โดย ณัฐฬส วังวิญญู เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๐
-------------

เมื่อวันที่ ๒๑-๒๔ ต.ค. ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา ผมและนพ.วิธาน ฐานะวุฒฑ์ ได้มีโอกาสไปช่วยดำเนินกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับ “การสื่อสารอย่างกรุณา” ให้กับบุคลากรของทีมงาน ชีวันตาภิบาล (Palliative care) โดยมีผู้จัดคือ นพ.สกล สิงหะ ประธานหน่วยชีวันตาภิบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวมถึงจัดการเรียนการสอนสำหรับแพทย์ระดับก่อนและหลังปริญญา และพัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตผู้ป่วย palliative care ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งทำให้ผมได้เรียนรู้และใคร่ครวญถึงกระบวนการเรียนรู้อย่างมีจิตวิญญาณอีกครั้งหนึ่ง

โดยได้ใคร่ครวญกับคำถามง่ายๆ ว่า “ความกรุณา” นั้นจะเป็นผลจากการศึกษาได้อย่างไร การศึกษาหรือกระบวนการเรียนรู้แบบไหนที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดจิตเมตตากรุณาได้ ครูบาอาจารย์จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ในระดับลึกนี้ได้อย่างไร เพราะ “ความกรุณา” ไม่ใช่เป็นเพียง “ความคิด” ไม่ใช่สิ่งที่จะสอน บรรยายหรือเทศนาแล้วหวังว่าผู้เรียนจะมี “หัวใจแห่งความกรุณา” ได้อย่างถ้วนหน้าและถาวร การเรียนรู้อะไรที่จะประทับใจตราตรึงจิตให้อ่อนโยนและเคารพเพื่อนร่วมชีวิตทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

ทุกวันนี้ คำว่า “ผู้มีการศึกษา” มักจะมีความหมายว่าเป็น “ผู้มีความรู้ ความคิดหรือประสบการณ์ในความรู้แขนงต่างๆ” และดูเหมือนว่าศาสตร์แขนงต่างๆ จะพัฒนาไปข้างหน้าพร้อมกับเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆ เหลือเพียงศาสตร์เดียวที่ยังไม่ได้บรรจุไว้ในระบบการศึกษา นั่นคือ “ศาสตร์และศิลป์แห่งการมองตน” ทั้งๆ ที่คำว่า “ศึกษา” มีรากศัพท์มาจากคำว่า สิกขา (สะ+ติกกะ) หมายถึง “การมองตน”
เวลาเราเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ เรามองออกไปนอกตัวเองจนชำนาญ ปราดเปรื่องและคุ้นชิน และไม่ว่าโลกหรือจักรวาลใบนี้จะยิ่งใหญ่สักเพียงไหน ก็ไม่พ้นสายตาของเรา แม้สิ่งที่เล็กๆ ลงไปเป็นจุล เราก็ยังสามารถใช้กล้องไมโครสโคปกำลังสูงส่องเห็นจนทะลุปรุโปร่งไปถึงระดับโมเลกุล ระดับอะตอมกันเลย แล้วอะไรเล่าที่จะช่วยให้เรามองเห็นตัวเองได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ให้เห็นภูมิทัศน์ด้านใน (Inner landscape) ว่าตัวเรานั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร งดงามหรือไม่ปานใด

“จิตตปัญญาศึกษา” ที่ท่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ได้กรุณาคิดขึ้นมาให้คงมีความหมายไปตามนี้กระมัง คือการศึกษาที่เริ่มต้นที่หัวใจ ไม่ใช่แค่คิด เพราะหัวใจนั้นมีอารมณ์ ความรู้สึก และที่สำคัญมีตัวรู้ที่เรียกว่าสติ ที่ใหญ่กว่าตัวความคิดที่เป็นเพียงวัตถุของการรับรู้หรือเรียนรู้ นั่นหมายความว่า จิตจำต้องได้รับการฝึกฝนให้มีประสิทธิภาพและกำลังพอที่จะ “มองเห็น” สิ่งต่างๆ อย่างที่เป็น และเห็นความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างตัวเราเองและสังคม ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ กายและจิต

หากเรามองว่าเป้าหมายที่แท้จริงทางการศึกษาคือการพัฒนาศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์สู่ความเป็นไทและอย่างเป็นมนุษย์ที่แท้แล้ว เราก็คงจะไม่มองว่าการศึกษาเป็นเพียงทางผ่าน แต่เป็นหนทางแห่งการดำรงอยู่ วัฒนาการ แปรเปลี่ยนและเติบโต แทนที่จะเรียนเพราะรู้สึกว่าต้องเรียน เราอาจทำให้เชื่อว่าชีวิตนั้นต้องเป็นไปตามที่สังคมเลือกให้ ทั้งๆ ที่จริงแล้วมนุษย์เกิดมา พร้อมกับโอกาสที่จะเลือก คือเลือกที่จะนำพาและสร้างสรรค์ชีวิตตัวเองไปอย่างที่คิดฝันหรือปรารถนา

จิตตปัญญาศีกษาน่าจะเป็นหนทางฝึกฝนเพื่อการตื่นรู้และการดำรงอยู่อย่างเต็มเปี่ยม รับรู้ทั้งโลกภายนอกและโลกภายในตัวเราในแต่ละปัจจุบันขณะ โดยเอาทั้งหมดของตัวเราเข้าเรียนรู้ เอาชีวิตของเราเข้าแลกกับการรับรู้ปัจจุบันขณะ อันถือเป็นประตูหรือทางเข้าสู่การมองเห็นความงามอันวิจิตร และความดีอันประเสริฐ และความจริงอย่างที่เป็นในชีวิตและโลก

ด้วยการรับรู้หรือเรียนรู้เช่นนี้ เราอาจจะมองเห็นโลกที่ซ้อนๆ กันหลายๆ ใบ เป็นข่ายใยชีวิตที่ซับซ้อนในความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา เห็นน้ำค้างเกาะตามยอดหญ้า และกิ่งไม้ยามเช้า เห็นแสงสาดส่องผ่านม่านหมอกและไอดิน เห็นสิ่งต่างๆ เชื่อมโยงกันอย่างเป็นอิทัปปัจจยตา

เราสามารถ ชื่นชมความแตกต่างหลากหลาย โดยเห็นความคิดของคนอื่นสอดร้อยเชื่อมโยงกับความคิดเรา และทำให้เกิดปัญญาร่วม เป็นระบบนิเวศแห่งความรู้ที่มั่งคั่งและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กันและกัน เมื่อนั้นเราก็จะดำรงอยู่ใน ความไม่แยกส่วนและไม่แบ่งแยก

โดยปกติเรามีสิ่งที่เราชอบ และไม่ชอบ มีสิ่งที่เรากลัว และรักใคร่ เรามักจะเลือกเรียนรู้หรือรับรู้เฉพาะสิ่งที่เราชอบหรือพึงพอใจ และปฏิเสธสิ่งที่เราไม่ชอบ หรือไม่เห็นด้วย เป็นทวิภาพ เป็นหัวใจที่แบ่งขั้ว จึงเกิดการเรียนรู้อย่างเป็นเสี่ยงๆ เราไม่อาจเข้าใจทั้งหมดของตัวเองหรือโลกได้หากเรายังเลือกที่จะเบือนหน้าหนีอะไรก็ตามที่เป็นความจริงของชีวิต ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเงามืดทะมึน เป็นสิ่งที่เรากลัวหรือไม่รู้ โดยที่เรามักปฏิเสธการดำรงอยู่ของสิ่งเหล่านี้ หรืออาจไปโยนความผิดให้กรรม หรือเจ้ากรรมนายเวรไป

เมื่อเราสามารถน้อมรับสิ่งที่เราไม่พึงพอใจได้ เราก็จะสามารถสร้างสันติภาพภายในตัวเราเอง ดำรงอยู่และเรียนรู้จากความแตกต่างได้ และช่วยหล่อเลี้ยงให้เกิดความเข้มแข็งของความเป็นชุมชน และสังคมแนวราบที่ยิ่งนับวันจะขาดหายไปจากสังคมไทยที่สังคมแนวดิ่งกดทับอยู่ จนอิสรภาพของการเป็นมนุษย์ธรรมดาและปกติถูกลดทอนลงทุกที และเมื่อความเป็นชุมชนหรือเผ่าพันธุ์ของกัลยาณมิตรงอกงามในสถานศึกษาได้อย่างแท้จริง โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็จะเป็นดั่งผืนพรมอันอุดม ที่เมล็ดพันธุ์แห่งการเรียนรู้ของทุกๆ คนจะงอกงาม

และทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการค้นพบความรักและมิติแห่งจิตวิญญาณภายในตน เป็นการเรียนรู้ที่ต้องเอาชีวิตเข้าแลก เรียนรู้จักโลกและชีวิตผ่านตัวตนของเราเอง ที่อาจมีหลากหลายหน้าตา หลายตัวตน และที่สำคัญ ความรู้หรือความเข้าใจที่ลุ่มลึกจะบังเกิดขึ้นได้เมื่อเรายอมให้ความคิดหรือความรู้ชุดเดิมล่มสลายลง เช่น เราอาจเคยคิดว่าเราเป็นคนดี แต่เมื่อเราสืบค้นเข้าไปในตัวเองแล้วค้นพบ “ความเกเร” หรือ “ความร้ายกาจ” บางอย่างของตัวเอง และเมื่อรับรู้และยอมรับได้ “ความไม่ดี” นั้นก็ได้เริ่มคลายกำลังลง และอาจหมดความหมายไปเลยก็ได้ แต่การที่เราจะสามารถยอมรับว่าเราก็ไม่ได้ดีเด่อย่างที่เราคิด บางครั้งก็เจ็บปวดได้เช่นกัน ภาพลักษณ์ของเราถูกบีบคั้นให้ล่มสลายลงราวกับปราสาททรายที่ถูกคลื่นทะเลโถมซัดให้พังลงมา

ความกล้าเผชิญความจริงแห่งตัวตนจะช่วยทำให้เราเห็นและอาจค้นพบอิสระจากกรอบกรงขังเดิมๆ ได้ทีละเปลาะ เหมือนการปลอกหัวหอม เป็นการเดินทางเข้าสู่ด้านในเพื่อขัดเกลาตัวเอง ให้สิ่งที่ห่อหุ้มอยู่ภายนอกนั้นหลุดออกไปจนเหลือเพียงความเปลือยเปล่าที่จริงแท้ เรียบง่ายและอิสระ

แนวทางการศึกษาเช่นนี้หรือเปล่า ที่สังคมใฝ่สันติภาพและแสวงหาความสุขสมานฉันท์อย่างสังคมไทยพึงปรารถนา ดังที่ได้มีการริเริ่มคิดและจัดกระบวนการเรียนรู้แนวนี้ขึ้นมาบ้างแล้วในหลายๆ ส่วนของสังคม โดยมีการพัฒนาและสร้างสรรค์แนวทางปฏิบัติหรือเครื่องไม้เครื่องมือที่หลากหลาย ผู้ที่สนใจเรียนรู้หรือร่วมคิดร่วมทำก็คงจะได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยต่อเติมมิติของการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาของสังคมไทยเติบใหญ่ให้ขยายตัวอย่างมีพลังยิ่งๆ ขึ้นไป

โดย วิธาน ฐานะวุฑฒ์ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๐
----------------
เวลาที่เราใช้คำว่า “หวงแหน” ฟังดูแล้วเหมือนกับเป็นความหมายที่แสดงในเชิง “ความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ” และยังฟังดูแล้วออกเป็นเชิงลบนิดๆ ในแง่ของแนวคิดด้านในที่หลายแนวมุ่งเน้นให้ละความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของออกไปจากตัวตนของเรา

ซึ่งผมก็คงไม่ได้ขัดแย้งอะไรในเรื่องนี้นะครับ ก็อาจจะถูกต้องสำหรับผู้ที่ฝึกฝนเรื่องราวด้านในมาลึกล้ำแล้วหรือใกล้บรรลุแล้ว แต่จากประสบการณ์ที่ผมพบและเจอะเจอมาและในฐานะที่ยังเป็นเพียงผู้เริ่มต้นเข้าใจ ผมคิดว่า บางทีเราน่าจะต้องลอง “รักและหวงแหน” ของบางอย่างไว้บ้างเหมือนกัน

“ปัจจุบันขณะ” เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าเราอาจจะต้องกลับมาพิจารณาเรื่อง “รักและหวงแหน” กันเสียบ้างหรือไม่?

เหมือนกับที่โดยทั่วๆ ไป สำหรับคนทั่วๆ ไปเราก็มักจะมี “ของรักของหวง” กันหลายสิ่งหลายอย่างอยู่แล้ว เช่นบางคนรักและหวงแหนลูกภรรยาของตัวเอง บางคนรักและหวงแหนบ้านของตัวเอง

คือผมคิดว่าไหนๆ หลายๆ คนก็ “มีอะไร” ที่ “รักและหวงแหน” กันอยู่แล้ว การที่จะทดลอง “รักและหวงแหนปัจจุบันขณะ” เพิ่มเข้าไปอีกอย่างหนึ่งก็ไม่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายในเชิง “ความงกด้านใน” แต่อาจจะมีประโยชน์อะไรบางอย่างหรือไม่

ผมเกิดความรู้สึก “รักและหวงแหนปัจจุบันขณะ” ขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่อไม่นานมานี้เอง ในวันนั้นผมใช้เวลา “ไม่ทำอะไร” และ “อยู่กับตัวเอง” ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ที่เชียงรายเป็นเวลาเกือบทั้งวัน คือตอนเช้าไปส่งลูกสาวไปโรงเรียนแล้วก็แวะเข้าไปนั่งเล่นในสวน เตรียมเสบียงและน้ำดื่มไปด้วย จากนั้นเกือบสี่โมงเย็นก็กลับออกมารับลูกสาวกลับบ้านพอดี

การนั่งเฝ้าดูก้อนเมฆ ท้องฟ้า ภูเขา แนวป่าและหนองน้ำใหญ่ในวันนั้น ทำให้ผมรู้สึกว่า ก้อนเมฆที่ไม่เคยเหมือนเดิมนั้นไม่ค่อยแปลกอะไร เพราะก้อนเมฆไม่เคยเหมือนเดิมอยู่แล้วในแต่ละวัน แต่ละชั่วโมง แต่ละนาทีหรือถ้าเอากันให้ละเอียดจริงๆ แม้แต่กระทั่งแต่ละวินาที

แต่ความรู้สึกในวันนั้นที่เกิดขึ้นก็คือ “องค์ประกอบรวมๆ ทั้งหมด” ของภาพที่ผมเห็นอยู่ตรงหน้านั้นต่างหากที่ “ไม่เคยเหมือนเดิมเลย” ภาพของภูเขา ก้อนเมฆ ชายป่า หนองน้ำที่เดิมๆ ที่ผมใช้เวลาเป็นวันๆ นั่งดูอยู่เป็นประจำมาหลายปีแล้วก็ยังไม่เคยเหมือนเดิม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันกลับมาสะท้อนถึง “อารมณ์ความรู้สึก” ของตัวผมเองที่มีต่อ “ภาพที่เห็น” ก็ไม่เหมือนเดิมเลย

ผมเกิดความรู้สึกขึ้นมาในขณะนั้นว่า เอ๊ะ นี่มันใหม่สดเสมอนี่นา

บางทีเราเห็นเรื่องแบบนี้เป็น “ของตาย” ก็คือว่า เราอยากจะมาดูเมื่อไรก็ได้ คือเราก็ยังเห็นก้อนเมฆ ภูเขาแนวป่าและหนองน้ำเหมือนเดิมก็จริง แต่ “ความรู้สึกที่ปีติ เบาสบายและผ่อนคลาย” ที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ไม่เคยเหมือนเดิม

ถ้ามันไม่เหมือนเดิม ทำไมเราไม่ “ดูดดื่ม” กับมันให้เต็มที่หละ?

เราจะรอว่า “เออ เมื่อไรก็ได้ ของตาย” แล้ว “เมื่อไรกันล่ะ? ที่เราจะดูดดื่มกับมันได้เสียที” และบางทีของตายก็ไม่ใช่ของตายเหมือนกัน

ในวันนั้นความคิดของผมแว้บไปถึงเหตุการณ์หนึ่งในช่วงหน้าฝนที่ผมนั่งรถยนต์ไปตามทางหลวงแล้วขับผ่านจุดที่เป็นแนวฝนตกกับแนวที่ฝนไม่ตก แล้วผมมองเห็นเม็ดฝนที่วิ่งไล่หลังรถยนต์คันที่นั่งมา เป็นภาพที่สวยงามมาก

หลายคนก็อาจจะบอกว่าก็เป็นภาพธรรมดาๆ ก็แค่ฝนตก แต่เราลองคิดดูนะว่าเราจะไปนั่งอยู่ในรถยนต์ที่วิ่งด้วยความเร็วขนาดนั้นและเม็ดฝนก็วิ่งไล่เราด้วยความเร็วใกล้เคียงกันแบบนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ หรือเป็นของตายนะ

และจนวันนั้นถึงวันนี้ผมก็ยังไม่มีโอกาสเห็นภาพเม็ดฝนที่ตกวิ่งไล่ตอนเรานั่งรถยนต์แล้วหันไปมองอีกเลย ตัวอย่างเรื่องเม็ดฝนนี้อาจจะทำให้เห็นภาพของ “การไม่เป็นของตาย” ได้ชัดเจนขึ้นบ้าง

ความรู้สึกแบบนี้ควรจะเกิดขึ้นกับ “สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ณ เวลานั้น” ของทุกๆ เวลา เพราะ “ทุกๆ เหตุการณ์” จะไม่เคยซ้ำเดิมเลย เหมือนกับที่มีคนเคยบอกว่า คลื่นในมหาสมุทรนั้นไม่เคยมีคลื่นไหนที่ซ้ำกันหรือเหมือนกันเด๊ะๆ เลย คลื่นแต่ละคลื่นจะมีความแตกต่างที่ไม่เคยเหมือนกันเลย ทรายแต่ละเม็ดหรือแม้แต่ก้อนกรวดในลำธารก็ไม่เหมือนกันเลยสักก้อนเดียว

ประสบการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในทำนองเดียวกันกับการดูดวงตะวันยามอรุณรุ่งและดวงตะวันยามหายลับไปกับขอบฟ้าหรือเรื่องราวอื่นๆ ของธรรมชาติ ดวงจันทร์ ดวงดาวต่างๆ

แม้ว่าดวงตะวันก็ดวงเดิมๆ ดวงจันทร์ก็ดวงเดิมๆ ดวงดาวก็ดวงเดิมๆ

ผมคิดว่า “ความรักและการหวงแหน” ในกรณีแบบนี้มีถูกนำมาใช้เพื่อที่จะให้เราได้มองเห็นถึง “คุณค่า” ที่มีอยู่ของปัจจุบันขณะแต่ละขณะ

เพื่อให้เราใช้ชีวิตได้ “ละเอียดมากขึ้น”

เรื่องนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อให้เกิดความรู้สึกของ “การยึดติด” กับภาพที่เห็นเสียงที่ได้ยินหรือความสุขที่ได้รับ เพราะในจังหวะนั้น ผมไม่ได้เกิดความรู้สึกว่ายึดติดกับความสุขตรงหน้าเลย คือผมรู้สึก “รักและหวงแหน” ช่วงเวลาวินาทีนั้น แต่ผมก็ทราบว่า “วินาทีต่อมา” ผมก็ยังคงมีความปีติสุขอยู่ได้กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าของเราและยังมี “ปัจจุบันขณะอีกมากมาย” ที่ “ยังรอ” ให้ผม “รักและหวงแหน” มันอยู่อย่างเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องและดูเหมือนจะไม่มีวันหมดสิ้น ทำไมจะต้องไปติดยึดกับสายน้ำที่ไหลไปแล้วและเราก็รู้ว่าจะมีสายน้ำที่ใสสะอาดเหมือนเดิมไหลผ่านมาอีก

ผมรู้สึกว่า “ช่างเป็นความรู้สึกที่รุ่มรวยอะไรจะปานนั้น” ที่สามารถเกิดความรู้สึกแบบนี้หรือลองรู้สึก “รักและหวงแหนปัจจุบันขณะ” ทุกๆ ขณะ

ต่อเมื่อเราสามารถ “ละเอียดกับชีวิต” ได้จริงๆ “ใส่ใจกับปัจจุบันขณะ” ได้จริงๆ เท่านั้นเราจึงจะสามารถ “สัมผัสกับความสุข” ที่มีอยู่แล้วในทุกๆ ลมหายใจของเราเอง



โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๐
-------------------

การรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน เป็นก๊วน เป็นแก๊ง ช่างแสนจะมีพลัง คล้ายกับว่าเสียงของเรามันดังขึ้น และรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ไม่จำเพาะที่เพศและวัยใด จำได้ว่าคุณตาของฉันท่านเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยมีปากมีเสียงกับใคร แต่พอเข้าก๊วนกับเพื่อนสนิทที่รุ่นราวคราวเดียวกัน คุณตาดูเหมือนนักเลงรุ่นดึกมาก โดยเฉพาะตอนที่วงของแกคุยเรื่องบ้านเมืองด้วยแล้ว ฉันแทบจำคุณตาตัวเองไม่ได้เลยจริงๆ แต่ในมุมกลับกัน บางขณะที่เรามองเข้าไปในกลุ่มแก๊งเหล่านี้ กลับรู้สึกไม่ชอบใจนัก โดยเฉพาะเมื่อเราเป็นเสียงส่วนน้อยในพื้นที่นั้น รู้สึกอึดอัด และไม่ปลอดภัยที่จะพูดหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ออกมา ราวกับมีอำนาจบางอย่างกดทับ อาจจะเป็นอำนาจของเสียงข้างมาก ตามแบบเรียนเรื่องประชาธิปไตยที่ให้ค่าเป็นชัยชนะ ก็เป็นได้

เมื่อไม่นานนี้ ประสบการณ์ร่วมจากการเข้าเรียนแบบผู้ใหญ่ เป็นครั้งหนึ่งในหลายการอบรมกระบวนกรของเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ทำให้ได้ข้อคิดหลายเรื่องจากครั้งนี้ ด้วยกระบวนการที่กำลังเรียนรู้อยู่นั้น ช่างคล้ายกับการเรียนรู้แบบเดิมๆ ในห้องเรียนที่เราต่างเคยเผชิญมา และแตกต่างมากจากกระบวนการทางเลือกในครั้งอื่นๆ ที่เคยจัดและเราเริ่มคุ้นชิน โดยไม่ทันรู้ตัว ฉันก็ได้ยินเสียงของเด็กดื้อที่ดิ้นเร่าอยู่ภายใน และมันเหมือนวงคลื่นที่ส่งสะท้อนสู่กันและกันในกลุ่มผู้เข้าร่วม เราเริ่มทำตัวเหมือนเด็กเกเรในห้องเรียนตลอดการอบรมนั้น การฟังอย่างลึกซึ้งน่ะหรือ ไม่ต้องพูดถึง เพราะเราเริ่มหันไปคุยกันเองกับคนข้างๆ โชคดีที่เราไม่โดนแปรงลบกระดานเคาะหัวเหมือนสมัยเป็นนักเรียน

เนื่องจากสถานที่จัดอบรมอยู่ไม่ไกลตัวเมือง พอเสร็จจากการอบรมในแต่ละวัน ก็มีเสียงชวนเชิญกันไปหาไอศกรีมหรือกาแฟกิน คนไม่มีรถก็ขออาศัยกันไป คันที่ฉันนั่งไปด้วย ดันมีเพื่อนที่ชอบร้องเพลงอยู่หลายคน ใครคนหนึ่งร้องขึ้นมา ที่เหลือก็ร้องตาม เหลือเชื่อจริงๆ พอเพลงจบเรารู้สึกทึ่งในตัวเองกันมาก มันไพเราะราวกับนักร้องประสานเสียงอาชีพเลยทีเดียว พอถึงร้านสมาชิกที่มาในรถคันเดียวกันนี้ ก็ยืนเรียงหน้าโต๊ะผองเพื่อนอย่างลืมอาย แล้วร้องเพลงที่ร้องกันมาในรถ แต่ไม่รอด เพื่อนที่ฟังบางคนนึกสนุก ร้องขอให้ไปคาราโอเกะต่อ แน่นอนชีวิตเลือกได้เสมอ แต่ฉันก็เลือกไปคาราโอเกะกับกลุ่ม เพราะไม่อยากให้ตนเองพลาดที่จะดำรงอยู่ร่วมกับเพื่อน แต่ก็เพียงคืนแรกเท่านั้น คืนที่สองฉันรู้สึกอยากคุยกับเพื่อนมากกว่า เพราะเราต่างที่อยู่ที่มากัน การได้เรียนรู้จากกันเองก็น่าสนใจไม่น้อย แล้วคลื่นก็กระทบโดยมิได้นัดหมายอีกครั้ง เราแค่ออกไปกินไอศกรีม พูดคุยแลกเปลี่ยนแล้วกลับมานั่งชมจันทร์สืบค้นด้านในกันต่อ อย่างลึกซึ้งมากขึ้น

การได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการร่วมกันอันหลากหลาย แม้ต่างที่มา แต่ก็ทำให้เราสัมผัสและเข้าถึงกันได้มากขึ้นตามวาระ มันเป็นโอกาสในการหลอมรวมกันอย่างแท้จริง เกิดมิตรภาพซึ่งคล้ายกับบทเพลงที่ร้อยรัดเราให้โยกไหวไปในท่วงทำนองเดียวกัน ผลก็คือ ความสุขที่อาบเอมหัวใจนักรบแต่ละคน กลายเป็นพื้นที่ของความรักและความเข้าใจในฐานของเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรม...เป็นแก๊งเดียวกัน พวกเราส่วนใหญ่ทำงานนำพาผู้คนเข้ามาเรียนรู้ และพัฒนาด้านในของตน บ่อยครั้งที่ฉันรู้สึกว่าพวกเราเป็นดั่งเหล่านักรบของพระผู้เป็นเจ้า แม้ฉันจะเป็นพุทธก็ตาม และในแวดวงนี้มันทำให้เชื่อว่า ศรัทธาในความดีงามนั้น มันกว้างใหญ่มาก ไร้ขีดจำกัดที่จะติดยึดอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใด ในขณะที่ยังแลเห็นความสามัญธรรมดาแห่งชีวิตของเราทุกผู้ ที่มิได้เหนือหรือด้อยกว่า การได้เล่นและซนบ้างกลับเปิดมิติให้เรากลับทวีดีกรีของความงามแห่งชีวิต เมื่อได้เปลือยตัวตนอย่างเสรี ไร้ฟอร์ม ไร้กรอบยึด เป็นความเรียบง่ายที่มิได้แต่เพียงฉาบเคลือบไว้ ไม่จำต้องพยายามมุ่งสู้ความดีงามทุกขณะของลมหายใจ เพียงมีสติในการโลดเต้นไปก็กลับดีงามได้อย่างน่าอัศจรรย์

แล้วบทเรียนที่สำคัญยิ่งก็มาถึงในเช้าสุดท้ายของการอบรม เมื่ออาจารย์ผู้สอนเปลือยความในใจแก่ทุกคน ฉันได้ยินเสียงของการตัดพ้อต่อความใส่ใจในการเรียนรู้และการพัฒนาตน เหตุการณ์ของร้านไอศกรีมและคาราโอเกะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง ราวกับว่ามันนำพาความสิ้นหวังที่มีระหว่างคนต่างรุ่น ยุคสมัยของอาจารย์นั้นการจะเปลี่ยนแปลงโลก เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและแสวงหา เพราะมีสิ่งท้าทายรอบตัว การเปิดและเปลือยตัวตนของอาจารย์เป็นมิติที่ต่างจากห้องเรียนโดยทั่วไป ไม่ใช่การก่นด่าโดยไม่เปิดพื้นที่แก่ความคิดเห็นอื่น เด็กเกเรจึงได้พูดและบอกเล่าว่าเราคิดและรู้สึกอย่างไรบ้าง เป็นปาฏิหาริย์ของการหันหน้าเข้าหากัน ฉันพบความนุ่มนวลที่รายล้อมรอบๆ ตัวจากเหล่ามิตรเด็กดื้อทั้งหลาย มันไร้ฝั่งฟาก กลายเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน

การให้ภาพต่อถ้อยคำ “เกเร” ดูออกจะลบและร้าย และมักเป็นมุมมองจากอีกฝ่ายที่มองมา มุมมองที่เกิดจากการพยายามควบคุมและจัดการ ฉันไม่คิดว่าจะมีเด็กคนไหน หรือใครที่อยากเป็นคนร้ายแน่ แต่การยอมตนเป็น “คนเกเร” นี้ คล้ายเป็นการประกาศเจตจำนงที่อยู่ภายในของตน ซึ่งเจตจำนงที่แตกต่างจากกระแสหลักหรือเสียงที่มีอำนาจเหนือกว่าจะปลอดภัยมากขึ้น มีน้ำหนักในการคัดค้านมากขึ้น ก็ต่อเมื่อเจตจำนงเหล่านั้นหลอมรวมกันเป็นกลุ่มก้อน เป็นแก๊งขึ้นมา และอย่าถามหา “หัวโจก” ตัวต้นเรื่อง ตัวบงการ หรือผู้นำฝูงเลย เพราะเมื่อสิ่งต่างๆ ถูกเคลื่อนมาอย่างเป็นองค์รวม คุณมิอาจแยกได้ว่านั่นคือความคิดของใคร เฉกเช่นเดียวกับองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นในวงสุนทรียสนทนา ซึ่งไม่อาจบ่งชี้ผู้นำ ผู้ดำเนินวง หรือจำแนกคลื่นที่หลอมรวมกันนั้นได้เลย

ถ้าคุณกำลังเผชิญหน้ากับเด็กเกเรอยู่ อยากแนะนำวิธีการจัดการกับเด็กเกเรง่ายๆ ให้ คือ เข้าไปรับรู้ความทุกข์และเข้าไปฟังเสียงความสุขของเขาด้วยความรัก เพราะการจะเข้าใจและเข้าถึงเด็กเกเรอย่างแท้จริง คุณอาจต้องเปิดพื้นที่ของมิตรภาพให้กว้างเพื่อจะสามารถยืนอยู่ฟากฝั่งเดียวกันกับพวกเขา ในศาสตร์การต่อสู้แบบไท่จี๋ฉวนนั้น บอกไว้ว่า จะสลายพลังได้ คุณต้องเข้าใจพลังนั้นก่อน และจะเข้าใจพลังนั้นได้ คุณก็ต้องสัมผัสพลังโดยเข้าไปเกาะติดนัวเนียกับพลังนั้น

การเป็นเด็กเกเร เด็กดื้อนั้น น่าจะเป็นอีกวิธีในการเข้าถึงการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งได้เช่นกัน เพราะความไม่เชื่องนี้เองที่ทำให้อยากสืบค้นและต้องการกระบวนการในการเข้าถึงมากขึ้น อาจถือเป็นเรื่องท้าทายความเป็นครูของเราทุกคนที่จะเรียนรู้ร่วมไปกับความไม่ง่ายของเด็กหรือผู้ใหญ่กลุ่มนี้ ทำให้เราได้ใคร่ครวญกระบวนการและการสอนของเราที่เป็นความคุ้นชินเดิมๆ เป็นโอกาสในการได้ลงลึกกับความรู้ที่เรามี เพราะความเกเรอาจจะนำพาสิ่งดีๆ เหนือความคาดหมายมาสู่บ้าน ห้องเรียน หรือแม้แต่ที่ทำงานของเราเอง



โดย สรยุทธ รัตนพจนารถ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๐
----------------------

เพื่อนๆ บางคนบอกว่าผมมักมีของขวัญปีใหม่หรือพรปีใหม่ “แปลกๆ” อยู่เสมอ ไม่ทราบว่าจริงแค่ไหน และถ้าเป็นจริงจะเป็นเพราะเหตุใด หรือเป็นเพราะว่าผมเป็นคนแปลกๆ จริง?

หากจะบอกว่าผมเป็นคนที่แปลกกว่าชาวบ้านชาวช่องประชาชนคนทั่วไปตรงไหนมากที่สุด ก็อาจจะเป็นตรงที่ผม “ชอบป่วย” ไม่ใช่ชอบที่ร่างกายเจ็บป่วยนะครับ แต่ชอบความรู้สึก ชอบความรู้เนื้อรู้ตัวขณะป่วย จะป่วยเป็นอะไรก็ได้ จะปวดหัวตัวร้อน หรือเคล็ดขัดยอก หกล้ม กระดูกร้าวหรือเป็นแผลแค่นิดๆหน่อยๆ ถ้าจะไม่นับก็อาจมีแค่ตอนป่วยการเมืองเท่านั้น (ฮา)

ที่ผมชอบตอนป่วยนั้นใช่ว่าเพื่อจะได้หยุดงานอะไรหรอก แต่เพราะการป่วยเป็นประสบการณ์เรียนรู้ที่ดีเกี่ยวกับตนเองและของตนเองมากๆ ด้วยสาเหตุหลายประการ

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่เราป่วยนั่นคือ ร่างกายเราจะทำงานต่างจากเวลาปกติอย่างมากครับ ตัวอย่างเช่น หากเราติดเชื้อหวัด พวกเซลล์เม็ดเลือดขาวและระบบภูมิคุ้มกันที่ปรกติอยู่กันเฉยๆ ก็ตื่นเต้นกันขึ้นมา พยายามวิ่งมาจับและทำลายเชื้อเหล่านี้ หากมีมากไปหรือทำลายไม่ได้ก็จะหลั่งสารพวกไซโตไคน์ทำให้เปิดวงจรอื่นๆอีก อาจยาวไปถึงสมองส่วนไฮโปทาลามัส ส่วนควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ที่เมื่อรับสัญญาณแล้วสั่งให้ร่างกายแสดงอาการ “เป็นไข้” ออกมา

แต่เอาละ ข้างในจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ข้างนอกที่เราเห็นหรือรู้สึกเป็นไข้ ก็เช่น ตัวร้อน หนาวสั่น ครั่นเนื้อครั่นตัว ไข้ขึ้นสูงหน่อยก็อาจมีหนาวจนกล้ามเนื้อกระตุก บางทีนั่งๆ นอนๆ ก็หนาวขึ้นมาซะงั้น ต้องเอาผ้ามาห่ม ซักพักก็อาจเหงื่อแตกพลั่กๆ กลับไปร้อนเสียนั่น เราไม่สามารถควบคุมสั่งการอะไรร่างกายของตัวเราเองได้เลย

โถ ... ร่างกายของเราเองแท้ๆ ยังเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ บัดเดี๋ยวหนาว บัดเดี๋ยวร้อน ตัวเราไม่ใช่ของเรา เพราะเราสั่งมันไม่ได้จริงๆ บางทีก็ปวดเมื่อย ขยับนิดขยับหน่อยก็ปวดตุบๆ ให้ได้รู้สึก
ไม่ต้องทำอะไร แค่นั่งเฉยๆดูอาการร่างกาย ผมว่าก็สนุกแล้ว

เหตุประการแรกที่การป่วยเป็นการเรียนรู้ที่ดี คือทำให้ได้มีสติรู้ตัว เวลาป่วยนี้ความรู้สึกต่างๆ มันจะชัด มันจะสูงขึ้นอย่างมาก ทำอะไรนิดอะไรหน่อยก็รู้ไปหมด บางทีแค่เอื้อมมือไปหยิบแก้วน้ำก็ยังรู้สึกตัว (เพราะเกิดอาการเจ็บ) นี่ก็แปลก ก็สนุก ก็น่าตามดูไปอีกแบบ

ต่างจากชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ของเราที่ทำไปโดยไม่รู้ตัว อย่างที่อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู บอกว่าเป็น “อัตโนมัติที่หลับใหล” ตัวอย่างเช่น ขณะเราเก็บของใส่กระเป๋ากลับบ้านจนแล้วเสร็จ แต่กลับจำไม่ได้เลยว่าใส่อะไรลงไปบ้าง บางทีกินข้าวจนหมดจาน แต่จำท่าทางการนั่งขณะกินว่าเป็นอย่างไรไม่ได้เลย รสชาติอาหารเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ หรือบางคนอาจคุ้นเคยกับความเซ็งที่ต้องเดินกลับไปที่รถที่เพิ่งจอดไปแล้ว เพราะไม่แน่ใจต้องไปตรวจดูอีกทีว่าปิดล็อคประตูรถหรือยัง

ประการที่สอง การป่วยทำให้ได้ลองมีชีวิตที่เนิบช้า ด้วยว่าขณะป่วยทำให้เราต้องทำอะไรช้าๆ อย่าว่าแต่วิ่งขึ้นลงบันไดไม่ได้เลย บางทีเดินก็ยังจะไม่ไหว คิดก็ไม่ค่อยทัน กินยังต้องกินช้าๆ ไม่สามารถ “เอา” แต่ใจตัวเองได้ เพราะร่างกายเขาไม่ “เอา” กับเราด้วย แค่คิดได้ วางใจ ไม่คิดจะ “เอา” มันก็สุขแล้วละครับ
ถ้าเราทำใจไม่ได้ ไม่รับฟังร่างกายของเรา ทั้งที่พยายามบอกเราว่าให้ทำอะไรช้าลงบ้างนะ มันทำจะไม่ไหวแล้ว (โว้ย) เราก็อาจจะต้องกลุ้มใจลนลานไปมีชีวิตอยู่กับอดีต (เช่น แหมไม่น่าไปเที่ยวเลย ดูซิติดหวัดมาจนได้) หรือมีชีวิตอยู่ในอนาคต (เช่น ตายละวา มีนัดสำคัญด้วยจะทำไงดี)

แต่ถ้าเราไม่ “วางจิตผิดที่” อยู่กับปัจจุบัน ลองฟังสิ่งที่ร่างกายเขาพยายามบอกกับเรา เราจะได้รู้อะไรดีๆ เยอะเลย หากเป็นโรคที่ไม่รุนแรงบางทีก็ลองไม่กินยาดูบ้าง ให้เราหายเอง เชื่อในศักยภาพของชีวิตเรา พักผ่อนเพียงพอ เป็นกำลังใจให้ร่างกายหายป่วย เฝ้าดูใจเราที่เดินทางไปกับร่างกายเราที่ค่อยๆ บรรเทาขึ้นมาตามลำดับ แต่เดี๋ยวนี้คนกินยากันเยอะแยะ แถมต้องกินประเภทที่แรงๆ จะได้หายไวๆ เลยไม่ได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเราเสียเท่าไหร่

เวลาป่วย ไหนๆ ก็ไปทำงานไม่ได้ ต้องนั่งๆ นอนๆ ก็ลองเฝ้าดูตัวเรา ดูใจเราก็สนุกดีครับ เวลาถูกขัดใจ ที่ทำอะไรไม่ได้ดังใจ นึกถึงคำของท่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ที่กล่าวไว้อย่างเรียบง่ายและงดงามว่า “เมื่อรู้สึกขัดใจ ต้องขัดที่ใจ” นอนอยู่ไม่มีอะไรทำก็ดูจิตทำความสะอาจใจไปเรื่อยๆ ก็ดีนะครับ

ช่วงหลังแวดวงหนังสือก็มีผลงานที่น่าสนใจหลายเล่มเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างประณีตอย่างเช่น ความเรียบง่ายไร้กาลเวลา (Timeless Simplicity)ที่จอห์น เลน ผู้ร่วมก่อตั้งวิทยาลัยชูมาร์กเกอร์ (ตามชื่อผู้เขียน Small Is Beautiful ซึ่งแปลเป็นไทยว่า จิ๋วแต่แจ๋ว หรือ เล็กนั้นงาม) เขียนถึงการมีชีวิตที่สร้างสรรค์ได้ง่ายๆ ด้วยการลงมือทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตด้วยตนเอง ลดการพึ่งพา แสวงหาสารัตถะในชีวิตที่เรียบง่ายแต่รุ่มรวย, หนังสือ เร็วไม่ว่า ช้าให้เป็น (In Praise of Slowness) ที่แบ่งปันเรื่องเล่า ข้อมูลงานวิจัยที่ชวนตั้งคำถามกับคุณค่าของการเร่งรีบทำกิจกรรมที่เป็นสุนทรียภาพแห่งชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการงาน การกิน พักผ่อน ออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งเซ็กซ์, หรือ เงินหรือชีวิต (Your Money or Your Life) หนังสือขายดิบขายดีในหมู่ผู้บริหารที่ตั้งคำถามกับสิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิต และอีกหลายเล่ม หนังสือเหล่านี้ช่วยให้เราได้ปรับลดเกียร์ให้ต่ำลง แวะชมความงามของชีวิตและธรรมชาติบ้าง ไม่ใช่ใส่เกียร์ห้าวิ่งตะบึงไปข้างหน้าแต่อย่างเดียว
ประการที่สาม การป่วยได้ให้ข้อสรุปที่เราปฏิเสธไม่ได้ คือ การ “ยอม” ยอมรับว่าเราก็ไม่ใช่ (และไม่จำเป็นต้องใช่) คนแข็งแรงเสมอไป ยอมรับว่าโลกนี้เป็นโลกของความสัมพันธ์ เราไม่ได้อยู่คนเดียวและไม่สามารถอยู่คนเดียว ยอมรับที่จะรับความปรารถนาดีของผู้อื่น ยอมรับว่าเงินนั้นแม้จะซื้ออะไรหลายๆ อย่างได้ แต่ก็ไม่ได้ซื้อได้ซะทุกอย่าง บางทีพอได้นึกอย่างนี้ก็สบายใจอย่างยิ่ง

ประการสุดท้าย การป่วยไม่ว่าเล็กน้อยหรือใหญ่โตก็ถือเป็นแบบฝึกหัดสำคัญระหว่างการเดินทางของชีวิต ให้เราได้เตรียมพร้อมกับการสอบไล่ครั้งสำคัญที่สุด เมื่อยามต้องทิ้งร่างนี้ไป การสอบที่ทุกคนต้องเผชิญ ไม่ว่าจะอยากหรือไม่ จะพร้อมหรือไม่ก็ตาม แต่หากเรารู้ว่าเราอยากจะตายอย่างไร เราก็จะรู้ว่าเราควรจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร

การป่วยที่ทำให้เราได้เข้าใจและยอมรับความจริงของชีวิตตามธรรมดาธรรมชาติ ได้มีสติรู้ตัว อยู่กับปัจจุบัน ทำอะไรให้ช้าลง ทำแต่ละอย่างก็รู้เนื้อรู้ตัวไปด้วยแบบเป็นธรรมชาติ นี้ถือเป็นของขวัญชิ้นงามจากธรรมชาตินะครับ บางคนต้องไปฝึกตั้งนานสองนาน บางคนต้องไปสมัครเข้าเรียนในคอร์สฝึกอบรมต่างๆ หลายๆ ครั้งละหลายๆ วัน กลับมาแล้วก็ยังทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ว่านี่ป่วยอยู่เฉยๆ ก็สามารถทำได้ ถ้าไม่เรียกว่า Blessing in disguise (พรจำแลง) จะเรียกว่าอะไร?

Newer Posts Older Posts Home