โดย ธีระพล เต็มอุดม
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

เมื่อราว ๓ ปีก่อน สมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้มี “จิตวิวัฒน์ศึกษา” ขึ้นในการศึกษาระบบอุดมศึกษา ด้วยว่าการศึกษาในปัจจุบันนั้นมุ่งเน้นการสอนเนื้อหาวิชาให้แก่ผู้เรียนเป็นหลัก แต่ไม่ได้เป็นเงื่อนไขปัจจัยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกและยกระดับจิตใจ บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกไปสู่สังคมการทำงานจึงมีแต่ความรู้ทางเทคนิคในศาสตร์ต่างๆ ทว่าไม่อาจรู้จักและเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง รวมทั้งไม่เห็นความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวของตนกับสรรพสิ่ง

ต่อมาแนวคิดนี้จึงได้ก่อเป็นรูปธรรม โดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษาถูกริเริ่มจัดตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อไม่นานมานี้ และคำว่า “จิตตปัญญาศึกษา” เองก็เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น เพราะไม่เพียงแต่เป็นที่สนใจในประเทศเท่านั้น หากยังเป็นกระแสความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของวงการศึกษาทั่วโลก ในชื่อต่างๆ อาทิ Contemplative Education หรือ Holistic Education

กระนั้นก็ตาม ผู้ทำงานผลักดันขับเคลื่อนเรื่องนี้ยังคงได้รับคำถามอยู่เนืองๆ เป็นต้นว่า จิตตปัญญาศึกษาคืออะไร บ้างก็เข้าใจไปว่าเป็นการศึกษาว่าด้วยการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้แก่ผู้เรียน โดยมีรูปแบบกระบวนการเป็นการประยุกต์ปฏิบัติตามแนวพระพุทธศาสนา เช่น จัดให้นักศึกษาได้นั่งสมาธิ หรือส่งไปปฏิบัติธรรมยังวัดและสถานฝึกอบรมต่างๆ

ทว่า มีคำถามหนึ่งซึ่งผู้เขียนพบว่ายังติดค้างอยู่ในใจ และตระหนักเห็นว่ามีประเด็นสำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือคำถามว่า จิตตปัญญาศึกษานั้น “เรียนอะไร?” และต้องศึกษา “วิชาอะไร” บ้าง?

เพราะฉับพลันทันทีที่ได้ยินคำถามนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปฏิกิริยาในทันใดมักกลายเป็นเรื่องที่บอกเล่าออกมาผ่าน ความทรงจำ ของผู้เขียน ไม่ว่าจะคำตอบจะบอกว่า เป็นการเรียนที่ไม่ได้มุ่งวิชาอย่างดิ่งเดี่ยว แต่น้อมนำเอาวิชาเข้ามาสู่ใจ หรือจะให้คำตอบว่า เป็นการเรียนเพื่อให้เข้าใจตนเองด้วยการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลังจากได้เรียนรู้มากยิ่งขึ้น กลับพบว่าคำตอบทั้งหมดนี้แม้จะมีส่วนถูกต้อง แต่ไม่ถึงขั้นออกมาจากใจและกลั่นออกมาจากประสบการณ์ตรงของตนเองเลย คำถามจึงยังติดค้างไม่คลี่คลายแม้จะได้ให้คำตอบไปแล้ว

มองย้อนกลับไปในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาเองก็มีการจัดฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ มากมาย หรือว่าเป็นหลักสูตรเหล่านี้เองที่อาจเป็นคำตอบตรงใจ และให้คำอธิบายแก่ผู้ถามได้ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนพลักษณ์ (Enneagram) กับการเข้าใจตนเอง เรื่องสุนทรียสนทนา (Dialogue) หรือแม้แต่เรื่องการเจริญสติวิปัสสนา

ครั้นทบทวนถึงการอบรมเรื่องนพลักษณ์ทั้งสองครั้งที่ผ่านมา เราผู้ร่วมอบรมล้วนได้รับความรู้มากมายและความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับความคิด การมองโลกและพฤติกรรมที่แตกต่างกันของบุคคลทั้ง ๙ แบบ ผู้เข้าอบรมในครั้งแรกต่างได้ค้นพบรู้จักตัวเองมากขึ้นว่าเป็นคนลักษณ์ไหน มีสิ่งใดเป็นแรงขับดันภายใน และเราจะสามารถปรับปรุงพัฒนาศักยภาพไปให้พ้นข้อจำกัดตามลักษณ์ของตนเองได้อย่างไร

แต่ในระหว่างการอบรมครั้งที่สอง อาจเพราะด้วยความคุ้นเคยสนิทสนมกันทำให้บางคนที่ยังลังเลว่าตนเป็นคนลักษณ์อะไรตกเป็นฝ่ายถูกเพื่อนกระเซ้าเย้าแหย่ว่าน่าจะเป็นลักษณ์นั้นลักษณ์นี้ บ้างก็ปรารถนาดีเข้าไปช่วยคิดช่วยวิเคราะห์ความเป็นลักษณ์ของเพื่อน กระทั่งคุณ Joan Ryan และนพ.ธนา นิลชัยโกวิทย์ ผู้เป็นกระบวนกรต้องกล่าวย้ำว่า กระบวนการสำคัญในการเรียนรู้นพลักษณ์คือ การได้กลับมาอยู่กับตัวเอง กระบวนการนั่งทำสมาธิก่อนเริ่มกิจกรรมแต่ละช่วงจึงไม่ได้เป็นเพียงการทำให้สงบและผ่อนคลาย แต่ให้ผู้เรียนมีความนิ่งจนสังเกตเห็นความรู้สึก ความคิด คำพูดและการกระทำของตนเองได้ เมื่อสังเกตได้แล้วจึงจะรู้ และนำไปสู่ความเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริง

น่าประหลาดใจว่าสิ่งที่กระบวนกรนพลักษณ์ย้ำนี้กลับมีสาระสำคัญอย่างเดียวกันกับการฝึกอบรมเรื่องอื่นๆ หากเพียงใช้ชื่อเรียกชุดคำต่างออกไป ดังเช่นในการอบรมเรื่องวิธีคิดคิดกระบวนระบบ (Systems Thinking) โดย อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ นั้น แม้จะมีเนื้อหาทฤษฎีที่ต้องเรียนรู้มากมายให้เข้าใจถึงลักษณะของความเป็นระบบ ความแตกต่างของการมองเห็นปรากฏการณ์ ผ่านลงไปถึงแบบแผน และภาพจำลองความคิด แต่กิจกรรมสำคัญที่ขาดเสียมิได้คือ การสะท้อน (Reflection) การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในตนเอง

เฉกเช่นเดียวกับการดำเนินวงพูดคุยแบบสุนทรียสนทนา (Dialogue) อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู เคยแนะนำและให้คำอธิบายแก่ผู้เข้าร่วมหน้าใหม่ในเรื่องการรับฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) และมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพราะคุณภาพของการสนทนาไม่อาจจะก้าวข้ามสู่ระดับของการหลอมรวมและเพิ่มพูนความคิดใหม่ใดได้เลย หากผู้ร่วมสนทนามีความคาดหวัง หรือกำลังคาดเดาสิ่งที่ตนกำลังฟังอยู่ เสียงที่ได้ยินจะเป็นเพียงคำบรรยาย พร่ำบ่นซ้ำๆ ของคนอื่น ทั้งจะไม่ได้ยินเสียงของตัวเอง และสิ่งที่พูดก็ไม่ได้ออกมาจากความรู้สึกข้างในจริงๆ

เมื่อไม่กี่วันมานี้ Dr. Jennifer Garvey Berger เพิ่งได้บรรยายเรื่อง Towards a New Consciousness: Using Developmental Theory to Observe and Map Our Transformations ในวงจิตวิวัฒน์ เธอกล่าวว่าการเปลี่ยนจิตสำนึกไปสู่ระดับจิตที่สูงขึ้นจะเกิดได้ต่อเมื่อเราในฐานะผู้รู้ (Subject) รับรู้ถึงการมีอยู่ของสิ่งหนึ่ง (Object) ผู้เขียนรู้สึกละม้ายคล้ายกันเหลือเกินกับสิ่งที่คุณแม่อมรา สาขากร และ อ.สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา ได้แนะนำสั่งสอนให้หมั่นสังเกตดูตามดูจิตของเราเอง เพราะเมื่อเกิดรู้สึกไม่พอใจ เรามักรู้ว่าเราไม่พอใจด้วยสาเหตุใด อะไรทำให้เกิดความรู้สึกนี้ แต่ในเวลาเดียวกัน ตัวของเราเองนั้นกลายเป็นหนึ่งเดียวกับความไม่พอใจไปแล้ว เราไม่ได้รู้เนื้อรู้ตัวหรือรู้เท่าทันจิตของเราเลย

สิ่งที่คลี่คลายออกจากคำถามที่ติดค้างในใจว่าเราเรียนอะไร? จึงไม่ใช่คำตอบว่าได้เรียนศาสตร์เรื่องอะไรและมีความรู้ความเข้าใจเรื่องนั้นแค่ไหน แต่การเรียนแบบจิตตปัญญาของเราเป็นการเรียนที่ต้องเกิดขึ้นในตัวของเราเอง นำเอาความคิดความรู้สึกให้กลับมาอยู่กับตัวเอง หมั่นรับฟังและสะท้อนเสียงจากภายในนั้นออกมา

คำตอบต่อจิตตปัญญาศึกษาสำหรับผู้เขียนคงไม่ใช่แค่เรียนอะไร แต่เราเรียนให้เรารู้ตัวเราเอง



โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

ครั้งหนึ่งในชั้นเรียนของนิสิตปริญญาเอก ในสถานศึกษาแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่เนื้อหา เราได้เท้าความกันถึง ความเข้าใจคุณค่าของความเป็นมนุษย์อันเป็นแก่นของเนื้อหาวิชาในหมวดมนุษยศาสตร์ พวกเราได้แสดงความคิดเห็นกันว่า ศิลปะ เป็นหนึ่งในวิชาที่ช่วยเสริมสร้างและเปลี่ยนแปลง “จิตเล็ก” ให้เป็น “จิตใหญ่” ศิลปะมีพลัง มีคุณูปการ ที่ทำให้จิตที่ขุ่นมัว มีฝุ่นธุลี ได้เบาจางไป นับเป็นการเปลี่ยนแปลงคุณค่าภายใน ได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน มีผู้พูดถึงศิลปะบางชิ้นที่คนรู้สึกว่าไม่สร้างสรรค์ บางชิ้นคนมองว่าเป็นอนาจาร บางชิ้นถูกมองว่าเป็นศิลปะที่ลบหลู่ศาสนา สถานการณ์เช่นนี้จะยังสามารถพูดได้ว่า ศิลปะช่วยผดุงคุณค่าภายในอีกหรือไม่ จุดหมายของเรามิได้ต้องการจะตัดสินว่าคำตอบสุดท้ายคืออะไร หรือฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิด แต่เป็นโอกาสที่เหมาะสมให้ชั้นเรียนได้เห็นประเด็น “ความแตกต่างหลากหลาย” ของความคิดที่เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาที่เกิดขึ้นและพบเห็นอยู่เสมอ

งานศิลปะชิ้นเดียวกัน แต่ละคนอาจให้คุณค่าต่างกัน ตามแต่จุดยืนและมุมมองที่แตกต่างกัน เช่น จากมุมมองของศิลปินผู้นำเสนอภาพศิลปะนั้น ก็มีวัตถุประสงค์ในการสื่อสารเนื้อความใดเนื้อความหนึ่ง ผ่านงานศิลปะ ศิลปินผู้นั้นมีเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องการส่ง “message” อะไร ไปถึงใคร เช่นนี้เป็นต้น แรงบันดาลใจในการรังสรรค์สร้างภาพ หรืองานศิลปะนั้น ก็ขึ้นอยู่กับบริบท สถานการณ์ เหตุการณ์แวดล้อม อารมณ์ความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาที่ศิลปินนั้น ผลิตงานศิลปะชิ้นนั้นๆ ออกมา

ถ้าเราเข้าใจได้เช่นนี้ เราจะเห็นได้ว่า งานศิลปะนั้นเกิดขึ้นมาโดยมีศิลปินผู้ผลิตเป็นศูนย์กลาง ศิลปินเปรียบเสมือนผู้แต่งบทประพันธ์ เมื่อเราจะเข้าใจงานศิลปะของศิลปินนั้น เราจะต้องคำนึงถึงการตีความภาพศิลปะในทำนอง Author-centered interpretation

ขณะเดียวกัน ด้านผู้ชมงานศิลปะ ต่างฝ่ายต่างก็มีจุดยืน เหตุผล ความรู้ความเข้าใจ และบริบทที่ต่างๆ กันไปอีกด้วย เช่น ผู้ชมงานศิลปะที่มีความรู้ทางศิลปะก็จะเข้าใจและชื่นชมงานนั้นสอดคล้องกับจุดยืนของตน ผู้มีความรู้ทางศาสนาก็อาจมองงานชิ้นเดียวกัน “แตกต่าง” ไปจากผู้ไม่ผ่านการเรียนรู้ทางศาสนา ผู้สนใจทางการเมือง หรือ ผู้เป็นนักวิทยาศาสตร์ก็จะมองภาพศิลปะนั้น อยู่บนพื้นฐานของ “บริบท” ที่หล่อหลอมความเป็นบุคคลนั้น แม้กระทั่งความเป็น “เพศหญิง” “เพศชาย” ก็อาจทำให้มองงานนั้นแตกต่างออกไปได้เช่นกัน การมองงานศิลปะโดยมีตัวผู้ชมเป็นศูนย์กลาง (Reader-centered interpretation) ศิลปะภาพเดียวกันจึงได้รับการตีความต่างๆ กัน เป็นดีเป็นชั่ว เป็นสวย เป็นไม่สวย เป็นลบหลู่ เป็นศิลปะล้วนๆ ที่ไม่ลบหลู่ผู้ใดได้ตลอดเวลา

แล้วตัวงานศิลปะเองเล่า สามารถบอกกล่าวอะไรด้วยตัวของตัวเองได้หรือไม่ แต่เนื่องจากในชั้นเรียนนี้ ไม่ใช่ชั้นเรียนศิลปะนิพนธ์วิจารณ์ จึงไม่สามารถบอกกล่าวได้อย่างละเอียด เท่ากับผู้มีความรู้โดยตรง สิ่งที่พวกเราสามารถแสดงความคิดเห็นกันได้ก็คือ ในงานศิลปะ เส้น สี แสง ลวดลาย รูปทรง และรูปร่างต่างๆ ประดามี ล้วน “สื่อ” ความหมายในตัวเองทั้งสิ้น ให้อารมณ์ความรู้สึก จินตนาการไปต่างๆ กัน ถ้าเราตัดตัวผู้สร้างสรรค์ศิลปะ และตัวเราเองที่เป็นผู้มองภาพศิลปะ เราอาจได้รับ “ความหมาย” ที่ตัวงานศิลปะล้วนๆ ต้องการเล่าบอกให้ผู้ชมได้ทราบเป็นแน่ ถ้าเปรียบเทียบกับงานเขียน การตีความงานเขียน โดยให้งานเขียนที่ประกอบด้วยภาษา ไวยากรณ์ การใช้คำ การเรียงคำ เป็นตัวตั้ง เราก็จะสามารถเข้าใจ “เนื้อความ” จากข้อเขียนได้รูปแบบหนึ่ง (Text-centered interpretation) เช่นกัน

ในชั้นเรียนวันนั้น เราได้ข้อคิดเห็นตรงกันว่า ถ้าเรามองเหตุการณ์ใดๆ ด้วยใจเมตตา ไม่รีบตัดสินว่า ใครถูก ใครผิด แล้วลองเปลี่ยนมุมมอง ไปยืนอยู่ในตำแหน่งของทั้งผู้ผลิตผลงานศิลปะ ผู้ชมผลงาน และตัวงานศิลปะเองแล้ว เราอาจได้เห็นภาพรวมทั้งหมด ที่มีเนื้อหาละเอียดชัดเจน เราจะเข้าใจ “ทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างที่เป็น” มากขึ้น เราอาจไม่ต้องโต้เถียง แบ่งฝ่ายแพ้ชนะ ประท้วง เสียความรู้สึก หรือกลายเป็นคนละพวกกันไป “ความต่าง” ของจุดยืนเหล่านี้ อาจเป็นโอกาสให้เราได้เรียนรู้ เปิดโอกาส ให้เราได้ “สืบค้น” เรื่องราวได้มากขึ้น ขอเพียงมีใจเมตตา ให้โอกาสแต่ละฝ่าย ได้เล่าแจ้งแถลงเหตุผล และจุดยืนของตน โดยไม่ใช้อารมณ์ และตัดสินไว้ล่วงหน้า เราทั้งหลายจะได้ “ปัญญา” ใหม่ ได้ความสงบสุข “สันติภาพ” ของพวกเรา ก็จะปรากฏให้เห็น โดยไม่ต้องออกไปเรียกร้อง “สันติภาพ” จากภายนอกเลย

สำหรับชั้นเรียนในวันนั้น ดูเหมือนว่า เราได้ก้าวเข้าไปใช้หลักการของไดอะล็อก (Dialogue) ในการพูดถึงงานศิลปะ เพื่ออธิบายการพัฒนาคุณค่าด้านในโดยไม่รู้ตัว

ประเด็นความคิดเห็นที่ “ต่าง” หรือ “ตรงกันข้าม” กันนี้ เป็นสิ่งที่ต้องเน้นย้ำ และกล่าวซ้ำ เพื่อการนำไปใช้ในชีวิต และการทำงาน เพื่อเป็นข้อตระหนักเบื้องต้น ในการป้องกันความขัดแย้ง ดังเช่น กรณีการมองภาพศิลปะดังกล่าวข้างต้นที่มีวิธีเข้าใจได้ต่างๆ กัน เมื่อทุกฝ่ายยอมรับความต่าง ว่าเป็นเรื่องธรรมดา ย่อมใช้ความต่างเป็นช่องทางให้ได้ “ฟังกันอย่างลึกซึ้ง” ด้วยเมตตา เพื่อปัญญาและสันติ

อย่างไรก็ดี มีประเด็นสืบเนื่องว่า เมื่อมีความเห็นต่าง ต้องใช้การฟังอย่างลึกซึ้ง บุคคลที่ไม่สามารถฟังได้ ก็ไม่สามารถทำไดอะล็อกได้ ประเด็นนี้ก็เป็นเหตุการณ์จริงในชั้นเรียนอีกครั้งหนึ่ง ที่ผู้เรียนเป็นผู้พิการทางการได้ยิน การกล่าวถึงการฟังด้วยเมตตา จึงได้รับการอธิบายให้ครอบคลุม “ผู้นำไปใช้” คือ นักศึกษาผู้ไม่สามารถได้ยินด้วย กล่าวคือ การสื่อสารอาจมีหลายวิธี สิ่งสำคัญอยู่ที่ “ใจ” ที่มีความเมตตา ไม่รวมตัดสินผิดถูกเสียก่อน เป็นประเด็นสำคัญ ดังนั้น ผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน จึงสามารถสื่อสารจุดยืนของตนที่ต่างได้ด้วย ภาษามือที่มีใจ ประกอบด้วยความรักผู้อื่น ประเด็นความต่าง จะไม่มีผลที่จะพัฒนากลายเป็นความขัดแย้ง เห็น “ต่าง” ก็ได้ จึงไม่เป็นไร ด้วยประการฉะนี้



โดย พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

ลมหายใจที่ผ่านเข้าออกปลายจมูก ช่างเป็นความมหัศจรรย์แห่งการดำรงอยู่ของชีวิต

ท่านทราบหรือไม่ว่า การหายใจเป็นการทำงานของร่างกายเพียงแบบเดียว ที่สามารถสลับสับเปลี่ยนไปมา ระหว่างการควบคุมสั่งการอัตโนมัติของระบบประสาทส่วนกลาง กับการควบคุมสั่งการอย่างเต็มที่โดยจิตสำนึกของเรา

ในเวลานอนหลับไม่รู้สึกตัว ลมหายใจของเราก็ยังคงทำงานตามการสั่งการของระบบประสาทส่วนกลาง หรือในเวลาที่เราวุ่นวายอยู่กับการทำงานโดยไม่ได้ใส่ใจกับลมหายใจ มันก็ยังคงทำงานต่อไป แต่เมื่อใดก็ตามที่เราหันกลับมาควบคุมลมหายใจ ลมหายใจก็จะแปรเปลี่ยนไปตามที่ใจเราสั่งการในทันที หรือแม้ว่าในบางครั้งที่จิตใจของเราเกิดความกลัว ลมหายใจที่ควรจะยาวตามปกติ ก็จะถูกตัดทอนให้เหลือสั้นลง การแทรกแซงและควบคุมโดยจิตสำนึกของเรานี่เองคือต้นเหตุแห่งความมหัศจรรย์ที่ผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้

ภูมิปัญญาโบราณค้นพบความมหัศจรรย์ของลมหายใจมาแสนนาน และได้พัฒนาการฝึกฝนเกี่ยวกับลมหายใจต่างๆ เช่น อาณาปานสติ ปราณยามะ ทองเล็น โยคะ ไทเก๊ก ชี่กง เป็นต้น วันนี้ผมจะเชิญชวนท่านมาร่วมกันดูแลลมหายใจโดยใช้จิตสำนึกของเราในอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า "การหายใจด้วยรัก" (Heart Breath) ซึ่งเป็นการนำเอาภูมิปัญญาโบราณมาผนวกเข้ากับวิทยาการสมัยใหม่ในเรื่อง Biofeedback หรือการตรวจวัดการตอบสนองต่างๆ ของร่างกาย

ผมมีโอกาสรู้จักกับ "การหายใจด้วยรัก" ในโปรแกรมการฝึกฝนที่เรียกว่า Healing Rhythms (โปรดดูรายละเอียดที่ http://www.wilddivine.com) โปรแกรมดังกล่าวเป็นเครื่องมือฝึกสมาธิโดยใช้เทคโนโลยี Biofeedback ที่น่าสนใจมากที่สุดเครื่องหนึ่งในเวลานี้ ข้อค้นพบจากวิทยาการด้าน Biofeedback สามารถตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ และคำนวณอัตราการแปรผันของการเต้นของหัวใจ (Heart rate variability) และคำนวณค่าความสอดคล้องกันของหัวใจ (Heart coherence) แสดงให้เห็นว่า คนที่หายใจเข้าออกเร็วและไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ มักจะมีการเต้นหัวใจไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ เช่นกัน ในขณะที่เมื่อเขาได้ดูแลลมหายใจเข้าออกช้า เงียบ และนุ่มนวล ในจังหวะที่สม่ำเสมอ เครื่องจะตรวจพบว่า หัวใจเต้นเป็นระเบียบ และสอดคล้องกันเป็นจังหวะมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

โปรแกรมดังกล่าวจะแสดงภาพบนหน้าจอเป็นรูปปีกผีเสื้อที่กระพืออย่างช้าๆ เป็นจังหวะสม่ำเสมอกัน สลับกันทุกๆ ๕ วินาที เพื่อให้เรากำหนดลมหายใจเข้าและออกตามปีกผีเสื้อ การทำเช่นนี้จะช่วยให้หัวใจของเราปรับเข้าสู่สภาวะผ่อนคลาย และมีจังหวะการเต้นเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น ผมเข้าใจว่า นี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาเรียกชื่อการหายใจตามปีกผีเสื้อนี้ว่า Heart Breath
หลังจากที่ผมและภรรยาร่วมกันทดลองศึกษาเครื่องมือนี้ เราได้พากันสืบค้นไปกับเครื่อง Biofeedback เพิ่มเติมมากไปกว่าการหายใจช้า เงียบ และสม่ำเสมอ นั่นคือ การหายใจด้วยความรักความทะนุถนอม

เราพบว่า การเต้นของหัวใจปรับเข้าสู่ความสอดคล้องกันอย่างรวดเร็วและเป็นธรรมชาติ สิ่งนี้ทำให้ผมนึกขึ้นได้ถึงการปฏิบัติที่ผมเคยเรียนรู้มาจากหลวงปู่พุทธะอิสระเรื่อง "สมาธิพระโพธิสัตว์" หรือการฝึกเจริญสติกับลมหายใจตามแนวทางของท่านติช นัท ฮันห์ หรือการฝึกทองเล็นของทิเบตว่าด้วยการให้ความสุขและรับความทุกข์ผ่านลมหายใจ ในขณะที่ภรรยาผมฝึกมาในด้านการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา เธอใช้ท่าทีภายในของสภาวะการรับฟังและพูดคุยกับผู้รับบริการในการเดินลมหายใจ เราต่างก็พบเช่นเดียวกันว่า สามารถปรับการเต้นของหัวใจให้เข้าสู่ความสอดคล้องอย่างรวดเร็วได้

การร่วมกันสืบค้นเล็กๆ นี้ทำให้ผมประหลาดใจ พร้อมๆ กับแน่ใจว่า หนทางของการปฏิบัติไม่ได้ดำรงอยู่เพียงสายเดียวอย่างแน่นอน แต่ทั้งหมดต่างมีแก่นบางอย่างร่วมกัน และหนึ่งในแก่นที่ผมพบในครั้งนี้คือ “การหายใจด้วยรัก” เพียงแค่เราใส่ใจดูแลลมหายใจของเราด้วยความรัก ลมหายใจนั้นก็จะเข้าไปช่วยดูแลหัวใจของเราอีกทีหนึ่ง จากความรัก ... สู่ลมหายใจ จากลมหายใจ ... สู่หัวใจ ช่างเป็นความงามของการดูแลตามลำดับขั้นธรรมชาติ จากลำดับขั้นชั้นจิต สู่ลำดับขั้นชั้นปราณ และสู่ลำดับขั้นชั้นกาย

ผมขอฝากแบบฝึกหัดว่าด้วย "การหายใจด้วยรัก" ไว้สักเล็กน้อย แบบฝึกหัดนี้เป็นการน้อมนำเอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย มาเป็นกุศโลบายช่วยดูแลลมหายใจ เพื่อให้เราเดินลมหายใจตามอย่างเชื่องช้าและเป็นจังหวะสม่ำเสมอ

เริ่มต้นจาก นั่งหรือยืนตามแต่ถนัด ตั้งลำตัวให้ตรงโดยไม่ต้องออกแรงเกร็งหลัง ผ่อนคลายร่างกาย ยกมือทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะสูงพอประมาณ หันฝ่ามือออก หายใจออกพร้อมวาดแขนลงมาด้านข้างลำตัว แล้วโอบฝ่ามือเข้าสู่กลางหัวใจ จากนั้นจึงหายใจเข้าพร้อมวาดมือย้อนกลับไปจนถึงเหนือศีรษะ ดุจดั่งผีเสื้อที่กำลังกระพือปีกบินอย่างเชื่องช้า ให้ทุกๆ วินาทีของการเคลื่อนไหวมือและลมหายใจเต็มไปด้วยความรักความใส่ใจ หายใจออกจากใจกลางหน้าอก อันเป็นฐานที่ตั้งแห่งความรัก นำเอาความรักมอบให้แด่ตัวเราเอง คนอื่น และโลก หายใจเข้าน้อมเอาความรักของสรรพสัตว์ไหลเข้ามาสัมผัสถึงฐานใจ

การปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยให้ท่านเข้าเป็นไปหนึ่งเดียวกับความมหัศจรรย์ของลมหายใจ ความมหัศจรรย์ของความรัก และความมหัศจรรย์ของการดำรงอยู่ ณ ปัจจุบันขณะ

ผมขอเชิญชวนให้ท่านดูแลลมหายใจด้วยความรักที่มีอยู่แล้วภายในตัวท่าน หาเวลาในแต่ละวัน จะเป็นตอนไหนก็ได้ ดูแลลมหายใจเข้าออกอย่างใส่ใจ ด้วยความรัก และเนิ่นช้าสม่ำเสมอ อย่างน้อยหกถึงสิบนาที จำไว้นะครับว่า เมื่อท่านเริ่มต้นดูแลลมหายใจ ลมหายใจก็จะช่วยดูแลหัวใจให้กับท่าน

เมื่อถึงจุดหนึ่ง ท่านจะพบว่า ลมหายใจของเราก็สามารถเป็นกระจกสะท้อนจิตใจของเรา ให้เกิดปัญญาได้เข้ามาดูแลจิตใจต่อไปอีกเช่นกัน



โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

เราเคยได้ยินเสียงเหล่านี้ในใจเราไหม “คนอะไร พูดจาไม่ถนอมน้ำใจใครเลย” “คิดได้ไง (ว่ะ) ทำงานไม่รับผิดชอบซะเลย คนพรรค์นี้” “เนี่ยเหรอ จะให้สร้างสรรค์ เอาแต่สั่งๆ แล้วใครจะคิดอะไรได้” “ทำไมคน (เด็ก หรือผู้ใหญ่ก็ตาม) สมัยนี้ เห็น
แก่ตัวจริงๆ” และเสียงอื่นๆ ที่บ่นต่อว่า อาจจะก่นด่าผู้คนที่เราต้องพบปะเจอะเจอ

ในชีวิตประจำวันไม่ว่าเราจะเป็นใคร เป็นนักศึกษา คนทำงานอยู่บ้านหรือที่ทำงาน หรือแม้พักผ่อนหย่อนใจอยู่ในบ้าน เรามักพบประสบกับผู้คนที่จุดชนวนให้อารมณ์ของเราปะทุ นับแต่หงุดหงิดเล็กน้อย จนโมโหโกรธา หรือน้อยอกน้อยใจ จนเศร้าสร้อยซึมเซา ขัดอกขัดใจบ้าง จนถึงขั้นเกลียดชังไม่เผาผี

ครั้งแล้วครั้งเล่า ที่เราได้เจอพวกเขาผู้กวนใจเหล่านั้น เสียงอีกเสียงหนึ่งก็จะค่อยดังขึ้นในใจเรา “ทำมาย ทำไม คนดีดีอย่างเราถึงต้องเจอกับคน .....ๆ อย่างนั้น”

บ่อยครั้งที่เราได้ยินเสียงตอบว่า “คนเราก็มีทั้งดีและไม่ดีก็เป็นอย่างนี้แหละ”

“คนเราก็แตกต่าง ก็เท่านั้นเอง” “นึกว่าซวยไปแล้วกัน” “อยู่กันไม่ได้ก็แยกกันอยู่” “คนเรามันก็นิสัยและสัน……เป็นอย่างนี้ทำใจซะ ไปเปลี่ยนมันไม่ได้หรอก” แล้วเราก็พบว่าเสียงอธิบายต่างๆ ที่ฟังเผินๆ ดูสมเหตุสมผลน่าจะน้อมนำมาทำมาปฏิบัติ เผื่ออาการกระอักกระอ่วนป่วนใจจากอารมณ์ที่กำลังปะทุของเราจะทุเลาลงบ้าง ในบางครั้งฟังเสียงดังกล่าวแล้วทำตาม อารมณ์เราก็เพลาลง แต่บ่อยครั้งก็ยังพลุ่งพล่านเกินกว่าจะอยู่ได้เป็นปกติสุข และแม้นจะเบาลงก็ชั่วครู่ชั่วคราว เมื่อได้เจอหน้าคู่กรณีเดิมอาการเดิมก็กำเริบ เจอใหม่อีกคนแต่ทำอะไรคล้ายๆ กับคนเดิม อารมณ์ก็ปะทุจนเกือบปะทะ

“ทำใจซะ ไปเปลี่ยนเขาหรือเธอไม่ได้หรอก”

เสียงนี้เป็นเสียงแนะนำ หรือเสียงซ้ำเติมหนอ จะเปลี่ยนให้คู่กรณีเลิกกวนใจเลิกจุดชนวนในตัวเราก็เปลี่ยนไม่ได้ ครั้นจะ “ทำใจ” ก็ยังทำไม่ได้ แล้วถ้าจะทำใจต้องทำอย่างไร ก็คงต้องเป็นเราที่ทำใจเรา แล้วจะทำได้อย่างไร ในเมื่อใจเราก็รุ่มร้อน ขัดเคือง ปะทุราวกับภูเขาไฟอยู่เช่นนั้น

เมื่อคนเราเดินหน้าทำใจไม่ได้ จะเปลี่ยนแปลงกลับใจใครๆ ที่ปะทุใจเราก็ไม่ได้ อาการกระอักกระอ่วนป่วนใจ ขัดข้องหมองใจ เบื่อๆ เซ็งๆ ก็คลุกเคล้าอยู่ในตัวในเราเสมอๆ รู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้างก็ตาม

อาจารย์อมรา ตัณฑ์สมบุญเคยกล่าวไว้ทำนองว่า “คนที่เดินเข้ามาในชีวิตเราเปรียบเสมือนกระจกเงา ที่เขาส่องให้เห็นใจของเรา” แต่ส่วนใหญ่ไม่ทันที่จะส่องให้เห็นอะไร เราก็อาจกระโดดถีบหรือทุบกระจกแตกไปเสียก่อน และบ่อยครั้งกระจกเงาบานนั้นก็แตกยับเยินเกินซ่อมแซม และบานใหม่ก็เริ่มร้าวราน อาการปะทุนี้จะเป็นบทเรียนอะไรให้เรากับเราได้บ้าง เราสามารถหยิบฉวยเอาความสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นเครื่องนำทางให้เราได้เรียนรู้ที่จะ “ทำใจ”ได้อย่างไร

Drs. Hal และ Sidra Stone ได้ริเริ่มและก่อตั้งกระบวนการเรียนรู้ที่เรียกว่า Voice Dialogue Work (VDW) หรือการสนทนากับเสียงด้านใน หรือเรียกให้สั้นลงไปอีกว่า สนทนาด้านใน โดย J’aime ona Pangaia (เจมี่) ศิษย์คนสำคัญของทั้งสองได้เปรียบคนเราเอาไว้ว่า แต่ละคนเกิดมาพร้อมกับศักยภาพความสามารถทางจิตเหมือนไพ่ครบสำรับทั้งห้าสิบสองใบ

ในวัยเด็ก เราเรียนรู้ที่จะให้คนรอบข้างยอมรับและยกย่อง เพื่อจะเป็นเด็กดีน่ารักของพ่อแม่ เป็นเด็กเอาไหนของครูบาอาจารย์ เป็นเด็กเชื่อฟังของพระสงฆ์องค์เจ้า เป็นพลเมืองดีของชาติ และเป็นคนที่รู้จักเอาใจเพื่อน และเพื่อจะอยู่รอดปลอดภัยร่วมกับใครต่อใคร เราต้องทิ้งไพ่บางใบ ทิ้งศักยภาพบางอย่างของเราเพื่อให้อยู่และเข้ากับเขาเหล่านั้นให้ได้ แล้วตัวเราเองก็เติบโตด้วยศักยภาพด้วยไพ่บางใบเท่านั้นที่เหลืออยู่ในมือเรา และไพ่เหล่านั้นก็เป็นตัวตนกำเนิดเสียงด้านในของเรา คอยบอกเราว่า “เราต้องพูดจาดีดีกับใครต่อใคร” “เราต้องรู้จักรับผิดชอบ” “เราต้องเป็นตัวของเราเอง” “เราต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่”และต้องอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเสียงเหล่านี้เป็นเสียงที่มีประโยชน์ ทำให้เราประสบความสำเร็จไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งในชีวิต เป็นเสียงของพระเอกนางเอกในชีวิตเราที่ส่งเสริมให้เรามีวันนี้ที่ดี ดร. สโตนเรียกตัวเอกนี้ว่า Primary Self

แต่ในขณะที่เรายึดถือเสียงของตัวเอกเป็นเครื่องนำทาง เราก็ปฏิเสธโละทิ้งหรือหันหลังให้กับตัวตนหรือเสียงที่ตรงกันข้ามกับเสียงตัวเอกเหล่านี้ เมื่อเราเก็บไพ่อะไรก็ตามไว้ในมือ เราจะทิ้งไพ่ที่แตกต่างตรงกันข้ามไปเสมอๆ ไม่มีข้อยกเว้น ไพ่ที่ทิ้งไป ตัวตนที่เราปฏิเสธและเนรเทศไปจากชีวิตเราทั้งถาวรและชั่วคราว ดร. สโตนเรียกว่า Disowned Self และเหตุที่เราทิ้งเสียงของตัวตนเหล่านี้ไป เพราะเมื่อเราทำตามเสียงเหล่านี้แล้ว หรือมีประสบการณ์กับเสียงเหล่านี้แล้ว ทำให้เราอับอาย ไม่ปลอดภัย เจ็บใจรวมทั้งเจ็บตัว

ยิ่งไปกว่านั้น ปรากฏว่าเราไม่สามารถทิ้งตัวตนของเราไปได้โดยสิ้นเชิง เราอาจจะตัดแขนตัดขาแล้วงอกขึ้นใหม่ไม่ได้ แต่ตัวตนหรือไพ่ที่เราทิ้งไปนั้น ยังฝังอยู่ ยังทรงอิทธิพลอยู่ในตัวเรา เป็นพลังที่ถูกเก็บกัก กั้นไว้ เรารู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง โดยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว

และหากมาวันหนึ่ง เราจำต้องพบปะผู้คนที่เขาถือไพ่ใบที่เราทิ้งไป มีตัวตนของเขาที่ตรงกันข้ามกับตัวเอกเรา วันนั้นพลังที่ถูกเก็บกักกลับปะทุ ความทรงจำเดิมๆ ที่เคยประสบที่ทำให้เราเจ็บใจเจ็บตัวอับอายกลับฉายขึ้นมาในใจ ในจิตที่ไร้สำนึกอีกครั้ง ความขุ่นข้องหมองใจและอารมณ์ต่างๆ ที่เคยฝังไว้กลับมาเยือน ให้เราสะท้านสะเทือนใจ

เราฟังดูใครสักคนพูดจาไม่ถนอมน้ำใจคนเลย อาจจะเป็นเพราะตัวเอกของเรายึดถือว่า คนเราต้องพูดจาระมัดระวัง ใครสักคนดูไม่รับผิดชอบเอาซะเลย อาจจะด้วยว่า ตัวเอกของเราบอกว่า คนเอาไหนต้องรู้จักเคร่งครัดกับหน้าที่ “ใครสักคนดีแต่สั่งไม่เคยรับฟัง” เป็นไปได้ว่าตัวเอกคอยกำชับเราว่า จะทำอะไรกับใครต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม “ใครสักคนเห็นแก่ตัวสุดๆ” ด้วยเสียงตัวเอกคอยบอกว่า “คนเราต้องรู้จักเสียสละเอาใจใครต่อใคร”

และถ้าหากเราจะแขวนลอยห้อยคำถามว่า ใครผิดใครถูกไว้สักชั่วครู่ เราอาจจะได้ยินเสียงเบาๆ อีกเสียงว่า “ไม่ต้องระมัดระวังนักก็ได้ ... ไม่ต้องเคร่งครัดเสมอๆ หรอก” “ไม่ต้องคอยใครต่อใครให้เห็นด้วยนัก” และ “ไม่ต้องเสียสละหรือเอาใจใครสักวันได้ไหม”

เมื่อนั้นพื้นที่ใหม่ๆ ในความสัมพันธ์ โอกาสใหม่ๆ ในการเรียนรู้รวมทั้งศักยภาพที่เคยสูญหายไปของเรา อาจจะเริ่มปรากฏให้เราได้เห็น ได้สัมผัส และที่สำคัญได้ยินได้รับฟังจริงๆอีกครั้ง

และเป็นไปได้ไหมว่า เราอาจจะพอ “ทำใจ” ให้รอยยิ้มที่หายไปกับอารมณ์ที่ปะทุได้คืนกลับมา

Newer Posts Older Posts Home