพของความเป็นมนุษย์ อีกทั้งมันยังเป็นตัวขวางกั้นมิให้เราเข้าถึงความเป็นจริงที่ยิ่งใหญ่อีกมากมาย ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าท้าทายอย่างยิ่งว่าเราจะสามารถพาตัวเองให้ข้ามพ้นไปจากข้อจำกัดของโลกทัศน์เดิมๆ ไปสู่ศักยภาพที่มากขึ้น และอยู่บนฐานแห่งการรับรู้ที่กว้างขึ้น เพื่อความสมบูรณ์กว่าแห่งชีวิตได้หรือไม่

โดยทั่วไป เรามักฝากความหวังเกือบทั้งหมดไว้ที่ก้อนสมอง นั่นก็คือความคิดของเรา ความคิดนั้นโดดเด่นตรงที่เป็นศักยภาพที่สามารถเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าหากันด้วยความเป็นเหตุเป็นผลอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน เราใช้ความคิดในการรับรู้ ตัดสินใจ ให้คุณค่า และทำนายผล ทุกครั้งที่เราเผชิญปัญหาเรามักกลับมาปรึกษาและขอความเห็นจากสมองเสมอ โดยหลงลืมไปว่าเรายังมีเพื่อนอื่นๆ ที่อาจจะให้คำตอบดีๆ ที่คาดไม่ถึงอยู่ก็ได้ สมองนั้นยังดูดีตรงที่มันมักซับซ้อนและไม่ค่อยจะตรงไปตรงมา คนเราตื่นเต้นกับความสามารถแบบนี้ยิ่งนักจนแม้ว่าสมองจะพูดจาวกวนหรือผิดเพี้ยนไปบ้าง เราก็ยังยินดีที่จะให้อภัย มิหนำซ้ำยังคอยยกย่องความสามารถของสมองด้วยการมอบปริญญาบัตรแบบต่างๆ ให้อย่างมากมายเสมอมา น้อยคนนักที่จะตระหนักว่าการพึ่งพาสมองที่ฉลาดล้ำอย่างเดียวอาจเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดนักก็ได้

ทีนี้เราลองหันมามองเพื่อนอื่นๆ ของเราดูบ้าง นอกเหนือไปจากสมองแล้ว ดูเหมือนว่าเรายังมีส่วนอื่นๆ ที่คอยส่งเสียงเรียกร้อง ทักทาย และตักเตือนอยู่เป็นระยะๆ (แต่อาจไม่ดังนักเพราะเราไม่ค่อยตั้งใจฟัง) ที่สำคัญๆ ก็มี กายกับใจของเรา ในที่นี้จะขอกล่าวถึงกายเป็นหลัก กายนั้นเป็นช่องทางหนึ่งแห่งการรับรู้ที่มีความกว้างใหญ่และลุ่มลึกไม่น้อย นอกจากนี้กายยังสามารถแปลผลและส่งสารบางอย่างให้แก่เรา แต่ที่เรามักไม่เข้าใจเพราะหลงลืมไปว่า สารที่กายส่งมาให้เรานั้น มันจริงและตรงไปตรงมาเป็นที่สุด เราอาจคุ้นชินกับการบิดเบือนหรือความซับซ้อนเสียจนลืมไปว่ากายนั้นไม่ใช่สมอง กายไม่ได้คิด ฉะนั้นอะไรที่กายส่งมาจึงจริงแท้ ตรงไปตรงมา และมีความสดใหม่ทันทีทันใด จนบางทีเราถึงกับรับมือกับมันไม่ทัน กายมีความสร้างสรรค์ได้ หากแต่ความสร้างสรรค์ของกายไม่ได้เกิดจากการคิด แต่มันคือการเป็น เป็นความสร้างสรรค์ด้วยเนื้อด้วยตัวของมันเอง กายจะสร้างสรรค์ได้ก็ต่อเมื่อ “กล่อง” ที่ครอบงำเราด้วยความคิดความเชื่อต่างๆ ต้องถูกสั่นหรือฉีกทำลายลงก่อน (หรือสักหน่อยก็ยังดี) นอกจากนี้การเบิกบานอยู่กับปัจจุบันขณะ กับความเป็นตัวของตัวเองที่ไม่ต้องกังวลกับมาตรฐาน การตัดสิน หรือการแข่งขันใดๆ ก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยที่เอื้อให้กายนั้นเปล่งประกายฉายแสงออกมาได้

ศักยภาพของกายมีมากกว่าที่เราคิดไว้นัก บางครั้งแค่ความเชื่อมั่นว่าเราจะทำได้ เท่านี้ก็เพียงพอที่จะสร้างความอัศจรรย์ใจได้ไม่น้อย ขอให้เริ่มลงมือทำมันทันทีโดยไม่ต้องคิดวางแผน (เพราะกายไม่ต้องอาศัยการคิด แต่อาศัยการลงมือทำ) แล้วการกระทำแรกนั้นจะกรุยทางไปสู่แนวทางและคำตอบอื่นๆ ให้ตามมาเอง ตัวอย่างเช่น เวลาที่เราเต้นรำหรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีสุนทรียภาพนั้น ที่ยากที่สุดอาจเป็นการเคลื่อนไหวกายในชั่วขณะแรกๆ ด้วยเราอาจกังวลว่าไม่รู้จะเริ่มด้วยท่าทางอย่างไรก่อน (เพื่อให้ดูดี) แต่ครั้นเมื่อเราเริ่มเคลื่อนกายไปแล้ว การเคลื่อนไหวเหล่านั้นจะช่วยคลี่คลายให้ท่าทางอื่นๆ ตามๆ กันออกมาได้อย่างลื่นไหลและเป็นธรรมชาติ ที่สำคัญเราต้องเปิดโอกาสให้กายของเราได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ ไม่ต้องแคร์กับการถูกมองหรือถูกตัดสิน และปล่อยให้เป็นปัจจุบันอย่างแท้จริง ความอัศจรรย์ของภาษากายจะเริ่มร้อยเรียงและบรรเลงตัวของมันเองออกมาได้อย่างไม่อับจน

กายยังส่งสารอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อชีวิตของเราอีกไม่น้อย ความสบายของเนื้อตัว ตลอดจนความเมื่อยและเจ็บก็เป็นสารที่กายของเราพยายามสื่อบอกให้เราตระหนักรู้ถึงสภาวะที่เป็นอยู่อย่างตรงไปตรงมา กายไม่จำเป็นต้องดัดแปลงสารให้ดูดีหรือดูร้ายกว่าความเป็นจริงด้วยเหตุผลใดๆ สารที่กายสื่อจึงอาจดูดิบหรือไร้การขัดเกลาไปบ้างจนแม้เราเองอาจรับมันไม่ค่อยได้ในสถานการณ์ทั่วไป จนกว่าเมื่อถึงวันที่สมองหรือใจของเราไม่อาจตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของเราได้อีกแล้ว เมื่อนั้นเราจึงจะยอมหันมารับฟังในสิ่งที่กายพูด (ซึ่งหลายครั้งนั่นเป็นช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวด) ไม่น่าแปลกใจเลยที่ภูมิปัญญาแห่งกายถูกละเลยจนกลายเป็นสิ่งไร้ค่า แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีผู้คนในสังคมดั้งเดิมบางสังคมที่ยังคงให้ความสำคัญแก่ภูมิปัญญาส่วนนี้ จนถึงขนาดที่ว่าพวกเขาสามารถใช้กายเป็นฐานแห่งการรับรู้ความเป็นไปของผู้คนหรือเพื่อนฝูงที่อยู่ห่างออกไปหลายกิโลเมตรได้

กายมีมิติให้เราเข้าไปค้นหาและผจญภัยได้ไม่รู้จบ ขอเพียงเรายอมให้กายและใจเป็นผู้นำทาง แล้วเราจะได้รับประสบการณ์ต่างๆ ที่มีคุณค่า อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น กายนั้นคิดเหมือนสมองไม่ได้ แต่หลายครั้งเราก็เคยคาดหวังจะให้กายทำอะไรดีๆ หรู ๆ เหมือนสมอง ซึ่งเป็นความคาดหวังที่ผิดพลาด อย่างไรก็ตาม กายมีภูมิปัญญาของตนเองพอที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้ หากเพียงเราไว้วางใจกายอย่างเต็มที่ ขอเพียงให้เราเปิดโอกาสให้กายได้พูดและแสดงบทบาทของมันออกมาอย่างตรงไปตรงมา ในระยะยาว เราสามารถสร้างเสริมบุคลิกภาพของเราเองด้วยสิ่งที่ได้เรียนรู้เหล่านี้ ใช้ท่าทีทั้งด้านกาย ใจ และความคิดได้อย่างเหมาะสมและสมดุล เพื่อนำไปสู่ความสัมพันธ์ต่างๆ ที่ดีขึ้นได้ และนี่เองคือการเรียนรู้ที่เราได้เปิดพื้นที่ออกไปให้กว้างกว่าพื้นที่ของการคิด กลายเป็นการเรียนรู้ด้วยกายและใจอย่างใคร่ครวญ ลุ่มลึกและรอบด้าน เป็นการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรงที่นำไปสู่การสืบค้นมิติด้านในของตนเอง และเป็นการเรียนรู้อย่างเปิดกว้างและเชื่อมโยงมิติต่างๆ ในความเป็นจริงของธรรมชาติ อันนำไปสู่การเกิดปัญญาแห่งการดำเนินชีวิต ซึ่งก็คือแนวคิดของการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษานั่นเอง

สุดท้าย ขอขอบคุณกายนี้ของเราที่มักให้อะไรดีๆ แก่เราเสมอ ขอบคุณแขนขาและเนื้อตัว ขอบคุณที่พวกเขายังพูดด้วยภาษาที่ไพเราะ ไม่ทำให้เราเจ็บปวด และเป็นภาษาที่ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ขอบคุณที่พวกเขาทำให้เราสามารถมีการเคลื่อนไหวที่งามสง่าและสนุก นี่เป็นความหฤหรรษ์ยิ่งในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ขอบคุณที่พวกเขาพูดจาด้วยภาษาประดุจวงมโหรีที่บรรเลงอย่างมีสุนทรียภาพ ขอขอบคุณที่พวกเขายังเมตตาให้เรายังมีความสุขสบายอยู่ได้

Newer Posts Older Posts Home