โดย ธีระพล เต็มอุดม
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๙
----------------

เด็กชายตัวน้อยเฝ้าคอยวันคริสต์มาสที่ใกล้เข้ามาด้วยใจจดจ่อ เมื่อวันนั้นจะมาถึง ทุกสิ่งทุกอย่างงดงามดังหวัง เสียงเพลงเสียงระฆังดังกังวาน ทุกหนแห่งประดับประดาด้วยดวงไฟและริบบิ้นแดงเขียว หิมะโปรยละอองขาวบางปกคลุมไปทั่ว เหลือเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เจ้าหนูรอคอย คุณลุงใจดีในชุดสีแดงผู้มีชื่อว่าซานตาคลอส

ในระหว่างขับรถจักรยานเที่ยวเล่นไปตามถนนในหมู่บ้านกับพี่สาว เจ้าหนูบอกเล่าถึงการมาเยือนของลุงซานต้าให้เธอฟังอย่างตื่นเต้น ทว่าเธอพลันหัวเราะเยาะตอบน้องชายวัยเก้าขวบว่า
“มีซานตาคลอสซะที่ไหน แค่นิทานหลอกเด็กเท่านั้นแหละ ใครๆ ก็รู้”

ราวกับถูกปลุกตื่นจากฝันหวาน เจ้าหนูรู้สึกว่าตัวเองช่างโง่เขลา ต้นคริสต์มาสประดับดาวและตุ๊กตาดูเหงาหงอย ความร่าเริงสดใสในท่วงทำนองเพลงหายไป

เจ้าหนูทนเก็บความอึดอัดสงสัยว่าซานตาคลอสนั้นมีจริงหรือไม่เอาไว้จนเกือบค่ำ ขณะกำลังทานขนมอบเชยรสหอมหวานฝีมือคุณยาย จึงได้เอ่ยปากถามยาย ผู้ที่จะบอกเขาแต่ความจริงเสมอ ยายขมวดคิ้วก่อนตอบว่า
“ข่าวลือนี่มีมานานหลายปีแล้วนะ เอาล่ะ งั้นเราออกไปข้างนอกกัน”
“ไปไหนครับคุณยาย?”

คุณยายขับรถพาหลานตัวน้อยไปยังห้างสรรพสินค้า มอบเงินให้สิบเหรียญและปล่อยเขาอยู่ตามลำพัง บอกเพียงว่า
“หลานเอาเงินนี้ไปซื้อของขวัญนะ อะไรก็ได้ไปมอบให้คนที่หลานคิดว่าเขาควรจะได้รับ”

เจ้าหนูลังเลนิ่งคิดอยู่สักครู่ใหญ่ ด้วยไม่คุ้นเคยกับการซื้อของโดยลำพัง เขานึกถึงเพื่อนไปทีละคน แล้วก็นึกถึงบ๊อบบี้ เพื่อนผู้ไม่เคยลงไปเล่นหิมะกับเพื่อนๆ ที่สนามในช่วงพักกลางวัน บ๊อบบี้บอกครูว่าเขายังไอและไม่หายจากหวัด แต่ทุกคนต่างรู้ว่าสาเหตุจริงๆ คือครอบครัวของบ๊อบบี้ยากจน ไม่มีรายได้มากพอซื้อเสื้อโค้ทกันหนาวให้ใส่

คิดได้ดังนั้นแล้ว เจ้าหนูจึงตัดสินใจซื้อเสื้อโค้ทกันหนาวตัวหนึ่งให้เป็นของขวัญแก่เพื่อนคนนี้ ระหว่างช่วยกันห่อของขวัญ คุณยายยังแนะนำให้เขาเขียนการ์ดแนบไว้ ข้อความว่า “สำหรับบ๊อบบี้ จาก ซานต้า”
คุณยายยังบอกด้วยว่า “เอาล่ะ ตอนนี้หลานได้เป็นทีมซานตาคลอสแล้วนะ และจะเป็นตลอดไป”

ท่ามกลางอากาศหนาวและหิมะในคืนก่อนวันคริสต์มาส สองยายหลานขับรถไปยังบ้านของบ๊อบบี้ เจ้าหนูวางของขวัญไว้หน้าประตูบ้าน เคาะประตูเรียก แล้ววิ่งผลุบเข้าไปหลบในพุ่มไม้ทันก่อนที่บ๊อบบี้จะเปิดประตูออกมา เมื่อเขาหยิบกล่องของขวัญขึ้นและจ้องดูการ์ด เจ้าหนูก็ได้เห็นสีหน้าและแววตาของเพื่อน เห็นความสุข ความฝันและความหวังบนใบหน้าและดวงตาคู่นั้น

จนบัดนี้ผ่านมาแล้วถึง ๔๐ ปีเขาก็ยังไม่เคยลืม
. . . . . . . . . . .

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องเล่าในวัยเด็กของชายผู้หนึ่ง เรื่องของเขาอยู่ในอีเมลที่ส่งต่อๆ กันมา เรื่องเล่าธรรมดาสามัญแต่มีเนื้อหาที่จับใจนี้ ไม่เพียงทำให้เรารู้สึกซาบซึ้งและประทับใจไปกับเหตุการณ์จนอดใจไม่ได้ ต้องส่งต่อไปให้คนอื่น หากเรื่องราวนี้ยังถ่ายทอดบอกเล่ากระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาอย่างเรียบง่ายอีกด้วย

กระบวนการเรียนรู้ที่ว่านั้นเป็นอย่างไร? กล่าวคือ เมื่อคุณยายพบกับคำถามว่าซานตาคลอสมีจริงหรือ ท่านไม่ได้พยายามอธิบายให้เชื่อ หรือยกเอาเหตุผลใดมากล่าวอ้าง ไม่แม้แต่บอกปัดการตอบคำถามหลานตัวน้อย คุณยายเลือกใช้วิธีสร้างโอกาสให้หลานมีประสบการณ์โดยตรงกับเรื่องซานตาคลอส

การได้เผชิญกับเรื่องราวด้วยตัวเอง ได้มีประสบการณ์ตรงนี้เอง ทำให้หลานเกิดความเข้าใจด้วยใจ ไม่ใช่เข้าใจเพราะต้องเชื่อคล้อยตามผู้ใหญ่ หรือเชื่อเพราะเกรงกลัวไม่กล้าขัดแย้ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เต็มไปด้วยคุณค่าและความหมายต่อชีวิตตนเองและผู้อื่นเช่นนี้ แม้คุณยายจะสามารถอธิบายแจกแจงเหตุผลให้เชื่อได้ แต่ก็ไม่อาจสร้างความลึกซึ้งลงในใจของหลาน

การมีประสบการณ์ตรงด้วยตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งของการเรียนรู้ในแบบจิตตปัญญาศึกษา เพราะความเข้าใจในหลายเรื่องไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการฟัง แต่ต้องได้ปฏิบัติทดลองทำเอง จึงจะเป็นความเข้าใจที่ไม่ได้ท่องจำ เป็นความเข้าใจที่มาจากการเกิดปัญญา

ผู้สอนไม่ได้ทำหน้าที่จดจำความรู้มาถ่ายทอดตามตัวอักษร และผู้เรียนไม่ได้มีหน้าที่จดจำรายละเอียดให้ได้ครบถ้วนมากที่สุด คุณยายไม่ได้บอกให้หลานเชื่อเรื่องซานตาคลอส และหลานก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อตามไปทุกอย่าง ฉันใดก็ฉันนั้น

สิ่งสำคัญอีกประการของการเรียนรู้จึงได้แก่ การได้คิดอย่างใคร่ครวญลึกซึ้ง ดังเช่นคุณยายปล่อยให้เจ้าหนูได้คิดและตัดสินใจว่าควรจะให้ของขวัญอะไรแก่ใคร สร้างโอกาสให้เขาได้ตรึกตรองด้วยตนเอง ได้เห็นประโยชน์ของเงินที่จะสร้างความสุขให้แก่ผู้อื่น เจ้าหนูผู้เรียนมิได้ตัดสินใจด้วยหลักเหตุผลเท่านั้น หากยังมีทั้งความเมตตาเห็นอกเห็นใจในความทุกข์ยากของเพื่อน

และเมื่อเพื่อนได้รับของขวัญนั้น ความรู้สึกตื้นตันเปี่ยมสุขก็กลับคืนสู่ผู้ให้ ความประทับใจและความเข้าใจในคุณค่าของการให้จึงจับใจมาตลอด ๔๐ ปีไม่จางหายไปไหน
. . . . . . . . . . .

เรื่องราวในอีเมลส่งต่อกันนี้ เราเองอาจจะไม่ได้รู้แน่ชัดหรือได้คำตอบว่าซานตาคลอสมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ เพราะคำถามนั้นหาใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป สิ่งที่ค้นพบเมื่อได้เรียนรู้เข้าไปในใจของเรานั่นคือความรักต่อผู้อื่นต่างหากที่เป็นคุณค่าและความหมายที่แท้ของซานตาคลอส

ตัวเราเองเล่า จะเลือกทำความเข้าใจและตัดสินเรื่องราวต่างๆ ในโลกจากเรื่องเล่าของผู้อื่น เหมือนดังพี่สาวบอกเจ้าหนูว่าซานตาคลอสไม่มีอยู่จริง หรือจะลองเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เห็นโลกในอีกมุมมองจากการสัมผัสด้วยใจ ดังที่คุณยายให้หลานชายได้ค้นหาจนพบกับซานตาคลอสที่อยู่ในใจของเขาเอง





โดย ชลลดา ทองทวี เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๙
--------------

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปปลีกวิเวกตามลำพังที่เกาะแห่งหนึ่งทางใต้ เป็นการเดินทางที่ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะไปที่แห่งไหน ทำใจให้สบายๆ แล้วแต่ว่าการเดินทางจะพาเราไปที่ไหน
ที่เกาะแห่งนั้น ผู้เขียนได้สัมผัสน้ำทะเลใสๆ และทรายนุ่มขาว ดูพระอาทิตย์ตกดิน และเห็นว่ามีสีรุ้งบนผิวน้ำตรงขอบฟ้าทุกวัน

ในคืนหนึ่งที่ผู้เขียนลงไปนอนลอยตัวอยู่บนผิวน้ำ ดูดาวและพระจันทร์ พลันรู้สึกได้ถึงสัมผัสจากธรรมชาติ ที่หลอมรวมเราเป็นหนึ่งเดียวกันแบบไม่มีเงื่อนไข สัมผัสอันนั้น มันเปิดให้ตัวเองได้เปิดเปลือยความรู้สึกที่แท้จริงของตนเองอย่างจริงจัง.. สิ่งที่อาจจะไม่ได้ทำมากนักเวลาต้องอยู่ในเมืองใหญ่กับคนหมู่มาก เข้าประชุมแบบต่อเนื่องทั้งวัน.. ยิ้ม.. ทักทาย.. และรักษามรรยาทตามกฎกติกาของสังคม

กลับมาจากการเดินทางครั้งนั้น ผู้เขียนยังรู้สึกอาลัยอาวรณ์ธรรมชาติ เลยขับรถไปเที่ยวสวนต่างๆ และแม่น้ำลำคลองแถวศาลายา และนครชัยศรี ความที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารในช่วงนั้นทำให้รู้สึกแปลกใจเพราะเห็นน้ำท่วมไปเสียทุกหนทุกแห่ง เมื่อผู้เขียนได้เข้าไปพูดคุยกับชาวสวนที่เคยไปเยี่ยมเยือนรู้จักกัน จึงได้รู้ว่า เป็นน้ำท่วมที่ผิดปรกติธรรมดา ไม่เคยมีมาในรอบ ๑๐ ปี

มีคนเล่าว่า น้ำมากมายเหล่านี้เป็นน้ำที่ระบายออกมา เพื่อไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ สักพัก การเดินทางเพื่อหาความสงบเย็นจากธรรมชาติแถวนี้ก็จบลง เพราะว่าได้เห็นความทุกข์ยากของผู้คน ชาวสวนที่เป็นห่วงว่าสวนผลไม้กำลังจะตาย ชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมตัวบ้านและร้านค้าน่าอึดอัดใจ

สัปดาห์ถัดมา ผู้เขียนได้เดินทางกลับบ้านไร่ที่ภูเรือ จ.เลย เป็นการเดินทางที่ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะเป็นสถานที่คุ้นเคย คือบ้านของตัวเอง

แต่ความเงียบของที่นั่น เสียงนก พลังของต้นไม้ใหญ่น้อยในไร่ ค่อยๆ ดึงเรากลับไปสู่ความผ่อนคลายเดียวกันกับที่ได้สัมผัสที่เกาะนั้นอีกครั้ง มีดอกบัวตองกำลังบาน ทั้งสวย และยังมีกลิ่นหอมด้วย เป็นสถานที่ที่เหมือนที่เกาะนั้น คือรู้สึกว่าแม้แต่หมาก็ยังยิ้ม

ลองขับรถออกไปในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคยนัก ได้เห็นทะเลภูเขาในมุมมองใหม่ๆ มันเวิ้งว้างท้าทายจินตนาการ ที่หุบเขาข้างล่าง มีทุ่งนาที่มีรวงข้าวสีทองเต็มไปหมด ชาวนาเริ่มเกี่ยวข้าวแล้ว มีควายตัวอ้วนๆ เดินเล่นอยู่ เหมือนภาพในฝัน

สิ่งที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นสำหรับผู้เขียน คือ หลังจากอยู่กับธรรมชาติที่ผ่อนคลายเช่นนี้ได้ไม่กี่วัน ผู้เขียนเริ่มได้ยินเสียงต่างๆ มากขึ้น เป็นเพราะเราวางใจที่จะเปิดใจรับสัมผัสกับสรรพสิ่งอย่างที่เป็น ได้ยินเสียงนก เสียงจิ้งหรีด เสียงสายลม และในตอนตื่นนอนตอนเช้าวันหนึ่ง ผู้เขียนก็ เริ่มได้ยินเสียงลมหายใจของตัวเอง รู้สึกถึงความเหนื่อยอ่อน..คาดหวัง.. ความไม่ผ่อนคลาย เริ่มได้ยินเสียงความคิดของตัวเอง.. ที่ “คิด” อยู่ตลอดเวลา บางที เราคิด มากกว่าที่เราดำรงอยู่เสียอีก คิดไปก่อน คิดตามหลัง คิดว่าเรามีชีวิตอยู่แบบนั้นแบบนี้ หรือแม้แต่ คิดว่า เรามีความสุข สิ่งที่เราไม่ได้ยินเลยคือ เสียงของชีวิตของตัวเองจริงๆ อย่างที่มันเป็น

..ได้นอนเกลือกกับเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้น.. เสียงท้องร้อง.. ความพยายามที่จะควบคุมของความคิดอีกเช่นเคย
บางครั้ง นานๆ ครั้ง จะมีคนมาพูดด้วยบ้าง ทำให้เห็นตัวเองพยายามจะยิ้ม พูดอะไรบางอย่างเพื่อเป็นบทสนทนา ทั้งที่ ไม่ได้รู้สึกอะไรกับเรื่องนั้นอย่างนั้น เห็นตัวเองพยายามตัดสินคู่สนทนา เวลาฟังเขา
ที่สะดุดใจคือ รู้สึกว่า ไม่เคยได้ยินเสียงเหล่านี้มาก่อนในสภาวะปรกติ ยกเว้น เวลานั่งสมาธิ หรือ ฝึกเจริญสติ ทั้งที่ใช้ชีวิตมาตั้งครึ่งค่อนชีวิต มันคงเป็นเพราะ ไม่เคยได้สัมผัสธรรมชาติที่เป็นธรรมชาติอย่างเต็มที่มากพอ ในสภาวะเช่นนี้ มันเป็นการเจริญสติแบบไม่ได้ตั้งใจจะฝึก ผ่อนคลายกว่ากันมากนัก เพราะว่า เราแค่เปิดเปลือยตัวเองออกตามธรรมชาติ ไม่ได้คิดว่าจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติภาวนาอะไร แค่อยู่อย่างเป็นธรรมชาติ เหมือนที่ธรรมชาติเป็น

รู้สึกได้ถึงความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ เมื่อคนเราต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในธรรมชาติที่หม่นเศร้า สกปรก ซึ่งเป็นผลจากการกระทำของเราเอง ที่ไปจัดวางธรรมชาติเสียใหม่จนผิดรูปผิดร่าง ในธรรมชาติที่ไม่เป็นธรรมชาติเช่นนั้น ใจของเราเอง ที่จะโอบกอดสัมผัสสรรพสิ่งอย่างเต็มที่ ก็กลับปิดกั้น ใจของเราเอง ที่จะสัมผัสได้ยินเสียงใจของตัวเอง ก็บิดเบือนมืดบอดไป

จำเป็นเหลือเกิน ที่มนุษย์จะต้องฟื้นธรรมชาติขึ้นมา ธรรมชาติที่อยู่ภายนอก ที่สัมผัสและสัมพันธ์กับธรรมชาติในหัวใจของเราอย่างใกล้ชิด เราจำเป็นต้องกลับไปหาธรรมชาติให้มากขึ้น เพื่อปลุกให้เสียงในใจที่แท้จริงของเรา ได้ตื่นขึ้น

เราจะมีความสุขที่แท้จริงในชีวิตได้อย่างไร ถ้าเรายังไม่ได้ยินเสียงของหัวใจของตัวเอง เราจะสื่อสารความสุขนั้นต่อไปได้อย่างไร ถ้าเรายังไม่สามารถแม้แต่จะสื่อสารกับตัวเองได้อย่างแท้จริง การสื่อสารและรับฟังที่ผิดพลาด ย่อมทำให้การตั้งโจทย์ของชีวิตผิดพลาด และทำให้การกระทำที่จะตอบโจทย์นั้นๆ ผิดพลาดไปหมดตามไปด้วย

ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนยังได้มีโอกาสอันดี ที่ได้พานักศึกษากลุ่มหนึ่งไปฝึกปฏิบัติเจริญสติและวิปัสสนา กับคุณแม่ อมรา สาขากร ที่สวนพุทธธรรม จ.พระนครศรีอยุธยา จึงได้คำอธิบายให้เข้าใจว่า การเจริญสติ หมายถึง “การเผชิญหน้ากับความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา” มีนักศึกษาบางคน ที่สามารถปฏิบัติได้ดีกว่าผู้ใหญ่ ที่ฝึกปฏิบัติมาหลายปีเสียอีก ทั้งที่มาลองฝึกเป็นครั้งแรก ความใสซื่อเปิดตรงไปตรงมาต่อความรู้สึกของตัวเองของเด็กๆ เป็นพื้นฐานที่ดีในการเริ่มฝึก เพราะเด็กๆ ยังรักษาความเป็นธรรมดา ตามธรรมชาติของตัวเองไว้ได้มาก เพียงแต่มีครูผู้ชี้นำที่เหมาะสม ให้ตามดูความรู้สึกเหล่านั้น เด็กๆ ก็จะสามารถได้ยินเสียงใจได้อย่างชัดเจน และจึงมีสติรู้ตัว ที่ก่อให้เกิดปัญญาตามมาได้

ดังที่การปฏิบัติของพุทธแบบซกเช็นของทิเบตกล่าวไว้ว่า จิตเดิมแท้ของมนุษย์นั้นบริสุทธิ์ เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อให้ก้าวสูงขึ้นไปสู่ความซับซ้อนอันใด แต่เพื่อเปิดต่อการตระหนักรู้ถึงความบริสุทธิ์อันเป็นธรรมชาติพื้นฐานนั้น การคืนกลับสู่การตื่นรู้ในธรรมชาติ จะนำเราสู่การได้ยินเสียงใจที่ชัดเจน และมีความสุข จากปัญญาที่เกิดขึ้นเพราะการได้เห็นความจริงนั้น



โดย พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๙
-------------

จากบทความ “แยก ‘รู้’ ออกจาก ‘เรื่อง’” ตอนแรกที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๙ บทความนั้นได้ชี้ให้เห็นถึงสภาพการดำรงชีวิตอยู่ในโลกยุคข่าวสารข้อมูล ที่ทำให้เราตกอยู่ในวังวนแห่งความคิดทั้งวันทั้งคืน ไม่เคยรู้ว่ามีโลกที่ยังคงดำรงอยู่นอกเหนือโลกแห่งความคิด หากเปรียบกับหนังเรื่องเดอะเมทริกซ์ (The Matrix) ผู้คนที่ตกอยู่ในโลกแห่งความคิดก็เปรียบได้กับผู้คนที่อยู่ในโลกเมทริกซ์ และผู้ที่ข้ามพ้นความคิดก็คงเปรียบเสมือนนีโอ เราอาจใช้ชีวิตอยู่ในโลกความคิด/เมทริกซ์ได้อย่างมีความสุข แต่ไม่เคยรู้เลยว่า ความสุขนั้นถูกกำหนดมาให้แล้วโดยเราไม่สามารถเป็นผู้เลือก เราถูกขังอยู่ในคุกแห่งความคิด ถูกผูกมัดอยู่ในพันธนาการแห่งเรื่องราวและสังสารวัฏอันไม่จบไม่สิ้น ไม่อาจปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระได้เลย

การออกจากโลกความคิด คล้ายกับเรื่องราวในหนังเดอะเมทริกซ์ กล่าวคือ ถึงแม้ว่าเราจะถูกกำหนดให้เลือก เราก็ยังพอมี “ทางเลือก” หลงเหลืออีกเล็กน้อย คือเลือกว่าเราจะเดินอยู่ในโลกแห่งความคิด หรือเดินข้ามพ้นโลกความคิด ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกกิน “ยาเม็ดสีแดง” หรือ “ยาเม็ดสีน้ำเงิน”

หาก “ทางเลือก” ของคุณคือ “ยาเม็ดสีแดง” หรือหนทางสู่การข้ามพ้นความคิด ผมจะเริ่มแนะนำให้คุณรู้จักกับการแยก “รู้” ออกจาก “เรื่อง” หาก “ทางเลือก” ของคุณคือ “ยาเม็ดสีน้ำเงิน” หรือการอยู่กับโลกความคิดความฝันตามความคุ้นชิน คุณอาจไม่จำเป็นต้องอ่านบทความนี้ต่อไป

“ทางเลือก” นี้เป็นของคุณ
...

โลกความคิดเป็นโลกของการ “รู้เรื่อง” กล่าวคือ รู้ว่าเราจะกินอะไรเช้านี้ รู้ว่างานที่กำลังทำอยู่จะแก้ปัญหาอย่างไร หรือรู้ว่าเรากำลังไม่รู้ว่าเพื่อนคนนี้กำลังคิดกับเราอย่างไร เป็นต้น หากเราพินิจพิจารณาปรากฏการณ์ “รู้เรื่อง” อย่างแยบคาย เราจะพบว่า “ความคิด” เป็นจิตผู้รู้ ที่ไปรู้ “เรื่อง” ในฐานะที่เป็นสิ่งที่ถูกรู้ กระบวนการเบื้องหลังของโลกความคิดคือ ความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ที่ประกอบสร้างเรื่องราวขึ้นมาผูกมัดและพันธนาการเราไว้

เคล็ดลับของการไปพ้นจากโลกความคิด คือ การเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้
ณ จุดสมดุลหนึ่งแห่งความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ เราจะมีปรากฏการณ์สองอย่างคือ ความรู้ว่ารู้อะไร และความรู้ว่าไม่รู้อะไร สรุปลงได้เป็น “รู้เรื่อง” แต่ในปราฏการณ์นั้น จิตผู้รู้จะมีคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งที่เรามักไม่คุ้นเคยหรือรู้จักกันคือ ความไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร

การเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ มีขั้นตอนเริ่มต้นที่ การเปิดพื้นที่ให้กับความไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร

ภาษาเซนอาจเรียกขั้นตอนนี้ว่า “การเทน้ำออกจากถ้วย” “จิตของผู้ฝึกใหม่” (Beginner’s mind) หรือ “การทำความสะอาดลิ้นชักให้ว่าง” เป็นต้น

เรียกง่ายๆ ก็คือ เผื่อใจไว้ก่อนว่าเราอาจยังไม่รู้อะไรอีกมาก เป็นการอ่อนน้อมโดยไม่เอาตัวตนของ “ความรู้” เป็นตัวตั้ง ไม่ว่าจะเป็นความรู้ว่ารู้อะไร และความรู้ว่าไม่รู้อะไร โปรดสังเกตว่า “ความรู้ว่าไม่รู้อะไร” มีความคล้ายคลึงอย่างมากกับการเผื่อใจไว้ว่าเราอาจยังไม่รู้อะไร

แต่ที่สุดของความไม่รู้คือ “ความไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร” กล่าวคือ ให้เผื่อใจไว้สุดๆ ว่าเรายังไม่รู้อะไร

การแยก “รู้” ออกจาก “เรื่อง” จะเป็นไปไม่ได้เลยหากพื้นที่ของความไม่รู้ว่าไม่รู้อะไรยังไม่ได้รับการเปิดขึ้น จะเป็นไปไม่ได้เลยหากพื้นที่ในใจของเรายังเต็มไปด้วย “ความรู้” เหตุเพราะความรู้นั้นคือ อัตตาใหญ่ที่ครอบคลุมไปทั่ว

พื้นที่ของความไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร อนุญาตให้จิตผู้รู้เคลื่อนไปสู่ความสัมพันธ์ใหม่ การเริ่มต้นปฏิบัติจิตเพื่อไปสู่การข้ามพ้นความคิด จึงอาศัยเพียงแค่เราเริ่มเผื่อใจอย่างสุดๆ ต่อความไม่รู้

ไม่ใช่แค่ ความรู้ว่าไม่รู้อะไร แต่เป็น ความไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร!

การเปิดพื้นที่อย่างไม่มีที่สิ้นสุดต่อความไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร เป็นคุณสมบัติสำคัญของการเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ ประดุจดั่งการเคลื่อนย้ายวัตถุจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง หากวัตถุนั้นถูกวางติดอยู่กับผนังกำแพง การเคลื่อนย้ายก็เป็นไปไม่ได้ แม้จะออกแรงดันสักเท่าไร ดังนั้นความสำคัญจึงอยู่ที่การทลายกำแพงเพื่อเปิดพื้นที่ว่าง ให้กับการเคลื่อนย้ายวัตถุ

การเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน เมื่อจิตเคลื่อนไปก็จะชนกับกำแพง หรือเปลือกที่ห่อหุ้มจิตเราไว้ เมื่อทลายกำแพงหรือกะเทาะเปลือกที่ห่อหุ้มจิตออกมา ก็จะพบกับพื้นที่กว้างใหญ่ขึ้น วิสัยทัศน์ที่กว้างไกลมากขึ้น

เมื่อนั้น...จิตผู้รู้ขยายใหญ่ขึ้น ครอบคลุมสิ่งที่ถูกรู้มากขึ้น

จากกำแพงหนึ่งสู่กำแพงหนึ่ง จากเปลือกชั้นหนึ่งสู่เปลือกอีกชั้นหนึ่ง ชั้นแล้วชั้นเล่า...

เมื่อนั้น...จิตใหญ่ครอบคลุมไปทั่วทั้งโลกธาตุและจักรวาฬ ไม่มีการไปไม่มีการมา ฉับพลันนั้นสรรพสิ่งรวมลงในรสเดียวกัน เป็นรสอันเอก ความรู้/อัตตาใหญ่ทั้งปวงกลายเป็นจิตเล็ก ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป จากขณะหนึ่งสู่อีกขณะหนึ่ง หาตัวตนอันใดที่จะยึดถือได้ไม่

สรรพสิ่งเป็นสักแต่ว่าธาตุตามธรรมชาติ ความสละคืนไม่เอาอะไรไว้อีกอุบัติขึ้น ไม่มีแม้สิ่งใดที่จะบังคับควบคุมไว้ได้ ไม่จำเป็นต้องพยายามทำงานอะไรอีกต่อไป ข้ามพ้นความคิดนึกปรุงแต่งอย่างสิ้นเชิง
ฉับพลันนั้นรอยยิ้มน้อยๆ กับความสุขอันปราณีตผุดบังเกิด ใจใหญ่โอบอุ้มสรรพสิ่งด้วยมหากรุณาผุดบังเกิด เพื่อร่วมไหลลื่นไปกับธาตุทั้งปวงอย่างเป็นปกติ
...

ผมไม่รู้หรอกว่าจิตใหญ่/ใจใหญ่คืออะไร

เพราะผมไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร...

Newer Posts Older Posts Home